ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป135

หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

ธรรมะอันแสดงถึงวิธีปฏิบัติธรรม ๒

โพชฌงค์ ๗ ๓

อาหารของโพชฌงค์ ๗ ๔

หลักโพชฌงค์ในหมวดนิวรณ์ ๕

ธรรมวิจยะเลือกเฟ้นธรรม ๕

วิริยะความเพียร ๕

ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ๖

หลักโพชฌงค์ในหมวดขันธ์ ๕ ๗

หลักโพชฌงค์ในหมวดอายตนะ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๗๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๕/๒ ( File Tape 135 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสติปัฏฐาน

โดยเฉพาะในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

คือ ตั้งสติ หรือ สติตั้ง ตามดูธรรมะคือเรื่องในจิตใจ

ได้ทรงแสดงนิวรณ์ ๕ ทรงแสดงขันธ์ ๕ ทรงแสดงอายตนะ ๖

และไม่ใช่ทรงแสดงจำเพาะ นิวรณ์ ขันธ์ อายตนะ ยังแสดงถึงวิธีปฏิบัติในการละนิวรณ์

ในการกำหนดรู้ขันธ์ ๕ ในการกำหนดรู้อายตนะภายนอกภายใน ภายในภายนอก

และสังโญชน์ที่บังเกิดอาศัยอายตนะทั้ง ๒ มาประจวบกัน และการละสังโญชน์

จึงมีวิธีปฏิบัติธรรมะในข้อเหล่านั้น

 

ธรรมะอันแสดงถึงวิธีปฏิบัติธรรม

 

ฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงวิธีปฏิบัติธรรมะในข้อเหล่านั้น

คือในการละนิวรณ์เป็นต้นดังกล่าว จึงได้ตรัสหมวดโพชฌงค์ต่อไป

โพชฌงค์นี้จึงเป็นหมวดธรรมะสำคัญ อันแสดงถึงวิธีปฏิบัติธรรมะนั้นเอง

ในการปฏิบัติธรรมะทั้งปวงที่จำแนกโดยปริยายคือทางแสดงต่างๆ

ยกตัวอย่าง เช่น สมถกรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นไปเพื่อสมถะคือความสงบใจ

โดยวิธีทำสมาธิตั้งจิตมั่นให้เป็นอารมณ์อันเดียว

วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นไปเพื่อวิปัสสนาความเห็นแจ้งรู้จริง อันเป็นวิปัสสนาปัญญา

วิธีปฏิบัติทั้ง ๒ นี้ ก็ต้องเป็นโพชฌงค์นั้นเอง คือเป็นวิธีปฏิบัติในโพชฌงค์

เพราะฉะนั้น โพชฌงค์จึงเป็นหลักธรรมะอันสำคัญ ที่ผู้ปฏิบัติธรรมะพึงใช้ปฏิบัติ

ตามแนวโพชฌงค์นั้น ในธรรมปฏิบัติทั้งปวง

 

โพชฌงค์ ๗

 

คำว่า โพชฌงค์ นั้นตามศัพท์แปลว่าองค์คุณ หรือองค์สมบัติแห่งความตรัสรู้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ว่า เป็นไปเพื่อความตรัสรู้

คือธรรมะที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ เรียกว่าโพชฌงค์ ซึ่งมี ๗ ประการ

อันได้แก่ สติโพชฌงค์ หรือสติสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์คือสติ

ธัมมวิจยโพชฌงค์ หรือธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์

โพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์คือธัมมวิจยะเลือกเฟ้นธรรม

วิริยะโพชฌงค์ หรือวิริยะสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์คือวิริยะความเพียร

ปีติโพชฌงค์ หรือปีติสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์คือปีติความอิ่มเอิบใจ

ปัสสัทธิโพชฌงค์ หรือปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

โพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์คือปัสสัทธิความสงบรำงับ

สมาธิโพชฌงค์ หรือสมาธิสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์คือสมาธิความตั้งใจมั่น

อุเบกขาโพชฌงค์ หรืออุเบกขาสัมโพชฌงค์

โพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์คืออุเบกขาความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ สงบอยู่ในถายใน

รวมทั้ง ๗ ประการ

อาหารของโพชฌงค์ ๗

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอาหารของโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ไว้

ว่าเหมือนอย่างร่างกายต้องอาศัยอาหาร แม้โพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ก็ต้องอาศัยอาหาร

จึงจะบังเกิดขึ้นเจริญขึ้น และอาหารของโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์นี้ก็มี ๒ อย่าง คือ

อาหารที่จำเพาะข้ออย่างหนึ่ง อาหารที่ทั่วไปแก่ทุกข้ออย่างหนึ่ง

 

สำหรับอาหารที่ทั่วไปทุกข้อนั้นได้แก่การทำไว้ในใจ

การกระทำให้มากโดยแยบคาย เรียกตามศัพท์แสงว่า โยนิโสมนสิการ พหุลีการ

มนสิการ ก็คือทำไว้ในใจ พหุลีการ ก็คือการกระทำให้มาก

โยนิโส ก็คือโดยแยบคาย ได้แก่โดยพิจารณาให้จับให้ได้ถึงต้นเหตุ

อันหมายถึงว่าจับเหตุจับผล จับต้นจับปลายให้ถูกต้อง

 

ส่วนอาหารจำเพาะข้อนั้น

ข้อที่ ๑ คือ สติ ตรัสแสดงเป็นกลางๆว่า ธรรมะทั้งหลายที่เป็นที่ตั้งของสติ

ข้อที่ ๒ ธัมมวิจยะ หรือธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรม ตรัสแสดงว่าคือธรรมะที่เป็นกุศลเป็นอกุศล

ที่มีโทษไม่มีโทษ ที่เลวที่ประณีต และที่มีส่วนเทียบได้กับสีดำสีขาว

ข้อ ๓ วิริยะ ความเพียร ก็ได้แก่ อารัมภธาตุ ธาตุคือความริเริ่ม

นิคมธาตุ ธาตุคือความเริ่ม ธาตุคือความดำเนินไป

ปรักมธาตุ ธาตุคือความดำเนินให้ก้าวหน้าไปจนถึงที่สุด

ข้อ ๔ ปีติ ตรัสแสดงว่าได้แก่ธรรมะที่เป็นที่ตั้งของปีติ

ข้อที่ ๕ ปัสสัทธิ ตรัสแสดงว่าได้แก่กายปัสสัทธิสงบกาย ปัสสัทธิสงบใจ

ข้อที่ ๖ สมาธิ ตรัสแสดงว่าได้แก่สมาธินิมิต นิมิตคือเครื่องกำหนดหมายแห่งสมาธิ

และ อัพยฆะ อันได้แก่ความที่จิตไม่แตกแยกแบ่งแยก แต่มียอดเป็นอันเดียวไม่หลายยอด

คือไม่แตกยอดมาก ก็คือจิตที่รวมเป็นหนึ่ง

ข้อที่ ๗ อุเบกขา ตรัสแสดงว่าธรรมะที่เป็นที่ตั้งของอุเบกขา

หลักโพชฌงค์ในหมวดนิวรณ์

 

คราวนี้มาข้อที่ ๑ อาหารจำเพาะข้อ ได้แก่ธรรมะที่เป็นที่ตั้งของสติ

ก็คือว่าสุดแต่จะปฏิบัติในข้อไหน ก็ต้องตั้งสติในข้อนั้น

เช่นว่า จะปฏิบัติในข้อนิวรณ์ ก็ต้องตั้งสติกำหนดนิวรณ์ คือต้องตั้งสติกำหนดกามฉันท์

ความพอใจรักใคร่ในกาม คือความชอบในจิตใจที่บังเกิดขึ้น

ตั้งสติกำหนดพยาบาท คือความกระทบกระทั่ง หงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง

มุ่งร้ายหมายขวัญ ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ

ตั้งสติกำหนดให้รู้จักถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ

ตั้งสติกำหนดให้รู้จักอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ

ตั้งสติกำหนดให้รู้จักวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ

คือให้รู้จักว่าข้อไหนบังเกิดขึ้นอย่างไรในจิตใจ นี่เป็นสติสถานด้วย

เป็นสติปัฏฐานด้วย และสืบต่อเป็นสติสัมโพชฌงค์ด้วย อันนับว่าเป็นข้อแรก

 

ธรรมวิจยะเลือกเฟ้นธรรม

 

จึงมาถึงข้อที่ ๒ วิจัยคือเลือกเฟ้นธรรม

ก็คือเลือกเฟ้นธรรมอันได้แก่นิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนี้ทุกข้อ

ให้รู้จักว่านิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล มีโทษหรือไม่มีโทษ

เลวหรือประณีต เป็นสิ่งที่มีส่วนเทียบด้วยสีดำหรือสีขาว

เมื่อเลือกเฟ้นดูที่จิตแล้วก็ให้รู้ว่านิวรณ์ทั้ง๕ นี้เป็นอกุศลมีโทษ

เลวมีส่วนเทียบด้วยสีดำ ดั่งนี้เป็นธัมมวิจัยคือเลือกเฟ้นธรรม

 

วิริยะความเพียร

 

จึงมาถึงข้อ ๓ วิริยะคือความเพียร

อันความเพียรนั้นกล่าวโดยย่อ ก็คือ ปหานะ เพียรละอย่างหนึ่ง

ภาวนา เพียรอบรมให้มีขึ้นเป็นขึ้นอีกอย่างหนึ่ง

ถ้าหากว่าเป็นอกุศล มีโทษ เลว มีส่วนเทียบด้วยสีดำ ก็ควรละ ไม่ควรเก็บไว้

แต่ถ้าเป็นกุศล ไม่มีโทษ ดี ประณีต มีส่วนเทียบด้วยสีขาว ก็อบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

คือรักษาไว้ และอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ให้เจริญขึ้น

นิวรณ์นั้นเป็นอกุศล มีโทษ ดำ มีเป็นอกุศล มีโทษ เลว มีส่วนเทียบกับสีดำ

จึงควรละ จึงปฏิบัติละเสีย ดั่งนี้ก็เป็นวิริยะโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์

 

ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา

 

จึงมาถึงข้อ ๔ คือปีติ คือความอิ่มเอิบใจ

คือเมื่อละนิวรณ์ได้ก็ย่อมจะมีปีติคือความอิ่มเอิบใจ

เพราะว่าจิตใจที่มีนิวรณ์นั้น เป็นจิตใจที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส

เป็นจิตใจที่เครียด เป็นจิตใจที่มัวซัวไม่แจ่มใส เป็นจิตใจที่ไม่ตั้งมั่น

ไม่แน่นอน กลับกลอกคลอนแคลน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีปีติคือความอิ่มเอิบใจ

แต่ว่าจิตใจที่ละนิวรณ์ได้ ที่พ้นนิวรณ์ได้แล้ว ย่อมเป็นจิตใจที่ใสสะอาด

ที่ผุดผ่อง ผ่องใส จึงบังเกิดปีติคือความอิ่มเอิบใจ ดูดดื่มใจ

 

จึงส่งถึงข้อที่ ๕ ปัสสัทธิ ความสงบกายความสงบใจ

เมื่อกายใจสงบมีสุข ก็ส่งถึงข้อที่ ๖ คือสมาธิ จิตใจก็ตั้งมั่น

ไม่ฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย แน่วแน่ เมื่อได้ข้อนี้ซึ่งเป็นข้อที่ ๖

ก็ส่งถึงข้อ ๗ คืออุเบกขา คือความที่จิตเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ในภายในด้วยปัญญา

ที่ละยินดีละยินร้ายได้ สงบอยู่ในภายในเป็นอุเบกขา อันเป็นข้อที่ครบ ๗

 

เพราะฉะนั้น แม้ในข้อนิวรณ์นี้ ก็ต้องอาศัยปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้

จึงจะเป็นไปในการละนิวรณ์ได้ และได้ผลจากการละนิวรณ์ ตามหลักของโพชฌงค์ดังกล่าว

หลักโพชฌงค์ในหมวดขันธ์ ๕

 

แม้ในหมวดที่แสดงขันธ์ ๕ ก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้กำหนดสติ

พร้อมทั้งสติสัมโพชฌงค์ในขันธ์ ๕ ให้รู้จักว่าอย่างนี้รูป อย่างนี้เวทนา

อย่างนี้สัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้วิญญาณ ( เริ่ม ๑๗๕/๒ ) ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์

ต่อไปก็ให้มีธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรม ว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ

คือไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่มีคุณไม่ใช่มีโทษ ไม่ใช่เลวไม่ใช่ประณีต

และไม่ใช่มีส่วนเทียบด้วยสีดำหรือสีขาว แต่เป็นกลางๆ

 

เพราะเป็นวิบากขันธ์ คือขันธ์ที่เป็นวิบาก

ซึ่งทุกๆคนได้ขันธ์ ๕ นี่มาตั้งแต่เกิด ก็อาศัยขันธ์ ๕ นี้เอง ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง

เพราะถ้าไม่มีขันธ์ ๕ แล้ว ทุกคนก็ไม่สามารถจะทำดีทำชั่วได้

ต้องอาศัยขันธ์ ๕ จึงทำดีทำชั่วได้ กรรมที่กระทำไปนั้น มีเป็นดี มีเป็นชั่ว

แต่ว่าตัวขันธ์ ๕ เองเป็นเครื่องมือ ไม่ดี ไม่ชั่ว

เช่นเดียวกับเครื่องมือทั้งหลาย เช่นว่ามีดพร้าซึ่งเป็นเครื่องมือนั้น

สุดแต่คนจะใช้ให้เป็นคุณ หรือให้เป็นโทษ เมื่อใช้ในการหัตถกรรมต่างๆ

เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้าง หรือในทางอื่นให้เกิดเป็นประโยชน์นั้นๆก็เป็นการดี

แต่เมื่อใช้ในทางทำร้ายซึ่งกันและกัน ก็เป็นความชั่ว อยู่ที่กรรมที่คนใช้เครื่องมือนี้กระทำขึ้นมา

แต่ตัวมีดพร้าที่เป็นเครื่องมือเองนั้นเป็นกลางๆ ไม่ใช่เป็นของดีไม่ใช่เป็นของชั่วดังที่กล่าวแล้ว

ฉันใดก็ดี ขันธ์ ๕ ก็ฉันนั้น เป็นกลางๆ

 

เพราะฉะนั้น หน้าที่ซึ่งพึงปฏิบัติในขันธ์ ๕ นั้น ซึ่งเป็นความเพียร

จึงไม่ใช่เป็นความเพียรเพื่อที่จะละ หรือความเพียรที่จะอบรม

แต่ว่าเป็นความเพียรที่กำหนดรู้ กำหนดรู้ให้รู้จักว่า ความเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ เป็นอย่างนี้

ความดับไปของขันธ์ ๕ เป็นอย่างนี้ คือให้รู้จักธรรมดา อันได้แก่ความเกิดความดับของขันธ์ ๕

นี้เป็นความเพียรอันเป็นวิริยะสัมโพชฌงค์

และเมื่อได้ปฏิบัติด้วยความเพียรอันเป็นวิริยะสัมโพชฌงค์ดั่งนี้

ก็ย่อมจะได้ปีติ เป็นปีติสัมโพชฌงค์ และก็จะได้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไปโดยลำดับ

ฉะนั้นแม้ในหมวดขันธ์ ๕ นี้ วิธีปฏิบัตินั้นก็ต้องใช้วิธีปฏิบัติในโพชฌงค์ ๗ นี้นั้นเอง

 

หลักโพชฌงค์ในหมวดอายตนะ

 

และมาถึงหมวดอายตนะก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องใช้สติ เป็นสติปัฏฐาน

เป็นสติสัมโพชฌงค์ กำหนดให้รู้จักว่านี่อายตนะภายใน นี่อายตนะภายนอก

แล้วก็นี่อาศัยอายตนะภายในอายตนะภายนอกเกิดสัญโญชน์ขึ้นมา นี้เป็นสติสัมโพชฌงค์

ต่อไปก็ให้มีธัมมวิจยเลือกเฟ้นธรรม หรือวิจัยธรรม เป็นข้อที่ ๒

คือให้รู้จักว่าสำหรับตัวอายตนะเองนั้นก็เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆไม่ดีไม่ชั่ว เหมือนอย่างขันธ์ ๕

เพราะเป็นวิบากอายตนะ เช่นเดียวกับเป็นวิบากขันธ์ที่ทุกคนได้มาตั้งแต่เกิด

แต่ว่าตัวสัญโญชน์นั้นคือความผูกใจ มีลักษณะเป็นความติดใจยินดี

เป็นอกุศลธรรม มีโทษ เลว และมีส่วนเทียบด้วยสีดำ

เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ควรละ ดั่งนี้ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

จึงมาถึงวิริยะสัมโพชฌงค์ ก็เพียรละสัญโญชน์เสีย และเมื่อเพียรละก็ย่อมจะละได้

และเมื่อละได้ก็ย่อมได้ปีติ ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิ ได้อุเบกขา ไปโดยลำดับ

เพราะฉะนั้น แม้ในข้ออายตนะ ๖ นั้น ก็ต้องอาศัยวิธีปฏิบัติคือโพชฌงค์ทั้ง ๗ ดังกล่าวมานี้

 

ฉะนั้น โพชฌงค์ ๗ จึงเป็นหลักธรรมสำคัญ

ซึ่งต้องใช้ปฏิบัติมาตั้งแต่ในเบื้องต้น คือในหมวดสติปัฏฐาน ๔ นี้เอง

ที่เป็นมหาสติปัฏฐานสูตร จำแนกแสดงหมวดกายไว้เป็นอันมาก

หมวดจิต หมวดเวทนา และในหมวดธรรมะข้อ ๔ นี้เอง เป็นอันมาก

ทุกข้อนั้นก็ตั้งต้นด้วยสติปัฏฐาน คือตั้งสติกำหนด และก็เลื่อนขึ้นเป็นสติสัมโพชฌงค์

ต้องใช้โพชฌงค์ทั้ง ๗ ข้อนี้ในทางปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ทุกข้อมา ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว

คือตั้งแต่หมวดอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกมาทีเดียว

ต้องอาศัยหลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้มาทุกข้อในเบื้องต้น

และก็ต้องอาศัยโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ เป็นหลักปฏิบัติต่อไปในข้อปลายต่อไปคืออริยสัจจ์ทั้ง ๔

โพชฌงค์จึงเป็นธรรมะ เป็นๆหมวดธรรมที่เป็นหลักสำคัญ ดั่งนี้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

 เบื้องต้นแห่งการปฏิบัติธรรม

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

ขั้นปฏิบัติที่เป็นสติปัฏฐาน ๒

ขั้นปฏิบัติที่เป็นโพชฌงค์ ๓

สุจริต ๓ เบื้องต้นของสติปัฏฐาน ๔

อินทรียสังวร ๔

ศีลเป็นภาคพื้นของการปฏิบัติ ๖

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๗๕/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๖/๑ ( File Tape 135 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

เบื้องต้นแห่งการปฏิบัติธรรม

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย

ว่าเบื้องต้นแห่งโพชฌงค์นั้น ก็ได้แก่สติปัฏฐาน

คือปฏิบัติสติปัฏฐานก่อน แล้วจึงปฏิบัติโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์

สติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น ก็ได้แก่ตั้งสติตามดู กาย เวทนา จิต ธรรม

และเมื่อได้ตั้งสติกำหนดดูดังกล่าว ก็ปฏิบัติโพชฌงค์ต่อ

 

ขั้นปฏิบัติที่เป็นสติปัฏฐาน

 

ในข้อนี้พิจารณาก็ย่อมจะเห็นว่า สติปัฏฐานที่ปฏิบัติก่อนโพชฌงค์

ไม่ใช่สติปัฏฐานที่ตรัสแสดงจำแนกวิธีปฏิบัติ ในแต่ละปัพพะหรือแต่ละข้อ

เพราะว่าวิธีปฏิบัติที่ตรัสไว้นั้น เมื่อพิจารณาดูตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้

ว่าโพชฌงค์เป็นทางปฏิบัติแห่งกรรมฐานทั้งปวง ทั้งสมถกรรมฐาน ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน

ก็ควรจะเข้าใจว่า ข้อที่ตรัสจำแนกไว้ในแต่ละข้อ

เช่นข้ออานาปานปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยลมหายใจเข้าออก

อิริยาปถปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยอิริยาบถเป็นต้น เป็นการทรงแสดงสัมโพชฌงค์รวมอยู่ด้วยแล้ว

คือเป็นวิธีปฏิบัติแต่ละข้อนั้น ในเมื่อแสดงคู่กัน คือสติปัฏฐาน และสัมโพชฌงค์

ก็พึงเห็นว่า จำกัดความหมายของสติปัฏฐานเพียงตั้งสติกำหนดกาย ว่ากายอย่างนี้

กำหนดเวทนาว่าเวทนาอย่างนี้ กำหนดจิตว่าจิตอย่างนี้

กำหนดธรรมะคือเรื่องในจิตว่าธรรมะอย่างนี้ เพียงเท่านี้เป็นสติปัฏฐาน

 

ขั้นปฏิบัติที่เป็นโพชฌงค์

 

ขั้นตอนของการปฏิบัติต่อไป

คือขั้นตอนที่กำหนด เช่นในอานาปานสติปัพพะที่ให้รู้ว่า

หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น

ศึกษาว่าเราจะรู้กายทั้งหมดหายใจเข้า ศึกษาว่าเราจะรู้กายทั้งหมดหายใจออก

ศึกษาว่าเราจะสงบระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายคือลมหายใจ หายใจเข้าหายใจออก

ให้รู้ภายใน ให้รู้ภายนอก ให้รู้ทั้งภายในทั้งภายนอก

ให้รู้ว่ามีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีดับไปเป็นธรรมดา ให้รู้ว่ามีทั้งเกิดทั้งดับเป็นธรรมดา

ให้รู้สักแต่ว่ากายเวทนาจิตธรรมมีอยู่เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งสติ ไม่ยึดมั่นอะไรๆในโลก

อันเป็นทางพิจารณาปฏิบัติในสติปัฏฐานทุกข้อ เหล่านี้เป็นโพชฌงค์

อันนับได้ว่าตั้งแต่ข้อสติสัมโพชฌงค์ คือเป็นสติที่เพื่อ เพื่อรู้

เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เลือกเฟ้นธรรม เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

เป็นวิริยะสัมโพชฌงค์ คือเป็นการเพียรละความยึดมั่นอะไรๆในโลกทั้งหมด

ละความยึดมั่นกายเวทนาจิตธรรม ก็ส่งไปปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นไปดั่งนี้ทุกข้อ

 

เพราะฉะนั้น เมื่อยกสติปัฏฐานขึ้นเป็นที่ตั้ง สัมโพชฌงค์จึงรวมอยู่ในสติปัฏฐาน

และหากว่าจะคิดแบ่งว่าอะไรเป็นสติปัฏฐานโดยจำเพาะ อะไรเป็นโพชฌงค์ ก็แบ่งได้

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงมาก่อน จะเป็นโพชฌงค์จะต้องมีสติปัฏฐานขึ้นก่อน

 

สุจริต ๓ เบื้องต้นของสติปัฏฐาน

 

พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสอีกว่า เบื้องต้นของสติปัฏฐานก็คือสุจริตทั้ง ๓

กายสุจริต สุจริตทางกาย วจีสุจริต สุจริตทางวาจา มโนสุจริต สุจริตทางใจ

พึงปฏิบัติให้มีสุจริตทั้ง ๓ นี้ก่อน จึงปฏิบัติสติปัฏฐาน

สุจริตทั้ง ๓ นี้ก็มีอธิบายว่า กายสุจริตทางกาย ๓ คือเว้นจากการฆ่า เว้นจากการลัก

เว้นจากประพฤติผิดในกาม หรืออย่างยิ่งก็เว้นจากอพรหมจริยกิจ

วจีสุจริต ๔ ก็คือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ

เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

 

มโนสุจริต ๓ ก็คือ ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่น

น้อมมาเป็นของตน คือน้อมคิดมาเป็นของตน ไม่พยาบาทปองร้าย

และเป็นสัมมาทิฏฐิคือเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม

พึงปฏิบัติให้มีสุจริตทั้ง ๓ นี้ก่อน จึงปฏิบัติสติปัฏฐาน และจึงปฏิบัติโพชฌงค์

 

อินทรียสังวร

 

อนึ่ง พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสอีกว่าก่อนสุจริต ๓

ก็พึงปฏิบัติในอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ คือมีสติสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖

คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ โดยได้ตรัสอธิบายไว้มีใจความว่า

เห็นรูปด้วยจักษุคือดวงตา ก็ไม่เพ่งเล็งรูปที่น่าพอใจ ไม่ทำราคะให้บังเกิดขึ้น

ไม่เก้อเขินกระทบกระทั่งรูปที่ไม่น่าพอใจ มีใจปล่อยวาง ไม่ยึดถือ

มีกายตั้งสงบ มีจิตใจตั้งสงบไม่ติด วิมุติคือพ้นด้วยดี

ฟังเสียงด้วยหูก็เช่นเดียวกัน ไม่เพ่งเล็งเสียงที่น่าพอใจ ไม่ยังราคะให้บังเกิดขึ้น

ไม่เก้อกระทบกระทั่งเสียงที่ไม่น่าพอใจ ปล่อยวาง

มีกายตั้งสงบ มีจิตใจตั้งสงบ วิมุติหลุดพ้นด้วยดี

 

ทราบกลิ่นด้วยจมูกก็เช่นเดียวกัน ไม่เพ่งเล็งกลิ่นที่น่าพอใจ ไม่ยังราคะให้บังเกิดขึ้น

ไม่เก้อเขินกระทบกระทั่งกลิ่นที่ไม่น่าพอใจ ปล่อยวาง

( เริ่ม ๑๗๖/๑ ) มีกายตั้งสงบ มีจิตใจตั้งสงบ วิมุติหลุดพ้นด้วยดี

 

ทราบรสด้วยลิ้นก็เช่นเดียวกัน ไม่เพ่งเล็งรสที่น่าพอใจ ไม่ยังราคะให้บังเกิดขึ้น

ไม่เก้อเขินกระทบกระทั่งรสที่ไม่น่าพอใจ ปล่อยวาง

มีกายตั้งสงบ มีจิตใจตั้งสงบ วิมุติหลุดพ้นด้วยดี

 

ทราบคือถูกต้องสิ่งถูกต้องด้วยกายก็เช่นเดียวกัน ไม่เพ่งเล็งสิ่งถูกต้องที่น่าพอใจ

ไม่ยังราคะให้บังเกิดขึ้น ไม่เก้อเขินกระทบกระทั่งสิ่งถูกต้องที่ไม่น่าพอใจ ปล่อยวาง

มีกายตั้งสงบ มีจิตใจตั้งสงบ วิมุติหลุดพ้นด้วยดี

 

รู้คิดธรรมะคือเรื่องราวด้วยใจก็เช่นเดียวกัน ไม่เพ่งเล็งเรื่องที่น่าพอใจ

ไม่ยังราคะให้บังเกิดขึ้น ไม่เก้อเขินกระทบกระทั่งเรื่องที่ไม่น่าพอใจ ปล่อยวาง

มีกายตั้งสงบ มีจิตใจตั้งสงบ วิมุติหลุดพ้นด้วยดี

 

ดั่งนี้ เป็นอินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์

ผู้ปฏิบัติธรรมะพึงปฏิบัติในอินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ดั่งนี้ก่อน

จึงปฏิบัติสุจริต ๓ ครั้นปฏิบัติสุจริต ๓ แล้วจึงปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔

แล้วจึงปฏิบัติในโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ติดต่อกันไป

 

อนึ่ง ได้ตรัสไว้โดยปริยายคือทางอันอื่นอีกว่า

เบื้องต้นของโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์ก็คือศีล

ตรัสศีลเพียงข้อเดียว ไม่ได้แจกเป็นสุจริต ๓ เป็นอินทรียสังวร

แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็พึงเข้าใจว่า ศีลนั้นก็คือสุจริต ๓ และอินทรียสังวรนั้นเองเป็นศีล

ฉะนั้น แม้จะมีถ้อยคำต่างกัน แต่อรรถคือเนื้อความก็เป็นอันเดียวกัน

กล่าวคือปฏิบัติในศีลนั้นเอง ก็เป็นการปฏิบัติในสุจริต ๓ และในอินทรียสังวร

ทั้งยังมีแสดงไว้ในที่อื่นอีกว่า อินทรียสังวรก็จัดเข้าในหมวดศีล

เพราะฉะนั้น จึงมีอรรถคือเนื้อความเป็นอันเดียวกันดังกล่าว

 

ศีลเป็นภาคพื้นของการปฏิบัติ

 

ตรัสไว้ว่าอาศัยศีลจึงปฏิบัติในสติปัฏฐาน

อาศัยสติปัฏฐานจึงปฏิบัติในสัมโพชฌงค์ ซึ่งเปรียบเหมือนอย่างว่า

คนเราที่เดินยืนนั่งนอนอยู่ ก็อาศัยปฐวีคือแผ่นดินเดินยืนนั่งนอน

การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ศีลเป็นที่อาศัยเหมือนอย่างเป็นแผ่นดิน

ต้องมีศีลเป็นแผ่นดินเป็นภาคพื้น

หรือจะกล่าวว่าต้องมีสุจริต ๓ มีอินทรียสังวรเป็นภาคพื้นก็ได้

จึงเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมพึงทราบไว้ และก็พึงปฏิบัติในศีลให้มีขึ้นก่อน

หรือปฏิบัติในสุจริต ๓ และอินทรียสังวรให้มีขึ้นก่อน จึงปฏิบัติในสติปัฏฐาน

หรือในทางจิตตสิกขา หรือในทางสมาธิ หรือสมถกรรมฐาน

และทางปัญญาสิกขา หรือทางวิปัสสนากรรมฐานต่อขึ้นไป

ศีลจึงเป็นข้อสำคัญที่จะขาดมิได้สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมะ จะต้องมีศีลเป็นภาคพื้นขึ้นก่อน

 

ข้อปฏิบัติทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมเป็นข้อปฏิบัติเป็นไปเพื่อละตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก

มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า เพราะสิ้นตัณหาจึงสิ้นกรรม

เพราะสิ้นกรรมจึงสิ้นทุกข์ หรือว่าดับทุกข์ ดั่งนี้

ต่อจากนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats