ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป071

พระพุทธคุณบทว่าภควา (๓)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 

*

สัมมาวายามะในการทำสมาธิ ๔

ปัจจุบันธรรม ๕

ไตรลักษณ์ ๖

นามรูปเกิดจากใจ ๗

กายเนื้อ กายทิพย์ ๘

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๙๐/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๐/๒ - ๙๑/๑ ( File Tape 71 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่าภควา (๓)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าภควานำ

ในความหมายว่าผู้ประกอบด้วย ภคะธรรม ทั้งหลาย

อันคำว่า ภคะ นี้ก็คือจากคำว่า ภควา นั้นเอง จะแปลว่าผู้มีภคะก็ได้

และคำว่าภคะนี้ เฉพาะในความหมายนี้

ก็หมายถึงสิ่งที่ดีสิ่งที่ประเสริฐทั้งหลาย ความดีความประเสริฐทั้งหลาย

ซึ่งพระอาจารย์ได้ยกขึ้นแสดงว่าสิ่งที่ชื่อว่าภคะในโลกก็มี ๖ อย่าง

คือ อิสริยะ ความเป็นใหญ่ ความเป็นใหญ่เหนือกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลาย

ธรรมะ ก็คือโลกุตรธรรม ได้แก่มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

ยศ ก็คือความที่รับยกย่องสรรเสริญ ...

( เริ่ม ๙๐/๒ ) ก็ทรงมีความเพียรชอบ ในการทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก

เหล่านี้คือภคะธรรมในโลก แต่ในที่นี้จะได้แสดงอธิบายภคะธรรม

โดยปริยายที่ต่อเนื่องกับความหมายว่า หักกิเลสดับกิเลส หักใจดับใจ ดังที่ได้แสดงแล้ว

ในการหักหรือดับกิเลส หักหรือดับใจนั้นก็จะต้องประกอบด้วยภคะธรรม

คือธรรมะอันเป็นเครื่องหักเป็นเครื่องดับ อันเป็นธรรมะที่ทำให้สามารถหักหรือดับได้

อันนับว่าเป็นภคะธรรมส่วนเหตุ และเมื่อหักหรือดับได้แล้วก็ได้ประสบผลเป็นภคะธรรมส่วนผล

ฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจโดยปริยายวิธีปฏิบัติเป็นเครื่องหักหรือเป็นเครื่องดับ

อันนับว่าเป็นภคะธรรมสืบต่อไป

ได้แสดงอธิบายแล้วว่าในการหักหรือดับนั้น จะต้องอาศัยสติต้องอาศัยปัญญา

และสตินั้นก็รวมสัมปชัญญะเข้ามาด้วย และในการเจาะแทงนั้น

ก็คือจะต้องใช้สติใช้ปัญญาเจาะแทง โมหะที่ปกปิดปัจจุบันธรรมมิให้ปรากฏ

อันโมหะนี้จะกล่าวว่าเป็นตัวมายาของจิตใจก็ได้

มายานั้นก็คือเจ้าเล่ห์ ซึ่งเป็นเครื่องปกปิดสัจจะที่เป็นตัวความจริง

เมื่อจิตใจนี้ยังประกอบด้วยมายาซึ่งเป็นเครื่องปกปิดสัจจะที่เป็นความจริง สัจจะก็ไม่ปรากฏ

จึงจะต้องเจาะตัวมายาของจิตใจนี้ลงไป อันได้แก่โมหะนั้นเอง

แต่ว่าในการเจาะนั้น จะใช้วิธีเหมือนอย่างเจาะวัตถุไม่ได้ หรือในการหักกิเลสดับกิเลส

หักใจดับใจนั้น จะใช้วิธีเหมือนอย่างหักหรือดับวัตถุ เช่นไม้หรือไฟของโลกนั้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น ผู้ที่คิดว่าจะหักกิเลส หรือคิดว่าจะหักใจ เพียงแต่คิดอย่างนี้

ก็ไม่สามารถที่จะหักใจหรือหักกิเลสได้ ทั้งที่ต้องประสบความทุกข์กระสับกระส่าย

เดือดร้อน ไม่ผาสุข เพราะกิเลสมีตัณหาอุปาทานเป็นต้นดังกล่าวแล้ว

แต่ก็ไม่สามารถที่จะดับความทุกข์ได้ หักกิเลสไม่ได้ หักใจไม่ได้

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เรียกว่าต้องแพ้กิเลส แพ้จิตใจของตนเอง ต้องทนทุกข์ทรมาณ ต้องเดือดร้อน

และก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ก็กล่าวได้ว่าที่เป็นดั่งนี้ เพราะขาดสัมมาวายามะคือความเพียรชอบ

เมื่อขาดความเพียรชอบ ก็ประสบผลตามที่ปรารถนา คือต้องการความดับทุกข์ไม่ได้

จึงขาด กามะ คือความสำเร็จความที่ปรารถนา

และเมื่อต้องประสบความทุกข์ สิริคือความสง่างามของร่างกายของจิตใจ ก็หายไปก็เสื่อมไป

ยศคือความที่ภาคภูมใจอันเป็นยศภายใน ก็ลดลงไปเสื่อมลงไป

ธรรมะที่เป็นกุศลธรรมทั้งหลายแม้ในขั้นสามัญ ไม่ต้องถึงโลกุตระธรรม

ในขั้นสติ ขั้นสมาธิ ขั้นปัญญา ก็เสื่อมไป

อิสริยะคือความเป็นใหญ่ ความเป็นใหญ่ในจิตใจของตนเอง

ที่เป็นความเป็นใหญ่เหนือกิเลสและความทุกข์ ก็ลดลงไป

กลายต้องอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ใต้อำนาจของความทุกข์

เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าต้องขาดภคะธรรมทั้ง ๖ ข้อดังที่กล่าวมาข้างต้นด้วย

 

สัมมาวายามะในการทำสมาธิ

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีสัมมาวายามะคือความเพียรชอบ

ต้องมีความเพียรพยายาม จับตั้งแต่ปฏิบัติกายวาจาและจิตใจ ให้อยู่ในศีล

ให้เป็นศีลขึ้นมา เป็นความปรกติกาย ปรกติวาจา ปรกติใจ

ไม่ให้กิเลสและอารมณ์ดึงไปให้ก่อเจตนาคือความจงใจ

ในอันที่จะประพฤติกายกรรมวจีกรรมมโนกรรม เป็นการก่อภัยก่อเวรทั้งหลาย

และเมื่อทำให้กายวาจาใจเป็นศีลขึ้นดั่งนี้ ด้วยสัมมาวายามะคือความเพียรชอบ

ก็ย่อมจะเป็นพื้นของกุศลธรรมทั้งหลายที่ยิ่งขึ้น คือสมาธิ

ต้องพยายามให้มีสัมมาวายามะความเพียรชอบในการทำสมาธิ

แม้ว่าจิตใจจะเหนื่อยหน่ายอ่อนแอย่อท้อ ก็ต้องพยุงจิตใจ พยายามที่ทำสมาธิ

คือให้ใจรวมเข้ามา จะด้วยการฟังธรรมะ ไม่อยากฟังก็ต้องพยายามฟัง

ด้วยการอ่านธรรมะ ไม่อยากอ่านก็พยายามอ่าน

หรือด้วยการสวดมนต์ ให้จิตใจนี้สวดมนต์ด้วย พร้อมกับวาจา

หรือว่าไม่เปล่งวาจาก็นึกไปในใจ ข้อสำคัญต้องให้ใจสวด ให้ตั้งอยู่ที่บทที่สวด

แม้จะรู้ความบ้างไม่รู้ความบ้างก็ไม่เป็นไร ต้องการให้จิตใจรวม

หรือว่าทำสมาธิในกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง จะเป็นอานาปานสติ

กายคตาสติ ธาตุกรรมฐาน หรือตั้งสติกำหนดกายเวทนาจิตธรรม

หรือจะเพ่งกสิณ ข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ เพื่อให้ใจรวมเข้ามาเป็นสมาธิ

และเมื่อใจมีสมาธิก็หมายความว่าใจไม่ฟุ้งออกไปถึงอารมณ์อดีตหรืออนาคต

รู้อยู่ในปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรม ก็แปลว่าเป็นการที่เจาะแทงมายาหรือโมหะ

หรือว่าอารมณ์ที่ปิดบังปัจจุบันธรรม ให้เห็นปัจจุบันธรรมขึ้นได้

 

ปัจจุบันธรรม

อันนี้แหละสำคัญมาก

ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติให้พบปัจจุบันธรรมดั่งที่กล่าวมาแล้ว

ถ้าหากว่าไม่พบปัจจุบันธรรม สมาธิก็ไม่ได้

เพราะว่าอารมณ์อดีตบ้างอนาคตบ้าง มากำบังปัจจุบันธรรมอยู่

โดยที่จิตนี้ก็เหมือนอย่างล่องลอยออกไปในเรื่องที่ผูกพันใจ

อันเป็นเรื่องอดีตบ้าง อันเป็นเรื่องอนาคตบ้าง

ซึ่งโดยที่แท้แล้วจิตใจนี้ไม่ได้ล่องลอยไปข้างไหน จิตใจนี้ก็อยู่ที่จิตใจนี้นี่แหละ

แต่ว่าดึงเอาอดีต ดึงเอาอนาคต มาเป็นปัจจุบัน และอันนี้เองที่เป็นเครื่องปกปิดปัจจุบันธรรม

ก็คือเรื่องอดีตเรื่องอนาคต ทำไม่ให้ไม่เห็นปัจจุบันธรรม

และเมื่อไม่เห็นปัจจุบันธรรม ใจก็เป็นสมาธิไม่ได้

ฉะนั้น ใจที่เป็นสมาธิได้ จิตจะต้องเลิกดึงเอาเรื่องอดีตเรื่องอนาคตเข้ามาปิด

ให้จิตนี้โปร่ง อันนี้แหละคือการเจาะแทง เจาะอดีตเจาะอนาคตลงไป จึงจะเห็นปัจจุบันธรรม

ลมหายใจเข้าออกที่เข้าออกอยู่บัดนี้ ก็เป็นปัจจุบันธรรม เป็นปัจจุบันธรรมขั้นสมาธิ

และในขั้นสมาธินี้ก็ต้องได้ปัจจุบันธรรมดั่งนี้ จิตจึงจะเป็นสมาธิ

ถ้าไม่ได้ปัจจุบันธรรมดั่งนี้จิตก็ไม่เป็นสมาธิ

 

ไตรลักษณ์

และเมื่อไม่เป็นสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาไม่ได้ เพราะว่าเมื่อปัจจุบันธรรมไม่ปรากฏ

ลักษณะของปัจจุบันธรรมที่เป็นไตรลักษณ์ก็ไม่ปรากฏ จึงไม่อาจจะเห็นไตรลักษณ์

หรือว่าเห็นเกิดดับ ซึ่งเป็นที่ตั้งของปัญญาได้ จะปฏิบัติอย่างไรก็เห็นไม่ได้

เพราะฉะนั้น จึงต้องได้สมาธิก่อน คือได้ปัจจุบันธรรมที่เป็นขั้นสมาธิ

ยกตัวอย่างเช่นลมหายใจเข้าออกดังกล่าวมาแล้ว

ข้อนี้เป็นข้อพื้นๆธรรมดา เมื่อฟังให้ดีก็จะเข้าใจ

เมื่อมีสัมมาวายามะอยู่แล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องเจาะแทงได้ ทำสมาธิให้บังเกิดขึ้นได้

และเมื่อทำสมาธิให้บังเกิดขึ้นได้ ก็จะทำปัญญาให้บังเกิดขึ้นได้ ทำวิมุติให้บังเกิดขึ้นได้

ตามภูมิตามชั้นของการปฏิบัติ

และจะต้องกล่าวถึงเรื่องการดับใจหักใจ ที่ได้แสดงมาแล้ว

ก็ประกอบเข้าด้วยในตอนนี้ พระพุทธเจ้าเองก็ได้ตรัสแสดงเรื่องหักใจดับใจไว้

ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบปัญหาอชิตะมานพ

ในคำถามนั้น อชิตะมานพก็ได้กราบทูลถามว่าสติปัญญา และนามรูปดับไปในที่ไหน

พระองค์ก็ตรัสตอบว่านามรูปย่อมดับไปไม่เหลือ เพราะความดับแห่งวิญญาณ

คำว่าวิญญาณในที่นี้ พูดง่ายๆในภาษาไทยก็คือใจนั้นเอง เพราะความดับใจหรือหักใจ

แต่พระพุทธภาษิตใช้ว่าดับวิญญาณ คือพูดง่ายๆก็คือว่าดับใจ

เพราะดับใจได้นามรูปก็ดับไม่เหลือ สติปัญญาก็ดับไปเช่นเดียวกัน

ในข้อนี้ก็น่าสงสัยว่าทำไมสติปัญญาจะต้องดับด้วย

ก็จะต้องยกเอาข้อที่พระอานนท์ท่านได้แสดงเอาไว้เมื่อถอดใจความ ก็ถอดใจความได้ว่า

เหมือนอย่างว่าผู้ที่มาสู่ที่นี้ เมื่อมาก็ต้องใช้ฉันทะความพอใจ วิริยะความเพียร

จิตตะความตั้งใจ วิมังสาความใคร่ครวญพิจารณามา

ครั้นมาถึงที่นี้แล้วฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาก็ดับ คือฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาที่ใช้ในการมา

เมื่อการมาได้มาถึงตามมุ่งหมายแล้ว ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาก็เป็นอันว่าดับ

คราวนี้เมื่อจะกลับ ในการกลับก็ต้องใช้ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา

เมื่อกลับไปถึงที่มุ่งหมายแล้ว ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาที่ใช้ในการกลับก็ดับไป

ท่านแสดงดั่งนี้

เพราะฉะนั้น แม้ธรรมปฏิบัติเช่นสติปัญญา

ที่ปฏิบัติเพื่อที่จะดับใจหรือหักใจ ก็ต้องใช้สติปัญญา

เมื่อหักใจดับใจได้ สติปัญญาที่ใช้เพื่อที่จะหักเพื่อจะดับ ก็เป็นอันว่าหมดหน้าที่ ก็ดับไป

และนามรูปซึ่งต้องใช้ในการปฏิบัติเพื่อดับใจ เมื่อดับใจได้ นามรูปที่ใช้เพื่อดับใจนั้นก็ดับไป

สติปัญญาที่ใช้เพื่อจะดับ สติปัญาเองก็ดับไป เป็นสัจจะคือความจริงอยู่ดั่งนี้

เพราะดับใจไม่ได้ในเรื่องนั้น นามรูปก็ย่อมเกิดในเรื่องนั้น

แต่เมื่อดับใจในเรื่องนั้นได้ นามรูปในเรื่องนั้นก็ดับได้

 

นามรูปเกิดจากใจ

เพราะฉะนั้น จึงต้องเข้าใจคำว่านามรูปนี้

อันมีความหมายถึงนามรูปที่เกิดขึ้นในใจ หรือจากใจ

ถ้าพูดดั่งนี้เป็นการพูดภาษาธรรมะ จะทำให้เข้าใจยาก

แต่ว่าถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ตัวเราเกิดขึ้นจากใจ ดังเช่นว่าใจคิดไปถึงรูปที่เห็นเมื่อเช้านี้

เสียงที่ได้ยินเมื่อเช้านี้ ก็คือตัวเรานี้เองเห็น ตัวเรานี้เองได้ยิน

เมื่อใจหน่วงไปถึงสิ่งที่เห็นเมื่อเช้า ได้ยินเมื่อเช้า ก็คือตัวเราเห็นตัวเราได้ยิน

ตัวเราจะไปกับจิตอยู่เสมอ จิตไปที่ไหนตัวเราก็ไปที่นั่น

แต่ว่าตัวเราจริงๆที่เป็นส่วนหยาบนั้นไม่ได้ไปไหน เหมือนอย่างในบัดนี้

ตัวเราที่เป็นส่วนหยาบ คือที่เป็นนามรูปส่วนหยาบนี้นั่งอยู่ที่นี่ ไม่ได้ไปไหน

แต่ว่าใจไป ใจไปที่นั่น ใจไปที่นี่ และเมื่อใจไป ...

( เริ่ม ๙๑/๑ ) เช่นว่าในขณะที่กำลังพูดอยู่นี้ ท่านผู้ฟังใจไม่ได้ฟัง

แต่ว่าใจนึกล่องลอยไปถึงรูปที่เห็นเมื่อเช้า เสียงได้ยินเมื่อเช้า

ตัวเราก็ออกไปกับจิต ก็ไปเห็นรูปได้ยินเสียงเมื่อเช้า

ตาหูเดี๋ยวนี้ที่อยู่กับกายหยาบนี้ก็เลยดับ ไม่ได้ยินเสียงที่กำลังอธิบายธรรมะอยู่นี้

เพราะว่าตาหูไปกับตัวเราที่ไปกับจิตนั้น ซึ่งเป็นตาหูใน ตาหูในนี่สำคัญมาก

เมื่อตัวเราออกไปกับจิต ตาหูนอกนี่ก็ใช้ไม่ได้ เหมือนอย่างตาบอดหูหนวก

กายเนื้อ กายทิพย์

อันนี้แหละให้ทุกคนกำหนดดูจะรู้สึกว่า ทุกคนมีตัวเราอยู่สองชั้น

ตัวเราที่เป็นตัวหยาบที่กำลังนั่งกันอยู่นี้ กับตัวเราที่ไปกับจิตอยู่ทุกแห่ง

ตัวเราที่ไปกับจิตอยู่ทุกแห่งนี้ เมื่อไปไหนก็เอาตาเอาหูไปด้วย

ตาหูที่อยู่กับตัวเราที่เป็นของหยาบนี้ ก็กลายเป็นตาบอดหูหนวก

เพราะฉะนั้น ตัวเรานี้ที่เป็นส่วนละเอียดนี้ ที่เที่ยวไปกับจิตอยู่เสมอนี้ ย่อมเป็นตัวเราที่เป็นชั้นใน

เพราะฉะนั้น ทุกคนนี้จึงถอดตัวเราตัวเราที่เป็นตัวในนี้ไปกับจิตได้อยู่ตลอดเวลา

และเมื่อตัวเราที่เป็นตัวในออกไป ตัวเราที่เป็นส่วนหยาบก็กลายเป็นเหมือนอย่าง

ไม่มีความรู้อยู่ในตัว เหมือนอย่างเป็นศพ แม้ว่าจะไม่ตาย

อันนี้แหละคือเป็นข้อที่แสดงว่ามีตัวเราหยาบ ตัวเราละเอียด

หรือตัวเราที่เป็นกายเนื้อ ตัวเราที่เป็นกายทิพย์

ทุกคนมีอยู่แล้ว และมีอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้น ในการที่จะปฏิบัติให้ได้ศีลให้ได้สมาธิได้ปัญญากันจริงๆนั้น

จะต้องควบคุมตัวเราที่เป็นตัวในนี้ให้อยู่ ไม่ให้ไปไหน จึงจะได้ศีลได้สมาธิได้ปัญญา

ต่อจากนี้ก็ขอให้ทำความสงบสืบต่อไป 

*

พระพุทธคุณบทว่าภควา (๔)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ปริยัติชี้ทางปฏิบัติ ๓

ขันธ์ ๕ นามรูป ๔

ปัจจุบันธรรม ๗

วิปัสสนาภูมิ ๘

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๙๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๑/๒ ( File Tape 71 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่าภควา (๔)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าภควาในความหมายว่าผู้จำแนกแจกธรรมนำ

ความหมายนี้ได้เป็นที่นิยมใช้ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมศึกษาธรรมกันโดยมาก

ดังที่สวดแปลบทนี้ว่า ภควาผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชาชน

ธรรมะที่เราทั้งหลายได้ศึกษา ได้รู้ ได้ปฏิบัติกันอยู่

ก็ได้มาจากการที่ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนของพระบรมศาสดา

ดังที่เราทั้งหลายได้รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์

เช่นรู้จักอกุศลกรรมบถทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล รู้จักกุศลกรรมบถทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล

รู้จักศีล ๕ ศีล ๘ และศีลที่ยิ่งขึ้นไปกว่า รู้จักสมาธิ รู้จักกรรมฐานที่เป็นส่วนสมถะกรรมฐาน

รู้จักปัญญา รู้จักวิปัสสนากรรมฐาน รู้จักอริยสัจจ์ ๔ ตลอดจนถึงมรรคผลนิพพาน

รวมความว่ารู้จักสัตถุศาสน์คำสอนของพระศาสดา

ที่จัดเป็นวินัยปิฎก สุตตันตะปิฎก อภิธรรมปิฎก อันเรียกว่าพระไตรปิฎก

รู้จักขันธ์ อายตนะ ธาตุ รู้จักโพชฌงค์ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ เหล่านี้เป็นต้น

ก็จากธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแสดงสั่งสอนไว้

ถ้าไม่ทรงจำแนกแจกแจงแสดงสั่งสอนไว้ เราทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ นี้เป็นส่วนปริยัติธรรม

 

ปริยัติชี้ทางปฏิบัติ

และปริยัติธรรมนี้เองก็ชี้ทางปฏิบัติ เป็นปฏิบัติธรรมแก่ผู้ที่มุ่งปฏิบัติทั้งหลาย

ในด้านปฏิบัตินี้ที่พระองค์ได้ทรงจำแนกไว้ ก็ได้แสดงมาในพระพุทธคุณบทต้นๆโดยลำดับ

จนมาถึงในความหมายว่าทรงหักกิเลส ดับกิเลส ก็คือหักใจ หรือดับใจ

และก็ได้แสดงมาแล้วว่าใจนี้สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อใจไปที่ไหนตัวเราก็ไปที่นั่น

และคำว่าตัวเรานี้ก็เป็นคำยกขึ้นกล่าวอย่างง่ายๆ ตามที่จะพึงเข้าใจกันได้

และเมื่อจะชี้ลงไปที่ตัวเราว่าคืออะไร

ก็ชี้ได้อย่างหนึ่งว่าคือตัวตัณหาอุปาทาน ความอยากยึดว่าตัวเราของเรา

หากจะถามว่าอยากยึดซึ่งอะไร ก็ตอบได้ว่าอยากยึดซึ่งนามรูปนี้เอง

คือยึดนามรูปว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา ของเรานั้นก็เนื่องมาจากตัวเรา เมื่อมีตัวเราก็มีของเรา

เพราะฉะนั้น ตัวเราก็คือตัวตัณหาอุปาทานที่อยากยึดอยู่ในนามรูป

และนามรูปนี้เมื่อแยกออกไปอีกก็คือขันธ์ ๕ ได้แก่กองรูป

กองเวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

กองสัญญา ความจำได้หมายรู้ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ จำธรรมะเรื่องราว

กองสังขารคือความคิดปรุงหรือปรุงคิดไปในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ธรรมะคือเรื่องราวที่จำได้นั้น

กองวิญญาณก็คือความรู้เห็นรู้ได้ยินในรูปในเสียง

รู้ทราบในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะ และรู้คิดในธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลาย

ขันธ์ ๕ นามรูป

ขันธ์ ๕ นี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งความอยากยึด จึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ

ก็คือยึดถือว่านี่เป็นของเรา นี่ก็คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นของเรา

เราเป็นนี่ก็คือเราเป็นรูปเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขารเป็นวิญญาณ

นี่ก็คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอัตตาตัวตนของเรา

พูดสั้นๆก็คือว่าเป็นที่ยึดว่าตัวเรา

และขันธ์ ๕ นี้ย่อเข้าก็เป็นนามรูป

รูปก็เป็นรูป นามก็คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

เพราะฉะนั้น นามรูปก็เป็นอุปาทานะนามรูป นามรูปเป็นที่ยึดถือดังกล่าวมานั้น

และตัณหาอุปาทานนี้ก็บังเกิดขึ้นที่ใจ อยู่กับใจ

เพราะฉะนั้น เมื่อใจอันประกอบด้วยตัณหาอุปาทานไปที่ไหน ตัวเราคือนามรูปก็ไปที่นั่น

เมื่อยังมีตัณหาอุปาทานนำอยู่ ใจอันประกอบด้วยตัณหาอุปาทานนั้นก็ย่อมจะเที่ยวไป

ในเรื่องรูปเรื่องเวทนาเรื่องสัญญาเรื่องสังขารเรื่องวิญญาณ อันเป็นที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ

เพราะฉะนั้น ตัวเราคือนามรูปก็ไปที่นั่น

และเมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ว่าสติเป็นเครื่องกั้น ป้องกันกระแสของตัณหาอุปาทานทั้งหลาย

ปัญญาเป็นเครื่องละปิดกระแสของตัณหาอุปาทานทั้งหลาย

ก็ปฏิบัติทำสติและปัญญา กำหนดดูใจนี้ที่เที่ยวไปในเรื่องรูปเป็นต้นดังกล่าวแล้ว

จนถึงกั้นได้ป้องกันได้ซึ่งกระแสของตัณหาอุปาทาน ปิดดับกระแสของตัณหาอุปาทานได้

เมื่อป้องกันกั้นปิดดับได้เมื่อใด ตัณหาอุปาทานก็ดับไปเมื่อนั้น ในเรื่องนั้น

เช่นว่า กั้นป้องกันปิดดับได้ในเรื่องรูปนั้น ตัณหาอุปาทานก็ดับไปในเรื่องรูปนั้น

และเมื่อตัณหาอุปาทานดับ ตัวเราหรือว่านามรูปที่ไปกับใจในเรื่องรูปนั้น

ก็ดับไปพร้อมกับตัวใจเอง ซึ่งดับไปในเรื่องนั้น

สติปัญญาที่ทำหน้าที่กั้นปิด ทำหน้าที่ดับ เมื่อกั้นปิดได้ดับได้สำเร็จ

สติปัญญานั้นก็ดับไปในๆเรื่องรูปนั้น ก็เป็นอันว่าดับกันไปได้ในเรื่องหนึ่ง

แต่ว่าเพราะยังมีอาสวะอนุสัย ยังไม่สิ้นอาสวะอนุสัย

คือกิเลสที่ดองสันดาน นอนจมหมักหมกอยู่ในสันดาน

เมื่อประสบอารมณ์คือเรื่อง เช่นเรื่องรูปเรื่องเสียงเป็นต้นขึ้นใหม่อีก

อาสวะที่ดองสันดานก็โผล่ขึ้นมา เป็นตัณหาอุปาทานในรูปในเสียงที่มาใหม่นั้น

ใจอันประกอบด้วยตัณหาอุปาทานนั้นก็เที่ยวไปในเรื่องของรูปเสียงใหม่นั้น

ตัวเรานามรูปก็ไปกับใจ ก็ใช้สติใช้ปัญญาป้องกันกั้นปิดดับกันอีก

และเมื่อทำสำเร็จ ตัณหาอุปาทานก็ดับ ใจก็ดับไปในเรื่องนั้น

ตัวเรานามรูปก็ดับไปในเรื่องนั้น สติปัญญาที่ใช้ในการปฏิบัติก็ดับไปในเรื่องนั้น

ทำกิจสำเร็จแล้ว

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้จักว่า

เพราะวิญญาณคือใจดับ นามรูปก็ดับ สติปัญญาก็ดับ

ดับไปในที่ไหน ก็ดับไปในที่ๆตัณหาอุปาทานดับ ที่ๆใจดับนั่นแหละ

เพราะฉะนั้น ตัณหาอุปาทานเกิดขึ้นในที่ใด ก็ดับไปในที่นั้น

ใจเกิดขึ้นในที่ใด ก็ดับไปในที่นั้น สติปัญญาที่ปฏิบัติเพื่อดับในที่ใด

เมื่อดับแล้ว สติปัญญาเองก็ดับไปในที่นั้นด้วย

เพราะฉะนั้น ทั้งหมดในด้านปฏิบัติธรรม จึงมีเกิดดับอยู่ด้วยกันดั่งนี้

กิเลสก็เกิดดับ ใจก็เกิดดับ ตัวเราหรือนามรูปก็เกิดดับ สติปัญญาก็เกิดดับ

แต่ว่าเพราะเหตุว่ายังไม่เสร็จกิจ เพราะยังมีอาสวะอนุสัย กิเลสก็โผล่ขึ้นมาอีก

ทั้งหมดก็ต้องเกิดดับกันอีก ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสจำแนกแจกธรรมให้เราทั้งหลายได้ทราบ

ในขั้นปฏิบัติทางจิตใจอันละเอียดดั่งนี้ และก็ยังได้ตรัสสอนไว้อีกว่า

ตัวเราที่ไปกับใจอันประกอบด้วยตัณหาอุปาทาน

อันตั้งขึ้นในนามรูป หรือในขันธ์ ๕ ดังที่กล่าวมานั้น ที่เป็นไปดั่งนี้ไม่รู้จักจบสิ้น

ก็เพราะเหตุที่บุคคลซึ่งยังข้องติดอยู่ในโลกทั่วไป เป็นบุถุชน เป็นสามัญชน

ยังมีความเพลิดเพลินยินดี คำนึงถึงรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ที่เป็นอดีตคือล่วงไปแล้ว

ว่าเราได้มีรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณอย่างนี้ๆมาในอดีต

ยังมีความเพลินยินดีหวังถึงรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ในอนาคตคือที่ยังไม่มาถึง

ว่าเราพึงมีรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ อย่างนี้ๆในอนาคต

แม้ว่าจะมิได้มีความเพลิดเพลินยินดีคำนึงถึงอดีตหรือหวังถึงอนาคต

ก็ยังมีความเห็นยึดถืออยู่ในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณที่เป็นปัจจุบันว่าเป็นตัวเรา

หรือว่าเห็นตัวเราว่ายังมีรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

หรือเห็นว่ามีตัวเราในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

หรือเห็นว่ายังมีรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณในตัวเรา

ก็คือยังมีความเห็นยึดถืออยู่ในระหว่างตัวเรา กับรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

(เริ่ม ๙๑/๒) ก็คือยังมีความเห็นยึดถืออยู่ในระหว่างตัวเรากับรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ไม่แยกออกจากกันไปได้

เพราะฉะนั้น รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณแม้ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ก็ปรากฏว่าเป็นตัวเรา ดังเช่นที่ทุกๆคนมีความรู้สึกกันอยู่

เช่นว่าขณะที่นั่งอยู่นี้ ก็ย่อมจะรู้สึกว่าตัวเรานั่งอยู่

เมื่อเดินก็ย่อมจะรู้สึกว่าตัวเราเดิน ยืนนอนก็ย่อมจะรู้สึกว่าตัวเรายืนนอน

ดั่งนี้เป็นต้น เป็นอันว่ายังมีความเห็นยึดถือว่าตัวเราอยู่นั่นแหละแม้ในปัจจุบัน

ทั้งยังมีความยินดีเพลิดเพลิน ก็คือตัวเราที่เป็นปัจจุบันนี่แหละ ยังมีความยินดีเพลิดเพลิน

คำนึงอดีตบ้าง หวังถึงอนาคตบ้างดังที่กล่าวมาแล้ว

เพราะฉะนั้น จึงยังคงไม่มีปัญญาเห็นแจ้ง ไม่มีปัญญาเห็นแจ้งในปัจจุบัน

เพราะว่าในปัจจุบันนี้เองก็ยังมีตัวเราอันเป็นตัณหาอุปาทาน บังสัจจะคือความจริงอยู่

ทั้งไม่มีปัญญาเห็นแจ้งในอดีต เพราะยังมีความเพลิดเพลินยินดีคำนึงถึงอดีตโดยเป็นตัวเราอยู่

ยังมีความเพลิดเพลินยินดีหวังถึงอนาคตโดยยังหวังเป็นตัวเราอยู่

ในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณดังกล่าวแล้ว

เพราะฉะนั้น จึงยังไม่เห็นแจ้งในสัจจะคือความจริงที่เป็นปัจจุบัน ทั้งที่เป็นอนาคต

ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต รวมปัจจุบันเข้าด้วยก็ทั้งที่เป็นปัจจุบัน

เป็นอันว่ายังไม่มีปัญญาเห็นแจ้งในกาลทั้ง ๓

เพราะฉะนั้น จิตใจนี้จึงยังถูกครอบงำอยู่ด้วยอวิชชาโมหะ ด้วยตัณหาอุปาทาน

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้จำแนก จำแนกว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญาณส่วนที่เป็นอดีต

ที่จิตใจนี้ยังมีความเพลิดเพลินยินดีคำนึงถึงอยู่นั้นดับไปแล้ว ไม่มีเหลืออยู่แล้ว

ส่วนที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง เพื่อที่จะได้ดับใจเสียจากส่วนที่เป็นอดีต

ดับใจเสียจากส่วนที่เป็นอนาคต ไม่ให้ใจนี้ท่องเที่ยวออกไป

เพราะส่วนที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว ส่วนที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง

ตรัสสอนให้รู้จักจำแนกดั่งนี้ ให้จิตใจนี้รับรู้ตามที่ทรงสั่งสอน

และเมื่อจิตใจนี้รับรู้ตามที่ทรงสั่งสอนได้ ก็จะดับใจจากอดีตได้ ดับใจจากอนาคตได้

ก็เป็นอันว่าดับตัวเราจากอดีตได้ ดับตัวเราจากอนาคตได้

ก็เป็นอันว่าดับนามรูป หรือดับขันธ์ ๕ ที่ไปกับตัวเราในส่วนอดีตได้ในส่วนอนาคตได้

นามรูปหรือขันธ์ที่ไปกับตัวเราดังกล่าวนี้ ก็หมายถึงนามรูปหรือขันธ์ที่เป็นชั้นใน

ที่ไปกับตัวเรา ไปกับใจดั่งที่กล่าวมาแล้ว

 

ปัจจุบันธรรม

จึงเหลือแต่ปัจจุบัน ก็ให้มากำหนดเจาะแทงลงไปที่ปัจจุบันนี้

ก็ไม่ได้เจาะแทงอะไรอื่น เจาะแทงตัวเราที่รู้สึกว่าตัวเราอยู่ในปัจจุบันนี้

เช่นว่าในปัจจุบันนี้เมื่อนั่งเมื่อนอน ก็รู้สึกว่าตัวเรานี่นั่งเมื่อนอน

ซึ่งตัวเรานี้ก็คือตัณหาอุปาทานความอยากยึด อยากยึดอยู่ในอะไร

ก็อยากยึดอยู่ในขันธ์ ๕ หรือนามรูปที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งอื่น

อยากยึดอยู่ในนามรูปในขันธ์ ๕ ที่เป็นปัจจุบัน ที่เป็นตัวเราอยู่ในปัจจุบัน

พิจารณาให้เห็นลงไป เจาะแทงตัวเราลงไปว่าตัวเรานั้นไม่มี

ตัวเราเกิดจากตัณหาอุปาทาน อยากยึดว่าตัวเราว่าของเรา

เพราะฉะนั้น ตัวเรานี้ก็คือตัวตัณหาอุปาทาน ซึ่งอันที่จริงนั้นตัวเราไม่มี

ตัวเราก็คือตัณหาอุปาทาน

ตัณหาอุปาทานนั้นเล่า ก็เป็นตัวอวิชชาตัวโมหะความไม่รู้ความหลง

เพราะเหตุว่าขันธ์ ๕ ที่เป็นปัจจุบัน นามรูปที่เป็นปัจจุบัน ที่เป็นไปอยู่นี้เป็นสิ่งที่เกิดดับ

เพราะฉะนั้น หากขันธ์ ๕ หรือนามรูปเป็นตัวเรา ตัวเราก็เกิดดับ

เกิดดับอยู่ในปัจุบันนี้เอง เกิดแล้วก็ดับไปทันทีอยู่ในปัจจุบัน

 

วิปัสสนาภูมิ

เพราะฉะนั้น ก็ให้เพ่งพินิจเจาะแทงตัวเรา อันเป็นตัณหาอุปาทานนี้ลงไป

ให้พบนามรูป หรือพบว่านี่รูปนี่เวทนานี่สัญญานี่สังขารนี่วิญญาณ

และเมื่อพบนามรูป พบรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณได้ เป็นปัจจุบันธรรม

ก็เป็นอันได้พบวิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนา

และเมื่อพบวิปัสสนาภูมิ ไตรลักษณ์ของวิปัสสนาภูมินี้ก็จะปรากฏ

คือนามรูป หรือว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็จะปรากฏความเกิดความดับ

เป็นอนิจจะไม่เที่ยง ปรากฏว่าตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป 

คือเมื่อเกิดเป็นรูปเป็นนามขึ้นมา

เกิดเป็นรูปเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขารเป็นวิญญาณขึ้นมา

ก็ไม่ตั้งอยู่ ต้องแปรไปเปลี่ยนไปดับไป เป็นทุกข์

จึงบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ เป็นอนัตตามิใช่ตัวตน

ถ้าเป็นตัวตนแล้วต้องบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ แต่นี่บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นว่านามรูปหรือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้เป็นอนิจจะไม่เที่ยง

สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา

ก็แปลว่าไตรลักษณ์ปรากฏ

เมื่อไตรลักษณ์ปรากฏขึ้นแม้แต่น้อยก็ชื่อว่าเห็นแจ้งเป็นวิปัสสนา

และเมื่อเห็นแจ้งก็ย่อมจะไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน

ไม่ยินดีไม่ยินร้ายอยู่ในนามรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร วิญญาณ

นามรูปนี้หรือว่าขันธ์ ๕ นี้ ก็จะไม่เป็นที่ตั้งของตัณหาอุปาทาน

ก็เป็นอันว่าดับใจได้ คือใจที่ประกอบเป็นตัณหาอุปาทาน เพราะว่าดับตัณหาอุปาทานได้

และสติปัญญาที่ทำมาจนได้อย่างนี้ ก็ดับไปเป็นขั้นๆ

แล้วก็ต้องปฏิบัติกันให้เป็นสติปัญญาขึ้นมาอีก เพราะยังไม่เสร็จกิจ ต้องทำกันต่อไปอีก

แต่ทุกอย่างก็ต้องเกิดดับๆไปดั่งนี้พร้อมกัน

ใจดับ ตัณหาอุปาทานดับ นามรูปหรือว่าขันธ์ดับ สติปัญญาดับ ในข้อนี้ในเรื่องนี้

และเกิดเรื่องใหม่ข้ออื่นใหม่ขึ้น ใจก็เกิดขึ้นอีก ตัณหาอุปาทานเกิดขึ้นอีก

นามรูปขันธ์ ๕ เกิดขึ้นอีก สติปัญญาก็ต้องอบรมขึ้นอีกเพื่อดับ และเมื่อดับก็ดับไปด้วยกันหมด

และเมื่อเกิดก็ต้องปฏิบัติทำสติปัญญาให้เกิดขึ้นเพื่อดับ และเมื่อดับก็ดับไปด้วยกันหมด

ก็เกิดดับไปอย่างนี้ทุกๆฝ่าย

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats