ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป068

พระพุทธคุณบทว่าพุทโธ (๑)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๘๖/๒ เริ่มเทป ต่อ ๘๗/๑ ( File Tape 68 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่าพุทโธ (๑)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงพระพุทธคุณนำมาโดยลำดับ

ในวันนี้ก็จักแสดงพระพุทธคุณอีกบทหนึ่งนำ คือบทว่าพุทโธ

พระพุทธคุณบทนี้พระอาจารย์ได้อธิบายไว้โดยย่อว่า ชื่อว่าพุทโธ หรือพุทธะ

ด้วยสามารถแห่งญาณ คือความหยั่งรู้ซึ่งบังเกิดขึ้นในที่สุดแห่งวิโมกข์คือความหลุดพ้น

เพราะรู้ญายะธรรม ธรรมะที่พึงรู้ได้ทั้งหมดทุกอย่าง

และท่านได้อธิบายอีกอย่างหนึ่งว่า ชื่อว่าพุทโธเพราะรู้สัจจะทั้งหลาย

และเพราะยังผู้อื่นให้รู้ซึ่งสัจจะทั้งหลาย ดั่งนี้

 

โดยที่พระพุทธคุณบทนี้ก็มีถ้อยคำที่ใกล้เคียงกันกับบทว่าสัมมาสัมพุทโธ หรือสัมมาสัมพุทธะ

และในพระพุทธคุณบทนั้นเป็นที่นับถือกันว่าเป็นพระพุทธคุณบทใหญ่คู่กับบทว่าอะระหัง

ซึ่งเราทั้งหลายก็มาเรียกกันเป็นภาษาไทยว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ

ในพระพุทธคุณบทนี้ คือบทว่าสัมมาสัมพุทธะ

ก็แปลกันว่าพระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ หรือพระผู้ตรัสรู้ชอบเอง

ก็มีคำว่าพุทธะเป็นบทใหญ่ และมีบทประกอบว่าเองโดยชอบ หรือโดยชอบเอง

และในคำว่าพุทโธหรือพุทธะของบทนี้ ก็มีอธิบายหลักว่ารู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นเอง

ทั้งมีความหมายถึงว่าสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ได้ด้วย

คือตั้งพุทธศาสนาขึ้นได้ด้วย จึ่งเรียกว่าสัมมาสัมพุทธะ

ถ้าตรัสรู้เองชอบโดยลำพังพระองค์เอง มิได้สอนผู้อื่นให้รู้ตาม มิได้ตั้งพุทธศาสนาขึ้น

ก็เรียกว่าปัจเจกพุทธะ ดั่งที่เราเรียกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า

ที่แปลพระผู้ตรัสรู้เฉพาะพระองค์เองพระองค์เดียว

เมื่อสอนผู้อื่นด้วย ตั้งพุทธศาสนาขึ้นได้ จึ่งเรียกว่าสัมมาสัมพุทธะ

เพราะฉะนั้น แม้คำว่าพุทธะในคำว่าสัมมาสัมพุทธะนี้ ก็มีความหมายถึงทั้งตรัสรู้เอง

และทั้งสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตาม ตั้งพุทธศาสนาขึ้นได้ด้วย

 

ครั้นมาถึงบทว่าพุทโธ ก็มีอธิบายในความหมายหลักเช่นเดียวกัน

ว่าตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตามซึ่งสัจจะทั้งหลาย

และแม้ว่าท่านจะให้คำอธิบายอีกอย่างหนึ่งว่าชื่อว่าพุทโธหรือพุทธะ

ด้วยสามารถแห่งญาณคือความหยั่งรู้ อันเกิดขึ้นในที่สุดของวิโมกข์คือความหลุดพ้น

เพราะรู้ญายะธรรม ธรรมะที่พึงรู้ทุกอย่างได้ทั้งหมด

มีคำว่าญายะธรรม หรือ เญยยะ ที่แปลว่าธรรมะที่พึงรู้หรือข้อที่พึงรู้ ซึ่งเป็นคำกลางๆ

แต่ว่าเมื่อจะถามว่าอะไรเป็นข้อที่พึงรู้ก็ตอบได้ว่า ก็คือสัจจะความจริงของจริงของแท้

คือธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริงนั้นเอง อันเป็นไปเพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์

เป็นวิมุติคือความหลุดพ้น หรือที่เรียกว่าวิโมกข์ เรียกว่านิพพาน

อันเป็นภูมิที่สุดอันพึงได้พึงถึงในพุทธศาสนา เป็นที่ดับแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น

 

ญายะธรรมธรรมะที่พึงรู้ ก็คือธรรมะที่พึงปฏิบัติให้ได้ให้ถึงมรรคผลนิพพาน

อันเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น

ธรรมะดังกล่าวทุกข้อทุกบทเรียกว่าเป็นญายะธรรม ธรรมะที่พึงรู้ทั้งนั้น

ก็รวมเข้าโดยย่อในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นเอง

 

ทุกข์ก็เป็นญายะธรรม คือเป็นข้อที่พึงรู้

ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ก็เป็นญายะธรรม เป็นข้อที่พึงรู้

ทุกขนิโรธความดับทุกข์ก็เป็นญายะธรรม ธรรมะที่พึงรู้

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

หรือมรรค ก็เป็นญาญะธรรม คือธรรมะที่พึงรู้

เพราะฉะนั้น แม้คำว่าญายะธรรมนี้ ก็ชี้มาถึงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดังกล่าวนั้นเอง

 

พระพุทธเจ้าทรงได้พระญาณคือความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ในที่สุดแห่งวิมุติคือความหลุดพ้น

หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่ามีวิมุติคือความหลุดพ้นเป็นที่สุดก็ได้

คือวิมุติความหลุดพ้น วิมุติญาณทัสสนะความรู้ความเห็นในความหลุดพ้น

อันความรู้ความเห็นในวิมุติคือความหลุดพ้นนี้ตามลำดับของธรรมะ

ย่อมเกิดในที่สุดแห่งวิมุติ ดังที่แสดงว่าเมื่อพ้นแล้วก็รู้ว่าพ้นแล้ว

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ก็ทรงแสดงอย่างนี้

และเมื่อแสดงถึงพระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งเป็นพุทธสาวก ก็ทรงแสดงอย่างนี้

 

คือเมื่อกล่าวโดยลำดับเป็นธรรมขันธ์ คือกองแห่งธรรมะ

อันจำแนกไว้ว่า สีลขันธ์กองศีล สมาธิขันธ์กองสมาธิ ปัญาขันธ์กองปัญญา

วิมุติขันธ์กองวิมุติ วิมุติญาณทัสสนะขันธ์ กองแห่งญาณทัสสนะความรู้ความเห็นในวิมุติ

ก็โดยอธิบายว่า ปฏิบัติมาในศีลในสมาธิในปัญญา จึงประสบวิมุติคือความหลุดพ้น

คือจิตพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เมื่อพ้นแล้วก็รู้ว่าพ้นแล้ว

ความรู้ว่าพ้นแล้วนี้คือ วิมุติญาณทัสสนะ มีเป็นที่สุดของวิมุติ ท่านผู้รู้จบแล้ว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จบแล้ว ทรงเป็นพระพุทธเจ้า

พระสาวกทั้งหลายรู้จบตามแล้ว เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ก็ย่อมรู้ว่าท่านพ้นแล้วแต่ละองค์

เพราะฉะนั้น เมื่อมาอธิบายจับเอาพระญาณข้อนี้เป็นเหตุให้ได้พระนามว่าพุทโธ

ผู้รู้แล้ว ก็คือผู้รู้จบ เป็นความหมายที่ต้องการจะแสดงให้ชัดเจนถึงความรู้ของพระองค์ที่รู้จบนี้

ใช้คำว่ารู้จบคำเดียวอาจจะยังไม่พอ หากใช้ว่ารู้จบสิ้นก็จะได้ความที่ชัดขึ้น

รู้จบหมดสิ้น ไม่มีรู้อื่นที่จะยิ่งขึ้นไปกว่า และจบสิ้นกิจที่จะพึงทำต่อไปเพื่อที่จะให้รู้เช่นนี้อีก

ทั้งจบสิ้นกิเลส จบสิ้นกองทุกข์ทั้งสิ้น

 

พระองค์ทรงรู้จบสิ้นด้วยพระองค์เอง และสอนผู้อื่นให้รู้จบสิ้นได้ด้วย

เมื่อสรุปอธิบายของพระอาจารย์ที่ท่านอธิบายไว้ ดังที่ยกมาข้างต้นนั้น

เข้าในคำว่ารู้จบสิ้นดั่งนี้ ก็ย่อมจะทำให้มีความเห็นความเข้าใจ

ที่พอจะเป็นเหตุผลว่าแยกออกมาอีกเป็นพระพุทธคุณอีกบทหนึ่งคือพุทโธ

จากคำว่าสัมมาสัมพุทโธ มาเป็นพุทโธคำเดียว รู้จบสิ้นแล้ว ทั้งสอนให้ผู้อื่นรู้จบสิ้นได้ด้วย

 

และคำว่าพุทโธนี้ ก็เป็นคำที่เรียกพระพุทธเจ้าทั่วไป

ดังที่เราทั้งหลายมาเรียกเป็นภาษาไทยว่าพระพุทธเจ้า ก็มาจากพระพุทธคุณบทว่าพุทโธนี้

เพราะฉะนั้น จึงเป็นคำที่นิยมเรียกพระพุทธเจ้าโดยทั่วไป ตลอดถึงศาสนาของพระองค์

ก็เรียกว่าพุทธศาสนา ซึ่งคำนี้ก็มาจากพระโอวาทครั้งสำคัญของพระองค์

ที่เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งได้ตรัสไว้ว่า สัพพะ ปาปัสสะ อกรณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง

กุสลัส สูปสัมปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตตะ ปริโย ทปนัง ชำระจิตของตนให้ผ่องใส

เอตัง พุทธานสาสนัง นี้เป็นคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย คือเป็นพุทธศาสนาดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น คำว่าพุทโธนี้จึงเป็นคำที่ใช้มาก

เป็นคำที่เรียกมาก เป็นที่รู้จะกันว่าเมื่อกล่าวว่าพุทธะหรือพุทโธ

ก็หมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ไม่ได้หมายถึงผู้อื่น

และแม้ในการปฏิบัติกรรมฐาน พระอาจารย์ก็สอนให้บริกรรมว่าพุทโธ

เช่น กำหนดลมหายใจเข้าว่าพุท หายใจออกว่าโธ

เมื่อมาเป็นนามของรัตนะทั้ง ๓ ก็เรียกว่า พุทธะ ธัมมะ สังฆะ พุทโธ ธัมโม สังโฆ

เป็นคำที่เรียกทั่วไปเป็นที่รู้จัก ซึ่งมีความหมายอันสำคัญคือผู้รู้จบสิ้นแล้ว

อีกคำหนึ่งผู้รู้พ้นแล้ว คำว่าพ้นกับคำว่าสิ้นนั้นก็มีความหมายในด้านสิ้นกิเลสพ้นกิเลส

สิ้นทุกข์พ้นทุกข์ได้ด้วยกัน พุทโธผู้รู้จบสิ้นแล้ว พุทโธผู้รู้พ้นแล้ว

 

อนึ่ง พระอาจารย์ไทยเราท่านนิยมแปลคำว่าพุทโธอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว

และมีอธิบายว่า เป็นผู้รู้ จนเป็นผู้ตื่น หรือเป็นผู้ตื่นด้วยความรู้

การอธิบายคำว่าพุทโธดั่งนี้ก็ได้ความถูกต้อง ทั้งโดยพยัญชนะคือถ้อยคำ

ทั้งโดยอรรถะคือเนื้อความ เพราะคำว่าพุทธะนี้ท่านใช้ในภาษาบาลีว่าเป็นผู้ตื่นก็มี

( เริ่ม ๘๗/๑ ) เพราะฉะนั้นมาอธิบายคำว่าพุทโธนี้ว่าเป็นผู้ตื่นดังกล่าว ก็ย่อมเหมาะ

ทำให้เห็นว่าเป็นพระพุทธคุณบทที่แตกต่างจากบทว่าสัมมาสัมพุทธะ

ทั้งไม่ผิดพยัญชนะคือถ้อยคำด้วย

 

คำว่าตื่นหรือคำว่ารู้นี้ เมื่อพิจารณาแล้วก็ย่อมจะเห็นว่ามีเนื้อความอย่างเดียวกัน

แต่ต้องเข้าใจว่าคำว่าตื่นนี้ ไม่ใช่หมายความว่าตื่นเต้นตื่นข่าว ซึ่งเป็นความหลง

อย่างคำว่ามงคลตื่นข่าว คือการหลงถืออะไรว่าเป็นมงคลตามข่าวที่ลือกันที่พูดกัน

เรียกว่ามงคลตื่นข่าว ดั่งนี้ ไม่ใช่ความหมายว่าตื่นในที่นี้

 

คำว่าตื่นในที่นี้หมายถึงตื่นจากหลับ ดังที่เรียกกันว่าตื่นนอน ตื่นจากหลับ

เมื่อยังนอนหลับอยู่นั้นก็ไม่รู้อะไร เหมือนอย่างคนที่นอนหลับทั่วไปก็ไม่รู้อะไร

ร่างกายพักผ่อน ตาหูก็พักผ่อน นอกจากจะฝันเห็น แต่ก็เรียกว่าเป็นความฝัน

ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน อย่างคนที่ตื่นอยู่โดยธรรมดา

เมื่อตื่นนอนคือตื่นจากหลับ ตาจึงจะเห็นอะไร หูได้ยินอะไร ตามปรกติธรรมดา

เพราะฉะนั้น ตื่นดังกล่าวนี้จึงมีความหมายว่ารู้นั้นเอง

 

เมื่อนอนหลับไม่รู้ไม่เห็นอะไร ตื่นขึ้นมาจากหลับจึงเห็นจึงรู้อะไรได้เป็นปรกติ

ดั่งที่ทุกคนรู้เห็นอยู่ ดั่งนี้เรียกว่าตื่น ก็คือรู้นั้นเอง

พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตื่นแล้ว ก็คือรู้จบสิ้นแล้ว รู้พ้นแล้วดังกล่าวนั้น

และทรงเป็นผู้เบิกบานแล้วในคุณธรรมทั้งหลายเต็มที่ เหมือนอย่างดอกบัวที่บานเต็มที่

และแม้คำว่าเบิกบาน อันเทียบด้วยดอกบัวบานเต็มที่นี้ ก็มีความหมายถึงรู้จบสิ้น

หรือรู้พ้นดังกล่าวอีกนั่นแหละ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาดูสัตว์โลก

ทีแรกทรงเห็นว่าธรรมะที่ได้ตรัสรู้ลุ่มลึก จะไม่มีผู้อื่นรู้ตามได้

จึ่งได้ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อที่จะมีความขวนขวายน้อย คือไม่สอน

เมื่อไม่สอนก็ไม่ตั้งพุทธศาสนา จึงเท่ากับว่าจะทรงเป็นพระปัจเจกพุทธะละ

 

แต่เมื่อได้ทรงพิจารณาดูสัตวโลก ก็ทรงเห็นว่ามีหลายจำพวก

จำพวกที่สามารถรู้ได้เร็ว เหมือนดั่งดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำแล้ว

ต้องแสงอาทิตย์ก็จะเบิกบานขึ้นทันที ดั่งนี้ก็มี

จำพวกที่จะต้องอธิบายจึงจะรู้ เหมือนอย่างดอกบัวที่เสมอน้ำ

วันรุ่งขึ้นก็จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ต้องแสงอาทิตย์ก็จะบานขึ้นทันที ดังนี้ก็มี

จำพวกที่ต้องอธิบายบ่อยๆ แนะนำบ่อยๆ จึงจะรู้ได้

เหมือนอย่างดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลงไป อีกวันสองวันก็จะโผล่ขึ้นมาบานได้ ก็มี

จำพวกที่ทึบมากนักไม่อาจที่จะรู้ได้ เหมือนอย่างดอกบัวที่อยู่ก้นสระ

จะต้องเป็นอาหารของปลาเต่า ไม่อาจที่จะโผล่ขึ้นมาบานได้ ดั่งนี้ก็มี

 

เมื่อทรงเห็นดั่งนี้จึงได้ทรงทำสังขาราธิษฐาน

อธิษฐานพระหทัยที่จะดำรงชีวิตสังขารโปรดสัตวโลก

คือโปรดเวไนยนิกรหมู่ชนที่จะพึงแนะนำอบรมได้ ๓ จำพวกข้างต้นนั้น

ตั้งพุทธศาสนาให้ฝังรากลงในโลก ตั้งพุทธบริษัทภิกษุภิกษุณีอุบาสกอุบาสิกาขึ้นแล้ว

จึงจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดั่งนี้เรียกว่าทรงทำสังขาราธิษฐาน

ตั้งพระหฤทัยที่จะดำรงชีวิตสังขารประกาศพระพุทธศาสนา

 

เพราะฉะนั้น พุทโธผู้เบิกบานแล้วก็เหมือนอย่างดอกบัว

ที่โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ ต้องแสงอาทิตย์บานขึ้นแล้ว

พระพุทธเจ้าทรงเป็นดอกบัวดอกแรกในโลก ที่ได้รับแสงธรรมเบิกบานขึ้นแล้วในโลก

และก็ทรงสั่งสอนเวไนยนิกร หมู่ชนที่จะพึงแนะนำได้ให้บานตาม

เพราะฉะนั้น จึงทรงได้พระนามว่าพุทโธ

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

พระพุทธคุณบทว่าพุทโธ (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

มายาของโลก ๒

มายาของประสาททั้ง ๕ ๔

มายาของจิตใจ ๕

อาการของตัณหา ๖

ทุกขสมุทัย ๗

สัตวโลกเหมือนอย่างหลับฝัน ๘

ทุกข์คือเกิดดับ ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๘๗/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๘๗/๒ ( File Tape 68 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่าพุทโธ (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงอธิบายพระพุทธคุณนำในบทว่าพุทโธ ในความหมายว่าผู้ตื่น

พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นผู้รู้จบสิ้น เป็นผู้รู้พ้น จนทรงเป็นผู้ตื่นจากความหลับคือกิเลส

อันได้แก่อวิชชาความไม่รู้ในสัจจะ อันเป็นญายะธรรม ธรรมะที่พึงรู้

โมหะความหลงถือเอาผิด พร้อมทั้งกิเลสทั้งปวงโดยสิ้นเชิง

จึงทรงเป็นผู้พ้นจากมายา สิ่งหลอกลวง หรือความหลอกลวง คือกิเลส

ฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ตื่นด้วยความรู้อย่างสมบูรณ์ในญายะธรรม ธรรมะที่พึงรู้คือสัจจะทั้งหลาย

 

มายาของโลก

 

อันมายาที่หลอกลวงหรือความหลอกลวงนี้ เป็นส่วนทางกายก็มี เป็นส่วนทางจิตก็มี

ที่เป็นส่วนทางกายนั้น ดังเช่นความรู้ทางประสาทของร่างกายทั้งหลาย

ที่รวมเข้าก็เป็น จักขุประสาท ประสาทตาที่ทำให้เห็น หรือที่เป็นเครื่องเห็น

โสตะประสาท ประสาทหูที่ทำให้ได้ยิน หรือเป็นเครื่องได้ยิน

ฆานะประสาท ประสาทจมูกที่ทำให้ได้กลิ่น ทราบกลิ่น หรือเป็นเหตุทราบกลิ่น

ชิวหาประสาท ประสาทลิ้นที่ทำให้ได้รสทราบรส หรือเป็นเครื่องได้รสทราบรส

กายประสาท ประสาทกายที่ทำให้ได้รับถูกต้อง หรือทราบสิ่งถูกต้อง

 

ประสาททั้ง ๕ นี้ย่อมรับวิสัยคืออารมณ์

อันได้แก่รูปเสียงกลิ่นรสและโผฏฐัพพะอยู่เป็นประจำ

ความรู้ที่ได้ทางประสาททั้ง ๕ นี้ ปรากฏเป็นการเห็น การได้ยิน

การได้ทราบกลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ของทุกๆคนอยู่เป็นประจำ

และความรู้ทางประสาททั้ง ๕ ดังกล่าวตามที่ปรากฏ เช่นการเห็นรูป

ก็เป็นรูปที่งามบ้าง ไม่งามบ้าง หรือที่เรียกว่าถูกตาบ้าง ไม่ถูกตาบ้าง

ความรู้ทางหูในเสียง ทางโสตะประสาทก็ปรากฏเป็นเสียง

ที่ไพเราะบ้าง ไม่ไพเราะบ้าง ที่แรงบ้าง ที่เบาบ้าง ที่ถูกหูบ้าง ไม่ถูกหูบ้าง

ความรู้ที่ได้ทางจมูก ทางประสาทคือกลิ่นต่างๆ ก็เป็นกลิ่นที่น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง

ความรู้ที่ได้ทางลิ้น หรือชิวหาประสาทก็ปรากฏเป็นรส ที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง

ที่น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง ที่อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง

ความรู้ที่ได้ทางกาย คือกายประสาท ก็คือโผฏฐัพพะสิ่งที่ถูกต้องต่างๆก็เช่นเดียวกัน

เป็นสิ่งถูกต้องที่น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง

 

ความรู้ที่ได้เหล่านี้ดังกล่าว กล่าวได้ว่าเป็นมายาอย่างหนึ่ง ยังไม่ใช่สัจจะคือความจริง

เป็นมายาที่ทำให้มีความรู้สึกว่าน่าชอบใจ ไม่น่าชอบใจดังกล่าวนั้น

ซึ่งความจริงแล้วลักษณะที่น่าชอบใจ หรือไม่น่าชอบใจดังกล่าวนั้น

ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายไม่มี แต่ว่าทุกคนนั้นย่อมติดอยู่ในมายา

ของประสาททั้งหลาย ของวิสัยหรืออารมณ์ของประสาททั้งหลาย

ทางร่างกายดังกล่าวนั้นกันอยู่โดยทั่วไป ย่อมไม่ล่วงไปถึงสัจจะคือความจริง

ในข้อนี้จะยกตัวอย่างให้เห็นได้สักข้อหนึ่ง คือความรู้ที่ได้ทางชิวหาประสาท ประสาทลิ้น

เป็นรสที่น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง เป็นรสเปรี้ยว รสเค็ม รสเผ็ด รสไม่เผ็ด รสหวาน

รสขม รสเฝื่อน ต่างๆเหล่านี้ ซึ่งก็เป็นความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆในเมื่อบริโภคอาหาร

แต่อันที่จริงนั้นรสต่างๆดังกล่าวนั้น ปรากฏอยู่แค่ลิ้นเท่านั้น

ที่บุคคลเมื่อบริโภคอาหาร เคี้ยวอาหาร ลิ้นก็ทราบรสเหล่านี้

แต่เมื่อเคี้ยวอาหาร และผ่านลิ้นเข้าไปแล้ว รสเหล่านี้จะไม่ปรากฏเลย

ดังเมื่อผ่านลิ้นล่วงลำคอเข้าไป ความรู้สึกในรสเหล่านี้หายไปหมด

ไม่มีให้รู้สึกว่าเปรี้ยวเค็มหวานขมอีกเลย

เพราะฉะนั้น ความรู้สึกในรสต่างๆดังกล่าวจึงอยู่แค่ลิ้น ผ่านลิ้นไปแล้วก็หายหมด

 

รูปที่เห็นทางจักขุประสาท เป็นรูปที่น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง ก็เหมือนกัน

เมื่อผ่านเข้าไปแล้วก็หายหมด ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูกก็เหมือนกัน ทางกายก็เหมือนกัน

ประสาทเหล่านี้เองที่ทำให้รู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ ที่น่าชอบใจบ้างไม่น่าชอบใจบ้าง

และความรู้ดังกล่าวนี้ก็เป็นมายา ไม่ใช่เป็นความรู้จริง คนทั้งหลายก็ติดอยู่ในมายานี้เท่านั้น

มายาของตาหูจมูกลิ้นกายใจ ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราว

และที่กล่าวมานั้น ๕ ข้อข้างต้น ยังไม่ได้กล่าวถึงข้อมโนคือใจที่คู่กับธรรมะคือเรื่องราว

แต่เมื่อยกขึ้นเป็นประสาทท่านก็แสดงไว้เพียง ๕ มโนนั้นไม่แสดงว่าเป็นประสาท

แต่อันที่จริงนั้นประสาท ๕ ข้างต้นจะปรากฏขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยมีมโนข้อที่ ๖ นี้

เข้าประกอบอยู่ด้วยทุกข้อ คือจะต้องมีใจนี่เข้าประกอบด้วย จึงจะเป็นความรู้ขึ้นได้

เพราะฉะนั้น จึงยกขึ้นแสดงเพียง ๕ ข้อข้างต้น แต่อันที่จริงนั้นก็ ๖ ข้อนั่นแหละ

 

มายาของประสาททั้ง ๕

 

เมื่อบุคคลติดอยู่ในมายาของประสาททั้ง ๕ ของวิสัยคืออารมณ์ทั้ง ๕ ดังกล่าวนั้น

จึงได้มีความหลงยึดถืออยู่ในความรู้ทางประสาทเหล่านี้

และในสิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นที่ตั้งของความรู้นั้น

คือมีความหลงเข้าใจผิดอยู่ในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะ

นี้เป็นตัวอวิชชาด้วย ซึ่งนับว่าเป็นตัวต้นเดิม คือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง

เมื่อไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง จึงมีโมหะคือความหลงถือเอาผิด

ทำให้คนทั้งหลายต้องขวนขวายสร้างแสวงหา และบริโภควิสัยหรืออารมณ์

ที่น่าปรารถนาพอใจ เช่น ต้องการรูปที่น่าปรารถนาพอใจก็คือที่งดงาม

ต้องการเสียงที่น่าปรารถนาพอใจคือที่ไพเราะ ต้องการกลิ่นที่น่าปรารถนาพอใจ

ต้องการรสที่น่าปรารถนาพอใจ ต้องการโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่น่าปรารถนาพอใจ

จึงได้สร้างได้แสวงหาได้รวบรวมสิ่งเหล่านี้ที่น่าปรารถนาพอใจ มาเพื่อบริโภคใช้สอยต่างๆ

โดยที่ไม่ได้นึกว่าทั้งหมดล้วนเป็นมายา คือไม่ใช่เป็นตัวความจริง

 

ฉะนั้น มายาทางประสาทของร่างกายดังกล่าวจึงเป็นมายาโลกอย่างหนึ่ง

ที่ครอบงำโลกอยู่โดยทั่วไป ทำให้วิสัยหรืออารมณ์ของมายาโลกเหล่านี้

คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะดังกล่าวนั้น เป็นกาม ( เริ่ม ๘๗/๒ ) ดังที่เรียกว่ากามคุณบ้าง

กามคุณารมณ์บ้าง ที่ครองใจสัตวโลกทั้งหลายอยู่ กันอยู่โดยทั่วไป

 

มายาของจิตใจ

 

และเมื่อกล่าวดั่งนี้จึงล่วงเข้ามาถึงมายาของจิตใจ

ก็คือตัวอวิชชาความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริง โมหะคือความหลงซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐาน

อันทำให้สัตวโลกนี้หลงรักบ้าง หลงชังบ้าง กลายเป็นกิเลส ๓ กองขึ้นมา

คือเป็นราคะความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้กองหนึ่ง

โทสะความโกรธแค้นขัดเคืองกองหนึ่ง โมหะความหลงอีกกองหนึ่ง

 

แต่อันที่จริงนั้นความหลงย่อมมีอยู่เป็นพื้นฐาน

อันสืบมาจากอวิชชาดังกล่าว แต่ก็อาจแยกได้เป็น ๓ กองเหมือนกัน

โดยที่เวทนาคือการเสวยอารมณ์ของบุคคล หรือของสัตวโลกนั้น

ย่อมปรากฏเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

เมื่อได้ประสบอารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ทำให้ได้เสวยสุข

ได้ประสบสุข ได้สุขเวทนา อันนี้ก็เป็นที่ตั้งของราคะ หรือโลภะ

เมื่อประสบอารมณ์อันไม่ปรารถนาพอใจก็เป็นที่ตั้งของโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง

เมื่อประสบอารมณ์อันเป็นกลางๆ ไม่พอที่จะให้รู้สึกว่าพอใจหรือไม่พอใจ

ก็และไม่ได้พิจารณาให้เห็นตามสัจจะคือความจริง ว่าเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ

ก็เป็นที่ตั้งของโมหะคือความหลง คือแม้ว่าจะเป็นอารมณ์ที่เป็นกลางๆดั่งนั้นก็ตาม

แต่ก็ยังสยบติดอยู่ ไม่รู้ ไม่พ้นไปได้

 

อาการของตัณหา

 

เพราะฉะนั้น จึงอาจจำแนกกิเลสออกเป็น ๓ กองได้ดั่งนี้

และกิเลสทุกๆกองนั้นก็กล่าวได้ว่าเมื่อบังเกิดขึ้น

ก็ล้วนทำให้จิตใจนี้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายต่างๆ ไปในอารมณ์เหล่านั้น

อาการที่จิตดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายต่างๆนั้นคือตัณหา

ที่แปลกันว่าความดิ้นรนของจิตใจ หรือแปลว่าความทะยานอยาก

ซึ่งในความหมายนั้นไม่ใช่หมายถึงว่าอยากที่เป็นราคะความติดใจยินดี

หรือโลภะโลภอยากได้อย่างเดียว แต่หมายถึงทุกอย่าง

 

เพราะว่าเมื่อเสวยหรือประสบสุข จิตก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในสุข

เมื่อเสวยหรือประสบทุกข์ จิตก็ดิ้นรนกระสับกระส่ายกวัดแกว่งไปในทุกข์

เมื่อประสบหรือเสวยอารมณ์ที่เป็นกลางๆ จิตก็ดิ้นรนกวัดแกว่ง

กระสับกระส่ายไปในอารมณ์ที่เป็นกลางๆนั้น คือว่าติดอยู่ไม่พรากออก

และก็ไม่ใช่อยู่เฉยๆด้วย ดังที่ปรากฏว่าคิดไปต่างๆ ปรุงไปต่างๆ

อาการที่จิตคิดไปต่างๆปรุงแต่งไปต่างๆในอารมณ์

นี่แหละเป็นตัวตัณหาที่มีอยู่เป็นประจำ

ทุกขสมุทัย

 

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสยกเอาตัณหาขึ้นมาแสดงอีกอย่างหนึ่ง

และทรงแสดงยกขึ้นเป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

เพราะว่าตัณหานี้ย่อมมีครอบไปในจิตทั้งปวงที่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส

นับตั้งแต่อวิชชาลงมา จนถึงกองโลภหรือกองราคะ กองโทสะกองโมหะดังกล่าวนั้น

จิตย่อมมีความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย เพราะความผูกพันเพราะความติดปรากฏ

และตัณหานี้เองก็เป็นปัจจัยให้เกิดความผูกพันความติดด้วย

ความติดความผูกพันก็สนับสนุนให้เกิดตัณหาด้วย เพิ่มตัณหาด้วย

เพราะฉะนั้น หากว่าจะเรียกแยกเป็นตัณหาเป็นอุปาทานความดิ้นรนความยึดถือก็ได้

รวมกันเข้าก็ได้ เมื่อยกขึ้นมาข้อเดียว ก็ต้องแปลว่ามีทั้งสองข้อรวมกันอยู่ในจิต

 

เหล่านี้ล้วนเป็นมายาของจิตใจทั้งนั้น ที่สัตวโลกตกอยู่ในอำนาจของมายาดังกล่าว

และมายาทางจิตใจนี้ ก็สืบมาจากมายาของร่างกาย ของประสาททางร่างกาย

ดังกล่าวมาข้างต้น มายาของประสาททางร่างกาย ก็เป็นเครื่องให้เกิดมายาทางจิตใจ

เพิ่มมายาทางจิตใจ เป็นอันว่าทั้งสองนี้ประกอบอยู่ด้วยกัน

เพราะเหตุที่ว่าสัตวโลกนั้นยังมีอวิชชาความไม่รู้ในสัจจะคือความจริงดังกล่าวนี้

เป็นเหตุสำคัญ จึงมีโมหะคือความหลงติดอยู่

 

เพราะฉะนั้น ความรู้ความเห็นความคิดของจิต ของสัตวโลก

จึงเป็นไปตามอำนาจแห่งมายาของโลก มายาของจิตใจดังกล่าว

ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้คิดตามสัจจะที่เป็นตัวความจริง

เพราะฉะนั้น จึงเท่ากับไม่รู้ เท่ากับหลับไม่ตื่น บางทีก็หลับสนิทไม่ฝัน บางทีก็หลับฝัน

แต่สิ่งที่ฝันเห็นนั้น ก็ไม่ใช่เป็นสัจจะคือความจริง เป็นความฝัน

นี้หมายถึงว่าการหลับการฝันที่เป็นธรรมดาของบุคคล

คือบุคคลเมื่อหลับ หลับไม่ฝันก็ไม่รู้อะไร เมื่อฝันก็รู้ รู้ในความฝัน

แต่นั่นก็เป็นฝันไม่ใช่เป็นความจริง เมื่อตื่นขึ้นมาสิ่งที่ฝันนั้นก็หายหมด

ตื่นขึ้นมาแล้วจึงรู้ว่านั่นฝันไป และสิ่งที่ปรากฏในความฝันนั้นก็ไม่มีจริง เป็นความฝันทั้งสิ้น

แต่ว่าจะมารู้ได้ในเมื่อตื่นขึ้นมา ในขณะที่กำลังหลับอยู่นั้นหารู้ว่าฝันไม่

คิดว่าจริงในความฝัน ตื่นขึ้นมาจึงรู้ ฉันใดก็ดี

 

สัตวโลกเหมือนอย่างหลับฝัน

 

สัตวโลกเรานี้เมื่อตกอยู่ในอำนาจของมายาโลกมายาจิตใจดังกล่าวนั้น จึงเหมือนอย่างหลับ

กำลังหลับอยู่ และบางทีก็หลับฝัน ก็ปรากฏในความฝันว่า รูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง

โผฏฐัพพะบ้าง ที่ประสบพบพาน น่าปรารถนาพอใจบ้าง ไม่น่าปรารถนาพอใจบ้าง

แล้วก็ขวนขวายแสวงหาบริโภคกันต่างๆ ก็มีความสุขบ้าง ความทุกข์บ้าง

แต่ว่าสุขนั้นน้อย ทุกข์มาก ที่ประสบกันอยู่

 

เหล่านี้เหมือนอย่างกำลังฝันอยู่ทั้งนั้น เป็นความฝันทั้งตื่น

ด้วยอำนาจของอวิชชาโมหะที่ครองใจ จึงตกอยู่ในอำนาจมายาโลกมายาของจิตใจ

เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่าสัตวโลกต่างพากันดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ในอารมณ์โลกทั้งหลาย

ต่างมีความยึดถืออารมณ์โลกทั้งหลายว่า นั่นน่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ

นั่นไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ นั่นเป็นตัวเรา นั่นเป็นของๆเรา

และครั้นเมื่ออารมณ์โลกเหล่านั้นแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงได้เกิดโสกะแห้งใจ

ปริเทวะความคร่ำครวญใจ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจต่างๆ

ไขว่คว้าในสิ่งที่ปรารถนาต้องการ ผลักไสไปในสิ่งที่ไม่ปรารถนาต้องการ

และเมื่อไขว่คว้าได้บ้างก็หัวเราะชอบใจ สบายใจ เมื่อไม่ได้ก็เป็นทุกข์โทมนัส

คิดจะผลักออกไปในสิ่งที่ไม่ชอบ ผลักออกไปได้ก็ดีใจ ผลักไปไม่ได้ก็เสียใจ

ต้องหัวเราะบ้าง ต้องร้องไห้กันอยู่บ้าง เป็นไปกันอยู่ดั่งนี้ ในความฝันทั้งนั้น

เพราะเหตุที่ยังไม่รู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง จิตจึงยังมีอวิชชา ยังมีโมหะครอบครองอยู่

จึงเป็นไปดั่งนี้ ก็เหมือนอย่างว่าหลับกันอยู่ทั้งหมด ฝันกันอยู่ทั้งหมด

ทุกข์คือเกิดดับ

 

พระพุทธเจ้าครั้นได้ตรัสรู้ในสัจจะคือความจริง

ทรงรู้จักทุกข์ ว่าสิ่งทั้งหมดที่เป็นมายาโลกเป็นอารมณ์โลกทั้งปวงนั้นเป็นตัวทุกข์

คือเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ที่แสดงโดยบุคคลก็คือว่า ต้องเกิดแก่เจ็บตาย

ต้องประจวบต้องพลัดพราก ปรารถนาไม่ได้สมหวัง รวมเข้าก็เป็นขันธโลก

รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ต้องตายต้องเจ็บ

ต้องประจวบต้องพลัดพราก ต้องปรารถนาไม่ได้สมหวัง รวมเข้าก็คือต้องเกิดต้องดับ

เป็นตัวทุกข์คือเป็นสิ่งที่เกิดดับทั้งสิ้น และเป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่ในปัจจุบันนี้ เกิดก็ดับไปทีเดียว

แต่ว่ามีเกิดขึ้นใหม่สืบเนื่องกันไม่ขาดสาย ทำให้เหมือนอย่างว่าเกิดอยู่เรื่อย ไม่ดับ

 

แต่พระพุทธเจ้าทรงเห็นทุกข์คือเกิดดับนี้เป็นปัจจุบัน

คู่กันไป เกิดดับ เกิดดับ จนถึงเห็นดับนำหน้า

เห็นอะไรทุกอย่างที่มาทางตาก็ดี ทางหูก็ดีเป็นต้น เป็นความดับนำหน้าอยู่ทุกสิ่งทุกอย่าง

ทรงรู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหาดังกล่าว ทรงรู้จักนิโรธความดับทุกข์คือดับตัณหา

ทรงรู้จักมรรคที่มีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด

รวมเข้าก็เป็นองค์ประกอบที่ให้เกิดญาณคือความหยั่งรู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง

กำจัดอวิชชาโมหะในจิตใจได้หมดสิ้น จึงทรงตื่นขึ้นทันที

รู้สิ่งทั้งหมดในโลกนี้ที่เป็นมายาโลกเป็นอารมณ์โลก ว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับหมด

เพราะฉะนั้น จึงไม่มีหลงถือผิดอยู่ในอารมณ์โลกทั้งหลาย ไม่ยึดถือว่านั่นงามนั่นไม่งาม

ที่เป็นที่ตั้งของชอบหรือชัง กล่าวตรงๆก็คือว่าไม่ยึดถือว่านั่นเราชอบ นั่นเราไม่ชอบ

นั่นเป็นเรา นั่นเป็นของเรา ไม่มีความยึดถือทั้งหมด

 

พระพุทธเจ้าทรงตื่นขึ้นมาด้วยพระองค์เองดั่งนี้

ทรงเห็นสัจจะคือความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมด

โดยรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ด้วยประการทั้งปวง อวิชชาดับ โมหะดับ วิชชาบังเกิดขึ้น วิมุติความหลุดพ้นบังเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ตื่นขึ้นในโลก ตื่นจากอวิชชาโมหะ ทรงรู้จักโลกตามความจริง

ไม่ยึดถือโลกว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา

 

ก่อนที่จะทรงตื่นขึ้นด้วยความรู้ดั่งนี้ ก็ยังทรงหลับอยู่แล้วก็ฝันเห็น

ก็เหมือนชาวโลกทั้งหลายที่เหมือนอย่างหลับฝันเห็น และยึดถือกันอยู่

แต่ครั้นทรงดับอวิชชาโมหะได้ด้วยปัญญาที่เป็นสัมโพธิญาณ

จึงได้ทรงเห็นสัจจะคือความจริงทั้งหมด เหมือนอย่างตื่นขึ้นมาก็เห็นจริง

ว่าสิ่งทั้งหลายที่ผ่านมาแล้วนั้นเป็นความหลับฝันไปทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นความจริงอันใด

จึงทรงเป็นผู้ตื่นขึ้น ทรงพ้นจากอำนาจโลกอำนาจมายาของโลก อยู่เหนือโลกที่เรียกว่าโลกุตระ

นี้คือพุทโธผู้ตื่น ทรงตื่นขึ้นจริงๆ แล้วก็ตรัสสอนให้เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นผู้ตื่นขึ้น

ดั่งนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจะพ้นทุกข์ และพ้นทุกข์ได้จริงๆ พุทโธพ้นทุกข์ได้จริงๆ

ต่อจากนี้ก็ขอให้ทำความสงบสืบต่อไป

 *

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats