ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป067

พระพุทธคุณบทว่าอนุตโรปุริสทัมสารถิ (๓)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

 วิโมกข์ ๘ ๓

สมาธิ ฌาน สมาบัติ ๓

รูปนิมิต ๔

รูปฌาน ๕

อากาสานัญจายตนะ ๖

วิญญาณัญจายตนะ ๗

อากิญจัญญายตนะ ๗

เนวสัญญานาสัญญายตนะ ๗

สัญญาเวทยิตนิโรธ ๘ 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๘๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๘๕/๒ ( File Tape 67 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่าอนุตโรปุริสทัมสารถิ (๓)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าอนุตโรปุริสทัมสารถิ

ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษคือบุคคลที่ควรฝึกไม่มียิ่งขึ้นไปกว่า

ได้แสดงมาแล้ว ๒ ครั้งแต่ยังไม่หมดอธิบาย แม้โดยมีบาลีพระพุทธภาษิตยกขึ้นสาธก

จึงจะแสดงอธิบายต่อในวันนี้ ด้วยยกพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า

ทรงเป็นอนุตโรปุริสทัมสารถิ สารถีฝึกบุรุษคือบุคคลที่ควรฝึก ไม่มียิ่งขึ้นไปกว่า

ได้ประทานพระพุทธาธิบายว่า ช้างที่ควรฝึก ม้าที่ควรฝึก โคที่ควรฝึก

อันบุคคลผู้ฝึกให้วิ่งไป ย่อมวิ่งไปในทิศทั้งหลายได้เพียงทิศเดียว

คือในทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก ทิศเหนือ หรือทิศใต้ เท่านั้น

แต่บุคคลที่ควรฝึก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกให้แล่นไป

ย่อมแล่นไปได้ในทิศทั้ง ๘ ดั่งนี้ และก็ได้ประทานพระพุทธาธิบายว่า

ทิศทั้ง ๘ นั้นก็คือวิโมกข์ ๘

วิโมกข์ ๘

 

อันได้แก่ข้อ ๑ ปฏิบัติทำสมาธิกำหนดรูปนิมิต ย่อมเห็นรูปทั้งหลายในภายนอก

ข้อ ๒ ปฏิบัติทำสมาธิไม่กำหนดรูปนิมิตในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอก

ข้อ ๓ ปฏิบัติทำสมาธิน้อมไปว่างาม

ข้อ ๔ ล่วงรูปสัญญาความกำหนดหมายว่ารูป

ดับปฏิฆะสัญญาความกำหนดหมายสิ่งที่เป็นที่กระทบได้ ก็คือรูป

ไม่ใส่ใจสัญญาคือความกำหนดหมายต่างๆ เข้าถึงอารมณ์ว่าอากาสไม่มีที่สุด

อันเรียกว่า อากาสานัญจายตนะ

ข้อ ๕ ล่วงอารมณ์ว่าอากาศไม่มีที่สุด เข้าถึงอารมณ์ว่าวิญญาณไม่มีที่สุด

ข้อ ๖ ล่วงอารมณ์ว่าวิญญาณไม่มีที่สุด เข้าถึงอารมณ์ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี

ข้อ ๗ ล่วงอารมณ์ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี เข้าถึงอารมณ์ที่มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่

และข้อ ๘ ล่วงอารมณ์นั้น ดับสัญญาเวทนา ดั่งนี้

นี้เป็นความในพระพุทธาธิบายที่ตรัสไว้ ว่าได้ทรงฝึกบุรุษคือบุคคลที่ควรฝึก

ให้แล่นไปในทิศทั้ง ๘ ได้ ในคราวเดียว ก็คือในวิโมกข์ทั้ง ๘

 

สมาธิ ฌาน สมาบัติ

 

ท่านได้อธิบายหมวดธรรมนี้ไว้โดยความว่า

คำว่าวิโมกข์นั้นในที่นี้เป็นชื่อของสมาธิ หรือฌาน อันหมายถึงสมาธิที่แนบแน่น

หรือสมาบัติก็หมายถึงการเข้าสมาธิที่แนบแน่น

ซึ่งแปลได้ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นเครื่องพ้นจากธรรมะที่เป็นข้าศึกทั้งหลาย

ก็คือจากนิวรณ์กิเลสที่กั้นจิตไว้มิให้ได้สมาธิ มีกามฉันท์เป็นต้น

และทำปัญญาให้อ่อนกำลังลง เหล่านี้เรียกว่าธรรมะที่เป็นข้าศึก

ข้อปฏิบัติที่ทำให้พ้นได้จากธรรมะที่เป็นข้าศึกดั่งนี้ ก็คือสมาธิดังกล่าว

 

อีกอย่างหนึ่งแปลว่าน้อมไปด้วยดี

คือเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้สมาธิดำเนินไปสะดวกไม่ขัดข้อง

ที่เปรียบเหมือนอย่างว่า ทารกน้อยที่นอนหลับอยู่บนตักของบิดาหรือมารดา นอนสบาย

เพราะตักของมารดาหรือบิดานั้นนุ่ม และก็เต็มใจที่จะให้ลูกน้อยนอนหลับอยู่บนตักของตน

เด็กที่นอนหลับนั้นจึงหลับอย่างสบาย

 

สมาธิที่เป็นไปสะดวกในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของสมาธิ ดั่งนี้เรียกว่าวิโมกข์

ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติที่ได้ความสะดวกในการปฏิบัตินี้ ได้สมาธิยิ่งๆขึ้นไปโดยสะดวก

ตั้งแต่อุปจาระสมาธิ สมาธิเฉียดๆ จนถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น

จนถึงฌานหรือสมาบัติดังกล่าว

ข้อปฏิบัติที่ทำให้พ้นด้วยดีจากธรรมะที่เป็นข้าศึก

หรือว่าข้อปฏิบัติที่ทำให้สมาธิดำเนินไปได้สะดวก ที่เรียกว่าน้อมไปเป็นไปได้สะดวก

ตั้งแต่เบื้องต้นยิ่งๆขึ้นไปดังนี้เรียกว่าวิโมกข์

 

รูปนิมิต

 

และวิโมกข์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้นี้

ข้อ ๑ คือทำสมาธิกำหนดรูปนิมิต คือเครื่องกำหนดหมายในรูป มีรูปเป็นอารมณ์

ก็ได้แก่สมาธิที่ทุกคนปฏิบัติกันอยู่เป็นพื้นเช่น กายคตาสติ

สติที่กำหนดลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าออกนั้นก็เป็นรูป

เมื่อกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ ลมหายใจก็เรียกว่าเป็นนิมิตของสมาธิ

คือเป็นเครื่องกำหนดของสมาธิ เป็นเครื่องหมายของจิตสำหรับที่จะตั้งเป็นสมาธิ

แม้กายคตาสติ สติที่ไปในกาย กำหนดผมขนเล็บฟันหนัง ก็เป็นการกำหนดรูปนิมิต

 

( เริ่ม ๘๕/๒ ) แม้ในข้ออื่น เช่นกำหนดกสิณ เช่นวรรณกสิณคือกำหนดสี

สำหรับเป็นเครื่องจูงใจให้ตั้งเป็นสมาธิ เช่นกำหนดสีเขียวสีเหลืองสีแดงสีขาว

ในสิ่งที่มีสีดังกล่าวเรียกว่าวรรณกสิณ กสิณที่เกี่ยวด้วยสีเพื่อให้จิตตั้งเป็นสมาธิ ก็เป็นรูปสมาธิ

แม้ว่าในการกำหนดปฏิบัติแผ่เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา อันเรียกว่าพรหมวิหารธรรม

ซึ่งเป็นไปในสัตว์บุคคลทั้งหลายโดยเจาะจงบ้าง โดยไม่เจาะจงบ้าง

สำหรับพรหมวิหารธรรมมีเมตตาเป็นต้นนั้น เป็นภาวะในจิตใจ

แต่ว่าต้องตั้งอยู่ในสัตว์บุคคลทั้งหลายซึ่งเกี่ยวกับรูป เพราะฉะนั้นจึงจัดเข้าในรูปนิมิต

แม้ว่าเจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า

ธรรมานุสสติระลึกถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสสติระลึกถึงคุณของพระสงฆ์

ก็ยังมีคุณเป็นที่กำหนดหมายของจิตให้เป็นสมาธิ ซึ่งก็นับเนื่องอยู่ว่าเป็นรูปเหมือนกัน

เพราะยังมีปรากฏเป็นภาวะหรือสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นที่หมายอยู่ในจิตใจ ก็นับว่าเป็นรูปนิมิต

 

เพราะฉะนั้นคำว่า รูป นี้จึงมีความหมายถึงสิ่งที่เป็นวัตถุ ใช้เป็นที่ตั้งกำหนดทำสมาธิ

หรือแม้ว่าไม่เป็นวัตถุ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ยังเนื่องอยู่ในวัตถุ ก็นับว่าเป็นรูปด้วย

ดั่งเช่นที่ตรัสเรียกว่า ปิยะรูป สาตะรูป ซึ่งแม้ที่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่รูป เช่นเป็นเวทนา เป็นตัณหา

เป็นวิตก เป็นวิจาร ก็นับว่าเป็นปิยรูปสาตรูปด้วยเหมือนกัน

เพราะว่าแม้ตัณหาเป็นต้นนั้น ก็เป็นไปในรูปเสียงเป็นต้น ยังเนื่องอยู่ด้วยรูป

เพราะฉะนั้น จึงรวมเรียกว่าเป็น รูปนิมิต ทั้งหมด

 

รูปฌาน

 

และผู้ที่ได้สมาธิด้วยกำหนดรูปนิมิตดั่งนี้

ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นแน่วแน่

อันเรียกว่าฌานที่แปลความเพ่ง คือว่าเพ่งแน่วแน่ลงไป

ก็รวมเข้าว่าเป็นรูปฌาน ฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์ หรือฌานที่กำหนดรูปนิมิต

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ทำสมาธิกำหนดรูปนิมิตดั่งนี้

และเมื่อปฏิบัติก็ย่อมจะได้เห็นรูปทั้งหลายที่กำหนดในสมาธินั้นในภายนอกได้

ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๑

และข้อที่ ๒ นั้นก็คือมิได้กำหนดรูปนิมิตในภายใน

คือมิได้กำหนดผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น ที่เป็นภายใน

หรือว่ามิได้กำหนดกสิณที่เป็นวรรณะกสิณ คือกสิณที่เกี่ยวกับสี

สีเขียวสีเหลืองสีแดงสีขาว ของผมขนเล็บฟันเป็นต้น ของตนเอง

แต่กำหนดในภายนอก แม้ดั่งนี้ก็ปฏิบัติได้ และก็เห็นรูปทั้งหลายในภายนอก

 

ข้อ ๓ แม้มิได้ปฏิบัติตามข้อ ๑ ข้อ ๒

แต่ปฏิบัติทำสมาธิกำหนดแผ่เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาออกไป

ในสัตว์บุคคลทั้งหลาย เจาะจงบ้าง ไม่เจาะจง จนถึงไม่มีประมาณบ้าง ดั่งนี้

สัตว์บุคคลทั้งหลายก็ย่อมไม่ปรากฏเป็นปฏิกูล ด้วยอำนาจของเมตตาเป็นต้นที่แผ่ออกไปนั้น

คือปรากฏว่าสัตว์บุคคลทั้งปวงที่แผ่เมตตาออกไปนั้นงดงาม ไม่ปฏิกูล

ด้วยอำนาจของเมตตาเป็นต้น แต่มิใช่อำนาจของกาม

ถ้ากามเกิดขึ้นเมื่อไร เมตตาสมาธิก็ตกไปเมื่อนั้น

แต่เมื่อเมตตาสมาธิบังเกิดขึ้นในสัตว์บุคคลทั้งหลาย

สัตว์บุคคลทั้งหลายก็ไม่ปรากฏว่าเป็นปฏิกูล แต่ปรากฏว่างาม

งามด้วยเมตตา มิใช่งามด้วยกามกิเลส

 

และแม้ว่าปฏิบัติทำกสิณให้เป็นเครื่องจูงใจให้ได้สมาธิ

กำหนดสีเขียวสีเหลืองสีแดงสีขาวดังกล่าวอันเป็นสีที่บริสุทธิ์

ก็ชื่อว่าเป็นการที่ปฏิบัติทำสมาธิให้น้อมไป เป็นความงามเช่นเดียวกัน

ข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ดั่งที่กล่าวมานี้ ก็นับอยู่ในข้อรูปสมาธินั้นเอง

 

อากาสานัญจายตนะ

 

ต่อจากนั้นจึงได้ตรัสข้อ ๔

ที่ก้าวล่วงรูปสัญญา ความกำหนดหมายว่ารูป ที่เป็นรูปนิมิตดังกล่าว

ดับปฏิฆะสัญญา ก็คือเมื่อล่วงรูปได้ ก็ดับปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งได้

เพราะเมื่อมีรูป รูปนี้เองเป็นที่ตั้งของความกระทบกระทั่ง

เช่นว่าเมื่อมีรูปอยู่ขวางหน้า เช่นต้นไม้ หรือวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งขวางหน้าอยู่

เวลาเดินไปก็ย่อมจะต้องกระทบกับสิ่งนั้น ที่ขวางหน้าอยู่นั้น

แต่ว่าถ้าข้างหน้านั้นไม่มีรูปที่เป็นวัตถุอะไรขวางอยู่ การเดินไปก็ไม่ต้องกระทบกระทั่งอะไร

เพราะฉะนั้นเมื่อล่วงรูปสัญญาได้ ก็ดับปฏิฆะสัญญาความกำหนดหมายว่ากระทบกระทั่งได้

และก็ไม่ใส่ใจถึงสัญญาคือความกำหนดหมายอะไรต่างๆทั้งหมด

ดั่งนี้ ก็ทำสมาธิให้เข้าถึงอารมณ์ว่า อากาสไม่มีที่สุด อากาสไม่มีที่สุด

อากาสก็คือช่องว่างไม่มีที่สุด อันเรียกว่าอากาสานัญจายตนะ

ก็เป็นอันว่าเข้ามาสู่ อรูปสมาธิ สมาธิที่ไม่กำหนดรูปเป็นอารมณ์ อันนับว่าเป็นข้อที่ ๔

 

วิญญาณัญจายตนะ

 

และข้อที่ ๕ ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น

ก็ล่วงอารมณ์ว่าอากาสไม่มีที่สุด มากำหนดอารมณ์ว่าวิญญาณคือความรู้ไม่มีที่สุด

อันเรียกว่าวิญญาณัญจายตนะ ก็นับว่าเป็นข้อที่ ๕

 

อากิญจัญญายตนะ

 

ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ก็ล่วงข้อที่ ๕

ที่กำหนดว่าวิญญาณคือความรู้ไม่มีที่สุด มากำหนดอารมณ์ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี

อันเรียกว่าอากิญจัญญายตนะ อันเป็นข้อที่ ๖

 

เนวสัญญานาสัญญายตนะ

 

ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ล่วงข้อที่ ๖ นี้ มาถึงข้อที่ ๗

ก็คือกำหนดในอารมณ์ที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี

จนถึงมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่

ก็คือว่า จะว่ามีสัญญาคือความกำหนดหมายอย่างจะแจ้งก็ไม่ได้

หรือว่าจะไม่มีสัญญาก็ไม่ได้ เพราะจะต้องมีความกำหนดหมายอยู่

แต่ว่าสิ่งที่กำหนดหมายนี้ละเอียดเหลือเกิน น้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีนั้นก็เป็นละเอียดอยู่แล้ว

กำหนดอยู่ที่น้อยหนึ่งนิดหนึ่งนั้น อันเป็นข้อที่ ๖

แต่ข้อที่ ๗ นี้ละเอียดขึ้นไปกว่านั้น คือตัวสัญญาคือความกำหนดหมายนั้น มีเหมือนไม่มี

แต่ว่าสติมีอยู่สมบูรณ์ ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๗ ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น

ข้อที่ ๗ นี้เรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ

 

สัญญาเวทยิตนิโรธ

 

ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ดับสัญญาเวทนาอันเรียกว่า สัญญาเวทยิตะนิโรธ อันเป็นข้อที่ ๘

เหล่านี้เป็นที่สุดของสมาธิ อันเรียกว่าวิโมกข์ ซึ่งมี ๘ ข้อ

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้ทำสมาธิ คือสอนปุริสทัมมะ

บุรุษบุคคลที่ควรฝึกนี้ ให้วิ่งไปในทิศทั้ง ๘ คือในวิโมกข์ทั้ง ๘ นี้ได้

เพราะฉะนั้น จึงได้พระนามว่าทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษคือบุคคลที่ควรฝึก ไม่มีที่จะยิ่งขึ้นไปกว่า

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

พระพุทธคุณบทว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๘๕/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๘๖/๑ ( File Tape 67 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงอธิบายพระพุทธคุณนำ

เป็นพุทธานุสสติมาโดยลำดับ ถึงพระพุทธคุณบทว่าสัตถาเทวมนุสสานัง

เป็นพระศาสดาผู้สอนแห่งเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ดั่งนี้

พระพุทธเจ้าเราเรียกว่าพระบรมศาสดาที่แปลว่าพระศาสดาผู้เป็นอย่างยิ่ง

คือเป็นเยี่ยมยอด และมิใช่เป็นพระศาสดาเฉพาะแห่งมนุษย์ทั้งหลายเท่านั้น

เป็นพระศาสดาแห่งเทพทั้งหลายด้วย และยังทรงเป็นพระศาสดาแห่งสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย

แห่งโอปปาติกะคือผู้ลอยเกิดทั้งหลายที่ต่ำกว่าเทวะทั้งหลายอีกด้วย

 

แต่ว่าในบทพระพุทธคุณนี้ยกขึ้นแสดงเพียงว่าทรงเป็นพระศาสดาแห่งเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย

ข้อนี้แสดงถึงความยอดเยี่ยมความเป็นพิเศษ ซึ่งกล่าวได้ว่ามีเฉพาะพระพุทธเจ้า

ผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายเท่านั้น

เพราะว่าศาสดาทั้งหลายแห่งศาสนาทั้งหลาย

ซึ่งบังเกิดขึ้นก่อนพุทธศาสนาก็ดี บังเกิดขึ้นภายหลังพุทธศาสนาก็ดี

ย่อมเป็นศาสดาที่เป็นศิษย์ของเทวะ หรือเทพเจ้า ตามความเชื่อถือ จะเรียกว่าทั้งสิ้นก็ได้

จึงไม่มีศาสดาองค์ใดที่เป็นสยัมภูคือเป็นขึ้นเอง หรือเป็นสัมพุทโธผู้ตรัสรู้ขึ้นเอง

จะต้องมีเทพเจ้าตามเชื่อถือมาเป็นผู้บอกกล่าวแนะนำ

เท่ากับว่าศาสดานั้นๆเป็นสื่อระหว่างเทพเจ้าตามเชื่อถือกับมนุษย์ทั้งหลาย

 

แต่พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดามิใช่เป็นเช่นนั้น ทรงเป็นสยัมภูผู้เป็นเอง

คือเป็นผู้ตรัสรู้ขึ้นด้วยพระองค์เองในอริยสัจจ์ทั้งหลาย ทรงเป็นสัพพัญญูคือเป็นผู้รู้ทั้งหมด

อันหมายความว่าเป็นผู้รู้ด้วยความตรัสรู้ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ บริสุทธิ์ก็คือไม่ผิดพลาด

ถูกต้อง ไม่ต้องมีแก้ไข บริบูรณ์ก็คือครบถ้วนไม่มีบกพร่อง อันจะต้องเพิ่มเติม

อันคำว่าสัพพัญญูผู้รู้ทั้งหมดนี้ ย่อมครอบคลุมความหมายได้ในความรู้ของพระองค์ทั้งหมด

ซึ่งประกอบด้วยความรู้ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ดังกล่าว แม้ในข้อธรรมะทุกหมวดที่ทรงสั่งสอน

ดังเช่นทรงสั่งสอนอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์

ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็เป็นความที่ถูกต้องไม่มีผิดพลาด อันเรียกว่าบริสุทธิ์

และครบถ้วนไม่บกพร่อง อันเรียกว่าบริบูรณ์

 

เพราะอริยสัจจ์นั้นย่อมเป็นสัจจะที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ดังกล่าว

ไม่มี ๓ ไม่มี ๕ แต่ว่ามี ๔ เป็นความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของอริยสัจจ์เพียงเท่านี้

คำสั่งสอนของพระองค์จึงเป็นคำสั่งสอนที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ทั้งหมด

อันส่องถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ว่าทรงเป็นสัพพัญญูคือเป็นผู้รู้ทั้งหมด รู้ถูกต้องทั้งหมด

รู้ครบถ้วนทั้งหมด ตรัสออกมาเป็นอริยสัจจ์ ๔ ก็เป็นอริยสัจจ์ ๔ ที่ถูกต้อง ที่ครบถ้วน

ธรรมะที่ทรงแสดงออกมาทุกข้อทุกบท ย่อมมีความบริสุทธิ์คือถูกต้องทั้งหมด

มีความบริบูรณ์คือครบถ้วนทั้งหมด อยู่ในทุกข้อทุกบทที่ทรงสั่งสอนนั้น

อันส่องถึงความตรัสรู้ของพระองค์ว่าเป็นสัพพัญูคือรู้ทั้งหมดดังกล่าว

 

เพราะฉะนั้นเมื่อทำความเข้าใจในคำว่าสัพพัญญูดังกล่าวนี้

ย่อมจะทำให้พอมองเห็น ( เริ่ม ๘๖/๑ ) ความตรัสรู้ของพระองค์ว่าเป็นสัพพัญญูอย่างไร

แล้วก็ทำให้ได้ความเข้าใจในคำสั่งสอนของพระองค์ ว่าเป็นสัพพัญญู

คือแสดงถึงความรู้ทั้งหมดดังกล่าวนั้น และก็เป็นคำสั่งสอนที่ทำให้ผู้ตั้งใจฟัง

ได้ปัญญาในธรรม ได้มีความรู้ทั่วถึงทั้งหมดตามพระองค์ ในข้อที่จะพึงรู้พึงเห็นนั้นๆ

 

นี้แสดงถึงความเป็นพระศาสดาของพระองค์

ว่าพระองค์นั้นได้ทรงเป็นพระสัพพัญญู เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

ดังที่ได้แสดงไว้ในปฐมเทศนาว่าธรรมะได้บังเกิดผุดขึ้นแก่พระองค์

ก็คือตรัสแสดงไว้ว่าจักขุดวงตา ญาณะคือความหยั่งรู้ ปัญญาความรู้ทั่วถึง

วิชชาความรู้แท้จริง อาโลกะความสว่าง บังเกิดผุดขึ้นในธรรมะทั้งหลาย

ที่พระองค์มิได้เคยทรงสดับมาก่อน ว่านี้ทุกข์ ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว

นี้ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ทุกขสมุทัยนี่พึงละ ทุกขสมุทัยนี่ละได้แล้ว

นี้ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ทุกขนิโรธนี่ควรกระทำให้แจ้ง ทุกขนิโรธนี่ได้กระทำให้แจ้งแล้ว

นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ควรอบรมปฏิบัติกระทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี่ได้ปฏิบัติอบรมกระทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นแล้ว ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่มีครูอาจารย์

มาเป็นผู้บอกเป็นผู้สอนให้ตรัสรู้ พระองค์ได้ตรัสรู้ขึ้นด้วยพระองค์เอง

ฉะนั้น จึงไม่มีเทพทั้งปวง มนุษย์ทั้งปวง เป็นครูเป็นอาจารย์ของพระองค์

พระองค์ได้ตรัสรู้ในธรรมะที่มิได้เคยทรงสดับมาแล้วดังกล่าวนั้นด้วยพระองค์เอง

ก็แสดงว่าธรรมะที่ได้ตรัสรู้นี้ยังไม่มีมนุษย์ ไม่มีเทวะ

หรือกล่าวรวบว่าไม่มีเทวดามารพรหม ท่านใดท่านหนึ่ง ผู้ใดผู้หนึ่งได้รู้มาก่อน

ถ้าหากว่าจะได้มีมนุษย์หรือเทพดามารพรหมผู้ใดผู้หนึ่งได้รู้มาก่อน และแสดงสั่งสอนไว้

พระองค์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทรงค้นคว้าด้วยพระองค์เอง ดังที่ปรากฏในพุทธประวัตินั้น

ว่าได้ทรงเข้าศึกษาในสำนักของคณาจารย์เจ้าลัทธิทั้งหลายก่อน

และได้ทรงปฏิบัติตามแบบทุกรกิริยาที่สั่งสอนนับถือกัน

ว่าปฏิบัติแล้วจะได้ประสบผลเป็นความสิ้นทุกข์ทั้งสิ้น

พระองค์ก็ได้ปฏิบัติได้กระทำมาทุกทางที่ได้สอนกัน ที่ได้รู้กัน ก็ไม่ได้ทรงพบความสิ้นทุกข์

มีชาติทุกข์เป็นต้น อันเรียกว่าโมกขธรรมตามที่ทรงปรารถนา

 

เพราะฉะนั้นจึงต้องทรงแสวงหาด้วยพระองค์เอง

และก็ได้พบพระองค์เองนั่นเองเป็นอาจารย์แนะทางเบื้องต้น คือทรงระลึกขึ้นได้

เมื่อทรงเป็นพระราชกุมารเด็กๆ ได้ตามเสด็จพระราชบิดาไปในพิธีแรกนาขวัญ

ในขณะที่พระราชบิดากำลังทำพิธีแรกนาขวัญนั้น พระราชกุมารองค์น้อยประทับพัก

อยู่ใต้ต้นหว้า จิตของพระองค์ก็รวมเข้า โดยกำหนดลมหายใจเข้าออก

จนได้บรรลุถึงปฐมฌาน แต่ต่อมาปฐมฌานนี้ก็เสื่อมไป

 

ทรงระลึกได้ก็ได้ทรงจับทำสมาธิที่บริสุทธิ์นั้น

จึงได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลางคือมรรคมีองค์ ๘

ด้วยพระองค์เอง ก็ได้ทรงปฏิบัติดำเนินในทางนี้ จนบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน

จึงได้ตรัสรู้ คือจักษุดวงตาปัญญาได้ผุดขึ้นในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ กิเลสและกองทุกข์ก็สิ้นไป

จึงได้พอพระทัยว่าได้ตรัสรู้แล้ว ทรงสิ้นทุกข์ทั้งสิ้น มีชาติทุกข์เป็นต้นแล้ว

กิเลสอาสวะทั้งปวงดับไปหมดสิ้นแล้ว ดั่งนี้

 

และได้ทรงแสดงธรรมะที่ตรัสรู้นี้สั่งสอน

เพราะฉะนั้นจึงได้พระนามว่าสัตถาที่แปลว่าผู้สั่งสอน

เราเรียกกันในภาษาไทยว่าพระศาสดา สัตถาเป็นภาษาบาลี ศาสดาเป็นภาษาสันสกฤต

ก็แปลว่าผู้สอนนั่นเอง และพระองค์ทรงเป็นผู้สอนที่สอนธรรมะที่ตรัสรู้นี้แก่เทพทั้งหลายด้วย

แก่มนุษย์ทั้งหลายด้วย ตลอดจนถึงแก่สัตว์เดรัจฉานบางสัตว์เดรัจฉาน

และแก่โอปปาติกะที่ต่ำกว่าเทพ ให้ได้ความเลื่อมใส หรือให้ได้ความรู้

เท่าที่ผู้เกิดในภูมิภพนั้นๆจะมีได้เป็นได้ เป็นเหตุให้เลื่อนภูมิภพที่ต่ำนั้นสูงขึ้น

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าพระองค์เป็นมนุษย์คนแรกในโลก ที่ได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

ในธรรมะที่ยังไม่มีเทพผู้ใด ยังไม่มีมนุษย์ผู้ใดได้รู้มา และก็ได้ทรงสอนแก่เทพ แก่พรหม

แก่มนุษย์ทั้งหลายให้บรรลุถึงสุขประโยชน์ตามภูมิตามชั้น

 

ความเป็นศาสดาคือความเป็นผู้สอนของพระองค์นั้น

มิใช่สักแต่ว่าสอนเท่านั้น เหมือนอย่างครูอาจารย์ธรรมดาทั้งปวง

แต่ว่าได้ทรงประกอบด้วยลักษณะพิเศษของครูอาจารย์ ก็คือทรงได้ทรงถึงธรรมะ

ที่ทรงสอนนั้นแล้ว ทรงปฏิบัติธรรมะที่ทรงสอนนั้นได้ถูกต้อง ครบถ้วน

คือบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว จึงทรงสั่งสอน

เพราะฉะนั้น จึงไม่มีผู้ใดสามารถจะติเตียนพระองค์ได้ ว่าสักแต่ว่าสอนเท่านั้น แต่ว่าทำไม่ได้

ทรงทำได้แล้วบริสุทธิ์บริบูรณ์ ดังที่เรียกว่าสัพพัญญูดังกล่าวนั้น จึงทรงสอน

 

ธรรมะที่ทรงสั่งสอนนั้นได้มีอยู่บริบูรณ์แล้วในพระองค์

เช่นโพธิปักขิยธรรมที่ทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ทรงปฏิบัติได้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว

อริยสัจจ์ ๔ ก็ได้ตรัสรู้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว

วิมุติความหลุดพ้น มรรผลนิพพาน ทรงบรรลุถูกต้องครบถ้วนแล้ว

จึงไม่มีกุศลธรรมข้อใดข้อหนึ่งที่พระองค์มิได้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ได้

และไม่มีอกุศลธรรมข้อใดข้อหนึ่งยังเหลืออยู่ ทรงละอกุศลธรรมได้หมดสิ้น

ทรงปฏิบัติในกุศลธรรมทั้งปวงได้ครบถ้วนบริบูรณ์

กิเลสทั้งปวงทั้งที่เป็นอย่างหยาบ ทั้งที่เป็นอย่างกลางๆ

ทั้งที่เป็นอย่างละเอียด คืออาสวะอนุสัย ก็ทรงละได้สิ้นไม่มีเหลือ

 

ทรงประกอบด้วยพระคุณทั้งปวง

สรุปเข้าในพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณอย่างสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น จึงไม่มีผู้ใดจะติเตียนพระองค์ได้ ในด้านของความประพฤติ

ในด้านของรู้ คือความตรัสรู้ แม้แต่ข้อใดข้อหนึ่ง

ได้ทรงปฏิบัติมาได้อย่างสมบูรณ์บริบูรณ์ทุกอย่าง จึงทรงสอน

 

และในการสอนนั้นเล่าก็ทรงสอนอย่างที่ให้สำเร็จประโยชน์ได้ ดั่งที่เรียกกันว่าในปัจจุบัน

ทรงได้มีความรู้ในวิชาครูอย่างสมบูรณ์ ดังที่ได้ตรัสไว้เองว่า

ทรงสอนในธรรมะที่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง ในธรรมะที่ควรรู้ควรเห็น

ทรงสอนมีเหตุอันผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ ทรงสั่งสอนมีปาฏิหาริย์คือเป็นจริง

ปฏิบัติได้ผลจริง สอนว่าดีก็ดีจริง สอนว่าชั่วก็ชั่วจริง

ทำดีตามที่ทรงสอนก็ได้ดีจริง ทำชั่วตามที่ทรงสอนก็ได้ชั่วจริง นี้เป็นปาฏิหาริย์

และก็ปฏิบัติได้จริงดั่งนี้ในปัจจุบันนี้เอง ผู้ปฏิบัติก็รู้ได้ด้วยตัวเอง

 

เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงสอนอย่างได้ผล

มิใช่ว่าทรงสอนเรื่อยๆไป รู้อะไรก็สอนไปๆ โดยไม่มีขอบเขต ทำให้ไม่ได้ผล

แต่ทรงสอนจำเพาะที่ควรรู้ควรเห็น หรือเป็นไปเพื่อให้รู้ให้เห็นได้ ดังที่กล่าวมานั้นเป็นต้น

และในข้อนี้ก็ทรงประกอบด้วยลักษณะของครูผู้ยอดเยี่ยม

คือได้ทรงมีอิทธิปาฏิหาริย์ คือทรงมีฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ ฤทธิ์คำนี้แปลว่าความสำเร็จ

และก็หมายถึงความสามารถทำอะไรได้ที่เกินวิสัยของสามัญมนุษย์ได้ด้วย

แต่ว่าจุดประสงค์สำคัญนั้นคือความสำเร็จ คือทรงสามารถที่จะทรมาน

หรือว่าทรงสามารถที่จะฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก

ให้สิ้นมานะ สิ้นทิฏฐิที่ผิด มาตั้งใจฟังคำสั่งสอนของพระองค์ได้

ทรงมีอาเทสนาปาฏิหาริย์คือความรู้อ่านจิตใจ ดับใจของผู้ฟังได้เป็นอัศจรรย์

คือทรงรู้ถึงอุปนิสัย วาสนาบารมี หรืออินทรีย์ของผู้ฟังว่าเป็นอย่างไร

ควรจะแสดงธรรมะข้อไหนโปรดเขาจึงจะสามารถรับได้ สามารถรู้ได้ปฏิบัติได้ เรียกว่าอ่านใจได้

และคำว่าอ่านใจได้นี้ก็หมายถึงอ่านอุปนิสัย นิสัย วาสนาบารมี ของบุคคลนั้นๆออก

ไม่ใช่หมายความเพียงว่าอ่านใจคือความคิดของบุคคลแต่ละคนในปัจจุบันเท่านั้น

อันอุปนิสัยวาสนาบารมี หรืออินทรีย์ของแต่ละบุคคลนั้น

แม้เจ้าตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าตัวเองนั้นมีอุปนิสัยวาสนาบารมีอินทรีย์เพียงไร

แต่พระพุทธเจ้าทรงทราบ เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงคำสอนได้ถูกต้อง

พอเหมาะพอควรแก่อุปนิสัยของบุคคลนั้นๆ อันสามารถที่จะทำให้เขาเข้าถึงธรรมะได้

เขาสามารถที่จะรับมาปฏิบัติดำเนิน เพิ่มเติมอุปนิสัยให้ยิ่งๆขึ้นไปได้

 

เพราะฉะนั้น ธรรมะที่ทรงแสดงแก่บุคคลนั้นๆจึงมีเป็นอันมาก

ดั่งที่ประมวลเข้าที่เรียกว่าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์

หรือเป็นไตรปิฎก ปิฎก ๓ แต่ละปิฎกก็มีข้อธรรมะมากมาย

ดั่งนี้เพราะทรงมีความรู้ในอุปนิสัยวาสนาบารมีของแต่ละบุคคล

และทรงมีอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือคำสั่งสอนที่เหมาะสมเป็นอัศจรรย์ดังที่กล่าวมาแล้ว

ว่าเมื่อทรงรู้อุปนิสัยของบุคคลก็ประทานคำสั่งสอนที่เหมาะสมให้แก่เขาได้

 

นี้เป็นเหตุให้ธรรมะที่ทรงสั่งสอนนั้นมีมากมาย

เพราะบุคคลที่ฟังธรรมะนั้นมีมากมาย ก็ต้องทรงจำแนกแจกแจงแสดงข้อนั้นข้อนี้

ให้เหมาะสมแก่แต่ละบุคคล แต่ละคณะที่ฟังคำสั่งสอนของพระองค์

นี้เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์คำสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ อันรวมอาการเข้าเป็น ๓ ข้อ

ดังกล่าวมาข้างต้น ก็คือสอนข้อที่เป็นไปเพื่อให้รู้ให้เห็นในธรรมะที่ควรรู้ควรเห็น

มีเหตุที่ผู้ฟังตรองตามให้เห็นจริงได้ และมีปาฏิหาริย์ก็คือเป็นจริง ได้ผลจริง

 

เพราะฉะนั้น ผู้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์จึงต้องได้รับผล

ตั้งต้นแต่ได้ศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรมพระสงฆ์

ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ตามควรแก่ภูมิชั้น

ซึ่งบางคนก็เป็นอุคคติตัญญูรู้เร็ว ทรงยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดงก็รู้แล้ว ไม่ต้องอธิบาย

บางจำพวกก็เป็นวิปจิตัญญู เมื่อยกหัวข้อธรรมขึ้น ก็ต้องอธิบาย

บางจำพวกก็เป็นเนยยะแนะนำได้ คืออธิบายหนเดียวก็ยังไม่เข้าถึงธรรมต้องอธิบาย

แนะนำอยู่บ่อยๆ ก็สามารถที่จะเข้าถึงธรรม รู้ธรรมะได้จักษุคือดวงตาเห็นธรรมได้ ดั่งนี้

ฉะนั้น จึงได้เกิดมีพุทธบริษัท ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

ได้มีพระสาวกเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอนาคามี

เป็นพระสกทาคามี เป็นพระโสดาบัน รวมเป็นพระสงฆ์เป็นจำนวนมาก

นี้แสดงถึงความเป็นศาสดาของพระองค์ ซึ่งควรแก่นามว่าพระบรมศาสดา

ทรงเป็นพระศาสดาของเทพทั้งหลายด้วย ของมนุษย์ทั้งหลายด้วย

เพราะฉะนั้น จึงได้ได้พระนามว่าสัตถาเทวะมนุสสานัง

เป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats