ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 09:59
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป070
พระพุทธคุณบทว่าภควา (๑)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บุญกิริยา ๓
บุญกรรม บาปกรรม ๔
ความหมายของคำว่าบารมี ๕
ความหมายของคำว่าอาสวะ ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๘๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๘๙/๒ ( File Tape 70 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระพุทธคุณบทว่าภควา (๑)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าภควา ในความหมายว่าพระผู้มีภาคยะคือพระบารมี
พระพุทธคุณบทนี้พระอาจารย์ได้แสดงความหมายไว้หลายอย่าง
แต่ที่จะแสดงในวันนี้เพียงในความหมายดังกล่าว พระผู้มีภาคยะคือพระบารมี
หรือมีคำแปลให้ฟังง่ายสำหรับคนทั่วไปว่าพระผู้มีโชค อันหมายถึงมีโชคดี
แต่ว่าความหมายนี้ถ้าไม่เข้าใจตามคลองธรรม ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิด
ว่าเป็นโชคดีโชคร้าย เหมือนอย่างที่โลกพูดกัน
แต่ความหมายของคำว่าผู้มีโชคในที่นี้ก็คือมีพระบารมีนั้นเอง
และคำว่าบารมีนี้ไทยเราก็ได้นำมาใช้ทั้งในทางพระพุทธศาสนา และในทางประเทศชาติ
ในทางพระพุทธศาสนานั้นก็ใช้หมายถึงพระพุทธเจ้า เมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้
ได้ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณคือความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามาตลอดชาติเป็นอันมาก
และแม้พระสาวกก็มีใช้ว่าบำเพ็ญบารมีมา ดังที่มีคำเรียกว่า สาวกปารมี บารมีของพระสาวก
ส่วนในทางประเทศชาติบ้านเมืองนั้นก็มีใช้ดั่งเช่น พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบารมี
ซึ่งก็หมายถึงบุญอันสูง จึงเรียกว่าบุญบารมีประกอบกันดั่งนี้ก็มี
บุญกิริยา
พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี
ก็คือได้ทรงบำเพ็ญบุญ เป็นบุญกิริยาคือกระทำบุญ อันได้แก่ความดีต่างๆมาเป็นอันมาก
ซึ่งได้มีแสดงรวมเข้าในบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ
ขันติ สัจจะ อธิษฐานะ เมตตา และอุเบกขา เหล่านี้ล้วนเป็นบุญกิริยา
คือการกระทำบุญทางกายทางวาจาทางใจนี้เอง ซึ่งการกระทำบุญดังกล่าวนี้
ล้วนเป็นเครื่องชำระฟอกล้างจิตใจให้บริสุทธิ์จากกิเลสอาสวะทั้งหลาย
อันนับว่าเป็นบุญส่วนเหตุ ทำให้ได้ความบริสุทธิ์กายบริสุทธิ์วาจาบริสุทธิ์ใจ
อันเป็นเหตุให้เกิดความสุข อันเป็นบุญส่วนผล
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้แปลความว่า ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย
บุญเป็นชื่อของความสุข ดั่งนี้
การกระทำบุญทางกายทางวาจาทางใจดังกล่าวนั้น
เมื่อกระทำก็เป็นกิริยาที่ทำ เช่นศีลก็ต้องมีกิริยาที่สมาทานศีล ทานก็มีกิริยาที่ให้
เช่นให้วัตถุที่พึงให้ต่างๆ แม้การทำบุญอย่างอื่นก็ต้องมีกิริยาที่ทำดังที่กล่าวมา
อันกิริยาที่ทำนี้เมื่อทำไปคราวหนึ่งๆแล้ว ก็ล่วงไปๆ เหมือนอย่างการให้ทาน
เช่นการตักบาตรพระ ก็ทำเสร็จกันไปคราวหนึ่งๆ กิริยาที่ทำนั้นก็ล่วงไปๆ
แต่ว่ายังมีสภาพที่เรียกว่ากรรม ยังไม่ล่วงไป ยังคงอยู่ หากว่าจะถามว่าคงอยู่ที่ไหน
ก็ต้องขอยืมคำว่าจิตมาใช้ ว่าคงอยู่ที่จิตนี้เอง เป็นตัวกรรมที่ยังติดอยู่
และมิใช่แต่บุญเท่านั้น บาปก็เหมือนกัน การทำบาปที่ทำกันครั้งหนึ่งๆ ก็เรียกว่าเป็นกิริยาที่ทำ
เช่นจะฆ่าสัตว์ก็ต้องมีกิริยาที่ฆ่า ทำการฆ่า จะลักทรัพย์ก็ต้องมีกิริยาที่ลัก ทำการลัก
แต่กิริยาที่ทำนี้ทำคราวหนึ่งๆ แล้วก็ล่วงไปๆ แต่ว่าสภาพที่เรียกว่ากรรม
อันเกิดจากกิริยาที่ทำบาปนั้นๆยังคงอยู่ ก็คงอยู่ในจิตใจนี้เอง
บุญกรรม บาปกรรม
สำหรับกรรมที่เป็นส่วนบุญคือเกิดจากการทำบุญต่างๆ ก็เรียกว่าเป็นบุญกรรม หรือกุศลกรรม
ส่วนกรรมที่เป็นบาปอันเกิดจากการกระทำบาปต่างๆ ก็เรียกว่าบาปกรรม หรืออกุศลกรรม
ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทุกคนพิจารณาเนืองๆว่า เรามีกรรมเป็นของๆตน
เราเป็นทายาทรับผลของกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักกระทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่ว
ก็จะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น
และได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ในที่อื่นอีกว่า
บุคคลผู้จะต้องตาย ย่อมถือเอาบุญบาปที่กระแล้วไว้ไป ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น กรรมทั้งที่เป็นกุศลกรรม ทั้งที่เป็นอกุศลกรรม ที่ทุกๆคนได้กระทำไว้
จึงยังเป็นของๆตน และติดตนไป ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้นั้น
ในข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆ ๕ ข้อ
ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา
เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น และเรามีกรรมเป็นของๆตน รวมเป็น ๕ ข้อ
ใน ๔ ข้อข้างต้นนั้น ก็เป็นอันได้ทรงสอนว่า นามรูปหรือชีวิตนี้
อันประกอบด้วยร่างกายและจิตใจครองอยู่ ไม่ใช่เป็นของๆตน
แม้สมบัติพัสถานทั้งหลาย บุคคลซึ่งเป็นที่รักทั้งหลาย ก็ไม่ใช่เป็นของๆตน
เพราะว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย และต้องพลัดพรากเป็นธรรมดา
ถ้าเป็นของๆตน ก็จะต้องไม่พลัดพราก จะต้องไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย
ส่วนข้อ ๕ นี้พระองค์ไม่ตรัสอย่างนั้น ตรัสว่ามีกรรมเป็นของๆตน
อันแสดงว่าบุญบาปที่ทุกคนทำไว้นั้น กิริยาที่ทำก็เสร็จไปๆคราวหนึ่งๆ
แต่ว่าสภาพที่เป็นกรรมยังคงอยู่ ไม่หายไปไม่หมดไป ซึ่งยังติดตนไป
ตามนัยยะพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้นี้ ก็จะทำให้กล่าวได้ว่า
ทุกคนเมื่อเกิดมา ก็นำบุญบาปอันเป็นส่วนกรรมที่กระทำไว้แล้วมาด้วย
อยู่ในปัจุบันนี้ ก็มีกรรมที่เป็นบุญบาปซึ่งกระทำไว้ติดตนอยู่
และเมื่อร่างกายนี้แตกสลาย ตนก็พาเอาบุญบาปนี้ไป คือพาเอากรรมที่เป็นบุญบาปนี้ไป
เพราะฉะนั้นจึงตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆว่ามีกรรมเป็นของๆตน
เพื่อว่าจะได้มีหิริโอตตัปปะ มีความละอายใจ มีความรังเกียจต่อบาป
มีความเกรงกลัวต่อบาป จะได้ไม่กระทำบาป ก่ออกุศลกรรมบาปกรรมขึ้นในตน
แต่ให้กระทำบุญ ก่อบุญกรรมหรือกุศลกรรมขึ้นในตน
ความหมายของคำว่าบารมี
อนึ่ง คำว่ากรรมย่อมมีความหมายถึงส่วนที่ยังคงอยู่ ทั้งส่วนบุญทั้งส่วนบาป
จึงมีอีกคำหนึ่งคือคำว่าบารมี อันหมายจำเพาะถึงส่วนที่เป็นกุศลกรรม หรือบุญกรรมคือกรรมดี
และมีความหมายที่เน้นเข้ามาว่า มิใช่เป็นความดีที่กระทำโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย
แต่ว่าหมายถึงกรรมดีที่กระทำด้วยมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งจะต้องกระทำความดีอันเป็นบุญกรรม
กุศลกรรมบ่อยๆ สั่งสมเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมาย เพื่อให้สำเร็จถึงจุดหมายที่ต้องการ
เช่นพระพุทธเจ้าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์
ก็ได้ทรงตั้งความปรารถนาเพื่อความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
จึงได้ทรงบำเพ็ญพุทธการกธรรม ที่แปลว่าธรรมะที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า
ก็ได้แก่บารมี ดังที่ได้มีระบุไว้ ๑๐ ประการดังกล่าว
แต่ว่าการบำเพ็ญความดีอันเป็นบุญกรรม เป็นกุศลกรรมเพื่อให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านั้น
จะทำเพียงวันเดียว เดือนเดียว ปีเดียว ชาติเดียวให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้
เพราะว่าจะต้องชำระจิตใจนี้ให้สิ้นอาสวะกิเลสทั้งสิ้น ที่เรียกว่าเป็นขีณาสวะ
คือเป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้วนั้นส่วนหนึ่ง ทั้งจะต้องทำความดีเพิ่มพูนปัญญาสามารถต่างๆ
เพื่อที่จะทรงประกาศพระพุทธศาสนา ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในโลกได้
เพราะว่าความเป็นพระพุทธเจ้าผู้ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นนั้น
มิใช่ว่าจะปฏิบัติเพื่อให้สิ้นกิเลสทั้งปวงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ยังจะต้องประกอบด้วยความรู้ความสามารถในอันที่จะประกาศตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น
ตั้งบริษัท ๔ ขึ้น
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงทำกิเลสให้สิ้น
เรียกว่าเป็นพระอรหันต์คือสิ้นกิเลส ยังทรงประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ
ทศพลญาณ วิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา เป็นต้น อีกเป็นอันมาก
จึงทำให้ทรงสามารถประกาศพระพุทธศาสนา ตั้งพระพุทธศาสนา และบริษัท ๔ ขึ้นได้
เพราะฉะนั้น จึงต้องทรงบำเพ็ญความดีต่างๆ ดังที่ยกขึ้นไว้ ๑๐ ประการนั้น
ตลอดเวลาช้านาน ยิ่งกว่าสาวกบารมี ซึ่งสาวกบารมีนั้นไม่ต้องตรัสรู้ด้วยตนเอง
ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว ก็เป็นผู้รู้ตาม
และไม่สามารถจะตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นได้ ได้แต่สอนตามพระพุทธเจ้า
และช่วยรักษาพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นไว้สืบต่อมา
เพราะฉะนั้น บารมีที่เป็นสาวกบารมีนี้ จึงน้อยกว่าบารมีที่เป็นพุทธบารมี หรือพุทธภูมิ
เพราะฉะนั้นคำว่าบารมีนี้ท่านจึงแสดงว่ามาจากคำว่าปรมะที่แปลว่าอย่างยิ่ง
หรือแปลว่ายอด อันหมายความว่ากระทำให้ยิ่งๆขึ้นไปจนถึงยอด
และแปลว่าฝั่ง ก็คือถึงฝั่ง อันหมายถึงว่าจุดหมายปลายทางที่ต้องการ ที่ตั้งใจเอาไว้
ความดีที่ทำสั่งสมให้ยิ่งๆขึ้นไปโดยลำดับดั่งนี้แหละ
เพื่อผลที่ตั้งอธิษฐานจิตเอาไว้นี้แหละ เรียกว่าบารมี
และแม้ความดีที่ทุกๆคนกระทำ
ถึงแม้ว่าจะมิได้มีจุดหมายดังกล่าว แต่ว่าทำสะสมเพิ่มเติมอยู่เสมอ ..
( เริ่ม ๘๙/๒ ) ความดีข้ออื่นอยู่เสมอ ทั้งด้านทานศีลภาวนา หรือว่าศีลสมาธิปัญญา
หรือว่ามรรคมีองค์ ๘ เมื่อปฏิบัติกระทำเพิ่มเติมอยู่เสมอๆ
ความดีที่กระทำไว้เสมอๆนี้ ก็เพิ่มเติมยิ่งขึ้นๆ ก็เรียกว่าบารมีได้เหมือนกัน
ความหมายของคำว่าอาสวะ
แม้ในด้านความชั่วที่กระทำไว้ ก็เพิ่มเติมขึ้นได้เสมอๆเหมือนกัน
ตลอดจนถึงกิเลส กิเลสกองโลภกองโกรธกองหลง
ที่จิตใจนี้ประกอบด้วยโลภโกรธหลงอยู่บ่อยๆ โลภโกรธหลงก็เพิ่มขึ้นๆได้อีกเหมือนกัน
และโลภโกรธหลงที่เกิดขึ้นคราวหนึ่งๆ ก็ดับไปคราวหนึ่งๆ
แต่ว่ายังทิ้งตะกอนอยู่ในจิตเรียกว่าอาสวะที่แปลว่าดอง หรือว่าหมักหมม
เรียกว่าอนุสัยที่แปลว่านอนจม หรือหมักหมม อาสวะอนุสัยนี้ตรงกันข้ามกับบารมี
บารมีเป็นส่วนดีที่เก็บไว้ อาสวะอนุสัยเป็นส่วนชั่วที่เก็บไว้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเป็นอันมาก
แม้ว่าจะทรงได้ประสบผลตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า สิ้นภาระหน้าที่ๆจะต้องกระทำความดี
เพื่อสิ้นกิเลส เพื่อเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปอีกแล้ว แปลว่าทรงบรรลุถึงสุดดีสุดชั่ว
เพราะว่าดีนั้นก็เพื่อชำระชั่ว เมื่อทำดีถึงที่สุดก็ชำระชั่วได้หมดสิ้น
บำเพ็ญบารมีถึงที่สุดก็ชำระอาสวะกิเลสได้หมดสิ้น ก็เป็นอันว่าสิ้นทั้งดีทั้งชั่ว คือสุดดีสุดชั่ว
ไม่ต้องทำดีเพื่อละชั่วกันต่อไปอีก เพราะว่าชั่วหมดแล้ว ก็เป็นอันว่าสุดดีแล้ว ก็สุดชั่วแล้ว
จึงมีคำเรียกท่านผู้อยู่ในภาวะเช่นนี้ว่า ลอยบุญลอยบาปแล้ว คือพระอรหันต์ทั้งหลาย
แม้เช่นนั้นก็ยังทรงบำเพ็ญพุทธกิจประกาศพระพุทธศาสนา ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น
บารมีที่ทรงกระทำไว้ แม้ว่าจะถึงที่สุดแล้ว ก็ยังอำนวยผลให้บังเกิดความผาสุขสะดวกต่างๆ
ทั้งที่เป็นไปในทางกาย ทั้งที่เป็นไปในทางจิตใจ หรือทั้งที่เป็นส่วนโลกิยะ ทั้งที่เป็นส่วนโลกุตระ
พระพุทธเจ้าทรงได้รับความเคารพนับถือบูชาจากโลกอย่างสูงสุด
ได้ทรงปราศจากความขัดข้องแร้นแค้น ทั้งทางพระวรกาย ทั้งทางพระหฤทัย
ทรงบำเพ็ญพุทธกิจได้สำเร็จตามที่ทรงตั้งสังขาราธิษฐาน คืออธิษฐานพระทัยดำรงอายุสังขาร
เพื่อประกาศพระพุทธศาสนา ให้พระศาสนาของพระองค์ตั้งมั่นขึ้นในโลก
ประดิษฐานบริษัททั้ง ๔ ให้บริษัททั้ง ๔ บังเกิดขึ้นในโลก ก็เป็นอันว่าได้ทรงประสบความสำเร็จ
ตามพระพุทธาธิษฐาน จึงได้ทรงปลงอายุสังขาร และเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ในเมื่อได้ทรงประสบความสำเร็จในการประกาศพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์แล้ว
เหล่านี้ก็เพราะพระบารมีนี้เอง ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาเป็นอย่างยิ่งยอด
เพราะฉะนั้น จึงทรงได้พระนามว่าพระภคยะคือพระผู้มีพระบารมี มีพระบารมีเป็นเยี่ยมยอด
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและปฏิบัติทำความสงบทางจิตใจต่อไป
*
พระพุทธคุณบทว่าภควา (๒)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
กำหนดดูจิตในปัจจุบันธรรม ๗
ปัญญาขั้นเห็นเกิดดับ ๑๑
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๘๙/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๐/๑ ( File Tape 70 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระพุทธคุณบทว่าภควา (๒)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าภควานำ ในความหมายว่าผู้หัก คือหักกิเลส
ตามที่ได้มีคาถาแสดงไว้แปลความว่า ผู้หักราคะ หักโทสะ หักโมหะ
เป็นผู้ไม่มีอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน หักบาปธรรมทั้งหลาย จึงเรียกว่าภควา
ในความหมายนี้อันที่จริงก็เป็นความหมายของพระพุทธคุณตั้งแต่บทว่าอะระหัง
แต่ว่าแต่ละบทมีพยัญชนะคือถ้อยคำที่ต่างกัน
ทางอธิบายจึงอาจอธิบายด้วยยกเอาพยัญชนะเป็นหลัก ว่าเป็นผู้หักคือหักกิเลส
และก็แสดงอธิบายไปในแนวนี้
ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระพุทธคุณนั้นแต่ละบทเรียกว่าเป็น อัปปมาโณ คือไม่มีประมาณ
กว้างใหญ่ไพศาลกำหนดนับไม่ได้ ว่ากว้างใหญ่เท่าไร
หรือถ้าเทียบอย่างวัตถุเช่นมหาสมุทรก็หยั่งไม่ได้ว่า ลึกเท่าไร กว้างเท่าไร
ฉะนั้น จึงอาจจับขึ้นมาแสดงกันได้แต่เพียงนัยยะใดนัยยะหนึ่ง
หรือปริยายใดปริยายหนึ่งเท่านั้น
และก็ไม่มีผู้ใดแม้ว่าพระอรหันตสาวกทั้งหลาย จะหยั่งลงไปถึงพระพุทธคุณได้
ท่านพระสารีบุตรเองก็ยังได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า
ท่านไม่อาจทราบธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้
ไม่อาจทราบความรู้อันเป็นสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้าได้
ท่านทราบได้แต่เพียงที่ได้ฟังพระพุทธเจ้าสั่งสอนแสดงทางไปสู่มรรคผลนิพพาน
และท่านก็ได้ความเข้าใจว่า ก็คงเป็นทางเดียวกัน ไม่มีทางอื่น
นอกไปจากทางที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน
พระพุทธเจ้าเองก็ได้เสด็จไปในทางที่ได้ตรัสสอนนี้
ได้ทรงบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยพระองค์เองแล้ว ก็ทรงสั่งสอนพระสาวก
พระสาวกก็ปฏิบัติไปตามทางเดียวกันนี้ ไม่ใช่ทางอื่น และก็ได้บรรลุตามพระพุทธเจ้า
ท่านก็บรรลุตามพระพุทธเจ้า จึงรู้ว่าทางนี้เท่านั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จไปถึงก่อน
และก็ตรัสบอกพระสาวก พระสาวกก็เดินไปตามทางนี้เท่านั้น ก็บรรลุตามพระพุทธเจ้า
ท่านก็รู้ได้เพียงเท่านี้ ใจความที่กราบทูลก็เป็นดั่งนี้
แต่ว่าพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้านั้น จะเป็นอย่างไรท่านก็ไม่อาจจะทราบได้
เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรเอง ท่านก็ยังได้แสดงดั่งนี้
และท่านก็แสดงพระพุทธคุณ ตามที่ท่านได้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ซึ่งท่านเห็นว่าพระพุทธเจ้าเองก็ทรงได้บรรลุโดยทางนี้ ดั่งที่กล่าวมาแล้ว
จึงได้มีพระคุณตามที่ท่านได้รู้ตามไป เท่าที่ท่านรู้
เพราะฉะนั้น พระพุทธคุณแต่ละบทนั้นจึงอาจแสดงอธิบายกันได้
โดยอาศัยหลักของพยัญชนะคือถ้อยคำ และก็อธิบายไปโดยปริยายคือทางอันหนึ่ง
แต่ว่าทางที่จะอธิบายแต่ละบทนั้นมากมาย
และก็รวมอยู่ในจุดใหญ่อันเดียวกัน เป็นพระพุทธคุณ รวมอยู่ในคำว่าพระพุทธคุณคำเดียว
แม้พระพุทธคุณทุกบทที่อธิบายมา ก็อธิบายตามที่ท่านพระอาจารย์ท่านได้อธิบายกันไว้
ก็ตามแนวทางที่ท่านได้ปฏิบัติกันมาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
เมื่อได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ที่แสดงถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ดังเช่นปฐมเทศนาเป็นต้น
เพราะฉะนั้น แม้ใจความของแต่ละบทนั้นจะเป็นอันเดียวกัน
แต่ว่าพยัญชนะนั้นต่างกัน แนวอธิบายก็อาจจะอธิบายให้แตกต่างกันไปได้
แม้ในบทนี้ ภควา ในความหมายว่าผู้หักคือหักกิเลส ดังที่กล่าวมา
ก็พึงอธิบายโดยปริยายให้แตกต่างจากที่ได้อธิบายมาแล้วได้
คำว่าผู้หักกิเลสนี้ จะกล่าวว่าเป็นภาษาธรรมะก็ได้
ชาวบ้านไม่ค่อยจะพูดกัน และไม่ค่อยจะได้ฟังกัน ว่าหักกิเลส
แต่มีอยู่คำหนึ่งที่ชาวบ้านพูดกัน และเข้าใจกัน ก็คือหักใจ
ดังที่มีคำเตือนกัน เช่นในเมื่อพบผู้ที่ต้องเป็นทุกข์ต้องเศร้าโศก เพราะความพลัดพราก
จากบุคคลและสิ่งที่เป็นที่รัก คร่ำครวญรัญจวนใจ ก็มักจะเตือนกันว่าให้หักใจเสีย
โดยให้นึกถึงว่าเป็นไปตามกรรม เป็นไปตามคติธรรมดา ดั่งนี้เป็นต้น
ตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
คำว่าหักใจนี้เป็นคำที่ฟังเข้าใจกัน
แต่อันที่จริงนั้นก็มีความหมายเป็นอันเดียวกันกับคำว่าหักกิเลส เพราะหักใจนั้นก็คือหักตัณหา
ความดิ้นรนทะยานอยาก อันเป็นเหตุให้ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราต่างๆ
เพราะฉะนั้น จะหักใจได้ก็ต้องหักกิเลสคือตัณหาอุปาทานที่บังเกิดขึ้นในจิตใจนี้เอง
แม้พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ดับทุกข์ ก็คือตรัสสอนให้ดับตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์นั้นเอง
คือให้ดับตัณหาซึ่งเป็นตัวเหตุ เมื่อดับตัณหาที่เป็นตัวเหตุได้ ก็ดับทุกข์ได้
เพราะฉะนั้น ที่ตรัสสอนว่าให้ดับทุกข์ หรือที่สอนกันว่าดับทุกข์
ก็คือดับกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นเอง
แม้คำว่าหักใจที่ชาวบ้านพูดกันเข้าใจ หรือตามศัพท์ธรรมะว่าหักกิเลส
โดยความก็คือดับกิเลสนั้นเอง และดับกิเลสนั้นก็กล่าวได้เป็นภาษาชาวบ้านว่าดับใจนั้นเอง
คือดับใจที่ประกอบด้วยกิเลส และเมื่อดับใจที่ประกอบด้วยกิเลสได้ ความทุกข์ต่างๆก็ดับ
คำเหล่านี้จึงมีความหมายเป็นอันเดียวกัน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า ผู้ที่เป็นไปตามอำนาจของจิตใจย่อมเดือดร้อน
แม้คำนี้ก็ตรัสเป็นสามัญเหมือนที่ชาวบ้านพูดกันว่าดับใจดังกล่าวนั้น หรือหักใจดังกล่าวนั้น
เพราะว่าเมื่อหักใจไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามอำนาจของใจ จึงต้องเดือดร้อน
และข้อนี้ก็มีความหมายว่าเป็นไปตามอำนาจของกิเลสในจิตใจนั้นเอง
แต่ว่าไม่พูดว่ากิเลส พูดกันง่ายๆว่าเป็นไปตามอำนาจของใจ
แทนที่จะพูดว่าเป็นไปตามอำนาจของกิเลสในใจ ละคำว่ากิเลสไว้เสีย
แต่ว่าก็เข้าใจกัน เหมือนคำว่าหักใจก็คือหักกิเลสในใจ หักตัณหาอุปาทานในใจเสีย
หักความรักเสีย ความยึดถือเสีย เพราะความรัก ความทุกข์ก็ดับ
บิดามารดาที่เสียลูก เช่นลูกสิ้นชีวิตก็ต้องเศร้าโศกเป็นอันมาก
สามีภรรยาต้องจากกันด้วยความตายข้างใดข้างหนึ่ง ก็ต้องทุกข์โศกเป็นอันมาก
ทั้งนี้ก็เพราะความรัก หรือเรียกว่าตัณหานั้นเอง และก็ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา
เรียกว่าหักใจไม่ได้ ก็คือหักความรักไม่ได้ หักความยึดถือไม่ได้ จึงต้องเป็นทุกข์
ถ้าหักเสียได้ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ สงบทุกข์ได้ ความจริงก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้
และเมื่อพิจารณาดูสักหน่อยหนึ่งแล้วก็เห็นได้ไม่ยาก เห็นได้ง่าย
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้หักกิเลส และได้ตรัสสอนให้ทุกๆคนหักกิเลสตามพระองค์
ก็คือตรัสสอนให้ดับกิเลส พูดอย่างสามัญก็คือสอนให้หักใจ และให้ดับใจดั่งที่กล่าวมานั้น
แม้ที่เกี่ยวแก่ตนเอง เกี่ยวแก่ความแก่ ความเจ็บ ความตายของตนเอง
เมื่อรู้สึกว่าตนจะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตาย
เมื่อมีตัณหาคือความรักชีวิตของตนเองอย่างยิ่ง มีความยึดถืออยู่ในตนเองอย่างยิ่ง
ว่าเป็นตัวเราของเรา จึงต้องมีความทุกข์เดือดร้อน
เพราะทุกๆคนนั้นย่อมมีความกลัวตาย อันเรียกว่ามรณะภัยอยู่ด้วยกัน
เมื่อเป็นสามัญชนก็จะต้องเป็นเช่นนี้ แม้ว่าเป็นอริยบุคคลขั้นโสดาบัน
ก็ยังต้องเป็นทุกข์อยู่คล้ายๆกัน
ดังเช่นที่มีเล่าว่านางวิสาขามหาอุบาสิกา ซึ่งแสดงว่าท่านเป็นโสดาบันแล้ว
เมื่อหลายตายก็ยังมีความเศร้าโศก แสดงอาการเศร้าโศกเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่า ( เริ่ม ๙๐/๑ ) ที่ต้องเศร้าโศกดั่งนี้ก็เพราะความรัก
เมื่อมีความรักร้อยหนึ่งก็ต้องเศร้าโศกร้อยหนึ่ง เมื่อมีความรักเก้าสิบก็มีความทุกข์เก้าสิบ
ดั่งนี้เป็นต้น ลดลงมาๆ จนเมื่อมีความรักหนึ่ง ก็ต้องมีความทุกข์หนึ่ง
เมื่อตัดความรักได้ความทุกข์ก็ดับหมด แม้เป็นโสดาบันบุคคลก็ยังต้องเป็นทุกข์
จนกว่าจะเป็นผู้ที่ตัดกิเลสได้สิ้นเชิงเป็นขีณาสพ ละความรักได้ทั้งหมด ไม่มีสักหนึ่ง
ก็ดับทุกข์ได้หมด
ฉะนั้น เมื่อนามรูปอันนี้ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ท่านจึงไม่เป็นทุกข์
เพราะว่านามรูปอันนี้ ชีวิตอันนี้ก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง
ซึ่งต้องเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา มีเกิดก็ต้องมีดับ
เพราะฉะนั้นเมื่อนามรูปอันนี้แก่เจ็บตาย ก็เป็นเรื่องของนามรูปซึ่งจะต้องเป็นดั่งนี้
ไม่ใช่เราแก่เราเจ็บเราตาย เพราะไม่มีตัวเราอยู่ในนามรูป นามรูปไม่มีตัวเรา
เพราะว่าละตัณหาอุปาทานได้หมดแล้ว ไม่มีรักเหลืออยู่แต่สักหนึ่ง
จึงไม่มีทุกข์เหลืออยู่แม้แต่หนึ่ง สิ้นทุกข์หมดดั่งนี้
เพราะฉะนั้น เรื่องการหักกิเลสหรือว่าดับกิเลส
หักใจหรือดับใจ จึงเป็นเรื่องที่ทุกๆคนจะต้องปฏิบัติ
หากว่าไม่ปฏิบัติในการหักในการดับกิเลสหรือใจไว้บ้างแล้ว จะต้องเป็นทุกข์มากมาย
เพราะว่าทุกๆสิ่งในโลกนี้ สังขารร่างกายนามรูปของตัวเองก็ดี
สังขารร่างกายนามรูปของผู้อื่นก็ดี และทุกๆสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นของเราเป็นตัวเรา
หรือเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาทั้งหลาย รวมกันเข้าว่าเป็นโลกนี้ทั้งสิ้น
ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องเกิดดับทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่จะไม่เกิดดับ
และความเกิดดับนั้นก็ต้องเป็นไปตามกรรม ตามคติของธรรมดา
ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้
เพราะฉะนั้น จึงต้องหัดพิจารณาที่จะเจาะแทงลงไปด้วยสติและปัญญา
ให้รู้จักสัจจะคือความจริงข้อนี้ และเมื่อได้หัดพิจารณาเจาะแทงลงไปให้รู้จักความจริงข้อนี้แล้ว
ก็จะเป็นตัวสติเป็นตัวปัญญาที่ตั้งขึ้นมา สติตั้ง ปัญญาตั้ง
จะเรียกว่าเป็นสติปัฏฐาน เป็นปัญญาปัฏฐาน ก็ได้
เมื่อสติตั้งขึ้นมา ปัญญาตั้งขึ้นมา ก็จะดับใจหักใจ ดับกิเลสหักกิเลสได้
จะทำให้ไม่ต้องเป็นทุกข์ หรือแม้ว่าต้องเป็นทุกข์ตามสามัญชน ก็เป็นทุกข์ไม่นานนัก
แล้วก็จะหักใจได้ดับใจได้ หักกิเลสได้ดับกิเลสได้ อันเป็นตัวเหตุให้ก่อทุกข์ร้อนต่างๆ
ในการปฏิบัติดั่งนี้ต้องอาศัยตนเองที่จะปฏิบัติตั้งสติตั้งปัญญาขึ้นมา
ให้จิตนี้ดื่มสติดื่มปัญญาเข้าไปเป็นธรรมโมสถ
และเมื่อจิตนี้ได้ดื่มสติได้ดื่มปัญญาเป็นธรรมโมสถเข้าไปแล้ว
ก็ดับโรคที่เสียดแทงจิตใจคือตัณหาอุปาทาน อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้
ตามสมควรแก่ความปฏิบัติ
กำหนดดูจิตในปัจจุบันธรรม
วิธีปฏิบัติในการที่จะหักจะดับดังกล่าวนี้
ต้องอาศัยสติและปัญญาดังที่กล่าวมา ที่ทุกคนสามารถจะปฏิบัติตั้งขึ้นได้
กล่าวทางหนึ่งก็คือว่ากำหนดดูจิตของตน ที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน
ให้รู้จิตของตนที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน ว่าเป็นอย่างไร และเมื่อตั้งจิตกำหนดดูอยู่ดั่งนี้
ก็จะมองเห็นจิตของตนนี้ ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ
เลื่อนลอยไปในอารมณ์ต่างๆ เมื่อตั้งใจกำหนดดูจึงจะรู้สึก
ดังเช่นกำลังฟังอยู่นี้ จิตใจก็อยู่ฟังบ้างๆไม่อยู่ฟังบ้าง
กำลังสวดมนต์ ปากสวดไป จิตใจก็สวดด้วยบ้างไม่สวดด้วยบ้าง
เพราะว่ามักเลื่อนลอยไปสู่เรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เสมอ เหมือนอย่างมีเครื่องดึงดูดเอาจิตใจไป
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงไม่รู้จักปัจจุบันธรรม ธรรมะที่เป็นปัจจุบัน ที่กำลังประสบอยู่
เมื่อไม่รู้จักปัจจุบันธรรมะที่กำลังประสบอยู่ ก็เรียกว่าเป็นผู้ที่หลงอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อหลงอยู่ในปัจจุบันเพราะจิตใจไม่รู้ปัจจุบัน จิตใจเลื่อนลอยไป
จึงไปหลงอยู่ในอดีตบ้าง ในอนาคตบ้าง สุดแต่ว่าจิตใจจะไปทางไหน
เลื่อนลอยไปในอดีต ก็ไปหลงอยู่ในอดีต คือเรื่องอดีต
ล่องลอยไปในอนาคต ก็ไปหลงอยู่ในเรื่องอนาคต
แต่อันที่จริงนั้นเป็นตัวความหลงอยู่ในปัจจุบันนี้เอง แต่ว่าไม่รู้จักตัวความหลงของตน
ซึ่งหลงอยู่ในปัจจุบัน ไปคิดว่าเพลินอยู่ในอดีต หรือว่าเศร้าโศกไปในเรื่องอดีต
เพลินไปในเรื่องอนาคต หรือว่าเศร้าโศกเป็นทุกข์ล่วงหน้าไปถึงเรื่องอนาคต
แต่อันที่จริงนั้น ตัวความเพลินหรือความเศร้าโศก ที่นึกว่าอยู่ในเรื่องอดีต
หรืออยู่ในเรื่องอนาคตนั้น เป็นปัจจุบันนี้เอง เป็นความหลงอยู่ในปัจจุบันนี้เอง
เมื่อเป็นความหลงอยู่ในปัจจุบันดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าไม่รู้จักตัวปัจจุบันธรรม
เพราะว่าถูกเรื่องที่เป็นอดีตบ้างเป็นอนาคตบ้าง ถูกความยินดีความยินร้ายต่างๆบ้าง
บังเกิดขึ้นปิดบังปัจจุบันธรรมอยู่ ทำให้ไม่มองเห็นปัจจุบันธรรม
เมื่อเป็นดั่งนี้แหละ จึงเรียกว่าขาดสติความระลึกได้ ขาดสัมปชัญญะความรู้ตัวอยู่ในปัจจุบัน
เหมือนอย่างคนที่เรียกว่าไม่มีสติ เดินไปไหนชนนั่นชนนี่ ก็เพราะว่าไม่รู้ปัจจุบันธรรม
คือไม่มีสติกำหนดอยู่ว่าเรากำลังเดินอยู่เดี๋ยวนี้ เรียกว่าาเผลอสติ
และบางทีวางอะไรไว้ก็ลืม ไม่รู้ว่าวางไว้ที่ไหน ก็เพราะว่าไม่มีสติกำหนดอยู่ในปัจจุบันธรรม
คือในขณะที่วางของนั้น ถ้ามีสติกำหนดอยู่ในปัจจุบันธรรม ว่าเรากำลังวางของสิ่งนี้อยู่ที่นี่
มีสติเป็นตัวกำหนด มีสัมปปัญญะคือความรู้ตัวอยู่ว่าเราวางของนี้ไว้ที่นี่
แล้วจะไม่เกิดลืมง่าย จะจำได้ ไม่ต้องค้นหากันให้ยุ่งไป
พิจารณาดูแล้วจึงจะเห็นว่า
จิตของทุกๆคนนี้ที่ไม่ได้ปฏิบัติให้มีสติสัมปชัญญะ จะเป็นอยู่เช่นนี้เสมอ
นึกว่าเราจะนั่ง ขณะที่กำลังนั่งจริงนั้นไม่มีสติอยู่ในการนั่ง
เพราะว่าจิตนี้นึกล่วงหน้าไปอีกแล้วว่าเราจะพูด ตอนที่กำลังนั่งนั้นไม่รู้
เพราะจิตไปนึกว่าเราจะพูด ในขณะที่กำลังพูดจิตก็นึกล่วงหน้าไปถึงที่จะพูดต่อไป
คำที่กำลังพูดอยู่ไม่รู้ คือจิตมักจะคิดล่วงหน้าไปว่าจะทำนั่นทำนี่
แต่ในขณะที่กำลังทำจริงๆนั้นไม่รู้ว่าเรากำลังทำสิ่งนี้ๆ
เพราะจิตคิดล่วงหน้าไปเรื่องอื่นเสียแล้ว มักจะเป็นดั่งนี้
เพราะฉะนั้น จึงไม่ค่อยมีสติที่จะกำกับตัวเองรักษาตัวเอง
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า เนปักกะ หรือ นิปักกะ อันแปลว่ามีสติรักษาตน
คือมีสติอยู่กับตัว เมื่อมีสติอยู่กับตัว ก็มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวอยู่เสมอ ไม่หลงลืม
และยิ่งเมื่อส่งจิตให้ล่องลอยไปในอารมณ์อดีตบ้างอนาคตบ้าง เพลินไปบ้าง เศร้าโศกไปบ้าง
ก็ยิ่งปกปิดปัจจุบันธรรม ธรรมะที่เป็นปัจจุบันของตนแน่นหนายิ่งขึ้น
จะทำสมาธิก็ทำไม่ได้ เพราะว่าใจไม่รวม
การจะทำสมาธิได้นั้นต้องรวมใจอยู่ในปัจจุบันธรรมได้
เช่นว่าสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ต้องมีสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ นี่เป็นตัวสติ
และเมื่อเป็นดั่งนี้หายใจเข้าก็รู้ว่าเราหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าเราหายใจออก
รู้ตัวอยู่ดั่งนี้เป็นสัมปชัญญะ สติเป็นตัวกำหนด
และเมื่อกำหนดก็ย่อมจะมีสัมปชัญญะ คือความรู้ตัว
ว่าเรากำลังหายใจเข้า เรากำลังหายใจออก
อันหมายถึงว่า หายใจเข้าหายใจออกที่เป็นปัจจุบันธรรมนั้นเอง
คือหายใจเข้าหายใจออกที่เป็นจริงๆอยู่ในเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันเดี๋ยวนี้
และเมื่อมีสติสัมปชัญญะอยู่ดั่งนี้ จิตจึงจะได้สมาธิ
สติก็ตั้งเป็นสติปัฏฐาน ปัญญาก็ตั้งเป็นปัญญาปัฏฐาน คู่กันไป
ที่ทำสมาธิไม่ได้ ก็เพราะว่าจิตล่องลอยไป
ในเรื่องอดีตในอารมณ์อดีต ในเรื่องอนาคตอารมณ์อนาคตบ้าง
ถ้าตัดมิได้ ก็ตั้งสติไม่ได้ ตั้งปัญญาไม่ได้ เป็นสมาธิไม่ได้
ฉะนั้น การจะทำสมาธิได้ ก็จะต้องมีสติมีสัมปชัญญะในปัจจุบันธรรม
คือกรรมฐานที่กำหนดนี้แหละ เป็นปัจจุบันธรรมของตน
จะเป็นกายข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ เวทนาข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ จิตก็ได้
ธรรมะข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ใช้ได้ทั้งนั้น
และเมื่อจิตรวมกันอยู่เป็นตัวสติ เป็นตัวสัมปชัญะ เป็นตัวปัญญาประกอบกันดั่งนี้
ย่อมจะได้สติปัฏฐานทั้งหมด แม้ว่าจะตั้งต้นกำหนดแต่เพียงข้อเดียว
แต่เมื่อจิตมารวมอยู่เป็นปัจจุบันธรรม กายเวทนาจิตธรรมก็รวมมาอยู่เป็นอันเดียวกัน
และก็จะได้โพชฌงค์ สติโพชฌงค์ ธัมวิจยโพชฌงค์ เป็นต้น
ตามมาโดยไม่ยาก อันเป็นทางปัญญา
เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยความเจาะแทงลงไปที่ปัจจุบันธรรมนี่แหละให้ได้
ต้องเจาะต้องแทงอารมณ์ ต้องเจาะต้องแทงกิเลสที่มาปกคลุมอยู่
เพราะเหตุที่จิตนี้เลื่อนลอยออกไปดังกล่าวนั้น ให้ได้
เมื่อเจาะแทงได้ ปัจจุบันธรรมก็ปรากฏ ตั้งแต่ขั้นสมาธิขั้นปัญญา
ขั้นสมาธินั้น อารมณ์ของสมาธิที่กำหนดตั้ง เช่นกายข้อใดข้อหนึ่ง เช่น ลมหายใจเข้าออก
ก็จะปรากฏ กล่าวรวมๆก็คือว่ากายมีอยู่ มีอยู่เดี๋ยวนี้ เวทนามีอยู่ มีอยู่เดี๋ยวนี้
จิตมีอยู่ มีอยู่เดี๋ยวนี้ ธรรมะคือเรื่องในจิตมีอยู่ มีอยู่เดี๋ยวนี้
เช่น หายใจเข้าหายใจออก หายใจเข้าหายใจออกนี่เป็นตัวกาย
หายใจเข้าหายใจออกเป็นตัวเวทนา หายใจเข้าหายใจออกเป็นตัวจิต
หายใจเข้าหายใจออกเป็นตัวธรรมะในจิต เป็นปัจจุบัน
กายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมมะมีอยู่ ดั่งนี้ ก็เป็นสมาธิ
ปัญญาขั้นเห็นเกิดดับ
และเมื่อได้สมาธิดั่งนี้ ก็ดูตัวที่มีอยู่นี่แหละ
คือดูตัวกายเวทนาจิตธรรมที่มีอยู่เดี๋ยวนี้นี่แหละ ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่มาสิ่งที่ไป
มาก็คือเกิด ไปก็คือดับ มาไปอยู่ในปัจจุบัน มาก็เกิด ไปก็ดับ
มาไปมาไปอยู่ดั่งนี้ เป็นปัจจุบันธรรม ก็เป็นตัวปัญญาเห็นเกิดดับขึ้นโดยลำดับ
เห็นชัดขึ้น เห็นชัดขึ้นเท่าใดก็เป็นตัวปัญญาเท่านั้น
และเมื่อเป็นดั่งนี้ ก็เป็นการเริ่มปฏิบัติที่จะหักกิเลสได้ ที่จะดับกิเลสได้
ที่จะหักใจได้ ที่จะดับใจได้
และเมื่อได้ในขั้นนี้ ก็จะหักจะดับได้ในขั้นที่ละเอียดยิ่งขึ้นต่อไป
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*