ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:08
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป101
สังฆานุสสติ
ทักขิเนยโย ภควโต สาวกสังโฆ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บุญโดยเหตุ ๓
กิจของคนฉลาด ๔
ความบริสุทธิ์แห่งการทำบุญ ๔
สังฆทาน ๖
การทำบุญในประการต่างๆ ๖
การทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๒๙/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๐/๑ ( File Tape 101 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สังฆานุสสติ
ทักขิเนยโย ภควโต สาวกสังโฆ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระสังฆคุณบทว่า ทักขิเนยโย นำ
พระสังฆคุณบทนี้แปลกันว่า ผู้ควรของทำบุญ ผู้ควรทำบุญ
อันคำว่าของทำบุญ หรือการทำบุญนี้แปลจากศัพท์ว่า ทักขิณา
ซึ่งตามศัพท์แปลว่าเป็นเครื่องเจริญบุญ และคำนี้ก็มีใช้ในความหมายถึงทิศ
ที่เราเรียกในภาษาไทยว่าทิศทักษิณ หรือทักษิณคือทิศใต้
และยังใช้ในความหมายว่าเบื้องขวา โดยที่เมื่อหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ทิศทักษิณคือทิศใต้ย่อมอยู่ทางด้านขวามือ ทิศเหนือเรียกว่าอุตรทิศย่อมอยู่ทางด้านซ้ายมือ
ทิศตะวันออกนั้นปุรัจฉิมทิศ ทิศเบื้องหน้า ทิศตะวันตกนั้นปัจฉิมทิศ ทิศเบื้องหลัง
และจึงหมายถึงด้านขวาด้วย สิ่งที่อยู่ทางด้านขวา หรือแม้ขวามือก็เรียกว่าทักษิณ
และยังหมายถึงถูกชอบดังเช่นในบทสวดชัยมังคละคาถา ปทักขินัง กายกัมมัง
กายกรรมเป็น ปทักษิณ คือมี ปะ นำอีกหนึ่ง คือกายกรรมที่ถูกชอบเป็นกายสุจริต
เพราะฉะนั้น จึงมีความหมายในด้านว่าถูกต้อง ในด้านว่าเบื้องขวา ในด้านว่าเจริญ
และคำนี้คือคำว่าทักษิณ หรือ ทักขิณะ ยังมาจากคำว่า ทักขะ หรือ ดักขะ
ที่แปลกันว่าขยันหมั่นเพียร ซึ่งไทยเรามาใช้ว่าทักษะ
อันหมายถึงมีความชำนาญรวมอยู่ด้วย คำนี้จึงใช้ในความหมายด้านดี
และเมื่อมาใช้ประกอบเข้าว่าเป็น ทักขิเนยโย ผู้ควรซึ่งทักขิณา หรือทักษิณา
จึงแปลกันในความหมายว่าของทำบุญ หรือการทำบุญ ซึ่งเป็นเครื่องเจริญบุญ
เป็นเครื่องให้บังเกิดบุญ ให้บังเกิดความบริสุทธิ์ ให้บังเกิดความสุข ให้บังเกิดความเจริญ
สาวกสงฆ์คือหมู่แห่งผู้ฟังคือศิษย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นต้นตามพระสังฆคุณบทต้นๆทุกข้อทุกบท
เพราะฉะนั้น จึงเป็นทักขิเนยโย ผู้ควรของทำบุญ ผู้ควรการทำบุญ
บุญโดยเหตุ
อันการทำบุญนี้ คำว่า บุญโดยเหตุ ก็คือการกระทำความดีต่างๆ
ซึ่งเป็นเครื่องเกื้อกูลให้เกิดความสุข เป็นบุญส่วนเหตุ
และก็ให้เกิด บุญส่วนผล ซึ่งได้แก่ความสุข
ดังที่ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข เป็นบุญส่วนผล
และการทำบุญในที่นี้ก็มุ่งถึงทานคือการให้
( เริ่ม ๑๓๐/๑ ) ทานคือการให้นี้จะเป็นบุญคือเป็นความดี ก็ต้องประกอบด้วยเจตนาทั้ง ๓
คือมีเจตนาดีก่อนแต่ให้ มีเจตนาดีในขณะที่ให้ มีเจตนาดีเมื่อให้แล้ว
และจะต้องประกอบด้วย วัตถุคือสิ่งที่ให้เป็นสิ่งที่ได้มาโดยชอบ
เป็นสิ่งที่ให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้รับ
และต้องประกอบด้วยผู้รับซึ่งเรียกว่า ปฏิคาหก เป็นผู้สมควรรับ
ถึงพร้อมด้วยเจตนาเรียกว่า เจตนาสมบัติ ถึงพร้อมด้วยวัตถุที่ให้เรียกว่า วัตถุสมบัติ
ถึงพร้อมด้วยผู้รับ คือผู้รับเป็นผู้ที่สมควรเรียกว่า ปฏิคาหกะสมบัติ
เมื่อถึงพร้อมด้วยสมบัติทั้ง ๓ นี้ ทานที่ให้จึงจะเป็นบุญที่ให้บังเกิดผล
กิจของคนฉลาด
และคำว่าบุญนี้ เมื่อมุ่งถึงศัพท์ที่แปลว่าเป็นเครื่องชำระ
ก็หมายถึงเป็นเครื่องชำระมัจฉริยะความโลภ มัจฉริยะความตระหนี่เหนียวแน่น
ชำระโลภะความโลภอยากได้ เมื่อทำการให้ซึ่งชำระมัจฉริยะโลภะได้จิตใจบริสุทธิ์
จึงจะชื่อว่าเป็นบุญ เป็นความดีที่เป็นเครื่องชำระความชั่ว ตามวัตถุประสงค์
และการทำบุญที่จะบรรลุถึงความเป็นบุญ ประกอบด้วยสมบัติทั้ง ๓ ดังกล่าวมานั้น
ก็จะต้องเป็นกุศล ที่แปลว่าเป็นกิจของคนฉลาด คือจะต้องมีความฉลาด
ให้ด้วยความฉลาด ไม่ได้ให้ด้วยความโง่หรือความเขลา อย่างน้อยก็ต้องเป็นผู้รู้จักเลือกให้
คือมีความฉลาดรู้จักเลือกให้ การให้ด้วยความฉลาดดั่งนี้แหละ จึงชื่อว่าเป็นกุศล
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า วิจยทานัง สุขสัปสัททัง ทานที่เลือกให้
อันพระสุคตทรงสรรเสริญ ดั่งนี้
และความฉลาดคือความรู้จักเลือกให้นี้
ก็คือรู้จักเลือกให้ถึงพร้อมด้วยเจตนาทั้ง ๓ ดังกล่าว
เป็นเจตนาสมบัติ ให้ถึงพร้อมด้วยวัตถุ เป็นวัตถุสมบัติ
ให้ถึงพร้อมด้วยผู้รับ เป็นปฏิคาหกะสมบัติ
ความบริสุทธิ์แห่งการทำบุญ
และนอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสสอนถึง ทักขิณาวิสุทธิ
คือความบริสุทธิ์แห่งทักขิณา หรือทักษิณา การทำบุญไว้ ๔ ประการ คือ
๑ ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกคือผู้รับ
หมายความว่าทายกคือผู้ให้เป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ธรรมะที่งาม นี้ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก
ส่วนปฏิคาหกนั้นคือผู้รับทุศีลมีบาปธรรม ธรรมะที่ชั่วที่ผิด นี้ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
๒ ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
หมายความว่าปฏิคาหกคือผู้รับ เป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม
ส่วนทายกคือผู้ให้เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม นี้ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
๓ ทักษิณาบางอย่างไม่บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือฝ่ายทายกก็ทุศีล มีบาปธรรม
ฝ่ายปฏิคาหกก็ทุศีล มีบาปธรรม นี้ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย
๔ ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย
คือทายกผู้ให้ก็มีศีลมีกัลยาณธรรม ปฏิคาหกคือผู้รับก็มีศีลมีกัลยาณธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญทักขิณาวิสุทธิจำพวกที่ ๔ นี้ คือบริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย
เพราะฉะนั้น จะพึงเห็นได้ว่าในการทำทักษิณาคือทำบุญ อันสำเร็จด้วยทานดังกล่าว
จึงนิยมทำบุญในผู้มีศีล และฝ่ายทายกคือผู้ให้เองก็สมาทานศีลก่อน
ดังที่ถือเป็นธรรมเนียมทั่วไปในการทำบุญทั้งหลาย มีการสมาทาน มีการขอสรณะคมน์
และศีลก่อน และฝ่ายผู้มีศีลเช่นภิกษุสามเณร ก็ให้สรณะคมน์ และให้ศีลก่อน
เมื่อทายกเป็นผู้ที่ได้ถึงสรณะคมน์ และได้สมาทานศีลแล้วทายกก็ชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
และฝ่ายปฏิคาหกคือผู้มีศีลก็ชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงชื่อว่าเป็นทักษิณาที่บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย
ซึ่งตรัสสรรเสริญว่ามีผลมาก
และในการทำบุญดังกล่าวนี้ มักจะเรียกกันในเมื่อได้ทำบุญในผู้มีศีล
เมื่อให้แก่ยาจกวณิพกเป็นต้นก็เรียกว่าทำทาน
แต่อันที่จริงนั้นก็เป็นทานด้วยกัน แต่ที่เรียกว่าทำบุญนี้ที่เข้าใจกันว่าคือทำทานในผู้มีศีล
ถ้าว่าตามภาษาบาลีก็คือทำทักษิณานั้นเอง ทำทักษิณาก็เท่ากับทำบุญในภาษาไทย
ส่วนทำทานทั่วไปก็เรียกว่าทำทาน และการทำบุญก็ดี การทำทานก็ดี ดังกล่าว
พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญกุศลสามัคคี คือทำเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ทำด้วย
ตรัสว่าเป็นเหตุให้ได้โภคสมบัติด้วย บริวารสมบัติด้วย
ทำคนเดียวไม่ชักชวนผู้อื่นให้ทำ ก็ตรัสว่าให้ได้โภคสมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติ
และแม้ผู้รับเมื่อเป็นบุคคลผู้เดียว ก็ย่อมให้สำเร็จประโยชน์สุขจำเพาะผู้เดียว
แต่ผู้รับเมื่อมีมาก ก็ให้สำเร็จประโยชน์สุขมากด้วยกัน
สังฆทาน
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสังฆทาน การให้แก่สงฆ์ ทำบุญแก่สงฆ์
ว่ามีผลมากกว่าปัจเจกทาน คือให้แก่บุคคลจำเพาะผู้เดียว
ได้มีเรื่องเล่าว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้ทรงทอผ้าด้วยพระองค์เอง
ตั้งใจที่จะได้ถวายพระพุทธเจ้า เมื่อเสร็จแล้วก็นำมาถวายพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งให้พระนางถวายแก่สงฆ์ แล้วก็ตรัสว่า
เมื่อถวายแก่สงฆ์ก็ชื่อว่าได้ถวายแก่พระพุทธเจ้าเองด้วย ได้ถวายแก่สงฆ์ด้วย
เพราะฉะนั้น ตามนัยยะที่ตรัสสั่งสอนนี้ จึงแสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ
การทำบุญที่ชักชวนกันทำเป็นบุญสามัคคี กุศลสามัคคี และทรงสรรเสริญการถวายแก่สงฆ์ หรือการให้แก่หมู่ ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์สุขมากด้วยกัน ยิ่งกว่าที่จะทำคนเดียว
และยิ่งกว่าที่จะให้แก่บุคคลผู้เดียว
การทำบุญในประการต่างๆ
อนึ่ง การทำบุญนั้นพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสถึงบุญไว้อีกหลายอย่าง
บุญทั่วไปที่ตรัสสอนไว้ก็คือบุญที่สำเร็จด้วยทาน บุญที่สำเร็จด้วยศีล บุญที่สำเร็จด้วยภาวนา
และนอกจากนี้ยังได้ตรัสถึงบุญอย่างอื่นไว้อีก จะยกมา ๒ ข้อ คือ
ปฏิทานามัยบุญ บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนแห่งบุญที่ได้ทำแล้วของผู้ทำบุญทั้งหลาย
และ ปัตตานุโมทนามัยบุญ คือบุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา
คือความตามยินดี พลอยยินดีในส่วนบุญที่ผู้ทำได้ให้
บุญทั้ง ๒ ประการนี้ได้ตรัสแสดงไว้เป็นกลางๆ
และโดยเฉพาะก็สำหรับทุกๆคนที่ยังมีชีวิตอยู่นี่แหละ
เมื่อทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อตั้งใจแผ่กุศล แผ่บุญที่ทำนั้นให้แก่ผู้อื่น
ให้ผู้อื่นมีส่วนในการทำบุญของตนด้วย ก็ชื่อว่าได้ทำบุญอีกข้อหนึ่งเรียกว่า ปฏิทานามัยบุญ
และส่วนผู้อื่นนั้นเมื่อได้พลอยอนุโมทนา พลอยยินดี พลอยรื่นเริง
เห็นชอบในส่วนบุญที่ผู้ทำตั้งใจให้ ก็อนุโมทนา
ดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้ทำบุญอีกประการหนึ่งคือ ปัตตานุโมทนามัยบุญ
บุญทั้ง ๒ ข้อนี้ หากพิจารณาดูอย่างผิวเผิน ก็ย่อมจะสงสัยว่าคนหนึ่งทำ
จะให้ส่วนแก่อีกคนหนึ่งได้อย่างไร เพราะก็มีหลักอยู่ว่าผู้ใดทำผู้นั้นก็ได้
ผู้ใดทำบุญ บุญนั้นก็เป็นของผู้ทำนั้นเอง ในข้อนี้ก็เป็นความจริง
แต่ว่าที่ตรัสให้ทำบุญทั้ง ๒ ข้อนี้ ไม่ได้หมายความว่าแบ่งบุญที่ทำนั้นให้แก่ผู้อื่น
เพราะว่าจะทำบาปก็ตาม ทำบุญก็ตาม บาปและบุญนั้นก็เป็นของผู้ทำนั้นเอง
ดังที่ตรัสเอาไว้ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน
ทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็จักต้องเป็นทายาท รับผลของกรรมนั้น
แต่ว่าที่ตรัสสอนไว้ในบุญ ๒ ข้อนี้ มีความหมายที่ควรทำความเข้าให้ถูกต้องว่า
บุญที่สำเร็จจากการให้ส่วนบุญนั้น คือเป็นการปฏิบัติแผ่เมตตาออกไปนั้นเอง
คือขอให้ผู้อื่นได้พลอยอนุโมทนา คือยินดีเห็นชอบในบุญที่ตนทำนั้นด้วย
เพราะว่าถ้ามีผู้อื่นอนุโมทนาด้วย ก็แสดงว่ามีผู้อื่นเกิดความนิยมชมชอบ
ความนิยมชมชอบที่เป็นอนุโมทนานั้นเองเป็นตัวบุญของเขา
อันจะนำให้เขาขวนขวายทำบุญนั้นด้วยตัวเอง
คือจะทำให้เขาเกิดฉันทะความพอใจในการทำบุญนั้นด้วยตัวเอง
เพราะฉะนั้น จึงถือว่าการปฏิบัติเหมือนอย่างเป็นการชักชวนให้ผู้อื่น
เกิดความนิยมในบุญนั้น ก็เป็นบุญขึ้นอีกอย่างหนึ่ง
จะพึงเห็นได้ว่า การที่คนบุคคลกลุ่มหนึ่งทำบุญร่วมกันนั้น
ก็มักจะเกิดขึ้นจากความตั้งต้นขึ้นของคนใดคนหนึ่ง คิดขึ้นชักชวนขึ้น แล้วคนอื่นก็เห็นตาม
ก็ร่วมการกุศลกันด้วย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่นนั้นก็หมายถึงอย่างนี้
คือแผ่เมตตาออกไป แผ่กุศลออกไป เป็นการชักชวนให้ผู้อื่นร่วมทำบุญ
แต่ว่าการที่ผู้อื่นจะร่วมทำบุญนั้น เขาจะต้องมีอนุโมทนา
และที่เขาจะมีอนุโมทนานั้นเขาก็จะต้องรู้ รู้ว่าตนได้ทำบุญ
แม้ว่าจะแผ่ใจออกไป ไม่ได้พูดชักชวนด้วยปากก็ใช้ได้
หรือจะพูดชักชวนด้วยปากว่ามาร่วมกุศลกัน ดั่งนี้ ก็จัดเข้าในข้อนี้เหมือนกัน
คือบุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ คือให้ทุกๆคนมามีส่วนร่วมกัน
นี่เป็นข้อที่ว่าบุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ คือให้ผู้อื่นมามีส่วนร่วมกันทำบุญ
และฝ่ายข้อที่ว่าบุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญนั้นก็คือว่า
เมื่อรู้ว่าเขาทำบุญก็อนุโมทนา คือเห็นชอบ
อันจะนำให้ร่วมการกุศลการบุญกับเขาด้วย หรือว่าตนทำขึ้นเอง
นี่คือบุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
เพราะเหตุที่มี ๒ ข้อนี้นั้นเอง จึงได้บังเกิดกุศลสามัคคีดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น
คือคนหลายๆคนมาทำบุญร่วมกัน ในการที่จะทำบุญทำกุศล
อันเกี่ยวกับการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่นสร้างโบสถ์วิหาร สร้างกุฏิ
หรือแม้การสร้างอย่างอื่น การกระทำอย่างอื่น ต้องอาศัย ๒ ข้อนี้นั้นเอง
คือบุญสำเร็จด้วยการแผ่ส่วนบุญอย่างหนึ่ง บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาอย่างหนึ่ง
คือเมื่อมีผู้ริเริ่มขึ้น นำการทำ ก็แผ่ส่วนด้วยวิธีที่บอกบุญก็ตาม ด้วยวิธีที่แผ่ไปด้วยใจก็ตาม
เพื่อให้ผู้อื่นมาร่วมด้วย ผู้อื่นเมื่อรู้ก็อนุโมทนา ยินดีตามเห็นชอบก็มาร่วมการกุศลกัน
ก็เกิดเป็นมหากุศล หรือกุศลสามัคคีขึ้นมา คนจำนวนหลายสิบ หลายร้อย หลายพัน
ก็มาร่วมกันทำบุญ ก็ให้สำเร็จประโยชน์ในการที่จะสร้างจะทำสิ่งที่เป็นหลักฐานต่างๆขึ้นได้ ( เริ่ม ๑๓๐/๒ ) อาศัยบุญ ๒ ข้อนี้เอง เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจอย่างนี้
ไม่ใช่ว่าไปแบ่งบุญที่ตนทำให้ใคร หรือว่าทำบาปก็ไปแบ่งบาปให้ใครอย่างนี้ไม่ได้
บาปบุญใครทำก็ใครได้ แต่ว่าการที่แผ่ส่วนกุศลให้ และการอนุโมทนาส่วนกุศลนั้น
มีความหมายดังที่กล่าวมานี้
แม้ในด้านความชั่วก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อมีใครทำชั่วขึ้นมา
บางทีก็ชักชวนกันให้ทำชั่ว แล้วก็มีผู้อื่นก็เห็นชอบ ก็ไปทำชั่วร่วมกัน
ก็ร่วมกันเป็นหมู่ เป็นหลายสิบหลายร้อยคนเป็นต้น ก็ทำชั่วร่วมกัน ดั่งนี้ก็มีเหมือนกัน
แต่นั่นเป็นฝ่ายชั่วซึ่งมีโทษมาก ไม่เป็นข้อประสงค์จะให้ไปแบ่งส่วนกันอย่างนี้
ต้องการให้ร่วมส่วนบุญ คือร่วมกันทำบุญ ร่วมส่วนกุศลกันให้เป็นมหากุศลขึ้นมา
คือในส่วนที่ดีเท่านั้น นี่ก็เป็นทักษิณาเหมือนกัน เป็นมหาทักษิณา
หรือทักษิณาสามัคคีฝ่ายกุศล
การทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
และนอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสสอนว่าให้เพิ่มทักษิณา
คือเพิ่มการทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อย่างที่มีทำเนียมการบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ผู้ตาย
ซึ่งในการทำบุญกุศลอุทิศให้แก่ผู้ตายนี้ ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า
ผู้ที่ตายไปแล้วจำพวกที่ไปเกิดเป็นปรทัตตูปชีวีเปรต
คือเป็นเปรตจำพวกหนึ่งที่อาศัยก้อนข้าวที่ญาติทำบุญอุทิศให้ดำรงชีวิต
เมื่อญาติในโลกนี้ทำทักษิณาคือทำบุญอุทิศไปให้
และญาติที่ไปเกิดเป็นปรทัตตูปชีวีนั้นทราบและอนุโมทนา ก็ย่อมจะได้เสวยผลเป็นข้าวเป็นน้ำ
แต่เมื่อญาติไม่ทำไปให้ก็อดอยาก ดังที่แสดงถึงเปรตญาติพระเจ้าพิมพิศาล
มาแสดงเสียงเป็นต้น ให้ทรงได้ยินแล้วก็ทรงบำเพ็ญกุศลอุทิศไปให้ญาติเหล่านั้น
ซึ่งเล่าว่าไปเกิดเป็นเปรตพวกนี้ก็เพราะไปขโมยของสงฆ์บริโภค
แต่ว่าเมื่อไปเกิดในคติภพอื่นย่อมไม่สามารถที่จะรับส่วนกุศลได้ดังกล่าว
แต่ว่าถ้านับเข้าในกุศลในบุญ ๒ อย่างที่แสดงมาข้างต้น คือบุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
และบุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญดังกล่าวมานั้น
จะเป็นมนุษย์ก็ตาม เป็นผู้ที่ตายไปเกิดในชาติภพใดก็ตาม
เมื่อญาติทำบุญ หรือเมื่อใครทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้
เพราะแม้มนุษย์ด้วยกันก็ตาม ทราบอนุโมทนาก็ย่อมได้บุญอันเกิดจากอนุโมทนานั้น
และฝ่ายผู้ที่อุทิศให้ก็ได้บุญอันเกิดจากการอุทิศให้นั้น เช่นเดียวกัน
และเมื่อชื่อว่าได้ทำบุญดั่งนี้ ผู้ทำนั้นเองก็ได้บุญของตัวเอง
คือผู้ที่อุทิศนั้นก็ได้บุญของตัวเองอันเกิดจากการอุทิศให้
ผู้อนุโมทนานั้นก็ได้บุญอันเกิดจากอนุโมทนาของตัวเอง ที่อนุโมทนา
ก็ต่างได้บุญด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเทพ
หรือเป็นผู้เกิดในภพชาติอันใดทั้งหมด
เพราะฉะนั้นการทำบุญอุทิศให้นั้น จึงได้ผลจากการอุทิศให้ ทุกคราวที่อุทิศให้
และผู้ทราบที่อนุโมทนาก็ได้บุญอันเกิดจากอนุโมทนาของตน ที่อนุโมทนานั้น
เพราะฉะนั้นในชนบทครั้งก่อนนี้ เมื่อใครไปทำบุญตักบาตรเช่นในวันตรุษวันสาร์ทเป็นต้น
กลับมาพบญาติมิตรสหายก็มักจะบอกว่าแผ่ส่วนกุศลให้
และฝ่ายญาติมิตรที่เดินสวนทางมาก็มักจะบอกว่าอนุโมทนา หรือสาธุ
จึงแปลว่าต่างก็ให้ส่วนกุศลกัน และต่างก็อนุโมทนากัน
แม้ในหมู่ญาติมิตรสหายด้วยกันที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ และต่างก็ได้บุญด้วยกัน
ผู้แผ่ส่วนก็ได้บุญอันเกิดจากการแผ่ส่วนบุญให้ ผู้อนุโมทนาก็ได้จากการอนุโมทนาส่วนบุญนั้น
อันทำให้เกิดความนิยมในการทำบุญดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
เพราะฉะนั้นเมื่อทำความเข้าใจดั่งนี้แล้ว
ก็ย่อมทำให้เห็นว่าการให้ส่วนบุญและการอนุโมทนาส่วนบุญนั้น
เป็นบุญที่ให้ประโยชน์มาก และเป็นบุญที่ทุกคนควรจะทำอยู่เสมอ
เมื่อใครทำความดีก็ให้นึกแผ่ความดีถึงใครๆ
และเมื่อเห็นใครทำความความดีก็ไม่ควรอิจฉาริษยา
ควรจะแสดงความยินดีพอใจในการทำดีของเขา
อันจะนำให้ตนเองเกิดฉันทะในการทำบุญ ยิ่งๆขึ้นไปด้วย
เพราะฉะนั้น การทำบุญทั้งหมดดังกล่าวมานี้แล เป็นทักษิณาทั้งนั้น
พระสงฆ์เป็นผู้ควรทักษิณา เป็นผู้ควรทำบุญ และเมื่อผู้ทำบุญ ทำบุญกับพระสงฆ์
พระสงฆ์ก็ย่อมจะอนุโมทนา ดังที่กล่าวอนุโมทนานั้นเอง
เพราะฉะนั้น ผู้ทำบุญผู้ถวายแก่พระสงฆ์นั้น ก็ชื่อว่าได้แผ่ส่วนกุศลนั้นให้แก่พระสงฆ์ด้วย
และพระสงฆ์นั้นเองเมื่ออนุโมทนา ก็ชื่อว่าได้อนุโมทนาส่วนบุญ
อันเป็นปัตตานุโมทนามัยบุญด้วย คู่กันไป
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สังฆานุสสติ
อัญชลิกรณีโย ภควโต สาวกสังโฆ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บุคคลไม่มีสิ่งพึงเคารพย่อมเป็นทุกข์ ๓
พระพุทธเจ้าทรงเคารพพระธรรม ๔
ผู้เจริญ ๓ จำพวก ๖
พระอินทร์นับถือบุคคลเช่นไร ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ มีศัพท์ที่ไม่แน่ใจหน้า ๕-๖
ม้วนที่ ๑๓๐/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๑/๑ ( File Tape 101 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สังฆานุสสติ
อัญชลิกรณีโย ภควโต สาวกสังโฆ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระสังฆคุณบทว่า อัญชลิ กรณีโย นำ
พระสังฆคุณบทนี้แปลว่าผู้ควรกระทำอัญชลี คือพนมมือไหว้
อันหมายความว่าเป็นผู้ควรรับคารวะ คือความเคารพ
เพราะเหตุที่หมู่แห่งสาวกที่เรียกว่า สาวกสังฆะ สาวกสังโฆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นต้น ดังบทสวดสรรเสริญว่า สัทธัมโย แปลว่าเป็นผู้เกิดจากสัทธรรม
ประกอบด้วย สุปฏิปัติ คือปฏิบัติดีเป็นต้น
เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ควรกระทำความเคารพ มีกระทำอัญชลีพนมมือไหว้เป็นต้น
อันการแสดงความเคารพนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้มีความเคารพ
ในพระศาสดา พระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ อันเป็นรัตนะทั้ง ๓
รัตนะทั้ง ๓ นี้ เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพ และความเคารพนั้นก็ได้แก่การอภิวาทกราบไหว้
อภิวาทกราบไหว้อย่างเดียวบ้าง อภิวาทกราบไหว้พร้อมกับเปล่งวาจาสรรเสริญพระคุณบ้างการลุกขึ้นยืนรับ การกระทำอัญชลีคือพนมมือไหว้ การแสดงความนอบน้อมอย่างอื่นต่างๆ
การกระทำสามีจิกรรม อันหมายความว่าการกระทำที่เหมาะสมอันแสดงถึงว่ามีความเคารพ
เพราะฉะนั้น การแสดงความเคารพนั้นจึงมีวิธีทำต่างๆ ที่แสดงออกทางกายทางวาจา
และด้วยใจที่มีความเคารพนับถืออย่างแท้จริง
บุคคลไม่มีสิ่งพึงเคารพย่อมเป็นทุกข์
อันความเคารพนี้พระพุทธเจ้าเองก็ได้ตรัสไว้ว่า
เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงมี คือพึงมีที่เคารพ บุคคลที่เคารพ สิ่งที่เคารพ
และกระทำความเคารพในบุคคลที่ควรเคารพ ในสิ่งที่พึงเคารพ ในที่ๆพึงเคารพดังกล่าวนั้น
ทุกๆคนจะไม่มีที่เคารพ บุคคลที่พึงเคารพ วัตถุที่พึงเคารพเสียเลยนั้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์
และย่อมชื่อว่าได้ขาดสิ่งที่ควรจะมี ควรจะทำ
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ได้ตรัสไว้ว่า พระองค์ไม่ทรงเห็นบุคคล หรือวัตถุ
หรือที่พึงเคารพอื่น ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ทั้งหมด
แต่ก็ได้ทรงพิจารณาเห็นว่าแม้พระองค์เองจะไม่มีที่เคารพเสียเลยก็หาควรไม่
จึงได้ทรงแสวงหาว่าจะพึงเคารพในอะไร ก็ได้ทรงพบว่าพึงทรงเคารพในพระธรรม
หรือสัทธรรม จึงทรงเคารพในพระธรรม หรือพระสัทธรรม
และก็ได้ตรัสไว้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต
ก็ได้ทรงมีพระสัทธรรมเป็นที่เคารพมาแล้วในอดีต
พระพุทธเจ้าในอนาคตก็จะมีพระสัทธรรมเป็นที่เคารพในอนาคต
พระพุทธเจ้าในปัจจุบันคือพระองค์เองก็ทรงมีพระสัทธรรมเป็นที่เคารพอยู่
และก็ได้ตรัสสอนไว้โดยทั่วไปว่าบุคคลพึงกระทำความเคารพพระสัทธรรม
เมื่อระลึกถึงศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดั่งนี้
พระพุทธเจ้าทรงเคารพพระธรรม
และก็ได้ตรัสอธิบายไว้ด้วยว่า ทรงปฏิบัติอย่างไรจึงชื่อว่าทรงเคารพพระสัทธรรม
ทรงอธิบายว่า คือทรงแสดงธรรมสั่งสอนแก่บุคคลทุกชั้น ทุกคน
ด้วยตั้งพระหฤทัยสงเคราะห์สม่ำเสมอกันหมด
ไม่มีเลือกว่าถ้าเป็นบุคคลชั้นสูงจึงจะทรงแสดงธรรมที่ประณีต
ถ้าเป็นบุคคลชั้นต่ำก็ทรงแสดงธรรมที่ไม่ประณีต
หาได้ทรงตั้งพระหฤทัยดั่งนั้นไม่ แต่ทรงตั้งพระหฤทัยสม่ำเสมอกันหมด
มุ่งสงเคราะห์สม่ำเสมอกันหมด ในคนทุกชั้น ทุกประเภท
ทุกคนที่ทรงแสดงธรรมสั่งสอน มุ่งสุขประโยชน์แก่ผู้รับเทศนาทุกคนเป็นที่ตั้ง
ทรงปฏิบัติดั่งนี้ คือเป็นการทรงแสดงความเคารพ พระธรรมหรือพระสัทธรรม ดั่งนี้
และสำหรับบุคคลทั่วไปนั้น จึงพึงเคารพพระสัทธรรม หรือพระธรรม ในการปฏิบัติทั้งปวง
ตามเนติของพระพุทธเจ้า
แต่ว่าบุคคลทั่วไปนั้นย่อมมีบุคคล หรือสิ่ง หรือสถานที่ อันเป็นที่พึงเคารพ
ดังเช่น บุตรธิดาก็เคารพในมารดาบิดา ศิษย์ก็เคารพครูอาจารย์
พศกนิกรคือประชาชนผู้อยู่ในปกครอง ก็เคารพในผู้ปกครอง
ซึ่งมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขผู้ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม
และพุทธบริษัทก็เคารพในพระรัตนตรัยคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดั่งนี้เป็นต้น
และนอกจากนี้ก็ยังมีบุคคล หรือสิ่ง หรือวัตถุอันเป็นที่พึงเคารพอย่างอื่นอีกมาก
จึงอาจจะปันบุคคลได้เป็น ๒ จำพวก คือจำพวกหนึ่งเป็นผู้ที่พึงเคารพ
หรือตั้งอยู่ในฐานะที่พึงเคารพ อีกจำพวกหนึ่งเป็นผู้กระทำความเคารพ
หรือควรกระทำความเคารพในบุคคลที่พึงเคารพนั้นๆ
เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งอยู่ในฐานะใด ก็พึงปฏิบัติให้เป็นผู้สมควรแก่ฐานะนั้น
เช่นเมื่อตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นที่เคารพของเขา ก็ปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรที่เขาจะพึงเคารพได้
เช่นเมื่อเป็นมารดาบิดา ก็ปฏิบัติตนให้เป็นมารดาบิดาที่ดี อันบุตรธิดาจะพึงเคารพ
เป็นครูอาจารย์ก็ปฏิบัติตนให้เป็นครูบาอาจารย์ที่ดี ที่ศิษย์จะพึงเคารพ
เป็นผู้ปกครองก็ปฏิบัติตนให้เป็นผู้ปกครองที่ดี ตั้งอยู่ในธรรม
ปกครองโดยธรรม ที่ผู้อยู่ในปกครองจะพึงเคารพ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพระบรมศาสดานั้น
ย่อมทรงปฏิบัติเป็นที่พึงเคารพอย่างสูงสุดโดยแท้ ไม่มีบกพร่อง
และเมื่อผู้ที่ตั้งอยู่ในฐานะที่ผู้อื่นพึงเคารพ ปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับเป็นที่เคารพของเขาดั่งนี้
ก็ชื่อว่าทำตนให้เป็นผู้พึงเคารพได้โดยแท้จริง
( เริ่ม ๑๓๑/๑ )
ส่วนบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้พึงทำความเคารพนั้น
เช่นบุตรธิดาก็พึงทำความเคารพต่อมารดาบิดา
ศิษย์ก็พึงทำความเคารพต่อครูอาจารย์เป็นต้นดังกล่าวแล้ว
ก็ปฏิบัติตนทำความเคารพในบุคคลที่พึงเคารพ ไม่ทำจิตใจให้กระด้าง
ไม่แสดงตนกระด้าง ไม่เคารพ อันเป็นการปฏิบัติลบหลู่ท่านผู้มีคุณพึงเคารพ
เพราะฉะนั้น เมื่ออยู่ในฐานะที่พึงกระทำความเคารพ ก็ปฏิบัติทำความเคารพด้วยดี
ทั้งจิตใจ ทั้งกาย ทั้งวาจา
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญความเคารพไว้ว่าเป็นมงคล คือเหตุให้ถึงความเจริญอันอุดม
และได้ตรัสไว้ว่าเป็นเครื่องเจริญอายุ วรรณะ สุขะ พละ
ดังที่พระสงฆ์ได้สวดอนุโมทนากันอยู่เป็นประจำว่า
อภิวา....(ฟังไม่ชัด ) นินทังอุจาปชายิโน ...(ฟังไม่ชัด)
ผู้อภิวาทกราบไหว้อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้เจริญทั้งหลายอยู่เป็นนิจ
จัตตาโรธรรมา วัตทันติ ...(ฟังไม่ชัด
ธรรมสี่ประการย่อมเจริญ อายุ วรรโณ สุขัง พลัง
คืออายุ ๑ วรรณะผิวพรรณ ๑ สุข ๑ พละคือกำลัง ๑ ดั่งนี้
ความเจริญอายุวรรณะสุขะพละ เป็นผลของการปฏิบัติอภิวาท
อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้เจริญทั้งหลายเป็นนิจ
ผู้เจริญ ๓ จำพวก
และผู้เจริญคือ วุฒบุคคล ทั้งหลายนั้น โดยทั่วไปก็แสดงไว้ ๓
คือเจริญโดยชาติ มีชาติสูง เจริญโดยวัยคืออายุ และเจริญโดยคุณคือคุณงามความดี
พระสงฆ์คือหมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
กล่าวได้ว่าเป็นผู้เจริญโดยคุณ มีสุปฏิปัติ ปฏิบัติดีเป็นต้น
และก็กล่าวได้ว่าเจริญโดยชาติ คือเมื่อได้เข้ามาเป็นสงฆ์ ก็ชื่อว่าได้เกิดใหม่ในอริยะชาติ
คือชาติที่เป็นอริยะ ประเสริฐ หรือชาติของบุคคลผู้เป็นอริยะคือผู้ประเสริฐ
เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเจริญโดยชาติดังกล่าวด้วย และเมื่อมีวัยเจริญก็เจริญโดยวัย
ประกอบเข้าอีก เพราะฉะนั้นจึงเป็นบุคคลที่พึงกระทำความเคารพ
พระพุทธเจ้าและพระธรรมก็เช่นเดียวกัน
และก็จะต้องพึงกล่าวว่าพึงกระทำความเคารพในพระพุทธเจ้าในพระธรรมยิ่งขึ้นไปกว่า
เพราะฉะนั้น ในบทสังฆคุณนี้จึงใช้เพียงคำว่าอัญชลีพนมมือไหว้ อัญชลีกรณีโย
ควรกระทำอัญชลีพนมมือไหว้ เป็นการแสดงถึงการกระทำความเคารพที่ลดหลั่นลงมา
จากพระพุทธเจ้าและพระธรรม แต่ก็รวมอยู่ในจำพวกเป็นบุคคลที่พึงทำความเคารพด้วยกัน
เพราะฉะนั้นเมื่อบุคคลมาตั้งใจสวดสดุดีพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
พนมมือกราบไหว้ในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ จึงชื่อว่าได้ประสบมงคล เหตุให้ถึงความเจริญ
เจริญอายุ วรรณะ สุขะ พละ เจริญศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส
และเจริญในที่ทั้งปวง ในกาลทุกเมื่อ
พระอินทร์นับถือบุคคลเช่นไร
อันบุคคลผู้ที่ปฏิบัติตนดีเหมาะสมแม้เป็นคฤหัสถ์
ก็ชื่อว่าเป็นผู้พึงเคารพของเทพและมนุษย์ทั้งหลายได้ ดังเช่นที่มีแสดงไว้ว่า
มาตลีเทพบุตรได้ถามท้าวสักกะที่เราเรียกกันว่าพระอินทร์จอมเทพ
ว่าท้าวสักกะนับถือในบุคคลเช่นไร ท้าวสักกะก็ตรัสตอบว่าคฤหัสถ์ผู้ใดเป็นอุบาสกมีศีล
บำรุงเลี้ยงดูภรรยาโดยธรรม เรานอบน้อมคฤหัสถ์ผู้นั้น ดั่งนี้
อันแสดงว่าแม้จอมเทพเองก็ให้ความยกย่อง นับถือคฤหัสถ์ผู้ซึ่งเป็นอุบาสกตั้งอยู่ในธรรม ปฏิบัติตนไว้โดยชอบในครอบครัวของตน
ส่วนผู้ที่พึงเป็นที่เคารพเช่นว่าครองผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าย้อมกลักย้อมน้ำฝาด
เป็นภิกษุสามเณรในพุทธศาสนาก็ตาม หรือเป็นนักบวชภายนอกพุทธศาสนาก็ตาม
แต่ปฏิบัติตนไม่ถูกไม่ชอบ คือไม่ปฏิบัติดีเป็นต้น ก็ไม่เป็นผู้ที่พึงเคารพ
ดังที่มีแสดงเป็นชาดกว่า ฝูงช้างซึ่งมีช้างพระโพธิสัตว์เป็นหัวหน้า เมื่อพบพระปัจเจกพุทธเจ้า
ซึ่งครองผ้ากาสาวพัสตร์ ช้างโพธิสัตว์ผู้เป็นหัวหน้าก็ย่อกายลงแสดงความเคารพ
ช้างอื่นๆทั้งหลายก็กระทำความเคารพพระปัจเจกพุทธเจ้าตาม
ได้มีพรานช้างผู้หนึ่งได้เข้าไปล่าช้างถึงในเขตฝูงช้างของพระโพธิสัตว์นั้น
สังเกตุเห็นอาการอันนั้นจึงได้หาผ้ากาสาวะผ้าย้อมกลักย้อมน้ำฝาดมาคลุมตัว
แสดงให้เป็นเหมือนอย่างพระปัจเจกพุทธเจ้า ช้างทั้งหลายทีแรกผ่านมาก็ทำความเคารพ
และพรานช้างนั้นก็คอยจ้องที่จะแทงช้างตัวสุดท้าย
เมื่อช้างตัวสุดท้ายมาถึงก็แทงช้างตัวสุดท้ายนั้น
ต่อมาหัวหน้าช้างซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์นั้นก็คอยสังเกตุจับได้
ก็แสดงความกำราบด้วยถ้อยคำว่าผู้ใดที่ยังไม่สิ้นกิเลส ที่เป็นเหมือนอย่างน้ำฝาด
ปราศจาก ทมะ คือความข่มใจ สัจจะความจริงใจ
ย่อมไม่ควรแก่ผ้ากาสาวะผ้าย้อมกลักหรือย้อมน้ำฝาด
ส่วนผู้ใดที่สิ้นกิเลสที่คายกิเลสเหมือนอย่างน้ำฝาดเสียได้แล้ว
มีศีลประกอบด้วยธรรมะความข่มใจสัจจะความจริงย่อมควรแก่ผ้ากาสายะ
หรือกาสาวะ คือผ้าย้อมน้ำฝาด ย้อมกลัก ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น บุคคลที่ตั้งอยู่ในฐานะอันพึงเป็นที่เคารพ หรือว่าครองเพศที่พึงเป็นที่เคารพ
หากไม่ปฏิบัติตนให้สมกับเป็นที่พึงเคารพแล้ว ก็ย่อมจะไม่ได้รับความเคารพ
และย่อมจะได้รับความพิบัติ ความเป็นอัปปมงคล
ฉะนั้น เมื่ออยู่ในภาวะอันพึงเป็นที่พึงเคารพ
ทั้งบรรพชิตทั้งฆราวาส ก็พึงปฏิบัติตนให้สมควรเป็นที่เคารพด้วย
คือให้ควรกระทำอัญชลีพนมมือไหว้ดังบทพระสังฆคุณนี้
และความที่จะเป็นผู้สมควรดังนั้นได้ ก็ต้องเป็นผู้ประกอบด้วย สุปฏิปัติ ปฏิบัติดีเป็นต้น
ดังที่แสดงมาในบทพระสังฆคุณโดยลำดับ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*