ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป100

สังฆานุสสติ
อาหุเนยโย ภควโต สาวกสังโฆ
*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร
*

การบูชาที่เป็นประโยชน์ ๔

การให้ที่จะมีผลอย่างสูง ๕

ธรรมะที่ทำให้เป็นผู้ควรบูชา ๖

ความปฏิบัติในอินทรียสังวร ๗

ทางปฏิบัติให้เป็นอาหุเนยยะ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๒๘/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒๙/๑ ( File Tape 100 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สังฆานุสสติ

อาหุเนยโย ภควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพระสังฆคุณบทว่า อาหุเนยโย ซึ่งนับว่าเป็นบทที่ ๕ นำสติปัฏฐาน

ในบทพระสังฆคุณนี้ เมื่อได้แสดงบทที่ ๑ สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

ถึงบทที่ ๔ สามีจิปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ แล้ว ก็ได้มีบทต่อไปว่า

ยทิทัง จัตตาริ ปุริสยูกานิ คือบุรุษ ๔ คู่ อัตถะ ปุริสปุคคลา นับรายบุคคลเป็น ๘

เอสะ ภควโต สาวกสังโฆ นี้หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

จึงต่อบทที่ ๕ ว่า อาหุเนยโย ซึ่งแปลกันทั่วไปว่าเป็นผู้ควรมาบูชา

ตามศัพท์ของอาหุเนยโยนี้ประกอบด้วย อาหุนะ

คำว่า หุนะ นั้นแปลว่าการให้ การบูชา การบำบวงหรือเซ่นสรวง

เป็นคำที่ใช้มาเก่าก่อนพุทธกาล เพราะพราหมณ์ได้มีพิธีบูชาบำบวงเซ่นสรวงเช่น บูชาไฟ

และการบูชาในที่นี้ก็คือการให้นั้นเอง ให้เชื้อแก่ไฟตามลัทธิ

เช่นให้เชื้อที่เป็นหญ้าเป็นไม้แก่ไฟ เป็นการบูชาไฟ ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ให้สัตว์ดิรัจฉานแก่ไฟ

หรืออย่างแรงที่สุดให้มนุษย์แก่ไฟ คือเอาสัตว์ใส่ไฟให้ไฟเผาไหม้เป็นการบูชา

หรือเอามนุษย์ใส่ไฟให้ไฟเผาไหม้เป็นการบูชา เป็นการเผาทั้งเป็นทั้งสัตว์ทั้งมนุษย์

ตามที่มีปรากฏเล่าอยู่ในตำนานต่างๆ ตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาล

การบูชาดั่งกล่าวนี้ก็บูชาแก่เทพ หรือสิ่งที่นับถือบูชาด้วยความเกรงกลัว

เพื่อให้เทพหรือสิ่งที่นับถือนั้นไม่ทำอันตราย คุ้มครองรักษา

บูชาเพื่อลาภผลด้วยต้องการให้เทพหรือสิ่งที่บูชานั้นอำนวยให้ได้ลาภผลต่างๆ

ในครั้งเก่าก่อนพุทธกาลก็ได้มีการให้เป็นการบูชากันเช่นที่กล่าวมา

และก็หมายถึงการให้เป็นการบูชาอย่างธรรมดา เช่นการให้แก่ผู้มีพระคุณ

เช่นมารดาบิดาครูบาอาจารย์ เป็นการบูชาคุณของท่านดั่งนี้ก็เป็นการบูชา

และคำว่า อา นั้น มาเป็น อาหุนะ ก็แปลว่า การให้โดยความเอื้อเฟื้อ

หรือการบูชาโดยความเอื้อเฟื้อ

และแปลอีกอย่างหนึ่งว่านำมาบูชา

คือบุคคลหรือสิ่งที่รับบูชานั้นอยู่ในที่อยู่ของตน

ผู้ที่ต้องการบูชาก็นำเอาสิ่งที่จะบูชาเข้ามาสู่สำนักของท่านหรือของสิ่งนั้น

มอบให้หรือบูชาตามที่เข้าใจว่า สิ่งที่บูชานั้นจะถึงแก่ผู้ที่ต้องการบูชา

คือถ้าเป็นไฟ เคารพไฟ จะให้แก่ไฟ ก็คือว่าก่อไฟให้ติดขึ้นแล้วก็เอาสิ่งนั้นใส่เข้าไปในไฟ

หรือถ้าจะใช้ไฟเป็นสื่อเพื่อบูชาแก่เทพหรือสิ่งที่มองไม่เห็น ก็อาศัยใส่ไฟนั่นแหละเป็นสื่อ

ปฏิบัติกันมาตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาลดังนี้

และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก

พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายก็ทรงเป็นอาหุเนยโย

ที่แปลว่าเป็นผู้ควรอาหุนะ คือเป็นผู้ควรให้หรือบูชาโดยเอื้อเฟื้อ

เป็นผู้ควรนำมาบูชา หรือเป็นผู้ควรมาบูชา

คือเมื่อพระพุทธเจ้าพระสาวกสงฆ์ประทับและอยู่ในที่ใด

ผู้มีศรัทธาปสาทะก็นำเอาอาหารผ้านุ่งห่มเป็นต้นมาสู่สำนักของพระองค์ของท่าน

และก็ถวายอาหารหรือผ้านุ่งห่มนั้น

พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย พระพุทธสาวกทั้งหลาย

พระอริยะสาวกทั้งหลาย เป็นผู้ควรนำมาบูชาหรือนำมาให้ดั่งนี้

แต่ว่าการที่นำมาบูชานั้นไม่ได้ใช้อย่างที่ทางพราหมณ์ปฏิบัติกันมาดั่งที่กล่าวข้างต้น

แต่ใช้เครื่องบูชาสักการะเช่นดอกไม้ ธูปเทียน หรืออาหาร ผ้านุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาแก้ไข้

ซึ่งเป็นปัจจัยบริขารมาถวายเพื่อให้ได้บริโภคใช้สอยดำรงชีวิต

การบูชาที่เป็นประโยชน์

และพระพุทธเจ้าไม่ตรัสสรรเสริญการบูชาแบบบูชาไฟ

แบบนำเอาสัตว์เดรัจฉานบ้างมนุษย์บ้างมาเผาไฟบูชา ดังที่พวกพราหมณ์ปฏิบัติกันมาแล้ว

ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์ และเป็นบาปเป็นอกุศล

เพราะเมื่อเป็นปาณาติบาตก็ย่อมเป็นการปฏิบัติผิดศีลทางพระพุทธศาสนาทั้งนั้น

จึงปรับปรุงการบูชามาในทางที่เป็นประโยชน์ เปลี่ยนแปลงวิธีบูชามาในทางที่เป็นประโยชน์

และเครื่องบูชาสักการะนั้นก็ยังใช้ดอกไม้ ใช้เทียน ซึ่งก็เป็นไฟเหมือนกัน

ใช้ธูปก็เป็นการจุดให้เป็นไฟเหมือนกัน จุดเทียนก็ให้เกิดแสงสว่าง

จุดธูปก็เพื่อให้มีกลิ่นหอม ดอกไม้ก็เป็นสิ่งที่ให้กลิ่นหอมหรือให้ความงดงาม

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเครื่องสักการะบูชาที่ทางพุทธศาสนาก็ใช้อยู่

พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงคัดค้าน และเมื่อบูชาด้วยมีจิตศรัทธาปสาทะ

ก็ตรัสสรรเสริญว่าเป็นบุญเป็นกุศลอันเกิดจากศรัทธาปสาทะนั้น

และสิ่งที่บูชานอกจากนั้นเช่นอาหารผ้านุ่งห่มเป็นต้น ก็เป็นสิ่งที่ควรแก่สมณะบริโภค

ด้วยความสันโดษมักน้อย พอดำรงชีวิตอยู่ได้วันหนึ่งๆเท่านั้น ไม่ให้มีการสะสม

และยังได้มีกำหนดว่าผู้ที่จะพึงรับบูชานั้น พึงเป็นอาหุเนยยะ

ที่แปลว่าผู้ควรซึ่งการให้หรือการบูชาโดยเอื้อเฟื้อ หรือเป็นผู้ควรนำมาบูชา

การให้ที่จะมีผลอย่างสูง

อันคำว่าเป็นผู้ควร หรือเป็นผู้สมควรนี้ เมื่อพิจารณาตามพระสังฆคุณที่แสดงมาโดยลำดับ

ก็ได้แก่หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว

เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่งแล้ว ดังที่แสดงมา

เมื่อกล่าวเป็นกลางๆท่านผู้ที่ปฏิบัติดั่งนี้จึงเป็นอาหุเนยยะผู้ควรนำมาบูชา หรือผู้ควรบูชา

ทั้งบุคคลผู้ที่นำมาบูชานั้นพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสรรเสริญว่าเป็นทายกผู้ให้ หรือทายิกาผู้ให้

ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์คือเป็นผู้ที่มีศีล และสิ่งที่นำมาบูชานั้นจะเป็นเครื่องสักการะดอกไม้ธูปเทียน

หรือเป็นวัตถุเช่นอาหารผ้านุ่งห่มเป็นต้น ก็เป็นสิ่งที่ได้มาโดยชอบ

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะได้กุศลได้บุญที่สูง

และผู้รับนั้นเล่าซึ่งเป็นปฏิคาหกคือผู้รับเมื่อเป็นอาหุเนยยะ

คือเป็นผู้ปฏิบัติดีเป็นต้นดังแสดงในสังฆคุณ จึงจะเป็นผู้ที่ควรรับของที่เขานำมาบูชา

เพราะจะทำให้การบูชาของเขานั้นบังเกิดผลแก่ผู้บูชา

พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเป็นอาหุเนยยะผู้ควรนำมาบูชา เพราะเป็นผู้ที่มีพระคุณอันอุดม

นำให้การบูชาของผู้บูชาบังเกิดผลป็นบุญเป็นกุศล

และหมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งเป็นอริยะบุคคลก็เช่นเดียวกัน

ตรัสว่าเป็นอาหุเนยยะดังที่แสดงไว้ในพระสังฆคุณบทนี้

เพราะทำให้ผู้บูชานั้นได้รับผลเป็นบุญเป็นกุศลอย่างสูง

เพราะฉะนั้นจึงเข้าในหลักของการให้ว่า การให้ที่จะมีผลเป็นบุญเป็นกุศลอย่างสูงนั้น

ผู้ให้ก็เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ผู้รับก็เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ และสิ่งของที่ให้นั้นก็เป็นสิ่งของที่ได้มาโดยบริสุทธิ์

เมื่อบริสุทธิ์ดั่งนี้ ย่อมจะให้เกิดผลเป็นบุญเป็นกุศลอย่างสูง

และพระพุทธเจ้าก็ยังได้ตรัสยกย่องมารดาบิดาว่า เรียกว่าเป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์

เป็นอาหุเนยยะ คือผู้ควรมาบูชา ผู้ควรนำมาบูชา ผู้ควรบูชาโดยเอื้อเฟื้อ ผู้ควรให้โดยเอื้อเฟื้อ

เป็นผู้อนุเคราะห์ประชาคือบุตรที่เกิดมาดั่งนี้

ธรรมะที่ทำให้เป็นผู้ควรบูชา

และยังได้ตรัสถึงธรรมะที่ทำให้บุคคลเป็นอาหุเนยยะไว้ในที่อื่นอีก

ดังเช่นที่ตรัสไว้ว่าภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุคือตา ได้ยินเสียงด้วยโสตะคือหู

ทราบกลิ่นด้วยจมูก ทราบรสด้วยลิ้น ทราบสิ่งถูกต้องด้วยกาย

รู้คิดธรรมะคือเรื่องราวด้วยมโนคือใจ ก็ไม่ยินดีไม่ยินร้าย มีใจเป็นอุเบกขาคือมัธยัสถ์เป็นกลาง

มีสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัวอยู่ดั่งนี้

ผู้ปฏิบัติดั่งนี้ชื่อว่าเป็นอาหุเนยยะผู้ควรบูชา หรือเป็นผู้ที่ควรนำมาบูชา

พิจารณาดูหลักธรรมตามที่ตรัสสอนเอาไว้นี้

ก็จะเห็นได้ว่า เพราะท่านผู้ที่ชื่อว่าควรนำมาบูชานั้น ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ยินดีไม่ยินร้าย

มีใจมัธยัสถ์เป็นกลาง มีสติสัมปชัญญะอยู่ในสิ่งทั้งหลายที่เขานำมาบูชา

นำมาให้ด้วยความเคารพ จะเป็นสิ่งที่เลวก็ไม่ยินร้าย เป็นสิ่งที่ดีก็ไม่ยินดีตื่นเต้น

คงมีใจเป็นอุเบกขาเสมอกัน มีสติมีสัมปชัญญะในการที่จะบริโภคใช้สอย

( เริ่ม ๑๒๙/๑ )

และก็เมื่อเป็นผู้ที่ไม่ยินดีไม่ยินร้าย มีอุเบกขามีสติสัมปชัญญะอยู่ในสิ่งทั้งหลาย

ที่รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่ ดั่งนี้

ก็เป็นผู้ที่ไม่มีโลภะในสิ่งเหล่านั้น ไม่มีตัณหาอยู่ในสิ่งเหล่านั้น

ไม่มีโทสะโมหะอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ไม่มีความติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ชื่อว่ามักน้อยสันโดษ

สิ่งทั้งหลายที่นำมาบูชานั้นไม่ทำให้ยินดีไม่ทำให้ยินร้าย

ไม่ทำให้โลภโกรธหลง ไม่ทำให้เกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ผู้ที่ปฏิบัติตนอยู่ดั่งนี้จึงเป็นผู้ที่ควรนำมาบูชาตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

ความปฏิบัติในอินทรียสังวร

เพราะฉะนั้นจึงอาจทำความเข้าใจในคำว่า อาหุเนยยะ นี้

ในทางปฏิบัติทางจิตใจได้อีกอย่างหนึ่งว่า คือความที่มาปฏิบัติมีอินทรียสังวร

ความสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง

และธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลายที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายและใจ

ไม่ยึดถือให้เกิดความยินดีความยินร้ายไหลเข้ามาสู่จิตใจ มาเป็นอาสวะอยู่ในจิตใจ

บรรดารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราวที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ

ในขณะเมื่อยังพำนักอยู่ในที่อยู่อาศัยของตนเอง เป็นสิ่งที่เข้ามา เข้ามาให้ได้เห็น

เข้ามาให้ได้ยิน เข้ามาให้ได้ทราบทางจมูกทางลิ้นทางกาย ให้คิดให้รู้ทางใจ

ก็ไม่ยึดถือ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายเป็นกิเลสเข้ามาสู่จิตใจ

การที่ปฏิบัติมีความสำรวมระวังอยู่ดั่งนี้ ต่ออารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามาสู่สำนักที่อาศัยอยู่

เช่นอาศัยอยู่ในวัดนี้เอง ในกุฏินี้เอง ก็มีอารมณ์เหล่านี้เข้ามา

และก็มีสติพร้อมทั้งปัญญารักษาจิตใจ รับอารมณ์ที่เข้ามานี้ได้

โดยไม่ยึดถือก่อให้เกิดความยินดีความยินร้าย เป็นกิเลสเข้ามาสู่ใจ

สิ่งเหล่านั้นที่เข้ามานั้นก็กลายเป็นเครื่องบูชาไม่เป็นโทษ

ถ้าหากว่ายึดถือยินดียินร้ายเป็นกิเลสเข้ามาสู่ใจ

สิ่งเหล่านั้นก็เท่ากับว่าเครื่องประหัตประหารเป็นโทษ

ดังมารที่มาผจญพระพุทธเจ้าถืออาวุธเข้ามาเพื่อจะทำร้าย

พระพุทธเจ้าทรงเสี่ยงพระบารมีชนะมาร

มารก็กลายเป็นถือเครื่องสักการะบูชา บูชาพระพุทธเจ้า

ทางปฏิบัติให้เป็นอาหุเนยยะ

เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติทางจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมะ ทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์

จึงอยู่ที่การปฏิบัติในการที่จะรับอารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามาดังที่กล่าวนี้

เมื่ออารมณ์เข้ามา ยึด ยินดีบ้างยินร้ายบ้างเป็นกิเลสเข้ามา บังเกิดเป็นตัณหา

เป็นโลภโกรธหลงในจิตใจ ดั่งนี้ อารมณ์ที่เข้ามานั้นก็เป็นมาร เป็นอาวุธ เป็นสิ่งที่เข้ามาทำร้าย

แต่ถ้าหากว่าอารมณ์ที่เข้ามานั้นไม่ยึดถือไม่ยินดีไม่ยินร้าย มีอุเบกขาปล่อยวางได้

มีสติมีสัมปชัญญะคุมใจอยู่ อารมณ์ที่เข้ามานั้นก็กลายมาเป็นเครื่องบูชา

เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิบัติใจดั่งนี้ก็ชื่อว่า

ได้ปฏิบัติใจไม่ให้เป็น อาหุเนยยะ ถ้าหากว่ายึดถือเกิดยินดียินร้าย

ถ้าไม่ยึดถือไม่ยินดีไม่ยินร้ายปล่อยวางมีสติสัมปชัญญะ

ก็เป็นการปฏิบัติตนให้เป็น อาหุเนยยะ

และเมื่อเป็นอาหุเนยยะแล้วก็สามารถรับอารมณ์ได้ที่เข้ามา

มีคนเขาเข้ามาถึงในบ้านในที่อยู่อาศัย มาร้องด่าอยู่ ก็จะไม่โกรธตอบ

แต่จะหาทางระงับด้วยวิธีสันติที่เรียบร้อย ดั่งนี้เป็นต้น

ก็เป็นการปฏิบัติชื่อว่าเป็นอาหุเนยยะได้

เพราะฉะนั้นคำว่าอาหุเนยยะนี้จึงสามารถเป็นชื่อของผู้ที่ปฏิบัติธรรมะทั่วไป

ในการที่หัดรับอารมณ์ที่เข้ามา ด้วยจิตใจที่ไม่ยึดถือไม่ยินดีไม่ยินร้าย

ปล่อยวางได้ มีสติมีสัมปชัญญะ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

สังฆานุสสติ

ปาหุเนยโย ภควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ผู้เลื่อมใสชื่อว่าปฏิบัติไปสู่สวรรค์ ๓

ภิกษุ ผู้ขอโดยปรกติ ๔

พระปัจฉิมวาจา ๖

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า ๗

เอหิ สวากขตะ วาที ๗

วาทะพราหมณ์ผูกโกรธ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๒๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒๙/๒ ( File Tape 100 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สังฆานุสสติ

ปาหุเนยโย ภควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงนำด้วยพระสังฆคุณบทว่า ปาหุเนยโย

ที่แปลว่าผู้ควรของต้อนรับ หรือผู้ควรต้อนรับ อันมีความหมายว่า

หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว

ปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว ปฏิบัติชอบเหมาะแล้ว หรือชอบยิ่งแล้ว อันได้แก่บุรุษบุคคล ๔ คู่

นับรายตัวบุคคลเป็น ๘ ดังที่เรียกว่าอริยสาวกสงฆ์นั้น ย่อมเป็นผู้ควรของต้อนรับ

หรือควรต้อนรับ คือเมื่อไปที่ไหนก็เป็นผู้ควรต้อนรับ ควรของต้อนรับในที่นั้น

ซึ่งบทนี้เป็นบทที่คู่กับ อาหุเนยโย ผู้ควรของที่นำมาบูชา

อันหมายความว่าเมื่อไม่ได้ไปที่ไหน อยู่ในที่พักอาศัยของท่านเอง มีผู้มาบูชา

นำของมาถวายบูชา ก็เป็นผู้สมควรรับ เพราะเหตุเดียวกัน คือเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นต้น

ฉะนั้น การที่เป็นผู้ควรของที่เขานำมาบูชา

ก็เพราะเป็นเหตุให้ผู้ที่นำมาบูชานั้น ได้รับผลแห่งการนำมาบูชา

สมตามเจตนาของเขา ซึ่งเมื่อเขาต้องการนำของมาบูชาท่านผู้บริสุทธิ์

และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วนั้นก็เป็นผู้บริสุทธิ์จริง ผู้นำมาบูชาไม่ต้องเสียความหวัง

เพราะเมื่อหวังมาบูชาท่านผู้บริสุทธิ์ ท่านผู้รับนั้นก็เป็นผู้ที่บริสุทธิ์จริง เป็นผู้สมควรบูชาจริง

นี้เป็นความของบทว่า อาหุเนยโย

ท่านอยู่กับที่ มีผู้นำของมาบูชา ก็เป็นผู้ควรรับของบูชาที่เขานำมานั้น

และเมื่อท่านไปไหนก็เป็นผู้ควรต้อนรับ เป็นผู้ควรรับของต้อนรับ ที่เขาต้อนรับ

ก็เพราะเป็นผู้ที่บริสุทธิ์จริง เขาต้อนรับด้วยคิดว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ควรแก่การต้อนรับ

ก็เป็นผู้บริสุทธิ์ควรแก่การต้อนรับจริง

ผู้เลื่อมใสชื่อว่าปฏิบัติไปสู่สวรรค์

และโดยเฉพาะในข้อนี้ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้

ซึ่งอาจจะใช้ได้ทั้งในบทว่าอาหุเนยโย และทั้งในบทนี้ คือได้ตรัสเอาไว้มีความว่า

ผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นต้นนั้น ย่อมชื่อว่าปฏิบัติไปสู่สวรรค์

ผู้ที่ต้อนรับอภิวาทกราบไหว้ จัดอาสนะถวายให้นั่ง ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเกิดในสกุลสูง

ผู้มีจิตละมลทินคือความตระหนี่ในเมื่อได้เห็นได้ต้อนรับพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว

ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความมีอานุภาพมาก

ผู้ที่ได้สละถวายชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้สมบูรณ์มั่งคั่งด้วยทรัพย์

ผู้ที่ตั้งใจฟังธรรมะที่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วแสดง ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ

เพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก

พระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้นี้จึงเป็นการที่ได้ทรงแสดงว่าพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว

เป็นผู้ควรของต้อนรับ หรือเป็นผู้ควรต้อนรับ

ภิกษุ ผู้ขอโดยปรกติ

อนึ่ง พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วนั้น

เมื่อไปที่ไหนก็ไม่ไปเพื่อเบียดเบียนใครให้เดือดร้อน

ไม่ทำการขอ ไม่ทำการประทุษร้ายคฤหัสถ์แม้ด้วยการประจบ

ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เป็นที่พอใจของคฤหัสถ์ให้เขารักเขานับถือ

และแม้ว่าจะเป็นภิกษุที่แปลว่าผู้ขอ อันหมายความว่าผู้ขอโดยปรกติ

ตามธรรมเนียมของสมณะในพุทธศาสนา ก็อุ้มบาตร เดินไปในละแวกบ้านโดยปรกติ

ไม่ได้เปล่งวาจาขอ ไม่ได้เรียกร้อง หรือไม่ได้ทำกิริยาต่างๆเหมือนอย่างที่เรียกว่ายาจกวณิพก

ยาจกก็แปลว่าผู้ขอ คือขอทาน เหมือนอย่างคนขัดสนจนยากที่ขอทานเขาเลี้ยงชีวิต

วณิพกนั้นก็เป็นผู้ขอชนิดที่มีการแลกเปลี่ยนเช่นว่าร้องเพลงให้เขาฟังแล้วเขาก็ให้

แต่ว่าภิกษุซึ่งแปลว่าผู้ขอนั้นเป็นผู้ขอโดยปรกติ

เดินอุ้มบาตรเข้าไปในละแวกบ้าน ด้วยอาการที่สำรวม

สำรวมตา สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ เดินเข้าไป

ผู้มีศรัทธาเกิดความเลื่อมใสก็ใส่บาตรถวาย และผู้ถวายนั้นก็ไม่ได้ดูหมิ่นว่าเป็นยาจกวณิพก

แต่ว่าถวายด้วยความเคารพนับถือ ถือว่าเมื่อใส่บาตรถวายพระแล้วก็ได้บุญ

เพราะฉะนั้นเมื่อพระอุ้มบาตรเข้าไป คนไทยเราจึงเรียกว่าพระมาโปรด

อันแสดงว่าใส่บาตรถวายด้วยความเคารพ และถือว่าได้บุญกุศล

เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์แล้วไปไหนจึงเป็นที่ยินดีต้อนรับ

ผู้นับถือพุทธศาสนานั้นมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอยู่แล้ว ก็ย่อมต้อนรับ

เช่นใส่บาตรถวาย หรือนิมนต์ให้เข้าไปฉันในละแวกบ้านตามที่กำหนด

ดังที่ปรากฏอยู่ในครั้งพุทธกาล บรรดาตระกูลทั้งหลายที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา

ก็นิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ไปรับบิณฑบาตเสวยในบ้านของตน

นิมนต์พระสงฆ์น้อยบ้างมากบ้างตามกำลัง หรือว่าจัดชุมนุมกันใส่บาตรถวาย

ที่เรียกว่า อังคาส พระพุทธเจ้า

และพระภิกษุสงฆ์สาวกให้เสวยในที่ๆกำหนดประชุมกันนั้นๆ

สำหรับผู้ที่ไม่นับถือพุทธศาสนานั้นเมื่อยังไม่เลื่อมใสก็ไม่ใส่บาตรถวาย

และก็ปรากฏว่าบรรดาผู้ที่ไม่เลื่อมใสนั้น เมื่อได้เห็นพระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์

เดินผ่านบ้านของตนไปบ่อยๆด้วยอาการที่สำรวม เกิดศรัทธาขึ้นมาถวายใส่บาตรดั่งนี้ก็มี

แม้ท่านพระสารีบุตรเองเมื่อยังไม่ได้เข้านับถือพุทธศาสนาเป็นศิษย์อยู่ในสำนักอาจารย์สญชัย

วันหนึ่งได้เห็นพระอัสสชิเดินบิณฑบาตอยู่ในละแวกบ้าน เห็นเข้าก็มีความเลื่อมใส

เพราะเห็นอาการที่ท่านพระอัสสชิออกบิณฑบาตนั้นเต็มไปด้วยความสำรวม เกิดความเลื่อมใส

ว่าบรรพชิตรูปนี้จะต้องมีภูมิธรรมสูงในใจ และจะต้องมีอาจารย์ที่เป็นผู้มีคุณธรรมสูง

เพราะยังไม่เคยเห็นใครเดินอย่างสงบดั่งนี้ จึงได้ติดตามท่านพระอัสสชิไปจนถึงที่ที่ท่านพักอยู่

( ๑๒๙/๒ ) และเมื่อเป็นโอกาส จึงได้เข้าไปไต่ถาม นำให้ท่านพระสารีบุตรนั้น

ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม ในเมื่อได้ฟังถ้อยคำสั้นๆของท่านพระอัสสชิ

และได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา และได้เข้าบวชในพุทธศาสนา

นี้ก็เกิดสืบมาจากที่ได้เห็นพระสงฆ์บิณฑบาตนั้นเอง

เพราะฉะนั้นอาการที่ขออย่างภิกษุดั่งนี้ จึงไม่ใช่เป็นการขอที่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเปรียบว่าเหมือนอย่างแมลงผึ้งที่เคล้าเอารสของดอกไม้

เพื่อไปทำน้ำผึ้ง โดยไม่เบียดเบียนดอกไม้ ไม่เบียดเบียนกลิ่นของดอกไม้

ไม่เบียดเบียนรสส่วนใดส่วนหนึ่งของดอกไม้ต้นดอกไม้ นำเอารสหวานไปเท่านั้น

มุนีผู้ที่จาริกบิณฑบาตไปในละแวกบ้านก็เช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนชาวบ้านให้เดือดร้อน

รับแต่ของที่เขาแบ่งมาใส่บาตรคนละเล็กคนละน้อย โดยไม่ทำให้ผู้ที่ใส่บาตรต้องเดือดร้อน

ต้องเสียหายแต่อย่างใด เพราะโดยปกตินั้นเขาก็ปรุงอาหารไว้สำหรับบริโภคอยู่แล้ว

และโดยมากนั้นก็มักจะปรุงไว้มีส่วนเหลือ เพราะฉะนั้นแม้เขาจะแบ่งมาใส่บาตรบ้าง

ก็ไม่ทำให้เขาต้องขาดอาหารบริโภค แล้วก็ใส่บาตรกันหลายๆคน

คนละเล็กคนละน้อยดังที่กล่าวมานั้น

เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสเปรียบเหมือนอย่างแมลงผึ้ง

ที่นำเอารสของดอกไม้ไปโดยที่ไม่เบียดเบียนดอกไม้ ไม่เบียดเบียนกลิ่น

ไม่เบียดเบียนอะไรของดอกไม้ ต้นไม้ดอกนั้นทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์แล้ว จึงเป็นผู้ไปเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ที่ต้องการ

ประโยชน์เกื้อกูลและความสุข

พระปัจฉิมวาจา

 

และการที่พระพุทธศาสนาจะแผ่ออกไปได้ก็ตั้งต้นที่พระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลายในชั้นแรก มีจำนวนทั้งพระพุทธเจ้าด้วยเพียง ๖๑ องค์

พระพุทธเจ้าทรงส่งไปเพื่อประกาศพระพุทธศาสนาในที่นั้นๆ โดยที่ให้ไปทางละรูป

ทางละองค์เดียว ไม่ให้ไปสององค์ เพื่อว่าจะได้แยกกันไปได้มากทางในคามนิคมชนบทนั้นๆ

โดยที่ตรัสสั่งให้จาริกไปประกาศพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์ที่ต้องการ ประโยชน์เกื้อกูล

ความสุขแก่ประชาชนในคามนิคมชนบทนั้นๆ

เพราะฉะนั้นการจาริกไปประกาศพระพุทธศาสนาตั้งต้นดั่งกล่าว และได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา

ในครั้งพุทธกาลตลอดเวลาที่พระพุทธเข้าทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้หยุดอยู่จำพรรษา

และเมื่อพ้นฤดูกฐินก็เสด็จจาริกไปดังกล่าวตลอดพระชนมาชีพ

ถึงฤดูเข้าพรรษาก็หยุดจำพรรษา ย้อนกลับมาเข้าพรรษาในเมืองเก่าบ้าง ในที่อื่นบ้าง

และพระองค์ทรงดำเนินด้วยพระบาทดั่งนี้จนถึงวาระสุดท้าย

ในวันนั้นพระองค์ก็ยังเสด็จจาริกด้วยพระบาทไปตลอดวัน

และเมื่อถึงสถานที่ที่ทรงกำหนดว่าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

จึงได้ทรงหยุดดำเนินด้วยพระบาท และทาบพระองค์ลงบรรทมในท่าสีหไสยาตะแคงขวา

และก็ยังทรงบำเพ็ญพุทธกิจสั่งสอนต่างๆ จนถึงเวลาที่ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

จึงได้ตรัสปัจฉิมวาจา พระวาจาสุดท้ายว่า อัปมาเทนะ สัมมาเทถะ

ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด แล้วก็หยุดรับสั่ง

และก็ทรงเริ่มทำพระทัยเพื่อที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

และก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรีนั้น

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

แสดงว่าพระองค์ได้ทรงจาริกออกไป ด้วยดำเนินด้วยพระบาทไม่มีหยุดหย่อน

ตลอดเวลา ๔๕ ปี จนถึงวันสุดท้ายก็ยังดำเนินด้วยพระบาท

ไปจนถึงจุดที่สุดแล้ว หยุด ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในที่นั้น

เพราะฉะนั้นพระองค์จึงอยู่ในฐานะที่เป็นอาหุเนยโย และปาหุเนยโยอยู่ตลอดเวลา

และปาหุเนยโยนั้นก็การที่ได้เสด็จจาริกไปในที่ต่างๆดังกล่าว

และผู้ที่ต้อนรับพระองค์ต่างก็ได้รับประโยชน์เกื้อกูล ได้รับประโยชน์ที่ต้องการ

รับประโยชน์เกื้อกูล รับความสุข ตามควรแก่ภูมิชั้นของตน

เป็นประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ประโยชน์อย่างยิ่งบ้าง

เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่าพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งหลายนั้น

ได้เป็นผู้ที่นำประโยชน์ต้องการ ประโยชน์เกื้อกูล และความสุข ไปประทาน

ไปมอบให้แก่ประชาชนผู้ต้อนรับทั้งหลายในที่นั้นๆ

เอหิ สวากขตะ วาที

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกผู้บริสุทธิ์แล้ว

เมื่อไปในที่ไหนก็ชื่อว่าเป็น สวากขตะ สำหรับที่นั้น คือประชาชนในที่นั้น

ต่างได้รับประโยชน์ที่ต้องการ เกื้อกูล และความสุข จากการเสด็จมาของพระองค์

จึงชื่อว่าเป็นผู้ที่มาดีแล้ว ไม่ใช่มาร้าย มาดีด้วยการนำเอาสุขประโยชน์ต่างๆมาให้

สมดังคำที่กล่าวต้อนรับว่ามาดี แล้วก็เชื้อเชิญให้มา

ดังคำที่ท่านผูกว่า เอหิ สวากขตะ วาที คือผู้มีวาทะว่ามาดีแล้ว จงมา

พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้ทรงเป็นผู้ที่มาดีแล้วอย่างนั้นในที่ทุกแห่ง

จึงเป็นผู้ควรของต้อนรับ ควรการต้อนรับในที่ทุกแห่ง

วาทะพราหมณ์ผูกโกรธ

และนอกจากนี้ แม้ว่าผู้ที่ต้อนรับนั้นเขาต้อนรับด้วยความไม่พอใจ

พระองค์ก็รับได้ พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ก็รับได้ ดังที่มีเรื่องเล่าว่า

พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไปถึงบ้านพราหมณ์ผู้หนึ่ง

ซึ่งได้ผูกใจโกรธพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวช ว่าปฏิบัติผิดจารีตของพราหมณ์

และยังมาสั่งสอนให้คนทั้งหลายปฏิบัติผิดจารีตของพราหมณ์ จึงได้กล่าวด่าพระองค์ต่างๆ

พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า พราหมณ์เคยรับแขกอย่างไร

พราหมณ์ก็ตอบว่า ก็จัดข้าวจัดน้ำเป็นต้นไว้รับแขกที่มา

พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า ถ้าแขกที่มานั้น

เขาไม่บริโภคข้าวบริโภคน้ำ ไม่ดื่มน้ำ ข้าวและน้ำที่จัดไว้นั้นเป็นของใคร

พราหมณ์ก็ตอบว่า ก็เป็นของเจ้าของบ้านเอง เป็นของตนเอง

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าถ้าเช่นนั้นคำที่ท่านด่าเราเป็นการต้อนรับนั้นเราไม่รับ

เพราะฉะนั้น คำที่ท่านด่าทั้งหมดนั้นก็เป็นของท่านเอง เราไม่ร่วมวงกับท่าน

ถ้าเรารับก็คือเราก็ร่วมวงกับท่าน แต่นี่เราไม่รับเราก็ไม่ร่วมวงกับท่าน

คำที่ท่านด่าทั้งหมดก็ต้องตกเป็นของท่านเองดังที่ท่านกล่าวนั้น

ก็ของต้อนรับต่างๆเมื่อแขกเขาไม่รับ ของนั้นก็ตกเป็นของเจ้าของบ้านเอง

พราหมณ์นั้นก็กลับเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกที่บริสุทธิ์ทั้งหลาย

ย่อมเป็นผู้ที่ควรของต้อนรับแม้ที่ไม่น่าปรารถนาพอใจ

เช่นต้อนรับด้วยอาการที่ไม่ดี หรือแม้ด้วยการหยาบ ด้วยการด่าว่า

แต่ว่าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายก็รับได้

ด้วยวิธีที่ไม่สะดุ้งสะเทือนจิตใจ และก็สามารถที่จะกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้

ตามควรแก่เหตุนั้นๆ เหตุการณ์ดังที่กล่าวมานี้ได้บังเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้า

และพระสงฆ์สาวกทั้งหลายอยู่เนืองๆ ในการที่จาริกไปในคามนิคมชนบทนั้นๆ

ฝ่ายที่ไม่พอใจไม่เลื่อมใสก็ต้อนรับด้วยการด่าว่า จ้างให้มาด่าว่าก็มี ด้วยถ้อยคำหยาบคายต่างๆ และพระพุทธเจ้าก็ทรงรับได้อันหมายความว่าทรงมีพระทัยที่ไม่หวั่นไหว

และก็ทรงแก้ไขได้ด้วยพระปัญญา ด้วยวิถีทางที่ถูกต้อง

ดังที่มาประมวลผูกเป็นบทพาหุง ๘ บท ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชนะต่างๆ ด้วยวิธีต่างๆ

แม้พระสงฆ์สาวกก็เช่นเดียวกัน ดั่งนี้ก็คือทรงเป็นอาหุเนยโย และทรงเป็นปาหุเนยโย

ในพระสังฆคุณบทว่าปาหุเนยโยที่แสดงนี้ และพระสังฆคุณบทว่าอาหุเนยโยที่ได้แสดงไว้ก่อน

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats