ถอดเทปพระธรรมเทศนา

 

 

 

เทป039

สัมมาทิฏฐิ ๒ ความรู้จักอาหาร

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

อาหาร ๔ ๓
อาหารของกาย อาหารของนาม ๓
ขันธ์ ๕ นามรูป ๕
วิปัสสนาภูมิ ๖
อาหารของกรรม ๗
วิญญาณอาหารของนามรูป ๘
เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหาร ๑๐
 ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ แก้ตามหนังสือ ม้วนที่ ๔๗/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๔๘/๑ ( File Tape 39 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๒

ความรู้จักอาหาร

*
 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ปัญญาในธรรมนั้นดังได้กล่าวแล้ว ก็คือสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ท่านพระสารีบุตรได้แสดงสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบไว้ ว่าเห็นอย่างไรเป็นความเห็นชอบ และยังได้แสดงไว้ต่อไป ดังที่จะกล่าว ณ บัดนี้ คือภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฟังท่านพระสารีบุตรอธิบายสัมมาทิฏฐิดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงได้ถามท่านต่อไปว่า ยังมีอธิบายโดยปริยายคือทางอันอื่นอีกหรือไม่ ท่านพระสารีบุตรก็ได้ตอบว่ามี และก็ได้แสดงอธิบายปริยายคือทางอธิบายต่อไปอีกว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือความรู้จัก อาหาร รู้จัก อาหาระสมุทัย เหตุเกิดแห่งอาหาร รู้จัก อาหาระนิโรธ ความดับอาหาร และรู้จัก อาหาระนิโรธะคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นทางให้ถึงความดับอาหาร ๒ อาหาร ๔ คำว่า อาหาร นั้นเป็นคำที่ทุกๆคนก็เรียกกัน ถึงอาหารที่บริโภคเพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกาย แต่ว่าคำว่าอาหารมิใช่หมายความถึงเพียงอาหารสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงอาหารอย่างอื่นอีกด้วย ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายอาหารไว้ ๔ ประการ คือ ๑ กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ๒ ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ ๓ มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา ความจงใจ และ ๔ วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ อาหารของกาย คำว่า อาหาร นั้นตามศัพท์แปลว่านำมา ก็หมายถึงสิ่งที่เป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องอาศัยที่นำผลมา ข้อที่ ๑ กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ก็หมายถึงอาหารที่บุคคลตลอดจนถึงสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายบริโภค เป็นอย่างละเอียดก็มีเป็นอย่างหยาบก็มี ยกเอาคำข้าวขึ้นเป็นที่ตั้งเป็นชื่อ เพราะว่าข้าวนั้นก็ถือว่าเป็นอาหารหลักสำหรับที่จะบำรุงเลี้ยงร่างกาย ฉะนั้นจึงยกขึ้นเป็นชื่อของอาหารสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกาย อันหมายคลุมถึงอาหารทุกอย่างที่บริโภคสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกาย นี้คือ กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าวข้อที่ ๑ อาหารของนาม ข้อที่ ๒ ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ หมายถึงอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ มาประชุมกันเรียกว่าสัมผัสหรือผัสสะ อันแปลว่ากระทบ ๓ เป็นอาหารแห่งนามธรรมทั้งหลาย คือแห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร และแห่งวิญญาณเองที่เกิดสืบต่อไป กวฬิงการาหารอาหารคือคำข้าวข้อแรก เป็นอาหารของรูปธรรม คือร่างกายส่วนรูป ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะหรือสัมผัส เป็นอาหารของนามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดสืบเนื่องกันไป ผัสสาหารอาหารคือผัสสะข้อที่ ๒ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า คือความประชุมของอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ โดยที่เมื่อตากับรูปประจวบกันก็ย่อมเกิดวิญญาณ คือความรู้ในรูป ที่เรียกว่าเห็นรูป อันการเห็นรูปดังที่พูดกัน ก็มักจะพูดกันว่าเห็นรูปด้วยจักษุคือตา แต่เมื่อแสดงตามทางอภิธรรม ท่านแสดงว่าเห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ คือความรู้รูปทางจักษุ ตานั้นเป็นเพียงประสาทสำหรับเป็นที่อาศัยรับรูปที่มาประจวบกันเท่านั้น ถ้ายังไม่เกิดจักขุวิญญาณ การเห็นรูปก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องเกิดจักขุวิญญาณ วิญญาณทางตา ก็คือรู้รูปทางตาที่เรียกกันว่าเห็นรูป เพราะฉะนั้นการเห็นรูปจึงมิใช่เห็นด้วยจักขุหรือจักษุ แต่ว่าเห็นด้วยจักษุวิญญาณ เมื่อพูดตามธรรมดา ก็พูดว่าเห็นรูปด้วยจักษุ แต่ว่าเมื่อพูดตามทางอภิธรรม ก็จะต้องพูดว่าเห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ แม้ในอายตนะข้อต่อไปก็เช่นเดียวกัน หูกับเสียงมาประจวบกัน ก็เกิดโสตะวิญญาณ ได้ยินเสียง จมูกกับกลิ่นมาประจวบกัน ก็เกิดฆานะวิญญาณ รู้กลิ่นทางจมูก ลิ้นกับรสมาประจวบกัน ก็เกิดชิวหาวิญญาณ รู้รสทราบรสทางลิ้น กายกับโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องมาประจวบกัน ก็เกิดกายวิญญาณ รู้สิ่งถูกต้องทางกาย มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวมาประจวบกัน ก็เกิดมโนวิญญาณรู้เรื่องที่ใจคิดทางมโนคือใจ นี้เป็นปรกติของอายตนะภายในภายนอก และวิญญาณทางอายตนะทั้ง ๖ นี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นเป็นปรกติแก่ทุกๆคน ทุกๆเวลา ๔ และเมื่อทั้ง ๓ นี้มาประชุมกันจึงเรียกว่าเป็นสัมผัส ที่แปลว่าความกระทบ หรือเรียกสั้นว่าผัสสะ และผัสสะหรือสัมผัสดังกล่าวมานี้เองเป็นอาหารของนามธรรมทั้งหลาย คือของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร และของวิญญาณที่เกิดสืบจากสังขาร เพราะฉะนั้นตามอธิบายนี้วิญญาณจึงบังเกิดขึ้น ในเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอก มาประจวบกัน ก็เป็นวิญญาณขึ้นตามทางอายตนะ และเมื่อทั้ง ๓ มาประชุมกันเป็นสัมผัส จึงเกิดเวทนา เกิดสัญญา เกิดสังขาร แล้วก็เกิดวิญญาณสืบต่อกันไปอีก เพราะฉะนั้น วิญญาณจึงมาตรงที่ เมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกัน นั้นหนหนึ่ง และเมื่อมาประชุมกันเป็นสัมผัสหรือผัสสะ ก็เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร และก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก วิญญาณก็มาบังเกิดขึ้นสืบจากสังขารอีกครั้งหนึ่ง และก็มาเป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณ แล้วก็วนกันไปอยู่ดั่งนี้ในอารมณ์ทั้งหลายที่จิตนี้รับ เริ่มมาจากทางอายตนะซึ่งเป็นฝ่ายรูป แล้วก็มาเป็นนามธรรม ขันธ์ ๕ นามรูป เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันประกอบย่อเข้าเป็นรูปเป็นนาม รูปก็เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นนาม รวมเป็นขันธ์ ๕ ย่อก็เป็นรูปเป็นนาม อันเรียกว่านามรูปนี้ จึงเป็นสิ่งที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดา แต่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ จนเมื่อได้คลอดออกมาจึงมีความสมบูรณ์ แต่แม้เช่นนั้นก็ยังอ่อน เมื่อเติบโตขึ้นจึงเจริญขึ้นสมบูรณ์ขึ้น จนมีความสมบูรณ์เต็มที่ ดังรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ของบุคคลที่เติบโตขึ้น ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก เป็นเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาว ก็เป็นความสมบูรณ์ของขันธ์ ๕ ขึ้นมาโดยลำดับ ๕ ดังจะพึงเห็นได้ว่าเมื่อส่วนรูปมีความสมบูรณ์ ส่วนนามก็สมบูรณ์ ดังเช่นเมื่อตาหูจมูกลิ้นกายมนะคือใจสมบูรณ์ จึงรับอายตนะภายนอกต่างๆได้ฉับพลัน คล่องแคล่วว่องไว วิญญาณที่บังเกิดขึ้น สัมผัสที่บังเกิดขึ้น สืบมาถึงเวทนา สัญญา สังขาร และต่อไปวิญญาณอีก ก็สมบูรณ์ฉับพลัน วิปัสสนาภูมิ และตรงนี้ก็น่าที่จะต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่า ในขันธ์ ๕ นั้นไม่จัดใส่วิญญาณกับสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในช่วงนี้เข้าไว้ จัดรูปเป็นที่ ๑ แล้วก็มาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ต่อท้าย ตัดเอาวิญญาณกับสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในระหว่างรูปกับเวทนาเสีย ถ้าหากว่าจะใส่ไว้ด้วยก็ไม่ใช่เป็นขันธ์ ๕ จะต้องเป็นขันธ์ ๖ ขันธ์ ๗ แต่นี่ไม่ใส่ไว้ ตัดเอาวิญญาณกับสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในช่วงนี้ออกเสีย จึงเป็นขันธ์ ๕ แสดงวิญญาณไว้ข้างท้ายเท่านั้น พิจารณาดูก็เพื่อสะดวกเป็นวิปัสสนาภูมิ คือเป็นภูมิแห่งวิปัสสนา ( จบ ๔๗/๒ ) คือเป็นกรรมฐานสำหรับวิปัสสนาในอันที่จะกำหนดพิจารณาให้รู้ให้เห็นได้สะดวก เพราะว่ารูปนั้นก็เป็นของหยาบ พิจารณาได้สะดวก มาเวทนาก็นับว่าเป็นนามธรรมที่หยาบ บังเกิดขึ้นทั้งทางกายทั้งทางใจ จึงมาเป็นที่ ๒

( เริ่ม ๔๘/๑ ) จึงมาถึงสัญญา ถึงสังขารซึ่งเป็นส่วนนามธรรมล้วนๆ แล้วจึงมาวิญญาณซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ละเอียด ก็เอาคุมไว้ข้างท้าย สำหรับที่จะพิจารณาเป็นกรรมฐาน เป็นวิปัสสนาภูมิ ได้โดยสะดวก ฉะนั้น ผัสสะจึงมีความหมายถึงความประชุมของทั้ง ๓ อย่างดังที่กล่าวนั้น เป็นอาหารของเวทนา คือเป็นปัจจัยนำผลมา คือนำให้เกิดเวทนา ความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ให้เกิดสัญญาคือความรู้จำได้ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ ๖ จำเรื่องราวอะไรต่างๆได้ เป็นสังขารคือความรู้คิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ และเมื่อคิดปรุงไปก็รู้ไปด้วยก็เป็นวิญญาณ แล้วก็วนเป็นวงกลมมาใหม่อีก ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ เป็นเรื่องของรูปและนามที่บังเกิดอยู่ในปัจจุบันของบุคคลทุกๆคน โดยที่รูปนั้นก็ต้องอาศัยอาหารคือคำข้าว หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ส่วนนามก็อาศัยอาหารคือผัสสะดั่งที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากว่ารูปไม่ได้อาศัยอาหารคือคำข้าวก็ดำรงอยู่ไม่ได้ นามไม่อาศัยอาศัยอาหารคือผัสสะหรือสัมผัส นามก็บังเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น อาหารคือคำข้าวจึงเป็นที่ ๑ อาหารคือผัสสะจึงเป็นที่ ๒ อาหารของกรรม มาถึงข้อที่ ๓ มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนาความจงใจ ตรัสว่าเป็นอาหารของกรรม และพระสารีบุตรก็ได้แสดงอธิบายตามพระพุทธเจ้า เพราะว่ากรรมคือการงานที่บุคคลกระทำ ทางกายก็เป็นกายกรรม ทางวาจาก็เป็นวจีกรรม ทางใจก็เป็นมโนกรรม ย่อมเกิดจากมโนสัญเจตนาคือความจงใจ จะต้องมีมโนสัญเจตนา หรือเรียกสั้นว่าเจตนาความจงใจเป็นเหตุ จึงได้กระทำทางกายเป็นกายกรรม กระทำทางวาจาเป็นวจีกรรม กระทำทางใจเป็นมโนกรรม พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาคือความจงใจว่าเป็นกรรม คือเป็นเหตุให้กระทำกรรม เพราะว่าบุคคลมีเจตนาคือความจงใจแล้ว จึงกระทำทางกายบ้าง กระทำทางวาจาบ้าง และกระทำทางใจบ้าง ฉะนั้น กรรมที่บุคคลกระทำทุกๆอย่าง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรือบุญกรรม ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมหรือบาปกรรม ๗ ย่อมมีเจตนาคือความจงใจ หรือมโนสัญเจตนา เป็นเหตุ คือเป็นอาหาร เป็นปัจจัยที่นำผลมา คือนำให้บังเกิดกรรม ฉะนั้น มโนสัญเจตนา หรือเจตนาคือความจงใจ จึงเป็นอาหารของกรรม นับเป็นข้อที่ ๓ วิญญาณอาหารของนามรูป มาถึงข้อที่ ๔ วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ อันวิญญาณนี้ที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้น ท่านเรียกว่าเป็นวิถีวิญญาณ เป็นวิญญาณในวิถี อันหมายความว่าเป็นวิญญาณที่บังเกิดขึ้นตามวิถีคือตามทาง วิถีคือทางก็คือวิถีของกายจิตนี้ที่ประกอบกันอยู่เป็นไปอยู่ อันนับแต่อายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกัน เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นต้นดังกล่าวมาแล้ว นี้เรียกว่าเป็นวิถี คือเป็นทางแห่งความเป็นไปของกายและจิตที่อาศัยกันอยู่ ที่ประกอบกันอยู่ ที่ดำเนินไปอยู่ จึงเรียกว่าวิถีวิญญาณ อีกอย่างหนึ่งปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณในปฏิสนธิ วิญญาณในปฏิสนธินี้ก็ได้แก่วิญญาณธาตุคือธาตุรู้ หรือจิตที่อาศัยอยู่ในกายนี้ ซึ่งบุคคลทุกๆคนนี้มีกายและจิตประกอบกันอยู่ ถ้าหากว่าไม่มีจิต กายนี้ก็ดำรงอยู่มิได้ต้องแตกสลาย เพราะฉะนั้น จึงได้มีแสดงเอาไว้ในบางพระสูตรว่า เมื่อมีชาติคือความเกิด ตั้งต้นแต่เกิดขึ้นในครรภ์ของมารดา เริ่มก่อเกิดขึ้นก็มีปฏิสนธิวิญญาณ ซึ่งมีคำเรียกว่า คันธัพพะ คนธรรพ์ เข้ามาสู่ครรภ์ของมารดาอีกส่วนหนึ่ง มาประกอบเข้ากับส่วนประกอบที่เป็นรูป เมื่อเป็นดั่งนี้สัตว์จึงเริ่มมีชาติคือความเกิดขึ้นมา และเมื่อคันธัพพะ หรือปฏิสนธิวิญญาณเข้าสู่ครรภ์ของมารดา ในขณะที่ได้เริ่มก่อรูปขึ้น ตั้งต้นแต่เป็นกลละ และก็เริ่มเติบโตขึ้นแตกเป็น ปัญจะสาขา มีอายตนะที่บริบูรณ์ขึ้นโดยลำดับ ก็จะต้องมีปฏิสนธิวิญญาณประกอบอยู่ด้วยตลอด ๘ ถ้าหากว่าปฏิสนธิวิญญาณ หรือว่าจิต หรือว่าคนธรรพ์ดังที่เรียกในพระสูตร พรากออกไปเสียเมื่อใด รูปที่ก่อขึ้นมาตั้งแต่ต้นนั้น ก็เป็นอันว่าแตกสลาย ไม่ก่อเกิดขึ้นอีกต่อไป แม้ว่าเมื่อคลอดออกมาจากครรภ์ของมารดาแล้ว กายและจิตนี้ก็ต้องประกอบกันอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณที่มาตั้งแต่ในเบื้องต้นนั้นก็ต้อง จะต้องอยู่ ถ้าหากว่าปฏิสนธิวิญญาณที่มาตั้งแต่เบื้องต้นนั้น หรือว่าจิตออกไปเสียจากร่างกายนี้เมื่อใด ร่างกายอันนี้ก็เป็นอันว่าหยุดที่จะเติบโต แตกสลายที่เรียกว่าตาย จะดำรงอยู่ต่อไปมิได้ หรือจะเรียกว่าขันธ์ ๕ หรือรูปนาม เมื่อวิญญาณดังกล่าวไม่มีแล้ว ขันธ์ ๕ หรือรูปนามก็แตกสลาย ได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ที่ใช้เป็นบทสำหรับพิจารณาว่า อจิรํ วัตยํ กาโย ไม่นานหนอกายนี้ ปฐวึ อธิเสสฺสติ จักนอนทับแผ่นดิน ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโน ปราศจากวิญญาณถูกทิ้ง นิรตฺถํว กลิงฺครํ ราวกับท่อนไม้ท่อนฟืนไม่มีประโยชน์ คาถาบทนี้ก็เป็นเครื่องแสดงว่ากายนี้ ทั้งรูปกายทั้งนามกาย คือขันธ์ ๕ หากปราศจากวิญญาณเสียแล้วก็จักต้องนอน หรือถูกทอดทิ้งให้นอนทับแผ่นดิน เหมือนอย่างท่อนฟืนท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ กาย ทั้งรูปกาย ทั้งนามกาย หรือขันธ์ ๕ นี้ที่ยังดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะยังมีวิญญาณ ไม่ปราศจากวิญญาณ ฉะนั้นวิญญาณนี้จึงเป็นอาหารสำคัญของนามรูป หรือของขันธ์ ๕ หรือว่าของรูปกายนามกาย เมื่อวิญญาณนี้ยังอยู่ นามรูปก็ยังดำรงอยู่ แต่เมื่อปราศจากวิญญาณเสียแล้ว นามรูปก็เป็นอันว่าแตกสลาย ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นอาหารของนามรูป เป็นข้อที่ ๔ ๙ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอาหารไว้ ๔ อย่างดั่งนี้ และพระสารีบุตรก็ได้แสดงตาม สัมมาทิฏฐิก็คือความรู้จักอาหารทั้ง ๔ เหล่านี้ ว่าคำข้าวเป็นอาหารของกาย คือของรูปกาย ผัสสะหรือสัมผัสเป็นอาหารของนาม มีเวทนาเป็นต้น มโนสัญเจตนา หรือเจตนาความจงใจ เป็นอาหารของกรรม วิญญาณเป็นอาหารของนามรูป เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหาร ต่อจากนี้ท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงอธิบาย ให้รู้จัก อาหาระสมุทัย เหตุเกิดแห่งอาหาร ก็ชี้เอาตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก สัมมาทิฏฐิก็คือความรู้จักว่าตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เป็นเหตุแห่งอาหารทั้ง ๔ ดังกล่าว และแสดงต่อไปว่าความรู้จัก อาหาระนิโรธ คือความดับอาหาร ก็คือความรู้จักว่าดับตัณหาเสียได้ก็เป็นความดับอาหาร และปัญญาที่รู้จักดั่งนี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร ต่อไปก็แสดงว่าปัญญาที่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร ก็คือมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร ปัญญาที่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาหารดั่งนี้ เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ พิจารณาดูแนวอธิบายของท่านดั่งนี้ก็จะพึงเห็นได้ว่า ๑๐ เพราะตัณหานี้เองเป็น โปโนพฺภวิกา เป็นเหตุให้ถือภพถือชาติใหม่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุให้แสวงหาอาหาร แห่งรูปธรรม นามธรรม แห่งกรรม และแห่งวิญญาณ อยู่ตลอดไป ซึ่งเมื่อมีอาหารเหล่านี้อยู่ก็เป็นอันว่าไม่มีที่จะจบภพจบชาติ เป็นแนวอธิบายในทางดับภพดับชาติ จึ่งได้แสดงว่าตัณหาเป็นตัวสมุทัยแห่งอาหาร และดับตัณหาเสียได้ก็เป็นการดับอาหาร คือเป็นการดับภพดับชาติ และก็มรรคมีองค์ ๘ นั้นแหละเป็นทางปฏิบัติ แม้จะกล่าวว่าท่านแสดงมุ่งในทางดับภพดับชาติ แต่ก็เป็นสัจจะคือความจริง ว่าความสืบต่อภพชาติก็เพราะมีตัณหานี้เองเป็นตัวเหตุ เพราะสัจจะคือความจริงเป็นดั่งนี้ จึงได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า โลกอันตัณหาก่อขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อยังเป็นโลก ก็เพราะยังมีตัณหาอยู่เป็นตัวก่อให้เกิดขึ้น ดับตัณหาเสียได้ก็ดับโลก แล้วก็เป็นการดับทุกข์ เป็นสัจจะคือความจริง แต่แม้เช่นนั้นเมื่อไม่ประสงค์จะดับโลก ไม่ประสงค์จะดับตัณหา ยังต้องการโลกอยู่ ยังอยู่กับโลก ก็ปฏิบัติในการแสวงหาอาหารทั้ง ๔ นี้ โดยทางที่ชอบ เพื่อจะได้ภพชาติที่ดีที่ชอบ ภพชาติในปัจจุบันก็เป็นภพชาติที่ดีที่ชอบมีความสุข ภพชาติต่อไปก็มีความสุข ดั่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงได้แสดงสัจจะคือความจริง และความที่มีปัญญารู้จักความจริงในเรื่องอาหาร ในเรื่องเหตุเกิดอาหาร ในเรื่องความดับอาหาร ในเรื่องทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร ดั่งนี้แหละ คือเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ แม้จะเป็นข้อที่จะต้องพิจารณา เรียกว่ายากขึ้นไปจากประการแรก แต่ก็สามารถจะพิจารณาให้เห็นสัจจะคือความจริงได้ และจะทำให้เข้าใจธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้แสดงว่า เมื่อมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ก็ย่อมจะมีความเห็นตรง ย่อมจะมีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สัมมาทิฏฐิ ๓ ความรู้จักทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*
กุศลอันสำคัญ ๓
ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ๔
ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๕
ความหมายของอริยสัจจ์ ๕
กิจพึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ ๖
เบื้องต้นต้องอาศัยศรัทธาปัญญา ๗
อุคคติตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ ๙
เวไนยยนิกร ปุริสทัมสารถิ ๙
ปทะปรมะ ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ แก้ตามหนังสือ ม้วนที่ ๔๘/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๔๘/๒ - ๔๙/๑ ( File Tape 39 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๓ ความรู้จักทุกข์

*
สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงเรื่องสัมมาทิฏฐิตามอธิบายของท่านพระสารีบุตรในสัมมาทิฏฐิสูตร สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ความเห็นตรง ย่อมนำให้ได้ปสาทะ ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่พระสัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายว่า เห็นอย่างไร รู้อย่างไร เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ โดยปริยายคือทางแสดงหลายประการ ตั้งแต่ในเบื้องต้น ก็คือรู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล อันเป็นสัมมาทิฏฐิที่คนทั่วไปพึงมีเป็นพื้นฐาน ต่อจากนั้นท่านก็ได้แสดงอาหาร คือธรรมะที่นำผลมา อันหมายถึงเหตุแห่งผล ตั้งต้นแต่อาหาร อันเป็นเหตุความดำรงอยู่ได้ของกาย อันเป็นฝ่ายรูปธรรม อาหารของนามธรรม อาหารของกรรม คือการที่กระทำทางกายวาจาใจของทุกคน และอาหารของนามรูป เพื่อให้รู้จักอาหาร ธรรมะที่นำผลมาคือเหตุแห่งทั้ง ๔ อย่างนั้น ๒ และต่อจากนั้นเมื่อภิกษุทั้งหลายได้ถามต่อไป ท่านก็ได้แสดงอธิบายสืบต่อไป อันจะแสดงในวันนี้ ก็คือท่านได้อธิบายไว้มีใจความว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือ ความรู้จักทุกข์ รู้จักทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

( เริ่ม ๔๘/๒ ) รู้จักทุกขนิโรธความดับทุกข์ รู้จักทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านก็ได้แสดงอธิบายตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาไว้ ตั้งต้นแต่ปฐมเทศนาของพระองค์ ซึ่งเราทั้งหลายต่างก็ได้ยินได้ฟังเรื่องอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้มาแล้ว แต่แม้เช่นนั้นเรื่องอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ก็เป็นเรื่องอันสำคัญในพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่าเป็นที่รวมแห่งธรรมะในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น โดยพยัญชนะที่ตรัสนั้น ยกเอาว่าเป็นที่รวมแห่งกุศลธรรมในพุทธศาสนาทั้งสิ้น ก็หมายถึงความรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อันเป็นสัมมาทิฏฐินั้นเอง กุศลอันสำคัญ ความรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้เป็นกุศลอันสำคัญ คำว่ากุศลนั้นตามศัพท์แปลว่าความฉลาด ก็คือความรู้ที่เป็นความฉลาด ยอดของความรู้ที่เป็นความฉลาดก็กล่าวได้ว่าคือความรู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น กุศลธรรมทั้งหมดจึงรวมอยู่ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็คือรวมอยู่ในความรู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ และแม้ตัวอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เอง สรีระแห่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เอง ก็เป็นที่รวมของธรรมะทั้งสิ้น ดังที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นนั้น เพราะฉะนั้น แม้จะฟังบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ ก็ยิ่งเป็นการดี เพราะจะทำให้ได้ความรู้ซาบซึ้งในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้มากขึ้น จะเห็นความสำคัญของอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้มากขึ้น และก็มิใช่จำเพาะเป็นธรรมะเบื้องสูงเท่านั้น แต่ว่าเป็นธรรมะที่มีอยู่เป็นไปอยู่ ตั้งแต่ในเบื้องต้น มีอยู่เป็นไปอยู่ทั่วไป เป็นแต่เพียงว่าใครจะเห็นหรือไม่เห็นเท่านั้น เพราะเป็นสัจจะคือความจริงที่ปรากฏอยู่ ที่เป็นไปอยู่ ๓ ทุกข์ ฉะนั้นในเบื้องต้นจึงจะได้กล่าวทบทวนถึงพระเถราธิบาย ซึ่งอธิบายตามพระพุทธาธิบายนั้นเองก่อน รู้จักทุกข์ก็คือรู้จักว่าชาติความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะความตายเป็นทุกข์ โสกะความแห้งใจ ปริเทวะความคร่ำครวญรัญจวนใจ ทุกขะความไม่สบายกาย โทมนัสสะความไม่สบายใจ อุปายาสะความคับแค้นใจ เป็นทุกข์ ความประจวบกับสัตว์และสังขารทั้งหลาย สิ่งทั้งหลาย อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารทั้งหลาย สิ่งทั้งหลาย อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่ได้สมหวัง เป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ก็คือรูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ เป็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ รู้จักทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ก็คือรู้จักว่าตัณหาความอยากความดิ้นรนของใจ ความทะยานอยากอันเป็นไปเพื่อภพใหม่ ประกอบกับนันทิความเพลิน ราคะความติดใจยินดี มีความเพลิดเพลินยิ่งขึ้นๆ ในอารมณ์นั้นๆ ในสิ่งนั้นๆ อันได้แก่ กามตัณหา ความอยากไปในกาม คืออารมณ์หรือสิ่ง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ภวตัณหา ความอยากไปในภพ ความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหา ความอยากไปในวิภพ คือความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ ๔ ความดับทุกข์ รู้จักทุกขนิโรธความดับทุกข์ ก็คือรู้จักว่า ความดับตัณหา สำรอกตัณหาออกได้ไม่มีเหลือ การสละตัณหาเสียได้ การสลัดตัณหาเสียได้ ความพ้นตัณหาเสียได้ ความไม่อาลัยเกี่ยวเกาะผูกพันตัณหาได้ เป็นความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดั่งนี้ ความรู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดังกล่าว เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ เป็นความเห็นตรง ซึ่งนำให้เกิดปสาทะคือความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่สัทธรรม คือธรรมวินัยในศาสนานี้ เป็นไปเพื่อละราคานุสัย อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องจิตสันดาน คือราคะความติดใจยินดี บันเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง หงุดหงิดขัดเคืองโกรธแค้น ถอนอวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชาความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ละมานะทิฏฐิอนุสัยว่าเรามีเราเป็น ละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น ดั่งนี้ ความหมายของอริยสัจจ์ นี้เป็นพระเถราธิบายที่ท่านอธิบายตามพระพุทธาธิบายนั้นเอง และเป็นอธิบายที่เป็นหลักในการอธิบายอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ๕ จึงควรจะทำความเข้าใจสักเล็กน้อยในคำว่า อริยสัจจ์ ที่ท่านให้คำแปลไว้ว่า สัจจะคือความจริงที่ทำผู้รู้ให้เป็นอริยะ คือบุคคลผู้เจริญบุคคลผู้ประเสริฐ หรือแปลว่าสัจจะคือความจริงที่บุคคลผู้เป็นอริยะพึงรู้ ดั่งนี้ และบางทีก็แปลรวบรัดว่าสัจจะคือความจริงที่ประเสริฐ อันหมายถึงที่สูงที่ละเอียด อันเป็นวิสัยที่จะพึงรู้ได้ของปัญญา ที่สูงกว่าปัญญาสามัญ แต่มิได้หมายความว่าสัจจะที่ประเสริฐนั้นเป็นสัจจะที่ดี ที่พึงปฏิบัติอบรมให้มีขึ้น เพราะว่าทุกขสัจจะความจริงคือทุกข์นั้น ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครต้องการ จะก่อทุกข์ให้บังเกิดขึ้น สมุทัยสัจจะ สัจจะคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ อันได้แก่ตัณหานั้นก็มิได้ตรัสสอน หรือสั่งสอนให้ปฏิบัติอบรมตัณหาให้มีขึ้น เพราะฉะนั้น หากแปลอริยสัจจะว่า สัจจะอันประเสริฐ คำว่าประเสริฐในที่นี้จึงไม่ได้หมายความว่าดี ที่จะพึงปฏิบัติอบรมไปทุกอย่าง แต่หมายความว่าที่ละเอียด ที่สูงกว่าสัจจะสามัญทั่วไป อันเป็นวิสัยของภูมิปัญญาที่สูงขึ้นจะพึงรู้ คือที่จะพึงรู้แจ้งเห็นจริง ที่จะปฏิบัติในกิจของสัจจะทั้ง ๔ นี้ได้จริงๆ กิจพึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ เพราะว่า เมื่อว่าถึงลำพังตัวสัจจะคือความจริงทั้ง ๔ นี้ มีกิจที่จะพึงปฏิบัติต่างๆกัน พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทำ ปริญญา คือความรู้รอบคอบในทุกข์ ตรัสสอนให้ทำ ปหานะ คือละสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ สั่งสอนให้ทำ สัจฉิกรณะ คือการกระทำให้แจ้งในนิโรธคือความดับทุกข์ ตรัสสอนให้ทำ ภาวนา คือการปฏิบัติอบรมมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา เพราะฉะนั้น กิจที่จะพึงปฏิบัตินั้น ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ จึงมีอยู่ ๔ อย่าง คือ ๑ ปริญญา รู้รอบคอบ หรือกำหนดรู้จักทุกข์ ๖ ๒ ปหานะ ละสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ๓ สัจฉิกรณะ กระทำให้แจ้งนิโรธความดับทุกข์ และ ๔ ภาวนา การปฏิบัติอบรมทำมรรคมีองค์ ๘ ให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา กิจในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ จึงมีต่างกันเป็น ๔ ดั่งนี้ แต่ว่าในการปฏิบัติอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็คือการปฏิบัติทำกิจในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ให้บังเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนทุกคนนี่แหละ ให้ปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น เรียกว่าเมื่อเข้ามาสู่พุทธศาสนาตั้งแต่ในเบื้องต้น ก็ต้องเริ่มปฏิบัติในกิจในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ด้วยกัน แต่ในการปฏิบัติเบื้องต้นนั้นก็เรียกว่า ต้องอาศัยศรัทธาคือความเชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ ต้องอาศัยปัญญา คือความที่ ฟัง อ่าน คิด พินิจพิจารณา ตลอดจนถึงปฏิบัติให้มีความรู้ความเข้าใจ เป็นตัวปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริง ในอริยสัจจทั้ง ๔ นี้ เบื้องต้นต้องอาศัยศรัทธาปัญญา พุทธศาสนิกชนทุกคน เมื่อเข้ามาสู่พุทธศาสนา ตั้งแต่เบื้องแรก ก็ต้องอาศัยศรัทธา และอาศัยปัญญาดังกล่าวนี้ นำการปฏิบัติให้เป็นไป บางคนก็หนักทางศรัทธา เรียกว่า สัทธานุสารี แล่นไปตามศรัทธา บางคนก็หนักทางปัญญา ชอบใคร่ครวญพิจารณา เรียกว่า ปัญญานุสารี แล่นไปตามปัญญา ศรัทธาและปัญญาทั้งสองนี้เป็นหลัก ซึ่งทุกๆคน อันที่จริงก็ต้องมีอยู่ด้วยกัน ทั้งศรัทธาและทั้งปัญญา ก็เพราะว่าสิ่งใดที่รู้เห็นได้ด้วยปัญญาของตัวเอง เช่นธรรมะที่ทรงสั่งสอน เป็นเหตุผลขั้นต้นขั้นต่ำ อันเป็นธรรมดาสามัญที่จะพึงบังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ตามองเห็นได้ในบัดนี้ ก็ไม่จำต้องอาศัยศรัทธา เพราะได้ปัญญารู้เห็นได้ด้วยตัวเองแล้ว ๗ แต่ว่าข้ออันใดที่ตนยังไม่อาจจะรู้เห็นได้ก็ต้องอาศัยศรัทธา คือความเชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ก็มิใช่เชื่อเพียงอย่างเดียว ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาจับเหตุจับผล อันเรียกว่า โยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจ คือรับเอาคำสั่งสอนมาไว้ในใจ ตั้งต้นแต่ใส่ใจที่จะฟังที่จะอ่าน กำหนดจดจำ นำมาขบเจาะคือพินิจให้มีความรู้ความเข้าใจ ลงความเห็นก็คือทำความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ดั่งนี้ก็เรียกว่าอาศัยศรัทธานำ เพื่อจะได้ปัญญายิ่งๆขึ้นต่อไป และแม้ว่าจะชอบทางปัญญา พินิจพิจารณาให้มีความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง แต่แม้เช่นนั้น สิ่งที่ยังไม่รู้ไม่เห็นด้วยตัวเองได้ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ ก็รับฟังคือใช้ศรัทธาเชื่อไว้ก่อน ไม่ปฏิเสธ และก็ปฏิบัติเพื่อให้ได้ปัญญายิ่งๆขึ้นสืบต่อไป ดั่งนี้ ต้องอาศัยศรัทธา ต้องอาศัยปัญญาดังกล่าว แม้ในอริยสัจจทั้ง ๔ นี้ก็เช่นเดียวกัน หน้าที่ของผู้ฟังอริยสัจจ์ ก็คือปฏิบัติในกิจของอริสัจจ์ดังที่กล่าวมาแล้ว อาศัยศรัทธาและอาศัยปัญญา ในการที่จะทำความกำหนดรู้จักทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน อะไรที่ตรัสว่าเป็นทุกข์ ก็ใช้ศรัทธาใช้ปัญญาประกอบกัน เพื่อกำหนดรู้ เพื่อทำความรู้รอบคอบ ว่าข้อนี้เป็นทุกข์จริง ข้อนี้เป็นทุกข์จริง และเป็นทุกข์จริงอย่างนี้ เป็นทุกข์จริงอย่างนี้ ( เริ่ม ๔๙/๑ ) ข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน อาศัยศรัทธาอาศัยปัญญาเพื่อละสมุทัย คือละตัณหา อาศัยศรัทธาอาศัยปัญญาเพื่อทำให้แจ้งนิโรธคือความดับตัณหา ซึ่งตรัสว่าเป็นความดับทุกข์ อาศัยศรัทธาและปัญญาปฏิบัติทำภาวนา คืออบรมมรรคมีองค์ ๘ให้บังเกิดขึ้น ก็อาศัยศรัทธาและปัญญาดั่งนี้ ปฏิบัติในกิจของอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ให้ก้าวหน้าไปโดยลำดับ ๘ อุคคติตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ ในการปฏิบัตินั้นผู้ที่เป็น อุคคติตัญญู คือรู้เร็ว เมื่อฟังคำสอนเรื่องอริยสัจจ์เพียงหัวข้อ ก็เข้าใจได้ทันที ผู้ที่เป็น วิปจิตัญญู คือมีความรู้ที่ช้าเข้าอีกหน่อยหนึ่ง เมื่อฟังอริยสัจจ์เพียงหัวข้อ และฟังอธิบายในหัวข้อก็มีความรู้ความเข้าใจ บุคคลที่เป็น เนยยะ คือพึงแนะนำได้ เมื่อฟังหัวข้อฟังอธิบายแล้วหนหนึ่ง ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็จะต้องฟังหนที่สอง หนที่สาม หนที่สี่ หลายๆหนก็อาจจะมีความรู้ความเข้าใจได้ ที่เรียกว่าเนยยะคือพึงแนะนำได้ ต้องแนะนำอบรมพร่ำสอนอยู่บ่อยๆ บุคคลส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นพวกที่ ๓ นี้ คือเป็นพวกที่เรียกว่า เนยยะ คือพึงแนะนำอบรมได้ เวไนยยนิกร ปุริสทัมสารถิ และคำว่า เนยยะ นี้เองก็ใช้อยู่ในคำว่า เวเนยยนิกร ดังที่ได้กล่าวกันว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมสั่งสอน เวเนยยนิกร ซึ่งแปลว่าหมู่แห่งชนที่พึงแนะนำได้ ที่พึงสอนได้ และยังมีอีกคำหนึ่งในบทพระพุทธคุณว่า ปุริสทัมสารถิ พระพุทธเจ้าทรงเป็นเหมือนอย่างสารถีฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก ก็คือบุรุษบุคคลที่ฝึกได้ ซึ่งคำนี้ว่า ทัมมะปุริสสะ บุรุษบุคคลที่ฝึกได้ หรือ เวไนยนิกร หมู่แห่งชนที่พึงแนะนำได้ อบรมได้ ก็หมายถึงบุคคล ๓ จำพวกดังกล่าวมา คือ อุคคติตัญญู บุคคลที่รู้ได้เร็ว วิปจิตัญญู บุคคลที่รู้ได้ช้าเข้าหน่อยหนึ่ง คือเมื่อยกหัวข้อขึ้นแล้วก็ต้องอธิบาย เนยยะ บุคคลที่พึงแนะนำได้ อบรมได้ คือต้องพร่ำสอนกันอยู่บ่อยๆหลายครั้งหลายหน ๓ จำพวกนี้เป็น ปุริสทัมมะ บุรุษบุคคลที่พึงฝึก ที่ฝึกได้ เป็น เวไนยยะ หรือ เวไนยยนิกร หมู่แห่งชนที่พึงฝึกได้ แนะนำได้ อบรมได้ พระพุทธเจ้าย่อมทรงสั่งสอนได้ แก่บุคคลทั้ง ๓ พวกดังกล่าวนี้ ๙ ปทะปรมะ และคำนี้เองก็บ่งว่าจะต้องมีอีกพวกหนึ่ง คือจำพวกที่ฝึกไม่ได้ คือมิใช่เป็น ปุริสทัมมะ บุรุษบุคคลที่พึงฝึกได้ แต่ว่าเป็นบุรุษบุคคลที่ฝึกไม่ได้ ดั่งนี้ก็มีอยู่ บุคคลจำพวกที่ฝึกไม่ได้นี้เอง ก็เช่นเป็นผู้ที่มีทิฏฐิมานะมาก ไม่ยอมรับคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่า ปทะปรมะ มีบทอย่างยิ่ง ก็คือหมายความว่าเป็นผู้ที่โง่เง่ามาก ไม่สามารถที่จะรู้ธรรมะที่ทรงสั่งสอนได้ และก็หมายรวมไปถึงผู้ที่มีทิฏฐิมานะมากดังกล่าวนั้นด้วย จำพวกที่มีทิฏฐิมานะมากนั้น ก็ยกตัวอย่างเช่นอาจารย์สญชัย ของท่านพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ที่เมื่อท่านพระอัครสาวกทั้งสอง ก่อนที่ท่านจะเข้าบวช ท่านได้พบพระอัสสชิเถระแล้ว ท่านกลับไปชักชวนท่านอาจารย์ของท่าน คืออาจารย์สญชัย ท่านอาจารย์สญชัยนั้นท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ ทั้งที่ท่านก็รู้ ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น น่าจะต้องดี จึงได้จูงใจเอาศิษย์สำคัญของท่านไปนับถือได้ ท่านจึงถามว่า ในโลกนี้คนฉลาดมากหรือคนโง่มาก ท่านพระอัครสาวกทั้งสองเมื่อยังเป็นปริพาชก ท่านก็ตอบว่าคนโง่มาก ท่านอาจารย์สญชัยจึงได้บอกว่า ถ้าอย่างงั้นก็ให้คนฉลาดไปหาพระพุทธเจ้า ให้คนโง่มาหาท่านก็แล้วกัน ดั่งนี้ ก็คือเป็นจำพวกที่เรียกว่าเป็นบุรุษบุคคลที่ฝึกไม่ได้ เพราะมีทิฏฐิมานะมาก และตลอดจนถึงผู้ที่โง่เง่าจนเกินไป ก็รวมอยู่ในคำว่า ปทะปรมะ อันเป็นจำพวกที่ ๔ เพราะฉะนั้น กิจในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นข้อที่ทุกคนจะพึงปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นด้วยกันทั้งนั้น และการปฏิบัติในพุทธศาสนาทั้งสิ้น ก็รวมเข้าในการปฏิติกิจทั้ง ๔ นี้ คือกำหนดรู้จักทุกข์ ละสมุทัย ทำให้แจ้งนิโรธ ก็ปฏิบัติอบรมในมรรคในองค์ ๘ ซึ่งย่นเข้าก็ใน ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้น อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้จึงเป็นธรรมะสำคัญ ที่ควรจะต้องฟังบ่อยๆ ต้องพินิจพิจารณากันบ่อยๆ และเป็นที่รวบรวม ธรรมะทั้งสิ้นก็รวมอยู่ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ กุศลธรรมทั้งสิ้นก็รวมเข้าในความรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*

 

 

 

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats