ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป073

พระพุทธคุณบทว่าภควา (๗)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 

*

ปฏิบัติธรรมก็เพื่อดับตัณหา ๓

ภวังคจิต วิถีจิต นามรูป ๔

นามรูป เกิดดับ ๕

ต้องเห็นสิ่งที่เกิดดับก่อน ๖

เครื่องนำสู่ธรรมปฏิบัติ ๗

วิปัสสนาภูมิ ๘

นามรูปที่เป็นปัจจุบันธรรม ๙

วิปัสสนาญาณ ๑๐

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๙๓/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๓/๒ ( File Tape 73 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่าภควา (๗)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าภควา ในความหมายว่าผู้มีการไป

คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพทั้ง ๓ อันคายแล้ว คือว่าละได้แล้ว นำ

พระพุทธคุณบทนี้มีความหมายอิงพยัญชนะคือถ้อยคำของบทว่าภควาอีกนัยยะหนึ่งดังกล่าว

จึงนำให้ระลึกถึงจิตที่เป็นจิตเดิม เป็นธาตุรู้เดิม ที่เรียกว่าภวังคะจิต จิตที่เป็นองค์อวัยวะ

หรือองค์ประกอบของภพ ดังที่ได้กล่าวแล้ว ว่าทุกคนมีกายและจิตประกอบกันอยู่

คือจิตที่เป็นธาตุรู้ที่เป็นต้นเดิม ของความคิดความรู้ทั้งหลาย

และเพราะเหตุที่ธาตุรู้นี้ยังมาประกอบอยู่กับกาย เริ่มแต่ชาติคือความเกิด

จนถึงมรณะคือความตาย ธาตุรู้ที่เป็นจิตเดิมนี้ หรือที่เป็นภวังคะจิตนี้

ก็เคลื่อนออกจากกายที่แตกสลายนี้ ไปถือภพชาติใหม่ ในเมื่อยังมีตัณหาคือกิเลส

จึงยังมีการไป ไปในภพทั้งหลายที่เป็นกามภพบ้าง รูปภพบ้าง อรูปภพบ้าง

เพราะฉะนั้น เมื่อจิตนี้หรือเมื่อธาตุรู้นี้ยังมีกิเลส

คืออาสวะกิเลสที่ดองจิต อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต

จึงเป็นจิตที่มีชาติมีภพอยู่ในปัจจุบัน และจะมีชาติภพสืบต่อไป

พระพุทธเจ้าได้ทรงละตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากทั้งปวงได้

ละการไปคือตัณหาดังกล่าวได้ในภพทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น จึงทรงสิ้นชาติสิ้นภพที่ได้ในบทว่าภควานี้ ที่แปลว่าผู้มีการไป

คือตัณหาในภพทั้งหลาย อันคายเสียแล้ว คายได้แล้ว คือละได้แล้ว

 

ปฏิบัติธรรมก็เพื่อดับตัณหา

เพราะฉะนั้น จึงมาถึงการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

ที่พระพุทธเจ้าผู้ทรงคายคือละการไปคือตัณหาในภพทั้งหลายได้แล้วทรงสั่งสอนไว้

ก็เพื่อที่จะได้ปฏิบัติคาย คือละตัณหาอันเป็นเหตุให้ไปในภพทั้งหลายเสีย

เพราะฉะนั้น จึงมาถึงการปฏิบัติทางจิตซึ่งได้กล่าวมาโดยลำดับ

ว่าจะต้องปฏิบัติหักใจดับใจ หรือหักกิเลสดับกิเลส ด้วยการที่ดับตัวเรา ดับตัณหาอุปาทาน

ดับนามรูป ที่ประกอบด้วยตัณหาอุปาทาน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ในจิตนี้เอง

เพราะเมื่อไม่ปฏิบัติดับ ตัณหาอุปาทานก็ก่อตัว

เพิ่มเติมอาสวะอนุสัยในจิต ก่อตัวเราของเราให้ใหญ่โต

เมื่อรวมเข้ามาทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่ใจนี้เอง ตัณหาอุปาทานก็อยู่ที่ใจ นามรูปก็อยู่ที่ใจ

ตัวเราก็อยู่ที่ใจ และไปกับใจ และใจหรือจิตนี้ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า

น้อมไปรู้รูปเรื่องทั้งหลาย หรืออารมณ์ทั้งหลาย เป็นนาม

และรูปเรื่องทั้งหลายที่น้อมไปรู้นั้นก็คือรูป รวมอยู่ในคำว่ารูป

แม้ว่าจะตั้งต้นมาจากรูปจริงๆ เช่นรูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน

แต่ว่าเมื่อมาตั้งอยู่ในใจ ก็มิใช่ว่าเอารูปเอาเสียงข้างนอกนั้นมาใส่ไว้ในใจ

อันที่จริงเอา รูปเรื่อง คือว่าเรื่องของรูปเสียงเป็นต้นเหล่านั้นนั่นเอง คือเอาเรื่อง

แต่เพื่อให้คำสัมพันธ์กันกับรูป จึงใช้คำว่า รูปเรื่อง

ซึ่งคำว่ารูปนี้ใช้หมายถึงคำว่าเรื่องหรือธรรมะที่เป็นชื่อไม่มีรูปสัณฐาน ที่ยืมเรียกว่านามธรรม

อย่างเช่นปิยะรูป รูปเป็นที่รัก ก็หมายถึงตั้งแต่ที่เป็นรูปเสียงจริงๆ มาจนถึงนามธรรม

อันหมายถึงว่าเป็นธรรมะที่ไม่มีรูป เช่นวิญญาณสัมผัสเป็นต้น จนถึงตัณหาวิตกวิจาร

เหล่านี้ก็เรียกว่า ปิยะรูป รูปเป็นที่รัก สาตะรูป รูปเป็นที่พอใจ ก็คือรูปเรื่องที่ตั้งขึ้นในใจนั้นเอง

 

ภวังคจิต วิถีจิต นามรูป

เพราะว่าการที่ใจหรือจิตนี้จะคิดจะนึกจะรู้ในเรื่องอันใด

เรื่องอันนั้นก็จะต้องปรากฏเหมือนอย่างมีรูปร่างขึ้นในใจ

เพราะฉะนั้นจึงเรียกเอาสิ่งที่ไม่ใช่รูปนี้ว่าเป็นรูปไปด้วย คือเป็นรูปเรื่องที่ตั้งขึ้นในใจ

เป็นนิมิตคือเครื่องกำหนดอยู่ในใจ อันนี้เรียกว่า รูป

นาม ก็คือความที่จิตที่เป็นตัวเดิมที่เป็นภวังคะจิตนั้น น้อมออกไปรู้รูปเรื่องทั้งปวงเหล่านี้

ความน้อมออกไปรู้ของจิตนี้ ก็ดังที่ได้เปรียบแล้วว่า เหมือนอย่างที่น้อมแขนออกไป

คือเอื้อมแขนออกไปหยิบสิ่งนั้นสิ่งนี้ เสร็จแล้วก็นำแขนกลับเข้ามา

จิตที่น้อมออกไปรู้รูปเรื่องทั้งหลายดังกล่าวนั้น ออกไปแล้วก็กลับเข้ามา

เมื่อกลับเข้ามาก็มาเป็นภวังคะจิต และเมื่อน้อมออกไปก็เรียกว่าเป็นวิถีจิต

จิตที่เป็นไปในวิถี คือในการเดินทางออกไปรู้รูปเรื่องต่างๆ

( เริ่ม ๙๓/๒ ) และเมื่อมีความรู้ความคิด ก็จะต้องมีว่ารู้ซึ่งอะไร คิดซึ่งเรื่องอะไร

ก็เรื่องที่คิด เรื่องที่รู้ นั้นแหละคือรูป

เพราะนั้น นามรูปนี้เองจึงบังเกิดขึ้นอยู่ในจิตนี้แหละ อยู่ในใจนี่แหละ ทุกขณะไป

และทุกเฉพาะเรื่อง ทุกเฉพาะเรื่องไป และเมื่อคิดรู้เรื่องอะไร ก็แปลว่าเกิด

แล้วก็ดับไปในเรื่องนั้น ก็คิดรู้เรื่องอื่น เรื่องอื่นนั้นก็เกิดดับไปในเรื่องอื่นนั้น

ก็เป็นไปอยู่ดังนี้ รวดเร็วมากเหมือนอย่างกังหัน ดั่งที่กล่าวแล้ว

และกังหันนั้นเมื่อหมุน หมุนตั้งต้นไปจากไหน ก็หมุนกลับมาสู่ที่ตั้งต้นนั้น

แล้วก็หมุนไปใหม่ แล้วก็กลับมาสู่ที่ตั้งต้นนั้น

แต่ว่าหมุนเร็วมาก จนมองไม่เห็นซี่ของจังหัน จนทำให้จับได้ยากว่าตั้งต้นที่ไหน

แต่อันที่จริงนั้นเมื่อหมุนไป ก็จะต้องหมุนกลับมาสู่ที่ตั้งต้นทุกคราวไป

 

นามรูป เกิดดับ

เพราะฉะนั้น ตอนนี้แหละที่เรียกว่าเกิดดับ ก็คือว่าเมื่อหมุนออกไปจากที่ตั้งต้น

เมื่อเริ่มก็เรียกว่าเกิด เมื่อหมุนกลับมาสู่ที่ตั้งต้นใหม่ก็เรียกว่าดับ

และเริ่มจากจุดตั้งต้นไปอีกก็เรียกว่าเกิด กลับมาสู่ที่ตั้งต้นใหม่ก็เรียกว่าดับ

เพราะฉะนั้น ตัวจังหันที่หมุนนั้นจึงมีเกิดดับๆอยู่ดั่งนี้

แต่ว่าเพราะหมุนไปเร็วมาก มองไม่เห็นว่าตั้งต้นที่ไหน เหมือนอย่างว่าไม่มีการตั้งต้น

เนื่องเป็นอันเดียวกันไปตลอด

อันนี้แหละที่ทำให้ไม่เห็นเกิดดับ

ทั้งยังมีตัณหาอุปาทานเข้ามาบัง เพราะว่าเมื่อตัณหาอุปาทานมีอยู่ ตัวเราก็มี

เพราะฉะนั้น จึงรู้สึกเหมือนอย่างว่าตัวเรานี้ตั้งอยู่ ไม่มีเกิดดับ

เหมือนอย่างว่ากังหันนั้นหมุนอยู่ตลอดเป็นอันเดียวกัน ไม่มีการเกิดดับของๆจังหันในรอบหนึ่งๆ

เป็นตัวจังหันที่หมุนอยู่ตลอดเวลา เป็นอันเดียวกันไปตลอดเวลา

ก็จังหันนั่นแหละคือนามรูป แต่ว่ามีสมมติบัญญัติเสียว่ากังหัน ก็เป็นตัวกังหันขึ้นมา

เมื่อเป็นตัวกังหันขึ้นมาและหมุนเร็ว จึงมองไม่เห็นซี่ของกังหัน

ไม่เห็นการไปของจังหันจากจุดเริ่มต้น และกลับมาสู่จุดเดิม ซึ่งเป็นเกิดดับๆอยู่ตลอดเวลานั้น

เหมือนอย่างว่าหมุนอยู่เป็นอันเดียวกันตลอดเวลา

นามรูปอันนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีสมมติบัญญัติว่าเป็นตัวเรา เป็นหญิงเป็นชาย

เป็นบุคคลนั้นเป็นบุคคลนี้เป็นต้น เป็นสมมติบัญญัติ แล้วก็มีตัณหาอุปาทานเข้าประกอบอีก

ก็เลยเป็นตัวเราที่ตั้งอยู่ บังปัญญาที่จะเกิดขึ้นเห็นเกิดดับได้

 

ต้องเห็นสิ่งที่เกิดดับก่อน

แม้ว่าจะได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้

ให้กำหนดให้รู้จักขันธ์อายตนะธาตุหรือนามรูป ให้เห็นเกิดดับของนามรูป

ในการที่จะปฏิบัติให้เห็นได้ก็ยาก ในเมื่อจิตนี้ยังหมุนเป็นกังหันอยู่

มองไม่เห็นว่าอะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป รู้แต่ว่าเป็นตัวเราอยู่ในเรื่องนั้นเรื่องนี้

เราชอบอย่างนี้สิ่งนี้ ชังอย่างนี้สิ่งนี้ หรือว่าหลงอย่างนี้สิ่งนี้ เหล่านี้เป็นต้น

หรือเพลิดเพลินยินดีติดอยู่ เหล่านี้ก็เป็นกิเลสขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ในเมื่อจิตนี้ยังหมุนเป็นกังหันไปในอารมณ์ทั้งหลายอยู่ดังกล่าว

จึงเป็นการปฏิบัติยากที่จะให้เห็นเกิดดับ ให้เห็นนามรูป ให้เห็นเกิดดับได้

ในขั้นนี้ผู้ปฏิบัติพึงทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า จะเห็นเกิดดับได้ก็ต้องเห็นสิ่งที่เกิดดับก่อน

สิ่งที่เกิดดับนั้นคือนามรูป ซึ่งหมายรวมไปถึงขันธ์อายตนะธาตุเป็นต้น

ที่รวมเรียกในคำว่าวิปัสสนาภูมิ คือเป็นภูมิของวิปัสสนา เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา

ต้องเห็นนามรูปก่อน และเมื่อเห็นนามรูปจึงจะเห็นเกิดดับของนามรูปได้

คราวนี้ในเมื่อจิตนี้ยังหมุนเป็นกังหันอยู่ การที่จะให้เห็นนามรูปก็เป็นการยาก

เหมือนอย่างว่าในเมื่อกังหันยังหมุนติ้วอยู่ จะให้มองเห็นซี่ของกังหันอย่างชัดเจน

ว่ากังหันมีกี่ซี่ ดุมของกังหันอยู่ที่ไหน ซี่ของกังหันอยู่ที่ไหน ไม่สามารถจะมองเห็นได้

ในเมื่อกังหันยังหมุนติ้วอยู่

จิตก็เหมือนกัน เมื่อจิตยังหมุนเป็นกังหันอยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย

การที่จะให้เห็นนามรูปนั้นเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปยาก

เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสมาธิ และจะมีสมาธิก็ต้องมีศีลเป็นภาคพื้น

และจะต้องมีสรณะคือที่พึ่ง อันได้แก่พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นผู้นำทาง

เพราะฉะนั้น สรณะคมณ์การถึงสรณะ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องถึงสรณะ

คือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์นี้ให้ถึงใจ ให้ถึงจิต ให้ถึงตัวธาตุรู้

และเมื่อเป็นดั่งนี้ สรณะก็จะเป็นสรณะ คือเป็นที่พึ่ง เป็นเครื่องนำ

นำจิตใจนี้ไปสู่คลองธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ไปสู่ศีล สู่สมาธิ สู่ปัญญา

แปลว่านำจิตใจนี้ให้ไปสู่ธรรมปฏิบัติทั้งปวง สู่ผลของธรรมปฏิบัติทั้งปวง

เป็นอันห้ามจิตนี้ไม่ให้ไปสู่กระแสของตัณหา แต่ให้ไปสู่กระแสของธรรม

เพราะฉะนั้นผู้ที่ถึงสรณะว่า

พุทธังสรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่ง

ธัมมังสรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะคือที่พึ่ง

สังฆังสรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่ง

จะต้องถึงให้มีจิตใจดำเนินสู่กระแสธรรม ห้ามมิให้ดำเนินไปสู่กระแสตัณหา

และเมื่อจิตใจนี้เดินไปสู่กระแสธรรม ก็แปลว่าได้มีพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ

คือที่พึ่ง เดินไปในทางของพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์

ไม่เดินไปนอกทางของพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์

 

เครื่องนำสู่ธรรมปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น สรณะนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

เป็นผู้นำ เป็นเครื่องนำไปสู่กระแสธรรมของผู้ปฏิบัติธรรม

และเมื่อได้มีสรณะดังกล่าวมานี้ ก็เป็นอันว่าได้เข้าสู่ศีล ศีลเป็นข้อๆ ก็เช่นศีล ๕ เป็นต้น

ศีลที่ไม่มีข้อก็คือศีลที่เป็นความปรกติของจิต จิตที่เป็นปรกติ

ไม่ถูกอกุศลมูลราคะหรือโลภะโทสะโมหะ หรือตัณหาดึงเอาไป

ให้ก่อเจตนาจงใจประกอบบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย ทางกายทางวาจาทางใจ

มีใจสงบเป็นปรกติ ดั่งนี้เป็นตัวศีล ซึ่งมีข้อเดียว ไม่ว่าใครจะถือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

แต่เมื่อมีจิตเป็นปรกติ สงบดังกล่าว ก็เป็นอันว่าได้เข้าถึงตัวศีลอย่างเดียวกัน

อันนี้แหละเป็นพื้นฐานของกุศลธรรมทั้งหลาย มีสมาธิเป็นต้น

และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ต้องปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้ตั้งมั่น โดยที่มีสติกำหนดอยู่ในกรรมฐาน

ในส่วนที่เป็นสมถะกรรมฐานนั้น ก็เป็นการทำจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน

แต่ว่ายังไม่เกิดปัญญา เป็นการหัดทำจิตให้สงบ ไม่ให้หมุนติ้วเป็นกังหันดังที่กล่าวแล้ว

 

วิปัสสนาภูมิ

เพราะเมื่อจิตหัดทำสมาธิได้ความสงบ ย่อมจะหยุดหมุนติ้วเป็นกังหัน

เพราะว่าตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียว เหมือนอย่างการหยุดกังหันไม่ให้หมุน

และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงเปลี่ยนอารมณ์ของสมาธิแค่สมถะดังกล่าวนั้น

มาเป็นสมาธิในวิปัสสนากรรมฐาน คือกรรมฐานที่เพื่อวิปัสสนารู้แจ้งเห็นจริง

ด้วยมาทำสมาธิคือกำหนดดูอยู่ในวิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนาดังกล่าวนั้น

ก็คือขันธ์อายตนะธาตุ หรือว่ายกเอามาในที่นี้ก็นามรูป ดังที่กล่าวมาโดยลำดับ

มากำหนดดูนามดูรูป ดั่งนี้แหละจึงจะเห็นวิปัสสนาภูมิ เห็นนามเห็นรูป ว่านี่นามนี่รูป

เหมือนอย่างว่าเมื่อหยุดจังหันไม่ให้หมุนได้ ก็ดูตัวจังหันนั้น จึงจะมองเห็นซี่ของจังหันว่ามีกี่ซี่

เห็นดุมของกังหันว่าอยู่ที่ไหน เห็นกรอบหรือกงของกังหันว่ากลมอย่างนั้น

แปลว่าเห็นกังหันได้ทั้งตัวทั้งหมด ในเมื่อกังหันหยุดหมุน 

จิตก็เหมือนกัน จิตจะต้องหยุดหมุนคือจิตจะต้องได้สมาธิ

และเมื่อจิตได้สมาธิมีสมาธินั่นแหละ จึงมากำหนดดูอยู่ซึ่งนามรูป

อันบังเกิดขึ้นที่จิตอันเป็นปัจจุบัน จึงจะเห็นตัวนามรูป เห็นความคิดความรู้อยู่ในปัจจุบัน

เห็นสิ่งที่รู้ที่คิดอยู่ในปัจจุบัน ความคิดความรู้คืออาการที่จิตน้อมออกคิดออกรู้ นี่เป็นนาม

สิ่งที่จิตคิดจิตรู้ รูปเรื่องที่จิตคิดจิตรู้ต่างๆ นี่เป็นรูป

คราวนี้เมื่อจิตเป็นสมาธิดังกล่าว ไม่หมุนดังกล่าวนั้น ก็มีปัญหาว่าแล้วจะเห็นนามรูปที่ไหน

ก็ตอบได้ว่าก็เห็นนามรูปที่เป็นปัจจุบันธรรมนั่นแหละ เช่นปัจจุบันธรรมนี้กำลังคิดกำลังนึก

ก็รู้ความคิดความนึก รู้ความรู้ และรู้สิ่งที่ หรือรูปเรื่องที่จิตรู้ จิตคิด จิตนึกอยู่ในปัจจุบัน

และถ้ากำหนดอารมณ์ของสมาธิอะไร เช่นว่ากำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก

กำลังมีลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นกรรมฐานอยู่

ก็ดูนามรูปลงไป ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้

ว่าความรู้ความคิดถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออก นี่เป็นตัวนาม

รูปเรื่องของลมหายใจเข้าลมหายใจออก นี่เป็นรูป

 

นามรูปที่เป็นปัจจุบันธรรม

ก็ดูนามดูรูปลงไปที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่กำหนดนั่นแหละ

ก็เป็นอันว่าได้กำหนดนามรูปในปัจจุบันธรรมที่บังเกิดขึ้นในสมาธินั้นเอง ไม่ต้องไปหาที่ไหน

แล้วก็อยู่ในขอบเขตที่เห็นได้ง่าย เหมือนอย่างดูจังหันที่หยุดหมุน

จะมองเห็นกงเห็นซี่ดุมอะไรของจังหันได้หมด หรือว่าเห็นส่วนสัดของจังหันได้หมด

กังหันจะเป็นรูปอะไรก็ตาม ก็มองเห็นได้หมด

เพราะฉะนั้น เมื่อมาดูสิ่งที่ปรากฏอยู่ปัจจุบัน

ความรู้ความคิด สิ่งที่รู้ที่คิดอยู่ที่เป็นปัจจุบันธรรมนี้ เป็นนามเป็นรูปดังกล่าว

ก็จะเห็นนามเห็นรูปชัด และเมื่อเห็นชัดก็จะมองเห็นความหมุนไปของนามรูป

ที่เป็นเรียกว่าเป็นกังหันเหมือนกัน แต่ว่าหมุนช้าเข้า

จะมองเห็นเกิดเห็นดับ อยู่ในอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นปัจจุบันธรรม

อันเป็นความเห็นเกิดดับชัดเจนขึ้น

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีสมาธิ

ถ้าไม่มีสมาธิแล้วจะทำวิปัสสนาได้ยาก เพราะจิตจะหมุนติ้วเป็นจังหันอยู่

จะให้มองเห็นอารมณ์ของวิปัสสนา หรือวิปัสสนาภูมินั้นก็เป็นไปไม่ได้

จะต้องทำจิตให้หยุดหมุน เป็นสมาธิเสียก่อน นั่นแหละ และกำหนดลงไปจึงจะเห็นนามเห็นรูป

 

วิปัสสนาญาณ

และเมื่อเห็นนามเห็นรูป จึงจะเห็นเกิดเห็นดับ อันเป็นวิปัสสนาญาณ

เพราะฉะนั้นข้อปฏิบัติเหล่านี้จึงเป็นข้อสำคัญ จะต้องมีสรณะ จะต้องมีศีล จะต้องมีสมาธิ

แล้วจึงจะได้ปัญญาอันเป็นวิปัสสนาญาณ

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

พระพุทธคุณบทว่าภควา (๘)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 

*

วิญญาณธาตุ ๓

จุติจิต ปฏิสนธิจิต ๔

ธาตุรู้ไม่แตกสลาย ๕

ปฏิสนธิในโลก ๓ ๖

ภวังคจิต ภวังควิญญาณ ๖

ดับกิเลสด้วยกำหนดดูเวทนา ๘

แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๙

ความว่าดับทุกข์ ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๙๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๔/๑ - ๙๔/๒ ( File Tape 73 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่าภควา (๘)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าภควาในความหมายว่าพระผู้มีการไป

คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในภพทั้งหลาย อันคายเสียแล้ว คือละเสียแล้ว

ความของพระพุทธคุณบทนี้ได้แสดงมาแล้วในความหมายนี้ครั้งหนึ่ง

แต่ยังไม่หมดกระแสธรรมะอันเกี่ยวเนื่องอยู่ เพราะฉะนั้นจึงแสดงเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งในวันนี้

พระพุทธเจ้าได้ทรงละภพชาติไม่เกิดในภพชาติใหม่ พระองค์ได้ทรงเป็นผู้หักกิเลสดับกิเลส

หักใจดับใจได้ดังที่ได้แสดงมาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงถือภพชาติใหม่

ทรงเป็นผู้สิ้นภพสิ้นชาติแล้ว ตั้งแต่เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้พระโพธิญาณ

ทรงละอาสวะกิเลสได้ทั้งสิ้น มีอวิชชาเป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงไม่มีภพชาติเหลืออยู่

ทรงอาศัยวิบากขันธ์ คือขันธ์อันได้แก่นามรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าอัตภาพอันนี้

ทรงบำเพ็ญพุทธกิจประกาศพระพุทธศาสนา จนกระทั่งดับขันธปรินิพพาน

ก็คือทรงดับวิบากขันธ์อันนี้

ซึ่งวิบากขันธ์อันนี้ก็มีทั้งกายและใจ ซึ่งเรียกว่านามรูปโดยย่อ

แต่เมื่อจำแนกออกก็เป็นกองรูปกองเวทนากองสัญญากองสังขารกองวิญญาณ

และวิญญาณนี้เองซึ่งเมื่อยังมีอาสวะกิเลสก็ยังเป็นอุปาทานวิญญาณ วิญญาณเป็นที่ยึดถือ

 

วิญญาณธาตุ

และวิญญาณที่เป็นวิญญาณขันธ์ในขันธ์ ๕ นี้

ก็เป็นอาการของวิญญาณที่เป็นวิญญาณธาตุ คือธาตุรู้

( เริ่ม ๙๔/๑ ) ชายหญิงทั้งปวงนี้มีธาตุ ๖ คือปฐวีธาตุธาตุดิน อาโปธาตุธาตุน้ำ

เตโชธาตุธาตุไฟ วาโยธาตุธาตุลม อากาสธาตุธาตุอากาศคือช่องว่าง

กับวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ รวมกันเข้าเป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าบุรุษชายหญิงนี้

ทั้งหมดธาตุ ๕ ข้างต้นคือดินน้ำไฟลมอากาสเป็นธาตุที่ไม่มีความรู้ในตัว

แต่วิญญาณธาตุเป็นธาตุที่มีรู้อยู่ในตัว รวมกันเข้าจึงทำให้บรุษชายหญิงทั้งปวงนี้

มีความรู้อะไรๆได้ ทางทวารทั้ง ๖ คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ

ตลอดจนถึงมีความรู้ทางปัญญาที่ยิ่งๆขึ้นไป

แต่เพราะเหตุที่วิญญาณธาตุคือธาตุรู้นี้ยังเป็นรู้ผิดรู้หลง

เพราะยังประกอบด้วยอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง

เพราะฉะนั้น จึงได้เป็นวิญญาณ หรือเรียกว่าเป็นจิตที่เป็นที่ตั้งของภพชาติทั้งหลาย

เข้าถึงภพชาติทั้งหลาย ซึ่งภพนั้นก็ตรัสแสดงไว้ว่ามี ๓ คือกามภพ

ภพที่ยังข้องอยู่ในกาม คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

อันเรียกว่ากามาพจร ยังตกอยู่ในกาม หยั่งลงในกาม

รูปภพ ภพที่ยังตกอยู่ในรูป ข้องอยู่ในรูป ที่ท่านแสดงว่าก็คือในรูปฌาน

ฌานคือสมาธิอย่างสูงที่มีรูปเป็นอารมณ์อันนำให้เกิดเป็นรูปพรหม

และอรูปภพ ภพที่ยังตกอยู่ยังข้องอยู่ในอรูป ที่ท่านแสดงว่ายังติดอยู่ในฌาน

ที่เป็นสมาธิอย่างสูงที่มีอรูปเป็นอารมณ์ อันนำให้เกิดเป็นอรูปพรหม

หรือว่าเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กามโลก รูปโลก อรูปโลก

จิตหรือวิญญาณที่ยังเป็นความรู้ผิดรู้หลงเพราะอวิชชา สืบมาถึงโมหะมิจฉาทิฏฐิต่างๆ

จึงยังท่องเที่ยวไปในภพทั้ง ๓ หรือโลกทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น

 

จุติจิต ปฏิสนธิจิต

และวิญญาณหรือจิตที่ท่องเที่ยวไปนั้น ก็เป็นไปตามกรรม

เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า

กรรมเป็นเหมือนนาสำหรับที่จะปลูกจะหว่านข้าว วิญญาณเป็นเหมือนพืช

เช่นพืชของข้าวกล้า ตัณหาเป็นเหมือนอย่างยางเหนียวที่มีอยู่ในพืช

เพราะฉะนั้น วิญญาณจึงเวียนว่ายตายเกิดเป็นปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ

คือจิตหรือวิญญาณที่ปฏิสนธิ และเป็นจุติจิต จุติวิญญาณ จิตหรือวิญญาณที่จุติคือเคลื่อน

ปฏิสนธินั้นก็สืบต่อภพชาติใหม่นั้นๆ จุติก็คือเคลื่อนจากภพชาตินั้นๆไปสู่ภพชาติใหม่

ในบัดนี้มีการใช้ผิดกันเป็นอันมาก คือมักจะใช้ว่าตายแล้วไปจุติในสวรรค์ ใช้คำว่าจุติผิดที่

เพราะที่ถูกจะต้องใช้ว่าปฏิสนธิในสวรรค์ ไม่ใช่จุติในสวรรค์ แต่เมื่อตายจากภพชาตินั้นๆ

เคลื่อนออกจากภพชาตินั้นๆ จึงใช้ว่าจุติ เช่นว่าจุติคือเคลื่อนจากสวรรค์

อันที่จริงคำว่าปฏิสนธิหรือจุตินี้เป็นคำที่ใช้คู่กัน และเป็นภาษาที่ใช้สำหรับจิตหรือวิญญาณ

ที่พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเหมือนว่าเป็นพืชดังที่กล่าวนั้น

เพราะว่าในสัตว์บุคคล หรือในบุรุษชายหญิงทุกๆคนนี้มีส่วนหนึ่งที่เกิดตาย

มีอีกส่วนหนึ่งที่ปฏิสนธิและจุติ ส่วนที่เกิดตายนั้นก็คือนามรูป หรือขันธ์ ๕

หรือกายอันนี้ ที่เกิดมาตั้งต้นแต่เป็นกัลละในครรภ์ของมารดา

และก็เพิ่มพูนธาตุดินน้ำไฟลมอากาศ เติบใหญ่ขึ้นคลอดออกมา และก็มีอาหารคือคำข้าว

หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ก็ธาตุดินน้ำไฟลมอากาสนี้แหละบำรุงเลี้ยง ก็เติบใหญ่เรื่อยมา

ซึ่งความเกิดดังกล่าวมานี้ก็คือธาตุ ๖ มารวมกันเข้านั้นเอง

ธาตุที่ไม่มีความรู้ และธาตุที่มีความรู้มารวมกันเข้า

และเมื่อธาตุทั้ง ๒ นี้ยังรวมกันอยู่ ชีวิตนี้ก็ดำรงอยู่ จนถึงที่สุด คือถึงคราวที่เรียกว่ามรณะ

ความตายมาถึง กายแตกทำลาย ก็คือความประชุมของธาตุ ๖ นี้แตกทำลาย

ธาตุที่ไม่มีความรู้ คือธาตุดินน้ำไฟลมอากาสนั้น อันนี้แหละที่เป็นตัวที่เรียกว่าตาย

ตกอยู่ในโลกนี้ ธาตุดินก็เป็นดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส ก็แยกกันไป

อยู่ในโลกนี้ เพราะว่าเมื่อได้มา ก็ได้มาจากโลกนี้ มาสะสมกันเข้า

และเมื่อคราวแตกก็กลับไปสู่โลกนี้ อันเรียกว่า โอกาสโลก โลกคือโอกาส

ก็คือพื้นพิภพอันนี้ อันนี้แหละคือตาย

 

ธาตุรู้ไม่แตกสลาย

แต่ว่าส่วนที่เป็นวิญญาณธาตุคือธาตุรู้นั้น

เมื่อกายนี้แตกสลาย ก็จุติคือเคลื่อนออกจากกายที่แตกสลายนี้

ในเมื่อวิญญาณธาตุคือธาตุรู้นี้ยังเป็นตัวพืชอยู่ ซึ่งยังมียางเหนียวคือตัณหาอยู่ในพืช

เพราะฉะนั้นจึงจุติคือเคลื่อนออกจากกายที่แตกนี้ ไปถือปฏิสนธิในชาติภพใหม่

คือไปเกิดขึ้นในนาใหม่ต่อไป เหมือนอย่างพืชของข้าวที่งอกเป็นต้นข้าวเป็นเม็ดข้าวขึ้นในนา

และเมื่อพืชคือเม็ดข้าวที่ยังเป็นพืช ยังมียางเหนียวอยู่นั้น ก็เป็นพืชที่จะไปหว่านเพาะปลูก

ไปดำไปไถในนาอีกครั้งหนึ่งได้ ก็ไปเกิดใหม่ ไปเป็นข้าวขึ้นมาใหม่อีก

ก็เป็นพืชเก่านั่นแหละ ไปสืบต่อเป็นๆต้นข้าวขึ้นมาใหม่อีก ก็สืบๆไปดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ในส่วนที่เป็นธาตุรู้นี้จึงไม่ตาย ไม่แตกสลาย

และเมื่อธาตุรู้นี้ยังมีอวิชชาซึ่งสืบมาถึงตัณหา เพราะเมื่อมีอวิชชาก็ต้องมีตัณหา

เมื่อมีตัณหาก็มีอุปาทาน มีกรรม สืบต่อกันไป

เพราะฉะนั้น จึงเท่ากับว่าทุกๆคนนี้ เมื่อธาตุรู้ที่เป็นจิตหรือวิญญาณ

อันยังเป็นความรู้ผิดรู้หลง ประกอบด้วยอวิชชาอยู่ ประกอบด้วยโมหะความหลงอยู่

ก็อันหมายถึงว่ายังประกอบด้วย ตัณหา อุปาทาน กรรม

เพราะฉะนั้น จึงมีกรรมที่เป็นเหมือนอย่างนาใหม่ หรือว่านาอันเก่านั่นแหละ

สำหรับที่จะงอกขึ้นอีก แล้วก็มีวิญญาณที่เป็นตัวพืช เพราะยังมีตัณหาที่เป็นยางเหนียว

ตรัสยกเอาตัณหาขึ้นว่า แต่ในที่อื่นก็ตรัสสืบถึงอวิชชา ซึ่งเป็นตัวต้นเดิม

ดังที่ตรัสไว้ในปฏิจจสมุปบาท เมื่อรวมความเข้าแล้วก็คือว่า

ซึ่งมีทั้งอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรมอยู่ในตัววิญญาณที่เป็นตัวพืชนี้

เพราะฉะนั้น จึงต้องถูกไปหว่านในนาเกิดขึ้นมาอีก เป็นข้าวขึ้นมาอีก

อันนี้ก็เป็นปฏิสนธิคือสืบต่อไป และเมื่อกายอันนี้แตกสลายก็จุติคือเคลื่อนออก

แล้วก็ไปปฏิสนธิกันใหม่

 

ปฏิสนธิในโลก ๓

หากจะถามว่าไปปฏิสนธิกันใหม่ในที่ไหน

ก็คือในภพ ๓ หรือในโลก ๓ ดังกล่าวแล้ว ตามกรรมที่ได้กระทำเอาไว้

ถ้าเป็นกรรมที่เป็นกามาพจร ยังท่องเที่ยวหยั่งลงไปในกาม นานั้นก็เป็นนากาม

ถ้าหากว่ากรรมนั้นเป็นรูปฌาน นานั้นก็เป็นนาเป็นรูป นารูป

ถ้าหากว่ากรรมนั้นเป็นอรูปฌาน นาสำหรับที่จะไปงอกใหม่ก็เป็นนาอรูป

ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ จนกว่าจะสิ้นอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม

นั่นแหละ ก็เป็นอันว่าวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ ก็หมดยางเหนียว

คือหมดอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม เป็นอันว่าไปเพาะอีกก็ไม่ขึ้นแล้ว

แปลว่าหมดชาติหมดภพ เพราะว่าเป็นพืชที่ไม่มียางเหนียว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ดั่งนี้

 

ภวังคจิต ภวังควิญญาณ

และวิญญาณหรือจิตซึ่งยังมียางเหนียว ยังเป็นพืชที่จะต้องจุติ

คือเคลื่อนออกจากภพชาตินี้ ไปปฏิสนธิสืบต่อในภพชาติใหม่กันอยู่

ก็คือในกามโลกบ้าง รูปโลกบ้าง อรูปโลกบ้าง เวียนว่ายตายเกิดกันไปอยู่ดั่งนี้นั้น

ก็มีคำเรียกในอภิธรรม ว่าจิตหรือวิญญาณเช่นนี้ที่เป็นตัวพื้นเป็นภวังคะ

ภวังคจิต ภวังควิญญาณ ที่ได้เคยแสดงแล้ว ก็คือยังเป็นองค์ประกอบของภพชาติ

ดั่งที่กล่าวมาแล้ว ยังมียางเหนียวอยู่ก็ต้องเป็นภวังคะ

เป็นองค์ประกอบของชาติของภพกันอยู่ร่ำไป

และจิตหรือวิญญาณที่เมื่อถือปฏิสนธิในภพชาติที่เป็นปัจจุบัน

คือเป็นตัววิญญาณธาตุที่ประกอบอยู่กับธาตุ ๕ ข้างต้น เป็นบุรุษชายหญิงทั้งปวง

ดังที่ทุกๆคนได้เป็นอยู่นี้ ก็เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าจิต หรือเรียกว่าวิญญาณนี้เอง

ซึ่งยังออกไปรับอารมณ์คือเรื่องต่างๆ ยังท่องเที่ยวไปในอารมณ์คือเรื่องต่างๆ

และก็มีความเข้าใจว่าเป็นตัวเรา

ฉะนั้น เมื่อจิตได้อาศัยอายตนะมีตาเป็นต้น เห็นรูปก็เข้าใจว่าตัวเราเห็นรูป

ได้ยินเสียงก็เข้าใจว่าตัวเราได้ยินเสียง ดังนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ตัวเรานั้นก็คืออวิชชาตัณหาอุปาทานกรรมนี้เอง

เพราะเป็นตัวความยึดถือ ความยึดถือในธาตุทั้งหลาย ในนามรูปหรือในขันธ์

ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

เพราะฉะนั้น การที่รู้สึกว่าตัวเรา ตัวเราเห็น ตัวเราได้ยิน ตัวเรารัก ตัวเราชัง

ในอะไรๆเหล่านี้เป็นต้น ก็คือใจนี้เอง คือจิตวิญญาณที่ยังมี

เป็นพืชที่มียางเหนียวอยู่ดังกล่าวแล้วนั้นเอง

เพราะฉะนั้น ใจหรือจิตดังที่กล่าวมานี้ จึงยังสัมปยุตคือประกอบด้วยกิเลส เป็นตัวกิเลส

ฉะนั้น จึงได้กล่าวแล้วว่าหักกิเลสหรือว่าหักใจ ดับกิเลสหรือว่าดับใจ

ก็เป็นอันเดียวกัน มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งวิธีปฏิบัติที่จะหักที่จะดับได้นั้น

ก็ต้องอาศัยศีลสมาธิปัญญาดังที่ได้เคยแสดงมาแล้ว โดยต้องมีศีลเป็นภาคพื้น

มีสมาธิที่จะได้เพ่งพินิจกำหนดลงไป ให้เห็นวิปัสสนาภูมิ

คือเห็นตัวธาตุ ตัวขันธ์ ตัวนามรูป อันเป็นที่ตั้งของความยึดถือ

เป็นที่ตั้งของอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม ดังที่ได้กล่าวมา จึงจะมองเห็นไตรลักษณ์

อนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง อนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

นั่นแหละจึงจะขัดเกลากิเลสออกไปได้ ดับกิเลสได้

และเมื่อดับกิเลสได้ ก็เป็นอันว่าดับใจได้

ก็คือดับวิญญาณ หรือจิตที่เป็นตัวพืช ที่มียางเหนียวนั้นเอง

แต่ว่าตัวธาตุรู้ยังอยู่ เป็นธาตุรู้ที่ไม่หลง เป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์

และเมื่อธาตุรู้ไม่มียางเหนียว ไม่มีอวิชชา ไม่มีตัณหา ไม่มีอุปาทาน ไม่มีกรรม

ก็เป็นธาตุรู้นั่นแหละ แต่เป็นธาตรู้ที่บริสุทธิ์ดั่งที่กล่าว

เป็นธาตุรู้ที่ไม่จุติ ไม่เคลื่อน ไม่ปฏิสนธิคือสืบต่อ เพราะว่าไม่มียางเหนียวแล้ว

เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เท่ากับเหมือนอย่างเป็นพืชที่ไม่มียางเหนียว ไปเพาะปลูกอีกไม่ได้

ก็เหมือนอย่างธาตุรู้ของท่านที่สิ้นอาสวะแล้ว มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น

 

ดับกิเลสด้วยกำหนดดูเวทนา

เพราะฉะนั้น เมื่อยังมียางเหนียวอยู่ดั่งนี้

ในทางปฏิบัติอีกทางหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้

ก็คือให้มากำหนดดูตัวเวทนาคือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ทั้งภายในทั้งภายนอก และเมื่อได้ดูเวทนาอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าดับใจได้

ดังที่ปุคยะมานพ ( ปิงคิยมานพ ) เป็นคนที่ ๑๓ ในมานพ ๑๖ คน

ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าข้อหนึ่งว่า

มีสติระลึกอยู่อย่างไร กำหนดอยู่อย่างไร จึงจะดับวิญญาณคือดับใจได้

ก็หมายถึงว่าดับวิญญาณที่ยังที่มียางเหนียวคือตัณหา หรือคืออวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม

ดังที่กล่าวมาแล้ว จะมีสติระลึกอยู่อย่างไร จึงจะดับวิญญาณคือดับใจได้

พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่ามีสติระลึกกำหนดให้รู้จักเวทนา

คือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งภายในทั้งภายนอก

เมื่อมีสติระลึกกำหนดอยู่อย่างนี้ จะดับวิญญาณคือดับใจดังกล่าวนั้นได้ ดั่งนี้

( เริ่ม ๙๔/๒ ) ในข้อนี้เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็ย่อมจะเห็นตามคลองธรรม

ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนเอาไว้ ดั่งเช่นที่ตรัสแสดงเอาไว้ในปฏิจจสมุปบาท

ว่าเพราะตัณหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆ

ดับเวทนาได้ก็ดับตัณหาได้ ในที่กล่าวมานี้เป็นการลัด

ต้องการจะให้มาเชื่อมกับที่ตรัสไว้ว่า ตัณหาเป็นเหมือนยางเหนียวในพืช

เพราะฉะนั้น การกำหนดที่เวทนา จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะได้ใช้ปฏิบัติได้

เพื่อที่จะสกัดกั้นความเกิดขึ้นของตัณหา

 

แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน

ในสติปัฏฐานพระพุทธเจ้าได้ตรัสให้ทำสติตามรู้ตามเห็นกายเป็นข้อที่ ๑

ข้อที่ ๒ ก็ตรัสสอนให้ตามรู้ตามเห็นเวทนา

ในการที่ทำสมาธิกำหนดตั้งจิตให้รู้ให้เห็นวิปัสสนาภูมิ ประการแรกก็คือกาย

ดังที่ได้กล่าวอธิบายมาแล้ว ก็คือให้เห็นธาตุ เห็นอายตนะ เห็นขันธ์

ที่เป็นส่วนหยาบก็คือรูปขันธ์ นั่นเป็นส่วนกาย

และเมื่อกำหนดพิจารณาวิปัสสนาภูมิให้ละเอียดเข้า ก็ต้องมาถึงเวทนา

คือความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งภายในทั้งภายนอก

ทั้งภายในนั้น จะอธิบายว่า ที่เป็นส่วนกาย

ที่เป็นภายนอกก็คือที่เป็นส่วนกาย ที่เป็นภายในก็คือที่เป็นส่วนใจ

คือสุขทุกข์ทางกายเป็นภายนอก สุขทุกข์ทางใจเป็นภายใน ดั่งนี้ก็ได้ ให้กำหนดดูตัวเวทนา

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะมองเห็นไตรลักษณ์ในเวทนา อนิจจะไม่เที่ยงในเวทนา

ทุกขะเป็นทุกข์ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปในเวทนา

เป็นอนัตตาไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราในเวทนา ไม่ใช่เป็นตัวเรา ไม่ใช่เป็นของเรา

และเมื่อกำหนดดั่งนี้แล้ว ตัณหาก็จะไม่เกิดเพราะเวทนา เวทนาก็สักแต่ว่าเป็นเวทนา

บังเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป บังเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มองเห็นเป็นความเกิดดับของเวทนาอยู่

เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่าดับใจได้ คือดับใจที่ยังประกอบด้วยยางเหนียวคือตัณหา

โดยตรงก็คือว่าดับยางเหนียวในใจได้

 

ความว่าดับทุกข์

ในข้อนี้ก็เช่นเดียวกับคำว่าทุกข์ กับดับทุกข์

ดับทุกข์นั้นไม่ใช่หมายความว่าไปฆ่าไปทำลายสิ่งที่เป็นตัวทุกข์

ดั่งเช่นที่ตรัสเอาไว้ว่า ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ เป็นทุกข์

การดับทุกข์นั้นไม่ใช่หมายความว่า ไปฆ่าไปฟันไปทุบไปตีขันธ์ ๕

แต่หมายความว่าดับตัวตัณหาซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

และเมื่อดับตัวตัณหาที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือดับทุกข์สมุทัยได้

ก็ได้ชื่อว่าทุกขนิโรธความดับทุกข์

เมื่อดับตัณหาที่เป็นตัวทุกขสมุทัยได้ดั่งนี้

ทุกข์คือขันธ์ ๕ ก็คงเป็นขันธ์ ๕ อยู่นั่นแหละ ไม่ได้เสียหายไปไหน

ยังเป็นขันธ์ ๕ อยู่นั้นแหละ แต่ว่าไม่ใช่เป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ

เป็นขันธ์ที่เป็นวิบากขันธ์ ขันธ์ที่เป็นวิบาก ที่เป็นผลของกิเลสของกรรมเก่า

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเมื่อได้ทรงละทุกขสมุทัยคือตัณหาได้

ทรงได้ทุกขนิโรธคือความดับทุกข์ ขันธ์ ๕ ของพระองค์ก็ยังอยู่ ก็ทรงบำรุงเลี้ยงดู

และก็ทรงใช้ขันธ์ ๕ นี้เอง ปฏิบัติในพุทธกิจต่างๆ ประกาศพระพุทธศาสนา

นี่ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเอาใจไปทิ้งที่ไหน เอาใจไปทิ้งไปขว้างที่ไหน

ก็หมายความว่าดับยางเหนียวในใจ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ที่ยกมาข้างต้นนั้น

ว่าตัณหาเป็นเหมือนยางเหนียว วิญญาณเป็นพืช

ก็คือดับตัวยางเหนียวซึ่งเป็นตัวพืชที่จะให้ไปเกิดอีก นั้นเอง ใจก็ยังอยู่ไม่ใช่ไปข้างไหน

เพราะว่าดับยางเหนียวในใจได้ คือดับกิเลสได้ ดั่งนี้เรียกว่าดับใจ

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติด้วยวิธีที่เพ่งพินิจกำหนดเวทนา อันเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ก็เป็นทางปฏิบัติอีกข้อหนึ่ง ซึ่งสืบเนื่องมาจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

อันเป็นทางปฏิบัติที่จะคายการไปในภพทั้งหลายได้

พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงปฏิบัติมาในสติปัฏฐานทั้ง ๔ รวมเข้าก็คือในโพธิปักขิยธรรมทั้งหมด

จึงได้ทรงมีการไปคือตัณหาในภพทั้งหลายอันคายเสียแล้วได้

แต่เมื่อยังคายไม่ได้ วิญญาณหรือจิตที่เป็นตัว ภวังคะ องค์ประกอบนี้แหละ

ก็ท่องเที่ยวไปในอารมณ์ทั้งหลาย เหมือนอย่างตัวผึ้งที่ท่องเที่ยวไปในดอกไม้ทั้งหลาย

เคล้าเกษรดอกไม้ทั้งหลาย นำเอารสของน้ำหวานมาทำรังผึ้ง

จิตก็เหมือนกัน ออกไปรับอารมณ์ทั้งหลาย ก็นำเอาสุขทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ที่เป็นเวทนานี่แหละ กลับเข้ามาเพิ่มภพเพิ่มชาติ คือเพิ่มตัวภวังคะนี่ให้โตขึ้น

และให้ดำรงอยู่ เพื่อที่จะสืบภพชาติกันสืบต่อไป เป็นจุติปฏิสนธิกันต่อไป

แต่เมื่อมาปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

กำหนดในกาย ในเวทนา ดับใจได้ คือว่าดับยางเหนียวอันได้แก่ตัณหา

หรือว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ในใจได้แล้ว ก็เป็นอันว่าดับภพดับชาติได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats