ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:30
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป124
หลักปฏิบัติเบื้องต้นในสติปัฏฐาน ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บุพพกิจเบื้องต้น ๓
ที่ตั้งของสติ ๔ ประการ ๔
ธรรมะในจิต ๕
การปฏิบัติเข้าทางผิด ๖
สติ สัมปชัญญะ ๗
การปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๖๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๖๒/๒ ( File Tape 124 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
หลักปฏิบัติเบื้องต้นในสติปัฏฐาน ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในพรรษกาลนี้ การปฏิบัติอบรมจิต
ก็คงถือหลักสติปัฏฐานทั้ง ๔ ตามแนวที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้
ซึ่งรวมเข้าในพระสูตรใหญ่แห่งสติปัฏฐาน อันเรียกว่ามหาสติปัฏฐานสูตร
เพราะว่าสติปัฏฐานนี้เป็นหลักปฏิบัติอันสำคัญที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้
และได้ทรงแสดงอานิสงส์ผลของการปฏิบัติไว้ต้นพระสูตรว่า
สติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นทางไปอันเอก หรือเป็นทางไปอันเดียว
เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงโศกคือความแห้งใจ
ปริเทวะคือความรัญจวนคร่ำครวญใจ เพื่อดับทุกข์คือความไม่สบายกาย
โทมนัสคือความไม่สบายใจ เพื่อบรรลุญายธรรมคือธรรมะที่พึงบรรลุ
ที่ท่านแสดงว่าได้แก่อริยมรรคเป็นอย่างสูง เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ดั่งนี้
ซึ่งประมวลความเข้าแล้วการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้
๒
เป็นไปเพื่อดับ เพื่อละ อุปัทวะเหตุขัดข้องทั้งหลาย ๔ ประการ
คือความโสก ๑ ความปริเทวะ คร่ำครวญรัญจวนใจ ๑
ทุกข์ไม่สบายกาย ๑ โทมนัสไม่สบายใจ ๑ และเพื่อบรรลุคุณวิเศษ ๓ ประการ
อันได้แก่ความบริสุทธิ์ อริยมรรค และนิพพาน ดั่งนี้
แม้ว่าจะยังดับยังละอุปัทวะทั้ง ๔ ไม่ได้ ยังบรรลุคุณวิเศษทั้ง ๓ ไม่ได้
แต่ก็ย่อมจะได้ไปโดยลำดับตั้งแต่ขั้นต้นขั้นต่ำ เมื่อจับปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้
และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ที่ตรัสจำแนกไว้ ก็ได้แก่การตั้งสติกำหนดรู้เห็น
กาย เวทนา จิต และธรรม
บุพพกิจเบื้องต้น
และพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนแนะแนวทางปฏิบัติ
ในการปฏิบัติทำสติ หรือตั้งสติในข้อทั้ง ๔ นี้ไว้ว่า
ให้ปฏิบัติบุพพกิจคือกิจเบื้องต้นในกุศลธรรมทั้งหลายให้บริสุทธิ์ก่อน
คือ ๑ ให้มีศีลที่บริสุทธิ์ ๒ ให้มีความเห็นที่ตรง
มีศีลที่บริสุทธิ์นั้นก็มีความหมายถึงความสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล
อันเป็นหลักรวมของศีลทั้งหลาย ( เริ่ม ๑๖๒/๒ ) จะเป็นคฤหัสถ์ที่สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ก็ตาม
จะเป็นบรรพชิตคือผู้บวช เมื่อเป็นสามเณรก็สมาทานศีล ๑๐
เมื่อเป็นภิกษุก็ชื่อว่ามีศีล ๒๒๗ อันเป็นส่วนสำคัญ
จะมีจำนวนของศีลต่างกันอย่างไรก็ตาม
แต่เมื่อประมวลเข้าแล้วก็คือความสำรวมนั้นเอง สำรวมกายสำรวมวาจาสำรวมใจ
ให้เป็นปรกติ ปราศจากความคิดจงใจไป เพื่อที่จะละเมิดศีลข้อต่างๆ
แต่ว่ามีจิตเป็นปรกติเรียบร้อย เหมือนดั่งที่นั่งกันอยู่นี้เพื่อฟังธรรมและปฏิบัติกรรมฐาน
ก็มีความสำรวมกายวาจาใจเป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม ทั้งฝ่ายบรรพชิตและทั้งฝ่ายคฤหัสถ์
ดั่งนี้เรียกว่ามีศีลที่บริสุทธิ์
๓
มีความเห็นตรงนั้น ก็คือมีความเห็นตรงต่อความบริสุทธิ์
มีความเห็นตรงต่อการปฏิบัติสติปัฏฐาน อันเป็นเครื่องล่วงโสกะปริเทวะดับทุกข์โทมนัส
มีความเห็นตรงต่อญายธรรม คืออริยมรรค เพื่อบรรลุอริยมรรค
หรือเมื่อกล่าวอย่างสามัญ ก็เพื่อปฏิบัติเข้าทางอันถูกต้อง
และมุ่งทำให้แจ้งนิพพานด้วยกัน คือทำให้แจ้งความดับกิเลสและกองทุกข์ด้วยกัน
เรียกว่ามีความเห็นตรงต่อทางปฏิบัติที่ออกจากทุกข์ ออกจากกิเลส
มิใช่ความเห็นในทางปฏิบัติเข้าหาทุกข์เข้าหากิเลส
เมื่อมีศีลที่บริสุทธิ์ และมีความเห็นที่ตรงดั่งนี้
ก็เรียกว่าได้ปฏิบัติในส่วนที่เป็นเบื้องต้นในกุศลธรรมทั้งหลาย
และจึงจะสามารถจับปฏิบัติตั้งสติกำหนดกายเวทนาจิตและธรรม
อันเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการนี้ได้
ที่ตั้งของสติ ๔ ประการ
อันข้อทั้ง ๔ ที่ตรัสสอนให้เป็นที่ตั้งของสติ คือกายเวทนาจิตธรรมนี้
ก็เป็นสภาพที่ทุกคนมีอยู่ในตนเอง หรือจะกล่าวว่ารวมเข้าเป็นตนเอง
หรือรวมเข้าเป็นอัตภาพอันนี้ คือว่ารวมเข้าเป็นกายใจอันนี้
อันเป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าเป็นตัวเราของเรา
กายก็คือกายอันนี้ คือส่วนที่เป็นธาตุดินน้ำไฟลมประกอบเข้ามาเป็นก้อนกายอันนี้
ที่หายใจเข้าหายใจออกกันอยู่นี้ และที่มีอิริยาบถยืนเดินนั่งนอนกันอยู่นี้
และที่มีอิริยาบถเบ็ดเตล็ดทั้งหลาย เช่นก้าวไปข้างหน้าถอยไปข้างหลัง
ตลอดจนถึงการยืนเดินนั่งนอน การหลับการตื่นการพูดการนิ่ง
อันประกอบด้วยธาตุดินน้ำไฟลม ซึ่งมีอาการสามสิบเอ็ดสามบิบสอง
มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น รวมเข้าเป็นธาตุทั้ง ๔ ดังกล่าว จึงเป็นกายที่มีชีวิต
๔
และกายนี้เมื่อธาตุทั้ง ๔ แตกสลาย อาการสามสิบเอ็ดสามสิบสองหยุดปฏิบัติหน้าที่
อิริยาบถยืนเดินนั่งนอนก็หยุดทำหน้าที่ ลมหายใจเข้าออกก็หยุด ร่างกายนี้ก็กลายเป็นศพ
เป็นศพที่ทีแรกก็ยังมีส่วนของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟก็หมดไปจึงเป็นกายที่เย็น
ธาตุลมนั้นก็ดับไปก่อนที่เรียกว่าดับลม ก็เป็นศพที่ยังปรากฏรูปร่าง
และเมื่อนำไปเผาฝัง หรือเน่าเปื่อยไปโดยไม่เผาเสีย ในที่สุดก็เหลือแต่กระดูก
และในที่สุดกระดูกนั้นก็ละเอียดป่นไป นี้เป็นเรื่องของกาย
และในขณะที่กายนี้ยังดำรงชีวิตอยู่
ธาตุทั้งหลายยังประกอบกันอยู่ อาการทั้งหลายยังปฏิบัติหน้าที่อยู่
ยังผลัดเปลี่ยนอริยาบถต่างๆได้อยู่ ยังหายใจอยู่ ก็มีเวทนา
คือความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข
และมีจิตที่รู้เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขนั้น
และมีธรรมะคือเรื่องในจิต อันได้แก่อารมณ์คือเรื่องที่จิตคิดนึก
และมีภาวะของจิตที่เป็นไปต่างๆ ในอารมณ์ต่างๆ
เป็นส่วนกุศลก็มี เป็นส่วนอกุศลก็มี เป็นส่วนกลางๆก็มี
เหล่านี้ก็เป็นธรรมะ
ธรรมะในจิต
และโดยเฉพาะธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต ที่มีอยู่ในจิต ทุกคนก็มีอยู่ทั้ง ๔ นี้อยู่ด้วยกัน
แต่ว่าโดยปรกตินั้นมิได้ใช้สติกำหนดรู้จักกาย เวทนา จิต และธรรม
กายเวทนาจิตและธรรมก็เป็นไปตามความประสบพบพานต่างๆ
หรือเหตุแวดล้อมต่างๆที่ประสบพบพาน หรือที่บังเกิดขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นไปอยู่
ธรรมะคือเรื่องในจิตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางๆบ้าง
ที่ปรากฏอยู่ในความคิดของจิต และที่ปรากฏเป็นอาการของจิต ก็คงเป็นไปอยู่
ตัวจิตเองก็ยังคงเป็นไปอยู่ มีอาการเป็นความคิดต่างๆ เป็นความรู้ต่างๆ
๕
และมีอาการที่เป็นโลภบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้าง
หรือเป็นอาการที่สงบโลภ สงบโกรธ สงบหลง บ้าง
เรียกว่าบางคราวก็ดี บางคราวก็ร้าย ดั่งที่เรียกกันว่าใจดีใจร้าย
และเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข
ก็คงมีอยู่เป็นไปอยู่ทั้งทางกาย และทั้งทางใจ
กายเองเล่าก็ย่อมมีอยู่เป็นไปอยู่ คงปฏิบัติหน้าที่ของกายได้ตามธรรมดา
เพราะฉะนั้น จึงยังต้องมีความไม่บริสุทธิ์ คือความเศร้าหมองต่างๆ
โดยเฉพาะจิตใจ และธรรมะคือเรื่องในจิตใจ คือจิตใจก็ยังมีเศร้าหมอง
และธรรมะคือเรื่องในจิตใจก็ยังมีเป็นอกุศลอยู่ต่างๆ และอาจจะมีอกุศลมากเสียด้วย
เป็นไปอยู่ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีโสกะความโศกความแห้งใจ
ต้องมีปริเทวะความรัญจวนใจ คร่ำครวญใจ
แล้วมาปรากฏเป็นความคร่ำครวญทางวาจา อันเนื่องจากความทุกข์ต่างๆ
ต้องมีทุกข์คือความไม่สบายกาย โทมนัสะคือความไม่สบายใจ
การปฏิบัติเข้าทางผิด
และทางปฏิบัตินั้นเล่า ก็ยังมีการปฏิบัติเข้าทางผิด ไม่เข้าทางที่ถูกต้อง
อาจจะเข้าทางที่ผิดมาก ก่อให้เกิดความทุกข์มาก
ก่อให้เกิดกิเลสกองโลภกองโกรธกองหลงมาก จึงทำให้ธรรมะคือเรื่องที่ในใจ
คือเรื่องในใจที่บังเกิดขึ้นนั้น เป็นกิเลสกองโลภกองโกรธกองหลง
เป็นอารมณ์คือเรื่องที่เป็นที่ตั้งของโลภโกรธหลงต่างๆ
และก็ส่งให้จิตนี้เอง ปรากฏเป็นความโลภความโกรธความหลงขึ้นในจิตนี้เอง
สู่จิตนี้เอง เป็นตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลง
อารมณ์คือเรื่องต่างๆในใจ ก็เป็นเรื่องที่จะนำมาซึ่งโลภโกรธหลง
๖
และส่งเสริมให้โลภโกรธหลงยิ่งขึ้น
ก่อให้เกิดเจตนาคือความจงใจ ใช้กายนี้เองปฏิบัติเป็นบาปเป็นอกุศลเป็นทุจริตต่างๆ
จึงปรากฏเป็นบาปเป็นอกุศลเป็นทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจ
โลกย่อมเป็นไปอยู่ดั่งนี้ รวมความก็คือว่า
ยังต้องพบอุปัทวะเครื่องขัดข้องอันตรายทั้งหลาย ทั้ง ๔ ประการ
อันได้แก่โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ และโทมนัส ยังไม่สามารถจะพบกับความบริสุทธิ์
ไม่สามารถจะปฏิบัติเข้าทางอันถูกต้อง ได้พบทางอันถูกต้อง
ไม่สามารถจะพบกับความดับกิเลสและกองทุกข์ได้ แม้เป็นการดับชั่วคราว
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ใช้สติคือความระลึกได้
หรือความกำหนดรู้ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม
สติ สัมปชัญญะ
อันสตินั้นโดยปรกติแสดงคู่กันกับสัมปชัญญะ
และท่านสอนให้แปลว่า สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว
ซึ่งธรรมะทั้งคู่นี้ บางแห่งก็แสดงรวมกัน บางแห่งก็แสดงแยกกัน
แต่ในทางปฏิบัติแม้จะแสดงแยกกัน ก็ต้องเนื่องกันอยู่ในการปฏิบัติทุกอย่าง
ดังเช่น ทุกคนหายใจเข้า ทุกคนหายใจออก
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดพิจารณากาย
ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกของตนนี่แหละเป็นข้อแรก
และแม้จะใช้คำว่าสติคำเดียว ก็ต้องมีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวรวมอยู่ด้วย
ดังจะพึงเห็นได้ว่าสตินั้นมีหน้าที่กำหนด
คือเมื่อตั้งสติ คือตั้งความกำหนดใจที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ก็ย่อมจะรู้ว่าเราหายใจเข้า เราหายใจออก
๗
คือเมื่อหายใจเข้าก็รู้ว่าเราหายใจเข้า เมื่อหายใจออกก็รู้ว่าเราหายใจออก
ตัวความกำหนดคือสติ ตัวความรู้ว่าเราหายใจเราหายใจออกนี่เป็นสัมปชัญญะคือความรู้ตัว
แต่ถ้าไม่มีสติคือไม่มีตัวความกำหนดเข้ามาดู สัมปชัญญะคือความรู้ตัวก็จะไม่มี
เหมือนโดยปรกติทุกคนไม่ได้ทำความกำหนดใจลงที่หายใจของตน
ก็ไม่มีความรู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออกอยู่
นี่แปลว่าไม่มีทั้งสติ ไม่มีทั้งสัมปชัญญะ แต่เมื่อมาเริ่มปฏิบัติในสติปัฏฐาน
ตั้งสติก็คือตั้งความกำหนดใจลงที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ก็ย่อมจะรู้ว่าเราหายใจเข้า เราหายใจออก
ความกำหนดใจนั่นเป็นสติ ความรู้ดังกล่าวนี่เป็นสัมปชัญญะ คู่กันอยู่ดั่งนี้
การปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔
และเมื่อมาปฏิบัติทำสติทำสัมปชัญญะ หรือว่าเรียกแต่เพียงว่าสติคำเดียว
ซึ่งหมายรวมถึงสัมปชัญญะด้วยแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติในสติปัฏฐาน
คือตั้งสติกำหนดดูกาย ยกเอากายคือลมหายใจเข้าออกนี่เป็นที่ตั้ง
แล้วอีก ๓ ข้อก็จะรวมเข้ามาเอง เพราะว่าเป็นก้อนเดียวกัน
เหมือนอย่างเก้าอี้ที่มีสี่ขา ในการจะยกเก้าอี้นั้น ยกขึ้นเพียงขาเดียว
อันหมายความว่าเก้าอี้ที่พอจะยกได้ด้วยมือข้างเดียว
จับที่ขาเดียวยกขึ้นมา อีก ๓ ขาก็ติดขึ้นมาด้วย เป็นเก้าอี้ทั้งหมด
คือเป็นอันว่ายกเก้าอี้ทั้งหมด
การปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็เป็นเช่นนี้
แม้จะแยกเป็น ๔ ก็สามารถที่จะยกขึ้นกำหนดเพียงข้อใดข้อหนึ่งใน ๔ ข้อนี้
และทั้งหมดก็จะติดขึ้นมาด้วยกันทั้งหมด เป็นอันเดียวกัน
และเมื่อหัดปฏิบัติในสติปัฏฐานดั่งนี้แล้ว ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
๘
คือนำสติกำหนดเข้ามาดูกายเวทนาจิตธรรมของตน
ให้รู้จักกาย รู้จักเวทนา รู้จักจิต รู้จักธรรมของตน
ภายใน ภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติสติปัฏฐาน
อันจะนำให้เกิดความบริสุทธิ์ นำให้ล่วงโสกะปริเทวะ ดับทุกข์โทมนัส
และชื่อว่าปฏิบัติเข้าทางแห่งอริยมรรค และเป็นการปฏิบัติเพื่อนิพพาน
คือดับกิเลสและกองทุกข์
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
อุปการธรรม ๔ ประการ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ความเพียรเผากิเลส ๓
ป่า โคนไม้ เรือนว่างในจิตใจ ๔
สติ สัมปชัญญะ ๕
ความยินดียินร้าย ๕
กามาวจรจิต ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๖๓/๑ จบในเทปหน้าเดียว ( File Tape 124 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อุปการธรรม ๔ ประการ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในการปฏิบัติจิตตภาวนาอบรมจิตนั้น กล่าวโดยสรุปได้ว่าเป็นการปฏิบัติ
เป็นไปเพื่อสมาธิที่แปลว่าความตั้งใจมั่น หรือสมถะความสงบใจอย่างหนึ่ง
เป็นไปเพื่อปัญญาความรู้เข้าถึงสัจจะที่เป็นความจริง หรือวิปัสสนาความรู้แจ้งเห็นจริง
หรือเห็นแจ้งรู้จริงอย่างหนึ่ง ในเบื้องต้นก็เป็นไปเพื่อสมาธิ หรือเพื่อสมถะก่อน
เมื่อได้สมาธิได้สมถะ ก็น้อมใจที่ตั้งมั่นสงบ หรือที่สงบตั้งมั่นนั้น
ไปพิจารณาเพื่อปัญญา เพื่อวิปัสสนาต่อไป
การปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็เป็นการปฏิบัติทางจิตตภาวนา
เพื่อสมาธิ หรือสมถะ และเพื่อปัญญาหรือวิปัสสนาดังกล่าว
และในพระสูตรได้แสดงอุปการธรรม ธรรมะที่เป็นอุปการะในการปฏิบัติไว้ ๔ ประการ
คือ อาตาปี มีความเพียรเผากิเลส
๒
สัมปชาโน มีความรู้พร้อม คือหมายถึงสัมปชัญญะคือรู้ตัว
สโต มีสติ และ วินัยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง
กำจัดอภิชฌาความยินดี โทมนัสความยินร้ายในโลก ดั่งนี้
อาตาปีความเพียรเผากิเลส
อุปการธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้ มิใช่เป็นอุปการะในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นี้เท่านั้น
แต่เป็นอุปการะในการปฏิบัติกรรมฐานทุกอย่าง ทั้งสมถกรรมฐาน ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน
ข้อแรก อาตาปี มีความเพียรเผากิเลส คือจะต้องมีความเพียรตั้งต้นแต่เริ่มปฏิบัติ
และเมื่อเริ่มปฏิบัติแล้วก็ต้องมีเพียรดำเนินปฏิบัติต่อจากเริ่มไป
และต้องมีเพียรปฏิบัติให้ก้าวหน้าไม่ทอดทิ้งถอยหลัง
คือปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนไว้เนืองๆว่า ปฏิบัติบ่อยๆ ปฏิบัติให้มาก
หรือทำบ่อยๆ ทำให้มาก
และในที่นี้ท่านใช้คำว่า อาตาปะ มาจากคำว่า ตบะ ที่แปลว่าเผา
ตบะในภายนอกพุทธศาสนาของฤษีโยคีทั้งหลายนั้นเป็นการเผาวัตถุ เช่น เผาฟืน เผาไม้
ตลอดจนถึงเผาสัตว์เผาบุคคล เป็นการบูชาไฟแก่เทพที่นับถือ หรือที่เชื่อถือ
แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้นก็ทรงนำเอาคำนี้มาใช้ คือเป็นตบะเหมือนกัน
แต่ว่าไม่ได้เผาอะไรในภายนอก แต่หมายถึงเผากิเลสในจิตใจของตนเอง
จึงมักแปลกันว่าเผากิเลสให้เร่าร้อน แต่โดยความนั้นคือเผากิเลสให้หมดสิ้น
เผาตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของใจ เผาราคะหรือโลภะความโลภ
เผาโทสะ เผาโมหะ ในจิตใจ
จึงต้องมีความเพียรเป็นข้อแรกการปฏิบัติจึงจะบังเกิดขึ้น จึงจะเริ่มขึ้น
จึงจะดำเนินไป และจึงจะก้าวหน้าไปได้ และในการที่จะมีความเพียรดั่งนี้
ข้อแรกก็จะต้องเผาความเกียจคร้านที่เป็นเหตุให้ไม่ปฏิบัติ
๓
ถ้าหากว่ามีความเกียจคร้านอยู่ก็เริ่มปฏิบัติไม่ได้ ดำเนินไปไม่ได้ ก้าวหน้าไปไม่ได้
ต้องเพียรให้ตลอด คือจะต้องเผาเกียจคร้านให้ตลอดไป
และจะต้องเผาอารมณ์ต่างๆที่เป็นนิวรณ์ อันเป็นกามบ้าง เป็นอกุศลธรรมต่างๆบ้าง
ซึ่งบังเกิดขึ้นขัดขวางไม่ให้มีการปฏิบัติ จะต้องเผากิเลสเหล่านี้ได้โดยต้องใช้ความเพียร
ในทีแรกก็ต้องฝืนใจ เพราะจะรอให้ชอบใจเสียก่อนจึงปฏิบัตินั้น ก็มักจะเป็นไปยาก
เพราะว่าจิตใจนี้อาศัยอยู่ในกามคุณารมณ์ต่างๆ อันเป็นเรื่องราวต่างๆ
ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ และทั้งที่ไม่รักใคร่ปรารถนาพอใจ
จิตใจเกาะเกี่ยวอยู่กับกาม และอารมณ์กามต่างเหล่านี้เสียมาก
ในการที่จะจับปฏิบัติจึงต้องฝืนใจเริ่มปฏิบัติ
ป่า โคนไม้ เรือนว่างในจิตใจ
ดังเริ่มปฏิบัติในสติปัฏฐานตั้งสติกำหนดพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม
ยกเอาเพียงข้อใดข้อหนึ่ง เช่นข้อต้น กำหนดลมหายใจเข้าออก
โดยที่แสวงหาสถานที่ๆสงบสงัดเช่น ป่า โคนไม้ เรือนว่าง
ไม่สามารถจะหาป่าได้ ก็โคนไม้ ไม่สามารถจะหาโคนไม้ได้ ก็เรือนว่าง
แต่เรือนว่างนั้นจะให้ว่างทั้งหมดก็หายาก จึงต้องอาศัยหาที่ว่างในเรือนว่าง
เช่นว่านั่งหน้าห้องพระ นั่งหน้าพระพุทธรูปในห้องพระ
หรือในที่ใดที่หนึ่งที่ไม่พลุกพล่าน ในเวลาที่ไม่พลุกพล่าน
แม้ว่าจะหาสถานที่ดังกล่าวยากหรือไม่ได้ ก็ต้องสร้างป่าขึ้นในจิตใจตนเอง
สร้างโคนไม้ขึ้นในจิตใจตนเอง สร้างเรือนว่างขึ้นในจิตใจตนเอง
ให้จิตใจของตนเองนี้ว่างสงบเป็นเหมือนป่า เป็นเหมือนโคนไม้ เป็นเหมือนเรือนว่าง
คือแม้จะนั่งอยู่ในห้องเช่นห้องพระ แต่เมื่ออยู่ด้วยกันมากก็มีผู้เดินไปเดินมา พูดจากัน
ก็ไม่ใส่ใจ ถึงใครจะเดินไปเดินมา ถึงใครจะพูดจาอะไรก็ไม่ใส่ใจ
๔
ตั้งสติกำหนดในลมหายใจเข้าลมหายใจออกของตน
อย่างง่ายๆเช่นหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือใช้วิธีนับ
หรือว่าจะไม่ใช้อานาปานสติ นั่งในห้องพระก็กำหนดดูเทียนเป็นกสิณ หรือเพ่งดูพระเป็นกสิณ
ทำจิตใจของตนนี้ให้เป็นป่า ให้เป็นโคนไม้ ให้เป็นเรือนว่างขึ้นมาเอง ดั่งนี้ก็ต้องได้เหมือนกัน
และเมื่อหัดเข้าบ่อยๆแล้วก็สามารถที่จะทำความไม่สนใจต่อบุคคลหรืออะไรๆที่อยู่ร่วมกันได้
และเมื่อสามารถที่จะสร้างป่า สร้างโคนไม้ สร้างเรือนว่าง ขึ้นได้เองดั่งนี้แล้ว
การปฏิบัติที่ไหนก็ไม่สู้จะมีปัญหา เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องไปพบสถานที่สงบสงัดในภายนอก
ในเมื่อไม่สามารถจะไปหาได้ หรือไม่เหมาะต่างๆ
เราก็สร้างป่าสร้างโคนไม้สร้างเรือนว่างของเราเองดังกล่าว ดั่งนี้ก็เป็นการสะดวก
หากว่าสามารถมีความเพียรเผากิเลสคือตัวความเกียจคร้านได้
สร้างความขยันคือตัวความเพียรให้บังเกิดขึ้น การปฏิบัติก็ย่อมจะเป็นไปได้
เพราะฉะนั้นจึงต้องมีข้อนี้เป็นประการแรกคือเพียรเผากิเลส
ตั้งต้นแต่เผาตัวความเกียจคร้านอันนี้แหละ
สติ สัมปชัญญะ
สัมปชาโน มีความรู้ตัว สโต มีสติก็คือมีสัมปชัญญะมีสตินั้นเอง
อันหมายความว่าต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ในการปฏิบัติ คือในจิตตภาวนาที่ประกอบกระทำ
เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ต้องมีสติจับอยู่ที่ลมหายใจ มีสัมปชัญญะคือรู้ รู้ตัว
เพราะเมื่อมีสติจับกำหนดอยู่ รู้ตัวก็ย่อมจะมีขึ้น และในขณะที่รู้ตัวนั้นก็ต้องมีสติกำหนดอยู่
ว่าเราหายใจเข้า เราหายใจออก ตามที่หายใจอย่างไร
ความยินดียินร้าย
และจะต้องมีอีกข้อหนึ่งคือกำจัดความยินดียินร้ายในโลก
อันหมายความว่าไม่ยินดียินร้ายอยู่ในลมหายใจที่กำหนดนั้นด้วย
๕
เพียงแต่รู้ลมหายใจที่กำหนด เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ และเพียงเพื่อรู้เท่านั้น
ทั้งไม่ส่งใจให้แลบออกไปยินดียินร้ายในอารมณ์ภายนอก
แม้ว่าจะมีอารมณ์ภายนอกกระทบเข้ามาทางตาทางหูเป็นต้นในขณะนั้น
ตลอดจนถึงทางใจในขณะนั้น เช่นลืมตาปฏิบัติก็จะต้องเห็นสิ่งที่อยู่จำเพาะหน้า
หรือทำกสิณก็จะต้องเห็น เช่นกำหนดดูแสงไฟคือเทียน ก็ย่อมจะเห็นเทียน
กำหนดพระพุทธรูปก็ย่อมจะเห็นพระพุทธรูป และขณะที่กำหนดอยู่นั้นก็อาจจะเห็นสิ่งอื่น
หรืออาจจะมีเสียงอื่นเข้ามากระทบหู เช่นเสียงคนพูดกัน เสียงคนเดินไปเดินมา เสียงลมพัด
จิตก็จะออกไปอยู่ที่เสียงอยู่ที่รูปที่เห็นนั้น
บางทีรู้สึกว่าจิตหลุดออกไปเดี๋ยวเดียว มีสติรู้ตัวนำกลับเข้ามา
กำหนดอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐาน หรือของจิตตภาวนาที่ตั้งไว้ใหม่
แล้วสอบสวนจิตดูว่าไปไหนมาบ้างที่หลุดออกไปหน่อยหนึ่งนั้น
ก็มักจะรู้สึกจากการสอบสวนจิตว่าออกไปหลายเรื่องหลายราว
เช่นออกไปที่เสียง ที่ได้ยินเสียงพูด แล้วจากเสียงก็ไปโน่น จากเสียงนั้นก็ไปนี่
ต่อๆๆกันไปหลายเรื่องหลายราว มีสติก็นำกลับเข้ามา
จิตนี้ไปเร็วมาก สติตามไม่ค่อยจะทัน
แต่เมื่อหัดปฏิบัติอยู่เสมอๆแล้วจิตจะเชื่องเข้า และสติก็จะมีพลังขึ้น
จะควบคุมอยู่ได้มากเข้า หรือว่าตามจิตกลับได้เร็วเข้า ก็ต้องปฏิบัติกันอยู่ดั่งนี้
ต้องคอยระงับความยินดีความยินร้ายต่างๆที่เกิดขึ้น
เพราะการที่จิตออกไปนั้นก็ด้วยเหตุที่ว่า
ยังไม่ยินดีอยู่ในอารมณ์ของจิตตภาวนา หรือของกรรมฐาน ของสมาธิ
แต่ว่ายังยินดีอยู่ในกามคุณารมณ์ต่างๆ หรือในเรื่องต่างๆภายนอก
การที่นำจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน หรือในจิตตภาวนาดังกล่าว
เหมือนอย่างเป็นการบังคับมาตั้งไว้ พอเผลอก็หลุดวิ่งออกไปทันที ไปสู่อารมณ์โน่นอารมณ์นี่
๖
ที่จิตรักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่รวมอยู่ในคำว่ากามคุณารมณ์
กามาวจรจิต
ท่านจึงมีเปรียบไว้เป็นพระพุทธภาษิต
ว่าเมื่อยกจิตขึ้นสู่กรรมฐาน จิตก็มักจะไม่ค่อยอยู่
เหมือนอย่างปลาที่จับขึ้นมาจากน้ำ วางไว้บนบก
ปลาก็จะดิ้นลงน้ำ เพราะน้ำเป็นที่อยู่ของปลา
จิตที่เป็นกามาพจร คือเป็นจิตสามัญชนที่ยังหยั่งลงในกาม
ยังอภิรมย์อยู่ในกามต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน
เมื่อยกจิตออกจากกามคุณารมณ์ มาตั้งไว้ในจิตภาวนา
จิตก็จะดิ้นเพื่อที่จะกลับไปสู่กามคุณารมณ์ อันเป็นที่ๆจิตเคยอยู่โดยมาก
ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าเนื่องมาจากความยินดียินร้ายนี่แหละเป็นตัวเหตุใหญ่
คือจิตยังยินดีอยู่ในกามคุณารมณ์ ยังยินร้ายอยู่ในกรรมฐาน ในจิตตภาวนา คือยังไม่ชอบใจ
เพราะฉะนั้น จึงต้องคอยระงับความยินดีความยินร้ายดังกล่าว
โดยที่ต้องมีความเพียรนี่แหละ คอยกำจัดความเกียจคร้าน คอยกำจัดความยินดียินร้าย
เผาความเกียจคร้าน เผาความยินดี เผาความยินร้าย
เพิ่มสัมปชานะคือความรู้ตัวความรู้พร้อม เพิ่มสติให้แก่จิตตภาวนาให้มากขึ้น
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วการปฏิบัติจึงจะเป็นไปได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*