ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 12 ธันวาคม 2555 09:23
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป037
เรื่องจิตนี้
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
การอบรมจิตต้องรู้จักจิต ๓
วิญญาณธาตุ ๔
ตัวรู้อยู่ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น ๕
ความรู้ของจิตอาศัยทวารทั้ง ๖ ๖
อุปกิเลส ๗
หลักปฏิบัติในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๗
การปฏิบัติแยกจิตออกเป็น ๒ ส่วน ๘
สัญโญชน์ ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ม้วนที่ ๔๔/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๔๕/๑ ( File Tape 37 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
เรื่องจิตนี้
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องจิต ตามที่ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ โดยชื่อว่าจิตบ้าง วิญญาณบ้าง เพราะว่าการปฏิบัติอบรมจิตอันเรียกว่าจิตภาวนานั้น พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาก็ได้ตรัสสอนไว้ ซึ่งมีคำแปลว่า ภิกษุทั้งหลายจิตนี้ปภัสสรคือผุดผ่อง จิตนี้นี่แหละเศร้าหมองไป เพราะอุปกิเลสคือเครื่องที่เข้าไป หรือเข้ามา ทำให้จิตเศร้าหมองทั้งหลาย ที่เป็นอาคันตุกะคือที่จรมา บุถุชนผู้มิได้สดับแล้วย่อมไม่รู้จักจิตนั้น พระองค์จึงตรัสว่าจิตภาวนา การอบรมจิตย่อมไม่มีแก่บุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว และได้ตรัสไว้อีกว่าภิกษุทั้งหลายจิตนี้ปภัสสรคือผุดผ่อง จิตนั้นนั่นแหละพ้นแล้วได้ จากอุปกิเลสคือเครื่องที่เข้าไปหรือเข้ามาทำให้จิตเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา ๒ อริยสาวกคือศิษย์ของพระอริยะผู้ประเสริฐผู้เจริญ ได้สดับแล้ว ย่อมรู้จักจิตนั้น พระองค์ตรัสว่าจิตภาวนาการอบรมจิตย่อมมีแก่อริยสาวกผู้สดับแล้ว ดั่งนี้ และได้มีพระพุทธภาษิตตรัสถึงจิตไว้อีกเป็นอันมากเป็นต้นว่า จิตที่มิได้อบรมแล้ว มิได้รักษาคุ้มครองแล้ว เป็นจิตที่ไม่ควรแก่การงาน ย่อมเป็นไปเพื่อโทษมิใช่ประโยชน์ใหญ่ ส่วนจิตที่อบรมแล้ว รักษาคุ้มครองแล้ว เป็นจิตที่ควรแก่การงาน ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ ดั่งนี้เป็นต้น การอบรมจิตต้องรู้จักจิต ฉะนั้น การอบรมจิต รักษาคุ้มครองจิต ฝึกจิต จึงเป็นสิ่งสำคัญของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จะเว้นจากการอบรมจิตเสียมิได้ และเมื่อได้ปฏิบัติฝึกอบรมจิตแล้ว ก็ย่อมจะได้ประสบประโยชน์ใหญ่ที่ตรัสไว้ ประโยชน์ใหญ่นั้นก็หมายคลุมถึงประโยชน์ที่ได้จำแนกเอาไว้ เป็นประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ประโยชน์อย่างยิ่งบ้าง แต่ในการที่จะปฏิบัติอบรมจิตนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องรู้จักจิต จะรู้จักจิตได้ก็จะต้องเป็นผู้ที่สดับ คือสดับตรับฟังคำสั่งสอนของพระอริยะ ดังที่เรียกว่าอริยสาวก ที่แปลว่าผู้ฟังแห่งพระอริยะ ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดานั้นเองทรงเป็นพระอริยะขึ้นพระองค์แรก และเมื่อได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอน ผู้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์ ได้รู้ธรรมะเห็นธรรมะตามพระองค์ จึงได้เป็นอริยะตามพระองค์ขึ้นมา คำว่าอริยสาวกแปลได้อีกว่าสาวกผู้เป็นอริยะ ซึ่งจะต้องสดับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ๓ ที่ตรัสชี้แจงแสดงไว้โดยเฉพาะ ตรัสชี้แจงแสดงไว้ว่าจิตนี้ปภัสสรคือผุดผ่อง จิตนี้นั้นเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมา จิตนี้นั้นพ้นแล้วได้จากอุปกิเลสที่จรมาทั้งหลาย ก็โดยที่ปฏิบัติอบรมจิต อันเรียกว่าจิตตภาวนา ตามที่ทรงสั่งสอนไว้ และผู้ที่ได้สดับตรับฟังได้ปฏิบัติอบรมจิต จนจิตพ้นจากอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามาได้ แม้บางส่วน จึงได้ชื่อว่าอริยสาวกผู้สดับแล้ว เป็นผู้ที่รู้จักจิต และพระองค์ก็ตรัสว่ามีจิตตภาวนาคือการอบรมจิต ฉะนั้น ในเบื้องต้นจึงต้องตั้งใจสดับตรับฟังคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาที่แสดงเรื่องจิตไว้ดั่งนี้ ให้รู้จักจิตไว้เป็นเบื้องต้นก่อน ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง ความผุดผ่องเป็นธรรมชาติของจิต จิตผุดผ่องโดยธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา เมื่อไรๆก็เป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่องอยู่ แต่ก็เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสทั้งหลายที่จรเข้ามา วิญญาณธาตุ จิตนี้มีธรรมชาติที่ผุดผ่องดังกล่าว และยังมีธรรมชาติอย่างไรอีก ก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้อีก ว่าบุรุษบุคคลทุกคนนี้มีธาตุ ๖ ได้แก่ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่าง และวิญญาณธาตุ คือธาตรู้ ซึ่งวิญญาณธาตุคือธาตุรู้นี้ ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ให้พิจารณาธาตุ ๕ ข้างต้น ว่าเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน ไม่พึงยึดถือว่าเป็นของเรา หรือว่าเราเป็น หรือว่าเป็นอัตตาตัวตนของเรา และเมื่อได้ปฏิบัติพิจารณาธาตุ ๕ ข้างต้นดั่งนี้ วิญญาณธาตุก็ย่อมบริสุทธิ์ผ่องใส อาจที่จะน้อมวิญญาณธาตุที่บริสุทธิ์ผ่องใสอันควรแก่การงาน อ่อนควรแก่การงาน ๔ ไปเพื่อสมาธิอย่างสูงได้ แต่ว่าเมื่อน้อมไปเพื่อสมาธิอย่างสูงนี้ก็ไม่ตรัสสอนให้ติด ถ้าไปติดเข้าก็ย่อมจะ .. ( เริ่ม ๔๕/๑ ) และอุเบกขานี้ก็ไม่พึงติด เพราะถ้าติดเข้าก็จะอยู่แค่อุเบกขาที่เป็นขั้นสมาธิอย่างสูงดังกล่าว เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนไม่ให้ยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือเสียได้จึงจะก้าวขึ้นสู่มรรคผลนิพพานต่อไป ตัวรู้อยู่ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น ตามแนวที่ตรัสสอนไว้นี้จึงทำให้เป็นที่เข้าใจว่า วิญญาณธาตุนั้นก็หมายถึงจิตนี้เอง ซึ่งเป็นธาตุรู้ จิตจึงเป็นธาตุรู้ รู้อะไรๆได้ และเป็นธรรมชาติที่ผุดผ่องดังกล่าวมาข้างต้น จิตเป็นธาตุรู้ที่รู้อะไรๆได้นี้ จึงกำหนดจิตได้ที่ตัวรู้หรือที่ความรู้ รู้อยู่ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตั้งสติกำหนดธรรมะที่กำลังอบรมอยู่นี้ จิตตั้งอยู่ที่ถ้อยคำที่กำลังกล่าวอยู่นี้ ก็ย่อมรู้ถ้อยคำที่กล่าวอยู่นี้ ซึ่งเป็นภาษา และก็รู้ความของภาษาที่กำลังกล่าวอยู่นี้ ฉะนั้น ในขณะที่ทำสติกำหนดฟังอยู่ จึงรู้ รู้ถ้อยคำที่ฟัง รู้ความของถ้อยคำที่ฟัง จิตจึงอยู่ที่ถ้อยคำที่แสดง ที่ฟังอยู่นี้ แต่ถ้าจิตออกไปเสียจากถ้อยคำที่ฟังอยู่นี้ จิตก็จะไปรู้ในเรื่องอื่นที่จิตไปตั้งอยู่ สุดแต่ว่าจิตจะไปตั้งอยู่ในเรื่องอะไรก็ย่อมรู้เรื่องนั้น และเมื่อจิตออกไปตั้งอยู่ในเรื่องอื่น หูก็ดับไม่ได้ยินเสียงที่กำลังอบรมอยู่นี้ เพราะว่าหูนั้นจะไม่ดับได้ก็ต้องมีจิตเข้าตั้งอยู่ด้วย หูก็ฟังได้ยิน และก็รู้ ถ้าจิตออกไปเสียแล้ว ก็ไปรู้เรื่องอื่นที่จิตตั้งอยู่ดังกล่าว หูก็ดับจากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นจิตนี้จึงสำคัญมาก แม้หูเองที่ฟังได้ยินนั้น ตามลำพังหูหาได้ยินไม่ ต้องมีจิตตั้งอยู่ด้วย แม้อายตนะอื่นก็เช่นเดียวกัน ตา จมูก ลิ้น กาย ก็เช่นเดียวกัน จะรับรู้อะไรๆได้ ตาจะมองเห็นได้ ลิ้นจะทราบรส จมูกจะทราบกลิ่นได้ ๕ ลิ้นจะทราบรสได้ กายจะรู้สิ่งถูกต้องได้ ก็ต้องมีจิตตั้งอยู่ด้วย ถ้าจิตไม่ตั้งอยู่ด้วยแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ดับหมด ตาก็ไม่เห็น จมูกก็ไม่ทราบกลิ่น ลิ้นก็ไม่ทราบรส กายก็ไม่ทราบสิ่งถูกต้อง ให้สังเกตุดูให้ดีจะรู้สึกได้ดั่งนี้ จิตจึงเป็นธาตุรู้อันเรียกว่าวิญญาณธาตุดั่งนี้ ความรู้ของจิตอาศัยทวารทั้ง ๖ และความรู้ของจิตดังกล่าวโดยปรกติก็ต้องอาศัยทวารทั้ง ๖ คือทวารตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ หรือว่าอายตนะภายในทั้ง ๖ นั้นเอง ซึ่งทวารทั้ง ๖ นี้ก็เป็นทวารสำหรับที่รับอายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราว แต่ว่าก็มารับกันแค่ประตูทั้ง ๖ นี้เท่านั้น จิตนี้เองก็ออกรู้ทางทวารทั้ง ๖ นี้ รับเอาเข้าไปสู่จิตโดยเป็นอารมณ์คือเป็นเรื่องเข้าไป เพราะว่า อายตนะภายนอกทั้งปวงที่เป็นวัตถุนั้น คือเป็นรูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นที่จมูกทราบ รสที่ลิ้นทราบ สิ่งถูกต้องที่กายทราบ เป็นวัตถุจะเข้าไปสู่จิตไม่ได้ จิตรับสิ่งเหล่านี้โดยเป็นอารมณ์คือเป็นเรื่องเข้าไปทางทวารทั้ง ๖ นี้ ก็คือรับเอาเป็นเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ เข้าไปนั้นเอง และจิตนี้เองเมื่อรับเป็นอารมณ์เข้าไปสู่จิตก็ย่อมมีสัญโญชน์คือความผูก ซึ่งสัญโญชน์คือตัวความผูกนี้เอง เป็นความผูกพันทางจิตใจ และนำให้เกิดความยินดีบ้างความยินร้ายบ้าง ความรู้สึกเป็นกลางๆบ้าง ในอารมณ์คือเรื่องเหล่านั้น และก็สุดแต่ว่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นที่ตั้งของอะไร ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ก็เกิดความยินดีพอใจ เป็นที่ตั้งของความยินร้าย ก็บังเกิดความกระทบกระทั่ง โกรธแค้นขัดเคือง ๖ ถ้าเป็นที่ตั้งของความหลง ก็เกิดความหลง และที่เป็นกลางๆนั้นเองก็เป็นที่ตั้งของความหลงด้วย อุปกิเลส ความยินดี ความยินร้าย ความหลงนี้ก็เป็นกิเลสขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอุปกิเลส เพราะเป็นสิ่งที่จรเข้ามากับอารมณ์ ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต เป็นสิ่งที่จรเข้ามากับอารมณ์ ที่เข้ามาทางทวารทั้ง ๖ ดังกล่าวมานั้น และเมื่อเป็นอุปกิเลสขึ้นดั่งนี้ จิตที่ปภัสสรคือผุดผ่องอยู่โดยธรรมชาติ จึงต้องเศร้าหมองไป มัวไป ไม่แจ่มใส เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่ากิเลสที่แปลว่าเศร้าหมองไม่ผ่องใสไม่บริสุทธิ์ หลักปฏิบัติในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ทำจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติกำหนดดูจิต จิตเป็นอย่างไรก็ให้รู้อย่างนั้น จิตมีราคะหรือปราศจากราคะก็ให้รู้ จิตมีโทสะหรือปราศจากโทสะก็ให้รู้ จิตมีโมหะหรือปราศจากโมหะก็ให้รู้ จิตหดหู่หรือจิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ จิตแผ่ไปใหญ่หรือจิตที่ไม่แผ่ไปใหญ่คือคับแคบก็ให้รู้ จิตที่ยิ่งหรือไม่ยิ่งก็ให้รู้ จิตที่มีสมาธิตั้งมั่นหรือไม่มีสมาธิคือไม่ตั้งมั่นก็ให้รู้ จิตที่พ้นหรือไม่พ้นก็ให้รู้ ให้ตั้งสติกำหนดทำความรู้เข้ามา และเมื่อตั้งสติกำหนดทำความรู้เข้ามาดั่งนี้ ความกำหนดดูจิตก็คือดูที่ความรู้ของจิต อีกอย่างหนึ่งเรียกว่าความคิดของจิต ดูที่ความรู้ความคิดของจิต เพราะว่าคิดก็คือรู้ รู้ก็คือคิดนั้นเอง ดูที่ความรู้ความคิด และเมื่อดูที่ความรู้ความคิด ก็ย่อมจะรู้ว่าจิตเป็นอย่างไร ๗ และย่อมจะรู้ว่าจิตมีอารมณ์คือเรื่องที่คิดที่รู้อยู่อย่างไรด้วย ยกตัวอย่างเช่น จิตมีราคะความติดใจยินดี ก็ให้รู้ว่าจิตมีราคะคือความติดใจยินดี เมื่อตั้งสติกำหนดดูก็ย่อมจะรู้ ว่าจิตคิดหรือรู้เรื่องอะไร ราคะคือความติดใจยินดีนั้น จิตติดใจยินดีอยู่ซึ่งอะไร ในอะไร เช่นในรูปในเสียงที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่กำลังคิดถึงอยู่ ที่กำลังรู้อยู่ และเมื่อจิตมีอารมณ์อยู่ดั่งนี้ ก็ติดใจยินดีเป็นตัวราคะขึ้นมา โทสะก็เหมือนกัน จิตโกรธก็ให้รู้ว่าจิตโกรธ แล้วเมื่อดูเข้ามาที่จิตโกรธก็ย่อมจะรู้ว่าโกรธอะไร โกรธใคร เรื่องอะไร ย่อมจะรู้อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความโกรธนั้นด้วย และนอกจากนี้ย่อมจะรู้พลังด้วย เช่นราคะติดใจยินดีมากหรือน้อย โทสะโกรธแค้นขัดเคืองมากหรือน้อย รู้พลังด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อกำหนดดูอย่างนี้ จิตกับอารมณ์ที่ผูกกันอยู่กับกิเลสที่บังเกิดขึ้นอยู่ ก็ย่อมปรากฏอยู่ในความรู้ ซึ่งเป็นตัวสติที่กำหนดดู ตัวสติที่กำหนดดูนี้จึงเป็นผู้ดู ส่วนจิตกับอารมณ์และกิเลสที่กำลังประกอบกันอยู่ ปรุงกันอยู่ เป็นฝ่ายถูกดู เพราะฉะนั้นฝ่ายที่ถูกดูนี้จึงเป็นเหมือนอย่างการละเล่น สติที่เป็นผู้ดูก็เหมือนอย่างเป็นผู้ดูการละเล่น การปฏิบัติแยกจิตออกเป็น ๒ ส่วน การปฏิบัติดั่งนี้จึงเท่ากับเป็นการปฏิบัติแยกจิตนี้เองออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่เป็นผู้ดู กับส่วนที่ถูกดู และเมื่อแยกกันออกมาได้ดั่งนี้แล้ว ก็เป็นผลของการปฏิบัติขั้นหนึ่ง และเมื่อได้การปฏิบัติขั้นหนึ่ง คือแยกออกมาเป็นผู้ดู และเป็นผู้ถูกดูดั่งนี้ ๘ ก็จะได้ผลของการปฏิบัติขั้น ๒ ต่อไป คือฝ่ายที่ถูกดูนั้นจะอ่อนกำลังลงจนสงบไปหายไป ผู้ดูนั้นก็จะเป็นผู้รู้เป็นผู้เห็นในสิ่งที่ดู ตั้งต้นแต่จะมองเห็นจิตของตัวเองที่เป็นฝ่ายถูกดู เช่นกำลังรัก กำลังโกรธ จะเห็นอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความรักความโกรธ จะเห็นจิตผูกอยู่ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความรักความโกรธนั้นไม่หลุดไปจากจิต สัญโญชน์ แล้วก็จะรู้จักว่า ตัวที่ผูกอยู่นั้นคือตัวสัญโญชน์ ที่แปลว่าผูกก็ตรงนี้เอง คืออารมณ์อันเป็นที่ตั้งของรักของชังนั้นผูกอยู่กับจิต จิตผูกอยู่กับอารมณ์นั้น จึงรักจึงชัง ก็เป็นความที่ปรุงแต่งกันไป เมื่ออารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความรักมาผูกอยู่ที่จิต จิตผูกอยู่ที่อารมณ์ อันเป็นที่ตั้งของความรักนั้น ก็ปรุงแต่งไป ว่าน่ารักอย่างนั้น น่ารักอย่างนี้ เป็นยังโง้นเป็นยังงี้ ถ้าเป็นอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโทสะผูกอยู่ จิตก็จะปรุงแต่งว่าน่าชังน่าโกรธยังงั้นๆ จะมองเห็น จะมองเห็นว่านั่นเป็นตัวผูก เพราะผูกนี้เองจึงทำให้ปรุง ปรุงรักปรุงโกรธขึ้นมา และเมื่อเป็นผู้รู้ผู้เห็นดั่งนี้ชัดขึ้น ความผูกนั้นก็จะหย่อนคลายไป กำลังของความปรุงแต่งของจิตก็จะหย่อนคลายไป จนเมื่อจิตกับอารมณ์ที่ผูกกันอยู่นั้น ตัวผูกหลุดไป จิตกับอารมณ์ก็แยกออกจากกัน เมื่อจิตกับอารมณ์แยกออกจากกันความปรุงแต่งก็หยุด หยุดปรุงแต่งรัก หยุดปรุงแต่งชัง หยุดปรุงแต่งเสียเมื่อใดแล้วความรักความชังก็สงบ หลุดกันแค่นั้น สติซึ่งเป็นผู้กำหนด กำหนดดู กำหนดรู้ กำหนดเห็นอยู่นั้น ก็รู้ก็เห็น และก็เป็นรู้เห็นตั้งแต่ยังปรุงแต่งอยู่ จนถึงความผูกหลุดออกจากกัน หยุดปรุงแต่ง สงบ ก็รู้อยู่กับความสงบ ดั่งนี้เป็นการปฏิบัติทางจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
จิต วิญญาณ มโน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ธรรมปฏิบัติตามลำดับ ๒
วิญญาณในขันธ์ ๕ ๓
ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ๔
วิญญาณในธาตุ ๖ ๕
มโน ทวารของจิต ๕
ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ๗
ไม่ตรัสว่าจิตเป็นอนัตตา ๘
กาย จิต อาการของจิต ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๔๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๔๕/๒ - ๔๖/๑ ( File Tape 37 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
จิต วิญญาณ มโน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงศัพท์ว่า จิต และศัพท์อื่นที่ใช้ในความหมายใกล้เคียงกัน เพื่อเมื่อฟังธรรมบรรยายจะได้มีความเข้าใจ ตัดกังขาความสงสัย คำว่า จิต นั้นมีคำอื่นที่ใช้ใกล้เคียงกันอีก ๒ คำ คือ วิญญาณ และ มโน คือใจ พิจารณาดูตามพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง จิตนั้นตรัสไว้ว่ามีลักษณะดังที่ได้กล่าวแล้ว และได้ตรัสสอนให้ฝึกจิต ให้อบรมจิต ให้คุ้มครองจิต ให้รักษาจิต ให้ตามดูจิต และตรัสว่าจิตที่รักษาดีแล้วนำความสุขมาให้ ธรรมปฏิบัติตามลำดับ และยังได้ตรัสถึงความอบรมปฏิบัติธรรมะ เป็นไปตามลำดับ ว่าสมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากอานิสงส์มาก
( เริ่ม ๔๕/๒ ) จิตอันปัญญาอบรมแล้วย่อมพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ดั่งนี้ ก็พ้นอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานได้ และพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ฝึกตนให้อบรมตน ซึ่งครูก็อธิบายกันมาว่า ก็หมายถึงให้อบรมจิตนี้เอง ฉะนั้น ในบุคคลทุกๆคนนี้จิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่พึงอบรม พึงรักษาคุ้มครอง และจิตนี้เองที่ได้รับการอบรมดี ก็พ้นจากอาสวะทั้งหลายได้ คือพ้นกิเลสได้ ดั่งนี้ วิญญาณในขันธ์ ๕ วิญญาณนั้นตรัสไว้ในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นั้นก็ได้แก่รูปขันธ์ ขันธ์แปลว่ากอง รูปขันธ์ก็แปลว่ากองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ และ วิญญาณ นี้ก็ได้ตรัสอธิบายไว้ว่า เมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกันก็เกิด วิญญาณ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น เช่นเมื่อตากับรูปประจวบกันก็เกิดวิญญาณคือความรู้ อันหมายถึงรู้ในการเห็น คือหมายถึงการเห็น ที่เรียกกันว่าเห็นรูป ซึ่งการเห็นรูปนั้นก็เป็นความรู้รูปนั้นเอง เรียกว่าจักขุวิญญาณรู้รูปทางตา วิญญาณจึงเป็นความรู้อย่างหนึ่งที่เรียกกันว่าการเห็นการได้ยิน คือเห็นรูป ได้ยินเสียง การได้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ การรู้เรื่องทางมโนคือใจ เหล่านี้เรียกว่าวิญญาณ และเมื่อเป็นวิญญาณขึ้นสืบมาจึงเป็น เวทนา ก็เป็นความรู้อีกเหมือนกัน แต่เป็นความรู้ที่เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ๓ สืบมาจึงเป็น สัญญา ก็เป็นความรู้อีกเหมือนกัน แต่เป็นความรู้จำ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง จำเรื่องราวที่คิด แล้วจึงมาเป็น สังขาร ก็เป็นความรู้อีกเหมือนกัน คือรู้คิดปรุง หรือรู้ปรุงคิด ก็นำเอาความจำหรือสิ่งที่จำนั่นแหละ มาคิดคือมาปรุงขึ้น ความคิดก็คือความปรุงนั้นเอง และเพราะเป็นความปรุงจึงเรียกว่าสังขาร ที่แปลว่าปรุงแต่ง สังขารในขันธ์ ๕ จึงมีความหมายดั่งนี้ และเมื่อคิดปรุงหรือปรุงคิดไปก็รู้ไปด้วย ในความคิดปรุงหรือปรุงคิดนั้น ก็มาเป็นวิญญาณขึ้นอีก นี้คือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เมื่อว่าถึงทางเกิดแห่งขันธ์ ๕ ในปัจจุบัน คือขันธ์ ๕ ที่เป็นปัจจุบันธรรม อายตนะภายในอายตนะภายนอกที่มาประจวบกันอยู่นั้นก็คือรูป ก็เป็นวิญญาณขึ้นมา จึงเป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นมาอีก แล้วก็เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณขึ้นมาอีก วิญญาณจึงมาก่อน แต่ท่านไม่แสดงว่า รูป วิญญาณ เวทนา สัญญา สังขาร ท่านแสดงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เอาวิญญาณไว้ท้าย ก็เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ในการที่จะปฏิบัติทำวิปัสสนาปัญญาให้เห็นแจ้งรู้จริง ก็ตรัสสอนให้กำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ นี้เองโดยไตรลักษณ์ คือลักษณะที่ไม่เที่ยง ลักษณะที่เป็นทุกข์ ลักษณะที่เป็นอนัตตา เมื่อเป็นดั่งนี้ จับพิจารณา รูป ก่อนจึงประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นของหยาบ ก็กำหนดพิจารณาได้ง่าย และต่อจากนี้จับพิจารณา เวทนา ซึ่งเวทนานั้นก็เป็นข้อเริ่มต้นของนาม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนาม รูปก็เป็นรูป ๔ กำหนดนามข้อเวทนานี้ขึ้นก่อนสะดวก เพราะเวทนาแม้เป็นนามแต่ก็เกิดขึ้นได้ทั้งที่กายและที่จิต เป็นเวทนาทางกายก็มี เป็นเวทนาทางจิตก็มี กายก็หมายรูปกาย ฉะนั้นเมื่อจับพิจารณารูปก่อนก็พบเวทนาที่รูป คือที่รูปกาย และก็พบเวทนาที่จิต เนื่องกัน จับพิจารณาเวทนาต่อจากรูปจึงสะดวก แล้วก็มา สังขาร แล้วก็มา สัญญา มา สังขาร ซึ่งเป็นนามธรรมโดยลำดับ แล้วจึงจับพิจารณา วิญญาณ ที่ประกอบอยู่กับความคิดปรุงหรือปรุงคิด ซึ่งเป็นตัวสังขารนั้นด้วย ซึ่งเป็นของละเอียด แต่เมื่อได้จับพิจารณามาโดยลำดับดั่งนี้ จึงมาจับพิจารณา วิญญาณ ก็จะรู้จักวิญญาณได้สะดวกขึ้น เมื่อจับวิญญาณได้สะดวกขึ้น ก็จะได้มีสติในขณะที่อายตนะภายในภายนอกประจวบกันอยู่ ซึ่งก็เป็นวิญญาณบังเกิดขึ้น เป็นการเห็นการได้ยินเป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงได้เรียงวิญญาณเอาไว้เป็นท้าย ซึ่งวิญญาณก็มีความหมายดั่งนี้ วิญญาณในธาตุ ๖ แต่ว่าวิญญาณนี้เองก็ใช้เรียกหมายถึงจิตในที่หลายแห่งอีกเหมือนกัน เช่นในธาตุ ๖ ดังที่ได้กล่าวแล้ว วิญญาณธาตุ ธาตุที่ ๖ คือธาตรู้ก็หมายถึงจิต และในที่อื่นอีกหลายแห่งแสดงคำว่าวิญญาณซึ่งหมายถึงจิต แต่สำหรับวิญญาณในขันธ์ ๕ ซึ่งตรัสแสดงเป็นพื้นนั้น ให้มีความหมายดังที่กล่าวนี้ มโน ทวารของจิต อีกคำหนึ่งคือ มโน คำว่ามโนนี้ก็แปลกันว่าใจเหมือนกัน และจิตก็แปลกันเป็นคำไทยว่าใจเหมือนกัน ในภาษาไทยจึงใช้คำแปลเป็นคำเดียวกัน ๕ เพราะไม่รู้ว่าจะไปหาคำไหน คำอื่นมาใช้ให้ต่างกันไป คำว่าใจนั้นทุกคนก็มีความเข้าใจ แต่ว่ามโนที่แปลว่าใจนี้เป็นอายตนะภายในข้อที่ ๖ อายตนะภายในนั้นก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ ซึ่งทั้ง ๖ นี้เป็นทวารคือเป็นประตูที่จิตรับอารมณ์คือเรื่องของรูปเสียงเป็นต้น เพราะฉะนั้นฐานะของมโนจึงเป็นทวารของจิตเท่านั้น เหมือนอย่างจักขุตาเป็นต้นที่เป็นทวารของจิตเช่นเดียวกัน แต่มโนคือใจนี้จะต้องประกอบกับตาหูจมูกลิ้นกาย ๕ ข้อนี้ตลอดเวลาด้วย จึงจะให้สำเร็จการเห็นรูป การได้ยินเสียง การได้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ ลำพังประสาทตาประสาทหูอย่างเดียว ประสาทจมูกประสาทลิ้นประสาทกายอย่างเดียว ไม่พอที่จะให้เกิดความรู้เห็นรูป รู้ได้ยินเสียงเป็นต้นได้ ต้องมีมโนข้อที่ ๖ นี้เข้าประกอบอยู่ด้วย ซึ่งก็ได้กล่าวมาแล้วเหมือนกันตามที่พระพุทธเจ้า และพระอาจารย์ผู้อธิบาย พระพุทธวัจนะเกี่ยวแก่เรื่องนี้ ได้แสดงอธิบายไว้ดั่งนี้ ก็ต้องกับความรู้ในปัจจุบัน ให้ไปดูห้องแสดงกรรมฐาน คือชั้น ๒ ที่ตึก ภปร. ที่แสดงระบบของมันสมอง อันเกี่ยวกับประสาททั้ง ๕ ตามความรู้ในปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ชัด เช่นแสดงถึงว่าการเห็นรูปนั้นต้องอาศัยอะไรบ้าง จะต้องอาศัยจักขุประสาท และจะต้องอาศัยมันสมองอีกส่วนหนึ่งที่เนื่องกับจักขุประสาทนั้น จึงจะให้สำเร็จการเห็นรูปได้ การได้ยินเสียงก็ต้องอาศัยประสาทหู และก็ต้องอาศัยมันสมองอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับประสาทหู จึงจะให้สำเร็จการได้ยินเสียงได้ เพราะฉะนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงได้ตรัสอธิบายไว้ว่ามโนซึ่งเป็นอายตนะข้อที่ ๖ นี้ ก็เท่ากับเป็นมันสมองส่วนที่มีหน้าที่อันเกี่ยวแก่ประสาททั้ง ๕ ของบุคคลดังที่กล่าวนั้น แต่ว่าทางพุทธศาสนานั้นแสดงมโนในฐานะเป็นนามธรรมอันหนึ่ง ซึ่งสัมพันธ์กันอยู่กับรูปธรรม ๖ ส่วนประสาททั้ง ๕ นับเป็นอายตนะข้อที่ ๖ หรือเป็นประสาทภายในข้อที่ ๖ ก็คงจะได้ เพราะฉะนั้น จิต วิญญาณ และมโน ซึ่งใช้ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงได้มีความหมายดังที่แสดงมานี้ ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา และก็เห็นได้ชัดในทุติยเทศนาของพระพุทธเจ้า ที่แสดงขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตามิใช่ตัวตน เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นอนิจจะไม่เที่ยง และสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็ย่อมเป็นทุกข์ คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และสิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา ไม่ควรที่จะยึดถือว่า นี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นตัวตนของเรา คือไม่ควรที่จะยึดถือว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นของเรา เราเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอัตตาตัวตนของเรา และในท้ายเทศนาก็ได้ตรัสว่าจิตของพระเบ็ญจวัคคีย์พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ดั่งนี้ และในเทศนาที่ ๓ ทรงยกแสดงเป็นแม่บทว่า สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน อะไรเป็นของร้อน ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ อันได้แก่อายตนะภายในทั้ง ๖ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะคือเรื่องราว ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก วิญญาณ สัมผัส เวทนา อันบังเกิดสืบเนื่องมาจากที่อายตนะภายในภายนอกประจวบกัน นั้นเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ร้อนเพราะชรา พยาธิ มรณะ ร้อนเพราะชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เพราะโสกะความโศก ปริเทวะความคร่ำครวญรำพัน ทุกขะความไม่สบายกาย โทมนัสสะความไม่สบายใจ อุปายาสะความคับแค้นใจ ๗ และในท้ายพระสูตรก็ตรัสว่าจิตของภิกษุพันรูป ที่เรียกว่าเป็นปุราณชฎิล เป็นชฎิลเก่า ก็พ้นจากอาสวะดั่งนี้ ไม่ตรัสว่าจิตเป็นอนัตตา เป็นอันว่าได้ทรงจำแนกเอาไว้ชัดเจน วิญญาณก็ดี มโนก็ดี เป็นข้อที่พึงพิจารณาว่าเป็นอนัตตา หรือโดยไตรลักษณ์ และเมื่อเป็นของร้อน แต่ว่าจิตนั้นมิได้ตรัสรวมเข้าด้วย แต่ว่าตรัสว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนานี้ จิตของพระเบ็ญจวัคคีย์ และของพระปุราณชฎิลพันรูป ก็พ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จิตจึงเป็นสิ่งสำคัญดังกล่าว และจิตนี้ยังได้ตรัสเอาไว้ว่า ทุรังคมัง เที่ยวไปไกล เอกะจรัง เที่ยวไปผู้เดียว อสรีรัง ไม่มีสรีระรูปร่างสัณฐาน คูหาสยัง มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย ตามที่ตรัสเอาไว้นี้เมื่อมากำหนดพิจารณาดูจิตของตนก็จะเห็นได้ ว่าเที่ยวไปไกล คือคิดไปนั่นคิดไปนี่ได้ไกลมาก คิดไปถึงดวงอาทิตย์ก็ได้ คิดถึงดวงจันทร์ก็ได้ ถึงดวงดาวดวงใดดวงหนึ่งก็ได้ ในโลกนี้ก็คิดไปถึงที่นั่นที่นี่ได้ทั่วโลกทั้งนั้น และก็เที่ยวไปผู้เดียวหรือเที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีสรีระคือรูปร่างสัณฐาน แต่ว่ามีคูหาเป็นที่อาศัย มีคูหาก็คือมีถ้ำเป็นที่อาศัย คูหาคือถ้ำนี้พระอาจารย์ท่านอธิบายรวมกันไปว่ามีกายนี้เป็นที่อาศัยไปทีเดียว และพระอาจารย์ผู้อธิบายในภายหลังที่ท่านอธิบายตามความเข้าใจของท่านเอง ว่าจิตนี้อาศัยอยู่ที่หทัยวัตถุคือที่หัวใจของทุกๆคนที่เต้นตุบๆอยู่ทุกเวลานี้ ว่าจิตอาศัยอยู่ที่นี่ แต่ก็ไม่มีพุทธพจน์ตรัสแสดงเอาไว้ ตรัสเอาไว้ว่ามีคูหาคือมีถ้ำเป็นที่อาศัยเท่านั้น และเมื่อวิทยาในปัจจุบันเจริญมาถึงเพียงนี้ ดังที่ได้มีแสดงถึงระบบประสาททั้ง ๕ กับระบบมันสมองที่ประสานกัน และที่ตั้งของมันสมองอยู่ในกะโหลกศรีษะ ผู้ที่เป็นนักคิดในปัจจุบันจึงมีความเห็นว่าจิตน่าจะอาศัยอยู่กับมันสมอง ๘ และภายในกระโหลกศรีษะนี้รูปร่างก็เป็นคูหาคือเป็นถ้ำอยู่แล้ว ตามบาลีที่ว่ามีคูหาที่แปลว่าถ้ำ คือถ้ำในภูเขาเป็นที่อาศัย ( เริ่ม ๔๖/๑ ) แต่พระอาจารย์ท่านต้องการที่จะอธิบายว่าอาศัยอยู่ที่กายนี้ คูหาคือถ้ำก็หมายถึงกายนี้จึงไม่มีผิด เป็นการที่แสดงรวมทั้งหมด และตามที่ได้แสดงมานี้แม้ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติโดยตรง แต่ว่าเมื่อรู้ถึงสมมติบัญญัติศัพท์ธรรมะในพุทธศาสนา ก็จะทำให้มีความเข้าใจ และทำให้ไม่สงสัย กาย จิต อาการของจิต และตามที่กล่าวมานี้ก็พึงเข้าใจว่าในบุคคลทุกๆนี้ มีสิ่งที่เป็นวัตถุ ที่มี สรีระ รูปร่างสัณฐานคือรูปกาย กับมีสิ่งที่ไม่มีสรีระ ไม่มีรูปร่างสัณฐานคือจิต ประกอบกันอยู่พร้อมกับนามธรรมทั้งปวงที่เป็นอาการของจิต เพราะฉะนั้นจิตนี้จึงมิใช่มันสมอง มันสมองเป็นรูป เป็นสรีระ มีรูปร่างสัณฐาน แต่ว่าจิตนี้เป็น อสรีระ ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ แต่ว่าเมื่อเป็นดั่งนี้จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่ามีจิต ในข้อนี้ก็ต้องตอบว่าการพิสูจน์นั้น สำหรับสิ่งที่มีสรีระ ก็ต้องพิสูจน์กันตามหลักเกณฑ์ของสิ่งที่มีสรีระ หรือวัตถุ แต่ว่าสิ่งที่ไม่มีสรีระคือจิตและนามธรรมทั้งหลาย ก็ต้องพิสูจน์กันด้วยวิธีของสิ่งที่ไม่มีสรีระ หรือนามธรรมด้วยกัน และในบุคคลเรานี้สิ่งที่ไม่มีสรีระนี้มีอยู่เป็นอันมากที่พิสูจน์ด้วยวัตถุด้วยกันไม่ได้ เป็นต้นว่าปัญญาคือความรู้ ความรู้ของบุคคลที่มีอยู่ ที่เป็นปัญญามาตั้งแต่กำเนิดก็ดี ที่เป็นปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียนได้ชั้นนั้นชั้นนี้กันมาก็ดี ไม่ใช่วัตถุจะเอามาชั่งตวงวัด ตวงวัดกันด้วยเครื่องชั่งเครื่องตวงเครื่องวัดต่างๆ ว่าใครมีปัญญามากเท่าไร กี่ทะนานกี่ถัง เอาทะนานเอาถังมาตักมาตวงกันเป็นต้นดั่งนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีรูปร่างที่จะปรากฏว่าใครมีปัญญามากเท่าไร ๙ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการพิสูจน์เท่าที่จะพึงทำได้ เช่นด้วยวิธีสอบไล่ หรือวิธีสอบต่างๆ วัดความรู้ต่างๆก็ได้เท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะทำให้รู้ได้ทั้งหมด ดั่งนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่มีสรีระในบุคคลเรานี้ที่เป็นนามธรรมเนื่องกับจิต จึงมีอยู่เป็นอันมาก ธรรมะทั้งหลายก็เป็นนามธรรมเนื่องอยู่กับจิตทั้งนั้น วัดกันไม่ได้ ตวงกันไม่ได้ ว่าใครมีสติมีปัญญา อะไรเป็นต้น เท่าไร กิเลสก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไม่มีสรีระอันนี้จึงมีอยู่ในทุกๆคน เพราะฉะนั้นก็ต้องศึกษาและต้องกำหนดให้รู้ และจะทำให้รับรองธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้อีกเป็นอันมาก ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและทำความสงบสืบต่อไป
*