ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 10:27
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป072
พระพุทธคุณบทว่าภควา (๕)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ปริยัติ เบื้องต้นของปฏิบัติ ๒
สัทธรรมปฏิรูป ๓
วิปัสสนาญาณ ๕
ผู้มีราตรีอันเจริญ ๕
อำนาจของฉันทราคะ ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๙๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๒/๑ ( File Tape 72 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระพุทธคุณบทว่าภควา (๕)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าภควา ในความหมายว่าผู้จำแนกแจกธรรมนำ
พระบรมศาสดาได้ทรงจำแนกแจกธรรมอันเป็นปริยัติ และปฏิบัติ
ซึ่งได้แสดงมาโดยปริยายคือทางอันหนึ่ง ซึ่งมุ่งทางปฏิบัติ ทางปัญญา หรือทางวิปัสสนา
ดังที่เรียกว่าวิปัสสนาญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ อันเป็นเหตุเห็นแจ้งเห็นจริง
วิปัสสนาญาณนี้เป็นปัญญาสิกขา ซึ่งเป็นยอดของสิกขาทั้ง ๓
ปริยัติ เบื้องต้นของปฏิบัติ
การปฏิบัติธรรมะ เมื่อปฏิบัติให้ถึงปัญญาจึงจะเห็นธรรม
คือสัจจะความจริงของจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ก็โดยมีปริยัติคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั่นแหละเป็นเครื่องนำ
เพราะฉะนั้น คำว่าปริยัตินี้จึงต้องเป็นเบื้องต้นของปฏิบัติ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเป็นปริยัติทั้งนั้น แต่ว่าเป็นพุทธปริยัติ
คือปริยัติของพระพุทธเจ้า และแม้คำสั่งสอนของพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ที่ท่านได้จำทรงบอกกล่าวสั่งสอนกันสืบมา จนถึงได้จารึกลงเป็นตัวอักษรเป็นหลักฐาน
และก็เล่าเรียนบอกกล่าวสั่งสอนกันต่อมา ก็เป็นปริยัติทั้งนั้น และก็นับว่าเป็นพุทธปริยัติ
สัทธรรมปฏิรูป
เว้นไว้แต่ว่าผู้ที่บอกกล่าวสั่งสอนกันต่อมานั้น
บอกกล่าวสั่งสอนผิดไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็ไม่ชื่อว่าพุทธปริยัติ
แต่ว่าเป็นคำสั่งสอนที่เรียกว่ากล่าวตู่พระพุทธวัจนะ
พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสสั่งสอนเอาไว้ ก็อ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ดั่งนี้ก็ไม่ใช่เป็นพุทธปริยัติ เป็นสัทธรรมปฏิรูป สัทธรรมปลอม
และแม้ว่าจะไม่อ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
แต่ครูอาจารย์ที่สั่งสอนกัน กล่าวสั่งสอนหรืออธิบายผิดไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ไม่ไปตามคลองธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ชื่อว่าเป็นพุทธปริยัติเหมือนกัน
เป็นความเห็นของอาจารย์นั้นๆเอง ไม่ใช่เป็นพุทธปริยัติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
เพราะฉะนั้น ท่านที่มีความเคร่งครัดต่อความที่จะกล่าวผิดไปจากพระพุทธวัจนะ
จึงต้องอ้างพระพุทธวัจนะว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ๆ อันมีที่มาจากสัตถุศาสน์
ซึ่งบัดนี้ก็จารึกเป็นตัวอักษรคือพระไตรปิฎก อันเป็นที่รับรองนับถือกันทั่วไป
ที่จะต้องมีที่อ้างพระพุทธวัจนะจากพระไตรปิฎก
เพราะฉะนั้นธรรมเนียมที่พระเทศน์จึงต้องมีบทอุเทศ คือเป็นพระพุทธภาษิต
หรือสาวกภาษิต เป็นบาลี ตั้งนโมสามจบ แล้วก็ยกเอาพุทธภาษิต หรือสาวกภาษิต
อันรวมเรียกว่าพุทธศาสนสุภาษิตเป็นบาลีขึ้นเป็นบทอุเทศ คือเป็นหัวข้อแล้วก็แสดงไป
อันเป็นเครื่องแสดงว่าพระผู้แสดงนั้นไม่ได้ว่าเอาเอง
แต่ว่าเป็นการแสดงอธิบายตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และก็ต้องระวังไม่ให้ออกนอกทาง
พระพุทธาธิบายคือความประสงค์ของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสสอนไว้นั้น
และเมื่อได้มีพระพุทธภาษิตเป็นที่อ้างอิงแน่นอนซึ่งผู้ฟังผู้ศึกษาได้ทราบ
แม้ว่าผู้อธิบายจะอธิบายผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่หัวข้อที่ตั้งไว้นั้นเป็นหลัก
อันทำให้ผู้รู้ที่ใคร่ครวญก็สามารถจะรู้ได้ ว่าอธิบายไปผิดถูกอย่างไร
เพราะมีธรรมะที่เป็นแม่บทตั้งอยู่ข้างหน้า เป็นแนวให้ผู้ที่มีปัญญาใคร่ครวญรู้ได้
เพราะฉะนั้น เมื่อยังอิงพระพุทธวัจนะพุทธศาสนสุภาษิตอยู่เป็นหลัก
โดยที่ยกออกมาให้ปรากฏแก่ผู้ฟัง และผู้แสดงก็แสดงไป
ก็ย่อมจะยังพอรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงเป็นความถูกต้องอยู่ได้
แต่ว่าถ้าจะทิ้งเสียหมด ไม่มีอ้างอิงพระพุทธวัจนะหรือพุทธศาสนสุภาษิต
และแสดงอธิบายไปๆ ตามอัตโนมัติ คือตามความรู้ความเห็นของตนแต่อย่างเดียว
ถ้าหากว่าถูกก็ถูกไป ถ้าว่าผิดก็ทำให้เป็นสัทธรรมปฏิรูปขึ้นโดยที่ผู้แสดงไม่จงใจก็ได้
แต่ว่าเพราะรู้เห็นมาอย่างนี้ ก็แสดงไปอย่างนี้ๆ ถ้าหากว่ารู้เห็นถูกก็ถูก ถ้ารู้เห็นผิดก็ผิด
เพราะฉะนั้นพระเถระผู้ที่เคร่งครัดมาตั้งแต่อดีตท่านจึงประหยัดตนในข้อนี้
ต้องพึ่งพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ในการแสดง อ้างเอาพระพุทธวัจนะ
เป็นหลักฐานยืนยันอยู่ตลอดมา
เพราะฉะนั้น การที่อ้างนั้นจะว่าเป็นปริยัติก็เป็นปริยัติ
แล้วก็เป็นปริยัติจริงๆ เป็นพุทธปริยัติ และแม้คำสั่งสอนของใครๆที่สั่งสอน
เมื่อเป็นวาจาออกมาก็เป็นปริยัติทั้งนั้น แต่ว่าขอให้เป็นพุทธปริยัติ
หรือว่าเป็นพุทธศาสนปริยัติ อย่าให้เป็นนอกศาสนา เป็นสัทธรรมปฏิรูป ก็ใช้ได้
เพราะฉะนั้น การศึกษาให้รู้จักพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอรรถะคือเนื้อความ
ให้เข้าใจธรรมะคือข้อธรรมอันถูกต้องจึงเป็นข้อสำคัญ
จะทำให้การปฏิบัติธรรมเป็นธรรมานุธรรมะปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ปฏิบัติไม่ผิดไปจากพุทธปริยัติดังกล่าว
วิปัสสนาญาณ
( เริ่ม ๙๒/๑ ) วิปัสสนาญาณนี้เป็นจุดหมายอันสำคัญ
ที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ให้ถึงน้อยหรือมาก พระพุทธเจ้าก็ได้จำแนกแจกธรรม
คือทางแสดงทางปฏิบัติ เพื่อที่จะให้ได้วิปัสสนาญาณดังกล่าวนี้
ดังที่ได้แสดงอธิบายมาโดยลำดับ โดยอ้างเอาพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ถึง
ไม่พะวงคิดถึงธรรมะที่เป็นอดีต ไม่หวังถึงธรรมะที่เป็นอนาคต
เห็นแจ้งปัจจุบันธรรมในที่นั้นๆ ในกาลนั้นๆ ในอารมณ์นั้นๆ เป็นการปฏิบัติหักกิเลสดับกิเลส
หักใจหรือดับใจ ดับตัวเรา ดับนามรูป ที่เป็นส่วนอดีต ที่เป็นส่วนอนาคต
เห็นปัจจุบันธรรมเป็นอนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ อนัตตาไม่ใช่ตัวตน
ก็เป็นการดับกิเลสดับใจในปัจจุบันธรรม
พระพุทธภาษิตที่อ้างและอธิบายมาโดยสังเขป โดยยกเอาเรื่องดับกิเลสดับใจเข้ามารวมอยู่
ก็โดยที่ได้ยกเอาจากพระพุทธพยากรณ์ปัญหาของอชิตะมานพที่ตรัสสอนโดยความที่ว่า
เพราะดับวิญญาณ ที่ใช้เรียกในภาษาไทยง่ายๆว่าดับใจได้ ก็ดับนามรูปได้
ทั้งดับสติปัญญาที่ปฏิบัติเพื่อดับใจนั้นได้ด้วย ในข้อนั้นๆ ในเรื่องนั้นๆ
ในอารมณ์นั้นๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติอันเดียวกัน
ผู้มีราตรีอันเจริญ
และเรื่องไม่หน่วงถึงอดีตไม่หวังถึงอนาคตนั้น
ก็เป็นพระพุทธภาษิตที่ตรัสแสดงไว้ เรียกว่า ภัทเทกรัตตสูตร
พระสูตรที่ว่าด้วยมีราตรีเดียวอันเจริญ พระสูตรนี้เป็นคาถาพุทธภาษิตไม่ยาวนัก
และถือว่าเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแจกแจงแสดงไว้
เพราะฉะนั้น จึงจะยกเอาพระคาถานี้มาแปลให้ฟัง ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆนั้น
อันเป็นที่นับถือว่าเป็นพุทธภาษิตว่าอย่างไร ได้ตรัสไว้ว่า
อตีตัง นานวา กมยะ ไม่พึงพวงถึงหน่วงเหนี่ยวใจถึงธรรมะหรือส่วนที่เป็นอดีตคือล่วงไปแล้ว
นับปติกังเค อานาคตัง ไม่หวังถึงธรรมะหรือส่วนที่เป็นอนาคตยังไม่มาถึง
ยทะตีตัง ปหินันตัง ส่วนที่เป็นอดีตก็ล่วงไปแล้ว
อัปปัตตัญจะ อนาคตัง ส่วนที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง
ปัจจุปันนัญจะโยธัมมัง ส่วนปัจจุบันธรรมคือธรรมะ หรือส่วนที่เป็นปัจจุบัน
สัตถะ สัตถะ วิปัสติ เห็นแจ้งในที่นั้นๆ ในกาลนั้นๆ ในอารมณ์นั้นๆ
อสังหิรัง อสังกุปัง ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน
ตังวิพาวะตะปรูหะเย พึงเจาะแทงปัจจุบันธรรมนั้น พอกพูนความเจาะแทงนั้น
อัชเฌวกิจจะมาตัปปัง ความเพียรพึงเร่งรีบกระทำในวันนี้ทีเดียว
โกณทัญญา มรณังสเว ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาแต่วันพรุ่งนี้
นหิโนสังกรันเตนะ มหาเสเดนะมัจจุนา ความผัดเพี้ยนด้วยความตาย อันมีเสนาใหญ่มิได้เลย
อัชเฌวกิจจะมาตัปปัง โกณทัญญา มรณังสเว นหิโนสังกรันเตนะ มหาเสเดนะมัจจุนา
เอวังวิหาเรมาตาปิง ผู้ที่มีความเพียรไม่ย่อหย่อนอยู่อย่างนี้
อโหระตะ มะตันตีตัง ทั้งกลางวันและกลางคืน
ตังเวภัทเทกรัตโตติ สันโตอจิตขเตมุนี
พระมุนีเรียกผู้ที่มีความเพียรไม่ย่อหย่อนนั้นว่าเป็นผู้สงบ เป็นผู้ที่มีราตรีเดียวเจริญ ดั่งนี้
นี้เป็นพระพุทธภาษิตที่เป็นคาถาซึ่งบรรจุถ้อยคำไม่มาก
แต่ว่าแสดงแนวปฏิบัติเป็นอย่างดียิ่ง และเพราะเหตุที่แนวปฏิบัติที่แสดงไว้ในพระพุทธภาษิตนี้
เมื่อปฏิบัติไปตามนี้แล้ว ก็จะเป็นผู้ที่มีความเจริญใจตลอดราตรี
ซึ่งมีความหมายว่าตลอดทั้งกลางวันกลางคืนนั่นแหละ
เพราะว่าจิตใจนี้เมื่อมิได้อบรมตามพระพุทธภาษิตนี้
ย่อมเป็นจิตใจที่ประกอบไปด้วยอกุศลวิตกต่างๆ หน่วงเหนี่ยวถึงอดีตบ้าง
หวังถึงอนาคตบ้าง ง่อนแง่นคลอนแคลน ยินดียินร้ายอยู่ในปัจจุบันธรรมบ้าง
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นจิตใจที่กระสับกระส่ายวุ่นวายไม่สงบ มีทุกข์อยู่ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน
แต่ถ้าปฏิบัติตามพระพุทธภาษิตนี้ดับหรือหักกิเลส ดับหรือหักใจในส่วนที่เป็นอดีต
ในส่วนที่เป็นอนาคต และในส่วนที่เป็นปัจจุบันได้ ก็จะเป็นผู้ที่มีจิตใจสงบ
มีจิตใจมีความสุข ตลอดวันตลอดคืน
ยกเอากลางคืนขึ้นเป็นที่ตั้ง ก็แปลว่าทั้งคืนก็จะมีจิตใจที่สงบ มีสุขอยู่ตลอด
ทั้งปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม แปลว่าตลอดราตรีจิตใจเป็นจิตใจที่เจริญ
ด้วยความสุขอันเกิดจากความสงบเป็นอันเดียวกันหมด
เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ภัทเทกรัตตสูตร เป็นพระสูตรที่ตรัสสอนทางปฏิบัติ
ที่จะให้มีความสุขอันเกิดจากความสงบอยู่ตลอดคืนตลอดวัน
หรือยกเอาราตรีขึ้นมาก็ตลอดราตรี
อำนาจของฉันทราคะ
พระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงตรัสแสดงอธิบาย
พระอานนท์ก็ได้แสดงอธิบายตามที่ได้ยกมาแสดงอธิบายไว้ในครั้งก่อนๆนั้นแล้ว
และท่านพระมหากัจจายนะก็ได้แสดงอธิบาย ซึ่งท่านเน้นอยู่ที่วิญญาณคือใจ
ซึ่งมีปฏิพัทธ์คือความผูกพันด้วยอำนาจของฉันทะราคะความพอใจยินดีติดอยู่
หากว่ามีปฏิพัทธ์คือใจมีปฏิพัทธ์อยู่ใน ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส
กายและโผฏฐัพพะคือสิ่งที่ถูกต้อง มโนคือใจและธรรมะคือเรื่องราว
อันเป็นส่วนอดีตคือล่วงไปแล้วก็ย่อมจะมีความอภินันท์ยินดีเพลิดเพลินอยู่ในส่วนที่เป็นอดีตนั้น
หากมีปฏิพัทธ์อยู่ในตากับรูปเป็นต้นอันเป็นส่วนอนาคต ด้วยหวังที่จะได้ในส่วนที่ยังไม่ได้
ก็ย่อมที่จะมีอภินันท์เพลิดเพลินไปในส่วนที่เป็นอนาคตนั้น
ในปัจจุบันก็คือตากับรูปเป็นต้นที่เป็นปัจจุบัน หากว่าจิตมีปฏิพัทธ์ ก็ย่อมจะมีอภินันท์ยินดี
เพลิดเพลินอยู่ในส่วนที่เป็นปัจจุบันนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ยังง่อนแง่นคลอนแคลน
เพราะฉะนั้นก็ต้องดับใจที่เป็นปฏิพัทธ์ในส่วนที่เป็นอดีต ในส่วนที่เป็นอนาคต
และแม้ส่วนที่เป็นปัจจุบัน จะปฏิบัติดั่งนี้ได้ก็จะต้องทำสติคือความกำหนด
ปัญญาคือความรู้ ให้รู้จักอดีตว่าล่วงไปแล้ว ให้รู้จักอนาคตว่ายังไม่มาถึง
และให้รู้จักปัจจุบันว่าเป็นอนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ อนัตตาไม่ใช่ตัวตน
โดยเจาะแทงตัวเราลงไปให้เห็นนามรูป ให้เห็นขันธ์ ให้เห็นอายตนะ
ว่าเป็นสักแต่ว่านามรูป สักแต่ว่าเป็นขันธ์ เป็นอายตนะ
เป็นสิ่งที่เป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นอนัตตา
เมื่อเป็นดั่งนี้วิปัสสนาญาณจึงจะปรากฏ
เป็นความหยั่งรู้ถึงไตรลักษณ์ เป็นความเห็นแจ้งในไตรลักษณ์
เมื่อวิปัสสนาญาณปรากฏขึ้น ใจอันประกอบด้วยปฏิพัทก็ดับ ตัวปฏิพัทก็ดับ
ตัวเราและนามรูปในเรื่องนั้นก็ดับ ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยปัญญา พร้อมทั้งสติ
คือสติปัญญาที่เป็นข้อปฏิบัติเพื่อที่จะให้ได้วิปัสสนาญาณอันเป็นความเห็นแจ้ง
และเมื่อได้วิปัสสนาญาณขึ้นมา กิเลสก็ดับ ใจนั้นก็ดับ นามรูปนั้นก็ดับ
ก็จะได้วิชชาวิมุติอันเป็นความรู้พ้น และจะได้ปัญญาที่เป็นวิชชาวิมุติสืบต่อไป
เพราะฉะนั้นปัญญานั้นจึงมี ปัญญาหน้า ปัญญาหลัง มีปัญญาที่สืบต่อไป
ปัญญาหน้านั้นก็คือปัญญาเพื่อที่จะได้ตัววิปัสสนาญาณ เพื่อที่จะดับ เพื่อที่จะหักดังกล่าว
และเมื่อหักดับได้แล้วก็ได้ปัญญาที่เป็นตัววิชชาวิมุติรู้พ้น
และเมื่อได้ปัญญาที่เป็นวิมุติรู้พ้นก็ได้ปัญญาที่เป็นตัวรู้สืบต่อไป
เมื่อว่าอย่างสูง ปัญญาหน้านั้นก็เป็นปัญญาที่เป็นมรรค
ปัญญาหลังก็เป็นปัญญาที่เป็นผล ปัญญาที่สืบต่อไปก็เป็นนิพพาน
เปรียบเหมือนอย่างว่า การเรียนหนังสือเพื่อให้อ่านหนังสือออก นั่นเป็นปัญญาหน้า
เมื่ออ่านหนังสือออก อ่านหนังสือได้ก็เป็นปัญญาหลัง
และเมื่อได้ปัญญาหลังคืออ่านหนังสือออก ก็อ่านได้ตลอดไป นั่นเป็นปัญญาที่เป็นนิพพาน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
พระพุทธคุณบทว่าภควา (๖)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
จิต วิญญาณ ธาตุรู้ ๔
ภวังคจิต ๕
อุปาทานขันธ์ ๖
นามรูป ๗
หน้าที่ของนาม ๘
รูปเรื่อง อารมณ์ ๖ ๙
หัดดูให้รู้จักนามรูป ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๙๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๒/๒ ( File Tape 72 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระพุทธคุณบทว่าภควา (๖)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าภควา
ในความหมายว่าผู้คบ ผู้เสพ ผู้กระทำให้มาก ซึ่งธรรมะทั้งหลายนำ
พระบรมศาสดาได้ทรงได้พระนามว่าภควาในความหมายดังกล่าว
คือเป็นผู้คบ ก็คือดังที่เรียกว่าคบหาสมาคมกับธรรมะ
ผู้เสพก็คือผู้ที่ส้องเสพ ก็ความหมายว่าคบหานั่นแหละ ซึ่งธรรมะทั้งหลาย
ผู้กระทำให้มาก ก็คือกระทำการคบหาส้องเสพธรรมะทั้งหลาย อันหมายถึงกุศลธรรมทั้งปวง
ทรงคบหาส้องเสพกุศลธรรมทั้งปวงอยู่เป็นวิหารธรรม คือธรรมะเป็นเครื่องอยู่ของจิต
เป็นส่วนทิพยวิหาร วิหารธรรมที่เป็นทิพย์ พรหมวิหาร วิหารธรรมที่เป็นพรหม
อริยวิหาร วิหารธรรมที่เป็นอริยะคือประเสริฐเจริญ
ทรงส้องเสพกายวิเวกความสงัดกาย จิตตวิเวกความสงัดจิตใจ อุปธิวิเวกความสงัดกิเลส
ทรงส้องเสพวิโมกข์ความหลุดพ้น อันเป็นสุญญตะวิโมกข์ความหลุดพ้น
ด้วยการพิจารณาว่าเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ว่างจากอัตตาตัวตน
อนิมิตตะวิเวกความหลุดพ้นด้วยพิจารณาอนิจจะคือไม่เที่ยง
จึงไม่มีความเที่ยง ไม่มีสิ่งเที่ยง เป็นนิมิตหมายในสังขารทั้งหลาย
ทรงคบหาส้องเสพ อัปปนิขิตะวิโมกข์ ความหลุดพ้นด้วยพิจารณาว่าเป็นทุกข์
ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปแห่งสังขาร ...
( เริ่ม ๙๒/๒ ) ทรงรู้แจ่มแจ้งในความว่างจากอัตตาตัวตนในธรรมะทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นสังขาร และทั้งที่เป็นวิสังขาร มิใช่สังขารคือนิพพาน
ทรงรู้ในความที่ไม่มีนิมิต คือไม่มีความเที่ยงที่จะพึงมีนิมิตหมายอยู่ในสังขารทั้งหลาย
ทรงรู้ในความที่เป็นทุกข์ไม่มีสุขตั้งอยู่ในสังขารทั้งหลาย
ได้ทรงมีวิชชาวิมุติความรู้ความพ้น ซึ่งเรียกว่าความรู้พ้นรวมกันอย่างสั้นๆ
เป็นวิหารธรรมคือเป็นธรรมะเป็นเครื่องอยู่
เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงหักกิเลสได้ ทรงดับกิเลสได้ ทรงหักใจได้ ทรงดับใจได้
ดังที่ได้แสดงมาแล้ว
และทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน ก็ทรงจำแนกแจกแสดง
ธรรมะที่ทรงได้คบหาปฏิบัติส้องเสพกระทำให้มากมาแล้วนั่นแหละ เพื่อที่เวไนยนิกร
คือหมู่แห่งชนที่พึงแนะนำได้ จะได้ปฏิบัติ เพื่อหักกิเลสดับกิเลส หักใจดับใจนั่นเอง
แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความที่มาตั้งใจปฏิบัติเสพคบกระทำให้มาก
ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ได้ทรงสั่งสอนไว้แล้ว
เพื่อให้ได้ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ที่เห็นแจ้ง
หรือญาณทัสสนะความรู้ความเห็น ในสัจจะคือความจริงของสิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี้แหละ
เพราะฉะนั้น จึงต้องปฏิบัติเจาะแทงขบคิด ลงไปที่จิตนี้ ให้รู้จักจิตนี้ตามความเป็นจริง
การที่จะรู้จักจิตนี้ตามความเป็นจริงได้ก็ต้องอาศัยฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วมาปฏิบัตินั้นเอง
จิต วิญญาณ ธาตุรู้
พระองค์ได้ทรงสั่งสอนที่จะได้ความรู้ที่เจาะแทงเข้าไปในจิต
เพราะฉะนั้น จึงจะได้กล่าวย้ำถึงเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
คำว่าจิตนี้ก็เป็นคำที่เป็นบัญญัติ เป็นภาษาบัญญัติเรียกถึงธาตุรู้ที่มีอยู่ในทุกๆบุคคล
ซึ่งเมื่อเรียกว่าธาตุรู้ ก็มีพระพุทธภาษิตตรัสเรียกว่าวิญญาณธาตุ ธาตุรู้
เมื่อทรงแสดงถึงว่าบุรุษสตรีทุกคนนี้มีธาตุ ๖ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
ธาตุอากาสคือช่องว่าง และมีวิญญาณธาตุคือธาตุรู้
สำหรับธาตุ ๕ ข้างต้นเป็นธาตุที่ไม่มีความรู้ในตัว
แต่ว่ามีสรีระคือรูปร่างเป็นวัตถุ คือเป็นสิ่งที่เห็นได้ ได้ยินได้ ถูกต้องได้ เป็นต้น
ส่วนวิญญาณธาตุธาตุรู้ไม่มีสรีระรูปร่างสัณฐาน ซึ่งมีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่าจิต
ซึ่งมีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า จิตนี้ไม่มีสรีระรูปร่างสัณฐาน มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย
พระอาจารย์ได้อธิบายว่า คำว่าคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัยนั้น ก็คือมีกายนี้เป็นที่อาศัย
เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงมีกายและจิต
ธาตุ ๕ ข้างต้นรวมกันเข้าเป็นกายหรือรูปกาย วิญญาณธาตุก็เป็นจิต
จิตมีความหมายถึงวิญญาณธาตุธาตุรู้ที่มีอยู่ในกายนี้ อาศัยอยู่ในกายนี้
และจิตนี้ที่เป็นตัวธาตุรู้ ก็มีความรู้มีความคิด
เพราะฉะนั้นแม้ความรู้และความคิดนี้ ก็เรียกว่าจิตอีกเหมือนกัน
แต่ว่าจิตที่เป็นตัวความรู้หรือความคิดนี้เป็นจิตที่เป็นอาการ
ส่วนจิตที่เป็นธาตุรู้เป็นจิตที่เป็นตัวตั้ง หรือตัวเดิม และจิตที่เป็นตัวตั้งหรือตัวเดิมนี้
เป็นสิ่งที่ไม่มีสรีระรูปร่างสัณฐาน ดังที่ได้อ้างพระพุทธภาษิตมานั้น
แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ ปรากฏอาการออกมาเป็นความรู้ความคิดที่เรียกว่าจิตอีกเหมือนกัน
และจิตที่เป็นตัวตั้งหรือตัวเดิมซึ่งเป็นธาตุรู้ดังกล่าวนั้น มีเรียกในอภิธรรมว่าภวังคะจิต
คือจิตที่เป็นองค์ของภพ ก็เพราะว่าธาตุรู้ซึ่งเป็นตัวเดิมดังกล่าวเป็นผู้รู้
แต่ว่าเป็นผู้รู้ที่ยังมีภพมีชาติ
เพราะฉะนั้น จึงต้องมาเกิด ดั่งที่เมื่อมาเกิดอยู่ในหมู่สัตว์ คือหมู่ผู้ที่ยังข้องอยู่ติดอยู่
เป็นมนุษย์ เป็นเทพ ผู้ยังท่องเที่ยวอยู่ในกามคุณ หรือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก
เป็นเปรตอสุรกาย เป็นพวกผีทั้งหลาย ซึ่งเป็นพวกอบายภูมิ ก็เรียกว่ายังอยู่ในกามภพ
เมื่อปฏิบัติสมาธิได้รูปฌานไปเกิดในชั้นพรหมที่เป็นรูปพรหม ก็เรียกรูปภพ
ทำสมาธิได้อรูปฌานไปเกิดในอรูปพรหม ก็เป็นอรูปภพ
ภวังคจิต
เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นตัวผู้รู้ซึ่งยังท่องเที่ยวอยู่ในกามภพรูปภพอรูปภพดั่งนี้ ก็เป็นภวังคะ
คือยังเป็นองค์อวัยวะของภพ ก็คือยังเป็นจิตที่เป็นธาตุรู้ เป็นผู้รู้ที่ยังเป็นผู้รู้หลง
ยังประกอบด้วยอวิชชาตัณหาอุปาทานทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นจิตเช่นนี้จึงยังเป็นภวังคะจิต ยังเป็นองค์ประกอบของภพชาติ
ต่อเมื่อได้ปฏิบัติหักกิเลสดับกิเลสหักใจดับใจได้ ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อที่ดับภพดับชาติ
เมื่อดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้วก็ดับภพดับชาติต่อไปได้ ไม่ไปเกิดในภพชาติอื่นต่อไปอีก
ก็เป็นอันว่าดับภวังคะจิตต่อไปได้
แต่ว่าพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
ที่ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ ดำรงชีวิตอยู่ ยังไม่ดับขันธปรินิพพาน
ก็ยังต้องอาศัยวิบากขันธ์ วิบากภวังคะจิต ซึ่งสืบเนื่องมา อยู่ต่อไป
จนดับขันธปรินิพพาน ก็เป็นอันว่าเสร็จสิ้น สุดสิ้น
เพราะฉะนั้น จิตที่ยังเป็นภวังคะจิต ยังเป็นองค์ประกอบอยู่ของภพชาติ
คือจิตที่ยังมีกิเลสดั่งนี้แหละ ซึ่งจะต้องปฏิบัติเพื่อที่จะได้ดับใจ หรือว่าหักใจดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ก็ด้วยวิปัสสนาญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ที่เห็นแจ้งลงไปที่จิตนี้เอง
ในการที่จะจับจิตดูจิต ก็ดูได้ที่ความรู้ความคิดของตนเอง
แม้ว่าจิตจะไม่มีสรีระสัณฐาน มองเห็นด้วยตาไม่ได้
ฟังด้วยหูนี้ไม่ได้ จับต้องไม่ได้ แต่ว่าก็ดูได้รู้ได้ที่ความคิดความรู้
เพราะทุกๆคนย่อมมีความคิดความรู้อยู่ตลอดเวลาเมื่อยังตื่นอยู่ ไม่หลับ
หรือแม้หลับฝันก็ยังมีความรู้ความคิดอยู่ในฝัน
และเมื่อรู้เมื่อคิดอย่างไรตนเองก็ย่อมรู้ ว่าเรารู้อย่างนี้เราคิดอย่างนี้
เพราะฉะนั้นจึงต้องจับดูเราดังที่กล่าวมานี้ คือทีแรกดูจิต ดูความคิดความรู้ของจิต
ก็ย่อมจะรู้ว่าเราคิดอย่างนี้ เรารู้อย่างนี้ หรือว่าเรากำลังคิดอย่างนี้ เรากำลังรู้อย่างนี้
จึงเนื่องมาถึงเรา จึงต้องจับดูตัวเราว่า ตัวเราที่ว่าเราคิดอย่างนี้ เรารู้อย่างนี้
ตัวเราที่ว่านี้คืออะไร
อุปาทานขันธ์
ทีแรกก็ต้องรู้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนก่อน ว่าเป็นสมมติบัญญัติ
เป็นภาษาที่พูดกัน เมื่อหมายถึงตนเอง ก็พูดว่าเราข้าพเจ้าเป็นต้น
เป็นสมมติบัญญัติที่เป็นภาษาพูด แล้วก็เป็นภาษาที่เข้าใจกัน
พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสเทศนาก็ต้องทรงใช้ภาษาที่เป็นสมมติบัญญัตินี้
ดังเมื่อที่จะตรัสถึงพระองค์เองก็ต้องทรงรับสั่งว่าเรา
เช่นรับสั่งว่าเราเมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ก็ได้ทรงปฏิบัติอย่างนี้ๆเป็นต้น
และในการทรงแสดงธรรมะที่เป็นสมมติสัจจะความจริงโดยสมมติ
ก็ต้องทรงแสดงยกเอาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาขึ้นมาแสดง
เช่นตรัสแสดงว่าตนเป็นที่พึ่งของตน หรือว่าเราเป็นที่พึงของเรา ตัวเราเป็นที่พึ่งของตัวเรา
เพราะฉะนั้น เรานี่จึงเป็นสมมติบัญญัติ และนอกจากเป็นสมมติบัญญัติแล้ว
เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังเป็นอุปาทานคือความยึดถือ ยึดถือว่าเป็นตัวเรา
ฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจในตอนนี้ว่า เราเป็นสมมติบัญญัติ
และเราเป็นอุปาทานคือความยึดถือ ยึดถือว่าเป็นเรา
จึงต้องค้นต่อไปอีกว่ายึดถือซึ่งอะไรว่าเป็นเรา ก็ต้องตอบตามพระพุทธภาษิตว่า
ก็ยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ คือกองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ
นี่แหละว่าเป็นเรา สามัญชนต้องมีความยึดถืออยู่ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ และขันธ์ ๕ นี้ย่อเข้าก็เป็นนามรูป
เพราะฉะนั้นจึงอาจเรียกได้ว่าอุปาทานะนามรูป นามรูปเป็นที่ยึดถือนั้นเอง
ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ในวิธีพิจารณาธรรมะเพื่อให้ได้วิปัสสนาญาณ
ความหยั่งรู้เห็นแจ้ง หรือญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นอันเป็นตัวปัญญาในพุทธศาสนานั้น
ก็ตั้งต้นดังที่แสดงแล้วว่าพิจารณาดูจิต ก็คือดูความรู้ความคิด
เมื่อดูก็รู้ว่าเรารู้เราคิดอย่างนี้ๆ จึงก้าวไปพิจารณาถึงเรา เราคืออะไร อยู่ที่ไหน
ก็ต้องอาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านำนั่นแหละ ก็จะได้ทราบตามพระพุทธเจ้าว่า
อยู่ที่สมมติบัญญัติ อยู่ที่อุปาทานความยึดถือ จึงมาถึงอุปาทานความยึดถือ
ก็สืบต่อไปอีกว่ายึดถือซึ่งอะไร ก็คือซึ่งขันธ์ ๕ หรือซึ่งนามรูป
วิธีที่พิจารณาดั่งนี้แหละคือเรียกว่าเจาะแทง ก็คือขบคิด
หรือว่าธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรมนั้นเอง สอบเข้ามาที่ตัวเอง
อาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านำ
เพราะฉะนั้น ก็เท่ากับว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จนำดำเนินไปข้างหน้าของผู้ปฏิบัติ
ก็ตามเสด็จพระองค์ต่อไป ว่าเมื่อมาพบเจาะเข้ามาแทงเข้ามาจนถึงอุปาทานขันธ์
หรืออุปาทานนามรูปดั่งนี้แล้ว ก็เจาะแทงเข้ามาดูตัวนามรูปว่าอะไร
ก็ต้องอาศัยพระพุทธเจ้าเสด็จนำไปข้างหน้าอีกเหมือนกัน
นามรูป
นามก็คืออาการที่จิตซึ่งเป็นตัวเดิม ซึ่งเป็นธาตุรู้ ...
( เริ่ม๙๓/๑ ) จิตที่เป็นตัวภวังคะจิตนี้ เมื่อยังอยู่เฉยๆท่านก็เรียกว่าภวังคะจิต เป็นตัวเดิม
เป็นองค์ประกอบของชาติภพ หรือเป็นตัวตั้งของชาติภพ
แต่ว่าจิตนี้ที่อาศัยกายนี้อยู่ของทุกๆคน ก็อาศัยกายนี้เองน้อมออกรู้ รู้รูปทางตา รู้เสียงทางหู
รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องทางกาย รู้ธรรมะคือเรื่องราวทางมโนคือใจ
อาการที่จิตอาศัยกาย คืออายตนะมีตาหูเป็นต้นน้อมออกรู้รูปรู้เสียงเป็นต้นดังกล่าวนี้
เรียกว่านามแปลว่าน้อม เหมือนอย่างมือ เมื่อยังไม่หยิบจับอะไร มือก็วางอยู่เฉยๆ
แต่เมื่อจะหยิบจับอะไร ก็เอื้อมมือออกไปหยิบจับสิ่งนั้นสิ่งนี้
เมื่อหยิบจับเสร็จแล้ว ก็กลับมาวางมือไว้เฉยๆ
จิตก็เหมือนกัน ก็เป็นภวังคะจิต และก็เอื้อมออกรู้ดังกล่าว
เช่นเมื่อมีรูปมาประจวบกับตา จิตนี้ก็น้อมออกรู้รูปดั่งนี้เป็นต้น นี่แหละคือตัวนาม
หน้าที่ของนาม
เพราะฉะนั้นหน้าที่ของนามนั้น เมื่อจิตน้อมออกรู้เรื่อง
คือรู้รูปเป็นต้นดังกล่าวนั้นทีหนึ่ง ก็เสร็จหน้าที่กลับมาเป็นภวังค์ใหม่
และเมื่อรูปมากระทบมาประจวบกับตาอีก จิตนี้ก็น้อมออกรู้อีก
เสร็จแล้วก็กลับไปเป็นภวังค์ใหม่ ทางหูเป็นต้นต่อไปก็เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น จิตนี้จึงมีอาการที่เป็นนามคือน้อมออกรู้ดั่งนี้อยู่ตลอดเวลา
และก็กลับมาสู่ภวังค์ซึ่งเป็นต้นเดิมนั้นทุกเรื่องไป
เพราะฉะนั้น อาการที่จิตน้อมออกรู้ที่เป็นตัวนามนี้จึงมีมากมาย
ชั่วระยะเวลาเดี๋ยวหนึ่ง ถ้าหากพิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าจิตเอื้อมออกรู้
น้อมออกรู้ รูปบ้างเสียงบ้างเป็นต้น มากมายหลายสิบหลายร้อย
เพราะฉะนั้น นามนี้จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปอยู่มากมาย
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เหมือนอย่างเอื้อมมือออกไปหยิบ แล้วก็กลับวางมือไว้ใหม่
แล้วก็เอื้อมมือออกไปหยิบ แล้วกลับวางมือไว้ใหม่ ดั่งนี้มากมาย
ถ้าเป็นการเอื้อมมือออกไปแล้วกลับวางมือไว้ใหม่ดังกล่าวนั้น
ก็ต้องเอื้อมมือไป และนำมือกลับมาอย่างรวดเร็วเป็นกังหัน
นามก็เหมือนกัน จิตที่น้อมออกไปดั่งนี้รวดเร็วเป็นกังหัน
ในกังหันนั้นเมื่อกังหันหมุน คนมองไม่เห็นซี่ของกังหัน
จิตก็เหมือนกัน ที่น้อมออกไปรับอารมณ์แล้วกลับเข้ามา
น้อมออกไปรับอารมณ์กลับเข้ามานั้น รวดเร็วเป็นกังหัน หรือยิ่งกว่ากังหัน นี้คือนาม
และเมื่อมาพิจารณาดั่งนี้แล้วก็จะเห็นว่า นามคืออาการของจิตที่เอื้อมออกรับ
คือรู้รูปรู้เสียงเป็นต้น ทางตาทางหูเป็นต้นนั้นมากมาย นี้คือนาม
รูปเรื่อง อารมณ์ ๖
รูปนั้นเล่าก็ตั้งต้นแต่รูปกายที่เป็นที่อาศัยอยู่ของจิต
หรือรูปกายที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ประกอบด้วยอายตนะเหล่านี้
อันเป็นที่อาศัยของจิตที่เป็นตัวต้นเดิม ที่เป็นภวังคะจิตดังกล่าวนั้น
สิ่งที่จิตนี้น้อมออกรู้ดังกล่าว ก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง
และธรรมะคือเรื่องราว ที่มาประจวบกับตาหูจมูกลิ้นกายใจนั้นเอง นี้คือรูป
ก็คือเป็น รูปเรื่อง ที่จิตน้อมออกรู้ หรือที่นามน้อมออกรู้
เพราะฉะนั้น ตัวรูปเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่คู่กันไปกับนาม รูปเรื่องมากเท่าไร นามก็มากเท่านั้น
คู่กันไป และรูปเรื่องที่คู่กับนามนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นอารมณ์คือเป็นเรื่อง
ซึ่งเมื่อย่อเข้าแล้วก็เป็นอารมณ์ ๖ อารมณ์คือรูป คือเสียง คือกลิ่น คือรส
คือโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง คือธรรมะเรื่องราวนั้นเอง ก็มีมากมายคู่กันไปกับนาม
หัดดูให้รู้จักนามรูป
รูปเรื่องเหล่านี้แหละคือตัวรูป
นามก็คืออาการที่จิตน้อมออกรู้ หรือเรียกง่ายๆว่าคือความคิดความรู้
ตัวความคิดความรู้นี่แหละคือตัวนาม สิ่งที่จิตนี้คิดรู้นี่คือรูป คู่กันไปอยู่ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณามาถึงดั่งนี้แล้วก็มาถึงนามรูป
หัดดูนามรูปคือหัดดูจิตนี้ที่น้อมออกรู้รูปเรื่องทั้งหลาย ก็คือความคิดความรู้นั้นเอง
ความคิดความรู้นั้นก็ต้องมีสิ่งที่รู้ที่คิด สิ่งที่รู้ที่คิดนั่นแหละก็คือรูป เป็นรูปเรื่องต่างๆ
และความรู้ความคิดนั้นก็คือตัวนาม
เพราะฉะนั้น เมื่อดูเข้าไปที่จิตจนถึงดั่งนี้ จึงจะพบนามรูป
ก็พบนามรูปที่ตัวความรู้ความคิด ความรู้ความคิดเป็นนาม สิ่งที่รู้ที่คิดเป็นรูป
และเมื่อดูให้รู้จักนามรู้จักรูปดั่งนี้ ก็จะเห็นว่านามรูปนี้เป็นไปอยู่ในรูปเรื่องทั้งหลาย
ร้อยแปดพันเก้า ชั่วเวลาประเดี๋ยวเดียวก็มากมาย จิตนี้จึงไม่มีเวลาพักผ่อน
ต้องวิ่งออกไปกลับเข้ามา วิ่งออกไปกลับเข้ามา เป็นนามเป็นรูปนี้
และเมื่อวิ่งออกไปกลับเข้ามาเป็นนามเป็นรูป ก็คือนามรูปทั้งปวงนี้เกิดดับๆๆ
นามรูปอันหนึ่งเกิด นามรูปอันหนึ่งดับ นามรูปอันหนึ่งเกิดดับ
นามรูปอีกอันหนึ่งก็เกิดดับๆอยู่ดั่งนี้ ชั่วเวลาประเดี๋ยวเดียวก็เกิดดับอยู่มากมาย นี่คือนามรูป
เพราะฉะนั้น ก็ต้องดูให้รู้จักปัจจุบัน
คือให้รู้จักนามรูปปัจจุบันที่เกิดดับๆอยู่ดั่งนี้ จึงจะเห็นความเกิดดับ
และเมื่อเห็นความเกิดดับแล้ว ความยึดถือก็เกิดไม่ทัน เพราะว่าดับเสียแล้วจะยึดอะไร
ที่ยังยึดอยู่ก็เพราะว่ายังไม่เห็นเกิดดับ หรือว่าเห็นแต่เกิดแต่ไม่ดับ คือเห็นตั้งอยู่
ซึ่งความตั้งอยู่นั้น ก็ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ดับ ถ้าไม่ตั้งอยู่ก็จับพิจารณาไม่ได้
แต่นี่เพราะมีตั้งอยู่จึงดูความตั้งอยู่ได้ แต่ก็เห็นความตั้งอยู่นั้นแว๊บหนึ่งแล้วก็ดับ
แล้วก็เปลี่ยนเป็นเรื่องอื่น ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้
แต่การที่จะเห็นเกิดดับดั่งนี้ได้
ก็จะต้องมีสติคือความตั้งสติกำหนดลงไปให้แน่วแน่
และเมื่อสติเกิดไม่ทัน กำหนดไม่ทัน ปัญญาก็เกิดไม่ทัน
เมื่อสติปัญญาเกิดไม่ทัน อุปาทานก็เข้ามา เพราะฉะนั้น จึงมีหน่วงคิดถึงอดีต
หวังไปในอนาคต ซึ่งความจริงนั้นสิ่งที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว
สิ่งที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้
เพราะฉะนั้น จึงยังยึดอดีต ยึดอนาคต ยึดปัจจุบัน
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นตัวเรา อดีตก็ตัวเรา อนาคตก็ตัวเรา ปัจจุบันก็ตัวเรา
จึงไม่เห็นสัจจะที่เป็นตัวความจริง วิปัสสนาญาณ หรือญาณทัสสนะก็เกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้นต้องตั้งสติกำหนดให้รู้ให้เห็นนามรูปดังกล่าวนี้ ให้เห็นเกิดดับตามเป็นจริงนั่นแหละ
นี่แหละเป็นตัววิปัสสนาญาณ หรือเป็นตัวญาณทัสสนะ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*