ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป053

สัมมาทิฏฐิ ๓๐ ความรู้จักอาสวะ (ต่อ)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สัมมาทิฏฐิตามหลักปฏิจจสมุปบาท ๓

เหตุเกิดอวิชชา ๔

อริยสัจจ์สายเกิดทุกข์ ๕

กาลเวลาที่ไม่รู้จัก ๖

ทไวลักษณ์ ไตรลักษณ์ ๗

เครื่องกำบัง อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา ๘

ลักษณะที่เรียกว่าไม่เที่ยง ๙

หากไม่รู้จักกาลเวลา ก็ไม่รู้จักทุกขสัจจะ ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๖๗/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๗/๒ - ๖๘/๑ ( File Tape 53 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๓๐ ความรู้จักอาสวะ (ต่อ)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิตามเถราธิบาย

แห่งท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ และได้แสดงอธิบายแต่ละข้อ

จะได้กล่าวสรุปข้อที่ได้แสดงอธิบายแล้ว ตั้งแต่ต้นจนจบสักครั้งหนึ่ง

และจะได้แจ้งว่าข้อใดที่ได้แสดงอธิบายมาแล้ว และข้อใดที่จะแสดงอธิบายต่อไป

ท่านพระสารีบุตรได้ประทานเถราธิบายข้อสัมมาทิฏฐิแก่ภิกษุทั้งหลาย

ผู้ที่ได้กราบเรียนท่านถามท่าน และเมื่อท่านได้แสดงอธิบายหมวดหนึ่งแล้ว

ท่านภิกษุทั้งหลายก็ถามต่อไป ท่านก็แสดงต่อไปอีกโดยลำดับ

และหลักในการตั้งอธิบายของท่าน

ก็ตั้งหลักอธิบายตามหลักแห่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นแหละ

จับตั้งต้นแต่แสดงอธิบายว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็ได้แก่ความเห็นตรงถูกต้อง

ซึ่งทำให้ผู้มีสัมมาทิฏฐิได้ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม นำมาสู่สัทธรรมคือพระธรรมวินัยนี้

ก็ได้แก่ รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล มูลรากของอกุศล รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล มูลรากของกุศล

รู้จักอาหาร รู้จักสมุทัยเหตุเกิดแห่งอาหาร รู้จักนิโรธความดับอาหาร

รู้จักมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร

รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักนิโรธความดับทุกข์

รู้จักมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

 

สัมมาทิฏฐิตามหลักปฏิจจสมุปบาท

ต่อจากนี้ท่านก็แสดงอธิบายไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

ย้อนหลังขึ้นมา คือท่านแสดงอธิบายว่า สัมมาทิฏฐิก็ได้แก่ รู้จักชรามรณะ

รู้จักสมุทัยเหตุเกิดชรามรณะ รู้จักความดับชรามรณะ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ

และท่านก็ได้แสดงว่าเหตุเกิดชรามรณะก็คือชาติ ท่านจึงแสดงต่อไปว่า รู้จักชาติคือความเกิด

รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดชาติ รู้จักความดับชาติ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชาติ

สมุทัยเหตุเกิดแห่งชาตินั้นก็ได้แก่ภพ ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักภพ

รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดภพ รู้จักความดับภพ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับภพ

และสมุทัยคือเหตุเกิดแห่งภพนั้นก็ได้แก่อุปาทาน ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักอุปาทาน

รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดอุปาทาน รู้จักความดับอุปาทาน รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน

ก็สมุทัยเหตุให้เกิดอุปาทานนั้นก็ได้แก่ตัณหา ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักตัณหา

รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดตัณหา รู้จักความดับตัณหา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับตัณหา

ก็สมุทัยเหตุให้เกิดตัณหาก็ได้แก่เวทนา ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักเวทนา

รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดเวทนา รู้จักความดับเวทนา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับเวทนา

ก็สมุทัยคือเหตุให้เกิดเวทนาก็ได้แก่สัมผัสหรือผัสสะ ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักผัสสะ

รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดผัสสะ รู้จักความดับผัสสะ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับผัสสะ

ก็สมุทัยคือเหตุให้เกิดผัสสะก็ได้แก่สฬายตนะ คืออายตนะทั้ง ๖

ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักอายตนะทั้ง ๖ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดอายตนะทั้ง ๖

รู้จักความดับอายตนะทั้ง ๖ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอายตนะทั้ง ๖

ก็สมุทัยเหตุให้เกิดอายตนะทั้ง ๖ ก็คือนามรูป ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักนามรูป

รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดนามรูป รู้จักความดับนามรูป รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับนามรูป

ก็สมุทัยคือเหตุให้เกิดนามรูปก็ได้แก่วิญญาณ ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักวิญญาณ

รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดวิญญาณ รู้จักความดับวิญญาณ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ

ก็สมุทัยคือเหตุให้เกิดวิญญาณก็ได้แก่สังขาร ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักสังขาร

รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดสังขาร รู้จักความดับสังขาร รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับสังขาร

ก็สมุทัยคือเหตุให้เกิดสังขารก็ได้แก่อวิชชา ท่านจึงแสดงต่อไปว่า รู้จักอวิชชา

รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดอวิชชา รู้จักความดับอวิชชา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา

 

เหตุเกิดอวิชชา

ก็ปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ ก็สิ้นสุดลงแค่อวิชชานี้

แต่ท่านพระสารีบุตร เมื่อท่านได้แจกออกเป็น ๔ ในหมวดอวิชชา

ข้อ ๒ คือเหตุเกิดอวิชชา ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไป ว่าเหตุเกิดอวิชชานั้นก็ได้แก่อาสวะ

ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักอาสวะ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดอาสวะ

รู้จักความดับอาสวะ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

และเมื่อท่านได้แสดงว่าสมุทัยเหตุให้เกิดอาสวะ ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไปว่าอวิชชานั้นเอง

( เริ่ม ๖๗/๒ )

เพราะอวิชชาเกิดอาสวะก็เกิด ก็เป็นอันว่า วนมาหาอวิชชาอีก

และเมื่อวนมาหาอวิชชาอีกดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าท่านได้แสดงอธิบาย

แม้ว่าจะเพิ่มอาสวะว่าเป็นเหตุเกิดอวิชชา แต่เมื่อท่านแสดงเหตุเกิดอาสวะ

ท่านก็เอาอวิชชาอีกนั่นแหละมาเป็นเหตุเกิดอาสวะ ก็วนมาหาอวิชชาอีก

เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่าก็ยุติลงที่อวิชชา

เป็นแต่เพียงว่า อวิชชานั้นเกิดขึ้นก็เพราะอาสวะเกิดขึ้น

และอาสวะจะเกิดขึ้นก็เพราะอวิชชาเกิดขึ้นอีกนั่นแหละ ก็เป็นอันว่าอวิชชามีก็เพราะอาสวะ

อาสวะมีก็เพราะอวิชชา จึงเป็นอันว่าวนกันอยู่ตรงนี้ จึงยุติกันอยู่ตรงนี้

อาสวะเกิดก็เพราะอวิชชา อวิชชาเกิดก็เพราะอาสวะ

อาสวะเกิดก็เพราะอวิชชา อวิชชาเกิดก็เพราะอาสวะ ก็เป็นอันว่าสิ้นสุดอยู่แค่นี้

เพราะถ้าไม่สิ้นสุดลงแค่นี้ ก็จะแล่นออกไปนอกทาง

 

อริยสัจจ์สายเกิดทุกข์

เพราะฉะนั้น อวิชชาและอาสวะนี้ จึงนับว่าเป็นที่สิ้นสุดของสายเกิดทุกข์

ซึ่งเมื่อสาวขึ้นมา คือสาวผลหาเหตุขึ้นมา เมื่อจับอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นหลัก

ทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์ และมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

อันเป็นอริยสัจจ์ ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงทั่วไป

และทุกข์นั้น ก็ได้ทรงชี้เอาว่า เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์เป็นต้น

ดังที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่ว่า ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์

ชราปิทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ มรณัมปิทุกขัง ความตายเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น ท่านจึงจับมาชี้แจงในทุกขสัจจะนี่แหละ ขึ้นเป็นที่ตั้ง

คือยกเอาชาติชรามรณะเป็นที่ตั้ง โดยที่จับแสดงอธิบายเพื่อให้เกิดปัญญา

รู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ โดยพิสดาร คือจับเอาชรามรณะความแก่ความตาย

ขึ้นมาแยกออกไปเป็นอีก ๔ ข้อ ก็เป็นอริยสัจจ์ ๔ ในข้อชรามรณะ

โดยที่ให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาให้ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบความเห็นตรง

คือรู้จักชรามรณะ รู้จักเหตุเกิดชรามรณะ รู้จักความดับชรามรณะ

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ เอาอริยสัจจ์ ๔ กันแค่นี้ก่อน

แล้วท่านก็ชี้ว่าชรามรณะคืออะไร เหตุเกิดชรามรณะคืออะไร ก็คือชาติความเกิด

ดับชรามรณะก็คือดับชาติความเกิด เมื่อดับชาติความเกิดได้ก็ดับชรามรณะได้

ทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ ก็คือมรรคมีองค์ ๘

ในที่นี้จึ่งได้แสดงอธิบายในอริยสัจจ์ ๔ ที่ท่านจำแนกออกโดยละเอียดดั่งนี้

ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงเอาไว้ ตามที่ได้ทรงพิจารณา

คือได้แสดงอธิบายจำเพาะข้อที่ ๑ ของแต่ละหมวด ว่าชรามรณะคืออะไร ชาติคืออะไร

ภพคืออะไร อุปาทานคืออะไร ตัณหาคืออะไร เวทนาคืออะไร ผัสสะคืออะไร

อายตนะ ๖ คืออะไร นามรูปคืออะไร วิญญาณคืออะไร สังขารคืออะไร

อวิชชาคืออะไร อาสวะคืออะไร

คือแสดงอธิบายในข้อที่ ๑ มาโดยลำดับ

ส่วนข้อที่ ๒ ของแต่ละหมวดนั้น คือเหตุเกิดของแต่ละข้อ

เหตุเกิดของชรามรณะก็คือชาติ เรื่อยขึ้นมาจนถึงเหตุเกิดของอวิชชาก็คืออาสวะ

เหตุเกิดของอาสวะก็คืออวิชชา เป็นเหตุเกิดกันอย่างไร ในข้อนี้ยังมิได้อธิบาย

เพราะฉะนั้น จึงจะจับอธิบายในข้อที่ ๒ นี้ว่าเป็นเหตุเกิดกันอย่างไร

จับตั้งแต่อวิชชาเป็นเหตุเกิดอาสวะอย่างไร อาสวะเป็นเหตุเกิดอวิชชาอย่างไร

เรื่อยมาจนถึงชาติเป็นเหตุเกิดแห่งชรามรณะอย่างไร

 

อวิชชา ๘ กาลเวลาที่ไม่รู้จัก

สำหรับอวิชชานั้นก็ได้แสดงอธิบายแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายไว้

ก็ได้แก่ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักนิโรธความดับทุกข์

ไม่รู้จักมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านแสดงไว้ก็คืออวิชชา ๔

แต่ในที่อื่นได้มีแสดงไว้เป็นอวิชชา ๘ คือเพิ่มขึ้นอีก ๔ ข้อ ได้แก่ไม่รู้เงื่อนต้น ไม่รู้เงื่อนปลาย

ไม่รู้ทั้งเงื่อนต้นทั้งเงื่อนปลาย ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

อีกนัยหนึ่ง ๔ ข้อหลังนี้ยกกาลเวลาขึ้นเป็นที่ตั้ง

คือไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต

ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ซึ่งก็ได้แสดงอธิบายแล้ว

แต่ในที่นี้ก็จะได้เพิ่มเติมในแนวอธิบายที่เกี่ยวกับกาลเวลาอีกปริยายคือทางอันหนึ่ง

ที่ว่าไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต

กาลเวลาที่ไม่รู้จักดั่งนี้ ก็ทำให้ไม่รู้จักทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ด้วย

ก็เพราะว่าสภาพที่จริงคือทุกข์นั้น ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงอธิบายไว้

ว่าชาติความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะความตายเป็นทุกข์

 

ทไวลักษณ์ ไตรลักษณ์

จนถึงกล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์

และข้อที่เป็นทุกข์นี้พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสแสดงอธิบายไว้

โดยปริยายคือแนวทางอธิบายต่างๆเป็นอันมาก ที่เป็นพหุลานุสาสนี

คือคำสั่งสอนเป็นอันมาก ดังที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่

ก็ดังที่ได้ตรัสสอนไว้ว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณไม่เที่ยง

รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน

สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงคือทั้งที่เป็นสังขารและทั้งที่เป็นวิสังขาร

เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน เป็น ทไวลักษณะ คือลักษณะ ๒

อีกนัยหนึ่งที่ตรัสแสดงไว้ก็เป็นไตรลักษณ์

อนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ อนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

ก็เพื่อที่จะให้รู้จักทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์นั้นเอง

อนิจจะคือไม่เที่ยง ก็คือต้องเกิดต้องดับ ไม่ยั่งยืน

อนัตตาไม่ใช่อัตตาตัวตน ก็เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้

และหากว่าจะเติมทุกขะให้เป็นไตรลักษณ์ ก็เพราะตั้งอยู่คงที่มิได้

ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ ซึ่งย่อลงเป็นนามรูป ให้เห็นไตรลักษณ์

หรือ ทไวลักษณ์ ลักษณะ ๒ อนิจจะอนัตตาบังเกิดขึ้น จึงจะเห็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์

 

เครื่องกำบัง อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา

แต่ว่าท่านแสดงไว้ว่าเครื่องกำบังอนิจจตาความไม่เที่ยง ก็คือสันตติความสืบต่อ

เครื่องกำบังทุกขตาความเป็นทุกข์ ก็คือความสุข ความผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ

เครื่องกำบังอนัตตตาความเป็นอนัตตา ก็คือความเป็นก้อนเป็นแท่ง

เครื่องกำบังเหล่านี้ทำให้มองไม่เห็น อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา

จะยกตัวอย่างข้ออนิจจะไม่เที่ยง เครื่องกำบังก็คือสันตติความสืบต่อ

ดังเช่น หายใจเข้าหายใจออกสืบต่อกันอยู่เสมอ ชีวิตจึงดำรงสืบต่อกันอยู่เสมอ

จึงทำให้ไม่เห็นความดับ เห็นความเกิด และความดำรงอยู่ความตั้งอยู่ ไม่เห็นความดับ

สันตติคือความสืบต่อนี้ ก็คือความสืบต่อของอดีตปัจจุบันและอนาคตด้วย

คือมองไม่เห็นอดีต มองไม่เห็นอนาคต และก็มองไม่เห็นปัจจุบัน

เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงรู้สึกเหมือนอย่างว่าเที่ยง รู้สึกเหมือนอย่างว่าขันธ์ ๕ นี้เที่ยง

ชีวิตนี้เที่ยง เกิดตั้งอยู่ แต่ไม่ดับ หรือว่าตั้งอยู่แต่ไม่ดับ

เมื่อเที่ยงตั้งอยู่ไม่ดับ ก็คือไม่มีอดีต

และเมื่อไม่มีอดีต ก็ไม่ต้องมีอนาคต มีปัจจุบันคือตั้งอยู่

มองไม่เห็นอดีตคือส่วนที่ดับ และก็ไม่เห็นมองไม่เห็นอนาคตคือส่วนที่เข้ามาสืบต่อ

และก็ไม่รู้จักปัจจุบัน เพราะมองเห็นเหมือนอย่างว่า เป็นปัจจุบันคือตั้งอยู่อย่างไม่ดับ

และไม่ดับก็ไม่ต้องเกิด ก็เหมือนอย่างไม่เห็นเกิด

เหมือนอย่างคนเราทั้งหลายที่มีความรู้สึกกันอยู่ในชีวิต ในนามรูปที่ดำรงกันอยู่นี้

ว่ารู้สึกว่า เป็นอยู่ ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ เป็นความเที่ยงอยู่ ไม่ดับ

เมื่อไม่ดับก็ไม่ต้องเกิด และไม่ต้องมีอนาคต

เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันชื่อว่าไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต

เพราะอันที่จริงนั้น ความเป็นไปของนามรูป ของชีวิตนี้ มีเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

เหมือนอย่างมีหายใจเข้า ก็มีหายใจออกอยู่ตลอดเวลา มีเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

รูปก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

ดับก็เป็นอดีตไป และเมื่อเป็นอดีตไป อนาคตก็เข้ามาเป็นปัจจุบัน

เมื่อเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันก็เป็นอดีตดับไป อนาคตก็เข้ามาเป็นปัจจุบัน

 

ลักษณะที่เรียกว่าไม่เที่ยง

เพราะมีอนาคตเข้ามานี่แหละ จึงมีสันตติคือความสืบต่อ

เหมือนอย่างว่ากลางวันกลางคืน กลางวันล่วงไปกลางคืนก็มา

ขณะที่ยังเป็นกลางวันอยู่ กลางคืนก็เป็นอนาคต

และเมื่อกลางวันหมดไป กลางคืนมา กลางคืนก็มาเป็นปัจจุบัน

และเมื่อกลางคืนหมดไป กลางวันซึ่งเป็นอนาคต รุ่งขึ้นก็มาเป็นปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น เมื่อวานนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ จึงวนเวียนสืบต่อกันอยู่ดั่งนี้

แต่ว่าเมื่อไม่คิดก็ไม่รู้ ว่าเป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบันกันอยู่ดั่งนี้

และเมื่อคิดจึงจะรู้ และเมื่อรู้จึงจะรู้ว่านี่แหละคือตัวไม่เที่ยง

เพราะอดีตนั้นก็คือที่ดับไป อนาคตก็คือว่าที่มาแทนส่วนที่ดับไปนั้น มาเป็นปัจจุบัน

ปัจจุบันก็เป็นอดีตดับไป อนาคตก็เข้ามาแทน จึงมีสันตติคือความสืบต่อ

ถ้าความสืบต่อนี้สิ้นสุดเมื่อใด ความดับในที่สุด ก็สิ้นสุดเมื่อนั้น

ความดับในที่สุดก็ปรากฏเมื่อนั้น 

ดังจะพึงเห็นได้ว่า ลมหายใจเข้าล่วงไปก็เป็นอดีต

ลมหายใจเข้าใหม่ก็มาแทนซึ่งเป็นอนาคต ก็เข้ามาแทนเป็นปัจจุบัน

เมื่ออดีตอนาคตปัจจุบันยังมาสืบต่อกันอยู่ดั่งนี้ ชีวิตก็ดำรงอยู่

แต่เมื่อลมหายใจเข้าหรือลมหายใจออก เป็นปัจจุบัน แล้วก็เป็นอดีต

แต่ไม่มีอนาคตเข้ามาทดแทนสืบต่อ คือหยุดหายใจในที่สุด ชีวิตก็สิ้นสุด

นั่นคือว่าสันตติขาด แต่คนเราที่ยังมีสันตติความสืบต่อกันอยู่ดั่งนี้

ก็เพราะว่ามีอดีตมีอนาคตมีปัจจุบัน นี่แหละสืบต่อกันอยู่ กาลเวลานี้เอง

เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จักอดีตรู้จักอนาคตรู้จักปัจจุบัน จึงจะมองเห็นความไม่เที่ยง

คือเห็นว่าเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อดับแล้วก็มีอนาคตเข้ามาทดแทน

ไม่มีอนาคตเข้ามาทดแทนเมื่อใด ก็สิ้นสุดเมื่อนั้น

 

หากไม่รู้จักกาลเวลา ก็ไม่รู้จักทุกขสัจจะ

( เริ่ม ๖๘/๑ )

เพราะฉะนั้น หากไม่รู้จักกาลเวลา ไม่รู้จักอดีต ไม่รู้อนาคต

ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต ก็เป็นอันว่าไม่รู้จักทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์

มองไม่เห็น อนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ อนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

ต่อเมื่อรู้จักกาลเวลาดังที่กล่าวมานี้จึงจะมองเห็นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน กันอยู่ตลอดเวลา

แต่ว่ามีอนาคตมาทดแทน มาเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นอดีตไป

แล้วก็มีอนาคตมาเป็นปัจจุบันแทน จึงไม่สิ้นสุด ยังสืบต่อกันอยู่

 และอันที่จริงนั้นหาใช่ว่าเที่ยงคือหยุดอยู่เฉยๆไม่

เกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นอดีตปัจจุบันอนาคตอยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบันก็เป็นอดีต อนาคตก็เข้ามาเป็นปัจจุบัน แล้วเป็นอดีต

อนาคตเข้ามาเป็นปัจจุบันแล้วเป็นอดีต

เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จักอดีตอนาคต รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคตดั่งนี้

จึงเป็นอันมองเห็น อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา

มองเห็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ เป็นวิชชาขึ้นได้

ฉะนั้น เมื่อยังมีอวิชชาอยู่ จึงยังมองไม่เห็น อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา

ยังยึดถือว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข และเป็นอัตตาตัวตน เป็นเราเป็นของเรา

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้ก่ออาสวะขึ้น ดังที่ได้แสดงถึงความเกิดอาสวะอนุสัยมาแล้ว

เมื่อเห็นอะไรทางตาได้ยินอะไรทางหูเป็นต้น จึงยึดถือเป็นตัวเราเป็นของเรา

เกิดยินดียินร้าย เกิดอกุศล บาปธรรมทั้งหลายไหลเข้ามาดองจิตสันดานเป็นอาสวะ

หรือเมื่อประสบเวทนาทั้งหลายก็ยินดียินร้าย ไม่รู้ ก็เป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิต

ก็เพราะอวิชชาคือไม่รู้ดั่งนี้ เมื่อไม่รู้ดั่งนี้จึงยึดถือ และก่ออาสวะอนุสัยขึ้นในจิตใจ

เพราะฉะนั้น อวิชชานี้เอง จึงเป็นต้นเหตุสำคัญที่ให้เกิดอาสวะ

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป 

*

สัมมาทิฏฐิ ๓๑ ความรู้จักอาสวะ (ต่อ)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

จิต กาย ๓

ธาตุรู้ ๕

บารมี อาสวะ ๖

อวิชชาสวะ ๗ 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๖๘/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๘/๒ ( File Tape 53 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๓๑ ความรู้จักอาสวะ (ต่อ)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรในข้อสัมมาทิฏฐิมาโดยลำดับ

จนถึงในข้อสุดท้ายซึ่งได้แสดงอธิบาย ข้อว่าเพราะอวิชชาเกิดขึ้นจึงเกิดอาสวะ

และท่านก็ได้แสดงเหตุผลของธรรมะ ที่เป็นเหตุเกิดสืบเนื่องกันไปเหมือนดั่งลูกโซ่

โดยเฉพาะในข้อสุดท้ายนี้ เมื่อแสดงว่าเพราะอวิชชาเกิดขึ้นจึงเกิดอาสวะ

และเมื่อแสดงถึงเหตุปัจจัยที่สืบกันไปเหมือนดั่งลูกโซ่

ก็แสดงต่อไปว่าเพราะอาสวะเกิดจึงเกิดอวิชชา

ก็เป็นอันว่าในหมวดสุดท้ายนี้อันเป็นยอดของปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

จึงต่างเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน อันได้แก่อวิชชาและอาสวะ หรืออาสวะและอวิชชา

เมื่อท่านแสดงถึงอวิชชา ก็จะต้องมีปัญหาว่าเพราะอะไรเกิดจึงเกิดอวิชชา

ท่านจึงแสดงว่าเพราะอาสวะเกิดจึงเกิดอวิชชา

และก็มีปัญหาต่อไปอีกว่า เพราะอะไรเกิดจึงเกิดอาสวะ

ท่านจึงแสดงว่าเพราะอวิชชาเกิดจึงเกิดอาสวะ

ก็เป็นอันว่าอาสวะกับอวิชชานี้ เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน

อันนับว่าเป็นเหตุปัจจัยสุดท้ายที่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้

จึงไม่มีเหตุปัจจัยที่จะแสดงสืบต่อขึ้นไปอีก

และก็ได้แสดงอธิบายแล้วว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยเกิดอาสวะ

หรือเพราะอวิชชาบังเกิดขึ้นจึงเกิดอาสวะ จึงจักได้แสดงในทางที่กลับกันอีกครั้งหนึ่งว่า

เพราะอาสวะเกิดจึงเกิดอวิชชา หรือเพราะมีอาสวะจึงมีอวิชชาบังเกิดขึ้น

ในข้อนี้ก็พึงทำความเข้าใจไว้ก่อนข้อหนึ่งว่า บรรดาเหตุปัจจัยเหล่านี้

เหตุปัจจัยที่สุดยอดคืออวิชชากับอาสวะ หรืออาสวะกับอวิชชา

และเหตุปัจจัยที่สืบต่อกันไป รวมว่าทั้งหมดย่อมเป็นสิ่งที่เกิดได้ เพิ่มเติมได้

และเป็นสิ่งที่ดับได้ จิตวิมุติหลุดพ้นจากเหตุปัจจัยเหล่านี้ได้

ทั้งนี้ก็เพราะว่า เหตุปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต

 

จิต กาย

เนื้อแท้หรือธรรมชาติของจิตนั้น เป็นสิ่งที่ปภัสสรคือผุดผ่อง

และเป็นธาตุรู้ ที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ และจิตนี้ไม่มีสรีระสัณฐานเหมือนอย่างกาย

แต่มีกายนี้เป็นที่อาศัย ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า อสรีรัง ไม่มีสรีระ

คือไม่มีร่างกาย ไม่ใช่วัตถุ คูหาสยัง มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย

คูหาคือถ้ำนี้พระอาจารย์ได้แสดงอธิบายคลุมๆว่ากาย คือมีกายนี้เป็นที่อาศัย

เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงมีกายและจิตซึ่งอาศัยกันอยู่

กายนั้นเป็นวัตถุประกอบด้วยธาตุที่เป็นวัตถุทั้งหลาย

ที่แสดงไว้ก็คือว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

ซึ่งหมายถึงว่าส่วนที่แข้นแข็งในกายนี้ ก็เรียกว่าธาตุดิน

ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลก็เรียกว่าธาตุน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็เรียกว่าธาตุไฟ

ส่วนที่พัดไหวก็เรียกว่าธาตุลม และในบางพระสูตรยังเติมอีกหนึ่งธาตุคืออากาสธาตุช่องว่าง

คือบรรดาช่องว่างทั้งหลายในกายอันนี้ก็เรียกว่า อากาสธาตุ ธาตุคือช่องว่าง เป็นธาตุ ๕

แต่โดยมากแสดงไว้เพียงธาตุ ๔ เพราะอากาสธาตุคือช่องว่างนั้นไม่ใช่วัตถุ

แต่ว่าเติมขึ้นอีกก็เพราะว่าในกายนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป

ย่อมมีอากาสธาตุคือช่องว่างอยู่เป็นอันมาก เช่น ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก

และช่องเล็กๆน้อยๆ ตลอดจนถึงทุกๆขุมขน

และช่องว่างเหล่านี้เองทำให้แบ่งขอบเขตุของอวัยวะร่างกายเป็นส่วนๆออกไปได้

เช่นว่านิ้วทั้ง ๕ ของบุคคลมีช่องว่างอยู่ในระหว่าง จึงได้แบ่งออกได้เป็น ๕ นิ้ว

ถ้าไม่มีช่องว่างอยู่ในระหว่าง ก็จะต้องรวมกันเป็นพืด แบ่งออกเป็น ๕ นิ้วไม่ได้

ร่างกายเช่นแขนทั้ง ๒ ขาทั้ง ๒ และทุกส่วนก็ต้องมีช่องว่างอยู่ในระหว่างๆทั้งนั้น

จึงแบ่งออกได้เป็นส่วนๆ ตลอดจนถึงอวัยวะภายใน เช่นเส้นเอ็นตับปอดหัวใจเป็นต้น

ต่างก็มีช่องว่างในระหว่างๆ จึงทำให้แบ่งออกเป็นส่วนๆไปได้

และบรรดาช่องว่างในร่างกายอันนี้มีมาก

จนถึงมีผู้ศึกษาวิทยาการในปัจจุบันได้แสดงว่า ร่างกายอันนี้ถ้ายุบรวมเข้า

ไม่ให้มีช่องว่างเลยแม้แต่น้อย ร่างกายของทุกๆคนที่ใหญ่โตอยู่เท่านี้ จะเหลือเล็กนิดเดียว

อย่างเช่นขนาดปลายไม้ขีด มีท่านหนึ่งแสดงว่าอย่างนี้

แต่ว่าที่ใหญ่โตปรากฏเป็นอาการต่างๆ ๓๑,๓๒ เป็นต้น ก็เพราะมีช่องว่างอยู่เป็นอันมาก

เพราะฉะนั้นในบางพระสูตรจึงได้ยกขึ้นเป็นอีกธาตุอันหนึ่ง เรียกว่าอากาสธาตุ ธาตุคือช่องว่าง

นี้เป็นส่วนกาย ซึ่งมีสรีระรูปร่างสัณฐานทรวดทรง

แต่ว่าจิตไม่มีสรีระสัณฐานเหมือนอย่างกาย

แต่ว่ามีคูหาเป็นที่อาศัย ที่ท่านอธิบายว่าก็คือมีกายนี้เป็นที่อาศัย

จึงมีปัญหาว่า ถ้าจิตไม่มีสรีระสัณฐาน มองเห็นไม่ได้ จับต้องไม่ได้ ก็รู้ได้อย่างไรว่ามีจิต

ก็ตอบได้ว่ารู้ได้ที่ความรู้ เพราะจิตนี้เป็นธาตุรู้ รู้อะไรๆได้

หากว่าจะถามว่าจิตอยู่ที่ไหน ก็ตอบได้ว่าจิตอยู่ที่ตัวรู้ รู้อยู่ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น

และจิตนี้เพราะเป็นธาตุรู้ และไม่มีสรีระสัณฐาน จึงกำหนดได้ที่ตัวรู้

หรือที่ความรู้ที่ทุกๆคนมีอยู่ดังกล่าว และนอกจากนี้ทุกคนก็รู้จิตใจของตัวเองได้

ว่าจิตเป็นอย่างไร ตั้งต้นแต่ จิตคิดอะไร ดำริอะไร ทุกคนก็รู้จิตของตัวเอง

และเมื่อจิตคิดอะไรรู้อะไรแล้ว จิตชอบอะไร ชังอะไร อยากได้อะไร ไม่อยากได้อะไร

หรือว่ายินดีอะไร ยินร้ายอะไร หลงไหลอะไร ทุกคนก็รู้

 

ธาตุรู้

และโดยที่จิตนี้เป็นธาตุรู้ ทุกคนจึงเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นไปได้ ดั่งที่ทุกๆคนเรียนกันอยู่

ตั้งต้นแต่ขั้นอนุบาล ขั้นประถม ขั้นมัธยม ขั้นอุดม ตามหลักสูตรต่างๆ

แต่ว่าเมื่อเรียนรู้อะไรๆ สิ่งที่รู้นั้นก็ไม่มีสรีระสัณฐานอีกเช่นเดียวกัน

จะบอกว่าความรู้ที่เรียนนั้นกว้างเท่าไรยาวเท่าไรใหญ่เท่าไร เหมือนอย่างวัตถุ

เช่นว่าตึกรามบ้านช่องใหญ่เล็ก หนึ่งชั้น สองชั้น สามชั้น กี่ห้อง อะไรเป็นต้น

จะเอามาแสดงความรู้ที่เรียนหรือที่รู้ ว่ากว้างเท่านั้น ยาวเท่านี้ ใหญ่เท่านี้ หาได้ไม่

ความรู้ที่เรียนกันมาก็ไม่มีสรีระสัณฐานอีกเช่นเดียวกัน

แต่ว่าความรู้ทั้งหมดนี้ ก็เก็บอยู่ที่จิตอันนี้

และจิตอันนี้ เมื่อปฏิบัติทางสมาธิ ได้อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธิ

ดังเช่นพระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ ทรงได้อัปปนาสมาธิ

ก็ทรงได้ญาณคือความหยั่งรู้ระลึกชาติได้ ระลึกชาติในหนหลังได้ ว่าทรงเกิดเป็นอะไร

มีชื่อมีนามสกุลหรือโคตรอย่างไร มีสุขมีทุกข์อย่างไร เป็นต้น เป็นอันมาก

อันแสดงว่า จิตนี้เป็นที่เก็บสิ่งที่ประสบพบพานไว้ทั้งหมด

เก็บอยู่ในจิตที่ขอยืมคำมาพูดว่าจิตส่วนลึก หรือที่พบกันในบัดนี้เรียกกันว่าจิตใต้สำนึก

เพราะฉะนั้น เมื่อทำสมาธิจนถึงได้อัปปนาสมาธิ รู้ถึงจิตใต้สำนึกหรือจิตส่วนลึกนี้ได้

สิ่งที่เก็บไว้ในจิตส่วนลึกก็ปรากฏเป็นความรู้ขึ้นมา ดังความรู้ระลึกชาติได้ของพระพุทธเจ้า

 

บารมี อาสวะ

และจิตนี้เอง ยังเก็บดีเก็บชั่วไว้อีกด้วย

เมื่อทำดีกิริยาที่ทำนั้น ทำแล้วก็เสร็จกันไปเป็นคราวๆ

แต่ว่าความดีที่ทำไว้นั้นก็ยังเก็บอยู่ในจิตส่วนลึก เรียกว่าบารมี เก็บดี

ความดีที่ทำไว้นั้นไม่หายไปไหน แม้ว่ากิริยาที่ทำเสร็จไปเป็นคราวๆ

แต่ว่าความดีที่ทำนั้นก็ยังเก็บไว้ในจิตส่วนลึก

ทำชั่วก็เหมือนกัน เมื่อทำชั่วทางกายทางวาจาทางใจอะไรไว้

ทำไปแล้ว ความชั่วก็ยังเก็บเอาไว้ในจิตส่วนลึก ก็เป็นอาสวะดองจิตสันดาน

เพราะฉะนั้นจิตนี้จึงมีทั้งส่วนดีที่เป็นบารมี ทั้งส่วนชั่วที่เรียกว่าอาสวะ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ลึกเข้าที่จิตของพระองค์เอง จนทรงพบอาสวะจึงได้ตรัสรู้

และก็ได้ตรัสแสดงสั่งสอนเอาไว้เป็น กามาสวะอาสวะคือกาม

ภวาสวะอาสวะคือภพ อวิชชาสวะอาสวะคืออวิชชา

( เริ่ม ๖๘/๒ ) ก็เป็นอันว่าในจิตของบุคคลทั่วไปมีกามเก็บอยู่ในจิตส่วนลึก

คือความใคร่ความปรารถนาต้องการ พร้อมกับสิ่งที่ใคร่สิ่งที่ปรารรถนาสิ่งที่ต้องการ

มีภวาสวะอาสวะคือภพความเป็น คือเป็นเราเป็นของเรา เป็นนั่นเป็นนี่เก็บอยู่ในจิตส่วนลึก

มีอวิชชาสวะอาสวะคืออวิชชา ซึ่งเป็นตัวไม่รู้ อันหมายถึงว่ารู้ที่เป็นรู้หลงรู้ผิด

ก็เหมือนอย่างไม่รู้ ก็คือไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์

ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นต้น เป็นตัวอวิชชาเก็บอยู่ในจิตส่วนลึก นี้เป็นส่วนอาสวะ

เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู ได้ทราบกลิ่นทราบรส

ทราบโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องทางจมูกทางลิ้นทางกาย ได้คิดเรื่องอะไรๆต่างๆทางใจ

ตัวกามซึ่งเก็บอยู่ในจิตส่วนลึกนั้นจึงโผล่ขึ้นมา ปรากฏเป็นความรักใคร่ปรารถนาพอใจ

ในรูปเสียงเป็นต้นที่ประสบพบผ่านนั้น เป็นฝ่ายราคะหรือโลภะ หรือว่าฝ่ายความยินดี

แต่ว่าถ้าขัดกับกามที่เก็บไว้ในจิตใจส่วนลึกนี้ ก็เป็นปฏิฆะคือความกระทบกระทั่ง

อันเป็นมูลของโกธะความโกรธ โทสะความประทุษร้ายใจ พยาบาทความมุ่งร้ายต่างๆ

อันเป็นกองโทสะ

 

อวิชชาสวะ

และภวาสวะอาสวะคือภพ คือตัวเราของเราก็โผล่ขึ้น

มาเป็นตัวเราเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นของเราในสิ่งนั้นในสิ่งนี้

อวิชชาสวะ อวิชชาคือตัวความไม่รู้ก็โผล่ขึ้นเป็นความรู้ที่รู้หลงรู้ผิด คือว่าไม่เห็นทุกข์

ไม่เห็นเหตุเกิดทุกข์ ไม่เห็นความดับทุกข์ ไม่เห็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

แต่เห็นตรงกันข้าม เห็นทุกข์นั้นว่าเป็นสุข เห็นเหตุเกิดทุกข์คือตัณหานั้น

ว่าเป็นตัวความเพลิดเพลินยินดีสนุกสนาน ความรักใคร่พอใจ

เห็นตรงกันข้ามกับอริยสัจจ์ นี้เป็นตัวอวิชชา

เพราะฉะนั้น เมื่ออาสวะโผล่ขึ้นมาเป็นกามเป็นภพเป็นอวิชชา

ในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ในเรื่องราวที่ประสบพบผ่าน

ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจอยู่เป็นปรกติ

จึงเป็นอวิชชาคือตัวความไม่รู้ที่เป็นความรู้จริง

แต่ว่าเป็นความรู้ความเห็นว่า น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจบ้าง

ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจบ้าง น่าเพลิดเพลินยินดีบ้าง

เห็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์คือตัณหาว่าเป็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดี

เป็นตัวความสนุกสนาน ความติดใจยินดี จึงติดใจยินดีอยู่ในตัณหาเหตุให้เกิดทุกข์

และในตัวทุกข์ ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ตามที่เป็นจริง ไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นทุกขัง ไม่เห็นอนัตตา

แต่เห็นว่าเที่ยง เห็นว่าเป็นสุข เห็นว่าเป็นตัวเราของเรา

ความรู้ความเห็นดั่งนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิต่อองค์มรรค เป็นอวิชชาคือตัวความไม่รู้

เป็นโมหะคือความหลง

เพราะฉะนั้น เมื่ออาสวะโผล่ขึ้นมาในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย

ที่ประสบพบผ่านอยู่เป็นปรกติ ดั่งนี้ ความรู้ความเห็นจึงเป็นอวิชชาไปหมด

ไม่เห็นอริยสัจจ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้ เห็นตรงกันข้าม

เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงได้เพิ่มมากขึ้น ตกตะกอนลงในจิตส่วนลึกเพิ่มขึ้นๆ

อาสวะจึงเป็นเหตุให้เกิดอวิชชาดั่งนี้ คือเมื่ออาสวะเกิดขึ้นอวิชชาก็เกิดขึ้น

เป็นอันว่าอาสวะเกิดขึ้นอวิชชาก็เกิดขึ้น และก็ลงไปเพิ่มเติมอวิชชาซึ่งเป็นอวิชชาสวะ

อันเป็นข้อสำคัญนั้นให้มากขึ้น

แต่ว่าเมื่อบารมีโผล่ขึ้นมาคือความดีที่ได้กระทำเอาไว้ เก็บเอาไว้ในจิตส่วนลึกโผล่ขึ้นมา

ดังบุคคลที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทุกๆคนนี้ก็กล่าวได้ว่าบารมีให้เกิดมาเป็นมนุษย์

ก็คือตัวปัญญาหรือตัววิชชานั้นเอง ซึ่งเป็นตัวความรู้ความฉลาด รู้ถูกต้อง

ตั้งต้นแต่รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ดังที่สามัญชนรู้กันอยู่

เมื่อประสบอารมณ์ทางตาทางหูเป็นต้น บารมีโผล่ขึ้นมา ทั้งได้ฟังได้สดับคำสอน

ของพระอริยะทั้งหลาย โดยตรงคือของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนเอาไว้

ชี้ให้รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ก็ปฏิบัติกำหนดพิจารณารู้ว่าสิ่งที่ตาเห็นหูได้ยินเป็นต้นเหล่านั้นเป็นตัวทุกข์

คืออนิจจะไม่เที่ยง เกิดดับ เป็นทุกข์คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่ตั้งอยู่คงที่

บังคับไม่ได้ คือบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาต้องการไม่ได้

เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ไม่ใช่ตัวเราของเรา

มองเห็นตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากของใจว่าเป็นตัวสมุทัย

เห็นความดับตัณหาว่าเป็นตัวดับทุกข์

เห็นมรรคมีองค์ ๘ ย่นลงในศีลสมาธิปัญญา ว่าเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดั่งนี้

ก็เป็นอันว่าเป็นการปฏิบัติเพิ่มวิชชา ผ่อนคลายอวิชชาให้น้อยลง

วิชชาคือความรู้ก็ลงไปเพิ่มบารมีส่วนดีในจิตส่วนลึกนี้ให้มากขึ้น

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats