- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 20 พฤศจิกายน 2555 13:41
- เขียนโดย Astro Neemo
เนปาลชาติภูมิของพระพุทธเจ้า
เนปาลเป็นประเทศเอกราชเล็กๆ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ตั้งขนานไปตามแนวมหาบรรพตหิมาลัย หรือทางทิศใต้และตะวันตกของประเทศทิเบต ทิศตะวันออกจดแคว้นสิขิม นอกนั้นมีเขตติดต่อกับอินเดีย พื้นที่ประเทศประมาณ 54,000 ตารางไมล์ เนปาลเป็นอาณาจักรสุดท้ายที่พระพุทธศาสนายังไม่ขาดสูญหายไป ในขณะทีอินเดียทั้งประเทศพระพุทธศาสนาได้ขาดสูญไปแล้ว (สมาคมมหาโพธิและสมาคมพุทธศาสนาอื่นๆ ในอินเดียปัจจุบันเป็นของเกิดขึ้นมาใหม่) ภูมิประเทศประกอบไปด้วยที่ราบสูงและโขดเขาที่ติดต่อกันเป็นพืดสลับซับซ้อนเป็นทิวยาวเหยียด ภูเขายอดสูงๆ ในโลกได้มาชุมนุมราวกับแข่งขันความสูงกันอยู่ในประเทศนี้ แต่ละยอดสูงชะลูดพุ่งขึ้นไปในท้องฟ้า แล้วหายเข้าไปในกลุ่มเมฆหมอก ยอดเขาที่สูงที่สุด คือยอดเขาเอเวอเรสหรือเคารีสังกร สูงถึง 2 หมืน 9 พันฟิต นอกจานี้ชุนเขาที่สูงขนาด 2 หมืน 7 พันฟิตมีอยู่ถึง 3 ยอด สูงขนาด 2 หมื่น 6 พันฟิต มีอยู่ 8 ยอด ขนาด 2 หมื่น 5 พันฟิต มีอยู่ 12 ยอด และสูงขนาด 2 หมื่น 4พันฟิต มีอยู่ถึง 26 ยอด ดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยเลยว่าเหตุใดยอดเขาที่มีชื่อเสียงว่าสูงในโลกนี้ทั้งหมด 20 ยอดนั้น ได้มาเป็นยอดเขาในเทือกหิมาลัยเสียตั้ง 13 ยอด เนปาลจึงได้ชื่อว่าเป็น 'คีรีนคร' หรือเมืองภูเขา บ้านเมืองในเนปาลตั้งกันอยู่บนภูเขาบ้าง , เนินภูเขาบ้าง, ตั้งในหุบเขาบ้าง, การคมนาคมก็ยากลำบาก ต้องขึ้นเขาลงเขาบุกป่าฝ่าหนามจะหาที่ราบเตียนๆ เดินนานๆหลายวันเป็นไม่มี การขนสัมภาระหนักๆต้องใช้ลวดขึงเป็นสายแล่นไปในอากาศคอยชักเอาสัมภาระวัตถุหนักๆ เช่นรถยนต์เป็นต้นขึ้นไป ภูมิภาคเนปาลแบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ได้ 3 ส่วน คือถิ่นแถบภูเขาสูง ซึ่งได้แก่ภูมิภาคแถบทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก โดยเฉพาะทางทิศเหนือที่ติดต่อระหว่างแดนของเนปาล-ทิเบต แผ่นดินมีความสูงจนได้ชื่อว่าเป็นหลังคาโลก ภูมิภาคของถิ่นภูเขาสูงนี้มีระดับสูงกว่าน้ำทะเล 1 หมื่นฟิตขึ้นไป ถิ่นเนินเขาหุบเขาอยู่ระหว่างถิ่นภูเขากับที่ราบต่ำ มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ พื้นที่อุดม เป็นแหล่งที่มีพลเมืองคับคั่ง ระดับพื้นสุงกว่าน้ำทะเล 1 พันถึง 1 หมื่นฟิตและส่วนภูมิภาคแถบที่ราบต่ำ มีความยาวไปตามชายอาณาเขตทางทิศใต้ของเนปาลที่ติดต่อกับอินเดีย พื้นที่ชื้นแฉะ มีป่าหญ้า ป่าดงดิบ และความไข้ชุกชุม บางแห่งก็แห้งแล้ง น้ำท่ากันดารในฤดูร้อน ระดับพื้นสูงกว่าน้ำทะเล 250 ถึง 1 พันฟิต เนื่องด้วยเนปาลมีภูเขามาก จึงพลอยมีห้วยละหานลำธารและแม่น้ำใหญ่น้อยไหลคดเคี้ยวมีน้ำใสเย็นสนิท มีสระ บึงที่ดารดาษด้วยดอกโกมุท ดอกปุณฑริก ดอกอุบลและดอกปทุม ส่งกลิ่นหอมระรื่น ในกระแสชลเล่า ก็มีหมู่มัจฉาชาติ พากันว่ายแหวกเล่นน้ำอยู่ไปมา เครือเขาเถาวัลย์ก็ขึ้นปกคลุมเป็นดงทั่วไป ล้วนแล้วสมบูรณ์ไปด้วยเหล่าสัตว์จตุบาท ทวิบาทอเนกชนิด เช่น เสือโคร่ง เสือดาว หมี งู ลิง กวาง ซึ่งมีมากที่สุดช้างก็ชุม อยู่กันเป็นโขลงใหญ่ๆ บางโขลงตั้งร้อยสองร้อยเชือกขึ้นไป ส่งเสียงร้องท่องเที่ยวไปในอารัญญ์ บ้างก็ลงเล่นน้ำในสระโบกธรณี พ่นน้ำเป็นฝอยละอองดูงามตา สัตว์อื่นๆ เช่น โคถึกกระบือเถื่อนก็อยู่กันเป็นฝูง สัตว์ที่หายากคือแรดก็มีอยู่ในป่าเนปาล เหล่าสกุลชาติ อาทิเช่น นกยูง นกดุเหว่า นกกระเรียน อีกทั้งนกสาริกา การะเวก โนรีและนกแก้ว ต่างก็เปล่งเสียงร้อยขับขานจะเจื้อยแจ้วระคนด้วยเสียงของหมู่วานร ดังสนั่นกึกก้องทั้งพงไพร ยามราตรีก็มีเสียงคำรณแผดร้องของเหล่าพาลพยัคฆ์ ประกอบทั้งเสียงจักจั่นเรไรที่หริ่งร้อง ป่าทั้งหลายประหนึ่งว่ากระทำการบรรเลงสังคีตอยู่มิขาด ตามแถบขุนเขาสูงๆ ขึ้นไปมีแต่หิมะปกคลุมอยู่ตลอดเวลา อากาศเยือกเย็นจัดไม่มีสิ่งที่มีชีวิตใดๆ อาศัยอยู่ ในป่าลึกหรือถ้ำเขาบางแห่ง เราจะพบสำนักของพวกโยคีบำเพ็ญพรตเจริญฌานกันอยู่ บางคนมีอายุเกินร้อยปีขึ้นไปแต่ยังดูหนุ่มแน่น และบางคนได้สำเร็จฤทธิ์เป็นมหัศจรรย์ เช่น เหาะได้ อยู่กินกับเสือได้มีหูตาทิพย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นความลึกลับที่ชาวโลกในปัจจุบันไม่ยอมเชื่อว่าเป็นไปได้ แต่มันก็ได้เป็นไปแล้วเช่นนี้แหละ ตกว่าทิเบตได้นามว่าประเทศแห่งความลี้ลับหรือดินแดนมหัศจรรย์อย่างไร เนปาลก็มีสภาพคล้ายคลึงกันอย่างนั้น เนปาลเป็นประเทศที่อยู่ในป่าหิมพานต์จริงๆ ในป่าเนปาลมิใช่อื่นไกลที่ไหน คือป่าหิมพานต์ที่พวกเราอ่านพบกันในวรรณคดีนั่นเอง แต่จะมีพวกกินนร กินนรี นาค ครุฑ และต้นนารีผลตามที่กล่าวพรรณนาไว้หรือไม่ เราไม่อาจทราบได้ เพราะยังไม่มีนักสำรวจคนไหนได้สำรวจป่าเขาของเนปาลหมดละเอียดทุกแห่ง อาจจะมีสิ่งประหลาดเหล่านี้ซ่อนอยู่ในป่าเขาแห่งใดแห่งหนึ่ง ใครเลยจะรู้ถึง
แม่น้ำในเนปาลที่สำคัญ เช่นแม่น้ำมหากาลี แม่น้ำการนาลิ แม่น้ำแคนคัด แม่น้ำมหากาลี เป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างเนปาล-อินเดีย กระแสน้ำไหลลงสู่ทิศใต้เข้าแดนอินเดียว ชาวอินเดียเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า สารธาร บริเวณสองฝั่งตอนต้นของแม่น้ำมหากาลี เต็มไปด้วยขุนเขาอากาศแห้งแล้ง ที่ดินไม่อุดม แต่ตอนล่างของแม่น้ำกลับตรงกันข้าม สองฟากฝั่งมีป่าไม้เบญจพรรณขึ้นเต็มเป็นดง อากาศและพื้นที่ชื้นแฉะ ความไข้ชุกชุม แม่น้ำการนาลิ ต้นน้ำเกิดในทิเบต ใกล้เคียงกับที่เกิดของแม่น้ำสินธุในอินเดีย เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดสายหนึ่งของเนปาลเมื่อไหลผ่านอินเดียมีชื่อว่า โกคระ แม่น้ำแคนคัดเป็นแม่น้ำสำคัญอีกสายหนึ่ง มีสาขามากถึง 7สาย บริเวณสองฝั่งแม่น้ำมีธรรมชาติป่าเขางดงามมาก นอกนี้ก็มีแม่น้ำโกสี ซึ่งมีสาขาแยกออกไปถึง 7 สายเช่นเดียวกัน
มนุษยชาติเนปาล เป็นมนุษยชาติที่สับสนปะปนด้วยคนหลายเผ่าหลายภาษา ปรากฏว่าภาษาที่ใช้พูดมีไม่เหมือนกันถึงร้อยภาษา ห่างกันเพียงคนละหมู่บ้านเท่านั้นก็พูดจากันไม่รู้เรื่อง แต่ถึงแม้จะยุ่งเหยิงด้วยคนหลายจำพวก เราก็พอแบ่งสรุปได้เป็น 3 เผ่าใหญ่ๆด้วยกัน คือมนุษย์เผ่ามองโกเลีย ซึ่งมีผิวเหลืองหนึ่ง มนุษย์เผ่าอารยัน ซึ่งมีผิวขาวหนึ่ง และมนุษย์เผ่าดารวิเดียนซึ่งมีผิวกายดำอีกหนึ่ง ทั้งสามเผ่าได้แบ่งแยกสาขาออกไปอีกมากมาย ส่วนภาษาพูดนั้นได้แบ่งได้เป็นสามจำพวกด้วยกัน คือภาษามันทะ ซึ่งเป็นภาษาตระกูลดราวิเดียน มีคนเผ่าต่างๆที่ใช้ภาษาพูดสงเคราะห์ในตระกูลภาษานี้ถึง 8 เผ่าด้วยกัน คือ เผ่าคามิยา เผ่าไม่ยังลี เผ่าเกาทันซ์สี เผ่ากัมพู เผ่ายักษา เผ่าวายุ เผ่าลิมพู เผ่าทามี
ภาษาตระกูลทิเบต-พม่า มีคน 5 เผ่าที่ใช้ภาษาพูดสงเคราะห์ลงในภาษาตระกูลนี้ คือ เผ่ากุรังส์ เผ่ามากาส เผ่าเนวาร์ เผ่าสันวาร์ เผ่ามูรมี่
ภาษาตระกูลอารยันอินเดีย มีคนหลายเผ่าที่ใช้พูด คนเผ่ากุรข่านก็ใช้พูด เป็นภาษาที่มีอิทธิพลที่สุดเพราะถือว่าเป็นภาษาของรัฐฯ เรียกว่าภาษาเนาปาลี ทั้งนี้เพราะชนชั้นปกครองของเนปาลเป็นพวกกุรข่า แต่อย่างไรก็ดี ภาษากุรข่าเองก็ปรากฏว่าได้มีภาษาในตระกูลทิเบต-พม่าปะปนอยู่ด้วยมิใช่น้อย ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นเพราะการถ่ายเทวัฒนธรรมของชนสองเผ่านี้ ภายหลังที่พวกกุรข่าได้เข้ามาอยู่ในเนปาลแล้ว ชนชาติตั้งเดิมในเนปาลคือพวกดราวิเดียน ต่อมามีพวกเผ่ามองโกเลียอพยพจากทิเบตและเอเชียกลางเข้ามาอยู่และนำอารยธรรมมาให้ ภายหลังก็ปรากฏว่ามีพวกอารยันอพยพตามเข้าไปอยู่บ้างแต่ยังไม่มาก จนกระทั่งถึงสมัยที่อินเดียบ้านแตกสาแหรกขาดด้วยพวกอิสลามมารุกรานบีฑา พวกอารยันจึงได้อพยพหลบหนีภัยเข้าไปในเนปาลทวีจำนวนมากขึ้น จนกลายเป็นมนุษย์เผ่าสำคัญขึ้นหน้ากว่าชนทุกเผ่า
พระพุทธศาสนาที่ถือกันในเนปาล เป็นพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายมันตระ หรือนิกายคุยหยาน (นิกายลับ) เช่นเดียวกับในทิเบต เคลือบหุ้มด้วยลัทธิธรรมเนียมและพระเป็นเจ้าของพราหมณ์มากมาย พุทธศาสนิกชนไปเทวลัยบูชากราบไหว้พระศิวะ และพระนารายณ์ เพราะในพุทธวิหารมีเทวรูปพระเป็นเจ้าของเขาประดิษฐานอยู่
ส่วนการนมัสการพระพุทธรูป พวกฮินดูก็ไหว้สนิทใจด้วยถือว่าเป็นพระนารายณ์อวตารปางที่ 9 คือพุทธาวตาร เข้าทำนองว่าพุทธ กับไสย ย่อมอาศัยแก่กัน แม้ในลัทธิคำสอนของพระพุทธศาสนา นิกายมันตระก็เกิดลัทธิธรรมปฏิรูปเข้ามาเจือปนมาก เกิดถือลัทธิสวยัมภูวนาถพุทธเจ้า หรืออาทิพุทธะ คือ พระพุทธเจ้า ผู้ทรงเกิดขึ้นเอง เป็นพระพุทธเจ้าองค์ปฐมของโลก มีสภาวะเป็นอมตะไม่มีเบื้องต้นและเบื้องปลาย พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นมายาศักดิ์ของพระสวยัมภู หากสำแดงขึ้นเพื่อโปรดสรรพสัตว์ แท้จริงย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในองค์อาทิพุทธะทั้งสิ้น แม้จนสากลโลกทั้งปวงก็เป็นดุจเงาของพระ ผู้เกิดเองฉะนี้ คติดังกล่าวแล้วนี้แท้ก็คือเอาลัทธิปรมาตมันของพราหมณ์มาดัดแปลงโดยยกชื่อพระพรหมออก เอาพระนามของพระพุทธองค์ใส่เข้าแทนเท่านั้น แลกล่าวเรียกพระนิพพานว่าเป็นอาตมันก็มี ทั้งทิเบตกับเนปาลต่างก็ได้รับพระพุทธศาสนายุคปลายจากอินเดีย คือยุคที่พระพุทธศาสนาเสื่อมรับเอาลัทธิตันตระของฮินดูเข้านับถือ เรียกว่าพุทธตันตระหรือมนตรยาน แต่ว่ากันถึงความเลื่อนเปื้อนจนแทบไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธศาสนาแล้ว* เป็นได้แก่เนปาล ส่วนทางทิเบตนั้น เขายังมีการ
*คัดลอกจากบทความทางวิชาการในหนังสือพระพุทธประวัติระหว่าง2500ปีที่ล่วงมาแล้ว สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า350-351 พระพุทธศาสนาแบบตันตระ ได้มีอิทธิพลต่อศาสนาฮินดู อย่างมากมายจนนักปราชญ์ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ที่ค้นคว้าเรื่องนี้เข้าใจว่า ลัทธิตันตระเกิดมาจากศาสนาฮินดูแต่ดั้งเดิม และนิกายต่ำๆของพระพุทธศาสนา ยอมรับเข้าในภายหลัง
ทรรศนะดังกล่าวนี้ ขัดแย้งกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา และไม่ตรงกับลักษณะที่ทำให้ พระพุทธศาสนาโน้มเอียงไปเป็นลัทธิตันตระ ความจริงนิกายมหาสังฆิกะยุคแรก ก็มีประมวลสูตรแห่งมนตร์ในธารณีปิฎกแล้ว ในหนังสือมัญชูศรีมูลกัลปะ ผู้ที่กล่าวว่าตันตระในพระพุทธเป็นสาขาหนึ่งของลัทธิไศวะนั้น เป็นบุคคลที่ไม่ได้ศึกษาลัทธิตันตระฉบับเดิมจริงๆ เพราะเมื่อเทียบตันตระฮินดูกับตันตระพุทธแล้วเราจะพบว่าแม้จะมีลักษณะภายนอกที่เหมือนกัน แต่วิธีปฎิบัติและจุดประสงค์แตกต่างกันมาก และจะเห็นอีกว่า ตันตระในพระพุทธศาสนาเกิดมาก่อนตันตระของฮินดูเป็นเวลาช้านานในหนังสือ "ลัทธิลึกลับของพระพุทธศาสนา" เบนอยโตช ภัตตาจารย์ ได้สรุปว่า "อาจกล่าวได้อย่าไม่มีข้อโต้แย้งใดๆว่าพระพุทธศาสนิกชนเป็นพวกแรกที่สร้างลัทธิตันตระขึ้นในศาสนาของตน ต่อมาพวกฮินดูได้ยืมตันตระนั้นไปจากพุทธศาสนิก จึงเป็นการไร้ประโยชน์ที่กล่าวว่า พระพุทธศาสนารุ่นหลังเป็นสาขาหนึ่งของศาสนาไศวะ ฤทธชัย
กวดขันในการรักษาพระวินัยตามพระปาฏิโมกข์และการศึกษาข้อแก่นธรรมที่บริสุทธิ์จากคัมภีร์พระพุทธศาสนาไม่ถูกกลืนเป็นพราหมณ์เสียหมดทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ในคติมหายานย่อมถือว่ามีมากมายเหลือคณานับ เวลาบูชาเมื่อกล่าวนอบน้อมพระนามของพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ทั้งหลายเท่าที่ตนจะจำได้แล้ว สุดท้ายย่อมเติมนมัสการพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายตลอดจักรวาลอันนับประมาณมิได้ดุจทรายในแม่น้ำคงคาฉะนั้น แต่พระพุทธเจ้าที่มี ผู้รู้จักกันมากและทรงความสำคัญมีอยู่ 5 พระองค์ เรียกว่า ธยานิพุทธ แปลว่า พระพุทธเจ้าทรงฌาน คือพระโวโรจนะพุทธะมีวรรณะขาว พระพุทธเจ้าองค์นี้พุทธศาสนิกชนฝ่ายอุตตรนิกายมนตรยานนับถือยิ่งนัก ถือว่าเป็นแก่หฤทัยแห่งโลกานุโลก พุทธสาวกชาวญี่ปุ่นในนิกายชินงอน (มนตรยานแบบญี่ปุ่น) เคารพพระพุทธเจ้าองค์นี้ยิ่งกว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้าเสียอีก ถัดลงมาเป็นพระพุทธเจ้าประจำพุทธเกษตรแห่งทิศทั้ง 4 คือ พระอักโษภยพุทธะ มีวรรณสีน้ำเงิน พระรัตนะสัมภาวะ มีวรรณะสีเหลือง พระอมิตาภพุทธะ มีวรรณะสีแดงพุทธสาวกนิกายเจ้งโท้วในจีนหรือนิกายชินในญี่ปุ่น นับถือองค์นี้มากยิ่งกว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้า ถือว่าใครก็ตามถ้าระลึกถึงพระนามด้วยใจบริสุทธิ์ ก็อาจทำให้ไปสู่สุคติได้ พระอโมฆสิทธิพุทธะ มีวรรณะเขียว ตามคติของมนตรยาน พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่างมีศักดิ์คู่บารมีเช่นกับพระศิวะมีพระอุมา พระนารายณ์มีพระลักษมี พระพรหมมีพระสรัสวดีเป็นคุ่บารมีฉะนั้นศักติเทวีที่สำคัญเช่น ตาราเทวีซึ่งเป็นศักติของพระอโมฆสิทธิพุทธะ มีวรรณะเขียว ได้อวตารลงมาเป็นพระธิดาพระเจ้ากรุงเนปาล วัชรธาตรีศวรีเทวีศักติของพระพุทธไวโรจนพุทธะ มีวรรณะสีขาว ได้อวตารลงมาเป็นพระธิดาของพระเจ้ากรุงจีน พระนามว่า บุ้งเซ็งกงจู้ พระโพธิสัตว์ก็มีพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระวัชรปาณีโพธิสัตว์ และอื่นๆอีกมาก นอกจากนี้ยังมีเทพธรรมบาลอีกเป็นอเนกองค์ แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาในเนปาลย่อมอยู่ใต้อำนาจของพระฮินดู เพราะชนชั้นปกครองเป็นฮินดูและส่งเสริมศาสนาฮินดู พวกฮินดูในเนปาลนับถือลัทธิฮินดูตันตระและลัทธิฮินดูอื่นๆ ทั้งหมด มีการเซ่นสรวงบุชายัญด้วยโลหิต อาทิ พิธีบูชาพระนางทุรคาหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พระนางอุมาในปางดุร้าย โปรดการเห็นเลือด ต้องฆ่าสัตว์มีควายแพะเป็นต้น นับจำนวนพันบวงสรวง การฆ่าก็ฆ่ากันต่อหน้าเทวีรูปให้เลือดพุ่งเข้าไปในพระโอษฐ์ หรือไม่ก็ช่วยกันป้ายทาโลหิตไว้ตามองค์ของรูปพระเทวี เสียงสัตว์เลี้ยงที่กำลังถูกฆ่าและกำลังจะถูกฆ่า ร้องดังชวนน่าสังเวช บริเวณพิธีก็แดงฉานด้วยเลือด ส่งกลิ่นเหม็นคาวตระหลบ ข้างพวกฮินดูก็สวดมนต์ไป ตะโกนร้องรำทำเพลงกระหน่ำฆ้องกลองและเป่าแตรสังข์ประโคมดนตรีกันจ้าละหวั่น ปฏิมาแม่เจ้าทุรคาก็สร้างกันให้ดูน่ากลัวจริงๆ มีพระพักตร์โหดร้าย ดวงเนตรถลนโปนส่อความดุดัน ที่พระศอสวมกปาลีมาลัยคือมาลัยหัวกระโหลกที่พระนาภีก็มีมาลัยชนิดเดียวกันพันอยู่เป็นเหมือนเข็มขัด บางทีที่พระเศียรยังประดับเทริดหัวกะโหลกไว้อีก มีสี่กรๆหนึ่งถืออาวุธ กรหนึ่งถืออาวุธ กรหนึ่งยกอยู่ในท่าสำทับ กรหนึ่งถือศีรษะมนุษย์ทำเป็นเลือดกำลังหยด อีกกรหนึ่งกำลังรองรับโลหิตที่หยด บาททั้งสองเหยียบอยู่บนร่างมนุษย์ บางรูปก็สร้างอยู่ในท่ารำ มีลิ้นแลบออกจากโอษฐ์ลงมาติดอุระ คนขวัญอ่อนถ้าเห็นรูปอย่างนี้แล้วเป็นต้องตกใจกลัวแน่ๆ
พวกอารยันเข้ามาในเนปาล ได้เข้ามาทางทิศตะวันตกและทิศใต้สองทาง พวกอารยันที่เข้ามาภายหลังพวกหนึ่งได้แก่พวกเชื้อสายเจ้าราชปุต ซึ่งมีแว่นแคว้นอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเนปาล พวกนี้ได้ทำยุทธชิงชัยพวกเจ้าบ้านฝ่านเมืองเดิมชนะ แล้วสถาปนาอำนาจขึ้นปกครองเนปาล พวกอารยันได้ถ่ายเทสายโลหิตกับพวกอยู่เดิม จนกลายเป็นชนเผ่ากุรข่าขึ้น ปัจจุบันนี้ชนเผ่ากุรข่ามีมากทางภาคตะวันตกและภาคใต้ ส่วนทางภาคเหนือและภาคตะวันออกนั้น ชนเผ่ามองโกเลียมีมากกว่าพวกกุรข่าและพวกเผ่าดราวิเดียน ส่วนมากนับถือศาสนาฮินดู ส่วนพวกเผ่ามองโกเลียส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนานิกายมันตรยานแบบทิเบต อันที่จริงมนุษย์เผ่ามองโกเลียมีจำนวนมากกว่าชนทุกเผ่าในเนปาล นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติ เช่นพวกทิเบต สิขิมภูฏานและอินเดียอยู่กระจายไปทั่วในเนปาล คะเนพลเมืองในเนปาลทั้งหมดมีราว 5 แสน 7 หมื่นเศษ มีชาวเนปาลที่อยู่นอกประเทศ เช่นในอินเดียและทิเบตอีกสัก 3 แสน 8 หมื่น ส่วนมากชอบอยู่ตามแถบภูเขาทางทิศเหนือของแคว้นเบงอล อัสสัมและในสิขิม ลัทธิแบ่งชั้นวรรณะเป็นลัทธิที่ถือกันเคร่งครัดที่สุดในชนชาวเนปาลทุกๆเผ่า กล่าวได้ว่าถือกันยิ่งกว่าในอินเดียด้วยซ้ำ เป็นที่น่าเสียใจที่ว่าแม้ในเผ่าชนที่นับถือพระพุทธศาสนาเอง ก็ยังพลอยมีการนิยมถือชั้นวรรณะไปด้วย ซึ่งทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากอิทธิพลของศาสนาฮินดู ที่กลืนพระพุทธศาสนาเข้าไปแล้วกว่าครึ่งทำให้เป็นไปโดยแน่แท้ เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกอะไร ในเมื่อฝรั่งจากยุโรปเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาที่แท้จริงไม่มีในเนปาล และปราชญ์บางคนไม่อยากจะเรียกลัทธิพระพุทธศาสนาที่ถือกันในเนปาลว่าเป็นพระพุทธศาสนา เพราะความจริงได้ปะปนกับศาสนาฮินดูจนยากที่จะเห็นหน้าตาดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาพบ วรรณะที่สูงที่สุดคือวรรณะพราหมณ์ ในวรรณะนี้เองยังแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกเรียกว่า อุปัทเธ ชั้นสองเรียกว่า ไตสิ ชั้นนี้ได้แก่พราหมณ์ชั้นอุปัทเธ สมรสกับนางพราหมณ์หม้ายออกลูกมาก็นับเป็นชั้นไตสิ ทั้งสองชั้นถือไม่กินอาหารร่วมกัน วรรณะที่สองถัดวรรณะพราหมณ์ลงมาคือวรรณะกษัตริย์ เป็นวรรณะนักรบ วรรณะกษัตริย์แบ่งชั้นย่อยๆออกไปอีกถึง 20 ชั้น ชั้นที่สำคัญเช่น ชั้นรนะ ถปะ ชั้นพิษฺนฺยัต ภันทริฯลฯ เป็นต้น นอกนั้นก็มีวรรณะแพศย์ หรือวรรณะพ่อค้าคฤหบดี วรรณะศูทรซึ่งเป็นพวกชั้นต่ำ และวรรณะจัณฑาลซึ่งเป็นพวกแตะต้องไม่ได้ แต่ละวรรณะยังแบ่งชั้นปลีกย่อยไปอีกมากมาย นี้เป็นชั้นวรรณะส่วนใหญ่ทั่วไปในหมู่ชนชาติเนปาลทั้งหมด ในหมู่เผ่าต่างๆยังมีแบ่งชั้นวรรณะกันในเผ่าเฉพาของตนเอง ได้ซ้ำกับเผ่าอื่น เช่นชนเผ่ามากาส แบ่งถึง 6ชั้น ส่วนวรรณะในชนเผ่าที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่นชนเผ่าเนวาร์ แบ่งออกเป็น 3 วรรณะใหญ่ คือวรรณะพันรัสเป็นวรรณะสูงสุด ได้แก่พวกภิกษุสงฆ์ สองวรรณะอูทัส ได้แก่พวกพ่อค้า ช่างต่างๆ
คนในวรรณะอูทัสนี้ จัดว่าเป็นพุทธศาสนิกที่เคร่งครัด ไม่ยอมเข้าไปในเทวาลัยของพวกฮินดู เวลามีพิธีรีตองอะไรก็ไม่ให้พราหมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องจัดทำกันในวงของพุทธศาสนาล้วนๆและเฉพาะในวรรณะนี้ เมื่อแบ่งปลีกย่อยออกไปยังมีอีก 7 ชั้น วรรณะที่สามเรียกว่า ชยปุส ได้แก่ชาวนา กสิกร กรรมกร และพวกที่มีอาชีพต่างจากคนในวรรณะทั้งสองทั้งหมดสงเคราะห์ลงในวรรณะนี้ พุทธศาสนิกในวรรณะนี้ยอมให้พวกฮินดูเข้ามายุ่งเกี่ยวในพิธีรีตองของตน และเข้าร่วมประกอบพิธีกับพวกฮินดู กราบไหว้พระเป็นเจ้าของฮินดูอย่างเปิดเผย แปลว่า นับถือทั้งพุทธทั้งพราหมณ์ผิดกับพวกแรก ในวรรณะนี้แบ่งปลีกย่อยแล้วมีมากถึง30 ชั้น
โภคทรัพย์แผ่นดิน มียาสูบซึ่งเป็นพืชสำคัญ ข้าว ข้าวสาลี ข้าบาเล่ย์ ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต นอกจากนั้นก็มี งา ฝ้าย ป่าน ปอ และอ้อย แร่ที่สำคัญมี ทองคำ เงิน หยกเขียว เหล็ก ทองแดง หินอ่อน ตะกั่ว และดินปะสิว สัตว์เลี้ยงก็มี โค กระบือ แกะ หมู และม้า
เนปาลถึงแม้จะเป็นประเทศเล็ก แต่ก็มีประวัติของตนเองที่เก่าแก่ไม่แพ้ชาติโบราณอื่นๆเราอาจจะพบเรื่องราวเกี่ยวกับเนปาลก่อนสมัยพุทธกาลขึ้นไปอีกนานไกล ประวัติศาสตร์ของเนปาลบันทึกว่า ณ แว่นแคว้นน้อยๆเชิงหิมาลัยบรรพตนี้ ในอดีตกาลได้เคยเป็นที่ประทับสำราญอิริยาบถของพระพุทธเจ้าถึงหกพระองค์ก่อนสมัยพระศากยมุนี ทั้งนี้เพราะเนปาลเป็นดินแดนที่อยู่ในมัชฌิมประเทศ พระโพธิสัตว์ของเราเมื่อยังเสด็จอยู่ในดุสิตเทวโลก จึงได้เลือกมาอุบัติในประเทศนี้ ในปุริมสมัยเนปาลใช่ว่าจะเป็นอย่างปัจจุบัน มีการปกครองร่วมกันอันเดียวก็หาไม่ และมีอาณาเขตคับแคบกว่าบัดนี้มาก มีแว่นแคว้นเล็กๆ ต่างเป็นอิสระอยู่กระจายทั่วไปแคว้นใดมีกำลังเข้มแข็ง ก็รวบรวมแคว้นอื่นเข้าไว้ในอำนาจพักหนึ่ง แล้วก็แตกแยกกันไปใหม่ประวัติศาสตร์ได้แสดงแก่เราว่า เมื่อก่อนพุทธกาลได้มีพวกมองโกเลียอพยพเข้ามาจากทางทิศเหนือ เข้ามาเป็นเจ้าใหญ่ในเนปาลแถบภูมิภาคภูเขาและหุบเขา แล้วต่อมามีพวกอารยันอพยพเข้าไปสมทบ พวกมองโกเลียนี้ต่อมาได้กลายเป็นชนเผ่าเนวาร์ นักประวัติศาสตร์บางท่าน เช่น วี.เอ.สมิท สันนิษฐานว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมองโกเลีย แทนที่จะเป็นอารยัน ด้วยเหตุผลอันนี้ วี.เอ. สมิทกล่าวว่าพระพุทธองค์คงมีผิวพระกายเหลืองอย่างชาวมองโกเลีย และว่าพวกลิจฉวี มัลละก็เป็นเชื้อสายมองโกเลียเหมือนกัน ข้อนี้ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะพวกทิเบตได้อ้างไว้ก่อนแล้วหลายศตวรรษว่า วงศ์ศากยเป็นมองโกเลีย และราชวงศ์กษัตริย์ทิเบต มีเชื้อสายเป็นเจ้าในวงศ์ศากยะ แต่สำหรับทัศนะของข้าพเจ้าๆ ไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์จะเป็นมองโกเลียไปได้ข้าพเจ้าสมัครจะเชื่อว่าพระองค์เป็นอารยัน ถ้าจะเกรงว่าบางทีอาจจะมีการผสมระหว่างชนเผ่าทั้งสองนี้ขึ้นเป็นวงศ์ศากยะขึ้น ข้าพเจ้าก็ขอปฏิเสธ เพราะเราไม่ควรหลงลืมต่อข้อเท็จจริงในประวัติว่า วงศ์ศากยะเป็นวงศ์ที่เคร่งครัดในเรื่องรักษาความบริสุทธิ์ของสุริยวงศ์ที่สืบเนื่องมาแต่พระเจ้าโอกกากราช โดยไม่ยอมวิวาห์กับชนในราชวงศ์อื่น นอกจากในวงศ์ของตน อย่าว่าแต่พวกเผ่ามองโกเลียเลย แม้ในเผ่าอารยันด้วยกัน ราชวงศ์ศากยะก็ยังไม่ยอม เพราะฉะนั้นพวกพราหมณ์จึงนับถือวงศ์ศากยะว่าเป็นวงศ์กษัตริย์ที่บริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทินใดๆ ประวัติแว่นแคว้นต่างๆในเนปาลตอนก่อนพุทธสมภพ เราทรงได้น้อยเต็มที แต่ในระหว่างพุทธสมัย เราอาจจะทราบเรื่องราวได้มากจากการศึกษาในคัมภีร์ทางฝ่ายพระพุทธศาสนา และสิ่งที่เราสมควรจะศึกษาอย่างยิ่งก็คือ เรื่องราวการประดิษฐานศากยวงศ์ขึ้นในเนปาล การศึกษาถึงเรื่องนี้ยังเป็นการแสดงถึงพวกอารยันที่อพยพเข้าไปในเนปาลอีกด้วย
ในปกรณ์ทางพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ได้มีกล่าวถึงการอพยพของพวกอารยันเข้าไปในเนปาลอยู่ข้างพิสดาร ปกรณ์ฝ่ายใต้ เราจะอ่านพบในพระสูตรแห่งทีฆนิกายสูตรหนึ่งชื่ออัมพัฏฐสูตร และในสุมังคลวิลาสินีอรรถกถาแห่งนิกายนั้น ส่วนปกรณ์ฝ่ายเหนือ เราจะอ่านได้ในคัมภีร์ลลิตวิสตระและมหาวัสดุ ซึ่งกล่าวข้อความตรงกันเป็นส่วนมาก ผิดกันเป็นส่วนน้อย ในประวัติแสดงว่าพระเจ้าโอกกากราชหรืออิกษวากุ มีพระโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีอยู่ 4 พระองค์ พระนามว่า อุกกามุขกุมาร กรกัณฑกุมาร หัตถินิกกุมาร และสินิปุรกุมาร มีพระราชธิดา 5 พระองค์ พระนามว่า ปิยา สุปิยา อานันทา วิชิตา แ และวิชิตเสนา รวามเป็น 9 พระองค์ ต่อมาอัครมเหสีสวรรคต พระเจ้าโอกการาชทรงอภิเษกพระมเหสีใหม่ และได้พระโอรสอันประสูติจากพระมเหสีองค์นี้ ทรงพระนามว่า ชันตุกุมาร วันหนึ่งเมื่อพระชมม์ของชันตุราชกุมารได้ 5 เดือน พระราชมารดาให้ประดับประดาตกแต่งเครื่องภูษิตาภรณ์อันงดงามแล้วพาขึ้นเฝ้าพระราชบิดา พระเจ้าโอกการาชทอดพระเนตรเห็นก็โปรดปราน ถึงกับตรัสพระราชทานพระมเหสีว่าปรารถนาอะไรก็จะให้ พระมเหสีจึงทูลขอพรขอราชสมบัติให้แก่พระโอรสของตน พระเจ้าโอกกากราชจำพระทัยพระราชทาน พร้อมกันนั้นก็ทรงมอบหมาย ผู้คน ทรัพย์สมบัติให้พระราชโอรสทั้งห้าไปสร้างเมืองใหม่อยู่ พระราชโอรสทั้งห้าได้พาพระกนิษฐภคินีและบริวารเดินทางไปในป่าหิมพานต์ หาชัยภูมิสำหรับสร้างพระนคร เดินทางมาจนบรรลุถึงดงไม้สักกะ ริมสระโบกขรณี พบพระฤาษีรูปหนึ่งชื่อกบิล นัยว่าเป็นพระโพธิสัตว์มาตั้งอาศรมอยู่ พระฤาษีนั้นพอทราบว่าพระราชกุมารกำลังแสวงหาชัยภูมิสร้างพระนคร ก็ชี้แจงว่าบริเวณที่ดินตรงที่อาศรมของตนตั้งอยู่นี้เป็นชัยภูมิที่เหมาะที่สุด ให้สร้างพระนครตรงนี้ต่อไปจะรุ่งเรือง พระราชกุมารทั้งห้าจึงได้สร้างเมืองขึ้น ขนานนามพระนครว่า กบิลพัสดุ์ เพื่อให้เป็นที่ระลึกแก่พระฤาษีกบิล ผู้เจ้าของที่และได้กระทำอาวาหมงคลกับกนิฏฐภคินีของตน ยกพระเชษฐภคินีองค์ใหญ่ตั้งไว้ในฐานะเป็นดุจมารดา เพราะกลัวว่าชาติสัมเภทะ แม้เจ้าองค์อื่นในกาลต่อมาก็ได้กระทำเช่นนี้ ฝ่ายพระราชบิดาเมื่อได้ทราบข่าวว่า พระโอรสสร้างพระนครสำเร็จ ก็โสมนัสเปล่งอุทานวาจาว่า สกฺยา วต โค กุมารา "กุมารเป็น ผู้อาจหาญหนอ. กุมารเป็น ผู้อาจหาญหนอ" คำว่าสักกะ ในภาษาบาลีหรือศากยะ ในภาษาสันสกฤต จึงเป็นคำเรียกวงศ์กษัตริย์นี้ว่า สักยวงศ์ หรือ ศากยวงศ์ แปลว่าวงศ์ของ ผู้กล้าหาญ พวกศากยะได้วางกฏเกี่ยวกับการสมรสไว้ในสกุลของตนว่า ชาย ผู้หนึ่งจะมีภรรยาได้เพียงคนเดียว และหญิงนั้นต้องเป็นโคตรเดียวกันด้วย พวกศากยะในบางครั้งบางคราวต้องทำสงครามรบพุ่งกับพวกชาวเขาอื่นๆที่อยู่ในป่าแถบภูเขาหิมาลัย พุทธประวัติฝ่ายมหายานบอกแก่เราว่า พระเจ้าสิริสุทโธทนะพระพุทธบิดาได้ทำสงครามมีชัยชนะพวกปาณฑวชนชาวเขา จึงได้รับรางวัลอนุญาตให้มีมเหสีสองพระองค์ได้
นับตั้งแต่พระเจ้าวิฑูฑภะราชาแห่งโกศลได้ทำลายล้างพวกศากยะลง ปรากฏว่ามีชาวศากยะที่เหลืออยู่ได้พากันเข้าไปสู่ภายในของเนปาล พวกศากยะพวกนี้ยังคงมั่นคงอยู่ในพระพุทธศาสนา เรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะประหารล้างวงศ์ศากยะ เราควรจะได้ศึกษาให้ละเอียดสักหน่อยในที่นี้ ในปกรณ์ฝ่ายพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิหรือประเสนชิต นรบดีแห่งโกศลรัฐปรารถนาที่จะได้เป็นญาติสนิททางสายโลหิตกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงส่งฑูตให้ไปทูลของพระราชธิดาจากพวกเจ้าศากยะมาอภิเษกเป็นมเหสี พวกเจ้าศากยะเกรงอำนาจของพระมหาราช ครั้นจะให้ไปก็จักทำให้ศากยวงศ์หม่นหมอง ด้วยพระมหาราชเป็นคนอยู่ในสกุลอื่น เจ้ามหานามศากยะ ผู้เป็นโอรสพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า จึงออกอุบายให้ส่งธิดาของตนที่เกิดแต่นางทาสี (ทำนองลูกของคนใช้มิใช่ลูกหลวง จึงไม่ทำให้เสียสกุล) ชื่อวาสภขัตติยาไปถวาย พระเจ้าปเสนทิจึงอภิเษกเจ้าหญิงวาสภะในต่ำแหน่งอัครมเหสีโดยหารู้พระองค์ไม่ จำเนียรกาล่วงมาพระนางวาสภะขัตติยาประสูติพระโอรสองค์หนึ่ง พระนามว่าวิฑูฑภะ เมื่อพระชนม์ของวิฑูฑภะกุมารได้ 7 ขวบ รู้ความเป็นไปบ้าง เห็นกุมารของตระกูลอื่นมีญาติฝ่ายมารดาส่งของเล่นมาให้จึงไปเร้าถามถึงญาติฝ่ายมารดาของตนเองกับพระนางวาสภขัตติยา ข้าพระนางก็ตรัสปัดพอเป็นทีไม่ยอมแจ้งให้ทราบ ครั้นเมื่อพระโอรสเจริญชันษาได้ 16 ได้อ้อนวอนพระมารดาให้อนุญาตตนไปเยี่ยมญาติฝ่ายมารดา พระนางขัดไม่ได้ก็จำยอม ก็รีบมีสารไปแจ้งเหตุล่วงหน้าแก่พวกเจ้าศากยะให้รู้องค์จะได้ไม่แสดงกิริยารังเกียจพระกุมาร ฝ่ายข้างพวกเจ้าศากยะพอทราบข่าว ก็จัดให้พวกเจ้าศากยะเด็กๆที่มีอายุน้อยกว่าเจ้าวิฑูฑภะแต่ที่มีในเมืองกบิลพัสดุ์ ไปหลบซ่อนภายนอกเมืองเสีย เพื่อประสงค์จะไม่ต้องเคารพเจ้าวิฑูฑภะ คงเหลือแต่พวกเจ้าศากยะที่เป็นพระญาติชั้น ผู้ใหญ่ เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะมาถึงก็ได้แต่แสดงความเคารพ ผู้อื่น ไม่เห็นมีใครแสดงความเคารพตน มีความสงสัยถามขึ้น ก็ได้รับคำตอบว่าพวกเจ้าน้องเสด็จไปประพาสชนบทหมด เจ้าวิฑูฑภะประทับอยู่ในเมืองกบิลพัสดุ์ไม่นานก็เสด็จกลับ บังเอิญมหาดเล็กของวิฑูฑภะคนหนึ่งลืมอาวุธทิ้งไว้ในท้องพระโรงเมืองกบิลพัสดุ์ ย้อนมาเอากลับคืน ได้ฟังทาสีที่ทำความสะอาดล้างพระที่นั่งของพระเจ้าวิฑูฑภะด้วยน้ำนม บ่นอย่างไม่เต็มใจทำว่า "นี่เป็นแผ่นกระดานที่ลูกนางทาสีชื่อวาสภบัตติยานั่ง" มหาดเล็กคนนั้นนำมาบอกกล่าวแก่เพื่อนๆจนเรื่องอื้อฉาว ใครๆรู้กันทั่วไปว่าพระนางวาสภขัตติยาเป็นบุตรนางทาสี เพราะความปากบอนของมหาดเล็กคนเดียว เมื่อเจ้าวิฑูฑภะทราบก็แค้นพระทัย ตรัสปฏิญญาว่าถ้าได้เสวยราชสมบัติเมื่อใด จะเอาเลือดของพวกเจ้าศากยะมาล้างพระที่นั่งตอบแทนการที่เจ้าศากยะให้เอาน้ำนมล้างที่นั่งของตนให้จงได้ ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิเมื่อทราบความจริงเข้าก็อับอายพระทัยระคนกับพิโรธ ตรัสให้ถอดยศพระนางวาสภขัตติยากับเจ้าวิฑูฑภะลงเป็นทาส วันหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปในพระราชวัง พระเจ้าปเสนทิทูลฟ้องเรื่องเจ้าศากยะส่งธิดาทาสมาให้ และทูลเรื่องที่ถอดพระมเหสีและพระโอรส พระ ผู้มีพระภาคตรัสติพวกเจ้าศากยะว่าทำกรรมที่ไม่สมควร เมื่อจะให้ก็ควรจัดส่งพระธิดาที่มีชาติเสมอกันมา แต่พระนางนางวาสภขัตติยาเองโดยกำเนิดก็เป็นลูกกษัตริย์ ทั้งยังได้มาประกอบพิธีอภิเษกกับกษัตริย์ เจ้าวิฑูฑภะก็มีกำเนิดเป็นกษัตริย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความเป็นกษัตริย์หรือไม่เป็นกษัตริย์นั้น สกุลฝ่ายมารดาไม่สำคัญข้อสำคัญอยู่ที่สกุลฝ่ายบิดา แล้วพระพุทธองค์ทรงยกอุทาหรณ์ในประวัติศาสตร์เรื่องพระเจ้ากัฏฐวาหนราช ผู้มีพระมารดาเป็นหญิงหาบฟืนขึ้นมาแสดง พระเจ้าปเสนทิก็คลายความขุ่นข้องลง ได้รับสั่งให้คืนยศแก่แม่ลูกทั้งสองคนตามเดิม จำเนียรกาลต่อมา เจ้าวิฑูฑภะคบคิดกับทีฆการายนะอำมาตย์ เป็นกบฏชิงราชสมบัติของพระราชบิดา เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์สมบัติแล้วพระเจ้าวิฑูฑภะจึงรำลึกถึงเรื่องถูกพวกเจ้าศากยะหมิ่น จึงยกพลจะไปตีเมืองกบิลพัสดุ์แก้แค้น พระพุทธองค์ทรงทราบล่วงหน้า จึงเสด็จห้ามทัพ เสด็จไปประทับ ณ ใต้ต้นไม้โปร่งที่แดนเมืองกบิลพัสดุ์ติดต่อกับแดนไกล และที่ชายแดนของแคว้นโกศลก็มีต้นไทรใหญ่ใบหนาร่มครื้มขึ้นอยู่ต้นหนึ่ง พระเจ้าวิฑูฑภะยกพลมาถึง ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธเจ้าแทนที่จะประทับใต้ต้นไทรกลับไปประทับใต้ต้นไม้ที่โปร่ง ปล่อยให้แสงแดดแผดเผา จึงหลากพระทัยเสด็จเข้าไปทูลเชิญเสด็จให้ประทับใต้ต้นไทร พระพุทธองค์ตรัสตอบเป็นปริศนาว่า "มหาบพิตร เงาของญาติเป็นของเย็น" พระเจ้าวิฑูฑภะก็รู้ทันทีว่าพระพุทธองค์เสด็จมาเพื่อป้องกันพระญาติวงศ์ เห็นว่าขืนยกทัพไปดีก็ไม่สำเร็จ จึงเลิกทัพกลับ แต่เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะคิดถึงเรื่องในอดีตขึ้นคราวใด ก็ทรงพิโรธ ยกทัพจะไปตีพวกเจ้าศากยะคราวนั้น และก็ได้มาพบพระ ผู้มีพระภาคเสด็จประทับในลักษณะเช่นนั้น ก็จำพระทัยเลิกทัพกลับ เป็นเช่นนี้ถึง 3 ครั้ง แต่ในครั้งที่ 4 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล็งพระญาณเห็นบุพกรรมของพวกเจ้าศากยะว่า ในอดีตชาติพวกเจ้าศากยะเคยทำอกุศลกรรมด้วยการโปรยยาพิษลงไปในแม่น้ำ ทำให้สัตว์ถึงแก่ความตาย วิบากกรรมอันนั้นตามมาสนองแก่พวกเจ้าศากยะในภพนี้ พระองค์จึงไม่เสด็จไปประทับเหมือนเมื่อคราวก่อน กองทัพโกศลจึงบุกทะลวงเข้าไปในเนปาล เข้าตีเมืองกบิลพัสดุ์แตก จับพวกเจ้าศากยะฆ่าไม่เว้นแม้กระทั่งทารกที่ยังดื่มนมอยู่ โลหิตวารีไหลอาบทั่วพื้นปฐพี พระเจ้าวิฑูฑภะให้เอาโลหิตจากลำคอของพวกเจ้าศากยมาล้างพระที่นั่งสมกับความแค้น แล้วรับสั่งให้เผาเมืองกบิลพัสดุ์เสีย กล่าวกันว่าพวกเจ้าศากยะที่ถูกปลงพระชนม์มีถึง 77000องค์ ในจำนวนนั้นเป็นศากยะหนุ่มสาวถึงหนึ่งพันองค์ ส่วนพวกเจ้าศากยะที่หนีรอดไปได้ก็มีบ้าง กล่าวกันว่าพวกศากยะพวกหนึ่งได้หนีภัยเข้าไปในดงลึกแห่งป่าหิมพานต์ ได้พบชัยภูมิพื้นที่แห่งหนึ่งอุดมด้วยพืชพรรณและน้ำ และมีเมืองโบราณตั้งอยู่แต่ไม่มีผู้คน ชุกชุมไปด้วยฝูงมยุราส่งเสียงร้องอยู่ทั่วไป พวกศากยะพวกนี้จึงเข้าไปอาศัย ต่อมาได้กลายเป็นต้นวงศ์โมริยะ หรือวงศ์นกยูง ซึ่งเป็นวงศ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าวิฑูฑภะเองภายหลังได้ประสบวิบากอกุศลกรรม พระองค์กับกองทัพได้ถูกกระแสน้ำในแม่น้ำอจิรวดีพัดพาจมหายไปในขณะที่พักแรมคืน ณ ริมชายหาดแม่น้ำ
หลักฐานบางอย่างที่กล่าวถึงพวกศากยะอพยพหนีภัยนี้ บางทีจะทำให้ข้ออ้างของพวกทิเบตและพม่าที่กล่าวว่า ปฐมกษัตราธิราชของเขามีเชื้อสายเป็นเจ้าในวงศ์ศากยะใกล้ต่อความจริงขึ้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าแม้เมืองกบิลพัสดุ์จะวายวอดด้วยแรงพระเพลิง แต่ก็คงไม่แหลกลาญจนสิ้นเชิง คงมีพวกเจ้าศากยะกลับเข้ามาอาศัยอยู่อีกแต่เป็นจำนวนน้อย ภายหลังที่กองทัพโกศลได้กลับไปเพราะฉะนั้นเมื่อพุทธปรินิพพานแล้ว จึงปรากฏว่ามีพระญาติทางกรุงกบิลพัสดุ์ได้มาขอแบ่งพระธาตุส่วนหนึ่งจากพวกมัลละ ไปสร้างพระสถูปบูชา
ในสมัยพระมหาราชาอโศก พระองค์ได้เสด็จมาสักการะสถานที่ประสูติของพระศาสดา ซึ่งห่างจากเมืองกบิลพัสดุ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 15 ไมล์ ปัจจุบันได้แก่บริเวณหมู่บ้านรุมมินดี ณ เขตตาราย ในอโศกนิทานกล่าวว่า พระมหาราชเสด็จมาโดยการนำของท่านอุปคุปต์อรหันต์ และได้รับสั่งให้ตั้งศิลาจารึกไว้เป็นพยาน ณ ที่นั้น กับทั้งทรงให้ลดส่วยแก่ชาวบ้านที่อยู่ ณ บริเวณนั้นอีก เสาศิลาจารึกนี้ต่อมาใน พ.ศ.2439 ได้ถูกค้นพบขึ้น มีใจความว่า "เมื่อพระเจ้าทวานัมปริยทรรศิน (อโศก) ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว 20 ปี พระองค์เสด็จมาโดยพระองค์เอง บูชานบนอบ ณ สถานที่แห่งนี้ เพราะเหตุว่า พระศากยมุนีพุทธะได้ทรงประสูติแล้ว ณ ที่นี้ พระองค์มีบัญชาให้สถาปนาศิลารูปม้า ทรงบัญชาให้ยกเสาศิลาขึ้น (ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักฐาน) ว่า พระภควัตได้ประสูติแล้วที่นี่ พระองค์ทรงทำให้หมู่บ้านลุมพินีพ้นจากการถูกเก็บส่วย และเก็บอยู่หนึ่งในแปดของผลที่ (พวกชาวบ้าน) เก็บเกี่ยวได้ พระเจ้าอโศกได้สร้างพระสถูปขึ้นองค์หนึ่ง ณ สถานที่แห่งนั้น เมืองกบิลพัสดุ์ในยุคพระเจ้าอโศกคงเป็นเมืองร้างเสียแล้ว พระเจ้าอโศกเสด็จมาถึงก็ได้แต่ทอดพระเนตร บรรดาพุทธานุสรณ์ที่ยังเหลืออยู่ มีหลักศิลาจารึกิอีกอันหนึ่งในเขตกบิลพัสดุ์ กล่าวถึงการสร้างพระสถูปแห่งพระโกนาคมน์พุทธเจ้า ให้ใหญ่ขึ้นอีกสองเท่าของพระเจ้าอโศก และกล่าวว่าพระองค์ได้เสด็จมานัสการด้วยพระองค์เอง การเสด็จมาเยี่ยมเนปาลเพื่อบูชาพุทธานุสสาวรีย์ของพระอธิราชนี้ พระราชบุตรีของพระองค์ ผู้มีพระนามว่า"จารุมติ" ได้ตามกระบวนเสด็จด้วย และเจ้าหญิงองค์นี้ ต่อมาได้อภิเษกกับชาย ผู้มีตระกูลชาวเนปาลองค์หนึ่งชื่อ เทวปาล และประทับอยู่กับพระสวามี ณ ที่เทวปตารในเนปาลด้วย ต่อมาเจ้าหญิงจารุมติได้สละโลกียวิสัยออกผนวชเป็นภิกษุณี ปัจจุบันมีวิหารชื่อจาบาหิล (มาจากคำว่า จารุวิหาร) เป็นที่ระลึกสำหรับเจ้าหญิงอยู่ในเนปาล พระเจ้าอโศกได้เสด็จไปเยี่ยมเมืองกตมัณฑุปาตานด้วย
พระองค์ได้จัดส่งคณะธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในหิมวัตประเทศ หัวหน้าคณะชื่อพระมัชฌิมเถระในตำนานกล่าวว่า คณะธรรมทูตได้ไปแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดชาวหิมพานต์ ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า หิมวันตประเทศที่กล่าวถึงนี้จะไม่ใช่ดินแดนแถบเนปาล พระพุทธศาสนาในเนปาลได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมากในยุคนั้น แต่เมื่อพ้นสมัยนั้นแล้วพระพุทธศาสนาในเนปาลก็ตั้งต้นเสื่อม
ในพุทธศตวรรษที่ 9 นักธรรมจาริกชาวจีนชื่อพระภิกษุฮวบเฮี้ยง ได้เดินทางมานมัสการสังเวชนียสถานในเนปาล ได้กล่าวขวัญถึงลุมพินีวันและกบิลพัสดุ์ไว้ว่ามีสภาพปรักหักพังรกร้างเป็นป่า มีแต่พระภิกษุสงฆ์และ ผู้คนจำนวนเล็กน้อย บ้านเรือนก็มีสัก 10 หลังคา แต่ยังคงเห็นพุทธานุสสาวรีย์ทั้งหลายอยู่ ในพุทธศตวรรษที่ 11 นักธรรมจาริกชาวจีนอีกรูปหนึ่ง ชื่อพระภิกษุเฮี่ยงจัง ได้บันทึกเรื่องเกี่ยวกับเนปาลไว้ในหนังสือของท่านชื่อ "ไต้ถังไซฮกกี่" (จดหมายเหตุประเทศตะวันตกสมัยราชวงศ์ถัง) ดังนี้ "เนปาลมีอาณาเขตล้อมรอบ 4 พันลี้ อยู่ท่ามกลางขุนเขาหิมาลัย เป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง เขตนครหลวงล้อมรอบ 20 ลี้ มีภูเขาและแม่น้ำติดต่อกันเป็นพืด ที่ดินเหมาะในการทำไร่นา อุดมไปด้วยพืชพรรณผลไม้ และมีทองแดง มีวัวและนก การซึ้อขายใช้เหรียญทองแดง อากาศหนาวเย็น ขนบธรรมเนียมหยาบ อุปนิสัยพลเมืองดุร้ายกล้าแข็ง มีความสัตย์เบาบาง ไม่มีวิชาทางวรรณกรรม แต่มีฝีมือทางศิลปะ รูปร่างลักษณะคนไม่น่าดู นับถือทั้งพระพุทธศาสนาและลัทธิมิจฉาทิฏฐิ พุทธวิหารกับเทวสถานที่มากติกต่อกัน มีพระภิกษุประมาณ 2 พันรูป เล่าเรียนศึกษาทั้งฝ่ายมหายานและหีนยาน จำนวนของพวกพาหิรลัทธิไม่ทราบละเอียด พระราชาเป็นคนในวรรณะกษัตริย์ วงศ์ราชปุต มีพระอัธยาศัยสันดานสูงบริสุทธิ์ เสื่อมใสในพระพุทธศาสนา เมื่อไม่ช้านี้ มีพระราชา ผู้ทรงพระนามว่า อัมศุวรมัน เป็น ผู้แตกฉานในวิชาการ ได้พระราชนิพนธ์หนังสือศัพท์วิทยาด้วยพระองค์เอง ทรงเคารพปราชญ์ โปรดบัณฑิตจนปรากฏกิตติศัพท์โด่งดัง ทางเมืองทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครหลวง มีบ่อน้ำเล็กๆถ้าเอาไฟโยนลงไป น้ำในบ่อจะร้อนเดือดขึ้น เอาสิ่งของอื่นๆโยนลงไปน้ำก็จะร้อนเดือดเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาในเนปาลมาถึงตอนนี้ จะได้มีศาสนาฮินดูเข้ามาแทรกแซง แต่ก็ยังมี ผู้นับถือพระพุทธศาสนากันเป็นจำนวนมากและมั่นคง ถึงแม้จะมีกษัตริย์บางพระองค์ที่เป็นฮินดู แต่ก็ไม่ไร้กษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะเสียเลยทีเดียว แลชาวพุทธศาสนิกเนปาลนี้เอง ที่ได้นำพระธรรมไปสู่ทิเบต ทำให้ทิเบตกลายเป็นพุทธอาณาจักรที่มั่นคงในโลกจนตราบเท่าปัจจุบัน ในราว พ.ศ.1100 เศษ พระอธิราชแห่งทิเบต ผู้มีพระนามว่า สรองตะสันคัมโป ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงภฤกุฏีเทวี ราชธิดาของกษัตริย์เนปาล พระเทวีภฤกุฏีเป็นมหาอุบาสิกาที่มั่นคงในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง พระนางได้นำพระพุทธธรรมเข้าไปแพร่หลายในทิเบตพระนางเป็น ผู้ทำให้พระสวามีกลับใจมานับถือพระพุทธศาสนา ปัจจุบันมีถาวรวัตถุเป็นอนุสาวรีย์สำหรับพระนางในทิเบตหลายแห่ง ชาวทิเบตเคารพพระนางมาก และเชื่อว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์ดาราเขียวมาอวตาร นับแต่นั้นมาบรรดามหาบัณฑิตเถระทั้งหลายจากมหาวิทยาลัยนาลันทาและวิกรมศิลา ผู้ซึ่งจะไปทำงานธรรมทูตในทิเบต โดยมากมักจะพักกันอยู่ในเนปาลเป็นเวลานานๆในจำนวนธรรมทูต ผู้ยิ่งใหญ่นั้น มีศานตรักษิต, กมลศีล, และทีปักร, เป็นต้น ถึงสมัยที่พวกอิสลามทำลายล้างพระพุทธศาสนาในอินเดีย ปรากฏว่ามีพระภิกษุและพุทธศาสนิกจำนวนมาก พากันอพยพหลบภัยเข้าไปในเนปาล พร้อมกับขนคัมภีร์อันทรงค่าของพระพุทธศาสนาเข้าไปด้วยเพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้นักศึกษาวรรณคดีทางพุทธธรรมฝ่ายภาษาสันสกฤต จึงได้พยายามกันเดินทางเข้าไปในเนปาล เพื่อค้นคว้าจากคัมภีร์เหล่านี้ ปรากฏว่า มีคัมภีร์ที่เปรียบเหมือนเพชรน้ำหนึ่งของพระพุทธศาสนาอยู่เป็นอันมาก คัมภีร์เหล่านี้มีทั้งที่ถือว่าเป็นพระพุทธพจน์ และเป็นงานวิทยานิพนธ์ของเหล่าคณาจารย์ ผู้มีชื่อเสียงทางพระพุทธศาสนา อาทิเช่น มหาปรัชญาปารมิตา, สัทธรรมปุณฑริกะ, กรุณาปุณฑริกะ, สังกาวตาร, รัตนกูฎ, สูตราลังการ, ทิวยาวทาน, พุทธจริต, วัชรสูติ, ชาดกมาลา, และคัมภีร์ธารณีต่างๆ ฯลฯ จากคัมภีร์สันสกฤตเหล่านี้ ทำให้เราได้ทราบงานของท่านอัศวโฆษ, นาคารชุน, ธรรมกีรยโศมิตระ และอารยสูระเพิ่มเติมมากขึ้น
ในพุทธศตวรรษที่ 11 ราชบัลลังก์แห่งเนปาลได้ถูกพระเจ้าอาของพระราชาเองแย่งชิงเจ้าชายนเรนทรเทวะ ผู้เป็นรัชทายาท ต้องหลบหนีเข้าไปในทิเบต พระเจ้งชงจุง (หลานพระเจ้าสรองตะลันฯ) แห่งทิเบต ได้ให้กองทัพแก่พระญาติของพระองค์กลับมาชิงพระราชสมบัติกลับคืนเป็นผลสำเร็จเมื่อเจ้าชายนเรนทรเทวะปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระราชาแห่งเนปาลแล้ว พระเจ้านเรนทรเทวะก็ยอมขึ้นต่อทิเบต ในรัชสมัยพระเจ้านเรนทรเทวะ ราชสำนักแห่งเนปาลได้ต้อนรับราชทูตแห่งกรุงจีนหลายครั้ง และครั้งหนึ่ง เนปาลได้ส่งกองทัพจำนวน 7 พันคนไปช่วยจีนตีแคว้นมคธแตก ราชทูตจีนได้ไปนมัสการพุทธปูชนียสถาน และถวายเครื่องพุทธสักการะในเนปาล พระเจ้านเรนทรเทวะได้ส่งราชทูต พร้อมกับเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าถังไทจง จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถัง และได้ส่งไปอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระเจ้าถังเกาจง นับตั้งแต่นั้นมาสัมพันธภาพระหว่างเนปาลกับจีนก็มีอยู่เรื่อยไม่ขาด ในจดหมายเหตุของราชวงศ์ถังมีตอนที่กล่าวถึงเนปาลอันน่ารู้น่าฟังอยู่ตอนหนึ่งดังนี้ "ประเทศนีปอล้อ(เนปาล) อยู่ทางทิศตะวันตกของของประเทศโท้วฮวน(ทิเบต) ชาวเมืองตัดผมสั้นเท่าหู, เจาะรูหู, ที่แขนสวมปล้องไม้ไผ่และกำไลเขาวัวจนถึงป่า นิยมว่าสวยงาม เวลากินอาหารใช้มือคด ไม่มีตะเกียบและช้อน จานชามเป็นทองเหลือง คนส่วนมากมีอาชีพค้าขาย มีอาชีพทำนาน้อย ใช้เหรียญทองแดง เหรียญด้านหน้าทำเป็นรูปคน ด้านหลังทำเป็นรูปม้า หาเจาะรูเหรียญให้ทะลุไม่ การนุ่งห่มใช้ผ้าผืนหนึ่งพันกาย วันหนึ่งอาบล้างกันหลายหน บ้านเมืองทำด้วยแผ่นกระดาน ตามฝาผนังสลักลวดลายต่างๆนิยมการละเล่นร้องรำและการเป่าสังข์ ตีกลอง พอมีความรู้ในเรื่องดาราศาสตร์และปฏิทินบ้าง นับถือเทวะทั้ง 5 ใช้ศิลาสลักเป็นเทวรูป มีการสรงน้ำเทวรุปทุกวัน ใช้แพะเป็นเครื่องพลีบูชา พระราชาทรงนามว่า นาเล้งทีพ้อ (นเรนทรเทวะ) ประดับกายด้วยแก้วมณีประพาฬไพฑูรย์ ที่พระกรรณห้อยกุณฑลทองและหยก ฉลองพระองค์แล้วด้วยรัตนาลังการวิภูษิตภรณ์ เสด็จประทับนั่งบนสิงหาสนะ ในท้องพระโรง เรี่ยรายด้วยบุปผาหอม พวกเสนาบดีและข้าราชบริพารล้วนนั่งกันบนพื้น มีทหารจำนวนหลายร้อยคนเรียงรายอยู่ข้างพระองค์ ในพระราชวังมีพระมณเฑียรสูง 7 ชั้นหลังคาปูลาดด้วยกระเบื้องทองเหลือง ตามเสาขื่อประดับด้วยเพชรนิลจินดา"
ในสมัยราชวงศ์หงวน ปรากฏว่ามีช่างชาวเนปาลจำนวน 80 คน เข้ามาถึงประเทศจีน และได้แสดงฝีมือในการสร้างรูปให้ปรากฏแก่ราชสำนักจีน จนเลื่องลือ ศิลปินชาวเนปาล ผู้หนึ่งชื่ออาเอ่อรนีเก้อ (จดตามสำเนียงจีน) ได้รับพระราชทานตำแหน่งขุนนาง ผู้ใหญ่เป็นบำเหน็จด้วย ในสมัยราชวงศ์เหม็ง พระเจ้าเหม็งไทโจ๊วฮ่องเต้ โปรดให้พระภิกษุตี้กวง (ปรัชญาประภา)ไปเป็นราชทูตสู่เนปาล พระเจ้ากรุงเนปาลทรงนามว่า มานับลอม้อ (จดตามสำเนียงจีน) ส่งทูตนำเจดีย์ทองและคัมภีร์พุทธธรรม ม้าที่ดีชั้นเยี่ยมและของพื้นเมืองอื่นๆ มาถวาย อีกสามปีต่อมาทูตเนปาลได้เข้ามาถวายบรรณาการอีก ทูตเนปาลมาจีนในแผ่นดินนี้เว้นระยะไม่กี่ปีก็มาจิ้มก้องครั้งหนึ่ง ถึงสมัยพระเจ้าเหม็งเซ่งโจ๊วฮ่องเต้ โปรดให้ภิกษุตี้กวงไปเป็นทูตสู่เนปาลอีกสองครั้งยงลักปีที่ 7 (ชื่อปีแผ่นดินของพระเจ้ากรุงจีน) เนปาลส่งทูตมาจิ้มก้อง ยงลักปีที่ 11 พระเจ้ากรุงจีนให้เอี้ยงซัมป้อเป็นทูตนำตราตั้งและเงินทองไปพระราชทานแก่พระเจ้ากรุงเนปาลนามว่าซาเกอซินตี รุ่งขึ้นปีใหม่ เนปาลส่งทูตมาจิ้มก้อง และเว้น 4 ปีมาอีกครั้งหนึ่ง ฯลฯ ภายหลังพุทธศก 1970 ทูตเนปาลก็ไม่ได้มาเมืองจีนอีก เพราะนับตั้งแต่พระเจ้ายักษมัลละแบ่งอาณาจักรออกเป็นสามส่วน ก็เกิดยุ่งเหยิงกันขึ้นในภายใน จน 300 ปีต่อมาในสมัยราชวงศ์แมนจูแผ่นดินพระเจ้า ย่งเจี่ย เจ้าครองแคว้นกตมัณฑุ, ปาตาน,และภัตโกณ ทั้งสามได้ส่งทูตนำราชบรรณาการมาจิ้มก้องหนหนึ่ง และนับแต่นั้นก็ขาดตอนกันไปอีก จนเกิดสงครามกันด้วยกรณีสิขิม ทิเบต ซึ่งจะกล่าวในภายหน้า.
นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 23 ตลอดระยะเกือบ 900 ปีนี้ กล่าวได้ว่าเป็นสมัยของราชวงศ์มัลละ ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 แผ่นดินพระเจ้าอานันทมัลละ มีพวก Khas อพยพเข้ามาทางทิศตะวันตกของเนปาล เข้ามาอยู่ในภาคหุบเขาและพวกนี้ในปัจจุบันกลายเป็นพวกกุมอำนาจทางการเมืองและทหาร ในตอนต้นแห่งพุทธศตวรรษที่ 19 มีพราหมณ์ ผู้หนึ่งชื่อ หริสิงหเทวะ ยกทัพเข้ามารุกรานเนปาล ตีเมืองกตมัณฑุ, ปาตาน และภัตโกณ และได้ปกครองเนปาลภาคหุบผา พระเจ้าหริสิงหเทวะเป็นฮินดู เพราะฉะนั้นจึงส่งเสริมศาสนาพราหมณ์ให้รุ่งเรือง แต่กษัตริย์วงศ์มัลละยังคงมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนา ในพุทธศตวรรษที่ 22 แผ่นดินพระเจ้ายักษมัลละ ผู้ครองเมืองภัตโกณ เป็นกษัตริย์ที่เรืองอานุภาพ ตีได้เมืองกตมัณฑุ ปาตาน และตีได้แคว้นเล็กๆในเนปาลอีกหลายแคว้น รวมเนปาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวสำเร็จ ราชานุภาพของพระองค์ยังแผ่เข้าไปถึงทิเบตอีกด้วย พระเจ้ายักษมัลละได้แบ่งอาณาจักรออกเป็นหลายส่วน เพื่อให้พระโอรสทั้งสามพระองค์ปกครอง พระราชบุตรองค์แรกทรงนามว่ารายมัลละ ได้เป็น ผู้ครองเมืองภัตโกณ พระราชบุตรองค์ที่สองทรงนามว่ารานามัลละ เป็น ผู้ครองเมืองเบนปา พระราชบุตรองค์ที่สามทรงนามว่ารัตนมัลละ เป็น ผู้ครองเมืองกตมัณฑุ และพระราชธิดาอีกองค์หนึ่งได้เป็น ผู้ครองเมืองปาตาน แต่นครเบนปาไม่สำคัญ เพราะมักจะยอมอยู่ในอารักขาของอาณาจักรใหญ่อื่นๆ เป็นอันว่าเนปาลได้กลายเป็นหลายอาณาจักรขึ้น ซึ่งเป็นผลร้ายแก่เนปาลเอง พระเจ้ายักษมัลละเข้าพระทัยวา ราโชบายของพระองค์ถูกต้อง เพราะเป็นการตัดปัญหาเรื่องสืบราชสมบัติ แต่ราโชบายนี้ใช้ได้ผลแต่ตอนต้นๆเท่านั้น พอนานเข้าทั้ง 3อาณาจักรได้กลายเป็นศัตรูกันขึ้น ทำลายความเป็นปึกแผ่นของเนปาล เปิดช่องทางแก่ศัตรูภายนอกเข้ามาย่ำยี ซึ่งเป็นผลร้ายยิ่งกว่าการชิงราชสมบัติในพวกพระราชบุตรเสียอีก ในระหว่าง300ปี นับตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้ายักษมัลละถึงสมัยพวกกุรข่านั้น ศิลปะ วรรณกรรม พาณิชยกรรม ของเนปาลเจริญถึงขีด พวกช่างศิลปะต่างๆ ได้แก่พวกเนวาร์ ได้สร้างโบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ ที่งดงามขึ้นเป็นอันมากในประเทศ การพาณิชยกรรมก็มีการติดต่อกับทิเบต , สิขิม, ภูฏาน,กาษมีระ และอินเดีย มีชนชาวแคว้นเหล่านี้อพยพเข้าไปอาศัยในเนปาล และในตอนกลางแห่งพุทธศตวรรษที่ 22 พวกกุรข่าได้ทำลายอาณาจักรทั้งสามในเนปาลลงสำเร็จ
การครองอำนาจของพวกกุรข่า พวกแขกกุรข่า ท่าน ผู้อ่านคงได้เคยเห็นบ้าง เมื่อตอนสงครามมหาบูรพาเพิ่งเลิกลงใหม่ๆ มีทหารแขกร่างเตี้ยผิดไม่ดำจัดนัก ท่าทางบึกบึน โกนหัวเหลือหางเปียไว้นิดหนึ่ง บางคนหน้าตากระเดียดไปข้างจีนๆบางคนผิวค่อนข้างจะเหลืองเสียด้วยซ้ำ เดินออกกลาดเกลื่อนในกรุงเทพฯ พวกนี้มีชื่อเสียงว่ารบเก่งนัก ชำนาญในท้องที่ทุรกันดารป่าเขามาก บางพวกรับจ้างรบเป็นอาชีพ อังกฤษเคยจ้างพวกนี้รบ ที่ไหนเป็นที่คับขันรบลำบาก พวกกุรข่าเป็นชอบมากๆเพราะได้แสดงฝีมือเต็มที่ การปราบโจรในแหลมมลายู ทางอังกฤษก็ได้เริ่มเอาพวกนี้มาปราบบ้างแล้ว ตามความเข้าใจของเรารู้ก็อยู่แต่ว่าพวกกุรข่าเป็นชาวเนปาล ความจริงไม่ใช่ แต่เป็นพวกที่อพยพเข้าไปอยู่ในเนปาลทีหลัง พวกนี้จะเริ่มเข้าไปอยู่ในเนปาลสมัยไหนยังกำหนดแน่ไม่ได้ แต่ตามประวัติที่พอรู้อยู่บ้างว่าพวกกุรข่าเป็นพวกเชื้อราชปุตอยู่แถบอุทัยปุระ ทนถูกพวกอิสลามรุกรานข่มเหงไม่ได้ก็อพยพหนีภัยกัน แต่จะหนีไปแห่งไหนก็ลำบาก เพราะเวลานั้นที่ไหนๆเขาก็มีเจ้าของถิ่นเขาอยู่ และก็ไม่พ้นภัยพวกอิสลามที่กำลังก่อนวินาศกรรม เที่ยวเผาบ้านเผาเมืองอยู่ทั่วไปในอินเดียด้วย มีอยู่ทางเดียวที่จะรอดได้ก็คือต้องทิ้งบ้านเข้าป่า และป่าที่ดีที่สุดก็คือป่าหิมพานต์ เพราะที่นั่นพวกอิสลามยังรุกเข้าไปไม่ถึง ก่อนหน้าที่พวกอิสลามจะรุกราน ก็ปรากฏว่ามีอพยพเข้าไปอยู่บ้างแล้ว พวกชั้นหลังเข้าไปเพิ่มอยู่อีกจึงทวีกำลังขึ้น แต่การเข้าไปอยู่ของพวกนี้ค่อยเป็นค่อยไปไม่หักโหม ประพฤติตนเป็นดังพลเมืองของเจ้าถิ่น หนักเข้าได้มีการสมรสกันระหว่างพวกกุรข่ากับชาวเมือง ที่สุดก็ตั้งเป็นแคว้นเล็กๆขึ้น ในรัชสมัยพระเจ้านาภุปาลษะราชาแห่งแคว้นกุรข่า ได้เริ่มเปิดฉากการโจมตีเนปาลแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาใน พ.ศ.2286 พระเจ้าทวิปรินารยัน ผู้เป็นโอรส ได้ยกทัพเข้าบุกถึงเมืองกตมัณฑุ แต่กลับถูกพระเจ้าชัยปรกาษะ กษัตริย์กรุกตมัณฑุตีพ่ายกลับไป พระเจ้าทวิปรินารยันเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่หันมาเล่นงานเมืองกีรติปุระแต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องด้วยเป็นคราวเคราะห์กรรมของชาวเนปาล เกิดมีเรื่องอิจฉาริษยากันในหมู่อาณาจักรของเนปาล และแม้ในพวกพระญาติวงศ์ของพระเจ้าชัยปรกาษะเอง ประกอบด้วยพระเจ้าทวิปรินารยันดำเนินเพทุบาย เช่นปิดประตูบ้านทางคมนาคม และทำไมตรีขอความช่วยเหลือจากพวกเจ้าแขกในอินเดีย ในปี พ.ศ.2311 กรุงกตมัณฑุก็แตก และพระเจ้าชัยปรกาษะเองก็ต้องทิ้งเมืองหลบหนีไป ต่อมาเมืองปาตาน เมืองภัตโกณก็แตกตามไปโดยลำดับ ในปี พ.ศ. 2312 พวกกุรข่าได้เป็นเจ้าประเทศ และพระเจ้าทวิปารินารยันก็ได้เป็นมหากษัตราธิราชของเนปาลแต่พระองค์เดียว รวมแคว้นกุรข่ากับเนปาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำเร็จ และนับตั้งแต่นั้นมาเนปาลก็ไม่มีพระราชาที่เป็นพุทธศาสนิกชนอีกเลย พระพุทธศาสนาในเนปาลก็เสื่อมโทรมลง และศาสนาฮินดูก็เจริญขึ้นแทนที่
สงครามกับอังกฤษครั้งแรก ในระหว่างศึกกับพวกกุรข่า พระเจ้าชัยปรกาษะได้ร้องขอความช่วยเหลือทางทหารจากอังกฤษ อังกฤษส่งทหารมีกัปตันคินล็อค เป็นแม่ทัพมาช่วยทหารกุรข่ากันทหารอังกฤษได้ปะทะกันในปี พ.ศ.2310 อังกฤษพ่ายกลับไป นัยว่าเพราะทหารป่วยเป็นไข้ป่ากันมาก ผลของสงครามทำให้พระเจ้าทวิปรินารยัน เริ่มการขัดขวางชาวยุโรป ขับไล่พวกมิชชั่นนารีและพ่อค้าชาวยุโรป และทรงกะแผนการที่จะแผ่พระราชอำนาจให้กว้างขวางยิ่งขึ้นประเทศที่อยู่ในกำหนดหมาย มีสิขิม, ทิเบต,และภาคใต้ของเนปาล แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นพระชนม์เสีย
สงครามกับจีนกรณี สิขิม, ทิเบต,ในปี พ.ศ.2331 ผู้สำเร็จราชการเนปาลชื่อ พาหาดุลชา ได้ส่งกองทัพล่วงล้ำเข้าไปในอาณาเขตของแคว้นสิขิม แต่ไม่นานสิขิมยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องของเนปาล สองปีต่อมาเนปาลกลับยกเข้าบุกสิขิมใหม่ คราวนี้รัฐบาลสิขิมได้ขอร้องให้จีส่งกองทัพมาช่วย เพราะสมัยนั้นจีนถือว่าสิขิมเป็นเมืองประเทศราชของตนอยู่ รัฐบาลจีนบอกให้เนปาลถอยทหารออกไปตามกำหนดวันก่อน แต่เนปาลไม่ยอมฟังเสียง เห็นว่าจีนอยู่ไกลคงมาช่วยไม่ทัน กลับยกทัพบุกเข้าตีทิเบต เมื่อห้ามโดยไม่ฟังแล้ว กษัตริย์จีน พระเจ้าเคี้ยนหลงฮ่องเต้แห่งพระราชวงศ์แมนจู ก็มีรับสั่งให้ยกพยุหโยธามาปราบเนปาลทันที กองทัพจึงมีฮกอังคัง ขุนนางตำแหน่งเซียงก๊กเป็นแม่ทัพ ได้ประทะกับทัพเนปาล คราวนี้กองทัพเนปาลแตกย่อยยับถอยหนีกลับประเทศ ทัพจีนยกข้ามภูเขาหิมาลัยบุกทะลวงตีตามเข้ามาไม่ลดละ เหลือระยะทางไม่ถึงหนึ่งวันจะถึงนครหลวง รัฐบาลเนปาลเห็นว่าสู้ไม่ได้แน่ก็ยอมจำนน ส่งช้างม้าเป็นอันมากออกมาให้ และสัญญาว่าทุก 5 ปี จะไปจิ้มก้องถวายราชบรรณาการฮ่องเต้ถึงกรุงปักกิ่งหนหนึ่งไม่ให้ขาด กองทัพจีนจึงเลิกทัพกลับ จำเนียรกาลล่วงมาอีกราว 50 ปีเศษ ในปี พ.ศ. 2397 เนปาลกับจีนก็ประกาศสงครามกันใหม่ มูลเหตุแห่งสงครามครั้งนี้เนื่องด้วยชาวเนปาลที่ไปอาศัยอยู่ในกรุงลัสสาราชธานีของทิเบตไปเกิดมีเรื่องราวกับเจ้าของบ้าน รัฐบาลเนปาลเตรียมมหาเรื่องอยู่แล้ว จึงหาเหตุว่าชาวเนปาลถูกพวกทิเบตข่มเหงต้องสู้กันให้เห็นดี คราวนี้เนปาลมี ผู้นำที่สามารถชื่อ ยุงพาหาดุลเป็น ผู้สำเร็จราชการ ทัพจีนกับทัพแขกฆ่ากันอยู่ถึง 2 ปี ต่างไม่แพ้ไม่ชนะ ที่สุดต่างก็เบื่อหน่ายเลิกรากัน และได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพ 10 ข้อ ดังต่อไปนี้
1 ทุกๆปีทิเบตจะต้องส่งเงิน 1 หมื่นรูปีให้แก่รัฐบาลเนปาล
2 เนปาลกับทิเบตยอมรับเคารพในพระโอรสแห่งสวรรค์ของจีน และเนื่องด้วยทิเบตเป็นพุทธอาณาจักรอันศักดิ์สิทธิ์ของจีน พลเมืองทิเบตเป็นพุทธสาวกทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและดังนั้นถ้าหากทิเบตถูกรุกรานจากประเทศศัตรูอื่นไกลแล้ว รัฐบาลเนปาลยินดีช่วยเหลือป้องกันจนเต็มความสามารถ
3 ทิเบตต้องไม่เก็บส่วยอากรจากเนปาล
4 รัฐบาลทิเบตจะต้องส่งทหารเชลย และ ผู้คนพลเมือง สรรพอาวุธต่างๆของเนปาลที่ถูกยึดไปในระหว่างสงครามคืนให้เนปาล และในประการเดียวกัน รัฐบาลเนปาลต้องส่งเชลยศึกและอาวุธยุทธภัณฑ์ ทรัพย์สินของทิเบตคือให้แก่ทิเบต และต้องถอนทหารเนปาลออกจากดินแดนทิเบต
5 รัฐบาลเนปาลมีสิทธิที่จะส่งขุนนางชั้นสูงคนหนึ่งมาอยู่ประจำในกรุงลัสสา และขุนนาง ผู้นั้นจะต้องไม่เป็นชาวเนวาร์ (ที่ไม่ให้เป็นชาวเนวาร์ เห็นทีเพราะชาวเนวาร์ส่วนมากเป็นพุทธมามกะ รัฐบาลเนปาลเกรงจะไปเข้ากับพวกทิเบตซึ่งเป็นชาวพุทธด้วยกันกระมัง)
6 รัฐบาลเนปาลจะเปิดร้านค้าในกรุลลัสสา ร้านค้ามีสิทธิในการจำหน่ายสินค้าทุกชนิดโดยเสรี
7 ขุนนางเนปาลไม่มีสิทธิอำนาจในการตัดสินคดีการค้าของชาวนครลัสสา และรัฐบาลทิเบตก็ไม่มีสิทธิอำนาจจะตัดสินคดีการค้าของชาวเนปาล และคดีของพวกอิสลามในกรุงกตมัณฑุถ้าหากว่าคนทิเบตถูกปรับจากรัฐบาลเนปาล รัฐบาลทิเบตจะต้องทำหน้าที่เร่งรัดเก็บค่าปรับจาก ผู้นั้น แม้ฝ่ายเนปาลก็ปฏิบัติเช่นกัน
8 ถ้า ผู้ร้ายฆ่าคนชาวเนปาลหลบหนีเข้าไปในทิเบต รัฐบาลทิเบตจะต้องจับส่งมาให้แก่เนปาล แม้เนปาลก็เช่นกัน
9 ถ้าหากว่าทรัพย์สินชาวเนปาลถูก ผู้ร้ายชาวทิเบตปล้นชิง รัฐบาลทิเบตต้องสืบจับคนร้ายและลงโทษ ให้ส่งคืนสิ่งของนั้นๆ กลับคืน หรือให้ ผู้ร้ายชดเชยค่าเสียหายภายในกำหนดเวลาฝ่ายรัฐบาลเนปาลก็ปฏิบัติเช่นกัน
10 รัฐบาลทิเบตจะไม่เอาโทษแก่พวกทิเบตที่เข้าข้างเนปาลในระหว่างสงคราม แม้รัฐบาลเนปาลก็เช่นกัน
สงครามกับอังกฤษอีก เมื่อไม่สามารถจะแผ่อำนาจตลอดไปทางตะวันออกเพราะถูกมังกรจึนสกัดกั้นเช่นนี้ รัฐบาลเนปาลก็เปลี่ยนเข็มทิศทางใหม่ ในปี พ.ศ. 2337 รัฐบาลเนปาลเข้าครอบครองดินแดนอินเดียถึง 2 มณฑล แต่การแผ่อำนาจทางตะวันตกไม่ได้ผล เพราะราชาแห่งแคว้นคังคระได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้ารันชิตสิงห์แห่งแคว้นละฮอร์ ต่อสู้ป้องกันไว้เป็นสามารถ ทัพเนปาลไม่อาจเอาชนะได้ ในปี พ.ศ.2350 เนปาลแผ่อิทธิพลเข้ามาในเขตอินเดียเรื่อยๆ ยึดตำบล 200 ตำบล ขระแรกอังกฤษก็ยังไม่สนใจ เพราะยังยุ่งกับเรื่องภายในของอินเดียอยู่ คงปล่อยให้เนปาลล่วงล้ำอาณาเขตเรื่อย จนถึงในปี พ.ศ.2357 เนปาลขยายอำนาจเข้ามาถึงดินแดนใกล้รามนคร ตำรวจอังกฤษถูกฆ่า อังกฤษจึงประกาศสงครามกับเนปาลทันทีหนแรกเนปาลเป็นฝ่ายชนะ แต่แล้วชัยชนะกลับไปตกเป็นของอังกฤษ เนปาลจึงขอสงบศึก และได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับอังกฤษ ในปี พ.ศ.2358
ประวัติศาสตร์เนปาลยุคใกล้ ความยุ่งเหยิงฆ่าฟัน อิจฉาริษยาพยาบาทกันในหมู่เจ้าแห่งราชวงศ์กษัตริย์เนปาล ออกจะเป็นเรื่องปกติ เพราะมีการฆ่าฟันกันอยู่แทบทุกแผ่นดิน แต่ครั้งที่น่าสยดสยองที่สุดก็ในแผ่นดินพระเจ้าราเชนทระ ผู้ซึ่งเป็นราชาที่อ่อนแอ พระราชอำนาจตกในกำมือของพระนางกานฉา พระนางกานฉาเป็นชู้กับจะคันสิงห์ ผู้เป็นอัครเสนาบดีวางอำนาจบาตรใหญ่ พลเมืองส่วนมากไม่พอใจ ในปี พ.ศ.2389 จะคันสิงห์ถูกคนลอบฆ่าตาย พระนางกานฉาพิโรธมาก ทรงกะแผนการแก้แค้นทันที ทรงเรียกประชุมพวกเสนาบดีอำมาตย์ในพระราชฐานตรัสประภาษว่าพวกอำมาตย์ว่าเป็นศัตรูกับพระนาง และเป็นผุ้ฆ่าอัครเสนาบดี และพวกนี้ก็ถูกจับฆ่า กล่าวกันว่าโลหิตไหลแดงฉานออกมาจนถึงนอกวัง ถนนหนทางกลายเป็นสีแดงไปหมด ซึ่งคะเนไม่ได้ว่าชีวิตคนจะเสียไปมากเท่าไร พวกมนตรีชั้น ผู้ใหญ่และคนสำคัญจำนวนอย่างน้อย 55 คนที่ถูกฆ่า เมื่อจะคันสิงห์ตายแล้ว อัครเสนาบดีคนใหม่ชื่อ ยุงพาหาดุล ได้ขึ้นว่าการ อัครเสนาบดีคนนี้เป็นคนเข้มแข็งสามารถอย่างยิ่ง กุมอำนาจการเมืองมาไว้ที่ตนได้หมด ในปี พ.ศ.2399 พระเจ้าสุเรนทระกษัตริย์องค์ใหม่ ก็พระราชทานฐานันดรศักดิ์ให้เป็นถึงพระมหาราชาและพระราชทานดินแดนกัษกี และลันยูง สองมณฑลให้ด้วย และยังกำหนดอำนาจซึ่งเป็นเหตุให้อัครเสนาบดีได้เสวยอำนาจเต็มที่ยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์เอง ดังนี้
1 มีอำนาจที่จะสั่งฆ่าหรือไม่ให้ฆ่า และริบราชบาตรในพลเมืองได้
2 มีอำนาจที่จะแต่งตั้ง ถอดถอนขุนนางในตำแหน่งต่างๆ
3 มีอำนาจที่จะตรากฎหมายและแก้กฎหมาย
4 มีอำนาจที่จะสั่งเลิกสงคราม และทำสัญญากับต่างประเทศ
5 มีอำนาจที่จะถวายความแนะนำหรือขัดแย้งกับพระมหากษัตริย์
เมื่อเป็นเช่นนี้ พระมหากษัตริย์ก็กลายเป็นเจว็ด หมดความสำคัญลงทันที ทำนองเมื่อตั้งให้เป็นมหากษัตริย์ราชาแล้ว เพื่อจะไม่เป็นการยุ่งปนกับตำแหน่งกษัตริย์ จึงต้องเติมสร้อยท้ายพระนามของพระเจ้าแผ่นดินว่า "มหาราชาธิราช" คือเป็นราชาในหมู่ราชาทั้งหลาย หรือจะว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินวังหลวง ส่วนพระราชานั้นเทียบตำแหน่งพระมหาอุปราชวังหน้าก็ได้ ระบอบการปกครองแบบนี้ความจริงไม่ใช่เป็นของใหม่ ญี่ปุ่นได้ทำมาแล้วนมนานคือระบอบโชกุนนั่นเอง โชกุนนั่นมีอำนาจที่จะทำอะไรๆได้ทั้งนั้น ส่วนพระเจ้าจักรพรรดิเป็นเพียงรูปเคารพที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครอยากไปยุ่งด้วย จะเจรจาความเมืองต้องมาเจรจากับโชกุน สำเร็จไม่สำเร็จก็อยู่ที่โชกุน ผู้เป็นมหาอัครเสนาบดี ผู้เดียว ญี่ปุ่นเพิ่งจะเลิกระบอบโชกุนเด็ดขาดเมื่อสมัยพระเจ้ามัตสุหิโต อันตรงกับแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ของเรานี่เอง ฉะนั้นบุรุษ ผู้สำคัญที่สุดในประเทศเนปาลก็คือมหาราชา ซึ่งเป็นตำแหน่งสืบสันตติวงศ์กันได้ด้วย จนมีคำพูดว่า "อัครเสนาบดีก็คือตัวประเทศเนปาล"
รุ่งขึ้นจากปีที่ให้อำนาจแก่อัครเสนาบดี คือในปี พ.ศ.2400 มณฑลทารงภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียเกิดจารจล ด้วยพวกแขกทำการปฏิวัติอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษในอินเดียเห็นกำลังของพวกแขกอินเดียแข็งขัน ก็ขอกำลังทัพเนปาลมาช่วยสู้ กองทัพเนปาลมาช่วยตีเมืองหลายเมืองกลับคืนให้อังกฤษ เช่นเมืองโศรักขปุระ เมืองลัคเนาว์เป้นต้น ที่สุดอังกฤษเป็นฝ่ายมีชัยรัฐบาลอังกฤษระลึกถึงบุญคุณที่เนปาลช่วยเหลือ ก็ยกแผ่นดินที่ราบใหญ่กว้างขวางระหว่างเนปาล-อินเดีย ให้แก่เนปาลเป็นรางวัล ใน พ.ศ.2393-2394 มหาราชาได้ไปเยี่ยมอังกฤษเพื่อกระชับเกลียวแห่งสัมพันธไมตรีให้แน่นแฟ้นขึ้น พักอยู่ในประเทศอังกฤษ 3 เดือน ได้รับการต้อนรับอย่างมโหฬารจากรัฐบาลอังกฤษ เมื่อขากลับยังได้แวะประเทศสำคัญๆในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศสเป็นต้น เป็นเหตุให้ฝรั่งรู้จักความสำคัญของอาณาจักรแห่งขุนเขานี้มาก และเป็นครั้งแรกที่คนสำคัญชาวเนปาลได้เหยียบย่างเข้าไปถึงทวีปยุโรปด้วย ใน พ.ศ.2418 มหาราชาตระเตรียมจะไปเยี่ยมประเทศอังกฤษอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ไปเกิดอุปัทวเหตุตกม้าได้รับบาดเจ็บในในอินเดีย จึงต้องยุติการเดินทาง ต่อมาอีก 2 ปี มหาราชาก็ตาย มหาราชา ผู้นี้ชาวเนปาลยกย่องเป็นวีรบุรุษคนหนึ่ง
มหาราชาคนต่อมาชื่อ รานาอุทิบ ครองตำแหน่งอยู่ 8 ปี ตกปี พ.ศ.2428 หลานของมหาราชาคนก่อนชื่อ พีรชามเซร์ คุมสมัครพรรคพวกเป็นกบฏจับรานาอุทิบประหารชีวิตเสียแล้วขึ้นเถลิงอำนาจ มหาราชา ผู้นี้ได้ทำคุณแก่ประเทศทั้งในทางก่อสร้างทางคมนาคม ขจัดทุกข์บำรุงสุขให้ความสะดวกแก่พลเมืองมาก นัยว่าเป็นที่รักใคร่ของบรรดาชาวเนปาลทั้งหมด ต่อจากนี้ก็มีมหาราชาสืบต่อลงมาอีกคนหนึ่ง จึงถึงสมัยมหาราชาจันทรชามเชร์ พระเจ้ากรุงเนปาลดำเนินแบบพระเจ้าสุเรนทระ ประกาศประสาทอำนาจให้มีข้อสำคัญดังนี้
1 มีอำนาจในการตัดสินประหารชีวิต
2 มีอำนาจในการแต่งตั้งถอดยศ
3 มีอำนาจในการจับกุมสั่งขังคน
4 มีอำนาจในการยึดทรัพย์ริบราชบาตร
5 มีอำนาจในการลงโทษ และเนรเทศพลเมือง ข้ารัฐการ
6 มีอำนาจในการให้ และเรียกคืนเครื่องอิสริยาภรณ์
7 มีอำนาจในการควบคุมดูแลการคลังของประเทศ
8 มีอำนาจในการดำเนินรัฐประศาสน์ทุกอย่าง
อันที่จริง ไม่จำเป็นต้องประสาทอำนาจกันอย่างนี้ก็ได้ เพราะนับตั้งแต่ยุคมหาราชาลงมาอำนาจทั้งหลายก็ตกอยู่ในกำมือของมหาราชาหมดแล้ว มหาราชาคนใหม่นี้เป็นคนรอบคอบมีสายตาไกล มีความสามารถไม่แพ้มหาราชาก่อนๆ ได้ทำการเป็นประโยชน์ไว้แก่ชาติดังนี้
1 ห้ามไม่ให้ข้าราชการใช้หน้าที่อำนาจเรียกเก็บข้าวของราษฎร หรือกะเกณฑ์แรงราษฎรมาทำงานโดยปราศจากค่าตอบแทน
2 ให้เลิกพิธีสตี พิธีสตีคืออะไร จะอธิบายในที่นี้สักหน่อย ลัทธิธรรมเนียม ผู้เป็นตายตาม ผู้ตายนั้นดูจะมีกันทั่วในบรรดาประเทศโบราณ นอกจากจะมีการเอาข้าวของเครื่องใช้ของ ผู้ตายเผาหรือฝังตาม ผู้ตายไป ด้วยประสงค์จะให้ ผู้ตายได้ใช้ในภพหน้า ยังมีการเอาคนที่เป็นที่รักหรือข้าทาสฝังตามไปด้วย การที่เอาคนเป็นหรือคนยังไม่ตายฝังหรือเผาตามคนตายนั้น บางทีก็เป็นด้วยความสมัครใจของคนเป็นเองและบางทีก็ต้องใช้บังคับฆ่าฟันกันด้วยไม่สมัครใจ ในเมืองจีนสมัยก่อนพระเจ้าแผ่นดินทิวงคตลง ต้องเอาพวกนางสนมกำนัลขันทีที่เคยรับใช้ฝังตามไปกับพระศพนับจำนวนมากๆ เช่นสมัยเพระเจ้าซิ้งซีฮ่องเต้ ผู้สร้างกำแพงยักษ์เมืองจีนเป็นต้น ในญี่ปุ่นเมื่อสมัยพระเจ้ามัสสุหิโตสวรรคต ยังมีนายทหารชั้น ผู้ใหญ่ชั้นนายพลเอกชื่อ โนกีกับภรรยา กระทำฮาราคิรีตายโดยเสด็จ คนญี่ปุ่นถือว่าเป็นเกียรติยศและเป็นวีรกรรมที่น่าบูชาอย่างยิ่ง แม้ในการสร้างรูปหินเป็นคนและสัตว์ เช่นช้างม้าเป็นต้น ไว้บริเวณพระศพหรือศพของพระราชา และคนมีทรัพย์ในประเทศตะวันออก เช่น จีน ,ญวน,หรือในประเทศโบราณฝ่ายตะวันตก นอกจากให้ ผู้เฝ้าศพแล้ว ยังมีความหมายไว้ให้รับใช้ ผู้ตายด้วย ที่สุดเป็นจนการเผารูปบ้านช่องเครื่องใช้และคนที่ทำด้วยกระดาษในพิธีกงเต็กก็มีนัยอย่างเดียวกัน เป็นแต่เปลี่ยนการฝังหรือเผาของจริงๆมาเป็นของสมมุติเท่านั้น พิธีสตีในอินเดีย เมื่อปรากฏว่าสามีของหญิงใดตายลง หญิง ผู้นั้นจะต้องนุ่งห่มเรียบร้อยเดินเข้ากองไฟที่เผาศพสามี เพื่อเผาตัวเองให้ตายตกตามสามีไป และหญิง ผู้นั้นจักชื่อว่าเป็นสตี คือเป็นหญิงที่ดี เป็นที่นิยมแซ่ซ้องสรรเสริญของประชาชนทั่วไป ในการเผาตัวตายตามผัวนี้ ถ้าเจ้าตัวยินดีก็แล้วไป ถ้าเจ้าตัวกลัวตายไม่อยากรับสมญาสตี บางทีพวกญาติมิตรจะมาอ้อนวอนขอร้อง และบางทีก็ช่วยกันฉุดเข้าไปในกองเพลิง ช้าง ผู้หญิงก็จะร้องหวีดหวาดด้วยความรักชีวิต ซึ่งคำความสยดสยองแก่ ผู้เห็นอยู่มิน้อยเลย ส่วนหญิงใดไม่ยอมเผาตัวหญิงนั้นก็จักรับแต่ความหมิ่นแคลนของ ผู้อื่นวาไม่เป็นหญิงที่ดี นัยว่าจะต้องถือพรตด้วย พิธีสตีนี้ไม่ปรากฏว่าจะมีในคัมภีร์ยุคพระเวท หรือ พราหมณะ แต่ก็ไม่หมายว่าพิธีอย่างนี้จะไม่มีในยุคโบราณของอินเดียเลยทีเดียว ตกมาถึงสมัยปุราณะมีการสิ่งเสริมลัทธิสตีกันมาก และปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในคัมภีร์ครุฑปุราณะกล่าวเยินยอสตรีที่เผาตัวตามผัวว่าเป็นหญิงประเสริฐ กล่าวกันว่าพวกพราหมณ์ในรุ่นหลังได้ทำการบิดเบือนความหมายในพระเวทให้ผิดทาง ตกมาถึงยุคพุทธศกพันปีเศษ เมื่อพระพุทธศาสนาหมดจากอินเดียแล้ว ลัทธิสตีก็ยิ่งลุกลามไปทั่วอินเดีย ในปี พ.ศ.2372 รัฐบาลอังกฤษในอินเดียสมัยลอร์ดวิลเลียมเบนทิงค์เป็น ผู้สำเร็จราชการ ออกกฎหมายห้ามทำพิธีสตี พวกพราหมณ์ถึงกับคัดค้านไม่ยอม แถมยังอ้างอิงข้อความในพระเวทตามความบิดผันของตนอีก และมีการลอยทำพิธีสตีกันในที่ลี้ลับตาเจ้าหน้าที่ เช่นในป่าเป็นต้น แต่ในที่สุดเมื่อทางการอังกฤษกวดขันหนัก พิธีนี้จึงสูญหายไปจากอินเดีย แต่เนปาลเพิ่งเลิกพิธีนี้ได้เมื่อ พ.ศ.2463 แปลว่าช้ากว่าอินเดีย 91 ปี หรือเพิ่งเลิกเมื่อ 30 ปี ที่แล้วมานี้เอง
3 เลิกทาส เนปาลประกาศเลิกทาสทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2467 และอีก 2 ปีต่อมาทาสทั้งประเทศก็ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระหมดสิ้น จำนวนทาสที่ถูกปล่อยนั้นมีถึง 5 หมื่น 2 พันคน แปลว่ามีจำนวนทาสหนึ่งในร้อยคนของพลเมือง นับว่าเป็นเมืองที่มีทาสมากพอดู
4 จัดระเบียบทหารให้ทันสมัยโดยถือเอาอังกฤษเป็นแบบอย่าง
5 สร้างโรงงานสร้างสรรพาวุธ
6 สร้างการชลประทาน, สะพานข้ามแม่น้ำและภูเขา, โรงไฟฟ้า, โทรเลข ทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญทัดเทียมโลก สัมพันธ์กับต่างประเทศ ในปี พ.ศ.2445 พระเจ้ากรุงปักกิ่งกวนสูแห่งราชวงศ์แมนจู ได้ส่งเสื้อลายมังกรและเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาให้มหาราชา พร้อมทั้งแต่งตั้งให้เป็นอ๋อง เพื่อให้มีอำนาจยิ่งใหญ่ ความจริงไม่เห็นจำเป็นอะไรที่จีนจะมาแต่งตั้งอำนาจให้ เพราะจีนจะตั้งหรือไม่ตั้งเขาก็ยิ่งใหญ่อยู่เองแล้ว เรื่องเที่ยวแต่งตั้งใครต่อใครของจีนนั้น จะแทรกอธิบายสักหน่อย นับแต่โบราณมาแล้ว จึงมักถือวาประเทศอื่นๆเป็นประเทศราชของตน บ้านใดเมืองใดไปเจริญไมตรีกับจีนๆต้องนึกโมเมเอาเองว่า นั่นเป็นการมาจิ้มก้องขอเป็นเมืองออก ประเทศไทยก็เคยก็เคยถูกทึกทักเอาว่าเป็นเมืองขึ้นของจีนแต่เก่าก่อน อย่างช้าก็สมัยรัชกาลที่ 4 ของเรานี่เอง แม้อังกฤษและฝรั่งชาติอื่นๆที่ไปทำสัญญากับจีน ก็เคยโดนลูกไม้แบบนี้มาแล้ว จีนเรียกประเทศและราชวงศ์กษัตริย์ของตนว่า เทียนเฉียว แปลว่า แผ่นดินสวรรค์ หรือราชวงศ์สวรรค์ ส่วนประเทศอื่นๆเรียกว่าฮวนทั้งสิ้น ซึ่งมีความหมายว่ายังไม่เจริญ คือยังไม่มีอารยธรรม ที่เป็นเช่นนี้เพราะจีนเป็นชาติที่มีอายุเก่าแก่มากชาติหนึ่งและมีความรุ่งเรืองมาเก่าแก่ ถ้ายกอินเดียเสียแล้วบรรดาประเทศชาติทางภาคเอเชียตะวันออกก็ไม่มีใครรุ่งเรืองเท่า ถึงกระนั้นบางทีจีนก็ยังเรียกอินเดียว่าฮวนอยู่ดี เพราะพระเจ้าแผ่นดินจีนองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นฮ่องเต้ หรือมหาจักรพรรดิราชได้ ส่วนกษัตริย์นอกนั้นจีนยอมให้อย่างมากเป็นเพียงอ๋องเท่านั้น จะเป็นฮ่องเต้ด้วยไม่ได้ และถ้าบังเอิญกษัตริย์ประเทศใดเฉลิมองค์เป็นฮ่องเต้ ก็เป็นต้องขัดใจกับจีนมากและจีนต้องยกทัพมาปราบ นอกเสียจากจีนไม่มีกำลังพอก็ต้องปล่อย เพราะเขาถือว่าในฟ้ามีอาทิตย์ดวงเดียวฉันใด ในโลกก็ต้องมีฮ่องเต้ได้เพียงองค์เดียวฉันนั้น ดังนั้นเมื่อจีนถือว่าตนเป็นมหาอำนาจปกครองบรรดาประเทศราชทั่วโลกเช่นนี้ จึงไปเที่ยวแต่งตั้งใครต่อใคร และการแต่งตั้งนั้นจึงไม่ก้าวก่ายไปถึงอำนาจอธิปไตยของเจ้าของประเทศ เมื่อใครได้เป็นใหญ่ขึ้นแล้ว จึนจึงถือโอกาสเข้าแต่งตั้งอีกทีหนึ่ง ส่วนบรรดาประเทศที่จีนถือเป็นเมืองออกนั้น ประเทศที่มีเอกราชของตนเองสมบูรณ์ ถึงรู้อยู่ก็ทำไม่รู้ไม่ชี้เสียก็มี เพราะจีนจะถืออย่างไรก็ถือไป อำนาจอธิปไตยก็ยังคงมีเป็นของตนอยู่ เพียงแต่นานๆไปส่งข้าวของพื้นเมืองกำนัลฮ่องเต้ทีหนึ่ง และก็ไม่เปล่าผลเพราะขากลับก็ได้ของกำนัลส่งมาให้ตอบแทนเหมือนกัน มิหนำยังได้รับความสะดวกสบายที่จะทำมาค้าขาย และสิทธิพิเศษบางอย่างในเมืองจีนด้วย บางทีเมื่อเกิดศึกยังอ้างขอความช่วยเหลือจากจีนได้ ประเทศเนปาลก็มีลักษณะเช่นว่านี้ แม้เดิมเคยทำสงครามแพ้จีนและยอมรับความยิ่งใหญ่ของจีน ก็พึงสำเหนียกว่ามิได้เป็นเมืองขึ้นชนิดที่ต้องเสียอธิปไตยของตนไปแต่อย่างไรเลย จำเนียรกาลต่อมาเมื่อเมืองจีนล้มราชวงศ์กษัตริย์แมนจูเปลี่ยนเป็นรีปับลิคแล้ว เนปาลยังได้ส่งของกำนัลไปให้แก่รัฐบาลรีปับลิคจีนอีกเพื่อเป็นการไมตรีหลายครั้ง ในปี พ.ศ.2471 รัฐบาลเนปาลส่นักศึกษามาเรียนในเมืองจีน 8 คนและดูการปกครองประเทศด้วย ปัจจุบันมีชนจีนจำนวนไม่น้อยที่หวังจะได้เข้าครอบครองเนปาลอย่างเมืองขึ้นอีก แต่ก็คงเป็นความคิดที่เหลวๆ เพราะเนปาลบัดนี้ไม่ใช่เนปาลเมื่อหลายร้อยปีก่อนแล้ว
มหาราชาจันทรชามเชร์ เดิมเคยศึกษาในมหาวิทยาลัยในกัลกัตตา เมื่อได้ครองอำนาจแล้วได้มาเยี่ยมรัฐบาลอินเดียหนหนึ่ง ในปี พ.ศ.2451 ได้เดินทางไปเยี่ยมอังกฤษ ทางการอังกฤษให้ลอร์ดคิตชเน่อร์ มาเยี่ยมเนปาลตอบแทน เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดรัฐบาลเนปาลได้ส่งทหารจำนวน 16500 คนไปช่วยสัมพันธมิตรรบกับฝ่ายอักษะ ได้ทำการรบ ณ สมรภูมิฝรั่งเศส ,เมโสโปตาเมีย, ชาโกนิก, และอียิปต์ได้ผลดี ในปี พ.ศ.2466 อังกฤษกับเนปาลได้ทำสัญญาพันธไมตรีกันใหม่ ต่างเคารพในอำนาจอธิปไตยของกันและกัน อังกฤษอนุญาตให้ส่งอาวุธยุทธภัณฑ์สู่เนปาลโดยผ่านอินเดียได้ รัฐบาลเนปาลยังส่งนักศึกษาให้ไปเล่าเรียนการอุตสาหกรรม หัตถกรรมและวิทยาศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นด้วย
เนปาลในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2472 มหาราชาจันทรชามเชร์ตายลง น้องชายคนหนึ่งได้ขึ้นสืบตำแหน่งอยู่ได้ 3 ปีก็ตาย น้องชายอีกคนหนึ่ง อูทาชามเชร์ ก็สืบตำแหน่งต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีอายุอยู่ในราว 70 ปีเศษ แต่ก็ยังเข้มแข็ง เหตุการณ์เกี่ยวกับประเทศที่สำคัญมีดังนี้ ในปี พ.ศ. 2473 รัฐบาลจีนส่งคณะ ผู้แทนมาเยี่ยมเนปาล พร้อมกับมอบตำรับตำราจีนชุดใหญ่ให้เป็นที่ระลึก รุ่งขึ้นอีก2 ปี รัฐบาลจีนส่ง ผู้แทนมาทำพิธีมอบยศตำแหน่งพลเอกทหารบกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่มหาราชา ในปี พศ.2485 เจียงไคเช็ค ผู้นำรีปับลิคจีนเดินทางมาเยี่ยมอินเดีย รัฐบาลเนปาลส่ง ผู้แทนนำหนังเสือสองผืนและของขวัญต่างๆ ให้เจียงไคเช็คเป็นเครื่องแสดงสันถวไมตรี ในปี พ.ศ.2487 รัฐบาลเนปาลได้เปิดสถานทูตเป็นทางการขึ้นในอังกฤษ ทูตคนแรกคือ พาหาดุลชามเชร์ ผู้เป็นบุตรของมหาราชานอกจากนี้ยังส่ง ผู้แทนไปเยี่ยมเยียนบรรดาประเทศสำคัญในยุโรป มีอาทิ ฝรั่งเศส ,อิตาลี,ฯลฯ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น รัฐบาลส่งกองทัพเข้าช่วยสัมพันธมิตรรบ ในสมรภูมิยุโรป,แอฟริกาและเอเชีย มีทหารกุรข่าอยู่ปะปนกันทหารสัมพันธมิตรเสมอ.
ในปี พ.ศ.2477 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาล ทำลายบ้านเรือนพระราชวังเสียหายมากต่อมาก มี ผู้เสียชีวิตร่วมหมื่นคน บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก รัฐบาลเนปาลได้เร่งรีบจัดการบูรณะพื้นฟูประเทศเป็นการใหญ่ ภายในระยะเวลา 5 ปี ทุกสิ่งทุกอย่างก็เรียบร้อย จากผลของแผ่นดินไหวครั้งนี้ ได้ทำให้เนปาลมีถนนหนทางและอาคารทันสมัยมากขึ้น นอกจากนี้มหาราชายูทาชามเชร์ ยังได้ทำความเจริญให้แก่ประเทศอีกมากมาย เช่น จัดการส่งเสริมการไฟฟ้าการอุตสาหกรรม, การโทรเลข, การทหาร, และได้ตรากำหนด ผู้เป็นทายาทสืบสันตติวงศ์ไว้ว่าจะต้องเป็นบุตรที่เกิดโดยภรรยาที่แต่งงานโดยถูกต้องเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแย่งอำนาจกัน
เมืองสำคัญของเนปาล เมืองสำคัญๆของเนปาลส่วนมากอยู่ในแถบภาคกลางและภาคใต้ของประเทศ เพราะนับแต่เพรงกาลมา ดินแดนแถบนี้เป็นแหล่งชุมนุมของประชากรมากกว่าถิ่นอื่น มีเมืองสำคัญๆอันควรกล่าวในที่นี้คือ
1 เมืองกตมัณฑุ ปัจจุบันราชธานีของประเทศเนปาล เป็นเมืองเก่าแก่กว่า 2 พันปี ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศ มีแม่น้ำภัคมติไหลผ่าน พลเมืองราวแสนกว่า มีทั้งชนเผ่ามองโกเลียและอารยัน การพาณิชยกรรมตกอยู่ในกำมือของพวกเนวาร์ ทิวทัศน์ของนครนี้สวยงามมาก มองไปทางเบื้องหลังเมืองจะเห็นยอดขุนเขาเอเวอเรสสูงทะมืน และยอดเขาอื่นๆในทิวหิมาลัยที่สล้างด้วยหิมะขาว ภูเขาทางทิศใต้ก็มียอดค่อยๆต่ำลาดลง โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ ประกอบกับพระราชมณเฑียรเมื่อฉาบไล้ด้วยแสงทิวายามอัสดงคต ปรากฏเป็นสีเรื่อเหลืองอร่ามละลานตา จุดเด่นในนครกตมัณฑุคือเจดีย์หินสีขาวสูง 200 ฟิต ภายในเมืองมีตึกรามบ้านช่องทั้งแบบเก่าและแบบยุโรป ตึกขนาด4-5ชั้นก็มี ถนนหนทางกว้างขวางสะอาดจนถึงตรอกเล็กซอกน้อยที่สกปรกโสมมเวลากลางคืนมีไฟฟ้าสว่างไสว สถานทูตอังกฤษตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมือง บ้านเรือนย่านสถานทูตนี้สร้างถ่ายแบบอังกฤษ มีสถานที่พยาบาลทันสมัย ในเมืองยังมีสนามกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง สำหรับใช้ฝึกซ้อมทหารหรืองานพิธีหลวง พุทธวิหารและเทวลัยมีนับจำนวนร้อยในนครนี้
คำกล่าวที่ว่า "โบสถ์วิหารของเนปาลมีเท่ากับบ้านเรือนของราษฎร" ได้พิสูจน์ให้เห็นในนครนี้ ตามบ้านเรือนหรือหนทางบางแห่ง ก็มีพระพุทธรูปบ้าง, เทวรูปบ้าง, อยู่ในปางต่างๆประดิษฐานไว้สำหรับเคารพและคุ้มครอง ชาวเนปาลนิยมกันเขียนหรือสลักเป็นรูปพระพุทธเนตรหรือเทวเนตรประดับไว้ตามปูชนียสถาน เช่นบนคอระฆังพระสถูปทั้งสี่ด้าน มองดูคล้ายกับว่าพระพระเนตรนั้นมีชีวิตจริงๆ เดินไปไหนมาไหนก็เหมือนว่าจะไม่พ้นคลองพระเนตรที่ทอดจ้องอยู่ ห่างจากนครหลวงทางทิศตะวันตกระยะทางราวครึ่งไมล์บนเขาเล็กๆ ลูกหนึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งยวด ทั้งของพุทธศาสนิกชนกับฮินดูศาสนิกชน เพราะบนเขานั้นเป็นที่ประดิษฐานพระมหาสถูปสูงใหญ่ ของพระอาทิพุทธเจ้า ชื่อ "สายัมภูวนาถมหาสถูป" สร้างด้วยอิฐหิน เป็นสถาปัตยกรรมอันมีค่ากอรปด้วยลวดลายศิลปะงดงาม ยามเมื่อแสงทิวาส่องสาดต้องทองยอดองค์สถูปก็มีแสงแวววาบ องค์สถูปยังประดับด้วยวัตถุอันมีค่า เช่นรูปมังกรทองคำ นกทองคำ ซึ่งล้วนเหลืองสุกอร่ามดูลานตา ที่คอพระสถูปก็คงมีรูปพระพุทธเนตรอยู่ทั้งสี่ด้านตามเคย ระบายด้วยสีแดง, ขาวและดำ ถือกันว่าเป็นดวงพระเนตรของพระสวยัมภูอาทิพุทธเจ้าในที่ไกลๆ ก็ยังอาจเห็นพระพุทธเนตรทั้ง 8 ดวงนี้ได้ถนัด ดุจหนึ่งว่าพระอาทิพุทธเจ้าจะทรงทอดพระเนตรตลอดทั่วไปหาขอบเขตมิได้ฉะนั้น ขาวเนปาลถือว่าภายในอาณาเขตที่พระพุทธเนตรทั้ง 8 ดวงทอดไปถึง จะใช้วัวควายทำไร่ไถนาไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องใช้แรงคนแทนที่เนินเขาพระมหาสถูปนี้ มีพระพุทธรูปใหญ่สามองค์ประดิษฐานอยู่ คตินิยมการสร้างพระเนตรไว้ตามปูชนียสถานเช่นนี้พิเคราะห์ดูก็มีเหตุผลอยู่ ด้วยพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมมีพระคุณนามมากเหลือประมาณ แต่มีพระคุณนามบทหนึ่งว่า "สมันตจักษุ" แปลว่า มีดวงตาเห็นได้โดยรอบ หมายถึงว่าทรงรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งปวงไม่ติดขัด เนื่องด้วยเหตุนี้กระมังจึงสร้างรูปพระเนตรของพระองค์ไว้สี่ด้านเป็นเครื่องหมายว่าทรงมีสมันตจักษุ แต่ความนิยมของชาวเนปาลว่า พระพุทธเจ้าทรงคอยตรวจดูทุกข์สุขของพวกสัตว์เสมอ ด้วยพระกรุณาในสัตว์โลกทั่วไป ความเชื่อดังว่านี้เป็นคติของพุทธศาสนิกชนฝ่ายนิกายมหายานที่ถือว่า พระพุทธเจ้าแม้ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ยังทรงมีพระกายพิเศษต่างหาก เรียกว่าสัมโภคกายและธรรมกาย ยังทรงรับรู้เห็นความเป็นไปของโลกได้และอาจอวตารลงมาเป็นพระมนุษิพุทธเจ้าทำการโปรดสัตว์ได้อีก แต่ข้าพเจ้าอยากจะสันนิฐานว่าแก่นเดิมจริงคงมาแต่พระคุณนามสมันตจักษุนั่นเอง พระสถูปสวยัมภูวินาถนี้มีอายุเก่านับด้วยพันๆปี แต่สังเกตดูว่ามีการซ่อมแซมหลายครั้งแล้ว ตามประวัติบอกว่าสร้างโดยพระเจ้าโกราเดส พวกทิเบตนับถือพระสถูปนี้มาก ได้รับเป็นเจ้าภาพซ่อมแซมปรับปรุงพระสถูปนี้มาแต่กาลก่อน ในปีพ.ศ.2182 มีพระทิเบตรูปหนึ่งใช้แผ่นทองมาปิดองค์พระสถูปส่วนเหนือกับส่วนฐาน และได้สร้างสุวรรณฉัตรไว้บนยอดพระสถูป ในปี พ.ศ.2294 ลามะทิเบตอีกรูปหนึ่งชื่อ การฺมปะ ได้มาซ่อมแซมพระสถูปอีก กล่าวกันว่าการซ่อมแซมครั้งนี้อยู่ภายใต้บรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์เนปาล ที่รอบๆระเบียงพระสถูปมีอักขระสันสกฤต-ทิเบต จารึกเล่าเรื่องราวไว้ด้วย ทางทิศตะวันออกของนครกมตมัณฑุบนพื้นที่ราบมีพระวิหารชื่อพุทธนาถ เป็นพระวิหารที่ลือชื่อทั้งทางโอฬารประณีตและศักดิ์สิทธิ์อย่างยวดยิ่ง พระสถูปพุทธนาถตั้งตระหง่านท้าลมแดดอย่างสง่าผ่าเผย ทั้งสี่ด้านบนคอระฆังสถูปคงมีพระพุทธเนตรตามเคย รอบๆ วิหารเป็นพื้นที่เพาะปลูก พระสถูปพุทธนาถนี้ในทัศนะของชาวทิเบต ภูฏาน มีความสำคัญไม่น้อยกว่าสังเวชนียสถานทั้ง 4 ในอินเดีย ปีหนึ่งๆมีพวกพุทธศาสนิกชนจากมองโกเลีย, ทิเบต, ภูฏาน, นับจำนวนวิหารนี้ นักบุญยาตราเหล่านี้เมื่อมาถึงก็กางกระโจมอยู่ตามสถานที่รอบข้างพระวิหารแลดูเหมือนค่ายทหารเป็นย่อมๆ การรักษาดูแลวัดตกอยู่ในมือของพวกพุทธศาสนิกชน ไม่ใคร่จะมีพวกฮินดูเข้ามาบูชาจุ่นจ้านอย่างที่อื่นเท่าไรนัก แต่พวกเนวาร์ที่เป็นฮินดูมักมีเกี่ยวข้องด้วยเสมอ
วิหารฮินดูที่นับถือกันว่าเป็นวิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด คือวิหารปสุปตินาถเป็นวิหารของพระศิวะเป็นเจ้า อยู่ห่างจากเมืองกตมัณฑุไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 3 ไมล์ ตัววิหารตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำพัคมติ ซึ่งถือกันว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ส่วนสำคัญของวิหารเป็นองค์เจดีย์ใหญ่ ล้อมรอบด้วยวิหารเล็กๆ มีสะพานแบบจีนข้ามแม่น้ำสองสาย พวกฮินดูนับถือวิหารนี้มาก ปีหนึ่งๆมีพวกฮินดูที่จาริกมาจากประเทศอินเดียนับจำนวนพันๆมากราบไหว้วิหารและแม่น้ำนี้ มองจากที่ไกลจะเห็นควันสีเขียวๆลอยเป็นกลุ่มขึ้นไปในอากาศ นั่นคือการเผาศพที่ริมฝั่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เพราะแขกฮินดูถือว่าใครได้มาตายที่แม่น้ำนี้หรือถ้าตายแล้วมาเผาที่ข้างแม่น้ำนี้ เป็นได้ขึ้นสวรรค์ในแม่น้ำก็มีพวกฮินดูลงไปแช่อาบน้ำดำเกล้ากันอยู่ ด้วยเชื่อว่าชำระล้างบาปมลทินได้ ทางตะวันออกจากนครกตมัณฑุไปอีกสัก 8 ไมล์ มีวิหารศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์อีกแห่งหนึ่ง ชื่อวิหารชางกุนารยันเป็นวิหารของพระนารายณ์เป็นเจ้า สร้างด้วยศิลปะลวดลายอันงดงาม เป็นที่หนึ่งของบรรดาโบสถ์วิหารทั่วทั้งเนปาล ความละเอียดในการแกะสลัก เป็นไม่มีสถานแห่งใดในเนปาลจะเปรียบปานได้ ทั้งยังเป็นวิหารที่มีอายุเก่าแก่วิหารหนึ่งของฮินดูในเนปาลอีกด้วย มี ผู้คนเข้ามาบูชาเทวรูปในวิหารนี้ไม่แพ้วิหารปสุปตินาถ
2 เมืองปาตาน เป็นเมืองเก่าไม่แพ้นครกตมัณฑุ แต่มีเนื้อที่กว้างขวางกว่า พลเมืองกว่าหนึ่งแสนคน ส่วนมากเป็นชนเผ่าเนวาร์ จำนวนพุทธศาสนิกชนมีมากถึง 2 ใน 3 ของพลเมืองทั้งหมด ภายในเมืองอุดมไปด้วยเจดีย์วิหารของพระพุทธศาสนานับร้อยๆของฮินดูก็มีบ้าง วิหารสำคัญในเมืองนี้เช่นมหาพุทธวิหาร, มเชนทรนาถวิหาร กล่าวกันว่าพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างพระสถูป 5 องค์ในเมืองนี้ พระสถูปองค์หนึ่งอยู่ใจกลางเมือง ส่วนอีก 4 องค์อยู่ในทิศทั้ง 4 ของเมือง
3 เมืองภัตโสภณ อยู่ทางตะวันออกของนครกตมัณฑุ เป็นเมืองที่มีอากาศดีน่าอยู่น่าอาศัย มีฝนค่อนข้างชุก ทางตะวันออกของเมืองนี้มีสถานที่พักตากอากาศในฤดูร้อนอันมีชื่อเสียงพลเมืองมีราว 9 หมื่นเศษ นับถือศาสนาพราหมณ์แทบทั้งนั้น เมื่อพวกกุรข่าดีเมืองนี้ได้ ก็ไม่ได้ทำลายถาวรวัตถุอันใดในเมือง เพราะเห็นใจกันว่าเป็นฮินดูด้วยกัน เพราะฉะนั้นโบราณสถานในเมืองจึงยังคงรูปของมันอยู่ มีโบราณสถานที่น่าทัศนา
4 เมืองนายาโกฏ เมื่อสมัยโบราณในฤดูหนาวเคยเป็นที่ประทับพักผ่อนของกษัตริย์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของนครกตมัณฑุ เป็นเมืองด่านสำคัญของนครกตมัณฑุในยุคก่อนเมื่อคราวรบกับจีนกรณีแคว้นสิขิม-ทิเบต กองทัพจีนไล่ตามตีทัพเนปาลมาจนถึงเมืองนี้ เมืองนายาโกฏสร้างอยู่บนเนินเขา ธรรมชาติรอบข้างเต็ไปด้วยขุนเขา มีแม่น้ำตาทีและตรีสูลไหลผ่านกระแสน้ำเชี่ยวมาก ในฤดูฝนพื้นที่ชื้นแฉะอากาศก็ร้อนจัด ความไข้ชุกชุม อุดมไปด้วยสวนผลไม้ เช่นมะพร้าว ,มะม่วง, หมาก,อ้อย, กล้วย ฯลฯ พลเมืองมีชนเผ่าเนวาร์มากที่สุด นอกนั้นก็พวกเผ่ากุรังส์ เผ่ามากาส เป็นต้น
5 เมืองกีรติปุระ ตั้งอยู่บนเขา เดิมเป็นนครหลวงของแคว้นอิสระมีกษัตริย์ปกครอง ต่อมาถูกราชา ผู้ครองปาตานยึดครอง ในพุทธศตวรรษที่23 เมื่อพวกกุรข่าบุกเนปาลภาคหุบเขา ได้เข้าเมืองนี้ก่อน พวกชาวเมืองขัดขวางต่อสู้ เป็นเหตุให้เมื่อเมืองเสียแก่พวกข้าศึกแล้ว พวกกุรข่าได้จับ ผู้คนมาฆ่าเสียมาก และให้ตัดจมูกของพวก ผู้ชายทุกคนเป็นการลงโทษ เมืองนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นัสกติปุระ ถนนหนทางในเมืองนี้สะอาด มีเคหสถานกว้างใหญ่ ปูชนียสถานที่สำคัญคือ วิหารไภราพ สร้างในพุทธศตวรรษที่ 21 ปีหนึ่งมีคนหลายพันจากที่ต่างๆในเนปาลมานมัสการวิหารนี้ อีกวิหารหนึ่งชื่อ วิหารพระคเณศ แม้จะไม่ใหญ่โตนัก แต่ลวดลายในวิหารก็นับว่าสวยงามมาก
6 เมืองกุรข่า เดิมเป็นราชธานีของแคว้นกุรข่า ปัจจุบันอยู่ในมณฑลกุรข่า ซึ่งทิศเหนือของมณฑลนี้จดเขตทิเบต ตัวเมืองสร้างอยู่บนเขา บริเวณเมืองมีที่ราบกว้างใหญ่เหมาะแก่การเพาะปลูก ถัดจากนั้นเป็นภูเขา เป็นเมืองที่ค่อนข้างเงียบเหงา
7 เมืองโบกขระ เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง สมัยก่อนเคยเป็นนครหลวงของแคว้นเล็กๆมีราชาปกครอง ตัวเมืองตั้งอยู่บนที่ราบซึ่งมีภูเขาล้อมทั้ง 4 ทิศ พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกอุดมไปด้วยพืชธัญญาหาร และมีสระ บึงมาก บริเวณบึง สระ มีต้นไม้เขียวชอุ่มให้ความร่มเย็น ด้วยเหตุที่เป็นถิ่นมากด้วยสระ บึง จึงได้ชื่อว่า เมืองโบกขระ พลเมืองมีอยู่ราวหนึ่งหมื่นเศษ มีการขุดแร่ธาตุในบริเวณใกล้เมืองด้วย
8 เมืองปัสปะ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองโบกขระ ตั้งอยู่บนภูเขา เดิมก็เป็นราชธานีของแคว้นเล็กๆมาแล้ว ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งของมณฑลปัสปะ อันเป็นมรฑลที่ใหญ่ที่สุดในเนปาล เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางทหาร ในเมืองมีกองทหารและสนามฝึกทหาร มีที่พักทหารได้หลายพันคน ชาวเมืองมีอยู่สัก 6 พันเศษ เป็นชนเผ่ากุรังส์ส่วนมาก การค้าขายในเมืองนี้ไม่ใคร่เจริญ อากาศดี ผู้คนแข็งแรง ไม่ใคร่มีโรคภัยเบียดเบียน
9 เมืองพุตวาล อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ถัดจากเมืองปัสปะ เป็นจังหวัดหนึ่งของมณฑลพัตวัล อันเป็นมณฑลชายแดนระหว่างเนปาลกับอินเดีย เป็นเมืองสำคัญทั้งทางทหาร ปกครองพาณิชย์และการคมนาคม แต่ในฤดูร้อนความไข้ชุกชุม กองทหารที่อยู่ในเมืองนี้ต้องถอนไปพักที่เมืองปัสปะชั่วคราว อนึ่ง สวนลุมพินีอยู่ทางทิศใต้ของมณฑลนี้ด้วย อุดมไปด้วยข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว,ถั่ว ฯลฯ
พระพุทธศาสนาในเนปาลปัจจุบัน พระพุทธศาสนายุคใหม่ของเนปาล ดูท่าทีว่าจะเจริญก้าวหน้าไปเป็นลำดับ ได้มี ผู้นำพุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้าไปเผยแผ่ในเนปาลเหมือนกัน บุคคลที่เป็นกำลังในการเพาะความเจริญของพระพุทธศาสนาในเนปาล ที่ควรจะกล่าวถึง คือท่าน ศรีกรรมาทิตย์ ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งได้เป็นบรรณาธิการของนิตยสารพุทธศาสนาในอินเดีย ท่านได้มีส่วนในงานธรรมทูตคณะแรกในเนปาล นอกจากนี้ ยังมีภิกษุมหาปรัชญา, ภิกษุธรรมาโลกะ, ผู้ซึ่งทำงานธรรมทูตในเนปาลอย่างแข็งขัน คณะธรรมทูตได้ประสบอุปสรรคในปี 2469 ท่านภิกษุมหาปรัชญาและคณะภิกษุถูกขับไล่จากเนปาล แต่เคราะห์ดีที่ได้อาศัยท่านศรีเทวมิตรธรรมปาละอภิชาตบุตร ผู้นำแห่งการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ผลก็คือคณะภิกษุได้กลับเข้าทำงานในเนปาลอีก มีพระภิกษุชาวเนปาลที่ฝักใฝ่ในการศึกษาได้จาริกไปสู่ประเทศพม่า,ลังกา เพื่อศึกษาพุทธธรรมตามแบบเถรวาท และทำประโยชน์ให้แก่งานธรรมทูตในเนปาลมาก ในปีพ.ศ.2487 เหตุการณ์ในเรื่องการขัดขวางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อุบัติซ้ำขึ้นอีก มีการขับไล่คณะพุทธศาสนิกให้ออกจากเนปาล ชาวพุทธสาวกเนปาลได้ร่วมประชุมกันจัดตั้งธรรโมทัยสภาขึ้น ด้วยจุดประสงค์ที่จะธำรงไว้ซึ่งสวัสดิภาพของพระพุทธศาสนาในเนปาล สมาคมมหาโพธิก็ได้ลงแรงช่วยเหลือเต็มสามารถ ที่จะให้พุทธประทีปยังคงสถิตรุ่งโรจน์อยู่ในเนปาลแดนประสูติของพระพุทธองค์เอง คณะพุทธศาสนิกไม่เคยท้อใจเลยในการถูกขัดขวางอย่างนี้ ตรงกันข้ามกลับมีจิตใจมั่งคงยิ่งขึ้น ที่จะทำงานเพื่อพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์ก็เพื่อศานติของสากลโลก ท่านอู จันทมณี และท่านภัททันตะเกา ศัลยายนะ ได้อุปการะช่วยเหลืออย่างมาก ในปี พ.ศ.2489 คณะทูตไมตรีจากสีหล มีท่านนารทมหาเถระภิกษุ ผู้มีเกียรติคุณโด่งดังที่สุดในลังกา ได้เดินทางมาเยี่ยมเนปาล และได้เข้าพบกับมหาราชาแห่งเนปาลด้วย มีท่านภิกษุอมฤตานันทะ ผู้ซึ่งได้ติดตามไปด้วย ได้มีการเจรจาทำความเข้าใจกัน ในเรื่องคณะภิกษุที่ถูกเนรเทศให้กลับคืนเข้ามาได้
ในปีเดียวกัน ท่านนารทมหาเถระได้เดินทางเข้ามาในเนปาลอีก พร้อมกับอัญเชิญพระสารีริกธาตุส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้ในศรีลังกาเจดีย์ และได้ทำการสมโภช มหาราชได้แสดงไม่ตรีจิตต่อคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาประกาศเป็นทางการว่า วันวิสาขบุรณมี เป็นวันหยุดงานของชาวพุทธ ทั่วแคว้นเนปาลมีการปลูกหน่อโพธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ และมีการสถาปนาสีมาสำหรับประกอบสังฆกรรม และเปิดห้องสมุดพระพุทธศาสนาขึ้นในคราวเดียวกัน ต่อมาท่านนารทมหาเถระได้อุตสาหะเดินทางเข้ามาในเนปาลอีก เพื่อร่วมการฉลองสมโภชวันวิสาขบุรณมี กับชาวพุทธสาวกเนปาล เป็นอันว่านับแต่บัดนั้น พระพุทธธรรมที่ถูกเคลือบหุ้มด้วยไสยศาสตร์ ก็ได้เริ่มเผยโฉมลักษณ์อันบริสุทธิ์ของตนออกมา ด้วยการร่วมมือของสงฆ์อินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือท่านนารทมหาเถระแห่งลังกา ในเนปาลปัจจุบันมีวารสารเผยแผ่พระพุทธศาสนาฉบับเดียวชื่อว่า "ธรรโมทัย" และมีการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นภาษาเนวารี ,และเนปาล หลายเล่มชาวพุทธสาวกเนปาลมีความหวังที่จะสร้างสถาบันศึกษาพุทธศาสตร์สักแห่งหนึ่งในกรุงกตมัณฑุและหวังที่จะให้สหายร่วมศาสนาในนานาประเทศออกทุนศึกษาให้แก่นักศึกษาชาวเนปาลได้ไปเล่าเรียนพุทธธรรมในพุทธประเทศ เช่น ไทย ลังกา และพม่า และหวังที่จะได้รับความร่วมมือช่วยเหลือติดต่อกับสหายพุทธสาวกอื่นๆ ข้าพเจ้าหวังว่าพี่น้องชาวพุทธศาสนิกไทยทั้งหลาย คงจะได้ตระหนักถึงความลำบากยากเข็ญของคณะธรรมทูตเนปาลชุดนี้ ที่ได้พยายามฟังฝ่าอุปสรรคด้วยน้ำจิตอันมั่นคงดุจเหล็กเพชร ทั้งนี้เพื่อการสถาปนาธรรมาณาจักรของสมเด็จพระชินสีห์ บรมศาสดาจารย์แห่งเราทั้งหลาย ให้คงประดิษฐานโดยสวัสดีอยู่ในแว่นแคว้น ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นแดนอุบัติของพระองค์เอง เราพุทธสาวกไทยอดที่จะสรรเสริญและซาบซึ้งตรึงตราในงานของพี่น้องพุทธสาวกในเนปาลเหล่านี้มิได้ ในประเทศของเรา เรามีรัฐบาลที่เป็นอัครศาสนูปถัมภกความรุ่งเรืองของศาสนาของเรา นับว่าอยู่ในระดับที่สูงและน่าพอใจ ถ้าไปเทียบเคียงกับประเทศที่มี ผู้นับถือพระพุทธศาสนาบางประเทศ เราเห็นอกเห็นใจที่พี่น้องพุทธสาวกในเนปาล อุปมาดังพี่ชายที่ร่ำรวยเห็นน้องชายต้องตกระกำลำบากหาเช้ากินค่ำ ก็สมควรที่จะรีบช่วยเหลือฉะนั้น วาทะตอนหนึ่งในสารแถลงกิจของพุทธศาสนาแห่งธรรโมทัยสภา ที่แถลงแก่สันนิบาตพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกในลังกา กล่าวว่า
"ทุกวันนี้ เราจำเป็นต้องประกาศแก่ชาวโลกให้รู้คุณค่าของพระพุทธศาสนา และงานนี้ย่อมเนื่องมาจากความเสียสละของสหายพุทธศาสนิกทั้งปวง ทั้งตะวันออกและตะวันตก แม้เราเอง ผู้ซึ่งเป็นพุทธสาวกชาวเนปาลก็ยินดีทำหน้าที่ของเราอย่างสุดความสามารถ ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสากลได้อย่างแท้จริง แม้ว่างานนี้จะเป็นงานใหญ่และหนักสักเพียงไรก็ตาม"
ท่านสหายพุทธศาสนิกชนไทยทั้งหลาย ปณิธานนี้เป็นของชาวพุทธสาวกกลุ่มน้อยๆกลุ่มหนึ่งในประเทศหิมพานต์ ส่วนท่าน ผู้เป็นเจ้าของประเทศอันโลกยกย่องว่า เป็นประเทศพระพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองที่สุดในโลกนั้น เคยตั้งปณิธาน และลงมือเสียสละอย่างแท้จริงเช่นนั้นบ้างหรือเปล่า? ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวอะไรอีก ขอจบลงด้วยคำขวัญของชาวพุทธเนปาลข้างบนอีกครั้งหนึ่งว่า "ทุกวันนี้เราจำเป็นต้องประกาศแก่ชาวโลกให้รู้คุณค่าของพระพุทธศาสนา และงานนี้ก็ย่อมเนื่องมาจากความเสียสละของสหายพุทธศาสนิกทั้งปวง ทั้งตะวันออกและตะวันตก แม้เราเอง ผู้ซึ่งเป็นพุทธสาวกชาวเนปาลก็ยินดีทำหน้าที่ของเราอย่างสุดความสามารถ ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสากลได้อย่างแท้จริง แม้ว่างานนี้จะเป็นงานใหญ่และหนักสักเพียงไรก็ตาม
ขอศรีสวัสดิ์จงมี