ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป066

พระพุทธคุณบทว่าอนุตโรปุริสทัมสารถิ (๑)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

พระพุทธคุณบทว่าอนุตโร ๓

พระพุทธคุณบทว่าปุริสทัมสารถิ ๕

เทปม้วนที่ ๘๔ เสียงเบาไม่ชัด ควรฟังซ้ำอีกครั้ง 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๘๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๘๔/๑ - ๘๔/๒ ( File Tape 66 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่าอนุตโรปุริสทัมสารถิ (๑)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงพระพุทธคุณนำเป็นพุทธานุสสติระลึกถึงพระพุทธเจ้าโดยพระคุณ

และในพระพุทธคุณแต่ละบท ก็ย่อมประกอบด้วยธรรมคุณ

ประกอบด้วยธรรมปฏิบัติ มีสติปัฏฐานเป็นต้นรวมอยู่ด้วยทุกข้อทุกบท

วันนี้จะได้แสดงพระพุทธคุณบทว่า อนุตโรปุริสทัมสารถิ

คำว่า อนุตโร แปลว่าไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าคือยอดเยี่ยม

ปุริสทัมสารถิ แปลว่าเป็นสารถีฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก

 

ทั้งสองบทนี้โดยปรกติประกอบเป็นพระพุทธคุณบทเดียวกัน

แต่ก็อาจอธิบายแยกเป็นสองบทได้ คืออนุตโรบทหนึ่ง ปุริสทัมสารถิบทหนึ่ง

และอาจอธิบายรวมกันเป็นบทเดียวได้ ว่าเป็นสารถีฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก

ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า คือยอดเยี่ยม จะได้แสดง ...

พระพุทธคุณบทว่าอนุตโร

 

( เริ่ม ๘๔/๑ ) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชื่อว่าอนุตโร ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า คือยอดเยี่ยม

ตั้งแต่ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ดังที่ได้ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนาซึ่งมีความว่า

เมื่อใดญาณคือความหยั่งรู้ ที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

บริสุทธิ์บริบูรณ์แก่พระองค์ เมื่อนั้นพระองค์จึงทรงปฏิญญาว่า

พระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ คือความตรัสรู้โดยชอบ เป็นอนุตระ

ไม่มีความตรัสรู้อื่นยิ่งไปกว่า คือยอดเยี่ยม ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น จึงมักเรียกกันว่าอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ญาณคือความตรัสรู้ที่เป็นอนุตระ

ยอดเยี่ยมดังกล่าว และกล่าวว่าตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ดั่งนี้

จะต้องเป็นอนุตระคือไม่มีญาณอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า จึงจะเป็นความตรัสรู้จบ เป็นความตรัสรู้สูงสุด

ถ้ายังไม่เป็นอนุตระ ความตรัสรู้นั้นก็ยังจะต้องมียิ่งๆขึ้นไปอีก คือยังไม่ถึงที่สุด

 

ดังจะพึงเห็นได้ที่ตรัสที่แสดงไว้ถึงความตรัสรู้ของพระองค์ในราตรีที่ตรัสรู้นั้น

ในปฐมยามแห่งราตรีทรงได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ

ญาณคือความระลึกรู้ขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ คือระลึกชาติได้

แม้พระญาณนี้ก็ยังไม่เป็นอนุตระ เพราะยังจะต้องตรัสรู้ต่อยิ่งขึ้นไปอีก

ในมัชฌิมยามแห่งราตรี ทรงได้จุตูปปาตญาณ คือความรู้ในจุติคือความเคลื่อน

อุปบัติคือเข้าถึงชาติภพนั้นๆของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม

แม้ความตรัสรู้นี้ก็ยังไม่เป็นอนุตระ เพราะยังจะต้องตรัสรู้ยิ่งๆขึ้นไปอีก

ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ทรงได้อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะทั้งหลาย

คือได้ตรัสรู้ในอริยสัจจ์ ๔ วนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดั่งที่ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนา

จึงเป็นอันว่าทรงได้ความตรัสรู้ที่เป็นอนุตระ ไม่มีความตรัสรู้อื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า

เป็นยอดเยี่ยม เป็นที่สุด คือเป็นอันว่ารู้จบ

เพราะฉะนั้น จึงทรงได้พระนามว่าอนุตโร ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่าในความตรัสรู้

เพราะไม่มีความรู้อื่นใดทั้งสิ้น จะยิ่งไปกว่าความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

อันเป็นเหตุทำอาสวะกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไป

เป็นความรู้จบ เสร็จกิจที่จะพึงทำ เพื่อที่จะแสวงหาความรู้ที่ยิ่งขึ้นไปอีก

และเพราะเหตุนี้จึงทรงได้พระนามว่าอนุตโรในความตรัสรู้

และเมื่อได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนา ก็ได้ทรงเป็นพระศาสดาเอกในโลก

เพราะเหตุที่ได้ทรงบำเพ็ญอรรถะจริยา คือความประพฤติประโยชน์แก่โลกก็ดี

แก่พระญาติก็ดี และโดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี เป็นอย่างยอดเยี่ยม

ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่าในด้านทรงบำเพ็ญประโยชน์

 

และทั้งนี้ก็ควรจะย้อนกลับมาอีกว่า พระองค์ทรงประกอบด้วยพระคุณทั้งปวง

เป็นต้นว่า ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติคือความหลุดพ้น

และวิมุติญาณทัสสนะความรู้ความเห็นในความหลุดพ้นเป็นอย่างยอดเยี่ยม

คือสมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่มีที่จะยิ่งขึ้นไปกว่าอีก

ก็คือศีลก็บริบูรณ์ สมาธิปัญญาวิมุติ วิมุติญาณทัสสนะก็บริบูรณ์ทั้งหมด

หรือจะแสดงยกเอาโพธิปักขิยธรรมมาเป็นที่ตั้ง ก็ทรงประกอบด้วยสติปัฏฐานทั้ง ๔

อิทธิบาททั้ง ๔ สัมปชานะทั้ง ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘

อย่างยอดเยี่ยม อันหมายความว่าบริสุทธิ์บริบูรณ์ทุกข้อทุกบท ไม่มีที่จะต้องทรงปฏิบัติแก้ไข

หรือเพิ่มเติมให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก เพราะว่าได้บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ในพระองค์แล้วทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นอนุตโร ในด้านที่ทรงประกอบด้วยธรรมะทั้งหลาย

บริสุทธิ์บริบูรณ์ทั้งหมด

 

และเมื่อจะกล่าวโดยพระคุณดังที่แสดงมาเฉพาะบทๆก็ดี

หรือว่ารวมเข้าเป็นพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ

พระคุณทั้ง ๓ ที่สรุปเข้ามานี้ ก็มีบริสุทธิ์บริบูรณ์ในพระองค์

ปัญญาก็เป็นอนุตระ คือไม่มีปัญญาความรู้อื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า

ความบริสุทธิ์ก็เป็นอนุตระ คือไม่มีความบริสุทธิ์อื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า

พระกรุณาก็เป็นอนุตระ คือไม่มีพระกรุณาอื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า

เพราะว่าได้ทรงมีพระปัญญาคือความตรัสรู้ถึงที่สุดแล้ว ความบริสุทธิ์ก็ถึงที่สุดแล้ว

พระกรุณาก็ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีที่จะต้องขวนขวายยิ่งขึ้นไปกว่า

เพราะฉะนั้นจึงทรงได้พระนามว่าอนุตโร คือเป็นผู้ที่ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่าโดยพระคุณ

ไม่มีพระคุณอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า ซึ่งจะต้องทรงปฏิบัติแก้ไขเพิ่มเติมยิ่งๆขึ้นไป

 

พระพุทธคุณบทว่าปุริสทัมสารถิ

 

แม้จะยกขึ้นกล่าวจำเพาะข้อที่คู่กัน คือปุริสทัมสารถิ ผู้ฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก

ก็ทรงฝึกได้เป็นอนุตระคือไม่มีผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ฝึก จะฝึกได้ยิ่งไปกว่าพระองค์

เมื่อกล่าวโดยสรุป ก็เพราะพระองค์ทรงฝึกได้ให้บรรลุถึงประโยชน์ทั้ง ๓

คือทิฏฐธรรมิกัตถะประโยชน์ปัจจุบัน สัมปรายิกัตถะประโยชน์ภายหน้า

และปรมัตถะประโยชน์อย่างยิ่ง คือมรรคผลนิพพาน

 

จึงไม่มีผู้ใดที่จะฝึกบุคคลที่ควรฝึกได้เหมือนอย่างพระองค์

เพราะไม่สามารถจะฝึกให้บรรลุถึงประโยชน์ได้ครบทั้ง ๓ ได้

ฝึกได้ให้บรรลุถึงประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง กันเท่านั้น

แต่ที่จะให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพานนั้นหาได้ไม่

พระองค์ทรงฝึกได้ และทรงฝึกได้เป็นพิเศษยิ่งไปกว่าพระสาวกทั้งหลาย

แม้ว่าพระสาวกผู้เป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยวิชชา ๓ อภิญญา ๖ ก็ตาม

แต่ก็มิได้สามารถจะฝึกคนที่ควรฝึกได้เหมือนพระองค์ เท่าเทียมพระองค์

 

แม้จะทรงสรรเสริญท่านพระสารีบุตร ซึ่งทรงยกย่องเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา

ผู้เลิศด้วยปัญญา อาจจะแสดงธรรมจักรได้เช่นที่พระองค์ได้ทรงแสดง

แต่ท่านพระสารีบุตรก็แสดงได้โดยแสดงตามพระองค์

แต่ท่านสามารถที่จะอธิบายขยายความได้อย่างกว้างขวางเท่านั้น

เพราะฉะนั้น แม้ท่านพระสารีบุตรเองก็ยังได้กล่าวแสดงไว้ ดังที่ปรากฏในบางพระสูตรว่า

มิได้ทรง ท่านมิได้รู้ถึงหยั่งถึงพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า

เมื่อท่านแสดงสรรเสริญพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า

ท่านก็แสดงไปตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงมาแล้ว

เช่นแสดงตามหลักปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

ที่พระพุทธเข้าได้ทรงแสดงแล้ว ขยายให้พิสดารออกไป

และก็แสดงได้ตามหลักของโพธิปักขิยธรรมเป็นต้น ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงแล้ว

และท่านก็หยั่งไปตามธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแล้วนั้น

เพราะพระพุทธเจ้าได้เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงรู้ทรงเห็นทั้งหมดแล้ว

แต่ไม่สามารถที่จะรู้ยิ่งขึ้นไปกว่า

เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงได้ชื่อว่าเป็นอนุตโร ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า

แม้ในด้านเป็นครูฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก

 

จึงมาถึงข้อปุริสทัมสารถิ ทรงฝึกเหมือนอย่างเป็นสารถีฝึกม้า

ทรงฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก ซึ่งตามศัพท์นั้นใช้ว่าปุริสทัมมะ แปลว่าบุรุษที่ควรฝึก

แต่คำนี้ก็หมายถึงสตรีด้วย เป็นแต่เพียงยกบุรุษขึ้นมาเป็นประธาน

เพราะว่าเป็นคำที่เนื่องมาจากคำว่าสารถี คำว่าสารถีนี้หมายถึงผู้ฝึกช้างฝึกม้าฝึกโค

และก็หมายถึงผู้ที่มีหน้าที่ขับรถขับม้า ขับรถขับเกวียนด้วย

เพราะผู้ที่ขับรถเทียมม้าก็จะต้องบังคับม้าได้

และผู้ที่จะบังคับม้าได้นั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่ฝึกม้าได้ จึงจะรู้วิธีที่จะบังคับม้าได้

 

ฉะนั้น เมื่อมาใช้คำนี้ ถึงท่านผู้มีหน้าที่ฝึกคน จึงใช้คำว่าปุริสะคือบุรุษ

เพราะว่าช้างม้าโคที่ฝึกนั้น ส่วนใหญ่ก็ใช้โคผู้ ช้างก็ใช้ช้างพลายคือช้างผู้ ม้าก็ใช้ม้าผู้

เพราะว่าต้องการที่จะฝึกเพื่อใช้เป็นพาหนะในการออกสงครามบ้าง

ในการที่จะใช้แรงงาน เช่นเทียมรถ หรืองานอื่นๆบ้างตามต้องการ

จึงมักจะใช้ฝึกช้างผู้ม้าผู้โคผู้

เมื่อมาใช้คำว่าสารถีถึงผู้ฝึกบุคคล จึงใช้คำว่าปุริสทัมมะบุรุษที่ควรฝึก

เพื่อให้เข้าเรื่องกันกับสารถีที่ฝึกช้างฝึกม้าดังกล่าวนั้น

แต่ก็มีความหมายคลุมถึงทั้งบุรุษทั้งสตรีซึ่งเป็นมนุษย์

และก็หมายไปถึงสัตว์เดรัจฉานที่พึงฝึกได้ด้วย

สำหรับที่พระพุทธเจ้าทรงฝึกมนุษย์ทั้งบุรุษสตรีนั้น ก็เป็นที่ประจักษ์

และที่ทรงฝึกถึงสัตว์เดรัจฉานนั้น ก็ดังเช่นที่ได้ทรงแผ่พระเมตตา ทำให้ช้างนาฬาคีรีซึ่งดุร้าย เชื่องและไม่แสดงอาการโหดร้าย สงบความโหดร้าย กลายเป็นช้างที่สงบได้เป็นต้น

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นผู้ฝึกบุรุษ คือบุคคลที่ควรฝึก

จึงหมายความว่ายังมีบุคคลที่ไม่ควรฝึก หรือที่ฝึกไม่ได้อีกพวกหนึ่ง

เพราะฉะนั้น คำนี้จึงมีความหมายถึงว่าบุคคลในโลกนี้มีอยู่ ๒ จำพวก

จำพวกหนึ่งเป็นปุริสทัมมะ คือบุคคลที่ฝึกได้

อีกจำพวกหนึ่งเป็นปุริสะอทัมมะ ที่เรียกสนธิกันว่า ปุริสาทัมมะ

ปุริสาทัมมะ บุรุษบุคคลที่ฝึกไม่ได้ หรือไม่ควรฝึก

 

พระพุทธเจ้าจึงทรงฝึกได้เฉพาะที่เป็นปุริสทัมมะ คือเป็นบุคคลที่ควรฝึกเท่านั้น

ส่วนบุคคลที่ไม่ควรฝึกนั้น ก็เป็นอันว่าไม่ทรงฝึก ดังจะพึงเห็นได้ในพุทธประวัติ

ว่าบุคคลผู้ที่มีปัญญาที่ทึบเกินไปก็ดี บุคคลที่ได้ประกอบกรรมที่เป็นอานันตริยกรรม

เช่นว่าฆ่ามารดาฆ่าบิดาเป็นต้นก็ดี ซึ่งเป็นกรรมหนัก

บุคคลที่มีทิฏฐิมานะแรงกล้า เช่นมีมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดที่ดิ่งลง

ที่เรียกว่านิยตมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดที่ดิ่งลงแก้ไม่ได้ ที่มีมานะถือตัวอย่างแรง ดั่งนี้

ก็เป็นอันว่าเป็นผู้ที่ไม่ทรงฝึก เพราะแม้จะทรงฝึกก็ไม่สำเร็จ

 

สำหรับบุคคลที่ได้มีความโง่เขลาอย่างมากก็ดี บุคคลที่ได้ประกอบกรรมหนักไว้มากก็ดี

ก็เป็นอันว่าแม้จะได้ฟังธรรมะของพระองค์ ธรรมะก็ไม่เข้าถึง

จะตรัสรู้ธรรมะได้ดวงตาเห็นธรรมในธรรมะนั้นไม่ได้ ดังเช่นพระเจ้าอชาตศัตรู

ซึ่งได้ทำปิตุฆาต พระเจ้าพิมพิสารผู้พระราชบิดา ย่อมไม่อาจที่จะได้ดวงตาเห็นธรรม

แต่ว่าเมื่อได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็ได้ความสำนึกในบาปที่ได้กระทำ

และได้กราบทูลสารภาพบาปที่ได้ทรงกระทำแก่พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าก็ทรงรับทราบ ก็ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูนั้นสบายพระทัย

และก็ถึงพระองค์เป็นสรณะได้ แต่ไม่อาจจะได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมได้

เพราะเป็นผู้ที่มีกรรมหนักกั้นเอาไว้

 

สำหรับผู้ที่มีทิฏฐิมานะ ถ้าหากว่าทิฏฐิมานะนั้นไม่ใช่เป็นนิยตะคือดิ่งลงไป

อาจจะแก้ไขได้ เมื่อละทิฏฐิมานะนั่นได้ ก็จะเป็นผู้ที่ฝึกได้

( เริ่ม ๘๔/๒ ) สำหรับผู้ที่ฝึกไม่ได้นั้น ยกตัวอย่างก็เช่นท่านอาจารย์สญชัย

ของท่านพระสารีบุตรพระโมคคัลลานะ เมื่อท่านยังเป็นปริพาชก

ก็ได้เข้าสำนักเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์สญชัย

เมื่อท่านได้พบกับพระอัสสชิ ได้ฟังเทศนาย่อของท่านพระอัสสชิ ท่านได้ดวงตาเห็นธรรม

ก็กลับไปชักชวนอาจารย์ให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน

แต่ท่านอาจารย์สญชัยไม่ยอม และได้กลับถามลูกศิษย์ทั้งสองที่มาชักชวนว่า

คนในโลกนี้ คนโง่ๆมาก หรือคนฉลาดมาก ท่านทั้งสองก็ตอบท่านอาจารย์ว่าคนโง่มาก

ท่านอาจารย์สญชัยจึงได้กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้คนฉลาดไปหาพระสมณะโคดม

ส่วนคนโง่นั้นให้มาหาเรา และก็ได้กล่าวว่าท่านเป็นอาจารย์ใหญ่

เหมือนเป็นจรเข้ใหญ่อยู่ในน้ำ จะเอาจรเข้ใหญ่ไปใส่ตุ่มเล็กๆไว้นั้นไม่ได้

ดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าท่านมีทิฏฐิมานะแรงกล้า ไม่ยอมที่จะรับเทศนาของพระพุทธเจ้า

จึงเป็นอันว่าฝึกไม่ได้

 

ส่วนท่านปุราณชฎิล คือท่านชฎิลสามพี่น้อง

ที่มีบริวารรวมกันเข้าเป็นจำนวนมาก ที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงฝึก

ในทีแรกท่านชฎิลผู้เป็นพี่ใหญ่นั้น ก็ได้สำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์

ไม่ยอมรับที่จะฟังเทศนาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ

เมื่อทรงแสดงไปครั้งหนึ่งๆ ท่านชฎิลผู้เป็นพี่ใหญ่นั้นก็นึกชมอยู่ในใจ

ว่าพระพุทธเจ้าเก่งสามารถ แต่ว่าถึงเช่นนั้นก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา

ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงอีก ท่านก็คงคิดอย่างนั้น

ท่านชม แต่ท่านก็ว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา

ในที่สุดเมื่อพระพุทธเจ้าได้แสดง ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์หลายอย่างหลายประการ

ในที่สุดท่านก็ยอมว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เลิศ แต่ท่านเองนั้นยังไม่ได้ไม่ถึงเหมือนพระพุทธเจ้า

ก็เป็นอันว่าท่านลดทิฏฐิมานะลงได้ ยอมรับฟังคำสั่งสอนของพระองค์

เมื่อจิตใจของท่านอ่อนลงมา ยินยอมที่จะฟังคำสั่งสอนของพระองค์ดั่งนี้

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงธรรมะโปรดเป็นเทศนาครั้งที่ ๓

 

แม้ในเทศนาครั้งแรกที่พระองค์ทรงแสดงแก่ท่านฤษีทั้ง ๕ ที่เรียกว่าพระเบ็ญจวัคคีย์

ท่านทั้ง ๕ นั้นทีแรกก็ไม่ยอมที่จะรับว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เหมือนกัน

แต่เมื่อพระองค์ได้ทรงแสดงว่าเมื่อก่อนแต่นี้พระองค์ได้เคยตรัสแก่ท่านทั้ง ๕ นี้

ว่าเราได้ตรัสรู้ ได้มาที่จะแสดงอมตธรรมแก่ท่านทั้ง ๕ พระองค์ได้เคยตรัสอย่างนี้หรือไม่

ท่านทั้ง ๕ จึงระลึกได้ว่า พระองค์ไม่เคยตรัสอย่างนี้

เมื่อเป็นดั่งนี้ท่านทั้ง ๕ นั้นจึงมีใจที่อ่อนลง เป็นอันว่าได้คลายทิฏฐิมานะ

พร้อมที่จะฟังธรรมเทศนา พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรด

 

เพราะฉะนั้น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงแสดงธรรมเทศนาทุกคราวนั้น

ก็จะต้องทรงทราบถึงอุปนิสัยอินทรีย์เป็นต้น ของผู้ที่จะรับธรรมเทศนาก่อน ว่าเป็นเช่นไร

ถ้ายังมีทิฏฐิมานะอยู่ พระองค์ก็ยังไม่ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรด

ถ้าจะเป็นบุคคลที่อาจฝึกได้ พระองค์ก็จะแสดงที่เรียกว่าเป็นอิทธิปาฏิหาริย์

ปาฏิหาริย์ที่เป็นฤทธิ์บ้าง และอาเทสนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือความที่ดับใจ

คืออ่านใจได้ และก็ได้ตรัสดับใจอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง

จนเขาคลายทิฏฐิมานะ หรือคลายความคิดเห็นในทางที่ผิด

แล้วจึงจะทรงแสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือทรงพร่ำสอน

เพราะฉะนั้น ทุกๆคราวที่ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน จะต้องทรงตรวจอุปนิสัย

ตรวจวาสนาบารมี ตรวจอินทรีย์ของผู้ฟังเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร

และจะต้องทรงดัดทิฏฐิมานะของผู้ฟังลงก่อน ให้พร้อมที่จะฟัง แล้วจึงทรงแสดงธรรม

และธรรมะที่ทรงแสดงนั้นก็ต้องเหมาะแก่พื้นอัธยาศัย อินทรีย์ของผู้ฟังด้วย

ผู้ที่มีอินทรีย์อ่อนก็ต้องทรงอบรมด้วยธรรมะที่เป็นเบื้องต้นให้ปฏิบัติ

จนมีอินทรีย์แก่กล้าขึ้นมา พอสมควรแก่ธรรมะชั้นไหนก็ทรงแสดงธรรมะชั้นนั้นสั่งสอน

เมื่อเป็นดั่งนี้ผู้ฟังทั้งหลายจึงได้รับประโยชน์ ตามสมควรแก่ภูมิชั้นของตน

อันเรียกว่าปุริสทัมมะเป็นบุคคลที่ฝึกได้ และก็ทรงทำให้เขาเป็นบุคคลที่ฝึกได้ด้วย

ในเมื่อเขานั้นเป็นผู้ที่สามารถจะละทิฏฐิมานะ สามารถที่จะอบรมพื้นภูมิของตน

ให้สูงขึ้นๆตามที่ทรงแนะนำไปโดยลำดับ

 

เพราะฉะนั้น มิใช่ว่าบุคคลทุกๆคนนั้นจะเป็นบุคคลที่ฝึกได้ทีเดียว

ทีแรกก็อาจจะเป็นบุคคลที่ฝึกไม่ได้ แต่ว่าสามารถที่จะฝึกได้ ก็ทรงฝึกไปก่อนตามขั้นตอน

ตลอดจนถึงทรงสั่งสอนเพื่อที่จะให้เข้าถึงธรรมะไปตามควรแก่ภูมิชั้น

ทั้งนี้ก็เพราะทรงประกอบด้วยพระญาณต่างๆ ดังเช่นทศพลญาณ

พระญาณที่มีกำลังเก้า ที่มีกำลังสิบ

เพราะฉะนั้น จึงเรียกพระพุทธองค์ว่าพระทศพล และยังทรงประกอบด้วยพระญาณอื่นๆ

จึงทำให้สามารถทรงประกาศพระพุทธศาสนา ตั้งพุทธบริษัทได้สำเร็จ

เพราะฉะนั้นจึงทรงได้พระนามว่าเป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

พระพุทธคุณบทว่าอนุตโรปุริสทัมสารถิ (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

ปุริสทัมะ ๔ จำพวก ๒

ธรรมะย่อมทวนกระแสโลก ๓

เวเนยยะ ๔

วิธีที่ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษบุคคล ๕

บุรุษอาชาไนย ๔ จำพวก ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๘๔/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๘๕/๑ ( File Tape 66 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่าอนุตโรปุริสทัมสารถิ (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าอนุตโรปุริสทัมสารถิ

เป็นสารถีฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า ต่ออีกวันหนึ่ง

บุคคลในโลกนี้แบ่งได้เป็น ๒ คือเป็นบุคคลที่ควรฝึก หรือฝึกได้จำพวกหนึ่ง

บุคคลที่ไม่ควรฝึก หรือฝึกไม่ได้อีกจำพวกหนึ่ง

เรียกตามศัพท์จำพวกแรกก็เรียกว่า ปุริสทัมมะ จำพวกสองก็เรียกว่า ปุริสอทัมมะ

 

ปุริสทัมะ ๔ จำพวก

 

และเมื่อจะเทียบกับบุคคลที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ ๔ จำพวก

คือ ๑ อุคคติตัญญู บุคคลผู้รู้เร็ว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เพียงยกหัวข้อขึ้นก็รู้ตามได้

วิปจิตัญญู บุคคลที่รู้ช้าเข้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนยกหัวข้อธรรมะขึ้น

เมื่อทรงอธิบายจึงจะเข้าใจ จึงจะรู้ตามได้

บุคคลจำพวกที่ ๓ เนยยะ พึงแนะนำได้ คือรู้ช้ากว่าจำพวกที่ ๑ และจำพวกที่ ๒

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงยกหัวข้อธรรมะขึ้นทรงแสดงอธิบาย ครั้งหนึ่งก็ยังไม่เข้าใจ

ต้องทรงพร่ำสอนหลายหนบ่อยๆจึงจะเข้าใจได้ จึงจะรู้ตามได้

บุคคลจำพวกที่ ๔ ปทปรมะ แปลว่ามีบทอย่างยิ่ง อันหมายความว่าเป็นผู้ที่โง่ทึบอย่างยิ่ง

ไม่อาจจะที่จะเข้าใจธรรมะที่ทรงแสดงได้

 

ธรรมะย่อมทวนกระแสโลก

 

พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้วใหม่ๆก็มีแสดงว่า

ในชั้นแรกทรงน้อมพระทัยไปเพื่อจะไม่แสดงธรรมสั่งสอน

เพราะทรงเห็นว่าธรรมะที่ได้ตรัสรู้ เป็นธรรมะที่ลุ่มลึก ที่ละเอียด

และเป็นธรรมะที่ทวนกระแสโลก คือทวนกระแสกิเลส

โลกหรือสัตวโลกนั้นมีจิตใจน้อมไปตามกิเลส ตามกระแสกิเลส ตามกระแสโลก

มีความติดใจ มีความเพลิดเพลินอยู่กับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

และในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งตัณหาทั้งหลาย เป็นกระแสกิเลสที่พัดจิตใจสัตวโลกให้ไหลไป

ส่วนธรรมะที่ได้ตรัสรู้ และจะทรงแสดงสั่งสอน ก็กล่าวได้ว่าเป็นกระแสเหมือนกัน

แต่กระแสธรรมซึ่งทวนกับกระแสโลก เพราะสอนให้ละตัณหา ละความติดใจ

ความเพลิดเพลินอยู่กับตัณหา และอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งตัณหาทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อที่จะเป็นผู้ขวนขวายน้อย ไม่ทรงแสดงธรรมสั่งสอน

 

แต่อาศัยพระกรุณาที่แผ่ไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า

อันท่านแสดงว่าท้าวสหัมบดีพรหมมากราบทูลอาราธนา

ด้วยแสดงว่าสัตวโลกที่มีกิเลสธุลีในจักษุคือดวงตาใจน้อยก็มีอยู่

สัตวโลกจำพวกนี้อาจที่จะรู้ตามธรรมะที่ทรงสั่งสอนได้ จึงขอให้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

จึงได้มีบทผูกเป็นภาษาบาลีใช้อาราธนาพระสงฆ์เมื่อเวลาแสดงธรรม

ว่า พรหมมา จะ โลกาธิปตี สหัมปติ เป็นต้น ซึ่งท่านก็ถอดใจความเอาได้อย่างหนึ่งว่า

ก็คือพระมหากรุณาที่บังเกิดขึ้นในพระทัยของพระองค์ จึงได้ทรงพิจารณาดูสัตวโลก

ก็เห็นว่ามีอยู่ ๔ จำพวก ดังที่ได้กล่าวนั้น ซึ่งเปรียบได้กับดอกบัว ๔ เหล่า

ดอกบัว ๔ เหล่านั้น ก็คือดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำแล้ว ได้รับแสงอาทิตย์ก็จะบานขึ้นได้ทันที

ดอกบัวที่อยู่เสมอน้ำ เมื่อโผล่ขึ้นพ้นน้ำในวันต่อไป ต้องแสงอาทิตย์ก็จะบานขึ้นได้

ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำต่ำลงไป วันต่อๆไปก็จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ต้องแสงอาทิตย์ก็บานได้

กับดอกบัวที่อยู่ก้นสระ ก้นบ่อก้นน้ำ ซึ่งจะต้องเป็นอาหารของเต่าปลา

ไม่มีโอกาสที่จะโผล่ขึ้นมาบานได้

 

บุคคลผู้เป็นอุคคติตัญญูรู้เร็ว

ก็เหมือนอย่างดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำแล้ว ต้องแสงอาทิตย์ก็จะบานทันที

บุคคลจำพวกที่เป็นวิปจิตัญญู ก็เหมือนอย่างดอกบัวที่อยู่เสมอน้ำ

เมื่อโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำต้องแสงอาทิตย์ก็จะบานได้

บุคคลที่เป็นเนยยะที่พึงแนะนำได้ พร่ำสอนได้ คือต้องสอนบ่อยๆ ต้องพร่ำสอน

ก็เหมือนดังดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลงไป วันต่อๆมาโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำก็บานได้

ส่วนบุคคลที่เป็นปทปรมะ ที่ทึบอย่างยิ่ง มีบทอย่างยิ่ง เหมือนดอกบัวที่อยู่ก้นสระ

ไม่มีโอกาสที่จะโผล่ขึ้นมาบาน เป็นอาหารของปลาเต่าต่อไป

 

เวเนยยะ

 

บุคคล ๓ จำพวกข้างต้น คือที่เป็นอุคคติตัญญูรู้เร็ว ที่เป็นวิปจิตัญญูรู้ช้ากว่า

และบุคคลที่เป็นเนยยะต้องพร่ำสอนจึงรู้ ๓ จำพวกนี้รวมเข้าว่าเป็น เวเนยยะ

หรือเทียบเป็นภาษาไทยว่าเวไนย เวไนยสัตว์ คือเป็นสัตวโลกที่พึงแนะนำสั่งสอนได้

พระพุทธเจ้าทรงแผ่พระเมตตาไปในสัตวโลกทุกถ้วนหน้า และเสด็จไปทรงแสดงธรรมะ

สั่งสอนจำพวกที่เป็นเวไนยยะ ที่เรียกว่าเวไนยนิกร หมู่ชนที่พึงแนะนำได้

และจำพวกนี้นี่แหละที่เป็นปุริสทัมมะ บุรุษบุคคลที่พึงแนะนำได้

คำว่าเวไนยยะ กับคำว่าปุริสทัมมะ ก็มีอรรถะคือเนื้อความเป็นอย่างเดียวกัน

 

วิธีที่ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษบุคคล

 

วิธีที่ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึกอย่างไรนั้น ได้มีแสดงไว้ในเกสีสูตร

ที่มีความย่อว่า นายสารถีฝึกม้าผู้หนึ่งชื่อว่าเกสีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ได้ตรัสถามสารถีฝึกม้าผู้นี้ว่าได้ฝึกม้าอย่างไร

สารถีฝึกม้าเกสีก็ได้กราบทูลว่าตนได้ฝึกม้าด้วยวิธีฝึกอย่างละเอียดบ้าง

ด้วยวิธีฝึกอย่างหยาบบ้าง ด้วยวิธีฝึกทั้งอย่างละเอียดทั้งอย่างหยาบบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า เมื่อนายเกสีฝึกม้าด้วยวิธีทั้ง ๓ ดังกล่าวแล้ว

แต่ฝึกไม่ได้จะทำอย่างไร นายเกสีก็กราบทูลว่าก็ฆ่าม้านั้นเสีย

เพราะว่าถ้าเอาไว้ ความตำหนิติเตียนก็จะบังเกิดขึ้นแก่อาจารย์ฝึกม้า

ครั้นนายเกสีได้กราบทูลดั่งนี้แล้ว จึงได้กราบทูลถามว่าพระพุทธองค์

ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษบุคคลอย่างไร จึงได้มีพระคุณฟุ้งขจรไปว่าทรงเป็นสารถี

ฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า หรือไม่มีที่จะยิ่งขึ้นไปกว่า

 

พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า แม้พระองค์เองก็ทรงฝึกบุรุษบุคคล

ด้วยวิธีฝึกที่ละเอียดบ้าง ด้วยวิธีฝึกที่หยาบบ้าง ด้วยวิธีฝึกที่ทั้งละเอียดและทั้งหยาบบ้าง

และก็ได้ตรัสอธิบายต่อไปว่า ทรงฝึกด้วยวิธีฝึกอย่างละเอียดนั้น

คือทรงแสดงว่ากายสุจริตเป็นอย่างนี้ วจีสุจริตเป็นอย่างนี้ มโนสุจริตเป็นอย่างนี้

วิบากผลของกายสุจริตเป็นอย่างนี้ ของวจีสุจริตเป็นอย่างนี้ ของมโนสุจริตเป็นอย่างนี้

เทพเป็นอย่างนี้ มนุษย์เป็นอย่างนี้

 

ทรงฝึกด้วยวิธีฝึกอย่างหยาบนั้น ก็คือทรงฝึกด้วยทรงแสดงสั่งสอนว่า

กายทุจริตเป็นอย่างนี้ วจีทุจริตเป็นอย่างนี้ มโนทุจริตเป็นอย่างนี้

วิบากผลของกายทุจริตเป็นอย่างนี้ ของ ... (เริ่ม ๘๕/๑) วิสัยของเปรตเป็นอย่างนี้

ทรงฝึกด้วยวิธีฝึกที่เป็นทั้งอย่างละเอียดทั้งอย่างหยาบนั้น

ก็คือทรงฝึกด้วยวิธีทรงแสดงทั้งสองนั้นรวมกัน

คือทั้งฝ่ายสุจริต ทั้งฝ่ายทุจริต พร้อมทั้งผล

 

นายเกสีได้กราบทูลถามต่อไปว่า

ถ้าทรงฝึกไม่ได้จะทรงทำอย่างไร พระองค์ก็ตรัสตอบว่าก็ทรงฆ่าเสีย

นายเกสีจึงกราบทูลว่า ปาณาติบาตนั้นไม่ควรแก่พระองค์มิใช่หรือ

พระพุทธองค์ก็ทรงรับว่าจริงปาณาติบาตนั้นไม่ควรแก่พระองค์

แต่ว่าวิธีฆ่าของพระองค์นั้นก็คือว่า พระองค์ไม่ทรงสำคัญบุคคลนั้นว่าจะพึงทรงกล่าว

จะพึงทรงอนุสาสน์พร่ำสอน และสพรหมจารีทั้งหลาย ก็ไม่สำคัญบุคคลนั้น

ว่าเป็นผู้ที่จะพึงว่ากล่าว จะเป็นผู้ที่พึงอนุสาสน์สั่งสอน

นี้เป็นวิธีฆ่าอย่างแรงในอริยะวินัยนี้ ดั่งนี้

 

นี้เป็นวิธีฝึกที่ได้ตรัสสอนไว้ และตรัสแสดงไว้

และยังได้ตรัสแสดงต่อไปว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นบุคคลที่เป็นเวเนยยะคือที่พึงแนะนำได้

หรือเป็นปุริสทัมมะคือว่าควรฝึกได้ แต่ก็ยังมีต่างกันเป็น ๔ จำพวก

เปรียบเหมือนอย่างม้าอาชาไนย คือม้าที่ฉลาดฝึกได้ ซึ่งเรียกว่าเป็นม้าที่ดี

ใช้คำว่าภัทระแปลว่าเจริญหรือแปลว่าดี ก็มี ๔ จำพวก

 

จำพวกที่ ๑ นั้นพอได้เห็นเงาของปฏักของนายสารถีผู้ฝึก ก็รู้สำนึก

ถึงความรู้สำนึกขึ้นได้ทันที ว่านายสารถีฝึกผู้นี้จักให้เรากระทำการอะไรหนอ

เราจักกระทำตอบแก่นายสารถีผู้ฝึกนี้อย่างไรหนอ

ม้าอาชาไนยคือม้าที่ฉลาดที่ดีจำพวกที่ ๒ เมื่อเห็นเงาของปฏักก็ยังเฉย

ต่อเมื่อปฏักนั้นได้มาทิ่มถูกเข้าที่ขน จึงได้เกิดความสำนึกขึ้นดังกล่าว

ม้าอาชาไนยม้าฉลาดที่ดีจำพวกที่ ๓ ได้เห็นเงาของปฏักก็ยังเฉย ถูกปฏักเข้าที่ขนก็ยังเฉย

ต่อเมื่อปฏักนั้นแทรกขนเข้าไปถึงหนัง จึงได้เกิดความสำนึกขึ้นดังกล่าว

ม้าอาชาไนยม้าฉลาดที่ดีจำพวกที่ ๔ นั้น เห็นเงาของปฏักก็เฉย

ปฏักทิ่มเข้าที่ขนก็ยังเฉย ปฏักแทรกเข้าไปถึงหนังก็ยังเฉย

ต่อเมื่อปฏักแทรกเนื้อเข้าไปถึงกระดูก จึงรู้สึกขึ้นรับการฝึกดังกล่าวนั้น

 

บุรุษอาชาไนย ๔ จำพวก

 

แม้บุรุษอาชาไนย คือบุรุษผู้ฉลาดที่ดี ก็มี ๔ จำพวกเหมือนกัน

จำพวกที่ ๑ นั้น ได้ยินว่าได้มีชายหรือหญิงในหมู่บ้านโน้นถึงความทุกข์

ทำกาละกิริยาคือตาย ก็สังเวช ได้สังเวชคือความสำนึก

และเมื่อได้สังเวชคือความสำนึก ก็ตั้งความเพียรโดยแยบคาย

เมื่อตั้งความเพียรปฏิบัติโดยแยบคาย ก็กระทำให้แจ้ง ปรมะสัจจะ คือสัจจะอย่างยิ่ง

ด้วยกาย คือด้วยนามกาย ย่อมเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา

ก็เทียบได้กับม้าอาชาไนยม้าฉลาดที่ดีจำพวกที่ ๑ พอได้เห็นเงาปฏัก

ก็เกิดความสำนึกรับการฝึกทันที

 

จำพวกที่ ๒ บุรุษอาชาไนยคือบุคคลที่ฉลาดที่ดี

เมื่อได้ยินได้ฟังว่าได้มีชายหรือหญิงถึงความทุกข์ ทำกาละคือตายในบ้านโน้นก็ยังเฉย

ต่อเมื่อได้เห็นชายหรือหญิงถึงความทุกข์ทำกาละตายด้วยตา จึงสังเวช

ถึงความสังเวชคือสำนึกรู้ สำนึกรู้แล้วก็ตั้งความเพียรโดยแยบคาย

ตั้งความเพียรโดยแยบคายแล้ว ก็ทำให้แจ้งสัจจะอย่างยิ่งด้วยนามกาย

เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ก็เทียบได้กับม้าอาชาไนยม้าฉลาดที่ดีจำพวกที่ ๒

ซึ่งเมื่อเห็นเงาปฏักก็ยังเฉย ต่อเมื่อปฏักมาทิ่มเข้าที่ขนจึงได้ความสำนึกรู้รับการฝึก

 

บุรุษอาชาไนย บุรุษผู้ฉลาดที่ดีจำพวกที่ ๓ นั้น ได้ฟังและได้เห็นชายหรือหญิงที่ตายก็ยังเฉย

ต่อเมื่อได้มีญาติสาโลหิตมิตรสหายถึงความทุกข์ทำกาละกิริยาคือตาย จึงสังเวช

ถึงความสังเวชสำนึกรู้ สังเวชแล้วก็ตั้งความเพียรโดยแยบคาย

ตั้งความเพียรแล้วก็ทำให้แจ้งสัจจะอย่างยิ่งด้วยนามกาย

เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา

 

บุรุษอาชาไนย คือบุรุษผู้ฉลาดที่ดีจำพวกที่ ๔ นั้น ได้ยินได้เห็นชายหรือหญิงถึงความทุกข์

ทำกาละคือตาย หรือได้มีญาติสาโลหิตมิตรสหายตาย ก็ยังเฉย

ต่อเมื่อตนเองเกิดทุกข์ขึ้น ได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าจนถึงให้ตายได้

จึงได้ความสังเวชสำนึกรู้ และเมื่อสังเวชก็ตั้งความเพียรโดยแยบคาย

ตั้งความเพียรแล้วก็กระทำให้แจ้งสัจจะอย่างยิ่งด้วยนามกาย

เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญาได้

 

ดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าแม้ที่เรียกว่าเป็นบุรุษอาชาไนยคือคนฉลาดที่ดี ก็คือที่เป็นปุริสทัมมะ

ที่เป็นเวเนยยะดังกล่าวแล้ว ก็ยังแตกต่างกันไป ๔ จำพวกดั่งนี้

ก็เหมือนอย่างที่เป็นม้าอาชาไนย คือม้าฉลาดที่ดีก็มี ๔ จำพวกเช่นเดียวกัน

อย่างที่ดีอย่างยิ่งนั้นพอเห็นเงาปฏักก็รับฝึกแล้ว

อย่างสุดท้ายคือที่ ๔ นั้นต้องปฏักทิ่มเข้าไปถึงกระดูกจึงรับฝึก

 

บุรุษแม้ที่เป็นบุรุษอาชาไนยคนฉลาดที่ดีก็เหมือนกัน ที่เป็นอย่างไว

แม้ได้ยินว่าได้มีชายหญิงตายในบ้านโน้นก็ได้สังเวช ก็ตั้งความเพียร

ก็กระทำให้แจ้ง ปรมะสัจจะ สัจจะอย่างยิ่งด้วยนามกาย เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญาได้

จนถึงทุกข์นั้นมาถึงแก่ตนเอง ตนเองต้องทุกข์อย่างยิ่ง จนถึงใกล้จะตาย

หรือเกือบตายนั่นแหละ จึงจะได้สังเวช ตั้งความเพียร

ทำให้แจ้งปรมะสัจจะด้วยนามกาย เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญาได้ ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น แม้เป็นบุคคลที่ควรฝึกได้ จนถึงที่เรียกว่าเป็นบุรุษอาชาไนย

เป็นคนฉลาดเป็นคนดี ก็ยังมีแตกต่างกันดั่งนี้ และก็ดังที่ได้มีจำแนกไว้อีกนัยหนึ่ง

ดังกล่าวมาข้างต้น คือเป็นอุคคติตัญญู วิปจิตัญญู และเป็นเนยยะ

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายซึ่งได้มาศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติพระพุทธศาสนา

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็นับว่าเป็นผู้ที่ได้มีกุศลที่ได้ทำมาแล้วในอดีต

และกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ก็พึงกระทำตนให้เป็นปุริสทัมมะ ให้เป็นเวเนยยะ

ให้เป็นบุรุษอาชาไนยที่ดีของพระพุทธเจ้า

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats