ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป121

บุคคล ๓ จำพวก (๑)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ดีเยี่ยม

ม้วนที่ ๑๕๘/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๙/๑ ( File Tape 121 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

บุคคล ๓ จำพวก (๑)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่ามีบุคคล ๓ จำพวก

คือ ๑ บุคคลที่มีจิตใจเหมือนอย่างแผลเรื้อรัง

๒ บุคคลที่มีจิตใจเหมือนอย่างสายฟ้าแลบ

๓ บุคคลที่มีจิตใจเหมือนอย่างเพชร

 

ได้ตรัสอธิบายว่าจำพวกที่ ๑ บุคคลที่มีจิตใจเหมือนอย่างแผลเรื้อรังนั้น

คือแผลเรื้อรังย่อมมีน้ำเลือดน้ำหนอง และเยื่อเนื้อไหลออก

และเมื่อได้ถูกกระทบด้วยไม้หรือกระเบื้อง ก็จะทำให้เป็นแผลมากขึ้น

และมีน้ำเลือดน้ำหนองเยื่อเนื้อไหลออกมากขึ้น

ถูกสะกิดแม้นิดหน่อยก็จะทำให้น้ำเลือดน้ำหนองและเยื่อไหลได้ง่าย

ทำให้เจ็บปวดเป็นทุกขเวทนา ฉันใด

จิตใจของบุคคลก็ฉันนั้น จำพวกที่มีจิตใจอ่อนไหวง่าย หรือที่เรียกว่าใจน้อยโกรธง่าย

ถูกกระทบกระทั่งแม้เล็กน้อยก็โกรธ และไม่ใช่แต่จำเพาะโทสะเท่านั้น

แม้ถูกกระทบกระทั่ง คือรับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะความติดใจยินดี ก็ชอบได้ง่าย

รับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะคือความหลงใหล ก็หลงใหลได้ง่าย

 

จำพวกที่ ๒ มีจิตใจเหมือนอย่างสายฟ้าแลบ

ก็คือมีจิตใจไม่เป็นแผลเรื้อรัง หรือหายจากแผลเรื้อรัง ก็ได้ปัญญาในธรรม

แต่ปัญาในธรรมที่ได้นั้น ก็ได้แว่บหนึ่งๆ คือได้ปัญญาอันเป็นเหมือนอย่างแสงสว่างในที่มืด

มองเห็นสัจจะธรรมธรรมะที่เป็นตัวความจริง แว่บหนึ่งๆ เหมือนอย่างสายฟ้าแลบ

เมื่อเกิดขึ้นก็ทำให้มองเห็นสิ่งทั้งหลายในที่มืดแว่บหนึ่งๆ ชั่วเวลาที่ฟ้าแลบนั้น

 

ท่านอธิบายว่าคือได้ปัญญาเห็นธรรมที่ได้แก่ความจริงดังกล่าว

ก็ควรจะหมายถึงตั้งแต่สามัญชนขึ้นไป จนถึงพระอริยบุคคล

ที่เป็นขั้นเสขะบุคคล คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี

เมื่อพระอริยบุคคลทั้ง ๓ จำพวกนี้ ได้โสดาปัติมรรค สกทาคามีมรรค อนาคามีมรรค

ก็ได้ปัญญาเห็นอริยสัจจ์ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์

ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ แว่บหนึ่งๆ

 

และแม้สามัญชนผู้ปฏิบัติธรรมได้สมถะได้วิปัสสนาในธรรม

ปัญญาที่เกิดขึ้นเห็นธรรมก็เป็นเช่นนั้น คือจะเห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์

ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ แว่บหนึ่งๆ แล้วก็กลับมืด

แม้อริยบุคคลชั้นเสขะบุคคลดังกล่าวข้างต้น

ท่านก็อธิบายว่าอยู่จำพวกที่มีจิตใจเหมือนอย่างแสงฟ้าแลบ

 

จำพวกที่ ๓ มีจิตใจเหมือนอย่างเพชร

โดยอธิบายว่า เพชรนั้นที่จะตัดแก้วมณีหรือหินไม่ได้ ย่อมไม่มี

ย่อมตัดแก้วมณีหรือหินได้ ฉันใด

จิตที่เหมือนอย่างเพชรก็ฉันนั้น ย่อมตัดกิเลสและกองทุกข์ได้

ท่านอธิบายเป็นอย่างสูง ก็ได้แก่จิตของพระอรหันต์ที่ตัดกิเลสได้ด้วยอรหัตมรรคหมดสิ้น

จึงเรียกว่าเป็นผู้ที่มีจิตเหมือนอย่างเพชร ท่านอธิบายไว้ในแนวนี้

 

แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว

หากว่าจะอธิบายให้หมายครอบถึงสามัญชนทั่วไปได้ ก็อาจอธิบายได้

คือบุคคลจำพวกที่ ๑ ที่มีจิตเหมือนอย่างแผลเรื้อรังนั้น

ก็คือจิตของบุถุชนคนที่มีกิเลสหนาทั่วไป คือมีราคะโทสะโมหะหนาแน่น

มีโลภโกรธหลง หรือว่าโลภะโทสะโมหะหนาแน่น

เปรียบเหมือนอย่างว่าเป็นแผลเรื้อรังของร่างกาย ย่อมมีน้ำเลือดน้ำหนองเยื่ออยู่ในแผลนี้แล้ว

แม้ว่าเมื่อยังไม่ถูกกระทบกระทั่ง มีผ้าปิดแผลปิดไว้ หรือมีหนังที่บางหุ้มอยู่

ให้อมน้ำเลือดน้ำหนองเยื่ออยู่ในภายใน แต่ว่าเมื่อถูกกระทบกระทั่งเข้าแล้ว

หนังบางๆที่หุ้มแผลอยู่ก็ฉีกขาดได้ง่าย น้ำเลือดน้ำหนองเยื่อที่อมไว้ในแผลก็จะไหลออกมา

หรือแม้มีผ้าปิดแผลปิดอยู่ก็จะกระทบกระทั่งบีบเข้าไปให้แผลแตกออก

มีน้ำเลือดน้ำหนองเยื่อไหลออกมาได้

 

จิตใจของสามัญชนที่หนาด้วยกิเลส ก็เป็นจิตใจที่เหมือนอย่างเป็นแผลเรื้อรังดั่งนี้

เพราะฉะนั้นเมื่อรับอารมณ์ทั้งหลาย ทางตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ

อารมณ์คือเรื่องเหล่านี้ก็เข้าไปกระทบแผลในใจที่อมเลือดหนองเยื่ออยู่นี้ให้แตก

ไหลเป็นน้ำเลือดน้ำหนองและเยื่อเนื้อออกมา เปรอะเปื้อน

จิตที่หนาด้วยกิเลสย่อมเป็นดั่งนี้ เมื่อรับอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโทสะ

ก็จะเกิดความกระทบกระทั่ง เกิดโกรธแค้นขัดเคืองขึ้นได้ง่าย

แม้เมื่อรับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะก็เช่นเดียวกัน

ก็เกิดชอบชมนิยมยินดี เกิดอยากได้ใคร่ถึงโดยง่าย

เมื่อรับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหล ก็เกิดความหลงใหลได้ง่าย

นี้เป็นจิตของสามัญชนทั่วไป และสามัญชนที่เป็นกิเลสหนาเหล่านี้

ที่หนามากมีโมหะคือความหลงมาก โลภมาก โกรธมาก

จนถึงมีจิตใจที่หยาบช้าทารุณ ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์

ไม่มีสติที่จะเตือนใจ ก็เรียกว่าเป็นอันธพาลบุถุชน คือบุถุชนที่เป็นอันธพาล คือเป็นผู้โง่เขลา

พาละแปลว่าโง่เขลา อันธะแปลว่าบอด เหมือนอย่างตาบอดมองไม่เห็นอะไร

อย่างที่เราเรียกกันว่าอันธพาลในภาษาไทย ก็นำคำนี้มาใช้

อันธะก็คือว่าบอด พาละก็คือว่าโง่เขลา โง่เขลาเหมือนอย่างตาบอดมองไม่เห็นอะไร

เพราะจิตใจมีกิเลสหุ้มห่ออยู่หนาแน่น ทั้งกิเลสกองราคะหรือโลภะ กองโทสะ กองโมหะ

รวมเป็นกองตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอย่างอื่นๆ ตามอาการของกิเลสเหล่านั้น

 

เพราะฉะนั้น บุคคลที่เป็นอันธพาลนี้

จึงเรียกว่าเป็นคนที่ตกอยู่ในกระแสของบาปของกิเลส

เป็นผู้ที่ตกต่ำอยู่ในโลกที่ชั่ว แม้ว่าจะมีร่างกายเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ที่ต่ำทราม

ดังเช่นที่เรียกว่า มนุสเปโตมนุษย์เปรต มนุสนิรยโกมนุษย์นรก

มนุสเดรัจฉาโนมนุษย์เดรัจฉาน

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงอุบัติขึ้นในโลก ได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

เปรียบเหมือนอย่างเป็นแสงสว่างที่ปรากฏขึ้นในโลกที่มืดมิด

เพราะฉะนั้น บรรดาสัตว์โลกผู้ที่เกิดมาในอัตภาพของมนุษย์ ซึ่งแปลว่าเป็นผู้ที่มีใจสูง

คือมีปัญญาสูงเป็น สชาติปัญญา ปัญญาที่ได้มาพร้อมกับชาติคือความเกิด

จึงสามารถที่จะได้รับแสงสว่าง คือพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้

สามารถที่จะได้สติได้ปัญญาในธรรมะที่เป็นตัวความจริงที่พระพุทธเจ้าสอน

และธรรมะคือตัวความจริงที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น ก็คือธรรมชาติธรรมดานี้เอง

ซึ่งเป็นสัจจะที่มีอยู่ พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้เห็น

จึงเปรียบพระพุทธเจ้าเหมือนอย่างผู้ที่ชูประทีปขึ้นในที่มึด ทำให้บุคคลทั้งหลายที่มีจักษุ

คือดวงตามองเห็นทางดำเนิน มองเห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในที่มืดนั้น

เหมือนอย่างโลกธาตุที่มืด เมื่อเกิดแสงสว่างขึ้น แสงสว่างก็ส่องสว่าง

ทำให้ผู้ที่มีจักษุคือดวงตา ลืมตาขึ้นก็มองเห็นสิ่งทั้งหลาย

เช่น ต้นไม้ ภูเขา และสิ่งต่างๆบรรดาที่มีอยู่

 

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เป็นธรรมชาติธรรมดาที่มีอยู่

( เริ่ม ๑๕๙/๑ ) พระองค์ไม่ได้ทรงสร้างธรรมชาติธรรมดานี้ขึ้น

เพราะฉะนั้นในธรรมนิยามสูตรพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า

ธาตุนั้นตั้งอยู่ เป็นธรรมฐิติความตั้งอยู่แห่งธรรม ธรรมนิยามความกำหนดแน่แห่งธรรม

พระพุทธเจ้าผู้ตถาคตจะทรงอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่ทรงอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นดังกล่าวก็ตั้งอยู่

กล่าวคือข้อที่สังขารสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งปวงเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง

ข้อที่สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ คือทนอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ข้อที่ธรรมทั้งหลาย คือทั้งสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง และทั้งวิสังขารคือสิ่งที่ไม่ผสมปรุงแต่ง

เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน

 

นี้คือข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าธาตุนั้นตั้งอยู่

เป็นธรรมฐิติความตั้งอยู่แห่งธรรม ธรรมนิยามความกำหนดแน่แห่งธรรม

แต่เพราะพระตถาคตพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธาตุนั้นแล้ว จึงทรงแสดงสั่งสอนเปิดเผยกระทำให้ตื้น

คือให้เวไนยนิกรหมู่ชนที่พึงอบรมแนะนำได้ รู้ได้เข้าใจได้ว่า

สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น ในบรรดาหมู่สัตว์โลกทั้งหลาย จึงได้มีบางจำพวกที่แนะนำอบรมได้

ได้ศรัทธาความเชื่อ ได้ปัญญาในธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ดังที่ได้รู้จักว่าจิตใจนี้ เมื่อยังไม่ได้รับการอบรม อันเรียกว่าจิตตภาวนา

ก็เป็นเหมือนอย่างเป็นแผลที่เรื้อรังดังที่กล่าวนั้น

แต่เมื่อได้อบรมตามที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน ดังที่ได้มาปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา

หรือในมรรคมีองค์ ๘ หรือในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่ปฏิบัติกันอยู่

ธรรมะที่ปฏิบัติเหล่านี้ ก็เหมือนอย่างเป็นการที่ได้บริโภคยา หรือได้ทายา

ที่นายแพทย์คือพระพุทธเจ้าได้ให้ เป็นธรรมโอสถที่รักษาแผลในจิตใจ จนแผลบันเทา

 

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ทีแรกก็ได้ปัญญาในธรรมเหมือนอย่างฟ้าแลบ

และเมื่อปฏิบัติอยู่ในธรรมะบ่อยๆ ก็จะได้ฟ้าแลบคือปัญญาที่เห็นธรรมบ่อยๆ

ก็คือว่าได้เห็นศีล ได้เห็นสมาธิ ได้เห็นปัญญา หรือว่าได้เห็นทาน เห็นศีล เห็นภาวนา

เมื่อปฏิบัติในสติปัฏฐาน ก็ได้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ที่ตนเอง

ปฏิบัติทีหนึ่งก็เห็นทีหนึ่ง เป็นแว่บหนึ่งๆ และเมื่อหยุดปฏิบัติก็มืดไปตามเดิม

ปฏิบัติใหม่ก็เห็นใหม่

 

และเมื่อได้เห็นธรรมะเมื่อใด ก็เป็นการตัดกิเลสและกองทุกข์เมื่อนั้น

แม้เป็นการตัดได้ชั่วคราว และแม้จะเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วคราว

เช่นเมื่อความโกรธเกิดขึ้น ได้สติได้ปัญญาเห็นความโกรธที่เกิดขึ้นที่จิตใจของตน

และเห็นโทษความโกรธ ความโกรธก็ดับ

เมื่อราคะหรือโลภะเกิดขึ้น ก็ดูราคะหรือโลภะที่จิตใจของตน

เห็นโทษ หรือว่าเป็นแผล ราคะหรือโลภะก็ดับ

เมื่อหลงเกิดขึ้นรู้ว่าเป็นความหลง ก็ได้ปัญญาคือสัจจะคือความจริงในข้อนั้น

โมหะคือความหลงในข้อนั้นก็ดับไป ก็เป็นการตัดคราวหนึ่งอย่างหนึ่ง

ก็เป็นการปฏิบัติทำจิตใจให้เป็นเหมือนอย่างเพชร

 

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มาตั้งใจฟังธรรม ด้วยปัญญาที่มีอยู่เป็น สชาติปัญญา

ก็ย่อมจะได้ปัญญาในธรรมของพระพุทธเจ้า และเมื่อได้ปฏิบัติธรรมะที่ได้สดับนั้น

เป็นศีลให้ถึงจิตใจ เป็นสมาธิให้ถึงจิตใจ เป็นปัญญาให้ถึงจิตใจ

เป็นการปฏิบัติธรรมะให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ก็เป็นการปฏิบัติที่รักษาแผลของจิตใจ

หรือรักษาจิตใจให้หายจากแผล ไม่ใช่รักษาเอาแผลไว้ แต่รักษาจิตใจหายจากแผล

ก็จะได้ปัญญาขึ้นแว่บหนึ่งๆในธรรม

และปัญญาที่ได้จากแว่บหนึ่งๆเป็นอย่างสายฟ้าแลบในธรรมนั้น

ได้เมื่อไรก็จะเป็นการตัดเป็นการรักษาแผล รักษาจิตให้หายจากแผลในคราวหนึ่งๆเพียงนั้น

 

เพราะฉะนั้น เมื่อได้มาตั้งใจฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน และตั้งใจปฏิบัติธรรมดังกล่าว

จึงชื่อว่าได้เป็นการปฏิบัติรักษาจิตใจ ทำจิตใจให้หายจากแผลคราวหนึ่งๆ

ทำจิตใจให้เหมือนอย่างเป็นสายฟ้าแลบด้วยปัญญาคราวหนึ่งๆ

ทำจิตใจให้เหมือนอย่างเพชรที่ตัดกิเลสได้คราวหนึ่งๆ

แม้ว่ากิเลสยังกลับมาอีก ก็กลับมา ก็ปฏิบัติกันไปใหม่

และเมื่อปฏิบัติอยู่บ่อยๆให้มากขึ้นๆดั่งนี้แล้ว ก็จะรักษาแผลให้หายได้

คือรักษาจิตใจให้หายได้จากแผล รักษาแผลให้หมดไปได้

รักษาจิตใจให้หายจากแผล ทำแผลให้หมดไปได้ โดยลำดับ

 

เมื่อแผลน้อยเข้าๆ แสงฟ้าแลบก็จะมาบ่อยเข้า

จิตใจก็จะเป็นเพชรมากขึ้น ตัดกิเลสและกองทุกข์ได้มากขึ้น

สว่างมากขึ้น ผ่องใสมากขึ้นตามธรรมชาติของเพชร

จิตใจก็เช่นเดียวกัน ก็จะผ่องใสก็จะสว่างมากขึ้นตามธรรมชาติของจิตใจ

ที่เป็นธาตุรู้ และที่เป็นธรรมชาติปภัสสรหรือผุดผ่องเหมือนอย่างเพชรนั้น

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

บุคคล ๓ จำพวก (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ดีเยี่ยม

ม้วนที่ ๑๕๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๙/๒ ( File Tape 121 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

บุคคล ๓ จำพวก (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่าบุคคลในโลกนี้มี ๓ จำพวก

จำพวกที่ ๑ คือบุคคลที่ไม่ควรส้องเสพเสวนา

ไม่ควรคบหาสนิทสนม ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ไปมาหาสู่บ่อยๆ

บุคคลจำพวกที่ ๒ คือบุคคลที่ควรเสวนาส้องเสพ

ควรคบหาสนิทสนม ควรเข้าไปนั่งใกล้ ไปมาหาสู่บ่อยๆ

บุคคลจำพวกที่ ๓ คือบุคคลที่ควรสักการะเคารพ

เสวนาส้องเสพ คบหาสนิทสนม เข้าไปนั่งใกล้ ไปมาหาสู่บ่อยๆ

 

และได้ตรัสอธิบายว่า บุคคลจำพวกที่ ๑ นั้น ที่ไม่ควรส้องเสพเสวนา

ไม่ควรคบหาสนิทสนม ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้คบหาบ่อยๆ

ก็คือบุคคลที่เลวด้วยศีล เลวด้วยสมาธิ เลวด้วยปัญญา

สีลสามัญญตา

 

บุคคลจำพวกที่ ๒ ที่ควรเสวนาส้องเสพ

ควรคบหาสนิทสนม ควรเข้าไปนั่งใกล้ไปมาหาสู่บ่อยๆ

คือบุคคลที่เสมอกันด้วยศีล เสมอกันด้วยสมาธิ เสมอกันด้วยปัญญา

เพราะเมื่อต่างมี สีลสามัญญตา คือมีศีลเสมอกัน

กถาคือถ้อยคำที่ปรารภศีล ก็จักมีแก่เราทั้งหลาย

กถาคือถ้อยคำที่ปรารภศีลนั้น ก็จักไปกันได้ไม่ขัดแย้งกัน นำให้ประพฤติในศีล

ทั้งจักมีเพื่อความผาสุขแก่เราทั้งหลาย

 

สมาธิสามัญญตา ปัญญาสามัญญตา

 

เมื่อเสมอกันด้วยสมาธิเป็น สมาธิสามัญญตา ก็เช่นเดียวกัน

กถาคือถ้อยคำที่ปรารภสมาธิ ก็จักมีแก่เราทั้งหลาย

กถาที่ปรารภสมาธินั้น ก็จักไปด้วยกันได้ จักนำให้ประพฤติในสมาธิ

ทั้งจักมีเพื่อความผาสุขแก่เราทั้งหลาย

เมื่อเสมอกันด้วยปัญญาเป็น ปัญญาสามัญญตา เสมอกันด้วยปัญญา

กถาคือถ้อยคำที่ปรารภปัญญา ก็จักมีแก่เราทั้งหลาย

กถาคือถ้อยคำที่ปรารภปัญญานั้น ก็จะไปกันได้ จักนำให้ประพฤติในปัญญา

ทั้งจักมีเพื่อความผาสุข

 

บุคคลจำพวกที่ ๓ ที่พึงสักการะเคารพ เสวนาคบหา

เสวนาส้องเสพ คบหาสนิทสนม เข้าไปนั่งใกล้ ไปมาหาสู่บ่อยๆ

คือบุคคลจำพวกที่ยิ่งกว่าด้วยศีล ยิ่งกว่าด้วยสมาธิ ยิ่งกว่าด้วยปัญญา

เพราะจักยังให้ศีลที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์

จักอนุเคราะห์ศีลที่บริบูรณ์ ให้เจริญด้วยความฉลาดในเรื่องนั้นๆ

จักทำให้สมาธิที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์

จักอนุเคราะห์สมาธิที่บริบูรณ์ ให้เจริญด้วยปัญญาความฉลาดในเรื่องนั้นๆ

จักยังปัญญาที่ไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์

จักอนุเคราะห์ปัญญาที่บริบูรณ์ ให้เจริญด้วยปัญญาคือความฉลาดในเรื่องนั้นๆ ดั่งนี้

 

ตามพระพุทธภาษิตนี้ ในทางปฏิบัติพึงทำความเข้าใจว่าบุคคล ๓ จำพวกดังกล่าวนี้

เป็นบุคคลภายนอกจากตนคือคนอื่นอย่างหนึ่ง เป็นตนเองอีกอย่างหนึ่ง

บุคคลที่เป็นภายนอกคือคนอื่นนั้น ก็เป็นไปตามความหมายทั่วไป

ส่วนตนเองนั้นก็มีความหมายที่น้อมเข้ามาถึงตนเองว่า

แม้ตนเองก็เป็นบุคคล ๓ จำพวกนี้เช่นเดียวกัน

 

คือถ้าตนเองเลวด้วยศีล เลวด้วยสมาธิ เลวด้วยปัญญา ก็ไม่ควรคบตนเอง

ถ้าตนเองเสมอด้วยศีล เสมอด้วยสมาธิ เสมอด้วยปัญญา แก่ตนเองก็ควรคบตนเอง

และถ้าตนเองยิ่งด้วยศีล ยิ่งด้วยสมาธิ ยิ่งด้วยปัญญา ก็ควรบูชาสักการะคบหาตนเอง ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น แม้ตนเองที่ควรคบก็มี ที่ไม่ควรคบก็มี และที่ควรบูชาสักการะคบหาก็มี

เพราะในตนเองนี้เองก็แบ่งได้ออกเป็น ๒ ส่วน คือตนเองที่เป็นส่วนดี กับตนเองที่เป็นส่วนชั่ว

 

เพราะว่าในตนเองนี้ก็มีอยู่ทั้งอาสวะและทั้งบารมี

อาสวะคือส่วนชั่วที่เก็บอยู่ในจิตใจ หรือที่จิตใจเก็บเอาไว้

ส่วนดีก็คือบารมีคือความดีที่เก็บไว้ในจิตใจ หรือที่จิตใจเก็บเอาไว้

และเมื่ออาสวะแสดงออกก็ปรากฏเป็นตนเองที่เป็นส่วนชั่ว

ดังเช่นในบางคราวโลภะคือความโลภ หรือราคะความติดใจยินดีแสดงออก

ตนเองก็เป็นผู้ที่มีราคะมีโลภะ และเมื่อราคะหรือโลภะนี้เป็นนาย

ตนเองเป็นทาสของกิเลสเหล่านี้ กิเลสเหล่านี้ก็สั่งให้ปฏิบัติ เป็นกายทุจริต ทุจริตทางกาย

วจีทุจริต ทุจริตทางวาจา มโนทุจริต ทุจริตทางใจต่างๆ นี้คือตนเองที่เป็นส่วนชั่ว

ตนเองที่เป็นส่วนชั่วนี้ ชื่อว่าเลวด้วยศีล เลวด้วยสมาธิ เลวด้วยปัญญา

คือศีลก็ไม่ดี คือเป็นทุศีล สมาธิก็ไม่ดี คือจิตหยาบช้า น้อมไปในทางกิเลส

และในทางทุจริตหนาแน่น ไม่ตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย หรือตั้งอยู่เป็นส่วนน้อย

ปัญญาก็เลว เพราะว่ารู้ชั่วรู้ผิดต่างๆ หรือว่ารู้ฉลาดในการที่จะทำชั่วร้ายต่างๆ

แต่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์

ไม่รู้จักเหตุผลตามทางกรรม อย่างสูงก็ตามทางอริยสัจจ์ของพระพุทธเจ้า

 

ฉะนั้นตนเองที่เป็นส่วนดี จึงไม่คบตนเองที่เป็นส่วนชั่วนี้

อันหมายความว่าให้ตนเองนี้เอง อบรมสติ อบรมปัญญา

ในธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ( เริ่ม ๑๕๙/๒ ) ให้ได้สติได้ปัญญาในธรรม

กำหนดให้รู้จักตนเองที่เป็นส่วนชั่ว ว่านั่นตนเองเป็นพาล เป็นคนชั่ว ไม่ควรจะคบตนเองไว้

คือให้ตนเองที่เป็นส่วนชั่วนั้นกลับตัวเสีย มาเป็นตนเองที่เป็นส่วนดี

ไม่ปล่อยให้ตนเองตกอยู่ในกิเลสในความชั่ว

 

ท่านจึงเปรียบว่าเหมือนอย่างยกช้าง เหมือนอย่างยังช้างที่ตกหล่มให้พ้นจากหล่ม

ก็คือว่าใช้สติปัญญานี้เองยกตนเองให้พ้นจากหล่มของกิเลสหล่มของความชั่ว

เป็นการไม่คบตนเองที่เป็นส่วนชั่ว ด้วยสติปัญญายกตนเองขึ้นจากหล่มคือความชั่ว

และเมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะทำให้ตนเองนี้มาเป็นผู้ที่มีศีลมีสมาธิมีปัญญา

ที่เสมอด้วยตนเองที่ได้เคยมีศีลมีสมาธิมีปัญญา ในบางครั้งบางคราวก็ตาม

 

เพราะว่า ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าในตนเองนี้มีส่วนดีคือบารมี ได้แก่ความดีที่เก็บเอาไว้

ซึ่งความดีที่เก็บเอาไว้นี้ เมื่ออบรมสติปัญญาในธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้

สติปัญญานี้เองก็จะขุดเจาะจิตใจนี้ ให้ความดีที่เก็บไว้นี้โผล่ขึ้นมาได้

เหมือนอย่างดำน้ำลงไปหยิบเอาทรัพย์ที่เก็บไว้ในน้ำขึ้นมาได้

เพราะทุกๆคนนั้นมีความดีอันเหมือนอย่างทรัพย์ที่ฝังเอาไว้ที่เก็บเอาไว้ในน้ำ

คือในน้ำใจนี้เองที่เป็นส่วนลึกอยู่ด้วยกันทุกคนทั้งนั้น

แต่ว่ายังไม่รู้จักที่จะงมขึ้นมาให้ปรากฏ

ต่อเมื่อได้ฟังธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ที่เป็นเหมือนอย่างแสงสว่างที่ส่อง ให้คนที่มีจักษุมองเห็นทางในความมืด

ก็ทำให้สามารถงมเอาความดีที่เก็บเอาไว้ในก้นบึ้งขึ้นมาได้

 

เพราะฉะนั้น ความดีที่ได้เก็บเอาไว้นั้น

ย่อมมีเหมือนอย่างทรัพย์ ที่มีจำนวนน้อยบ้าง จำนวนมากบ้าง

ทุกๆคนนั้นก็มีทรัพย์คือความดีที่เก็บเอาไว้ดังกล่าว

กล่าวสรุปเข้าก็คือว่า ย่อมมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา อยู่ด้วยกัน

แต่ขนาดนั้นต่างๆกัน ตามแต่ว่าใครจะเก็บสะสมไว้ได้เพียงใด

เพราะฉะนั้น ก็เมื่อพบตนเองที่มีศีลมีสมาธิมีปัญญา

ก็ให้คบตนเองที่มีศีลสมาธิปัญญาเสมอกันนี้

 

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้เจริญศีลเจริญสมาธิเจริญปัญญายิ่งขึ้นกว่าเดิม

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็พยายามคบตนเองที่ยิ่งกว่าด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญานี้

เพราะว่าก็จักเป็นเหตุให้ยังศีลสมาธิปัญญาที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์

จะอนุเคราะห์ศีลสมาธิปัญญาที่บริบูรณ์ ด้วยปัญญาคือความฉลาดในเรื่องนั้นๆ

และแม้ว่าเริ่มขุดเจาะพบศีลสมาธิปัญญาในตนเองที่เก็บเอาไว้

และก็คบตนเองที่เป็นส่วนดีนี้ เรียกว่าที่เสมอกัน คือตนเองในปัจจุบัน

เมื่อพบตนเองที่ได้เก็บศีลสมาธิปัญญาไว้ ก็ปฏิบัติตนเองในปัจจุบันให้เสมอกัน

กับศีลสมาธิปัญญาที่ได้ปฏิบัติเก็บสั่งสมเอาไว้

 

แปลว่าไม่ให้ตนเองในปัจจุบันนี้เลวไปกว่าตนเองในอดีต ที่ยังเก็บศีลสมาธิปัญญาไว้อยู่

อย่างน้อยก็ต้องให้เสมอกัน อย่าให้เลวกว่าเก่า เก่าดีเท่านี้ ปัจจุบันก็ให้ดีเท่านี้

และเมื่อปฏิบัติดั่งนี้ ด้วยอาศัยฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

เป็นประทีปส่องเข้าไปในจิตใจของตนเอง ให้มองเห็นจิตใจของตนเอง

ให้มองเห็นความดีความชั่วในจิตใจของตนเอง ที่มีอยู่ทั้งสองอย่างดังที่กล่าวมานั้น

ไม่คบที่เป็นส่วนชั่ว คบที่เป็นส่วนดีที่เสมอกัน

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ตนเองนั้นพูดกับตนเองเข้าใจ

พูดกับตนเองปรารภศีล ปรารภสมาธิ ปรารภปัญญา

ให้ตนเองเข้าใจได้ดี ให้เป็นไปได้ไม่ขัดกัน

 

แต่ถ้าหากว่าถ้าคบทั้งสองฝ่าย

คือคบตนเองทั้งที่เป็นส่วนชั่ว คบตนเองทั้งที่เป็นส่วนดีแล้ว

ตนเองก็พูดกับตนเองไม่เข้าใจ พูดกันเรื่องศีลเรื่องสมาธิเรื่องปัญญาไม่เข้าใจ

เพราะตนเองที่เป็นส่วนชั่วนั้นก็จะพูดไปในด้านไม่ใช่ศีลไม่ใช่สมาธิไม่ใช่ปัญญา

จะพยายามที่จะโน้มน้าวตนเองให้เป็นไปในทางชั่วในทางผิดต่างๆ

เช่น ในทางฆ่าเขาบ้าง ทางลักของเขาบ้าง เป็นต้น

หรือในทางที่จะบำรุงจิตใจให้สดชื่นอยู่ด้วยความสุขในทางกาม หรือในทางที่ผิดต่างๆ

และจะฝึกฝนให้เกิดความรู้ความฉลาดในด้านทำชั่วต่างๆ

จะฆ่าเขาอย่างไร จะขะโมยเขาอย่างไร ดั่งนี้เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ปัญญาทั้งนั้น

แต่เป็นปัญญาในทางที่ผิด ฉลาดทำชั่วมาก ก็ทำชั่วได้มาก

 

และเมื่อตนเองที่เป็นส่วนดี ซึ่งมีสติมีปัญญาที่ถูก

นึกขึ้นมาได้ในบางครั้งบางคราวเหมือนกันว่า ไอ้นี่ไม่ดี

แต่ตนเองที่เป็นส่วนชั่วนั้นก็ดึงดันว่าดี และเมื่อตนเองที่เป็นส่วนชั่วนี้มีกำลังกว่า

ก็จะดึงเอาตนเองที่เป็นส่วนดีนั้นคล้อยไปตาม ให้ละดี

ทิ้งดีไว้ให้จมก้นบึ้งอยู่ตามเดิม แล้วก็ไปทำชั่วด้วยกัน

 

โลกมักจะเป็นอยู่ดั่งนี้เสมอ

และโลกนี้ก็คือว่าทุกๆคนนี้เอง ย่อมเป็นไปอยู่ดั่งนี้เสมอ

แต่ถ้าหากว่าตนเองนั้นได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ได้ประทีปคือแสงไฟที่ทรงส่องให้มองเห็นสัจจะคือความจริง

ดึงเอาความดีที่ทุกคนมีอยู่เป็นพื้นนี้ขึ้นมาได้

ทำให้มองเห็นศีล เห็นสมาธิ เห็นปัญญา ว่ามีประโยชน์มีคุณ

ก็ทำให้ตนเองที่เป็นส่วนดีนี้มีพลังขึ้น

 

เมื่อตนเองที่เป็นส่วนชั่วโผล่หน้าเข้ามาชักชวน ก็จะไม่คบ ไม่เสวนาส้องเสพ

ไม่คบหาสนิทสนม ไม่เข้าไปนั่งใกล้ไปมาหาสู่บ่อยๆกับตนเองที่เป็นส่วนชั่วนี้

แปลว่าไม่คบกัน เมื่อไม่คบกันก็แปลว่าไม่เสวนา ไม่คบหาสนิทสนมไม่เข้าไปนั่งใกล้

ไปมาหาสู่ดังกล่าวนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ตนเองที่เป็นส่วนชั่วนั้นก็จะต้องหายไป

คือว่าต้องตกจมก้นบึ้งไปแทนส่วนดีที่โผล่ขึ้นมา จะทำให้ตนเองที่เป็นส่วนดีนั้นปรากฏ

 

และเมื่อคบตนเองที่เป็นส่วนดีนี้ยิ่งขึ้น ทีแรกก็ปฏิบัติให้มีศีลมีสมาธิมีปัญญา

เสมอกับที่เคยได้มาแล้ว เคยมีมาแล้วก่อน แล้วก็เจริญให้ยิ่งๆขึ้นไป

และคบตนเองที่เป็นส่วนที่ยิ่งๆขึ้นไปนี้อยู่เรื่อยๆไป

ความชั่วที่ตกจมก้นบึ้ง และไม่มีการทำความชั่วใหม่ไปสนับสนุนเลี้ยงดู ก็จะหมดไปๆ

ความดีก็จึงเจริญขึ้น ศีลสมาธิปัญญาก็จึงเจริญขึ้น

ละข้อที่ไม่ใช่ศีล ไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่ปัญญา ไปโดยลำดับ

 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทุกคนก็จะมีความเข้าใจในตนเองที่เป็นส่วนดี

เข้าใจในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติ

ละชั่ว ทำดี ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส มากขึ้นไปโดยลำดับ

เป็นการเจริญศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา จะฟังเทศน์รู้เรื่อง

จะฟังถ้อยคำที่ปรารภศีลสมาธิปัญญารู้เรื่อง เข้าใจ

ธรรมะก็จะเป็น สันทัศนา คือจะเห็นแจ่มแจ้งขึ้น

จะเป็น สมาทะปันนา ชักนำให้สมาทานถือปฏิบัติยิ่งๆขึ้น

จะเป็น สมุทเตชะนา อุดหนุนใจให้เกิดอุตสาหะพยายามปฏิบัติยิ่งขึ้น

จะเป็น อสัมปะหังสนา คือว่าจะเกิดความรื่นเริงในธรรม

พูดธรรมะก็ตาม ฟังธรรมะก็ตาม อ่านธรรมะก็ตาม

จะไม่เกิดความเบื่อหน่ายง่วงเหงาหาวนอน แต่ว่าจะเกิดความรื่นเริง

จะได้ความไพเราะ ได้ความงดงามในธรรม

ทั้งในเบื้องต้น ทั้งในท่ามกลาง ทั้งในที่สุด ไม่อิ่มไม่เบื่อ ไม่หน่ายในธรรม

ดั่งนี้แสดงว่าตนเองได้คบตนเองที่เสมอกันด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา

และที่ยิ่งกว่าด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา สนิทแนบแน่นขึ้นแล้ว

เป็นเสวนาส้องเสพ เป็นคบหาสนิทสนม เป็นเข้าไปนั่งใกล้ไปมาหาสู่บ่อยๆ

อย่างไม่อิ่มไม่เบื่อไม่หน่าย ชนิดที่เรียกว่าขาดไม่ได้

 

ดั่งนี้แหละคือเป็นมงคลที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า

อเสวนา จะ พาลานัง การไม่ส้องเสพคบหาคนพาล

ปัณฑิตา นัญจะ เสวนา การส้องเสพคบหาบัณฑิต

ปูชา จะ ปูชะนียานัง การบูชาบุคคลที่ควรบูชาทั้งหลาย

เพราะว่าตนเองนั้นได้บูชาถูกท่านที่ควรบูชาแล้ว

คือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ ดังที่ทุกๆคนได้บูชากันอยู่นี้ทุกๆวันถูกต้องแล้ว

และเป็นอันได้ปฏิบัติตามมงคลข้อนี้ในทุกข้อแล้ว

 

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ยังศีลสมาธิปัญญาที่ยังไม่บริบูรณ์ ให้บริบูรณ์

ยังศีลสมาธิปัญญาที่บริบูรณ์ ให้เจริญด้วยปัญญาคือความฉลาดรู้ในเรื่องนั้นๆ

ก็คือทั้งศีลทั้งสมาธิทั้งปัญญานี้เอง ย่อมให้ได้ปฏิเวธปัญญา ปัญญาคือความรู้แจ้งแทงตลอด

ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

นี้คืออนุเคราะห์ศีลสมาธิปัญญาที่บริบูรณ์ ให้เจริญด้วยปัญญาคือความรู้ความฉลาด

อันเป็นตัวปฏิเวธธรรม ธรรมะคือความรู้แจ้งแทงตลอดนี้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

เป็นญาณทัศนะความรู้ความเห็น นำให้ได้วิมุติคือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์

บางส่วนหรือทั้งหมด ชั่วคราวหรือตลอดไป ตามควรแก่ความปฏิบัติ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats