ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:28
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป122
การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ตัณหา ๓
ข้อว่าอาศัยตัณหาละตัณหา ๔
วิธีกำราบตัณหา ๕
อำนาจของสันโดษ ๖
การปฏิบัติในเมตตา ๗
กำหนดดูที่ตั้งของตัวเราของเรา ๘
ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ดีเยี่ยม
ม้วนที่ ๑๕๙/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๖๐/๑ ( File Tape 122 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรม แล้วตรัสแสดงพระธรรมสั่งสอน
เพื่อให้ทุกๆคนเมื่อตั้งใจฟังแล้ว น้อมนำธรรมะที่ทรงสั่งสอนนั้น
อันเป็นเหมือนอย่างกระจกเงาส่องเข้ามาดูตน เพื่อที่จะได้รู้จักตนตามความเป็นจริง
และจะได้ละส่วนที่ชั่วที่ผิด ประกอบกระทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง
เป็นการรักษาตน เป็นการฝึกตน เพื่อให้มีความสุขความเจริญ
ฉะนั้น เมื่อทุกๆคนตั้งใจฟัง และปฏิบัติดั่งนี้
ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนา มีศาสนาอยู่ที่ตนคือที่กายใจ
หรือที่กายวาจาใจ หรือกล่าวโดยตรงก็คือที่จิตใจนี้
เพราะว่าการรักษาตน การฝึกตนนั้น โดยตรงก็คือการรักษาจิตใจ
ปฏิบัติอบรมจิตใจ ให้ดีงาม ให้บริสุทธิ์นั้นเอง
๒
เพราะฉะนั้น ในพระพุทธโอวาทสำคัญ ๓ ข้อ
เมื่อได้ตรัสสอนให้ละบาปอกุศลทั้งปวง ให้บำเพ็ญกุศลความดีทั้งปวงแล้ว
จึงได้ตรัสสอนให้ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส
เพราะฉะนั้น จึงมาถึงเรื่องจิตใจ เพราะว่าจิตใจนี้ที่เป็นจิตใจของสามัญชน
ย่อมมีความโลภบ้างความโกรธบ้างความหลงบ้าง หรือมีราคะโทสะโมหะ
อันเรียกว่ากิเลสที่แปลว่าเครื่องเศร้าหมองใจ เพราะทำจิตใจนี้ให้เศร้าหมองไม่บริสุทธิ์
และจิตใจที่มีโลภะโทสะโมหะนี้ ย่อมเป็นจิตใจที่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย
ตัณหา
ฉะนั้นเมื่อมุ่งถึงอาการของจิตใจดั่งกล่าว ( เริ่ม ๑๖๐/๑ ) จึงเรียกว่าตัณหา
ที่แปลว่าความดิ้นรน ความทะยานอยากไปต่างๆ ที่มีอาการเป็นความดิ้นรนทะยานอยากไป
เพื่อจะได้สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจต่างๆบ้าง เพื่อจะเป็นนั่นเป็นนี่ไปตามที่อยากจะเป็นบ้าง
เพื่อจะไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ ในภาวะที่ไม่อยากจะเป็นบ้าง
เพราะฉะนั้น เมื่อมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากดั่งนี้
อันประกอบไปด้วยโลภโกรธหลงดังกล่าวแล้วนั้นเอง จึงมีความยึดถือในสิ่งที่อยากนั้น
ว่าเป็นเราบ้าง เป็นของเราบ้าง หรือว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่บ้าง และเมื่อมีความยึดถือดั่งนี้
จึงมีความเห็นแต่สิ่งที่ยึดถือนั้น อันเรียกว่าความเห็นแก่ตัว อันมีลักษณะคับแคบ
และนอกจากเห็นแก่ตัวแล้ว ยังมีความเห็นแก่บุคคลที่เป็นที่รักของตัว หรือพวกของตัว
จึงทำให้เกิดความแบ่งแยกเป็นฝ่ายอื่นเป็นคนอื่น
และความเห็นแก่ตัวดังกล่าวนี้ถ้าหากว่ามีมาก ก็จะทำให้การปฏิบัติต่างๆ
เป็นไปในทางคับแคบ คือจะปฏิบัติเพื่อให้ตัวเองและพวกของตัวเอง
หรือคนที่เป็นที่รักของตัวเองได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้ ได้เป็นซึ่งสิ่งที่อยากเป็น
แม้ว่าจะได้มาโดยทางที่ไม่ชอบ
๓
เมื่อลุอำนาจแห่งโลภโกรธหลง หรือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากดังกล่าว
ก็จะแสวงหาเพื่อให้ได้มา เพื่อให้ได้เป็น แม้ในทางที่ผิด
และในทางที่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน
ความทะเลาะวิวาทกัน ความเบียดเบียนซึ่งกันละกัน
ซึ่งทรัพย์สินบ้าง ซึ่งร่างกายบ้าง ซึ่งชีวิตบ้าง จึงได้บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในโลก
ตั้งแต่กลุ่มน้อยจนถึงกลุ่มใหญ่ คือเบียดเบียนซึ่งกันและกันทั้งโลก ดั่งที่เป็นสงครามโลก
ก็เพราะอำนาจของโลภโกรธหลง ของตัณหาในจิตใจของบุคคลนี้เอง
ตั้งแต่บุคคลเดียว ไปจนถึงหลายบุคคล ชักจูงกันไปจนถึงเป็นทั้งโลก
ข้อว่าอาศัยตัณหาละตัณหา
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนธรรมะ
มุ่งที่จะฝึกจิตอบรมจิตนี้เอง ไม่ให้เป็นทาสของกิเลสกองโลภกองโกรธกองหลง
ไม่ให้เป็นทาสของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก
แต่ว่าเมื่อยังมีกิเลสมีตัณหาอยู่ เพราะเมื่อยังละไม่ได้ จะเอาไปโยนทิ้งที่ไหนก็ไม่ได้
ก็ติดอยู่ที่จิตใจนี้เอง แต่ว่าให้มีสติคือความระลึกได้ มีปัญญาคือความรู้จักควบคุมจิตใจ
ควบคุมกิเลส ให้กิเลสเป็นทาส ให้ตัณหาเป็นทาส คือเมื่อมีโลภมีโกรธมีหลง
มีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ก็ให้ใช้ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก
กับโลภโกรธหลงที่มีอยู่นี้ไปเพื่อบำเพ็ญความดีต่างๆ คือให้อยากละชั่ว ให้อยากทำดี
และให้อยากที่จะชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส
และเมื่อสามารถเป็นนายควบคุมจิตใจของตัวเองได้
ควบคุมกิเลสได้ ควบคุมตัณหาได้ กิเลสตัณหาถึงจะมีอยู่ก็ไม่เป็นโทษเป็นภัย
แต่จะช่วยให้มีกำลังใจประกอบคุณงามความดีต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น
และความดีที่กระทำนี้เองก็เป็นเครื่องละโลภโกรธหลง ละตัณหาไปในตัว
๔
เพราะฉะนั้นจึงได้มีพุทธศาสนสุภาษิตแสดงไว้ว่าให้อาศัยตัณหาละตัณหา ดั่งนี้
เพราะเมื่อยังมีตัณหาอยู่ จะไปโยนทิ้งก็ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยตัณหาละตัณหา
คืออาศัยตัณหาทำความดี ความดีที่ทำนั้นก็เป็นเครื่องละตัณหาไปในตัวได้เอง
และเมื่อทำความดีถึงจุดสุดยอด ก็คือละตัณหาได้หมดสิ้น
เรียกว่าสุดดี ก็สุดชั่วไปพร้อมกัน เป็นผู้เสร็จกิจ
แต่บุคคลทั่วไปในโลกนั้นยังไม่เสร็จกิจ เพราะยังมีกิเลสมีตัณหาที่จะต้องละ
จึงมีความดีที่จะต้องทำ เพื่อละอยู่เรื่อยไป หยุดไม่ได้
วิธีกำราบตัณหา
และนอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสสอน
ถึงวิธีที่จะกำราบความเห็นแก่ตัวของทุกคนลงไปด้วย
คือมิให้อัตตาหรือตัวเราของเรา ที่กิเลสตัณหาอุปาทานสร้างขึ้นใหญ่โต
เพราะว่า เมื่อตัวเราของเรานี้ใหญ่โต โลภโกรธหลงกับตัณหาอุปาทาน
คือความอยากความยึดนี้ก็ใหญ่โตไปด้วย เมื่อเป็นดั่งนี้อัตตาหรือตัวนี้โตขึ้นมากเท่าไร
โลภโกรธหลงตัณหาก็โตขึ้นมากเท่านั้น ความเห็นแก่ตัวก็มากขึ้นเท่านั้น
และเมื่อตัวโตมากขึ้นก็ต้องกินมากด้วย กินจุขึ้น
เพราะตัวความหิวนั้นคือโลภโกรธหลง คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก
เมื่อตัวซึ่งเป็นกิเลสนี้โตขึ้น กิเลสก็โตขึ้น ปากที่จะกินก็โตขึ้น กินนั่นกินนี่
กินรูปกินเสียงกินกลิ่นกินรสกินโผฏฐัพพะ ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ
ก็ต้องขวนขวายแสวงหามากิน มาป้อนตัณหาคือความอยากนี้
แต่ว่ายิ่งป้อนมากขึ้น อยากก็ยิ่งมากขึ้น ตัวก็โตมากขึ้น กินมากขึ้น
เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเทียบเอาไว้ ว่าแม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี
หรือมีข้อเปรียบเทียบเช่น ไฟไม่มีอิ่มด้วยเชื้อ เอาเชื้อใส่ให้แก่ไฟ ไฟก็ยิ่งกินเชื้อ
๕
ไฟก็ยิ่งกองโตขึ้น เมื่อไฟกองโตขึ้นก็ต้องกินเชื้อมากขึ้น
อำนาจของสันโดษ
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนที่จะปฏิบัติ
เพื่อทำให้ตัวเราที่เป็นกองกิเลสนี้เล็กลง จะได้กินน้อยเข้า
ด้วยการที่มาปฏิบัติให้มีสันโดษ คือความยินดีพอใจอยู่ในผลที่ได้ เท่าที่จะพึงได้โดยชอบ
เป็นความยินดีตามที่ได้ เป็นความยินดีตามกำลัง เป็นความยินดีตามความสมควร
แปลว่าให้จำกัดอาหารที่จะป้อนตัณหา ให้อยู่ในขอบเขตที่จะพึงหาได้
ตามกำลังหรือตามความสมควร ไม่ให้ออกไปนอกขอบเขต
และเมื่อให้อยู่ในขอบเขตดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าเป็นการระงับการเลี้ยงตัณหา
เลี้ยงตัวที่เกิดจากตัณหานี้ให้โตใหญ่ กินจุกินมากดังกล่าวแล้ว
มาเป็นกินน้อย ตามที่ได้ ตามกำลัง ตามที่สมควร
และเมื่อรู้สึกว่ายังไม่พอกับประโยชน์ที่ต้องการ ก็เพิ่มความเพียรแสวงหาในทางที่ชอบ
และไม่ให้สันโดษคือพอใจในความดีทั้งหลาย เพราะว่าทุกคนยังต้องทำความดีเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ
เพื่อละกิเลส เพื่อละส่วนที่ชั่ว อันยังละไม่ได้ จะไปยินดีว่าทำดีเพียงเท่านี้พอแล้วไม่ได้
ต้องทำดีให้มากขึ้น และทำดีต่อไปอยู่เสมอ เป็นความไม่อิ่มในเหตุดีที่จะทำต่อไป
แต่ว่าให้อิ่ม รู้จักอิ่มในผลที่ได้ พอในผลที่ได้
เมื่อบังเกิดเป็นความพอขึ้นของใจดั่งนี้แล้ว ความอิ่มก็มีขึ้นเอง
เพราะความอิ่มนั้นเกิดขึ้นจากความพอของจิตใจ ไม่ใช่เกิดจากวัตถุเป็นต้น
ที่ทางตัณหาต้องการ ที่หามาป้อนตัณหา ตัณหานั้นจึงไม่อิ่มไม่พอ เหมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ
เมื่อเป็นดั่งนี้ทุกคนไม่สามารถจะหามาป้อนตัณหาให้พอได้
พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า แม้จะได้ภูเขาทอง คือภูเขาทั้งภูเขาเป็นทองทั้งหมด
ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้ตัณหาพอได้ ได้ภูเขาทองสักลูกหนึ่งแล้ว
๖
ก็จะต้องอยากจะได้ลูกที่สอง อยากจะได้ลูกที่สาม ไม่รู้จักพอ ป้อนไม่อิ่ม
เพราะฉะนั้นจะหาป้อนตัณหาไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นนายของตัณหาดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ให้มีจิตใจรู้จักมีสันโดษ
และเมื่อมีความพอใจขึ้นแล้ว ความอิ่มใจขึ้นแล้ว ความเต็มใจขึ้นแล้ว
ก็เป็นความพอเป็นความอิ่ม จะได้น้อยก็ตาม จะได้มากก็ตาม ก็มีความอิ่ม
ทำให้เป็นผู้ที่รู้จักอิ่ม รู้จักพอ รู้จักเต็ม ด้วยอำนาจของสันโดษ
การปฏิบัติในเมตตา
อีกข้อหนึ่ง แม้จะยังมีความอยากยึดที่เป็นต้นเหตุแห่งความเป็นตัวที่โตขึ้นดังกล่าวแล้ว
ยังไม่สามารถจะละได้ ก็ใช้เมตตาเข้ามาช่วยอีก คือให้คิดแผ่เมตตาไปในตัวเอง
ว่าขอให้ตัวเองมีความสุข คิดแผ่เมตตาไปในคนที่เป็นที่รักขอให้คนที่รักเป็นสุข
คิดแผ่เมตตาไปในคนที่เป็นปานกลาง ไม่รักไม่เกลียด ให้คนที่เป็นปานกลางมีความสุข
คิดแผ่เมตตาไปในคนทั่วไปให้มีความสุข
จนถึงหัดคิดแผ่เมตตาไปในสัตว์ทั้งหลายทั่วโลกให้มีความสุข
ดังที่ตรัสสอนไว้ให้แผ่เมตตาไปโดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจง
โดยเจาะจงก็คือขอให้สตรีทั้งปวง บุรุษทั้งปวง
ผู้ที่เป็นอริยะคือผู้ประเสริฐทั้งปวง ผู้ที่ไม่เป็นอริยะคือผู้ที่ไม่ประเสริฐทั้งปวง
เทพทั้งปวง มนุษ์ทั้งปวง ผู้ที่เกิดตกต่ำเช่นเป็นสัตว์เดรัจฉาน
เป็นสัตว์นรกเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ทั้งปวงจงมีความสุข
และแผ่ไปโดยไม่เจาะจงคือทั่วไป สัพเพสัตตา ขอให้สัตว์ทั้งปวง
สัพเพปาณา ขอให้สัตว์มีปราณผู้มีชีวิตทั้งปวง
สัพเพภูตา ขอให้ภูตะคือสัตว์ทั้งหลายที่เกิดเป็นแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งปวง
๗
สัพเพปุคลา บุคคลทั้งปวง
สัพเพ อัตตะภาวะ ปริยาปันนา สัตว์ที่นับเนื่องด้วยอัตภาพอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งปวง
จงเป็นสุข ปราศจากทุกข์ ไม่มีการเบียดเบียน ไม่มีเครื่องเบียดเบียน
มีสุขรักษาตนให้สวัสดี ทั่วกันเทอญ ดั่งนี้
แผ่ไปในทิศเบื้องหน้า แผ่ไปในทิศเบื้องหลัง แผ่ไปในทิศเบื้องซ้าย แผ่ไปในทิศเบื้องขวา
แผ่ไปในทิศน้อยในระหว่างแห่งทิศทั้งสี่นี้โดยรอบ แผ่ไปในเบื้องล่าง แผ่ไปในเบื้องบน
ตลอดโลกทั้งสิ้น แผ่ไปในอัตตภาพทั้งสิ้น
หรือว่าแผ่ไปเหมือนอย่างว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งโลกนี้กับตนเองรวมอยู่ในอัตภาพ
หรือรวมอยู่ในตัวเดียวกันทั้งหมด คือเมื่อจะเป็นตัวเป็นตนที่มุ่งสุขแสวงหาความสุข
ก็ให้เป็นตัวเป็นตนใหญ่ครอบโลกไปเลย โดยที่มีจิตใจมุ่งให้ต่างมีความสุข ไม่มีทุกข์
รักษาตนให้สวัสดี เหมือนกันทั่วโลกทั้งหมด ตนเองฉันใด ผู้อื่นก็ฉันนั้น
จนถึงเหมือนไม่มีผู้อื่น ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวผู้อื่น
แต่มีตัวอันเดียวกันทั้งหมดโตครอบโลกไปเลย และให้มุ่งความสุขทั่วกันหมด
ดั่งนี้ เป็นการปฏิบัติในเมตตาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้
กำหนดดูที่ตั้งของตัวเราของเรา
และนอกจากนี้ยังได้ตรัสสอน
ให้มากำหนดดูที่ตั้งของตัวเราของเราทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ
อันจะทำให้ตัวเราของเรานี้เบ่งโตเป็นตัวกิเลสใหญ่โตดังที่กล่าวมาแล้ว
ให้เห็นว่านั่นคือเป็นตัวมานะ คือความสำคัญมั่นหมายยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา
เป็นเหตุสร้าง อหังการ คือสร้างตัวเรา มมังการ สร้างของเราขึ้นมา
ซึ่งโดยตรงก็คือเป็นตัวตัณหาเป็นตัวอุปาทานนั้นเอง
ไม่มีสัจจะคือความจริงอยู่ในตัณหาอุปาทาน
๘
เพราะทั้งหมดที่ยึดถือนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เป็นอนิจจะไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ
เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
เป็นสิ่งที่เป็นอนัตตา คือไม่ควรที่จะมีความเห็นยึดถือว่า เอตังมะมะ นี่เป็นของเรา
เอโสหะมัสสะมิ เราเป็นนี่เราเป็นนั่น เอโสเมอัตตา นี่มันเป็นอัตตาตัวตนของเรา ดั่งนี้
ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
เมื่อได้ปัญญารู้แจ้งเห็นจริงขึ้นดั่งนี้ อันนี้แหละเป็นตัววิปัสสนาปัญญา
ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งเกิดจากจิตใจที่เพ่งพินิจ ดูให้รู้จักขันธ์ ๕
ให้รู้จักนามรูป ให้รู้จักกายที่มีวิญญาณมีใจครองนี้
ให้รู้จักนิมิตคือเครื่องกำหนดยึดถือในภายนอกทั้งหลายทั้งหมด
ว่าตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดั่งนี้
เมื่อได้ปัญญารู้แจ้งขึ้นก็เป็นตัววิปัสสนาปัญญา
จิตใจที่เพ่งพินิจก็เป็นตัวสมาธิ มีศีลเป็นภาคพื้นหรือเป็นฐานรองรับ
เป็นอันว่าผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อปฏิบัติอยู่ในหลักของศีลของสมาธิของปัญญา
ย่อมจะทำให้ได้ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
และเมื่อได้ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงเป็นตัววิปัสสนาปัญญาขึ้นดั่งนี้
ก็ย่อมจะได้วิมุติคือความหลุดพ้น คือจิตจะพ้นจากความยึดถือ ก็จะดับตัวตัณหาได้
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วภาวะที่บริสุทธิ์ก็ย่อมจะปรากฏเป็นความสงบ เป็นความหลุดพ้น
และแม้ว่าจะยังไม่สามารถบรรลุถึงอย่างสูงสุดได้ ก็จะได้ไปโดยลำดับ
จะทำให้รักษาตนได้โดยสวัสดีอยู่ในโลก คือจะพ้นโลกที่เป็นส่วนชั่วขึ้นโดยลำดับ
จนถึงสุดโลก สุดโลกเมื่อใดก็จะทะลุโลกเป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพานขึ้นไปเอง
โดยไม่ต้องไปกลัว โดยไม่ต้องไปขวนขวาย แสวงหา อยากจะได้ ปีนป่าย
ให้ปฏิบัตินี่แหละไปโดยลำดับ แล้วก็ได้ก็ถึงเอง ตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ
ต่อจากนี้ขอๆให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
๙
การปฏิบัติในประโยชน์ปัจจุบัน
และประโยชน์ภายหน้า
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
มรรคข้ออื่นเป็นบริขารของสมาธิ ๓
สติปัฏฐาน ๔ ๔
ที่ตั้งของสติ ที่ตั้งของปัญญา ๔
ประโยชน์ปัจจุบัน ๕
ประโยชน์ภายหน้า ๖
ประโยชน์อย่างยิ่ง ๗
วิมุติในขั้นศีลสมาธิปัญญา ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ดีเยี่ยม
ม้วนที่ ๑๖๐/๒ ครึ่งแรกต่อ ๑๖๑/๑ ( File Tape 122 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
การปฏิบัติในประโยชน์ปัจจุบัน
และประโยชน์ภายหน้า
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ศีลสมาธิปัญญานี้เป็นหลักย่อของปฏิบัติธรรม
ธรรมะหมวดอื่นซึ่งเป็นปฏิบัติธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เป็นอันมาก
ท่านแสดงว่าก็สรุปเข้าในศีลสมาธิปัญญานี้ อันเรียกว่าไตรสิกขา
แต่เมื่อเรียกว่าไตรสิกขา ถ้อยคำก็มีต่างกันบ้าง
คือไตรสิกขานั้นก็ได้แก่ สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา
สีลสิกขาก็คือศีล จิตตสิกขาก็คือสมาธิ ปัญญาสิกขาก็คือปัญญา
ถ้อยคำที่ต่างกันนั้นคือตรงกับคำว่าจิตตสิกขา ซึ่งก็หมายถึงสมาธิ
และใช้ว่าจิตตสิกขาก็บ่งถึงจิต หรือที่เรียกว่าจิตใจอันเป็นแกนสำคัญของการปฏิบัติธรรม
สมาธิก็เป็นแกนสำคัญของปฏิบัติธรรม
๒
มรรคข้ออื่นเป็นบริขารของสมาธิ
เพราะฉะนั้นในพระสูตรหนึ่งจึ่งได้มีแสดงไว้ว่า สมาธิเป็นข้อหลัก ตรัสแสดงไว้เป็นอันดับ ๑
และตรัสแสดงว่ามรรคมีองค์ ๘ ข้ออื่นนั้นเป็นบริวาร หรือเป็นบริขารของสมาธิ
อันแสดงว่าสมาธิเป็นแกนหรือเป็นหลักสำคัญของการปฏิบัติธรรม
และสมาธินั้นก็คือจิตนั้นเองที่ตั้งมั่น
และจิตที่ตั้งมั่นนี้เป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา หมายจำเพาะที่เป็นสัมมาสมาธิ
คือตั้งมั่นอยู่โดยชอบซึ่งมีหลักอยู่ที่ว่า สงบจากกาม สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
ดั่งนี้ จึงจะเป็นสัมมาสมาธิในพระพุทธศาสนา ก็คือจิตนั้นเองที่ตั้งมั่นอยู่โดยชอบ
พิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่าจิตที่เป็นสมาธิ คือที่ตั้งมั่นอยู่โดยชอบนี้
ย่อมสามารถรับกุศลธรรมทั้งหลายได้
ถ้าจิตกวัดแกว่ง หรือซึมเซา ย่อมรับกุศลธรรมทั้งหลายไม่ได้
เหมือนอย่างมือ ถ้าหากว่ามือที่กำอยู่เหมือนอย่างจิตที่ซึมเซา ก็รับของอะไรไม่ได้
หรือแม้มือที่แบ คือจิตที่ไม่ซึมเซา แต่ว่าถ้ากวัดแกว่ง คือแกว่งมือที่แบนี้ไปมา
ก็วางของลงไปในมือ ให้ของตั้งอยู่ด้วยดีไม่ได้
แต่เมื่อมือๆแบและนิ่งอยู่ วางของลงบนมือนั้น ของนั้นก็ตั้งอยู่ได้
จิตก็เช่นเดียวกัน ต้องเป็นจิตที่แบคือไม่ซึมเซา
และไม่ฟุ้งซ่านคือไม่แกว่ง จึงจะรับรองกุศลธรรมทั้งหลายได้
นี้คือสมาธินั้นเอง สมาธิจึงเป็นหลักแกนของการปฏิบัติธรรม
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสยกไว้เป็นประธาน
และองค์มรรคข้ออื่นนั้นเป็นบริขารเป็นเครื่องประกอบเข้าด้วยกัน
นี้มุ่งในด้านจิตที่เป็นสิ่งควรแก่การงาน รับศีลรับสมาธิที่ยิ่งขึ้น
และรับปัญญาได้ รับกุศลธรรมอื่นๆได้ จิตหรือสมาธินี้จึงเป็นข้อสำคัญ
๓
การหัดทำกรรมฐาน ก็เป็นการหัดทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย
เพราะกรรมฐานอันเป็นที่ตั้งของจิตนี้ก็ล้วนเป็นกุศลธรรม จะเป็นข้อใดก็ตาม
และแม้ที่เป็นข้อหลักใหญ่ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทั่วไปคือสติปัฏฐานทั้ง ๔
อันได้แก่กายเวทนาจิตธรรม ก็เป็นหลักปฏิบัติเป็นที่ตั้งของจิต เป็นฝ่ายกุศลธรรม
สติปัฏฐาน ๔
อันกายเวทนาจิตธรรมนั้นกล่าวอย่างหนึ่ง
ก็เป็นธรรมดาอย่างหนึ่งของความเป็นบุคคลทุกๆคน
จะต้องมีกาย จะต้องมีเวทนา จะต้องมีจิต จะต้องมีธรรม
จึงดำรงชีวิตอยู่เป็นบุคคล ที่เป็นอยู่ ดำรงอยู่
พระพุทธเจ้าตรัสยกเอาสติปัฏฐานทั้ง ๔ อันหมายถึงที่ตั้งของสติ
คือกายเวทนาจิตธรรมนี้ เป็นที่ฝึกสติให้ตั้งอยู่
และได้ตรัสไว้โดยปริยายคือทางอื่นๆ คือจำแนกออกเป็นขันธ์ ๕
เป็นที่ตั้งของปัญญาที่จะกำหนดพิจารณา
ปัญญานั้นก็สืบเนื่องมาจากสติสืบเนื่องมาจากสมาธิ
ในเมื่อฝึกสติตั้ง เพื่อให้จิตตั้งเป็นสมาธิ ก็ใช้ให้ตั้งในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือกายเวทนาจิตธรรม
และเมื่อตั้งสติได้ ได้สมาธิในกายเวทนาจิตธรรม ก็พิจารณาโดยเป็นขันธ์ ๕ เป็นทางปัญญา
หรือย่อเป็นนามรูป กายเวทนาจิตธรรมหรือว่าขันธ์ ๕ ก็รวมเป็นสกนธ์กายอันนี้ของทุกๆคน
ซึ่งประกอบด้วยกายและจิต หรือกายใจ อันรวมเป็นบุคคล
ที่ตั้งของสติ ที่ตั้งของปัญญา
เหมือนอย่างที่ปรากฏรวมกันเป็นก้อนเป็นกลุ่มอยู่นี้
ซึ่งจำแนกออกเป็นกายเวทนาจิตธรรม เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ อันเรียกว่าสติปัฏฐานก็ได้
๔
แยกออกเป็นขันธ์ ๕ คือเป็นกองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ
เพื่อเป็นที่ตั้งของปัญญาก็ได้ แต่ก็รวมอยู่เป็นก้อนเดียวกันนี้
เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น จึงไม่ต้องไปหาที่ตั้งปฏิบัติในที่อื่น
หาที่ตั้งปฏิบัติที่กายและจิต หรือกายและใจของตนเอง นี่เอง
ประโยชน์ปัจจุบัน
และการปฏิบัตินั้นเมื่อว่าตามลำดับ
ก็ปฏิบัติในขั้นที่เป็นทิฏฐธรรมิกัตถะ คือประโยชน์ปัจจุบัน
ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร
ในการงานที่พึงทำ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดำรงชีวิตมาใช้สอย
ตรัสสอนให้ถึงพร้อมในการรักษา คือรักษาสิ่งที่พึงใช้สอยนั้น คือใช้สอยดำรงชีวิต
ตรัสสอนให้คบเพื่อนที่ดีงาม อันจะนำให้ปฏิบัติในทางที่ถูกต้องดีงาม
และตรัสสอนให้ใช้จ่ายสิ่งของที่พึงใช้จ่าย เพื่อดำรงชีวิตนั้นให้เป็นไปสม่ำเสมอ
อันหมายความว่าไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟูมฟายนัก
ให้อยู่ในระดับอันสมควร ก็คือสม่ำเสมอหรือพอดี
ทุกคนผู้เกิดมาในโลกนี้จำต้องการสิ่งสำหรับใช้สอยดำรงชีวิต
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องการนี้จึงเรียกว่า อรรถะ อันแปลว่าสิ่งที่ต้องการ
หรือประโยชน์ที่ต้องการ เมื่อได้มาก็ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดีในปัจจุบัน
เพราะว่าทุกคนจำต้องอาศัยสิ่งบำรุงชีวิตดังกล่าวอยู่ในปัจจุบันทุกขณะ
ทั้งที่เป็นส่วนหยาบ ทั้งที่เป็นส่วนละเอียด
ส่วนที่เป็นส่วนหยาบนั้น ก็เช่นอาหารที่เป็นของหยาบ เสื้อผ้าสำหรับนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย
ยาสำหรับแก้ไข้ต่างๆ ที่เป็นส่วนละเอียดนั้นก็คือลมหายใจเข้าออก
ซึ่งทุกคนต้องหายใจอากาศเข้าไปบำรุงเลี้ยงร่างกายอยู่ทุกขณะ อันจะหยุดเสียมิได้
อันจะพึงกล่าวได้ว่าเป็นอาหารที่ละเอียด
๕
ประโยชน์ภายหน้า
และยิ่งไปกว่านี้ยังต้องการศรัทธาคือความเชื่อที่ถูกต้อง
ต้องการศีลคือความประพฤติที่เป็นปรกติ ไม่เบียดเบียนกันและกันให้เดือดร้อน
ต้องการจาคะคือการสละเผื่อแผ่เจือจาน ต้องการปัญญาคือความรู้จักผิดชอบชั่วดีต่างๆ
รู้จักทางเสื่อม รู้จักทางเจริญ รู้จักทางปฏิบัติให้พ้นเสื่อม ดำเนินไปสู่ความเจริญ
เหล่านี้เรียกว่าเป็นประโยชน์ภายหน้า
ประโยชน์ปัจจุบันนั้นก็หมายถึงว่า
เป็นประโยชน์ที่ต้องใช้ประจำวัน ที่เป็นปัจจุบัน และเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง
ทั้งเป็นประโยชน์ที่จะต้องใช้ต่อไปไม่ใช่วันนี้ คือต้องมีต้องใช้ในวันพรุ่งนี้อีกด้วย
เพราะฉะนั้นประโยชน์ปัจจุบันนั้นจึงกำหนดจำเพาะตน เป็นประโยชน์ทางกาย
และเป็นประโยชน์ที่ต้องใช้อยู่ประจำวันเป็นปัจจุบัน
ส่วนที่ว่าประโยชน์ภายหน้านั้นไม่ใช่หมายความว่าปัจจุบันไม่ต้องใช้
เช่นว่าวันนี้ไม่ต้องใช้ ใช้แต่ภายหน้าเท่านั้น เช่นว่าใช้ในวันพรุ่งนี้
แต่มีความหมายว่าศรัทธาคือความเชื่อที่ถูกต้องก็ดี
ศีลคือความประพฤติที่ไม่เบียดเบียนกันก็ดี จาคะคือการสละบริจาคก็ดี
และปัญญาคือความรู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์เป็นต้นก็ดี
เป็นสิ่งที่เป็นเครื่องบำรุงใจ เป็นอาหารทางจิตใจคู่กับกาย
และเป็นสิ่งที่จะให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลจากปัจจุบันนี้สืบไปถึงภายหน้า
และเป็นประโยชน์เกื้อกูลที่ถึงแก่ผู้อื่นอีกด้วย
ดังที่กล่าวมานี้จึงต้องปฏิบัติด้วยกันอยู่ในปัจจุบันนี้เอง คู่กันไปทีเดียว
เพราะว่าทุกคนนั้นต้องมี ๓ คู่อยู่ด้วยกัน
เกี่ยวกับกาลเวลาก็คือปัจจุบันและภายหน้า ต้องคู่กันไป
๖
เกี่ยวกับบุคคลต้องตัวเราและผู้อื่น ต้องคู่กันไป
และเกี่ยวกับอัตภาพก็คือกายและใจ หรือกายและจิต ต้องคู่กันไป
สำหรับประโยชน์ที่เรียกว่าประโยชน์ปัจจุบันนั้น เช่นปัจจัยทั้ง ๔ ดังกล่าว
ตลอดจนถึงที่เป็นอย่างละเอียดคือลมหายใจเข้าออกดังที่กล่าวแล้วนั้น เกื้อกูลแก่ร่างกาย
เกื้อกูลแก่ตัวเอง และเกื้อกูลอยู่ในขณะปัจจุบัน หรือประจำวันประจำเวลา
แต่ว่าศรัทธาก็ดี ศีลก็ดี จาคะก็ดี ปัญญาก็ดี นั้นเกื้อกูลถึงจิตใจ
เกื้อกูลถึงผู้อื่น เกื้อกูลถึงภายหน้า
เพราะฉะนั้นเมื่อทั้ง ๓ คู่นี้ คือตนเองและผู้อื่นก็ดี ปัจจุบันและภายหน้าก็ดี
กายและใจก็ดี มีความสุข ไม่บกพร่อง ก็เรียกว่าสำเร็จเป็นประโยชน์ปัจจุบันด้วย
สำเร็จเป็นประโยชน์ภายหน้าด้วย
แม้เพียงเท่านี้แล้วก็จะทำให้โลกนี้เป็นสุข ในเมื่อกายใจของทุกคนมีความสุข
ในเมื่อตนเองและผู้อื่นมีความสุข ในเมื่อปัจจุบันและภายหน้า
เช่นวันนี้พรุ่งนี้ ปีนี้ปีหน้าเป็นต้น เป็นสุข ก็เป็นความสุขที่สมบูรณ์
สำหรับชีวิตของทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ และรวมกันอยู่เป็นหมู่
ประโยชน์อย่างยิ่ง
แต่ว่ายังจะต้องมีความสุขที่ทุกคนควรแสวงหา
ยิ่งไปกว่าความสุขของ ๓ คู่ดังกล่าวข้างต้น ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น
ก็คือความสุขที่เป็นอย่างยิ่ง อันได้แก่ความสุขของจิตใจที่บริสุทธิ์
อันเป็นความสุขอย่างบริสุทธิ์ ซึ่งทุกคนสามารถจะปฏิบัติเพื่อประสบความสุขที่บริสุทธิ์ดั่งนี้ได้
ไม่ว่าจะเป็นพระ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาส ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะอยู่ในป่า
ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ก็สามารถปฏิบัติเพื่อให้พบความสุขที่บริสุทธิ์นี้ได้
ก็คือการที่ปฏิบัติทำจิตใจนี้ ชำระจิตใจนี้ให้ผ่องแผ้ว หรือให้บริสุทธิ์สะอาด
๗
ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้นนั้น
จะเป็นคำสั่งสอนเพื่อประโยชน์ปัจจุบันก็ตาม เพื่อประโยชน์ภายหน้าก็ตาม
ย่อมรวมอยู่ในคำที่ว่า เหมือนอย่างมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาล น้ำในมหาสมุทร
จะอยู่ที่ริมฝั่งก็ดี อยู่ที่ไกลฝั่งก็ดี อยู่ในที่กลางมหาสมุทรอันลึกยากที่ใครจะครณาได้ก็ดี
ลึกมากก็ดี ล้วนมีความเค็มเป็นรส
( เริ่ม ๑๖๑/๑ ) คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ก็มีวิมุติคือความหลุดพ้นเป็นรส
เพราะฉะนั้น ความหลุดพ้นนี้เองเป็นตัวปรมัตถ์ประโยชน์คือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ก็ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าน้ำในมหาสมุทรที่อยู่ริมฝั่งก็เค็ม ไกลฝั่งออกไปก็เค็ม
กลางมหาสมุทรที่ลึกก็เค็ม
ฉะนั้น คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน
อันเหมือนอย่างที่อยู่ริมฝั่ง ก็เอนเอียงเทลุ่มลาดไปสู่วิมุติคือความหลุดพ้น
แม้ที่ไกลฝั่งอันเทียบได้กับที่เป็น สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ภายหน้า
ก็เอียงเทลุ่มลาดไปสู่วิมุติคือความหลุดพ้น และแม้น้ำที่อยู่กลางมหาสมุทรอันลึกมาก
ก็เอียงเทลุ่มลาด หรือว่ามีวิมุติคือความหลุดพ้นเป็นรสโดยตรง เช่นเดียวกัน
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่ว่ามีวิมุติคือความหลุดพ้นเป็นรส
จำเพาะที่เป็นธรรมะลุ่มลึก เหมือนอย่างน้ำกลางมหาสมุทรเท่านั้น
แต่แม้ที่ริมฝั่งหรือที่ห่างฝั่งออกไม่มากนัก ก็เค็มเหมือนกัน
เอียงเทลุ่มลาดไปสู่วิมุติคือความหลุดพ้นเช่นเดียวกัน
วิมุติในขั้นศีลสมาธิปัญญา
ในเมื่อจิตใจอันนี้ได้มีการปฏิบัติ
บรรเทากิเลส ละกิเลสกองโลภบ้าง กองโกรธบ้าง กองหลงบ้าง
นี้แหละคือการปฏิบัติเพื่อวิมุติคือความหลุดพ้น
การที่มาปฏิบัติในทานศีลภาวนา อันเป็นการทำบุญทั่วไปก็ดี
๘
การปฏิบัติในไตรสิกขาคือศีลสมาธิปัญญาที่ปฏิบัติกันอยู่ก็ดี
ทั้งพระ ทั้งฆราวาส ทั้งในวัด ทั้งในบ้าน ทั้งในป่า
ก็ปฏิบัติเมื่อใด ในที่ใด จิตก็เอียงเทลุ่มลาดไปสู่วิมุติคือความหลุดพ้น
ได้พบวิมุติคือความหลุดพ้นจากโลภโกรธหลงตามควรแก่การปฏิบัติ
และก็เรียกว่าเป็นวิมุติได้ แม้จะเป็นวิมุติชั่วคราว แม้จะเป็นวิมุติเล็กน้อย
ก็เป็นวิมุติได้ คือเมื่อเป็นศีลขึ้นเมื่อใด ก็ได้ผลเป็นวิมุติขั้นศีล
เป็นสมาธิขึ้นเมื่อใด ก็ได้วิมุติขั้นสมาธิ เป็นปัญญาขึ้นเมื่อใดก็ได้วิมุติขั้นปัญญา
เป็นผลของการปฏิบัติคู่กันไป
ดังเมื่อปฏิบัติในศีลก็พ้นจากภัยเวร
และพ้นจากกิเลสกองโลภโกรธหลงที่เป็นอกุศลมูลทั้งหลาย
ปฏิบัติให้จิตเป็นสมาธิก็พ้นจากนิวรณ์ อันเป็นกิเลสที่กั้นจิตไว้ไม่ให้ได้สมาธิ ไม่ให้ได้ปัญญา
ทำให้จิตได้วิเวกคือความสงบสงัดกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย
เมื่อปฏิบัติเป็นปัญญาขึ้นมาได้ ก็ได้ปหานะคือการละ ละโลภโกรธหลง ละอวิชชา ละโมหะ
ก็เป็นวิมุติคือความหลุดพ้นตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ
การปฏิบัติดังกล่าวนี้จึงเอนเอียงเทลุ่มลาดไปสู่ปรมัตถประโยชน์คือประโยชน์อย่างยิ่งทั้งหมด
เป็นการปฏิบัติที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ในประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ภายหน้านั้นเอง
และก็จะต้องมีประโยชน์ปัจจุบันและประโยชน์ภายหน้านี้เป็นเครื่องรองรับด้วย
เพราะเมื่อกายและจิตมีความสุข ตนเองและผู้อื่นมีความสุข
ปัจจุบันและภายหน้าคือวันนี้พรุ่งนี้มีความสุข ก็จะทำให้สามารถปฏิบัติอบรมจิตใจ
สามารถทำบุญต่างๆ สามารถปฏิบัติในไตรสิกขาศีลสมาธิปัญญาได้สะดวกดียิ่งขึ้น
ปฏิบัติในบ้านก็ได้ความสุขในบ้าน ปฏิบัติในวัดก็ได้ความสุขในวัด
ปฏิบัติในป่าก็ได้ความสุขในป่า
แต่ถ้าอยู่ในที่ใดก็ตาม ไม่ปฏิบัติดั่งนี้ก็ไม่พบกับปรมัตถประโยชน์
๙
ต่อเมื่อปฏิบัติดั่งนี้จึงจะได้พบกับปรมัตถประโยชน์
ก็พึงพิจารณาดูว่าอันโจรผู้ร้ายนั้น ในบ้านก็มีโจรผู้ร้าย
ในป่าก็มีโจรผู้ร้าย คือความเป็นโจรผู้ร้ายนั้นมีอยู่ในบุคคลใด
บุคคลนั้นจะอยู่ในบ้านก็เป็นคนร้าย อยู่ในป่าก็เป็นคนร้าย
แต่ผู้ที่เป็นคนดีนั้นอยู่ในบ้านก็เป็นคนดี อยู่ในป่าก็เป็นคนดี
จึงสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติตนนี้เอง และทุกคนเมื่อต้องการปฏิบัติดี
ก็ปฏิบัติดีได้ทั้งที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ทั้งที่เป็นประโยชน์ภายหน้า
และทั้งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่เรียกปรมัตถประโยชน์
ทั้งในบ้าน ทั้งในวัด ทั้งในป่า ได้ทุกแห่ง
ในครั้งพุทธกาลเองก็มีพระพุทธสาวกเป็นอันมาก
ท่านออกจากบ้านมาก็ฟังธรรมในวัดในบ้านนั้นเอง
ก็สำเร็จมรรคผลเบื้องต้นบ้างเบื้องสูงบ้าง
ก็เพราะว่าปฏิบัติเป็นประโยชน์ปัจจุบันบ้าง เป็นประโยชน์ภายหน้าบ้าง
และปฏิบัติเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในขณะที่มาฟังธรรมนั้น
โดยที่เป็นผู้มีอินทรีย์บารมีได้อบรมมาแล้ว สามารถเข้าถึงมรรคผลได้
ต่อไปนี้พึงตั้งใจฟังสวด ถ้ามีก็ตั้งใจ และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*