ถอดเทปพระธรรมเทศนา

 

 

 

 

เทป016

การหัดปฏิบัติเพื่อสมถะและวิปัสสนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ทางเข้าถึงธรรมะ ๔

เกิด ดับ ๕

อิริยาบถปิดบังทุกข์ ๖

ทุกข์เพราะความเกิดดับ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๘/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙/๑ ( File Tape 16 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การหัดปฏิบัติเพื่อสมถะและวิปัสสนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

การทำสมาธิหรือเจริญสมาธิเป็นจิตตภาวนาคือการอบรมจิต เพื่อให้จิตสงบตั้งมั่น

และก็เพื่อได้น้อมจิตที่สงบตั้งมั่นไปพิจารณาให้เกิดปัญญาในธรรม

คือสัจจะตัวความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จะพบสัจจะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้

ก็ต้องพบสัจจะตัวความจริงที่ตนเอง คือที่กายใจนี้ จะพบที่อื่นหาได้ไม่

สัจจะที่ตนเองนี้แหละ เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถจะพบได้

ถ้าเป็นสัจจะที่อื่นก็พบได้บ้างไม่ได้บ้าง ส่วนที่ตนเองแล้วย่อมพบอยู่เสมอ

ตั้งต้นแต่กายวาจาของตนเป็นอย่างไร ดำเนินไปอย่างไร เมื่อตั้งใจกำหนดดูเข้ามาก็รู้ได้

เช่นกายจะผลัดเปลี่ยนอิริยาบถยืนเดินนั่งนอนอย่างไรก็รู้ได้ วาจาจะพูดอะไรอย่างไรก็รู้ได้

ตลอดจนถึงจิตใจของตนเองจะมีความคิดอย่างไร และมีเจตนาคือความจงใจอย่างไร

มีกิเลสข้อไหนบังเกิดขึ้น หรือว่ามีธรรมะที่เป็นคุณ ข้อไหนบังเกิดขึ้น ดูเข้ามาก็รู้ได้

แต่ว่าความรู้นั้น ถ้าหากว่าไม่ประกอบด้วยสัจจะคือความจริง

ก็จะเป็นความรู้หลง ไม่ใช่รู้ถูกต้อง

ทุกคนก็ย่อมรู้อาการทางกายทางวาจาทางใจของตนอยู่ แต่ว่าความรู้นั้นหากเป็นความรู้หลง

ก็ย่อมจะสนับสนุนความเป็นไปทางกายทางวาจาทางใจในทางที่ผิดต่างๆ

ความเป็นไปทางกายทางวาจาทางใจนี้ เรียกว่าความประพฤติ

ความประพฤติก็คือความเป็นไป ความเป็นไปทางกายทางวาจาทางใจ

และความประพฤติดังกล่าวนี้บางทีก็เป็นอกุศล เป็นบาปเป็นทุจริตต่างๆ

บางทีก็เป็นบุญเป็นกุศลเป็นสุจริตต่างๆ ซึ่งทุกคนผู้ประกอบกระทำก็รู้ทั้งนั้น

ในการประกอบกระทำของตน หรือในความประพฤติทางกายทางวาจาทางใจของตนก็รู้ทั้งนั้น

แต่เมื่อเป็นความรู้หลงก็ย่อมสนับสนุนความประพฤติที่เป็นบาปเป็นอกุศลเป็นทุจริตต่างๆ

และเมื่อความรู้สนับสนุนเป็นไปดั่งนี้ก็เป็นความรู้ชั่วรู้ผิด

ความคิดเห็นก็เป็นมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดไปจากทำนองคลองธรรม

เมื่อเป็นดั่งนี้ ความรู้ที่ผิดดั่งนี้จึงมิใช่รู้สัจจะคือความจริง เพราะเป็นความรู้หลง

เมื่อเป็นความรู้หลงก็เป็นความรู้ผิด เป็นความรู้เท็จ ไม่ใช่เป็นสัจจะคือความจริง

ต่อเมื่อความรู้นั้นเป็นความรู้จริง

อันหมายความว่า ชั่วก็รู้ว่าชั่ว ดีก็รู้ว่าดี ผิดก็รู้ว่าผิด ถูกก็รู้ว่าถูก

เมื่อความประพฤติทางกายทางวาจาทางใจของตนเป็นไปในทางที่ผิดก็รู้ว่าผิด

หรือว่าชั่วก็รู้ว่าชั่ว หากเป็นไปในทางที่ดีถูกต้อง ก็รู้ว่าดีว่าถูกต้อง ดั่งนี้

เรียกว่าเป็นความรู้ที่ประกอบด้วยสัจจะคือความจริง ดีก็ดีจริง ชั่วก็ชั่วจริง

ถูกก็ถูกจริง ผิดก็ผิดจริง ดั่งนี้ เป็นความรู้ที่ประกอบด้วยสัจจะคือความจริง

ความรู้ที่ประกอบด้วยสัจจะคือความจริงนี้เป็นตัวปัญญา

เมื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ก็ทรงสั่งสอนชี้เข้ามา

ให้รู้สัจจะคือความจริงดั่งนี้ ว่าทำอย่างนี้ชั่วผิด ทำอย่างนี้ดีชอบ ดั่งนี้เป็นต้น

ฉะนั้น ถ้าหากว่าฟังธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนดั่งนี้แล้วไม่น้อมเข้ามาดูให้เห็นสัจจะ

คือความจริงที่ตนเอง ดูความประพฤติของตนเองที่เป็นไปอยู่ทางกายทางวาจาทางใจดังกล่าว

ดั่งนี้ ก็ชื่อว่าไม่ถึงธรรมะ คือไม่ถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง

หากดูเข้ามาให้รู้จัก ว่านี่ดี นี่ชั่ว นี่ผิด นี่ถูก ตามที่เป็นจริง ดั่งนี้แล้วก็ชื่อว่าเข้าถึงธรรมะ

ทางเข้าถึงธรรมะ

แต่การที่จะเข้าถึงธรรมะได้ดั่งนี้

พระพุทธองค์ก็ทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติอบรมจิตนี่แหละเป็นประการสำคัญ

ดังที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐาน สติที่กำหนดพิจารณากายเวทนาจิตธรรม

ตั้งต้นแต่ในข้อกายก็ตรัสสอนให้กำหนดลมหายใจเข้าออก

คือเป็นการปฏิบัติหัดทำสติคือความระลึกได้ ให้มาระลึกได้ในลมหายใจเข้าในลมหายใจออก

เมื่อตรัสสอนให้หัดทำสติกำหนดระลึกได้ในลมหายใจเข้าในลมหายใจออกดั่งนี้

ก็ตรัสสอนให้หัดทำความรู้ในอิริยาบถ เมื่อเดินก็รู้ว่าเราเดิน

เมื่อยืนก็รู้ว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ว่าเรานอน

เมื่อผลัดเปลี่ยนอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ก็รู้การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถนั้นๆ

รู้อาการของกายที่ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ดั่งนี้เป็นความรู้อิริยาบถ

และก็ตรัสสอนให้ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวในอาการของกายต่างๆ

ดังเช่นในการก้าวไปข้างหน้า และการถอยไปข้างหลัง ในการแลในการเหลียว

ในการที่คู้อวัยวะเข้า และการที่เหยียดอวัยวะออกไป

และในการพาดสังฆาฏิ ห่มจีวร คล้องบาตรสำหรับภิกษุ หรือในการนุ่งห่มต่างๆทั่วๆไป

ในการกินในการดื่ม ในการเคี้ยวในการลิ้ม ในการถ่ายหนักเบา

ในการเดินยืนนั่งนอนตื่นพูดนิ่งทั้งปวง

สำหรับในหมวดทำความรู้อิริยาบถนี้

เป็นการปฏิบัติในขั้นสัมปชัญญะคือความรู้ตัวก็ได้ ปฏิบัติในขั้นปัญญาก็ได้

ปฏิบัติในขั้นทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวนั้น ก็คือมีความรู้ตัวอยู่ในอิริยาบถนั้นๆ

สำหรับในขั้นที่เป็นปัญญานั้น ก็คือทำความรู้ว่าการเดินการยืนการนั่งการนอน

เป็นเรื่องของกาย ของธาตุทั้งหลายที่ประกอบกันเป็นกาย เดิน ยืน นั่ง นอน

แต่เมื่อมีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาที่เรียกว่าเราเดินเรายืนเป็นต้นนั้น ก็เป็นสมมติบัญญัติเท่านั้น

เหมือนอย่างว่าเกวียนรถแล่นไปวิ่งไป อันที่จริงก็ทัพพะสัมภาระทั้งหลาย

ที่ประกอบกันเป็นเกวียนเป็นรถ วิ่งไปหรือแล่นไป ไม่มีตัวเกวียนตัวรถที่แท้จริง

เพราะฉะนั้น การปฏิบัตินั้นจึงอาจหัดทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัว

หรือว่าหัดทางปัญญา ดูอัตภาพอันนี้หรือกายอันนี้ที่เดิน ที่ยืน ที่นั่ง ที่นอน

ว่าเป็นธาตุขันธ์ทั้งหลายเดินยืนนั่งนอนเท่านั้น ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาที่แท้จริง

ดั่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติทางปัญญา

และที่ตรัสสอนให้ทำสัมปชัญญะ

คือความรู้ตัวในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยไปข้างหลัง ก็เช่นเดียวกัน

ปฏิบัติเพียงขั้นทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัว หรือว่าปฏิบัติทางปัญญาต่อไปก็ย่อมจะทำได้

และแม้ในการกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ที่เป็นอานาปานสติก็เช่นเดียวกัน

ปฏิบัติเพียงแค่ในขั้นทำจิตให้สงบเป็นสมถะหรือเป็นสมาธิก็ได้ ปฏิบัติทางปัญญาก็ได้

ก็ธาตุขันธ์อันนี้เองหายใจเข้าหายใจออก ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

เกิด ดับ

และปฏิบัติทางปัญญาอีกประการหนึ่งนั้นก็ดูให้รู้จักว่าลมหายใจเข้าออกก็ดี

อิริยาบถทั้ง ๔ ก็ดี อาการของกายต่างๆที่แสดงให้ละเอียดออกไป

เช่นก้าวไปข้างหน้าถอยไปข้างหลังนั้นก็ดี เป็นสิ่งที่มีเกิดเป็นธรรมดา มีดับเป็นธรรมดา

หายใจเข้าหายใจออกก็เกิดดับ อิริยาบถทั้ง ๔ ก็เกิดดับ

เช่นเดิน และเมื่อเลิกเดินมาเป็นนั่ง เดินนั้นก็ดับมาเกิดเป็นนั่ง

และเมื่อเลิกนั่งยืนขึ้น นั่งนั้นก็ดับมาเกิดเป็นยืน ดั่งนี้เป็นต้น

ในการก้าวไปในการถอยไปข้างหลังเป็นต้นก็เช่นเดียวกัน

เมื่อแสดงอาการอันหนึ่ง เลิกอาการอันนั้นไปแสดงอาการอีกอันหนึ่ง

อาการอันเดิมนั้นก็ดับมาเกิดเป็นอาการอันใหม่

เพราะฉะนั้นจึงมีเกิดมีดับอยู่ดั่งนี้ และยังไม่หยุดเกิดหยุดดับเพราะมีสันตติคือความสืบต่อ

เช่นเมื่อหายใจเข้าหายใจออก แล้วก็หายใจเข้าอีก แล้วก็ออกอีกดั่งนี้ต่อกันไป

คือเกิดดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ แล้วเกิดแล้วก็ดับต่อกันไป

ความที่ต่อกันไปนี้เรียกว่าสันตติคือความสืบต่อ

อิริยาบถปิดบังทุกข์

และเพราะสืบต่อกันไปได้ดั่งนี้ จึงเป็นวิธีอันหนึ่งที่แก้ทุกขเวทนาของร่างกาย

เช่นว่าหายใจเข้าหายออกแล้วเข้าอีก ดั่งนี้ก็สบาย

ถ้าหากว่าหายใจเข้าหายใจออกแล้วก็กลับต้องหยุดหายใจเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง

ก็เกิดเป็นทุกข์ แต่ว่าถ้าหายใจเข้าหายใจออกอยู่โดยปรกติก็สบายไม่รู้สึกเป็นทุกข์

ยืนเดินนั่งนอนผลัดเปลี่ยนกันไปอยู่ก็สบาย ไม่เป็นทุกข์

ถ้าต้องเดินมากเกินไป ไม่หยุดก็เป็นทุกข์ หรือยืนนานเกินไปก็เป็นทุกข์

นั่งนานเกินไปก็เป็นทุกข์ นอนนานเกินไปก็เป็นทุกข์

แต่เพราะผลัดเปลี่ยนไปได้ก็สบาย

เพราะฉะนั้นความที่ร่างกายประกอบกันอยู่ดี

ไม่มีโรคอะไรมาเบียดเบียนก็รู้สึกสบาย หายใจเข้าหายใจออกได้สบาย

ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้สบาย ยักเยื้องอาการกิริยาของกายต่างๆได้สบาย

ดั่งนี้จึงมองไม่เห็นทุกข์ เพราะว่ามีสุขแก้ทุกข์

เพราะเหตุที่หายใจเข้าหายใจออกได้เป็นต้นอยู่โดยสะดวกไม่ขัดข้อง

เพราะฉะนั้นจึงทำให้ไม่เห็นทุกข์ เพราะความสมบูรณ์บริบูรณ์ของร่างกายที่เป็นไปอยู่

ต่อเมื่อร่างกายอันนี้ต้องพบกับความขัดข้อง

อันเป็นเหตุของความทุกข์ต่างๆ เช่นไปอยู่ในที่ๆมีอากาศไม่พอ หรือว่าจมน้ำ

ต้องอยู่ในอิริยาบถเดียวนานๆผลัดเปลี่ยนไม่ได้

หรือแม้ว่าเพราะเหตุที่ต้องเจ็บป่วยผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้สะดวก ดั่งนี้

เพราะโรคก็ตาม เพราะชราก็ตาม ความทุกข์ก็ปรากฏมากขึ้นๆ

ทุกข์เพราะความเกิดดับ

แต่อันที่จริงความทุกข์ปรากฏขึ้นที่คนทั้งหลายรู้เห็นนั้น เป็นตัวทุกขเวทนาโดยมาก

แต่ว่าทุกข์อีกอันหนึ่งที่ต้องใช้ปัญญาจึงจะมองเห็น ก็คือความที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้

ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เพราะเหตุที่ถูกความเกิดและความดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

ความทุกข์ที่มีลักษณะดั่งนี้ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาจึงจะมองเห็น

และจะมองเห็นทุกข์แม้ในขณะที่กำลังเสวยสุขเวทนา

เช่นในขณะที่หายใจเข้าหายใจออกอยู่อย่างสบายมีความสุข

ก็มองเห็นทุกข์คือความที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ดังหายใจเข้า ความหายใจเข้านั้นจะตั้งอยู่ไม่เปลี่ยนมาเป็นหายใจออกก็ไม่ได้

และเมื่อหายใจออกแล้วจะไม่หายใจเข้าก็ไม่ได้

ดั่งนี้เป็นความเกิดความดับที่มีอยู่ในขณะที่มีความสุข

เพราะฉะนั้นตัวความสุขนั้นเองจึงเป็นทุกข์ คือความสุขนั้นเองก็ต้องเกิดต้องดับ

และความเกิดความดับของความสุขนั้น

มองเห็นอย่างหยาบก็ได้ มองเห็นอย่างละเอียดก็ได้

มองเห็นอย่างหยาบนั้นก็เห็นในระยะยาว เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้นเมื่อใดจึงจะเห็น

แต่ว่าเห็นอย่างละเอียดนั้นจะเห็นในขณะที่กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่นั้นเอง

ว่าตัวสุขนั้นคือตัวทุกข์ เพราะตัวสุขนั้นไม่ได้ตั้งอยู่คงที่ เลื่อนไปอยู่เสมอเปลี่ยนไปอยู่เสมอ

เหมือนอย่างน้ำที่ไหลไปอยู่เสมอไม่หยุด

หรือว่าควันไฟที่พลุ่งออกจากปล่อง จะเห็นพวยพุ่งเป็นลำควันขึ้นไป

ดูเหมือนว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นอันเดียวกัน แต่อันที่จริงนั้นควันนั้นหาได้เป็นตัวเป็นตนไม่

แต่ว่าเลื่อนขึ้นไปอยู่เสมอ แต่เพราะที่มีควันจากภายใต้หนุนเนื่องขึ้นไป

จึงมองเห็นควันที่ปล่องที่สุดปล่องนั้นยังคงพุ่งๆขึ้นไป เป็นเกลียวขึ้นไปอยู่ตลอดเวลา

เหมือนอย่างเป็นอันเดียวกัน แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นอันเดียวกัน ควันนั้นก็เกิดดับๆ

เลื่อนไปอยู่เสมอ ควันที่เห็นที่ปากปล่องควันในนาทีนี้กับอีกนาทีหนึ่งข้างหน้านั้นคนละอัน

ไม่ใช่เป็นอันเดียวกัน

เพราะฉะนั้นสันตติคือความสืบต่อ และเป็นความผลัดเปลี่ยน

เป็นเครื่องปิดบังมิให้เห็นเกิดเห็นดับ ซึ่งเป็นตัวอนิจจะคือไม่เที่ยง

มิให้เห็นทุกขะคือตัวความทุกข์ และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็เห็นอนัตตาไม่ได้

ยังเห็นเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นตัวเป็นตน อย่างเห็นร่างกายนี้เป็นก้อนเป็นแท่งอยู่เสมอ

มองไม่เห็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ต่อเมื่อเห็นอนิจจะคือไม่เที่ยง

เห็นทุกขะคือเป็นทุกข์ที่เป็นอย่างละเอียด คือสามารถเห็นทุกข์ในขณะที่เป็นสุขได้

ว่าตัวสุขนั้นคือตัวทุกข์ ดั่งนี้แล้วจึงจะเห็นอนัตตาได้ถนัดขึ้น

ว่าอันที่จริงนั้น สิ่งที่ยึดถืออยู่ว่าเป็นตัวเราของเราทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ตัวเราของเราที่แท้จริง

เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ ต้องเกิดต้องดับ

ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ดั่งนี้ ลมหายใจเข้าออกก็ดี อิริยาบถก็ดี

อาการของกายต่างๆดังกล่าวมาแล้วก็ดี ก็เป็น อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา ทั้งนั้น

ดั่งนี้ เป็นการหัดปฏิบัติมาทางวิปัสสนา

เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้จึงเพื่อทั้งสองอย่าง คือเพื่อสมถะด้วย เพื่อวิปัสสนาด้วย

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

มูลกรรมฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

จิตใจต้องมีธรรมะรักษา ๓

สมาธิที่ต้องมีประจำตลอดเวลา ๔

สติปัฏฐานทำให้เกิดสติ ปัญญา ๖

เหตุที่ตรัสสอนข้อปฏิกูลปัพพะ ๗

กรรมฐานที่เป็นมูล ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙/๒ ( File Tape 16 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

มูลกรรมฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

สติปัฏฐานเป็นหลักปฏิบัติทั้งเพื่อสติ และทั้งเพื่อญาณคือความหยั่งรู้

หรือปัญญาความรู้ทั่วถึง และนำให้ตั้งอยู่ในศีลได้เป็นอย่างดี

เพราะเมื่อจิตตั้งไว้ดีแล้ว อาการทางกายวาจาตลอดถึงใจก็ย่อมจะเป็นไปดี

และก็ชื่อว่าเป็นผู้อันธรรมะรักษา

ธรรมะนั้นก็แปลว่าทรงไว้ ดำรงไว้ โดยตรงก็คือทรงดำรงจิตใจนี้เองให้ตั้งอยู่โดยชอบ

ถ้าไม่มีธรรมะรักษาให้ตั้งอยู่โดยชอบ จิตใจนี้ก็ย่อมจะตกต่ำลงได้โดยง่าย

ถ้าเทียบเหมือนอย่างร่างกาย ก็ทรงร่างกายอยู่ไม่ได้ เหมือนคนที่เป็นลมล้มลง

ทรงร่างกายไว้ไม่ได้ หรือไม่เป็นลมล้มลง บางทีก็หกล้มหกคะเมน ทรงตัวอยู่ไม่ได้

ฉะนั้น แม้ร่างกายเองจะทรงหรือดำรงอยู่ได้ก็ต้องมีกำลังสำหรับที่จะทรงกาย

โดยมีชีวิตเป็นเครื่องดำรงอยู่เป็นหลักแกน

เมื่อมีชีวิตดำรงอยู่เป็นหลักแกนกับมีกำลังสำหรับที่จะดำรงกาย จึงดำรงกายอยู่ได้

เดินได้ ยืนได้ นั่งได้ นอนได้ ลุกขึ้นอีกได้ โดยเสรีคือตามประสงค์

จิตใจต้องมีธรรมะรักษา

จิตใจนี้ก็เช่นเดียวกันต้องมีธรรมะรักษาอยู่จึงจะดำรงอยู่ได้ไม่ตกต่ำ

และดำเนินอิริยาบถของจิตใจไปได้ต่างๆโดยชอบ

ธรรมะสำหรับที่จะเป็นเครื่องดำรงจิตใจนั้น ก็ธรรมะทุกข้อนั่นแหละ

จะเป็นสติก็ดี จะเป็นปัญญาก็ดี จะเป็นศีลก็ดี เป็นสมาธิก็ดี เป็นปัญญาก็ดี

จะเป็นขันติความอดทน โสรัจจะความสงบเสงี่ยม เป็นต้นก็ดี

เหล่านี้ล้วนเป็นธรรมะสำหรับเป็นเครื่องดำรงจิตใจทั้งนั้นไม่ให้ตกต่ำ

ดังจะพึงเห็นได้ว่าจิตใจที่ตกต่ำไม่มีธรรมะสำหรับที่จะดำรงอยู่

คือขาดวิรัติความตั้งใจงดเว้น ขาดสติขาดขันติเป็นต้น จึงมุ่งละเมิดศีล

เพราะว่าก่อเจตนาความจงใจละเมิดศีลต่างๆ ก่อกรรมที่เป็นบาปเป็นอกุศลทุจริตต่างๆ

ดั่งนี้เป็นใจล้มทั้งนั้น ไม่ใช่ใจตั้ง ใจล้ม ไม่มีธรรมะมีวิรัติความตั้งใจงดเว้นเป็นต้นดังกล่าว

แต่ที่ทุกคนรักษาศีลไว้ได้ก็เพราะใจตั้งได้ ไม่ล้ม โดยมีวิรัติเจตนาความตั้งใจงดเว้น

มีสติ มีขันติเป็นต้นรักษาไว้

และเมื่อปฏิบัติในสมาธิคือตั้งใจมั่น ความตั่งใจมั่นนั้นก็คือตั้งใจไว้ได้โดยชอบ มั่นคง

ไม่ล้มไปตามอารมณ์และกิเลส ที่บังเกิดขึ้นทำจิตใจให้กลัดกลุ้มรุ่มร้อนต่างๆ

ถ้าหากว่าไม่มีตัวสมาธิคือความตั้งจิตมั่น จิตใจก็ย่อมจะโงนเงนตั้งไม่ติด จนถึงจิตล้ม

และเมื่อจิตล้มแล้วก็เสียหมด ความตั้งใจไว้ดี การกระทำที่ดีต่างๆอันเกิดจากความตั้งใจดี

ก็ล้มหมดไปตามจิตที่ล้ม

แต่ถ้าหากว่าตั้งจิตอยู่ได้มั่นนี่แหละคือตัวสมาธิ แม้ว่าจะมิได้มานั่งปฏิบัติทำสมาธิ

ในขณะที่ประกอบกิจการต่างๆอยู่โดยปรกตินั่นแหละ เมื่อมีจิตตั้งอยู่มั่นคงในทางที่ชอบ

แม้ว่าจะประสบอารมณ์จนบังเกิดกิเลส กองโลภก็ดี กองโกรธก็ดี กองหลงก็ดี

ขึ้นก็มีธรรมะรักษาไว้ได้ ไม่แพ้อารมณ์ ไม่แพ้กิเลส จิตตั้งอยู่ได้ ดั่งนี้ ก็เรียกว่ามีธรรมะรักษา

แต่ถ้าจิตหวั่นไหวไปเท่าไร โงนเงนไปเท่าไร ก็เรียกว่ามีธรรมะรักษาน้อย

จนถึงล้มก็แปลว่าไม่มีธรรมะรักษา

สมาธิที่ต้องมีประจำตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาดูจิตของตนว่าเป็นอย่างไรให้รู้ตามเป็นจริง

และก็ให้รู้ว่า ถ้าจิตนั้นโงนเงนจะล้มก็แปลว่าทิ้งธรรมะ

ไม่นำธรรมะเข้ามาตั้งไว้ให้มั่นคง ดั่งนี้แหละคือขาดสมาธิ

ก็เตือนใจให้นำธรรมะเข้ามาตั้งไว้ นำสติ นำขันติ นำปัญญาเข้ามาตั้งไว้

และเมื่อนำเข้ามาตั้งไว้ได้ ก็จะแก้ไขจิตที่หวั่นไหวโงนเงนจะล้มนั้นได้ ให้ตั้งอยู่ได้ดำรงอยู่ได้

นี้แหละคือสมาธิ เป็นสมาธิที่ต้องการให้มีอยู่ประจำตนทุกเวลา

ไม่ใช่แต่ในขณะที่มานั่งทำสมาธิเท่านั้น

การที่มานั่งทำสมาธินี้เท่ากับว่ามาฝึกหัด เหมือนอย่างทหารที่ฝึกหัด

การฝึกหัดนั้นก็เพื่อจะนำไปใช้จริง ในเมื่อเกิดการปฏิบัติหน้าที่ หรือในขณะสงคราม

ผู้ปฏิบัติธรรมะก็เหมือนกัน ขณะที่มานั่งหัดปฏิบัตินี้เท่ากับมาฝึกหัด

สำหรับที่จะไปเผชิญกับเหตุการณ์ทั้งหลาย ในเมื่อเลิกจากการนั่งสมาธินี้ไปแล้ว

ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ในกิจการทุกๆอย่าง

เพราะจะต้องประสบกับข้าศึกคืออารมณ์และกิเลสทั้งหลายโดยรอบ

ฉะนั้น จึงต้องมีธรรมะรักษาอยู่อย่างมั่นคง

ทำความรู้สึกอยู่เสมอว่า จะต้องมีธรรมรักษาอยู่อย่างมั่นคง

ไม่ยอมให้บรรดาอารมณ์และกิเลสทั้งหลายมาทำจิตใจให้รวนเร ให้ล้ม

บุคคลที่ประพฤติทุจริตต่างๆ ล้วนมีจิตล้มทั้งนั้น

ดังเช่นผู้ปฏิบัติหน้าที่การงานต้องรักษาทรัพย์ของผู้อื่น ตลอดจนถึงของหลวงของแผ่นดิน

เมื่อเห็นทรัพย์เข้าแล้วเกิดโลภขึ้น ถ้าใจล้มไปเพราะความโลภแล้ว

ก็ย่อมจะประกอบการทุจริต คดโกงฉ้อฉลเป็นต้น ไปตามอำนาจของกิเลสกองโลภะ

นี่เรียกว่าจิตล้ม โลภเข้ามาแล้วจิตล้ม ล้มความซื่อสัตย์สุจริต

ซึ่งอาจจะได้เคยตั้งใจไว้ว่าจะปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต

ก็แปลว่าในขณะที่ยังไม่พบเครื่องล่อ ก็ดูเหมือนว่าจิตใจนี้ก็ซื่อสัตย์สุจริตดีอยู่

แต่ครั้นไปพบเครื่องล่อเข้าแล้ว ใจก็ล้มไปเพราะความโลภ เมื่อใจล้มก็เป็นอันว่าทำทุจริตได้

กองโทสะก็เหมือนกัน ก็ตั้งใจไว้ว่าจะตั้งอยู่ในความสุจริต

จะประกอบกรรมอันเป็นกุศลต่างๆ

แต่เมื่อประสบอารมณ์และกิเลสที่เป็นกองโทสะ ก็ทำให้ใจล้ม

เพราะเหตุว่าไปปฏิบัติเป็นการประทุษร้ายผู้อื่นบ้าง ประทุษร้ายตนเองบ้าง

ประทุษร้ายผู้อื่นนั้นก็คือว่าไปทำร้ายเขาด้วยความโกรธ

ประทุษร้ายตนเองนั้นก็คือว่าเลิกละกิจที่ควรจะทำเพราะความโกรธ

ก็เป็นอันว่าใจล้มนั่นเอง แต่ถ้าหากว่ามีธรรมะรักษาอยู่ก็จะตั้งใจไว้ได้

กิเลสกองโมหะคือความหลงถือเอาผิดต่างๆก็เหมือนกัน

เมื่อประมาทปัญญาเสียอย่างเดียว คือไม่ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาให้ดี

หลงเชื่อ หลงถือเอาผิดด้วยเข้าใจว่าถูกต้อง เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ล้มไปด้วยอำนาจของโมหะ

คือความหลง โดยที่ไม่รู้ตัวเองว่าหลง เข้าใจว่าตัวเองถูก แต่อันที่จริงนั้นผิด

หลงดั่งนี้ก็น่าสงสารเพราะไม่รู้ว่าหลง คิดว่ารู้ คิดว่าถูก เพราะเหตุที่ประมาทปัญญา

เผลอปัญญา ไม่ใช้ปัญญาพินิจพิจารณา ไม่ใช้วิจารณญาณใคร่ครวญไตร่ตรองให้รอบคอบ

แต่ถ้าหากว่าไม่ด่วนเชื่อ ไม่ด่วนถือเอาโดยง่าย พินิจพิจารณาเสียก่อน

ย่อมจะหลงน้อยเข้า หรือว่าไม่หลง ในเมื่อรู้ถูกต้อง

จิตก็จะตั้งอยู่ได้ด้วยปัญญาเป็นแสงสว่าง นำทางปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง

ปัญญานี้เป็นข้อสำคัญ แต่คนเราที่หลงปัญญาเผลอปัญญา ประมาทปัญญากันโดยมากนั้น

ก็เพราะว่ามิได้ควบคุมจิตใจให้เป็นสมาธิ และมิได้ตั้งอยู่ในศีลตามสมควร

เมื่อเป็นดั่งนี้ จิตใจที่ขาดสมาธิก็เป็นจิตใจที่แกว่ง ดังที่เราเรียกว่าลำเอียง

ก็เป็นความแกว่งนั้นเอง แกว่งไปด้วยอำนาจความชอบบ้าง ความชังบ้าง ความหลงบ้าง

ความกลัวบ้าง ต่างๆ จึงจับความจริงไม่ได้ ก็ไม่เกิดปัญญา

สติปัฏฐานทำให้เกิดสติ ปัญญา

ฉะนั้น พระพุทธเองค์จึงได้ตรัสสอนให้ทำสติปัฏฐาน

สำหรับที่จะได้ควบคุมจิตใจให้ตั้งอยู่ในความสงบ หัดให้จิตได้พบกับความสงบ

ให้ตั้งมั่นอยู่ในทางที่ดี และให้ได้ปัญญาคือความรู้ในตนเอง ซึ่งเป็นข้อสำคัญ

สติปัฏฐานทุกๆข้อนั้น ล้วนเป็นเครื่องทำให้เกิดสติพร้อมทั้งปัญญา รู้ในตนเองทั้งนั้น

รู้ในลมหายใจเข้าออก รู้ในอิริยาบถ รู้ในอาการของกายต่างๆ

อันเรียกว่าสติบ้างสัมปชัญญะบ้างเป็นต้น

และนอกจากนี้ยังจำเป็นที่จะต้องรู้วิธีที่จะระงับกิเลส

กองราคะโทสะโมหะเป็นต้นอีกด้วย เพราะกิเลสนี้เองหากว่ายังมีอำนาจมากอยู่

ก็จะครอบครองบุคคลให้ไปในอำนาจของกิเลสได้มาก และยังทำให้จิตใจนี้หลงมากขึ้นด้วย

เพราะหลงไปนิยมชมชอบกิเลส ชอบกิเลสกองโลภะหรือราคะ กิเลสกองโทสะ กิเลสกองโมหะ

เมื่อไปรักไปชอบกิเลสเข้าแล้วก็ทำให้ละกิเลสได้ยาก

และบรรดากิเลสเหล่านี้ กิเลสกองราคะท่านก็จัดไว้แล้วนำหน้า ราคะ โทสะ โมหะ

ความติดใจยินดีก็เป็นตัวราคะ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในจิตใจเวลาที่ประสบอารมณ์ทั้งหลาย

และตัณหาในจิตใจนี้เองก็ต้องการอารมณ์ของราคะก่อน

คือต้องการจะได้อารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งนั้น แปลว่าตั้งราคะขึ้นหน้า

ไม่มีใครต้องการจะได้อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของโทสะ

ต้องการที่จะได้อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะทั้งนั้น

จึงต้องการอารมณ์รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งนั้น

เมื่อได้มาก็ยิ่งติดมากขึ้น ถ้าไม่ได้มาจึงจะเกิดโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง

และก็มีโมหะคือความหลงนี้หนุนอยู่ทั้งนั้น ทั้งในทางชอบ ทั้งในทางชัง

จึงเรียกกันว่าหลงรักหลงชัง

เหตุที่ตรัสสอนข้อปฏิกูลปัพพะ

เพราะฉะนั้น เมื่อมีราคะนำอยู่ดั่งนี้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอนข้อปฏิกูลปัพพะ

คือข้อที่ให้พิจารณากายนี้ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ

ด้วยให้จับพิจารณาซึ่งกายนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป

ว่าเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดมีประการต่างๆ คือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง มังสัง เนื้อ นหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต

หทยัง หัวใจ ยกนัง ตับ กิโลมกัง พังผืด ปิหกัง ม้าม ปัปผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่

อันตคุณัง สายรัดไส้ อุทริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด

ปุพโพ น้ำหนองน้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท มันข้น อัสสุ น้ำตา

วสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆาณิกา น้ำมูก ลสิกา ไขข้อ มุตตัง มูตร เป็นอาการ ๓๑

แต่ว่าที่เรียกกันว่าอาการ ๓๒ นั้น เพราะในพระสูตรบางพระสูตรได้เติมเข้ามาอีกข้อหนึ่ง

คือ มัตถเกมัตถลุงคัง ขมองในขมองศรีษะ เติมไว้ท้ายธาตุดิน

ท้ายธาตุดินนั้นก็คือว่า กรีสัง อาหารเก่า แล้วก็เติม มัตถเกมัตถลุงคัง ขมองในขมองศรีษะ

เข้าตรงนี้ แต่หากว่าแม้ไม่เติมท่านก็แสดงว่าสรุป มัตถเกมัตถลุงคัง ขมองในขมองศรีษะ

เข้าในเยื่อในกระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก

กรรมฐานที่เป็นมูล

ตรัสสอนให้พิจารณากายนี้ จำแนกออกไปโดยอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ดั่งนี้

ว่าเป็นสิ่งปฏิกูลไม่สะอาดทั้งนั้น และโดยจำเพาะ ๕ ข้อข้างต้น

ท่านให้สอนนาคผู้จะเข้ามาอุปสมบทหรือบรรพชาก่อน

คือ เกสาผม โลมาขน นขาเล็บ ทันตาฟัน ตะโจหนัง ถือว่าเป็นมูลกรรมฐาน

คือกรรมฐานที่เป็นมูล คือเป็นรากเหง้า เป็นมูลรากเหง้าของอะไร ก็ของกรรมฐานทั้งปวง

ตลอดจนถึงวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนถึงวิชชาวิมุติหรือมรรคผลนิพพาน

คือกรรมฐานทั้ง ๒ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนถึงมรรคผลนิพพาน

หรือวิชชาวิมุตินั้น ก็จะต้องมีกรรมฐาน ๕ ข้อนี้เป็นมูล เป็นรากเหง้า

ทั้งนี้ก็เพราะว่า เมื่อจิตนี้มีราคะนำอยู่ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

การปฏิบัติบำราบจิตคือบำราบราคะในจิตลงไปด้วยกรรมฐาน ๕ ข้อนี้

และเมื่อบำราบลงไปได้ การที่จะปฏิบัติให้ก้าวหน้าในกรรมฐานทั้งปวงต่อขึ้นไปจึงจะทำได้

ท่านจึงเรียกว่ามูลกรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นมูล

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

 

 

 

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats