ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป025

ทุกขทุกข์ สังขารทุกข์ วิปรินามทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

อารมณ์วิปัสสนา ๓

ความเกิดแก่ตายเป็นทุกข์ ๔

ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ๕

สังขารทุกข์ ๖

วิปรินามทุกข์ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๒๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๙/๒ ( File Tape 25 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ทุกขทุกข์ สังขารทุกข์ วิปรินามทุกข์

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

สติปัฏฐานตั้งสติกำหนดพิจารณากายเวทนาจิตธรรม ด้วยวิธีอนุปัสสนา

คือดูตามกายเวทนาจิตธรรมที่เป็นไป เหมือนอย่างพี่เลี้ยงมองตามเด็กที่เลี้ยง

ซึ่งยืนอยู่เบื้องหน้า เด็กนั้นจะเดินจะยืนจะนั่งจะนอน จะทำจะเล่นอะไรอยู่เบื้องหน้า

ก็อยู่ในสายตาของพี่เลี้ยง ดั่งนี้เป็นสติที่เรียกว่าอนุปัสสนาดูตามไป

เมื่อได้สติที่เป็นอนุปัสสนาดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้สติปัฏฐาน สติตั้งขึ้นในด้านอนุปัสสนาคือดูตาม

และเมื่อได้ในขั้นอนุปัสสนาดั่งนี้ก็เป็นทางให้ได้ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาเห็นแจ้งรู้จริงต่อไป

และแม้ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาดั่งนี้เป็นตัวปัญญา

แต่ก็นับรวมอยู่ในสติปัฏฐานด้วย เพราะมีสติเป็นเหตุให้ได้ปัญญาดังกล่าว

และปัญญาที่เป็นวิปัสสนานี้ ก็ต้องอาศัยสติกำหนดในอารมณ์ของวิปัสสนา

คือกายเวทนาจิตธรรมนี่แหละ

อารมณ์วิปัสสนา

แต่พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนอารมณ์ของวิปัสสนาไว้

ยกเอาขันธ์ ๕ ขึ้นโดยมาก คือรูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา

สัญญาขันธ์กองสัญญา สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ

ขันธ์ ๕ นี้ก็เป็นสมมติบัญญัติธรรมในกลุ่มเดียวกันกับกายเวทนาจิตธรรม

กายเวทนาจิตธรรมก็เป็นสมมติบัญญัติธรรมในกายที่ยาววาหนาคืบ มีสัญญามีใจครองนี้

ขันธ์ ๕ ก็เป็นสมมติบัญญัติธรรมในกายที่ยาววาหนาคืบมีสัญญามีใจครองนี้เช่นเดียวกัน

เป็นแต่เพียงว่าสมมติบัญญัติธรรมต่างชื่อกันไปเท่านั้น

เพราะฉะนั้น สติจะกำหนดกายเวทนาจิตธรรมดังที่สมมติบัญญัติไว้ในสติปัฏฐาน ๔ ดั่งนี้ก็ได้

จะกำหนดรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็ได้ จะกำหนดย่อลงมาเป็นนามและรูปก็ได้

หรือว่าจะกำหนดโดยเป็นอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ที่คู่กันอยู่ก็ได้

แต่ว่าให้กำหนดลงไปที่กายยาววาหนาคืบมีสัญญามีใจครองนี้นี่แหละ

( เริ่ม ๒๙/๒ ) และเป็นวิปรินามทุกข์ คือทุกข์คำนี้นี่แหละ พิจารณาไปโดยอาการเป็น ๓

ทุกขทุกข์ก็แปลว่าทุกข์คือทุกข์

ทุกข์คือทุกข์นี้ก็ตามที่พระบรมศาสดาได้ตรัสจำแนกแสดงเอาไว้

ว่าชาติความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะความตายเป็นทุกข์

โสกะความแห้งใจ ปริเทวะความรัญจวนคร่ำครวญใจ

ทุกขะความไม่สบายกาย โทมนัสะความไม่สบายใจ

อุปายาสะความคับแค้นใจเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์

ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่ได้สมหวังเป็นทุกข์

กล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์

ก็คือรูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา

สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ

ความเกิดแก่ตายเป็นทุกข์

สติกำหนดพิจารณาทุกข์คือทุกข์นี้

ให้กำหนดให้เข้าถึงทุกข์เหล่านี้ที่กายยาววาหนาคืบมีสัญญามีใจครองดังกล่าว

กำหนดพิจารณาชาติคือความเกิด คือความที่เกิดก่อขันธ์ทั้งปวง อายตนะทั้งปวง

อันรวมเป็นนามรูปนี้ อันเป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าอัตภาพอันนี้

ตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดา คลอดออกมาเป็นอัตภาพร่างกายจิตใจอันนี้

เป็นชาติคือความเกิด ว่าเป็นตัวทุกข์ เพราะว่าเป็นตัวทุกข์อยู่ตามสภาพเอง

และเป็นที่ตั้งของความทุกข์ทั้งหลายทั้งหมด

ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูชราคือความแก่ คือความที่ร่างกายชำรุดทรุดโทรม

เป็นความชรา ดังที่ได้ประสบกัน และได้เห็นกันอยู่ ว่าเป็นตัวทุกข์

ดังที่ปรากฏว่าความแก่หรือคนแก่นั้นต้องเป็นทุกข์อย่างไร ตัวความแก่เองก็เป็นทุกข์ตามสภาพ

ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูมรณะคือความตาย ว่าเป็นตัวทุกข์

ทุกคนจึงกลัวตายเพราะเหตุที่ทุกคนยังรักชีวิต ความตายนั้นเป็นความสิ้นชีวิต

ความตายเป็นทุกข์ตามสภาพ และยังเป็นตัวทุกข์ ซึ่งเป็นภัยคือเป็นที่กลัว

ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูโสกะความแห้งใจ ปริเทวะความรัญจวนคร่ำครวญใจ

ความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจต่างๆ

ซึ่งทุกคนต่างเคยได้รับความทุกข์เหล่านี้ และก็ย่อมรู้สึกว่าเป็นตัวทุกข์

ที่แม้ว่าไม่ชอบแต่ก็ต้องพบต้องประสบในคราวใดคราวหนึ่ง น้อยหรือมาก

ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดเพราะประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก

ที่เกิดเพราะพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ที่เกิดเพราะปรารถนามิได้สมหวังต่างๆ

และก็หัดพิจารณากำหนดดูตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสรุป

ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

เมื่อกล่าวโดยย่อ

ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ก็เพราะมีความยึดถืออยู่ในขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ จึงเป็นที่ยึดถือ ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็นตัว อุปาทิ เข้าไปทรง

คือเป็นที่เข้าไปยึดถือของจิตใจ จิตใจต้องติดอยู่ ต้องกังวลห่วงใยอยู่

ต้องแบกอยู่ ซึ่งขันธ์ ๕ เหล่านี้ ต้องแบกรูปขันธ์ คือรูปกายอันนี้

ต้องแบกเวทนาขันธ์สุขทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขต่างๆที่บังเกิดขึ้น

ต้องแบกสัญญาขันธ์คือกองความจำต่างๆ ชอบก็จำ ไม่ชอบก็จำ

เมื่อจำแล้วจะบังคับให้ลืมก็ไม่ได้

ต้องแบกสังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดของตัวเอง ละไม่ได้

แม้จะรู้ว่าอันความทุกข์เดือดร้อนต่างๆนั้นบังเกิดเพราะจิตใจนี้เองปรุง คือปรุงคิดไป

เมื่อปรุงคิดไปเป็นทุกข์ก็ต้องเป็นทุกข์ หากว่าสามารถคิดปรุงไปให้เป็นสุขก็เป็นสุขได้

แต่ว่าในขณะที่ประสบเหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ต่างๆนั้น ยากที่จะปรุงคิดไปในทางให้เป็นสุข

ก็คิดปรุงในทางที่เป็นทุกข์ เมื่อคิดปรุงไปเป็นทุกข์ก็ต้องเป็นทุกข์

ก็ต้องแบกเอาทุกข์อันนี้ไว้ อันเกิดจากความคิดปรุงของตัวเอง

และต้องแบกเอาวิญญาณขันธ์กองวิญญาณคือตัวความรู้เห็น

รู้ได้ยิน รู้ได้ทราบ รู้คิดนึก ก็เพราะดับความรู้เหล่านี้ในอารมณ์ทั้งหลายไม่ได้

เมื่อตากับรูปประจวบกันก็ต้องรู้รูปคือเห็น จะเป็นรูปที่ชอบใจไม่ชอบใจก็ต้องเห็น

หูกับเสียงประจวบกันก็ต้องได้ยิน สรรเสริญก็ได้ยิน นินทาก็ได้ยิน

เมื่อจมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและสิ่งถูกต้อง ประจวบกันก็ต้องทราบ

ทราบกลิ่นทราบรสทราบสิ่งถูกต้อง จะให้ไม่ทราบก็ไม่ได้

เมื่อมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวประจวบกัน ก็ต้องรู้ต้องคิดในเรื่องเหล่านั้น จะไม่ให้รู้ก็ไม่ได้

จึงต้องแบกเอาสิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่ได้ทราบ สิ่งที่ได้คิดได้รู้เหล่านี้เอาไว้

พอใจหรือไม่พอใจก็ต้องแบกเอาไว้ และนอกจากนี้ยังเป็นเหตุที่จะให้แสวงหา

ที่จะให้ได้เห็นที่จะให้ได้ยินเป็นต้นในสิ่งที่ชอบปรารถนา หลีกหนีจากสิ่งที่ไม่ชอบไม่ปรารถนา

จึงเป็นเหตุให้เกิดความขวนขวายต่างๆดังกล่าว ก็ต้องแบกเอาไว้ทั้งหมด เหล่านี้เป็นตัวทุกข์

เพราะไปยึดเอาไว้ แล้วก็ปล่อยก็ไม่ได้ แล้วยิ่งยึดก็ยิ่งเป็นทุกข์ ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้

ตามตัวอย่างที่แสดงมานี้คือหัดตั้งสติกำหนดพิจารณาดูทุกขทุกข์

คือทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแจกแจงแสดงสั่งสอนเอาไว้

สังขารทุกข์

อนึ่ง ก็หัดตั้งสติกำหนดพิจารณาสังขารทุกข์ ทุกข์คือสังขาร

ก็คือบรรดาทุกขทุกข์ ทุกข์คือทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงจำแนกแจกแจงเอาไว้

ตั้งแต่ชาติทุกข์ ทุกข์คือชาติคือความเกิดทั้งปวงนั้น

ก็รวมเข้าเป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือความผสมปรุงแต่งทั้งนั้น

ดังชาติคือความเกิด ก็คือความผสมปรุงแต่งของธาตุ ๖ เข้าด้วยกัน

ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส และวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ มาผสมกัน

จึงก่อกำเนิดเกิดขึ้นมาเป็นบุคคล นี้ก็คือสังขารคือความผสมปรุงแต่ง หรือสิ่งผสมปรุงแต่ง

ชราคือความแก่ มรณะคือความตายเป็นต้นก็เช่นเดียวกัน

ก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง เป็นความผสมปรุงแต่ง

แม้โสกะความแห้งใจ ปริเทวะความคร่ำครวญใจเป็นต้น

ก็เป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงปรุงแต่ง หรือเป็นความผสมปรุงแต่ง

ก็คือว่าจิตกับอารมณ์อันเป็นที่ไม่ปรารถนาพอใจมาผสมกัน

และจิตนี้เองก็คิดปรุงหรือปรุงคิดขึ้นมา

เมื่อปรุงคิดหรือคิดปรุงขึ้นมาในทางทุกข์ก็เกิดทุกข์ เป็นโสกะ เป็นปริเทวะเป็นต้น

ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ก็เป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือความผสมปรุงแต่ง

เพราะว่าสิ่งที่เป็นที่รักก็ตาม ไม่เป็นที่รักก็ตาม

ก็ล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น เป็นบุคคลเป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้

ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งหลายทั้งนั้น มาผสมปรุงแต่งขึ้นมาเป็นนั่นเป็นนี่

และอาการที่ประจวบก็คือความที่สิ่งเหล่านั้นมาผสมปรุงแต่งเข้ากับจิตใจ

จิตใจไปยึดถือในสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ไม่ปล่อย

แม้ความพลัดพรากซึ่งดูเหมือนไม่ผสมปรุงแต่งก็ตาม แต่อันที่จริงเป็นความผสมปรุงแต่ง

เพราะว่าจิตใจนี้ยังยึดถือ สิ่งที่เป็นที่รักต้องพลัดพรากไปด้วยเหตุใดก็ตาม

ถ้าจิตใจไม่ยึดถือปล่อยได้ก็ไม่เป็นทุกข์ แต่เพราะจิตใจมีความยึดถือ

ซึ่งตัวความยึดถือนี่แหละเป็นตัวสังขารคือความผสมปรุงแต่ง หรือสิ่งผสมปรุงแต่ง

โดยเฉพาะจิตใจยังปรุงแต่งอยู่ ยังยึดถืออยู่ ว่านี่เราชอบ นี่เราไม่ชอบ

สิ่งที่เราชอบเราไม่ได้ สิ่งที่เราชอบต้องเสียไป จิตยังผสมปรุงแต่งอยู่เป็นตัวสังขารอยู่

ความปรารถนาไม่สมหวังก็เช่นเดียวกัน ยังมีความปรารถนาซึ่งเป็นตัวความผสมปรุงแต่งอยู่

จึงต้องพบความไม่สมหวัง ซึ่งต้องมีอยู่เป็นประจำ

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ย่อลงในขันธ์ ๕

ซึ่งตัวขันธ์ ๕ นี้ก็ล้วนเป็นตัวผสมปรุงแต่งทั้งนั้น

รูปขันธ์ก็ปรุงแต่ง ผสมปรุงแต่งจึงเป็นรูปขันธ์ขึ้นมา

เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็เป็นตัวผสมปรุงแต่ง

เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง จึงเป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณขึ้นมา

เพราะฉะนั้น จึงล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด

เมื่อยังเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งอยู่ ก็ต้องเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น ในไตรลักษณ์จึงได้ตรัสสรุปเอาไว้ว่า

สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงก็คือทั้งสังขาร และทั้งวิสังขาร

วิสังขารคือสิ่งที่ไม่ผสมปรุงแต่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน

แต่โดยเฉพาะแล้วที่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งนั้นก็ต้องเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง

ทุกขะเป็นทุกข์ อนัตตามิใช่อัตตาตัวตนทั้งหมด

เพราะฉะนั้นก็ให้หัดตั้งสติกำหนดพิจารณาดูให้รู้จักสังขารทุกข์ ทุกข์คือสังขารดังกล่าวมานี้

วิปรินามทุกข์

และต่อจากนี้ก็หัดตั้งสติกำหนดพิจารณาดู วิปรินามทุกข์

ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง สืบมาจากสังขารทุกข์

กล่าวคือสังขารสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งปวงที่เป็นทุกข์นั้น ก็เพราะต้องตกอยู่ใน ทุกขทุกขะ

ทุกข์คือทุกข์ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสจำแนกแจกแจงเอาไว้ คือต้องเกิดต้องแก่ต้องตายเป็นต้น

และเมื่อสรุปมาแล้ว ก็ย่อมสรุปเข้าได้ใน สังขตลักษณะ

ลักษณะของสิ่งที่ผสมปรุงแต่งอันเรียกว่าสังขารนั้นทั้งปวง

คือ อุปาโทปัญญายติ ความเกิดปรากฏ วโยปัญญายติ วัยคือความเสื่อมไปปรากฏ

ฐิตัสสะ อัญญะขัตตัง ปัญญายติ

เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ

เพราะฉะนั้นสังขารทั้งปวงจึงต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ต้องเกิดต้องดับ

ความพิจารณาให้เห็นวิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปดั่งนี้

ย่อมจะทำให้ได้มองเห็นไตรลักษณ์ชัดขึ้น จะทำให้ได้ปัญญาเห็นแจ้งรู้จริง

ในอนิจจตาความเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตาความเป็นทุกข์

อนัตตาความเป็นของมิใช่อัตตาตัวตนในสังขารทั้งปวง

และท่านแสดงว่าผู้ที่พิจารณามองเห็นทุกข์

เมื่อได้ปัญญาเป็นวิปัสสนาปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ย่อมจะได้ธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรม

ว่า ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สัพพันตัง นิโรธธัมมัง สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

คือมองเห็นเกิดดับ ดั่งนี้ก็คือเห็นวิปรินามทุกข์

และเมื่อเห็นวิปรินามทุกข์ก็เป็นอันว่าได้เห็นทุกขทุกข์ ทุกข์คือทุกข์

สังขารทุกข์ทุกข์คือสังขาร พร้อมทั้งวิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 ธรรมะที่เป็นพหุลานุสาสนี

ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สังขาร วิสังขาร

ที่มาของคำว่าธาตุ

วิธีฝึกให้มองเห็นทุกข์

อาการที่เรียกว่าจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อย

ม้วนที่ ๒๙/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๓๐/๑ ( File Tape 25 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ธรรมะที่เป็นพหุลานุสาสนี

ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธร

พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมะที่เป็นพหุลานุสาสนี

คือเป็นอนุสาสนีคำพร่ำสอนไว้เป็นอันมาก ให้บุคคลรู้ทุกข์ หรือรู้จักทุกข์

โดยที่ได้ทรงยกเอาขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ขึ้นแสดงโดยทวิลักษณะคือลักษณะ ๒

หรือไตรลักษณ์ ลักษณะ ๓ ดังเช่นในบทสวดแสดงสังเวขะวัตถุ

คือวัตถุที่ตั้งแห่งความสังเวช ที่สวดต่อจากบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย

พุทโธ สุสุทโธ กรุณามหัณโว

( เริ่ม ๓๐/๑ ) คำสั่งสอนที่แสดงชี้ ยกเอาขันธ์ ๕ ขึ้นแสดงให้รู้จักลักษณะ ๒ คือ

อนิจจลักขณะ ลักษณะที่ไม่เที่ยง และ อนัตตลักขณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน ดั่งนี้

ก็เป็นพหุลานุสาสนี ถ้อยคำพร่ำสอนที่มีเป็นอันมากของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา

และที่แสดงโดยลักษณะ ๓ คือเติม ทุกขลักษณะ เข้าตรงกลาง

เป็น อนิจจลักขณะ ลักษณะว่าไม่เที่ยง ทุกขลักขณะ ลักษณะเป็นทุกข์

และ อนัตตลักขณะ ลักษณะเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน

ก็เป็นพหุลานุสาสนี คำพร่ำสอนที่มีเป็นอันมากเช่นเดียวกัน

ก็ยกเอาขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เหล่านี้ขึ้นเป็นที่ตั้ง

เพื่อให้กำหนดพิจารณาให้รู้จักเช่นเดียวกัน

สำหรับที่แสดงลักษณะ ๒ คืออนิจจลักขณะกับอนัตตลักขณะนั้น

หากจะมีปัญหาว่าไม่ขาดทุกขลักษณะไปหรือ ก็ตอบได้ว่าไม่ขาด

ทุกขลักษณะนั้นแม้ไม่แสดงก็รวมอยู่ในอนิจจลักขณะกับทั้งอนัตตลักขณะนั้นเอง

และในบทสวดมนต์ตอนเช้าที่มิได้แสดงทุกขลักขณะด้วย

เมื่อกำหนดดูบทสวดก็จะเห็นได้ว่าเริ่มด้วยที่สวดแสดงว่า

เราทั้งหลายทุกคนเป็นผู้อันความทุกข์หยั่งลงแล้ว มีทุกข์เป็นเบื้องหน้าอยู่ด้วยกัน

และความทุกข์ที่หยั่งลง ความทุกข์ที่เป็นเบื้องหน้าของทุกๆคนนี้

ก็คือชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณะทุกข์ เป็นต้น

ดังที่พระบรมศาสดาได้ตรัสแสดงชี้ไว้

ในหมวดทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

และทุกข์ที่แสดงไว้ว่าทุกคนมีทุกข์หยั่งลง มีทุกข์เป็นเบื้องหน้านี้

ก็เพื่อให้ทุกๆคนได้บังเกิดธรรมสังเวช คือความสังเวชใจ

เพราะเหตุที่มีทุกข์ประกอบอยู่ล้อมอยู่โดยรอบ

เพื่อที่จะได้ขวนขวายปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

อันเป็นความมุ่งหมายในการปฏิบัติพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น คำว่าทุกข์นี้จึงเป็นคำที่รวมทั้งหมด

ฉะนั้น เมื่อได้กำหนดพิจารณาให้เกิดความสังเวช ว่าทุกคนมีทุกข์หยั่งลง

มีทุกข์เป็นเบื้องหน้าดั่งนี้ จึงได้สวดไปถึงพหุลานุสาสนีของพระพุทธเจ้า

ยกเอาขันธ์ ๕ ขึ้นมาสวด เพื่อที่จะได้กำหนดพิจารณาต่อไปให้มองเห็นว่าเป็นทุกข์อย่างไร

ก็คือว่าขันธ์ ๕ อันเป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าอัตภาพความเป็นตัวเราของเรานี้

ก็คือกองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ก็ล้วนไม่เที่ยง

หรือล้วนเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน เพราะบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนามิได้

ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงทุกขลักษณะไว้ในที่นี้อีก

เพราะได้ยกความทุกข์ขึ้นมาปรารภไว้ในเบื้องต้นแล้ว อันเป็นที่รวมของลักษณะทั้งหมด

ก็เป็นอันว่าอนิจจตาความไม่เที่ยง อนัตตตาความเป็นอนัตตา

ก็รวมอยู่ในคำว่าทุกข์คำเดียวกันนี้นั่นเอง

และก็จะพึงเข้าใจอีกได้ว่า

อนิจจตาความไม่เที่ยงนั้นก็รวมเอาทุกขตาความเป็นทุกข์ไว้ด้วย

เพราะขึ้นชื่อว่าความไม่เที่ยงก็เพราะเป็นสิ่งที่เกิดดับ ความเป็นสิ่งที่เกิดดับนี้เองคือตัวไม่เที่ยง

ถ้าเที่ยงแล้วเกิดก็จะต้องไม่ดับ ดำรงอยู่โดยไม่ดับ ความที่ดำรงอยู่ดั่งนี้จึงจะเที่ยง

แต่เมื่อดำรงอยู่ไม่ได้ต้องดับจึงชื่อว่าไม่เที่ยง และเพราะความไม่เที่ยงดั่งนี้จึงชื่อว่าเป็นทุกข์

คืออาการที่ต้องถูกความเกิดและความดับดั่งนี้บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

มองลงไปในลักษณะที่ต้องเกิดต้องดับอยู่ตลอดเวลาดั่งนี้

เหมือนอย่างถูกความเกิดความดับบีบคั้น จึงมีลักษณะที่เป็นทุกข์

และแม้ไม่มองในลักษณะเหมือนอย่างถูกบีบคั้นดั่งนั้น

ความที่ต้องเกิดต้องดับก็คือความที่ไม่ตั้งอยู่คงที่ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ลักษณะที่ไม่ตั้งอยู่คงที่ดั่งนี้ จึงชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นทุกข์จึงอิงอยู่กับความไม่เที่ยงนั้นเอง

และก็อิงอยู่กับความเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตนด้วย

ถึงจะไม่แสดงทุกขลักษณะเอาไว้ ทุกขลักษณะก็รวมอยู่ในอนิจจตาความไม่เที่ยง

กับอนัตตตาความมิใช่อัตตาตัวตนดังกล่าว

และข้อที่สวดกันว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

หรือว่าเติมข้อทุกข์เข้าตรงกลางเป็นไตรลักษณ์ว่า

สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

จึงมีปัญหาขึ้นข้อท้ายว่าทำไมจึงสวดว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา

ไม่สวดว่า สัพเพ สังขารา อนัตตา

ก็ตอบได้ว่าอันที่จริงก็สวดได้ว่า สัพเพ สังขารา อนัตตา

สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

แต่จะต้องสวดเพิ่มอีกข้อหนึ่งว่า สัพเพ วิสังขารา อนัตตา

วิสังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน

ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ต้องสวดเพิ่มเป็นสองข้อในข้ออนัตตา

จึงใช้ธัมมาเข้ามาแทนเป็น ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

สังขาร วิสังขาร

ฉะนั้นคำว่าธรรมทั้งปวงนี้ท่านจึงแสดงว่า

หมายถึงทั้ง สังขตธรรม ธรรมะที่ถูกปรุงแต่งก็คือสังขาร

และ อสังขตธรรม ธรรมะที่ไม่ถูกปรุงแต่งคือวิสังขาร

เพราะอนัตตานี้ทั้งสังขารทั้งวิสังขารต่างเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตนด้วยกัน

สังขารนั้นก็คือสิ่งผสมปรุงแต่ง วิสังขารนั้นตรงกันข้าม คือสิ่งที่ไม่ผสมปรุงแต่ง

ที่ท่านแสดงว่าอย่างสูงสุดก็ได้แก่นิพพาน หรือวิราคะธรรม

ธรรมะที่สิ้นความติดใจยินดี หมดความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง

วิราคะธรรมหรือนิพพานสิ้นกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดใจทั้งหมด เป็นวิสังขาร

หรืออสังขตธรรมที่เป็นยอด ตามพระพุทธภาษิตที่ได้แสดงไว้ว่าอสังขตธรรมทั้งหลายนั้น

มีวิราคะธรรมคือนิพพานดั่งนี้เป็นยอด

และเมื่อแสดงอย่างนี้ก็บ่งว่า

จะต้องมีวิสังขารหรืออสังขตธรรมมากอย่าง หรือหลายอย่างด้วยกัน

ฉะนั้นเมื่อพิจารณาดูให้ดีก็ย่อมจะมองเห็นว่า

บรรดาสิ่งทั้งหมดนั้นก็จะต้องมีสิ่งที่ปรุงแต่ง กับสิ่งที่ไม่ปรุงแต่งเป็นคู่กัน

สิ่งที่ปรุงแต่งนั้นก็จะต้องมีว่าปรุงแต่งจากอะไร จะต้องมีสิ่งที่เป็นต้นเดิมมาเป็นส่วนปรุงแต่งขึ้น

ที่มาของคำว่าธาตุ

เพราะฉะนั้นจึงได้มีคำสมมติบัญญัติเรียกสิ่งที่เป็นต้นเดิม

อันเป็นที่มาของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายว่าธาตุ ซึ่งบรรดาสังขารทั้งหลายนั้นก็จะต้องมาจากธาตุ

และธาตุในทางพิจารณานั้นก็ดังเช่นที่ตรัสสอนให้พิจารณาว่ากายนี้ปรุงมาจากธาตุ ๔

คือธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลม และเติมอากาสธาตุเข้าอีกก็เป็นธาตุ ๕

แต่โดยมากก็แสดงแค่ธาตุ ๔ สำหรับพิจารณา ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

ก็ธาตุเหล่านี้มาปรุงขึ้นเป็นกาย และเมื่อกายแตกสลาย

ธาตุทั้งหลายที่ปรุงเข้ามารวมกันเข้าเป็นกายนี้ก็แตกแยกกันออกไป

และบุคคลทุกๆคนนั้นยังมีวิญญาณธาตุคือธาตุรู้เข้ามาประกอบอีกด้วย

จึงเป็นบุรุษสตรีเป็นบุคคล

ฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงได้ทรงแสดงว่าบุรุษบุคคลเรานี้มีธาตุ ๖

คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส และวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ดั่งนี้

มาประชุมปรุงแต่งกันขึ้นเป็นบุรุษสตรี เป็นบุคคลดังที่ปรากฏอยู่

เพราะฉะนั้น ธาตุเมื่อเป็นธาตุแท้ก็ย่อมเป็นวิสังขาร

แต่ว่าธาตุในทางพิจารณานั้นก็อาจจะยังไม่ใช่เป็นธาตุแท้

อย่างธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลม ก็ยังเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งอีกนั่นเอง

แต่ว่าถ้าแสดงโดยลักษณะเช่นว่าสิ่งที่แข้นแข็งเรียกว่าปฐวีธาตุธาตุดิน

สิ่งที่เอิบอาบเหลวไหลเรียกว่าอาโปธาตุธาตุน้ำ สิ่งที่อบอุ่นเรียกว่าเตโชธาตุธาตุไฟ

สิ่งที่พัดไหวเรียกว่าวาโยธาตุธาตุลม และสิ่งที่เป็นช่องว่างเรียกว่าอากาสธาตุธาตุอากาศ

ดั่งนี้ ความเป็นธาตุก็ละเอียดเข้าไปอีก

อย่างไรก็ดีที่จะเป็นวิสังขาร คือไม่ใช่สิ่งปรุงแต่งอันเป็นต้นเดิมที่แท้จริงนั้น

ก็จะต้องเป็นสิ่งที่แยกออกไปอีกไม่ได้ เป็นสิ่งที่ยืนตัวอยู่อย่างนั้น แยกออกไปไม่ได้จริงๆ

จึงจะเป็นตัวธาตุแท้ และถ้าหากว่ามีอยู่ นั่นก็คือวิสังขารทางวัตถุ

ซึ่งเป็นต้นเดิมของสังขารสิ่งประสมปรุงแต่งทางวัตถุทั้งหลาย

ส่วนทางจิตใจนั้น จิตใจที่เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้

ตัวรู้ที่ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมทั้งหลาย

นั่นก็ยังเป็นสังขารส่วนประสมปรุงแต่ง

แต่ว่าตัวรู้ที่สิ้นอวิชชาตัณหาอุปาทานทั้งหมด เป็นตัวรู้ที่รู้พ้น

ไม่มีสิ่งผสมปรุงแต่ง ไม่มีการผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น เป็นรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

และพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย สิ้นอาสวะกิเลสทั้งหมด

ซึ่งอาจจะแสดงออกมาเป็นสมมติบัญญัติก็เป็นวิชชาเป็นวิมุติ

เป็นตัวรู้ที่บริสุทธิ์ไม่มีเครื่องปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง

ดั่งนี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นสภาพที่เป็นวิสังขาร ที่เป็นวิราคะธรรม หรือเป็นนิพพาน

ส่วนวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ที่ยังประกอบด้วยอาสวะกิเลสก็ยังเป็นสังขารคือยังผสมปรุงแต่ง

เพราะฉะนั้น วิสังขารหรืออสังขตธรรมทางวิญญาณธาตุนั้น

แสดงได้ตามหลักพระพุทธศาสนา ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นคู่กัน สังขาร วิสังขาร

และทั้งหมดนี้ก็เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

เพราะว่าเป็นสภาพธรรมดา

เป็นธรรมดาที่เป็นไปอยู่ดั่งนี้ ไม่ใช่เป็นใคร ไม่ใช่เป็นของใคร

เหมือนอย่างดินฟ้าอากาศที่เป็นของธรรมชาติธรรมดา ไม่ใช่เป็นใคร ไม่ใช่เป็นของใคร

ความเป็นใครเป็นของใครนั้นเพราะอุปาทานคือความยึดถือเท่านั้น

เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนให้บุคคลกำหนดพิจารณา

ให้รู้จักตัวทุกข์อันมีอยู่แก่ทุกๆคน ดังที่สวดว่ามีทุกข์หยั่งลงแล้ว มีทุกข์เป็นเบื้องหน้า

เพื่อให้มองเห็นทุกข์

วิธีฝึกให้มองเห็นทุกข์

และความที่จะมองเห็นทุกข์นั้น วิธีที่พิจารณาที่เป็นพหุลานุสาสนีนี้

ก็เป็นวิธีที่สำหรับที่จะฝึกให้มองเห็นทุกข์ได้เป็นอย่างดี

และก็จัดเข้าในฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งจะต้องมีสติเป็นเครื่องนำ ก็คือสติปัฏฐาน

ซึ่งจะมาเป็นสติสัมโพชฌงค์ สติที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้ได้ปัญญาวิจัยธรรมะ

และเมื่อวิจัยธรรมะได้ ก็จะเป็นสัมมาสติวิจัยทุกข์ได้ มองเห็นทุกข์ได้

แต่ว่าการที่จะมองเห็นทุกข์นี้ที่เป็นสิ่งที่ยาก

ก็เพราะว่าบุคคลยังติดอยู่ในทุกข์ ยังพอใจอยู่ในทุกข์

ยังมองเห็นว่าเป็นความสุข คือเห็นทุกข์ว่าเป็นความสุข

ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า นันทิ คือความเพลิน กับ ราคะ ความติดใจยินดี

ดังเช่นขันธ์ ๕ อันเป็นสมมติบัญญัติว่าเป็นอัตภาพอันนี้

อันเป็นขมวดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนว่า

กล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์

แต่แม้เช่นนั้นก็ยังมีความเพลินความติดใจยินดีอยู่ในทุกข์นี้

คือยังเพลินยังติดใจยินดีอยู่ในรูปขันธ์กองรูป ในเวทนาขันธ์กองเวทนา

ในสัญญาขันธ์กองสัญญา ในสังขารขันธ์กองสังขาร ในวิญญาณขันธ์กองวิญญาณ

อาการที่เรียกว่าจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง

และมิใช่แต่เท่านั้น เมื่อมีความเพลินมีความติดใจยินดี

ก็ย่อมมีความดิ้นรนของใจ ใคร่ที่จะได้ ใคร่ที่จะเป็น ใคร่ที่จะทำลาย

อันเกี่ยวแก่ความเพลินและความติดใจยินดีนี้ด้วย ใคร่ที่จะได้นั้น ก็คือใคร่ที่จะได้รูป

( เริ่ม ๓๐/๒ ) ใคร่ที่จะทำลายนั้นก็คือใคร่ที่จะทำลายสิ่งที่มาขัดขวาง

ต่อความประสบความสำเร็จในการได้ต่อความที่จะเป็นของตน เป็นต้น อยู่ในขันธ์ ๕ นั้น

จิตจึงมีความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย

 และอาการที่จิตมีความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไป

เพื่อที่จะได้ เพื่อที่จะเป็น เพื่อที่จะทำลายนี้ นี้แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสยกเอาข้อนี้ขึ้นมาว่า

เป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ดิ้นรนทะยานอยากไปเพื่อจะได้ เพื่อที่จะเป็น เพื่อที่จะทำลาย ซึ่งอาจจะย่อลงได้เป็น ๒

คือดิ้นรนทะยานอยากเพื่อที่จะดึงเข้ามาอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะผลักออกไปอย่างหนึ่ง

ความดิ้นรนทะยานอยากที่จะได้ที่จะเป็นนั้น เป็นความดิ้นรนทะยานอยากในอันที่จะดึงเข้ามา

ความดิ้นรนทะยานอยากที่จะทำลายนั้น เป็นความดิ้นรนทะยานอยากเพื่อที่จะผลักออกไป

ก็คือว่าดึงเอาที่ชอบใจเข้ามา ผลักที่ไม่ชอบใจออกไป

อาการของจิตที่เป็นความดิ้นรนทะยานอยากดั่งนี้เรียกว่าตัณหา

และก็เนื่องมาจาก หรือประกอบกับตัวนันทิความเพลิดเพลิน

กับราคะความติดใจยินดีอยู่ด้วยนั่นเอง

เพราะฉะนั้น จึงมีความยึด ยึดอยู่ในขันธ์ ๕ ไม่ปล่อย ยึดว่าเป็นตัวเราของเรา

หรือว่ายึดว่า เอตัง มะมะ นี่เป็นของเรา เอโส หะมัสมิ เราเป็นนี่

เอโส เม อัตตา นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา ย่อลงก็คือว่ายึดว่าเป็นตัวเราของเรา

ยึดอยู่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวเรา

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของเรา ยังมีความยึดอยู่ดั่งนี้

ลักษณะที่ยึดนี้เรียกว่าอุปาทาน ลักษณะที่ดิ้นรนทะยานอยากของใจเรียกว่าตัณหา

ลักษณะที่เพลิดเพลินเรียกว่านันทิ ลักษณะที่ติดใจยินดีเรียกว่าราคะ

เหล่านี้รวมกันอยู่เป็นก้อนเดียว ซึ่งเป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats