ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:09
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป102
สังฆานุสสติ
อนุตรัง ปุญญเขตตัง โลกัสสะ
นาบุญของโลกอันยอดเยี่ยม
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
คำว่าบุญ ๒
บุญที่เป็นส่วนเหตุ ๓
บุญกิริยาวัตถุ ๔
บุญที่เป็นส่วนผล ๕
คำว่ากุศล ๖
ถ้าทำบุญโดยขาดปัญญา ๗
ขุมทรัพย์คือบุญ ๘
นาบุญอันเยี่ยม ๙
นาบุญของโลก ๑๐
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ มีศัพท์ที่ไม่แน่ใจหน้า ๕-๖
ม้วนที่ ๑๓๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๑/๒ ( File Tape 102 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระสังฆคุณ
อนุตรัง ปุญญเขตตัง โลกัสสะ นาบุญของโลกอันยอดเยี่ยม
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงนำด้วยพระสังฆคุณบทที่ ๙ อันเป็นบทที่สุด
อนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญของโลกอันยอดเยี่ยม
พระสังฆคุณบทนี้แสดงว่าพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นจะยิ่งกว่า ก็คือยอดเยี่ยม
คำว่าบุญ
ในข้อนี้ก็พึงทำความเข้าใจของคำว่า บุญ ก่อน
อันคำว่าบุญนั้นได้มาใช้ในภาษาไทย เป็นภาษาไทย
และเพราะการทำบุญโดยมากที่มองเห็นด้วยตา ก็คือการทำทาน หรือทำการให้
๒
จึงมักเข้าใจกันว่า ทำบุญ ก็คือทำการให้ หรือทำทาน
และก็ยังมาใช้ถึงการให้หรือการทำทานนี้แตกต่างกันอีก อย่างที่พูดกันว่าทำบุญให้ทาน
ซึ่งเข้าใจกันว่าทำบุญก็คือการทำบุญแก่พระ ถวายสิ่งต่างๆแก่พระ
ทำทานก็คือการให้แก่ยาจกวณิพกคือผู้ขัดสนจนยากที่มาขอ อย่างที่เรียกว่าขอทาน
คนไทยมักจะเข้าใจกันดั่งนี้ ก็เป็นความเข้าใจที่ถูกส่วนหนึ่ง
แต่ว่าไม่ถูกตามความต้องการของคำว่าบุญทั้งหมด
ฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจคำว่าบุญนี้ว่ามี ๒ อย่างก่อน
คือบุญโดยเหตุ และบุญโดยผล
บุญที่เป็นส่วนเหตุ
ประการแรกนั้นได้แก่การทำบุญ อันสำเร็จด้วยทานบ้าง
สำเร็จด้วยศีลบ้าง สำเร็จด้วยภาวนาบ้าง จะเรียกเป็นภาษาไทยง่ายๆว่าทำความดีก็ได้
และทานนั้นแปลว่าสิ่งที่ให้ก็ได้ แปลว่าการให้ก็ได้ แปลว่าเจตนาที่ให้ก็ได้
แปลว่าสถานที่เป็นที่ให้ก็ได้
และที่เป็นกิริยาก็แปลว่าการให้ จะให้แก่พระคือถวายพระ
หรือให้แก่ยาจกวณิพกผู้ขัดสนที่มาขอทาน
หรือให้เป็นส่วนสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ก็เรียกว่าทานทั้งนั้น
ทำบุญแก่พระคือถวายพระก็เป็นทาน ทำทานแก่คนขอทานก็เป็นทาน
เมื่อเป็นการให้แล้วก็เรียกว่าทานเหมือนกันหมด
บุญที่เป็นส่วนเหตุนี้ตามถ้อยคำเดิมแปลว่าเครื่องชำระฟอกล้าง
โดยตรงก็คือชำระฟอกล้างจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด
จากกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหลาย
และการกระทำซึ่งเป็นเครื่องชำระฟอกล้างดั่งนี้เรียกชื่อว่าบุญ
๓
บุญกิริยาวัตถุ
วิธีกระทำนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงไว้โดยย่อเป็น ๓ วิธี
ดังที่ตรัสไว้ในบุญกิริยาวัตถุ คือที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๓ อย่าง
อันได้แก่ ทาน ดังกล่าวนั้น ๑
ศีล ความประพฤติงดเว้นจากภัยเวรทั้งหลาย
ศีลที่เป็นทั่วไปก็คือศีล ๕ งดเว้นจากภัยเวร ๕ ประการ
คือการฆ่า การลัก การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ
และการดื่มน้ำเมา อันเป็นทางแห่งความประมาท
พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าการกระทำทั้ง ๕ นี้เป็นภัยเป็นเวร
เพราะเป็นเครื่องก่อให้เกิดภัย ก่อให้เกิดเวร เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นทุจริต
เพราะฉะนั้นความที่ตั้งใจงดเว้นได้ก็เรียกว่าศีล
( เริ่ม ๑๓๑/๒ )
ข้อที่ ๓ ภาวนา ก็คือการอบรมจิตใจให้สงบ ให้ได้สมาธิ อันเรียกว่าสมาธิหรือสมถะ
และให้ได้ปัญญาเห็นแจ้ง อันเรียกว่าปัญญาหรือวิปัสสนา รวมเรียกว่าภาวนา
เพราะฉะนั้นการกระทำทั้ง ๓ นี้ คือ ทาน ศีล ภาวนา
จึงเป็นวัตถุคือเป็นที่ตั้งของการทำบุญ คือการกระทำที่เป็นเครื่องชำระฟอกล้างจิตใจดังกล่าว
ดังที่ท่านแสดงแยกเพื่อให้เห็นชัดต่างกัน ว่าทานนั้นเป็นเครื่องชำระฟอกล้างโลภะ
คือความโลภอยากได้ มัจฉริยะคือความตระหนี่เหนียวแน่น
ศีลนั้นเป็นเครื่องชำระโทสะ ภาวนานั้นเป็นเครื่องชำระโมหะ
แต่ว่าตามพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้นั้น ก็ตรัสแสดงไว้รวมกันไป
ว่าทุกข้อนั้นก็เป็นเครื่องชำระอกุศลมูล คือราคะโทสะโมหะ หรือโลภะโทสะโมหะ
อันกิเลสดังกล่าวเป็นเครื่องทำจิตใจให้เศร้าหมองไม่บริสุทธิ์
เหมือนอย่างสิ่งที่ไม่สะอาดทำให้ร่างกายไม่สะอาด หรือทำให้สิ่งต่างๆไม่สะอาด
๔
ทองที่มีสิ่งไม่สะอาดพอกอยู่ก็ไม่ปรากฏเนื้อทองที่บริสุทธิ์
เพ็ชรพลอยที่ยังไม่ได้เจียรไน มีเครื่องหุ้ม ก็ทำให้ไม่ให้เห็นเนื้อเพ็ชรพลอยที่บริสุทธิ์แจ่มจรัส
จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจที่เป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง
เมื่อมีกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองหุ้มห่ออยู่ ก็คือกิเลสที่เป็นกองโลภโกรธหลง
หรือราคะโทสะโมหะนี้เอง อันเป็นตัวอกุศลมูลต่างๆ ก็ทำให้จิตใจไม่บริสุทธิ์
เป็นจิตใจที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส ไม่แจ่มจรัส ไม่ผุดผ่อง
เพราะฉะนั้น การทำบุญนั้นจึงมุ่งที่จะปฏิบัติชำระจิตใจ
คือชำระเครื่องเศร้าหมองของจิตใจนี้ออกจากจิตใจ เพื่อให้จิตใจแจ่มจรัส ผุดผ่อง
เหมือนอย่างเจียรไนเพ็ชรพลอยเอาเครื่องหุ้มห่อออก จึงจะได้เม็ดเพ็ชรพลอยที่ผุดผ่องแจ่มจรัส
ทองที่มีเครื่องหุ้มห่อก็ขัดสีเอาเครื่องสกปรกนั้นออกเนื้อทองที่บริสุทธิ์ก็ปรากฏ
เพราะฉะนั้น การทำบุญในพุทธศาสนาที่เป็นส่วนเหตุนั้น จึงมุ่งถึงการปฏิบัติในทาน ในศีล
ในภาวนา เพื่อชำระฟอกล้างจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดดังกล่าว
ดั่งนี้เป็นบุญที่เป็นส่วนเหตุ
บุญที่เป็นส่วนผล
ส่วนบุญที่เป็นส่วนผลนั้นได้แก่ความสุข ดังมีพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อคำว่าบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดั่งนี้
บุญส่วนผลนี้เมื่อพิจารณาดูแล้วที่จิตใจของตนเอง เมื่อทำบุญอันเป็นส่วนเหตุไปแล้ว
ก็ย่อมจะมองเห็นว่าเมื่อทำบุญที่เป็นส่วนเหตุไปแล้ว กิเลสที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง
กองโลภ กองโกรธ กองหลง หรือกองราคะโทสะโมหะก็จะหายไป
จิตก็บริสุทธิ์ และเมื่อจิตบริสุทธิ์ จิตก็ย่อมจะได้ดื่มความบริสุทธิ์นี้
จึงเป็นจิตที่อิ่มเอิบด้วยความบริสุทธิ์ จึงเป็นจิตที่มีความสุขคือความสบาย
จิตใจก็สบาย กายก็สบายไปตามจิต การทำบุญทุกครั้งย่อมให้บังเกิดผลดั่งนี้
ตัวความสุขที่เกิดจากความบริสุทธิ์ดังกล่าวนี้ ชื่อว่าเป็นบุญโดยส่วนผล
๕
เทียบกันได้กับทางร่างกาย เมื่อร่างกายสกปรกด้วยเหงื่อไคล และสิ่งสกปรกต่างๆ
ก็เป็นร่างกายที่เศร้าหมองก็มีความทุกข์ อึดอัดในความสกปรกของตัวเอง
ครั้นเมื่ออาบน้ำชำระกาย สะอาดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
ก็ย่อมรู้สึกว่ามีความสุข สดชื่น การอาบน้ำชำระกายนั้นเป็นส่วนเหตุ
ความสุขสดชื่นที่ได้จากความที่มีร่างกายสะอาดเป็นส่วนผล ชื่อว่าเป็นบุญทางกาย
ส่วนการกระทำบุญทางใจอันใช้กายกระทำเหมือนกัน คือทานศีลภาวนานี้สำคัญยิ่งขึ้น
ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ และก็ได้ความสุขที่เกิดจากความบริสุทธิ์นั้น
นี้เป็นการทำบุญในทางพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้
คำว่ากุศล
และยังมีอีกคำหนึ่งที่คู่กันไป คือกุศล ดังที่เรียกว่าทำบุญทำกุศล
คำว่ากุศลนี้ตามถ้อยคำแปลว่ากิจของคนฉลาด
มาจากความฉลาดซึ่งเป็นตัวปัญญา และเมื่อมีความฉลาด
กิจที่ทำด้วยความฉลาดนี้เรียกว่ากุศล และทางพุทธศาสนานั้น จะเรียกว่ามีความฉลาด
ก็ต้องเป็นความฉลาดที่เป็นสัมมัปปัญญา คือความรู้ชอบ สัมมาทิฏฐิเห็นชอบ
จึงจะเรียกว่าฉลาด ถ้าเป็นความรู้ชั่วรู้ผิด เป็นความเห็นผิดไม่เรียกว่าความฉลาด
เพราะฉะนั้น ฉลาดนี้จึงหมายถึงฉลาดคือความรู้ที่ถูกต้อง เช่นความรู้จักบาปบุญคุณโทษ
ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ อันเป็นปัญญาที่เป็นพื้นฐานทั่วไปทางความประพฤติ
ตลอดจนถึงรู้อริยสัจจ์ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน เป็นมรรคปัญญา
ปัญญาที่เป็นตัวมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
เพราะฉะนั้นเมื่อมีความฉลาดที่ถูกต้องดั่งนี้ จึงทำให้ละชั่วทำดี ละบาปอกุศลทุจริตต่างๆ
ทำสิ่งที่เป็นบุญกุศลสุจริตต่างๆ ก็คือ ทาน ศีล ภาวนา นี้เอง โดยสรุป
เพราะฉะนั้นคำว่ากุศลนี้เมื่อมองออกมาที่การกระทำ
ก็เป็นการกระทำที่เป็นบุญนั่นแหละ คือเป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนา
๖
แต่มาจากความฉลาดคือความรู้อันถูกต้อง
ที่เป็นความรู้จักบาปบุญคุณโทษมิใช่ประโยชน์เป็นสามัญดังที่กล่าวมาแล้ว
เพราะฉะนั้นจึงอาจทำให้เห็นว่า คำว่ากุศลนี้มีความหมายที่แน่นอนว่าจะทำดี
เช่นบุญดังกล่าว ได้โดยถูกต้อง เพราะเมื่อมีความฉลาดดังกล่าวแล้ว
การที่กระทำออกไปก็ต้องเป็นความดี ละความชั่ว ต้องเป็นบุญ
คือเป็นเครื่องชำระเครื่องเศร้าหมองคือกิเลส ตลอดถึงความชั่วด้วย
ถ้าทำบุญโดยขาดปัญญา
แต่ว่าคำว่าบุญนั้นมิได้มีคำว่าปัญญาประกอบอยู่ด้วย
ตามถ้อยคำก็ว่าเป็นเครื่องชำระดังที่กล่าวมาแล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าทำบุญโดยขาดปัญญา บุญนั้นจึงไม่อาจเป็นบุญ
ที่ตรงตามความประสงค์ หรือเป็นบุญโดยไม่ถูกต้อง เช่นว่าการทำทานถ้าขาดปัญญา
ก็ทำให้ไม่รู้จักเลือกให้ และอาจจะไปแสวงหาในทางที่ผิดเพื่อมาทำทาน
หรือว่าทำทานที่ทำให้ตนเองและให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นต้น
หรือว่าทำทานด้วยความมุ่งหวังผลคือเป็นตัวกิเลส ด้วยทานนั้นมุ่งที่จะละโลภ ละมัจฉริยะ
แต่บางทีทำทานเพื่อเพิ่มโลภะความโลภ มัจฉริยะความตระหนี่เหนียวแน่น
เช่นทำหน่อยหนึ่งแต่มุ่งผลตอบแทนมาก แบบการให้สินบน ก็ไม่เป็นทานที่บริสุทธิ์
และไม่ได้ผลในการที่จะชำระกิเลส กลับเป็นการเพิ่มกิเลส ดั่งนี้ก็ขาดปัญญา
เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วก็ย่อมจะเห็นว่า การทำบุญนั้นต้องให้เป็นกุศลด้วย
คือต้องให้ประกอบด้วยปัญญาด้วย และเมื่อประกอบด้วยปัญญาแล้ว
ก็ทำให้ทำบุญได้โดยถูกต้อง ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการของพระพุทธเจ้า
การที่กระทำนั้นก็เป็นบุญคือความดีอันถูกต้อง แล้วก็เป็นกุศลด้วย
เพราะว่าเป็นการกระทำด้วยความฉลาด บุญกุศลจึงต้องควบคู่กันไปอยู่เสมอ
และต้องมีความสัมพันธ์กันอยู่ดั่งนี้
๗
แต่ว่าจะกล่าวว่าบุญนั้นด้อยกว่ากุศล กุศลดียิ่งกว่าบุญ
หรือว่ากุศลต่ำกว่าบุญ บุญสูงกว่า จะยกข้างใดข้างหนึ่งให้ยิ่ง ให้หย่อนกว่ากัน
ให้ยิ่งกว่ากัน หรือจะกดข้างใดข้างหนึ่งให้หย่อนกว่ากันดั่งนี้ ก็ไม่ตรง
เพราะว่าบุญที่จะเป็นบุญจริงนั้น ก็ต้องประกอบด้วยกุศล กุศลเองก็ต้องออกมาเป็นบุญ
คือเป็นการกระทำที่เป็นทานเป็นศีลเป็นภาวนาอันเรียกว่าบุญ
ซึ่งต่างต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ต้องมีทั้งสอง
ขุมทรัพย์คือบุญ
และก็ได้มีพระสูตรที่แสดงถึงผลของบุญใน นิธิกัณฑสูตร
คือสูตรที่ว่าด้วยขุมทรัพย์คือบุญ ว่าย่อมให้ประสบมนุษย์สมบัติ
รติ ความยินดีในสวรรค์ก็คือสวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ
สมบัติทั้ง ๓ นี้ย่อมได้ด้วยบุญ หรือขุมทรัพย์คือบุญ
ความที่อาศัย มิตตสัมปทา คือความถึงพร้อมด้วยมิตร
และโยนิโสมนสิการคือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ด้วยปัญญา
ได้ วิชชาวิมุติ แม้ข้อนี้ก็สำเร็จได้ด้วยขุมทรัพย์คือบุญ
ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในข้อนี้ก็แสดงว่าบุญนี้ก็ต้องประกอบด้วยกุศล
คือต้องเป็นกิจของคนฉลาด มีความฉลาดอยู่ด้วย เพราะว่าอาศัยความถึงพร้อมด้วยมิตร
เช่นพระพุทธเจ้า และอาศัยโยนิโสมนสิการ ความกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย
คือปัญญาได้วิชชาวิมุติ นี่ก็คือเป็นการปฏิบัติได้ทั้งปัญญา และทั้งวิมุติคือความหลุดพ้น
ที่ตรัสว่าได้ด้วยขุมทรัพย์คือบุญก็คือกุศลนั่นเองประกอบกันไป
สาวกบารมี ความตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ภูมิของพระพุทธเจ้า
คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมดนี้ก็ได้ด้วย บุญนฤที ขุมทรัพย์คือบุญ
ดังที่เราเรียกว่าบุญบารมี
๘
เพราะฉะนั้น ผลของบุญจึงให้ถึง ตลอดถึงมรรคผลนิพพาน
เป็นพระอรหันต์ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้า
ก็ด้วยบุญบารมี แต่ก็ต้องเข้าใจว่าต้องประกอบเป็นกุศลไปด้วยกัน
ก็เป็นอันว่าบุญที่แท้จริงนั้นจะต้องเป็นกุศล และกุศลนั้นก็จะต้องเป็นบุญ
ทั้งสองนี้จึงต้องประกอบซึ่งกันและกันอยู่ดั่งนี้ จะยกเอาฝ่ายใดหนึ่ง
ฝ่ายใดต่ำ ฝ่ายใดสูงนั้นก็ย่อมจะไม่ได้ ก็ต้องไปด้วยกัน
ขาดปัญญาแล้วก็เป็นบุญที่ถูกต้องไม่ได้
ขาดบุญคือไม่เป็นทาน ไม่เป็นศีล ไม่เป็นภาวนา
ไม่เป็นความดีต่างๆ ก็เป็นกุศลไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน
แปลความว่าความดีทุกๆอย่างที่กระทำนั้นต้องประกอบด้วยปัญญา
จึงจะเป็นความดีที่ถูกต้อง ที่จะให้ผลถูกต้องตามต้องการตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
นาบุญอันเยี่ยม
หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ที่ชื่อว่าเป็นนาบุญอันเยี่ยมนั้น
ก็หมายความว่าท่านเป็นนาของบุญกุศลดังกล่าวนั้นด้วยตนของท่านเอง
คือท่านปฏิบัติทำบุญ ทำกุศลมาเอง เทียบอย่างชาวนาที่มีนาก็ทำนาด้วยตนเอง
ให้ตนเองได้ข้าวขึ้นมา หมู่แห่งสาวกของพระพุทธเจ้านั้นทุกองค์ทุกท่านต่างก็ได้ทำบุญทำกุศล
เป็นบุญบารมีมาดังที่ยกพระพุทธภาษิตมาแสดงแล้วว่าสาวกบารมี
ด้วยตนของท่านเอง ด้วยองค์ของท่านเอง จนเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นต้น
ที่แสดงไว้ในพระสังฆคุณบทต้นๆมาโดยลำดับ
เหมือนอย่างชาวนาที่มีนาของตนเองแล้วก็ทำนา จนได้ข้าวในนาของตน
จึงจะเรียกว่ามีนาข้าว ทำข้าวของตนเอง ทำนาของตนเองสำเร็จแล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็เช่นเดียวกัน ก็ทำบุญในนาของท่านเอง
๙
คือที่กายวาจาใจของท่านเอง เป็นนาของท่านเองที่ท่านได้ทำบุญมา
บำเพ็ญบุญบารมีมาอย่างเต็มที่ดังกล่าว และท่านก็ทำมาเป็นเยี่ยมที่เรียกว่า อนุตระ
คือไม่มีนาบุญอื่นจะยิ่งกว่านั้น ก็เพราะว่านาบุญนี้ให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้
เป็นผู้ที่เสร็จกิจที่จะพึงกระทำอย่างนี้อีก คือเพื่อความสิ้นทุกข์อีก
อย่างสูงก็บรรลุมรรคผลนิพพาน ถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นนาบุญที่ยอดเยี่ยม
ไม่มีนาบุญอื่นจะยิ่งไปกว่า ถ้าจะมีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่าก็แปลว่าท่านยังปฏิบัติไม่เสร็จกิจ
ยังจะต้องปฏิบัติต่อไป แต่นี่ท่านปฏิบัติเสร็จกิจแล้ว จบศีล จบสมาธิ จบปัญญาแล้ว
สิ้นกิเลสหมดแล้ว แปลว่าถึงที่สุดแล้ว ไม่ต้องทำกิจอื่นเพื่อความเป็นเช่นนั้นอีก สิ้นสุด
จึงเรียกว่ายอดเยี่ยม ไม่มีอื่นจะยิ่งกว่า
แต่ถ้ายังมียิ่งกว่าก็จะต้องยังไม่เสร็จดังกล่าว
คำนี้จึงไม่ใช่คำอวดอ้างแต่เป็นคำจำกัดความหมายดังที่กล่าวนั้น
เพื่อให้ทราบว่าเสร็จสิ้น คือเสร็จสิ้นกิจที่จะพึงกระทำเพื่อให้สิ้นทุกข์อีกต่อไป
( เริ่ม ๑๓๒/๑ ) เพราะฉะนั้น คำว่าเป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นๆยิ่งไปกว่านั้น
ความหมายที่ ๑ คือต้องเป็นดั่งนี้ คือองค์ท่านเองทำนาเสร็จแล้ว
บำเพ็ญบุญบารมีเสร็จกิจแล้วดังกล่าว ไม่ต้องทำอีก ซึ่งแปลว่ายอดเยี่ยมคือไม่ต้องทำอีก
ถ้ายังจะต้องมีอีกก็ยังไม่เป็นอนุตระดังที่กล่าวนั้น ความหมายที่ ๑ ต้องเป็นดั่งนี้
นาบุญของโลก
จึงมาถึงความหมายที่ ๒ ว่าเป็นนาบุญของโลก
ซึ่งมีความหมายว่าเมื่อท่านทำเสร็จกิจแล้ว ท่านทำนาบุญของท่านเสร็จกิจแล้ว
ท่านก็แจกจ่ายคือแสดงธรรมะสั่งสอนตามที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน สืบต่อพระพุทธศาสนา
สั่งสอนโลกให้ทำบุญทำกุศล อันสำเร็จด้วยทานบ้าง ศีลบ้าง ภาวนาบ้างเป็นต้นดังกล่าวนั้น เหมือนอย่างชาวนาทำนาด้วยข้าวแล้ว ไม่บริโภคเองแล้ว
ก็จำหน่ายข้าวนั้นให้แก่ผู้อื่น เพื่อบริโภคต่อไป นี่เป็นความหมายที่ ๒
๑๐
และแม้ในข้อ ๒ นี่ก็ยอดเยี่ยมอีกเหมือนกัน
เพราะว่าสามารถที่จะแจกจ่ายคือแสดงธรรมะสั่งสอนให้ผู้อื่นซึ่งเป็นเวไนยนิกร
คือหมู่ชนที่พึงแนะนำได้นั้น ได้ประกอบการบุญการกุศล
ได้รับผลไปตามควรแก่ความปฏิบัติที่กระทำได้ เรียกว่าให้ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ ได้เช่นเดียวกับที่ท่านได้รับนั้น แต่ก็ต้องเป็นไปตามควรแก่กำลังปฏิบัติของตน
และสิ่งที่เวไนยนิกรคือผู้ที่ได้รับคำสั่งสอนจากพระสงฆ์ได้ปฏิบัติ และได้รับนั้น
ก็จนถึงขั้นที่เป็นยอดเยี่ยมอีกเช่นเดียวกัน คือบรรลุถึงนิพพานสมบัติได้
เพราะฉะนั้นจึงไม่มีนาบุญอื่นที่จะสอนให้ผู้ฟังได้บรรลุจนถึงนิพพานสมบัติ
แต่ว่าหมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น
เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นนาบุญของโลกที่ไม่มีนาบุญอื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า
ตามความหมายนี้จะเห็นได้ว่า
คำนี้ไม่ได้หมายเพียงข้อที่ว่ามาทำบุญแก่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เช่นมาถวายทานแก่ท่าน ทำให้ทานของตนได้รับผลมหาศาล
ซึ่งเป็นความหมายเพียงนิดเดียวในความหมายอันกว้างขวางของคำว่า
อนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นที่ยิ่งขึ้นไปกว่า
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
ความในพระสูตรที่ตรัสสอนพระราหุล
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
-คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๓๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๒/๒ ( File Tape 102 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ความในพระสูตรที่ตรัสสอนพระราหุล
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็พึงตั้งใจนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จิตตภาวนาอบรมจิตนั้นเป็นข้อสำคัญในการปฏิบัติธรรม
และเมื่อพูดว่าจิตตภาวนา ก็ย่อมนำให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงแสดงจิตตภาวนา
ระลึกถึงพระธรรมที่ทรงสั่งสอน เช่นจิตตภาวนา และระลึกถึงพระสงฆ์ซึ่งได้ปฏิบัติดีแล้ว
คือได้อบรมจิตดีแล้วตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็เรียกว่าเป็น พุทธานุสสติ
ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นพระผู้ที่ตรัสรู้ถูกชอบเองแล้วสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ด้วย
เป็น ธรรมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรมว่าย่อมรักษาผู้ปฏิบัติ ไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว
ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็จะทำให้เกิดศรัทธาความเชื่อ
ปสาทะความเลื่อมใส ตั้งมั่นในคุณของพระพุทธเจ้า ในคุณของพระธรรม
ในคุณของพระสงฆ์ ยิ่งขึ้น
ฉะนั้น เพื่อแสดงนำสติปัฏฐานการตั้งสติ พิจารณากำหนด กาย เวทนา จิต ธรรม
ก็จะได้นำความในพระสูตรที่ตรัสสอนพระราหุลพุทธชิโนรสเมื่อก่อนทรงผนวช
๒
มาแสดงเป็นวิธีปฏิบัติจิตตภาวนาอย่างหนึ่ง
สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าได้โปรดให้พระราหุลพุทธชิโนรสผนวชเป็นเณรแล้ว
ก็ได้เสด็จไปยังที่อยู่ของพระราหุล ได้ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดถวาย
และก็ได้ทรงล้างพระบาทด้วยน้ำล้างพระบาทซึ่งใส่ไว้ในภาชนะใส่น้ำ ซึ่งตั้งเตรียมไว้ถวาย
ครั้นประทับนั่งแล้วก็ตรัสสั่งให้พระราหุลมองดูภาชนะน้ำที่ทรงเทล้างพระบาทแล้ว
ว่ามีน้ำเหลืออยู่ในภาชนะนั้นเท่าไร พระราหุลก็กราบทูลว่าเหลือติดอยู่น้อย
พระพุทธเจ้าก็ตรัสอบรมว่า การพูดเท็จทั้งรู้ย่อมทำให้ไม่มีความเป็นสมณะที่แปลว่าผู้สงบ
หรือพูดอย่างง่ายๆว่าไม่มีความเป็นพระเป็นเณร หรือคฤหัสถ์ก็ไม่มีความเป็นสาธุชน
ครั้นแล้วก็ทรงเทน้ำและภาชนะใส่น้ำนั้นจนหมดสิ้น
แล้วก็ตรัสถามพระราหุลว่าในภาชนะน้ำนั้นมีน้ำเหลืออยู่หรือไม่
พระราหุลก็กราบทูลว่าไม่มี พระพุทธเจ้าก็ตรัสอบรมว่า
ไม่มีความเป็นสมณะคือความเป็นพระเป็นเณร หรือความเป็นสาธุชน
เหมือนอย่างในภาชนะน้ำไม่มีน้ำเหลืออยู่ ครั้นแล้วก็ทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น
ก็ตรัสถามพระราหุลอีกว่าในภาชนะน้ำนั้นที่คว่ำแล้วมีน้ำหรือไม่
พระราหุลก็กราบทูลว่าไม่มี และเมื่อคว่ำลงแล้วก็ไม่อาจจะเติมน้ำได้
พระพุทธเจ้าก็ตรัสอบรมว่าไม่มีความเป็นสมณะ คือความเป็นพระเป็นเณร
เป็นสาธุชนเหมือนอย่างไม่มีน้ำในภาชนะน้ำที่คว่ำนั้น
ครั้นแล้วก็ทรงหงายภาชนะน้ำนั้นขึ้น
ก็ตรัสถามพระราหุลว่ามีน้ำอยู่ในภาชนะที่หงายขึ้นแล้วนั้นหรือไม่
พระราหุลก็กราบทูลว่าไม่มี พระองค์ก็ตรัสอบรมว่าไม่มีความเป็นสมณะ
คือความเป็นพระเป็นเณรหรือเป็นสาธุชน แก่ผู้ที่พูดเท็จทั้งรู้
แม้ว่าภาชนะน้ำนั้นจะหงายก็เป็นภาชนะเปล่า
เพราะฉะนั้น ผู้ที่พูดเท็จทั้งรู้จึงไม่มีความเป็นสมณะ ไม่มีความเป็นพระเป็นเณร
ไม่มีความเป็นสาธุชน ดั่งนี้
๓
ครั้นแล้วก็ตรัสเป็นข้ออุปมาว่า
ช้างศึกของพระราชาที่ฝึกหัดให้เป็นผู้ที่เสียสละร่างกาย
ในเวลาเป็นราชพาหนะเข้าสู่สงคราม เพื่อพระราชา
ช้างที่ฝึกหัดแล้วนั้น ฝึกหัดจนถึงว่าสละกายเบื้องหน้าเบื้องหลังได้
สละเท้าหน้าทั้งสองได้ สละเท้าหลังทั้งสองได้ สละศรีษะ หูทั้งสอง งาทั้งสองได้ สละหางได้
แต่ยังรักษางวงไว้อยู่ ยังไม่ยอมสละงวง ก็ยังไม่ชื่อว่าได้สละชีวิตเพื่อพระราชา
ต่อเมื่อฝึกจนถึงช้างศึกนั้นสละได้ทุกอย่าง จนถึงสละงวงได้
จึงจะชื่อว่าได้สละชีวิตได้เพื่อพระราชา ได้ตรัสอุปมาไว้ดั่งนี้
ก็พิจารณาดูว่าควรจะมีความหมายว่าเมื่อเข้ามาปฏิบัติธรรมในพระธรรมวินัยนี้
จะเป็นพระก็ดี เป็นเณรก็ดี เป็นสาธุชนผู้ปฏิบัติก็ดี ก็พึงสละเพื่อปฏิบัติธรรมได้ทุกอย่าง
แม้แต่ว่าพูดเท็จทั้งรู้ แม้ว่าเพื่อที่จะเป็นการขบขัน ยิ้มหวัว ก็ไม่ควรทำ
และก็เท่ากับว่าการที่ยังพอใจสนุกสนานเฮฮา พูดยั่วกันเล่น พูดหัวเราะเล่นด้วยการพูดเท็จ
ก็เหมือนอย่างว่ารักษาศีลข้ออื่นได้แล้วแต่ว่ายังรักษาวาจาให้เป็นสัจจะวาจาไว้ไม่ได้
ดั่งนี้ก็เป็นอันว่ายังไม่ชื่อว่าได้สละทั้งหมดเพื่อปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นจึงต้องรักษาวาจา ไม่พูดพล่อยๆ
เมื่อพูดอะไรออกไป หรือว่าจะรับคำอย่างไรออกไป
ก็ต้องให้เป็นวาจาจริง ให้เป็นพูดจริง ไม่พูดเท็จแม้เพื่อที่จะยิ้มหวัวขบขันกัน
เพราะว่าเมื่อยังพูดเท็จอยู่ก็ยังไม่ตรัสว่าจะปฏิบัติกรณียะคือกิจที่ควรทำ
อันเรียกว่าปฏิบัติธรรมได้ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระเป็นเณรหรือเป็นฆราวาส
จึงต้องรักษาสัจจะคือความจริง ความจริงใจแก่ตัวเอง
ในการที่จะพูดอะไรออกไปก็ให้พูดจริง หรือเมื่อไม่ควรพูดก็นิ่งเสีย
และเมื่อจะรับอะไร ว่าอย่างไร ก็รักษาวาจา รักษาสัญญาที่รับไว้นั้น ปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นมา
๔
พระพุทธเจ้าครั้นทรงโอวาทดั่งนี้แล้ว ก็ได้ตรัสถามพระราหุลว่า
แว่นส่องซึ่งในครั้งนั่นกระจกเงาสำหรับส่องเหมือนอย่างบัดนี้คงไม่มี
เมื่อต้องการจะใช้ส่องดูเงาหน้าของตัวเอง ก็ต้องใช้แว่นส่อง
คือใช้โลหะหล่อเป็นแผ่น ขัดให้เป็นเงาสำหรับที่จะส่องดู
จึงได้ตรัสถามว่าแว่นส่องนั้นมีไว้ทำไม พระราหุลก็กราบทูลว่ามีไว้เพื่อดู พิจารณา
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ฉะนั้นก็ให้ดูให้พิจารณา กายกรรม การที่กระทำทางกายของตน
วจีกรรม การที่กระทำทางวาจาคือพูดของตน มโนกรรม การที่กระทำทางใจคือคิดของตน
ดูให้เห็นว่าเป็นอกุศลหรือไม่
ถ้าเป็นอกุศลคือไม่ดี มีโทษ ก็ให้รู้ว่าเป็นอกุศลไม่ดี มีโทษ
แต่ว่าได้ตรัสจำแนกไว้อย่างพิสดาร
คือว่าให้ดู พิจารณาตั้งแต่ก่อนจะทำ ในขณะที่ทำ และทำแล้ว
ว่าการที่ทำนั้นๆ คือที่จะทำ หรือที่กำลังทำ หรือที่ทำแล้วทางกายทางวาจาทางใจ
เป็นอกุศลมีโทษ เป็นอกุศลไม่ดีมีโทษ เมื่อดูพิจารณาก็ย่อมจะรู้
และเมื่อรู้แม้ว่ายังไม่ทำ และอาจจะทำได้ ก็งดเว้นเสียไม่ทำ
เมื่อกำลังทำอยู่ก็เลิกไม่ทำต่อไป ถ้าทำไปแล้วก็อย่าปกปิด
ให้แจ้งแก่ครูบาอาจารย์เพื่อนปฏิบัติธรรมด้วยกันทราบ
และแสดงความตั้งใจที่จะสำรวมระวังต่อไป
และต่อจากนั้นก็ได้ตรัสสอนให้พระราหุลดู
พิจารณา ว่ากรรมทางกายทางวาจาทางใจ
คือการที่ทำทางกายทางวาจาทางใจ ก่อนจะทำก็ดี กำลังทำก็ดี ทำแล้วก็ดี
ก็ให้ดูพิจารณา เมื่อดูพิจารณาก็ย่อมจะเห็นว่าเป็นอย่างไร
ถ้าหากว่าเป็นกุศลคือเป็นความดี และมีประโยชน์ ก็ให้ทำ และเมื่อทำก็ทำต่อไปให้สำเร็จ
และเมื่อทำแล้วก็ตั้งใจว่าจะทำกรรม คือการที่ทำทางกายทางวาจาทางใจที่เป็นกุศลคือเป็นความดีเป็นส่วนดี และที่มีคุณมีประโยชน์ต่อไปอีก ดั่งนี้
๕
ก็ตรัสว่าสมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติธรรม
ในอดีตก็ดี ในปัจจุบันก็ดี ในอนาคตต่อไปข้างหน้าก็ดี
ก็ย่อมจะต้องดูพิจารณาเหมือนอย่างนี้ เหมือนอย่างส่องดูเงาหน้าในกระจกเงา
เมื่อเห็นหน้าของตนในกระจกเงาในบัดนี้หรือในแว่นส่องในครั้งโน้น
ไม่สะอาดต่างๆก็ชำระให้สะอาด และรักษาความสะอาดไว้ต่อไป
เพราะฉะนั้น ก็ต้องดูพิจารณากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
คือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจของตนอยู่ตลอดเช่นเดียวกัน
ให้ละส่วนที่ชั่ว ที่เป็นโทษ ให้ทำแต่ส่วนที่ดีที่เป็นคุณประโยชน์ต่างๆ
หากจะถามว่าสำหรับการที่จะดูเงาหน้าของตัวเองนั้น ใช้แว่นส่อง
แต่การที่จะดูพิจารณากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของตน จะใช้อะไรส่องดู
ก็ตอบว่าใช้จิตใจนี้เองดู และจิตใจนี้ที่จะดูพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงได้
ก็ต้องเป็นจิตใจที่ประกอบด้วยสติ คือความระลึกได้ ความกำหนด และปัญญาคือความรู้จัก
สติและปัญญาทั้งคู่นี้เป็นธรรมะสำคัญที่ทุกคนจะต้องมี
สติท่านแปลว่าความระลึกได้ มีลักษณะเป็นตัวความกำหนด
กำหนดดู กำหนดใจดู พิจารณาดู ในสิ่งที่ต้องการจะรู้
และเมื่อดูพิจารณาด้วยสติดั่งนี้ ก็ย่อมจะเกิดปัญญาคือรู้ได้
( เริ่ม ๑๓๒/๒ )
เหมือนอย่างว่าในการฟังธรรมะที่อบรมนี้ ที่ผู้อบรมก็แสดงเป็นเสียงเป็นภาษาออกไป
และผู้ฟังทั้งหลายก็ฟังด้วยหู เพราะเสียงก็ย่อมจะกระทบโสตประสาทคือหู
แต่ว่าจิตใจต้องฟังด้วย คือจิตใจต้องตั้งใจฟังในคำที่พูดนี้ทุกคำ ไม่ส่งใจไปคิดในเรื่องอื่น
ถ้าส่งใจไปคิดในเรื่องอื่นเมื่อใด หูก็ดับ ไม่ได้ยินคำที่พูดนี้
ต่อเมื่อไม่ส่งใจไปในเรื่องอื่น ตั้งใจฟัง และกำหนดใจฟังอยู่ที่เสียงที่พูด
เสียงที่พูดนี้เมื่อกระทบโสตประสาทแล้ว ก็จะเข้าไปถึงจิตใจ
จิตใจก็จะได้ยินไปพร้อมกับหูว่าพูดว่ากระไร เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะได้ความรู้
รู้ว่ากำลังพูดเรื่องอะไร พูดว่าอย่างไร
๖
ดั่งที่ได้พูดมาโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น
เล่าถึงพระพุทธเจ้าทรงสอนพระราหุล ตั้งต้นแต่ให้พระราหุลดูภาชนะน้ำล้างพระบาท
ว่ามีน้ำเหลือไม๊ ตามที่ได้แสดงมาแล้ว แล้วก็ตรัสอบรมว่าน้ำไม่มีเหลือ
ก็เหมือนอย่างไม่มีความเป็นสมณะเหลืออยู่แก่ทั้งพระ ทั้งเณร
และแก่ทั้งสาธุชนผู้ปฏิบัติธรรมที่พูดเท็จ ทั้งรู้ แม้ว่าจะพูดเล่นก็ตาม
ก็ย่อมจะได้ฟังและรู้เรื่องมาโดยตลอดว่า พระพุทธเจ้าท่านอบรมว่าอย่างงี้ๆ
จนถึงอบรมว่าพระราหุลรู้จักแว่นส่องไม๊ มีประโยชน์อะไร
พระราหุลก็ตอบได้ว่ามีประโยชน์สำหรับส่องพิจารณา
พระองค์ก็ตรัสเข้ามาว่าให้พิจารณาดูการที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจอยู่เสมอ
ตามที่แสดงแล้ว ไม่ดีก็งดเว้นเสียไม่ทำ ที่ดีก็ทำต่อไป
เมื่อมีความตั้งใจฟัง กำหนดฟังเสียงที่แสดงนี้อยู่ตลอด ก็ย่อมจะได้ปัญญาคือตัวความรู้
คือรู้เรื่องนั่นเองว่าสอนว่าอย่างไร อบรมว่าอย่างไร
เพราะฉะนั้น จึงให้รู้จักหน้าตาของธรรมะดั่งนี้ ตั้งใจฟังนั่นเป็นสมาธิ
กำหนดใจฟังนั่นเป็นตัวสติ รู้เรื่องนี่เป็นตัวปัญญา
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงต้องมีสติ มีปัญญา
และก็ประกอบด้วยสมาธิดังที่กล่าวนั้น แต่พูดสั้นๆก็มีสติมีปัญญา
ซึ่งมีสมาธิรวมอยู่ด้วย และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะได้ชื่อว่าการปฏิบัติธรรม
และในการปฏิบัติธรรมนั้นก็ชื่อว่าเป็นการสละเพื่อพระพุทธเจ้า
คือสละความชั่วนั่นเอง และกระทำความดี
และก็ต้องมีความสำรวมที่จะไม่ประพฤติผิดแม้เพื่อเล่น เพื่อหัวเราะ
เช่นพูดเล่นพูดเท็จเพื่อยั่วกันหัวเราะกัน เหมือนอย่างที่ทรงเปรียบด้วยช้างศึกของพระราชา
ต้องสละเพื่อพระราชาได้ทุกอย่างแม้แต่งวง แต่อื่นๆสละได้หมด แต่ยังรักษางวงเอาไว้
เหมือนอย่างว่ายังพูดเท็จเพื่อหัวเราะยั่วเย้ากันอยู่
ขาดความสำรวมดั่งนี้ก็เป็นอันว่ายังสละได้ไม่หมด คือสละความชั่วได้ไม่หมด
๗
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นก็ต้องปฏิบัติเพื่อสละความชั่วได้ทั้งหมด
จะไม่ทำความชั่วแม้ว่าเพื่อเล่น เพื่อยั่วเย้ากันเป็นการสนุก
และการกระทำความชั่วเพื่อความสนุกสนานของคนเราก็มีอยู่เป็นอันมาก
เช่นว่าไม่ได้มีความโกรธแค้นอะไร แต่ว่าเที่ยวยิงสัตว์เล่นเป็นการกีฬา
เบียดเบียนสัตว์เล่นเป็นการกีฬา เหล่านี้เป็นต้น
ก็เช่นเดียวกับการที่พูดเท็จเพื่อที่จะหัวเราะเล่นกัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
เพราะฉะนั้นผู้ที่ปฏิบัติธรรมะนั้นจึงต้องอาศัยปฏิบัติให้เป็นผู้มีสติมีปัญญาดั่งนี้
และการมีสติมีปัญญานั้น
ในการปฏิบัติธรรมนั้นก็คือการมีสติมีปัญญาเข้ามาดู
เหมือนอย่างเป็นแว่นส่องสำหรับส่องดูการที่ทำของตัวเอง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ
หัดส่องแว่นดูตัวเองคือความประพฤติที่เป็นไปทางกายทางวาจาทางใจนี้
อาศัยจิตนี้เองที่ประกอบด้วยสติปัญญา พร้อมทั้งความตั้งใจซึ่งเป็นตัวสมาธินั้น
ดูเข้ามา ก็ย่อมจะเห็นได้ทุกคน ว่านี่ดีควรทำ นี่ชั่วไม่ควรทำ
และเมื่อดูเห็นซึ่งเป็นตัวปัญญาว่าชั่วก็ละเสีย เมื่อดูเห็นว่าดีก็กระทำ
การปฏิบัติดั่งนี้แหละ ก็เป็นการปฏิบัติเข้าหลักสติปัฏฐานคือตั้งสติ
ซึ่งจะต้องมีการตั้งสติดูกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของตัวเองดังกล่าวนี้
เป็นหลักทั่วๆไป เป็นพื้นฐาน แล้วก็ตั้งสติในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ที่ประณีตยิ่งขึ้นไป
อันเป็นไปเพื่อสำหรับ เพื่อศีล เพื่อสมาธิ เพื่อปัญญา อันยิ่งๆขึ้นไป
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*