ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป015

ผู้มีตนเป็นที่พึ่ง

อานาปานสติ “พุทโธ”

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๗/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗/๒ - ๑๘/๑ ( file Tape 15 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ผู้มีตนเป็นที่พึ่ง

อานาปานสติ “พุทโธ”

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาได้ตรัสไว้ว่า

บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ชื่อว่ารักษาตนด้วย รักษาผู้อื่นด้วย

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ จึงชื่อว่าเป็นการปฏิบัติรักษาตน ทั้งรักษาผู้อื่น

และได้ตรัสสอนไว้อีกว่าท่านทั้งหลายจงเป็น ผู้มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นที่พึ่ง

โดยปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ จึงเป็นกิจอันสำคัญ

ที่ทุกคนผู้มุ่งความบริสุทธิ์ มุ่งพ้นทุกข์ จะพึงปฏิบัติ

จึงใคร่ที่จะได้กล่าวถึงเรื่องที่พึ่ง และเรื่องรักษาตน

อันที่พึ่งนั้นเราทั้งหลายต่างก็ได้ถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์

เป็นสรณะคือที่พึ่ง ดังที่ได้เปล่งวาจาถึงกันอยู่ทุกคราวที่รับศีล และก็ได้สวดกันอยู่ว่า

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะคือที่พึ่งดั่งนี้

และก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ดังที่ได้ยกขึ้นมาแสดงแล้ว

ว่าตรัสสอนให้มีตนเป็นที่พึ่ง ให้มีธรรมะเป็นที่พึ่ง

ฉะนั้น จึงเป็นอันว่าตรัสสอนให้เพิ่มตนเป็นที่พึ่งเข้าอีกอย่างหนึ่ง

และก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้อีกว่า อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ดั่งนี้

ฉะนั้นจึงสมควรพิจารณาว่า จะไม่ขัดแย้งกันหรือ

เมื่อพิจารณาแล้วก็จะเห็นได้ด้วยตนเองว่าไม่ขัดแย้งกัน

โดยที่พึงทำความเข้าใจในที่พึ่งทั้งปวงนี้ว่าเป็นอย่างไร จะพึ่งทางไหน

พระพุทธเจ้านั้นทรงเป็นสรณะคือที่พึ่งในฐานะที่ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

ซึ่งมีอุปมาเหมือนอย่างว่าเป็นผู้ที่ชูประทีปคือแสงสว่างในที่มืด

เพื่อให้บุคคลผู้มีดวงตาได้มองเห็นทางที่จะเดิน

และธรรมนั้นเป็นที่พึ่งในฐานะที่เป็นทางเดิน

หรือเป็นทางที่จะดำเนินที่พระพุทธเจ้าทรงส่องประทีปให้มองเห็น

พระสงฆ์นั้นเป็นสรณะคือที่พึ่งในฐานะที่ได้เป็นผู้ที่มีดวงตา และลืมตาขึ้นมองเห็นทาง

ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชูดวงประทีปส่องให้มองเห็น และก็ได้ดำเนินไป

ในทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องประทีปให้มองเห็นนั้น บรรลุถึงความสวัสดีแล้ว

อันเป็นพยานหลักฐานที่ทำให้มีความอุ่นใจ ว่าทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องประทีปให้มองเห็นนั้น

เป็นทางนำไปสู่ความสวัสดีจริง และเป็นทางที่มีผู้ได้เดินไปแล้วจริง บรรลุถึงความสวัสดีจริง

เป็นตัวอย่าง ทำให้มีความอุ่นใจ ทำให้เกิดฉันทะในอันที่จะเดิน

พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่งในฐานะดังที่กล่าวนี้

ส่วนตนเองเป็นที่พึ่งของตนเองนั้น

ก็คือตนเองจะต้องลืมตาขึ้นมองดูทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงส่องประทีปให้มองเห็น

และตนเองก็ต้องเดินทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องให้มองเห็นนั้น ไปด้วยตนเอง

จึงจะบรรลุถึงความสวัสดีด้วยตนเอง เหล่านี้ต้องพึ่งตัวเองทั้งนั้น

ถ้าหากว่าตนเองมีจักษุบอด เพราะความเป็นอันธพาลที่แปลว่าเป็นผู้เขลา

เหมือนอย่างตาบอด ก็เป็นอันว่าไม่สามารถจะมองเห็นทางได้ ก็ไม่ได้รับประโยชน์

จากความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า เพราะความเป็นอันธพาลของตนเอง

แต่ว่าถ้าละความเป็นอันธพาลได้ จึงจะสามารถมีจักษุคือดวงตาที่จะมองเห็นทาง

และแม้ว่าบุคคลที่ตาดี มีจักษุคือดวงตาที่สามารถจะมองเห็นทางได้ แต่ถ้าหลับตาเสียไม่มอง

ก็ไม่สามารถจะเห็นทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องประทีปให้เห็นได้เช่นเดียวกัน

ก็เป็นอันว่าไม่ได้รับประโยชน์จากความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า

ส่วนบุคคลที่มีตาดีและไม่หลับตา ลืมตามองดูทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องให้มองเห็น

เห็นทาง และก็ได้เห็นได้รู้ว่าเป็นทางที่มีความสวัสดี

มีผู้ที่เดินทางไปแล้วบรรลุถึงความสวัสดีคือพระสงฆ์ เป็นพยานหลักฐาน

จึงดำเนินไปตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องให้มองเห็นนั้น ดั่งนี้เรียกว่าพึ่งตน

และพึ่งพระธรรมด้วย ก็คือดำเนินไปตามทางอันถูกต้องที่พระพุทธเจ้าทรงส่องให้มองเห็น

และก็ได้ชื่อว่าพึ่งพระพุทธเจ้าด้วย เพราะว่าได้อาศัยประทีปที่พระพุทธเจ้าทรงส่องให้มองเห็น

คือคำสั่งสอนของพระองค์ และได้ชื่อว่าพึ่งพระสงฆ์ด้วย เพราะว่าพระสงฆ์เป็นผู้ที่ได้เดินทางไป

บรรลุถึงความสวัสดีแล้ว เท่ากับว่าพระสงฆ์ได้เดินนำหน้าอยู่ในทางอันสวัสดีนั้น

ก็เดินไปตามที่พระสงฆ์ได้เดินไปนั้น นั้นเอง

ฉะนั้นจึงต้องพึ่งพระพุทธเจ้า ต้องพึ่งพระธรรม ต้องพึ่งพระสงฆ์

และต้องพึ่งตนเองดังกล่าว ทุกคนจึงจำเป็นจะต้องมีที่พึ่งเหล่านี้

มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่ง มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

และมีตนเองเป็นที่พึ่ง เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงจะดำเนินไป คือปฏิบัติดำเนินไป

ในทางที่พระพุทธเจ้าทรงส่องประทีป คือทรงแสดงสั่งสอน

เดินทางไปใน เอกายนมรรค คือทางไปอันเอก ทางไปอันเดียว

เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงทุกข์โทมนัส เพื่อล่วงโสกะปริเทวะ

เพื่อบรรลุธรรมที่พึงบรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน อันเป็นความดับทุกข์

เพราะฉะนั้น ที่พึ่งดังกล่าวนี้จึงเป็นที่พึ่งอันสำคัญของผู้ปฏิบัติธรรมทุกคน

และเมื่อได้มีที่พึ่งซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปเข้ามาโดยตรง

ซึ่งแปลความว่าให้ท่านทั้งหลายมีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง

คือปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ อันเป็น เอกายนมรรค ทางไปอันเอก

ย่อมชื่อว่ารักษาตนเองด้วย รักษาผู้อื่นด้วย

 

อานาปานสติ “พุทโธ”

ได้แสดงสติปัฏฐานในข้ออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

จะได้แสดงถึงวิธีปฏิบัติของพระอาจารย์ที่สอนกันในภายหลังนี้

โดยที่วิธีหนึ่งก็ให้กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกไปกับ พุทโธ

พุท หายใจเข้า โธ หายใจออก

ว่าถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออกก่อน

อันลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้ เรียกว่าลมปราณก็มี

เป็นเครื่องหมายของความมีชีวิตของบุคคล และทั้งสัตว์เดรัจฉานทั่วไป

เพราะเมื่อหายใจเข้าหายใจออกอยู่ก็แสดงว่ามีชีวิต และเมื่อมีชีวิตก็มีความดำรงอยู่

เป็นสัตว์บุคคลผู้มีชีวิต จึงได้เรียกสัตว์บุคคลที่มีชีวิตว่า ปาโณ แปลกันว่าสัตว์มีชีวิต

หมายถึงได้ทั้งคนทั้งสัตว์เดรัจฉาน

และปาโณที่แปลว่าสัตว์มีชีวิตนี้ ตามศัพท์ก็แปลว่าสัตว์มีปราณ

สัตว์มีปราณก็คือว่ามีลมหายใจ ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้เอง

เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกและยึดถือสัตว์บุคคลผู้ที่มีลมปราณคือมีชีวิตอยู่ว่าอัตตา

หรืออาตมัน ซึ่งแปลตามศัพท์ว่าผู้หายใจมาแต่ดั้งเดิม

ความเป็นสัตว์บุคคลที่ดำรงชีวิตอยู่นี้ ก็เห็นได้ง่ายว่าหายใจเข้าหายใจออกอยู่

จึงได้เรียกว่าอัตตาหรืออาตมัน ตัวตน ซึ่งตามศัพท์แปลว่าผู้หายใจ

ผู้หายใจเข้าผู้หายใจออกนั้นเอง และเนื่องด้วยในสัตว์บุคคลผู้ดำรงชีวิตอยู่นี้

ยังมีความรู้สุขรู้ทุกข์รู้เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งเรียกว่าเวทนาอันเป็นอาการของจิตใจ

ฉะนั้น สัตว์บุคคลที่ยังหายใจเข้าหายใจออกอยู่ ก็ย่อมมีเวทนา

คือความรู้สุขรู้ทุกข์ หรือรู้เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข และเพราะเหตุที่มีเวทนาอยู่นี้

จึงเรียกว่าอัตตาหรืออาตมัน ซึ่งมีคำแปลอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นผู้กิน เป็นผู้เสวย

ก็คือกินสุขกินทุกข์ กินกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข หรือเสวยสุขเสวยทุกข์ เสวยกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ฉะนั้นจึงมีคำแปลเวทนากันว่าเสวยสุขเสวยทุกข์หรือเสวยเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ก็มาจากคำว่าอัตตาหรืออาตมัน ซึ่งมีคำแปลอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้กินหรือผู้เสวยนั้นเอง

โดยที่มีความสังเกตุลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่งถึงอาการทางจิตใจ

ว่าในบุคคลทุกๆคนนี้เมื่อดูผิวเผินภายนอก ก็เห็นหายใจเข้าหายใจออกกันอยู่เท่านั้น

อันเป็นความหมายว่ายังมีชีวิตอยู่ ดำรงอยู่ มีชีวะอยู่ ฉะนั้นจึงได้แปลอัตตาอาตมัน

หรือตั้งชื่อว่าอัตตาอาตมัน เอาแค่ความหมายว่าหายใจเท่านั้น

ต่อเมื่อได้มีความสังเกตุลึกเข้าไปอีกว่า ไม่ใช่หายใจเท่านั้น

ยังรู้จักเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

หรือว่ายังมีความรู้จักกินสุขกินทุกข์ หรือกินกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขอยู่ด้วย

และที่ว่ากินหรือเสวยนี้ก็ส่องเข้ามาว่ามีความรู้ลึกเข้ามาถึงภาวะทางจิตใจ

เพราะฉะนั้นความเป็นอัตตาหรืออาตมันนั้น จึงไม่ใช่เพียงว่าหายใจเข้าหายใจออกได้เท่านั้น

ยังรู้จักกินสุขเสวยสุข กินทุกข์เสวยทุกข์ กินเสวยสิ่งที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขอีกด้วย

นี้เป็นที่มาของศัพท์ว่าอัตตาหรืออาตมัน ที่เราแปลกันว่าตัวตน

แต่อย่างไรก็ดีย่อมส่องความว่าหายใจเข้าหายใจออกนี้เป็นตัวสำคัญของชีวิต

นี้เป็นที่ตั้งไว้ส่วนหนึ่ง

อีกส่วนหนึ่งคือ พุทโธ

ซึ่งหมายถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย

เมื่อนำคำว่า พุทโธ มาประกอบกับลมหายใจเข้าลมหายใจออก

จึงสมควรที่จะเจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าไปด้วย

ในเบื้องต้นจับตั้งแต่คำว่า พุทโธ ที่แปลว่าผู้รู้ผู้ตื่น

ผู้สอนให้รู้สอนให้ตื่น หรือปลุกให้ตื่น ผู้เบิกบาน

ฉะนั้นเมื่อหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ

อันหมายถึงว่ากำหนดจิต ในลมหายใจเข้าพร้อมกับ พุท

กำหนดจิตในลมหายใจออกพร้อมกับ โธ ไม่ใช่หมายความว่ากล่าวด้วยวาจา

หรือเปล่งเสียงออกมาว่า พุทโธ หมายความว่ากำหนดด้วยใจ

กำหนดด้วยใจว่าหายใจเข้าพร้อมกับ พุท กำหนดด้วยใจว่าหายใจออกพร้อมกับ โธ

ก็ให้พิจารณาด้วยว่าพุทโธแปลว่าผู้รู้ ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้ ตั้งต้นแต่รู้ว่าหายใจเข้า รู้ว่าหายใจออก

ถ้าไม่รู้ว่าหายใจเข้า ไม่รู้ว่าหายใจออก ด้วยส่งใจไปในที่อื่น

ถึงแม้ว่าจะปรากฏถ้อยคำว่า พุท อยู่ในใจก็ยังไม่บังเกิดผล

ส่งใจไปในที่อื่น ก็ไม่รู้ลมหายใจออก ถึงจะมีกำหนดอยู่ในใจว่า โธ ก็ยังไม่สำเร็จผล

เพราะฉะนั้น แม้จะรู้อันเป็นความตรัสรู้ไม่ได้ ก็ให้ผู้ปฏิบัติรู้ลมหายใจเข้ารู้ลมหายใจออก

โดยไม่ส่งใจไปในที่อื่น ให้กำหนดจิตอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก

หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ก็แปลว่าได้รู้ อันเนื่องมาจากพระคุณของพระพุทธเจ้าว่า พุทโธ

และก็ต้องเป็นผู้ตื่น อันหมายความว่าต้องไม่ง่วง ไม่ง่วงเหงาหาวนอน

มีจิตใจตื่น ตื่นอยู่ด้วยความรู้ หรือรู้ด้วยความตื่น หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ

ใจตื่น ใจไม่ง่วงเหงา ดั่งนี้จึงจะได้ประโยชน์

และจะต้องเบิกบาน พุทโธ ผู้เบิกบาน

เมื่อหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ จะต้องทำใจให้เบิกบาน

ไม่ให้ใจห่อเหี่ยว ฟุบแฟบ เกียจคร้าน เบื่อหน่าย ระอา

เกลียดชังในการที่ต้องมากำหนดปฏิบัติ ต้องทำใจให้เบิกบาน

และพุทโธซึ่งแปลว่าผู้เบิกบานนั้น ท่านอธิบายว่าเบิกบานด้วยคุณธรรมทั้งหลายอย่างเต็มที่

เหมือนอย่างดอกบัวบานอย่างเต็มที่

เพราะฉะนั้น ก็ต้องคอยปฏิบัติชำระจิตใจ อย่าให้นิวรณ์เข้ามาทำให้จิตเศร้าหมอง

จิตฟุ้งซ่าน จิตห่อเหี่ยว จิตเบื่อหน่าย จิตระอา จิตเกลียดชังในการปฏิบัติ

เหล่านี้ไม่เป็นคุณธรรมทั้งนั้น คุณธรรมจะต้องเป็นความที่มีสติ มีสัมปชัญญะคุมจิตใจ

มีฉันทะความพอใจ มีปราโทย์ความบันเทิงเหล่านี้ จึงจะเป็นความเบิกบาน

ฉะนั้น เมื่อหายใจเข้าพุท หายใจออกโธนั้น ต้องให้จิตรู้ ให้จิตตื่น ให้จิตเบิกบาน

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะได้พุทโธเข้ามาตั้งอยู่ในใจ

และที่ได้พุทโธเข้ามาตั้งอยู่ในใจนั้น

ก็คือได้พระคุณของพุทโธเข้ามาตั้งอยู่ในใจ คือได้ความรู้ ได้ความตื่น ได้ความเบิกบาน

แม้ว่าความรู้ความตื่นความเบิกบานจะไม่ใกล้พระพุทธเจ้า

ไม่ต้องว่าเหมือน เอาแค่ว่าไม่ใกล้พระพุทธเจ้า

จะยังไกลจากความรู้ความตื่นความเบิกบานของพระพุทธเจ้ามากก็ตาม

แต่ว่าก็ยังเป็นอันว่าได้ความรู้ความตื่นความเบิกบาน

อยู่ภายในรัสมีแห่งความรู้ความตื่นความเบิกบานของพระพุทธเจ้า

ได้สักนิดหนึ่งเหมือนอย่างแค่เแสงของหิ่งห้อย ก็ยังดีกว่ามืดมิดไม่ได้อะไรเลย

ไม่ได้รู้ ไม่ได้ตื่น ไม่ได้เบิกบาน อะไรเลย

( เริ่ม ๑๘/๑ ) ฉะนั้น เมื่อหายใจเข้าพุท หายใจออกโธแล้ว

ก็ให้ตั้งจิตที่จะน้อมรับรัศมีแห่งพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า

รับรัศมีแห่งแสงสว่างแห่งดวงประทีปของพระพุทธเจ้า

เข้ามาให้เป็นความรู้ความตื่นความเบิกบาน ตั้งต้นแต่ให้รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ให้ตื่นในลมหายใจเข้าลมหายใจออก ให้เบิกบานในลมหายใจเข้าลมหายใจออก

และกำหนดให้ความรู้ความตื่นความเบิกบานในลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้

มาตั้งอยู่ในภายใน ภายในกายนี้ และให้ตั้งอยู่อย่างสงบ

กายใจก็จะสงบเป็นตัวอานาปานสติสมาธิ

โดยมีลมหายใจเข้าลมหายใจออก และพระพุทธคุณบทว่าพุทโธเป็นผู้นำ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

การปฏิบัติแย่งจิตจากกิเลส

เกิดดับ วิปัสสนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๘/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๘/๒ ( File Tape 15 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การปฏิบัติแย่งจิตจากกิเลส

เกิดดับ วิปัสสนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้ว่า

จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมนำให้เกิดบาปวิบัติ ยิ่งไปกว่าบาปวิบัติภัยอันตราย

ที่โจรจะพึงกระทำให้แก่โจร หรือว่าที่คนมีเวรจะกระทำให้แก่คนมีเวร ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นการตั้งจิตไว้ผิดจึงมีโทษมาก ส่วนการตั้งจิตไว้ถูกย่อมให้คุณอนันต์ตรงกันข้าม

ฉะนั้น เมื่อได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา และได้มีโอกาสศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนา

จึงสมควรที่จะรักษาจิตใจของตน อย่าให้ตั้งไว้ผิด แต่ให้ตั้งไว้ถูกอยู่เป็นนิจ

อันจิตที่ตั้งไว้ผิดนั้นย่อมมีได้ตั้งแต่ผิดน้อยจนถึงผิดมาก

การตั้งจิตไว้ผิดน้อยๆก็อาจจะมีอยู่แก่ผู้ที่ยังมีกิเลส ยังละกิเลสไม่ได้

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งยังปฏิบัติให้มีสติให้มีปัญญาที่จะรักษาตน รักษาจิตใจให้เพียงพอมิได้

ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องอบรมสติพร้อมทั้งปัญญา ให้มีรักษาตนอยู่ให้เพียงพอ

โดยตรงก็คือรักษาจิตนี้เองให้เพียงพอ มิให้กิเลสนำไปในทางที่ผิดได้

อันผิดหรือถูกนั้นทุกคนผู้ที่ได้รับการอบรมมาโดยลำดับ

จากมารดาบิดา จากครูอาจารย์ จนถึงจากพระพุทธเจ้า

ก็ย่อมจะมีความรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกกันอยู่พอสมควร เรียกว่าความรู้นั้นก็มีกันอยู่

แต่ว่าถ้าเป็นสักแต่ว่ารู้เพราะมิได้ปฏิบัติ ดั่งนี้ ความรู้นั้นก็ไม่ให้ประโยชน์อะไรมาก

และบางทีความรู้นั้นทำให้บังเกิดทิฏฐิมานะ ไม่ยอมรับคำแนะนำตักเตือนที่ถูกที่ชอบ

เพราะมีความดื้อดึงถือรั้นว่าจะทำอย่างนี้แหละใครจะว่ายังไง

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ไม่ได้รับประโยชน์ ความรู้นั้นกลับเป็นความรู้ที่ทำลายตนเอง

ที่ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่า ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ฉะนั้น

เพราะฉะนั้น จึงสมควรที่จะไม่ประมาทความรู้ แต่ว่านำความรู้มาพินิจพิจารณา

เอาความรู้ที่มารดาบิดาครูบาอาจารย์พระพุทธเจ้าสั่งสอนมาพิจารณา

แต่ไม่เอาความรู้ทางอื่นมาปกปิดไว้เหนือกว่า ไม่นิยมชมชอบความรู้ทางอื่นที่ตรงกันข้าม

ดั่งเช่นมารดาบิดาครูอาจารย์พระพุทธเจ้าสั่งสอนให้ มีกตัญญูรู้พระคุณท่านผู้มีคุณ

และมีกตเวทีตอบแทนพระคุณของท่าน และก็แสดงสั่งสอนว่าใครเป็นผู้ที่มีคุณบ้าง

เช่นบิดามารดาเป็นผู้ที่มีพระคุณเป็นต้น ก็เป็นความรู้ที่ทุกคนได้มาด้วยกัน

แต่ว่าก็ยังได้ความรู้ทางอื่นที่ตรงกันข้าม

เช่นที่แนะนำให้ไม่ต้องมีกตัญญูต่อมารดาบิดาเป็นต้น

หรือว่าแนะนำให้เห็นคุณเป็นโทษ คือให้เห็นว่าสิ่งที่นับถือกันมาสั่งสอนกันมาว่าเป็นคุณ

ที่คนนั้นๆกระทำนั้น อันที่จริงเป็นโทษไม่เป็นคุณ นี้เป็นเรื่องของคติธรรมดา

เมื่อเป็นดังนี้หากไปรับเข้าก็จะทำให้ไม่นับถือธรรมะคือข้อความกตัญญู ดั่งนี้เป็นต้น

แต่ตัวอย่างที่ยกมานี้ยังเป็นข้อที่คนโดยมากยังรับสอน ให้มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ

และรู้จักพระคุณตามเป็นจริง

ส่วนยังมีอีกข้อหนึ่งที่คนเป็นอันมากมิได้คิด มิได้กำหนดว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษ

มิได้กำหนดว่าผิดหรือถูก และก็ยังตั้งจิตไว้ผิดกันอยู่เนืองๆ

ก็คืออำนาจของกิเลสที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย

อันเข้ามาทางทวารทั้ง ๖ มีทวารตาเป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดราคะหรือโลภะบ้าง

ก่อให้เกิดโทสะบ้าง ก่อให้เกิดโมหะบ้าง และก็นำจิตไปตามทางของราคะหรือโลภะ

ไปตามทางของโทสะโมหะ ดังที่ปรากฏอยู่ในจิตใจอยู่เป็นประจำ

ดั่งนี้ ก็จะพึงเห็นได้ว่าคนเราแพ้อำนาจกิเลส ได้ถูกกิเลสนำจิตใจไปให้ใคร่ให้โลภอยากได้

ให้โกรธให้หลงในอารมณ์ต่างๆกันอยู่เสมอ ก็เป็นนิวรณ์อยู่ในใจ

ฉะนั้นเมื่อมาปฏิบัติตั้งใจไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน

จิตใจจึงมักจะไม่ค่อยอยู่ ถูกนิวรณ์ดึงไปอยู่เนืองๆ ก็แปลว่ามีสติคุมใจไม่เพียงพอ

มีปัญญาที่จะพินิจพิจารณาไม่เพียงพอ แต่ทุกคนก็จะต้องมีสติต้องมีปัญญาเป็นพื้นกันอยู่

เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่จึงสามารถควบคุมไว้ในใจได้ หรือว่าแสดงออกทางกายทางวาจา

ก็ไม่รุนแรงเท่าไรนัก แต่ที่คุมใจไว้ไม่ได้แสดงออกมากทางกายทางวาจา

ก็เป็นการก่อสิ่งที่เรียกกันว่าอาชญากรรมขึ้นมา เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ด้วยกัน

ทั้งฝ่ายผู้ที่ถูกกระทำ คือถูกเบียดเบียน ทั้งฝ่ายผู้ที่เบียดเบียนเอง

เป็นความเดือดร้อนที่ปรากฏกันอยู่ทั่วไป อันนำให้ต้องทุกข์ต้องโทษกันต่างๆดังที่ปรากฏ

เหล่านี้ล้วนแต่ตั้งจิตไว้ผิดทั้งนั้น

และทีแรกก็ตั้งจิตไว้ผิดน้อยๆ แล้วก็มากขึ้นๆ เพราะไม่ได้ควบคุม

ถ้าหากว่าได้ควบคุมอยู่เสมอด้วยสติด้วยปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

กำลังของสติกำลังของปัญญานั้นก็จะมากขึ้นๆ กำลังของอารมณ์และกิเลส

แม้จะต้องเกิดขึ้นตามธรรมดาของคนมีกิเลส แต่ก็แพ้กำลังของสติของปัญญา

ฉะนั้น คนที่มีกำลังสติกำลังปัญญาเพียงพอจึงสามารถที่จะป้องกัน

มิให้อารมณ์นำกิเลสเข้ามาสู่จิตใจได้ เพราะว่าอารมณ์ก็ตกอยู่แค่ปากประตูตาประตูหูเป็นต้น

ไม่ล่วงล้ำเข้ามาสู่จิตใจ ซึ่งจะเป็นทางให้มารคือกิเลสวิ่งเข้ามากับอารมณ์สู่จิตใจ

แปลว่าไม่ทอดสะพานเข้ามา มารก็เข้ามาไม่ได้

ก็คล้ายๆกับว่ามารนั้นก็คอยจ้องอยู่แถวประตูเท่านั้น เข้าไม่ได้ เพราะไม่มีสะพานที่จะเข้ามา

ดั่งนี้ก็เรียกว่าเป็นการที่ปฏิบัติป้องกัน ป้องกันให้อารมณ์สักแต่ว่าเป็นอารมณ์

เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ให้เรื่องตกอยู่แค่ประตูตาประตูหูเป็นต้น

มารก็มาเยี่ยมอยู่แค่นั้น วิ่งเข้ามาสู่จิตไม่ได้ ดั่งนี้เรียกว่าปฏิบัติป้องกัน

ถ้าหากว่ามีสติปัญญาป้องกันได้ ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าเป็นการปฏิบัติที่มีระดับดีพอสมควร

ถือว่าดีมากพอสมควร ป้องกันไว้ได้

คราวนี้ถ้ากำลังของสติของปัญญาที่ป้องกันนั้นไม่พอ

การเห็นสักแต่ว่าเห็น การได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ทำไม่ได้

เกิดไปเห็นจริงๆ ได้ยินจริงๆ คือรับอารมณ์เข้ามาสู่จิตใจ มารก็วิ่งเข้ามาสู่จิตใจ

ก็ปรากฏเป็นราคะบ้าง โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง

ดั่งนี้ก็ต้องใช้วิธีแก้คือสติปัญญานี้เองเพ่งพินิจพิจารณา ว่าเป็นสิ่งที่เป็นโทษไม่ใช่เป็นคุณ

ให้กำลังของสติของปัญญาเพียงพอ ดับลงไปให้ได้ ข่มลงไปให้ได้

ดั่งนี้เรียกว่าสู้ซึ่งหน้า คือเพ่งพินิจพิจารณาลงไปที่ตัวกิเลสที่บังเกิดขึ้นในใจ

ว่าเดี๋ยวนี้ราคะหรือโลภะเกิดขึ้นแล้ว โทสะเกิดขึ้นแล้ว โมหะเกิดขึ้นแล้ว

กำลังกลุ้มรุมจิตใจอยู่ ทำจิตใจให้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายร้อนรุ่ม มีโทษไม่มีคุณ

ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะรักษาเอาไว้ ไม่ใช่เป็นมิตรแต่ว่าเป็นศัตรู

ใช้สติปัญญาเพ่งพินิจไปเรียกว่าสู้ซึ่งหน้า ถ้าหากว่ามีกำลังสติปัญญาเพียงพอก็สู้ได้ สงบได้

อีกอย่างหนึ่งไม่สู้ซึ่งหน้าเลี่ยงไปเสีย คือว่าตั้งใจกำหนดอารมณ์ของกรรมฐานทันที

เช่นตั้งจิตกำหนดลมหายใจเข้าออก ปล่อยใจเสียจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสเหล่านั้น

ยกตัวอย่างเช่นว่าเมื่อความโกรธเกิดขึ้น เป็นความโกรธในบุคคลผู้นี้ที่เขามาว่าอย่างนั้นอย่างนี้

เขามาทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ปล่อยจิตจากความคิดถึงอารมณ์นั้นเสีย

คือปล่อยจิตจากความคิดถึงบุคคลนั้น และเรื่องเหล่านั้นเสีย มากำหนดในลมหายใจเข้าออก

ให้จิตเข้ามาอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ใช้ปัญญาประกอบ

เช่นพิจารณากำหนดพุทธคุณว่า พุทโธ ประกอบ ดังที่กล่าวมาแล้ว

ถ้าจิตปล่อยอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสได้ กิเลสก็จะตกไป โทสะก็จะตกไปจะสงบไป

จิตมาตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานแทน ดั่งนี้เรียกว่าเลี่ยงไปเสีย

เลี่ยงมาจับอารมณ์อื่น ซึ่งเป็นวิธีที่จะเป็นการผลักอารมณ์ของกิเลสให้ตกไป

เมื่อผลักอารมณ์ของกิเลสให้ตกไปได้ กิเลสก็ตกไป

จิตก็ตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้ ดั่งนี้ไม่ได้พิจารณาโทษของกิเลส

แต่ว่าเลี่ยงมาจับอารมณ์ของกรรมฐานแทน ให้กิเลสตกไปเอง

 

เงื่อนสำคัญของการปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น เงื่อนสำคัญของการปฏิบัติที่จะปฏิบัติได้ หรือไม่ปฏิบัติได้นั้น

จึงอยู่ตรงที่จะปล่อยอารมณ์เก่าจับอารมณ์ใหม่ได้หรือไม่เท่านั้น

ปล่อยอารมณ์เก่าก็คือปล่อยอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส เป็นที่ตั้งของนิวรณ์

จับอารมณ์ใหม่ก็คือจับอารมณ์ของกรรมฐาน

และการจับอารมณ์ของกรรมฐานนี้ ต้องการสมถะคือสงบหรือสมาธิก่อน

อันหมายความว่าเมื่อจิตยังจับอารมณ์ของกิเลส กิเลสก็กลุ้มรุมจิต ดั่งนี้ทำสมาธิก็ไม่ได้

เมื่อทำสมาธิไม่ได้ ทำปัญญาก็ไม่ได้ เพราะว่าจิตยุ่งอยู่กับอารมณ์ของกิเลส กับตัวกิเลส

จะอ่านจะฟังธรรมะอะไรก็ไม่รับรู้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น จึงต้องปฏิบัติให้ปล่อยอารมณ์ของกิเลสได้

เมื่อปล่อยอารมณ์ของกิเลสได้ จึงจะมาตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้

หรือว่าพยายามที่จะมาตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐาน เพื่อปล่อยอารมณ์ของกิเลส

และเมื่อตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้ อารมณ์ของกิเลสก็หลุดไปเอง

บุคคลจึงต้องมีการปฏิบัติเหมือนอย่างว่าแย่งจิตมาจากกิเลส ให้มาตั้งอยู่ในกรรมฐาน

หรือในธรรมะที่เป็นฝ่ายดีฝ่ายชอบ

ในขณะที่จิตตั้งอยู่ในกิเลส หรือในอารมณ์ของกิเลสนั้น

เรียกว่าตั้งไว้ผิด มากก็ผิดน้อยก็ผิด ผิดทั้งนั้น

แต่ว่าเมื่อมาตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้ ก็เรียกว่าตั้งจิตไว้ถูก

เมื่อตั้งจิตไว้ถูกได้แล้วก็ได้สมาธิ แล้วก็ได้ปัญญาต่อไป

แต่ว่าก่อนที่จะได้ปัญญานั้นต้องได้สมาธิก่อน คือจิตต้องสงบก่อน

และเมื่อจิตสงบ ตัวสงบนี้แหละเป็นตัวสมถะ และอาการที่สงบนั้นก็เพราะตั้งจิตไว้ถูก

นั่นคือตัวสมาธิ คือตั้งจิตไว้ได้ เพราะฉะนั้นสมาธิกับสมถะจึงอยู่ด้วยกัน

 

เพ่งดูให้เห็นเกิดดับ

และเมื่อตั้งไว้ได้แล้วก็กำหนดพิจารณาได้ เช่นลมหายใจเข้าออกซึ่งเป็นอานาปานสตินั้น

นำจิตมาตั้งไว้ในลมหายใจเข้าในลมหายใจออก เป็นการที่ดึงจิตจากอารมณ์ของกิเลส

มาตั้งไว้ในลมหายใจเข้าออกให้เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน อาการที่ตั้งนั่นแหละคือตัวสมาธิ

และเมื่อตั้งไว้ในอารมณ์ของกรรมฐานแล้วกิเลสก็สงบ นิวรณ์ก็สงบ นั่นแหละคือตัวสมถะ

และเมื่อจิตได้ความสงบดั่งนี้แล้ว ก็เพ่งดูลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ก็จะมองเห็นว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออกนั้นเป็นตัวรูป

ความรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกของจิตนั่นเป็นตัวนาม

หายใจเข้าหายใจออกเป็นเกิดเป็นดับ

ฉะนั้น เมื่อลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นตัวชีวิต เป็นตัวปราณ เป็นตัวอัตตา

ชีวิตหรือปราณหรืออัตตานี้จึงเกิดดับอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

สันตติ เครื่องกำบังอนิจจตา

แต่ว่าเพราะยังหายใจเข้าออกต่อเนื่องกันไป ยังไม่หยุดทีเดียว ชีวิตจึงดำรงอยู่

ความที่ต่อเนื่องกันไปนี้เรียกว่า สันตติ คือความต่อเนื่อง

ที่ท่านแสดงว่าเป็นเครื่องกำบังอนิจจตาคือความไม่เที่ยง เพราะทำให้เห็นว่าเที่ยง

แต่อันที่จริงเมื่อพิจารณาแล้วจึงจะเห็นว่า ที่ความไม่เที่ยงยังไม่ปรากฏชัดนั้น

ก็เพราะยังมีสันตติคือความสืบต่อนี้เอง เมื่อใดสันตติคือความสืบต่อนี้ขาด

หายใจเข้าไม่หายใจออก หายใจออกไม่หายใจเข้าต่อไป หยุด ชีวิตก็สิ้นเพียงแค่นั้น

เป็นความดับในที่สุดที่เรียกว่ามรณะคือความตาย ซึ่งทุกคนก็ต้องประสบทั้งนั้นในที่สุด

เมื่อมีการเริ่มหายใจเข้าเริ่มหายใจออก อันเป็นความเกิด

ก็จะต้องมีความดับลมหายใจเข้าลมหายใจออก ซึ่งเป็นความดับ

ฉะนั้นดูเข้ามาให้ใกล้แล้ว จะเห็นว่าความเกิดความดับนี้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกนี้เอง

และความขาดสันตตินั้นจะมีเมื่อไรก็ไม่มีใครรู้

พิจารณาดั่งนี้ก็เป็นอันว่าเป็นการเริ่มจับลมหายใจเข้าออกทางวิปัสสนา

ในขณะที่ปฏิบัติจับลมหายใจเข้าลมหายใจออกเพื่อสมถะคือความสงบ

นั่นก็เป็นสมาธิหรือเป็นสมถะ แต่ก็ต้องใช้สมาธิอยู่นั่นแหละ

คือตั้งใจอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกนั้น ไม่ปล่อย แต่เมื่อได้สมถะคือความสงบเป็นพื้นฐานแล้ว

ก็กำหนดพิจารณาดูให้เห็นความเกิดดับ เมื่อเห็นความเกิดดับก็จะเห็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้

เมื่อเห็นทุกข์ก็จะเห็นอนัตตา คือบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้

ไม่ใช่เป็นตัวเราของเราอย่างแท้จริง

การปฏิบัติในขั้นที่ได้ความสงบ และดูต่อไปให้เห็นความเกิดดับอันเป็นอนิจจะ

ให้เห็นทุกข์ ให้เห็นอนัตตาดั่งนี้เป็นวิปัสสนา ก็เป็นการอาศัยลมหายใจเข้าออกนี้เองดำเนินไป

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats