ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป047

สัมมาทิฏฐิ ๑๘
ความรู้จักอายตนะ ๖

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

อายตนะภายใน ๖ ๓
จิต อารมณ์ ๔
ทวาร ๖
อารมณ์ ๖ ๕
อินทรีย์ ๖ ๖
อินทรียสังวร ๗
พุทธภาษิตตรัสถึงสัตว์ ๖ จำพวก
 ๙ ปิยะรูป
สาตะรูป ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ม้วนที่ ๕๘/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๕๙/๑ - ๕๙/๒ ( File Tape 46 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร เรื่องสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบมาโดยลำดับ เมื่อท่านได้แสดงเถราธิบายจบไปตอนหนึ่งๆ ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามท่านว่า จะมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีกหรือไม่ ซึ่งท่านก็ตอบว่ามี ในวันนี้จึงจะได้แสดงต่อไปถึงคำตอบของท่าน สืบต่อจากที่ได้แสดงมาแล้ว คือท่านได้แสดงว่ามีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีก คือ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็ได้แก่รู้จัก สฬายตนะ อายตนะ ๖ รู้จักเหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ รู้จักความดับอายตนะ ๖ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอายตนะ ๖ เมื่อท่านตั้งหัวข้อขึ้น ๔ ข้อดั่งนี้แล้ว ก็ได้แสดงอธิบายขยายความต่อไปว่า รู้จัก สฬายตนะ อายตนะ ๖ ก็คือรู้จักอายตนะภายในทั้ง ๖ ๒ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ รู้จักเหตุเกิดแห่งอายตนะทั้ง ๖ ก็รู้จักว่าเพราะนามรูปเกิด อายตนะทั้ง ๖ จึงเกิด อายตนะจึงเกิด เพราะเกิดนามรูป รู้จักความดับแห่งอายตนะทั้ง ๖ ก็คือรู้จักความดับแห่งนามรูป รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอายตนะทั้ง ๖ ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น อายตนะภายใน ๖ จะได้อธิบายในข้อแรก คืออายตนะภายในทั้ง ๖ อันอายตนะนี้ เป็นส่วนของอัตตภาพนี้ ซึ่งทางพุทธศาสนาสมเด็จพระบรมศาสดา ได้ทรงยกขึ้นแสดงสั่งสอนไว้เป็นอันมาก เช่นเดียวกับ ขันธ์ ธาตุ กล่าวคือ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ทั้ง ๓ นี้ ได้ตรัสแสดงไว้มาก และโดยเฉพาะตรัสแสดงไว้โดยฐานะเป็นวิปัสสนาภูมิ คือภูมิของวิปัสสนา อันเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติทางปัญญา คือวิปัสสนาปัญญา ย่อมมี ขันธ์ อายตนะ และธาตุ เหล่านี้เป็นอารมณ์ คือต้องพิจารณาขันธ์ พิจารณาอายตนะ พิจารณาธาตุ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานจึงต้องอาศัยขันธ์อายตนะธาตุเป็นอารมณ์ เป็นภูมิคือพื้นฐานของวิปัสสนา อันจะทิ้งเสียมิได้ ( เริ่ม ๕๙/๑ ) และอายตนะนี้ ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า มีอยู่ ๒ อย่างคู่กัน อันได้แก่อายตนะภายใน กับอายตนะภายนอก อายตนะภายในนั้นก็ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ อายตนะภายนอกนั้นก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราว ๓ คำว่าอายตนะนี้แปลว่าที่ต่อ อันหมายความว่าอายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกต่อกัน คือ ตากับรูปต่อกัน หูกับเสียงต่อกัน จมูกกับกลิ่นต่อกัน ลิ้นกับรสต่อกัน กายกับโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องต่อกัน มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวต่อกัน ฉะนั้น จึงเรียกว่าอายตนะ จิต อารมณ์ อีกอย่างหนึ่งต่อกับจิตใจ คือจิตนี้ย่อมรับอารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย โดยอาศัยต่อกับอายตนะภายใน กับภายนอกเหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงมีคำเรียกอายตนะภายในทั้ง ๖ ว่าทวาร อันแปลว่าช่องทาง หรือแปลว่าประตู อันหมายความว่าเป็นช่องทางหรือประตูของจิต ที่จิตออกรับอารมณ์ คือเรื่อง อันคำว่าอารมณ์นั้นได้แก่ เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง ทอดถอนถึง นอนเนื่องถึง หรือว่าสิ่งที่จิตคิดดำริหมกมุ่นนอนเนื่องถึง อันสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นรูปโดยตรง ไม่ใช่เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ และเป็นธรรมะคือเรื่องข้างนอกโดยตรง แต่ว่าเป็นสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ ก็แปลว่าเรื่องอีกนั่นแหละ ซึ่งถอดออกมาจากรูปเสียงเป็นต้น เพราะเหตุว่าตัวรูปเสียงเป็นต้นนั้น จะเอาใส่เข้ามาในจิตไม่ได้ เช่นว่า บ้านเรือนที่อาศัยตามองเห็น จะเอาบ้านเรือนจริงๆมาใส่ลงไปในจิตไม่ได้ เสียงเป็นต้นก็เหมือนกัน จะเอามาใส่เข้าในจิตไม่ได้ สิ่งที่จะเข้าสู่จิตได้จึงเป็นเพียงอารมณ์คือเรื่องของสิ่งเหล่านั้นเท่านั้น อาจจะเทียบง่ายๆ เหมือนอย่างกล้องถ่ายภาพ ถ่ายภาพของบ้านเรือนเป็นต้น ภาพของบ้านเรือนนั้นก็มาติดในเลนส์ในกล้องถ่ายภาพ ตัวบ้านเรือนจริงๆนั้นหาได้เข้าไปในกล้องถ่ายภาพไม่ ๔ สิ่งที่ติดอยู่ในกล้องถ่ายภาพนั้นเป็นภาพของบ้านเรือนเป็นต้นเหล่านั้น ภาพก็คือภาวะความเป็นความมี คือเป็นภาวะ ไม่ใช่เป็นตัวจริง สิ่งที่ตาเห็นเป็นต้นนั้นก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้เข้าสู่จิตใจ แต่ว่าภาพคือภาวะของสิ่งเหล่านั้นเข้าสู่จิตใจ ซึ่งเปรียบเหมือนเลนส์สำหรับติดภาพ ภาพที่เข้าสู่จิตใจนั้นคืออารมณ์ ที่แปลกันว่าเรื่อง เรื่องที่จิตคิด ดำริ หมกมุ่น ทอดถอนใจถึงต่างๆ ทวาร ๖ อารมณ์ ๖ ถ้าเป็นเรื่องรูปที่เข้าทางทวารตา ก็เรียกว่า รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป ถ้าเป็นเรื่องเสียงที่เข้าทางทวารหู ก็เรียกว่า สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง ถ้าเป็นเรื่องกลิ่น ก็เรียกว่า คันธารมณ์ ที่เข้าทางทวารจมูก ถ้าเป็นเรื่องรส ก็เรียกว่า รสารมณ์ ที่เข้าทางชิวหาทวาร ทวารลิ้น ถ้าเป็นเรื่องโผฏฐัพพะ ก็เรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะ ถ้าเป็นเรื่องธรรมะคือเรื่องราวของสิ่งเหล่านั้น ก็เรียกว่า ธรรมารมณ์ อารมณ์คือเรื่องราวที่เข้าทางมโนทวาร ประตูมโนคือใจ เพราะฉะนั้น อายตนะภายในทั้ง ๖ จึงเรียกว่าทวาร ๖ และอายตนะภายนอกจึงเรียกว่าอารมณ์ ๖ อารมณ์ ๖ ก็เข้าทางทวารทั้ง ๖ จิตก็รับอารมณ์ทั้ง ๖ นี้ทางทวารทั้ง ๖ ดังกล่าว ฉะนั้น เมื่อเรียกว่าทวาร ๖ อันหมายถึงอายตนะภายในทั้ง ๖ อายตนะภายนอกทั้ง ๖ ก็เรียกว่าอารมณ์ ๖ ทวาร ๖ กับอารมณ์ ๖ จึงคู่กัน แต่ว่าเมื่อเรียกว่าอายตนะด้วยกัน ก็เรียกว่าอาตนะภายใน อายตนะภายนอก เป็นคู่กัน ก็มีความหมายในภาษาธรรมะดั่งนี้ ๕ เกี่ยวแก่อายตนะภายในทั้ง ๖นี้ รวมอยู่ในอัตภาพนี้ ซึ่งถือว่าเป็นวิบากอายตนะ เช่นเดียวกับที่เรียกว่าวิบากขันธ์ คือเป็นผลของชนกกรรม กรรมที่ให้เกิดมา เช่นเดียวกับขันธ์ และนับว่าเป็นอัพพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลาง ไม่ชื่อว่าเป็นกุศล ไม่ชื่อว่าเป็นอกุศล คือหมายความว่าตัวอายตนะเองไม่ชื่อว่าเป็นกุศล หรือไม่ชื่อว่าเป็นอกุศล เช่นเดียวกับขันธ์ เพราะว่าเป็นวิบากคือเป็นผลของกรรมที่ให้เกิดมาดังกล่าว อินทรีย์ ๖ และพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ในเรื่องอายตนะนี้เป็นอันมาก ดังเช่นได้ทรงสั่งสอนให้สำรวมอินทรีย์ ๖ คือสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ก็เพราะว่าอายตนะภายในทั้ง ๖ หรือทวารทั้ง ๖ เหล่านี้ ยังได้ชื่อว่าอินทรีย์ที่แปลว่าเป็นใหญ่ อันหมายความว่าตาเป็นใหญ่ในทางต่อกับรูป หูเป็นใหญ่ในทางต่อกับเสียง จมูกเป็นใหญ่ในทางต่อกับกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในทางต่อกับรส กายเป็นใหญ่ในทางต่อกับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจข้อที่ ๖ นี้เป็นใหญ่ในทางรับ ในทางต่อธรรมะคือเรื่องราว กับทั้งเป็นใหญ่ในทางต่อกับรูปคู่กันไปกับตา ต่อกับเสียงคู่กันไปกับหู ต่อกับกลิ่นคู่กันไปกับจมูก ต่อกับรสคู่กันไปกับลิ้น ต่อกับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องคู่กันไปกับกาย คือเป็นใหญ่ในทางต่อ คู่กันไปกับอายตนะภายใน ๕ ข้อข้างต้นนั้นด้วย อันหมายความว่า ลำพังตาหูจมูกลิ้นกายที่เป็นตัวประสาท คือ ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย ทั้ง ๕ นี้อย่างเดียว ต่อกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้ ต้องมีมโนคือใจข้อที่ ๖ นี้เข้าประกอบอยู่อีกด้วย จึงจะต่อได้ ดังที่เคยยกตัวอย่างมาให้ฟังแล้ว เช่นว่าในบัดนี้กำลังแสดง และหูก็กำลังฟัง ๖ แต่ว่าต้องมีมโนคือใจ ตั้งใจที่จะฟังด้วย หูจึงจะได้ยินเสียงที่แสดงนี้ แต่ถ้าใจไม่ตั้งฟังคำที่แสดงนี้ คือส่งใจไปเสียในที่อื่นเมื่อใด หูก็ดับเมื่อนั้น คือว่าฟังไม่ได้ยิน ต่อเมื่อใจกลับมาตั้งอยู่ในเสียงที่แสดงนี้ หูจึงจะไม่ดับ ฟังได้ยิน นี่ยกตัวอย่างเพียงหู แต่ไม่ใช่เพียงหูอย่างเดียว แม้ตาจมูกลิ้นและกายก็เช่นเดียวกัน มโนคือใจข้อที่ ๖ นี้จะต้องตั้ง ที่จะดู ที่จะทราบกลิ่น ทราบรส ที่จะทราบโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง ด้วย จึงจะมองเห็น จึงจะทราบกลิ่น ทราบรส จึงจะทราบโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น มโนคือใจข้อที่ ๖ นี้จึงสำคัญ ย่อมเป็นใหญ่คู่กันไปกับอินทรีย์ ๕ ข้างต้นด้วย และเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน คือในทางที่จะต่อกับธรรมะคือเรื่องราวด้วย อินทรียสังวร พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนให้มีอินทรียสังวร คือความสำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ โดยที่เมื่อเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น ก็ไม่ยึดถือสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด หรือบางส่วน ยินดียินร้าย เพราะเมื่อยึดถือ ความยินดีความยินร้าย บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมไหลเข้าสู่ใจ หรือสู่จิต ต่อเมื่อมีความสำรวมอยู่ ไม่ยึดถือ สิ่งที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้นเหล่านั้น ก็ย่อมตกอยู่แค่ตาแค่หูในภายนอกนั้นเท่านั้น ไม่ไหลเข้าสู่จิตใจ และความสำรวมนี้ก็คือตัวสติ เพราะฉะนั้น สติจึงเป็นเหมือนอย่างนายทวารบาญ คือนายประตู เมื่อมีสติอยู่ สตินี้ก็เหมือนอย่างเป็นนายประตู ที่จะรับ หรือไม่รับบุคคลที่เข้าประตู ถ้าเป็นผู้ร้ายก็ไม่รับให้เข้า ถ้าเป็นผู้ดี เป็นมิตรญาติสหาย ผู้ที่นำความดีเข้ามาก็รับ สตินี่เองจึงเป็นตัวอินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ ก็เพราะว่าทวารทั้ง ๖ นี้เป็นทวารทั้งของส่วนดี ทั้งของส่วนไม่ดี ว่าถึงส่วนไม่ดีนั้นก็ได้แก่ตัณหานุสัยทั้งหลาย คือกิเลสที่ดองจิตสันดาน เช่นตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากที่ดองจิตสันดาน หรือตัณหานุสัยต่างๆ ๗ ที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นต่างๆ ตัณหานุสัยเหล่านี้ย่อมฟุ้งขึ้น ในเมื่อมีอายตนะภายนอกเข้ามากระทบ กับอายตนะภายใน หรืออีกชื่อหนึ่งก็เพราะอารมณ์ต่างๆที่มาทางทวารทั้ง ๖เหล่านั้น เมื่อเป็นอารณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะ ราคานุสัย อนุสัยคือราคะก็ฟุ้งขึ้นมา จับอารมณ์เหล่านั้น เกิดราคะความติดใจ นันทิความเพลิดเพลิน ยินดีต่างๆ เมื่ออารมณ์เหล่านั้นเป็นที่ตั้งของปฏิฆะ หรือโทสะ ปฏิฆานุสัยก็ฟุ้งขึ้นมา เป็นความขัดเคือง กระทบกระทั่งหงุดหงิดโกรธแค้น เมื่ออารมณ์เหล่านั้นเป็นที่ตั้งของโมหะความหลง อวิชชานุสัยก็ฟุ้งขึ้นมาเป็นความหลงต่างๆ เพราะฉะนั้น เมื่อดูข้างนอกเข้ามา จึงย่อมปรากฏว่า อายตนะภายในทั้ง ๖ หรือทวารทั้ง ๖ นี้มีเรื่องอยู่เป็นอันมาก ตาก็ต้องการจะดูต่างๆในสิ่งที่อยากจะดู หูก็อยากจะฟังต่างๆในสิ่งที่อยากจะฟัง จมูกก็อยากที่จะได้ทราบกลิ่นต่างๆที่อยากจะได้ ลิ้นก็อยากจะได้ทราบรสต่างๆที่อยากจะทราบ กายก็อยากที่จะถูกต้องสิ่งถูกต้องต่างๆที่อยากจะถูกต้อง มโนคือใจก็อยากที่จะคิดเรื่องต่างๆที่อยากจะคิด ก็คืออาศัยกิเลสเหล่านี้ กองราคะโทสะโมหะ หรือว่ากองตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะว่าทำให้ใจเกิดดิ้นรนทะยานไปทั้งนั้น ซึ่งเป็นลักษณะของตัณหา เพราะฉะนั้น คนในโลกนี้จึงต้องพยายามทำต่างๆ ที่จะเสนอสนองความต้องการ ของตา ของหู ของจมูก ของลิ้น ของกาย ของมนะคือใจ ยกตัวอย่างเอาเพียงตาอย่างเดียว รูปที่งดงามต่างๆ หรือความงามต่างๆของรูป จะเป็นรูปกาย หรือว่าเป็นรูปของบ้านเรือน สิ่งต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นความต้องการของตา ที่ต้องการจะดูจะเห็นสิ่งที่เห็นว่าสวยงาม จึงต้องมีการแสวงหา มีการจัดทำ มีการตบแต่ง เพื่อที่จะให้ถูกลูกตาของตน เพื่อที่จะให้ตนเอง หรือเพื่อที่จะให้ผู้อื่นได้เห็น ว่างามเป็นต้น เพียงแต่เรื่องของลูกตาอย่างเดียว ก็ต้องวุ่นวายกันอยู่เป็นอันมาก ยังจะเรื่องของหู ของจมูก ของลิ้น ของกาย ของใจเอง ซึ่งเป็นตัวต้นอีกมากมาย ๘ พุทธภาษิตตรัสถึงสัตว์ ๖ จำพวก เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ ว่ามีสัตว์อยู่ ๖ จำพวก คือว่างูก็มุ่งที่จะเลื้อยไปสู่จอมปลวก จรเข้ก็วิ่งไปลงแม่น้ำ นกก็บินไปในอากาศ ไก่ก็บินไปสู่บ้านที่ตัวอาศัยอยู่ สุนัขจิ้งจอกก็วิ่งไปสู่ป่าช้า เพื่อจะได้กัดกินซากศพ ลิงก็วิ่งไปอยู่บนต้นไม้ ฉันใดก็ดี ตาก็มุ่งที่จะดูรูปต่างๆ เหมือนอย่างงูที่เลื้อยไปสู่จอมปลวก หูก็อยากที่จะฟังเสียงต่างๆ เหมือนอย่างจรเข้ที่วิ่งไปสู่น้ำ จมูกก็อยากที่จะทราบกลิ่นต่างๆ เหมือนอย่างนกที่บินไปในอากาศ ลิ้นก็อยากที่จะได้รสต่างๆ เหมือนอย่างไก่ที่บินไปสู่บ้านที่ตัวอาศัย ( เริ่ม ๕๙/๒ ) กายก็อยากที่จะถูกต้องสิ่งถูกต้องต่างๆ เหมือนอย่างสุนัขจิ้งจอกวิ่งไปสู่ป่าช้า เพื่อที่จะได้กัดกินซากศพ มโนคือใจก็วิ่งไปในเรื่องราวต่างๆ เหมือนอย่างวานร หรือลิงที่วิ่งหลุกหลิกไปอยู่บนต้นไม้ เพราะฉะนั้น จึงมีสัตว์ต่างๆเหล่านี้ ๖ ชนิด วิ่งไปบ้าง บินไปบ้าง เพ่นพ่านไปทั้งหมด ในจิตใจของบุคคลก็เป็นเช่นนั้น ก็เหมือนอย่างมีสัตว์เหล่านี้ คือเรื่องของตาหูจมูกลิ้นกายใจนี่แหละ วิ่งเพ่นพ่านไปอยู่ อาการที่จิตใจวิ่งเพ่นพ่านไปอยู่ดั่งนี้ ก็คืออาการที่เรียกว่าตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆ เป็นไปด้วยอำนาจของราคะ หรือโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะหรืออวิชชาบ้างเป็นต้น ปิยะรูป สาตะรูป เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอน ให้มีความสำรวมอินทรีย์ ให้มีสติ พร้อมทั้งมีปัญญากำหนดรู้ ว่าอาการที่เป็นเช่นนั้น ก็เหมือนอย่างบุคคลที่ตกลงไปสู่กระแสน้ำ และก็พอใจเสียด้วยในกระแสน้ำนั้น พอใจที่จะลอยคอที่จะว่ายน้ำเล่นอยู่ในกระแสน้ำนั้น และก็ตรัสเปรียบเทียบเอาว่า กระแสน้ำที่คนตกลงไปนั้น หรือที่คนกระโดดลงไปนั้น ก็คือกระแสตัณหา คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ๙ และอาการที่ชอบใจพอใจสนุกสนาน เพลิดเพลินที่จะลอยคอ ที่จะว่ายเล่นอยู่ในกระแสน้ำนั้น ก็ได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายและใจนี่แหละ ซึ่งเรียกเป็นภาษาธรรมะว่าเป็นปิยะรูปสาตะรูป คือเป็นสิ่งที่เป็นที่รัก เป็นสิ่งที่สำราญ ก็เพราะว่าตัณหานั้นก็อาศัยตาหูจมูกลิ้นกาย และมนะคือใจนี้เอง ไม่ใช่อาศัยอะไรอื่น ดังที่กล่าวมาแล้ว และก็พอใจเสียด้วย ทั้งนี้ก็โดยที่ไม่รู้ว่าในกระแสน้ำคือกระแสตัณหา ที่ใช้ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ สำหรับที่จะวิ่งเพ่นพ่านเพลิดเพลินติดอกติดใจอยู่นั้นเป็นกระแสน้ำอันประกอบด้วยภัยอันตราย โดยที่เมื่อปล่อยให้ลอยไป ก็จะยิ่งจมลงไปในห้วงน้ำลึก อันเป็นตัวสัญโญชน์ทั้งหลาย อันประกอบด้วยคลื่น อันเป็นตัวโทสะ โกธะความโกรธ อุปายาสะความคับแค้นใจทั้งหลาย อันประกอบด้วยวังวนได้แก่กามคุณทั้งหลาย อันประกอบด้วยสัตว์ร้ายผีเสื้อน้ำทั้งหลาย อันได้แก่ความที่ติดใจกันอยู่ในสิ่งอันเป็นที่ตั้งของกามเหล่านั้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือน เมื่อได้ฟังเตือนแล้วก็จะได้สติว่ายทวนกระแสเข้าฝั่งได้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สัมมาทิฏฐิ ๑๙
ความรู้จักนามรูป

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

นามรูป ขันธ์ ๕ ๓
วิปัสสนาภูมิ ๔
ทำไมจึงเรียกว่านามรูป ๕
ภาวะอาการทางจิตใจ ๕
นะมะ นะโม ๖
ภวังค์จิต องค์ของภพ ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ม้วนที่ ๕๙/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๐/๑ ( File Tape 47 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

วันนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเรื่องสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ตามเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ ซึ่งภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่าน และท่านก็ได้ตอบ ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามท่านถึงปริยายคือทางแสดงอื่นต่อไปอีก ซึ่งท่านก็ได้กล่าวตอบ ดังที่ได้แสดงอธิบายมาโดยลำดับ จนถึงข้อที่จะแสดงในวันนี้ ซึ่งท่านได้แสดงตอบแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ยังมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีก คือสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็ได้แก่ รู้จักนามรูป รู้จักเหตุเกิดแห่งนามรูป รู้จักความดับนามรูป รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับนามรูป และท่านก็ได้แสดงอธิบายแต่ละข้อ ตั้งแต่ข้อ ๑ ว่ารู้จักนามรูปก็คือรู้จัก นาม อันได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ รู้จัก รูป ก็คือรู้จักมหาภูตรูปทั้ง ๔ และอุปาทายรูป รูปอาศัยแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น ๒ รู้จักเหตุเกิดแห่งนามรูป ก็คือรู้จักว่าเพราะวิญญาณเกิด นามรูปจึงเกิด รู้จักความดับนามรูป ก็คือรู้จักว่าเพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับนามรูป ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น นามรูป ขันธ์ ๕ จะได้แสดงอธิบายในข้อ ๑ รู้จักนามรูป รู้จักนามก็คือรู้จัก เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นามนี้ที่คู่กับรูป อันเรียกว่านามรูป เป็นศัพท์ธรรมะที่ผู้ศึกษาธรรมะย่อมได้ทราบกันอยู่ และได้ฟังกันอยู่ในเทศนาทั้งหลายเป็นอันมาก และโดยทั่วไปก็เป็นคำย่อมาจากขันธ์ ๕ อันขันธ์ ๕ ก็คือกองหรือประชุมทั้ง ๕ อันได้แก่ รูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ พระพุทธเจ้าได้แสดงถึงขันธ์ ๕ ตั้งแต่ในปฐมเทศนา ซึ่งเป็นเทศนาครั้งแรกของพระองค์ ซึ่งได้ตรัสโปรดพระปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงขันธ์ ๕ ไว้ในข้อทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ซึ่งได้ตรัสแสดงทุกขสัจจะไว้เริ่มแต่ ชาติทุกข์ ทุกข์คือชาติความเกิดเป็นต้น และได้ทรงแสดงอธิบายชี้สิ่งที่เป็นทุกข์ไปแต่ละข้อๆ จนถึงตรัสสรุปโดยย่อ ว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ ก็คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แต่ว่าในปฐมเทศนานั้นได้ตรัสยกขึ้นแสดงชี้ว่า ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ มาถึงเทศนาครั้งที่ ๒ จึงได้ตรัสยกเอาขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้มาตรัสอธิบายว่า รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ และก็ได้ตรัสแสดงอธิบายทางไตรลักษณ์ ด้วยวิธีที่ได้ตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ๓ ว่าขันธ์ ๕ ดังกล่าวเที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านทั้ง ๕ ก็กราบทูลตอบว่าไม่เที่ยง ก็ได้ตรัสถามต่อไปว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ก็กราบทูลว่าเป็นทุกข์ จึงได้ตรัสถามต่อไปว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นยึดถือสิ่งนั้น ว่าเป็นของเรา ว่าเราเป็นสิ่งนั้น ว่าสิ่งนั้นเป็นอัตตาตัวตนของเรา ท่านทั้ง ๕ ก็ได้กราบทูลว่า ไม่ควรที่จะเห็นยึดถืออย่างนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสอธิบายเป็นข้อๆไป ว่าขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านี้ ที่เป็นอดีตล่วงไปแล้ว ที่เป็นอนาคตยังไม่มาถึง ทั้งที่เป็นปัจจุบัน ที่เป็นภายในที่เป็นภายนอก ที่หยาบที่ละเอียด ที่เลวที่ประณีต ที่ไกลหรือที่อยู่ใกล้ทั้งหมด ล้วนควรพิจารณาให้เห็นด้วยสัมมัปปัญญา คือปัญญาชอบตามเป็นจริง ว่าไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่เป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นอัตตาตัวตนของเรา อริยสาวกได้สดับแล้วอย่างนี้ ย่อมได้นิพพิทาคือความหน่ายในขันธ์ ๕ เมื่อได้ความหน่ายก็สิ้นความติดใจยินดี เมื่อสิ้นความติดใจยินดีจิตก็วิมุติหลุดพ้นจากอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย ขันธ์ ๕ จึงเป็นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงถึงตั้งแต่ในปฐมเทศนาเทศน์ครั้งแรก และมาตรัสอธิบายโดยไตรลักษณ์ในเทศนาครั้งที่ ๒ แก่พระเบ็ญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ท่านทั้ง ๕ เมื่อได้ฟังเทศนาครั้งที่ ๒ จบแล้ว ท่านแสดงไว้ว่าจิตของท่านทั้ง ๕ ก็พ้นจากอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย วิปัสสนาภูมิ เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ จึงเป็นข้อที่ผู้ศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนา พึงศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ และท่านก็ย่อขันธ์ ๕ นี้ เป็น ๒ คือ รูปก็เป็นรูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นนาม แต่เรียกกลับกันว่านามรูป เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ กับนามรูปนี้จึงเป็นหลัก เป็นภูมิ เป็นกรรมฐาน สำหรับพิจารณาปฏิบัติทางปัญญา หรือทางวิปัสสนา ๔ ทำไมจึงเรียกว่านามรูป และก็ควรที่จะได้ทำความเข้าใจว่า ทำไมจึงเรียกว่านามรูป สำหรับรูปนั้น ก็คงเรียกว่ารูปตามเดิม แต่สำหรับเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ทำไมจึงเรียกว่านาม อันคำว่านามนี้ ใช้เรียกกันหมายถึงว่าเป็นชื่อ เช่นผู้ที่มีชื่ออย่างนี้ๆ ก็เรียกว่ามีนามอย่างนี้ๆ เพราะฉะนั้น จึงใช้ทำความเข้าใจกันง่ายๆ ว่าที่เรียกว่านามนั้นก็คือมีแต่ชื่อสำหรับเรียก คือสักแต่ว่ามีแต่ชื่อ แต่ไม่มีรูปร่างหน้าตา ที่จะให้มองเห็นได้ด้วยตา หรือได้ยินได้ด้วยหู หรือที่จะทราบได้ด้วยกลิ่นด้วยรสด้วยการถูกต้องทางกาย ตรงกันข้ามกับรูปซึ่งเป็นวัตถุ อันจะพึงเห็นได้ด้วยตาเป็นต้นดังกล่าว แต่ว่าเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนั้นไม่มีรูปร่างหน้าตา ที่จะเห็นได้ด้วยตาเป็นต้นดังกล่าว มีแต่นามที่เป็นชื่อสำหรับเรียกเท่านั้น และโดยอธิบายนี้ ก็ใช้เป็นอธิบายสำหรับทำความเข้าใจรูปธรรมนามธรรมที่พูดกัน คือรูปธรรมก็มีรูปร่างที่จะเห็นได้ด้วยตาเป็นต้น นามธรรมนั้นก็ไม่มีรูปร่าง มีชื่อแต่เรียกเท่านั้น นี้เป็นทางอธิบายที่เข้าใจกันทั่วๆไป ภาวะอาการทางจิตใจ แต่ว่าถ้าอธิบายเพียงเท่านี้ก็ยังไม่เข้าใจอีกเหมือนกันว่า ที่เป็นชื่อสำหรับเรียกเท่านั้น ไม่มีรูปร่าง มีแต่นามหรือชื่อ แต่ว่าเป็นนามของอะไร ในข้อนี้จึงต้องทำความเข้าใจต่อไป ว่าเป็นนามของภาวะอาการ ที่บังเกิดขึ้นทางร่างกายทางจิตใจ (เริ่ม ๖๐/๑) ภาวะอาการที่บังเกิดขึ้นดังกล่าว ไม่มีรูปร่าง ดังเช่น เวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ที่บังเกิดขึ้นทางกายก็ดี ทางจิตใจก็ดี เป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง มีอาการ มีภาวะที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข เหมือนอย่างเมื่อถูกแดดก็ร้อน เป็นทุกข์ เมื่อได้รับลมก็เย็น เป็นสุข ๕ อาการที่เป็นสุขเป็นทุกข์ทางร่างกายนี้ไม่มีรูปร่าง แต่ว่ามีภาวะ มีอาการ ทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน สัญญาความจำได้หมายรู้ต่างๆ จำรูปจำเสียงเป็นต้น ก็เป็นอาการหรือเป็นภาวะทางจิตใจ สังขารความคิดปรุงหรือความปรุงคิด ก็เป็นภาวะอาการทางจิตใจ วิญญาณ ความรู้รูปทางตาที่เรียกว่าเห็น รู้เสียงทางหูที่เรียกว่าได้ยิน รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้สิ่งถูกต้องทางกาย ที่เรียกว่าทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะ รู้เรื่องราวทางใจที่คิดที่รู้ต่างๆ ที่เรียกว่ารู้เรื่อง ก็เป็นภาวะอาการทางจิตใจ เพราะฉะนั้น นามจึงเป็นชื่อของอาการหรือภาวะทางจิตใจ และทางร่างกายดังกล่าว ก็เป็นอันว่าได้ทำความเข้าใจถึงเรื่องนามธรรมทั้ง ๔ นี้ เข้าไปถึงตัวนามธรรมทั้ง ๔ นี้ นะมะ นะโม แต่ก็ควรจะทราบให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ภาวะอาการของจิตใจทั้ง ๔ ดังกล่าวมานี้เป็นไปอย่างไร และคำว่านามจะมีความหมายที่ยิ่งไปกว่าชื่อดั่งที่กล่าวมาแล้วหรือไม่ ในข้อนี้ก็ตอบได้ว่า ยังมีความหมายที่ยิ่งไปกว่าเพียงคำว่าชื่อดังกล่าว คือคำว่า นาม นี้ตามรูปศัพท์ก็เป็นอันเดียวกันกับคำว่า นะมะ หรือ นะโม ที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่ สวดนำในการสวดมนต์ไหว้พระ และสวดนำว่านำการที่จะว่าถึงสรณะคมณ์และศีล คือ นะโม ตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ ที่แปลว่าขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น คำว่านามก็มีมูลศัพท์เป็นอันเดียวกัน คือแปลว่าน้อม แต่ว่ามีความหมายว่า เป็นอาการของจิตใจที่น้อมออกไปรู้อารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย คือว่าจิตใจนี้เมื่อแสดงตามอภิธรรม เมื่อไม่มีอารมณ์ย่อมเป็นภวังคะจิต ๖ จิตที่อยู่ในภวังค์ตามศัพท์ก็แปลว่าองค์ของภพ ซึ่งท่านเปรียบเหมือนอย่างน้ำในทะเลมหาสมุทรที่สงบอยู่ ในขณะที่ยังไม่มีลมไม่มีคลื่น คือเมื่อไม่มีลมน้ำก็ไม่มีคลื่นสงบเรียบอยู่ ภวังค์จิต องค์ของภพ จิตโดยปรกติเมื่อยังไม่มีอารมณ์ก็เป็นภวังคะจิต แต่เมื่อมีอารมณ์มากระทบทวารคือประตูทั้ง ๖ ดังที่ได้เคยอธิบายแล้ว มีอารมณ์มากระทบประตูตาหูจมูกลิ้นกาย และกระทบมโนทวารคือประตูใจ จิตจึงออกจากภวังค์ น้อมออกรับอารมณ์ อาการที่จิตน้อมออกรับอารมณ์นี้ ก็รับด้วยวิธีรู้ คือรู้อารมณ์ ซึ่งทีแรกก็รู้ในเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกัน ก็รู้รูปที่เรียกว่าเห็นรูป รู้เสียงที่เรียกว่าได้ยินเสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ ที่เรียกว่าทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะ รู้ธรรมะคือเรื่องราวที่เรียกว่ารู้เรื่องราว ก็ตั้งศัพท์เรียกว่าวิญญาณ และเมื่ออายตนะภายนอกภายในกับวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้ประชุมกัน ก็เป็นความรู้ที่แรงขึ้นเรียกว่าสัมผัส เมื่อเป็นสัมผัส ความรู้ก็แรงขึ้น เป็นรู้เป็นสุข รู้เป็นทุกข์ รู้เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ที่เรียกว่าเวทนา แล้วก็รู้จำที่เรียกว่าสัญญา แล้วก็รู้คิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ ที่เรียกว่าสังขาร แล้วจิตก็ตกภวังค์ กลับไปสู่ภาวะที่เป็นพื้น ครั้นเมื่อมีอารมณ์มากระทบทวารทั้ง ๖ นี้อีก จิตก็ออกจากภวังค์มารับอารมณ์ ด้วยวิธีที่รู้ดังกล่าวนี้ เป็นอารมณ์ๆไป แต่ว่าเพราะเป็นสิ่งละเอียดและรวดเร็วมาก จึงยากที่จะรู้แยกได้ อันนี้เป็นวิถีจิตซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดา อาการที่จิตออกรู้อารมณ์ดังกล่าวนี้แหละเรียกว่า นาม คือว่าจิตน้อมออกไปรู้ ๗ เหมือนอย่างยื่นมือออกไปจับสิ่งนั้นสิ่งนี้ และเมื่อจับสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วก็กลับมาตามเดิม มีอะไรมาก็จับใหม่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่านาม แต่ว่านามในพระเถราธิบายนี้ท่านแสดงว่า ได้แก่เวทนาคือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญาความรู้จำ จำได้หมายรู้ เจตนาความจงใจ ผัสสะคือความกระทบ มนสิการการกระทำไว้ในใจ ก็ขันธ์ ๕ นั่นแหละ แต่ว่าแสดงในที่นี้ที่ซ้ำกับขันธ์ ๕ ก็คือ เวทนากับสัญญา ส่วนอีก ๓ คือ เจตนา ผัสสะ มนสิการ ไม่ซ้ำกับขันธ์ ๕ แต่ก็สรุปเข้าได้ในสังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิด คือเจตนากับมนสิการ ผัสสะนั้นล่ะเป็นสัมผัส ก็เป็นเบื้องต้นของเวทนา เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่าสรุปเข้าได้ใน เวทนา สัญญา สังขาร ส่วนวิญญาณนั้นไม่ได้แสดงอธิบายไว้ในๆที่นี้ เพราะว่าได้มีแยกออกไปในข้อ ๒ ที่ว่าเพราะวิญญาณเกิดนามรูปจึงเกิด คือนำวิญญาณไปแสดงไว้ในเหตุเกิดของนามรูป ว่าวิญญาณเป็นเหตุเกิดของนามรูป เพราะวิญญาณเกิดนามรูปจึงเกิด เพราะฉะนั้นจึงไม่แสดงวิญญาณไว้ในที่นี้ ส่วนรูปนั้นก็ได้แสดงแยกออกไปเป็นมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป รูปอาศัยแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats