ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 12 ธันวาคม 2555 09:09
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป024
อายตนะภายในภายนอก
ขันธ์ สัญโญชน์ กิเลส
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ความเป็นไปของกายเวทนาจิตธรรม ๓
จิตผูก สัญโญชน์เกิด ๓
ความชอบ ความชัง ๔
การปฏิบัติที่เป็นปัจจุบันธรรม ๕
กายปรุงเวทนา เวทนาปรุงจิต ๖
จิตตานุปัสสนา ๗
รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ๘
กิเลสอาศัยขันธ์ ๕ ๘
กระบวนของขันธ์ กระบวนของกิเลส ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๘/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๘/๒ ( File Tape 24 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อายตนะภายในภายนอก
ขันธ์ สัญโญชน์ กิเลส
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ตั้งสติพิจารณากายเวทนาจิตธรรมในสติปัฏฐาน
ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้ ทั้ง ๔ ข้อนี้ย่อมรวมกันอยู่ในกายและจิตนี้ของทุกๆคน
ดั่งในบัดนี้เมื่อตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้
ก็เป็นตั้งสติกำหนดกายพิจารณากาย และเมื่อกายคือลมหายใจเข้าออกปรากฏ
เวทนาก็ย่อมตั้งอยู่ที่กายนี้ จิตก็ย่อมตั้งอยู่ที่กายนี้
และทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวธรรม อารมณ์ที่ตั้งอยู่ในจิต
เพราะฉะนั้น ทั้ง ๔ นี้จึงรวมกันอยู่
เป็นแต่เพียงว่าเมื่อตั้งสติกำหนดข้อไหน ข้อนั้นก็ปรากฏขึ้นแก่สติ
และข้ออื่นก็รวมเข้ามา
ความเป็นไปของกายเวทนาจิตธรรม
และเมื่อตั้งสติกำหนดในกาย คือลมหายใจเข้าออก เมื่อสติตั้งมั่นกายละเอียดเข้า
เวทนาก็ปรากฏชัดขึ้น ก็จับเวทนารู้สุขรู้ทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขได้
และเมื่อเวทนาปรากฏชัด จิตก็ปรากฏ ธรรมะในจิตก็ปรากฏ
และทั้งหมดนี้ก็รวมกันเป็นธรรมะอยู่ในจิตด้วย เป็นตัวธรรม
และในการปฏิบัติทำสตินั้นหัดใช้ปัญญากำหนดดูกระแสของจิต
ซึ่งเป็นไปเพราะความเป็นไปของกายเวทนาจิตธรรมนี้
กายย่อมปรุงเวทนา เวทนาย่อมปรุงจิต ก็เป็นธรรมะขึ้นในจิต
หัดกำหนดในสายธรรมคือจับเอาอายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกัน
ซึ่งปรากฏการประจวบกันอยู่เสมอ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส
กายและโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราว
เมื่อลืมตาขึ้นก็ย่อมเห็นรูป เสียงมากระทบหูก็ย่อมได้ยินเสียง
กลิ่นมากระทบจมูกก็ย่อมทราบกลิ่น รสมากระทบลิ้นก็ย่อมทราบรส
โผฏฐัพพะมาถูกต้องกายก็ย่อมทราบโผฏฐัพพะ
แม้ว่าความเย็นความร้อน เหลือบยุงอะไรเป็นต้น
ก็เป็นโผฏฐัพพะคือสิ่งที่มากระทบกายให้ทราบเย็นทราบร้อนเป็นต้น
และแม้ยังไม่รับทางอายตนะทั้ง ๕ ข้างต้นดังกล่าวมานี้ ธรรมะคือเรื่องราวก็ยังโผล่ขึ้นในใจ
เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ที่ได้ประสบพบเห็นมาแล้วได้ยินได้ฟังมาแล้วเป็นต้น
เมื่อวานนี้ วานซืนนี้ เช้านี้ เหล่านี้
จิตผูก สัญโญชน์เกิด
หัดทำสติกำหนดอายตนะภายในภายนอกที่มาประจวบกัน
ความที่หัดกำหนดดั่งนี้ก็จะทำให้ได้รู้วาระจิตในขณะนั้นด้วยว่าจิตผูกหรือไม่ผูก
จิตผูกเรียกว่าสัญโญชน์ สัญโญชน์เกิด ถ้าจิตไม่ผูกสัญโญชน์ก็ไม่เกิด
และอาการที่จิตผูกนั้นมักจะทราบ ที่ปรากฏเป็นตัวฉันทราคะความติดใจยินดีพอใจ
หรือว่าตัวปฏิฆะกระทบกระทั่งใจ ในเมื่อเป็นสิ่งที่ชอบก็เกิดความติดใจยินดีพอใจ
เมื่อเป็นเรื่องที่ไม่ชอบก็เกิดความกระทบกระทั่งใจ
ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่พอจะให้ชอบหรือชังก็รู้สึกเฉยๆ บางทีก็ปล่อยผ่านไปๆ
เรื่องที่เป็นกลางๆนี้จะมีผูกบ้างก็เล็กน้อย
ความชอบ ความชัง
แต่เรื่องที่ปรากฏเป็นความชอบก็ตาม เป็นความชังก็ตาม
ต้องเป็นเรื่องที่มีความผูกอันเรียกว่าสัญโญชน์ก่อน คือใจจะต้องผูก
หรือว่าสิ่งนั้นมาผูกที่ใจ ใจไม่ปล่อย และเมื่อใจผูกดั่งนี้จึงเกิดความชอบหรือความชัง
ตัวความชอบหรือความชังนี้แยกกันยากกับตัวความผูก
เพราะฉะนั้นท่านจึงชี้เสียทีเดียวว่าสัญโญชน์คือความผูกนั้นก็คือตัวฉันทราคะ
ชี้เอาฉันทราคะความติดใจยินดีพอใจขึ้นมาเป็นประธาน
แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า
ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบใจก็ย่อมจะเกิดปฏิฆะความกระทบกระทั่งใจ
แต่ว่าปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งใจนี้ก็จะต้องมาจากสัญโญชน์คือความผูกก่อน
ต้องมีสัญโญชน์คือความผูกก่อน พิจารณาดูให้ดีจึงจะพบตัวสัญโญชน์คือความผูกนี้
คือในขณะที่ปล่อยจึงจะเห็นว่าปล่อยยาก เวลาชอบก็ถอนความชอบยาก
เวลาชังก็ถอนความชังยาก
ตอนนี้เมื่อพิจารณาดูก็จะเห็นว่า เพราะเหตุว่าถอนความผูกไม่ได้นั้นเอง
คือใจผูก ใจไม่ปล่อย ถ้าใจปล่อยได้ไม่ผูก ชอบหรือชังก็ตกไป
แต่ที่ชอบหรือชังนั้นยังครอบงำจิตใจอยู่ก็เพราะว่าใจผูก
การปฏิบัติที่เป็นปัจจุบันธรรม
ความกำหนดจับวาระจิตหรือกระแสจิต
ในขณะที่อายตนะภายในภายนอกประจวบกันอยู่เป็นประจำนี้
ถ้าหากทำใหม่ๆก็จะจับไม่ค่อยจะทัน แต่ว่าถ้าหากจับพิจารณาอยู่บ่อยๆก็จะจับได้มากขึ้น
และการที่จับพิจารณาอยู่บ่อยๆนี้ อันที่จริงก็เป็นการปฏิบัติที่เป็นปัจจุบันธรรมนี้เอง
คือว่าตั้งสติกำหนดอายตนะภายในและภายนอกที่ประจวบกันอยู่ที่เป็นปัจจุบันนี้แหละ
ให้มีสติกำกับอยู่ ดั่งนี้เป็นการที่ปฏิบัติทำสติกันจริงๆ เป็นการปฏิบัติทำสติในการใช้
และคอยจับดูตัวจิตนี้ที่ผูกหรือไม่ผูก และเมื่อเกิดความชอบหรือความชังก็ให้รู้
และก็ให้รู้ว่านี่แหละเป็นตัวผูก หรือว่าเกิดจากความผูก
เมื่อยังผูกอยู่เพียงไร ก็ย่อมจะมีความชอบหรือความชังอยู่เพียงนั้น
เมื่อดับความผูกเสียได้ ถอนความผูกเสียได้ ความชอบหรือความชังก็ย่อมจะตกไป
ดั่งนี้เป็นการหัดปฏิบัติธรรมะ จะเรียกว่าเป็นขั้นธรรมานุปัสสนาก็ได้
พึงอาจหัดปฏิบัติได้เป็นประจำ
และคราวนี้ก็หัดจับให้รู้จักตัวธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต
ว่าอันตัวสัญโญชน์คือความผูกก็ดี ความชอบหรือความชังก็ดี
นี้เป็น เป็นธรรมะที่เกิดขึ้นในจิตนั้นเอง แต่ว่าเป็นอกุศลธรรม
ส่วนสติที่กำหนดอยู่ นี่ก็เป็นสติ และอันนี้แหละที่เป็นตัวธรรมานุปัสสนาในขั้นปฏิบัติ
สตินี้เป็นกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นกุศล หัดทำความรู้
และเมื่อจะหัดกำหนดให้ละเอียดขึ้นไปกว่านั้น ก็หัดกำหนดต่อไปว่า
อันอายตนะภายในอายตนะภายนอกที่มาประจวบกันอยู่ นี่ก็คือตัวกาย
จึงอาจจะปฏิบัติตั้งสติกำหนดดูตากำหนดดูรูป
ตากับรูปที่มาประจวบกันว่านี่ตานี่รูป ในขณะที่ตาเห็นรูป
หูกับเสียงก็เช่นเดียวกัน จมูกกับกลิ่นก็เช่นเดียวกัน ลิ้นกับรสก็เช่นเดียวกัน
กายและสิ่งที่กายถูกต้องอันเรียกว่าโผฏฐัพพะก็เช่นเดียวกัน
มโนคือใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในใจก็เช่นเดียวกัน
และโดยที่เรื่องราวที่บังเกิดขึ้นในใจนั้น
ก็เป็นเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะนั้นเอง
เพราะฉะนั้นในขั้นนี้จึงได้สรุปรวมเข้าไปในคำว่ากาย
ยังไม่ต้องแยกเอาคู่ที่ ๖ คือมโนกับธรรมะเป็นใจ
เพราะว่าเรื่องทั้งหลายที่เรียกว่าธรรมะอันผุดขึ้นในใจ ก็ล้วนเป็นเรื่องรูปเสียงเป็นต้นดังกล่าว
ซึ่งนับว่าเป็นส่วนรูป หรือเป็นส่วนรูปกายนั้นเอง แต่มาเป็นอารมณ์อยู่ในจิต
ก็เอาเป็นว่ารวมเข้าในหมวดกายไว้ก่อน ยังไม่แยก ว่านี่เป็นกาย
และอันนี้แหละก็จะเป็นกายานุปัสสนาได้
กายปรุงเวทนา เวทนาปรุงจิต
คราวนี้ก็กำหนดจับเวทนาต่อไป
คือว่าเมื่อตากับรูปเป็นต้นซึ่งเป็นส่วนกายนั้นมาประจวบกัน
ก็ย่อมจะเกิดความสุขบ้าง เกิดความทุกข์บ้าง เกิดความกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
เช่นว่าเมื่อตาได้เห็นรูปที่พอใจก็ย่อมจะเกิดความสุขใจ
เมื่อตาเห็นรูปที่ไม่พอใจก็ย่อมจะเกิดความทุกข์ใจ สุขทุกข์ดั่งนี้เป็นเวทนา
ที่บังเกิดขึ้นอยู่เป็นอันมาก ทุกคราวที่อายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกัน
ดั่งนี้ก็หัดทำสติกำหนดว่านี่เป็นเวทนา ก็จะเป็นเวทนานุปัสสนา
คราวนี้ก็ทำความรู้ว่าเมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้กล่าวว่ากายปรุงเวทนา
ต่อจากนี้ก็หัดกำหนดดูจิต เพราะว่าเวทนานี้เองเป็นตัวปรุงจิต
สุขเวทนาก็ปรุงให้เกิดฉันทราคะหรือความชอบ
ทุกขเวทนาก็ปรุงให้เกิดปฏิฆะหรือโทสะความชัง
เวทนาที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็ปรุงให้เกิดโมหะความหลง
เพราะเหตุว่าไม่รู้ตามความเป็นจริง ในตอนนี้จึงเป็นช่วงที่ขันธ์กับกิเลสต่อกัน
คือลำพังกายดังที่ได้แสดงในวันนี้คืออายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกันกับเวทนา
เป็นเรื่องของขันธ์ คือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ อันรูปขันธ์กับเวทนาขันธ์นั้นเป็นวิบากขันธ์
ไม่เป็นตัวกุศล ไม่เป็นตัวอกุศลแต่อย่างไร เพราะเป็นวิบากขันธ์
คราวนี้เมื่อมาเป็นเวทนาขึ้น เวทนานี้เองก็เป็นที่ต่อของกิเลส
เพราะฉะนั้น ในปฏิจจสมุปบาทจึงได้มีแสดงว่า เวทนา ปัจจยา ตัณหา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัยเกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก เมื่อแสดงโดยกิเลส ๓ กองก็ได้
เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดราคะหรือโทสะหรือโมหะ ดังที่ได้กล่าวแล้ว
เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นจิตที่ประกอบด้วยราคะ ประกอบด้วยโทสะ ประกอบด้วยโมหะ
ก็ดูเข้ามาที่ตัวจิตนี้เองว่าเป็นยังไง ในเมื่อได้มีเวทนาดั่งนั้น
โดยปรกติก็ย่อมจะพบว่าจิตมีราคะหรือโทสะหรือโมหะ
จิตตานุปัสสนา
ตรงนี้แหละที่ต้องตั้งสติคอยหัดจับให้ได้ว่า
ที่มีราคะคือชอบก็เพราะว่าได้สุขเวทนาจากกาย จิตมีโทสะก็เพราะว่าได้ทุกขเวทนาจากกาย
จิตมีโมหะก็เพราะว่าได้เวทนาที่เป็นกลางๆจากกาย และมิได้พิจารณาให้รู้
หัดตั้งสติจับทำความรู้ รู้เท่าดั่งนี้ แม้ว่าจะยังรู้เท่าไม่ชัดเจนนักก็ตาม
แต่ก็หัดทำความรู้เท่าเอาไว้ว่าเรื่องเป็นอย่างนี้
และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติในจิตตานุปัสสนา พิจารณาจิตรู้จิตว่าเป็นยังไง
และเมื่อได้รู้จิตว่าเป็นอย่างไรอย่างนี้ ก็ดูความเป็นอย่างไรนั้นแหละของจิต
ให้พบว่าบัดนี้ความชอบเกิดขึ้น บัดนี้โทสะความชังบังเกิดขึ้น บัดนี้โมหะความหลงบังเกิดขึ้น
ให้รู้จักว่านี่เป็นตัวนิวรณ์ นิวรณ์ที่แบ่งไว้เป็น ๕ นั้นย่อเข้ามาก็เป็น ๓ นี่แหละ
ราคะ โทสะ โมหะ นี่แหละ ให้ดูให้รู้จักว่าเป็นตัวนิวรณ์
รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ
และต่อจากนี้ก็หัดพิจารณาจับให้รู้จักว่า ตัวกิเลสคือนิวรณ์ที่ย่อเป็นราคะโทสะโมหะนี้
ตั้งขึ้นที่จิตเพราะอาศัยเวทนาที่เกิดจากกาย คือว่ารูปขันธ์
คืออายตนะภายในภายนอกดังกล่าวมาแล้วนั้นเป็นรูปขันธ์ เป็นตัวกาย ตัวกายปรุงกันขึ้น
คือว่าตากับรูปเป็นต้นปรุงกันขึ้น คือว่าเห็นรูป นี่เป็นรูปขันธ์ แล้วก็เกิด ...
ตัวเห็นรูปเป็นวิญญาณขันธ์ซึ่งมาก่อน แล้วจึงมาเป็นเวทนา
ก็หัดกำหนดดูตัวเวทนาที่บังเกิดขึ้นให้รู้จัก ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เป็นเวทนาขันธ์
แล้วก็กำหนดดูให้รู้จักต่อไปว่า เมื่อเกิดเวทนาขันธ์แล้ว เมื่อว่าในสายของขันธ์
ก็ย่อมจะเป็นสัญญาขันธ์คือจำหมาย แล้วก็เป็นสังขารขันธ์คือคิดปรุงหรือปรุงคิด
แล้วในลำดับขันธ์นั้นท่านจึงแสดงถึงวิญญาณขันธ์คือตัววิญญาณ
อันหมายถึงว่าตัวเห็นตัวได้ยินตัวได้ทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะ
และตัวคิดรู้เรื่องราวนั้นเองก็เป็นวิญญาณขันธ์
ในขันธ์ ๕ นั้นเอาวิญญาณขันธ์มาไว้เป็นที่ ๕
( เริ่ม ๒๘/๒ ) ฉะนั้น หากพิจารณาจับตัวขันธ์ คือวิญญาณขันธ์นั้นเอง
ไม่ใช่เป็นวิญญาณที่เรียกกันว่าวิญญาณไปเกิดเป็นต้นนั้น
แต่หมายถึงความรู้ในขณะที่อายตนะภายในภายนอกประจวบกัน ก็เกิดความรู้ขึ้น
คือการเห็นการได้ยินการได้ทราบการได้คิดได้รู้ดังกล่าวแล้วนั้นเอง เป็นวิญญาณขันธ์
แล้วก็เป็นสัมผัสคือกระทบถึงใจ แล้วจึงเป็นเป็นเวทนา แล้วก็เป็นสัญญา
แล้วก็เป็นสังขารคือคิดปรุงหรือปรุงคิด แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นมาอีก ดั่งนี้เป็นเรื่องของขันธ์
กิเลสอาศัยขันธ์ ๕
กิเลสก็อาศัยขันธ์เหล่านี้เองบังเกิดขึ้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่ากายปรุงเวทนา
และเพราะเวทนานี้เป็นปัจจัยก็เกิดกิเลส และกิเลสนั้นที่ดำเนินไปได้ก็อาศัยสัญญาคือจำได้
อาศัยสังขารคือปรุงคิดหรือคิดปรุง แล้วก็เป็นวิญญาณคือรู้ขึ้นอีกนั้นเอง
กิเลสก็อาศัยขันธ์นี้แหละบังเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ก็หัดจับพิจารณาให้รู้ขันธ์ก่อน
ให้รู้จักรูป รู้จักเวทนา รู้จักสัญญา รู้จักสังขาร รู้จักวิญญาณ
ขันธ์ ๕ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ แล้วก็หัดจับพิจารณาให้รู้จักว่า
ความที่ขันธ์บังเกิดขึ้น เป็นกระแสความเป็นไปของกายและจิตอยู่ในปัจจุบันนี้
ก็โดยอายตนะภายในอายตนะภายนอกนี่แหละ ของทุกๆคนที่ปฏิบัติงานอยู่
ซึ่งตัวอายตนะภายในภายนอกนั้นก็คือตัวรูปขันธ์ที่ปฏิบัติงานอยู่ จึงได้เกิดเวทนา
แล้วก็เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ตามลำดับที่ท่านให้พิจารณา
กระบวนของขันธ์ กระบวนของกิเลส
แต่ว่าตามลำดับเกิดนั้นวิญญาณเกิดก่อน
คือขันธ์อันหมายถึงว่าอายตนะภายในภายนอกประจวบกัน ก็เป็นวิญญาณขึ้นมาก่อน
แล้วเป็นสัมผัส แล้วก็เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก
นี้เป็นกระบวนของขันธ์ ลำพังกระบวนของขันธ์นี้เป็นกลางๆ ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ชั่ว
ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แต่ว่าเมื่อกิเลสอาศัยขันธ์บังเกิดขึ้น ตัวกิเลสนั้นเป็นตัวอกุศล
แล้วมาเชื่อมกันตรงเวทนานี้เอง เมื่อขันธ์ ๕ ดำเนินไปถึงขั้นเวทนา
กิเลสก็มาต่อขึ้นตรงเวทนานี้เอง อาศัยขันธ์เกิดขึ้นเป็นไป
และกิเลสที่เป็นไปนี้มีสัญโญชน์คือความผูกนี่แหละบังเกิดขึ้นก่อน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
แต่ว่าในขั้นแสดงกระบวนของกิเลสที่อาศัยขันธ์บังเกิดขึ้นนั้น ท่านไม่ได้กล่าวถึงสัญโญชน์ไว้
เหมือนดังที่ไม่ได้กล่าวสัมผัสเอาไว้ก่อนเวทนาในขันธ์ ๕
แต่ว่าในการแสดงอย่างละเอียดแล้วจะต้องมีสัมผัสบังเกิดขึ้นก่อนเวทนาในขันธ์ ๕
ฉันใดก็ดี จะต้องมีสัญโญชน์บังเกิดขึ้นก่อน จึงจะบังเกิดกิเลส
ตัณหาก็ดี ราคะหรือโทสะโมหะก็ดี ดังที่ได้กล่าวแล้ว
เพราะฉะนั้นหัดกำหนดพิจารณาจับดั่งนี้ก่อน ก็จะได้สติ
เป็นกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา
ซึ่งตัวสติที่กำหนดจับนี้เอง กับพร้อมทั้งปัญญาที่หยั่งรู้ก็จะเป็นฝ่ายกุศลธรรม
เมื่อสติแรงขึ้น ปัญญาแรงขึ้น ขันธ์ก็จะไม่เป็นที่อาศัยบังเกิดกิเลส หรือว่าน้อยเข้า ดับง่ายเข้า
เมื่ออายตนะภายนอกภายในซึ่งเป็นตัวรูปขันธ์ปฏิบัติงานก็จะต้องเกิดเวทนา
แต่เมื่อมีสติคอยกำหนดอยู่แล้วเวทนาก็จะไม่เป็นปัจจัยต่อกิเลสเข้ามา
เพราะเหตุว่าจะไม่มีสัญโญชน์คือความผูก ด้วยเหตุว่ามีสติกำหนดรู้เท่าทันอยู่
แต่ว่าการปฏิบัติดั่งนี้ต้องหัดปฏิบัติอยู่เสมอ ก็จะสามารถป้องกันกิเลสไม่ให้บังเกิดขึ้นได้
หรือบังเกิดขึ้นแล้วก็ระงับลงได้โดยง่าย
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สติ สัมปชัญญะ
องค์ฌาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
พึงปฏิบัติตั้งสติในที่ทั้งปวง ๓
สตินำสัมปชัญญะ สัมปชัญญะนำสติ ๔
วิญญาณธาตุ ธาตรู้ ๕
อาการที่เรียกว่าสมาธิ ๖
วิตกวิจารที่เป็นองค์ของสมาธิ ๗
วิตกวิจารเป็นอาการของสติ ๘
ผลของปีติสุขในสมาธิ ๙
เอกัคคตา ๑๐
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๘/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๙/๑ ( File Tape 24 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สติ สัมปชัญญะ
องค์ฌาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สติปัฏฐานในอรรถะคือความหมายว่าตั้งสติ อันเป็นการปฏิบัติตั้งสติ
ย่อมเป็นอุปการะในที่ทั้งปวง จึงได้มีพุทธศาสนสุภาษิตว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง
ในทางปฏิบัติตั้งสติที่กำหนดอายตนะภายใน อายตนะภายนอก ซึ่งประจวบกันอยู่
อยู่ทุกขณะย่อมมีอุปการะมาก ทำให้บังเกิดเป็นอินทรียสังวร เป็นสติปัฏฐานเป็นต้น
และทำให้จับสัญโญชน์คือความผูกที่บังเกิดขึ้น อันเป็นเบื้องต้นของตัณหา
หรือราคะโทสะโมหะ ดังที่เรียกว่านิวรณ์ของจิตใจ
และสามารถที่จะจับพิจารณาให้รู้จักปัจจุบันธรรม คือขันธ์ ๕ ที่เป็นปัจจุบัน
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
สามารถที่จะจับความเป็นไปของอายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกัน
ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งล้วนเป็นการปฏิบัติในสติปัฏฐาน ตั้งสติ
และการปฏิบัติตั้งสติดังกล่าวนี้ปฏิบัติได้ในทุกขณะ
จะทำให้มีสติรักษาจิตรักษาตนอยู่ทุกขณะ ไม่เผลอสติ
พึงปฏิบัติตั้งสติในที่ทั้งปวง
ฉะนั้น การปฏิบัติตั้งสติซึ่งเป็นสติปัฏฐานนี้
จึงมิได้หมายความว่าจะต้องปฏิบัติในขณะที่นั่งปฏิบัติ
ดังที่เรียกกันว่านั่งสมาธิ เช่นนั่งหลับตาทำสมาธิ หรือลืมตาทำสมาธิก็ตาม
ไม่ใช่หมายความว่าจะพึงปฏิบัติในขณะนั้นเท่านั้น
แต่ว่าพึงปฏิบัติตั้งสติได้ในที่ทั้งปวง ในเวลาทั้งปวง
คือทุกขณะที่ทำงานอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ นั่งอยู่ ยืนอยู่ คือทุกๆขณะ
อันหมายความว่าตั้งสติอยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ
หรือโดยตรงก็คือที่ใจนี้เอง มีสติคุมอยู่ในขณะที่เห็นรูปอะไรก็ตาม ได้ยินอะไรก็ตาม
ได้ทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะอะไรก็ตาม ได้คิดรู้เรื่องราวอะไรก็ตาม
ก็มีสติกำหนดอยู่ และมีความรู้อยู่ในขณะที่เห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้นนั้น อันเป็นความรู้ตัว
ซึ่งท่านแยกเรียกว่าสติระลึกได้ สัมปชัญญะรู้ตัว
หรือว่าไม่แยกเรียก เรียกว่าสติคำเดียว
แต่ก็หมายว่าจะต้องมีสัมปชัญญะคือรู้ตัวรวมอยู่ด้วย สติจึงจะตั้ง
ถ้าไม่รู้ตัวสติก็ไม่ตั้งอยู่ที่ตัว เมื่อรู้ตัวสติจึงตั้งอยู่ที่ตัว
หรือว่าเมื่อสติตั้งอยู่ที่ตัวก็รู้ตัว ถ้าสติไม่ตั้งอยู่ที่ตัวก็ไม่รู้ตัว จึงต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
รู้ตัวก็คือมีสติตั้งอยู่ที่ตัว ดังจะพึงเห็นได้ว่าตัวเรากำลังทำอะไรอยู่
เช่นว่ากำลังเดินอยู่ แต่ว่าสติไม่ตั้งอยู่ที่ตัว ก็ไม่รู้ตัวว่าเรากำลังเดิน
ข้อนี้สังเกตุดูที่ตัวเองก็จะรู้ได้ว่าบางคราวนั้นกำลังเดินอยู่ แต่ว่าไม่รู้ตัวว่าเรากำลังเดินอยู่
เพราะเหตุว่าส่งใจไปคิดเรื่องอะไรต่ออะไรอื่น ก็แปลว่าใจนั้นส่งไปในที่อื่น
สตินำสัมปชัญญะ
อันที่จริงใจที่ส่งไปที่อื่นนั้นก็เป็นสติเหมือนกัน
คือเป็นความระลึกไปนึกไปคิดไปในเรื่องอื่นๆนั้น แต่ว่าเป็นสตินอกเรื่องที่ต้องการ
เรื่องที่ต้องการนั้นต้องการให้มาคิดอยู่ที่การเดิน คืออยู่ที่ตัวที่กำลังเดิน
ที่เรียกว่านอกเรื่องหรือในเรื่องนั้น ก็คือหมายความว่าสุดแต่ความต้องการปฏิบัติ
ต้องการปฏิบัติที่จะทำสติในการเดิน ก็ต้องให้สติมาอยู่ที่การเดิน
เว้นไว้แต่ว่าถ้าไม่ต้องการสติให้อยู่ที่การเดิน ต้องการจะคิดในเรื่องอื่นในขณะนั้น
ก็ส่งใจคิดไป ก็แปลว่าความต้องการนั้นต้องการให้คิดไปในเรื่องนั้น
ในที่นี้เป็นการแสดงด้านปฏิบัติว่าต้องการให้คิดอยู่ในเรื่องเดิน
เมื่อสติส่งไปในที่อื่นก็แปลว่าสตินอกเรื่อง ไม่มากำหนดอยู่ที่การเดิน
เมื่อเป็นดั่งนี้สัมปชัญญะก็ไม่มี คือไม่รู้ตัวอยู่ว่าตัวกำลังเดิน
ดั่งนี้ก็คือว่าสตินำสัมปชัญญะ
สัมปชัญญะนำสติ
อีกอย่างหนึ่งสัมปชัญญะนำสติก็คือว่า เมื่อมีความรู้ตัวอยู่ เช่นเดินอยู่ก็รู้ตัวว่าเดินอยู่
ดั่งนี้สติคือความระลึกก็มาอยู่ที่การเดิน ไม่ไปที่อื่น ดั่งนี้เรียกว่าสัมปชัญญะนำสติ
สตินำสัมปชัญญะ หรือสัมปชัญญะนำสตินี้เป็นเรื่องที่พูดเท่านั้น
แต่ว่าในทางปฏิบัตินั้นต้องอยู่ด้วยกันนั้นเอง
ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง
เมื่อทำอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก
หายใจก็รู้ หายใจออกก็รู้ ตรงไหนเป็นสติตรงไหนเป็นสัมปชัญญะ
ตรงที่รู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก นี่รู้ตัว ..เป็นสัปชัญญะ
ตรงที่ระลึกกำหนดอยู่ในการหายใจเข้าในการหายใจออก ..นี่เป็นตัวสติ
หากจะแสดงโดยฐานะที่สตินำ ก็แสดงว่าต้องมีความระลึกกำหนด
คือจิตต้องกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก อาการที่จิตกำหนดอยู่นี้คือตัวสติ
และเมื่อจิตกำหนดอยู่ดั่งนี้ก็รู้ตัว หายใจเข้าก็รู้ตัวว่าเราหายใจเข้า
หายใจออกก็รู้ตัวว่าเราหายใจออก ดั่งนี้เป็นสัมปชัญญะ
คราวนี้หากว่าจะแสดงในฐานะที่สัมปชัญญะนำ ก็แสดงได้ว่ารู้ตัว
หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ รู้ตัวว่าเราหายใจเข้า รู้ตัวว่าเราหายใจออก ดั่งนี้เป็นสัมปชัญญะ
และเมื่อมีสัมปชัญญะอยู่ดั่งนี้ก็คือ สติก็ตั้งกำหนดอยู่ อาการที่จิตตั้งกำหนดอยู่ดั่งนี้เป็นสติ
ดั่งนี้แสดงในฐานะที่สัมปชัญญะนำ คือว่าเมื่อมีความรู้ตัวตั้งอยู่ดั่งนี้
สติก็ต้องตั้งอยู่ด้วยคือตัวที่กำหนด ถ้าหากว่ารู้ตัวไม่ตั้งอยู่ สติก็ไม่ตั้งอยู่
ดังผู้ปฏิบัติที่ทำอานาปานสติ เมื่อใจไม่ตั้งอยู่ที่ลมหายใจ มีนิวรณ์
จิตหลุดออกไปในเรื่องนั้นในเรื่องนี้ ดั่งนี้ ก็ย่อมไม่รู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก
ความรู้ไปตั้งอยู่ใน ..ในเรื่องที่จิตวิ่งออกไปนั้น ความรู้ไม่มาตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก
วิญญาณธาตุ ธาตรู้
โดยมากนั้นเมื่อไม่ปฏิบัติ
จิตย่อมไปตั้งอยู่ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตัวความรู้ก็ไปตั้งอยู่ในเรื่องนั้นเรื่องนี้
วันหนึ่งๆบุคคลจึงไม่ค่อยจะมีความรู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก
เพราะว่าจิตไม่ได้ตั้งกำหนด ดั่งนี้ เป็นการที่แสดงให้รู้จักว่าตัวจิตนั้นเป็นธาตุรู้
เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ว่าบุรุษบุคคลนี้มีธาตุ ๖
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส
และวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ ซึ่งหมายถึงตัวจิตซึ่งเป็นธาตุรู้
ทุกคนจึงสามารถที่จะกำหนดให้รู้จักตัวจิตได้ที่ตัวความรู้ ความรู้อยู่ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น
เมื่อความรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก จิตก็อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ฉะนั้น ความรู้จะตั้งอยู่ในที่ใดจิตก็ตั้งอยู่ในที่นั้น
จึงรู้ได้ว่า จิตตั้งอยู่ที่นี่ จิตตั้งอยู่ที่นั่น ด้วยกำหนดให้รู้จักความรู้ ความรู้ที่ตั้งอยู่นั้น
เมื่อความรู้ตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก จิตก็ตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ทำไมจึงจะทำให้จิตมาตั้งอยู่ที่อารมณ์คือเรื่องที่ต้องการได้ ก็คือตัวที่ตั้งความกำหนด
กำหนดลงไปที่นั่น เมื่อต้องการจะให้จิต ..จิตตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ก็ต้องปฏิบัติทำความกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าอยู่ที่ลมหายใจออก
เมื่อเป็นดั่งนี้ จิตก็ตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
อาการที่เรียกว่าสมาธิ
ตัวที่ปฏิบัติตั้งความกำหนดลงไปนี่แหละ คือตัวปฏิบัติตั้งสติ
และเมื่อจิตตั้งก็ย่อมรู้ รู้ว่าเราหายใจเข้า รู้ว่าเราหายใจออก นี่คือตัวสัมปชัญญะ รู้ตัว
คำว่าเราหายใจเข้า เราหายใจออก รู้ว่าเราหายใจเข้า เราหายใจออก เรานี่คือตัว รู้ตัว
ซึ่งเป็นสมมติ ( เริ่ม ๒๙/๑ ) ตัวคืออัตตามีหรือไม่มีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยังไม่ต้องตั้งข้อสงสัย
ในตอนนี้ก็เป็นเพียงว่าต้องการที่จะปฏิบัติสำหรับตั้งสติ ตัวกำหนดนั่นเป็นสติ ตัวรู้ตัว
รู้ตัวก็คือรู้ว่าเรา เรานี่แหละคือตัว เราหายใจเข้า เราหายใจออก นี่เป็นสัมปชัญญะ
และเมื่อรู้ตัวอยู่ดั่งนี้แน่นเข้า คือแปลว่าสัมปชัญญะแน่นเข้า
ตัวกำหนดซึ่งเป็นตัวสตินั้นก็ย่อมตั้งอยู่ และเมื่อมีความรู้ตั้งอยู่ดั่งนี้ ก็คือว่าจิตตั้งอยู่
และอาการที่จิตตั้งอยู่ดังนี้แหละเรียกว่าสมาธิ ที่เรียกกันว่าตั้งจิตมั่น
ต้องมีคำว่ามั่นด้วย ก็คือว่าไม่ใช่ตั้งล้มๆ
ซึ่งในการปฏิบัติเริ่มทำสมาธินั้นอยู่ในลักษณะที่ว่าตั้งล้มๆ ล้มลุกคลุกคลาน
เป็นการตั้งไม่มั่น แต่เมื่อปฏิบัติอยู่บ่อยๆให้สติที่เป็นตัวกำหนดแข็งแรงขึ้น
สัมปชัญญะคือรู้ตัวแข็งแรงขึ้น หรือว่าลึกขึ้น ดั่งนี้ ก็ตั้งมั่นมากขึ้น
เมื่อตั้งมั่นมากขึ้นสมาธิก็ดีขึ้น คือว่าจิตตั้งมั่น มั่นมากเข้าไม่ล้มลุกคลุกคลาน
ไม่ตั้งล้มๆอยู่บ่อยๆ แต่ว่าตั้งแล้วก็ติด ติดแน่นเข้า แน่นพอสมควรก็เป็นอุปจารสมาธิ
แน่นทีเดียวไม่ล้มอยู่นานๆ ก็เข้าเขตเป็นอัปปนาสมาธิ
ซึ่งในอัปปนาสมาธินี้ ทีแรกก็จะต้องมีตัวกำหนด ตัวกำหนดอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ
เมื่อทำอานาปานสติก็จะต้องมีความกำหนด หรือตัวกำหนดอยู่ในลมหายใจเข้าลมหายใจออก
อันเรียกว่าวิตกวิจาร
วิตกวิจารที่เป็นองค์ของสมาธิ
วิตกนั้นมักแปลกันว่าความตรึก วิจารนั้นมักแปลกันว่าความตรอง
แต่ว่าวิตกวิจารที่เป็นองค์ของสมาธิ อธิบายว่าอาการที่ตั้งจิตไว้ในอารมณ์
คือยกเอาจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ หรือจะเรียกว่ายกอารมณ์ตั้งไว้ในจิตก็ได้
หรือว่ายกจิตขึ้นสู่อารมณ์เรียกว่าวิตก ประคองจิตให้ตั้งอยู่เรียกว่าวิจาร
อาการที่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ และประคองจิตไว้ในอารมณ์ทั้งสองนี้ต้องใช้อยู่เป็นประจำ
ผู้ปฏิบัติย่อมจะรู้ได้ด้วยตัวเอง ว่าเมื่อทำสมาธิ ทำอานาปานสติเป็นตัวอย่าง
ก็ต้องน้อมจิตเข้าสู่อารมณ์คือลมหายใจเข้าลมหายใจออก
คือตั้งกำหนดอารมณ์ คือตั้งกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก
จิตนี้เคยคิดไปในเรื่องนั้นเรื่องนี้อื่น แต่เมื่อจะทำอานาปานสติ
ก็ต้องตั้งจิตกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ดั่งนี้คือวิตก
และก็ต้องคอยประคองจิตไว้ไม่ให้หลุดเรียกว่าวิจาร
คราวนี้เมื่อจิตหลุดออกไป รู้ว่าจิตหลุดออกไปก็นำจิตเข้ามาตั้งไว้ใหม่ก็เป็นวิตก
แล้วคอยประคองไว้อีกก็เป็นวิจาร ทำสมาธิใหม่ๆต้องใช้วิตกวิจารทั้งสองนี้อยู่เป็นประจำ
จะทิ้งเสียมิได้ ทิ้งเสียเมื่อใดก็คือว่าต้องเลิกสมาธิกันเมื่อนั้น
แต่ว่าเมื่อจะทำสมาธิต่อไปก็ต้องใช้วิตกวิจารทั้งคู่นี้
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าจิตล้มลุกคลุกคลานอยู่เสมอ
เพราะฉะนั้น ก็ต้องใช้วิตกวิจาร คือจับจิตมาตั้งไว้ใหม่ แล้วคอยประคองไว้ใหม่
หลุดไปอีกก็จับจิตมาตั้งไว้ใหม่แล้วประคองไว้ใหม่ อยู่ดั่งนี้
และเมื่อไม่ละความเพียรจิตก็จะเชื่องเข้าสงบเข้า
ท่านจึงมีอุปมาไว้ว่าเหมือนอย่างเอาเชือกผูกลูกโคไว้กับหลัก
โดยที่ให้มีระยะห่างจากหลักพอสมควร
ลูกโคที่ถูกผูกนั้นต้องการจะให้หลุดจากเครื่องผูกก็จะต้องวิ่งออกไป
เมื่อวิ่งออกไปจนสุดเชือกที่อยู่ในระหว่างหลักกับตัวลูกโค ก็ติดอยู่แค่นั้น
แล้วลูกโคก็จะวิ่ง แต่เมื่อวิ่งนั้นก็วิ่งออกไปไม่ได้ เพราะมีเชือกผูกอยู่
วิ่งออกไปได้แค่สุดเชือก ก็ต้องวิ่งวนหลักอยู่นั่นแหละ
และในที่สุดลูกโคนั้นจะเหนื่อย เหนื่อยก็ต้องมานอนหมอบอยู่กับหลักนั้นเอง
วิตกวิจารเป็นอาการของสติ
จิตก็เป็นเช่นนั้น เมื่อจับผูกไว้ที่หลักคืออารมณ์ของสมาธิ
ดังเช่นลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็จะวิ่งออกจากหลัก คืออารมณ์ของสมาธิ
แต่ว่ามีสติคอยผูกอยู่ ก็จะวิ่งออกไปได้ไม่ไกล สติก็จะนำเข้ามาสู่หลักใหม่
ก็คือตัววิตกวิจารนี้เอง ซึ่งเป็นอาการของสติในขั้นเริ่มปฏิบัติ
วิตกวิจารนี้เป็นอาการของสตินั้นเอง ที่คอยนำจิตเข้าสู่อารมณ์ของสมาธิ
แล้วคอยประคองเอาไว้ หลุดออกไปก็นำเข้ามาใหม่แล้วคอยประคองไว้ใหม่
ก็ต้องต่อสู้กันอยู่ดั่งนี้จนจิตจะเชื่องเข้า โดยที่บุคคลไม่ละความเพียรในการปฏิบัติ
จิตก็จะสงบเข้า ความดิ้นรนของจิตก็จะน้อยลง
และเมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะได้ปีติได้สุขในการปฏิบัติ
ปีติคือความอิ่มใจ สุขคือความสบาย สบายกายสบายใจ
ปีติก็มีลักษณะต่างๆ อย่างเบา อย่างปานกลาง อย่างแรง สุขก็เช่นเดียวกัน
ซึ่งผู้ปฏิบัติย่อมจะได้เอง ในเมื่อจิตสงบก็จะได้ปีติได้สุขขึ้นมา และเมื่อได้ปีติได้สุขขึ้นมา
ก็คือจิตได้ปีติได้สุขจากสมาธิ จิตจึงจะเริ่มนั่งสงบอยู่ในปีติในสุข เพราะสบายเสียแล้ว
ความดิ้นรนออกไปไหนก็จะน้อยเข้า เพราะว่าจิตนี้ก็ต้องการปีติต้องการสุขมาหล่อเลี้ยง
ผลของปีติสุขในสมาธิ
ผู้ปฏิบัติก็จะพิจารณาเห็นได้เองว่า
จิตที่ไม่สงบในขณะเริ่มปฏิบัตินั้น ไม่ได้ปีติไม่ได้สุขในการปฏิบัติ
แต่ว่าได้ความกระสับกระส่าย ความฟุ้งซ่าน เรียกว่าได้ทุกข์จากการทำสมาธินั้นเอง
จิตไม่ได้ปีติไม่ได้สุขจากการทำสมาธิ จิตจึงวิ่งออกไปหาอารมณ์ที่จะทำให้ได้รับความสบาย
ก็บรรดาอารมณ์ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลายนี้แหละเป็นที่หนึ่ง อันเรียกว่ากามคุณารมณ์
เพราะว่าเมื่อจิตเข้าไปสู่กามคุณารมณ์ต่างๆแล้วจิตมีความสบาย
เพราะเหตุว่ามีความรักใคร่ปรารถนาพอใจ เมื่อไปพบกับสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
จิตจึงวิ่งออกไปหาสิ่งนั้น จิตพอใจที่จะได้ความสบายความสุข
ก็ไปหาสิ่งที่จะให้ความสบายความสุข ก็คือกามคุณารมณ์
แต่ยังไม่ได้สุขจากสมาธิ
เพราะฉะนั้นเมื่อมาปฏิบัติทำสมาธิมันก็ร้อน
รุ่มร้อนไม่เป็นสุข หยุกหยิกต่างๆ จิตก็ไม่ปรารถนาที่จะอยู่
เหมือนอย่างคนที่นั่งอยู่ในที่ร้อน ก็ไม่อยากที่จะนั่งอยู่ ก็จะต้องลุกหนีไป
คราวนี้เมื่อมาได้ปีติได้สุขจากสมาธิแล้วจิตก็จะกลับมาพอใจในปีติในสุข
ซึ่งอันนี้แหละจะให้เกิดผลสองอย่าง
ผลอย่างหนึ่งก็คือว่าจะทำให้จิตนั่งสงบอยู่ในอารมณ์ของสมาธิดีขึ้น เพราะว่าได้ปีติได้สุข
ผลอีกอย่างหนึ่งคือว่าถ้าไปติดเข้าปีติสุขนี้เองก็จะกลายเป็น ..เป็นกามของสมาธิ
ซึ่งทำให้ติด ทำให้หลง
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนาต่อไป
ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ระงับกามในสมาธิ หรือความติดในสมาธิ ความหลงในสมาธิ
แต่ว่าเอาผลข้อแรกก่อนก็คือว่าปีติสุขนี้เองทำให้จิตนั่งสงบ เพราะว่าสบายแล้ว
เมื่อสบายแล้วก็ไม่ต้องไปไหน อยู่กับที่ความสบายนั้นได้ ซึ่งเป็นธรรมดาก็เป็นอย่างนั้น
เอกัคคตา
และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ย่อมจะได้ เอกัคคตา คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
อันหมายความว่าอยู่ตัว กำหนดอยู่ในลมหายใจเข้าออก รู้ว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก
สติที่เป็นตัวความกำหนดอยู่ในลมหายใจเข้าลมหายใจออก
สัมปชัญญะที่เป็นที่รู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก
รวมกันอยู่ในลมหายใจเข้าในลมหายใจออกเพียงเรื่องเดียวไม่ไปไหน อยู่ตัว
ดั่งนี้คือเอกัคคตา มีอารมณ์อันเดียว มียอดเป็นอันเดียว ไม่แตกกิ่งก้านไปหลายยอด
มียอดเป็นอันเดียว มีอารมณ์เป็นอันเดียว อยู่ตัว เป็นสติเป็นสัมปชัญญะที่อยู่ตัว
ดั่งนี้ก็เป็นเอกัคคตา
วิตกวิจารปีติสุขเอกัคคตานี้ที่แข็งแรงก็เป็นปฐมฌานคือความเพ่งที่ ๑
ซึ่งผู้ปฏิบัติสมาธิแม้จะยังไม่ถึงก็จะต้องอาศัยวิตกวิจารปีติสุข ไปสู่เอกัคคตาที่เป็นตัวสมาธิ
ดีขึ้นก็เป็นอุปจารสมาธิ ดีมากแนบแน่นอยู่ตัวก็เป็นอัปปนาสมาธิ ดั่งนี้เป็นการปฏิบัติตั้งสติ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*