ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป134

การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

ไตรสิกขา ๓

เหตุที่ต้องฝึกจิตให้เกิดสมาธิ ๔

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๔

ปัญญา ๓ ๕

ตัวปัญญาที่แท้จริง ๖

ข้อว่าปัญญาเกิดจากสมาธิ ๗

กัณฑ์ที่ให้ความเข้าใจในการปฏิบัติเริ่มต้นที่ดีเยี่ยม

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๗๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๔/๑ ( File Tape 134 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระพุทธศาสนาแปลว่าศาสนาของพระพุทธเจ้า

คำสอนของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

และผลที่ได้จากการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เหล่านี้

รวมเข้าในคำว่าศาสนาของพระพุทธเจ้า หรือพุทธศาสนาทั้งหมด

และพระพุทธศาสนาดังกล่าวนี้ที่เป็นคำสอน เมื่อกล่าวอย่างสรุปคือโดยย่อ

ก็เป็นคำสอนที่สอนให้ ละบาปอกุศลคือความชั่วทั้งหมด

ให้ประกอบกุศลคือความดีทั้งหมด และให้ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส

นี้เป็นพุทธศาสนาที่เป็นคำสอน ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ให้ปฏิบัติโดยย่อ

 

และการปฏิบัตินั้นก็เป็นการปฏิบัติตามคำสอนนี้

แม้การปฏิบัติก็เป็นพุทธศาสนา ผลที่ได้จากคำสอนนี้ก็เป็นพุทธศาสนา

และคำสอนดั่งกล่าวมานี้ การปฏิบัติดังกล่าวมานี้ พร้อมทั้งผลของการปฏิบัติ

เมื่อแสดงอีกชื่อหนึ่ง ก็ได้แก่ศีลสมาธิปัญญา

 

ไตรสิกขา

 

ศีล นั้นคือความประพฤติปรกติเรียบร้อยดีงาม ทางกาย ทางวาจา ทางใจ

ตามพระวินัยซึ่งเป็นพระบัญญัติของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น ศีลจึงต้องมีวินัย และเมื่อปฏิบัติตามวินัยก็ชื่อว่าศีล

สมาธิ นั้นได้แก่ความที่ทำจิตให้สงบตั้งมั่น อยู่ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความสงบทั้งหลาย

หรือเป็นที่ตั้งของกุศลธรรม คือธรรมะที่ดีที่ชอบทั้งหลาย

( เริ่ม ๑๗๔/๑ ) สมาธินี้เป็นความสำคัญ เพราะว่าจิตใจนี้ถ้าไม่มีสมาธิ

ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้ และไม่สามารถจะเกิด ปัญญา ได้

ต่อเมื่อจิตมีสมาธิจึงจะทำให้เกิดการปฏิบัติทางกายวาจาใจได้

และทำให้เกิดปัญญาได้

 

เพราะสมาธินี้เมื่อกล่าวอย่างย่อที่สุด ก็คือความตั้งใจ

จะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ก็ต้องมีความตั้งใจ

คือตั้งใจที่จะทำ ตั้งใจที่จะพูด ตั้งใจที่จะคิด จึงเกิดการทำการพูดการคิดขึ้นได้

และจะรู้อะไรที่เป็นปัญญาก็ต้องมีความตั้งใจ คือตั้งใจที่จะรู้

ดังเช่นการมาฟังธรรมะซึ่งเป็นการอบรมกรรมฐาน ผู้ฟังก็ต้องตั้งใจฟัง

คือตั้งใจฟังคำพูดที่พูดออกมานี้ จึงจะสามารถได้ยินคำพูดนี้ทุกคำ

และเมื่อได้ยินคำพูดทุกคำ จึงจะมีความเข้าใจในเรื่องที่พูด

ความเข้าในเรื่องที่พูดนี้แหละเป็นตัวปัญญาอย่างหนึ่ง

ถ้าหากว่าขาดสมาธิในการฟัง คือไม่มีความตั้งใจฟัง ไม่มีการรวมใจเพื่อจะฟัง

ก็ไม่สามารถจะได้ยินคำพูดนี้ทุกคำได้ และจะไม่เข้าใจ จึงไม่ได้ปัญญาในการฟัง

เพราะฉะนั้น สมาธินี้จึงสำคัญมาก คือความตั้งใจ

ทุกคนย่อมมีสมาธิคือความตั้งใจที่เป็นพื้นฐานอยู่ด้วยกันทุกคน น้อยหรือมาก

เหตุที่ต้องฝึกจิตให้เกิดสมาธิ

 

แต่ว่าโดยปรกติแล้วจิตใจนี้มักจะดิ้นรนกวัดแกว่ง

กระสับกระส่ายไปในอารมณ์ทั้งหลาย ปรากฏเป็นความชอบบ้างหรือเป็นความรักบ้าง

เป็นความชังหรือความเกลียดชังบ้าง ถ้าไม่เช่นนั้นจิตนี้ก็มักจะง่วงเหงาหาวนอน

ซึมเซาไม่โปร่งไม่แจ่มใส หรือถ้าไม่เช่นนั้นจิตนี้ก็มักเคลือบแคลงสงสัยโน่นสงสัยนี่

ไม่ได้ความตั้งใจที่แน่นอน เหล่านี้เรียกว่าเป็นนิวรณ์

คือเป็นเครื่องกั้นจิตไว้ไม่ให้สามารถได้สมาธิ ไม่ให้สามารถได้ปัญญา

 

จิตที่มีความตั้งใจอยู่ด้วยกัน อันเป็นพื้นฐานอยู่ด้วยกันทุกคนนี้

จึ่งไม่เป็นความตั้งใจมั่น คือไม่ตั้งอยู่มั่นคง ตั้งอยู่ได้ประเดี๋ยวประด๋าว

แล้วก็ฟุ้งซ่านกวัดแกว่ง หรือว่าง่วงเหงาหาวนอน หรือว่าเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ

ฉะนั้น คนเราจึงได้ทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ผิดๆพลาดๆ

และจึงไม่ได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้จริงในสิ่งทั้งหลาย แม้ว่าที่สมควรจะรู้

จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกจิตใจนี้ให้ได้สมาธิให้มากขึ้น

ด้วยการปฏิบัติในกรรมฐาน ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้

ดังเช่นที่ได้ตรัสสอนให้ตั้งสติคือความนึกความระลึกได้ พร้อมทั้งความรู้ตัว

อยู่ในที่ตั้งของสติ ๔ ประการ คือ กาย เวทนา จิต และ ธรรม

ดังที่ได้มีการสวด และมีการอธิบายมาโดยลำดับ

 

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

 

กายก็คือกายอันนี้ ซึ่งประกอบด้วยส่วนทั้งหลาย

ของร่างกายนี้เป็นอันมาก เป็นต้นว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออก

การหายใจเข้าการหายใจออก ซึ่งเป็นตัวชีวิตของทุกๆคน

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนให้กำหนดที่ลมหายใจเข้าออก

คือตั้งสติความระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก

หายใจเข้าก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้า หายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก

และพระอาจารย์ก็ได้สอนไว้ง่ายๆ ให้กำหนดคำว่าพุทโธ เช่นหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ

ให้จิตรวมอยู่ที่ลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ ไม่ให้ไปข้างไหน

ถ้าเผลอสติใจออกไป ก็นำกลับเข้ามาตั้งมั่นไว้ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกใหม่

ดั่งนี้ ก็เป็นข้อหนึ่งหรือวิธีหนึ่ง สำหรับฝึกจิตให้เป็นสมาธิ

 

ปัญญา ๓

 

และเมื่อตั้งใจฝึกไปดั่งนี้ จะทำให้จิตรวมดีขึ้นมั่นคงขึ้น

ก็นำจิตที่ตั้งมั่นดีขึ้นนี้ไปทำงาน งานที่ทำนั้นก็มีต่างๆ สุดแต่ใครจะทำงานอะไร

ก็ใช้จิตที่ตั้งมั่นดีนี้ทำงานอันนั้น แม้ว่าต้องการจะเรียนรู้อะไร

ก็ใช้จิตที่ตั้งมั่นดีนี้ในการเรียนรู้ เช่นในการอ่านหนังสือ ในการฟัง

ในการฝึกหัดปฏิบัติต่างๆ ให้จิตรวมอยู่ ตั้งมั่นอยู่ในการเรียน ในการฝึกหัดปฏิบัตินั้นๆ

ก็จะช่วยทำให้ความจำก็ดีขึ้น จะทำให้ความรู้ความเข้าใจก็เร็วขึ้น ง่ายขึ้น

จึงเป็นเครื่องเจริญปัญญา

 

และยิ่งขึ้นไปกว่านี้ก็เป็นตัวปัญญาที่พระพุทธเจ้าประสงค์

คือให้รู้จักการกระทำทางกายทางวาจาทางใจของตน

อันหมายรวมทั้งการพูดด้วย และการคิดนึกต่างๆด้วย

ให้มีปัญญาที่จะตรวจสอบอยู่เสมอ ว่าผิดชอบชั่วดีอย่างไร ให้คุณให้โทษอย่างไร

ถ้าเป็นการพูดการทำการคิดที่ไม่ดี ก็ให้รู้จักว่าไม่ดีอย่างไร และที่ดีก็ให้รู้จักว่าดีอย่างไร

เรียกว่าให้รู้จักเหตุรู้จักผลนั้นเอง นี้เป็นหน้าที่ของปัญญาคือความรู้จักเหตุรู้จักผล

 

และความรู้จักเหตุรู้จักผลนี้ ก็เป็นเหตุผลตามสามัญสำนึกนี่แหละ

เป็นเหตุเป็นผลตามที่ศึกษาเล่าเรียนมา ได้ยินได้ฟังมานี่แหละ

เป็นเหตุผลที่ได้ประสบพบผ่านมาจากการกระทำของตน

จากการพูดของตน จากการคิดของตนนี่แหละ

ให้รู้จักว่าอันนี้ดีคือดีอย่างนี้ๆ อันนั้นไม่ดีคือไม่ดีอย่างนั้นๆ

แม้ว่าจะรู้ไปตามศรัทธาคือความเชื่อตามศาสนาที่นับถือก่อนก็ได้

จะเป็นความรู้ไปตามที่ศึกษาเล่าเรียนมาจากศิลปวิทยาการนั้นๆก็ได้

หรือว่าจะเป็นความรู้ที่เกิดจากการที่ตนได้สังเกตุสังกามาด้วยตนเองก็ได้

 

ก็รวมความเข้าแล้วก็เป็น ๓

คือเป็นปัญญาคือความรู้ที่ได้จากการสดับฟังการอ่านต่างๆอย่างหนึ่ง

เป็นความรู้ที่ได้จากความคิดนึกพิจารณาไตร่ตรองอย่างหนึ่ง

เป็นความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติอบรมต่างๆประการหนึ่ง

ก็พิจารณากำหนดให้รู้จัก เหตุผล ของสิ่งที่ได้สดับตรับฟังมา หรือสิ่งที่ได้อ่าน

ให้รู้จักความคิดของตัวเอง ความคิดอ่านของตัวเองว่าเป็นอย่างไร

ให้รู้จักการฝึกหัดปฏิบัติอบรมของตัวเองว่าเป็นอย่างไร

 

ตัวปัญญาที่แท้จริง

 

แล้วจะได้ตัวปัญญาที่เป็นความรู้นี้

ที่มีลักษณะเป็นความรู้ในด้านเจริญ เป็นความรู้ในด้านเสื่อม

เป็นความรู้ในด้านที่จะปฏิบัตินำตนให้พ้นจากด้านเสื่อมไปสู่ด้านเจริญ

ดั่งนี้แหละจึงเป็นตัวปัญญา คือรู้จักทางเสื่อม รู้จักทางเจริญ

รู้จักปฏิบัติตนให้พ้นจากทางเสื่อมไปสู่ทางเจริญ อย่างแท้จริง

จึงรวมลงที่สัจจะคือตัวความจริง ให้รู้ความจริงในด้านเสื่อมด้านเจริญ

และในด้านที่จะปฏิบัติอย่างไร จึงจะพาตนให้พ้นเสื่อมไปสู่เจริญได้

นี้เป็นตัวปัญญาที่แท้จริง

 

ข้อว่าปัญญาเกิดจากสมาธิ

 

ซึ่งปัญญาที่กล่าวมานี้ทั้งหมดนั้น ย่อมได้จากสมาธินี่เอง คือความที่มีจิตตั้งมั่น

คือมีความตั้งใจมั่นที่เป็นสมาธินี้ แล้วทุกคนจะได้ปัญญาขึ้นมาโดยลำดับ

ที่เกิดจากการอ่าน การสดับตรับฟังบ้าง เกิดจากการคิดค้นพินิจพิจารณาบ้าง

เกิดจากการปฏิบัติฝึกอบรมบ้าง ปรากฏเป็นตัวความรู้ฉลาด รู้จักเสื่อม รู้จักเจริญ

รู้จักการปฏิบัติที่จะให้พ้นเสื่อมไปสู่ความเจริญต่างๆ

 

ปัญญาดังกล่าวนี้ย่อมใช้ได้ทั้งในทางคดีโลก และในทางคดีธรรม

สามารถที่จะนำตนให้ดำรงอยู่ด้วยดีในโลก

ให้เจริญในธรรมะปฏิบัติของพระพุทธเจ้าได้เต็มที่

สำหรับในทางคดีธรรมที่เป็นทางธรรมะปฏิบัติในพุทธศาสนานั้น

ต้องการที่จะให้ละชั่วคืออกุศลธรรมทั้งหลาย

ต้องการที่จะให้ทำดีคือประกอบกุศลธรรมทั้งหลาย

ตั้งใจที่จะให้ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส

อันนี้แหละเป็นบทสรุปที่สุด

 

ฉะนั้น เมื่อได้ปฏิบัติมาตามหลักดังกล่าวนี้

คือปฏิบัติมาในหลักศีล คือทำตนให้เป็นผู้ที่มีศีล มีความประพฤติดี มีวินัย

และฝึกตนให้มีสมาธิให้มีความตั้งใจมั่นดี คือมีความตั้งใจที่เป็นพื้นนั่นแหละแต่ให้มั่นคง

และให้มีปัญญาดั่งที่กล่าวมา ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติในพุทธศาสนา

จะรู้จักพุทธศาสนา หรือไม่รู้จักก็ตาม จะนับถือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์

หรือไม่นับถือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ก็ตาม เมื่อตนปฏิบัติให้ถูกต้องดั่งนี้

ตามหลักของศีล หลักของสมาธิ หลักของปัญญา ดังกล่าวมานี้

ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติละชั่ว ปฏิบัติทำดี และปฏิบัติชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส

อันเป็นพุทธศาสนา ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติพุทธศาสนาโดยแท้จริง

เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนานี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นศาสนาสากล

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนแก่ชาวโลกทั้งสิ้น

ไม่จำกัดว่าชายหญิง เด็กผู้ใหญ่ ชาตินั้นชาตินี้ หรือศาสนานั้นศาสนานี้

ทุกคนสามารถที่จะปฏิบัติให้ได้รับผลดีด้วยกันทั้งนั้น

ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

เบื้องต้นของนิวรณ์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

นิวรณ์ในจิต ๒

ข้อปฏิบัติเพื่อละนิวรณ์ ๓

ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง ๔

นามรูป ๕

อายตนะ สัญโญชน์ ๖

สัญโญชน์ความผูก ๗

เบื้องต้นของนิวรณ์ เบื้องต้นของสัญโญชน์ ๗

สติกำหนดรู้ อินทรียสังวร ๘

อุปาทานขันธ์ ๙

อธิบายความสืบเนื่องของสัญโญชน์ นิวรณ์ ขันธ์ อายตนะ ดีเยี่ยม

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๗๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๔/๒ ( File Tape 134 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

เบื้องต้นของนิวรณ์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

การได้ปัญญาในธรรมนั้นต้องอาศัยสมาธิ

คือความตั้งใจมั่นในการพิจารณาธรรม ในการฟังธรรม

อันตรายของสมาธินั้นก็คือนิวรณ์ ที่แปลว่าเครื่องกั้น

จิตที่มีนิวรณ์ก็เป็นจิตที่มีเครื่องกั้น ไม่ให้จิตเป็นสมาธิได้ จึงไม่ได้ปัญญา

เพราะฉะนั้น ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ตั้งสติตามดูตามรู้ตามเห็นธรรมะ คือเรื่องหรือสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิต

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดให้รู้จักนิวรณ์ในจิต ให้ละนิวรณ์ในจิต

 

นิวรณ์ในจิต

 

อันนิวรณ์ในจิตนั้นก็ได้แก่กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม

คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

ด้วยอำนาจของกิเลสกาม คือกิเลสที่เป็นเหตุใคร่ต่างๆ

พยาบาทความมุ่งร้ายหมายทำลาย รวมถึงความกระทบกระทั่งจิตใจ

ความโกรธแค้นขัดเคือง โทสะความประทุษร้าย หรือประทุษจิต จิตที่ประทุษร้าย

ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

วิจิกิจฉาความคิดเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ

เหล่านี้มักบังเกิดขึ้นครอบงำจิตของสามัญชนทั่วไป ( เริ่ม ๑๗๔/๒ ) เป็นกามฉันท์บ้าง

เป็นพยาบาทบ้าง ไม่เช่นนั้นก็เป็นความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

ถ้าไม่ง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ก็เป็นความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความที่มีใจสงสัย

ลังเลไม่แน่นอน เหล่านี้ย่อมมีอยู่เป็นปรกติในจิตของสามัญชนทั่วไป

 

ตรวจดูจิตใจของตนเองก็จะเห็นได้ว่า

โดยปรกตินั้นจิตก็คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องโน้นบ้างเรื่องนี้บ้าง

อันเป็นเรื่องที่ผูกใจยินดีติดอยู่บ้าง หรือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจบ้าง

เป็นบุคคลเป็นสิ่งที่ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้างดังกล่าว

และในขณะที่มีจิตสงบอยู่บ้าง เช่นในขณะฟังธรรม เพื่ออบรมธรรมะ

ก็มักจะง่วงเหงาหาวนอน เป็นความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เมื่อหายง่วงก็ฟุ้งซ่าน

หรือว่าเมื่อไม่เป็นอย่างอื่นก็เคลือบแคลงสงสัยลังเลไม่แน่นอน มักจะเป็นดั่งนี้

ฉะนั้น จึงทำสมาธิไม่ได้มาก

 

ข้อปฏิบัติเพื่อละนิวรณ์

 

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้กำหนดดูนิวรณ์ในจิตใจของตน เมื่อมีอยู่ก็ให้รู้ว่ามีอยู่

เมื่อไม่มีก็ให้รู้ว่าไม่มี และนิวรณ์ที่ไม่มี จะมีขึ้นได้ด้วยประการใด ก็รู้ประการนั้น

นิวรณ์ที่มีอยู่จะละเสียได้ด้วยประการใด ก็รู้ประการนั้น

นิวรณ์ที่ละแล้วไม่บังเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ให้รู้อย่างนั้น

เพื่อที่จะได้ปฏิบัติอาศัยสติที่กำหนดรู้ดั่งนี้ ป้องกันนิวรณ์ไม่ให้เกิด

ละนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้น และปฏิบัติไม่ให้บังเกิดขึ้นอีก

 

และเมื่อปฏิบัติได้ดั่งนี้จึงจะละนิวรณ์ได้

จิตจึงจะสงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นสมาธิได้

จะได้สมาธิในการปฏิบัติสติปัฏฐานที่กำหนดกายคือลมหายใจเข้าออกเป็นต้น

จะได้สมาธิในการกำหนดเวทนาสุขทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

จะได้สมาธิในการกำหนดพิจารณาจิตทำจิตให้สงบ และจะได้สมาธิในการที่ละนิวรณ์นี้ได้

และเมื่อละนิวรณ์ได้ จิตก็ชื่อว่าสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เป็นจิตที่ควรแก่การงาน อันหมายความว่าควรที่จะปฏิบัติเพื่อปัญญาต่อไป

อันเป็นฝ่ายวิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง

 

ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง

 

หากจะมีปัญหาว่าปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในอะไร

ก็คือรู้แจ้งเห็นจริงในขันธ์ ๕ นั้นเอง พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนไว้ว่า

สมาธึ ภิกขเว ภาเวถะ ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงอบรมสมาธิ

สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ เพราะว่าจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง

ดั่งนี้ก็คือรู้ความเป็นจริงในขันธ์ ๕ นั้นเอง

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงขันธ์ ๕ ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานต่อจากนิวรณ์

ขันธ์ ๕ นั้นก็คือ รูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา

สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ

 

รูป ก็คือรูปกายอันนี้ อันประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม

เรียกว่าเป็นมหาภูตรูป คือรูปที่เป็นส่วนใหญ่ ที่เป็นหมวดใหญ่

และประกอบด้วยอุปาทายรูป รูปอาศัยคือรู้ที่เป็นส่วนประกอบ มีประสาททั้ง ๕

คือ จักขุตา โสตะหู ฆานะจมูก ชิวหาลิ้น กายะกายประสาท เป็นต้น

ส่วน เวทนา นั้นได้แก่ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

สัญญา คือความรู้จำหมาย สังขารคือความรู้คิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ ไปตามสัญญาที่จำได้

และ วิญญาณ คือความรู้ที่เรียกว่าเห็นในเวลาที่ตากับรูปประจวบกัน

ความรู้ที่เรียกว่าได้ยินในเวลาที่หูกับเสียงประจวบกัน

ความรู้ที่เรียกว่าทราบกลิ่นในเวลาที่จมูกกับกลิ่นประจวบกัน

ความรู้ที่ทราบรสในเวลาที่ลิ้นกับรสได้ประจวบกัน

ความรู้ที่เรียกว่าทราบโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง ในเวลาที่กายและโผฏฐัพพะ

สิ่งถูกต้องประจวบกัน และความรู้ที่เรียกว่า รู้หรือคิดธรรมะคือเรื่องราว

ในเวลาที่มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวประจวบกัน

ความรู้ดังกล่าวนี้เรียกว่าวิญญาณ

 

นามรูป

 

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สรุปเรียกว่านาม

เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ จึงย่อเข้าเป็น ๒ คือรูปนาม แต่มักเรียกกลับกันเสียว่านามรูป

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทำสติกำหนดรู้ รู้จักว่ารูปอย่างนี้

รู้ความเป็นไปว่าความเกิดขึ้นของรูปอย่างนี้ ความดับไปของรูปอย่างนี้

ตรัสสอนให้ทำความรู้ในเวทนาเป็นต้นต่อไปก็เช่นเดียวกันว่า

เวทนาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างนี้ ความดับไปของเวทนาอย่างนี้

สัญญาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างนี้ ความดับไปของสัญญาอย่างนี้

สังขารอย่างนี้ ความเกิดขึ้นของสังขารอย่างนี้ ความดับไปของสังขารอย่างนี้

วิญญาณอย่างนี้ ความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างนี้ ความดับไปของวิญญาณอย่างนี้

 

การปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าการปฏิบัติทางวิปัสสนาเพื่อรู้แจ้งเห็นจริง

และเมื่อได้ความรู้ความเห็นจริงดั่งนี้ ก็เป็นตัววิปัสสนาญาณ หรือวิปัสสนาปัญญา

ญาณความหยั่งรู้ หรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง

อายตนะ สัญโญชน์

 

อันนิวรณ์ทั้ง ๕ พร้อมทั้งขันธ์ ๕ ทั้งหมดนี้ ก็เกี่ยวข้องอยู่กับอายตนะที่แปลว่าที่ต่อ

ซึ่งเป็นอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ เป็นสำคัญ

และเกี่ยวข้องกับผลที่เกิดจากอายตนะภายใน อายตนะภายนอก อาศัยกัน

เกิดสังโญชน์หรือสัญโญชน์ คือความผูกของใจ เป็นสำคัญ

 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนไว้ในหมวดต่อไปจากขันธ์ ๕

ให้กำหนดสติรู้จักอายตนะภายใน รู้จักอายตนะภายนอก

คือว่าให้รู้จักรูป คือว่าให้รู้จักจักษุคือตา ให้รู้จักรูปที่ตาเห็น

และให้รู้จักจิตใจที่เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจขึ้น อาศัยตากับรูปประจวบกัน

คือเมื่อตากับรูปประจวบกัน อันได้แก่เห็นรูป ใจก็เกิดผูกขึ้นในรูปที่ตาเห็น

 

แม้ข้ออื่นก็ตรัสสอนเช่นเดียวกันไว้โดยลำดับ

ให้รู้จักหู ให้รู้จักเสียง และให้รู้จักว่าอาศัยหูกับเสียงประจวบกัน ก็เกิดสังโญชน์

หรือสัญโญชน์คือความผูกของจิตใจในเสียงที่หูได้ยิน

ตรัสสอนให้รู้จักจมูก ให้รู้จักกลิ่น และตรัสสอนให้รู้จักว่า อาศัยจมูกกับกลิ่นที่ประจวบกัน

ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจขึ้นในกลิ่น

ตรัสสอนให้รู้จักลิ้น ให้รู้จักรส และให้รู้จักว่า อาศัยลิ้นกับรสประจวบกัน

ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจขึ้นในรส

ตรัสสอนให้รู้จักกาย รู้จักโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และให้รู้จักว่า

อาศัยกายและโผฏฐัพพะประจวบกัน ก็เกิดสังโญชน์

หรือสัญโญชน์ความผูกใจในสิ่งที่กายถูกต้องขึ้น

ตรัสสอนให้รู้จักมโนคือใจ ให้รู้จักธรรมะคือเรื่องราว

ตรัสสอนให้รู้จักว่าอาศัยมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวประจวบกัน ก็เกิดสังโญชน์

หรือสัญโญชน์คือความผูกใจขึ้นในเรื่องราวนั้นๆ ที่ใจคิดใจรู้

สัญโญชน์ความผูก

 

ท่านอธิบายว่าสัญโญชน์ดังกล่าวคือฉันทราคะ ความติดใจด้วยอำนาจของความยินดี

แต่ตามศัพท์ของสัญโญชน์นั้นแปลว่าความผูก คือความที่จิตนี้เองผูกอยู่กับ รูปที่ตาเห็น

เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสที่ลิ้นได้ทราบ โผฏฐัพพะที่กายได้ถูกต้อง

และธรรมะคือเรื่องราวที่ใจได้คิดได้รู้ คือใจไม่ปล่อยไม่วาง

และก็ไปผูกไว้กับใจ ตามศัพท์ของสัญโญชน์มีดั่งนี้

 

พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้จักว่า สัญโญชน์เกิดขึ้นโดยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น

สัญโญชน์ที่บังเกิดขึ้น ละเสียได้ด้วยประการใดก็รู้ประการนั้น

ตรัสสอนให้รู้จักว่าสัญโญชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่บังเกิดขึ้นได้ด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น

คือตรัสสอนให้ละสัญโญชน์ และปฏิบัติไม่ให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้นอีก

 

เบื้องต้นของนิวรณ์ เบื้องต้นของสัญโญชน์

 

พิจารณาดูตามแนวที่ตรัสสอนไว้นี้ ก็อาจจะนำเอาข้อนิวรณ์ ข้อขันธ์มาเชื่อมเข้าได้

กล่าวคือสัญโญชน์นี้เองเป็นเบื้องต้นของนิวรณ์

และอายตนะภายใน อายตนะภายนอกนี้เอง เป็นเบื้องต้นของสัญโญชน์

คือเพราะอายตนะภายใน อายตนะภายนอกประจวบกัน

จิตของสามัญชนนี้จึงได้เกิดผูกขึ้นมาเป็นสัญโญชน์

และเมื่อจิตผูกขึ้นมาดั่งนี้แล้ว จึงได้เกิดเป็นตัวนิวรณ์ขึ้นมา เป็นกามฉันท์บ้าง

เป็นพยาบาทบ้าง เป็นถีนมิทธะบ้าง เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะบ้าง เป็นวิจิกิจฉาบ้าง

สืบมาจากสัญโญชน์

 

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติละนิวรณ์นั้น

จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ที่เกิดของนิวรณ์ว่าคือสัญโญชน์ และที่เกิดของสัญโญชน์นั้น

ก็เนื่องมาจากอายตนะภายใน อายตนะภายนอกเป็นประการสำคัญ

เพราะฉะนั้น ขั้นตอนของการปฏิบัติจึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อตัดสัญโญชน์

และจะตัดสัญโญชน์ได้ก็ต้องอาศัยทางปฏิบัติอื่นๆ

 

สติกำหนดรู้ อินทรียสังวร

 

ข้อสำคัญก็คือว่าจะต้องมีสตินี่เอง คอยกำหนดดูให้รู้

ในขณะที่อายตนะภายใน อายตนะภายนอกมาประจวบกันอยู่เป็นคู่ๆ อยู่โดยปรกติ

จะต้องมีสติสำรวมระวังตา สำรวมระวังหู สำรวมระวังจมูก สำรวมระวังลิ้น

สำรวมระวังกาย สำรวมระวังใจ ที่เรียกว่าอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์

คือสำรวมทางทวารทั้ง ๖ นี้ ในเวลาที่มาประจวบกัน

ของอายตนะภายในอายตนะภายนอกดังกล่าว

 

โดยตรงก็คือว่ามีสติสำรวมระวังจิตนี้เอง

ที่จะไม่ยึดถือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะเรื่องราว

ที่ประจวบเข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจอยู่ทุกขณะ

ไม่ยึดถือทั้งหมด ไม่ยึดถือบางส่วนของอารมณ์เหล่านี้

แต่ว่าวางใจ ปล่อยใจให้ผ่านไป คือเห็นแล้วก็แล้วไป ได้ยินแล้วก็แล้วไป

ทราบกลิ่นแล้วก็แล้วไป ทราบรสแล้วก็แล้วไป ถูกต้องแล้วก็แล้วไป

คิดรู้เรื่องราวอะไรแล้วก็แล้วไป เป็นเรื่องๆไป ไม่ยึดถือ

 

เพราะความยึดถือนี่แหละเป็นตัวสัญโญชน์

ซึ่งนำให้เกิดยินดีเกิดยินร้ายขึ้นมา เกิดหลงงมงายขึ้นมา อันเป็นตัวนิวรณ์ดังกล่าว

ถ้าหากว่ามีสติป้องกันเสียได้ ตั้งแต่ในขั้นแรกที่ทวารทั้ง ๖ นี้ เป็นอินทรียสังวรอยู่แล้ว

ก็สามารถที่จะปฏิบัติระงับได้ ไม่ให้จิตใจผูก เมื่อระงับจิตใจไม่ให้ผูกได้

ก็เป็นอันว่าระงับสังโญชน์ได้ เมื่อระงับสังโญชน์ได้ ก็ระงับนิวรณ์ได้

แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยวิปัสสนาปัญญาในขันธ์ ๕ ช่วยอีกด้วยเช่นเดียวกัน

 

อุปาทานขันธ์

 

เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้เองเป็นตัวสร้างกิเลสตัณหา เป็นตัวสร้างสัญโญชน์

เป็นตัวสร้างความติด ที่ว่าเป็นตัวนั้นก็คือว่า ในเมื่อยึดถือขันธ์ ๕

ด้วยอุปาทานความยึดถือ เป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถืออยู่

แล้วขันธ์ ๕ นี้ก็เป็นที่เกิดของกิเลสตัณหาทั้งหลาย เป็นที่เกิดของสัญโญชน์

เพราะว่าเมื่อยึดถือขันธ์ ๕ นี้ ก็เป็นอัตตาคือตัวตน โดยเหตุว่ายึดถือว่า นี่เป็นของเรา

เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา จึงเกิดมีเราขึ้นมา มีอัตตาคือตัวตนขึ้นมา

เมื่อเกิดมีอัตตามีเรามีของเราขึ้นมา มีตัวตนขึ้นมาดั่งนี้ จึงมีเรามีของเราออกยึดถือ

รูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน เป็นต้น แล้วก็กล่าวได้ว่ายึดถือทั้งสอง

ยึดถือทั้งตาทั้งรูป ทั้งหูทั้งเสียง เป็นต้น ( เริ่ม ๑๗๕/๑ ) เป็นอันว่ายึดถือทั้งอายตนะภายใน

ทั้งอายตนะภายนอกทั้งหมด จึงได้เกิดเป็นสัญโญชน์ขึ้นมา เกิดเป็นนิวรณ์ขึ้นมา

ก็อาศัยขันธ์ ๕ นั้นเองเป็นที่เกิดขึ้นมาดั่งนี้

 

จนกว่าที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญา มองเห็นเกิดดับของขันธ์ ๕

หรือกล่าวให้หมดจดว่ารู้จักขันธ์ ๕ รู้จักความเกิดของขันธ์ ๕ รู้จักความดับของขันธ์ ๕

รู้จักเกิดดับ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะเป็นเหตุให้ปล่อยวางได้

และเมื่อปล่อยวางได้ก็ไม่ยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือสังโญชน์ก็จะไม่บังเกิดขึ้น

 

เพราะฉะนั้น ทั้ง ๓ หมวดนี้

คือหมวดนิวรณ์ก็ดี หมวดขันธ์ ๕ ก็ดี และหมวดอายตนะสัญโญชน์นี่ก็ดี

การปฏิบัติจึงต้องสัมพันธ์กัน ต้องอาศัยกันคู่กันไปดั่งนี้ จึงจะละนิวรณ์ได้

และละความยึดถือในขันธ์ ๕ ได้ แล้วก็ละสัญโญชน์ได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats