ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 12 ธันวาคม 2555 09:01
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป017
ธาตุกรรมฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ธาตุดิน ๓
ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔
อากาสธาตุ ๕
เครื่องกำจัดวิจิกิจฉา ๕
ป่าช้า ๙ ๖
อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา ๗
สามัญลักษณะของสังขารทั้งปวง ๘
มีข้อความภาษาบาลีที่อาจจะเขียนไม่ถูก
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๙/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๐/๑ ( File Tape 17 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ธาตุกรรมฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สติปัฏฐาน ตั้งสติจนสติปรากฏในกายเวทนาจิตธรรม ย่อมเป็น เอกายนมรรค
คือทางไปอันเอก ทางไปอันเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย
คือของผู้ปฏิบัติทั้งปวง ดั่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงไว้
และได้ทรงจำแนกแจกธรรมในทุกๆหมวดไว้ หลายข้อหลายประการ
สำหรับให้เหมาะแก่ชั้นของผู้ปฏิบัติ จริตอัธยาศัยของผู้ปฏิบัติ
ซึ่งจะเลือกยกเอาข้อใดข้อหนึ่งขึ้นเป็นอารมณ์ในการปฏิบัติก็ย่อมได้ทั้งสิ้น
และอันทุกๆคนนั้นย่อมมีจริตอัธยาศัยเนื่องด้วยราคะโทสะโมหะอยู่ด้วยกัน
เพราะฉะนั้น จะฝึกปฏิบัติไว้หลายๆข้อก็ย่อมเป็นการดี
ดั่งเช่นฝึกหัดปฏิบัติในข้อให้กำหนดลมหายใจเข้าออก
ฝึกหัดปฏิบัติทำความรู้ในอิริยาบถทั้ง ๔ และในอิริยาบถเล็กน้อยทั้งหลาย
หัดกำหนดพิจารณากายนี้ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ๓๑ หรือ ๓๒ อาการ
และฝึกปฏิบัติกำหนดธาตุทั้ง ๔ ดั่งที่ได้ตรัสสอนไว้
ในวันนี้จะได้แสดงอธิบายวิธีกำหนดพิจารณาแยกธาตุทั้ง ๔
ที่ตรัสสอนเอาไว้ในข้อว่าด้วยธาตุ กล่าวคือกายนี้ย่อมเป็นที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา
จึงปรากฏ สัตตสัญญา อัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอยู่ในกายนี้
ฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาแยกกายนี้ออกไปเป็นธาตุทั้ง ๔
คือส่วนที่แข้นแข็งก็เรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดิน
ส่วนที่เหลวไหลเอิบอาบก็เรียกว่าอาโปธาตุ ธาตุน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็เรียกว่าเตโชธาตุ ธาตุไฟ
ส่วนที่พัดไหวก็เรียกว่าวาโยธาตุ ธาตุลม
ธาตุดิน
และในหลายพระสูตรที่ได้ทรงแสดงวิธีพิจารณาแยกธาตุนี้ไว้อย่างพิสดาร
คือได้ตรัสสอนให้พิจารณาอาการทั้งหลายในกายนี้ ส่วนที่แข้นแข็งก็เป็นธาตุดินเป็นต้น
และได้ตรัสแนะนำให้พิจารณาว่าส่วนใดบ้างเป็นส่วนที่แข้นแข็งเป็นต้น
บรรดามีในกายนี้ ดั่งที่ได้ตรัสสอนเอาไว้ ให้พิจารณาจำแนกออกไปดั่งนี้
ส่วนที่แข้นแข็งบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ คือ
เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง มังสัง เนื้อ นหารู เอ็น
อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต หทยัง หัวใจ ยกนัง ตับ
กิโลมกัง พังผืด ปิหกัง ม้าม ปัปผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่ อันตคุณัง สายรัดไส้
อุทริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า
และได้มีเติมอีก ๑ คือ มัตถเกมัตถลุงคัง ขมองในขมองศรีษะ ก็รวมเป็น ๒๐ อาการ
และอาการอื่นใดอันเป็นส่วนที่แข้นแข็งซึ่งมีอยู่ในกายนี้
ก็รวมเรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดิน ทั้งหมด
ธาตุน้ำ
อนึ่ง ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ คือ ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด
ปุพโพ น้ำหนองน้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท มันข้น อัสสุ น้ำตา
วสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆาณิกา น้ำมูก ลสิกา ไขข้อ มุตตัง มูตร
และสิ่งอื่นบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ อันเป็นของเอิบอาบเหลวไหล ก็รวมเรียกว่าอาโปธาตุ ธาตุน้ำ
ธาตุไฟ
อนึ่ง ส่วนที่อบอุนที่ร้อนบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ กล่าวคือ
เยนะ สันตัปปะติ ไฟที่ทำร่างกายให้อบอุ่น
เยนะ ชิริยะติ ไฟที่ทำให้ร่างกายแก่ชำรุดทรุดโทรม
เยนะ ปริฑัยหะติ ไฟที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อน
เยนะ อสิตะปิตะขายิตะสายิตัง สัมมาปริณามัง คัจฉะติ
ไฟที่ทำให้อาหารที่กินที่ดื่มที่เคี้ยวที่ลิ้มถึงความย่อยไปได้โดยชอบ
และส่วนที่อบอุ่นที่ร้อนอื่นบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็รวมเรียกว่าเตโชธาตุ ธาตุไฟ
ธาตุลม
อนึ่งส่วนที่พัดไหวบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ก็คือ
อุทธังคะมา วาตา ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน อโธคะมา วาตา ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ
กุจฉิสะยา วาตา ลมที่อยู่ในท้อง โกฏฐะสะยา วาตา ลมที่อยู่ในไส้หรือในกระเพาะอาหาร
อังคะมังคานุสาริโน วาตา ลมที่พัดไปในอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย
อัสสาโส ลมหายใจเข้า ปัสสาโส ลมหายใจออก
และสิ่งที่พัดไหวอื่นใดบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็รวมเรียกว่าวาโยธาตุ ธาตุลม
อากาสธาตุ
ในพระสูตรนี้ได้แสดงธาตุไว้ ๔ ดั่งนี้ แต่ในพระสูตรอื่นได้มีแสดงเพิ่มไว้อีก ๑
คืออากาสธาตุ ธาตุอากาศได้แก่ช่องว่าง กล่าวคือบรรดาช่องว่างบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ คือ
กัณณัจฉิททัง ช่องหู นาสัจฉิททัง ช่องจมูก มุขทวารัง ช่องปาก
เยนะจะ อสิตะปิตะขายิตัง สายิตัง อัชโชปะราติ ช่องที่กลืนอาหารที่กินที่ดื่มที่เคี้ยวที่ลิ้มลงไป
ยัตถะจะ อสิตะปิตะขายิตะสายิตัง สันติปปะติ ช่องที่อาหารที่กินที่ดื่มที่เคี้ยวที่ลิ้มตั้งอยู่
เยนะจะ อสิตะปิตะขายิตะสายิตัง อะโธพารานิคะมะติ ช่องที่อาหารเก่าออกไปในภายล่าง
และช่องว่างอื่นใดบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ทั้งสิ้นก็รวมเรียกว่า อากาสธาตุ ธาตุอากาศ
ตรัสสอนให้พิจารณาแยกกายนี้ออกเป็นธาตุทั้ง ๔ หรือธาตุทั้ง ๕
เมื่อเป็นดั่งนี้ธาตุสัญญา ความสำคัญหมายว่าธาตุจะบังเกิดขึ้น
สัตตสัญญา อัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาก็จะหายไป
เครื่องกำจัดวิจิกิจฉา
ท่านแสดงว่าธาตุกรรมฐานนี้เป็นเครื่องกำจัดนิวรณ์ข้อวิจิกิจฉา คือความเคลือบแคลงสงสัย
อันวิจิกิจฉาคือความเคลือบแคลงสงสัยนั้น ย่อมมีมูลฐานตั้งอยู่บนตัวเราของเรา
และเมื่อมีตัวเราก็ย่อมจะมีความเคลือบแคลงสงสัยในตัวเราของเรา
ในอดีตบ้าง ในอนาคตบ้าง ในปัจจุบันบ้าง
ฉะนั้น ตัวเราของเรานี้เอง จึงเป็นที่ตั้งแห่งความเคลือบแคลงสงสัยทั้งหลายเป็นส่วนมาก
หรือเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนิวรณ์ และตัวเราของเรานี้ก็ตั้งขึ้นที่กายนี้นั้นเอง
กล่าวคือยึดถือกายนี้ และโดยเฉพาะก็คือเป็นตัวเราของเรา
ฉะนั้น เมื่อมาพิจารณาแยกธาตุออกไปเสีย
ว่าโดยที่แท้แล้ว ความที่สำคัญหมายยึดถือว่าเป็นก้อนเป็นแท่ง
จนถึงเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราของเรานั้นหาได้มีไม่
มีสักแต่ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุอากาศ ทั้ง ๕ นี้เท่านั้น
และเมื่อธาตุทั้ง ๕ นี้ประกอบกันอยู่ ชีวิตก็ย่อมตั้งอยู่
และเมื่อชีวิตตั้งอยู่จึงหายใจเข้าหายใจออกได้ เดินยืนนั่งนอนได้
และก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลังเป็นต้นได้
อาการทั้งหลายในร่างกายนี้ คือผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น
ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ และยังดำรงอยู่
แต่เมื่อธาตุที่ประกอบกันเข้าเป็นกายอันนี้แตกสลาย ดังที่ปรากฏดับลม
ลมหายใจเข้าออกนั้น หายใจเข้าแล้วไม่ออก หายใจออกแล้วไม่เข้า
ขาดสันตติคือความสืบต่อ ดับลม เมื่อความดับลมปรากฏขึ้น ธาตุไฟก็ดับ
เมื่อธาตุไฟดับ ธาตุน้ำธาตุดินก็เริ่มเน่าเปื่อยเหือดแห้งเสื่อมสลายไป
เพราะฉะนั้นความสิ้นชีวิตก็ปรากฏ และเมื่อความสิ้นชีวิตปรากฏ
ร่างกายนี้ที่เป็นร่างกายที่มีชีวิตก็กลายเป็นศพ
ป่าช้า ๙
และศพนั้นเมื่อเป็นศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าดังในสมัยโบราณ
เมื่อพิจารณาดู หรือเมื่อนึกดูถึงสภาพของศพ ก็ย่อมจะปรากฏว่า
เมื่อเป็นศพที่ตายวันหนึ่ง สองวัน สามวัน ก็ย่อมจะมีสีเขียวน่าเกลียด
และจะมีสัตว์ต่างๆมาจิกมากัดกิน และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะเป็นศพที่เป็นโครงร่างกระดูก
มีเนื้อเหลือติดอยู่ มีเส้นเอ็นรึงรัด และเมื่อปล่อยทิ้งไปยิ่งไปกว่านี้ก็จะไม่มีเนื้อเหลือ
แต่ยังเป็นโครงร่างกระดูกที่มีเส้นเอ็นรึงรัด และต่อจากนั้นเส้นเอ็นที่รึงรัดก็จะหมดไป
เน่าเปื่อยไป โครงกระดูกที่ประกอบกันอยู่นั้นก็จะเริ่มกระจัดกระจาย
กระดูกขาก็จะไปทางหนึ่ง กระดูกแขน กระดูกตัว กระดูกบั้นเอว กระดูกซี่โครง กระดูกบ่า กระดูกคอ ฟัน ศรีษะ ก็จะไปทางหนึ่ง จึงกลายเป็นกระดูกหรือเป็นอัฏฐิที่มีสีขาว
และกระดูกนั้นเมื่อนานไปๆก็จะมารวมกันป่นเข้าเป็นกองๆ
พ้นปีออกไป และเมื่อนานไปๆนั้น ก็จะผุป่นละเอียดไปหมด
ก็เป็นอันว่าร่างกายอันนี้ก่อนแต่มาประชุมกันเป็นชาติคือความเกิด ก็ไม่มี
และเมื่อธาตุทั้งหลายมาประชุมกันเข้า คือธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลม ธาตุอากาศคือช่องว่าง
และวิญญาณธาตุคือธาตุรู้มาประกอบกันเข้า ความตั้งครรภ์ของมารดาก็ปรากฏขึ้น
และก็เริ่มชาติคือความเกิด จนถึงเมื่อคลอดออกมาเป็นชาติคือความเกิดที่ปรากฏ
ดำรงชีวิตอยู่ก็โดยที่ธาตุทั้ง ๖ นี้ประกอบกันอยู่ และก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญ
คือเป็นวัยเด็กเล็กเด็กโต เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้ใหญ่
แล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม ก็เป็นความแก่ที่ปรากฏ
จนถึงในที่สุดวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ก็จุติคือเคลื่อน
เมื่อเป็นดั่งนี้บรรดาธาตุ ๕ ที่ไม่รู้นั้น ที่รวมกันอยู่ก็แตกสลาย
ดังที่ปรากฏเป็นความดับลมเป็นต้น ดั่งที่กล่าวแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ ร่างกายอันนี้ก็เริ่มแตกสลาย แล้วก็ไปจนเป็นกระดูก
แล้วก็เป็นกระดูกผุป่นในที่สุดก็เป็นอันว่าก็ถึงภาวะที่เรียกว่าไม่มีเหมือนอย่างเดิม
เดิมก็ไม่มี และเมื่อมีชาติคือความเกิด ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ของมารดา
จนถึงสิ้นชีวิตในที่สุด แล้วในที่สุดเมื่อกระดูกผุเปื่อยไปหมดแล้วก็กลับไม่มีเหมือนอย่างเดิม
อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา
เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ตรัสสอนให้พิจารณา
ว่านี้คืออนิจจะคือความไม่เที่ยง ที่ปรากฏเป็นความเกิดเป็นความดับ
จึงปรากฏเหมือนอย่างว่าเป็นสิ่งที่ขอยืมเขามาตั้งอยู่ชั่วกาล
และปรากฏว่าเดิมก็ไม่มี แล้วก็มีขึ้น แล้วก็กลับไม่มีเหมือนอย่างเดิม
ดั่งนี้เป็นอนิจจะคือความไม่เที่ยง และเพราะความไม่เที่ยงดั่งนี้จึงชื่อว่าเป็นทุกข์
เพราะเหตุว่าถูกความไม่เที่ยงคือความเกิดดับนี้บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
จึงตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปจากเกิดจนถึงดับ
และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นอนัตตา คือไม่ใช่เป็นตัวเราของเรา
เพราะบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนามิได้
เมื่อบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เพราะเหตุว่าต้องเกิดต้องดับ
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปดั่งนั้น จึงขัดแย้งต่อความเป็นอัตตาที่ยึดถือ
และเพราะเหตุที่ตนบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนามิได้ต้องเกิดดับ
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นของที่ว่างเปล่าจากสาระแก่นสาร
เป็นของที่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวเราของเรา
ความเป็นตัวเราของเรานั้นเป็นความยึดถือไว้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นสัจจะคือความจริง
ความจริงนั้นก็คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
สามัญลักษณะของสังขารทั้งปวง
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานแม้ในข้อกายานุปัสสนาพิจารณากายที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นี้
เมื่อตรัสสอนให้กำหนดพิจารณาดูลักษณะของกาย กำหนดลักษณะ
หรือเรียกว่ากำหนดรูปธรรมก็ได้ กำหนดรูปลักษณะของลมหายใจเข้าออก
ของอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถน้อย ของอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ของธาตุ ตลอดจนถึงของศพ
ตั้งแต่เริ่มตายจนถึงเสื่อมสลายไปหมดในที่สุด เป็นการตรัสสอนให้กำหนดรูปลักษณะ
เมื่อตรัสสอนให้กำหนดรูปลักษณะ ดั่งนี้ ย่อมจะทำให้มองเห็นสัจจะคือความจริง
ซึ่งเป็นสามัญลักษณะ คือเป็นลักษณะที่ทั่วไปของสังขารทั้งปวง
อันได้แก่อนิจจะลักษณะ ลักษณะที่ไม่เที่ยง ทุกขะลักษณะ ลักษณะที่เป็นทุกข์
อานัตตะลักขณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตามิใช่ตัวตน ทำให้อนิจจะตาความเป็นของไม่เที่ยง
ทุกขะตาความเป็นทุกข์ และอานัตตะตา ความเป็นอนัตตาปรากฏขึ้น
ดั่งนี้จึงเป็นตัวปัญญาวิปัสสนา ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
ในอนิจจลักขณะ ทุกขลักขณะ อนัตตลักขณะ ในอนิจจตา ทุกขตา อนัตตา
เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเป็นไปเพื่อวิปัสสนาปัญญา อันตั้งขึ้นจากสมาธิที่กำหนดรูปลักษณะของกาย
สมาธิที่ตั้งกำหนดรูปลักษณะของกายตามที่ตรัสสอนนี้ จึงเป็นวิธีที่ให้ได้วิปัสสนาปัญญา
ในสามัญลักษณะ เป็นตัวปัญญาดังที่ตรัสเอาไว้ว่า ตามเห็นเกิด ตามเห็นดับเป็นธรรมดา
ตามเห็นทั้งเกิด ตามเห็นทั้งดับเป็นธรรมดา ดั่งนี้
ฉะนั้นการปฏิบัติในสติปัฏฐานตั้งสติเบื้องต้น
กำหนดรูปลักษณะของกาย ก็ทำให้ได้สมาธิ และทำให้ได้วิปัสสนาปัญญา
อันเป็นตัวปัญญาที่ให้ได้วิมุติความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์
แม้จะชั่วระยะหนึ่ง เร็วหรือช้า มากหรือน้อย ตามสมควรแก่กำลังปฏิบัติ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
หลักของการปฏิบัติกรรมฐาน
เวทนานุปัสสนา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
อนุปัสสนา ๒
กำหนดว่ามีอยู่ ๓
กำหนดให้รู้ภายในภายนอก ๔
เกิดดับเป็นธรรมดา ๕
เวทนา ๓ อย่าง ๖
เวทนาทางกาย ๖
เวทนาทางใจ ๘
ปัจจัยให้เกิดตัณหา ๑๐
สติกำหนดเวทนา ๑๑
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๐/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๐/๒ ( File Tape 17 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
หลักของการปฏิบัติกรรมฐาน
เวทนานุปัสสนา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
อนุปัสสนา
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
กรรมฐานย่อมเป็นข้อพึงปฏิบัติสำหรับที่จะทำจิตให้สงบ และให้ได้ปัญญารู้แจ้งเห็นจริง
สติปัฏฐานย่อมเป็นข้อกรรมฐานที่พึงปฏิบัติ ทั้งเพื่อสงบ ทั้งเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง
ฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนเอาไว้ให้ทำสติที่เป็นตัว อนุปัสสนา
คือตามดูตามรู้ตามเห็น กาย เวทนา จิตธรรม ของตนที่เป็นไปอยู่
ในภายใน ในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก
ทั้งให้ทำอนุปัสสนาคือตามดูตามรู้ตามเห็นในกายเวทนาจิตธรรม
ว่ามีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา
ทั้งมีความเกิดขึ้นทั้งมีความเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา
ตั้งสติก็เพื่อให้รู้ให้เห็นว่ากายเวทนาจิตธรรมมีอยู่สำหรับตั้งสติ
และสำหรับที่จะให้ได้ปัญญารู้ ไม่ยึดมั่นอะไรๆในโลกดั่งนี้ นี้เป็นหลักของการปฏิบัติกรรมฐาน
มิใช่แต่สติปัฏฐานเท่านั้น แม้ในกรรมฐานข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน
ในเบื้องต้นจะต้องทำสติให้เป็นอนุปัสสนาตามดูตามรู้ตามเห็น ข้อกรรมฐานที่ตั้งกำหนดนั้น
กำหนดว่ามีอยู่
หากว่าตั้งกำหนดในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม
ก็ให้ตั้งสติกำหนดว่ากายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมะมีอยู่
หรือหากว่าจะยกขึ้นเป็นตัวอย่างในข้อใดข้อหนึ่ง
ที่จำแนกแยกออกไปจาก ๔ ข้อใหญ่นี้เช่น ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เมื่อตั้งสติให้เป็นอนุปัสสนาตามดูตามรู้ตามเห็นลมหายใจเข้าลมหายใจออกของตน
ในเบื้องต้นก็ต้องตั้งสติกำหนดว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออกมีอยู่
คำว่ามีอยู่นี้หมายถึงว่ามีอยู่ในจิตที่ตั้งกำหนด
ไม่หายไปจากจิตที่ตั้งกำหนด ต้องให้มีอยู่ในจิตที่ตั้งกำหนด
อันความมีอยู่ในจิตที่ตั้งกำหนดนี้จึงหมายถึงตัวอารมณ์ คือเรื่องที่มีอยู่ในจิต
ต้องให้เรื่องของลมหายใจเข้าลมหายใจออกมีอยู่ในจิต อารมณ์นี้ไม่หายไปจากจิต
ถ้าหายไปจากจิตเสียก็แปลว่ากรรมฐานไม่ตั้งขึ้นในจิต
เพราะเหตุว่า จิตนี้จะสลึมสลือง่วงเหงาไปก็ตาม
จะรับอารมณ์อื่นเข้ามาก็ตาม อารมณ์แห่งลมหายใจเข้าหายใจออกก็จะหายไป
ถ้าเพราะสลึมสลือง่วงเหงาก็จะหลับไป ดับไป คือหลับไป
ดับหรือหลับไปนี้ไม่ใช่เป็นตัวปัญญาที่เห็นดับ ไม่มีตัวปัญญาอยู่ในความสลึมสลือ
ในความง่วงเหงา หรือในความที่หลับหรือดับไปนั้น เป็นถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
หรือว่ารับอารมณ์อื่นเข้ามา ก็เช่นคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เป็นกังวลอยู่ หรือที่ใจผูกอยู่
ก็แปลว่าจิตปล่อยอารมณ์แห่งลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ไปจับเอาอารมณ์ของเรื่องต่างๆเข้ามา
เมื่อเป็นดั่งนี้อารมณ์แห่งลมหายใจเข้าลมหายใจออกก็หายไป
ก็แปลว่าจิตไม่ตั้งอยู่ในลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ไม่ได้อานาปานสติสมาธิ
เป็นการได้ความง่วงเหงา ความหลับ หรือว่าได้ความฟุ้งซ่าน
เพราะฉะนั้น ความที่จิตจะตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานนั้น
ก็คือว่าอารมณ์ของกรรมฐานข้อนั้นมีอยู่ในจิต
อารมณ์แห่งกรรมฐานคือลมหายใจเข้าลมหายใจออกมีอยู่ในจิต
จิตรู้อยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้
ดั่งนี้ก็คือว่ามีอยู่ มีอยู่ในจิต
กำหนดให้รู้ภายในภายนอก
คราวนี้มีอยู่เพื่ออะไร ก็มีอยู่เพื่อที่จะสำหรับเป็นที่ตั้งของสติ
เพราะสตินั้นจำเป็นที่จะต้องมีที่ตั้ง เมื่อตั้งใจที่จะทำอานาปานสติ
ก็ต้องให้มีลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี่แหละเป็นที่ตั้งของสติ เป็นที่ตั้งของสติกำหนด
กำหนดยังไง ก็กำหนดให้รู้ภายใน ให้รู้ภายนอก ให้รู้ทั้งภายในทั้งภายนอก
ความที่ตั้งกำหนดให้รู้ดั่งนี้ ก็ไม่ต้องไปขวนขวายค้นหาว่า
ภายในอยู่ที่ไหน ภายนอกอยู่ที่ไหน ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ที่ไหน
มีอยู่ที่อารมณ์คือลมหายใจเข้าลมหายใจออก กับตัวสตินี่แหละ ที่ตั้งกำหนดอยู่
และเมื่อตั้งกำหนดอยู่ดั่งนี้ ความที่เป็นภายในความที่เป็นภายนอกของลม ก็รู้เอง
ก็คือว่าเมื่อเข้ามาก็เป็นภายใน ออกไปก็เป็นภายนอก เท่านี้
หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ เข้ามาก็เป็นภายใน ออกไปก็เป็นภายนอก
และก็ต้องให้รู้ทั้งภายในทั้งภายนอก คือทั้งเข้าทั้งออก ไม่สับสนกัน
และละเอียดขึ้นไปกว่านี้ก็ให้รู้ยาว ให้รู้สั้น ให้รู้กายทั้งหมด
และรู้แล้วก็ต้องปล่อย ให้สงบ ให้ละเอียด ไม่ยึดถือ ไม่ปรุงแต่ง
ก็เป็นความสงบกายสังขารคือเครื่องปรุงกาย ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปทำความสงสัยค้นหาอะไรมากมาย
ว่าภายในอยู่ที่ไหน ภายนอกอยู่ที่ไหน
เอาแค่นี้แหละ เข้าก็เป็นภายใน ออกก็เป็นภายนอก ให้รู้ ให้รู้ทั้งภายในทั้งภายนอก
และเมื่อจิตมีสติกำหนดอยู่ดั่งนี้ ลมหายใจก็มีอยู่ทั้งภายในทั้งภายนอก
ทั้งขาเข้า ทั้งขาออก ไม่หายไป หายไปเมื่อไรก็แปลว่าจิตฟุ้งออกไปแล้ว จิตไม่ตั้งแล้ว
หรือว่าสติหลงลืมไปเสียแล้ว ฟุ้งแล้ว จึงต้องให้มีอยู่
ฉะนั้น ความที่ตั้งสติกำหนดว่ากรรมฐานข้อที่ปฏิบัติมีอยู่
เช่นลมหายใจเข้าออกมีอยู่ดั่งนี้ ก็เพื่อสติกำหนด เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ
และเมื่อเป็นที่ตั้งของสติดั่งนี้แล้วก็รู้เอง รู้ภายในขึ้นมาเอง รู้ภายนอกขึ้นมาเอง
คือเข้าก็รู้ ออกก็รู้ ความทำความเข้าใจภายในภายนอกง่ายๆดั่งนี้ปฏิบัติง่าย
ไม่ต้องไปค้นหาว่านอกในอยู่ที่ไหน อยู่ที่นี่แหละ เพียงเท่านี้ก็เป็นตัวสติขึ้นมาได้
เกิดดับเป็นธรรมดา
(เริ่ม ๒๐/๒ ) และเพื่อญาณคือความหยั่งรู้นั้น
ก็คือว่าเพื่อให้รู้ว่ามีเกิดเป็นธรรมดา มีดับเป็นธรรมดา มีทั้งเกิดทั้งดับเป็นธรรมดา
ตอนนี้ก็เข้าขั้นที่จะเป็นวิปัสสนา แต่อันที่จริงนั้นจะเรียกว่าอนุปัสสนาก็ได้
คือเป็นการตามดูตามรู้ตามเห็นเหมือนกัน
ก็คือว่าเกิดเป็นธรรมดา ดับเป็นธรรมดานั้น
ก็ปรากฏอยู่แก่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่มีอยู่นี่แหละ
เพราะว่าคำว่ามีอยู่นี้ไม่ใช่หมายความว่าตั้งอยู่เป็นความตั้งอยู่ ไม่ใช่อย่างนั้น
แต่อันที่จริงนั้นก็เข้าออกนั่นแหละเป็นตัวความเกิดความดับ เข้าก็คือว่าเกิด ออกก็คือว่าดับ
แต่ว่ามีสันตติคือความสืบต่อเนื่องไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
จึงเหมือนอย่างว่าลมหายใจเข้าออกนี้ไม่มีดับ
แต่อันที่จริงนั้นมีเกิดมีดับอยู่ทุกขณะที่หายใจเข้าหายใจออก
ความเกิดความดับจึงปรากฏแก่ปัญญาหรือญาณที่กำหนดได้
เพราะฉะนั้น ก็เป็นความตามดูตามรู้ตามเห็นอีกเหมือนกัน
คือว่าตามดูในอาการที่เกิดของลมหายใจ ในอาการที่ดับของลมหายใจ
และให้รู้จักว่ามีสันตติคือความสืบต่อ ขาดสันตติคือความสืบต่อขาด
เช่นว่ากลั้นลมหายใจ หรือว่าจมน้ำ หรือว่าถูกรัดคอเป็นต้น
หากว่าสันตติคือความสืบต่อขาดในระยะที่ยังไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต ชีวิตก็ดำรงอยู่ได้
ถ้าขาดไปจนถึงขีดเป็นอันตรายแก่ชีวิต ชีวิตนี้ก็ดับในที่สุด ที่เรียกว่ามรณะคือความตาย
เวทนา ๓ อย่าง
ฉะนั้น ลองกลั้นลมหายใจดูจะเห็นว่าเมื่อสันตติขาดแล้วเป็นยังไง ก็จะพบ ทุกขเวทนา
ครั้นเมื่อเลิกกลั้นลมหายใจปล่อยให้หายใจไปตามปรกติเป็นยังไง ก็รู้สึกว่าเกิด สุขเวทนา
แต่ว่าในขณะที่ไม่ได้ลองกลั้นลมหายใจ และเลิกกลั้นปล่อยให้หายใจตามปรกติ
ก็จะไม่ค่อยรู้สึกว่ามีสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาเพราะลมหายใจ
เป็นเรื่องที่เป็นไปตามปรกติธรรมดา ก็มีเวทนาเหมือนกัน เรียกว่าเป็นเวทนาที่เป็นกลางๆ
ที่ไม่สุขแรงนัก ไม่ทุกข์แรงนัก อันที่จริงก็มีสุขมีทุกข์อยู่แต่ไม่แรงนักจนเป็นที่ปรากฏชัด
ก็เป็น อุเบกขาเวทนา ก็จับเวทนาได้อีกอย่างหนึ่งจากลมหายใจเข้าลมหายใจออก
เวทนาทางกาย
อันเวทนานี้เป็นสิ่งที่มีประจำอยู่ในกายและจิต หรือในกายและใจ อยู่ตลอดเวลา
เป็นลักษณะของความที่ยังมีชีวิตอยู่ของกายใจอันนี้
ซึ่งจะต้องมีเวทนาอยู่เสมอ เป็นเวทนาทางกายเป็นเวทนาทางใจ
เพราะฉะนั้นเวทนานี้จึงเป็นตัวนามธรรมชนิดที่หยาบ ประกอบอยู่ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ
เวทนาที่ประกอบอยู่ทางกายนี้ ก็ไม่ใช่กาย เป็นความรู้สึก
หรือเป็นความรู้อย่างหนึ่งในขณะที่ร่างกายยังมีประสาททั้งหลายเป็นปรกติ
และโดยเฉพาะเวทนาทางกายนี้ย่อมเกิดขึ้น เพราะสัมผัสสิ่งที่ถูกต้องทางกาย
อันเป็นอายตนะที่ ๕
อันอายตนะนั้นมี ๖ ภายใน ๖ ภายนอก ๖ คู่กัน กายเวทนาจิตคู่กัน
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ เป็นอายตนะภายใน
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวเป็นอายตนะภายนอก
ตากับรูปก็คู่กัน หูกับเสียงก็คู่กัน จมูกกับกลิ่นก็คู่กัน ลิ้นกับรสก็คู่กัน
กายและโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กายถูกต้องก็คู่กัน มนะคือใจและธรรมะคือเรื่องราวก็คู่กัน
โดยเฉพาะคู่ที่ ๕ ก็คือกายและโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง
คู่นี้แหละที่ทำให้เกิดเวทนาทางกายทั้งสุขทั้งทุกข์ และทั้งที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข
ดังจะพึงเห็นได้ว่ากายที่มีกายประสาทอยู่เป็นปรกติ
เมื่อได้รับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง จะเป็นดินฟ้าอากาศก็ตาม
เป็นสิ่งอื่นก็ตาม ที่เกื้อกูลให้เกิดความสุข ก็เกิดสุขเวทนาทางกาย
เช่นเวลาที่ร้อนก็ได้รับลมพัดให้เย็น ในเวลาที่หนาวก็ได้รับความอบอุ่น จะจากไฟก็ตาม
จากเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ตาม ดั่งนี้ก็เกิดความสุข เป็นความสุขทางกาย
ถ้าหากว่าไม่ได้รับสิ่งที่เกื้อกูลให้เกิดความสุขทางกาย ได้รับตรงกันข้าม
ก็เกิดทุกขเวทนาทางกาย เช่นต้องพบกับอากาศที่ร้อนมาก หนาวมาก
หรือว่าต้องประสบกับของแข้นแข็งที่มากระทบกระทั่งให้บอบช้ำลำบาก
ตลอดจนถึงต้องศาสตราอาวุธ เหล่านี้ ซึ่งเป็นเครื่องทำให้เกิดความทุกข์
ก็เกิดทุกขเวทนาทางกาย
ถ้าหากว่าสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่เป็นตัวโผฏฐัพพะมากระทบกระทั่งนั้น เป็นกลางๆ
ไม่ให้เกิดทุกข์ไม่ให้เกิดสุขอะไรมากนัก ก็เป็นเวทนาที่เป็นกลางๆ
ก็เป็นดั่งนี้อยู่ตลอดเวลา นี่เป็นทางกาย
เวทนาทางใจ
ส่วนว่าสัมผัสที่เกิดจากอายตนะคู่อื่นๆ
คือว่าเกิดจากตากับรูปประจวบกัน หูกับเสียงประจวบกัน จมูกกับกลิ่นประจวบกัน
ลิ้นกับรสประจวบกัน และมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวประจวบกัน
ในอีก ๕ ทางนี้ก็ให้เกิดเวทนาทางใจ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง
เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจให้รู้เวทนาทางใจนี้อีกสักหน่อยหนึ่ง
ดังเช่นตากับรูปประจวบกันก็หมายความว่าเห็นรูป
หากว่ารูปที่เห็นนั้นเป็นรูปที่เป็นที่ตั้งของความชอบใจพอใจ ก็ให้เกิดสุขเวทนาทางใจ
ถ้าเป็นรูปที่ไม่ทำให้ ที่ๆไม่เป็น ที่เป็นที่ตั้งของความไม่ชอบเกลียดชัง
ก็ให้เกิดทุกขเวทนาทางใจ
คำว่าตากับรูปประจวบกันนั้นจึงหมายถึงอย่างนี้
ตาเห็นรูป รูปที่เป็นที่ตั้งของความชอบก็มี ความชังก็มี
ก็ให้เกิดสุขเวทนา ให้เกิดทุกขเวทนาทางใจไปตามประเภท
แต่ไม่ใช่หมายความว่ารูปที่เป็นวัตถุนั้น เช่นว่าผงเข้าตา ผงเข้าตาก็เกิดความแสบคัน
ถ้าเป็นเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่หมายความว่าตากับรูปประจวบกันดังกล่าวนั้น
แต่ไปเข้าข้อๆที่ ๕ กายและโผฏฐัพพะ
เพราะว่าผงเข้าตานั้นหมายถึงตาที่เป็นส่วนกาย ไม่ใช่ประสาทที่ให้เห็น
ไม่ใช่เป็นตัวความเห็นรูป และผงนั้นก็เป็นโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง
ก็เกิดแสบคันเจ็บปวดขึ้นดั่งนี้ ก็มาเข้าข้อที่ ๕ ไม่ใช่เข้าข้อที่ ๑
ที่เข้าข้อที่ ๑ คือตากับรูปประจวบกันก็หมายถึงที่ตาเห็นรูป
รูปที่เห็นนั้นเป็นที่ตั้งของความชอบหรือไม่เป็นที่ตั้งของความชอบ
ก็ให้เกิดสุขให้เกิดทุกข์ไปตามประเภท
แม้ในข้อที่ ๒ ก็เหมือนกัน
หูกับเสียงประจวบกันก็หมายถึงว่าได้ยินเสียง
เมื่อได้ยินเสียงที่พอใจก็ให้เกิดสุข ที่ไม่พอใจก็ให้เกิดทุกข์
แต่ว่าถ้าเป็นเสียงชนิดที่ว่า เช่นว่าเสียงดังเกินไปทำให้แสบแก้วหู
ถ้าเป็นดั่งนี้ก็ไปเข้าข้อที่ ๕ คือกายและโผฏฐัพพะ
เพราะว่าอาการที่แสบแก้วหูนั้นเป็นเรื่องของกาย คือส่วนกาย
แล้วก็ตัวเสียงนั้นเองก็เป็นตัวโผฏฐัพพะที่มากระทบ อันทำให้แสบแก้วหู
หรือจนถึงทำให้หูตึงหูหนวก ก็มาเข้าข้อที่ ๕ คือกายและโผฏฐัพพะ
ส่วนที่เป็นข้อที่ ๒ หูกับเสียงนี้ หมายถึงว่าได้ยินเสียง
ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ เช่นว่าได้ยินเสียงที่พอใจ
ถ้าใครพอใจฟังธรรมะได้ฟังธรรมะที่พอใจ ก็เกิดความสุขเวทนาทางใจ
หรือใครที่พอใจจะฟังเสียงอย่างอื่น เมื่อได้ฟังเสียงอย่างนั้นแล้วก็เกิดความสุขขึ้น
ก็เกิดสุขเวทนาทางใจ แต่ว่าถ้าเป็นเสียงที่ไม่น่าพอใจ เช่นว่าเสียงด่าเสียงว่าอะไรเป็นต้น
มากระทบกระทั่งใจเข้า ก็เกิดทุกขเวทนาทางใจขึ้นมา
ดังนี้ให้เกิดทุกขเวทนาทางใจ เกี่ยวแก่อายตนะข้อหูกับเสียงนี้
จมูกกับกลิ่นก็เหมือนกัน
ก็หมายถึงกลิ่นที่ชอบหรือไม่ชอบใจ แล้วก็เกิดทุกข์หรือสุขทางใจขึ้น
ลิ้นกับรสก็เหมือนกัน ก็หมายถึงว่ารสที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ก็เกิดทุกข์หรือสุขทางใจขึ้น
และมาถึงข้อสุดท้ายคือมโน ใจกับธรรมะคือเรื่องราวก็เหมือนกัน
ก็ถ้าเป็นเรื่องที่พอใจ ก็ทำให้เกิดสุขเวทนา ถ้าไม่พอใจก็ให้เกิดทุกขเวทนา
เพราะฉะนั้น สำหรับที่ให้เกิดเวทนาทางกายนั้นจึงมีข้อเดียว คือข้อกายและโผฏฐัพพะ
ส่วนข้อตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส และใจกับธรรมะคือเรื่องราวนั้น
ให้เกิดสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาทางใจ
ปัจจัยให้เกิดตัณหา
ฉะนั้น บุคคลจึงต้องมีเวทนาทางกายทางใจกันอยู่ตลอดเวลา
ที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
และเวทนานี้เองที่เป็นต้นทางให้เกิดราคะโทสะโมหะ หรือโลภโกรธหลง
หรืออีกอย่างหนึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ว่า เวทนาปัจจยาตัณหา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัยเกิดตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก
เพราะฉะนั้นอันตัวกิเลสตัณหาก็ดี ราคะโทสะโมหะก็ดี หรือว่าโลภโกรธหลงก็ดี
ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลนั้น ย่อมสืบเนื่องมาจากเวทนาดังกล่าวมา
จะต้องมีเวทนาขึ้นก่อน เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
ซึ่งเวทนานี้เองเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา หรือให้เกิดกิเลสทั้งหลายดังกล่าวนั้น
อันตัวเวทนานั้นอันที่จริงก็เป็นขันธ์ข้อหนึ่งในขันธ์ ๕
ซึ่งขันธ์ ๕ นี้เป็นวิบากคือผลของกรรมและกิเลส ซึ่งเป็นชนกกรรมให้เกิดมา
เกิดก่อขันธ์ ๕ ขึ้นมา เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงเป็นกายใจอันนี้
เพราะฉะนั้น ตัวขันธ์ ๕ หรือตัวกายใจ หรือนามรูป เป็นวิบากขันธ์
ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล แต่เป็นตัวกลางๆ ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป เป็นตัวกลางๆ
เพราะฉะนั้น ตัวขันธ์ ๕ เองนี้จึงเป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ
เป็นตัวผล เป็นตัววิบาก ไม่จัดว่าเป็นบุญ ไม่จัดว่าเป็นบาป
ไม่จัดว่าเป็นกุศล ไม่จัดว่าอกุศล เป็นตัววิบากซึ่งเป็นกลางๆ
แต่ว่าบุคคลหรือว่าจิตนี้ก็อาศัยขันธ์ ๕ นี้แหละ
ทำดีบ้างทำชั่วบ้าง ทำบาปบ้างทำบุญบ้าง กุศลบ้างอกุศลบ้าง
หรือว่าทำเป็นกลางๆไม่ใช่บาปไม่ใช่บุญบ้าง กันอยู่
และเพราะเหตุนี้ จึงกล่าวว่าเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา หรือเกิดกิเลสทั้งหลาย
และบรรดาขันธ์ที่จะเป็นปัจจัยดังกล่าวอย่างชัดเจนนั้นก็คือตัวเวทนานี้เอง
สติกำหนดเวทนา
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าเมื่อได้ทรงตรัสสอนให้ทำสติกำหนดกายแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นหยาบ
กำหนดง่าย จึงได้ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดเวทนา ตามรู้ตามดูตามเห็นเวทนา
และเมื่อมีสติกำหนดเวทนาอยู่ ก็คือว่าทีแรกก็กำหนดว่าเวทนามีอยู่ดังกล่าวนั้นนั่นเอง
เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ ให้เวทนาเป็นอารมณ์ที่ตั้งอยู่ในจิต ไม่หายไปจากจิต ก็เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ
ก็กำหนดตามดูตามรู้ตามเห็นภายในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก นั่นแหละ
จะกำหนดพร้อมกับลมหายใจเข้าออกก็ได้ แต่ไม่มุ่งที่จะกำหนดลมหายใจดั่งนั้น
แต่มุ่งกำหนดตามดูตัวเวทนาที่ได้จากการหายใจ ที่จะบังเกิดขึ้นจากการหายใจ ดั่งนี้ก็ได้
และเวทนาที่บังเกิดขึ้นนี่ก็เป็นภายใน หายไปก็เป็นภายนอก
เพราะเวทนานี้ก็มีความเกิดขึ้นและดับไป อยู่เช่นเดียวกับลมหายใจเหมือนกัน
หากกำหนดแล้วจะเห็นได้ เช่นว่าสุขเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะเกิดขึ้นตลอดไป
เช่นว่าเมื่อยืนนานๆก็นั่ง ก็รู้สึกว่าเป็นสุข ครั้นนั่งนานๆแล้วก็รู้สึกว่าไม่เป็นสุขเสียแล้วเป็นทุกข์ ต้องยืนขึ้นมาอีก ดั่งนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นแม้สุขทุกข์นี้ก็มาและไป มาและไป
สลับกันไปอยู่เสมอตลอดเวลา
มโนคือใจและธรรมะคือเรื่องราวก็เช่นเดียวกัน
เมื่อประจวบกันก็ต้องเกิดเวทนาขึ้นก่อน เป็นที่ชอบใจก็สุขไม่ชอบใจก็ทุกข์ ก็เป็นอยู่ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าสุขทุกข์ที่เป็นตัวเวทนานี้ มาและไปอยู่ตลอดเวลา
ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางใจบ้าง
และทางกายอันเป็นของหยาบนั้นบ้าง ตามอารมณ์ที่มาประสบนั้นเอง
เพราะฉะนั้น คนเรานั้นต้องประสบอารมณ์ร้อยแปดอยู่มากมาย ไม่สามารถจะนับถ้วน
สุข ทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขซึ่งเป็นตัวเวทนาก็เกิดขึ้นมากมาย นับไม่ถ้วนเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อหัดทำสติกำหนดกายแล้ว ก็ให้มาหัดสติกำหนดเวทนา
จะได้ให้ทันเวทนามากขึ้น และเมื่อทันเวทนามากขึ้นแล้วก็จะเป็นการระงับกิเลสได้มาก
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป