ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป038

เจโตขีลสูตร

*
 สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร
 

*
 ตะปูตอกใจ ๕ ประการ ๒
 ผู้เห็นผิดในครั้งพุทธกาล ๓
เครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ ๕
ตัณหาจริตอย่างหยาบ ๕
 การมุ่งที่สวนทางมรรคผลนิพพาน ๖
 เจโตวินิพันธะ ๗
 เรื่องมุ่งสวรรค์ในปัจจุบัน ๗
 ธรรมะที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ ๘
 มีศัพท์ที่ฟังไม่ชัดหน้า ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ม้วนที่ ๔๖/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๔๖/๒ ( File Tape 38 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
 ๑

เจโตขีลสูตร
 

 *
 สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*
 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานตาม เจโตขีลสูตร นำสติปัฏฐาน ในพระสูตรนี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนภิกษุทั้งหลาย ให้ละกิเลสอันเป็นเหมือนอย่างตะปูที่ตอกตรึงจิต และกิเลสที่ผูกพันจิต โดยตรัสสอนก่อนให้รู้จักว่า มีกิเลสอันเป็นเหมือนอย่างตะปูที่ตอกตรึงจิตอยู่ ๕ ประการ เรียกสั้นๆว่า เจโตขีละ คือตะปูตอกใจ ตะปูตอกใจ ๕ ประการ อันได้แก่มีกังขาคือสงสัยในพระศาสดา สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในสิกขา และมักโกรธขัดใจใน สพรหมจารี คือผู้ประพฤติธรรมร่วมกันทั้งหลาย สงสัยในพระศาสดานั้นก็คือสงสัยในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ๒ ว่าพระองค์ได้เป็นผู้ตรัสรู้จริงหรือ แม้ตามบทที่สวดกันว่า อิติปิโส ภควา อรหังสัมมาสัมพุทโธ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ไกลกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้เองชอบ แม้อย่างนี้ แม้อย่างนี้ ดั่งนี้เป็นต้น ทรงเป็นผู้ไกลกิเลสจริงหรือ ตรัสรู้เองชอบจริงหรือ ดั่งนี้เป็นต้น มีกังขาสงสัยในพระธรรมนั้นก็คือสงสัยในพระธรรมที่ตรัสรู้ ว่าทรงตรัสรู้อะไร ความตรัสรู้นั้นเป็นความรู้จริง หรือว่ารู้ไม่จริงอย่างไร และธรรมะที่ทรงสั่งสอนเป็นจริงตามที่ทรงสั่งสอน หรืออย่างไร ผู้เห็นผิดในครั้งพุทธกาล ในข้อนี้ก็ได้มีเรื่องเล่ามาแล้วในครั้งพุทธกาล ถึงภิกษุผู้มีความเห็นผิดบางรูป ได้คัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนเอาไว้ว่า ธรรมะข้อนี้ๆเป็นอกุศลธรรม ซึ่งทำอันตรายให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติกระทำ แต่ว่าข้อที่ทรงสั่งสอนเอาไว้ว่าทำอันตรายนั้น หาได้กระทำอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติกระทำไม่ เช่นทรงสั่งสอนแสดงโทษของกามต่างๆ แต่ว่ากามต่างๆนั้นหาได้เป็นโทษดังที่ทรงสั่งสอนไว้ไม่ มีกังขาคือความสงสัยในพระสงฆ์ ก็คือมีความสงสัยว่าหมู่แห่งสาวกคือศิษย์ของพระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีจริงหรือ เป็นผู้ปฏิบัติตรงหรือ ดั่งนี้เป็นต้น คือเป็นผู้ปฏิบัติชอบหรือ สงสัยในสิกขานั้นก็คือสงสัยในข้อที่จะพึงศึกษาเล่าเรียน ที่จะพึงศึกษาปฏิบัติ เช่นในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ว่าที่ปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ปฏิบัติในปัญญา จะได้ผลสมจริง คือจะได้ผลดีจริงหรือไม่ หรือว่าสงสัยว่าจะให้เกิดผลที่ไม่ดีแก่ผู้ปฏิบัติ คือสงสัยในข้อที่ตนเองกำลังปฏิบัติอยู่ในศีลในสมาธิในปัญญา มักโกรธขัดใจใน สพรหมจารี คือผู้ประพฤติธรรมะร่วมกันทั้งหลาย ๓ ก็คือมักจะเป็นผู้ที่มีใจน้อยโกรธง่าย หรือมักจะเพ่งโทษของผู้ที่อยู่ด้วยกัน เพราะว่า เมื่ออยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากก็อาจจะมีความประพฤติต่อกันที่กระทบกระทั่ง ไม่ถูกใจกันเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้างในบางครั้งบางคราว ก็มักจะถือโกรธง่ายๆ ขัดใจอยู่บ่อยๆ เพราะเหตุที่บางทีก็อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้างจริงๆ บางทีก็อาจเป็นเพราะความเห็นไม่ตรงกัน หรือเอาแต่ใจของตนเอง เมื่อได้เห็นการกระทำ ได้ฟังคำพูดของเพื่อน สพรหมจารี ที่อยู่ด้วยกัน อันไม่ตรงกับความชอบใจของตน ก็มักจะถือโกรธขัดเคือง หรือบางทีก็มักจะมีนิสัยเพ่งโทษต่อผู้อื่น เห็นอะไรผิด หรือสงสัยว่าผิด ก็มักจะโกรธแค้นขัดเคืองไม่ถูกใจ หรือว่าบางทีก็เป็นเพราะความต้องการของตน ที่ไม่ได้สมตามความปรารถนา เกี่ยวแก่การแบ่งลาภแบ่งผลของสงฆ์ ที่บางทีก็ได้ไม่สม่ำเสมอกัน หรือเกี่ยวแก่ที่อยู่อาศัย ที่ได้รับจัดให้อยู่ ที่อาจจะเป็นที่สะดวกสบายบ้าง ไม่สู้จะสะดวกสบายบ้าง ดั่งนี้เป็นต้น ก็น้อยใจ ขัดใจ โกรธ เป็นผู้ที่มักโกรธมักขัดใจอยู่เสมอๆ มีกังขาสงสัยในพระศาสดา มีกังขาสงสัยในพระธรรม มีกังขาสงสัยในพระสงฆ์ มีกังขาสงสัยในสิกขา และมักโกรธขัดใจใน สพรหมจารี ทั้งหลาย ทั้ง ๕ ข้อนี้หากเกิดขึ้น มีขึ้นในจิตใจ ก็เป็นเหมือนอย่างตะปูที่ตอกตรึงใจ ทำให้จิตใจมีทุกข์ ทำให้จิตใจมีกิเลส หรือเจริญกิเลสกองราคะหรือโลภะบ้าง กองโทสะบ้าง กองโมหะบ้าง เป็นจิตใจที่ไม่มีเสรีในอันที่จะปฏิบัติกรรมฐาน ในการที่จะปฏิบัติธรรมะ เป็นต้นว่าศีลสมาธิปัญญาให้เจริญ เพราะมีทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นอุปสรรคขัดขวาง ไม่ให้เกิดความตั้งใจที่จะปฏิบัติกรรมฐาน หรือปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา ขัดขวางต่อศรัทธา ขัดขวางต่อวิริยะความเพียร ต่อสติ ต่อสมาธิ ต่อปัญญา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นตะปูที่ตรึงใจ ที่ตอกใจเอาไว้ ไม่ให้ใจมีความสามารถที่จะปฏิบัติให้ดีขึ้นได้ ๔ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้รู้จักว่า ข้อเหล่านี้หากบังเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใด จิตใจของผู้นั้นก็เหมือนอย่างมีตะปูที่ตอกตรึงอยู่ จึงให้ปฏิบัติละเสีย ถอนตะปูที่ตรึงใจนี้ออกเสีย คือถอนกังขาสงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา และดับความมักโกรธขัดใจที่บังเกิดขึ้นในสพรหมจารีทั้งหลาย และเมื่อได้ถอนกังขาสงสัย และดับความโกรธขัดใจดังกล่าวได้ ก็เป็นอันว่าถอนตะปูใจออกได้ เมื่อถอนตะปูใจออกได้จึงจะทำให้การปฏิบัติกรรมฐาน หรือกล่าวรวมๆว่าทำให้ศึกษา เล่าเรียนพระธรรมวินัย ทำให้การศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยเจริญก้าวหน้าขึ้นไปได้ เครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ อีกหมวดหนึ่งตรัสสอนให้รู้จัก เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ อันได้แก่ความติดใจ ความยินดีในกาม ความติดใจยินดีในกาย ความติดใจยินดีในรูป ความที่กินแล้วก็นอน และความปรารถนาต้องการเทวนิกาย คือความที่จะไปเกิดในหมู่เทพ คือปรารถนาที่จะไปสวรรค์ ทั้ง ๕ ประการนี้ได้ชื่อว่า เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ เพราะเหตุว่าผูกพันใจไว้ไม่ให้หลุดพ้นได้ ให้ติดอยู่ในกาม ในกาย ในรูป ในการเอาแต่กินนอน และติดอยู่ในสวรรค์ ตัณหาจริตอย่างหยาบ ( เริ่ม ๔๖/๑ ) เนกขัมมะ นั้นแปลกันว่าออก ก็คือออกบวชตามความหมายทั่วไป แต่ก็มีความหมายในทางจิตใจ ที่ใช้ได้ทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์เหมือนกัน ก็คือออกจากความติดใจยินดีอยู่ในกามนั้นเอง เมื่อจิตไม่มีเนกขัมมะก็ไม่ได้สมาธิ ติดใจยินดีใน กาย นั้นก็คือในกายของตน อันนับว่าเป็นตัณหาจริตอย่างหยาบ ทำให้พอใจในการที่จะตบแต่งกาย จึงไม่คิดที่จะตบแต่งจิตใจ มุ่งแต่จะตบแต่งกาย ติดในกาย และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ออกไม่ได้ ๕ และนอกจากนี้ยังหมายถึงติดอยู่ในสุขเวทนาทางกายมากอีกด้วย เช่นมุ่งที่จะทะนุบำรุงกายให้มีความสุข จะต้องอยู่ในที่ๆมีความสุขทางกาย จึงเป็นอันทำให้ไม่สามารถที่จะปฏิบัติกระทำสิ่งที่จะทำให้ร่างกายเป็นทุกข์ จะตากแดดสักหน่อยหนึ่งก็ร้อนไม่ได้ จะตากฝนสักนิดหนึ่งก็ไม่ได้ จะถือศีลข้อไม่นั่งไม่นอนบนที่นอนที่ยัดนุ่น ก็เจ็บกายทำไม่ได้ จะนั่งกรรมฐานสักหน่อยหนึ่งก็ปวดเมื่อยกาย ทำไม่ได้ ดั่งนี้ ก็รวมอยู่ในข้อว่าติดใจยินดีอยู่ในกาย ติดใจยินดีอยู่ใน รูป นั้นท่านอธิบายว่ารูปภายนอกต่างๆ ตั้งต้นแต่เครื่องแต่งกาย บ้านเรือน เครื่องแต่งบ้านเรือน และทุกๆอย่างจะต้องเป็นสิ่งที่สวยงาม จะต้องเป็นสิ่งที่ประณีตต่างๆ ความติดใจยินดีอยู่ในรูปภายนอกดังกล่าวมานี้ก็ทำให้ขวนขวายแต่ในเรื่องของ การที่จะประดับตบแต่งที่จะทำให้สิ่งต่างๆโดยรอบมีความสวยงามวิจิตรพิสดาร จึงเป็นอันว่าไม่มีเวลาที่จะมามุ่งปฏิบัติกรรมฐาน หรือปฏิบัติธรรม คือไม่คิดที่จะมาตบแต่งธรรม คือตบแต่งกุศลธรรมทั้งหลายให้บังเกิดขึ้น การมุ่งที่สวนทางมรรคผลนิพพาน กินแล้วนอนก็เป็นการตัดประโยชน์ทำนองว่าชีวิตนี้ดำรงอยู่ก็เพื่อกินนอน ไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ เสียทั้งทางโลกทั้งทางธรรม และความมุ่งที่จะเกิดในหมู่เทพคือมุ่งสวรรค์ ก็เป็นความมุ่งที่สวนทางกับมรรคผลนิพพาน อันเป็นวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมนั้นเพื่อมรรคผลนิพพาน หรือว่าถ้าพูดอย่างสามัญลงมา ก็เพื่อความดี เพื่อความบริสุทธิ์ ไม่ใช่เพื่อสวรรค์ จะเป็นสวรรค์ในโลกนี้ อันหมายถึงว่าความสุขต่างๆในโลกนี้ ทางวัตถุ หรือสวรรค์ในโลกหน้าตามที่แสดงไว้ก็ตาม แต่ว่ามุ่งที่จะขัดเกลาตนเอง ฝึกตนเองให้เจริญด้วยธรรมะที่เป็นคุณธรรม ๖ นำให้เกิดความดีงามต่างๆ ทั้งในปัจุบัน ทั้งในภายหน้า และทั้งที่เป็นความดีงามอย่างยิ่งคือมรรคผลนิพพาน เจโตวินิพันธะ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้จักว่าทั้ง ๕ ข้อนี้ คือมีความติดใจยินดี อันเรียกว่าราคะ อยู่ในกาม ในกาย ในรูป และเอาแต่กินนอน กับมุ่งสวรรค์ ก็คือมุ่งความสุขทางวัตถุต่างๆ เป็น เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ ผูกพันใจเอาไว้ให้ปฏิบัติกระทำ หรือจะเรียกว่าสิกขาศึกษาก็ได้เหมือนกัน เพื่อกาม เพื่อกาย เพื่อรูป เพื่อกินนอน และเพื่อสวรรค์ เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจที่จะทรงจิตใจมาศึกษาธรรมะ อันเป็นคุณธรรม นำให้เกิดความดีงามต่างๆ ไม่ตบแต่งหรือปรุงแต่งธรรมะปฏิบัติอันเป็นส่วนดีงาม ไม่ปฏิบัติปรุงแต่ง รูปฌาน อรูปฌาน หรือพูดเป็นกลางๆว่าไม่ปฏิบัติปรุงแต่งธรรมะ ที่เป็นคุณงามความดี แม้ตั้งแต่ขั้นรูปธรรมที่เป็นส่วนดีส่วนชอบ และเอาแต่กินนอน ไม่ประกอบชีวิตใช้ชีวิตให้ทำประโยชน์อะไร และไม่มุ่งธรรมะที่เป็นคุณงามความดี มุ่งความสุขที่เป็นวัตถุ เรื่องมุ่งสวรรค์ในปัจจุบัน อันเรื่องของมุ่งสวรรค์อันเป็นความสุขที่เป็นวัตถุนี้ เป็นการกล่าวถอดความเข้ามา ให้เห็นสวรรค์ที่เป็นปัจจุบัน เพราะแม้สวรรค์ในโลกหน้าตามที่แสดงไว้ ก็ล้วนเป็นสถานที่ๆ เต็มไปด้วยความสุขทางวัตถุทั้งนั้น ประกอบไปด้วยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่งดงาม น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ตามที่คนในโลกที่เป็นคนสามัญต้องการกัน คราวนี้มาพูดถึงปัจจุบัน ก็คือความสุขทางวัตถุที่เป็นปัจจุบันต่างๆ ๗ คนเราที่เห็นแก่ได้ เช่นเห็นแก่เงินแก่ทอง เห็นแก่ความร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี ก็กล่าวได้ว่า ล้วนแต่มุ่งสวรรค์ในปัจจุบันได้ทั้งนั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงทำให้ตีราคาของวัตถุ เช่นเงินทอง ทรัพย์สิน ยิ่งกว่าธรรมะที่เป็นคุณธรรมอันเป็นตัวความดีต่างๆ คนจึงทิ้งธรรมะ ทิ้งศีล ทิ้งสมาธิ ทิ้งปัญญา ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ คือไม่ศึกษาปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา แต่ไปศึกษาในทางที่ว่าจะได้เงินมามากๆอย่างไร จะลักขะโมยอย่างไร จะโกงอย่างไร จะรวบรวมมาได้อย่างไร เหล่านี้เป็นต้น เพราะเมื่อได้วัตถุนั้นมา เช่นว่าได้เงินได้ทองมา ก็เป็นอันว่านั่นเป็นที่ประสงค์ ตีราคาของสิ่งเหล่านี้ยิ่งไปกว่าราคาของธรรมะที่เป็นตัวคุณงามความดี เพราะฉะนั้น ข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามุ่งสวรรค์นั้น ก็ควรจะทำความเข้าใจลงมาดั่งนี้ด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อศีลธรรม ต่อความสงบสุขของหมู่ชนเป็นอันมาก ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะคนมุ่งวัตถุดังกล่าวนี้ และตีราคาของวัตถุดังกล่าวนี้สูงกว่าราคาของธรรมะที่เป็นคุณงามความดี เพราะฉะนั้น แต่ละข้อที่ตรัสไว้จึงเป็นสัจจะคือความจริง ที่เป็นเครื่องผูกพันใจ ไม่ให้ใฝ่หาธรรมะที่เป็นตัวคุณงามความดี แต่ให้ใฝ่หาแต่กาม แต่กาย แต่รูป แต่การกินการนอน แต่สวรรค์ ก็คือความสุขทางวัตถุต่างๆตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ละเสีย จึงจะสามารถปฏิบัติธรรมะ อันเป็นส่วนคุณงามความดีให้ก้าวหน้าสืบไปได้ และก็ไม่ต้องว่าถึงมรรคผลนิพพาน เอาแค่ธรรมะที่เป็นคุณงามความดี ที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน เป็นประโยชน์ภายหน้า เท่านี้ ก็จะต้องละเครื่องผูกพันใจเหล่านี้เสียด้วย จึงจะปฏิบัติให้ถูกต้องได้ และถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติละเสีย ความเบียดเบียนกันในโลกก็จะยิ่งมีมากขึ้นๆ จนถึงเรียกว่าเป็นกลียุค คนก็จะยิ่งเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทำร้ายร่างกายกัน ฆ่าฟันกัน มากขึ้นทุกทีๆ ต่อเมื่อละเสียได้มามุ่งที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมะ ที่เป็นส่วนคุณงามความดีกันให้มากขึ้น ละความมุ่งที่จะบำรุงปรับปรุงกาม กาย รูป กินนอน และมุ่งสวรรค์ คือความสุขทางวัตถุต่างๆดังกล่าว ๘ ธรรมะที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ อนึ่ง เมื่อได้ตรัสสอนให้ละตะปูที่ตรึงใจ ตะปูที่ตอกตรึงใจ ๕ ประการ และเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการดังกล่าวนี้ ก็ได้ตรัสสอนให้อบรมอิทธิบาท คือธรรมะที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ วิมังสาความใคร่ครวญพิจารณา สำหรับเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติธรรมะที่เป็นคุณงามความดีต่างๆให้บังเกิดขึ้น และตรัสเพิ่มอีกข้อหนึ่ง อันเรียกว่า (ฟังไม่ชัด) แปลกันว่าความขมักเขม้น แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็อาจหมายถึงขันติคือความอดทน ความอดกลั้นทนทาน ซึ่งเป็นเหตุให้สามารถมีความเพียรขมักเขม้น ปฏิบัติกิจที่พึงปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมะที่เป็นคุณงามความดี ให้สำเร็จได้อีกข้อหนึ่ง รวมเป็น ๕ ข้อด้วยกัน เพราะฉะนั้นจึงรวมเป็น ๑๕ ข้อ คือในด้านละเสีย ๑๐ ข้อ ละตะปูที่ตอกตรึงใจ ๕ ข้อ ละเครื่องผูกพันใจ ๕ ข้อ และอบรมอิทธิบาท ๔ กับอบรมขันติคือความอดทน อดกลั้นทนทาน อันทำให้ขมักเขม้นปฏิบัติกรณียะคือกิจที่ควรทำต่างๆให้สำเร็จได้ รวมเป็น ๑๕ ข้อ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะสามารภ ปฏิบัติธรรมะที่เป็นคุณงามความดีได้ ทั้งที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ทั้งที่เป็นประโยชน์ภายหน้า ทั้งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือปฏิบัติในกรรมฐาน ทางด้านสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ให้บรรลุถึงความสำเร็จยิ่งๆขึ้นไปได้ ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*
สัมมาทิฏฐิ ๑

เบื้องต้นของสัมมาปฏิบัติ
 *
 สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *
 สัมมาทิฏฐิสูตร อกุศลกรรมบถ ๑๐ ๓
อกุศลมูล ๔
กุศลกรรมบถ ๑๐ กุศลมูล ๕
สัมมัปปัญญา ๖
มิตตสัมปทา โยนิโสมนสิการ ๖
 เบื้องต้นของสัมมาปฏิบัติ ๗
ปัญญาขั้นต้น ๘
ญาณทัสสนะ ๙
ความเห็นชอบที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ๑๐
 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๔๖/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๔๗/๑ ( File Tape 38 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๑ เบื้องต้นของสัมมาปฏิบัติ
 

*
สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *
 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ปัญญาในธรรมนั้นเรียกได้ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ เป็นความเห็นตรง สัมมาทิฏฐินี้เป็นข้อสำคัญ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้เป็นข้อแรกในมรรคมีองค์ ๘ คือเป็นองค์แรกของมรรคมีองค์ ๘ นั้น เพราะฉะนั้น การทำสมาธิดั่งที่ได้กล่าวว่าทำสมาธิในการฟัง ก็เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม อันเป็นสัมมาทิฏฐินี้เอง ถ้าหากว่าไม่ได้ปัญญาในธรรมอันเป็นสัมมาทิฏฐินี้ ก็มิบรรลุถึงข้อที่ปฏิบัติ และผลแห่งข้อที่ปฏิบัติ อันเป็นที่มุ่งในทางพุทธศาสนา คำว่าพุทธศาสนานั้น ก็แสดงอยู่แล้วว่าเป็นศาสนาทางปัญญา เพราะพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ ก็คือทรงปัญญาตรัสรู้นั้นเอง ฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นข้อสำคัญ และปัญญาที่มุ่งหวังก็คือสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ๒ ความเห็นตรงนี้เอง เมื่อได้ความเห็นชอบได้ความเห็นตรง ก็ย่อมจะได้ปสาทะ คือความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระธรรม เป็นผู้มาสู่สัทธรรมนี้ ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าการมาสู่สัทธรรมนี้ ก็ต้องอาศัยความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม ก็ต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ความเห็นตรงเป็นหลัก ทุกคนย่อมมีความรู้ความเห็นซึ่งเป็นตัวปัญญา ที่ได้มาแต่ชาติกำเนิดเป็นมนุษย์ ซึ่งแปลอย่างหนึ่งว่าผู้ที่มีใจสูง หรือผู้ที่มีความรู้สูง ฉะนั้น จึงสามารถที่จะรู้สัจจะคือความจริงของสิ่งทั้งหลายได้ในขั้นธรรมดาสามัญทั่วไป และเมื่อได้อบรมปัญญาที่ได้มาแต่ชาติกำเนิด อันเรียกว่า สชาติปัญญา ยิ่งๆขึ้นไปแล้ว ก็จะได้ความรู้ที่ยิ่งๆขึ้นไป สัมมาทิฏฐิสูตร ( เริ่ม ๔๗/๑ ) พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบไว้ทั่วไปว่า คือ ความรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักนิโรธความดับทุกข์ รู้จักมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านพระสารีบุตรเถระก็ได้อธิบายสัมมาทิฏฐิแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่ท่านประมวลไว้ในสัมมาทิฏฐิสูตร โดยที่ท่านได้อธิบายกว้างขวางออกไป ขยายความออกไป จับตั้งแต่เบื้องต้นโดยที่ท่านได้กล่าวตั้งเป็นกระทู้ขึ้นว่า ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบนั้นเป็นอย่างไร อกุศลกรรมบถ ๑๐ ท่านก็อธิบายว่าได้แก่ความรู้จักอกุศล ความรู้จักอกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล ความรู้จักกุศล ความรู้จักกุศลมูล มูลเหตุของกุศล ๓ ท่านก็ได้แสดงอธิบายขยายความต่อไปอีกว่า กุศลนั้น อกุศลนั้น ได้แก่อะไร ท่านก็ยกเอา อกุศลกรรมบถ คือทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลขึ้นแสดง ทางกายอันเรียกว่า กายกรรม อันเป็นอกุศล ๓ คือการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ๑ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ๑ การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๑ ทั้ง ๓ นี้เป็นทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางกาย ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางวาจาคือ วจีกรรม มี ๔ ก็ได้แก่พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ๑ ก็รวมทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางวาจาเป็น ๔ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางใจ ๓ ก็คืออภิฌชาโลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของๆผู้อื่น ๑ พยาบาทปองร้ายเขา ๑ มิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดจากคลองธรรม เช่นเห็นว่าไม่มีบาปไม่มีบุญ จะทำอย่างไรก็ไม่เป็นบาป จะทำอย่างไรก็ไม่เป็นบุญ ไม่มีผลของบาปบุญ และไม่มีมารดาบิดา ไม่มีกรรมดีกรรมชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่ว ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบทั้งหลาย ปฏิเสธว่าไม่มีทั้งหมดเหล่านี้เป็นมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดจากคลองธรรม ก็รวมเป็นทางกรรมที่เป็นอกุศลทางใจ ๓ รวมเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล ๑๐ นี้คืออกุศล สัมมาทิฏฐิก็คือรู้จักทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ว่าเป็นอกุศลจริง อกุศลมูล อกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล ก็ได้แก่โลภ คือความโลภอยากได้ อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม โมหะความหลง อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม ๔ สัมมาทิฏฐิก็คือความรู้จักอกุศลมูลเหล่านี้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมทั้งหลายตามเป็นจริง กุศลกรรมบถ ๑๐ ส่วนกุศล และกุศลมูลนั้น ก็ตรงกันข้าม กุศลก็ได้แก่กุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ คือทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล เป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ กายกรรม ๓ ก็คือ เว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย วจีกรรม ๔ ก็คือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล มโนกรรม ๓ ก็คือ ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของๆผู้อื่น ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบตามคลองธรรม ทั้ง ๑๐ นี้ก็ตรงกันข้ามกับอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ สัมมาทิฏฐิก็คือรู้จักกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ ว่าแต่ละข้อเป็นกุศลจริง กุศลมูล ส่วนกุศลมูล มูลเหตุของกุศลนั้น ก็ได้แก่ อโลภะความไม่โลภอยากได้ โดยมีสันโดษความพอใจอยู่ในทรัพย์สมบัติเฉพาะที่เป็นของตนเท่านั้น เป็นต้น อโทสะความไม่โกรธแค้นขัดเคือง ก็โดยที่มีเมตตา กรุณา เป็นต้น อโมหะความไม่หลง ก็คือความที่มีปัญญารู้ตามเป็นจริง อันทำไม่ให้หลงไหล ไม่ให้ถือเอาผิด สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือรู้จักกุศลมูลเหล่านี้ว่า ทุกๆข้อเป็นมูลเหตุของกุศลจริง ๕ สัมมัปปัญญา สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดั่งนี้เป็นทิฏฐิคือความเห็น เป็นทัศนะคือความเห็น เป็นญาณะคือความรู้ หรือเป็นปัญญาคือความรู้ทั่วถึง ที่จำต้องการเป็นขั้นต้นของทุกๆคนในโลก แต่ว่าจะได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดั่งนี้ได้ ก็ต้องอาศัยความที่ใช้ปัญญาที่มีอยู่เป็นพื้น ในการประกอบปลูกปัญญาให้ยิ่งๆขึ้นไป ด้วยการฟังการเรียน อันรวมในคำว่า สุตะ ด้วยการคิดพินิจพิจารณา อันรวมเรียกว่า จินตา และด้วยการปฏิบัติอบรมต่างๆในข้อที่พึงปฏิบัติอบรมนั้นๆ อันเรียกว่า ภาวนา และเมื่อได้ประกอบปฏิบัติปลูกปัญญาอบรมปัญญา เพิ่มพูนปัญญาในทางที่ถูกต้องอยู่เสมอ ก็ย่อมจะได้ปัญญาที่เป็นปัญญาถูกต้อง อันเรียกว่า สัมมัปปัญญา ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ดังกล่าว มิตตสัมปทา โยนิโสมนสิการ และข้อนี้ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ในที่อื่นอีกว่า ก็ต้องอาศัย มิตตสัมปทา คือความถึงพร้อมด้วยมิตร อันหมายความว่าได้มิตรที่ดีงาม อันเรียกว่า กัลยาณมิตร พระพุทธเป็นยอดของกัลยาณมิตร มารดาบิดาครูอาจารย์ทั้งหลายก็เป็นกัลยาณมิตร เพื่อนมิตรทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ทรงปัญญา สามารถที่จะให้คำแนะนำอบรมอันถูกต้องได้ ก็เรียกว่ากัลยาณมิตร ต้องอาศัยกัลยาณมิตรนี้ ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือ โยนิโสมนสิการ ที่แปลว่าการทำไว้ในใจ จับให้ถึงต้นเหตุ ดังเช่น เมื่อกำหนดเพื่อรู้จัก อกุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุ ว่ามีมูลเหตุมาจากโลภะโทสะโมหะ ซึ่งเป็นอกุศลมูล และเมื่อกำหนดเพื่อรู้จัก กุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุ ว่ามีต้นเหตุหรือมูลเหตุมาจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ดังกล่าว ๖ ความใส่ใจคือความกำหนดใจพินิจพิจารณาจับเหตุของผลให้ได้ดั่งนี้ คือ โยนิโสมนสิการ ก็ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการนี้อีกข้อหนึ่ง เบื้องต้นของสัมมาปฏิบัติ ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการนี้ ย่อมเป็นเบื้องต้นของสัมมาปฏิบัติทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นปัญญา หรือคลุมไปได้จนถึงศีลทั้งหมด ต้องอาศัยมีกัลยาณมิตร และมีโยนิโสมนสิการ มาตั้งแต่เบื้องต้น เหมือนอย่างอรุณเป็นเบื้องต้นของวัน กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการก็เปรียบเหมือนว่า เป็นอรุณเป็นเบื้องต้นของความสว่าง ของสัมมาปฏิบัติคุณงามความดีทั้งสิ้น อันนับว่าเป็นความสว่าง จึงต้องอาศัยกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ ดั่งนี้ และในหมวดธรรมบางหมวด ก็ได้ตรัสอธิบายขยายความออกไปในทางปฏิบัติ ว่าส้องเสพคบหาสัตตบุรุษคือคนดีก็ได้แก่กัลยาณมิตรนี้เอง ฟังธรรมของคนดี มีโยนิโสมนสิการ ใส่ใจ คือนำเอาธรรมะที่ฟังมาใส่ไว้ในใจ ตั้งต้นแต่ตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณาจับเหตุจับผล และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ข้อใดที่พึงละก็ละ ข้อใดที่พึงปฏิบัติก็พึงปฏิบัติ ข้อใดที่พึงปฏิบัติก่อนก็ปฏิบัติก่อน ข้อใดที่ปฏิบัติภายหลังก็ปฏิบัติภายหลัง ดั่งนี้เป็นต้น เรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และเมื่อมีทั้ง ๔ ข้อนี้ก็เป็นอันว่านำให้ได้สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบความเห็นตรง นำให้ได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำเข้ามาสู่สัทธรรมคือธรรมะของสัตตบุรุษ หรือธรรมะที่ดีที่ถูกต้อง คือพระธรรมวินัยนี้ ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติเพื่อให้ได้สัมมาทิฏฐิดังกล่าวนี้ พระสารีบุตรจึงได้นำมาอธิบายไว้เป็นประการแรก และท่านยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า เมื่อได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล ๗ อันนำให้ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ความเห็นตรง ก็ย่อมจะนำให้ได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ที่ท่านเรียกว่านำเข้ามาสู่สัทธรรมนี้ ก็คือนำเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้นั่นเอง และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ปฏิบัติละกิเลส ที่นอนจมหมักหมมดองจิตสันดาน อันเรียกว่าอาสวะหรือเรียกว่าอนุสัย อันยกขึ้นมาก็คือว่า เป็นเหตุให้ละราคานุสัยกิเลสที่นอนจมหมักหมมจิตสันดานคือราคะ บันเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง อันเป็นเบื้องต้นของกิเลสกองโทสะ ถอนทิฏฐิมานานุสัย อนุสัยคือทิฏฐิมานะ ละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น จึงเป็นไปเพื่อการกระทำความสิ้นสุดแห่งกองทุกข์ได้ ดั่งนี้ ปัญญาขั้นต้น เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ต้องการในทางพุทธศาสนา อันเป็นขั้นต้นที่ต้องการทั่วไป ก็คือปัญญาที่ทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบดังกล่าว ก็คือให้รู้จักอกุศล ให้รู้จักอกุศลมูล ให้รู้จักกุศล ให้รู้จักกุศลมูล แต่ว่าพึงทำความเข้าใจด้วยอีกว่า ความรู้จักที่เป็นตัวปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าวนี้ ไม่ใช่สัญญาคือความทรงจำ ความทรงจำนั้นก็คือความทรงจำตามที่ฟัง ตามที่อ่าน ตามที่เล่าเรียน ก็จำได้ ว่าอกุศลกรรมบถ ๑๐ อกุศลมูล ๓ มีอะไรบ้าง กุศลกรรมบถ ๑๐ กุศลมูล ๓ มีอะไรบ้าง ก็จำได้ ความจำได้ดั่งนี้ยังไม่เป็นปัญญา ยังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าว ต้องอาศัยความคิดพินิจพิจารณา และการปฏิบัติอีกด้วย คือว่าต้องคิดพิจารณาไป และต้องปฏิบัติไป การปฏิบัติไปนั้นก็คือ ปหานะ ละอย่าง ๑ ภาวนา ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ๑ ละก็คือว่าต้องฝึกละอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ละอกุศลมูลทั้ง ๓ นี่เป็นข้อที่ต้องปฏิบัติฝึกหัดละ ๘ ภาวนาคือทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นนั้น คือต้องปฏิบัติฝึกที่จะประกอบกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ และอบรมกุศลมูล อโลภะ อโทสะ อโมหะ ให้มีขึ้นให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ นี้ก็รวมเข้าในคำว่าภาวนา ญาณทัสสนะ ( เริ่ม ๔๗/๒ ) ในข้อ ๓ นี้ ก็ต้องประกอบด้วยทั้งละ และทั้งทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นดังกล่าวนั้น แต่เมื่อปฏิบัติไปๆ อาศัยสุตะ อาศัยจินตา อาศัยภาวนาทั้ง ๓ นี้ ก็ย่อมจะได้ปัญญา ที่เป็นตัวความรู้ขึ้นของตัวเอง ได้ความเห็นขึ้นของตัวเอง ซึ่งมีคำเรียกว่า ญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็น รู้เห็นว่าข้อนี้ๆเป็นอกุศลจริง ข้อนี้ๆเป็นอกุศลมูลจริง ข้อนี้ๆเป็นกุศลจริง ข้อนี้ๆเป็นกุศลมูลจริง ในการที่จะปฏิบัติประกอบปัญญาในทางทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตร และอาศัยโยนิโสมนสิการดังกล่าวมานั้น ประกอบกันอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นผู้มุ่งจะได้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จึงต้องปฏิบัติตามมงคลสูตรคาถาแรกของพระพุทธเจ้าอยู่ให้เป็นประจำ คือไม่เสวนาคบหาคนพาลทั้งหลาย เสวนาคบหาบัณฑิตทั้งหลาย และบูชาผู้ที่ควรบูชาทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติอยู่ดั่งนี้แล้วจึงจะได้กัลยาณมิตร และเมื่อมีโยนิโสมนสิการประกอบอยู่ตลอด ก็ย่อมจะเจริญปัญญาขึ้นโดยตลอด ทำให้เกิดความรู้ของตัวเองขึ้นรับรอง ว่านี่เป็นอย่างนี้จริง นี่เป็นอย่างนี้จริง ตามความเป็นจริง โดยที่จับเหตุจับผลได้ถูก จับได้ว่าอกุศลมูลนั้นเป็นตัวเหตุ ตัวอกุศลนั้นเป็นตัวผล กุศลมูลนั้นเป็นตัวเหตุ ตัวกุศลนั้นเป็นตัวผล ซึ่งการที่จะจับเหตุจับผลได้ถูกต้องดั่งนี้ ก็เกิดจากโยนิโสมนสิการ ใส่ใจ ตั้งแต่ตั้งใจฟังคำสอนของกัลยาณมิตร มาจนถึงพินิจพิจารณาขบเจาะ จับเหตุแห่งผลให้ได้ หรือว่าจับผลสาวหาเหตุให้ได้ จับเหตุที่จะส่งผลให้ได้ นี่แหละคือโยนิโสมนสิการ ๙ ให้ความรู้ของตัวเองบังเกิดขึ้นรับรอง ว่าข้อนี้เป็นความจริง ข้อนี้เป็นความจริง ความเห็นชอบที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ และเมื่อได้ปัญญาคือความรู้ของตัวเองให้เกิดขึ้นรับรองขึ้นตามเป็นจริง ดั่งนี้ จึงจะชื่อว่ามีความเห็นชอบที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นตรงที่เรียกว่าอุชุทิฏฐิ ทำให้มีความเลื่อมใสมิหวั่นไหวในพระธรรม โดยตรงก็คือในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว คือดีจริงถูกต้องจริง งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์คือศาสนาคำสั่งสอน ที่แสดงความประพฤติอันประเสริฐ พร้อมทั้งอรรถะคือเนื้อความ พร้อมทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ บริบูรณ์คือไม่บกพร่อง บริสุทธิ์คือไม่มีผิดพลาด สิ้นเชิง ย่อมจะได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม อันเป็นสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้า ดั่งนี้ และเมื่อเป็นดั่งนี้แหละ จึงจะชื่อว่าได้เข้ามาสู่พระสัทธรรมนี้ ได้เข้ามาสู่พระศาสนานี้ ได้เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ถ้าหากว่ายังไม่ได้สัมมาทิฏฐิแม้ในขั้นต้นดังกล่าว จึงยังหาชื่อว่าได้เข้ามาสู่พระสัทธรรมนี้ไม่ หาได้ชื่อว่ามีความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหว ในพระธรรมไม่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อที่ควรปฏิบัติ ตั้งใจที่จะสดับตรับฟัง ที่จะพินิจพิจารณา ที่จะปฏิบัติอบรม เพื่อให้ได้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าว ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats