ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 12 ธันวาคม 2555 09:08
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป023
กิจที่พึงปฏิบัติในพุทธศาสนา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ที่ตั้งของทุกข์ ๓
กำหนดรู้ทุกข์โดยไตรลักษณ์ ๔
อวิชชา วิชชา ๕
โอกาสที่ธรรมจักขุจะปรากฏขึ้น ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๖/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๗/๑ ( File Tape 23 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
กิจที่พึงปฏิบัติในพุทธศาสนา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนทั้งสิ้น ได้กล่าวแล้วว่ารวมเข้าในอริยสัจจ์ทั้ง ๔
ฉะนั้น กิจที่พึงปฏิบัติในพุทธศาสนาทั้งสิ้น จึงเป็นกิจที่พึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นเอง
จึงควรที่จะกำหนดในกิจทั้ง ๔ นี้ ก็คือ
๑ ปริญญา กำหนดรู้ทุกข์ ๒ ปหานะ ละทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
๓ สัจฉิกรณะ กระทำให้แจ้งทุกขนิโรธ คือความดับทุกข์
และ ๔ ภาวนา ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้มีให้เป็นมรรคมีองค์ ๘ ขึ้นมา
นี้เป็นกิจในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ และก็เป็นกิจในพุทธศาสนาทั้งสิ้น
จึงควรที่จะทำความเข้าใจ และฝึกหัดปฏิบัติในกิจทั้ง ๔ นี้
ว่ากิจข้อที่ ๑ กำหนดรู้ทุกข์ ก็คือกำหนดให้รู้จักตัวทุกข์
ให้รู้จักที่ตั้งของทุกข์ ให้รู้จักทุกข์อันเกิดปรากฏขึ้นในที่ตั้งของทุกข์นั้น
ที่ตั้งของทุกข์
อันที่ตั้งของทุกข์ ก็คือขันธ์อายตนะธาตุนี้เอง
หรือนามรูป หรือกายใจอันนี้เป็นที่ตั้งของทุกข์
ตัวทุกข์ก็ตั้งอยู่ในที่ตั้งของทุกข์นี้ ( เริ่ม ๒๗/๑ ) ดังจะพึงเห็นได้
ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็น ว่าเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์
เกิดแก่ตายก็ตั้งขึ้นที่ขันธ์อายตนะธาตุนี้ หรือที่นามรูปที่กายใจนี้
โสกะปริเทวะเป็นต้น ก็เกิดปรากฏที่นามรูปที่กายใจนี้
ประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ก็เกิดปรากฏที่นามรูปที่กายใจนี้
ปรารถนามิได้สมหวัง ก็เกิดปรากฏที่กายใจที่นามรูปนี้
เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสว่าโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ เป็นตัวทุกข์
ก็คือนามรูปกายใจนี้
และก็มีคำกำกับว่าเป็นที่ยึดถือ ก็คือเป็นที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรานั้นเอง
อันบ่งถึงตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ที่ประกอบเข้ามาด้วย
เพราะที่จะเป็นตัวทุกข์นั้น ก็จะต้องมีตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ประกอบเข้ามาด้วย
ดังเช่นที่มีประกอบอยู่ในคำจำแนกแจกแจงว่าอะไรเป็นทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้ว
ซึ่งมีกล่าวถึงประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก
อันสิ่งที่เป็นที่รัก หรือสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
ก็เพราะยึดถือว่าเป็นที่รัก หรือยึดถือว่าไม่เป็นที่รักนั้นเอง
หรือปรารถนาไม่ได้สมหวัง ก็บ่งถึงตัวปรารถนาซึ่งเป็นตัวสมุทัย
ฉะนั้น จึงไม่อาจที่จะแยกกันได้ระหว่างทุกข์กับสมุทัย ต้องประกอบกัน
เมื่อละตัณหาอุปาทานได้ ก็เป็นอันว่าได้ดับตัวสมุทัยได้ จึงดับทุกข์
เหลือแต่วิบากขันธ์ที่เป็นตัวทุกข์อยู่ตามสภาพ
เกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ดังที่ได้กล่าวแล้ว
เพราะฉะนั้น ขันธ์อายตนะธาตุจึงเป็นที่ตั้งของทุกข์ ทุกข์ก็ตั้งอยู่ที่ขันธ์อายตนะธาตุนี้
และสมุทัยก็ตั้งอยู่ที่ขันธ์อายตนะธาตุนี้เช่นเดียวกัน
ดังที่มีพระพุทธาธิบายในหมวดทุกขสมุทัย
ว่าตัณหาก็บังเกิดตั้งขึ้นที่อายตนะภายใน อายตนะภายนอก
วิญญาณ สัมผัส เวทนาเป็นต้น ทุกข์ก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่นี่
สมุทัยก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่นี่นั้นเอง และก็ย่อมดับไปในที่นี่อีกเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะจึงสมควรที่จะกำหนดรู้ในตัวทุกข์ดังกล่าวนี้ก่อน
ให้รู้จักขันธ์อายตนะธาตุ หรือนามรูป หรือกายใจอันนี้ ว่าเป็นที่ตั้งของทุกข์ ทุกข์ก็ตั้งลงที่นี่
เพราะฉะนั้น จึงเป็นตัวทุกข์ไปด้วยกัน
กำหนดรู้ทุกข์โดยไตรลักษณ์
และวิธีหัดกำหนดให้รู้จักตัวทุกข์ ที่ตั้งอยู่ที่ขันธ์อายตนะธาตุ
หรือนามรูป หรือกายใจอันนี้ ก็โดยวิธีหัดกำหนดโดยไตรลักษณ์
คือลักษณะอันเป็นเครื่องกำหนดหมายที่เป็นสามัญทั่วไปแก่สังขารทั้งปวง
สังขารทั้งปวงก็คือขันธ์อายตนะธาตุ นามรูป หรือกายใจเหล่านี้นั้นเอง
ด้วยว่าเป็นสังขารเพราะเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งขึ้นมา
ฉะนั้น จึงมีลักษณะที่เสมอกันหมด ไม่มียกเว้น ก็คือไม่เที่ยง
คำว่าไม่เที่ยงนั้นก็คือเกิดดับ เมื่อเกิดก็ต้องดับ จึงไม่เที่ยง
เพราะถ้าเที่ยงก็จะต้องเกิดไม่ดับ แต่นี่เกิดดับ จึงไม่เที่ยง
และสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
เพราะเหตุว่าเหมือนอย่างถูกความเกิดดับนั้นบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ไม่ตั้งอยู่คงที่
อาการที่ไม่ตั้งอยู่คงที่ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
ด้วยอำนาจของความเกิดดับที่บีบคั้นอยู่ตลอด ดั่งนี้เป็นตัวทุกข์ในไตรลักษณ์
และสิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน
เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ จะบังคับให้ไม่ดับ หรือบังคับให้ไม่เกิดไม่ดับ
ให้ตั้งอยู่คงที่ไม่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปก็บังคับไม่ได้ จึงเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน
ความเป็นอนิจจะทุกขะอนัตตาทั้ง ๓ นี้ นี่แหละรวมกันเป็นตัวทุกข์
ที่เป็นทุกขอริยสัจจ์สภาพที่จริงคือทุกข์
เป็นทุกข์โดยที่เป็นทุกข์ตามที่เข้าใจกันว่า ทุกข์ๆ อย่างแท้จริง
และเป็นทุกข์โดยที่เป็นตัวสังขาร คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง
ซึ่งจะต้องตกอยู่ในลักษณะของสังขาร ซึ่งจะต้องมีเกิดมีดับดังกล่าวมานั้น
และเป็นทุกข์โดยที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
หัดพิจารณากำหนดให้รู้จักทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ดั่งนี้
ซึ่งเป็นตัวสัจจะความจริง เป็นตัวธรรมดา
ความที่มาหัดพิจารณาให้รู้จักตัวทุกข์ดั่งนี้ย่อมเป็นประโยชน์
เพราะจะเป็นเหตุให้ได้ปัญญาที่ละตัณหาอุปาทานไปได้ในตัว
อวิชชา วิชชา
อันตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก กับอุปาทานคือความยึดถือนี้
ตามหลักพุทธศาสนาย่อมเกิดมาจากตัวอวิชชา คือตัวไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
อันอวิชชาคือตัวไม่รู้นี้มิใช่หมายความว่า ไม่รู้อะไรๆ บุคคลมีจิตที่เป็นตัวธาตุรู้ ย่อมรู้อะไรๆได้
แต่เพราะมีอวิชชาอยู่จึงเป็นตัวรู้หลง เป็นตัวรู้ที่ยึด หรือเป็นตัวรู้ที่อยากยึด
อันหมายความว่ารู้ในสิ่งใดก็มีตัณหาที่เป็นตัวอยากอยู่ในสิ่งนั้น
มีอุปาทานคือความยึดถืออยู่ในสิ่งนั้น จึงเป็นตัวรู้หลง
แต่มิใช่รู้พ้น รู้พ้นนี้จึงเป็นวิชชา
แต่รู้พ้นที่เป็นตัววิชชานี้จะมีได้ก็ต้องเป็นตัวรู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
ด้วยการที่มาฝึกหัดปฏิบัติตั้งต้นแต่ให้รู้จักตัวทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้
และเมื่อรู้จักทุกข์ เห็นทุกข์ได้ นั่นก็เป็นวิชชาขึ้นมาโดยลำดับ
ตัณหาอุปาทานก็จะผ่อนคลายดับลงไปโดยลำดับ
เมื่อรู้จริงในสิ่งใด ก็ดับตัณหาอุปาทานในสิ่งนั้นได้ ดับไปเองโดยมิได้บังคับให้ดับ
ถ้ายังมีอวิชชาคือตัวไม่รู้อยู่ในสัจจะที่เป็นความจริงแล้ว
จะบังคับให้ตัณหาอุปาทานดับสักเท่าไรก็บังคับไม่ได้ ตัณหาอุปาทานไม่ดับ
เมื่อเป็นตัวรู้ขึ้นแล้วก็ดับไปเอง
เช่นเดียวกับความมืด
เมื่อยังไม่มีความสว่างจะบังคับให้ความมืดดับไปนั้นไม่ได้
และความมืดนั้นเองย่อมเป็นเครื่องปกปิดทุกๆอย่างที่ตั้งอยู่ในความมืด ไม่ให้มองเห็น
ต่อเมื่อมีความสว่าง ความมืดนั้นก็หายไปเอง ตามอำนาจของความสว่างที่บังเกิดขึ้น
และเมื่อความสว่างบังเกิดขึ้นความมืดหายไป สิ่งที่ตั้งอยู่ในความมืดก็จะปรากฏขึ้น
จะมองเห็นว่าเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้
ในขณะที่ความสว่างยังไม่ปรากฏขึ้น ความมืดปกคลุมอยู่
สิ่งต่างๆที่ตั้งอยู่ในความมืดก็ไม่ปรากฏ มองไม่เห็น
เมื่อมองไม่เห็นก็ต้อง จะต้องเดาเอา ต้องคิดเดาเอา เป็นความปรุงเป็นความแต่ง
ว่าสิ่งที่ตั้งอยู่ในความมืดนั้นคงจะเป็นสิ่งนั้นคงจะเป็นสิ่งนี้ ปรุงแต่งไป
นี่แหละคือตัวสังขารในจิตใจ ปรุงแต่งในจิตใจไป
ซึ่งไม่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสัจจะคือความจริง
พระพุทธเจ้าทรงทำลายอวิชชาได้หมดแล้ว ทรงมีความสว่างอย่างเต็มที่
ความมืดหายไปหมดแก่พระองค์ ทุกๆอย่างที่ตั้งอยู่ในความมืดจึงปรากฏแก่พระองค์
ซึ่งทรงนำมาแสดงสั่งสอน
แต่แม้เมื่อทรงแสดงสั่งสอนชี้ให้รู้จักขันธ์อายตนะธาตุ ให้รู้จักนามให้รู้จักรูป ให้รู้จักกายรู้จักใจ
ให้รู้จักว่าขันธ์อายตนะธาตุนี้เป็นตัวทุกข์อย่างนี้ๆ ประกอบด้วยสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์อย่างนี้ๆ
และเมื่อปฏิบัติดับสมุทัยเสียได้ก็ดับทุกข์ได้อย่างนี้ๆ และวิธีปฏิบัติเป็นอย่างนี้ๆ
แม้เช่นนั้นบุคคลผู้ฟังซึ่งยังอยู่ในความมืด ยังละความมืดไม่ได้
แม้ได้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์ก็ยังมองไม่เห็น ก็ยังคงปรุงแต่งอยู่นั้นเอง
คือปรุงแต่งว่าพระองค์ตรัสว่าเป็นทุกข์ แต่ว่าจะเป็นทุกข์จริงหรือ น่าจะเป็นสุข
ตรัสว่าเป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ก็ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยว่าเป็นสมุทัยจริงหรือ
น่าจะเป็นเหตุให้เกิดสุข ดังนี้เป็นต้น ก็แปลว่าความเชื่อยังไม่ตั้งมั่น
เพราะปัญญายังมองไม่เห็น ก็แปลว่าทุกๆอย่างก็ยังอยู่ในความมืดนั้นเอง
ด้วยอำนาจของอวิชชาที่ยังละไม่ได้
แต่ว่าเมื่อได้ตั้งใจปฏิบัติไปตามที่ทรงสั่งสอน ในศีลในสมาธิในปัญญาที่เป็นตัวมรรค
จิตมีความสงบ ด้วยอำนาจของศีล ด้วยอำนาจของสมาธิ และด้วยอำนาจของปัญญา
ที่ปฏิบัติมาโดยลำดับ ก็ย่อมจะบังเกิดความสว่างทำให้มองเห็นสิ่งที่ตั้งอยู่ในความมืด
เพราะความมืดนั้นจะผ่อนคลายลง เมื่อความสว่างเกิดขึ้นความมืดก็หายไป
หายไปตามสมควรแก่ความสว่างที่บังเกิดขึ้น
ก็จะเห็นว่าทุกข์ตั้งอยู่ สมุทัยตั้งอยู่ นิโรธตั้งอยู่ มรรคตั้งอยู่ ชัดขึ้น
โอกาสที่ธรรมจักขุจะปรากฏขึ้น
ในเมื่อได้ความสว่างขึ้นนี้เอง สัจจะดังกล่าวจึงจะปรากฏ แม้ว่าจะปรากฏรางๆ
ให้มองเห็นเค้าว่านี่คือทุกข์ นี่คือสมุทัย นี่คือนิโรธ นี่คือมรรค ดั่งนี้ ก็ยังเป็นการดี
และความสว่างที่รางๆขึ้นอันทำให้พอมองเห็นอะไรขึ้นได้บ้างนี้เอง
ในเมื่อชัดขึ้นบ้างพอสมควร ก็เป็นตัววิชชาขึ้นตามสมควร ตัณหาอุปาทานก็ดับไปพอสมควร
จึงเป็นโอกาสที่ธรรมจักขุคือดวงตาเห็นธรรมจะปรากฏขึ้น
ซึ่งความปรากฏขึ้นแห่งดวงตาเห็นธรรมนี้ ก็รวมเข้าในดวงตาเห็นธรรม
ที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมัง
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา
ก็คือเห็นเกิดดับนั่นเองชัดขึ้น ดั่งนี้ก็คือว่าเห็นทุกข์ชัดขึ้น ก็ทุกขสัจจะนั้นเอง
เห็นทุกขสัจจะดั่งนี้เป็นธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรม
เป็นความเห็นที่ไม่ใช่เป็นตัวสังขารคือตัวปรุงแต่ง คือคิดคาดเอา
แต่ว่าเป็นตัวเห็นที่เป็นตัวปัญญา เป็นตัวความสว่างที่บังเกิดขึ้นความมืดก็หายไป
สิ่งที่ตั้งอยู่ในความมืด ที่ความมืดเคยปกคลุมอยู่นั้นก็ชัดเจนขึ้นทำให้มองเห็น
ว่าเป็นอย่างนี้ คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เป็นอย่างนี้
ดั่งนี้แหละเป็นตัวธรรมจักษุ ก็จะดับตัณหาอุปาทานลงไปตามขั้นตอนของการปฏิบัติ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สรุปธรรมานุปัสสนา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ขันธ์ อายตนะ สัญโญชน์ ๒
อนุปุพพะปฏิปทา ข้อปฏิบัติโดยลำดับ ๓
ขั้นปฏิบัติที่ปรากฏเป็นความรู้ ๔
สติสัมโพชฌงค์ ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ๕
ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ๖
สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๖
สมาธิเป็นที่ตั้งของปัญญา ๗
เมื่อเห็นทุกข์ก็คือดวงตาเห็นธรรม ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อย
ม้วนที่ ๒๗/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๗/๒ ( File Tape 23 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สรุปธรรมานุปัสสนา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสติปัฏฐานมาโดยลำดับ จับแต่หมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต
มาถึงหมวดธรรมะ อันหมวดธรรมะซึ่งเป็นที่ตั้งของสติพิจารณา
พระบรมศาสดาได้ทรงสอนให้กำหนดนิวรณ์ในจิต
พร้อมทั้งการละนิวรณ์ อันเป็นฝ่ายอกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นอกุศล
จากนั้นก็ได้ทรงสอนให้ตั้งสติกำหนดขันธ์ ๕ กำหนดอายตนะภายในภายนอก
กับทั้งสัญโญชน์คือความผูกจิตใจอยู่ในอายตนะเหล่านี้
ขันธ์ อายตนะ สัญโญชน์
ขันธ์ ๕ และอายตนะภายในภายนอก
เป็นหมวดอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล
เป็นวิบากขันธ์ เป็นวิบากอายตนะ ซึ่งบุคคลได้มาจากชนกกรรม กรรมที่ให้เกิดมา
และพระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้กำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ อายตนะภายในภายนอก
อันเป็นวิบากขันธ์ วิบากอายตนะ เป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ
และได้ทรงสอนให้กำหนดจับสังโญชน์อันบังเกิดขึ้นในจิต อาศัยอายตนะทั้งสองนั้น
และสัญโญชน์นี้ก็เป็นฝ่ายอกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นอกุศล
อันแสดงว่า สัญโญชน์ซึ่งเป็นอกุศลธรรมนี้อาศัยอายตนะนี้เองบังเกิดขึ้น ไม่...(จบ ๒๗/๑)
( ข้อความขาดนิดหน่อย )
( เริ่ม ๒๗/๒ ) ธรรมะที่เป็นกุศล และแม้โพชฌงค์อันเป็นฝ่ายกุศลธรรมนี้
ก็กล่าวได้ว่าอาศัยอายตนะบังเกิดขึ้นอีกเหมือนกัน
และก็กล่าวได้ว่าอาศัยขันธ์ ๕ บังเกิดขึ้นด้วย
และต่อจากนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงสัจจะธรรมคืออริยสัจจ์ทั้ง ๔
อันเป็นที่ตั้งแห่งญาณคือความหยั่งรู้ ซึ่งผู้ปฏิบัติในสติปัฏฐานเมื่อตั้งสติกำหนดมาโดยลำดับ
สติปัฏฐานเลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์ก็ย่อมจะได้วิชชาหรือญาณคือความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔
อันได้แก่ทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์
และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
อนุปุพพะปฏิปทา ข้อปฏิบัติโดยลำดับ
อันการปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น
ย่อมปฏิบัติได้เป็น อนุปุพพะปฏิปทา คือข้อปฏิบัติโดยลำดับ
แม้ว่าจะจับปฏิบัติในลมหายใจเข้าลมหายใจออก ทำสติในลมหายใจเข้าลมหายใจออก
อันเรียกว่าอานาปานสติ อันนับเข้าในหมวดกาย เมื่อได้สติเป็นสติปัฏฐานขึ้น
ก็จะได้สติที่เลื่อนขึ้นมาโดยลำดับเอง คือธรรมปฏิบัติจะเลื่อนชั้นขึ้นไปเอง
โดยผู้ปฏิบัติเป็นผู้ประคองสติ แม้ในลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้
เมื่อสติตั้งเป็นสติปัฏฐาน กายก็จะปรากฏคือตัวลมหายใจเข้าลมหายใจออกเอง
เวทนาก็จะปรากฏคือตัวความรู้ในลมหายใจเข้าในลมหายใจออก อันเป็นความรู้เสวย
จิตก็จะปรากฏ คือจิตที่มีสติตั้งอยู่ในตัวลมหายใจเข้าลมหายใจออก
และในความรู้ รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่เป็นความรู้เสวย ธรรมะก็จะปรากฏ
หากเป็นนิวรณ์ซึ่งเป็นอกุศลธรรม นิวรณ์นี้ก็จะปรากฏ
และเมื่อสติตั้งกำหนดอยู่นิวรณ์ก็จะดับ
ขั้นปฏิบัติที่ปรากฏเป็นความรู้
และเมื่อนิวรณ์ดับ ขันธ์ ๕ อันเป็นที่ตั้งของทั้งสติและทั้งนิวรณ์
และทั้งเป็นส่วนประกอบในการปฏิบัติก็จะปรากฏ
เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ
รวมเข้าก็เป็นนามรูปดังที่เรียกว่ากายใจ รูปก็เป็นกาย นามก็เป็นใจ กายใจก็จะปรากฏ
และอายตนะก็จะปรากฏ อายตนะก็คือตากับรูปที่ประจวบกันอยู่
หูกับเสียงที่ประจวบกันอยู่ จมูกกับกลิ่นที่ประจวบกันอยู่ ลิ้นกับรสที่ประจวบกันอยู่
กายและโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องที่ประจวบกันอยู่
มโนคือใจและธรรมะคือเรื่องราวที่ประจวบกันอยู่ ก็จะปรากฏ
และตัวสัญโญชน์ก็จะปรากฏขึ้นแก่ความรู้
ในขณะที่อายตนะภายในอายตนะภายนอกเหล่านี้ประจวบกัน
สัญโญชน์ที่ปรากฏขึ้นแก่ความรู้นี้ ต่างจากสัญโญชน์ที่บังเกิดขึ้นแต่ไม่ปรากฏแก่ความรู้
ผู้ที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ได้สตินั้น เมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกัน
ย่อมเกิดสัญโญชน์คือความผูกอยู่เสมอ แต่ไม่ปรากฏแก่ความรู้ สัญโญชน์จึงครอบงำได้
เมื่อสัญโญชน์ครอบงำได้ อายตนะเองก็เป็นสัญโญชน์
ขันธ์ ๕ เองหรือนามรูปก็เป็นสัญโญชน์ไปหมด ซับซ้อนกัน
และก็ปรากฏสืบเนื่องไปเป็นนิวรณ์ได้ทุกข้อ
สติสัมโพชฌงค์
แต่ผู้ปฏิบัติทำสติปัฏฐานนั้น
เมื่อได้สติปัฏฐาน สัญโญชน์ย่อมปรากฏแก่ความรู้ว่าสัญโญชน์เกิด
และเมื่อปรากฏแก่ความรู้สัญโญชน์ก็ดับ จึงเห็นเกิดดับของทั้งอายตนะภายในภายนอก
กับทั้งของสัญโญชน์ เพราะปรากฏแก่สติที่กำหนดอยู่
และเมื่อเป็นดั่งนี้ สติที่กำหนดดูอยู่ดั่งนี้ก็เลื่อนขึ้นเป็นสติสัมโพชฌงค์
เป็นสติที่ประกอบด้วยปัญญา คู่กันไปกับปัญญา
ธัมวิจยสัมโพชฌงค์
และก็เลื่อนขึ้นเป็นธัมวิจยสัมโพชฌงค์ วิจัยธรรมเลือกเฟ้นธรรม
ก็คืออายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกันปรากฏ
สัญโญชน์ที่เกิดขึ้นปรากฏ สัญโญชน์ที่ดับไปปรากฏ
รู้ว่านี่เป็นอายตนะภายใน ภายนอก นี่เป็นสัญโญชน์เกิด นี่เป็นสัญโญชน์ดับ
ธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรม ก็คือมองเห็นธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิตนี้เอง
รู้จักว่านี่เป็นกุศล นี่เป็นอกุศล นี่เป็นอัพยากตธรรมกลางๆ
ตัวอายตนะภายในภายนอกนี่เป็นอัพยากตธรรมกลางๆ
สัญโญชน์ที่บังเกิดขึ้นเป็นอกุศล สืบไปเป็นนิวรณ์ก็เป็นอกุศล
และตัวสติปัฏฐานที่ดูอยู่มองเห็นอยู่เลือกเฟ้นอยู่ นี่เป็นตัวกุศล..กุศลธรรม
กุศลธรรมก็ตัดอกุศลธรรม สัญโญชน์ก็ดับไป
วิริยะสัมโพชฌงค์
ธัมวิจยสัมโพชฌงค์จึงมองเห็นธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น และที่ดับไปในจิต
และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้มีวิริยะสัมโพชฌงค์ซึ่งเป็นตัวความคมกล้าของปัญญาของสติ
ซึ่งตัดอกุศลได้ฉับพลันยิ่งขึ้น และทำให้สติปัญญาคมกล้ายิ่งขึ้น ปรากฏขึ้นเป็นไปเอง
จนถึงปัญญาที่คมกล้านี้เป็นเครื่องห้ามมิให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้น
ซึ่งจะต้องตัด คือว่าสัญโญชน์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไม่กล้าโผล่ขึ้นมา
ขันธ์ ๕ ก็เป็นไป อายตนะภายในภายนอกก็เป็นไป ไม่ต้องหลับตาหลับหูเป็นต้น
ก็คงลืมตาดูอะไร หูได้ยินอะไร แต่ว่าสัญโญชน์ไม่เกิด
ด้วยกำลังของปัญญาพร้อมทั้งสติที่คมกล้า แปลว่าไม่กล้าโผล่หน้าขึ้นมา
ดั่งนี้เป็นลักษณะของวิริยสัมโพชฌงค์
ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ได้รับการชำระฟอกล้างขัดเกลาให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง
จึงได้ความเบิกบานอันเกิดจากความบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ปรากฏเป็นสติสัมโพชฌงค์ อันมีลักษณะที่อิ่มใจ เบิกบานใจ ผ่องใสใจ
เพราะเหตุว่าบรรดาเครื่องเศร้าหมองตกลงไปจากจิต ไม่ทำให้จิตเศร้าหมอง
จิตก็ผ่องใส เบิกบาน อิ่มเอิบ ดูดดื่มอยู่ในธรรมปฏิบัติยิ่งขึ้นไป เป็นปีติสัมโพชฌงค์
และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็เลื่อนขึ้นเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือสงบ มีสุขทั้งทางใจทั้งทางกาย
สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
สมาธิสัมโพชฌงค์คือตัวสมาธิเองก็ตั้งมั่นแน่วแน่ยิ่งขึ้น
ประกอบด้วยความที่จิตสงบบริสุทธิ์ ไม่ฟุ้งซ่านไปไหน ตั้งสงบอยู่
และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็เพ่งกำหนดอยู่ในภายใน ไม่ออกไปภายนอก รู้อยู่ในภายใน
จิตที่ตั้งสงบอยู่ในภายใน รู้อยู่ในภายในนี้เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
เป็นจิตที่วางคือไม่วุ่นวายจับโน่นจับนี่ เป็นจิตที่เฉยคือไม่กำเริบฟุ้งซ่าน สงบอยู่ในภายใน
แต่ว่ารู้อยู่เห็นอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ในภายใน รู้อยู่เห็นอยู่ สงบอยู่
บริสุทธิ์ผุดผ่องอันเป็นลักษณะของอุเบกขาสัมโพชฌงค์
ฉะนั้น อุเบกขาคือความที่รู้อยู่ดูอยู่ในภายในนี้
จึงดูรู้อยู่ในตัวสมาธิของจิตเอง ดูรู้อยู่ในความตั้งมั่นของจิต ในสมาธิของจิต
จึงดูจึงรู้ทั้งตัวสมาธิคือตัวความตั้งมั่นของจิต ทั้งอารมณ์ของสมาธิ สมาธิตั้งอยู่ในอะไรก็รู้
ตัวสมาธิคือตัวตั้งอยู่ก็รู้ เป็นความที่รวมพลังของความรู้อยู่ในจุดอันเดียว
ซึ่งมองเห็นทั้งหมด เหมือนอย่างว่า ตารวมอยู่ในหน้าปัทม์ของนาฬิกา
ทุกๆอย่างที่อยู่ที่หน้าปัทม์ของนาฬิกาก็มองเห็นหมด
เข็มนาฬิกาก็มองเห็น ตัวเลขที่เป็นวงสำหรับบอกเวลาก็มองเห็น
สมาธิเป็นที่ตั้งของปัญญา
ทุกๆอย่างในจิตก็ปรากฏอยู่ในความรู้ความเห็นทั้งหมด
เมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อน้อมจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขาไปเพื่อรู้ในสิ่งที่ปรากฏอยู่ในจิตนั้น
จึงย่อมจะเห็นอริยสัจจ์ได้ จะเห็นทุกข์ จะเห็นสมุทัย จะเห็นนิโรธ จะเห็นมรรค
ก็เพราะว่าเมื่อปฏิบัติได้สติปัฏฐานได้โพชฌงค์มาโดยลำดับ จนถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ดั่งนี้
ตัวสมาธินั้นเองนอกจากเป็นตัวที่เป็นความตั่งมั่นแน่วแน่ของจิตแล้ว
ยังเป็นตัวรวมแห่งที่ตั้งของปัญญาทั้งหมด เมื่อสรุปลงแล้ว ขันธ์ ๕ นามรูป ก็อยู่ในสมาธินี้
เพราะฉะนั้นเมื่อน้อมจิตไปเพื่อรู้ จึงมองเห็นนามรูปอันเป็นตัววิปัสสนาถูก
ทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ก็ย่อมปรากฏขึ้น
สภาวะทุกข์ก็ย่อมจะปรากฏ ชาติ ชรา มรณะ
ปกิณกะทุกข์ก็ย่อมจะปรากฏ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น
และทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ปรากฏขึ้นดั่งนี้
ธรรมดาที่ปรากฏขึ้นอันเป็น ทุกขตา อนิจจตา อนัตตา ก็จะปรากฏขึ้น
ตัณหาที่ซ่อนอยู่ก็จะปรากฏขึ้นเป็นตัวทุกขสมุทัย
การปฏิบัติมาที่เป็นตัวทุกขนิโรธก็จะปรากฏขึ้น
ข้อปฏิบัติที่ปฏิบัติมารวมเข้าเป็นมรรคสัจจะก็จะปรากฏขึ้น
เมื่อเห็นทุกข์ก็คือดวงตาเห็นธรรม
เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงญาณในอริยสัจจ์สืบต่อ
และเมื่อเห็นทุกข์ก็คือดวงตาเห็นธรรมดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้
ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อเห็นทุกข์ดั่งนี้สมุทัยก็จะย่อมดับไปตามกำลังของปัญญา
ปรากฏเป็นทุกข์นิโรธความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติมาก็เป็นมรรค
และพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงชี้แจงว่า
อะไรคือทุกข์ อะไรคือทุกขสมุทัย อะไรคือทุกขนิโรธ อะไรคือมรรค
ทั้งทุกข์ ทั้งทุกขสมุทัย ทั้งทุกขนิโรธนั้น
ก็ตรัสแสดงยกเอาอายตนะภายในภายนอกนี้แหละขึ้นเป็นที่ตั้งมาโดยลำดับ
ตัวอายตนะภายในภายนอกเองนั้นเป็นตัวทุกขสัจจะ
และก็อาศัยอายตนะภายในภายนอกนี่แหละเป็นที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ของสมุทัย สมุทัยก็เกิดขึ้นที่นี่
และเมื่อสมุทัยดับเป็นนิโรธ นิโรธก็บังเกิดขึ้นที่นี่อีกเหมือนกัน ไม่ใช่ที่ไหน
ทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ในตัวสมาธิซึ่งประมวลไว้ในจิตนี้เอง
ซึ่งอาศัยอุเบกขาคือความเข้าไปเพ่งดูเพ่งให้รู้ให้เห็นอยู่ภายในนี้
ก็จะปรากฏตัวขึ้นมาว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นสมุทัย อะไรเป็นนิโรธ อะไรเป็นมรรค โดยลำดับ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*