ปฐมเหตุโลกและชีวิต 1

โดย อ. เสถียร โพธินันทะ

จัดพิมพ์โดย มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย

โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 003424 โดยคุณ : pug - [15 ก.ย. 44 13:19:34]

คำนำ

ท่านอาจารย์เสถียร โพธินันทะ เป็นปราชญ์ท่านหนึ่งในวงการพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนิกชนและผู้สนใจหลักคำสอนในพระพุทธศาสนารู้จักกว้างขวาง เพราะเป็นผู้เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจนได้รับสมญานามว่า “ ตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ “

เมื่อรัฐบาลไทยชุดจอมพลแปลกพิบูลสงคราม จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อมีพุทธศักราช 2500 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้เชิญให้อาจารย์เสถียร โพธินันทะแสดงปาฐกถาธรรมท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติชาติต่างๆ ที่เดินทางมาร่วมพิธีฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ณ. ประรำพิธีท้องสนามหลวง และเป็นมัคคุเทศก์นำชาวต่างประเทศที่มาในงานนี้เดินทางไปทัศนศึกษาโบราณสถานต่างๆ ในนามของรัฐบาลด้วย ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุเพียงยี่สิบกว่าปีเท่านั้น

ท่านเป็นอาจารย์บรรยายวิชาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ และสถาบันชั้นสูงหลายแห่ง เมื่อท่านเจ้าคุณพระอุดรคณาภิรักษ์ ( ท่านกิตติวุฑโฒ ภิกขุ ) ก่อตั้งมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยขึ้น เพื่ออบรมพระหน่วยพัฒนาทางจิต และบรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนก็ได้เชิญท่านอาจารย์ เสถียร โพธินันทะ เป็นวิทยากรประจำมูลนิธิฯ และท่านได้ร่วมงานช่วยเหลืองานของมูลนิธิอย่างดียิ่ง เพราะพุทธศาสนิกชนมีความสนใจต่อการบรรยายวิชาการในพระพุทธศาสนาของท่านอาจารย์ เสถียร อย่างกว้างขวางจนการบรรยายของท่านทุกครั้งจึงต้องบันทึกเทปไว้ทั้งหมด

ท่าน อ.เสถียร โพธินันทะ ได้ถึงแก่กรรม เมื่อ 10 ธันวาคม 2509 โดยอาการสงบด้วยการนอนหลับไม่ตื่นหลังกลับจากการบรรยายธรรม จึงเป็นที่อาลัยอาวรณ์แก่ศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั้งที่เป็นพระภิกษุสามาเณร และคนทั่วไปเป็นอย่างยิ่งต่อการสูญเสียท่านอาจารย์เสถียร ซึ่งท่านมีอายุเพียง 38 ปีเท่านั้น

ถอดเทปคำบรรยาย เรื่อง ปฐมเหตุของโลก – ชีวิต โดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ

ท่านบรรยายเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2509

 

พระคุณเจ้าทั้งหลาย ในวันนี้จะได้บรรยายถึงเรื่อง ปฐมเหตุของโลกและปฐมเหตุของชีวิต คือว่าเมื่อเราได้ทราบถึงข้อเหตุผล เกี่ยวกับ วัฏฏสงสาร และ เหตุผลกฎแห่งกรรมในหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ปัญหาที่จะติดตามมาก็ได้แก่ปัญหา วิวัฒนาการของโลก กับ วิวัฒนาการของชีวิต ว่าโลกและชีวิตนี้เป็นอย่างไร ตามทรรศนะในพระพุทธศาสนาถือว่ามีสมุฏฐานเหตุมาจากอะไร

ในประเด็นปัญหานี้เข้าในลักษณะอัพยากตะปัญหา คือ ปัญหาที่พระบรมศาสดาไม่ทรงพยากรณ์ เกี่ยวกับ ปัญหาว่าโลกหน้ามีหรือ ชีวิตดวงนี้กับดวงหน้าเป็นอันเดียวกันหรือ สรีระนี้กับสรีระหน้าเป็นสรีระอันเดียวกันหรือ

ปัญหาต่างๆทั้งหมด ในครั้งพุทธกาลนี้เคยมี พระบ้าง คฤหัสถ์บ้าง นำมาผูกเป็นปัญหาทูลถามพระพุทธองค์ อย่าง พระมาลุงกยะ ได้ตั้งปัญหากระทู้ถามพระบรมศาสดา พร้อมกับตั้งข้อแม้ว่าถ้าพระบรมศาสดาไม่เฉลยปัญหาเหล่านี้กับพระมาลุงกยะแล้ว พระมาลุงกยะก็จะทูลลาสิกขาไม่อยู่บวชในพระพุทธศาสนาต่อไป

พระพุทธองค์ได้ตรัสสอบพระมาลุงกยะ ว่าดูก่อนมาลุงกยะ การที่เธอมาบวชนี้ตถาคตเป็นผู้ขอร้องอ้อนวอนให้เธอมาบวชหรือเปล่า พระมาลุงกยะก็ทูลบอกว่าเปล่า เมื่อเปล่าแล้วเธอจะมาขอร้องบอกคืนกับใครล่ะ เราจะพยากรณ์ถึงเรื่องปัญหาโลกแตกดังที่ท่านตั้งมาถามเหล่านี้ จะพยากรณ์ก็ตาม ไม่พยากรณ์ก็ตาม ธรรมะเหล่าใดที่เราแสดงไปแล้ว อันบุรุษผู้มีความปรารถนาอย่างจริงใจรับไปปฏิบัติตามก็ย่อมทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นการจะตอบหรือไม่ตอบนั้นไม่เป็นสาระสำคัญในพรหมจรรย์ของเราเลย การที่ตัวของเธอมาพัวพันยุ่งเหยิงกับปัญหาเหล่านี้ จะหนีลักษณะฉายาของโมฆะบุรุษไปได้อย่างไร

คือพระพุทธเจ้า ถ้าหากจะตรัสประณามใครอย่างแรงที่สุดก็ตรัสใช้คำว่าโมฆะบุรุษ หมายถึงคนเปล่า เปล่าจากสาระคือ คุณธรรมและคุณสมบัติโดยประการทั้งปวง แต่ว่าในที่อื่น ๆ อนาคตสถานแห่งอื่นบางแห่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้พยากรณ์เอง โดยที่ไม่มีผู้ใดมาทูลขอ อย่างในมหาปรินิพพานสูตร ตรัสพยากรณ์คติของบรรดาอุบาสก อุบาสิกากับพระอานนท์เถรเจ้าว่า ท่านผู้นั้นอุบาสกนั้น อุบาสิกานั้นเมื่อขันธ์แตกไปแล้ว ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ชั้นนั้น ๆ พยากรณ์ไว้อย่างนี้ ตรัสกับพระอานนท์เถรเจ้าว่า เราพยากรณ์อย่างนี้ก็เพื่อที่จะเป็นเครื่องเชิดชูกำลังใจให้แก่ปฏิมาชนตาชน ที่ได้รู้ว่าผลของการปฏิบัติธรรมนั้นไม่เป็นโมฆะ ได้รับผลประโยชน์ทั้งในทิฏฐธรรม ในสัมปรายภพ จะได้เป็นกำลังใจ จะได้เป็นตัวอย่างแบบฉบับสำหรับคนชั้นต่อ ๆ ไปอย่างนี้ ทรงตรัสพยากรณ์เอง

เมื่อเราพิจารณาดูอย่างนี้แล้วประหนึ่งว่าพระบรมศาสาดานั้นทำอะไรขัดกับพระองค์โดยปริยาย ประหนึ่งเป็นอย่างนั้นแหละครับ แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น มีข้อน่าสังเกตว่า คนที่มาตั้งปัญหาเป็นอัพยากตปัญหาหรือที่เรียกกันว่าปัญหาโลกแตก ถ้าตั้งปัญหาเหล่านี้มาถามพระองค์ด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ยกตัวอย่างว่าพวกเหล่านี้มีทิฏฐิฝังอยู่ในสันดานแล้ว บางคนเป็นสัสสตทิฏฐิ บางคนเป็น อุจเฉทิฏฐิ ฝังแน่น เป็นทิฏฐิปรามาส

ทิฏฐิปรามาส นี่หมายความว่าเป็น ทิฏฐิที่แรงมาก เป็นทิฏฐิชั้นคณาจารย์ ทิฏฐิของชาวบ้านธรรมดาที่เป็น มิจฉาทิฏฐิยังไม่แรงอย่างพวกมิจฉาทิฏฐิของบุคคลชั้นคณาจารย์ มิจฉาทิฏฐิของบุคคลชั้นคณาจารย์ถึงแม้ว่ารู้ว่าผิดก็ไม่ยอมกลับทิฏฐิอันนั้น ยกตัวอย่างเช่น สัญชัยเวรัฎบุตร ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้าดี เมื่อสาวกของตัวคือ พระสารีบุตร กับ พระโมคคัลลานะ เมื่อยังเป็นปริพาชกอยู่ในสำนักของ สญชัย มาชักชวนอาจารย์สัญชัยไป ฟังธรรมในสำนักพระพุทธองค์ด้วยกัน อาจารย์สัญชัยไม่ยอมไป กลับย้อนถามท่านอุปติสสะ กับท่านโกลิตะ ทั้งสองท่านว่า คนในโลก นี้ คนโง่ มากหรือ คนฉลาดมาก เมื่อได้รับคำตอบว่า คนโง่มากกว่าคนฉลาด สญชัยก็บอกว่าดีแล้ว คนฉลาดก็ไปหาพระสมณโคดม คนโง่ก็มาหาเรา เราได้ประโยชน์จากพวกคนโง่ ลาภสักกการะของเราก็มากกว่า เพราะคนโง่มีมากกว่า อย่างนี้แสดงให้เห็นว่าทิฏฐิปรามาสของบุคคลทั้งเจ้าหมู่เจ้าคณะนั้นมีความรุนแรง ถอนได้ยาก เพราะฉะนั้นคนที่มีสัสสตทิฏฐิอยู่ในสันดานหรือคนที่มี อุจเฉทิฏฐิอยู่ในสันดาน ถ้าหากว่ามาตั้งปัญหาประเภท อัพพะยากตปัญหา ถาม พระพุทธองค์แล้ว ถ้าพระองค์ไปมัวตอบปัญหาของพวกเจ้าทิฏฐิเหล่านี้ เหนื่อยเปล่า ป่วยการเปล่า

เพราะตอบไปแล้ว พวกเหล่านี้ก็ไม่มีทางที่จะกลับอกกลับใจมาเลื่อมใส มิหนำซ้ำเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย บางทีจะฟังไม่ได้ศัพท์ จับเอาไปกระเดียด อีก นึกว่าพระพุทธเจ้าสนับสนุนทรรศนะตัว ยกตัวอย่าง พระองค์บอกว่า ชาติหน้ามี ว่าคนเราตายแล้วต้องมีปฏิสนธิวิญญาณไปเวียนว่ายตายเกิดอีก ผู้ที่มีสัสสตทิฏฐิเป็นเจ้าเรือนฟังแล้วก็นึกว่า โอ นี่พระสมณโคดมพยากรณ์สัสสตทิฏฐิเช่นเดียวกับเราแล้ว คือแสดงว่า มีวิญญาณดวงนี้เป็นตัวตั้งตัวตีไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่ นึกอย่างนั้นไม่ได้เฉลียวใจว่าคำว่า ปฏิสนธิวิญญาณในพระพุทธศาสนา ต่างกับปฏิสนธิวิญญาณในศาสนาอื่นอย่างไร คือ ปฏิสนธิวิญญาณในพุทธศาสนาเรานั้นไม่ใช่เป็นนิจจัง แต่ว่าเป็น อนิจจัง เกิดดับ ทุกขณะ ส่งไปด้วยอำนาจพลังกรรม กับ พลังตัณหา พลังอุปทาน 3 อันนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิต ใน อังคุตรนิกายว่า กรรมนี้เป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นพืช ตัณหานี้เป็นยางเหนียวในพืชนั้น สิเนโหตัณหา สิเนโห แปลว่า ยางเหนียว สิเนหะคือ เสน่หานี่แหละ แปลว่ายางเหนียว มีกรรมเป็นผืนนา มีวิญญาณเป็นพืช และก็มีตัณหาเป็นยางเหนียวในพืชนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อรับ พืช คือวิญญาณลงไปในแปลงนาคือ กรรม เมื่อวิญญาณนั้นยังมียางเหนียวอยู่ก็มีการเจริญเติบกล้าขึ้นมา เมื่อได้รับปัจจัยเช่น แสงแดด อาหาร น้ำ อันเป็นโอชะมาบำรุง วัฏฏสงสารก็เกิด

ทรรศนะในเรื่องวิญญาณในพุทธศาสนาจึงต่างกับพวกสัสสตทิฏฐิ เพราะเราถือว่าวิญญาณก็เกิดจากกรรมเกิดจากสิเนหะ คือยางเหนียว ปรุงแต่งกัน เมื่อได้อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งนั้นก็ไม่มีสภาวะที่เที่ยงในตัวมันเอง ต่างกับทรรศนะวิญญาณในฝ่ายสัสสตทิฏฐิที่ถือว่า วิญญาณนั้นเที่ยง วิญญาณดวงนี้ดวงเดียวยืนโรงอยู่ เป็นผู้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามภพต่างๆ เป็นผู้ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ เพราะฉะนั้นคนที่มี สัสสตทิฏฐิเป็นเจ้าเรือน หากมาฟัง พุทธพยากรณ์ แล้วก็จะฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด ดีอกดีใจ บอกว่าพระสมณะโคดมพยากรณ์สัสสตทิฏฐิเหมือนกับเราอย่างนี้ ป่วยการเปล่านี่พวกหนึ่ง

อีกพวกหนึ่ง ถ้าหากว่ามีอุจเฉทิฏฐิเป็นเจ้าเรือนอยู่ ขันธะสันดาน พวกนี้จะตั้งปัญหาอัพยากตปัญหาทูลถามพระพุทธองค์เข้า พระพุทธองค์จะตรัสพยากรณ์ บอกว่าวิญญาณดวงที่ท่องเที่ยวต่างกับวิญญาณดวงนี้ ไม่ใช่วิญญาณดวงนี้ไปเกิดในภพหน้า แต่เป็นคนละอัน คนละดวงกัน ถ้าพยากรณ์อย่างนี้ พวกที่มีอุจเฉทิฏฐิเป็นเจ้าเรือน ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด นึกว่า โอ พระสมณโคดมพยากรณ์ว่าวิญญาณขาดสูญ เพราะตรัสว่า ดวงนี้ไม่ใช่ดวงนั้น ขาดสูญแล้ว เป็นการสนับสนุนทิฏฐิของเรา พวกเจ้าลัทธิ 2 พวกมีความโน้มเอียงไปในทางที่ตัวเชื่ออยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นการที่จะมาพยากรณ์อัพยากตปัญหากับพวกเหล่านี้เหนื่อยเปล่า พระองค์จึงตัดบทเสีย ไม่พูด พูดไปแล้วก็เหนื่อย แต่หากว่าคนที่เขาตั้งปัญหาถามชนิดที่ว่าอยากรู้อยากเห็นจริง ๆ มีความสงสัยในเรื่องนี้จริง ๆ โดยที่ไม่มีสัสสตทิฏฐิหรืออุจเฉทิฏฐิเป็นเจ้าเรือนแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ทุกรายไปเลยทีเดียว ไม่มีเลยที่จะไม่พยากรณ์ และก็บางครั้งไม่ต้องอาศัยใครมาทูลถามพระองค์ ๆ พยากรณ์ขึ้นมาเฉย ๆ ก็มี ปรารภเหตุต่าง ๆ และก็เล่าความเป็นไปต่างๆ ขึ้นมาเอง

เพราะฉะนั้นการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเข้าลักษณะว่า วาจาใดแท้แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ก็จะไม่ตรัสเลย แต่ถ้าวาจาประเภทใดเป็นของแท้ของจริงแล้วมีประโยชน์ด้วย พระองค์จะเป็นผู้ที่รู้กาละที่จะตรัส ไม่ใช่ว่าถ้าของจริงแล้วมีประโยชน์จะตรัสพร่ำเพรื่อไม่เอา ตรัสไม่ดูบริษัท ไม่ดูบุคคล ไม่ถูก พระองค์เป็นผู้รู้กาลตรัส กาลที่ควรจะตรัสก็ตรัส และกาลที่ไม่ควรจะตรัส พระองค์ก็ไม่ตรัส

นี่เป็นอย่างนั้นเพราะฉะนั้นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ วิวัฒนาการของโลก หรือ วิวัฒนาการทางชีวิตตามพุทธคติ เราจะเห็นว่าศาสนาพุทธต่างกับศาสนาอื่น ศาสนาในโลกนี้ เมื่อแบ่งกันแล้วก็มี 3 พวกใหญ่ ๆ คือ

1. ศาสนาประเภท พหุเทวนิยมพวกหนึ่ง

2. ศาสนาประเภท เอกะเทวนิยมพวกหนึ่ง

3. ศาสนาประเภท อะเทวนิยมพวกหนึ่ง

มี 3 พวกนะครับ ศาสนาประเภท พหุเทวนิยม นั้นได้แก่ ศาสนาที่บูชาพระเป็นเจ้า ประจำธรรมชาติ มีพระเจ้าฟ้าร้อง พระเจ้าฟ้าผ่า พระเจ้าร้อน พระเจ้าหนาว พระเจ้าฝน พระเจ้าอบอุ่น พระเจ้าแสงแดด พระเจ้าอะไรมากมายตามธรรมชาติ ปรากฏการณ์ของธรรมชาติศาสนาพหุเทวนิยม นี้เป็นศาสนาดึกดำบรรพ์ ติดมาตั้งแต่มนุษย์เรายังเป็นอนารยชน เป็นคนป่าร่อนเร่อยู่ในท่ามกลางป่าดงพงไพร เป็นศาสนาที่เกิดจากความกลัวของคนจริง ๆ เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิตบอกว่าเมื่อมนุษย์เกิดมีความกลัวคุกคามแล้ว ก็ยึดเอาป่าเป็นที่พึ่งบ้าง ยึดเอาเจติยะ เอาต้นไม้ เอาภูเขา เป็นที่พึ่งบ้าง สุดแต่ว่าอะไรที่จะให้ใจตัวเข้าไปยึดเหนี่ยวแล้ว นึกว่าดับความกลัวได้ มนุษย์ก็แสวงหาเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม ไม่ใช่ที่พึ่งอันประเสริฐ

แต่ผู้ใดถึงพระรัตนตรัย มีปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจ 4 ผู้นั้นจึงชื่อว่าได้มีที่พึ่งอันเกษม มีที่พึ่งอันประเสริฐ เพราะผู้ใดถึงที่พึ่งอย่างนี้แล้ว ย่อมทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี่ในพุทธภาษิตตรัสอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพวกนักวิเคราะห์ทางจิตเขาบอกว่า “ คนที่นับถือศาสนาเป็นพวกที่มีจิตใจอ่อนแอ “ วิเคราะห์ทางจิต ฝ่ายวัตถุนิยมนะ เขาบอกว่าคนที่มีศาสนาเป็นคนจิตใจอ่อนแอก็จริง แต่ว่าศาสนาที่คนนับถือประเภทจิตอ่อนแอ ไม่ใช่ พุทธศาสนา

เพราะว่า พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาประเภทที่ 3 เป็นพวกอเทวนิยม ไม่มีพระเจ้า ไม่มีพระเจ้าสร้างโลก พุทธศาสนาเป็นอเทวนิยม ไม่ได้ให้เกียรติกับพระเจ้าองค์ไหน หรือ เทวดาองค์ไหนเป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่ใช่ แล้วในพุทธศาสนาก็รับด้วยว่าถูกศาสนาที่มีบ่อเกิดมาจากความกลัวนั้นคือ ศาสนาสมัยยุคอนารยะ ยุคคนป่าเกิด เมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ มนุษย์ยังไม่รู้จักปรากฏการณ์ที่แท้จริงของธรรมชาติ พอเจอแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือโรคระบาด ก็นึกว่าจะต้องมีผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือผีสางอะไรเป็นผู้ดลบันดาลเป็นผู้สั่งการ ไม่เช่นนั้นอยู่ดี ๆ ทำไมฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้างลงมาได้ อยู่ดีๆ ทำไมแผ่นดินไหวขึ้นมาได้ จะต้องมีคนดลบันดาล นึกอย่างนั้น จากความโง่เขลาของคนป่าในยุคกระโน้นกลัวขึ้นมา กลัวก็อ้อนวอนบวงสรวงบูชาสมมุติให้เป็นพระเจ้า เป็นตัวเป็นตนขึ้น

เรียกว่า พหุเทวนิยมมากมาย เทวดามากมาย พระเจ้ามากมาย สมมติกันขึ้นเป็นพระเจ้าประจำธรรมชาติ ศาสนาประเภทนี้มนุษย์ในโลกภาคต่างๆ เหมือนกันหมด ไม่ว่ายุโรปอเมริกาหรือเอเชียเหมือนกันหมด นับถือพระเจ้าประจำธรรมชาติ การนับถือพระเจ้าประจำธรรมชาตินั้นบางทีก็พลอยนับถือพวก “ สัตว์เดรัจฉานเป็นพระเจ้าด้วย “ เพราะไปเจอสัตว์เดรัจฉานที่มีเขี้ยวเล็บมาก ๆ มีความดุร้ายมาก ๆ ก็เลยสมมติว่ามีวิญญาณที่ดุร้ายสิงสู่อยู่นับถือพวก เสือ พวกจระเข้ หนักเข้านับถือ หมู แมว บูชา หมู หมา แมว ไปด้วยเลย อย่างศาสนาโบราณของพวกอียิปต์นับถือ แมวเป็นพระเจ้าก็มี นับถือแมวนะ

อย่างพวกฮินดูนับถือ โคเป็นพระเจ้า ว่าโคนี่เป็นพาหนะของพระอิศวร เฝ้าอยู่ประตูเขาไกรลาศเป็นเทวดาอยู่ และเวลาพระอิศวรจะขี่ก็แปลงเป็นวัวให้พระอิศวรขี่นับถือวัวเป็นพระเจ้า พวกฮินดูจึงไม่กล้ากินเนื้อโคเพราะเขาถือว่าโคเป็นเทวดาแปลงแล้วพวกคนป่าบางเผ่านับถือ จระเข้เป็นพระเจ้า นับถือ เสือเป็นพระเจ้า นับถือช้างเป็นพระเจ้า มีมากมาย นี่เกิดจากความกลัวของมนุษย์ทั้งนั้น ก็ตรงกับหลักนักจิตวิทยาในปัจจุบัน แล้วเขาบอกว่าศาสนาเกิดจากคนที่ใจอ่อนแอ อย่างนี้ต้องจำกัดความหมายว่า ยกเว้นพุทธศาสนานะ

เพราะว่าพุทธศาสนานี้ไม่มีลักษณะที่เกิดจากความอ่อนแอ หรือเกิดจากความกลัว ไม่ใช่ นี่เป็นศาสนาประเภทพหุเทวะนิยม ต่อมาเมื่อสังคมมนุษย์เจริญขึ้น สังคมของมนุษย์มีส่วนสะท้อนไปถึงศาสนาประเภท พหุเทวนิยมด้วย เพราะว่าในสมัยบุพพกาล มนุษย์เราไม่ได้อยู่เป็นประเทศ สังคมเป็นสังคมย่อย ๆ เป็นกลุ่มก้อน มีรัฐ มีพ่อบ้าน มีพ่อหมู่ ประจำหมู่ ประจำคณะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อยู่กันเป็นหมู่ๆ พระเจ้าก็มีมากไปตามหมู่ บางหมู่ก็นับถือช้าง บางหมู่ก็นับถือเสือ บางหมู่ก็นับถือดาว นับถือพระอาทิตย์ แล้วแต่ เพราะฉะนั้นลักษณะ พหุเทวนิยม ก็คล้อยไปกับลักษณะสังคมในยุคโบราณของมนุษย์เมื่อแยกเป็นหมู่เป็นคณะ ต่อมาเมื่อโลกวิวัฒนาการเจริญขึ้น เกิดมีประเทศเป็นหลักเป็นฐาน เป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา และลักษณะของความแตกเป็นหมู่เป็นคณะก็หมดไปกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ ๆ ตั้งขึ้นเป็นประเทศ ก็มีพระเจ้าแผ่นดินเกิดขึ้น เป็นผู้คุ้มครองประเทศเป็นพ่อเมือง ไม่ใช่พ่อหมู่ ศาสนาก็เปลี่ยนไปตามกาลนิยม คือเมื่อมนุษย์ไม่นับถือเทวดาพระเจ้ามาก ๆ องค์ ก็มาตั้งปัญหาถามว่าพระเจ้าเหล่านี้มีมาก ๆ เวลามีภัยมาปรากฏกับเราแล้ว เราจะอ้อนวอนองค์ไหนจะได้มีฤทธิ์เดช จะได้มาคุ้มครองเรา หนักเข้าก็ไม่รู้จะอ้อนวอนองค์ไหนดี เพราะต่างองค์ต่างก็ศักดิ์สิทธิ์ขลังด้วยกันทั้งนั้น

ความรู้สึกของมนุษย์ก็นึกว่าในหมู่พระเจ้าคงจะเหมือนคน คือจะต้องมีประธานของพระเจ้ามาสักองค์หนึ่ง เป็นเทวาดิเทพ บังคับบัญชาบรรดา เทวดาบริวาร เหล่านี้เหมือนอย่างมนุษย์เรามี พระเจ้าแผ่นดินเพราะฉะนั้นก็เลยสมมติให้มี เทวาดิเทพองค์หนึ่งเป็นประธานพระเจ้า เกิดศาสนาประเภท “ เอกะเทวนิยม “ ขึ้น เมื่อเกิดประธานพระเจ้าแล้ว การที่จะไปเอาอกเอาใจพวกตีนโรงตีนศาลก็หมดไป ไม่จำเป็น มาอ้อนวอนพวกตีนโรงตีนศาลหรอกหนัก ๆ เข้าก็ตัดพระเจ้าปลีกย่อย ๆ พระเจ้าเบ็ดเตล็ด ๆ หายเข้าโรงไปทีละองค์สององค์หมดไป เหลือแต่พระบิดาของโลกองค์หนึ่ง ตามความเขาใจของคนโบราณในยุคนั้น ท่านผู้นั้นคือพระเจ้าผู้สร้างโลก ผู้รังสฤษดิ์ความเป็นไปต่างๆ ในสากลจักรวาล เป็นศาสนาเอกเทวนิยม ค่อยๆพัฒนามาจากศาสนา พหุเทวนิยม นี่เป็นลักษณะ พัฒนาการของศาสนา เป็น เอกะเทวนิยมเสียแล้ว

เพราะฉะนั้นลักษณะนี้เราจะเห็นว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างพระเจ้า ไม่ใช่พระเจ้าสร้างมนุษย์แล้ว มนุษย์ที่สร้างพระเจ้านั้นเป็นมนุษย์สมัยยุคอนารยะที่ยังไม่เข้าใจปรากฏการณ์ที่แท้จริงของธรรมชาติ สร้างพระเจ้าจากความกลัวของตัวเองขึ้นมาแล้วตัวเองก็อ้อนวอนบูชาในสิ่งที่ตัวสร้างขึ้น นี่เป็นสมัยวิวัฒนาการศาสนาจาก พหุเทวนิยมเป็นเอกเทวนิยม

ต่อมาเมื่อปัญญาของมนุษย์เฉลียวฉลาดขึ้น รู้ข้อเท็จจริงในปรากฏการณ์ธรรมชาติมากขึ้น มนุษย์ก็เลิกที่จะบูชาพระเจ้าภายนอก หันมาขบคิดปัญหาชีวิตภายในตัวเราเป็นใคร มาจากไหน เกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน อันนี้ความคิดเห็นของมนุษย์ในยุคนี้ทำให้เกิด ปรัชญาเมธีต่างๆ ทำให้เกิดการคิดที่จะสร้างระบบ ยกระดับชีวิตจิตใจให้พ้นจากห้วงทุกข์ห้วงกิเลส

ลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นในบรรดาหมู่เจ้าลัทธิในศาสนาพราหมณ์เกิดปรัชญาอุปนิษัท ได้สร้างเรื่องอาตมันหรือวิญญาณสากลขึ้น เพราะฉะนั้นลักษณะนี้วิวัฒนาการจากวัตถุมาเป็นจิตใจ พระเจ้าก็เป็นวัตถุของภายนอก เป็นตัวเป็นตนเหมือนอย่างเรา มีโลภ มีโกรธ มีหลง เหมือนอย่างมนุษย์ คือมนุษย์สร้างพระเจ้าจากจินตนาการของตัวเอง มนุษย์อยากจะให้คนเอาใจ มนุษย์ก็นึกว่าพระเจ้าต้องการคนเอาใจบ้างไปประจบประแจงพระเจ้า มนุษย์รู้ตัวเองว่าเวลาใครทำขัดใจตัว ตัวโกรธ ก็นึกว่าพระเจ้าต้องโกรธ ถ้าไปขัดใจพระองค์ ต้องคอยเอาใจพระเจ้า

นี่เพราะฉะนั้นพระเจ้าก็เป็นผลจากมนุษย์เสกสรรค์ขึ้น ต่อมาเมื่อมนุษย์มีปัญญาเฉลียวฉลาด เลิกบูชาสิ่งภายนอก เห็นว่าแท้จริงเราจะไปบูชาอ้อนวอนสักกี่มากน้อย ความทุกข์ก็ไม่หมด ความทุกข์ในชีวิตก็ไม่หมด อย่าเลยมาค้นหาความจริงภายในดีกว่า ว่าตัวเรานี่เป็นใคร มาแต่ไหน การที่ต้องการจะขบปัญหาว่าตัวเราเป็นใคร มาแต่ไหนนี่จึงได้เกิดปรัชญาชนิดที่ว่า อาตมัน หรือ ปรัชญาประเภท นิยม อัตตะ ขึ้นมา เกิดขบไปขบมาก็เห็นว่าตัวเราที่จริงไม่ใช่ตัว ๆ นี้ ตัว ๆ นี้เป็นเพียงแต่เรือนร่าง ตัวเราที่จริงเป็นเจ้าของเรือนร่างอันนี้เป็นผู้อาศัยร่าง บังคับบัญชาเรือนร่างอันนี้ ตัวเราอันนี้จะต้อง ไม่เกิดไม่ดับ ไม่แตกไม่สูญ เป็นผู้ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่

เพราะฉะนั้นเมื่อ ศาสนาวิวัฒนาการมาถึงยุคที่ 3 คือ ยุคที่ค้นหา ความจริงภายใน จึงได้เกิดลัทธิปรัชญาประเภท สัสสตทิฏฐิ ที่ถือ อาตมัน หรือ วิญญาณสากลเป็นบรรทัดฐานแล้ว วิญญาณสากล หรือ อาตมันนี้ก็เรียกว่า เป็นพรหมบ้าง เป็นปรมาตมันบ้าง หรือเรียกอะไรก็แล้วแต่เถิด จิตสากลบ้าง อะไรต่างๆ อย่างแม้ในทางตะวันตกก็เหมือนตะวันออก ตะวันตกอย่างปรัชญาของ สปิโนซ่า อย่างนี้สปิโนซ่า ก็ถือว่ามี ยูนิเวอร์แซลไมนด์ คือ จิตที่เป็นจิตสากล เป็นที่รวมของจิตต่าง ๆ ของโลก ความเป็นไปของโลก รังสฤษดิ์ออกมาจากยูนิเวอร์แซลไมนด์ อันนี้คือจิตสากล อันนี้สะท้อนภาพแบ่งแยกออกมา อันนี้เราจะเห็นว่าค่อย ๆ เจริญขึ้นมา ระดับนี้มนุษย์เลิกเชื่อ อภินิหารพระเจ้าภายนอกแล้วนึกว่าตัวเรานี่คือพระเจ้า คือ พรหม อหัมพรัมมัสมิ ตัสวัมอสิ นี่เป็นหัวใจในปรัชญาฮินดูเขา

ปรัชญาศาสนาพราหมณ์ที่เป็นขั้น อัลทิเมท (Ultimate) คือชั้นสูงสุด ชั้นโลกุตระของเขาเขามีคำขวัญประจำปรัชญาใน อุปนิษัท บอกว่า อหัมพรัมมัสมิ ตัวเรานี่เป็นพรหม ตัสวัมอสิ แม้สูก็เช่นเดียวกัน พูดกันอย่างง่ายๆ บอกว่าไม่ต้องไปบูชาพระเจ้าภายนอกหรอก พระเจ้าสร้างโลกภายนอกเก๊ทั้งนั้นแหละ แต่ของข้านี่เป็น พระเจ้า คือ อัตตานี่แหละเป็นตัวพระเจ้า แม้แต่ตัวท่านก็มีพระเจ้าในตัวท่านเอง คือ อัตตาที่ที่แท้ของท่านก็เป็นพระเจ้า ศาสนาวิวัฒนาการมาถึงขั้นนี้ก็ถือเอาตัวตนของตัวเองเป็นพระเจ้า อัตตา ที่แท้จริง เป็นพระเจ้า โซล (Soul) อาตมัน เป็นพระเจ้า เป็นพรหม นี่เป็นจุดสูงสุดในศาสนาประเภทที่วิวัฒนาการมาพอปัญญาของมนุษย์ฉลาดขึ้น

อีกยุคหนึ่งคือมาในสมัยที่พุทธศาสนาอุบัติขึ้นแล้ว พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ถือ อเทวนิยม ไม่ให้ความสำคัญแก่ พระเจ้าหรือ ก๊อด (God) เลย นี่เป็นลักษณะพิเศษในพุทธศาสนาพุทธศาสนาได้เจริญขึ้นในท่ามกลางบรรดาเจ้าหมู่เจ้าคณะที่กำลังคิดว่าตัวตนเป็น พระเจ้า และในอินเดียเราก็ทราบแล้วว่า ศาสนาพราหมณ์ เป็นศาสนาที่จะเรียกแล้วก็เป็นศาสนา จับฉ่าย คือถ้าจะเปรียบเทียบเป็นห้างสรรพสินค้าก็มีสินค้าหลายประเภทตั้งแต่ บุ้งกี๋ ไม้กวาด ที่นอน หมอน มุ้ง กระทั่งโทรทัศน์ จำหน่าย สำหรับให้คนที่ต้องการสินค้าภายในหยิบเอาไป

ในศาสนาพราหมณ์นะครับ พวกที่มีปัญญาสูงหน่อยก็นับถือพระเจ้าในตัวของตัวเอง ถืออัตตาของตัวเป็นพระเจ้า พวกที่โง่ลงมาก็นับถือพระเจ้าภายนอกเป็นตัวเป็นตน มี 4 มือ 8 มืออะไรต่างๆ เป็นนารายณ์ ศิวะไป พวกที่ต่ำยิ่งกว่านั้น ก็นับถือพระเจ้าประเภทสัตว์เดรัจฉานไป ไหว้วัว ไหว้ค่าง ไหว้หนุมาน เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ไหว้ลิงไหว้ค่างไป นี่ต่ำไปกว่านั้น ที่ต่ำลงไปยิ่งกว่านั้นก็คือ บูชาศิวลึงค์บ้าง เครื่องเพศของมนุษย์ นี่ต่ำลงยิ่งกว่าบูชา เดรัจฉานอีก ค่อย ๆ ต่ำลงมา ศาสนาพราหมณ์มีหมด ผมถึงบอกเปรียบเหมือนกับห้างสรรพสินค้าหรือสโตร์ มีสินค้าสารพัด

พุทธศาสนาเกิดขึ้นในท่ามกลางศาสนาที่มีสปิริตทั้งสูงทั้งต่ำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการที่ พุทธศาสนา อุบัติขึ้นจึงเท่ากับว่าได้เปรียบยิ่งกว่าทุกศาสนาในโลก ได้เปรียบมาก ได้เปรียบกว่าทุกศาสนา พระพุทธเจ้าเราได้เกิดในหมู่คนฉลาด การที่พระองค์ประดิษฐานพุทธศาสนานี้ ถ้าไม่ดีจริงละก็ตั้งไม่ได้แน่ คนอื่นเขาเจ๊งไปหมด นี่ถ้าไม่ดีนะ ไม่เหมือนกับศาสนาบางท่าน ไปเกิดในทะเลทรายบ้าง ไปเกิดในบ้านเล็กเมืองน้อยในที่ที่อารยธรรมไม่เจริญ จะพูดอะไรคนก็เชื่อง่าย แต่การที่พระพุทธเจ้าของเราเกิดในอินเดียในครั้งกระนั้น ไม่ใช่พูดอะไรคนจะเชื่อเอาง่าย ๆ ถ้าไม่มีเหตุผล ไม่มีหลักข้อพิสูจน์ดีจริงที่ทนต่อการพิสูจน์แล้วอยู่ไม่ได้

พระพุทธเจ้าตั้งศาสนาขึ้นจึงไม่ใช่มีสมุฏฐานมาจากความกลัว ไม่ใช่ เป็นศาสนาเดียวที่ไม่ได้ตั้งขึ้นจากความกลัวหรือความอ่อนแอในทางจิตใจของมนุษย์

ถ้าอย่างนั้นพระพุทธศาสนาเกิดจากอะไร… ?

เกิดจากเจตจำนงที่ปรารถนาแสวงหาความจริง เกิดจากเจตจำนงที่ต้องการแสวงหาความพ้นทุกข์ ไม่ใช่เกิดจากความกลัว พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้กลัวทุกข์ แต่สอนให้กำหนดรู้ทุกข์ ที่เราเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาสอนให้คนกลัวทุกข์ละก็เราต้องฆ่าตัวตายกันแล้ว ทุกข์ กลัวไม่ได้ ต้องกำหนดรู้ เพราะฉะนั้น ทุกข์อริยสัจ จึงอยู่ในข้อที่เรียกว่า ปริญญาตัพพะกิจ ในกิจในอริยสัจ 4 เรายกได้ทีเดียว

ใครมากล่าวหาตั้งข้อปรับวาทะประณามว่าพุทธศาสนา ว่าพุทธศาสนานี่ก็เหมือนศาสนาอื่น ๆ เกิดจากความกลัว ความอ่อนแอของคนเรา ไม่จริงหรอก พระองค์ตรัสบอกว่า ปริเญยยกิจ ต้องเข้าไปกำหนดรู้ ไม่ได้สอนให้กลัว ไม่ได้สอนให้หนี ไม่ได้สอนให้กลัวทุกข์ สอนให้หนีทุกข์ เปล่า สอนให้กำหนดรู้ทุกข์ สิ่งที่ทรงสอนให้หนีคือ ตัณหา ต่างหากเล่า อันเป็น สมุทัยอริยสัจ ต้อง ปหานสัพพกิจ ต้องเข้าไปตัด

เพราะฉะนั้นคนที่นับถือพุทธศาสนาแล้วเกิดจิตใจอ่อน เป็นด้วยความเข้าใจผิดของคนนั้นเอง ที่เข้าไปถึงแก่นในพุทธศาสนา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวในโลก ที่ไม่ได้เกิดจากความกลัว แต่เกิดจากความต้องการแสวงหาความจริงในชีวิตเกิดจากความต้องการจะแก้ปมเรื่องทุกข์ของมนุษย์ให้แตกหักออกไป หรืออีกอย่างหนึ่งว่าเกิดจากน้ำใจอันกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวในการที่ต้องการต่อสู้กับความทุกข์ ไม่ใช่หนีทุกข์ อันนี้สำคัญนะครับท่าน ต้องย้ำให้ดี เพราะมีคนโจมตีพุทธศาสนาว่าเป็น เพสซิมิสต์ มองโลกในแง่ร้าย มัวแต่สอนกันเรื่องทุกข์ ไม่ต้องทำอะไรกันล่ะ เห็นทุกสิ่งเป็นทุกข์หมด อย่างนี้ใจคอห่อเหี่ยวหมด

เราต้องแก้เขาบอกว่าท่านเข้าใจผิดแล้ว ธรรมะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้หนีทุกข์นะ สอนให้สู้กับทุกข์ ถ้าสอนให้หนีทุกข์ละก็ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ไม่ต้องมาสอนคนแล้ว ทิ้งบ้านทิ้งช่องอยู่ในป่า พระอรหันต์ตรัสรู้แล้วก็เข้าป่าเข้ารกเข้าพง รีบอนุปาสิเสสะนิพพาน ไม่ต้องมาทรมานทรกรรม ชีวิตทำประโยชน์ให้แก่โลก

พุทธศาสนาสอนให้สู้หน้ากับทุกข์ คือสู้หน้ากับความจริง ไม่ใช่หนีความจริง ทุกข์นี่เป็นความจริง เป็นอริยสัจ ให้สู้หน้ากับความจริง ทุกข์นี่เป็นของจริง เป็นอริยสัจให้สู้หน้ากับความจริง ให้รับรู้ในความจริงอันนั้น สิ่งที่เราจะถอนจะละ ตัณหา ต่างหาก ไม่ใช่ตัวทุกข์ เราต้องรู้จักอธิบายครับ แก้คนที่ยังหลงผิด เข้าใจพุทธศาสนาผิด ๆ

เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่เกิดจากสมุฏฐานของความกลัว ไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานของความอ่อนแอเช่นนี้ โลกทัศน์ ในพุทธศาสนาจึงแตกต่างกัน โลกทัศน์ ในศาสนาอื่น ๆ ทั้งหมด

ศาสนาที่เป็นฝ่ายอเทวนิยมในโลกนี้มีเพียง 2 ศาสนา คือ พุทธกับศาสนาเชน ซึ่งตั้งโดย มหาวีระ เจ้าลัทธิที่มีชีวิตร่วมพุทธสมัยเป็นเชื้อสายกษัตริย์เมืองเวสาลี มหาวีระ หรืออีกนัยหนึ่งคือ นิครนถ์นาฏบุตร ครูทั้ง 6 ครู คนหนึ่งในครู 6 คน นิครนถ์นาฏบุตรนี่ ศาสนาเชน ก็เป็นศาสนาที่อยู่ในประเภท อเทวนิยมไม่มีพระเจ้า ปฏิเสธพระเจ้า ปฏิเสธการสร้างโลกจากพระเจ้า ถือว่าโลกเกิดจากกรรมเป็นผู้สร้าง เหมือนพุทธศาสนา

แต่พุทธกับเชนแม้จะตรงกันในข้อนี้ แต่ไปเลี่ยงกันในวิธีปฏิบัติคือ เชน เป็นฝ่ายถือ อัตตกิละมถานุโยค ให้ทรมานตัวให้แสนเผ็ดอย่างสาหัส เมื่อบำเพ็ญตบะถึงขั้นสุดท้าย ใครอดข้าวจนตายตลอดชีวิต ถือว่าหลุดพ้น เข้า นิพพาน อดข้าวจนตาย นี่อัตตกิละมถานุโยค อย่างสาหัส พระพุทธเจ้าท่านเลือกเดินทางสายกลาง นี่ต่างกับเชน ตรงนี้ ในทางปฏิบัตินะครับ

ในทางทฤษฏีเชนรับรองมี อาตมัน หรือ อัตตา แต่พุทธปฏิเสธอัตตา นี่เพราะฉะนั้น พุทธศาสนากับศาสนาเชน ตรงกันในข้อที่ว่าเป็น อเทวนิยม เหมือนกัน ปฏิเสธพระเจ้าผู้สร้างโลกเหมือนกัน ถือว่ากรรมเป็นผู้ปรุงโลก สร้างโลกเหมือนกัน แตกต่างกันคือ

1. เชนถือว่ามีอัตตา อัตตาเที่ยง พุทธถือ อนัตตา เช่นบอกว่าทำอัตตกิละมถานุโยคดี ทำแล้วหลุดพ้นทุกข์ พุทธบอกว่าไม่ดี ต้องเดิน มัชฌิมาปฏิปทา ต่างกันตรงนี้

2. ศาสนานี้ ศาสนาเชนเวลานี้มีคนนับถือราว ๆ ไม่เกิน 10 ล้านคนในอินเดีย และเป็นศาสนาที่ไม่เคยแพร่หลายออกนอกประเทศอินเดียเลย เพราะเป็นศาสนาที่รุนแรงเกินไปในทางปฏิบัติ จึงไม่สามารถที่จะแพร่หลายไปในต่างประเทศได้ หาคนนับถือได้ยาก เป็นศาสนาพวกชีเปลือย พวกนิครนถ์

คราวนี้โลกทัศน์ในพุทธศาสนา เกี่ยวกับเรื่องพระเจ้า เรื่องวิวัฒนาการหรือสมุฏฐานของชีวิตว่ามีมาจากอะไร เราก็แตกต่างกับ โลกทัศน์ในศาสนาอื่น คือ โลกทัศน์ในศาสนาอื่นมักจะตั้งปัญหาถามบอกว่าตัวเรามาจากไหน วิญญาณของเรามาแต่ไหน การตอบปัญหาเหล่านี้ก็พุ่งไปในทางที่ว่าโลกมาจากพระเจ้าผู้สร้าง พอมนุษย์มาอัดอั้นตันอุราก็ต้องโยนกลองให้พระเจ้าตะพึดตะพือ เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นดีที่สุด โลกมาจากพระเจ้าผู้สร้างตัวเราหรือพระเจ้าเป็นผู้สร้างวิญญาณเรามาอย่างไร นี่เป็นคำตอบอย่างกำปั้นทุบดินของพวกที่นับถือ พหุเทวนิยม หรือ เอกะเทวนิยม

สำหรับพุทธศาสนานั้นไม่ได้ตั้งปัญหาถามอย่างนี้ พุทธศาสนาขึ้นต้นตั้งปัญหาว่า ทุกข์นี่มาแต่ไหน จะดับทุกข์ด้วยวิธีประการใด ต่างกับศาสนาอื่นแล้ว ศาสนาอื่นเขาตั้งปัญหาถาม บอกว่าโลกนี้มาแต่ไหน วิญญาณนี่สืบมาจากใคร ใครเป็นผู้สร้างวิญญาณ ปัญหาเพ่งออกนอกตัว ออกไปข้างนอก แต่พุทธเราเพ่งเข้าข้างใน บอกว่าทุกข์นี้มาจากไหน ตั้งปัญหาถาม บอกว่าทุกข์นี่มาจากไหน จะดับทุกข์ด้วยวิธีใด นี่มีประเด็นอันเป็นสมุฏฐานบ่อเกิดศาสนาแตกต่างกันอย่างนี้ คำตอบหรือคำเฉลยในปัญหา 2 ประการนี้จึงแตกต่างไปอย่างซ้ายข้างหนึ่ง ขวาข้างหนึ่งทีเดียว

ศาสนาประเภทที่มีเทวนิยมก็ต้องพุ่งไปว่าพระเจ้าสร้างโลก พระเจ้าเป็นผู้รังสฤษดิ์โลก เป็นผู้สร้างดวงวิญญาณ แต่พุทธเราเพ่งไปทางปฏิจสมุปบาท เมื่ออวิชชาดับ ทุกข์ก็ดับ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสรุปสาระสำคัญในพุทธศาสนาบอกว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน สิ่งเดียวที่ตถาคตสอนกับพวกเธอคือ ทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น “

นี่เป็นคำสรุปสาระสำคัญในพุทธศาสนา ทรงแสดงเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ คำนี้เป็นคำย่อ ๆ แต่เริ่ม ปฏิจสมุปบาท รวมอริยสัจ 4 อยู่ในนี้หมด หรือพูดอย่างพระอัสชิก็ เยธัมมา เหตุปัพภวา นี่แหละ รวมอยู่ในคำว่าทุกข์กับความดับทุกข์ อันนี้เป็นหัวใจในพุทธศาสนา แล้วแต่ใครจะไปพลิกแพลงพูดในโวหารต่าง ๆ กัน แต่สรุปแล้วก็อยู่ในคำสองคำนี้ ทุกข์กับความดับทุกข์ นี่เป็นสาระในพุทธศาสนาของเรา

ถ้าหากว่ามีคนเขาตั้งปรับวาทถามบอกว่า ในพุทธศาสนาสอนบอกว่ามีพระเจ้าผู้สร้างไหม เราบอกไม่มี เขาตั้งปัญหาถามว่าถ้าโลกไม่มีพระเจ้าผู้สร้างแล้ว บ้านที่ท่านอยู่เกิดขึ้นเองได้ไหม ต้องมีผู้สร้างไหมบ้านนี่ เราบอกว่ามี มีนายช่างสร้าง เขาก็ย้อนบอกว่าโลกนี้ก็เหมือนกัน ต้องมีผู้สร้างสิ ไม่มีผู้สร้างจะเกิดเป็นโลกได้อย่างไร เขาตั้งปัญหาถามอย่างนี้ แล้วท่านจะตอบเขาอย่างไร

พวกที่ถือ เทวนิยม เขาตั้งปัญหาอย่างนี้ วิธีการตอบ ของเราชาวพุทธ เราก็มีวิธีตอบ เราถามบอกว่า แหม ขอบคุณมากที่ท่านนิยมเหตุผลนะ โลกเป็นผลมาจากพระเจ้าเป็นเหตุ แหม เหตุผลดีเหลือเกิน พุทธศาสนาก็เป็นศาสนานิยมเหตุผล โลกเป็นผล พระเจ้าเป็นเหตุในประการเดียวกัน อยากจะย้อนเอาเหตุผลที่ท่านใช้กับข้าพเจ้านี่ ย้อนถามท่านหน่อยเถิดว่าแล้วพระเจ้าเล่า ใครเป็นผู้สร้าง เขาบอกว่า เกิดขึ้นเองไม่ต้องมีใครสร้าง แล้วกัน นี่ท่านกำลังค้านตัวเองนะ เมื่อกี้นี้หยก ๆ ท่านบอกว่าต้องมีเหตุต้องมีผล ผลมาจากเหตุ แต่ในขณะนี้ท่านอ้างเป็นตุเป็นตะบอกว่าโลกนี้เป็นผล จะต้องมาจากเหตุคือผู้สร้าง แล้วเวลานี้ท่านกำลังค้านตัวท่านเอง แล้วบอกไม่ต้องพระเจ้าเกิดขึ้นเอง นี่เป็นการค้านเหตุผลในตัวท่านเองแล้วถ้าหากว่าพระเจ้าท่านเกิดขี้นเองได้ ทำไมท่านไม่ยอมให้พวกข้าพเจ้าหรือว่าโลกนี้เกิดโดยธรรมดาบ้างไม่ได้หรือ

เขาบอกไม่ได้ ต้องมีช่างไม้ ต้องมีช่างปูน เราถามบอกว่าช่างไม้ช่างปูนก่อนจะมาสร้างบ้านนี่ ใครจ้างเขามา ใครเรียกเขามา ช่างไม้ช่างปูนก็เป็นผลนะ ต้องมีผู้จ้าง เงินไม่ออกจากกระเป๋า เขาก็ไม่มาสร้างให้ฟรี ๆ นะ จะบอกให้ แล้วการที่จะมาสร้างบ้านอะไร เรือนโรงก็ต้องมีสัมภาระวัตถุในการก่อสร้างเช่น อิฐ เหล็ก ดิน ทราย มันต้องมีซิ แล้วจะเอาอุปกรณ์อะไรมาสร้าง พระเจ้าของท่านเอาอุปกรณ์อะไรมาสร้างโลก มีอุปกรณ์สร้างบ้างไหม นายช่างจะสร้างบ้านก็ต้องมีอุปกรณ์สร้าง เครื่องไม้เครื่องมือในการสร้าง แล้วพระจ้าจะสร้างโลกนี่ก็ต้องมีอุปกรณ์เหมือนกัน อุปกรณ์อันนี้มาจากไหน บอกบันดาลให้มีเอง

อ้าว แล้วกัน นี่กำลังพูดถึงเหตุผล ท่านเองก็กล่าวเรื่องเหตุเรื่องผลเป็นตุเป็นตะ แล้วเวลานี้ท่านกำลังปฏิเสธเหตุผลที่ท่านกล่าวอ้างมาเสียแล้ว บอกว่าเกิดเองได้อีกแล้ว มีหรือเกิดขึ้นเอง ถ้าเกิดเองได้ ก็มีโลกเกิดเองบ้างไม่ได้หรือ ท่านจะยอมไหม ให้โลกเกิดเองถ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมให้พระเจ้าเกิดเองได้เหมือนกัน ว่าอย่างนั้น ถ้าท่านไม่ยอมให้โลกเกิดเองได้ เราก็ไม่ยอมให้พระเจ้าเขาเกิดเองได้ ไม่ได้ซิ เสมอกันซิเวลาจะมาเล่นงานพุทธศาสนา รู้จักเอาเหตุผลมายกมาอ้าง แล้วตัวเองไม่รู้จักเอาเหตุผลในข้อเดียวกันมาถามตัวเองบ้าง พอถูกฝ่ายพุทธเล่นงานเข้าบ้าง บอกว่าเกิดเอง แล้วพูดบอกว่าโลกเกิดเอง กลับตอบไม่ยอม นี่เราบอกว่าให้วิญญูชนพิจารณาดูเถิดว่าใครจะเป็นคนนิยมเหตุผลกันแน่ ให้พิจารณาดู

ติ๊งคราวนี้ ต่างว่าโลกมีพระเจ้าจริง เอาละ เรายอมรับละ โลกมีพระเจ้าจริง สมมตินะ โลกมีพระเจ้าจริง อยากจะทราบว่า พระเจ้าองค์ไหนเป็นผู้สร้าง พระศาสนาต่างๆ ในโลกมีมากมายที่มีพระเจ้า ของจีนก็มีเง็กเซียนฮ่องเต้ ฮ่วนกูสี เป็นผู้สร้างโลก ของคริสต์ก็มียะโฮวาเป็นผู้ก่อสร้างโลก ของอียิปต์ก็มีเทพเจ้าราบ้าง สุริยเทพเป็นผู้สร้างโลก ศาสนาชินโตของญี่ปุ่น สุริยเทพ ไม่ใช่ผู้ชาย เป็นผู้หญิงชื่อ อมะเตระสุ นางเทพีสุริยะ เป็นผู้สร้างโลกศาสนาพราหมณ์ก็มีอิศวร นารายณ์ พรหม เป็นผู้สร้าง และมิหนำซ้ำ พระเจ้า 3 องค์นี้ยังทะเลาะกัน แย่งตำแหน่งผู้สร้างเสียด้วยซ้ำ ศาสนาพราหมณ์เองพระเจ้า 3 องค์ยังขัดคอกันอยู่เลย ใครเป็นผู้สร้างแน่ ยังไม่รู้เลยพราหมณ์ที่นับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่ ไวษณพ นิกาย ก็บอกว่านารายณ์นี่แหละสร้างพระพรหมกับสร้างอิศวร พระพรหมเกิดจากนาภีพระนารายณ์ ในเวลาบรรทมกระสินธุ์ สมุทรอยู่บนพญานาคราช อนันตนาคราชในกระแสสินธสาคร เข้าฌาน ไปเกิด ดอกบัวโผล่มาจากนาภี คือ พระนารายณ์แล้วดอกบัวบานมาเป็นพระพรหม เกิดในดอกบัวพระพรหมนี่ต่างหากเล่า เป็นลูกพระนารายณ์ พราหมณ์พวก ไวษณพนิกายถืออย่างนั้น

 

ปฐมเหตุโลกและชีวิต 2
โดย อ. เสถียร โพธินันทะ

นี้ไปฟังพวกพราหมณ์นับถือพระพรหมบ้าง โอย นารายณ์ของแกกับอิศวรไม่ใช่หรอก พระพรหมของข้าเป็นคนสร้าง ไม่ใช่ใครหรอก พระพรหมข้าสร้าง ไปฟังวาทะพวกศิวะไศวะนิกาย พวกนี้บอกไม่จริงนารายณ์เป็นขี้ไคลพระอิศวร ถูขี้ไคลปั้นเป็นนารายณ์ออกมาต่างหากเล่า พระพรหมก็เหมือนกัน พระอิศวรบำเพ็ญตบะ พระพรหมโผล่ขึ้นมาในกองไฟ อิศวรบันดาลให้เกิด เพราะฉะนั้นอิศวรเป็นผู้สร้างตะหากเล่า

ศาสนาพราหมณ์ศาสนาเดียวแท้ๆ พระเจ้า 3 องค์ แย่งตำแหน่งกัน จะเป็นแชมเปี้ยนสร้างโลกเสียแล้วเออ แล้วใครเป็นพระเจ้าที่แท้ ที่เป็นคนสร้างโลกศาสนาพวกคนป่า อินเดียแดงนับถือ จระเข้เขาบอก จระเข้เป็นคนสร้างโลก อินเดียแดงในอเมริกาใต้นับถือจระเข้ในลุ่มแม่น้ำอเมซอน บอกว่าจระเข้เป็นผู้สร้างโลก ศาสนาของพวกคนป่าในอัฟริกาบางเหล่า นับถือลิงกอริลล่าว่าเป็นผู้สร้าง เข้าที ลิงกอริลล่านี่มันเหมือนคน กอริลล่าเป็นผู้สร้างโลก

แล้วไปนับประมวลพวกศาสนาที่มีพระเจ้าสร้างโลกทั้งหลายเป็นร้อยๆ ศาสนา พระเจ้าองค์ไหนกันพ่อคุณ เป็นผู้สร้าง อยากรู้นักเชียว ทุกศาสนาก็อ้างว่าพระเจ้าของข้านี่แหละแท้ ของคนอื่น เก๊ ใครเป็นคนพูดสาวกในศาสนาพูดเอาข้างเดียว คนอื่นเขาไม่รับรู้ด้วย แล้วอย่างนี้จะฟังเป็นเหตุผลได้ไหม ถ้าเขาอ้างบอกว่า โอ พระเจ้าองค์เดียวกัน แต่บูชาในนามต่างๆ กัน พระองค์แบ่งภาคอวตารมาเป็นเง็กเซียนฮ่องเต้บ้าง แบ่งภาคอวตารมาเป็นยะโฮวาบ้าง แบ่งภาคอวตารเป็นลิงกอริลล่าบ้าง อะไรต่างๆ ถ้าเขาว่าอย่างนั้น เราก็ถามเขาว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจริงแล้วไซร้ เราก็ไม่ต้องเปลี่ยนศาสนาสิ ท่านจะไปเผยแพร่ให้คนเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาท่านทำไมละ ก็ปล่อยให้เขานับถือพระเจ้าต่างๆ สิ พระเจ้าต่างๆ เป็นองค์เดียวกันแล้วนี่ ก็ไม่ต้องไปเผยแพร่ให้เขามานับถือศาสนาท่านสิ ท่านก็ไม่ต้องไปเผยแพร่ศาสนา ไม่ต้องไปล้างสมองเขา ไม่ต้องเอาหยูกยาเสื้อผ้าไปแจกเขาให้มานับถือศาสนาท่าน ป่วยการ เราเป็นพระเจ้าองค์เดียวกันหมดนี่ พระเจ้าแบ่งภาคเป็นปางต่างๆ นี่ เป็นจระเข้บ้าง เป็นเง็กเซียนฮ่องเต้บ้าง แล้วท่านจะมาลงทุนลงรอนมาเผยแพร่ศาสนาไปให้เขามาเข้ารีตนับถือศาสนาท่านทำไมเล่า ย้อนถามเขาอย่างนั้น ดูซิว่าจะตอบไม้ไหน มีท่าจะตอบไม้ไหน เพราะฉะนั้นพุทธศาสนานี่รอดตัว ไม่ต้องไปดึงภาคีบ้าน้ำลาย ทะเลาะชิงตำแหน่งพระเจ้ากับเขา ไม่ต้องเลย เคราะห์ดี พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่า ศาสนาเราใครเป็นคนสร้างโลกนะ ตรัสบอกว่าอวิชชาสร้าง อวิชชาก็อยู่ในตัวเรานี่แหละ อวิชชาก็มาจากในตัวเรานี่แหละ ภายในตัวเรานี่แหละสร้างโลก

เพราะผมได้เรียนให้ทราบแล้วว่า โลกทัศน์ในพระพุทธศาสนาไม่ได้เพ่งไปข้างนอกโลกที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงสมุฏฐาน สมุฏฐานของโลกอยู่ในตัวเรา ตัวเราเป็นโลก ๆ หนึ่ง จึงได้ตรัสกับโรหิตตัสเทวบุตร ในสังยุตนิกายบอกว่า

“ ดูก่อนเทวบุตร ตถาคตไม่บัญญัติว่าการถึงที่สุดของโลกจะไปได้ด้วยการไปด้วยเดินเท้า หรือด้วยเหาะเหินเดินอากาศก็ตามทีเถิด ไปไม่ได้ แต่ตถาคตบัญญัติคำว่าโลก ในอารยะวินัยนี้หมายถึง ร่างกายที่ยาววาหนาคืบนี่แหละ อันประกอบด้วย สัญญา คือใจนี่แหละว่าเป็นโลก เหตุเกิดของโลก ความดับของโลก “

การที่จะเดินทางไปสู่ความดับของโลกอยู่ที่นี่ นั่นคือหลักอริยสัจในร่างกายเรา ในชีวิตเรา หรือ ปฏิจสมุปบาท ในตัวเรา การที่ไปเพ่งโลกข้างนอกบอกว่า โลกวัตถุนี่หรือ โอกาสโลกมาจากใคร ใครเป็นคนปรุง ตามพุทธวิสัยถือว่าป่วยการเปล่า พระองค์จึงได้ตรัสแก่พระสาวกในป่าประดู่ลาย กำใบประดู่ในกำพระหัตถ์และถามบรรดาภิกษุสงฆ์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใบประดู่ในมือตถาคต กับใบประดู่ในป่านี่ ใครจะมากกว่ากัน พระสงฆ์ก็ทูลบอกว่า ใบประดู่ในป่ามากกว่าพระเจ้าข้า ตรัสว่า ฉันใดก็ฉันนั้น ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ตถาคตไม่ได้นำมาสอนเธอมามากมายเหลือเกิน แต่สิ่งที่ตถาคตสอนเธอมีจำนวนน้อย ข้อนี้เพราะเหตุเป็นไฉน ก็เพราะว่าสิ่งที่ตถาคตไม่เอามาสอนกับพวกเธอ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความสำรอกออกจากกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อ นิพพิทา เพื่อ วิราคะ เพื่อ นิโรธะ เพื่อ นิพานะแต่สิ่งที่ตถาคตนำมาสอนเธอจะต้องเป็นไปเบื้องต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อสำรอกกิเลส เป็นไปเพื่อ นิพพิทา วิราคะ นิโรธะ นิพานะ ถึงจะสอนสิ่งนั้น คือ อริยสัจ 4 ตรัสอย่างนี้

ไม่ใช่พระองค์ไม่รู้โอกาสโลกนี้มาแต่ไหน ไม่ใช่ไม่รู้ รู้ แต่ป่วยการเปล่า เอามาสอน ไม่มีประโยชน์ ถ้าเรารู้ว่า โลกนี้ใครสร้าง กิเลสเราหมดไปไหม เอาละ ถือว่าโอกาสโลกนี้ใครเป็นคนสร้าง ถ้ารู้แล้วกิเลสหมด ตัณหาหมด ก็ควรจะรู้ พระองค์เห็นว่ารู้แล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ รู้แล้วก็รู้ตามเขาว่า ตาเราก็มองไม่เห็น ไม่ได้เกิดจาก ยถาภูตญาณทัศนะ ฟังตาม ๆ เขานี่ ฟังผู้ที่มาพูดโลกนี้คนนั้นสร้าง รับรู้ไว้เท่านั้นเอง แล้วได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา

หลักการในพุทธศาสนาต้องการ ญาณทรรศนะ ที่เกิดกับตัวเอง จะได้ไม่เป็น อปราปรปัจจัย ไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเป็นความเชื่อ เป็นญาณทรรศนะ อันเป็นปัจจัตตัง ให้เกิดแก่ตัวเองเป็นสำคัญ นี่อันนี้สำคัญมาก เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตัดประเด็นปัญหาข้างนอกเสีย เหนื่อยเปล่า เสียเวลาเปล่า ชีวิตคนสั้นเกินไปที่จะมาไขว่คว้าศึกษาเรื่องโอกาส โลกที่ศึกษาไม่รู้จบ เราจะปล่อยชีวิตนี้ให้มันเป็นหมัน เรื่องการศึกษาเรื่อง โอกาสโลก ไม่รู้จบทำไม สู้มาศึกษาโลกที่เรามีอยู่แล้วไม่ดีกว่าหรือ เพราะฉะนั้นหลักการในพุทธศาสนาจึงเพ่งภายใน ไม่เพ่งภายนอก อันนี้พระองค์ได้ตรัสอุปมาว่าเหมือนกับคนเจ็บถูกศรเข้ามา ต้องลูกศรมาให้นายแพทย์รักษา ก่อนที่นายแพทย์จะถอนศรออก คนเจ็บบอกกับหมอว่า อย่าเพิ่งรักษาฉัน อย่าพึ่งถอนศรออกจากตัวฉัน ฉันอยากรู้ว่าคนยิงฉันเป็นใคร ผู้หญิง ผู้ชาย ลูกเต้าเหล่าใคร ตั้งบ้านเรือนที่ไหน แล้วฉันถึงจะให้รักษา หมอคนไหนที่รับไปสืบมาให้รู้ หมอคนนั้นก็โง่ คนไข้ต้องตายเปล่า กว่าจะเอาคำตอบมาคนไข้ตายไปแล้ว พิษลูกศรกำซาบตายไปก่อนแล้ว ไม่มีประโยชน์พระองค์จึงตรัสบอกว่า การที่เราไม่คิดฟุ้งซ่านในเรื่องโอกาสโลกว่าใครเป็นคนสร้างเอย ชีวิตดวงแรกนี้พ่อแม่เป็นใคร เป็นปัญหาอจินตัย โลกจินตาอจินตัย เป็นปัญหาที่ไม่ควรคิด คิดแล้วมีส่วนแห่งความเป็นบ้า คนบอ ตรัสอย่างนั้นนะ คือฟุ้งซ่าน เกิดความฟุ้งซ่านเหมือนคนบ้าคนบอ หาทางที่จะ อันติมะไม่ได้ คือ 1. พุทธวิสัย 2. กรรมวิบาก3. ฌานวิสัย 4. โลกจินตา

โดยหลักการพระพุทธศาสนาเรารอดตัว วิทยาศาสตร์ เจริญไปทางไหน ก็ไม่กระทบกระเทือนในหลักการอันนี้ วิทยาศาสตร์เจริญในยุโรปสมัยกลางนะ เอาพวกนักวิทยาศาสตร์ไปเผาตายทั้งเป็นไม่รู้จักกี่ร้อยกี่พัน นักวิทยาศาสตร์ในยุโรป ค้นพบความจริงว่าโลกกลมบ้าง โลกเป็นสะเก็ดดาวมาจากดวงอาทิตย์ โลกเป็นหมอกเพลิงมาก่อนบ้าง พวกศาสนจักรในยุโรปเขาไม่ยอม เขาบอกคัดค้านคัมภีร์ของเขา ถึงกับตั้งเป็นศาลศาสนาขึ้น มีพวกนักบวชในศาสนาฝรั่งเป็นผู้พิพากษา แล้วก็จับพวกนักวิทยาศาสตร์พวกนี้ให้กลับทิฏฐิ ถ้าปฏิเสธเรื่องพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก บอกว่าโลกนี้เป็นหมอกเพลิงมาจากดวงอาทิตย์ละก็ต้องฆ่า ฆ่าคนตายตั้ง ร้อย ๆ พัน ๆ

พวกนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้รักความจริง ยอมเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อจะรักษาต่อสู้กับความจริงอันนี้ ถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏบ้าง เป็นพ่อมดหมอผีจะมาปฏิวัติศาสนาบ้าง แล้วก็เอาตัวไปเผาไฟตายทั้งเป็น ศาลของศาสนาอย่างนั้นเขาเรียกว่า อินสปิทชั่น ศาลศาสนาที่ชำระคนที่มี ความคิดเห็นคัดค้านในคัมภีร์ลักษณะอย่างนั้นในพุทธศาสนาเราไม่มีเลย เป็นด้วงเป็นแมงอย่างนี้ไม่มีเลย เพราะอะไร เพราะศาสนาเราเป็น สัจจะ เราไม่ต้องกลัวใครมาคัดค้านหรือกลัวใครเขาจะมาสงสัย ยิ่งคนที่นับถือพุทธศาสนา นับถือโดยการคัดค้าน นับถือโดยการสงสัย ให้คัดค้านจริง ให้สงสัยจริงเถิด เราให้คนมาศึกษานะ ไม่ใช่คัดค้านประณาม แล้วไม่ศึกษา ไม่มาค้นคว้า เราท้าได้เลย ไม่ช้าแกต้องเลื่อมใส ถ้าแกมาศึกษาพุทธศาสนาด้วยความตั้งใจจริง ให้อ่านพระไตรปิฏกตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้ายเถิดแล้วค่อยมาคัดค้าน

เพราะฉะนั้นจึงมีคำพูดมีตัวอย่างในประเทศจีนเมื่อพุทธศาสนาแพร่หลายเข้าไปในเมืองจีน พวกนับถือศาสนาขงจื้อซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมของจีนเป็นเดือดเป็นร้อน คัดค้านพุทธศาสนาต่าง ๆ นานา ก็พอดีมีอุปราชจีนคนหนึ่งเป็นตัวตั้งตัวตี คัดค้านพุทธศาสนา แต่ภริยาของท่านอุปราชนี่เป็นชาวพุทธ บอกกับสามี บอกว่าเดี๋ยวก่อนการที่ท่านจะโจมตีศาสนาใดศาสนาหนึ่งว่าไม่จริง ท่านต้องศึกษาหลักการเสียก่อนซิ ท่านจะโจมตีโดยไม่รู้จุดอ่อนเขาได้อย่างไร ต้องค้นคว้าจุดอ่อนเขา เราจะได้มีเครื่องไม้เครื่องมือข้ออ้างเอาไว้โจมตีอย่างไรเล่า คือคุณนายรู้ดีแก่ใจตัวเองบอกว่าหลักธรรมพุทธศาสนานี้ไม่กลัวต่อการพิสูจน์ ใครยิ่งศึกษามากจะยิ่งติดมาก ยิ่งชอบใจมาก ฉันทะ จะต้องเกิด ก็ท้าผัวบอกว่าก่อนจะโจมตีต้องศึกษาก่อนจึงจะรู้จุดอ่อนของ พุทธ

เออ จริง เมียเราพูดจริง ผัวว่าอย่างนั้น เริ่มต้น ซื้อพระไตรปิฏกมาอ่านเชียวนะ อ่านเพื่อจะจับผิดเอาเป็นข้อโจมตี อ่านตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้ายเป็นเวลาติดต่อกันหลายเดือนทีเดียว พออ่านจบ เมียบอกถึงเวลาโจมตีพุทธศาสนาแล้วหรือยัง อุปราชบอกไม่โจมตีแล้ว จะเข้าวัดเป็นชาวพุทธแล้ว เมียถามว่าทำไมล่ะบอกว่าอ่านพระไตรปิฏกทุกหน้า เลื่อมใสและมีความเข้าใจถ่องแท้พุทธศาสนาก็เป็นเงาเกิดขึ้น ๆ ตามตัวเป็นลำดับมา บัดนี้ฉันเป็นชาวพุทธร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนอย่างเธอแล้ว ฉันต้องขออภัยด้วยที่ว่าเคยเข้าใจพุทธศาสนาผิด ๆ พลาด ๆ มาก่อนเพราะเหตุที่ว่าไม่เคยเรียนรู้หลักพุทธศาสนาเลย เห็นพุทธศาสนาแต่เรื่องวัดวาอาราม พิธีกรรมและก็โจมตีผิด ๆ ถูก ๆ ว่าอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นจึงเป็น คำพังเพยในประเทศจีนสมัยโบราณว่า คนที่จะโจมตีพุทธศาสนา ถ้ามัวไปอ่านคัมภีร์ทางพุทธศาสนาแล้วจะกลับถูกพุทธศาสนาโจมตีกลายเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าไป เขาว่าอย่างนั้น อันนี้เป็นความจริง เพราะฉะนั้นคนที่มาโจมตีพุทธศาสนาโดยมากเป็นพวกที่ปิดหูปิดตาตัวเอง ถ้าเรายื่นให้เขาอ่าน เขาก็ไม่อ่าน เขาจะโจมตีร่ำไป เขาไม่ยอมศึกษา อย่างนี้ อันนี้เป็นจุดเด่นในพุทธศาสนาของเราในข้อนี้

สำหรับวันนี้ก็เห็นจะได้เวลาชั่วโมงพอดี ก็ขอยุติเพียงเท่านี้สำหรับคำบรรยายในวันนี้นะครับ

ต่อไปนี้เป็นปัญหา

ถามว่า คนตายแล้ว ขันธ์ 5 ดับหมดใช่ไหม ถ้าเช่นนั้น ผู้ที่ไปเกิด เอาอะไรไปเกิด เพราะวิญญาณรวมอยู่ในขันธ์ 5 นี้ด้วย

ตอบ – ปัญหาข้อนี้ อย่าลืมซิครับ ขันธ์ 5 ก็เป็นสันตตินี่ครับ ปฏิสนธิวิญญาณถูกแล้ว มีวิญญาณขันธ์ แต่เมื่อวิญญาณขันธ์จะดับไป ก่อนที่มันจะดับ มันได้ส่งพลังงานไปในขณะที่ 2 ให้เกิดวิญญาณดวงใหม่เกิดขึ้น เป็นพลังงาน ทำนองพ่อส่งให้ลูก ลูกส่งให้หลาน เป็นกรรมพันธุ์สืบต่อกัน เพราะฉะนั้น ดวงเก่าดับก็ดับไปซิ แต่ก่อนจะดับมันส่งผลของพลังงานไปไว้กับดวงใหม่ที่จะเกิดขึ้นดวงใหม่เกิดขึ้นก็ต้องอาศัยดวงเก่าเป็นสมุฏฐานคล้าย ๆ ไฟ เราจุดเทียนไว้เล่มหนึ่ง แล้วก็คนหนึ่งเอาเทียนอีกเล่มหนึ่งมาต่อ ไฟจากเทียนของเราไป เป็นไฟคนละเล่ม แต่ไฟเล่มใหม่นี้ก็มาจากไฟเล่มเก่าเป็นเชื้อฉันใด วิญญาณขันธ์ดวงเก่าที่ดับไป ก็เป็นเชื้อให้เกิดวิญญาณขันธ์ในภพใหม่ เพราะฉะนั้นในข้อนี้ก็เป็นเรื่องของ สันตตินะครับ

ถามว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า อนัตตา ไม่มีตัวตน ตลอดไปจนถึง วิญญาณ ก็เมื่อคนมีกิเลสตายไปแล้ว เอาอะไรไปเกิด

ตอบ – คือ คำว่า ไม่มีตัวตน ในที่นี้ ไม่ใช่สูญเปล่านะ ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรนะครับ คำว่า ไม่มีตัวตน ในที่นี้ พระพุทธเจ้าไม่บอกว่า นัตถิกะ ถ้านัตถิกะ เป็นคำปฏิเสธเด็ดขาดว่าว่าง เหมือน สุญญากาศ นี่ไม่มีอะไร มันเวิ้ง ๆ โล่ง ๆ ไม่ใช่อย่างนั้น อนัตตาแปลเพียงว่า ไม่มีอัตตาที่เที่ยงแท้เท่านั้น อัตตามีอยู่ แต่ความมีอยู่ของ อัตตา ไม่ใช่อัตตาที่แท้จริง เข้าใจไหมครับ ไม่ใช่อัตตาที่แท้จริง คล้าย ๆ ฟองน้ำ ฟองน้ำมีไหม ฟองน้ำมีอยู่ แต่ว่าฟองน้ำอยู่ประเดี๋ยวก็ดับใช่ไหม ไม่เที่ยง มีอยู่อย่างไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า อนัตตา ไม่ใช่คำว่า นัตถิตา ไม่ใช่ คำนี้ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเลย เปล่า ๆ โล่ง ๆ เวิ้ง ๆ เป็นสูญญากาศ ไม่ใช่ ใช้คำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา สภาวธรรมอันนั้นอัตตา แปลว่า ยืนหยัดคงที่เป็นหนึ่ง แต่ อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ยืนหยัด ไม่คงที่ และไม่เป็นหนึ่ง แต่มีอยู่ มีอยู่อย่างไม่คงที่ มีอยู่อย่างไม่เที่ยง มีอยู่อย่างเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงเป็นภาวะมีอยู่ จึงสอน อนัตตา ต่างกับ นัตถิตา นะครับ

ข้อนี้ถามว่า พระพุทธเจ้ามิให้เรายินดี ในรูปถึงโผฏฐัพพะธรรม เหตุไฉนจึงตรัส ในปรมัตถธรรม มี รูป เสียง โผฏฐัพพะธรรม จะไม่ผิดกับคำว่ามิให้ยินดีในรูป เสียง เป็นต้นหรือ

ตอบ – ข้อนี้ท่านเข้าใจผิดครับ ข้อนี้คือว่า ในปรมัตถ์ที่ตรัสถึงเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง เป็นวิธีการ แสดงธรรมที่จะให้เราเห็นโทษของรูป รส กลิ่น เสียง เหมือนกับหมอ หมอเรียนวิชาแพทย์ต้องรู้สมุฏฐานของโรค ต้องจาระไนชื่อโรคออกมา ไม่อย่างนั้นจะรักษาได้อย่างไร โรคนี้คอหอยพอกนะ นี่มะเร็งนะ อหิวาต์นะ หมอต้องเรียนรู้ชื่อโรค และการที่หมอเรียนรู้ชื่อโรคจะว่าหมอยินดีในโรคได้อย่างไรเล่า ได้เรียนรู้ชื่อโรคก็เพื่อที่จะไปหาทางบำบัดโรคฉันใด ที่ตรัสเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะก็ฉันนั้น ต้องเรียนรู้สภาวะความจริง นี่เป็นทุกขสัจ นี่ของพวกนี้ ทุกขสัจต้องกำหนดรู้ทุกข์ รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ใช่สมุทัยนะครับ ไม่ใช่ ตัณหา ไม่ใช่ สมุทัยสัจ เป็น ทุกขสัจ ทุกขสัจต้องกำหนดรู้ เหมือนหมอเรียนรู้ชื่อโรคต่างๆ เรียนรู้สภาวะของโรคต่างๆ การที่หมอเรียนรู้สภาวะของโรคต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าหมอยินดีในโรคเหล่านั้น ตรงกันข้ามเลย เพื่อจะหาทางทำลายโรคมากกว่า

สำหรับปัญหาที่ผมบรรยายในวันนี้มีท่านผู้ใดสงสัยอีกไหม ขอให้ถามในวันนี้ ถามว่า ก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้าสู่เมืองไทย คนไทยเรานับถือศาสนาอะไรมาก่อน และผู้ที่เข้ามาเผยแพร่ๆด้วยวิธีไหน คนไทยเราจึงยอมรับนับถืออย่างไม่เสื่อมคลาย

ตอบ – คือ ข้อนี้ คนไทยเรานับถือพุทธศาสนามาก่อนที่จะมาอยู่เมืองไทยเสียด้วยซ้ำ คนไทยเรานับถือพุทธศาสนามาก่อนที่จะเข้ามาอยู่เมืองไทย กษัตริย์ไทยองค์แรกนับถือพุทธศาสนานั้นคือกษัตริย์แห่งอาณาจักรอ้ายลาว ราวๆ พ.ศ. 600 เศษ ชื่อขุนหลวงเมาหรือขุนหลวงเม้า กษัตริย์แห่งอ้ายลาว เวลานั้นไทยยังอยู่ในยูนานของจีนอยู่ เพราะฉะนั้นชาติไทยจึงเป็นคนชาติที่นับถือพุทธศาสนามากว่าพันปีแล้ว ตั้งแต่สมัยอ้ายลาว ชื่อขุนหลวงเม้า เมื่อมาอยู่เมืองไทย ถ้าถามถึงก่อนหน้านั้น คนไทยนับถือศาสนาผีป่า ผีเขา พหุเทวนิยม

ถามว่า – เมื่อคนไทยตายใหม่ ๆ บุตรหลานไปกราบไหว้ศพแล้วขอให้ดวงวิญญาณจงไปสู่สุคติหรือ ไปสู่ที่ชอบเช่นนี้ ดวงวิญญาณของศพนั้นจะไปตามที่ขอได้หรือไม่

ตอบ – ไม่ได้เด็ดขาด จะไปหรือไม่ไปอยู่ที่กรรมของคนตายเอง ไม่ใช่อยู่ที่ลมปากลูกหลาน ถ้าคนนั้นทำชั่วก็ตกนรกไป อ้อนวอนจนปากหักให้ไปที่ชอบ ไปไม่ได้แน่ครับ ข้อนี้แล้วแต่กรรม

ถามว่า – ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไก่เป็ดหมูปลาเป็นต้น ผิดศีล ชื่อว่าทำปาณาติบาต เมื่อเราไม่ฆ่าแล้วทำอย่างไร เราจึงจะได้สัตว์เหล่านั้นมาเป็นอาหารเล่า

ตอบ – เราก็ไม่ต้องกิน กินเจกินมังสวิรัติอย่างพวกแขกฮินดู กินแต่น้ำมันถั่ว กินแต่นม เขาก็ล่ำสันท้องพลุ้ยทุกคน สังเกตดูแขกท้องพลุ้ย ผู้หญิงแขกยิ่งท้องพลุ้ย อ้วน ไม่เชื่อไปดูแถวพาหุรัด สะพานหัน สำเพ็งซิ แขกผอมหาทำยายาก แขกผอมถ้าจะมีก็มีในอินเดีย ปกติแขกกินถั่วมีโปรตีนสูง กินนม กินเนย โปรตีนสูงทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นอย่ากลัวเลย ถ้าหากว่าเลิกฆ่าสัตว์แล้วกลัวจะไม่มีอาหารกิน ไม่ต้องกลัว อาหารผักนี่แหละดีที่สุด อย่ากลัวนะครับ

ถาม – คือในฐานะที่อาตมาจะต้องออกไปทำการเผยแพร่ พุทธศาสนานี่สมมติว่าถ้าไปมีนักเผยแพร่ศาสนา เขาถามขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อในพระพุทธเจ้า หรือว่าพระธรรม พระสงฆ์นี้ เขาบอกว่าจะมีหลักฐานอะไรที่ท่านเชื่อว่าพระพุทธเจ้าของท่านมีจริง..

ตอบ - อ๋อ ก่อนอื่น เราย้อนถามเขาว่า แล้วท่านมีหลักฐานอะไรที่ว่าพระเจ้าของท่านมีจริง พระเจ้าผู้สร้างของท่าน เชิญมาอภินิหารให้ต่อหน้าได้ ท่านลองเชิญพระยะโฮวามาดูต่อหน้าได้ ฉันจะเปลี่ยนศาสนาให้

ถาม – ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าหากว่าเขาไม่ให้เราถามแบบนั้น เขาถามชนิดที่ให้เราเป็นผู้ตอบ

ตอบ – เราก็บอกว่าที่เรารู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงเพราะธรรมะของพระองค์ปรากฏอยู่ เช่นพระไตรปิฏก

ถาม – ที่นี้ถ้าหากว่าเขาจะถามต่อไปอีกว่าธรรมะคนอื่นนอกจากพระพุทธเจ้าจะแต่งไม่ได้หรือ

ตอบ – แต่งได้ ผู้ที่แต่งธรรมะชนิดนี้ได้ คนนั้นคือพระพุทธเจ้าแล้ว

ถาม – คือถ้าหากว่าคนอื่น นอกจากพระพุทธเจ้าแล้วแต่งธรรมะไม่ได้หรือ

ตอบ – เราบอก แต่งได้อย่างไรครับ คนที่แต่งธรรมะได้อย่างนี้คือคนนั้นเป็นพระพุทธเจ้า นอกจากพระโคตมะก็เป็นพระพุทธเจ้า อีกองค์หนึ่ง ขึ้นมาแต่ง คือเป็นพุทธะองค์ใหม่

ถาม – อย่างนี้ก็หมายถึงว่า อาจารย์ เสถียรนี่อาจจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง

ตอบ – ไม่ได้ซิครับ เพราะคนที่จะแต่งธรรมะได้ พูดง่าย ๆ ว่าลอกน้ำลายของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้แต่งองค์แรก มาเขียนนี่ครับ ผมไม่มีปัญญาที่จะบัญญัติอริยสัจขึ้นได้ คือ มรรค 8 ขึ้นได้ ที่เรารู้อริยสัจ4 หรือมรรค 8 สามารถแต่งตำราธรรมะเล่มโต ๆ จำน้ำลายท่านมาเขียนต่างหากเล่าเขาบอกไม่ใช่พระพุทธเจ้า ไม่ใช่พระโคตมะ ต้องป็นคนเขียน ถูกแล้ว คนนั้นแหละเราเรียกว่า พุทธะแน่ละ เพราะพุทธะเท่านั้นที่จะเขียนอย่างนี้ได้ จะเป็นโคตมะ หรือไม่โคตมะก็แล้วแต่ คนนั้นที่แต่งธรรมะอย่างนี้ได้ คนนั้นคือพุทธะ ศาสนานี้เป็นศาสนาพุทธะ

ถาม – ธรรมะทั้งหมดนี้เป็นธรรมะที่เป็นของพระพุทธเจ้าทั้งหมดหรือ

ตอบ – เราไม่มีปัญญา คนชั้นหลังนี่ไม่เห็นมีใครมีปัญญาเขียนเรื่องอริยสัจ หรือ ปฏิจสมุปบาทหรืออภิธรรมออกมาได้เลย จำขี้ปากพระพุทธเจ้ามาทั้งนั้นแหละ ถ้าจะว่าไปแล้ว คนที่เป็นผู้ต้นกำเนิดธรรมะนี้เป็นใครเล่า เราย้อนถามว่า เป็นใคร เขาบอกก็คนนะซิ ไม่ใช่ พระโคตมะ เราบอกเอาเถิด จะเป็น โคตมะ พุทธเราถือว่าเป็นเพียงสมมติบัญญัติ ไม่สำคัญหรอก แต่คนที่สามารถเขียนธรรมะอย่างนี้ คนนั้น พวกเราถือว่าคนนั้นแหละคือ พุทธะ แล้วท่านจะเรียกเป็นอะไรก็แล้วแต่ ปฏิเสธว่าไม่ใช่ พระโคตมะ ก็ช่างเถิด แต่ฉันว่าใครเขียนธรรมะอย่างนี้ได้คนนั้นคือพุทธะที่ฉันเคารพกราบไหว้ก็แล้วกัน

ถาม – ผู้ที่อ้างธรรมะนี่เป็นหลักฐานว่า พระพุทธเจ้ามีจริง คือนอกจากพระพุทธเจ้าไม่มีแล้ว ใครจะแต่งธรรมะได้

ตอบ – การตรัสรู้มีอยู่พร้อมที่ทางโบราณคดีขุดศิลาจารึกขึ้นมา พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดขึ้นมาจากพวกศากยวงศ์ฝังเอาไว้ที่กรุงกบิลพัสดุ์ เวลานี้อยู่ที่ภูเขาทอง สุวรรณบรรพต วัดสระเกศนี่แหละครับ จะมีพระธาตุที่แท้จริง ไม่ใช่พระธาตุหิน พระธาตุกรวด อย่างที่อยู่ในกระเป๋าของชาวบ้านนะ พระธาตุที่แท้จริงที่เรากราบไหว้อย่างสนิทใจจริง ๆ ละก็ เมืองไทยเรานี่ไม่ต้องไปหาอื่นไกลที่ไหนเลย ตรงไปภูเขาทองทีเดียว บนนั้นแหละ พระบรมธาตุแท้ รัฐบาลอินเดียขุดได้ที่แขวงป่าในเมืองกลิบพัสดุ์ แล้วขุดพบในสถูปโบราณฝังอยู่ในตลับหลายชั้นตลับชั้นสุดท้ายจารึกเป็นอักษรบาลีรุ่นเก่าที่สุด รุ่นครั้งพุทธกาลจารึกบอกว่าสรีระส่วนนี้เป็นของ พระศากยมุณีอันพวกศากยวงศ์เป็นผู้ประดิษฐานไว้ คือว่าศากยวงศ์ฝ่ายปีกหะริวัน ซึ่งเป็นศากยวงศ์พวกหนึ่งเป็นผู้ได้รับส่วนแบ่งจากโทณะพราหมณ์แล้วก็เอาไปสร้างสถูปบูชา สถูปนี้ฝังดินฝังทรายเป็นระยะกว่า 2,000 ปี เพิ่งมาขุดพบเมื่อต้น รัชกาลที่ 5 รัฐบาลอินเดีย มีลอร์ด เคอร์สัน เป็นหัวหน้า เป็น Viceroy ดีใจทีแรกว่าต้องการจะเอาเข้าพิพิธภัณฑ์ แต่ตอนหลังพระไทยองค์หนึ่งชื่อว่า ชินะวรวงศ์ ไม่ใช่อื่นไกล พระไทยองค์นี้คือ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์ ท่านเป็นอัครราชทูตกรุงสยามประจำราชสำนักยุโรปตั้ง 10 กว่าประเทศเวลานั้นเฟี้ยวที่สุดเลย ถ้าจะว่าไปแล้ว เป็นนักเรียนนอกรุ่นแรกที่สุด พระองค์ปฤษฏางค์นี่เป็นฑูตไทยประจำสำนักเซนต์เจมส์ ประจำสำนักต่างๆ มากมาย ทีหลังท่านเบื่อ และขัดใจกับรัชกาลที่ 5 ด้วยเรื่องอะไรก็ไม่รู้ บวชที่ลังกา ไม่บวชเมืองไทย บวชที่ลังกาแล้วเอาเครื่องอิสริยาภรณ์สายสพาย สร้างเจดีย์บูชาบรรจุในพระเจดีย์หมด ที่วัดทีวพุทธฆารามในเมืองโคลัมโบ แล้วตัวท่านก็เดินธุดงค์ไปอินเดียพระองค์นี้ไปเห็นเขาขุดพบพระบรมธาตุส่วนนี้ พระชินะวรวงศ์ก็เสนอไวซ์รอยอินเดีย บอกว่าควรจะทูลเกล้าพระเจ้ากรุงสยาม เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดินประเทศเอกราชประเทศเดียวที่นับถือศาสนาพุทธในเวลานั้น ทางอินเดียก็ให้ฑูตมีหนังสือมากราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ได้ส่งพระยาสุขุม ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าพระยายมราช มหาปั้น เดินทาง เป็นผู้แทนต่างพระองค์ไปอัญเชิญพระบรมธาตุส่วนนี้มาประเทศไทยระหว่างที่มาในเรือ พระยาสุขุมไม่ค่อยเชื่อ เอ๊ะ พระธาตุแท้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ที่เราเชิญมาบรรจุในพระเจดีย์กะไหล่ทอง กำลังนึกสงสัยอย่างนี้เชียวนะ อยู่ในห้องเคบินในเรือ ทันใดนั้นพระธาตุองค์นั้นก็แสดงอภินิหารเป็นฉัพพรรณรังษีแผ่สว่างทั่วห้องเลย พระยาสุขุมนั่งอยู่บนเตียง เวลากลางวัน ตกตะลึงงันไปหมด เวลานั้นคนหน้าห้องหอของพระยาสุขุม เป็นขุน กำลังจะเข้ามาด้วยธุรกิจกับพระยาสุขุมเปิดประตูห้องเคบินเข้ามา เลยยืนตะลึงงัน มองพระบรมฐาตุแสดงปาฏิหาริย์ ตะลึงงั้นทั้งสองคนเลย เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าแน่แล้ว ส่วนนี้เชิญมาถึงเมืองไทย ตั้งไว้ที่วัดพระแก้วให้ประชาชนบูชา 3 วัน แล้วเวลานั้นชาวพุทธนานาชาติรู้ข่าว

ส่งผู้แทนมาขอส่วนแบ่งจากรัชกาลที่ 5 คณะสงฆ์พม่า คณะสงฆ์ลังกา คณะสงฆ์ญี่ปุ่น เดินทางมาเป็นการใหญ่ทีเดียว รัชกาลที่ 5 ก็แบ่งให้ กระทั่งเหลือแล้วถึงไปบรรจุไว้บนยอดภูเขาทองสุวรรณบรรพตเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นโดยหลักฐานโบราณคดี เราก็มีกระดูกพระพุทธจ้า เป็นพยานพระธาตุที่นักโบราณคดียอมรับทุกประการ

ถาม – การที่ประกาศศาสนาของชาวพุทธของเราอยู่ทุกวันนี้ซึ่งมีเรื่อง จิตว่าง กับไม่ว่าง อย่างที่เรามีการถกเถียงกันอยู่ เมื่อหากความหมายแห่งความว่าว่าง ในทรรศนะที่มีคุณลักษณะประกาศกันอยู่นี้ โดยที่รับรู้ อารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ในปัจจุบัน แต่เมื่อหากขณะจิตของบุคคลผู้นั้นว่ารับรู้ส่วนนั้นเป็นอารมณ์ แต่มิได้หมายความว่าละแล้ว จากความเห็นว่าเป็นอะไรกันอยู่ อันนี้จะเป็นผิดในทางพุทธศาสนาหรือเปล่า

ตอบ – เรื่องว่างนะครับ เรื่องว่างนี่ผมได้อธิบายไปแล้วว่า คนส่วนหนึ่งเข้าในผิดเรื่องว่าง คือว่า ว่าไปแล้วก็อดกล่าวถึงตัวบุคคลไม่ได้ อย่างกับท่านพุทธทาส ท่านแสดงเรื่องว่าง ท่านพูดดี ท่านเข้าใจพูด ว่างจากกิเลส ท่านอธิบายอย่างนี้ เข้าใจง่าย ผมไม่เข้าใจท่านผิดหรอกครับ ที่ท่านอธิบายเรื่องว่างนี่เข้าใจดีทีเดียว ท่านหมายถึงคำว่าว่างนี้ไม่ใช่ปฏิเสธว่าจิตไม่มีอะไร ท่านเป็นเพียงแต่ว่า จิตว่างจากกิเลส

อย่างเช่นว่าถ้าเป็น ตทังควิมุติ ก็ว่างชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ในขณะที่ข่มอารมณ์ได้บางขณะ ก็ว่างชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ในขณะที่ข่มอารมณ์ได้บางขณะ ถ้าเป็น นิสรณะวิมุติ หรือ สมุทเฉทวิมุติ ก็เป็นการว่างจากโลภ หลง โดยสิ้นเชิง ไม่น่าจะผิดแปลกอะไรนี่ เรื่องจิตว่าง ที่ท่านแสดงนี่ ถ้าพิจารณาตามเนื้อหาของท่านนี้

คราวนี้ที่ไปเข้าใจผิด ก็เพราะว่าไปเจอปัญหาว่า จิตนี้ไม่มีอารมณ์เสียเลย ปฏิเสธว่าจิตไร้อารมณ์ จิตไม่มีอารมณ์ ตอนนี้แหละนักศึกษาอภิธรรมฟังแล้วไม่ใคร่จะสบใจ เพราะเหตุที่ว่าขัดกับหลักในสภาวะอภิธรรม แต่ว่าท่านจะพูดถึงว่า จิตไม่เคยมีอารมณ์เสียเลย อยู่ที่ไหนบ้างผมจำไม่ได้ จะพูดหรือเปล่าก็ไม่รู้

คราวนี้ก็พูดโดยหลักกลาง ว่าตามแนวอภิธรรมถูกแล้ว นี่ว่าตามแนวอภิธรรมนะ ผมเป็นคนกลาง ๆ ไม่เข้าใครออกใคร พูดกลาง ๆ เราเรียนรู้ธรรมะมาก ๆ เรียนรู้พระพุทธศาสนา นานานิกาย ไม่ติดนิกาย เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราต้องเรียนรู้ธรรมะทุกๆ นิกาย เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ไม่ใช่ลูกศิษย์นิกาย ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า พุทธนิกายไม่ติดนิกายเซ็นหรือมหายานหรือหินยาน ไม่ติด ใครไปติดเรื่องของนิกาย เราก็ยังถือว่าห่าง ยังห่างมากที่ติดเรื่องลัทธินิกายนี้ นักศึกษาพุทธศาสนาที่ดีต้องไม่ติดนิกาย อันนี้สำคัญ ถ้าไปติดนิกายแล้ว นิกายนี้บังเราไม่ให้เข้าถึงธรรมะคือว่าเราไปติดนิกายว่า เอ นี่มหายาน ไม่ใช่พวกเรา ไม่ศึกษา ศึกษาแต่หินยาน ก็พอแล้ว มหายานนี่เป็นพราหมณ์เลยเลิก ของดี ๆ ในมหายานมีเยอะแยะ เราอดศึกษา ไม่มีทางที่จะมาเปรียบเทียบกับธรรมะในหินยานได้ หรือแม้แต่ในมหายานด้วยกันเอง มหายานต้องมหายาน มีตั้งหลายสิบนิกาย แต่ละนิกายก็บอกว่าของฉันดีที่สุด ของนิกายอื่นไม่ดี ของฉันเป็นยอดที่สุด นิกายอื่นสู้ฉันไม่ได้ หินยานก็สู้มหายานไม่ได้ เขาว่าอย่างนั้น พวกนี้ก็เลิกศึกษาหินยาน ไม่รู้ธรรมหินยาน เอะอะก็ว่าหินยานใจแคบ มุ่งเป็นอรหันต์ มุ่งเป็นโพธิสัตว์ โจมตีหินยาน หินยานก็โจมตีมหายานบอกว่ามหายานเราเรื่องของพราหมณ์มาใส่เยอะแยะ ที่ไหน มีนุ่งกางเกง ตีป๊อกแป็กอะไรก็ไม่รู้ กินข้าวเย็นไปว่าอย่างนั้น เลยโจมตีเรื่องนิกายเลยไม่รู้ธรรมะทั้งสองฝ่ายกันเลย ความจริงจะว่าเป็นนิกายอะไรก็ตามเถิด เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า สมณะศากยะแล้ว เรากราบได้ทั้งนั้น มีสุคติมโนหมด ไม่ใช่มหายานเขาไม่นับถือพุทธเมื่อไหร่ เขาก็ถือพระพุทธเป็นศาสดาเหมือนกันนี่ นี่แหละครับ

เพราะฉะนั้น เราจะเป็นนักศึกษาที่ดี อย่าไปสังกัดนิกาย ต้องศึกษาทุกนิกาย ศึกษาธรรมะทุกลัทธิของในพุทธศาสนาแล้วความรู้เราจะกว้างขวาง ใครมาจากไหน เราก็รู้ว่า อ้อ นี่ธรรมะจากนิกายนี้ ธรรมะจากนิกายโน้น เรารู้เพราะฉะนั้นอย่างผมนี่ ผมศึกษาทุกนิกายเลย พระไตรปิฏกหินยานก็อ่าน พระไตรปิฎกมหายานก็ค้นคว้า อ่านหมด แล้วเราก็ตัดสินว่าอันไหนแท้ อันไหนเป็นของปลอมมาทีหลัง อันไหนเป็นพุทธมติ อันไหนเป็นมติของเกจิอาจารย์ เราก็รู้

อย่างประเด็นเรื่อง จิตไม่มีอารมณ์เสียเลย ประเด็นอันนี้นะครับ ประเด็นอันนี้ตั้งมาเป็นมติของคณาจารย์ในนิกายเซ็นคณะหนึ่ง นิกายเซ็นมีหลายพวก แบ่งหลายสาขา แล้วแต่ละสาขาไม่ใช่เห็นพ้องกันหมดนะ ว่าจิตไม่มีอารมณ์ เป็นเพียงบางคณะ ๆ เท่านั้นเอง คณะนี้เป็นคณาจารย์ฝ่ายใต้ นิกายเซ็นฝ่ายใต้ในประเทศจีนฝ่ายเหนือไม่ยอมรับว่า จิตไม่มีอารมณ์ จิตต้องมีอารมณ์สิ ไม่มีอารมณ์ไม่ได้ ไม่มีอารมณ์ ไม่ใช่จิต นี่ฝ่ายเหนือเขาว่าอย่างนั้น เซ็นฝ่ายใต้บอกว่าจิตต้องไล่อารมณ์ให้หมดแล้วนั่นแหละ เป็นพุทธะ พุทธธาตุ อยู่ที่นี่ ว่าอย่างนั้น นิกายเซ็นฝ่ายเหนือบอกไม่ได้ จิตไม่มีอารมณ์ไม่ได้ ขึ้นชื่อว่าจิตแล้วต้องมีอารมณ์ นิกายเซ็นฝ่ายเหนือก็เข้ากับพวกอภิธรรมในเมืองไทยเราหลักอภิธรรมเถรวาท ไม่ใช่เมืองไทยหรอก เถรวาทจะอยู่เมืองไทยไม่ได้ อภิธรรมในเถรวาท นี่แหละกล่าวบอกว่า จิตต้องมีอารมณ์ นิกายเซ็นฝ่ายเหนือก็บอกว่าจิตมีอารมณ์ แล้วนิกายมหายานเช่นว่า นิกายโยคาจาร นิกายธรรมลักษณะ และก็ นิกายมาทะยัมมิกะ อันเป็นนิกายสำคัญ ในพุทธศาสนา มหายานก็บอกว่า จิตมีอารมณ์ทั้งนั้น มีแต่นิกายเซ็นฝ่ายใต้เท่านั้นที่บอกว่า จิตไม่มีอารมณ์

ปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาใหม่ เขาเถียงกันมานานแล้ว พันๆ ปีแล้ว ปัญหานี้เรื่องเก่าเล่าใหม่ครับเหมือนกับว่าจิตเดิมแท้ ว่าจิตประภัสสร จิตขุ่นหมองเพราะว่า อาคันตุกะกิเลสจรมา บอกว่าประภัสสร นี่แหละเป็นจิตว่างละ ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาพึ่งเกิดในเมืองไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ เถียงกันมาแต่อินเดียโน่น นิกายพุทธศาสนาในอินเดีย พวกหินยานนะ หินยานในอินเดีย 18 นิกายในอินเดียนะ พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วเป็นร้อย ๆ ปี พุทธศาสนาฝ่ายหินยานของเรานี่แบ่งเป็น 18 นิกาย ตั้ง 18 นิกาย ก็มีนิกายใหญ่คือ นิกายมหาสังคิกะ นิกายมหาสังคิกะบอกว่า จิตเดิมแท้บริสุทธิ์ ปะภัสสะระ มิทัง จิตตัง ภิกขะเว นี่ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติจิตประภัสสร นิกายมหาสังคิกะ ไม่แปลประภัสสรแล้ว แปลบอกว่า บริสุทธิ์ เลยจิตว่าง บริสุทธิ์ ตั้งแต่เดิมเลยทีเดียว ที่ขุ่นหมองไปก็เพราะว่ากิเลสภายหลังจรเข้ามา นี่ว่าอย่างนั้นอีกนิกายหนึ่งคือ นิกายสรวาสติวาท เป็นหินยาน เหมือนกัน นิกายสรวาสติวาทบอก ไม่ได้ ท่านว่าอย่างนี้ผมไม่ร่วมสังฆกรรม กับท่าน แล้วแยกทำสังฆกรรมกัน เราแยกพูดกันดีกว่า ผมไม่เห็นด้วยอันนี้ ไม่ใช่แปลว่า จิตบริสุทธิ์ คำนี้หมายเพียงแต่ว่า ไม่มีนิวรณ์ มาเคลือบแฝงเท่านั้นเอง เป็นภวังคจิต เหมือน อภิธรรมเถรวาท นี่ นิกายสรวาสติวาท มหาสังคิตะกับสรวาสติวาทก็ลงไปทะเลาะกันในเรื่องนี้ เรื่อง จิตบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ทะเลาะกันเรื่อง ทิฏฐิ เพราะฉะนั้นปัญหาพวกนี้พิจารณาไปแล้ว ถ้าเราศึกษาพุทธศาสนาทุก ๆ นิกายแล้ว เป็นเรื่องน่าหัวเราะ คือไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเรื่องที่เขาถกเถียงกันมาตั้งแต่อินเดียครั้งกระโน้นแล้ว เป็นอย่างนี้ครับ

ถาม – คือ อาตมามีความสงสัยเช่นนี้ เช่นมาดูส่วนมโนวิถีจิต มีคำหนึ่งที่ปรากฏไว้ว่าเป็นอวิภูตารมณ์ คือมีอารมณ์ที่ไม่ปรากฏ ทีนี้อาตมาเลยมาคิดในความหมายของตัวเองว่าขณะใดอารมณ์ที่ไม่ปรากฏนั้น เวทนา ฯลฯ

ตอบ – อารมณ์ไม่ปรากฏ อารมณ์ข้างนอกไม่มากระทบไม่มาปรากฏ แต่ว่าอารมณ์ข้างในที่ภวังค์ถือเอากรรมนิมิตคตินิมิต เป็นอารมณ์มีอยู่นี่ครับ สัญญา เวทนา ท่านอย่าลืมนะครับ เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกนี่ มีทั่วไปเป็นสาธารณะ เรี่ยราดแก่จิตทุกดวงนะ ทั้งอกุศล ทั้งอพยากตะ ทั้งกุศล นี่สัญญากับเวทนานี่

ถาม – ขณะที่เราไปเห็นนั้น มันเห็นด้วยปัญญา เห็นความว่างคือความดับของทุกขสัจจ์นั้น เห็นทุกขสัจจ์ดับลงไปสนิทอย่างนั้น หลังจากทุกขสัจดับลงไปแล้ว ไม่มีอะไรทุกขสัจจ์ใหม่ก็ยังไม่เกิด การที่ใช้ปัญญาในมรรคจิตเข้าไปรู้ตรงนี้จะชื่อว่ารู้ความว่างไหม

ตอบ – รู้ความว่างซิ มรรคสัจทุกอันจะต้องสัมปยุตด้วยความว่าง ว่างในที่นี้ว่างจากโลภ โกรธ หลงนะ ไม่ใช่ว่างจากอย่างอื่นนะครับ ต้องว่างจาก โลภ โกรธ หลง อารมณ์ฝ่ายอกุศลว่าง อกุศลเจตสิกว่าง ว่างอย่างนี้ไม่ใช่ ตัวมันเองพลอยไม่มีไปด้วย ไม่ใช่นะ ตัวมันเองมรรคสัจมีอยู่ ต้องมีนิพพานเป็นอารมณ์นี่ ตั้งแต่โคตรภูมิก็เอานิพพานเป็นอารมณ์ แล้วจิตในขณะนั้น เพราะฉะนั้นคำว่า จิตว่าง ในที่นี้หมายถึงว่างจากกิเลสอันสมควร แก่ชั้นภูมิที่มรรคจิต จะพึงละ ต้องพูดอย่างนี้ ต้องพูดกลาง ๆ พูดว่าจิตว่างคำเดียวไม่ได้ ต้องบอกว่างจากกิเลสอันสมควรแก่ชั้นภูมิซึ่งมรรคจิตจะพึงละ ต้องว่าอย่างนี้

ถาม – ถ้าหากว่าเราใช้ของนิกายอื่นเข้ามาเจือปนในพระพุทธศาสนาแล้วอย่างนี้ แทนที่จะทำให้พุทธศาสนาเจริญ อย่างที่อาจารย์ว่า ควรเรียนทุก ๆ ศาสนา แต่ว่าอย่างนั้นจะทำให้พระศาสนาเจริญได้อย่างไรในเมื่อเราพยายามเอาธรรมะนอกศาสนานี้มา

ตอบ – ไม่ใช่นอกศาสนาครับ ไม่ใช่ครับ เป็นศาสนาพุทธนี่แหละ

ถาม – แต่นอกลัทธิ

ตอบ – เพราะฉะนั้นในประเด็นปัญหาข้อนี้ก็ต้องอยู่ที่ตัวผู้เผยแพร่เองว่าจะกำหนดว่าเรานี่จะประกาศพุทธศาสนานิกายไหน ต้องถามตัวเรา เราจะประกาศตามคติเถรวาท หรือ ประกาศตามคติฝ่ายมหายาน ต้องถามอย่างนี้ แต่ถ้าจะว่าศึกษาละก็ไม่ใช่พูดเข้าข้างนะครับพูดไปแล้วผมก็เห็นว่า ธรรมะในนิกายเถรวาทนี่ บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งกว่านิกายอื่น เท่าที่ผมศึกษามา ทั้งเถรวาททั้งมหายาน ทุกนิกาย ผมเรียนรู้มาหมดแล้ว เมื่อสรุปผลแล้วรู้สึกว่า ธรรมะในนิกายเถรวาทของเรานี้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งกว่านิกายอื่นเขา นิกายอื่นเขามีอะไรที่ดัดแปลงไปตามที่ เกจิอาจริวาทะมาก เป็นอย่างนี้ครับ รู้สึกอย่างนั้นเพราะฉะนั้นเราเผยแพร่คติเถรวาทนี่ถูกแล้ว และที่เราเรียนออภิธรรมนี่ก็ถูกแล้ว อภิธรรมนี่เกิดขึ้นเพื่อจะแก้ปัญหาเรื่องต่อต้าน เรื่องเกิดนานาวาทะขึ้นมา อย่างพระโมคลีบุตรติสสะเถรเจ้าแต่งกถาวัตถุ ถ้ามีกถาวัตถุนี่ใน คัมภีร์กถา วัตถุ มีข้อแก้หักล้าง วาทะนิกายอื่นตั้ง 200 กว่าวาทะ กถาวัตถุนี่แหละ อภิธรรมที่เราเรียนกันนี่เขียนเฉพาะคัมภีร์ ทิ้งกถาวัตถุ หารู้ไม่ว่ากถาวัตถุนี้สำคัญที่สุด เพราะอินเดียในครั้งกระนั้น ผมได้เรียนให้ทราบแล้วว่า เถรวาทเอง แตกเป็น 18 พวก 18 นิกาย ต่างนิกายต่างมีอภิธรรม มีพระไตรปิฏกของตัวเอง มีข้อปัญหาทางทรรศนะทางธรรม ทางวินัยแตกต่างกันไป พระโมคลีบุตรติสสะ ซึ่งเป็นพระเถระฝ่ายเถรวาทบริสุทธิ์ ท่านก็ร้อนใจ เห็นว่ากลัวพระเถรวาทนี่จะเขวไปฟังมติ ของอาจารย์นิกายอื่นแล้วจะเขว จึงได้แต่งกถาวัตถุขึ้นมาเพื่อที่จะชุมนุมคำถามคำตอบว่านิกายอื่นเขาว่าอย่างนี้ เถรวาทเราจะต้องตอบเขาอย่างนี้ แก้อย่างนี้ ตั้ง 200 กว่าวาทะ กถาวัตถุนี้ คัมภีร์เล่มนี้ หากมีโอกาสนะ ผมอยากจะนำมาสอนเหมือนกัน ว่าไว้ละเอียดมาก พิศดารเหลือเกิน ไปปาฐกถาที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยให้ชื่อว่า วิจัยคัมภีร์กถาวัตถุ นึกว่าถ้าวันเสาร์ที่ไม่ตรงกับวันพระอุโบสถ ไปปาฐกถา ถึงบัดนี้เพิ่งไปได้เพียง 2 ครั้ง 3 ครั้ง เท่านั้นเอง ยังอยู่ปัญหาข้อ 1 มีตั้ง 200 กว่าปัญหา พึ่งปาฐกถาจบไปข้อหนึ่ง ถ้าจบทั้งคัมภีร์ เห็นว่าชีวิตจะสั้นเกินไปกระมัง ปาฐกถา 2 ปี พึ่งจบไป 1 ปัญหา

คัมภีร์กถาวัตถุนี้สำคัญ สำคัญอย่างยิ่งทีเดียว ปัญหาเรื่องจิตว่างไม่ว่าง มีอยู่ในนั้นเสร็จ เป็นปัญหาของนิกาย มหาสังคิกะ เขาถือบอกว่า จิตเดิมแท้บริสุทธิ์ จิตว่างจากกิเลส มหาสังคิกะนิกายนี้ชื่อมหาสังคิกะ เถรวาทเราคัดค้าน เพราะฉะนั้นการศึกษานี่ ถ้าเรารู้หลายๆ นิกาย เราก็รู้ว่า อ้อ อธิบายอย่างนี้มาเข้าเค้านิกายนี้ เรารู้ หนังสือธรรมะในเมืองไทยที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่ง เรื่อง เพชรในหิน ท่านเคยอ่านบ้างไหม กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา เขียน

ผมอ่านเพชรในหินปั๊บ ผมรู้เอามาจากไหน ไม่ใช่เถรวาท เอาธรรมะเถรวาทมาอธิบาย แต่รู้มาจากมหายานนิกายหนึ่งคือว่า นิกายภูตะกทะตาวาทิน ถือว่า จิตอมต จิตเป็นผู้รู้ขันธ์ ผู้ปล่อยขันธ์ ถ้าวางขันธ์ จิตไม่ใช่ขันธ์ จิตไม่ใช่วิญญาณ นี่ก็ขัดกับหลักอภิธรรมซิ อภิธรรมบอกจิตคือวิญญาณขันธ์อันเดียวกัน มติในหนังสือเพชรในหินของกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ท่านแสดงว่า จิตนี้เที่ยงเป็นอมต จิตเป็นแก่นไตรภพ นิพพานคือจิต จิตคือนิพพาน จิตไม่ตาย ที่ตายไม่ใช่จิต เป็นอาการของจิต คือ วิญญาณ วิญญาณไม่ใช่ตัวจิต เป็นอาการของจิต นี่ถ้าหากว่าเรามาอ่านอย่างพวกนิกายเพียงนิกายเดียว เถรวาทมาอ่านก็โวยวาย นี่มิจฉาทิฏฐิ ไม่ได้แล้ว โวยวายใหญ่แต่ผมไม่โวยวาย ผมอ่านรู้แล้ว อ้อ ท่านผู้นี้คงจะอ่านแต่ตำราฝรั่ง เอานิกายของมหายาน นิกายหนึ่ง ภูตะทคตาวาท เอามาเขียน รู้แล้ว เพราะฉะนั้นการที่เราเป็น พหูสูต ศึกษาหลาย ๆ นิกายได้เปรียบกว่าเขามากครับ

วันนี้เห็นจะพอสมควรแก่เวลานะครับ ขอจบเพียงเท่านี้ครับ

 

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats