ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:41
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป136
สัจจะธรรม กาลเวลา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
กาลเวลาย่อมกลืนกินสัตว์โลก ๓
ใครเล่าจะรู้ความตาย ๔
เหตุให้หยุดยั้งการกระทำชั่ว ๕
หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ ๖
ทางเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๗๖/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๖/๒ ( File Tape 136 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สัจจะธรรม กาลเวลา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะนั้นคือสัจจะ อันได้แก่ความจริง
ดังจะเรียกควบกันว่าสัจจะธรรม ธรรมะคือความจริง
พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สัจจะธรรม แล้วได้ทรงนำสัจจะธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นมาแสดงสั่งสอน
สัจจะธรรมนี้เป็นสภาพที่มีอยู่ พระพุทธเจ้าผู้พระตถาคตจะตรัสรู้ หรือไม่ตรัสรู้ก็ตาม
สัจจะธรรมก็มีอยู่ ดังที่ได้ตรัสไว้ว่า
ธาตุนั้นมีอยู่ ตั้งอยู่ เป็นความตั้งอยู่แห่งธรรม ที่เรียกว่าธรรมฐิติ
เป็นความกำหนดได้แห่งธรรมอันเรียกว่าธรรมนิยาม
คือข้อที่สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ดั่งนี้
เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว จึงทรงนำมาแสดงสั่งสอน
จำแนกแจกแจงกระทำให้ตื้น เพื่อให้เวไนยนิกร คือหมู่ชนที่พึงแนะนำได้ ได้รู้ได้เห็น
ได้เข้าใจตามพระองค์ ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ดั่งนี้
๒
กาลเวลาย่อมกลืนกินสัตว์โลก
และเกี่ยวด้วยกาลเวลา ก็ได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า
กาลเวลาย่อมกลืนกินตัวเองพร้อมทั้งสัตว์โลกทั้งหลาย ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น เมื่อกาลเวลาล่วงไปๆ ชีวิตนี้ก็ล่วงไปๆ
ดังเช่นที่โลกกำหนดนับเป็นวันคืนเดือนปีเป็นต้น และเพราะกาลเวลาล่วงไปๆนี้เอง
จึ่งได้มีอดีตคือที่ล่วงไปแล้ว มีอนาคตที่ยังไม่มาถึง และมีปัจจุบันบัดนี้
ฉะนั้น ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตา จึ่งได้มีขึ้น
เพราะกาลเวลานี้เองที่ล่วงไปๆ
ถ้าหากว่ากาลเวลาหยุดไม่ล่วงไปๆ
ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ก็ย่อมจะหยุดด้วย
ดั่งเช่นสังขารร่างกายอันนี้ ที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงจากความเป็นเด็กเล็ก
มาเป็นเด็กใหญ่ มาเป็นหนุ่มเป็นสาว มาเป็นผู้ใหญ่ มาเป็นคนแก่ และจนถึงแตกสลาย
เพราะกาลเวลานี้เองไม่หยุด จึงได้นำชีวิตร่างกายอันนี้ให้ผ่านวัยมาโดยลำดับ
จนถึงปัจจุบัน และจะผ่านต่อไปจนถึงดับในที่สุด
ถ้าหากว่ากาลเวลาหยุด ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ก็ย่อมจะหยุด
เช่นสมมติว่ากาลเวลาจะหยุดเมื่อเป็นเด็กเล็ก ก็จะคงเป็นเด็กเล็กอยู่ตลอดเวลา
ที่กาลเวลาหยุดนั้น ไม่เลื่อนขึ้นมาเป็นเด็กใหญ่ ดั่งนี้เป็นต้น
ฉะนั้น กาลเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนเอาไว้ให้ใช้กาลเวลาให้ดี
ดั่งที่ตรัสเอาไว้ว่า ทำดีเวลาเช้าก็เช้าดี ทำดีเวลาบ่ายก็บ่ายดี ทำดีเวลาเย็นก็เย็นดี
อันแสดงว่าฤกษ์งามยามดีทางพุทธศาสนานั้นอยู่ที่ทำดี ทำดีเมื่อใดก็ฤกษ์งามยามดีเมื่อนั้น
และเมื่อทำดีชีวิตนี้ก็เป็นชีวิตดี ถ้าตรงกันข้ามทำชั่ว ชีวิตนี้ก็เป็นชีวิตชั่ว
ไม่ทำดีปล่อยให้กาลเวลาล่วงไปโดยปราศจากประโยชน์ ชีวิตนี้ก็เป็นชีวิตเปล่า
๓
ใครเล่าจะรู้ความตาย
เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเตือนเอาไว้ว่า
ความดีความเพียรพึงรีบกระทำเสียตั้งแต่ในวันนี้ทีเดียว
เพราะว่าใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาต่อวันพรุ่งนี้ ดั่งนี้
และได้ตรัสสอนไว้ให้พิจารณาเนืองๆว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ดั่งนี้
พระพุทธภาษิตนี้มีประโยชน์ในทางปฏิบัติมาก และอาจจะน้อมนึกได้ด้วยว่า
เป็นเหมือนพระพุทธเจ้าได้ตรัสถามทุกคนๆ ทุกเวลาว่า เมื่อวันคืนล่วงไปๆ กำลังทำอะไรอยู่
ข้อนี้ผู้ปฏิบัติธรรมพึงน้อมรับเข้ามา เหมือนอย่างว่าพระพุทธเจ้าตรัสถามตนเองแต่ละคน
ว่ากำลังทำอะไร ในเมื่อวันคืนล่วงไปๆ ดั่งนี้
ถ้านึกดั่งนี้แล้ว ก็สามารถที่จะทำให้ยังยั้งการกระทำชั่ว ส่งเสริมให้กระทำดีได้ทุกเวลา
และในขณะที่จะกระทำชั่ว หรือกำลังกระทำชั่ว เช่นในขณะที่จะฆ่าสัตว์
หรือกำลังจะฆ่าสัตว์ แม้สัตว์เล็กๆน้อยๆ เช่นจะตบยุง หรือกำลังตบยุง
จะลักทรัพย์ จะหยิบของๆใครที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้
หรือกำลังลักทรัพย์ กำลังหยิบของๆใครที่เขาไม่ได้ให้
จะประพฤติผิดในกาม หรือกำลังประพฤติผิดในกาม
จะพูดเท็จหลอกลวง หรือกำลังพูดเท็จหลอกลวง
จะดื่มน้ำเมาหรือเสพยาเสพติดให้โทษ หรือกำลังดื่มน้ำเมา กำลังเสพยาเสพติดให้โทษ
ถ้ามีสตินึกขึ้นมาว่าพระพุทธเจ้าตรัสถามว่า เมื่อวันคืนล่วงไปๆ กำลังทำอะไร
คือเหมือนอย่างตรัสถามว่ากำลังทำอะไร
ผู้ที่มีศรัทธาเป็นพื้นอยู่ในพุทธศาสนา
และได้ถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่ง
ย่อมจะบังเกิดหิริความละอายใจต่อความชั่ว โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อความชั่ว
เป็นเหตุให้หยุดไม่ทำความชั่วต่างๆ หรือเมื่อกำลังทำอยู่ก็หยุดได้
๔
ส่วนผู้ที่ไม่มีศรัทธาและไม่ได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
แม้ว่าจะนึกได้ ก็ไม่เกิดหิริไม่เกิดโอตตัปปะ ก็อาจจะยังหยุดยั้งไม่ได้
แต่แม้เช่นนั้นหากได้สติดั่งนี้บ่อยๆแล้ว ก็อาจจะเกิดหิริเกิดโอตตัปปะขึ้นได้ อาจหยุดยั้งได้
เพราะทุกๆคนนั้นมีจิตใจซึ่งเป็นธาตุรู้ และทุกคนย่อมจะสำนึกในบาปบุญคุณโทษ
ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ น้อยหรือมากอยู่ด้วยกัน
เหตุให้หยุดยั้งการกระทำชั่ว
เพราะฉะนั้น หากมีสตินึกได้บ่อยๆ ก็วันหนึ่งก็ย่อมจะได้หิริได้โอตตัปปะ หยุดยั้งทำชั่วได้
บุคคลที่ระลึกขึ้นได้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสถามว่ากำลังทำอะไร ในขณะที่จะทำ หรือกำลังทำ
เป็นเหตุให้หยุดยั้งการกระทำชั่วได้ ชื่อว่าเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าโปรด
ฉะนั้นทุกคนเมื่อประสงค์จะให้พระพุทธเจ้าโปรด ก็หมั่นระลึกเตือนใจตัวเองอยู่เสมอ
ถึงพระพุทธภาษิตข้อนี้ ให้มีสติอยู่ทุกขณะว่ากำลังทำอะไร เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าตรัสถาม
ว่ากำลังทำอะไรอยู่เดี๋ยวนี้ ( เริ่ม ๑๗๖/๒ ) ย่อมจะเป็นเหตุให้หยุดยั้งการกระทำชั่วต่างๆ
และกระตุ้นเตือนให้ประกอบความดีต่างๆขึ้นได้
ฉะนั้น พระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ให้พิจารณาเนืองๆว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
นี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และอันนี้แหละเป็นพรอันสำคัญ ที่ทุกคนควรจะรับปฏิบัติ
ในโอกาสของโลกที่ต้องการความสุข เช่นความสุขปีใหม่ เป็นต้น
เพราะความสุขจะบังเกิดขึ้นได้นั้นต้องละชั่วทำดี
พระพุทธเจ้าตรัสประทานพระโอวาทไว้ดังกล่าว
เมื่อใครระลึกถึงก็เหมือนอย่างว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรด และได้ตรัสประทานพรให้
ให้ละชั่วให้ทำดี ด้วยการมาตรัสเตือน เหมือนอย่างมาตรัสเตือนอยู่ที่ใกล้หู หรือที่ใจ
วันคืนล่วงไปๆบัดนี้กำลังทำอะไร ให้ได้สติเตือนใจ ให้ละชั่ว
และให้ประกอบกรรมที่ดี
๕
หลักปฏิบัติในโพชฌงค์
อนึ่ง การปฏิบัติดั่งนี้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติเข้าหลักโพชฌงค์ด้วย
กล่าวคือสติที่ระลึกถึงพระพุทธโอวาทที่ตรัสสอนไว้ดังกล่าว ย่อมเป็น สติสัมโพชฌงค์
สัมโพชฌงค์คือสติความระลึกได้ และเมื่อได้สติ ก็ย่อมจะทำให้เกิดความเลือกเฟ้น
ความประพฤติของตนเอง ที่กำลังจะประพฤติ หรือกำลังประพฤติอยู่ ว่าดีหรือชั่ว
ทำให้ได้ปัญญารู้จักว่าดีหรือชั่วในฉับพลัน ก็เรียกว่า ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์
สัมโพชฌงค์คือธัมมวิจยเลือกเฟ้นธรรม
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้เกิดความเพียรละชั่ว ประกอบความดี
คือหากว่าสิ่งที่จะทำ หรือกำลังทำอยู่เป็นความชั่ว ก็จะทำให้เกิดความเพียรละได้
ถ้าสิ่งที่จะทำหรือกำลังทำเป็นความดี ก็จะทำให้เกิดความเพียรทำความดีนั้นต่อไปให้ยิ่งขึ้น
ดั่งนี้ ก็เป็น วิริยะสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือวิริยะความเพียร
และเมื่อได้มีเพียรละชั่วทำดีดั่งนี้ ก็จะได้ ปีติสัมโพชฌงค์ เป็นผลต่อไป
คือปีติความอิ่มใจอันเกิดจากความบริสุทธิ์ของใจเอง ที่บังเกิดขึ้นได้จากละชั่วทำดีนั้น
และเมื่อได้ปีติสัมโพชฌงค์
ก็ย่อมจะได้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือปัสสัทธิความสงบกายสงบใจ
ไม่เครียด ไม่สับสน ไม่ฟุ้งซ่านต่างๆ เพราะเหตุแห่งความชั่วต่างๆ
เป็นความสงบกายใจที่ได้สืบมาจากปีติ และเมื่อได้ความสงบกายใจมีความสุขดั่งนี้
จิตก็เป็นสมาธิตั้งมั่นเป็น สมาธิสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือสมาธิความตั้งมั่น
สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย อุเบกขาสัมโพชฌงค์ จึงบังเกิดขึ้น
คือความที่มีจิตเข้าไปเพ่งสงบอยู่ ด้วยปัญญาที่เป็นเครื่องละยินดียินร้าย ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น การได้โพชฌงค์ขึ้นนี้จึงเป็นพรอันประเสริฐ
ที่ได้จากความระลึกถึงพระพุทธภาษิตที่ตรัสเตือนเอาไว้ดังกล่าว
๖
อันเกี่ยวแก่กาลเวลา ว่าเมื่อวันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
เพียงแต่ผู้ปฏิบัติธรรมะตั้งใจน้อมรับเข้ามาให้ถูกทาง ก็เหมือนอย่างเสด็จมาเตือนตนเอง
เหมือนอย่างตรัสกระซิบที่หู หรือว่าที่ใจ อันจะทำให้ละชั่วทำดีดังกล่าว
การปฏิบัติก็จะเป็นโพชฌงค์ขึ้นมาโดยลำดับ
ทางเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา
พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสเอาไว้ต่อไปไว้ด้วยว่า โพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้
เป็น อัปริหาริยธรรม ธรรมะที่ไม่เป็นไปเพื่อความเสื่อม
แต่เป็นไปเพื่อความเจริญ เป็นมรรคคือเป็นทาง เพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา
ซึ่งได้ตรัสไว้ด้วยว่า เพราะสิ้นตัณหาก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรมก็สิ้นทุกข์ ดั่งนี้
และยังได้ตรัสไว้ว่าเป็นมรรคคือทางเพื่อดับตัณหา
เป็นเครื่องดับธรรมะที่ให้เกิดสัญโญชน์ คือเครื่องประกอบใจ เครื่องผูกใจ
เครื่องกำหนดกิจของกายของใจ อันได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายและใจ
อันหมายถึงว่าอันความประกอบผูกพันใจ ความสยบติดแห่งใจ
ย่อมเกิดขึ้นที่ตา ที่หู ที่จมูก ลิ้น กาย และใจนี้เอง
แต่ว่าเมื่อปฏิบัติอยู่ในโพชฌงค์ ก็จะทำให้ไม่เกิดความประกอบผูกพันใจ
อันหมายถึงฉันทราคะความติดด้วยอำนาจแห่งความพอใจเป็นต้น
และความสยบติดแห่งใจ อาศัยตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจเหล่านี้
อายตนะภายในทั้ง ๖ มีตาเป็นต้นเหล่านี้ ก็สักแต่ว่าเป็นเครื่องต่อ
รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวเท่านั้น
ไม่ก่อให้เกิดสัญโญชน์คือเครื่องประกอบเครื่องผูกใจไว้ สยบติดใจเอาไว้แต่อย่างไร
ด้วยอำนาจของการปฏิบัติในโพชฌงค์
๗
อนึ่งยังได้ตรัสไว้ว่าโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้
ย่อมเป็นธรรมะที่เป็นเครื่องเจาะแทงทำลายกองโลภกองโกรธกองหลง
ทั้งหมดนี้ก็หมายถึงการปฏิบัติในโพชฌงค์ที่อาศัย วิเวก คือความสงบสงัด
อาศัย วิราคะ คือความสิ้นติดใจยินดี อาศัย นิโรธ คือความดับ
อาศัยความที่การปฏิบัติที่ให้น้อมจิตไปเพื่อความปล่อยวาง เป็นการปฏิบัติที่ไพบูลย์
ที่ถึงความเป็นใหญ่ กว้างใหญ่ไม่มีประมาณ ไม่มีเครื่องเบียดเบียนคือปลอดโปร่ง
ตรัสไว้ว่าจิตที่โพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้อบรมแล้ว ย่อมเจาะแทงทำลายกองโลภกองโกรธกองหลง ดั่งนี้
การปฏิบัติโพชฌงค์ให้เป็นไปดังกล่าวนี้ อันนำด้วยข้อว่าอาศัยวิเวกคือความสงบสงัด
วิเวกนั้นมี ๓ คือ กายวิเวก สงัดกายด้วยศีล จิตตวิเวก สงบจิตด้วยสมาธิ
อุปธิวิเวก สงบกิเลสด้วยปัญญา
เพราะฉะนั้น จึงสรุปเข้าในการปฏิบัติ เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญานั้นเอง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
อาหารของนิวรณ์
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
กรรมฐานเครื่องระงับนิวรณ์ ๒
การบรรลุธรรมของท่านพระอุทายี ๔
หลักปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น ๕
อาหารแห่งนิวรณ์ ๕
เว้นบุคคลที่มิใช่กัลยาณมิตร ๖
ปฏิปทาของท่านพระอุทายี ๗
ผู้มีหิริโอตตัปปะในพระพุทธเจ้า ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๗๖/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๗/๑ ( File Tape 136 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อาหารของนิวรณ์
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จิตนี้ที่ปฏิบัติไม่ได้สมาธิ ไม่ได้ปัญญา ไม่ได้บรรลุความสิ้นทุกข์
ก็เพราะมีอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองของจิตกั้นกางอยู่ อันได้แก่นิวรณ์ทั้ง ๕
คือกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม ด้วยอำนาจกาม
พยาบาทความหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายหมายทำลาย
ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
และวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย
กรรมฐานเครื่องระงับนิวรณ์
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสอุปมาว่า เหมือนอย่างเหล็กโลหะดีบุกตะกั่วและเงิน
ทั้ง ๕ ประการนี้เป็นอันตรายแก่ทองคำเนื้อบริสุทธิ์
เพราะเมื่อมีสิ่งทั้ง ๕ นี้ผสมอยู่ ก็จะทำให้เนื้อทองคำไม่บริสุทธิ์
๒
ไม่อ่อนไม่ควรแก่การงาน คือไม่ควรที่จะทำทองรูปประพรรณต่างๆ
ฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้ระงับนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนี้
ด้วยกรรมฐานอันเป็นเครื่องระงับนิวรณ์ข้อนั้นๆ
ซึ่งที่ได้ตรัสแนะเอาไว้ ก็คือให้อาศัย อสุภะสัญญา หรือ อสุภะนิมิต
สัญญาหรือนิมิต คือกำหนดหมายว่าไม่งดงาม
มีโยนิโสมนสิการคือความใส่ใจเข้าใจในอสุภะนิมิตหรืออสุภะสัญญานี้
กระทำให้มากก็จะระงับกามฉันท์ได้
และให้อาศัย เจโตวิมุติ คือความหลุดพ้นแห่งใจด้วยเมตตา
คือแผ่จิตไปด้วยความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข จนใจนี้หลุดพ้นจากโทสะพยาบาท
มีโยนิโสมนสิการ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคายคือใส่ใจถึงมีความเข้าใจในเจโตวิมุติ
การอาศัยเมตตากระทำให้มากก็จะระงับโทสะพยาบาทได้
และให้อาศัย อาโลกะสัญญา คือการทำสัญญากำหนดรู้ความสว่าง
ประกอบกับให้มีจิตใจที่ตั้งขึ้นด้วยความเพียรริเริ่ม ด้วยความเพียรที่ดำเนินไป
และด้วยความเพียรที่ก้าวหน้า มีโยนิโสมนสิการ มีการกระทำให้มากในความเพียรเหล่านี้
และในอาโลกะสัญญา สำคัญกลางคืนเหมือนอย่างกลางวัน กลางวันเหมือนอย่างกลางคืน
คือมีความสว่าง ก็จะทำให้ระงับถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้
และให้อาศัยความสงบของใจ สมาธินิมิต กำหนดหมายจิตให้เป็นสมาธิ
กำหนดหมายให้จิตไม่ฟุ้งซ่าน มีโยนิโสมนสิการกระทำให้มากในความไม่สงบแห่งใจ
ในสมาธินิมิต และในความไม่ฟุ้งซ่าน ก็จะสงบรำงับความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้
อาศัย โยนิโสมนสิการ ความใส่ใจโดยแยบคายในธรรมะที่เป็นกุศลและอกุศล
ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ที่มีคุณมีโทษ ว่าอะไรมีคุณ อะไรมีโทษ
๓
ที่เลวและที่ประณีต ว่าอะไรเลว อะไรประณีต และในธรรมะที่เทียบกันระหว่างสีขาวกับสีดำ
ก็คือฝ่ายอกุศลเป็นต้นก็เป็นสีดำ ฝ่ายกุศลเป็นต้นก็เป็นสีขาว
มีโยนิโสมนสิการดังกล่าวกระทำให้มาก ในธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยทั้งหลาย
ว่าอะไรเป็นอะไร ก็จะสงบระงับความเคลือบแคลงสงสัยได้
( เริ่ม ๑๗๗/๑ ) และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว การปฏิบัติทางจิตทั้งหลายก็จะเจริญก้าวหน้า
เป็นสมาธิเป็นปัญญา จนถึงบรรลุความสิ้นทุกข์ได้ หรือว่าเป็นสติปัฏฐานเป็นโพชฌงค์
เพราะจะเป็นสติปัฏฐานเป็นโพชฌงค์ได้ ก็จะต้องไม่มีนิวรณ์ นิวรณ์ต้องสงบระงับ
สติปัฏฐานก็บังเกิดขึ้น โพชฌงค์ก็บังเกิดขึ้น
การบรรลุธรรมของท่านพระอุทายี
ได้มีพระสูตรหนึ่งที่ท่านพระอุทายีเถระได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้ามีใจความว่า
ท่านพระอุทายีเถระได้มีความรักความเคารพมีหิริโอตตัปปะ ที่ได้กระทำขึ้นเป็นอันมาก
ในพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ แม้ในสมัยที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่
ยังมิได้มาบวชในสำนักพระพุทธเจ้า ก็ได้มีความรักความเคารพมีหิริมีโอตตัปปะ
ในพระผู้มีพระภาคเจ้าที่กระทำไว้แล้วเป็นอันมาก
แม้ว่าจะยังไม่กระทำไว้มากคุ้นเคยในพระธรรม ยังไม่กระทำไว้มากคุ้นเคยในพระสงฆ์
แต่ก็มีอยู่เป็นอันมากในพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี
และครั้นเมื่อได้มาบวชในสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอน
ว่ารูปอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปอย่างนี้ ความดับไปแห่งรูปอย่างนี้
เวทนาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาอย่างนี้ ความดับไปแห่งเวทนาอย่างนี้
สัญญาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาอย่างนี้ ความดับไปแห่งสัญญาอย่างนี้
สังขารอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารอย่างนี้ ความดับไปแห่งสังขารอย่างนี้
วิญญาณอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณอย่างนี้ ความดับไปแห่งวิญญาณอย่างนี้
๔
ครั้นได้ฟังธรรมดั่งนี้แล้ว ก็ได้พิจารณาในความเกิดดับแห่งขันธ์ ๕ เหล่านี้
พลิกไปพลิกมากลับไปกลับมา จึงได้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง
จนถึงขั้นที่รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะพึงกระทำกระทำแล้ว
ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำเช่นนี้อีก ดั่งนี้
ธรรมะคือวิปัสสนาธรรม มรรคคือวิปัสสนามรรค เป็นอันได้ตรัสรู้แล้ว
และเป็นอันว่าสติสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว
วิริยะสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว ปีติสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว สมาธิสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว
จึงเป็นอันได้ดำเนินอยู่เป็นไปอยู่โดยประการนั้นๆโดยถ่องแท้
โดยประการที่ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่พึงทำกระทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเหมือนเช่นนี้ที่จะต้องกระทำต่อไป ดั่งนี้
หลักปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น
ตามเถระภาษิตที่ได้กราบทูลพระพุทธเจ้านี้ ก็ได้แสดงถึงการปฏิบัติในโพชฌงค์ว่า
จะต้องมีอยู่ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมเป็นชั้นๆขึ้นไป จนถึงธรรมะชั้นที่สุด
โดยที่จะต้องมีโพชฌงค์ พร้อมทั้งสติปัฏฐานมาตั้งแต่ในเบื้องต้น
ฉะนั้น สติปัฏฐาน โพชฌงค์ นี้จึงเป็นหลักปฏิบัติที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะพึงต้องอาศัย
แต่ว่าจะต้องอาศัยศีล หรือสุจริตกายวาจาใจเป็นพื้นฐานตั้งแต่ในเบื้องต้น
อาหารแห่งนิวรณ์
และในการปฏิบัตินั้น ต้องชำระจิตจากนิวรณ์ทั้งหลาย
โดยไม่ให้อาหารแห่งนิวรณ์ ตัดอาหารแห่งนิวรณ์เสีย
๕
คือไม่ใส่ใจอันเรียกว่ามนสิการเหมือนกัน ที่จะบริโภคอาหารสำหรับเลี้ยงนิวรณ์
คือต้องเว้นจาก สุภะนิมิต กำหนดหมายว่างดงาม ซึ่งเป็นอาหารของกามฉันท์
ต้องเว้นจาก ปฏิฆะนิมิต กำหนดหมายกระทบกระทั่งต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารของพยาบาท
จะต้องเว้นจาก ความไม่ยินดีพอใจ ความเกียจคร้าน ความบิดไปบิดมา
เชือนแชชาด้วยอำนาจของความเกียจคร้าน ความ เมาภัตตาหาร
และความที่มี จิตใจย่อหย่อน อันเป็นอาหารของถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
จะต้องเว้นจาก ความฟุ้งซ่านของใจ ต่างๆ
ซึ่งเป็นอาหารของอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
จะต้องเว้นจาก ธรรมะที่เป็นที่ตั้ง แห่งความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารของวิจิกิจฉา
และข้อสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ อโยนิโสมนสิการ การไม่กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย
เป็นอาหารของนิวรณ์ทุกข้อ
เว้นบุคคลที่มิใช่กัลยาณมิตร
กับต้องเว้นจากการคบหากับบุคคลที่ไม่ใช่กัลยาณมิตร
คือไม่ใช่เป็นเพื่อนมิตรที่ดีงาม ต้องคบหากับกัลยาณมิตร
ความไม่ใช่กัลยาณมิตร กับทั้งอโยนิโสมนสิการความไม่พิจารณาไว้ในใจโดยแยบคาย
นี่เป็นอาหารของนิวรณ์ทุกข้อ ต้องเว้นเสีย
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นอันเว้นจากอุปกิเลสเครื่องเข้าไปเศร้าหมองของจิต
ทำให้สามารถปฏิบัติในสมาธิก็ได้ ปฏิบัติในปัญญาก็ได้
ปฏิบัติในสติปัฏฐานก็ได้ ปฏิบัติในโพชฌงค์ก็ได้
อันจะนำให้ได้วิชชาวิมุติ คือความรู้ และความหลุดพ้น
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องเว้นอาหารของนิวรณ์ทั้งหลาย จึงจะระงับนิวรณ์ได้
ระงับอุปกิเลสของจิตได้ จะเจริญด้วยสติปัฏฐาน จะเจริญด้วยโพชฌงค์
จนถึงสามารถประสบปัญญาวิมุติได้
๖
ปฏิปทาของท่านพระอุทายี
อีกประการหนึ่ง เมื่อดูตามปฏิปทาของท่านพระอุทายี
ที่ได้กราบทูลพระพุทธเจ้า ว่าได้มีความรักความเคารพ มีหิริมีโอตตัปปะ
ในพระผู้มีพระภาคเจ้ามาตั้งแต่เป็นคฤหัสถ์เป็นอันมาก ยังไม่คุ้นเคยกับพระธรรม
ยังไม่คุ้นเคยกับพระสงฆ์ แต่ว่าได้มีความคุ้นเคยในพระพุทธเจ้า
ด้วยอำนาจของความรักความเคารพ หิริโอตตัปปะเป็นอันมาก
เพราะฉะนั้น คุณธรรมเหล่านี้ คือความรักความเคารพ
หิริความละอายใจต่อความชั่ว โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อความชั่ว
จึงเป็นคุณธรรมอันสำคัญ
แม้ว่าจะยังไม่คุ้นเคยในพระธรรม จะยังไม่คุ้นเคยในพระสงฆ์
ยังไม่รู้จักพระธรรม ยังไม่รู้จักพระสงฆ์มากนัก
แต่ว่าให้มีความรักความเคารพในพระพุทธเจ้าเป็นประการสำคัญ
จะนำให้มีความละอายและมีความเกรงกลัวต่อพระพุทธเจ้า
ไม่ปรารถนา ไม่กล้าที่จะปฏิบัติเป็นทุจริตกายวาจาใจต่างๆ
ที่จะปฏิบัติผิดศีล ผิดธรรมต่างๆ เพราะเหมือนอย่างว่าพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็น
หรือว่าเหมือนอย่างว่าอยู่ต่อหน้าต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า
คนเรานั้นโดยปรกติก็ย่อมจะมีความรู้จักผิดชอบชั่วดีมาตั้งแต่เป็นเด็ก
ที่ได้รับสั่งสอนอบรมมาจากมารดาบิดา ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย
ตลอดจนถึงจากพระพุทธศาสนา และโดยปรกตินั้นคนเป็นอันมากไม่กล้า
ที่จะทำความชั่วความไม่ดีต่อหน้าผู้หลักผู้ใหญ่ เช่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ หรือต่อหน้าใครๆ
มักจะไปกระทำกันลับหลัง ที่รู้สึกว่าไม่มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่รู้เห็น
ไม่มีใครรู้เห็นคือลอบทำ อันแสดงว่าทุกคนรู้จักที่จะละอาย
รู้จักที่จะเกรงกลัวอยู่ด้วยกัน น้อยหรือมาก
๗
ฉะนั้น ถ้าหากว่ารู้สึกว่าเหมือนอย่างพระพุทธเจ้า มาประทับอยู่กับตนเอง
ทอดพระเนตรเห็นตนเองในการกระทำทั้งปวง ก็ย่อมจะละอายใจ
เกรงกลัวหรือเกรงใจต่อพระพุทธเจ้า ไม่อยากที่จะทำไม่ดี ไม่กล้าที่จะทำไม่ดีต่างๆ
ผู้มีหิริโอตตัปปะในพระพุทธเจ้า
นี่แหละคือหิริโอตตัปปะที่มีในพระพุทธเจ้า
เหมือนดั่งที่ท่านพระอุทายีได้มีอยู่ตั้งแต่เป็นคฤหัสถ์ แต่ความรู้สึกดังกล่าวนี้จะมีได้
ก็ต่อเมื่อได้มีความรักมีความเคารพในพระพุทธเจ้าอยู่อย่างเต็มที่
นี้แหละคือว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่งนั้นเอง
ผู้ที่จะได้พุทธังสรณังคัจฉามิ จะต้องมีความรักมีความเคารพในพระพุทธเจ้า
จะต้องมีหิริมีโอตตัปปะในพระพุทธเจ้า จึงจะชื่อว่าได้พุทธังสรณังคัจฉามิอย่างแท้จริง
การปฏิบัติให้ได้ในข้อนี้จึงเป็นอุปการะปฏิบัติเป็นอันมาก
จะทำให้เจริญด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา ด้วยสติปัฏฐาน ด้วยโพชฌงค์
ตลอดจนถึงวิชชาวิมุติในที่สุด เหมือนอย่างท่านพระอุทายีท่านได้ท่านถึง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*