ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป123

จิตตภาวนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

ศีล อินทรียสังวร ๓

ปาริสุทธิศีล ๔

เหตุให้ได้สมาธิ ๕

สัลเลขธรรม ๕

บุคคลในโลก ๓ จำพวก ๖

กรรมย่อมจำแนกสัตว์บุคคล ๗

กรรมย่อมเนื่องมาจากจิต ๗

ปุพเพกตปุญญตา ๘

การปฏิบัติสั่งสมอินทรีย์ ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๖๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๖๑/๒ ( File Tape 123 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

จิตตภาวนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จิตตภาวนาการอบรมจิต พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสั่งสอนให้กระทำ

และได้ตรัสไว้ว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ ปภัสสร คือผุดผ่อง

แต่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งหลายที่จรเข้ามา

อันได้แก่อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิต กองราคะ โทสะ โมหะ

หรือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

เพราะฉะนั้น จิตจึงเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส

 

แต่ว่าจิตนี้ วิมุตติ คือหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามานี้ได้

จึงได้ตรัสสอนให้ทำจิตตภาวนาคือการอบรมจิต

อันจะทำจิตให้วิมุตติคือหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

และเครื่องอบรมจิตนั้นโดยตรงก็ได้แก่สมาธิภาวนา และปัญญาภาวนา

คือการปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธิ และการปฏิบัติทำจิตให้ได้ปัญญา

ความรู้ความเห็นที่เข้าถึงสัจจะคือความจริง

 

ศีล อินทรียสังวร

 

จิตตภาวนาดังกล่าวนี้ก็ต้องอาศัยมี ศีล เป็นภาคพื้น

จึงต้องมีการปฏิบัติในศีลตามสิกขาบทบัญญัติ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้เป็นวินัย

สำหรับฆราวาสก็เช่นวินัยห้าข้อที่เรียกว่าศีล ๕ วินัยแปดข้อที่เรียกว่าศีล ๘

สำหรับบรรพชิตคือผู้บวชก็ได้แก่วินัยสิบข้อที่เรียกว่าศีล ๑๐ สำหรับสามเณร

วินัยสองร้อยยี่สิบเจ็ดข้อที่เรียกว่าศีล ๒๒๗ สำหรับภิกษุ

การมาปฏิบัติตามวินัย เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งให้เว้น ทำตามข้อที่ตรัสสั่งให้ทำเรียกว่าศีล

มีข้อน้อยหรือมากตามจำนวนของวินัย น้อยหรือมากข้อดังกล่าว

ฉะนั้น จะชื่อว่ามีศีลก็ต้องมีวินัย และเมื่อมีวินัยก็ชื่อว่ามีศีล

ศีลดังกล่าวนี้เป็นภาคพื้นจะต้องปฏิบัติให้มีขึ้น

 

และจะต้องมีการปฏิบัติใน อินทรียสังวร คือความสำรวมอินทรีย์ที่แปลว่าเป็นใหญ่

อันหมายถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ ทั้ง ๖ นี้ได้ชื่อว่าอินทรีย์

คือเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ตาเป็นใหญ่ในการเห็นรูป หูเป็นใหญ่ในการฟังเสียง

จมูกเป็นใหญ่ในการทราบกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการทราบรส

กายเป็นใหญ่ในการถูกต้องสิ่งที่ถูกต้องทางกาย มโนคือใจเป็นใหญ่ใน ๕ ข้อนั้นด้วย

และในธรรมะคือเรื่องราวที่นึกที่รู้ที่คิดทางใจ

 

ความสำรวมคือความที่มีสติระมัดระวัง

ทางตาในขณะที่เห็นรูปอะไร ทางหูในขณะที่ได้ยินเสียงอะไร

ทางจมูกทางลิ้นทางกายในขณะที่ได้ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะอะไร

ทางมโนคือใจในขณะที่คิด หรือรู้เรื่องอะไร

ระมัดระวังใจมิให้ความยินดีความยินร้ายไหลเข้าไปท่วมทับใจได้

ดั่งนี้เรียกว่าอินทรียสังวรสำรวมอินทรีย์ อันนับว่าเป็นศีลประการหนึ่ง

 

ปาริสุทธิศีล

 

การเลี้ยงชีวิตให้บริสุทธิ์

สำหรับฝ่ายฆราวาสก็ประกอบในสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ

สำหรับภิกษุก็คือการแสวงหาปัจจัยทั้ง ๔ ในทางที่ชอบ ก็เป็นสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ

และให้มีการพิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ บริโภคว่าเพื่อประโยชน์ในการทะนุบำรุงกาย

ตามที่กายต้องการ อาหาร ผ้านุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาแก้ไข้นั้นๆ

เพื่อประกอบคุณงามความดีต่างๆ ไม่บริโภคด้วยตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก

ดั่งนี้ ก็เป็นศีลอันเกี่ยวด้วยการพิจารณาปัจจัยข้อหนึ่ง

 

เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่ามีศีลนี้จึงต้องมีการปฏิบัติตามวินัย

ทั้งฝ่ายบรรพชิตและทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ในวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ให้ปฏิบัติ

จะต้องมีอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ จะต้องมีอาชีวะปาริสุทธิคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีพ

จะต้องมีการพิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ ที่บริโภคใช้สอย ดั่งนี้

ย่อมสนับสนุนกันให้เป็นศีลที่สมบูรณ์ คือให้เป็นศีลที่บริสุทธิ์ อันเรียกว่า ปาริสุทธิศีล

และก็มีศีลเป็นภาคพื้นปฏิบัติทางสมาธิ ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐาน

ให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สงบจากนิวรณ์ คือกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย

และปฏิบัติทางปัญญา คือพิจารณาสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย

เช่นนามรูปว่า อนิจจะ คือไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เกิดดับ

ทุกขะ คือเป็นทุกข์ต้องถูกความเกิดดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

เป็น อนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน คือไม่ควรยึดถือว่า เอตัง มม นี่เป็นของเรา

เอโส ห มัสมิ เราเป็นนี่ เอโส เม อัตตา นี่เป็นตัวตนของเรา

กล่าวสั้นคือไม่ยึดถือว่าตัวเราของเรา

เหตุให้ได้สมาธิ

 

เมื่อหัดปฏิบัติให้มีศีล มีสมาธิ และมีปัญญาอยู่ดั่งนี้

ก็ได้ชื่อว่าได้ทำ จิตตภาวนา คือการอบรมจิตที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้

เป็นเครื่องทำจิตนี้ให้พ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา

ทั้งที่เป็นของเก่า และทั้งที่เป็นของใหม่

เป็นของเก่าคือว่าที่จรเข้ามาหมักดองอิงแอบอาศัยอยู่ในจิตแล้ว

และที่เป็นของใหม่คือที่จะเข้ามาทางทวารทั้ง ๖ คือทางช่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย

และมนะคือใจ

 

โดยเป็นอารมณ์คือเรื่องรูปเสียงเป็นต้น ที่เข้ามาทางตาหูเป็นต้นนั่น

เมื่อป้องกันของใหม่ไม่ให้เข้ามาได้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ได้มีอินทรียสังวรเป็นอย่างดี

อินทรียสังวรข้อนี้จึงเป็นอุปการะแก่สมาธิ ใกล้ชิดแก่สมาธิมาก

นับเป็นศีลที่สืบต่อถึงสมาธิ ที่เป็นเหตุให้ได้สมาธิ

 

สัลเลขธรรม

 

ผู้ที่ปฏิบัติดั่งนี้อยู่เนืองๆชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมะ

เป็นสัมมาทิฏฐิคือเป็นผู้ที่มีความเห็นชอบ และเป็นผู้ที่ปฏิบัติเข้าทาง

เข้าทางมรรคมีองค์ ๘ หรือย่อลงก็เข้าทางศีลสมาธิปัญญา ดั่งที่กล่าวนั้น

และเมื่อปฏิบัติอยู่ดั่งนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติเป็น สัลเลขธรรม คือปฏิบัติขัดเกลา

ขัดเกลาจิตใจพร้อมทั้งกายและวาจาให้ดี ทำให้เป็นผู้ที่ไม่ปรุงแต่ง

คือประกอบกระทำอะไรทางกายทางวาจาทางใจ ที่มีความเบียดเบียน

คือเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน

 

แต่ถ้าตรงกันข้าม ไม่ปฏิบัติเข้าทางดังกล่าว

คือไม่เข้าทางมรรคมีองค์ ๘ ย่อลงก็ไม่เข้าทาง ศีล สมาธิ ปัญญา

แต่ว่าปฏิบัติเข้าทางของกิเลสของตัณหา ย่อมเป็นผู้ที่ปรุงแต่ง

คือประกอบกระทำอะไรทางกายทางวาจาทางใจที่มีความเบียดเบียน

เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน

 

บุคคลในโลก ๓ จำพวก

 

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถึงบุคคลต่างๆในโลกนี้ว่ามีอยู่ ๓ จำพวก

คือจำพวกหนึ่งเป็นผู้ที่ปรุงแต่ง คือประกอบกระทำอะไรทางกายทางวาจาทางใจ

ที่มีความเบียดเบียน คือเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน

ย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน คือที่มีความทุกข์เป็นเครื่องเบียดเบียน

ย่อมต้องพบกับสัมผัสคือสิ่งถูกต้องที่มีความเบียดเบียน

( เริ่ม ๑๖๑/๒ ) คือที่มีความทุกข์เป็นเครื่องเบียดเบียน

ต้องเสวยเวทนา คือต้องประสบเวทนาที่มีความเบียดเบียน คือมีทุกข์โดยส่วนเดียว

 

บุคคลจำพวกที่ ๒ ได้แก่บุคคลที่ไม่ปรุงแต่ง

คือไม่ประกอบกระทำอะไรที่มีความเบียดเบียน

คือที่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน

ย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน คือไม่มีทุกข์เป็นเครื่องเบียดเบียน

ย่อมถูกต้องกับสัมผัสที่ไม่มีความเบียดเบียน คือไม่มีทุกข์เป็นเครื่องเบียดเบียน

ย่อมเสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน คือไม่มีทุกข์เป็นเครื่องเบียดเบียน

คือที่เป็นสุขโดยส่วนเดียว

 

ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๓ หรือสัตว์โลกจำพวกที่ ๓

ก็ได้แก่ผู้ที่ปรุงแต่งคือประกอบกระทำอะไรทางกายทางวาจาทางใจ

ที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง

คือที่เป็นไปเพื่อความทุกข์เป็นเครื่องเบียดเบียนแก่ตนเองและผู้อื่นบ้าง

ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนและผู้อื่นบ้าง

ย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง

ย่อมถูกกระทบด้วยสัมผัสที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง

ย่อมเสวยเวทนา ประสบเวทนาที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง

คือมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้างระคนปนเปกันไป

 

กรรมย่อมจำแนกสัตว์บุคคล

 

บุคคลหรือสัตว์โลกจำพวกที่ ๑ ที่มีทุกข์โดยส่วนเดียวนั้นก็ได้แก่พวกสัตว์นรกทั้งหลาย

จำพวกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนั้น ก็เช่นพวกเทพชั้น สุภะกิณหะ

จำพวกที่มีสุขบ้างทุกข์บ้างระคนปนเปกันนั้นก็ได้แก่จำพวกมนุษย์

จำพวกเทพบางพวก จำพวกที่ตกต่ำเช่นสัตว์เดรัจฉานบางพวก

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดั่งนี้ก็เป็นการรับรองพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้เองว่า

กรรมย่อมจำแนกสัตว์บุคคลให้เป็นต่างๆกัน เลวบ้าง ประณีตบ้าง ดั่งนี้

 

กรรมย่อมเนื่องมาจากจิต

 

และกรรมที่กล่าวมานี้ก็เนื่องมาจากจิตนี้เอง

จิตที่ไม่มีจิตตภาวนาคือไม่ได้อบรมย่อมก่อกรรมที่เป็นเครื่องเบียดเบียน

ส่วนจิตที่มีจิตตภาวนาการอบรมย่อมก่อกรรมที่ไม่เป็นเครื่องเบียดเบียน

แต่เมื่ออบรมยังไม่ดีนักก็ย่อมก่อกรรมที่ไม่เป็นเครื่องเบียดเบียนบ้าง

เป็นเครื่องเบียดเบียนบ้าง ทั้งสองอย่าง

 

ฉะนั้น จิตตภาวนาจึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

แต่ในการปฏิบัติจิตตภาวนานี้ แม้ทุกคนจะทราบ

แต่การปฏิบัติที่จะให้ได้รับผลน้อยหรือมากเพียงไรนั้น ย่อมเกี่ยวแก่เหตุปัจจัยประกอบ

กล่าวคืออินทรีย์อันได้แก่พื้นของความดี ที่เรียกว่าอินทรีย์เหมือนกัน

คือที่เป็นใหญ่เหนือความชั่วที่แต่ละคนได้อบรมมา กับอาศัยปัจจุบันคือการปฏิบัติ

 

คือถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติ

หรือแม้ปฏิบัติก็ปฏิบัติย่อหย่อน ไม่กระทำให้มาก ไม่กระทำบ่อยๆ

การที่จะได้สมาธิได้ปัญญาพร้อมทั้งศีลที่เป็นภาคพื้นนั้น ก็บังเกิดความสำเร็จได้น้อย

แต่ถ้ามีการปฏิบัติ มีความขยันหมั่นเพียร ทำให้มาก ทำบ่อยๆ

ก็จะทำให้ได้สมาธิได้ปัญญา พร้อมทั้งศีลที่เป็นภาคพื้นนั้นได้มากขึ้น และได้ง่ายขึ้น

ฉะนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่ปัจจุบัน คือการที่ปฏิบัติให้มาก ปฏิบัติอยู่บ่อยๆเนืองๆ ติดต่อกัน

เมื่อปฏิบัติอยู่ดั่งนี้ การปฏิบัติของตนในวันนี้ ถึงวันพรุ่งนี้การปฏิบัติในวันนี้ก็จะเป็นอินทรีย์

เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิบัติอยู่เสมอๆดั่งนี้ สมมติว่าสักเจ็ดวัน ถึงวันที่เจ็ด

หกวันที่ล่วงแล้วนั้นก็เป็นอินทรีย์ คือเป็นคุณธรรมที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ

บรรจุอยู่ในจิตใจ สั่งสมอยู่ในจิตใจ เป็นอินทรีย์หรือเรียกอีกคำหนึ่งว่าเป็นบารมีอยู่ในจิตใจ

อันเป็นเครื่องอุดหนุนให้การปฏิบัติต่อๆไป เป็นไปได้สะดวกขึ้น

อุดหนุนให้มีฉันทะวิริยะมากขึ้นในการปฏิบัติ

 

ปุพเพกตปุญญตา

 

เพราะฉะนั้น อินทรีย์หรือบารมีนี้จึงเป็นตัว ปุพเพกตปุญญตา

ความที่มีบุญคือความดีอันได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน

ซึ่งคำว่าปางก่อนนี้ก็ไม่ใช่หมายจำเพาะว่าในชาติก่อนเท่านั้น

แต่ในชาตินี้เองที่เป็นส่วนอดีต คือความดีที่ทำไว้แล้วในวันเวลาที่ย้อนหลังไป

น้อยหรือมากเท่าไรก็ตาม ก็เป็น ปุพเพกตปุญญตาทั้งนั้นของวันนี้

และทุกๆคนนั้น เมื่อมีปุพเพกตปุญญตาในวันหลังๆมาหนุนอยู่

การปฏิบัติในวันนี้ก็จะเป็นไปดี ความดำรงอยู่ในวันนี้ก็จะเป็นไปดี

โดยอาศัยปุพเพกตปุญญตาหนุนหลัง

หรืออาศัยอินทรีย์ก็ได้อันเป็นภาคพื้นที่อบรมสั่งสมมา

คือความดีหรือคุณธรรมที่เป็นใหญ่เหนือความชั่ว ที่ทุกๆคนอบรมสั่งสมมาทุกๆวันนั้น

ไม่หายไปไหน ยังสั่งสมรักษาอยู่ในจิตใจนี้เอง พอกพูนอยู่ในจิตใจนี้เอง

เป็นอินทรีย์คือเป็นใหญ่ หรือเป็นบารมีคือความดีที่สั่งสมมา

 

การปฏิบัติสั่งสมอินทรีย์

 

และดังได้กล่าวแล้วว่าอินทรีย์ที่กล่าวนี้ที่แปลว่าเป็นใหญ่

ก็มีความหมายง่ายๆว่า คือเป็นใหญ่เหนือความชั่ว ให้ตรวจดูที่ใจตนเองก็จะเห็นได้

ว่าตนเองนั้นได้รักษาศีลมาเป็นอาจิณ ทำสมาธิปฏิบัติทางปัญญาอยู่เสมอ

เป็นความดีที่สั่งสมมา ใจตนเองจะน้อมไปในความดีได้ง่าย

และจะน้อมไปในความชั่วได้ยาก หรือไม่ได้

เช่นจะน้อมไปว่าเราจะฆ่าเขา เราจะลักของๆเขาเป็นต้น น้อมไปยาก

จะน้อมไปในความดีว่าเราจะรักษาศีลให้ยิ่งขึ้น จะทำสมาธิทำปัญญาให้ยิ่งขึ้นก็ได้ง่ายขึ้น

ดั่งนี้แสดงว่าภูมิชั้นของจิตนั้นขึ้นสูง อยู่เหนือความชั่วไปโดยลำดับ

จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า อันความชั่วนั้น คนชั่วทำง่าย คนดีทำยาก

ส่วนความดีนั้น คนชั่วทำยาก คนดีทำง่าย ดั่งนี้

 

ฉะนั้น การที่มาปฏิบัติทำจิตตภาวนาทางสมาธิทางปัญญาอยู่เสมอ

พร้อมทั้งมีศีลเป็นภาคพื้นอยู่เป็นประจำ ย่อมเป็นการปฏิบัติสั่งสมอินทรีย์

คือความดีที่เหนือความชั่ว สั่งสมบารมีคือความดีขึ้นโดยลำดับ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

กรรมฐานเบื้องต้น

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

เพศบรรพชิต ๓

งานในพุทธศาสนา ๔

สิกขา ๓ กรรมฐาน ๓ ๕

การงานของพระพุทธเจ้า ๖

ศีลกรรมฐาน ๗

จิตตสิกขา ๘

มูลกรรมฐาน ๙

ปริยัตเชื่อมกับการปฏิบัติ ๑๐

กัณฑ์แรกสำหรับพระ ดีเยี่ยม

มีศัพท์คำว่า อัทธมยา ในหน้า ๗ ที่อาจจะเขียนไม่ถูก

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๖๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๖๒/๑ ( File Tape 123 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

กรรมฐานเบื้องต้น

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

เทศกาลฤดูนี้ เป็นเทศกาลที่กุลบุตรชาวไทยได้พากันออกบวช

เพื่อจำพรรษาตลอด ๓ เดือนเป็นจำนวนมาก

นำให้มารดาบิดาญาติมิตรได้พากันเข้าวัด เพื่อเยี่ยมบุตรหลานญาติของตน

เพื่อนมิตรของตนที่บวชอยู่จำพรรษา จึงได้มีโอกาสคุ้นเคยกับวัด กับพระศาสนา

และเมื่อได้ทำทาน สมาทานศีล เจริญภาวนา ก็เป็นอันได้กระทำบุญ

อันเป็นเครื่องชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ยิ่งๆขึ้นไปอีก

 

เพราะฉะนั้น จึงเป็นฤดูเทศกาลแห่งการเข้าวัดบำเพ็ญกุศลกัน

ทั้งกุลบุตรผู้เข้ามาบวชเอง ทั้งมารดาบิดาญาติมิตรสหาย

และนอกจากนี้ประชาชนผู้ปฏิบัติอยู่เป็นประจำแล้ว

ก็ย่อมจะมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมในฤดูเข้าพรรษานี้ยิ่งกว่าปรกติโดยมากอีกด้วย

จึงเป็นฤดูเทศกาลแห่งการปฏิบัติธรรม แห่งบุญกุศลที่พึงอนุโมทนาสาธุการ

และผู้ที่เข้ามาบวชใหม่เป็น นวกภิกษุ ที่เรียกว่าภิกษุใหม่

เมื่อเข้ามาบวชก็ย่อมจะรู้สึกว่าต้องพบกับความว่าง

อันหมายความว่า ว่างจากการงานที่ประกอบกระทำ

และจะต้องอยู่ภายในวัด ในระเบียบวินัย

ไม่มีโอกาส หรือไม่อาจที่จะไปโน่นไปนี่ได้ตามปรารถนาต้องการ

จึงทำให้รู้สึกว่าว่าง ผิดกว่าปรกติธรรมดาเมื่ออยู่เป็นฆราวาสคฤหัสถ์

และเมื่ออยู่ว่างๆก็มักจะเกิดความรำคาญ กระวนกระวายใจ

 

เพศบรรพชิต

 

และอันที่จริงนั้นหากพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า

ประการแรกการเข้ามาครองเพศเป็นบรรพชิตคือผู้บวช

หรือแม้การที่เป็นฆราวาสคฤหัสถ์เข้ามาปฏิบัติธรรมในวัดชั่วระยะเวลาก็ตาม

ก็ชื่อว่าต้องมาดำรงชีวิตอยู่อีกแบบหนึ่ง ต่างจากชีวิตนอกวัด

หรือต่างจากชีวิตของความเป็นคฤหัสถ์ฆราวาส

และเมื่อเป็นคฤหัสถ์ฆราวาสนั้นก็ปฏิบัติอย่างคฤหัสถ์ฆราวาส

แต่เมื่อมาเข้าวัด มาปฏิบัติธรรมก็ดี หรือเข้ามาบวชเรียนก็ดี

ก็ต้องมาปฏิบัติตามสิกขาวินัย ระเบียบแบบแผนของวัด

เป็นคนละรูปแบบของการดำรงชีวิต

 

และเมื่อความดำรงชีวิตในวัดต่างจากความดำรงชีวิตในบ้าน จึงทำให้รู้สึกผิดแปลก

และเมื่อต้องมาปฏิบัติในสิกขาวินัย ในกิจของผู้บวช หรือในกิจของผู้ปฏิบัติธรรม

ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนหลักของการปฏิบัติไว้อย่างครบถ้วน

ถ้าหากว่าตั้งใจปฏิบัติในสิกขาวินัย ในธรรมะที่ได้ทรงสอน

ตลอดจนถึงกิจวัตรต่างๆของวัดแล้ว ก็จะรู้สึกว่าไม่ว่าง

เพราะว่าก็จะต้องทำงาน หรือทำการงานตามกิจที่ผู้บวช หรือผู้ปฏิบัติธรรมพึงทำ

เช่นเดียวกับเมื่ออยู่ในบ้าน หรืออยู่ครองเรือน ก็ต้องปฏิบัติในกิจที่ผู้ครองเรือนพึงปฏิบัติกระทำ

ฉะนั้น หากได้ตั้งใจปฏิบัติกระทำแล้วก็จะไม่ว่าง อันหมายความว่าไม่ว่างจากการงานที่พึงทำ

 

อีกอย่างหนึ่ง ความที่รู้สึกว่าว่างไม่มีอะไรทำ จึงทำให้รำคาญนั้น

ความรู้สึกดังกล่าวนั้น ก็คือหมายความว่าไม่มีกิจที่จะพึงทำอย่างคฤหัสถ์ฆราวาส

หรืออย่างเมื่ออยู่นอกวัด ไม่ใช่หมายความว่าในวัดนี้ไม่มีกิจอะไรที่จะพึงทำ

ไม่มีการงานที่จะพึงทำ ในวัดก็มีการงานที่จะพึงทำดังกล่าวแล้วเหมือนกัน

และที่เรียกว่าว่างนั้นอันที่จริงเมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็จะพบว่าทางกายต่างหากที่รู้สึกว่าว่าง

หมายความว่าว่างจากกิจของฆราวาสของคฤหัสถ์ หรือว่างจากกิจการงานนอกวัด

ว่างจากกิจการงานในบ้าน

 

เพราะฉะนั้น ใจที่รู้สึกว่าว่างนั้นอันที่จริงใจไม่ว่าง คือใจยังมีอาลัย

ยังมีหมกมุ่นอยู่ในการงานของคฤหัสถ์ฆราวาส หรืออยู่ในเรื่องของคฤหัสถ์ฆราวาส

ถ้าจิตใจว่างด้วยแล้วก็ย่อมเป็นการดี เพราะว่าความที่จิตใจว่างจากความกังวลห่วงใย

จากอาลัยทั้งหลายนั้นเป็น สุญญตา คือความว่างที่ประสงค์ในทางปฏิบัติธรรม

แต่เพราะจิตใจไม่ว่าง จิตใจยังเต็มไปด้วยกังวลห่วงใย

ด้วยอารมณ์ของฆราวาสหรือของบ้าน เรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง เป็นความว้าวุ่นทางจิตใจ

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงทำให้รู้สึกว่าว่าง ก็คือว่างจากกิจของฆราวาสดังกล่าวแล้วนั้นเอง

ความจริงนั้นไม่ว่างจากกิจการของวัด หรือของพระศาสนา

จึงจะต้องรู้จักว่างานในวัด หรืองานในพุทธศาสนานั้นคืออะไร

จะได้ใช้เวลาที่เข้าวัดแม้เป็นฆราวาสเอง หรือเวลาที่เข้ามาบวชเรียนนี้

ทำงานทางพระศาสนาให้ได้เต็มที่

 

งานในพุทธศาสนา

 

อันงานทางพระศาสนาหรืองานในวัดนั้น พระอุปัชฌาย์ก็ได้บอกไว้ในท้ายอนุสาสน์แล้ว

ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสิกขาทั้ง ๓ อันได้แก่ สีลสิกขา สิกขาคือศีล

จิตตสิกขา สิกขาคือจิตหรือสมาธิ ปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญา

ไว้โดยปริยายถึงทางเป็นอันมาก ( เริ่ม ๑๖๒/๑ ) อันเป็นข้อที่พึงสิกขา คือพึงศึกษา

อันหมายถึงพึงเรียนด้วย พึงปฏิบัติด้วย ไปด้วยกัน ในศีลในจิตหรือสมาธิ และในปัญญานี้

เป็นกรณียะคือเป็นกิจที่พึงกระทำเรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นกิเลสและกองทุกข์

ที่เรียกว่าบรรลุนิพพาน คือธรรมะที่ออกจาก วานะ กิเลสตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัดจิตใจ

เมื่อยังไม่สิ้นกิเลส ยังไม่ดับทุกข์ได้ ก็จะต้องสิกขาคือศึกษา

ในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ทั้ง ๓ นี้เรื่อยไป ให้ยิ่งๆขึ้นไป

เพราะฉะนั้น จึงได้กำชับว่าพึงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติ ในอธิศีลสิกขาคือศีลยิ่ง

อธิจิตสิกขาจิตยิ่งคือสมาธิยิ่ง อธิปัญญาสิกขาคือปัญญายิ่ง ดั่งนี้

อันสิกขานี้เองเป็นการงานที่ผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งพระและทั้งคฤหัสถ์จะพึงกระทำ

 

สิกขา ๓ กรรมฐาน ๓

 

อีกอย่างหนึ่งจะเรียกว่ากรรมฐานก็ได้

กรรมฐานนั้นบัดนี้มาใช้เป็นภาษาทางธรรมะอย่างเดียว

แต่เดิมนั้นพบในพระบาลีที่เล่าเรื่องต่างๆในครั้งพุทธกาล ว่าใช้หมายถึงการงานที่พึงกระทำ

ที่เป็นการงานของชาวบ้าน เช่นว่าการทำนาเรียกว่ากสิกรรมกันในเมืองไทย

แต่ในครั้งพุทธกาลนั้นเรียกว่ากสิกรรมฐาน กรรมฐานคือการทำนา

การค้าขายเรียกกันในเมืองไทยว่าพานิชย์กรรม

แต่ในครั้งพุทธกาลนั้นเรียกกันว่าพานิชย์กรรมฐาน

ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าก็นำเอาคำว่าการงานนี้

จากทางโลกนั้นเองมาใช้เป็นภาษาในทางธรรม

 

ฉะนั้น สิกขา ๓ คือศีลสมาธิปัญญานี้ จึงอาจเรียกว่าเป็นกรรมฐาน ๓ ก็ได้

คือเป็นการงานที่จะต้องปฏิบัติ อันได้แก่ศีลกรรมฐาน สมาธิกรรมฐาน ปัญญากรรมฐาน

การงานคือการปฏิบัติในศีล การงานคือการปฏิบัติในสมาธิ การงานคือการปฏิบัติปัญญา

 

การงานของพระพุทธเจ้า

 

ฉะนั้น เมื่อตั้งใจปฏิบัติในการงานของพระพุทธเจ้า

คือกรรมฐานดังกล่าวนี้แล้ว ก็จะเห็นว่าไม่ว่าง

เพราะว่าเป็นข้อที่จะพึงปฏิบัติอยู่ในการงานทั้ง ๓ นี้ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง

ศีลก็ต้องมีอยู่ประจำตัว ๒๔ ชั่วโมง

สมาธิและปัญญาก็พึงปฏิบัติให้มีอยู่ประจำตัว ๒๔ ชั่วโมงเช่นเดียวกัน

ถ้าว่างจากไตรสิกขาหรือว่าไตรกรรมฐานนี้เมื่อไร ก็ชื่อว่าจิตใจก็จะออกไปสู่นอกวัด

นอกพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เข้าไปสู่กระแสโลก

แต่เมื่อทั้งกายและจิตใจนี้เข้ามาอยู่ในกรรมฐานทั้ง ๓ นี้ หรือในไตรสิกขาทั้ง ๓ นี้แล้ว

ก็จะชื่อว่าเป็นผู้ที่อยู่ในพระศาสนา เป็นภิกขุในพระพุทธศาสนา

เป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา

ตลอดจนถึงเป็นอุบาสกอุบาสิกาในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

 

ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องตั้งใจสังวรปฏิบัติในศีล

ก็คือปฏิบัติในวินัยตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติเอาไว้

วินัยนี้เองที่มีเป็นข้อๆ ทรงบัญญัติไว้ ๕ ข้อ เมื่อปฏิบัติในวินัย ๕ ข้อ ก็เรียกว่ามีศีลห้า

๘ ข้อก็เรียกว่ามีศีลแปด ๑๐ ข้อก็เรียกว่ามีศีลสิบ ๒๒๗ ข้อก็เรียกว่ามีศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด

เพราะฉะนั้น ที่เป็นข้อๆนี้จึงเป็นวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ข้อหนึ่งๆ

และก็ชื่อว่าเป็นศีลเท่านั้นข้อตามวินัยนั้นเอง

 

แต่อันที่จริงนั้นศีลมีลักษณะเป็นอันเดียว คือมีความเป็นปรกติ

หมายความว่ามีความที่กายวาจาใจสงบเป็นปรกติ

ไม่วุ่นวายไปด้วยความประพฤติทางกายทางวาจาทางใจ

ก่อภัยก่อเวรต่างๆ เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน

คือว่าเว้นจากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในพระวินัยห้ามไว้ไม่ให้กระทำ

และปฏิบัติอยู่ตามพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ว่าให้กระทำนั้นเอง

เมื่อปฏิบัติอยู่ดั่งนี้ก็จะทำให้เกิดความปรกติกาย ปรกติวาจา ปรกติใจ

จะทำให้เป็นผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ เป็นศีลที่เป็นปาติโมกขสังวรศีล ความสำรวมในพระปาติโมกข์

คือในพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เป็นข้อหลักข้อประธาน

ได้แก่ที่เรียกว่าศีล ๒๒๗

 

ศีลกรรมฐาน

 

และทำให้มีความประพฤติที่บริสุทธิ์ ทำให้เป็นผู้ที่มีอาชีพที่บริสุทธิ์

ความที่มีความประพฤติบริสุทธิ์นั้น ก็ด้วยมีอินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์
คือมีสติสำรวมใจอยู่เสมอในเวลาที่เห็นอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู

ได้ทราบอะไรทางจมูกทางลิ้นทางกาย และได้รู้เรื่องได้คิดอะไรทางใจ

ก็มีสติคอยสำรวมระวังสะกัดกั้นไว้ ไม่ให้อารมณ์คือเรื่องเหล่านั้นก่อให้เกิดความยินดีบ้าง

ความยินร้ายบ้าง ความหลงงมงายติดอยู่บ้าง เป็นตัวอาสวะกิเลสไหลเข้ามาท่วมจิตใจ

คอยระมัดระวังอยู่เสมอดั่งนี้เป็นอินทรียสังวร ก็จะทำให้มีความประพฤติต่างๆดี

และจะทำให้มีอาชีพที่บริสุทธิ์

 

และก็จะต้องมีการหมั่นพิจารณาในปัจจัย ๔ ที่บริโภค

อันได้แก่อาหาร ผ้านุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย หยูกยาแก้ไข้ พิจารณาในขณะที่รับ

ว่าสักแต่ว่าเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

ปัจจัยเหล่านั้นเองก็เป็นธาตุ และผู้ที่บริโภคปัจจัยเองก็เป็นธาตุ

คือร่างกายอันนี้ก็ประกอบขึ้นด้วยธาตุดินน้ำไฟลม แถมอากาศ ก็เป็น ๕

 

และพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาด

ปัจจัยเหล่านั้นเมื่อยังไม่มาถึงร่างกายนี้ ก็ยังไม่ปรากฏว่าเป็นสิ่งปฏิกูลไม่สะอาด

แต่เมื่อมาถึงร่างกายนี้ ซึ่งเป็นร่างกายที่ปฏิกูลไม่สะอาด ก็จะกลับเป็นสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาด

ดังเช่นผ้านุ่งห่ม เมื่อมาใช้นุ่งห่มเข้าแล้วก็จะสกปรก

ก่อนจะนุ่งห่มเช่นผ้าใหม่ก็ยังเป็นผ้าสะอาด เมื่อมานุ่งห่มเข้าแล้วก็เป็นผ้าที่สกปรก

จะต้องมีการชำระซักล้างกันอยู่เสมอๆ ก็เป็นความไม่สะอาดที่เกิดจากร่างกายอันนี้เอง

 

และพิจารณาขณะที่บริโภคใช้สอย ดังบทที่สวดกันในบทปฏิสังขาโยเป็นต้น

แล้วถ้าหากว่าในวันนั้นไม่ได้พิจารณาในขณะที่บริโภค

ก็ให้บริโภค (พิจารณา)ภายหลังในวันนั้น ดังบทที่สวดกันว่า อัทธมยาเป็นต้น ดั่งนี้

หมั่นมีสติตรวจตราดูความประพฤติของตนให้ศีลดังกล่าวนี้บริสุทธิ์

ทั้งที่เป็นส่วนปาติโมกขสังวรศีล ทั้งที่เป็นส่วนอินทรียสังวร ทั้งที่เป็นส่วนอาชีวปาริสุทธิ

และทั้งที่เป็นส่วนการพิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ ในขณะที่บริโภค ให้มีสติอยู่เสมอตลอดเวลา

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ชื่อว่าได้ทำการงานในข้อศีลกรรมฐาน หรือสีลสิกขา

 

จิตตสิกขา

 

แต่ว่าในการปฏิบัติในศีลนี้ ก็ต้องเนื่องถึงจิตใจอีกเหมือนกัน

จะต้องให้เป็นศีลถึงจิตใจ คือจิตใจจะต้องมีความปรกติสงบ ศีลจึงจะเป็นไปได้

จึงต้องมีการปฏิบัติทำจิตใจ อันเรียกว่าจิตตสิกขา หรือเรียกว่าสมถกรรมฐาน

ที่แปลว่ากรรมฐานอันทำใจให้สงบ ก็หมายถึงสมาธิคือจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ดีที่ชอบ

อันเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลาย อันเรียกว่ากรรมฐานนั้นเอง

 

เช่นการที่ตั้งใจฟังธรรม ดังที่กำลังแสดงธรรมอยู่นี้

ก็เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง หรือเป็นสมถกรรมฐานอย่างหนึ่ง

การที่อ่านหนังสือธรรมะก็เป็นกรรมฐานเช่นเดียวกัน

และแม้การที่มีสติรู้อยู่ในอิริยาบททั้ง ๔ รู้อยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย

ที่เมื่อเข้ามาประสบทางทวารทั้ง ๖ คือตาหูจมูกลิ้นกายใจ

ดังกล่าวข้อในอินทรียสังวรนั้นก็เป็นกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่จะต้องให้มีสติคอยคุมจิตใจ

ให้จิตใจรู้อยู่ในร่างกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม อันเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ อยู่เสมอ

จิตก็จะไม่ว่อกแว่กออกไปข้างนอก แต่จิตจะรวมอยู่ในวัด หรือในขอบเขต ในกายอันนี้

 

มูลกรรมฐาน

 

ตลอดจนถึงกรรมฐานข้ออื่นๆที่ควรจะต้องหัดปฏิบัติ ดั่งที่ได้สอนไว้ตั้งแต่เป็นนาค

ให้พิจารณากรรมฐาน ๕ ข้อ ซึ่งมีหนังเป็นที่สุด เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ

ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาด และไม่งดงาม

เพื่อป้องกันใจไม่ให้บังเกิดราคะคือความติดใจยินดีอยู่ในผมขนเล็บฟันหนัง

คือส่วนรูปกายของตนเองด้วย ของผู้อื่นด้วย ที่สัมผัสทางตาอยู่เสมอ

และสัมผัสทางใจ คือที่นึกอยู่เสมอเป็นต้น

 

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจิตก็จะมีความสงบ ไม่ตกไปในอำนาจของราคะคือความติดใจยินดี

และเมื่อได้ความสงบดั่งนี้แล้ว เป็นมูล ที่เรียกว่ามูลกรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นมูล

ก็ตั้งใจปฏิบัติในกรรมฐานข้ออื่นต่อไป เช่นว่ากำหนดลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือหายใจเข้าธัม หายใจออกโม หายใจเข้าสัง หายใจออกโฆ

พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือบทใดบทหนึ่งก็ได้ เพื่อให้ใจรวมอยู่

หัดทำอยู่ทุกวัน วันละน้อยเวลาบ้าง มากเวลาบ้าง

 

และในตอนแรกนั้นจิตจะไม่ยอมตั้งอยู่

เพราะว่าเมื่อมาตั้งอยู่ในกรรมฐานดั่งนี้แล้ว จิตไม่ได้ความสุข

แต่หากว่าถ้าไม่ตั้งจิตไว้ในกรรมฐานจิตมีความสุข

ก็ปล่อยให้เที่ยวไปคิดถึงเรื่องโน้นบ้าง คิดไปถึงเรื่องนี้บ้าง อันเป็นปรกติของสามัญชน

ฉะนั้น จึงต้องมีขันติคือความอดทน พร้อมทั้งมีสติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว

กำกับใจอยู่เสมอ เมื่อตั้งใจว่าจะทำสัก ๑๐ นาที ก็ต้องปฏิบัติให้ได้ถึง ๑๐ นาที

โดยที่รวมจิตเข้ามาตั้งไว้ในกรรมฐานข้อที่ตั้งใจจะกระทำ

 

เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออกดังกล่าว หรือว่าจะกำหนดดูพระพุทธรูป

หรือว่าจะกำหนดดูแสงเทียน อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นกสิณ ดั่งนี้ก็ได้

หรือจะกำหนดดูในกายในเวทนาในจิตในธรรม ตามหลักแห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔

ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ข้อใดข้อหนึ่ง ตามที่ถนัด หรือตามที่ทราบ

และก็ต้องมีความอดทน รักษาสัจจะคือความจริงใจของตนไว้

ว่าเมื่อจะทำกรรมฐานสัก ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที ก็ต้องทำให้ได้ตามกำหนด

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วใจก็จะค่อยมีความคุ้นขึ้น และเมื่อได้ปีติคือความอิ่มใจดูดดื่มใจในกรรมฐาน

ได้สุขคือความสบายกายสบายใจขึ้นแล้ว ใจก็จะอยู่ ใจจะอยู่ แล้วก็จะได้เอกัคคตา

ซึ่งเป็นตัวสมาธิ คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ไปไหน

คืออยู่ตัว ตั้งอยู่ในสิ่งที่กำหนดนี้ เป็นไปเอง

 

ปริยัตเชื่อมกับการปฏิบัติ

 

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ชื่อว่าได้ทำการงานในด้านจิตตสิกขา หรือสมถกรรมฐาน

แล้วก็หัดพิจารณาอบรมทางปัญญาต่อไปตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ตั้งต้นแต่การตั้งใจอ่านหนังสือธรรมะ ให้มีความเข้าใจในข้อธรรมะ

และการตั้งใจกำหนดใช้ธรรมะที่ฟังที่อ่านนี้เข้ามาดูที่ตัวเอง

ให้รู้จักตัวเองว่า ตัวเรานั้นมีศีลอย่างไร และมีสมาธิอย่างไร

และมีปัญญาคือความรู้ตามพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอย่างไร

รู้จักกรรมที่เป็นบุญเป็นบาป ดีหรือชั่วอย่างไร

รู้จักนามรูปอย่างไร รู้จักขันธ์ ๕ ที่แบ่งเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างไร

กำหนดดูให้รู้จัก ตามที่ได้อ่านหนังสือ หรือตามที่ได้ฟังคำสั่งสอน

ดูเข้ามาที่ตัวเอง ให้รู้จักที่ตัวเอง

๑๐

การที่ดูเข้ามาที่ตัวเองให้รู้จักที่ตัวเองนี้

เป็นการเรียนที่เรียกว่าปริยัติเชื่อมกับการปฏิบัติ เพียงแต่อ่านหนังสือ หรือการฟัง

ดังเช่นที่กำลังฟังอยู่นี้ เรียกว่าเป็นการเรียนปริยัติที่เป็นภายนอก

จะต้องน้อมเอาปริยัติที่เป็นภายนอกนี้ เข้ามาให้เป็นปริยัติที่เป็นภายใน

คือดูให้รู้จักสิ่งที่เรียนภายนอกนั้นที่ตัวเอง ให้รู้จักนามรูปที่ตัวเอง

ให้รู้จักรูป ให้รู้จักเวทนา ให้รู้จักสัญญา ให้รู้จักสังขาร ให้รู้จักวิญญาณ ที่ตัวเอง

ว่านี่คือรูป นี่คือนาม นี่คือรูป นี่คือเวทนา นี่คือสัญญา นี่คือสังขาร นี่คือวิญญาณ

ให้รู้จักที่ตัวเอง

 

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วปริยัติกับปฏิบัติก็คู่กันขึ้นมาเป็นปฏิบัติ

และก็จะมองเห็นตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่า นามรูปก็ดี ขันธ์ ๕ ก็ดี

ทั้งหมดที่รวมเรียกว่าสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งนั้น

เป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง มีความเกิดดับเป็นธรรมดา

ทุกขะเป็นทุกข์คือต้องทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

และเป็นอนัตตา มิใช่เป็นอัตตาตัวตน ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา

 

หัดปฏิบัติดั่งนี้ ด้วยใช้ปัญญาพิจารณาดูธรรมะ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนดั่งนี้

ก็เป็นการปฏิบัติในปัญญา หรือในวิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นอุบายให้รู้แจ้งเห็นจริง

เป็นอันว่าเหล่านี้เป็นสิกขาคือข้อที่พึงศึกษา หรือเป็นกรรมฐานคือเป็นการงานที่จะต้องทำ

รวมเข้าก็คือศีลสมาธิปัญญานั้นเอง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats