- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันเสาร์, 05 มกราคม 2556 09:18
- เขียนโดย Astro Neemo
เรื่องมหายาน
โดย ถอดเทปเสียงคำบรรยายของ
เสถียร โพธินันทะ
เริ่มคำบรรยาย ด้วยการกล่าวถึงประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราช (หาอ่านได้จากหนังสือ อโศกาวทาน แปลและเรียบเรียงโดยส.ศิวรักษ์) เรื่องเล่ามาถึงตอนที่พระนางติษยรักษิตา ซึ่งเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าอโศก ได้พบเห็นเจ้าชายกุนาละราชกุมารของพระเจ้าอโศก ซึ่งเกิดกับพระนางปทุวดี ราชเทวี เมื่อได้พบพระราชกุมารกุนาละ บังเกิดอกุศลจิต เกิดความปฏิพัทธ์ แต่ราชกุมารไม่ตอบสนอง ด้วยเคารพว่าพระนางติษยรักษิตา เป็นพระมารดา ด้วยความโกรธแค้นจึงได้วางอุบายทำร้ายพระราชกุมารกุนาละ (ต่อไปเป็นคำบรรยายของท่านเสถียร)
พระนางติษยรักษิตาให้คนของนางไปทำเป็นกบฏทางเมืองตักกะศิลา แล้วก็ให้เจ้าชายกุนาละยกกองทัพไปปราบกบฏ อยู่ทางนี้ พระนางติษยรักษิตาก็ปลอมคำสั่งพระเจ้าอโศกให้ไปลงโทษเจ้าชายกุนาละ ว่าทำงานเพลี่ยงพล้ำไม่ถูกต้องตามนโยบาย โดยการควักพระเนตรเจ้าชายกุนาละออกทั้งสองข้าง แล้วถอดออกจากฐานันดรศักดิ์เป็นไพร่ เจ้าชายกุนาละก็ต้องมีฐานะเป็นวนิพกตาบอด เดินทางร่อนเร่ขับคีตะลำนำแลกอาหารเขากิน ข้างพระเจ้าอโศกก็ไม่รู้เรื่องว่าลูกชายไปตกระกำลำบากที่ไหน นึกว่าไปสบายทางเมืองปลายแดนแล้ว ตั้งให้เป็นแม่ทัพออกไปคงจะไปปราบกบฏราบคาบ หมดสิ้นเสี้ยนหนามปกครองเมืองตักกะศิลาต่อไป วันหนึ่งได้ยินเสียงวนิพกร้องลำนำ จำเสียงได้เป็นเสียงของเจ้าชายกุนาละ ให้คนออกไปดูว่าเสียงเป็นเสียงใครมาร้อง มหาดเล็กมาทูลบอกว่า เป็นขอทานตาบอดคนหนึ่ง มาร้องเพลงอยู่หน้าวัง พระเจ้าอโศกบอกว่า แต่ว่าเสียงเหมือนกุนาละลุกของเรา เพราะฉะนั้นขอให้ตามขอตามขอทานคนนี้เข้ามา เมื่อตามขอทานคนนี้มาแล้ว พระองค์ก็จำลูกชายของพระองค์ไม่ได้ ลูกชายก็ไม่อยากให้พระบิดารู้ว่าตัวเป็นใคร ท่านระลึกว่าคำสั่งที่แม่เลี้ยงทำกับตัวนั้นเป็นคำสั่งมาจากพ่อ ยังกลัวอาญาประจำติดอยู่ก็ไม่กล้าแสดงตัวว่าเป็นใคร พระเจ้าอโศกก็ขอร้องให้วนิพกผู้นี้ ขับลำนำให้ฟัง เมื่อขับจบพระเจ้าอโศกก็รู้แล้วว่าคนๆนี้ไม่ใช่ใคร เจ้าชายกุนาละเป็นแน่ เรื่องก็แดงขึ้น เมื่อเรื่องแดงขึ้นแล้ว พระนางติษยรักษิตาก็ต้องรับกรรมคือถูกประหารชีวิต แล้วเจ้าชายกุนาละเองก็ ได้อาศัยอุปคุตอรหันต์แสดงธรรมให้ฟัง ตาก็หายบอด ตาหายบอด ในที่นี้อาจจะหมายถึงว่าได้ธรรมจักษุก็ได้ เพราะปรากฏว่าเจ้าชายกุนาละนั้น ในที่สุดก็ออกบวช แล้วก็ได้บรรลุพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นราชสมบัติก็ไม่มีผู้ที่จะรับช่วงต่อไปจากพระเจ้าอโศก ราชสมบัติก็ตกอยู่กับพระราชนัดดา พระราชนัดดามืชื่อว่า เจ้าชายสัมปทิน ไม่นับถือพุทธศาสนา นับถือศาสนานิครนถ์ นาฏบุตร ศาสนาเชน สุดท้ายเจ้าชายสัมปทิน ได้ จับพระเจ้าอโศกไปกักบริเวณไว้ จับพระอัยกาไปกักบริเวณไว้ แล้วห้ามไม่ให้พระเจ้าอโศกทำบุญทำทานกับพุทธศาสนาต่อไป เวลานั้น พระเจ้าอโศกก็แก่ชรามากแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรหลานชายเป็นกบฏ อันนี้ก็กำกงกำเกวียนนะครับ พระเจ้าอโศกเคยแย่งราชสมบัติพี่ชายมาก่อน ก่อนที่จะนับถือพุทธศาสนา ก็เคยทำอย่างนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นอันนี้เรียกว่า เป็นทุกขเวทนียกรรมมาสนอง แม้ยามที่จะสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอโศกเสวย ลูกสมออยู่ แล้วตรัสถามบรรดาอำมาตย์ว่าเวลานี้ชมพูทวีปใครเป็นใหญ่ พวกอำมาตย์ก็ทูลบอกว่าพระองค์นะชิเป็นใหญ่ พระเจ้าอโศกก็สั่งว่าถ้าเราเป็นใหญ่ทำไมเราจะทำบุญทำทานตามใจเราสมัครไม่ได้ เราจะเบิกเงินในท้องพระคลังก็ไม่ได้ จะไปไหนก็ไม่ได้เอาเรามากักบริเวณไว้ทำไม เพราะฉะนั้นเวลานี้สมบัติในตัวเราก็มีเพียงลูกสมอครึ่งผล ให้เจ้าทำลูกสมอครึ่งผลนี้ไปถวายพระที่วัดกุฎสิตาราม แล้วไปบอกให้พระท่านทราบด้วยว่า จงดูผลของการเป็นจักรพรรดิของเราในชมพูทวีปเถอะ ในที่สุดก็ไม่มีอะไรเป็นของแน่นอนจีรังสักอย่างหนึ่ง สมดังคำพูดของพระพุทธเจ้าที่ว่า สังขารมันอนิจจัง อย่างนี้แหละ ให้พระท่านปลงธรรมสังเวช พระเจ้าอโศกก็สั่งอย่างนั้น แล้วก็มอบผลสมอครึ่งผลให้มหาดเล็กนำไปถวายพระ วันนั้นเองพระเจ้าอโศกก็สวรรคต
เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชสวรรคตไปแล้ว การปกครองอย่างระบอบธรรมาธิปไตยที่พระองค์ จัดทำขึ้นก็พลอยพังทลายไปด้วย กษัตริย์พระองค์ใหม่คือพระเจ้าสัมปทิน ไม่ทำตามพระราชอัยกา เพราะพระองค์นับถือศาสนาเชน ไม่ได้อุปถัมภ์ศาสนาพุทธ ราชวงศ์โมลียะของพระเจ้าอโศกก็ตั้งต้นเสื่อมลงมาเรื่อยที่เดียว ต่อมามีกษัตริย์สืบสันตติวงศ์อีกประมาณ 5 หรือ 6 รัชกาล กษัตริย์องค์สุดท้ายมีพระนามว่าพฤหทรถะก็ถูกเสนาพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่า ปุศยมิตร หรือบุปผามิตร เป็นพราหมณ์ในนิกายสามเวท เป็นกบฏจับประหารชีวิต แล้วปุษยมิตรก็ตั้งราชวงศ์ใหม่ เรียกว่าศุงคะ ราวๆพ.ศ.400เศษ ศุงคะนี้ได้ทำอันตรายต่อพุทธศาสนา พระเจ้าปุษยมิตรถึงกับตั้งรางวัล ว่าผู้ใดตัดคอพระสงฆ์รูปหนึ่ง จะให้เงิน 100 ดีนา เป็นเครื่องตอบแทน ใครฆ่าพระองค์หนึ่งตายก็มารับรางวัลจากพระองค์ 100 ดีนา เพราะฉะนั้นวัดวาอารามในแคว้นมคธก็ว่างเปล่าจากภิกษุสงฆ์ กลายเป็นวัดร้าง พระหนีภัยไปหมด อยู่ไม่ได้แล้ว พุทธศาสนาในแคว้นมคธก็เสื่อมโทรมลง เสื่อมมากตอนนี้ไม่มีพระอยู่ได้ พระเจ้าปุษยมิตรนี้ได้ฟื้นวิธีอัศวเมษบูชายัชญ์แบบพราหมณ์ขึ้นมา แล้วก็พยายามโค่นรากเหง้าพุทธศาสนาในแคว้นมคธ แต่บังเอิญเป็นกุศลของพุทธศาสนาเพราะพระเจ้าอโศกได้ เอาไปว่านไว้ในแคว้นอื่นๆ ถ้าหากว่าพุทธศาสนามีเฉพราะมคธก็น่าจะหมดไปกับเพียงนั้นแล้ว นี่เคราะห์ดีว่าแคว้นอื่นๆในอินเดียนั้น พระที่ได้รับการบวชแล้วอยู่ในแคว้นมคธ ก็อาศัยไปพึ่งความเย็นในแคว้นอื่นได้ ศาสนาพุทธจึงรอดตัว
วงศ์ศุงคะปกครองอินเดียอยู่ประมาณหนึ่งศตวรรษ แล้วก็ถูกกษัตริย์ทางอินเดียทางภาคใต้ เรียกว่าแคว้นอันธรราช กษัตริย์แคว้นอันธรราชได้ขยายอำนาจขึ้นมาปกครองมคธ กษัตริย์ในแคว้นอันธรราชนี้นับถือพุทธศาสนา ศาสนาพุทธก็กลับฟื้นขึ้นอีกในอินเดีย ให้มีศูนย์กลางที่แคว้นมคธ อันนี้ก็เห็นว่าศาสนานั้นก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล นะครับ ถ้ารัฐบาลผู้นำของรัฐเป็นชาวพุทธ ศาสนาพุทธก็เจริญ ถ้าไม่ได้เป็นชาวพุทธก็เสื่อม นี่เป็นโฉมหน้าพุทธศาสนาในอินเดียทั่วๆไป ต่อจากราชวงศ์อันธรราชที่ปกครองมคธนั้น ทางภาคเหนือของอินเดียก็มีพวกเร่ร่อนอีกพวกหนึ่ง อพยพมาจากไซบีเรีย มองโกเลีย พวกเร่ร่อนพวกนี้เรียกว่าพวกอินโดไฟเชียน เป็นพวกผิวเหลือง มาตั้งรากฐานอยู่ในตอนเหนือของอินเดีย แล้วแผ่อนุภาพเข้ามาทางคันธระ กัษมีระ ลงมาถึงลุ่มแม่น้ำคงคา หัวหน้าพวกอินโดไฟเชียนนี้ ตั้งราชวงศ์ เรียกว่าราชวงศ์กนิษกะ มีพระเจ้ากนิษกะมหาราชเป็นประมุของค์ใหญ่
พระเจ้ากนิษกะก็มานับถือพุทธศาสนาขณะที่แผ่อำนาจมาถึงอินเดียแล้ว ก็เปลี่ยนพระทัยมานับถือพุทธแล้วก็ได้อุปถัมภ์พุทธศาสนาในอินเดียภาคเหนือเป็นการใหญ่ทีเดียว ยกตัวอย่างมีการทำสังคายนาเป็นการใหญ่ที่เดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการสังคายนาของนิกายสรวาสติวาท สังคายนาในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการทำของนิกายอื่นไม่ใช่ของนิกายเถรวาท ในบาลีจึงไม่ปรากฏสังคายนาครั้งนี้เลย สังคายนาครั้งนี้พระเจ้ากนิษกะตั้งราชธานีที่เมืองปุรุษปุระในแคว้นคันธระ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน ตั้งเมืองปุรุษปุระเป็นเมืองหลวง แล้วพระเจ้ากนิษกะนิ้นมีราชครูซึ่งเป็นคณาจารย์ในนิกายสรวาสติวาท ชื่อปรศวะเถระ พระเถระรูปนี้ได้ถวายคำแนะนำ ให้พระเจ้ากนิษกะ อุปถัมภ์คณะสงฆ์นิกายสรวาสติกวาททำสังคายนา ที่ตั้งกองธรรมสังคายนาที่ กุลธนยัญช์วิหาร ในเมืองชลันธร ในแคว้นกัษมีระ หรือแคชเมียร์เดี๋ยวนี้ ผู้ที่มาเข้าในกรม ในกองสังคายนามีทั้งพระทั้งคฤหัสถ์ ที่เรียกว่าพระโพธิสัตว์ เป็นบัณฑิตโพธิสัตว์ เข้ามาร่วมสังคายนาด้วย ผลการสังคายนาก็คือการร้อยกรองคัมภีร์อรรถกถาพระไตรปิฎก เรียกว่ามหาวิภาษา เป็นอรรถกถาวินัยปิฎกจำนวน หนึ่งแสนคาถา เป็นอรรถกถาสุตันตรปิฎก หนึ่งแสนคาถา เป็นอรรถกถาอภิธรรมอีกหนึ่งแสนคาถา รวมหมดเรียกว่า คัมภีร์มหาวิภาษา มหาวิภาษนั่นเอง สามแสนคาถาด้วยกัน หรือเรียกกันว่าสามแสนโศลก ก็เรียก เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว พระไตรปิฎกฉบับหลวงซึ่งเป็นฉบับทางราชการ พระเจ้ากนิษกะก็โปรดให้จารึกลงบนแผ่นทองแดง เป็นหลักฐาน แล้วสร้างพระเจดีย์ใหญ่เก็บไว้ในกรุพระเจดีย์นั้นมิให้เป็นอันตราย ถ้าผู้ในจะเล่าเรียนพระไตรปิฎกจบนี้ก็ต้องมาเรียนมาคัดลอกกัน ในแคว้นกัษมีระ ห้ามมิให้เคลื่อนย้ายพระไตรปิฎกฉบับหลวงนี้ ไปไว้ที่อื่น เพราะกลัวจะตกหล่นหายสูญไป พุทธศาสนาในอินเดียภาคเหนือก็รุ่งเรืองขึ้น พระเจ้ากนิษกะก็เป็นส่งธรรมเสนาออกไปเผยแพร่ศาสนาพุทธ ในประเทศจีน ประตุรกี ไซบีเรีย ธรรมทูตของพระเจ้ากนิษกะล้วนแต่ได้เหยียบย่างไปถึง อันนี้ก็เป็นโฉมหน้าของพุทธศาสนา ในศตวรรษที่5-6 หลังจากพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ทางภาคเหนือมีพระเจ้ากนิษกะเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์
หลังจากนั้นไม่นานโฉมหน้าของพุทธศาสนาก็ได้เปลี่ยนไปใหม่ คือได้เกิดลัทธิมหายานขึ้น มูลเหตุที่ได้เกิดลัทธิมหายาน ก็เกิดจากสาเหตุว่า พุทธบริษัทคณะหนึ่งมีทั้งพระทั้งคฤหัสถ์ มีการสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบ ต่อความเจริญในความเสื่อมของพระศาสนา เห็นว่าถ้า นโยบายการเผยแพร่พุทธศาสนาไม่ปรับปรุงให้เหมาะกับสถานการณ์แล้ว ศาสนาพุทธน่าจะเอาตัวไม่รอด เพราะเหตุว่าธรรมของพระพุทธเจ้านั้น คนที่มีสติปัญญาอย่างสูงเท่านั้นจึงจะเห็นคุณค่า คนที่ไม่มีสติปัญญาอันเป็นประเภทสามัญชนแล้ว ยากนักที่จะเห็นคุณค่าพุทธศาสนา พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่เหมาะสำหรับปัญญาชน แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ปัญญาชนนั้นยากที่จะเข้าถึง เพราะพวกนี้คอยสะดวกต่อการอ้อนวอนต่อพระเจ้า ชอบในพิธีรีตอง ที่ศาสนาพราหมณ์มีสนองเสนอไว้ให้ ศาสนาพุทธเราไม่มีพิธีกรรมและวิธีอ้อนวอน เวทมนต์อาคมขลังต่างๆอย่างพราหมณ์ ไม่เป็นที่สบใจของพวกสามัญชนเลย เป็นที่สบใจเฉพาะพวกบัณฑิต หรือพวกที่มีจิตใจยกขึ้นสู่ระดับสูง เป็นนักคิดเท่านั้นเอง ที่จะเห็นความดีของพุทธศาสนาเรา เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทคณะนี้จึงเห็นว่า ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องปรับปรุงวิธีการใหม่ ในการแย่งเอาคนสามัญชนจำนวนมาก มาเลื่อมใสในพุทธศาสนาแม้เพียงศรัทธาก็เอาดี เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทคณะนี้จึงได้ตั้งลัทธิมหายานขึ้น และคำโฆษณาอันเป็นคำขวัญประจำลัทธิมหายานก็คือ โฆษณาว่า “มหายานสำหรับมหาชน” เพราะมหายานสำหรับมหาชนจริงๆ คือรับได้ในชนทุกชั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญญาชนหรือ ไม่ใช่ปัญญาชน เข้าถึงได้หมด พุทธบริษัทมีทั้งพระทั้งคฤหัสถ์นะครับ ส่วนรายชื่นนั้นไม่ระบุว่าเป็นใครเพราะไม่ใช่เป็นการกระทำของคนคนเดียว แต่หากเป็นการกระทำของคนหลายคนด้วยกัน ยากที่จะระบุชื่อบุคคลได้ว่าใครเป็นผู้ก่อตั้งนิกายในมหายานพุทธศาสนาได้ อันนี้ก็เราจะเห็นว่าเป็นการต่อสู้ของศาสนาพุทธกับสถานการณ์ที่บีบรัดเข้ามา ถ้าชาวพุทธไม่มีการต่อสู้เสียเลยละก็ ชาวพุทธก็ต้องถูกเขากลืน ถูกเขาทำลายไป เพราะฉะนั้น การที่เกิดมหายานขึ้น จึงเป็นผลดีต่อพุทธศาสนา ทำให้ฐานะของพุทธศาสนาในอินเดียกลับมั่นคงขึ้นอีกวาระหนึ่ง หลังจากที่ทำทีท่ากะปลกกะเปลี้ย จะจวนมีจวนแหล่ไปแล้ว คล้ายคนกำลังจะจมน้ำ จะจมมิจมแหล่ ก็เผอิญมีร่มชูชีพโยนโครมลงมา มีกำลังให้เกาะแล้วก็ว่ายไปถึงฝั่งได้ ลัทธิมหายานในยุคแรก จึงเท่ากับมาต่ออายุของพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป
ชาวพุทธมหายายได้ปรับปรุงพุทธศาสนาอย่างไร ที่ทำให้แตกต่างจากพุทธศาสนาแบบเถรวาทหรือแบบหีนยาน ในข้อนี้เราจะเห็นได้ว่า ชาวพุทธมหายานนั้น ได้ยกเอาอุดมคติเพื่อพุทธภูมิขึ้นมาเน้นมากกว่าชาวพุทธฝ่ายหีนยาน คือว่าชาวพุทธฝ่ายหีนยานหรือฝ่ายเถรวาทนั้น เราไม่ได้ผูก ไม่ได้ย้ำในอุดมคติเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ใครก็ตาม ย่อมมีอิสระแก่ตัวเองที่จะปรารถนาพุทธภูมิหรือปรารถนาปัจเจกภูมิหรือปรารถนาอรหันตภูมิ แล้วแต่ เราไม่ได้ผูกขาด หรือไม่ได้ประกาศเน้นว่าความปรารถนาในสามภูมินี้อันใดสำคัญกว่าอันใดถือว่าเป็นเรื่องของปัจเจกชนจะตัดสินตามความชอบใจของตัวเอง แต่ว่าชาวพุทธมหายานหาเป็นเช่นนั้นไม่ ได้ย้ำถึงหลักของความเป็นโพธิสัตว์ ย้ำถึงหลักเพื่อพุทธภูมิเป็นสำคัญ โดยตำหนิผู้ที่ปรารถนาเป็นอรหันต์ว่าผู้นั้นเห็นแก่ตัว ตัดช่องน้อยหนีเอาตัวรอดไม่ได้นำพาต่อความทุกข์ของสรรพสัตว์ การเป็นอรหันต์นะเป็นการเอาตัวรอดเป็นการเห็นแก่ตัว แต่การเป็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ เพราะบุคคลที่จะเป็นพระพุทธเจ้าต้องมาสร้างบารมีตั้งหลายอสงไขยแสนมหากัป ในระหว่างนั้นก็จะได้ ทำหน้าที่ถ่ายเท เปลี่ยนทุกข์ของสรรพสัตว์ เพราะฉะนั้นบุคคลจึงไม่พึงปรารถนาเป็นปัจเจกโพธิ หรือปรารถนาเป็นอรหันต์ พึงปรารถนาแต่อย่างเดียวคือเป็นพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นหัวใจสำคัญของมหายานนะครับ มหายานย้ำเรื่องการเป็นพระพุทธเจ้ามาก เพราะเมื่อสอนคนให้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ชาวพุทธกลุ่มนี้จึงเรียกนิกายใหม่ที่ตัวตั้งขึ้นว่า นิกายมหายาน คือนิกายที่เป็นยานพาหนะอันใหญ่ที่จะสามารถขนสัตว์ให้ข้ามภูกตันบาลได้มาก เมื่อเรียกตัวเองว่ามหายานแล้ว ก็เรียกนิกายตรงกันข้ามว่าหีนยาน คือยานพาหนะที่แคบๆเล็กๆเลวๆ ที่จะช่วยคนก็ได้แต่เป็นส่วนน้อย ไม่ช่วยคนได้มาก อย่างนิกายใหม่ที่ตั้งขึ้นคือมหายาน แล้วก็โฆษณาแผ่ประกาศหัวใจของนิกายว่ามหายานเพื่อมหาชนไม่ใช่เพื่อเอกชน แต่เพื่อมหาชน หีนยานเพื่อเอกชน มหายานเพื่อมหาชน ว่าอย่างนั้น นี่เป็นคำโฆษณาของเขานะ เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเป็น 2 นิกายใหญ่ คือนิกายหีนยานนิกายหนึ่ง สำหรับหีนยานเป็นคำเรียกของมหายานเรียกหรอก ชาวพุทธในนิกายนี้ก็ไม่ได้รับคำนี้เป็นคำเรียกของตัวเราเรียกของเราเองว่า เราเป็นเถรวาที เราก็เลยเถียงกันว่า แล้วก็ในหีนยานมิใช่มีเถรวาทีนิกายเดียว ดังที่ผมได้อธิบายมาแล้ว มีถึง 18 นิกาย เฉพาะในอินเดียนะ นอกอินเดียยังไม่นับ ในอินเดียมีตั้ง 18นิกาย 18นิกายทั้งหมดเป็นหีนยานทั้งนั้น ในสายตามหายาน นอกจากหลักอุดมคติเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งความจริงก็เป็นอุดมคติมีในคัมภีร์เถรวาทเรานี่แหละ มีอยู่แล้วไม่ได้เป็นข้อบัญญัติใหม่ เป็นเพียงแต่ทางมหายานเอามาเน้นเป็นพิเศษเท่านั้นเอง หลักอันนี้นี่เป็นอุดมคติ ในแง่การปฏิบัติทางมหายานก็หยิบเรื่อง ทศบารมีมาย้ำ ไม่พูดเรื่องอริยสัจจ์ บอกว่าเรื่องอริยสัจจ์เป็นเรื่องของพวกหีนยานเขา ถ้าเป็นมหายานแล้วต้อง พูดเรื่องบารมีสิบ ถ้าเราจะเป็นโพธิสัตว์กัน ก็ต้องทำบารมีสิบประการ ให้ถึงพร้อม บารมีสิบประการนี่เป็นหลักธรรมในมหายาน อุดมคติมหายานยึดพุทธภูมิโดยเลือกการปฏิบัติหรือจริยธรรม มหายานปฏิบัติตัวตามทศบารมีสิบอันนี้เป็นหลักสำคัญที่สุดทีเดียว
เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เกิดขึ้นในสมัย พุทธเจ้านิพพานแล้ว 500 ปี เราจึงแบ่งได้ว่า 500 ปีแรกหลังพระศาสดาดับขันธ์ เป็นสมัยที่พุทธศาสนา แบบหีนยาน 18 นิกายรุ่งเรือง แล้วก็ 500 ปีหลัง คือ พ.ศ.500-พ.ศ. 1000 เป็นสมัยที่มหายานรุ่งเรือง หีนยานก็เสื่อมไป ค่อยเสื่อมไป เมื่อเกิดนิกายใหม่คือนิกายมหายานขึ้น พวกมหายานนั้น ได้แต่งพระสูตรต่างๆขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อจะให้คล้องจ้องกับ คำสอนในลัทธิธรรม เพราะฉะนั้นพระสูตรในมหายานจึงไม่เหมือนกับพระสูตรในนิกายเถรวาท ทั้งบาลีและสันสกฤต พวกมหายานได้ใช้ภาษาสันสกฤตมหาร้อยกรองพระธรรมวินัย แล้วก็แต่งพระสูตร การแต่งพระสูตนนี้จะเป็นการทำสัทธรรมปฏิรูปใหม่ จะเป็นการทำในสิ่งที่คล้ายๆว่าคำพูดคำนี้พระพุทธเจ้าไม่เคยพูด แล้วพวกมหายานก็มาแต่งบรรจุพระโอษฐ์ ว่าพระองค์ได้พูดอย่างนี้ บาปกรรมหรือเปล่า พวกมหายานว่าไม่บาป เขาบอกต้องดูเจตนา เจตนาที่แต่งพระสูตรต่างๆขึ้นมาใหม่นี่นะ เป็นการแต่งตามพุทธมติ ถูกแล้วพระสูตรเหล่านี้ไม่ใช่พุทธพจน์ แต่เป็นพุทธมติ เขาว่าอย่างนั้น เราต้องแยกคำว่าพุทธพจน์กับพุทธมติออกจากกันนะครับ พุทธพจน์หมายความว่าคำพูดเหล่านั้นเป็นคำพูดที่ ออกจากพระโอษฐ์ของพระศาสดา ทุกวลี จัดเป็นพุทธพจน์ แต่ถ้าเป็นพุทธมติแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูดที่ออกจากพระโอษฐ์ พระสาวกเขียนขึ้นก็ได้ แต่ถ้าว่าอยู่ในหลักแนวกรอบมติของพระพุทธเจ้า คือว่าหลักการใหญ่ในพุทธศาสนาคือหลักเรื่องอนิจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นหลักการใหญ่ ถ้าใครก็ตามมาเขียนเรื่องราวต่างๆโดยไม่ทิ้งหลักการสามข้อนี้แล้ว อันนั้นถือว่าเป็นพุทธมติได้ แม้ไม่ใช่พุทธพจน์ ทางมหายานได้อธิบายว่าเพราะฉะนั้นเขาจึงแต่งคัมภีร์พระสูตรต่างๆขึ้นมากมาย แล้วก็ใส่ยี่ห้อไว้ข้างบนว่า เอเมสิตัง เอกังสมายัง ภควา เอาไว้ เขาว่าอย่างนั้น ใส่เอาไว้เพราะเขาเขียนตามแนวพุทธมติไม่ได้นอกรีตมติพุทธศาสนาไปเลย ไม่ทิ้งหลักการ พูดง่ายๆว่าเขียนพระสูตรใหม่ก็จริงแต่ไม่ทิ้งหลักการพุทธศาสนา พระสูตรมหายานจึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่างคณาจารย์ต่างเขียน เขียนเป็นการใหญ่ ผมได้ยกตัวอย่างง่ายๆอย่างนี้
มหาเวสสันดรที่เราใช้เทศน์กัน เทศน์มหาชาติ ท่านเชื่อหรือว่าทุกคำพูดเป็นพุทธพจน์ เชื่อหรือ ไม่จริงเลย ที่พุทธพจน์นั้นมีแต่ตัวคาถาคือตัวคาถาพัน ตัวคาถาพันนะคือพุทธพจน์ ส่วนตัวร่ายยาวมิใช่พุทธพจน์เป็นสำนวนจินตกวีเขียน เช่นมหาชาติคำหลวงเอย มหาชาติสดับจิต 13 กัณฑ์ที่เราใช้เทศน์กันทุกวันนี้เอย คำพูดนะปาตะพ่อเอย พ่อชาลีกัณหาศรีสุริยวงศ์เจ้าก็ก่อในปทุม คำพูดพวกนี้ พุทธพจน์ที่ไหน เอ่ยเอย เจ้าเอยพากย์พันธ์ไทยจินตกวีเขียนต่างหากละ หรืออย่างคำพรรณนาในกัณฑ์ อีกกัณฑ์ หนึ่งที่บอกว่า ให้ดูวาวาปวาวาปเป็นวุ้งวุ้งพุ่งพ้นพะทะนำคร พรรณนาภูเขาคันธมาศ คำพูดไอ้วาวาปวาวาปเป็นวุ้งวุ้ง ะดูในคาถาไม่มี เป็นคำที่ขยายความคาถาออกมาอีกทีหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นจะมาตราหน้าจินตกวีที่เขียน ว่าพวกนี้ทำสัทธรรมปฏิรูปได้ไหม พวกนี้จ้วงจาบพุทธพจน์ แต่งคำพูดที่พระศาสดาไม่ได้พูด ได้ไหม เราไม่ว่าจินตกวีพวกนี้เป็นพวกที่ทำบาปทำกรรมฉันใด เราก็คงไม่สามารถประณามคณาจารย์มหายานที่แต่งพระสูตรขึ้นฉันนั้น คือพระสูตรมหายานมีลักษณะคล้ายมหาชาติร่ายยาวของเราละครับ หลักเดิมก็เป็นหลักพุทธพจน์ละ แต่ไอ้คำขยายความรายละเอียดนี่ไม่ใช่ เป็นคำที่พวกคณาจารย์ผู้เขียนออกมาขยายความเขียนเอาเอง พระสูตรเหล่านี้เขียนเอาเอง ผิดกับพระสูตรในนิกายเถรวาท พูดง่ายๆว่า พระไตรปิฎกฉบับบาลี เนื่องจากพวกเราเป็นเถรวาท เราจึงไม่กล้า ถ่ายถอนในสิ่งที่พระองค์บัญญัติและไม่กล้าบัญญัติในสิ่งที่พระองค์ไม่ได้บัญญัติ รักษาคงเส้นคงวาไว้ทุกระดับทีเดียว พวกมหายานเขาไม่ได้มารับรู้ในมติของพวกเรานี่ครับ เขาถือว่าเขาต้องขยายความได้ เพราะฉะนั้นเขาจึงแต่งเรื่อยเจื่อยไปเลยแต่งพรรณนาความพรรณนาโวหาร แบบเดียวกับแต่งร่ายยาวมหาชาตินี่แหละ แต่ถึงกระนั้นก็ถือว่าเป็นพุทธมตินะครับ เพราะว่าไม่ได้ทิ้งหลักเดิมในพุทธศาสนาไป
พระสูตรสำคัญในมหายานยุคนี้ ก็มีมหาปรัชญาปารามิตาสูตร สัทธรรมปุณฑรีกะสูตร กรัฑวยูหสูตร พุทธาวตังสกะมหาไวปูลยสูตร แต่ละสูตร ถ้าพิมพ์เป็นเล่มแล้วเป็นหนังสือหลายเล่ม ยาวเฟื้อยเลยแต่ละสูตร ไม่ใช่สั้นๆย่อๆอย่างในบาลี เพราะว่าคนเขียนขยายความมากมาย มีวิมลเกียรตินิทเทศสูตร สูตรนี้ผมแปลเป็นภาษาไทยแล้ว เป็นพระสูตรสำคัญที่สูตรของมหายาน เพราะฉะนั้นท่านนักศึกษารูปใดถ้าปรารถนาจะศึกษาพระสูตรมหายานหรือต้องการจะลิ้มรสวรรณคดีทางมหายานดู ก็นิมนต์ให้ไปหาวิมลเกียรตินิทเทสสูตรที่ผมแปลดูได้ ได้แปลออกจากฉบับภาษาจีนดูได้ ดูเหมือน 16 หรือ17 ปริเฉทก็ลืมไปแล้ว พิมพ์มาแล้ว 2 ปี เป็นพระสูตรสำคัญเป็นหัวใจของมหายาน ถ้าอ่านพระสูตรนี้จบเป็นอันล่วงรู้เรื่องลัทธิมหายานดีเลย เพราะฉะนั้นจึงควรแสวงหาไว้ ใช้เป็นหลักสูตรในมหาวิทยาสงฆ์มหามงกุฎวิทยาลัยใช้เรียนอยู่
ต่อมาในราว พ.ศ.700 ซึ่งได้ปรากฏโฉมหน้าของคณาจารย์มหายานองค์สำคัญที่สุดองค์หนึ่งขึ้น องค์นี้มีชื่อว่าท่านนาครชุน เดิมเป็นพราหมณ์ เป็นชาวโมวิทร ในแคว้นโกศลภาคใต้ แคว้นโกศลในอินเดียมี2 แห่ง แห่งหนึ่งเรียกว่าโกศลเหนือ อยู่ราวเมืองโคคุตระประเทศเดี๋ยวนี้ มีเมืองสาวัตถีเป็นเมืองหลวงกับอโยธยาเป็นเมืองรอง สองเมือง ทางภาคใต้คือทักษิณาบทของอินเดียมีโกศลอีกแคว้นหนึ่ง เรียกว่าโกศลใต้ ทักษิณโกศล ท่านนาครชุนเป็นชาวทักษิณโกศล เดิมเป็นพราหมณ์ ภายหลังออกบวชในนิกายสรวาสติวาท แล้วเมื่อศึกษามหายานแล้วมีความซาบซึ้งจึงทำทานทิกรรมบวชเป็นภิกษุในมหายานซ้ำอีกทีหนึ่ง ทำทานทิกรรมเป็นภิกษุมหายานอีก ท่านผู้นี้เป็นนักโต้วาทีมีชื่อ ได้หักล้างพวกภาหิระลัทธิให้แพ้ราบไปหมด พวกพราหมณ์ นิครณห์ พวกอาชีวก พวกขี้เคน ถ้ามาท้าโต้วาทีแล้วท่านนาครชุนหักล้างเอามาเป็นพุทธหมด ศาสนาพุทธในอินเดียก็รุ่งเรืองขึ้นด้วยพระเถระมหายานรูปนี้ ท่านได้เขียนวิทยานิพนธ์อันมีชื่อเสียงที่สุด หลายเล่ม เล่มที่มีชื่อเสียงมาก ชื่อว่า มาธยมิกะมฤติ เขียนในภาษาสันสกฤต หนังสือเล่มนี้นักปราชญ์ตะวันตกยกย่องมาก ว่าอุดมไปด้วยหลักการทางตรรกวิทยาอย่างหาตัวจับยากที่จะหานักคิดในทางตรรกวิทยาหรือโลจิกที่ยิ่งใหญ่อย่างท่านนาครชุน ไม่มีอีกแล้วในโลกมนุษย์ ยิ่งใหญ่จริงๆท่านผู้นี้ ในคัมภีร์มาธยมกมฤตินี้ ในประณามคาถาของท่านพลิกหน้าแรกก็จะพบท่านแต่งเป็นคาถาว่า --------------( เป็นภาษาสันสกฤต) คือท่านกล่าวคำประณามคาถาว่า ท่านพระองค์ใดสอนว่า ไม่มีความดับ ไม่มีความเกิด ไม่มีความเที่ยง ไม่มีความขาดสูญ ไม่มีการมา ไม่มีการไป ไม่มีอรรถแต่อย่างเดียว ไม่มีอรรถนานาประการ สามารถดับ ปัญจธรรมให้หมดสิ้นไปได้ เป็นปฏิจจสมุปบาทท่านผู้นั้นคือพระสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเอกกว่าบรรดาวาทะทั้งหลาย ข้อขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น นี่เป็นประณามคาถาในคัมภีร์ มาธยมกปฤติของท่านนาครชุน แล้วท่านก็ขยายความประณามคาถานี้ออกมา สำเร็จเป็นนิกายมหายานนิกายแรก เรียกว่านิกาย ศูนยวาท หรือนิกายมาธยมิกะ แปลว่านิกายทางสายกลาง เป็นนิกายแรกที่แยกออกจาก ที่เกิดขึ้นในลัทธิมหายาน ในราว พ.ศ. 700 นี่เป็นเรื่องในนิกายศูนยวาท หรือมาธยมิก เพราะฉะนั้นในขั้นนี้เราก็ต้องจำชื่อของนิกายมหายานไว้ว่า นิกายมหายานนิกายแรกในลัทธิมหายานนั้นคืนนิกายศูนยวาทหรืออีกชื่อหนึ่ง มธยมิกนิกาย
นิกายมธยมิก คือนิกายที่ว่าด้วยทางสายกลาง หลักปรัชญาในนิกายนี้ลึกซึ้งจนกระทั่ง เวลาโอกาสที่จะมาอธิบายที่นี่ยากเย็นเหลือเกิน ผมเองเมื่อบรรยายในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ะ นักศึกษาก็ฟังยากจริง ผู้อธิบายก็อธิบายยาก ผู้ฟังก็ฟังได้ยาก คือมันลึกซึ้ง จนกระทั่งพูดกันให้รู้เรื่องยาก ศึกษากันลึกซึ้งเหลือเกิน ในวันนี้กระผมอยากจะอธิบายเป็นคราวๆนะครับ ก็เมื่อมันเป็นฟิโลโซฟีเป็นปรัชญาแล้วมันก็ต้องยากเป็นธรรมดา คือว่า สิ่งต่างๆในโลกนี้ มีทวันทว ทวัทวธรรม คือธรรมที่เป็นคู่ คือมีและไม่มี ถ้าจะพูดอย่างสำนวนปรัชญาก็เป็น อย่างหนึ่งเป็นสภาวะ อย่างหนึ่งเป็นอภาวะ สภาวะหรือความมีอยู่ท่านใช้ศัพท์คำว่าสัตธาตุ สัต-ความมีอยู่สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสัตความมีอยู่ก็คือ อสัต อสัต-ความไม่มีอยู่ สัตความมีอยู่เป็นภาวะ อสัตความไม่มีอยู่เป็นอภาวะ ท่านนาครชุนท่านแสดงว่าโลกกับนิพพานนั้นนะไม่พึงเป็นสัตหรือเป็นอสัต โลกกับนิพพานนะ นพา นพารตีกัน ไม่ใช่ทั้งภาวะและอภาวะ เพราะฉะนั้นโลกกับนิพพาน ะ จึงเป็นศูนย์ เป็นศูนยหรือศูนยตา รวำ อานาตะมัน สิ่งทั้งปวงไม่มีอัตตา รวำตุนยำ เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งปวงจึงว่างเปล่า ท่านนาครชุนสรุปปรัชญาของท่าน ก็สิ่งทั้งปวงในโลกนี้ซึ่งเป็นภาวะ อภาวะนี้ ไม่มีอัตตา เพราะไม่มีอัตตาจึงว่างเปล่า จึงเป็นศูนย์ ท่านก็เป็นศูนย์ด้วย เพียงแค่นี้ท่านพอจะเข้าใจบ้างหรือยังครับ ผมว่ามันยาก ยากทั้งผมผู้พูด และยากทั้งที่เป็นผู้ฟัง มันยากอย่างนี้แหละ ปรัชญาของท่านนาครชุนต้องสำหรับเวลาเงียบๆแล้วอ่านกันหลายๆเที่ยว ผมเองเวลานี้ก็ยังไม่รับรองว่าตัวเองมีความเข้าใจปรัชญาศูนยวาทได้ถูกต้อง ศึกษาจนมากถึงป่านนี้แล้ว ตัวเองก็ยังไม่แน่ใจ ตัวเองจะเป็นผู้ถ่ายทอดคำสอนของท่านนาครชุนได้ถูกต้องนะได้อ่านมามากในงานของท่านผู้นี้ ประมวลคัมภีร์ของท่านทั้งหมดผมอ่านหมด งานของท่านนาครชุนต้องค่อยๆจับ ทีละคาถา ทีละคาถา แล้วต้องพยายามทำความเข้าใจ มันสนุกตรงนี้ ตรงที่มันยาก แล้วพอเราเข้าใจเปลาะหนึ่งแล้วมันก็อ้อ มันสนุกตรงนี้ ให้ความรู้สึกอยากจะไต่เต้าเข้าไปอีก ลึกซึ้ง พูดง่ายๆว่าคำว่าศูนยตา ที่ทางมหายานพูดหรือทางท่านนาครชุนพูด เราจำง่ายๆนะครับเท่ากับคำว่าอนัตตาในทางเถรวาทพูด แต่ท่านนาครชุนว่าพวกเถรวาทยังเข้าใจอนัตตาไม่ถูกต้อง ท่านบอกว่าพวกเถรวาทหรือพวกหีนยานนะ เพียงแต่เข้าใจอนัตตาไม่ถึงแก่นสาร เข้าถึงเพียงครึ่งเดียว เพราะว่าความศูนย์นั้นนะตราบใดที่ยังเห็นว่าโลกอยู่ต่างหาก นิพพานอยู่ต่างหาก ความเข้าใจอย่างนี้ท่านนาครชุนบอกว่าใช้ไม่ได้ นิพพานคือโลก โลกคืนนิพพาน นิพพานอยู่ที่ไหนโลกอยู่ที่นั่น โลกอยู่ที่ไหนนิพพานอยู่ที่นั่น เพราะอะไร เพราะว่าทั้งโลกกับนิพพานไม่เป็นสภาวะและไม่เป็นอภาวะเพราะเหตุนั้นจึงเป็นภาวะเดียวกันคือศูนย์ ศูนยภาวะ โลกกับนิพพานเป็นศูนยภาวะ ทำไมถึงเรียกเป็นศูนยภาวะ ก็เพราะว่าเรากำหนดโลกด้วยอะไร เรากำหนดโลกด้วยอายตนะใช่ไหม ถ้าเราไม่มีอายตนะโลกก็ไร้ความหมายกับเรา สมมุติว่าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กายใจ อายตนะหกไม่มีเลย แล้วโลกจะมีความหมายต่อเราได้อย่างไร อายตนะหกมันอยู่ที่ไหน อยู่ที่เบญจขันธ์ หนีไม่พ้นเบญจขันธ์นี้ เพราะฉะนั้นเบญจขันธ์นี่แหละเป็นโลก ถ้าไม่มีเบญจขันธ์แล้วโลกก็ไม่มีความหมาย แล้วเบญจขันธ์นี่เราถือว่าเป็นภาวะหรือเปล่า ท่านนาครชุนอธิบายบอกว่า สิ่งใดเป็นภาวะ สิ่งนั้นจะต้องมีอยู่ด้วยตัวของมันเอง ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น ไม่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอื่น เป็นอยู่อย่างใดต้องเป็นอยู่อย่างนั้นเรื่อยๆไป แล้วขันธ์ห้าที่เราพิจารณา ะเป็นภาวะหรือเปล่าล่ะ ไม่เป็น ดูในนี้ขันธ์ห้าไม่เป็นภาวะ เพราะอะไร เพราะขันธ์ห้าเป็นวิตารินามธรรม คือเป็นธรรมที่ต้องเปลี่ยนแปลงทุกขณะสิ่งใดที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกขณะ แสดงว่าสิ่งนั้นไม่เป็นด้วยตัวของมันเอง ต้องอาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้นเป็นขึ้น เมื่ออาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้นเป็นขึ้น สิ่งนั้นก็ไม่ใช่เป็นภาวะอันนี้เป็นการนิยามจับคำว่าภาวะ ของนิกายศูนยวาททางมหายานเขา นิยามศัพท์นี้ว่าสิ่งใดเป็นภาวะสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ขันธ์ห้าเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ขันธ์ห้าจึงไม่เป็นภาวะ สิ่งใดไม่เป็นภาวะ สิ่งนั้นก็ว่างเปล่า ศูนยตา ว่างเปล่าในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่าว่างๆโล่งๆเป็นสุญญากาศนะไม่ใช่นะ ไม่ใช่โดยปรมัตถ์ แต่ทั้งนั้นถึงจะว่างเปล่ามันก็ปรากฏเป็นอารมณ์ของเราได้ ไม่ใช่ว่างเปล่าอย่างบรรยากาศในท้องฟ้าว่างๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ยังปรากฏเป็นอารมณ์ของเราได้ การที่มันปรากฏเป็นอารมณ์ของเราได้มันปรากฏในรูปของมายาธรรม เป็นรูปมายาแก่นสารไม่มี ถ้าเป็นไม้ที่มีแก่นอย่างเช่นว่าต้นจันทน์ เราผ่ากระพี้ ผ่าเปลือกออกไปก็พบแก่น แต่เผอิญที่เราไปผ่าต้นกล้วยถากไปถากมาต้นกล้วยทั้งต้นหายวับไปเลย ไม่มีแก่นนี่ ถากไปถากมามันมีอะไรเหลือให้เราถากล่ะ ก็มีแต่อากาศกับลมให้ถากนะสิ ต้นกล้วยไม่มีแก่นไม่เหมือนกับต้นจันทน์ ฉันใด โลกก็ฉันนั้น เหตุที่โลกไม่เป็นภาวะ โลกจึงเป็นศูนยตาคือว่างเปล่า เพราะฉะนั้นการดับสิ่งที่ว่างเปล่าไปเป็นของจริงขึ้นได้ไหม เป็นได้ไหมครับ การดับมายาธรรมจะเป็นของจริงได้ไหม (ผู้ฟังตอบ) ได้ (ถาม) ได้อย่างไงครับ เพราะว่าตัวผู้ดับก็เป็นมายา ตัวเราเป็นขันธ์ห้าก็เป็นมายา ดับกิเลส กิเลสก็เป็นมายา กิเลสก็เป็นขันธ์นี่ (มีเสียงตอบจากผู้ฟังแต่ไม่ได้ยิน) ท่านบอกว่าดับมายาเสียหมดแล้วก็เจอของจริง คำพูดอย่างนี้ปรัชญาศูนยวาทของนาครชุนบอกว่า เป็นคำพูดโดยสมมุติสัตย์ โดยสมมุติสัตย์เป็นอย่างนั้น ว่าเราดับมายเสียหมดเราก็ลุถึงสันติคือนิพพาน แต่ทว่าโดยปรมัตถสัตย์แล้วท่านบอกว่า ไม่มีอะไรดับ เพราะผู้ดับก็ไม่มี ความดับไปมีได้แต่ไหน ผู้ดับคือใครเล่า อนัตตานี่ผู้ดับ ะ มีแต่เบญจขันธ์ เบญจขันธ์ก็ว่างเปล่า ตัวเราผู้ที่จะดับกิเลสนี้ว่างเปล่านะ ตัวเราเป็นมายานะ กิเลสที่เราพึงจะดับก็เป็นมายา มายาดับมายาผลคืออะไร มายาดับมายา ตัวผู้ดับกิเลสก็มายา กิเลสที่จะถูกดับก็เป็นมายา เพราะฉะนั้นเมื่อมายาดับมายาแล้วจะได้ผลเป็นอะไรล่ะ ก็เป็นมายา เหมือนกับลบ + ลบ ก็คือลบ ถ้าเป็นทฤษฎีนี้ ลบ+ลบก็คือลบ ขันธ์ห้าคือตัวเรานี้เป็นมายาไม่มีแก่นสาร ไม่มีบุคคล เรา เขา ชีว ไม่มีหมด เป็นมายาการ กิเลสที่ปรากฏก็เป็นมายาการ มันก็เป็นมายา เพราะฉะนั้นเมื่อมายาดับมายา ผลก็คือมายา นั่นคือศูนยตา ศูนยตา ปรมำศูนยำ ศูนปูนศูน ศูนย์จากตัวตน ศูนย์จากของของตน ศูนย์จากความเป็นแก่นสาร ศูนย์ในที่นี้อธิบายอย่างนี้ ตั้งตัวตน ทั้งของของตน ทั้งสิ่งไม่มีแก่นสาร ก็เมื่อตัวผู้ดับไม่มีจริงโดยปรมัตถ์ ความดับก็ไม่มีจริง สิ่งที่จะถูกดับก็ไม่มีจริงในปรมัตถ์แล้ว การพ้นความที่ไม่มีจริงจะเป็นของจริงได้อย่างไร เพราะเหตุนั้น โดยปรมัตถสัตแล้ว โลกกับนิพพานจึงไม่ใช่หนึ่งไม่ใช่สอง การแสดงทัศนะอย่างนี้ ถ้าคนที่ไม่มีพื้นฐานทางธรรมะดีพอแล้ว ระวังจะกลายเป็นอุจเฉกทิฏฐินะ อันตรายที่สุดนะอัน ะ เป็นดาบสองคม ถ้าฟังด้วยความเข้าใจก็จะประหารกิเลส ถ้าฟังด้วยความไม่เข้าใจ ผู้ฟังจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ข้างนัตถิกะอุจเฉทะไปเลย ท่านนาครชุนก็เกรงในข้อนี้อย่างยิ่ง ท่านจึงย้ำว่า ผู้ใดก็ตามที่จะมาศึกษาปรัชญาของท่าน ถ้าไม่มีศีลสมาธิเป็นปทัสถานแล้วผู้นั้นต้องมิจฉาทิฏฐิ (ผู้ฟังพูด) ข้อนี้ท่านกรุณาฟังใหม่อีกทีนะครับ หลักเรื่องสมมุติสัจกับปรมัตถสัจนิกายทางมหายานนะ เขาแบ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายศูนยวาทเขาแบ่ง คือว่าโดยสมมุติสัจนะ ท่านนาครชุนก็รับว่าบุญกรรมวัฏสงสารมี ใครก็ตามที่ปฏิเสธสมมุติสัจ ว่า ปรมัตถ์มาเป็นสมมุติ ผู้นั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ท่านย้ำของท่านอย่างนั้น เอาปรมัตถ์เรื่องศูนย์ของท่านมาเป็นสมมุติสัจแล้วคนคนนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ เรื่องสมมุติเป็นเรื่องสมมุตว่ากันไป แต่เรื่องปรมัตถ์ที่ท่านว่าเป็นเรื่องของการปฏิบัติ วิปัสสนาญาณขั้นสูงสำหรับมาชำแรกกิเลส เราก็รู้ว่าเกี่ยวกับมายา เราก็มายา แต่ขณะที่เรายังไม่ถึงขั้น ที่จะละได้ เอามายาละมายาได้นะ เราจะมาถือทฤษฎีอันนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างในฐานะปุถุชนนะไม่ได้ จะเฉเป็นอุจเฉททิฏฐิที่เดียว อุจเฉททิฏฐิอย่างปูรณะกับอเชตเกตกัมพลมิได้สอนแบบนี้หรือ ว่า เอามีดฟันลงไปในกระบาลนะ มิได้ฟันเราหรอก เพราะไม่มีชีว วัตถุธาตุกระทบธาตุ แยกดินน้ำลมไฟออก เพราะฉะนั้นไม่บาป ฆ่าคนก็ไม่บาป เอามีดผ่าลงไปในหัวก็ มีดเป็นวัตถุ กระทบวัตถุ อนูกระทบอนู อเชตเกตกัมพล กับคุรุปูณกัสสป สอนอย่างนี้ เพียงแต่ว่าดินน้ำลมไฟมันแยกกระทบแล้วก็แยกกัน ไม่มีใครตาย ไม่มีใครบาป บาปกรรมไม่มี สอนแบบนี้ถูกในแง่ปรมัตถ์ แต่ในแง่สมมุติใช้ไม่ได้ เพราะว่าในแง่สมมุตินะคนที่ถือทฤษฎีนี้มีอยู่ท่วมหัว ถ้าหากว่าไม่มีกิเลสคนเขาก็ไม่เที่ยวคว้ามีดไปเที่ยวฟันใครแล้ว ถ้าไม่มีกิเลสละก็ เห็นอนัตตาสูญเปล่าเช่นนี้ละก็ เห็นยืนว่าธาตุกระทบธาตุไม่มีสัทธิคุณเร เขา ละก็ คนเห็นอย่างนั้นด้วย ยถาญาณทัศนะ เขาก็ไม่มาเที่ยวคว้ามีดไปแล่หัวใคร ไอ้คนที่เที่ยวคว้ามีดไปล่อกระบาลคน คนนั้นก็ไม่ใช่เข้าถึง ยถาญาณทัศนะ เพระฉะนั้นจึงอย่าเอาปรมัตถ์ไปปนสมมุติ ถ้าเอาปรมัตถ์ไปปนสมมุติแล้ว แน่นอนไม่แคล้วยถาอุจเฉททิฏฐิ ตายแล้วต้องบ่ายไปโลกัณฑ์แน่ แน่นอนที่สุด ถ้าเห็นว่าโลกกับนิพพานไม่มี ศูนย์ คำความว่าศูนยตาในนิกายศูนยวาทที่ท่านนาครชุนสอนนะ เป็นเพียงแต่ความหมายปฏิเสธความเป็นภาวะเท่านั้นเอง เมื่อความเป็นภาวะดับเสียแล้ว อภาวะก็พลอยไม่มีไปด้วย เพราะว่าภาวะกับอภาวะเป็นธรรมคู่ เราเรียกมีอภาวะก็เพราะมีภาวะเป็นเครื่องเทียบ เรารู้ว่ามีภาวะก็เพราะมีอภาวะเป็นเครื่องเทียบ เหมือนอย่างหนึ่งเรารู้ว่ายาว ก็เพราะมีสั้นมาเป็นเครื่องวัด เรารู้ว่าสั้นก็เพราะมียาวมาวัด ก็ถ้าไม่มีสั้นแล้วยาวจะมีไหม ไม่มียาวแล้วสั้นจะมีไหม ไม่มี อันนี้ธรรมแห่งความเป็นคู่คือทวันทวะสัมโมหธรรมนี่แหละ เป็นธรรมที่จะต้องละไปสำหรับคนที่ปรารถนานิพพาน จะต้องละไอ้ความติดรูปปาทานในทวันทวะสัมโมหธรรม ได้แก่อุปาทานคือความติดในภาวะหรืออภาวะ ผู้เกิดทัศนะในเรื่องภาวะผู้นั้นเป็นสัสตะทิฏฐิ ผู้ใดเกิดทัศนะในเรื่องอภาวะผู้นั้นเป็นอุจเฉททิฏฐิ ปรัชญาของท่านนาครชุนนั้น สอนให้พ้นจากภาวะและอภาวะ จึงเรียกว่า มธยนิกาย หรือนิกายที่ว่าด้วยทางสายกลาง ไม่เป็นทั้งอุจเฉทหรือไม่เป็นทั้งสัสตะ อย่างนี้ วันนี้อธิบายเพียงเท่านี้ครับได้เวลา พอสังเขปสำหรับนิกายมหายานนิกายแรก
ธรรมบรรยายม้วนที่ 39
ปัญหาในอินเดียเมื่อครั้งโน้น ครั้งสุดท้าย ที่แล้วมานี้ ผมได้บรรยายถึง สมัยพุทธศตวรรษที่7 หลังปรินิพพาน กล่าวถึงปรัชญาฝ่ายมหายานที่ท่านนาครชุนได้ตั้งขึ้น เรียกว่านิกายศูนยวาท จบไปแล้ว สำหรับวันนี้จะบรรยายปรัชญามหายานอีกสาขาหนึ่ง คือ “ปรัชญานิกายวิชญานวาท” คำว่าวิชญาน ตรงกับบาลีว่า วิญญาณนั่นเอง สันสกฤตก็วิชญานนิกายนี้เป็นมโนภาพนิยมในพุทธศาสนาเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 8 หลังพุทธปรินิพพาน ผู้เป็นต้นนิกายชื่อว่า ไมเตรยนาถ หรือไมตรีนาถ เป็นชาวอโยธยา ในอินเดียภาคกลาง คืออโยธายานี้ เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในแคว้นโกศลคู่กับเมืองสาวัตถีเป็นเมืองโบราณมาก่อน ในสมัยวรรณคดีรามยาณะก็เป็นเมืองหลวงของพระรามตามคติของศาสนาพราหมณ์ มาในศตวรรษที่ 8 ตรงกับ ราชวงศ์คุปตะปกครองอินเดีย ราชวงศ์คุปตะนี้ เป็นราชวงศ์สำคัญ คือว่าวงศ์กษัตริย์ในประวัติศาสตร์อินเดียเราต้องแบ่ง แบ่งตั้งแต่วงศ์โมริยวงศ์ของพระเจ้าอโศก โมริยวงศ์ปกครองอินเดียสิ้นไปแล้ว ก็เป็นศุงคะขึ้นมาปกครอง วงศ์นี้ ไม่ได้สนับสนุนพุทธศาสนา แต่สนับสนุนศาสนาพราหมณ์ หมดจากวงศ์ศุงคะแล้ว ก็เป็นวงศ์อันธระ ซึ่งเป็นวงศ์ทางภาคใต้ ซึ่งมามีอิทธิพลครอบงำในแคว้นมคธ ต่อจากวงศ์อันธระลงมาก็เป็นยุค พระเจ้ากนิษกะมหาราช ซึ่งเป็นพวกอินโดไฟเชียน ยกมารุกรานอินเดีย แล้วมาครอบครองอินเดียภาคเหนือตั้งแต่แม่น้ำสินธุถึงลุ่มแม่น้ำคงคง แต่พระกนิษกะไปตั้งราชธานีที่เมืองปุรุษปุระ ในแคว้นคันธาระ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน พระเจ้ากนิษกะเป็นพุทธศาสนิกได้ให้ความอุปถัมภ์ พุทธศาสนานิกายสรวาสติวาท ถึงกับตั้งกองธรรมสังคายนายกพุทธวจนะขึ้นสู่ภาษาสันสกฤตเป็นทางการครั้งแรกจากภิกษุในนิกายนี้ซึ่งเป็นผู้ที่ขอร้องให้พระเจ้ากนิษกะอุ้มชูในการทำสังคายนา ต่อจากพระเจ้ากนิษกะลงมาก็เป็นเรื่องที่เกิดมหายานขึ้น ตั้งแต่พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว 5 ศตวรรษ กระทั่ง นาคารชุนเถระได้ตั้งนิกายศูนยวาทขึ้น
เมื่อสิ้นสมัยท่านนาคารชุนแล้ว ทางภาคเหนือของอินเดียได้เกิดจักรวรรดิใหม่อีกจักรวรรดิหนึ่งเรียกว่า จักรวรรดิคุปต หรือราชวงศ์คุปตะ ผู้เป็นปฐมวงศ์ชื่อพระเจ้าจันทรคุปต์ที่1 ชื่อจันทรคุปต์ตรงกับพระอัยยิกาพระเจ้าอโศก ชื่อเหมือนกัน แต่คนละคน คนละสมัย จันทรคุปต์ที่ 1 นั้นได้มเหสีซึ่งเป็นเจ้าหญิงลิจฉวีของวัชชี เลยได้มีกำลังสามารถตั้งจักรวรรดิใหม่ครอบครองลุ่มแม่น้ำคงคาสำเร็จ เมื่อพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 1 สิ้นพระชนม์ไปแล้ว โอรสคือพระเจ้าสมุทรคุป ได้แผ่อานุภาพทั้งอินเดียปักษ์เหนือ ปักษ์ใต้ ทำให้เกิดจักรวรรดิใหม่ เรียกว่าจักรวรรดิคุปตะ พระเจ้าสมุทรคุปต์ สิ้นพระชนม์แล้ว โอรสชื่อจันทรคุปต์ที่ 2 เสวยราชย์ต่อมา จันทรคุปต์ที่ 2 สิ้นพระชนม์แล้วโอรสชื่อกุมารคุปต์ที่ 1เสวยราชย์ต่อมา อารยะสมัยดังกล่าวนี้เป็นสมัยรุ่งเรืองทางวรรณคดีของศาสนาพราหมณ์ พระราชวงศ์คุปตะนับถือศาสนาพราหมณ์ นิกายไวษนพเป็นศาสนาประจำชาติ คือลัทธิบูชาพระนารายณ์เป็นใหญ่ พระเจ้าสมุทรคุปต์เองก็อ้างพระองค์ว่าพระองค์เป็นผู้ที่พระนารายณ์ใช้ให้มาปกครองโลก เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ วรรณคดีของพราหมณ์จึงได้มีการฟื้นฟูอย่างใหญ่หลวงเป็นยุคทองของวรรณคดีสันสกฤต ชาวพุทธเราก็ต้องตื่นตัวเพื่อแข่งขันกับศาสนาพราหมณ์เขา ตอนนี้จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธฝ่ายมหายาน ที่จะต้องเป็นตัวตั้งตัวตีในการจรรโลงพุทธศาสนาให้คงอยู่ มิฉะนั้นจะถูกพราหมณ์กวาดล้างออกจากอินเดียไป
ในสมัยพระเจ้ากุมารคุปต์นี่เอง ได้เกิดนักปราชญ์พุทธศาสนาฝ่ายมหายานขึ้นหลายท่านด้วยกัน ท่านที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือท่านไมตรีนาถ ชาวอโยธยาดังกล่าวมา ท่านผู้ที่ได้สร้างผลงานของท่านออกมาเป็นหนังสือชื่อว่าคัมภีร์อภิสมยลังการแล้วก็ลูกศิษย์ของท่านชื่ออสังคะเป็นผู้ที่ประกาศผลงานของท่านผู้นี้ ได้เรียบเรียงตำราสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้น ชื่อว่าโยคาจารภูมิศาสตร์ เล่มหนึ่ง แล้วก็อีกเล่มหนึ่งคือ อภิธรรมอารยวาจาศาสตร์การิกา อีกเล่มหนึ่งขึ้นมา เป็นหนังสือทางมหายานอย่างยิ่ง ตั้งนิกายอีกนิกายหนึ่งเรียกว่านิกายวิชญานวาท ท่านอสังคะเดิมเกิดในวรรณะพราหมณ์ เป็นชาวคันธาระ ภายหลังออกบวชในฝ่ายหีนยานบวชในนิกายสรวาสติวาท และแปรนิกายเป็นมหายานทีหลัง แปลงนิกายทำธรรมหิกรรมเป็นมหายานทีหลังเพราะเมื่อได้ฟังปรัชญาจากสำนักท่านไมตรีนาถแล้ว ก็มีความรู้สึกว่าทางมหายานมีคติธรรมลึกซึ้งกว่าหีนยาน ก็เลยแปลงนิกายเป็นมหายานเสียแล้วได้แต่งตำราดังที่ผมได้เรียนมาแล้ว 2 เล่ม คือโยคาจารภูมิศาสตร์แต่งตามผลงานของท่านอาจารย์ของท่านเองเป็นผู้บอกให้เขียน แล้วก็อีกเล่มหนึ่งเป็นการเขียนของตัวท่านเอง คืออภิธรรมอารยาวาจาศาสตรการิกา
อสังคะมีพี่น้อง 3 คน เกิดในสกุลพราหมณ์ เกาศิกโคตร ชาวคันธรราษฎร์ น้องชายคนกลางออกบวชเหมือนกัน ชื่อวสุพันธุ ออกบวชในนิกายสรวาสติวาท ฝ่ายหีนยาน อีกคนหนึ่งชื่อว่า มิลินทรวัธร ตามปรากฏในประวัติจะออกบวชหรือไม่ ไม่รู้ แต่ว่าน้องชายคนกลาง ที่แรกบวชในนิกายสรวาสติวาทแล้วโจมตีมหายานบ่อยๆ หาว่ามหายานทำนอกรีตพุทธพจน์บ้าง แต่งตำราเกินพุทธเจ้าสอนไว้ แต่รู้ดีแต่งเกินเลยภูมิไปบ้าง โจมตีทางมหายาน พี่ชายก็พยายามตักเตือน ว่าอย่าโจมตีมหายานนะบาปกรรม เพราะว่ามหายานนั้นเป็นนิกายถือตามหลักโพธิสัตว์ หวังพุทธภูมิ การโจมตีมหายานถือว่าโจมตีพุทธภูมิด้วย บาปกรรมเปล่าๆ เตือนน้องชาย น้องชายก็ไม่ฟัง แต่งหนังสือก็โจมตีมหายานเรื่อยไป หาว่ามหายานไม่ได้ความเป็นลัทธินอกรีต ตำรับตำราก็แต่งกันภายหลัง พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้ วันหนึ่ง ท่านวสุพันธุเดินทางมาพักกับพี่ชายที่อโยธยา มาพักแรมอยู่ในกุฏิเดียวกัน ในคืนวันหนึ่งนอนไม่หลับ ได้ยินเสียงสาธยายพระสูตรฝ่ายมหายานจากภิกษุรูปหนึ่ง ตัวก็ตั้งใจฟัง พอฟังเสร็จน้ำตาไหลพราก สำนึกความผิดว่า โธ่เรานี่ไม่ควรเลยเมื่อก่อนนี้ไม่ได้เรียนมหายานอย่างลึกซึ้ง เที่ยวโจมตีเขาว่าไม่ดีอย่างโน้น ไม่ดีอย่างนี้ มาวันนี้ มีโอกาสฟังธรรมอันสุขุมคัมภีรภาพของมหายานเข้า รู้สึกเป็นบาปกรรมของตัว เมื่อก่อนนี้ที่โจมตีนิกายมหายานในต่างๆนาๆ ว่าไม่ใช่หน้าที่ของชาวพุทธควรจะมาโจมตีนิกายซึ่งเป็นนิกายซึ่งเป็นนิกายพุทธศาสนาด้วยกัน นับถือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน ไม่ควรจะมาโจมตีพวกเดียวกัน สำนึกในความผิด ก็ไปบอกับพี่ชายว่า ตัวจะขอแปลงเป็นมหายานละแล้วจะล้างกรรมของตัวด้วยการแต่งตำราประกาศเคลียร์มหายาน
ท่านวสุพันธุเป็นพระที่มีชื่อเสียงในนิกายหีนยานมาก่อนคือนิกายสรวาสติวาท ได้รับเกียรติเป็นสหัสปากรณอาารย คือเป็นอาจารย์แห่งการแต่งปรณ์พันเล่ม ในฝ่ายนิกายสรวสติกวาท ผลงานในฝ่ายนิกายสรวสติกวาทที่ท่านเขียนนั้นที่มีชื่อมากที่โลกพุทธศาสนารู้จักดี คือหนังสืออภิธรรมโกษวยาศยา หนังสือเล่มนี้มีชื่อที่สุด จนกระทั่งเป็นคำพังเพยกล่าวกันในยุคนั้นว่าผู้ใดไม่รู้ โกษะ ผู้นั้นไม่ใช่บัณฑิต เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเป็นบัณฑิตไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือไม่ใช่ชาวพุทธ จะต้องศึกษาคัมภีร์ อภิธรรมโกษวยาศยของท่านวสุพันธุ ถึงกับ ในหนังสือหรรษจริตของกวีพานะ ในราชสำนักของพระเจ้าศีลาทิตย์ แห่งเมืองกะเนานิตย์ กล่าวว่า แม้แต่นกแก้วก็ยังรู้จักคุยกันในคัมภีร์โกษะของวสุพันธ์ นกแก้วซึ่งเป็นสัตว์เดียรฉานยังคุยกันด้วยคัมภีร์โกษะ ซึ่งแสดงว่าหนังสืออภิธรรมโกษะของท่านวสุพันธุ มีความสำคัญเป็นเพชรน้ำหนึ่งในพุทธปรัชญาเพียงไร แต่เมื่อท่านผู้นี้หันมาเลื่อมใสมหายานแล้ว ท่านได้เขียนผลงานทางมหายานขึ้นมาอีกหลายเล่ม เล่มที่เชิดหน้าชูตาที่สุดก็คือ วิชญานมาตราสุทธิตรีพจน์ศาสตร์ หนังสือเล่มนี้มีชื่อเสียงมาก แล้วได้เขียนอรรถกถาพระสูตรทางมหายานอีกหลาย เช่น สัทธรรมปุณฑรีกะ กรุณาปุณฑรีกะ อวตังสกะ นี่คืออรรถกถาที่วสุพันธุเป็นคนเขียน เพราะฉะนั้นทั้งพี่ทั้งน้องจึงเป็นคณาจารย์ผู้ตั้งนิกายวิชญานวาทในฝ่ายมหายาน
คติธรรมในนิกายวิชญานวาทข้อสำคัญก็คือสอนว่า ปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลกเรานี้ ทั้งวัตถุธรรม ทั้งนามธรรมเป็นเพียงเงาสะท้อนที่ออกไปจากใจทั้งนั้น ไม่มีสภาวะอยู่จริงเลย การที่เราเข้าใจผิดนึกว่า มีสภาวะต่างจากใจนะเป็นความหลงผิดเป็นอวิชชาในตัวเรา ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่ว่าจะเป็นภูเขาเลากา แม่น้ำ สายสมุทรล้วนแต่เป็นภาพที่ใจสร้างออกไป แล้วใจนี่แหละเป็นมูลของวัฏฏสงสาร เรียกว่า อาลยวิชญาน เรียกเป็นบาลีว่า อาลยวิญญาณ อาลยวิญญาณนี่ละเป็นพัฒนาการไปจากภวังคจิตในนิกายเถรวาท ภวังคจิตมีฐานะหน้าที่อย่างไรในนิกายเถรวาท อาลยวิญญาณก็มีฐานะหน้าที่อย่างนั้น แต่ฝ่ายมหายานเขาไม่ใช้คำว่าภวังค์ เขาใช้คำว่า อลาย อลายวิญญาณมีหน้าที่เก็บอารมณ์ มีหน้าที่ก่ออารมณ์ มีหน้าที่ปรุงอารมณ์ เก็บ ก่อ ปรุง เป็นหน้าที่ สามประการของอลายวิญญาณ พฤติกรรมต่างๆในชีวิตของเรา เก็บเป็นพีชอยู่ในพื้นของอาลยวิญญาณนี้ เพราะฉะนั้น บางครั้งก็เรียกอาลยวิญญาณว่า สรวพิชชลวิญาณัม คือ แปลว่าวิญญาณที่เป็นที่เก็บแห่งสรรพพีช คือพีชของกรรม เก็บอยู่หมด แม้แต่ ปฐวี เตโช วาโป อันเป็นมหาภูตรูปทั้ง 4 ก็ไม่ใช่มีสภาวะอยู่จริง แต่เป็นพีชที่เก็บอยู่ในอาลยวิญญาณ อาลยวิญญาณ เก็บเตโชพีช อาโปพีช ปฐวีพีช วาโยพีช แล้วเมื่อเหตุปัจจัยสมควรแล้ว ไอ้พีชเหล่านี้ก็แสดงพฤติกรรมออกมา เป็นเงาสะท้อนออกมาจากใจ แล้วใจก็หน้าที่รับภาพที่ตัวสร้างขึ้นนี้มาเป็นอารมณ์อีก แล้วก็ปรุงแต่งประกอบกรรมวนเวียนอยู่อย่างนี้จนกว่าจะสิ้นภพสิ้นชาติ เหตุฉะนั้นอาลยวิญญาณจึงเป็นมูลฐานของนิพพานด้วย เป็นมูลฐานของวัฏฏด้วย อยู่ที่อาลยวิญญาณนี้ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ไม่สร้างไม่ปรุงในทางที่จะเป็นไปเพื่อตัณหา พลิกอาลยวิญญาณเป็นปัญญาเสีย และนั่นคือนิพพาน นี่เป็นคติในนิกายวิชญานวาท ถ้าจะเทียบอย่างภาษาฝรั่งก็เป็นปรัชญาฝ่ายไอเดียลิซั่ม ถือว่าทุกสิ่งไม่มีจริงนอกจากใจ ใจเป็นผู้สร้างทุกสิ่ง ทุกสิ่งเป็นเงาสะท้อนไปจากใจทั้งนั้น เป็นไอเดียลิซั่ม หรือมโนภาพนิยม อันเป็นนิกายหนึ่งในพุทธศาสนามหายาน นี่เป็นนิกายที่สอง
ในสมัยราชวงศ์นี้เกิดนิกายที่สองขึ้น และในสมัยดังกล่าวนี่เอง ทางมหายานก็ได้สร้างนิกายอีกนิกายหนึ่งเป็นนิกายที่สาม นิกายกล่าวตรงกันข้ามกับนิกายศูนยวาท หรือนิกายวิชญานวาท ผู้ที่เป็นต้นคณาจารย์ไม่ระบุตัวบุคคล นิกายนี้เรียกว่า นิกายจิตอมตวาทิน จิตอมตวาท ถือว่าจิตนั้นไม่ตาย สิ่งเกิดดับเป็นเพียงอาการของจิต วิญญาณขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่วิญญาณขันธ์ จิตเป็นผู้รู้ขันธ์ ผู้วางขันธ์ ผู้ปล่อยขันธ์ วิญญาณไม่ใช่จิต วิญญาณเป็นเพียงอาการของจิต เพราะฉะนั้นวิญญาณจึงเกิดดับไม่เที่ยงอนิจจัง ทุกขัง แต่จิตนั้นไม่เป็นอนิจจัง ไม่เป็นทุกขัง เพราะจิตเป็นผู้รู้ ผู้วาง ผู้ปล่อย ถ้าจิตพลอยไม่เที่ยงไปแล้ว พุทธพจน์ที่ว่า เมื่อรู้แล้วชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว กิจที่จะทำอื่นไม่มีอื่นแล้ว จิตก็พ้นแล้วจาก กามสวะ ภวาสวะ ทิฐาสวะ อวิชชาสวะ ถ้าหากจิตเป็นวิญญาณขันธ์แล้วมันจะพ้นไปได้อย่างไรจากกามสวะ ทิฐาสวะดังกล่าว นี่แสดงว่า วิญญาณขันธ์ไม่ใช่จิต จิตเป็นอีกอันหนึ่งต่างหากเป็นอมตะ ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีท่ามกลางไม่มีที่สุด จิตคือนิพพาน นิพพานคือจิต นี่เป็นการศึกษาในฝ่ายมหายาน แล้วก็จิตคือนิพพาน นิพพานคือจิตนี้ เขาก็บัญญัติศัพท์เรียก เรียกว่าตถาคตครรภ หรือห้องของพระตถาคต เรียกว่าพุทธภาวะ เรียกว่านิพพานจิต คือจิตคือนิพพาน จิตอนิพพานอโลภาวะจิต นิพพานคือตัวจิตโดยตรงล่ะ การที่เราเวียนว่ายตายเกิดก็เพราะจิตของเราถูกเมฆคืออวิชชามาหุ้มห่อ ในขณะที่โลกหุ้มห่อจิตเรา จิตเหมือนกับดวงอาทิตย์แสงอาทิตย์ก็ไม่ได้หายไป เป็นเพียงแต่ถูกอุปสรรคคือเมฆมากั้นเอาไว้ ความสว่างจึงไม่ปรากฏ พระพุทธทั้งหลายเป็นผู้ที่กำจัดเมฆหมอกเหล่านั้นไปเสีย แสงสว่างก็ปรากฏเป็นพุทธ แต่ในปุถุชนนั้น ใช่ว่าพุทธภาวะคือพุทธภาวะนี้จะหายไปก็หาไม่ ยังคงมีแสงสว่างอยู่เป็นปกติเหมือนกับ ดวงจิตของผู้ตรัสรู้ทั้งหลาย แต่ทว่าในฐานะเป็นปุถุชนเราไม่รู้ตัวเราเอง เพราะเหตุมีเมฆหมอกคืออวิชชาตัณหามาบัง เมฆหมอกไม่ใช่ดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ไม่ใช่เมฆหมอก เท่ากับจิตก็ไม่ใช่อวิชชาตันหา อวิชชาตัณหาไม่ใช่จิต เป็นเพียงแต่ว่าถูกอวิชชาตัณหามันหุ้มมันบัง จึงเป็นปุถุชน เมื่อกำจัดเมฆหมอกปัดให้พ้นไปเสีย เราก็เป็นพุทธ เพราะฉะนั้นพุทธอยู่ที่นี่ อยู่ตรงนี้อยู่กับเราในขณะนี้ เราจะไปแสวงหาพุทธข้างนอกไม่พบ นิพพานอยู่ในตัวเรานี่แหละ เพียงแต่เรารู้ตัวเราเองว่าเรานี้เป็นพุทธะ แล้วก็กำจัดอุปสรรคคือเมฆหมอกไปเสีย เราก็มีฐานะเท่ากับ พระอรหันต์ทั้งหลาย นิกายถือว่าจิตคือนิพพาน ถือว่าจิตมิใช่วิญญาณขันธ์ เป็นนิกายที่สาม ตกลงว่าพุทธศาสนามีอยู่สามนิกายใหญ่ หรือมีปรัชญาสามสาขาใหญ่ คือสาขาศูนยวาท สาขาวิชญานวาท และสาขาจิตตอมตวาท สามสาขาใหญ่เกิดขึ้น ในศตวรรษที่ 8 หลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ในสมัยราชวงศ์คุปตะ ปกครองอินเดีย
ต่อมาเมื่อพ้นสมัยราชวงศ์คุปตะไปแล้ว ก็เกิดราชวงศ์ใหม่ราชวงศ์หนึ่งเรียกว่าราชวงศ์วรรธนะ ผู้เป็นปฐมกษัตริย์ชื่อว่าประภากรวรรธนะ กษัตริย์แห่งกรุงกัมยาบุปผาชะ หรือเมืองกะเนาที่เรียกกันในปัจจุบัน ราชวงศ์นี้ได้อุปถัมภ์พุทธศาสนาฝ่ายมหายานอย่างดียิ่งและในระยะดังกล่าวนี้ วงการคณะสงฆ์ในอินเดียมีการส่งเสริมในการศึกษาเป็นการใหญ่ มหาวิทยาลัยสงฆ์เกิดขึ้นในอินเดียทั้งมหายานและหีนยาน ก่อนที่จะพูดถึงระบบการจัดมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้น เราต้องเข้าใจว่า พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแรกที่ได้จัดการในระบบการศึกษาในรูปของสถาบัน ก่อนศาสนาใดๆในโลก อันนี้เป็นเกียรติในพุทธศาสนาของเรา
ศาสนาพราหมณ์แม้จะมีมาก่อนพุทธศาสนาก็จริง แต่ระบบการศึกษาในศาสนาพราหมณ์นั้นไม่ได้จัดในรูปของวิทยาลัย คือไม่ได้จัดในรูปสถาบัน เป็นการศึกษาแบบเรียกกันว่า ในภาษาสันสกฤต คือว่าเป็นการศึกษาแบบคุรุกุล คุรุปุระ คือเรียนกับอาจารย์ในครอบครัว ลูกศิษย์จะแสวงหาความรู้จากครู ต้องไปอยู่กินกับครูในบ้าน และก็ลูกศิษย์มีหลายชั้น ชั้นที่มีฐานะดีมีเงินเสียให้กับอาจารย์ ในฐานะเป็นคุรุทัศษินา ก็ไม่ต้องทำงาน ก็อยู่กินคล้ายๆกับนักเรียนกินนอนอยู่บ้านอาจารย์ ลูกศิษย์ที่ยากจนไม่มีค่าคุรุทักษินาก็ต้องตักน้ำ เช็ดบ้านถูเรือน จ่ายตลาด นวดเฟ้นให้อาจารย์ อย่างนี้เรียกว่าเอาแรงเป็นคุรุทักษินาแทน ทั้งนั้นทั้งนี้ก็อยู่กินกับอาจารย์ในบ้านนั้นแหละ แม้แต่ในชาดกจะพรรณถึงเมืองตักกะศิลาว่าเป็นเมืองที่ให้การศึกษามีพวกกษัตริย์ พวกคฤหบดี เดินทางไปศึกษาก็จริง แต่โปรดรู้ไว้ว่าเมืองตักกะศิลานั้นไม่มีระบบการศึกษาแบบโรงเรียน โรงเรียนอยู่ในบ้านอาจารย์ อาจารย์คนหนึ่งอย่างมากก็สอนศิษย์ได้ไม่เกินร้อยคน เพราะว่าบ้านอาจารย์ที่ไหนจะใหญ่โตรับลูกศิษย์ลูกหาได้มากมายอย่างนั้น ไม่มีทาง เมื่อเราเรียนศิลปวิทยากับอาจารย์คนหนึ่ง จะไปต่อหาศิลปวิทยาอีกแขนงหนึ่งต้องไปหาอาจารย์ในบ้านอีกบ้านหนึ่ง ไม่มีว่าพวกพราหมณ์จะมารวมพวกเก่งกาจทางศิลปวิทยาเหล่านั้นอยู่ในที่เดียวกัน แล้วก็ถ่ายทอดการศึกษาในรูปของวิทยาลัยแห่งเดียวกัน ไม่มี เพิ่งจะมีขึ้นครั้งแรกในพุทธศาสนา การศึกษาแบบพราหมณ์ก่อนพุทธศาสนานั้น เป็นการศึกษาแบบคุรุกุล ศึกษาในบ้านในสกุลวงศ์ของอาจารย์ ไม่ได้ตั้งในรูปโรงเรียน พุทธศาสนานี่เป็นศาสนาแรก ที่ตั้งโรงเรียนขึ้น
อันนี้เป็นเกียรติในพุทธศาสนาเรา เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเองก็แสดงออกในรูปของการศึกษาที่คำว่า ศิกขาไตร ศิกขาแล้ว ศีลศิกขา จิตศิกขา ปัญญาศิกขา พระพุทธเจ้าก็บังคับในตัวแล้วว่าเมื่อบวชแล้วก็ต้องเรียน ถ้าบวชแล้วไม่เรียนก็อย่ามาบวชให้รกศาสนา บวชแล้วต้องเรียนพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ ผู้ที่บวชแล้วไม่เรียน พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นโมฆะบุรุษ บุรุษว่างเปล่าอยู่รกศาสนา ชั้นเริ่มแรกมาตรฐานการที่ภิกษุเมื่อออกบวชในวันแรกจึงต้องขอนิสัยกับอาจารย์ การขอนิสัยกับอาจารย์ ะเท่ากับว่าการถวายตัวอยู่ในการควบคุมของอาจารย์เท่านั้น จึงจะให้การศึกษากับเรานี่เป็นขอสำคัญมาก ระบบการที่ต้องนิสัยกับอาจารย์นี่แหละเป็นระบบแรกเริ่มแห่งการศึกษาในรูปวิทยาลัย วัดในพุทธศาสนายุคแรก เป็นวัดใหญ่ อย่างเชตวนาราม ในสาวัตถีก็ดี หรือเวฬุวนารามก็ดี ไม่ใช่เป็นวัดแบบพราหมณ์ที่อยู่กันแบบกระจัดกระจายแบบคุรุกุล อยู่กันมีพระจำนวนตั้งเป็นพัน อยู่กันจำนวนเรือนพัน แล้วผู้ที่ออกบวชจะบวชกับพระพุทธเจ้าก็ดี หรือบวชกับพระเถระรูปใดก็ดี เมื่อมีพุทธบัญญัติให้ถือนิสัยกับอาจารย์แล้ว ก็เท่ากับบังคับให้ว่า ในวันหนึ่งวันหนึ่งจะต้องใช้เวลาในการศึกษา สาธยายพุทธวจนะ
อย่างพระโสนชาวอวันตีนี้ สามารถจำตรงพุทธพจน์ในอรรถวัคคิกะ ในบาลีอรรถนีบาต ซึ่งเป็นบาลีที่ค่อนข้างยาว และพระโสนรูปนี้ได้เรียนกับอาจารย์กระทั่งจำตรงสาธยายคล่องแคล้วแล้ว ลาอาจารย์มาเฝ้าพระพุทธองค์ เมื่อมาเฝ้าพระพุทธองค์แล้ว พระองค์ตรัสให้พระอานนท์จัดที่พักอยู่ร่วมกับคันธกุฎี เดียวของพระองค์ แปลว่าให้มานอนอยู่กับพระองค์ในกุฎีเดียวกัน ในคืนวันนั้นปฐมยาม มัชฌิมายาม พระโสนท่านนอนลุกขึ้นสาธยายนั่งทำกรรมฐานแสะสาธยาย พระพุทธเจ้าก็อนุญาตให้สาธยาย พระโสนสาธยายพระสูตรต่างๆในอรรถวัคคีกะ ด้วยภาษาอวันตี ภาษาชนบทอวันตี เมื่อสาธยายจบ พระศาสดาอนุโมทนา บอกว่าความจำเก่งมาก ทรงสรรเสริญว่ามีความจำดี เนื้อสาธยายก็ไพเราะ พยัชนะก็ไม่ถูกทำลาย อรรถก็สวย เพาะมาก เพาะทั้งอรรถ เพาะทั้งพยัญชนะ เพาะทั้งสุ้มเสียงจังหวะจะโคน ทรงอนุโมทนา นี่แปลว่าพระในพุทธกาลถือการศึกษาเป็นหลักสำคัญมาก การศึกษา พระพุทธองค์ถึงกับตรัสว่า ธุระของพระมีสองอย่าง คือคันธธุระกับวิปัสสนาธุระ ะ คันธธุระก็เป็นการบังคับในตัวแล้ว คือการเรียนคันธคือปราพจน์ของพระศาสดา อันนี้สำคัญมาก เพราะเหตุนั้น ระบบการศึกษาในรูปวิทยาลัย จึงได้เกิดขึ้นในวัดพุทธศาสนา ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานลง การศึกษาก็ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะว่าขาดพระศาสดาผู้จะตัดสินชี้ขาด ในข้อปัญหาต่างๆจึงเป็นหน้าที่ของบูรพาจารย์ ทั้งหลาย ที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดปราพจน์ ให้แข็งขันยิ่งขึ้น แล้วมีการอภิปรายเป็นกลุ่มๆในหมู่พระสงฆ์ เป็นกลุ่มๆในการซักซ้อมเพื่อความทรงจำในปราพจน์หนึ่ง ในการซักซ้อมเพื่อความเข้าใจถูกต้องในปราพจน์หนึ่ง คณะสงฆ์ที่แบ่งกันอภิปรายเป็นกลุ่มๆนี่แหละ ภายหลังได้มีผู้ร้อยกรองคำอภิปรายเหล่านั้น ออกมาเป็นรูปของพระอภิธรรม อภิธรรมนี่แหละเป็นคำร้อยกรอง ร้อยออกมาจากคำอภิปรายของพระสาวก โดยสร้างพุทธพจน์เป็นหลักมาติกา และบรรดาพระสงฆ์สาวกก็มาอภิปรายกัน มาติวกัน คล้ายกับนักเรียนติวหนังสืออย่างนี้แหละ มีอาจารย์เป็นประธานในหมู่ และบรรดาสาวกก็มาติวกัน ตัสฏะปัทมังรูปังรูปนั้นเป็นไฉน แล้วก็ยกขึ้นที่เดียว อ้อรูปนั้นมีอะไรบ้างแจกไป ตัสฏะปัทมังนามัง ที่เรียกว่านามเป็นไฉน แล้วก็แยกกันไป เมื่อแยกกันไปสาธยายกันอย่างนี้แล้วก็รวมกลุ่ม สาธยายกันอีกทีเรียกว่าสังคายนา สังคายนาคือการเล่าบ่นกัน สาธยายและข้อธรรมะข้อวินัย ที่หมู่คณะได้ตกลงกันได้ติวกันได้มันแน่นอนแล้ว ว่าเอากันอย่างนี้และนะ เป็นกลุ่มเป็นก้อนประสานเสียงขึ้นพร้อมกัน นี่อย่างประเพณีสวดแจงของเรา ก็ดัดแปลงมาจากพิธีสังคายนาดังกล่าวมาแต่เป็นการย่อจนเหลือนิดเดียว สวดแจง ประเพณีครั้งนั้นเป็นอย่างนั้น
ประเพณีอย่างนี้มีมากระทั่งในสมัยที่เรา เรียนต่อหนังสือคัด เพียงสอบบาลีกันในวัด พระแก้วนี้ ต้องเรียนต่อกับอาจารย์ และก็สาธยาย พระในครั้งกระโน้นความจำดีกว่าพระสมัยนี้มาก เพราะว่าสมัยโน้นอุปกรณ์การศึกษาไม่มีต้องอาศัยความจำเป็นใหญ่ จะไปเรียนอะไรสักทีต้องแบกคัมภีร์ไป กระเสียนแล้วกระเสียนอีกใบลานนะ ลอกแล้วลอกอีก ความจำของท่านคงดีมากมูลกัจจาย ะท่องอยู่ในพุ้งหมดเลย หลับตาว่าหมดมูลกัจจายเลย เพราะฉะนั้นเปรียญสามประโยคในสมัยสอบปากวัดพระแก้ว มีภูมิรู้สูงกว่าประโยคเก้าเดี๋ยวนี้ เพราะว่าท่านท่องมูลกัจจายอยู่ในท้องหมด ท่องหมด พอขยับเอาที่ไหนมาท่านรู้ทั้งมูลทั้งนามทั้งธาตุ ทั้งแยกออกหมดเลย อยู่ในพุ่งหมดเปรียบสามประโยค สมเด็จพุทธาจารย์โตวัดระฆังนะ แค่ประโยคสาม ท่านไม่ยอมเข้าสนามสอบนะ ท่านสอนลูกศิษย์สอบประโยคเก้าเป็นแถวๆ พระจอมเกล้าเลยต้องยกให้เป็นเปรียญยก ให้มหาโตเป็นเปรียญยก แม้ไม่ยอมสอบก็จะให้เป็นเปรียญ เรียกว่าเปรียญยก เพราะความรู้ดี นี่แหละครับเป็นประเพณีที่ต่อจากการศึกษาในครั้งพุทธกาลเรื่อยมาทีเดียว
เพราะฉะนั้นเมื่อสมัยพุทธศาสนาในยุคศตวรรษที่ 8ถึงที่9 พุทธศาสนาทั้งหีนยาน มหายานนานานิกาย เป็นปึกเป็นแผ่นเจริญแผ่ไพศาลกว้างขวางมาก คณะสงฆ์ทั้งสองค่ายใหญ่คือค่ายหีนยานและค่ายมหายาน ก็มีการประกวดประขันกันในการจัดมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นมา มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกจึงมีกำเนิดขึ้นในโลก เรียกว่ามหาวิทยาลัยนาลันทา เกิดขึ้นในแคว้นมคธ เป็นมหาวิทยาลัยในฝ่ายมหายาน ฝ่ายหีนยานเกิดขึ้นในแคว้นวัลภี เรียกว่ามหาวิทยาลัยวัลภี วัลภีอยู่อินเดียตะวันตก ตะลันทาอยู่อินเดียตะวันออกอยู่กันคนละทิศ หีนยานอยู่ตะวันตก มหายานอยู่ตะวันออก สองสถาบันใหญ่ มหาวิทยาลัยนาลันทานี้ แต่เดิมก็เป็นวัดเล็กๆ วัดเล็กๆ แล้วที่หลังก็ค่อยขยับขยายกลายเป็นวัดใหญ่ขึ้น หนักเข้ากษัตริย์ในราชวงศ์หรรษวรรธนะดังกล่าวมาได้ให้ความอุปถัมภ์หลายอย่าง สร้างเป็นรูปมหาวิทยาลัย สร้างขึ้นมา มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีพระนักศึกษาจำนวนสามหมื่นรูป ในสมัยรุ่งเรืองมีถึงสามหมื่น มีศาตราจารย์เป็นจำนวนเรือนพันศาตราจารย์อาจารย์ปัญญานิธาในมหาวิทยาลัยจำนวนเรือนพัน แล้วก็มีมณเฑียรคือปราสาทเจ็ดชั้น3หลังใหญ่ มีหอสมุด 3 หลังใหญ่ หอสมุด 3 หลังนี้ตั้งเพาะๆนะ รัตนคาธิ รัตนลันชกะ รัตนสาคร สามหลังใหญ่ รัตนะคธิหลังหนึ่ง รัตนะลันชกะหลังหนึ่ง และก็รัตนสาครอีกหลังหนึ่ง สูงเทียมเมฆ หลังมหึมาเชียว ก็จริงสิสมัยก่อนตึกเจ็ดชั้นหาดูยากจะตายไป นี่สร้างตึกเจ็ดชั้นสูงเทียมเมฆ บรรดาศาตราจารย์นักศึกษากินนอนอยู่ในวัดนั้นหมด มหาวิทยาลัยก็คือวัดนั่นเอง มีกำแพงเป็นปราการล้อมรอบ มองดูต่ำไกลเมืองเมืองหนึ่งดีๆนี่เอง ซึ่งมีประชาชนเป็นพระทั้งนั้นในเมืองนั้น แล้วก็ผู้ที่ทรงความรู้จบพระไตรปิฎกนะ อรรถกถาฎีกา ทั้งปรลัทธิ อย่างน้อยมีอยู่ห้าสิบท่าน ศราตราจารย์ที่ท่องพระไตรปิฎกปากเปล่าได้นะ 50 ท่าน แล้วก็ที่ท่องแตะละปิฎกได้นะอีกเป็นร้อยๆท่าน แล้วที่เชียวชาญแต่ละคัมภีร์นะนับไม่ถ้วนท่าน อยู่ในนั้น องค์ที่มีความรู้สูงมากนิมนต์ไปอยู่ชั้นยอด สมัยก่อนนี้ โดยมากเป็นพระเถระแก่ๆ น่าจะไม่สู้สบายนักหรอกนิมนต์ไปอยู่ชั้นเจ็ดนะ จะเดินจะเหินทั้งที่ คงจะไม่สบายนักหรอก เพราะว่าลิฟต์ก็ไม่มีแต่ว่าอาจใช้วิธีหามท่านลงมา โดยท่านนั่งแคร่หามท่านลงมาก็ได้ พระแก่ๆที่เป็นพระเถระแก่ๆหน่อย มีความรู้เป็นติปิฎกพร มิใช่เป็นติปิฎกพรเฉพาะในใบตราตั้งนะ ติปิฎกพรจริงๆ ปากพระยาตากกล่าวได้จริงๆ นิมนต์ไปอยู่ชั้นเจ็ด แล้วถ้ารู้เพียงทวิปิฎก ชั้นรองลงมาเอกปิฎก รองลงมาอีก รู้เป็นเพียงนิกาย ที่ว่าเชี่ยวชาญในฑีฆนิกายเป็นฑีฆทานก หรือมัชฌิมทานก นิมนต์ท่านรองๆลงมา ปราสาทเหล่านี้หลังคาหุ้มทองคำ กระเบื้องทองคำแล้วก็เสาประดับเพชร แล้วบนยอดปราสาทเอาเพชรนิลจินดาไปประดับไว้ ศิลาจารึกของพระเจ้ายโศมิตร พรรณนาบอกว่า ยอดธรรมมณเฑียรในมหาวิทยาลัยนาลันทานะ ราวกับจะเย้ยยอดเขาไกรลาสของพระอิศวรให้ได้อาย นี่คือความสวยงาม คือแสงทองที่สุก ต้องแสงสูรย์ส่องสาดเกิดความระยิบระยับ รุจิเลขาสว่างวาบเวิ้งเยิ้งไปหมด มองดูก็พร้างพราวนัยน์ตาหมด แสงเพชรนิลจินดาแสงทองคำ แต่เดี๋ยวนี้โบสถ์วัดไทย ะกระเบื้องเคลือบ ไม่เชื่อเราไปดูกัน เที่ยงจัดๆยังเงาๆเลย แปรบๆๆ นี่หลังคากระเบื้องทองคำมันจะไม่แปรบๆทนไหวหรือ ถ้าไม่เชื่อไปมองดูกระเบื้องเคลือบวัดพระแก้วดูสิ เวลาเที่ยงจัดๆมองแปรบๆเป็นเงาทีเดียว แค่กระเบื้องเคลือบยังแปรบๆเลย อย่าว่าเลยไอ้หลังคาทองคำประดับเพชร นี่นาลันทาเป็นอย่างนั้น ห้องบรรยายของนักศึกษานะ เฉพาะห้องประชุมนะ ขนาดจุพระได้ตั้งหมื่น มีอยู่แปดหน้องด้วยกัน ใหญ่กว่านี้อีกหลายเท่า ห้องประชุมใหญ่กว่านี้อีกห้าหกเท่า จะพระได้ตั้งหมื่นนี้นา แปดห้องแปดหลังใหญ่ แล้วก็พระสงฆ์ที่กินอยู่หลับนอนในวัดใหญ่แห่งนี้ กุฎีถูกต้องตามวินัยบัญญัติทุกอย่าง มีเพียงโต๊ะเล็กๆให้วางเครื่องเขียน อัฏฐบริขารวางแอบอยู่มุมห้อง แล้วไม่มีสมบัติอันใดสมบัติเป็นของตนเองทั้งสิ้น มหาวิทยาลัยเลี้ยงดูหมดสองมื้อ
ทำไมมหาวิทยาลัยจึงมีปัญญาเลี้ยงพระทีเดียวตั้งหมื่นๆ กาลาปานาพระมหากษัตริย์ในอินเดีย นอกอินเดีย ที่นับถือพระพุทธศาสนาและบรรดาพ่อค้าคหบดีที่มั่งคั่ง ได้ถวายกาลาปนาเป็นหมู่บ้าน ภาษีจากหมู่บ้านเหล่านี้ยกเข้านาลันทาหมด อย่างน้อยๆก็มีถึง 200 คาม ในชมพูทวีป ที่อุทิศภาษีรายได้ สำหรับเป็นทักษินาแก่พระสงฆ์ในนาลันทา แล้วพระที่เรียนที่นาลันทานั่งเรียนกับพื้นนะ นั่งพับเพียบเรียนกับพื้นมีโต๊ะเล็กๆอยู่ข้างหน้า แล้วมีเสื่อกระจูดปูหรือมีอาสนะปู เป็นปุสนีธสันทัดนั่ง อาจารย์ผู้บรรยายก็นั่ง นั่งอยู่บนฐานชุกชี ก่อสูงจากพื้นนิดหน่อย แล้วข้างหลังฐานก็มีชุกชีก่อสูงขึ้นไปอีกประดิษฐานพระพทธรูป ถ้าเป็นห้องบรรยายมหายานก็ตั้งรูปพระโพธิสัตว์ ตั้งเอาไว้อาจารย์นั่งขัดสมาธิบรรยาย ที่หน้า แล้วบรรดาพระนักศึกษาก็นั่งเรียนกับพื้นกัน ถัดจากห้องเรียนออกไปเป็น มุขยื่น ถัดจากมุขยื่นออกไปเป็นสนามหญ้าเขียวขจี ถัดจากสนามหญ้าออกไปเป็นเส้นป่ามะม่วง ในท่ามกลางป่ามะม่วงก็มีสระโบกขรณีคั่น สระโบกขรณีเหล่านี้พระต้องอาศัยใช้ สงส์น้ำ เป็นบ่อๆหลายร้อยบ่อทีเดียว ถึงจะเพียงพอกับคนจำนวนมากอย่างนั้น แล้วมะม่วงเป็นพันๆต้น มะม่วงเหล่านี้มีประโยชน์ คือว่าค่ำลงใช้ครั่นน้ำอัฐบาลถวายพระ พันๆต้นนี้ เวลาบ่ายเวลากลางวันก็เป็นที่พักหลบร้อนสำหรับพระนักศึกษาเอาตำราไปกางท่องบ่น อยู่ใต้ต้นมะม่วง นี่เป็นเรื่องของสภาพการณ์ของนาลันทา
หลักสูตรที่สอนในนาลันทานั้นวางเป็นวิชาบังคับ มีอยู่ห้าแขนง ห้าแขนงด้วยกัน
แขนงที่ 1 เรียกว่า อัทธยาตมะวิทยา คือวิทยาว่าด้วยความรู้ภายใน ได้แก่ความรู้ในพุทธศาสนาทุกนิกายต้องเรียนหมด ไม่ใช่เฉพาะเรียนหีนยานหรือมหายานอย่างเดียว ต้องเรียนทุกนิกาย พุทธศาสนามีกี่สิบนิกายในครั้งนั้นเรียนหมด แล้วทั้งเรียนปรัชญาเปรียบเทียบในศาสนาอื่น ปรัชญาของพราหมณ์ ปรัชญาในนานาลัทธิที่มีในชมพูทวีปเรียนหมด แขนงนี้เรียกว่าอัทธยาตมะวิทยา
แขนงที่ 2 เรียกว่าโหสุวิทยา คือความรู้ว่าด้วยวิชาการโต้วาที วิชาการว่าด้วยการใช้ตรรกะ การใช้เหตุผล เป็นวิชาจำเป็นสำหรับนักเผยแพร่ ใครตั้งข้อสรปวาทมาเราจะโต้แย้งเขาอย่างไร จะหักล้างมติเขาอย่างไร ฝึกให้เป็นนักพูดนักโต้วาที นักเผยแพร่ต้องมีวิชานี้เรียกว่าเหตุวิทยา ไม่อย่างนั้นใครมาตั้งปัญหาแย้งเราก็อับจนโต้เขาไม่ได้ ก็เจ๊งเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นนักศึกษาที่จะเป็นนักเผยแพร่ต้องเรียนเหตุวิทยา นี่เป็นแขนงที่2
แขนงที่ 3 เรียกว่า จิกิจสาวิทยา จิกิจสาวิทยาคือวิชาแพทย์ พระต้องเรียนรู้วิชาแพทย์ การใช้สมุนไพร การบำบัดโรค คือไม่ใช่เป็นผู้จะบำบัดโรคกิเลสอย่างเดียว ยังมีความรู้ที่จะบำบัดโรคทางกายได้ด้วย อันนี้ทำให้ฐานะเป็นปูชนียะในสายตาของประชาชน อันนี้สำคัญมาก พระต้องรู้วิชาแพทย์ในการที่รักษาโรคของชาวบ้านได้ เรียกว่าจิกิสาวิทยา
แขนงที่ 4 เรียกว่า ศัพทวิทยา คือวิชาว่าด้วยวรรณคดี อักษรศาสตร์ นักศึกษาจะต้องเป็นนักแต่งตำรานักเขียนหนังสือเผยแพร่ศาสนาได้ ไม่ใช่ดีแต่พูดเป็นเขียนต้องเขียนได้ เขียนบทความ แทรกพระปรวาสก็ได้เขียนหนังสือเผยแพร่พุทธศาสนาก็ได้ เขียนบทละครอิงธรรมะเป็น วิชาวรรณคดี วิชาเขียนแต่ง เรียกว่าศัพทวิทยา
แขนง 5 สุดท้าย เรียกว่าศิลปวิทยา ครอบหมด วิชาโลหะ สถาปัตยกรรม วิชาการก่อสร้าง พระไม่ต้องไปให้ใครวาดแบบแปลนโบสถ์ ไม่ต้อง ท่านเป็นนักเทคนิค สร้างแบบแปลนได้เอง จะไปสร้างโบสถ์ สร้างวัดที่ไหนไม่ต้องไปเสียเงินจ้างนายช่างมาวาด ท่านเป็นนักเทคนิควาดได้เอง จะหล่อพระหรือ ไม่ต้องไปจ้างใครหล่อ ลงมือหล่อเองเลย นี่โลหะวิทยา แล้วก็ การช่างอื่นการสร้างบ้านเอย รู้เสียหมด ตกลงว่าวิชาพัฒนาที่เราต้องการอยู่ทุกวันนี้นะ พระในครั้งกระโน้นเรียนรู้หมด อยู่ในสาขาศิลปวิทยา จะขุดบ่อหรือจะตัดถนนหรือ ท่านมีความรู้จะสอนชาวบ้านเป็นผู้นำชาวบ้านทำได้หมด ฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ธรรมทูตจากนาลันทา ะ เมื่อไปแผ่ศาสนาที่ไหนแล้ว จะไม่ทำให้พุทธศาสนาตั้งมั่นได้ที่นั่น ความรู้ท่านมีรอบตัวหมด เป็นทั้งนายแพทย์ ที่ไหนละเจ็บป่วยท่านรักษาได้ ใครอยากจะสร้างบ้านสร้างช่องมาอาศัยท่าน ท่านวาดแบบแปลนให้เสร็จ ว่าบ้านลักษณะนี้ถึงจะดีนะ จะสร้างวัดหรือมาท่านวาดได้หมด แบบแผนโบสถ์วิหารได้หมด ท่านไม่ต้องไปพึงคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ต้องมาพึ่งท่าน เพราะฉะนั้น ฐานะของพระจึงเป็นปูชนียะ เพราะความรู้มีหมดทุกด้านเลย เป็นที่ชี้แนะอย่างนี้ เป็นในฐานะเป็นคุรุเขาได้อย่างนี้ คฤหัสถ์ดูถูกพระไม่ได้ เพราะพระไม่ต้องอาศัยจมูกคฤหัสถ์หายใจ เราเป็นผู้นำเขาถูกด้าน ไม่ว่าทางสุขาภิบาล ทางพัฒนาท้องถิ่น ทางการศึกษา แม้กระทั่งทางบำบัดกิเลส มีความรู้รอบตัวหมด นี่พระนาลันทา ศาสนาพุทธที่แผ่หลายไปในเมืองจีน ในทิเบต ในญี่ปุ่น ในเอเชียกลางในไซบีเรีย ในอินโดนีเซีย อาศัยพระจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ดังกล่าวทั้งนั้น ท่านเรียนจบแล้วท่านก็แยกย้ายกันไปทำงาน ทำตามพุทธพจน์ข้อนี้ทั้งนั้น แล้วก็มีความรู้เต็มภาคภูมิที่จะไปทำด้วย ไม่ต้องกลัว เจาะไปในท้องถิ่นใครตั้งข้อกล่าวหาโจมตีศาสนาพุทธ ท่านก็มีเหตุวิทยาเรียนมาแล้ว โจมตีตอบแก้ปรสวาทตอบ ไปเจอชาวบ้านตกกระกลำลำบาก โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ท่านก็วางหยุกวางยา ตรวจโรคและให้สมุนไพรรักษาเลย เพราะท่านเรียนวิชาแพทย์มาแล้ว ไปถึงที่เขาเลื่อมใสศรัทธาสร้างโบสถ์ ท่านก็วาดแผนผังให้เขาสร้าง เขาไม่มีบ่อน้ำ หรือหลุมระบบน้ำ ท่านก็สร้างแบบผังบอกวิธีการสร้างหลุมระบายน้ำให้กับประชาชน เขาอยากจะหล่อพระไว้บูชา ท่านก็หล่อให้เสร็จ ความร่วมมือเพียงแต่ว่าชาวบ้านเอาทองเหลืองมา โลหะมา ท่านตั้งเตาหุงหล่อพระให้เลย ไม่ต้องไปจ้างใคร เมื่อพระเป็นเสียทุกอย่างอย่างนี้ พระจึงมีความหมายต่อสังคม เป็นปูชนียะต่อสังคม เขากราบไหว้สนิทใจ ฐานะของพระก็สูง ศาสนาพุทธก็แพร่หลาย หลักธรรมก็ตั้งมั่น เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธจึงได้แพร่หลายไปตั้งครึ่งของเอเชีย เป็นผลงานของนักศึกษาที่สำเร็จจากวิทยาลัยสงฆ์เหล่านี้ ที่ว่ามา คือนาลันทานี้ สำหรับความรู้ของผู้ที่เข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยนาลันทานั้น ไม่ใช่ง่ายๆนะ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะเข้าไปศึกษาก็ เข้ามาแล้วก็ขอศึกษาได้ เริ่มต้นต้องสอบปากเปล่าที่หน้ามหาวิทยาลัยแล้ว ที่หน้าประตูมหาวิทยาลัย มีคณะอาจารย์คณะหนึ่งเรียกว่าทวารบัณฑิต ทวารบัณฑิต ใครจะมาผ่านทวารบัณฑิต ทวารบัณฑิตตั้งปัญหา ถ้าเราตอบไม่ได้ หมดโอกาสจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นต้องสอบสัมภาษณ์เป็นเริ่มแรกตั้งแต่ปากประตู สอบสัมภาษณ์ต่อคณะทวารบัณฑิตแล้ว ถ้าสอบสัมภาษณ์ผ่านค่อยมาสอบ เขียนในมหาวัทยาลัยทีหลัง สอบข้อเขียนผ่านแล้วถึงมีสิทธิ์รับเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นพระชั้นหัวกระทิมาจากที่อื่นๆแล้ว เก่งมาจากที่อื่นแล้ว แล้วค่อยมาเรียนให้มันช่ำชองยิ่งขึ้น ในมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ มาชุบตัวกันที่นี่ จบออกไปก็เป็นนักเผยแพร่ที่ทำงานได้ผลจริงทีเดียว นักศึกษาในมหาวิทยาลัยนาลันทานอกจากพระอินเดียจะเรียนเองแล้ว ยังมีพระต่างชาติเดินทางมาเรียน เช่นพระจีน พระเกาหลี พระอินโดนีเซีย ในครั้งนั้นนะ ครั้งเมื่อ พ.ศ. 8-900นะ ไม่ใช่เดี๋ยวนี้นะ พระเหล่านี้เดินทางข้ามทะเล ข้ามมหาสมุทร ข้ามภูเขา ข้ามทะเลทรายมา บางท่านเอาชีวิตมาทิ้งในกลางทางจำนวนเป็นร้อยๆ อย่างพระจีนมีอยู่ถึง 200 กว่ารูปเดินทางมาเรียนในนาลันทา เอาชีวิตไปทิ้งในกลางทางตั้ง ร้อยกว่า ที่เหลือมาเรียนในนาลันทาได้จำนวนน้อยเหลือเกิน ท่านก็ยอมตาย เป็นชีวิตพลีเพื่อพระศาสนา และท่านที่เรียนสำเร็จไปแล้วกลับไปเมืองจีน ไปเผยแพร่ศาสนาก็ทำงานได้ผลอย่างมหาศาล ซึ่งเราจะเรียนในภาคพุทธศาสนาในประเทศจีน ตอนนี้เพียงแต่บรรยายถึงว่า สถานการณ์การศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ครั้งนั้นเป็นอย่างไร นี่รูปของนาลันทา ที่เราเรื่องนาลันทาละเอียดนะ เพราะพระนักศึกษาชาวจีนในครั้งนั้นเดินทางมาเรียน เรียนแล้วท่านกลับไปท่านเขียนจดหมายเหตุเอาไว้ เราถึงรู้รายละเอียดเหล่านี้ จากจดหมายเหตุท่านซึ่งยังตกทอดถึงปัจจุบัน สำหรับมหาวิทยาลัยวัลภีซึ่งเป็นฝ่ายหีนยานตั้งขึ้นเราไม่รู้รายละเอียด เพราะว่าพระจีนท่านเป็นมหายาน ท่านไม่ได้มาเรียนในมหาวิทยาลัยวัลภีเลยไม่ได้เขียนของบันทึกว่า ในมหาวิทยาลัยในวัลภีนะระบบการสอนอย่างไร แต่ว่า เราถือเอาใจความว่าคงหนีไม่พ้นแบบนาลันทา เพราะการศึกษาในศาสนาเดียวกันแล้วต้องจัดคล้ายคลึงกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกันกี่มากน้อยหรอก สันนิฐานว่าเป็นอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยนาลันทาซึ่งเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 8 หลังพระพุทธเจ้านิพพาน
คราวนี้เรามากล่าวถึงพระเจ้าหรรษะ พระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์ วรรธนะ ที่ปกครองแคว้นตะเนา พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกชื่อพระเจ้าประภากรวรรธนะ องค์ที่สองชื่อราชศยวรรธนะ องค์ที่สามชื่อหรรษวรรธนะ องค์นี้ท่านเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดมาก ทั้งๆที่เป็นจอมจักรพรรรดิ รบมาสารทิศแล้ว พระองค์ไม่เคยเปลื้องเกราะตลอดระยะสามปี เป็นคำพังเพยนะ แปลว่านอนหลับก็อยู่กับเกราะรบมาเรื่อยแผ่จักรวรรดิ แบบเดียวกับพระเจ้าอโศก ท่านพึงสังเกตได้ว่า ในสมัยใดที่อำนาจจักรวรรดิ แข็งแรง พุทธศาสนาก็รุ่งเรืองเหมือนกัน สมัยใดที่กษัตริย์เป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดนะอำนาจจักรวรรดิก็แข็งแรง เพราะฉะนั้นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์นี้ เราจะแก้ข้อปรสวาทบางอย่างได้ที่หาว่า นับถือพุทธแล้วชาติอ่อนแอ ถ้ามั่วไม่ทำปาณาติบาตไม่ได้ เป็นขี้ข้าเขา ไม่จริงเลย ประวัติทุกยุคทุกสมัย พระเจ้าแผ่นดินที่เข้มแข็งเป็นชาวพุทธที่เข้มแข็งด้วย พระเจ้าแผ่นดินองค์ไหนนับถือพุทธองค์ไหนเคร่งครัด ประเทศชาติของพระองค์ก็เข้มแข็งมีอำนาจมากด้วย เราไม่ต้องดูอื่นไกลในประเทศไทยเป็นตัวอย่าง พ่อขุนรามคำแหงเป็นชาวพุทธที่เข้มแข็งหรือ ศาสนาพุทธประเทศชาติเป็นอย่างไรบ้าง แผ่ไปกว้างขวาง พระพุทธยอดฟ้า พระเจ้ากรุงธนมิใช่ชาวพุทธที่เข้มแข็งหรือ อำนาจประเทศไทยแผ่ไปถึงไหน สมัยราชการที่1 ไม่เคยมีที่แผนที่ประเทศไทยจะใหญ่โตอย่างราชการที่ 1 ภาคเหนือจดยูนานของจีนนะ ภาคเหนือในราชกาลที่ 1 ตะวันตกจดอ่าวเบงกอลเพราะตีได้ทวาย มะริด ชวา ตะเนาศรีเอาไว้ จดอ่าวเบงกอลตะวันตก ทิศใต้ จดแหลมมาลายู กลันตัน ตังกานู ปะริต ไทรบุรี กลันตันเป็นเมืองขึ้นไทยหมด ทิศตะวันออก ประเทศญวณเป็นเมืองขึ้นไทย เขมรญวณเป็นเมืองขึ้นหมด เป็นสมัยที่แผนที่ประเทศไทยใหญ่โตที่สุด ไม่เคยมียุคใดที่มีอาณาเขตกว้างขวางเท่า แล้วพระองค์เป็นชาวพุทธเคร่งครัดแค่ไหน เพราะฉะนั้นไม่ต้องยกตัวอย่างในประเทศไทย แม้ว่าพวกหนึ่ง ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ประเทศที่ถือพุทธ ถ้ายุคใดพุทธศาสนารุ่งโรจน์อำนาจทางการเมืองก็เข็มแข็งยิ่งใหญ่ด้วย ยุคใดที่พุทธศาสนาเสื่อมโทรมอำนาจการเมืองก็เฟ่ฟ่อน อันนี้เป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ พระเจ้าอโศกในอินเดียก็ดี พระเจ้ากนิษกะมหาราชในอินเดียก็ดี พระเจ้าหรรษในอินเดียก็ดี เป็นยุคที่จักรวรรดิอินเดียเข้มแข้งที่สุด ทางการเมือง แล้วก็พร้อมกันนั้นพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองที่สุดด้วย อันนี้เป็นสักขีพยานได้ จึงเป็นการที่เราจะแก้ข้อปรัสวาท ของพวกที่ประสงค์ร้ายต่อพุทธศาสนา พระเจ้าหรรษรบชนะอินเดียภาคเหนือภาคตะวันออกภาคตะวันตกเป็นเมืองขึ้นของพระองค์หมด รบชนะหมด จักรวรรดิของพระองค์ทิศเหนือจดภูเขาฮินดูกูซ กัษมีระ ทิศตะวันตกจดอัฟกานิสถาน ทิศตะวันออกจดเบงกอล ทิศใต้จดอ่าวไทย อุ้มหมดอาณาเขตอินเดีย ในภาคเหนือภาคตะวันออกตะวันตก แล้วพระองค์เป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดที่สุด เป็นชาวพุทธฝ่ายมหายานที่เคร่งครัดที่สุด งดเว้นกินเนื้อกินปลาทุกชนิด ออกกฎหมายห้ามไม่ให้ประชาชนกินเนื้อสัตว์ว่าเป็นบาปกรรม เป็นการอนุโลมปาณาติบาตห้ามไม่ให้กิน ท่านหวังพุทธภูมิ พระเจ้าหรรษนี้ปรารถนาพุทธภูมิ แล้วดำเนินปติปทาเป็นพระโพธิสัตว์เลย ห้ามกินเนื้อสัตว์ห้ามฆ่าสัตว์ทั้งประเทศ แล้วก็ห้ามไม่ให้ประชาชนฆ่าสัตว์ ห้ามไม่ให้ประชาชนกินเนื้อสัตว์ ให้กินอาหารผักอย่างเดียว ว่าเป็นการเบียดเบียนขาดเมตตาธรรมถ้าไปกินเนื้อสัตว์เข้า ห้ามหมด พระองค์เองประกาศว่าพระองค์เป็นโพธิสัตว์ แล้วทุกๆห้าปี ทรงบำเพ็ญมหาบริจาค มหาหาบริจาค คืออย่างไร ทุกๆห้าปี พระองค์จะเอาทรัพย์สมบัติในสิบสองท้องพระคลังออกมาให้เป็นทานจนเกลี้ยงเกลาเลย ยกเว้นแต่ รี้พลสกนธ์ไกลทัพช้างทัพม้าให้เป็นทานไม่ได้ เพราะเป็นกำลังป้องกันประเทศ สมบัติอื่นให้หมด เพชรนิลจินดา มงกุฎ ราชภูษิตราภรณ์อลังการต่างๆให้หมด สถานที่ทรงบริจาคอยู่ที่เมืองท่าพระยาคะ อันเป็นท่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชุมของแม่น้ำคงคากับยมุนาไหลมาบรรจบกันที่นี่ เวลานี้อยู่เมืองอาราหบัดในอินเดีย แล้วพระเจ้าหรรษประชุมบรรดากษัตริย์ประเทศราชทั้งหลายที่มาร่วมอนุโมทนา แล้วมีพระสงฆ์จากทุกสารทิศ มีพระ พราหมณ์ อาชีวก ต่างๆมาร่วมอนุโมทนาเป็นสักขีพยาน มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมารับบริจาค พระองค์เองถอดมงกุฎออกเป็นทาน ถอดเครื่องวิภูษิตราภรณ์เป็นทาน กระทั่งสมบัติในตัวเองไม่มี ขอผ้าภูษาเก่าๆมาห่ม ภูษาเก่าๆผืนเดียว ไม่มีสมบัติอีกแล้ว เนื้อตัวมอมแมมคล้ายกับยาจกนี่แหละ แล้วก็ทรงชุมทศนขึ้นเหนือผาก แล้วเปล่งวาจีออกมาว่า ด้วยเดชะอาทุภาพทานบริจาคของข้านี้ ข้าไม่ปรารถนาซึ่งจักรวรรดิสมบัติ อินทรสมบัติ พรหมสมบัติ ข้าปรารถนาอย่างเดียวคือสรเพชรฎาญาณในอนาคต ขออนุภาพวันนี้จงให้ข้าได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาลเบื้องหน้าเถิด ปันตนิคราวนี้ก็เป็น ตกเป็นที่นั่งของบรรดาพระมหากษัตริย์ที่เป็นเมืองขึ้นละเดือนร้อน คือว่าใครเลยจะทนดูได้ว่าจอมจักรวรรดิ จอมจักรพรรดิมานุ่งพระภูษาเก่าๆมอมๆแมมๆอย่างนี้ บรรดากษัตริย์ประเทศราชเหล่านี้ก็วิ่งไปหาพวกที่รับมงกุฎ พระกรยาจกวนิพกที่เอามงกุฎเอาเครื่องสังวาลเพชร ของพระเจ้าหรรษไปว่าของถ่ายคืนได้ไหม ขอถ่ายคือให้ตีราคาเป็นตัวเงินเท่าไหร่ ถ่ายคืนแล้วก็เอาเครื่องวิภูษิตราภรณ์มาถวายคืนพระเจ้าหรรษ ทุกๆห้าปีพระเจ้าหรรษทำอย่างนี้ แล้วประกาศให้บรรดาประชาชนฟังบอกว่า นี่แหละจักรพรรดิของอินเดียผู้ยิ่งใหญ่ผู้ปราบมาทุกสิบทิศแล้ว สมบัติเหล่านี้ไม่จีรังทั้งนั้น ไม่มีอะไรเป็นของเราแม้สิ่งเดียวเลย ถ้าใครไปหวังว่าสมบัติพวกนี้จะเป็นของเราได้ คนนั้น คนโง่ เพราะฉะนั้นบัดนี้เราปลอดภัยแล้ว เราได้ฝังขุมทรัพย์ของเราทั้งหมดไว้ในที่ปลอดภัย โจรดักปล้นไม่ได้ ไฟเผาไม่ได้ น้ำท่วมไม่ได้ เราปลอดภัยแล้ว คือเราบริจาคออกไปนี้ เพราะฉะนั้นใครอย่ามาสงสัยเลยว่า พระโพธิสัตว์ในชาดกจะมีไม่จริง ที่บริจาคช้างม้าและลูกเต้าเป็นทานนะ อย่าไปสงสัยเลยมีแน่ พระเจ้าหรรษยังทำได้เลยบริจาค แล้วไม่ต้องไปมองไกลถึงพระเจ้าหรรษ มีพระเจ้าแผ่นดินทำมาแล้ว พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านให้ลูกของท่านเป็นทาน ลูกชายลูกหญิง พระองค์วิลาศ กับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณองค์หนึ่ง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพองค์หนึ่ง บริจาคให้พระสงฆ์เป็นทาน พระสงฆ์รับมาแล้วก็ต้องถวายคืน เพราะไม่รู้จะเอาลูกพระมหากษัตริย์ ไปใช้เป็นลูกศิษย์ได้อย่างไร รีบถวายคืน ท่านบอกท่านทำตามเวสสันดรทำตามโพธิสัตว์ พระนั่งเกล้าของเรานี่แหละ เมื่อร้อยปีเศษมานี่ บริจาคธิดาโอรสเป็นทาน มีตัวอย่างมาแล้ว อันนี้เป็นข้อเท็จจริงผู้ที่ถ้ามีน้ำใจปรารถนาพุทธภูมิแล้ว ก็มีน้ำใจเสียสละจริงๆ ทำได้จริงๆแม้กระทั่งชีวิตให้เป็นทานยังได้ อันนี้เป็นเรื่องพระเจ้าหรรษวรรธนะ ที่บริจาคข้าวของพวกนี้เป็นทาน แล้วพระองค์ได้สร้างวัดวาเป็นจำนวนตั้งร้อยๆวัดในอินเดียภาคเหนือ สนับสนุนการศึกษาในนาลันทา แต่ว่าเมื่อพระองค์สวรรคตไปแล้วราชวงศ์ของพระองค์ก็เสื่อม กษัตริย์องค์ต่อมาก็เกิดกบฏขึ้นเป็นพราหมณ์ หัวหน้ากบฏเป็นพราหมณ์ชื่ออรชุน ล้มราชวงศ์วรรธนะลง แล้วก็ตั้งวงศ์ใหม่ อินเดียก็เข้าสู่กลียุคอีก วันนี้ก็ขอจบแค่พระเจ้าหรรษเพียงเท่านี้ก่อน
มีคำถามแต่ฟังไม่ได้ยินความ
ตอบ ธรรมะสำหรับพระโพธิสัตว์ก็เพียงเปล่งวจีปะณามว่า พระโพโหมิอนาคเต สมาทานแบบนี้ แล้วเราก็บำเพ็ญทศบารมี ตั้งแต่ ทาน ศีล เนขัมมะ ปัญญา ขันติ วิริยะ สัจจะ อธิฐาน เมตตา อุเบกขา ครบเป็นโพธิสัตว์
ไม่ได้ยินคำถาม
ตอบ มหายานครับ เป็นชาวพุทธฝ่ายมหายาน ท่านปรารถนาพุทธภูมินิ
อนึ่งท่านปรารถนาพุทธภูมิก็เพียงแต่วาจีปะณามหน้าพระพุทธรูป บอกว่า พุทโธ โหมิอนาคเต นี่พอแล้ว ขอให้ข้า ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตเถอะ เปล่งอย่างนี้คนนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ในขณะนั้น ไม่ต้องมีดีกรีให้ เป็นไปโดยอัตโนเมติกทีเดียว ยุคก่อนเป็นพระโพธิสัตว์กันเยอะแยะนา คนไทยสมัยก่อน คนโบราณ รุ่นสมัยปู่ย่าตายาย รุ่นรัชกาลที่ห้าขึ้นไป ทำบุญทำทานหวังเป็นพระพุทธเจ้าทั้งนั้นแหละ เราไปดูจดหมายเหตุโบราณ หรือในคำจารึกในพระเจดีย์กรุต่างๆที่เขาเปิดกัน ปรารถนาพุทธภูมิกันทั้งนั้น
มีคำถาม
ตอบ อยู่ติดกับพิพิทภัณฑ์ในกัลกัตตา กับที่มิวเซี้ยมเลย ศิลาจารึกของกษัตริย์ตั้งหลายพระองค์ เช่นพระเจ้า เทวปาละ ธรรมปาละ พระเจ้ายโสมิตร พระเจ้ามหิศปาละ พระเจ้าวสันตปาละเยอะแยะไปนับไม่ถ้วน เป็นจารึกทองแดงก็มี จารึกในหินก็มี จารึกในฐานพระก็มี รัฐบาลอินเดียเก็บสะสมไว้เป็นพันๆชิ้น
ถาม
ตอบ พวกอิสลาม เอาไฟครอกเสีย แล้วฆ่าพระทุกรูปในมหาวิทยาลัย ราวๆพ.ศ.1700เศษ มหาวิทยาลัยนาลันทาตั้งอยู่ได้เกือบพันปี มีกำเนิดขึ้น พ.ศ. 900 ถูกทำลายไป พ.ศ. 1700
ถาม
ตอบ ปรารถนาพุทธภูมิขั้นแรกต้อง ทำทานก่อนครับต้องเสียสละในเรื่องทาน ไอ้ทานที่เป็น ปฐมธาตุเลย ถ้ามีจิตใจมัธยาดแล้ว บารมีข้ออื่นทำไม่ได้ ทานต้องมีก่อน
(ถาม ) ทำกุศล ให้ญาติๆไว้เรื่อยให้มากๆไว้เรื่อย อกุศลกรรมเล็กๆน้อยๆที่เคยทำไว้ในอดีตจะตามทันไหม ถ้าทันจะทันในวิธีไหน
ตอบ ตามไม่ทันนะครับ อกุศลกรรมเล็กๆน้อยที่เราทำ เป็นกตัญกากรรม ถ้าทำกุศลกรรมไว้มากๆ เปรียบเหมือนตาชั่ง สองข้าง กุศลกรรมที่เราทำบ่อยเป็นอาจินกรรม ก็เท่ากับเราเติมน้ำหนักใส่ตราชั่งข้างขวาให้มันถ่วงเอาไว้ ตราชั่งข้างซ้ายของมันก็เบาลงเรื่อย ไอ้ทางนี้ก็หนัก เพราะฉะนั้น อกุศลที่ทำป็นกตัญตากรรมเล็กๆน้อย จึงเปรียบเหมือนสุนัข ไล่กัดเราไม่ทัน ตราบใดเรายังมีสตีนดี ฝีเท้าวิ่งยังไม่เหนื่อย ไอ้ฝีเท้าวิ่งยังไม่เหนื่อยหมายความว่า เราเพิ่มการสร้างกุศลเอาไว้ เราก็มีวิ่งสุดฝีเท้า อกุศลก็เหมือน สุนัขไล่เนื้อคอยไล่ตามงับ มันงับเราไม่ทัน มันก็กวดเราเรื่อยจนกว่าเมื่อใดเราเข้านิพพานแล้ว ดับขันธ์แล้ว ก็แทงสูญ บัญชีกรรมเจ้ากรรมนายเวรแทงสูญเลย หาตัวบุคคลมารับผลกรรมไม่ได้แทงสูญ เหมือนนักโทษติดคุก นักโทษฆ่าเขาตาย ปล้นเขาจี้เขา ศาลตัดสินกระทงเดียว กระทงที่หนักที่สุด กระทงอื่นถึงไม่ได้ตัดสินก็รวมอยู่ในกระทงหนักนี้ สมมุติว่าตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ที่เมืองนอกมีอยู่รายหนึ่ง ถูกตัดสินให้จำคุก 120 ปี ไอ้หมอนี่มีความผิดต้องติดคุก 120 ปี แต่ใครจะมีชีวิตอยู่ถึง 120 ปี มันก็ติดคุกได้ 17-18 ปีก็ตายในคุก ไอ้ความผิดที่ 120 ปีก็แทงสูญ ข้อ 2 มีนิทานอยู่เรื่องหนึ่งชื่อว่า พญากาเผือก ชื่อว่า ......มีไข่อยู่ห้าฟองถูกพายุพัดเอารังนั้นตกลงมาจากยอดไม้แล้วลอยน้ำไปคนละทิศละทาง ภายหลังแม่ไก่ เต่า เป็ด ได้เก็บไปไว้ ไข่นั้นได้กระเทาะออกมาปรากฏเป็นกุมาร มีความจริงเพียงใด หรือเป็นนิทานปรัมปรา นิทานครับ เป็นนิทาน 100 เปอร์เซ็นเรื่องนี้ ไม่มีความจริงครับเป็นนิทาน
ถาม การที่ท่านปุญสาโรภิกขุถามว่าการที่พระมหายานฆ่าคนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิแล้วตนเองยอมตกนรก จะมีประโยชน์อะไร ถ้าอาตมาจะลอง ปรัสวาท ในคำที่ว่าถ้าทำดังนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิจะได้หรือไม่ พระพุทธศาสนาสอนให้ทำตนให้พ้นทุกข์ และการพ้นทุกข์แล้วก็ดี หรือกำลังสร้างบารมีเพื่อพ้นทุกข์ก็ดี ถ้ามีโอกาสแล้วก็ชักนำผู้อื่นให้บำเพ็ญตนให้พ้นทุกข์บ้าง พุทธศาสนามีมติอย่างนี้ แต่นี่พระมหายานฆ่าผู้กำลังจะทุกข์หนักให้คลายทุกข์ แต่ตัวเองลงนรกมิเป็นการเสียสละอย่างโง่ที่สุด แม้พุทธองค์ครั้งเป็นโพธิสัตว์จะมีหรือไม่ที่ทำแบบนี้
ตอบ ในชาดกในบาลีไม่มีหรอกครับ เป็นข้อบัญญัติภายหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้วหลายร้อยปี เป็นข้อบัญญัติของชาวพุทธที่ยังมีกิเลสอยู่ แต่ชาวพุทธพวกนี้มีความจงรักภักดีต่อศาสนารุนแรงมาก เห็นว่าถ้าไม่ทำอย่างนั้น ศาสนาพุทธจะต้องถูกไอ้พวกมิจฉาทิฏฐิ พวกทรราชกดขี่ทำลาย เพราะฉะนั้นกูยอมตกนรกละ มันจะฉิบหายก็ช่างมันกูจะเอาเรื่องกับไอ้ทรราชที่มาทำลายศาสนา พวกนี้เป็นชาวพุทธหัวรุนแรง อย่างชาวพุทธเวียตนามเดี๋ยวนี้ไงละ กำลังเดินขบวนเหงียนเกากีเป็นการใหญ่ แอนตี้ไม่หยุดไม่หย่อน กระทั่งชาวโลกชักจะรำคาญชาวพุทธในเวียตนามใต้เต็มที่แล้วว่าไอ้พวกนี้คล้ายกับเอาใจไม่รู้จักพอเสียที ไม่รู้จะเอาใจอีท่าไหน ไอ้ตอนที่ขับไล่โงดินเดียมนะ เราเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นว่าทำถูก เพราะโงดินเดียมเป็นทรราชกดขี่ศาสนามาก ไอ้ทีหลังรัฐบาลต่อๆมาเขาไม่ได้กดขี่ศาสนานี่นา เขาไม่กล้ากดขี่ศาสนาแล้ว มันมีตัวอย่างโงดินเดียมทำมาแล้ว เขาไม่กล้าแล้ว เขาก็ยกย่องดีให้เสรีภาพดี ก็ไม่น่าไปเล่นการเมืองไปขับไล่เขาตั้งห้าหกรัฐบาลเลย นี่แหละแบบทำนองนี้มันดีจนดีแตก ไอ้นี่หัวรุนแรงมีความจงรักภักดี กระทั่งเอากิเลสนี้มาเต้น มันไม่ใช่ธรรมะเต้น มันเรื่องกิเลสเต้น แต่ก็สรุปแล้วก็เกิดจากว่า เป็นความจงรักภักดีที่รุนแรงเกินไป เพราะฉะนั้นจะไปประณามเขาว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ไม่เชิงเป็นมิจฉาทิฏฐินัก แต่ว่าเป็นการเข้าใจที่รุนแรงเกินไป เป็นความเข้าใจที่รุนแรงผิดทำนองคลองธรรมไปหน่อย เท่านั้นเอง ไม่เชิงเป็นมิจฉาทิฏฐิ แน่นอนเป็นการไม่พ้นทุกข์แน่ เขายินดีที่จะไม่พ้นทุกข์ นี่ สำหรับเขาเป็นความพอใจที่เขาจะไม่ยอมพ้นทุกข์ เพราะนั้นเขายินยอมตกนรกไงละ คติอันนี้ใช่ว่าพวกมหายานทุกเหล่าจะเห็นด้วย เป็นเพียงแต่เป็นความเห็นของมหายานกลุ่มหนึ่งพวกหนึ่ง คล้ายพวกเวียตนามใต้เดี๋ยวนี้เดินขบวนกันไม่หยุด ก็ไม่ใช่ว่าชาวพุทธในเวียตนามใต้จะเห็นด้วยกับการกระทำของพวกพระในเวียตนามอย่างนี้นะ ก็เปล่า เป็นเพียงความเห็นของพระในเวียตนามกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีสาวกเป็นพวกนักศึกษากำลังเรียกร้องยุให้ก่อเอะอะตึงตังออกมา พวกทิดทำชาว ทิดอะไรต่างๆ ในไซง่อนเดี๋ยวนี้ยุ่งๆอยู่เดี๋ยวนี้แหละเป็นทำนองนี้แหละครับกลายเป็นเล่นการเมืองไปแล้ว ศาสนาเป็นอรหันต์นะเอง ศาสนาเป็นอรหันตสาวกไม่ใช่ศาสนาเป็นพุทธภูมิไม่ไหว เป็นโพธิสัตว์ ไม่ไหวมัวแต่แบกคนอื่นเขาตัวเองแย่ ไม่ไหวอะ จะสร้างบารมีตั้งสี่อสงไขยห้าอสงไขย ทนไม่ไหว อยากจะเร่งเข้านิพพานไวๆจะได้รู้แล้วรู้รอดเสียที เพราะฉะนั้นจึงเป็นฝ่ายใจแคบในสายตามหายาน มหายานเขาเห็น ถ้าเห็นการกระทำแบบนี้เขาก็เป็นพวกใจแคบเห็นแก่ตัว ยอมรับ ตัดช่องน้อยเอาตัวรอดจริงๆ จะไปนิพพานในอรหันต์ไห้ไวๆหน่อยดีกว่า
ข้อสองท่านถามบอกว่า ทุกวันนี้ผมทำอะไรบ้าง ท่องพระไตรปิฎก อรรถกถาตลอดวัน ทุกวันนี้ก็อ่านแต่ตำราธรรมะ ทั้งมหายาน หีนยานอ่านหมด แล้วก็อ่านตำรับตำราที่เป็นประโยชน์ ต่อการเผยแพร่ศาสนาทุกประเภทอ่านหมด มีชีวิตหาเสาะแสวงหาความสุข ด้วยการอ่านตำรับตำรา ทางศาสนา และตำราที่เป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ อย่างหนึ่ง
ออกแล้วตั้งทุนใหม่ตั้งเป็นรูป...ให้ชื่อว่าสถาบันนาลันทา สถาบันการวิจัยแห่งมคธ ตั้งขึ้นมาแล้วใช้ชื่อเก่าว่านาลันทา เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นาลันทาเก่า หลักสูตรอะไรบ้าง หลักสูตรก็ห้าแขนงที่ว่ามา อัทธยาตมะวิทยา ........เหตุวิทยา ศัพทวิทยา แล้วก็ศิลปวิทยา พระมีความรู้อะไรจึงเข้าไปศึกษาได้ อย่างน้อยก็ต้องเป็นพระ มีความรู้ในพระไตรปิฎกเป็นอย่างต่ำจึงเข้าไปศึกษาได้
ถาม พระมหายานในเมืองจีน กับพระมหายานในเมืองไทยอย่างที่เราเห็นพระจีนทำกงเต็กต่างกันอย่างไร
ไม่ต่างกันละครับ การทำกงเต็ก แต่เดิมก็เป็นการทำที่มีเกียรติ คือเจ้าภาพเข้าไปนิมนต์ ให้ไปโปรดดวงวิญญาณผู้ตาย อย่างนิมนต์พระไทยไปบังสุกุลไปสวดมาติกานี่แหละ แต่ต่อๆมาเมืองศาสนาในพุทธในเมืองจีนเสื่อมลงเพราะรัฐบาลไม่ได้อุ้มชู ความประพฤติของพระก็ทรามลง ไม่มีการศึกษา พระกลายเป็นพระรับจ้าง รับจ้างเป็นพระพิธีกรรม ไม่มีความรู้ทางศาสนาเพราะขาดการศึกษากลายเป็นพระรับจ้าง ว่าจ้างกันเป็นยกๆเลย จ้างกันวันหนึ่งคืนหนึ่งหรือจ้างกันสามวันยก จ้างกันเจ็ดวันยก ฐานะของพระในสายตาชาวจีนส่วนใหญ่ เป็นที่ไม่มีการศึกษา