ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 09:57
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป069
พระพุทธคุณบทว่าพุทโธ (๓)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ความหมายของจิตปภัสสร ๓
ทางปฏิบัติเข้าถึงธรรมะย่อมมีทางเดียว ๔
ความหมายของพระพุทโธ ๖
เหตุให้เกิดกิเลสอาสวะอนุสัย ๗
ขั้นของการปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๘๗/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๘๘/๑ ( File Tape 69 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระพุทธคุณบทว่าพุทโธ (๓)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าพุทโธนำ ในความหมายว่าผู้เบิกบานแล้ว
ความหมายนี้พระอาจารย์ไทยเราเองเป็นผู้แสดงขึ้น คู่กับความหมายว่าผู้ตื่นแล้ว
กล่าวรวมกันว่าผู้ตื่นผู้เบิกบานแล้ว ในความหมายว่าผู้ตื่นได้แสดงอธิบายแล้ว
จึงจะมาอธิบายในความหมายว่าผู้เบิกบาน คำนี้เป็นคำเหมาะอย่างยิ่ง
และก็มีความหมายที่ไปได้ ที่ถูกต้องกับความหมายว่าผู้รู้แล้ว หรือผู้ตรัสรู้แล้ว
เช่นเดียวกับคำว่าผู้ตื่นก็หมายถึงตื่นด้วยความรู้นั้นเอง
และคำว่าผู้เบิกบานก็มีความหมายเช่นเดียวกัน ว่าเบิกบานด้วยความรู้
และยังมีความหมายถึงความบริสุทธิ์ คือเบิกบานด้วยความบริสุทธิ์อีกด้วย
ฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจในคำนี้ให้ถูกต้องให้ดี จะเป็นประโยชน์มาก
ในเบื้องต้นก็จะต้องขอกล่าวว่าคำว่าผู้เบิกบานนี้
๒
เป็นคำนำมาใช้จากความบานของดอกไม้ โดยเฉพาะก็คือความบานของดอกบัว
อันเป็นดอกไม้ที่พระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงนำมาเปรียบเทียบ กับกำลังแห่งความรู้ของบุคคล
ดังที่ได้เคยแสดงแล้วว่าบุคคลทั้งหลายในโลกนี้ บางคนหรือบางหมู่เป็นผู้รู้เร็ว
เพียงแต่ทรงยกหัวข้อขึ้นแสดงก็อาจรู้ได้ เหมือนอย่างดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ
ต้องแสงอาทิตย์ก็จะบานขึ้นทันที ดั่งนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ดอกบัวที่บานขึ้นด้วยต้องแสงอาทิตย์นั้น
เป็นคำเทียบกับบุคคลผู้ฟังธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ได้ปัญญาคือความรู้ในธรรมที่ทรงแสดงนั้น ดังที่มีแสดงว่าได้ธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรม
จึงมีความหมายถึงปัญญาที่รู้ธรรม เทียบกับดอกบัวต้องแสงอาทิตย์ก็บานขึ้น
( เริ่ม ๘๘/๑ ) จิตที่ได้รับแสงธรรม ได้ปัญญาในธรรม ก็คือจิตที่เบิกบานขึ้นด้วยปัญญา
ความหมายของจิตปภัสสร
และจิตนี้ก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่าเป็นธรรมชาติปภัสสร ที่แปลว่าผุดผ่อง
แต่เศร้าหมองไปด้วยเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา อันเรียกว่าอุปกิเลส
คือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา แต่ว่าจิตนี้เมื่อได้ปฏิบัติทำจิตตภาวนา คืออบรมจิต
ตามคำสั่งสอนของพระองค์ ก็วิมุติหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามานี้ได้
เมื่อเป็นดั่งนี้จิตจึงกลับเป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง ปรากฏตามธรรมชาติของจิต
จิตที่ผุดผ่องนี้เอง เมื่อขอยืมเอาคำของดอกบัวมาใช้ คือบาน ก็คือจิตที่บาน
และเพื่อให้ได้คำที่สละสลวย จึงได้ใช้คำว่าเบิกบาน ก็คือจิตที่เบิกบานนั้นเอง
เพราะฉะนั้น จิตที่ปภัสสรคือผุดผ่อง ก็คือจิตที่เบิกบาน
หรือจิตที่เบิกบาน ก็คือจิตที่ปภัสสรคือผุดผ่อง
เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงควรทำความเข้าใจว่า พระจิตของพระพุทธเจ้านั้น
วิมุติหลุดพ้น จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามาทั้งหมด
๓
ตลอดจนถึงกิเลสอย่างละเอียดที่เป็นอาสวะอนุสัยนอนจมหมักหมมอยู่ในจิต
ทรงได้วิมุติคือความหลุดพ้นจากกิเลสเหล่านี้ทั้งสิ้น ไม่มีกิเลสเหลืออยู่แม้แต่น้อย
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงเป็นเหมือนดอกบัวที่เบิกบานเต็มที่แล้ว
ด้วยต้องแสงอาทิตย์คือแสงธรรม คือพระปัญญาที่ตรัสรู้พระธรรมนั้นเอง
เพราะฉะนั้น จิตของพระองค์จึงเป็นจิตที่ผุดผ่องเต็มที่ เบิกบานเต็มที่
เป็นจิตที่บริสุทธิ์ผ่องแผ้วด้วยประการทั้งปวง ไม่มีเครื่องเศร้าหมองเหลืออยู่แม้แต่น้อย
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงเป็นผู้ที่เบิกบานแล้ว
หากจะมีปัญหาถามว่า รู้อย่างไรว่าพระองค์มีจิตเช่นนั้น
ในข้อนี้ก็สาธกได้ด้วยคำกราบบังคมทูลพระพุทธเจ้าของท่านพระสารีบุตร
ที่ได้กราบทูลแสดงความเลื่อมใสของท่านในพระพุทธเจ้า
ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว
ทรงประกอบด้วยพระสัมโพธิ คือพระปัญญาที่ตรัสรู้เองโดยชอบในธรรมทั้งปวง
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามท่านพระสารีบุตรว่า ท่านพระสารีบุตรได้มีความรู้
ในศีลในสมาธิในปัญญา ในวิมุติของพระองค์หรือ จึงได้กล่าวเช่นนั้น
ทางปฏิบัติเข้าถึงธรรมะย่อมมีทางเดียว
ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลว่า ท่านไม่อาจที่จะมีความรู้เข้าถึง
ด้วยพระปัญญาที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าได้ ท่านไม่อาจจะมีความรู้ได้
ว่าได้ทรงมีศีลมีสมาธิมีปัญญามีวิมุติ เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
แต่ว่าโดยที่ท่านได้สดับฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนเอาไว้
โดยปริยายคือทางต่างๆ ท่านได้ปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน ได้เข้าถึงธรรมะที่ทรงสั่งสอน
ในประการที่จะพึงเข้าถึงได้ตามวิสัยของพระสาวก แม้เป็นพระอรหันต์ก็ตาม
แต่ว่าท่านได้มีความรู้ผุดขึ้นว่า ทางปฏิบัติอันจะนำให้ได้ความตรัสรู้
หรือได้ปัญญารู้ถึงธรรมะได้นั้น ย่อมมีทางเดียว
๔
เหมือนอย่างว่ามีนครหนึ่ง ซึ่งมีปราการคือกำแพงล้อมอยู่โดยรอบ
และมีประตูที่จะเข้าออกเพียงประตูเดียว
และมีนายทวารบาญคือผู้รักษาประตู รักษาอยู่อย่างเข้มแข็ง
ปราการคือกำแพงที่ล้อมรอบนั้น ก็เป็นปราการที่มั่นคง
ไม่มีช่องที่จะมีบุคคลหรือสัตว์อื่นเล็ดลอดเข้าไปสู่ภายในนครนั้นได้
นอกจากจะเข้าทางประตูแห่งนคร ซึ่งมีประตูเดียวนั้นเท่านั้น นี้ฉันใด
ความเข้าถึงความตรัสรู้ หรือความรู้ในธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
เป็นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาได้นั้น ก็เข้าได้ทางมรรค
คือมรรคาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วเท่านั้น
พระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงเข้าสู่นครนี้โดยประตูนี้
แม้พระสาวกทั้งหลายก็เข้าสู่นครนี้โดยประตูนี้เท่านั้น
นครดังกล่าวนี้ก็คือสัมโพธิ คือความตรัสรู้เองโดยชอบ หรือมรรคผลนิพพาน
ที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้ปฏิบัติ และได้เข้าถึง
เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้กราบทูลพระพุทธเจ้า
ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเข้าถึงความตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว
ซึ่งไม่มีสมณะพราหมณ์อื่นใดได้สัมโพธิ คือความตรัสรู้เองโดยชอบเหมือนดังพระพุทธเจ้า
และธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ชี้ทางแห่งความเข้าถึงมรรคผลนิพพาน
หรือเข้าถึงสัมโพธิคือความรู้เองโดยชอบนั้น ก็คือทางศีลทางสมาธิทางปัญญาทางวิมุติ
หรือทางโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนั้นเอง
พระพุทธเจ้าจึงเป็นผู้ที่ทรงสมบูรณ์แล้วในคุณธรรมเหล่านี้อย่างเต็มที่
เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้เบิกบานแล้ว
หรือกล่าวใช้ถ้อยคำขยายอีกว่า เป็นผู้เบิกบานแล้วในคุณธรรมทั้งหลายเต็มที่
ได้ทรงมีศีลมีสมาธิมีปัญญามีวิมุติอย่างสมบูรณ์ในพระองค์
๕
หรือเมื่อแสดงโดยปริยายอื่น ก็ทรงมีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
บริบูรณ์อยู่แล้วในพระองค์ ทรงเบิกบานแล้วในคุณธรรมทั้งหลายเหล่านี้
เต็มที่ด้วยคุณธรรมทั้งหลายเหล่านี้เต็มที่แล้ว ดั่งนี้
ความหมายของพระพุทโธ
เพราะฉะนั้น คำนี้จึงเป็นคำที่มีความหมาย
ได้ทั้งในทางพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และตลอดถึงในพระกรุณาคุณด้วย
เพราะพระองค์ก็มีพระกรุณาเต็มเปี่ยมอยู่ในพระองค์ ทรงเบิกบานแล้ว ด้วยพระปัญญา
ด้วยพระวิสุทธิ และด้วยพระกรุณา อย่างเต็มที่ อย่างสมบูรณ์
ฉะนั้น พระพุทธคุณบทนี้จึงมีความหมายที่ลึกซึ้ง และเข้าถึงสัจจะคือความจริง
เป็นคำที่คนไทยเราฟังง่าย เข้าใจถึงได้ง่าย และเมื่อมีความเข้าใจในคำนี้ดีแล้ว
เมื่อได้ฟังคำว่าพุทโธ และระลึกถึงความหมายว่าผู้เบิกบานแล้ว
ผู้เบิกบานแล้วด้วยคุณธรรมทั้งหลาย หรือในคุณธรรมทั้งหลายเต็มที่
บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง
จะทำให้จิตใจบังเกิดความเอิบอิ่มปีติในพระคุณได้โดยง่าย
จิตนี้ของทุกๆคนย่อมเป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง
หรือว่าเบิกบานได้เหมือนอย่างดอกบัว เป็นธรรมชาติที่จะบานได้
หรือดอกไม้ทั้งหลายก็เป็นธรรมชาติที่จะบานได้
แต่เพราะเหตุที่ยังประกอบอยู่ด้วยกิเลสและกองทุกข์ จึงทำให้จิตนี้เศร้าหมอง
ไม่เบิกบาน ห่อเหี่ยว ตรมตรอม ดังที่ปรากฏอยู่เป็นกิเลสบ้าง เป็นความทุกข์บ้าง
ครอบงำจิตใจนี้อยู่เป็นอันมาก
และกิเลสนี้ก็มิใช่ว่าเป็นเนื้อแท้ของจิตใจ เป็นธรรมชาติของจิตใจ
แต่เป็นสิ่งที่จรเข้ามา เหมือนอย่างเป็นอาคันตุกะคือเป็นแขกที่จรเข้ามาขออาศัย
๖
แต่ว่าอาคันตุกะหรือแขกคือกิเลสนี้
เมื่อมาขออาศัยอยู่ในจิต แล้วก็ยึดจิตนี้เป็นที่อยู่อาศัยเรื่อยไป ไม่ปล่อยออก
นี้คือกิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัย คือที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิต
ที่ท่านเปรียบเหมือนตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่ม
เหตุให้เกิดกิเลสอาสวะอนุสัย
และอาสวะอนุสัยหรือตะกอนกิเลสนี้เองก็คอยฟุ้งขึ้นมา
ในเมื่อจิตนี้รับอารมณ์ทางอายตนะทั้งหลาย คือทางอายตนะภายในภายนอกประจวบกัน
จิตก็รับเอาสิ่งที่มาประจวบกันนี้เข้ามาเป็นอารมณ์ เป็นรูปารมณ์บ้าง สัทธารมณ์บ้าง เป็นต้น
ก็เป็นที่ตั้งของกิเลสกองราคะหรือโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง
บังเกิดขึ้นยั้วเยี้ยอยู่ในจิต กลุ้มรุมจิต ปล้นจิต ทำจิตให้กระสับกระส่าย ไม่มีสงบ
และกำบังธาตุรู้ของจิตมิให้ได้ปัญญาคือตัวความรู้ในสัจจะที่เป็นความจริง
การที่เป็นดั่งนี้ก็เพราะว่า จิตนี้ยังมีอวิชชาคือตัวความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
อันเป็นต้นเดิมของกิเลสทั้งหลายอยู่ แม้ว่าจิตนี้จะเป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง
และแม้ว่าจิตนี้จะเป็นวิญญาญธาตุคือธาตุรู้ แต่ความรู้นั้นก็ยังเป็นความรู้หลง เป็นความรู้ผิด
เพราะยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
จึงทำให้ความรู้นั้นเป็นความรู้หลง เป็นความรู้ผิด
เมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อจิตนี้รู้รูปทางตาก็หลงอยู่ในรูป
รู้เสียงทางหูก็หลงอยู่ในเสียง รู้กลิ่นทางจมูกก็หลงอยู่ในกลิ่น
รู้รสทางลิ้นก็หลงอยู่ในรส รู้สิ่งถูกต้องทางกายก็หลงอยู่ในสิ่งถูกต้องนั้น
รู้ธรรมะคือเรื่องราวทางมโนคือใจ ก็หลงอยู่ในธรรมะคือเรื่องราวนั้น
จึงได้บังเกิดกิเลสกองราคะความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้
เกิดกิเลสกองโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง และเพิ่มกิเลสที่เป็นตัวหลงนี้ให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
เมื่อเป็นดั่งนี้ จิตจึงไม่มีโอกาสที่จะเบิกบาน หรือที่จะบาน
๗
เพราะเหตุว่าธาตุรู้ของจิตนี้ไม่มีโอกาสที่จะรู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง
ยังถูกอวิชชาโมหะครอบงำอยู่ พร้อมทั้งกิเลสที่เกิดสืบเนื่องกันจากอวิชชาโมหะนี้
เป็นราคะโลภะ เป็นโทสะต่างๆ ดังที่กล่าวนั้น เพราะฉะนั้นจิตนี้จึงเบิกบานไม่ได้
ปภัสสรคือผุดผ่องไม่ได้ เหมือนดังดอกบัวที่แม้ว่าจะเป็นธรรมชาติที่บานได้
แต่ว่ายังอยู่ใต้น้ำ ยังไม่โผล่ขึ้นพ้นน้ำ ยังถูกน้ำปกคลุมเอาไว้ ก็บานไม่ได้
จิตนี้เมื่อยังถูกอวิชชาโมหะและกิเลสทั้งหลายครอบงำอยู่ ก็เบิกบานไม่ได้
ผุดผ่องขึ้นมาไม่ได้เช่นเดียวกัน
ขั้นของการปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา
ต่อเมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
และได้ปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงสั่งสอน ในศีล ในสมาธิ ในปัญญา
ขัดเกลากิเลสทั้งหลายให้ลดน้อยลงไป ตามกำลังของศีลสมาธิปัญญา
เมื่อเป็นดั่งนี้ จิตนี้ก็จะได้พบความเบิกบานขึ้นบ้าง ความผุดผ่องขึ้นบ้าง
เหมือนดังที่เมื่อมาตั้งใจปฏิบัติในศีล ได้ปีติได้สุขในศีล
กิเลสอย่างหยาบที่เป็นอกุศลมูลทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ละเมิดศีลนั้นๆสงบลง
จิตก็ได้ความผุดผ่อง ได้ความเบิกบานขึ้นด้วยอำนาจของปีติสุข
หรือด้วยอำนาจของศรัทธาปสาทะในศีล
เมื่อมาปฏิบัติในสมาธิ จิตได้สมาธิ สงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
โดยเฉพาะก็คือว่าสงบนิวรณ์ทั้งหลายได้ ก็ได้ปีติได้สุขจากสมาธิ
จิตนี้ก็ผุดผ่องก็เบิกบานขึ้นด้วยอำนาจของสมาธิ ที่ดี ที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นศีล
และเมื่อมาปฏิบัติในปัญญา ขัดเกลาอวิชชาโมหะอันเป็นเหตุให้หลงยึดถือ
ในตัวเราของเราให้น้อยลงไป อวิชชาโมหะลดน้อยลงไป
ก็จะได้ปีติได้สุขอันเกิดจากปัญญา ละเอียดขึ้นไปจากสมาธิ
ปรากฏเป็นความผุดผ่อง เป็นความเบิกบาน ด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา
เป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพิ่มมากขึ้นไปโดยลำดับ
๘
ดั่งนี้เป็นขั้นของการปฏิบัติ ทุกคนก็ย่อมได้สภาพที่ผุดผ่อง สภาพที่เบิกบานของจิตใจ
ไปตามขั้นของการปฏิบัติ ดั่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติไปตามพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น เมื่อมาตั้งใจระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า แม้ในบทว่าพุทโธ
ในความหมายว่าผู้เบิกบานดั่งนี้แล้ว ปฏิบัติทำศีลทำสมาธิทำปัญญาให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ
แม้ด้วยการปฏิบัติตามสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ตั้งจิตกำหนดพิจารณากายเวทนาจิตธรรม ทำให้จิตนี้ได้สมาธิ และได้ปัญญา
เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ย่อมจะพบความผุดผ่องและความเบิกบานของจิตนี้
ได้น้อยหรือมาก ตามควรแก่ความปฏิบัติ
ก็เป็นการปฏิบัติตามพระพุทธปฏิปทาของพระพุทธเจ้านั้นเอง
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
พระพุทธคุณบทว่าพุทโธ (๔)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
อารมณ์ ๖ ๓
ธรรมเมา ๔
โลกธรรม ๕
เหตุให้เกิดทุกข์ ๖
พุทธานุสสติ ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๘๘/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๘๘/๒ ( File Tape 69 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระพุทธคุณบทว่าพุทโธ (๔)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณนำในบทว่าพุทโธ
ที่ได้เคยแสดงแล้วในความหมายว่าพระผู้รู้พ้น พระผู้ตื่น พระผู้เบิกบาน
วันนี้จะเริ่มประมวลความด้วยเรื่องของท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่ง ...
( เริ่ม ๘๘/๒ ) ของพวกชาวแม้วหรือม้ง ว่าจังหวัดเชียงใหม่
และได้มีชาวแม้วหรือม้งมาคอยปฏิบัติท่านอยู่ ได้เห็นท่านเดินไปเดินมาอยู่เสมอ
ที่เรียกว่าเดินจงกรม เขามีความสงสัยจึงได้ถามท่านว่า อะไรหาย ท่านกำลังเดินหาอะไร
ท่านก็ตอบว่าพุทโธหาย กำลังเดินหาพุทโธ เขาก็กล่าวอาสาท่านว่าเขาจะช่วยหาด้วย
ท่านจึงบอกว่าก็ให้เขาเดินหาได้ ให้เรียกหาพุทโธ พุทโธ เขาก็ปฏิบัติตาม
เดินไปเดินมาตามท่าน ด้วยจิตใจที่เรียกหา พุทโธ พุทโธ เขาก็ได้ความสว่าง
หรือแสงสว่างขึ้นในจิต ซึ่งทำให้เขามีความเข้าใจว่าพุทโธที่ท่านแสวงหานั้น
จะเป็นความสว่างหรือแสงสว่างในจิตที่เกิดขึ้นแก่เขา
๒
เรื่องนี้ให้คติแห่งการปฏิบัติทางจิตใจอย่างดียิ่ง ว่าแม้แต่แม้วซึ่งไม่เคยรู้จักพุทธศาสนา
เมื่อได้เรียกหาพุทโธพุทโธในจิตใจ ก็จะได้ความสว่างหรือแสงสว่างขึ้นในจิต
ซึ่งทำให้เขามีความเข้าใจแม้ในขั้นนี้ว่า เป็นพุทโธที่ท่านอาจารย์ท่านค้นหาอยู่
อารมณ์ ๖
จิตใจนี้โดยปรกติย่อมเรียกหาอารมณ์ต่างๆอยู่เสมอ เรียกหาสิ่งต่างๆอยู่เสมอ
เป็นต้นว่าเรียกหาลาภคือสิ่งที่จะพึงได้ตามที่ใคร่ตามที่ปรารถนาต้องการ
เรียกหายยศคือความเป็นใหญ่ความมีบริวาร ความมีเกียรติชื่อเสียง เรียกหาสรรเสริญ
เรียกหาความสุขต่างๆ อันรวมเรียกว่าเป็นอารมณ์คือเรื่องที่เป็นอิฏฐารมณ์
คือที่ปรารถนาต้องการ ไม่ประสงค์ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ต่างๆ
และบรรดาสิ่งที่จิตใจเรียกหาเหล่านี้ เมื่อกล่าวจำแนกประเภทก็มากมาย
เป็นบุคคลที่รักใคร่ปรารถนาพอใจก็มี เป็นสัตว์สิ่งของแก้วแหวนเงินทอง
บ้านเรือนสิ่งต่างๆที่ปรารถนาพอใจก็มี
และนอกจากนี้จิตใจนี้ยังเรียกหาบรรดาบุคคลสัตว์วัตถุต่างๆที่ล่วงไปแล้ว
หรือว่าที่ยังไม่มาถึง และเมื่อจิตใจเรียกหาอารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
หรือบุคคลสัตว์วัตถุที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ คือที่ปรารถนาพอใจต้องการดังกล่าวมานี้
เมื่อได้มาก็ย่อมมีความยินดีมีความสุข และสยบติดอยู่
เมื่อไม่ได้ หรือว่าต้องพลัดพรากไปก็มีความทุกข์เดือดร้อน
และบรรดาสิ่งที่จิตใจเรียกหาต้องการเหล่านี้ ก็อาจรวมเข้าเป็นอารมณ์ทั้ง ๖
อารมณ์ก็คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง
โดยเป็น รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปที่เห็นทางตา สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียงที่ได้ยินทางหู
คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่นที่ได้สูดดมทางจมูก รสารมณ์ อามณ์คือรสที่ได้ลิ้มทางลิ้น
โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือสิ่งถูกต้องที่ถูกต้องทางกาย
๓
ธรรมารมณ์อารมณ์คือธรรมะอันหมายถึงเรื่อง
เรื่องของรูปเสียงเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแหละ ที่ได้รู้ได้คิดทางมโนคือใจ
ธรรมเมา
การเรียกหาอารมณ์ทั้ง ๖ ของจิตเหล่านี้เมื่อสรุปเข้าแล้ว
ก็เรียกหาส่วนที่เป็นอดีตคือล่วงไปแล้วบ้าง เรียกหาสิ่งที่เป็นอนาคตคือยังไม่มาถึงบ้าง
และสยบติดอยู่ในอารมณ์ที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับอารมณ์ที่เรียกหาอันเป็นอดีตคือล่วงไปแล้วนั้น ก็คือจิตเรียกหาบุคคลบ้าง
สัตว์และวัตถุต่างๆบ้าง ที่ได้ล่วงไปแล้ว พ้นไปแล้ว
ซึ่งมีคำเรียกอารมณ์ที่ล่วงไปแล้วดังกล่าวนี้ว่าธรรมะคือเรื่องก็ได้
และเรียกหาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง ก็เรียกว่าธรรมะคือเรื่องที่ยังไม่มาถึงก็ได้
ลักษณะของธรรมะคือเรื่องหรืออารมณ์ที่จิตนี้เรียกหา อันเป็นส่วนอดีตก็ดี เป็นส่วนอนาคตก็ดี
หลวงปู่แหวนท่านบอกว่าธรรมเมา ไม่ใช่ธรรมา หรือธรรมโม
และแม้ธรรมะหรืออารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน คือที่จิตนี้กำลังประสบอยู่ได้รับอยู่
ซึ่งจิตนี้ก็ผูกพันติดสยบอยู่ ก็เป็นธรรมเมาเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นธรรมโม หรือเป็นธรรมา
เมื่อเป็นดั่งนี้จิตนี้จึงไม่สงบดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย
ด้วยอาการที่ปรากฏเป็นราคะความติดใจยินดีบ้าง เป็นโทสะความโกรธแค้นขัดเคืองบ้าง
เป็นโมหะคือความหลง ก็คือหลงรักหลงชัง หลงสยบติดอยู่บ้าง
และอาการที่จิตนี้ประกอบด้วยกิเลสดังกล่าวมาเป็นจิตที่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย
อาการที่จิตนี้เป็นดังกล่าวก็เรียกรวมว่าตัณหา และเมื่อเป็นตัณหาจึงมีความอาดูร
ที่แปลว่าความกระสับกระส่ายความเดือดร้อน
ทั้งนี้ก็เพราะว่าบรรดาสิ่งที่จิตเรียกหา อันเป็นธรรมเมาดังที่หลวงปู่แหวนท่านว่านั้น
ก็ล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง
๔
ซึ่งมีความปรากฏดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า สังขตลักษณะ
คือลักษณะของสิ่งที่ผสมปรุงแต่งทั้งหลาย อันเรียกว่าสังขารนั้น
อุปาโทปัญญายติ มีความเกิดขึ้นปรากฏ วโยปัญญายติ มีความเสื่อมไปสิ้นไปปรากฏ
ฐิตัสสะอัญญะถัตตังปัญญายติเมื่อตั้งอยู่มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ
เมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็น ๒ คือมีความเกิดขึ้น และมีความดับไปเป็นธรรมดา
โลกธรรม
ฉะนั้น บรรดาทุกอย่างที่จิตนี้เรียกหา
จะเป็นบุคคลก็ตาม จะเป็นสัตว์วัตถุต่างๆก็ตาม จึงไม่บังเกิดตามที่จิตนี้ต้องการ
เพราะว่าจิตนี้ต้องการเรียกหาแต่สิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจเท่านั้น
แต่ไม่เรียกหาไม่ต้องการสิ่งที่ไม่รักใคร่ปรารถนาพอใจ
บรรดาสิ่งที่จิตนี้ได้รับจริงๆนั้นหาเป็นไปตามที่จิตนี้เรียกหาต้องการดังกล่าวไม่
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้รู้จักโลกธรรม ธรรมะสำหรับโลก
ซึ่งบังเกิดขึ้นทั้งแก่บุถุชน ทั้งแก่อริยบุคคล คือ ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ
นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ โลกธรรมทั้ง ๘ นี้ย่อมวนเวียนไปตามสัตวโลก
สัตวโลกก็วนเวียนไปตามโลกธรรมทั้ง ๘ นี้ เมื่อมีลาภก็ต้องมีเสื่อมลาภ มียศก็ต้องมีเสื่อมยศ
เมื่อมีสรรเสริญก็ต้องมีนินทา เมื่อมีสุขก็ต้องมีทุกข์เป็นคู่กันไป
เพราะฉะนั้น เมื่อจิตนี้เรียกหาอารมณ์หรือธรรมะทั้งหลาย
อันเป็นส่วนอดีตที่ล่วงไปแล้วบ้าง เป็นส่วนอนาคตยังไม่มาถึงบ้าง
ผูกพันยึดถือสยบติดอยู่ในธรรมะหรืออารมณ์ที่เป็นปัจจุบันบ้าง จึงได้เป็นธรรมเมา
ไม่เป็นธรรมโมหรือธรรมะ คือจิตนี้เองมีความเมา อันได้แก่ตัวโมหะคือความหลงสยบติดอยู่
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงต้องมีโสกะความโศกความแห้งใจ ปริเทวะความร้องไห้คร่ำครวญรัญจวนใจ
ความไม่สบายกายความไม่สบายใจ อุปายาสความคับแค้นใจ
อันเป็นตัวทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ที่จิตนี้เองต้องเสวยอยู่ น้อยหรือมาก
๕
ตามแต่ว่าจะมีความเมาที่เป็นธรรมเมาอยู่ในอารมณ์
หรือในธรรมะดังกล่าวนั้นมากหรือน้อยเพียงไร
และเพราะเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถึงบรรดาธรรมะที่เป็นธรรมเมา
ดังที่กล่าวแล้วนั้นว่า สัพเพ ธรรมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมะทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
เพราะเมื่อยึดมั่นเข้าแล้วก็เป็นธรรมเมา และทำให้เกิดทุกข์
เหตุให้เกิดทุกข์
และอาการที่จิตเรียกหาต้องการ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสชี้ให้รู้จักว่านี่แหละ คือตัวตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก
อันเป็นตัวทุกขสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์
เพราะฉะนั้น จิตที่เรียกหาของสามัญชนทั้งหลายอยู่โดยปรกตินั้น
จึงเป็นตัณหาอุปาทานนั้นเอง จึงเป็นเครื่องที่นำทุกข์นี้มาสู่จิตใจ
เพราะฉะนั้นจะแก้ทุกข์ทางจิตใจนี้ด้วยวิธีที่ยิ่งเรียกหาสิ่งที่ปรารถนาต้องการ
อันเป็นธรรมเมาดังกล่าวแล้วสักเท่าไร เพื่อที่จะดับทุกข์ของจิตใจนั้นหาได้ไม่
ไม่สามารถจะดับทุกข์ของจิตใจได้ ในเมื่อยังธรรมเมาอยู่ดังที่กล่าว
ยังยึดมั่นธรรมะที่เป็นธรรมเมาทั้งปวงดังกล่าวอยู่ ตามพระพุทธภาษิตที่ยกขึ้นมาอ้างนั้น
เว้นไว้เสียแต่ว่าจิตนี้จะเรียกหาพุทโธ แม้ว่าเรียกหาพุทโธด้วยนึกถึงพระพุทธรูป
นึกถึงพุทธประวัติ หรือนึกถึงพระพุทธคุณตามที่รู้ ก็ย่อมเรียกว่าเป็นการได้ทำกรรมฐาน
มีพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ขึ้นแล้ว เป็นการที่เหมือนอย่างเริ่มนำพุทโธนี้เป็นลิ่มอันใหม่
เข้ามาตอกสลักลิ่มอันเก่าที่เสียบแทงใจอยู่ คือตัณหาที่เป็นตัวธรรมเมา
พร้อมทั้งอารมณ์ที่เป็นตัวธรรมเมาออกไปจากจิตใจ
ทำให้จิตใจนี้สงบจากการเรียกหาทุกข์เข้ามาสู่จิตใจได้ มีพุทโธเข้ามาตั้งอยู่ในจิตใจแทน
เรียกหา พุทโธ พุทโธ อยู่ในจิตใจ
๖
พุทธานุสสติ
และเมื่อจิตใจนี้ได้ความสงบจากอารมณ์ที่เป็นธรรมเมาทั้งหลาย
หรือเรียกตามศัพท์แสงว่าสงบจากอกุศลวิตก สงบจากกามอกุศลธรรมทั้งหลาย
จิตก็ได้สมาธิ มีพุทโธเป็นอารมณ์ตั้งอยู่ในจิต จะปรากฏเป็นพระพุทธรูป
พระพุทธเจ้าขึ้นในจิตก็ตาม เป็นพระพุทธคุณคือพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ
พระกรุณาคุณปรากฏขึ้นในจิตใจก็ตาม ได้ทั้งนั้น
หรือแม้ว่าปรากฏเป็นโอภาสความสว่าง แสงสว่างขึ้นในจิตใจ
อันเป็นนิมิตของสมาธิคือจิตที่สงบนี้ก็ตาม
จิตนี้ก็เริ่มพ้นจากตัณหาจากอารมณ์ที่เป็นตัวธรรมเมา มาสู่ธรรมะหรือธรรมโม
ได้ความพ้นทุกข์ ได้ความสุขทางจิตใจขึ้นเป็นเบื้องต้น
และเมื่อกำหนดพิจารณาพุทโธนี้ให้รู้ซึ้ง ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้พ้น
ทรงเป็นผู้ตื่นหรือรู้ตื่น ทรงเป็นผู้รู้เบิกบานหรือผู้เบิกบานอย่างนั้นๆ
ก็จะยิ่งได้ความสว่างในจิตใจขึ้นด้วยปัญญา
( เริ่ม ๘๙/๑ ) เพราะฉะนั้น การเรียกหาพุทโธ การแสวงหาพุทโธจึงมีประโยชน์มาก
ผู้ปฏิบัติธรรมควรที่จะปฏิบัติลดการเรียกหาสิ่งอื่นซึ่งเป็นธรรมเมา
มาเรียกหาพุทโธซึ่งเป็นธรรมโม ย่อมจะได้รับผลของการปฏิบัติธรรม
จะได้รู้จักพระรัตนตรัย จะได้รู้จักพุทธศาสนา ขึ้นในจิตใจของตนเอง
ต่อจากนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*