ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 09:33
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป052
สัมมาทิฏฐิ ๒๘ ความรู้จักอาสวะ (ต่อ)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
กามคุณ กามโทษ ๓
กามาสวะ ๓
ภวาสวะ อวิชชาสวะ ๖
ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย ๗
นิวรณ์ ๕ ๘
วีติกกมกิเลส ๙
ขีณาสวะ ๑๐
อริยสัจจ์ ๒ สาย ๑๑
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๖๕/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๖/๑ ( File Tape 52 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
สัมมาทิฏฐิ ๒๘ ความรู้จักอาสวะ (ต่อ)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงอธิบายข้ออาสวะอนุสัยต่อไป
อาสวะ ๓ กามาสวะ อาสวะคือกาม กามนั้นมี ๒ อย่าง
คือกิเลสกาม กามคือความใคร่ที่เป็นตัวกิเลส กับวัตถุกาม กามคือวัตถุ
อันหมายถึงพัสดุหรือสิ่งที่น่าใคร่ ที่ใคร่ที่ปรารถนาที่พอใจทั้งหลาย
วัตถุกาม กามคือพัสดุดังกล่าว ย่อมเกิดขึ้นจากกิเลสกาม กามที่เป็นตัวกิเลส
คือความใคร่ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ต้องมีกิเลสกามขึ้นก่อน
และเมื่อกิเลสกามไปใคร่ปรารถนาต้องการซึ่งพัสดุหรือสิ่งอันใด
พัสดุหรือสิ่งอันนั้นก็ได้ชื่อว่าวัตถุกาม
ถ้าหากว่าไม่มีความใคร่ในจิตใจ หรือว่าความใคร่ในจิตใจไม่มีบังเกิดขึ้นในสิ่งอันใด
สิ่งอันนั้นก็ไม่เป็นวัตถุกาม
กามคุณ กามโทษ
และวัตถุกาม กามคือวัตถุ หรือพัสดุหรือสิ่งที่ใคร่ที่ปรารถนาที่พอใจนั้น
ก็รวมเข้าในกามคุณทั้ง ๕ โดยมาก คือรูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน
กลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสที่ลิ้นได้ทราบ และโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่กายได้ถูกต้อง
โดยมากแสดงเอาไว้ ๕ และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากามคุณ
เพราะว่าคนโดยมากนั้นติดในข้อที่เป็นคุณ คือข้อที่น่าพอใจ
น่ารักใคร่ น่าปรารถนา ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องเหล่านี้
มักจะมองไม่เห็น กามาทีนพ คือโทษของกาม ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสอนไว้เนืองๆว่า
กามทั้งหลายมีส่วนที่น่าพอใจ หรือจะเรียกว่าคุณน้อย แต่ว่ามี อาทีนพ คือโทษมาก
และได้ตรัสแสดงจำแนกโทษไว้ต่างๆ
และแม้จะตรัสแสดงโทษของกามไว้ต่างๆแล้วเป็นอันมาก ก็ยังมีประวัติแสดงไว้ว่า
ได้มีภิกษุสามเณรบางรูปไม่แลเห็นโทษ กล่าวคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ว่าข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีโทษนั้น หาได้มีโทษจริงไม่
จนถึงเป็นเหตุให้ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียน และกราบทูลพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสโอวาทสั่งสอน จนถึงบัญญัติเป็นพระวินัยไว้บางข้อ
เกี่ยวกับเรื่องคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้
ข้อที่คัดค้านนั้น ข้อหนึ่งก็คือเรื่องกามนี่แหละ ที่ยังพากันมองเห็นแต่ส่วนที่เป็นกามคุณ
แต่ว่ากามโทษ โทษของกามนั้น มักจะมองกันไม่เห็น
กามาสวะ
และกามที่เป็นอาสวะ หมายถึงกามคือความใคร่ที่เป็นตัวกิเลส ซึ่งดองจิตสันดานอยู่ในภายใน
โดยปรกตินั้นทุกคนก็ย่อมไม่รู้สึกในกามที่เป็นอาสวะนี้ของตนที่มีอยู่ เพราะเป็นอย่างละเอียด
( เริ่ม ๖๖/๑ )
เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีเปรียบว่าเหมือนอย่างตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่ม
น้ำในตุ่มก็ดูใสสะอาด ในเมื่อตะกอนนั้นนอนอยู่ก้นตุ่มเฉยๆไม่ฟุ้งขึ้นมา น้ำก็ไม่ขุ่น
เหมือนอย่างว่าเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ ไม่มีตะกอนอยู่
จิตของบุคคลที่เป็นบุถุชนสามัญทั่วไปก็เป็นเช่นนั้น แม้ในขณะที่จิตรู้สึกว่าบริสุทธิ์ผ่องใส
เหมือนอย่างว่าไม่มีกิเลส ไม่รู้สึกรักใคร่ในอะไร ต้องการในอะไร
หรือบางทีปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา ได้ศีลได้สมาธิได้ปัญญาที่ทำจิตให้บริสุทธิ์
แต่ว่ายังละอาสวะดังกล่าวนี้ไม่ได้ แต่ว่ากดทับอาสวะไว้ไม่ให้ฟุ้งขึ้นมา
ก็ทำให้รู้สึกเหมือนอย่างว่าไม่มีกิเลส
ในครั้งพุทธกาลเอง พระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้ทรงเห็น ได้มีภิกษุบางรูปบางกลุ่ม
ซึ่งได้ออกไปปฏิบัติสมณะธรรมในป่า ก็ได้ศีลได้สมาธิได้ปัญญาที่กดอาสวะเอาไว้
กลบอาสวะเอาไว้ จนทำให้ภิกษุเหล่านั้นรู้สึกว่าตนสิ้นกิเลสหมดแล้ว
จึงได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อรับพุทธพยากรณ์
ก็ในครั้งพุทธกาลนั้นพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงประทานพุทธพยากรณ์
ว่าท่านองค์ใดสิ้นกิเลสแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว
ก็เป็นที่รับรองของภิกษุทั้งหลาย ของพุทธบริษัททั้งหลาย
ภิกษุกลุ่มนั้นก็ได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถึงการปฏิบัติของตนเพื่อให้ทรงพยากรณ์
พระพุทธเจ้าทรงทราบว่ายังไม่สิ้นกิเลสที่เป็นอาสวะดังกล่าว จึงยังมิให้เข้าเฝ้า
ได้ตรัสสั่งให้ไปในป่าช้าผีดิบ ซึ่งในครั้งพุทธกาลนั้นผู้ที่ตายก็ต้องนำเอาศพไปทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบ
และสำหรับที่จะให้สัปเหร่อเป็นผู้จัดการเผาต่อไป
ภิกษุเหล่านั้นก็ได้เข้าไปในป่าช้าผีดิบ เมื่อได้เห็นศพที่ยังสดชื่น
กามที่เป็นกามาสวะก็โผล่ขึ้นมา เป็นความรู้สึกรักใคร่ปรารถนาพอใจขึ้น
จึงได้รู้สึกตนเองว่ายังไม่สิ้นกิเลส จึงได้ไปบำเพ็ญสมณะธรรมต่อไป
จนเมื่อสิ้นกิเลสจริงๆแล้วได้กลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้าใหม่ จึงได้โปรดให้เข้าเฝ้า
และได้ประทานพุทธพยากรณ์
ในครั้งพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าเองได้เป็นผู้ประทานพุทธพยากรณ์แก่พระสาวก
ท่านองค์ใดที่สิ้นกิเลสอันหมายถึงสิ้นอาสวะดังกล่าวนี้แล้ว ก็ตรัสพยากรณ์ว่าเป็นผู้เสร็จกิจแล้ว
ซึ่งก็เป็นที่รับรองของภิกษุทั้งหลาย ของพุทธบริษัททั้งหลายดังกล่าว
แต่ว่าหลังจากพุทธปรินิพพานแล้วไม่มีผู้พยากรณ์
แต่ก็ได้มีผู้ที่นับถือพยากรณ์กันเอาเองมาจนถึงปัจจุบันนี้
ท่านที่กล่าวกันว่า ท่านสำเร็จชั้นนั้นสำเร็จชั้นนี้ต่างๆนั้น
ก็ล้วนแต่ผู้เคารพนับถือเป็นผู้พยากรณ์ถวายท่านทั้งนั้น จึงได้ปรากฏเรื่อยๆมาจนถึงปัจจุบัน
ว่ามีพระอริยะบังเกิดขึ้นที่นั่นบังเกิดขึ้นที่นี่ อยู่ที่นั่นอยู่ที่นี่
ตั้งแต่พระอรหันต์ลงมากันหลายองค์หลายท่าน ก็ล้วนเป็นผู้ที่ผู้นับถือพยากรณ์ถวายท่านทั้งนั้น
ซึ่งผู้พยากรณ์คือผู้นับถือทั้งหลายนั้น อันที่จริงก็มิใช่เป็นผู้รู้เป็นผู้เห็นเหมือนพระพุทธเจ้า
แต่ว่าเมื่อได้ฟังธรรมของท่านผู้ที่ตนเคารพนับถือ ได้เห็นอากัปกิริยา
ความสำรวมระวังของท่าน ก็เกิดความเคารพนับถือ ว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
จนนับถือเลยเข้าไปถึงว่าท่านสำเร็จแล้ว ก็ถวายพยากรณ์ท่านเป็นโน่นเป็นนี่
คือพากันตั้งถวายท่านให้เป็นพระอริยบุคคลชั้นต่างๆ
แต่ตามประวัตินั้นภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว
แม้ท่านที่เป็นพระอรหันต์ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์เอาไว้แล้ว
ซึ่งมีชีวิตอยู่หลังจากพุทธปรินิพพาน ดังเช่นพระมหากัสสปะเถระ พระอนุรุธเถระ
ก็ไม่ปรากฏว่าท่านพยากรณ์ใคร แม้ท่านพระอานนทเถระที่ตามพุทธประวัติแสดงว่า
ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในราตรีก่อนที่จะถึงวันเริ่มกระทำปฐมสังคายนา
หลังจากพุทธปรินิพพานแล้ว ก็เป็นที่รับรองกันในหมู่พระอรหันต์ทั้งหลายเท่านั้น
คือไม่ปรากฏว่าได้มีพระอรหันต์รูปใดซึ่งได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ได้กล่าวพยากรณ์เอาไว้
แต่ว่าท่านเป็นผู้รู้ผู้เห็น ท่านจึงรู้จึงเห็นจึงทราบภูมิธรรมในจิตใจ
ของผู้ที่บรรลุภูมิธรรมถึงขั้นเดียวกันได้
เพราะฉะนั้น อาสวะนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
และอาสวะคือกามนี้ ก็หมายถึงกามที่เป็นอย่างละเอียดอันมีอยู่ในจิตใจ
เหมือนอย่างตะกอนที่นอนก้นตุ่มดังกล่าวนั้น ซึ่งบุถุชนสามัญชนย่อมมีอยู่ด้วยกัน
อาจจะกล่าวได้ว่ามีอยู่ตั้งแต่ปฐมจิตปฐมวิญญาณในครรภ์ของมารดา
คือเกิดมาก็มีอาสวะติดมาด้วย
ภวาสวะ อวิชชาสวะ
ภวาสวะอาสวะคือภพก็ได้อธิบายแล้ว
เริ่มตั้งแต่ความเป็นเรา หรือว่าเราเป็นเรามี อันฝังอยู่ดองอยู่ในจิตใจของทุกๆคน
อวิชชาสวะอาสวะคืออวิชชา ก็ได้แก่ความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
เป็นต้นดังที่ได้กล่าวอธิบายแล้ว เป็นความไม่รู้ที่ตั้งอยู่ในความรู้
คือทุกๆคนที่เกิดมานี้มีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ก็มีตัวความรู้อยู่
แต่ว่าความรู้ที่มีอยู่นี้ เป็นความรู้ผิด เป็นความรู้หลง
นั่นก็เพราะว่ายังเป็นความรู้ที่เป็นอวิชชา รู้ แต่ว่าเป็นความรู้ที่เป็นอวิชชา
แต่ว่าตนเองนั้นไม่รู้จักตัวอวิชชาที่มีอยู่ในความรู้ของตัวเอง
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้เป็นผู้เห็น ได้ตรัสชี้แจงแสดงไว้เพื่อให้ทราบ
แม้อวิชชาดังกล่าวนี้ ก็เป็นตัวความไม่รู้อย่างละเอียดที่มีอยู่ในตัวความรู้
ทำให้ความรู้ของทุกคนเป็นความรู้ผิดเป็นความรู้หลง ไม่ใช่เป็นความรู้จริง
ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนอย่างความรู้ทางตา
เช้าขึ้นก็มองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก แล้วก็ขึ้นสูงๆขึ้น
เย็นลงก็อาทิตย์ตกทางทิศตะวันตก ก็รู้ว่าอาทิตย์ขึ้นอาทิตย์ตก อาทิตย์โคจรไปดั่งนี้
และโลกนี้ก็รู้สึกว่าอยู่เฉยๆ เป็นของที่แบนอยู่กับที่
แต่เมื่อความรู้ในภูมิศาสตร์ของโลกของบุคคลเจริญขึ้น ได้แสดงไว้ตรงกันข้าม
ดั่งที่ผู้ศึกษาในปัจจุบันทราบกันอยู่
แต่ว่าความรู้ที่แสดงในปัจจุบันดังกล่าวนี้ มองไม่เห็นด้วยตา
แม้จะสอนว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ว่าเท่าที่มองเห็นด้วยตา รู้ด้วยตา
ก็ยังเห็นอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเวลาเช้า ตกทางทิศตะวันตกในเวลาเย็นอยู่นั่นเอง
อาทิตย์โคจรอยู่ทุกวันดั่งนี้ แต่ความจริงนั้นตรงกันข้าม ดังที่ผู้ศึกษาทราบกันอยู่
แต่ว่าข้อที่ตรงกันข้ามนี้มองไม่เห็นด้วยตา ไม่รู้ด้วยตา แต่ว่ารู้ด้วยความรู้ตามเหตุตามผล
เพราะฉะนั้น ความรู้ที่เป็นตัววิชชาจริงๆนี้
แม้ในทางภูมิศาสตร์ของโลก ก็ยังไม่ปรากฏทางตาทางหูของคน
แต่ว่าปรากฏด้วยความรู้ อันเป็นความรู้จริง ซึ่งพิสูจน์ได้ในทางต่างๆ และก็เป็นที่รับรองกัน
เพราะฉะนั้น ความรู้ทางตาจึงเป็นอย่างหนึ่ง ความรู้จริงนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง
คนเรานั้นได้อาศัยความรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ
คือคิดเอาเองกันอยู่ดั่งนี้เป็นพื้น ซึ่งไม่ใช่เป็นความรู้จริง
แต่ความรู้จริงนั้นก็ต้องอาศัยตาหูเหล่านี้แหละ แต่ต้องมาพินิจพิจารณา
ที่เรียกว่าดูแล้วก็ต้องมาคิด คิดแล้วก็ต้องมาปฏิบัติมากระทำต่างๆ
จึงจะเป็นตัวปัญญาคือความรู้จริงขึ้นในทุกๆสิ่ง เป็นอยู่ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น อวิชชานี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา จึงจะรู้ว่ายังมีอวิชชา
แต่ถ้าไม่พิจารณาแล้วก็จะหลงว่า เรารู้แล้ว เรารู้แล้ว ในสิ่งทั้งหลายต่างๆอยู่เสมอ
ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย
อวิชชาที่เป็นอาสวะนี้ก็มีอยู่ ดองจิตสันดานของบุคคลอยู่
แม้ในส่วนที่เป็นอนุสัยอีกชื่อหนึ่ง ราคานุสัย
ราคะก็หมายถึงความติดใจ ที่เป็นราคะอย่างละเอียด
ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง ก็หมายถึงความกระทบกระทั่งอย่างละเอียด
อวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชา ก็เป็นอวิชชาอย่างละเอียดดังที่กล่าวมาแล้ว
เพราะฉะนั้น เป็นอันว่าสามัญชน หรือบุถุชนทั้งหลาย ย่อมมีอาสวะมีอนุสัยดองจิตสันดาน
นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน มาตั้งแต่ปฐมจิตปฐมวิญญาณในครรภ์ของมารดา
ติดมากับปฏิสนธิจิต คลอดออกมาเป็นเด็กก็มีอาสวะมีอนุสัย
โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เมื่ออายตนะภายในภายนอกเจริญขึ้นเติบโตขึ้น
อาสวะอนุสัยที่ดองจิตสันดานอยู่นี้ เมื่อถูกอารมณ์มากระทบ เหมือนอย่างตะกอนที่ถูกกวน
ก็ฟุ้งขึ้นมา เป็นกิเลสอย่างกลาง คือเป็นนิวรณ์ หรือเป็นปริยุฏฐานะกิเลสที่ปล้นจิต
ทำจิตให้กลัดกลุ้มวุ่นวาย
นิวรณ์ ๕
ยกเอาอนุสัยเป็นที่ตั้ง ราคานุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานคือราคะ
เมื่อถูกกระทบด้วยอารมณ์ ทางตาทางหูเป็นต้น
คือได้เห็นได้ยินรูปเสียงเป็นต้นที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็กวนตะกอนคือราคานุสัยนี้
คือตัวราคะที่มีอยู่เป็นต้นเดิมในจิตใจนี้ให้ฟุ้งขึ้นมา ทำจิตใจให้บังเกิดความรู้สึกกำหนัดยินดี
รักใคร่ปรารถนาพอใจต่างๆ ในรูปในเสียงเป็นต้น ก็เป็นนิวรณ์ขึ้นในจิตใจ
และเมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง ซึ่งมีอยู่ในส่วนลึกของจิตใจนี้ก็ฟุ้งขึ้นมา
เป็นโกธะความโกรธ หรือโทสะความประทุษร้ายใจ คือขัดใจ เป็นนิวรณ์ขึ้นในใจ
เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่เป็นกลางๆ ไม่พอที่จะให้เกิดรักใคร่ยินดี
หรือเกิดความขัดใจขัดเคืองหงุดหงิด แต่เพราะว่าไม่รู้ความเกิดขึ้น ไม่รู้ความดับไป
ไม่รู้คุณไม่รู้โทษ ไม่รู้วิธีที่จะสลัดออกแล่นออก อวิชชาคือความไม่รู้ซึ่งเป็นอนุสัยก็ฟุ้งขึ้น
มาเป็นโมหะคือความหลง คือความหลงถือเอาผิดจากความเป็นจริง
ก็เป็นนิวรณ์ขึ้นในจิตใจ
ดังที่มีแสดงไว้ว่ากามฉันท์
ก็คือราคะนั่นเองฟุ้งขึ้นมาเป็นกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม
ปฏิฆะก็ฟุ้งขึ้นมาเป็นพยาบาท แต่ความพยาบาทในที่นี้หมายถึงแค่ความขัดใจ
หงุดหงิดขัดเคือง ยังไม่ถึงมุ่งร้ายออกไปแก่ใคร ขัดใจขึ้นในใจ ขัดเคืองหงุดหงิดขึ้นในใจ
และอวิชชาก็ฟุ้งขึ้นมาเป็นความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
ความสงสัยลังเลใจต่างๆ แต่ว่าความรำคาญใจนี้ บางท่านก็จัดเป็นเข้ากองโทสะ
นี้ก็เป็นกิเลสอย่างกลาง บังเกิดขึ้นในจิตใจ
จิตใจตัวเองก็มีความรู้สึกว่าตัวมีอยู่ มีกามฉันท์อยู่
มีความหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคืองอยู่ มีความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มอยู่
มีความฟุ้งซ่านรำคาญใจอยู่ มีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่
แต่ยังไม่แสดงออกไปทางกายทางวาจาทางใจ ที่เป็นตัวทวารเป็นกรรม
วีติกกมกิเลส
คราวนี้กิเลสอย่างกลางนี้เมื่อแรงขึ้นไปอีก ก็เป็นกิเลสอย่างหยาบ
ที่เป็น วีติกกมะ ให้ล่วงละเมิด ก็ได้แก่ตัวราคะที่เป็นความกำหนัดยินดี
หรือเป็นกามฉันท์นั้น หรือเป็นความโลภะความโลภอยากได้
ก็แรงขึ้นเป็นอภิชฌาโลภเพ่งเล็งเอาสิ่งของๆผู้อื่นมาเป็นของตน
โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง ซึ่งเดิมก็ปทุษร้ายใจของตัวเองให้เดือดร้อน
ก็แรงขึ้นเป็นพยาบาท มุ่งที่จะทำร้ายเขา ว่าร้ายเขาต่างๆ ที่จะทำลายเขาออกไปให้พินาศ
โมหะคือความหลงถือเอาผิดนั้น แรงขึ้นก็เป็นมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลกรรมบถดังที่ได้แสดงแล้ว ก็เป็นกิเลสอย่างหยาบ
กิเลสอย่างหยาบนี้ปรากฏออกมาทางไตรทวาร
เริ่มตั้งแต่มโนทวาร กายทวาร วจีทวาร เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ฝ่ายอกุศลทั้งหลาย
ที่คนทั้งหลายได้พากันประกอบกระทำกันอยู่ ก็เพราะว่ากิเลสนี้เองกำเริบขึ้นมาเป็นอย่างแรง
เหมือนอย่างตะกอนนอนก้นตุ่มนั้นถูกคนให้ฟุ้งขึ้นมา ก็ทำให้น้ำในตุ่มนั้นขุ่น จนถึงขุ่นมาก
และเมื่อถูกกวนคนมากขึ้น น้ำในตุ่มนั้นก็กระเพื่อม
จนถึงกระเพื่อมออกไปจากตุ่ม หกไปจากตุ่ม ออกไปเรี่ยราดอยู่ในภายนอกจากตุ่ม
กิเลสในใจของบุคคลก็เป็นเช่นนี้ มีอาสวะอนุสัยที่เป็นอย่างละเอียดอยู่
และเมื่อกระทบอารมณ์ก็ฟุ้งขึ้นมา เป็นอย่างกลาง เป็นอย่างหยาบ
ก็ปรากฏเป็น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่ประกอบกระทำกันในทางที่ผิดต่างๆ
ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่ากรรมกิเลสบ้าง วีติกกมกิเลสบ้าง ดังที่ได้แสดงแล้ว
ขีณาสวะ
เพราะฉะนั้น พระอรหันต์นั้นจึงมีคำเรียกว่าขีณาสวะ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว
คือมิใช่ว่าสงบได้จากกิเลสที่เป็นอย่างหยาบ กิเลสที่เป็นอย่างกลาง
ซึ่งคนซึ่งปฏิบัติในศีลก็สามารถที่จะงดเว้นจากกิเลสอย่างหยาบได้
ปฏิบัติในสมาธิ ได้สมาธิก็สงบกิเลสอย่างกลางได้
แต่ว่ายังไม่ได้ปัญญาที่ตรัสรู้ในสัจจะที่เป็นความจริง อันเป็นเหตุละกิเลสได้หมดสิ้น
ก็แปลว่ายังมีอาสวะอยู่
( เริ่ม ๖๖/๒ )
เมื่อยังมีอาสวะอยู่ ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์
แม้จะได้ศีลได้สมาธิหรือได้ปัญญาอย่างสามัญที่ยังตัดกิเลสไม่ได้
ครอบงำบรรดากิเลสอย่างกลาง อย่างหยาบไว้ได้ แต่ว่ายังละที่เป็นอาสวะไม่ได้
ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ จะต้องละกิเลสที่เป็นอาสวะได้ ที่เรียกว่า ขีณาสวะ
ผู้มีอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานได้สิ้นแล้ว จึงจะเป็นพระอรหันต์ผู้เสร็จกิจในพุทธศาสนา
ท่านพระสารีบุตรท่านได้แสดงข้ออาสวะนี้ เพิ่มจากปฏิจจสมุปบาท
ในปฏิจจสมุปบาทนั้นที่สุดแค่อวิชชา และท่านพระสารีบุตรก็ยังได้แสดงต่อไป
ว่าเหตุที่ให้เกิดอวิชชาก็คืออาสวะ เพราะอาสวะเกิดอวิชชาจึงเกิด
แต่ต่อจากนี้ท่านก็ต้องแสดงกลับไปอีกว่า อาสวะเกิดก็เพราะอวิชชา
คือเพราะอวิชาเกิดอาสวะจึงเกิด ก็วนกลับมาหาอวิชชาอีกนั่นเอง
อริยสัจจ์ ๒ สาย
การที่ท่านแสดงอาสวะเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่งนี้
ก็มิใช่ว่าจะเป็นการแสดงที่เกินเลยอาจารย์ คือพระพุทธเจ้าไป
เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ซึ่งสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านั้น
ซึ่งมีแสดงว่าทรงได้ญาณที่ระลึกถึงชาติในหนหลังได้ ในปฐมยามของราตรีที่ตรัสรู้
ทรงได้ญาณคือความหยั่งรู้ในจุติความเคลื่อน
อุปบัติความเข้าถึงภพชาตินั้นๆของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม ในมัชฌิมยาม
ทรงได้อาสวักขยญาณความหยั่งรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะทั้งหลาย ในปัจฉิมยามของราตรี
เมื่อทรงได้อาสวักขยญาณจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
และอาสวักขยญาณนั้นก็คือความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ ๒ สายที่ตรัสแสดงเอาไว้เอง
สายที่ ๑ ก็คือญาณหยั่งรู้ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์
ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้เป็นอริยสัจจ์สายที่ ๑
อริยสัจจ์สายที่ ๒ ก็คือญาณความหยั่งรู้ในอาสวะ ญาณความหยั่งรู้ในเหตุเกิดอาสวะ
ญาณความหยั่งรู้ในความดับอาสวะ ญาณความหยั่งรู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้เองดั่งนี้ เพราะฉะนั้นท่านพระสารีบุตรจึงได้นำอาสวะมาแสดง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สัมมาทิฏฐิ ๒๙ ความรู้จักอาสวะ (ต่อ)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
จิตปภัสสร ๓
อนุสัยที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ ๔
อินทรียสังวร ๕
อินทรีย์ ๖ ๖
อนุสัย ๔ ๗
การปฏิบัติที่ไม่เพิ่มราคะอนุสัย ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๖๖/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๗/๑ ( File Tape 52 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
สัมมาทิฏฐิ ๒๙ ความรู้จักอาสวะ (ต่อ)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิตามเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรแก่ภิกษุทั้งหลายมาโดยลำดับ
จนถึงหมวดอาสวะ และก็ได้แสดงข้ออาสวะกับข้ออนุสัยมาแล้ว
จะได้แสดงเพิ่มเติมถึงความเกิดขึ้นของอาสวะอนุสัย
ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้จากพระสูตร
เพราะว่าอาสวะอนุสัยนี้เป็นกิเลสอย่างละเอียด ที่หมักหมมดองจิตสันดาน
ที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานของสัตว์บุคคลทั้งหลาย
เราทั้งหลายได้ทราบก็เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้
ความตรัสรู้ของพระองค์ได้เจาะแทงลงไปถึงอาสวะอนุสัย
ละถอนกำจัดอาสวะอนุสัยได้หมดสิ้นด้วยพระปัญญา
พร้อมทั้งมรรคข้ออื่นๆ ประกอบกันเป็นมรรคสามัคคี กำจัดอาสวะอนุสัยให้หมดสิ้นไป
จิตของพระองค์จึงบรรลุถึงวิสังขารคือนิพพาน สิ้นปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง
สิ้นตัณหาอันเป็นสมุทัยแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง
จิตปภัสสร
จิตนี้พระองค์ได้ตรัสบอกไว้ว่าปภัสสรคือผุดผ่อง แต่เศร้าหมองไป
เพราะกิเลสทั้งหลายที่จรเข้ามา แต่ว่าเมื่อบุคคลได้สดับธรรมะที่ทรงสั่งสอน
ทำจิตตภาวนาคืออบรมจิตตามที่ทรงสั่งสอน ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ย่อลงก็ ศีล สมาธิ ปัญญา
จิตก็จะวิมุติหลุดพ้นจากกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา
เป็นจิตที่ประกอบด้วยวิชชาคือความรู้ อันตรงกันข้ามกับอวิชชา
วิมุติคือความหลุดพ้น อันตรงกันข้ามกับอุปาทานคือความยึดถือ
พิจารณาดูตามกระแสพระพุทธภาษิตที่ตรัสแสดงไว้นี้ ก็ย่อมจะเห็นได้ว่า
จิตนี้แม้เป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง แต่เมื่อยังมิได้ปฏิบัติทำจิตตภาวนาอบรมจิต
จิตนี้ก็ยังมีอวิชชา คือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
แม้จิตนี้จะเป็นธาตุรู้ แต่ก็ยังเป็นรู้ผิดรู้หลง จึงยังมีอุปาทานคือความยึดถือ
และเมื่ออายตนะภายนอก อายตนะภายใน ประจวบกัน
ซึ่งเป็นไปตามธรรมดาของกายและใจอันนี้ หรือของนามรูปอันนี้
ก็ย่อมเกิดจักขุวิญญาณความรู้ทางจักษุคือเห็นรูป โสตะวิญญาณความรู้ทางหูคือได้ยินเสียง
ฆานะวิญญาณทราบกลิ่นทางจมูก ชิวหาวิญญาณทราบรสทางลิ้น
กายวิญญาณทราบสิ่งถูกต้องทางกาย มโนวิญญาณทราบเรื่องราวที่รู้ที่คิดทางมโนคือใจ
และเมื่ออายตนะภายใน ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ
อายตนะภายนอกคือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง
และธรรมะคือเรื่องราวที่รู้ที่คิดทางใจ กับวิญญาณดังกล่าว
ทั้ง ๓ อย่างนี้มาประชุมกันเข้า ก็เป็นสัมผัส หรือผัสสะคือความกระทบ
และเพราะสัมผัสคือความกระทบ ก็หมายถึงความกระทบจิตนี้เอง
จึงเกิดเวทนาคือความรู้เป็นสุข รู้เป็นทุกข์ หรือรู้เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายทางใจ
ดังที่ทุกๆคนได้มีเวทนากันอยู่เป็นประจำ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง
เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ทางกายทางใจ
และเมื่อได้พบกับสุขเวทนา เวทนาที่เป็นสุข ก็ย่อมจะมีความติดใจยินดีในสุข
เมื่อเป็นดั่งนี้ ราคะคือความติดใจยินดีในสุขนี้ ก็ตกตะกอนนอนเนื่องอยู่ในจิต
เรียกว่าราคานุสัย อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตคือราคะความติดใจยินดี
แม้ว่าสุขเวทนานั้นจะหายไปแล้ว แต่ว่าราคานุสัยก็ยังตกตะกอนนอนเนื่องอยู่ในจิต
เมื่อพบกับทุกขเวทนา เวทนาที่เป็นทุกข์ ก็เกิดความทุกข์เดือดร้อน อย่างแรงก็ตีอกชกหัวต่างๆ
ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งนั้น ก็ตกตะกอนนอนเนื่องอยู่ในจิต
เป็นปฏิฆานุสัย กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง
แม้ว่าทุกขเวทนานั้นจะสงบไปแล้ว แต่ปฏิฆานุสัยก็ยังนอนเนื่องอยู่ในจิต
เมื่อพบกับเวทนาที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ก็มิได้พิจารณาให้รู้จัก
ความเกิดขึ้นความดับไป ความน่าพอใจ ความไม่น่าพอใจ และการที่จะนำจิตแล่นออกไปได้
นี้ก็เป็นอวิชชา ก็นอนจมนอนเนื่องอยู่ในจิตเป็นอวิชชานุสัย กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต
คืออวิชชา คือตัวที่ไม่รู้ แม้ว่าเวทนาที่เป็นกลางๆนั้นจะสงบไปแล้ว
แต่อวิชชานุสัยนี้ก็ยังนอนเนื่องอยู่ในจิต เป็นตะกอนอยู่ในจิต
อนุสัยที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ
ซึ่งโดยปรกติทุกคนก็จะไม่รู้สึกว่ามีอนุสัยเหล่านี้อยู่ในจิต
ยิ่งผู้ที่ปฏิบัติธรรมะได้ศีลได้สมาธิได้ปัญญา แต่ยังไม่เป็นมรรคกำจัดกิเลสได้
อนุสัยเหล่านี้ก็ยิ่งไม่ปรากฏ แต่ก็ยังมีอยู่ ยังนอนเนื่องอยู่ในจิต นอนจมอยู่ในจิต
เป็นตะกอนอยู่ในจิต ที่ดังที่เปรียบไว้แล้วว่าเหมือนอย่างตะกอนนอนก้นตุ่ม
ไม่ฟุ้งขึ้นมา น้ำในตุ่มก็ดูใสสะอาด แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นน้ำบริสุทธิ์สิ้นเชิง
เพราะยังมีตะกอนนอนจมอยู่ก้นตุ่ม
นี่คืออนุสัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพบ ได้ตรัสแสดงไว้ในพระสูตรหนึ่ง
ถึงความบังเกิดขึ้นของอนุสัยดั่งนี้ ว่าอาศัยเวทนานี้เอง หรือว่ากล่าวให้หมดก็คือว่า
อาศัยอายตนะภายนอกภายในของบุคคลที่ประจวบกัน เกิดวิญญาณ
และทั้ง ๓ นี้ก็มาประชุมกันเป็นสัมผัสหรือผัสสะ ก็เป็นเหตุให้เกิดเวทนา
เมื่อเกิดเวทนาก็เป็นเหตุให้เกิดราคะบ้างคือติดใจยินดีในสุข
ปฏิฆะบ้างคือว่าหงุดหงิดในทุกข์ อวิชชาบ้างคือไม่รู้ในเวทนาที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข
ราคะ ปฏิฆะ อวิชชา เหล่านี้ก็ตกเป็นตะกอนนอนจมอยู่ในจิต
เป็นราคานุสัยบ้าง ปฏิฆานุสัยบ้าง อวิชชานุสัยบ้าง ดังกล่าว
และเมื่อได้ประสบเวทนากันอยู่เป็นประจำ แล้วก็มีความติดใจยินดีในสุขกันอยู่เป็นประจำ
หงุดหงิดขัดเคืองในทุกข์อยู่เป็นประจำ ไม่รู้อยู่ในเวทนาที่เป็นกลางๆอยู่เป็นประจำ
ราคะปฏิฆะอวิชชาที่บังเกิดขึ้นใหม่ๆอยู่ทุกวี่ทุกวันทุกเวลาเหล่านี้ ก็นอนจมลงไปในจิต
นอนเนื่องอยู่ในจิต เป็นอนุสัยเพิ่มเติมขึ้นอยู่เสมอ ก็แปลว่าตะกอนก้นตุ่มนั้นก็มากขึ้นๆ
แต่เมื่อไม่ฟุ้งขึ้นมาน้ำในตุ่มก็ดูยังใส
อินทรียสังวร
ส่วนอาสวะนั้นก็มีตรัสแสดงไว้ในข้อที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติในอินทรียสังวร
ความสำรวมอินทรีย์ คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ดังที่ตรัสสอนเอาไว้ว่า
เห็นรูปอะไรทางตา ได้ยินเสียงอะไรทางหู สูดกลิ่นอะไรทางจมูก ลิ้มรสอะไรทางลิ้น
ถูกต้องโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้องอะไรทางกาย คิดหรือรู้เรื่องอะไรทางมโนคือใจ
ก็ไม่ยึดถือโดยนิมิต คือไม่ยึดถือทั้งหมด ว่างามหรือไม่งาม น่าชอบใจหรือไม่น่าชอบใจ
ไม่ยึดถือโดยอนุพยัญชนะคือเลือกแต่บางส่วน ว่างามหรือไม่งาม น่าชอบใจหรือไม่น่าชอบใจ
อภิชฌาคือความยินดี โทมนัสคือความยินร้าย บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมไหลเข้ามาสู่จิต
เพราะเหตุที่มิได้สำรวม มิได้รักษา อินทรีย์คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจเหล่านี้
เพราะตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจเหล่านี้อันใดเป็นเหตุ
ย่อมปฏิบัติรักษาอินทรีย์คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจเหล่านี้ไว้ มิให้ยึดถือดั่งนั้น
มิให้ความยินดีความยินร้ายบาปอกุศลธรรมทั้งหลายไหลเข้ามาสู่ใจอย่างนั้น
ปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์
ตามพระพุทธภาษิตนี้ตรัสเรื่องอินทรียสังวร
และก็ย่อมส่องความถึงว่า หากไม่มีอินทรียสังวรก็ย่อมจะยึดถือ ย่อมจะยินดียินร้าย
( เริ่ม ๖๗/๑ )
ย่อมจะมีบาปอกุศลธรรมทั้งหลายไหลเข้ามาสู่จิต
เพราะเหตุที่ยึดถือและยินดียินร้ายดังกล่าว หรือเพราะเหตุที่มิได้รักษา
มิได้สำรวมระวังอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจดังกล่าว
อินทรีย์ ๖
บุคคลโดยมากย่อมหย่อนต่อการรักษาอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้
หรือว่าโดยปรกติย่อมไม่รักษาอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้
เมื่อเห็นอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู ตลอดจนถึงคิดถึงเรื่องอะไรทางมโนคือใจ
ย่อมจะยึดถือสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยิน ตลอดจนสิ่งที่คิดเป็นต้นนั้น ยึดถือทั้งหมด
หรือว่ายึดถือบางอย่างบางส่วน ว่างามบ้างไม่งามบ้าง น่าชอบใจบ้างไม่น่าชอบใจบ้าง
และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงเกิดความยินดีความยินร้าย เกิดบาปอกุศลธรรมทั้งหลายไหลลงสู่จิต
ไหลเข้าสู่จิต ก็ไหลเข้ามาทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางมนะคือใจนี้เอง
สิ่งที่ไหลเข้ามาสู่จิต ก็มาหมักหมมดองจิตสันดานอยู่
เป็นกามาสวะ อาสวะสิ่งที่ไหลมาดองจิตสันดานคือกามความใคร่
ภวาสวะอาวะคือภพความเป็น เป็นเราเป็นของเรา อวิชชาสวะอาสวะคืออวิชชา ไม่รู้
แม้อาสวะเหล่านี้ก็ไหลเข้ามาจากตาหูเป็นต้นดังกล่าว
ซึ่งเมื่อเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น ก็เกิดความใคร่ความยินดีก็คือกามนั่นเอง
และยึดถือ ก็ยึดถือเป็นตัวเราเป็นของเรา ก็เป็นภพซึ่งเป็นที่ตั้งของอาสวะคือความกระทบ
และแม้เป็นกลางๆ ก็ไม่ได้พิจารณาให้รู้จักความเกิดความดับเป็นต้น ก็เป็นอวิชชาคือไม่รู้
แม้ว่าการเห็น การยึดถือ ความยินดีความยินร้ายเป็นต้นนั้น จะผ่านไปแล้วสงบไปแล้ว
แต่ก็ยังตกตะกอนลงมาเป็นอาสวะ มาดอง มาหมักหมมจิตสันดาน
เป็นกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อยู่
เพราะฉะนั้น ความบังเกิดขึ้นของอาสวะนั้นจึงบังเกิดขึ้นดั่งนี้
และในสัมมาทิฏฐิสูตร ท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงรวมกันไว้ว่า
เมื่อมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ มีความเห็นตรง
ย่อมจะทำให้ประกอบด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมะ
นำมาสู่พระสัทธรรมคือพระธรรมวินัยนี้ จะละราคานุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตคือราคะ
จะถอนปฏิฆานุสัย จะบันเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง
จะถอนทิฏฐิมานานุสัย อนุสัยคือทิฏฐิมานะว่าเรามีเราเป็น
จะละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น จะกระทำทุกข์ให้สิ้นสุดไปได้ในปัจจุบัน
อนุสัย ๔
เพราะฉะนั้น ก็เท่ากับท่านแสดงอนุสัยไว้เป็น ๔
คือ ราคะ ปฏิฆะ และอัสมิทิฏฐิมานานุสัย เรียกสั้นก็คือภวานุสัยนั้นเอง
แต่ท่านไม่เรียกว่าภวานุสัย เรียกอย่างเต็มที่ว่าทิฏฐิมานานุสัย
อนุสัยคือทิฏฐิมานะความเห็นยึดถือว่าเรามีเราเป็น ก็ตัวภพนั่นแหละ ดังที่กล่าว และอวิชชา
ก็เป็นอันว่าท่านนำเอาอาสวะกับอนุสัยที่แยกเอาไว้นี้มารวมกันเข้า
แต่แม้ว่าจะไม่รวมกันเข้า แยกออกเป็น ๒ หมวด ข้อที่ ๒ ของหมวดทั้งสองนั้นจะต่างกัน
คือเป็นภวาสวะ กับเป็นปฏิฆานุสัย แต่ก็มีความที่เนื่องถึงกันสัมพันธ์กัน ดังที่ได้อธิบายแล้ว
ก็นับว่าเป็นอันเดียวกันได้ แต่เมื่อแยกแสดงได้เป็น ๔ ก็เป็นอันว่าครบถ้วน
คือเป็นราคะหรือกาม ๑ เป็นปฏิฆะ ๑ เป็นภพหรืออัสมิทิฏฐิมานะ ๑ เป็นอวิชชา ๑
เป็นตัวกิเลสที่นอนเนื่อง หรือนอนจมหมักหมมดองจิตสันดานอยู่
การปฏิบัติที่ไม่เพิ่มราคะอนุสัย
ก็เพราะเหตุที่จิตนี้ที่ยังไม่มีจิตตภาวนา แม้เป็นธรรมชาติที่ปภัสสร
แต่ก็ยังมีอวิชชา เมื่อมีอวิชชา ก็ยังมีอุปาทาน
เพราะฉะนั้น เมื่ออายตนะภายในภายนอกประจวบกัน เกิดวิญญาณ เกิดเวทนา
เกิดผัสสะ เกิดเวทนา จึงยังมียินดีมียินร้าย ยังมีหลง ไม่รู้
และแม้ว่าความประสบทางตาหูเป็นต้น ความยินดียินร้ายหลงไม่รู้ที่บังเกิดขึ้น
จะสงบไปเป็นคราวๆ แต่ก็ยังนอนจมเป็นตะกอนอยู่ในจิต ดองเป็นอาสวะ
นอนเนื่องเป็นอนุสัย และก็เพิ่มพูนขึ้นอยู่เสมอ
ต่อเมื่อได้ปฏิบัติในอินทรียสังวร และได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
คือในมรรคมีองค์ ๘ รวมเข้าเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา รักษาอินทรีย์ รักษาจิต
มิให้ยึดถือ ยินดียินร้าย หลง ไม่รู้ ในเวลาที่ประสบเรื่องประสบอารมณ์ต่างๆ
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจอยู่
จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ไม่เพิ่มราคะอนุสัย
และเมื่อศีลสมาธิปัญญาที่ปฏิบัตินี้ลึกซึ้งลงไป จนถึงรู้ถึงตัวอาสวะอนุสัย
คือลึกซึ้งลงไปถึงจิตส่วนลึก อันเป็นที่ตั้งของอาสวะอนุสัย
ก็จะกำจัดอาสวะอนุสัยได้บางส่วน จนถึงสิ้นเชิง นั่นแหละจิตนี้จึงเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์
พร้อมทั้งปภัสสรคือผุดผ่อง ประกอบด้วยวิชชาวิมุติ อยู่กับวิชชาวิมุติตลอดเวลา
ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า ตถาคตคือพระพุทธเจ้า ทรงอยู่ด้วยวิชชาวิมุติ
ทรงมีวิชชาวิมุติเป็นธรรมะเครื่องอยู่
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*