ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 12 ธันวาคม 2555 09:35
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป045
สัมมาทิฏฐิ ๑๔ ความรู้จักตัณหา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ข้อว่ารู้จักตัณหา ๓
อายตนะภายในภายนอก ๔
อารมณ์ ๖ ทวาร ๖ ๔
ตัณหาบังเกิดขึ้นดั่งนี้ ๕
กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ๖
ลักษณะที่เรียกว่าจิตดิ้นรน ๖
อาการที่เรียกว่าตัณหา ๗
ครึ่งแรกเทป ๕๖/๑ ไม่ดัง คัดจากเทปธรรมอบรมจิต แก้ตามหนังสือ ม้วนที่ ๕๖/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๕๖/๒ ( File Tape 44 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สัมมาทิฏฐิ ๑๔ ความรู้จักตัณหา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ตามเถราธิบายแห่งท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายจบปัญหาหนึ่งแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียน ถามท่านยิ่งขึ้นไปอีก และท่านก็ได้กล่าวว่ายังมีปริยายอื่นยิ่งขึ้นไปอีก และก็แสดงต่อไปอีกเป็นข้อๆขึ้นไป และท่านได้แสดงอธิบายตามหลักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ และตามหลักปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น แสดงต่อจากที่ได้แสดงอธิบายแล้ว จึงถึงตอนที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือรู้จักตัณหา รู้จักเหตุเกิดแห่งตัณหา รู้จักความดับตัณหา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับตัณหา รู้จักตัณหานั้นก็คือรู้จัก รูปตัณหา ตัณหาในรูป สัททตัณหา ตัณหาในเสียง คันธตัณหา ตัณหาในกลิ่น รสะตัณหา ตัณหาในรส โผฏฐัพพะตัณหา ตัณหาในสิ่งที่ถูกต้อง ๒ ธรรมะตัณหา คือตัณหาในธรรมารมณ์อันได้แก่เรื่อง และท่านได้แสดงอธิบายต่อไปว่า รู้จักเหตุเกิดตัณหานั้น ก็คือรู้จักว่าความเกิดขึ้นแห่งตัณหามีขึ้น ก็เพราะความเกิดขึ้นแห่งเวทนา และได้แสดงถึงความดับตัณหาว่า ความดับตัณหามีขึ้นก็เพราะดับเวทนา แสดงทางปฏิบัติให้ถึงความดับตัณหาว่า มีมรรคมีองค์ ๘ คือมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ เป็นต้น ข้อว่ารู้จักตัณหา จะได้แสดงอธิบายถึงข้อที่ว่ารู้จักตัณหา คือรู้จักตัณหาในอายตนะภายนอกทั้ง ๖ หรือในอารมณ์ทั้ง ๖ ตัณหานั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ เช่นในปฐมเทศนามีใจความว่า ตัณหาเป็นเหตุให้มีภพใหม่ ไปกับนันทิความเพลิน ราคะความติดใจยินดี มีความอภินันท์คือเพลิดเพลินยินดียิ่งๆในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ตัณหาในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย หรือว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ คือเรื่องราวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ภวตัณหา ตัณหาในภพคือความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหา ตัณหาในวิภพคือความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ และตัณหานั้นท่านมักแปลกันว่า ความทะยานอยาก ความดิ้นรนของจิตใจ หรือแปลกันอย่างธรรมดาว่า ความอยาก อธิบายตัณหาโดยทั่วไปก็มักอธิบายตามพระพุทธาธิบายดังกล่าว แต่ในที่บางแห่งก็ได้มีพระพุทธาธิบายว่า ตัณหาคือตัณหาในอายตนะภายนอกทั้ง ๖ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราว ๓ อายตนะภายในภายนอก หรือว่าในอารมณ์ ๖ ก็คืออายตนะภายนอก ๖ นั้นนั่นแหละ ศัพท์ธรรมะนั้นเรียกว่าอายตนะ ก็โดยที่เรียกคู่กับอายตนะ คืออายตนะนั้นแปลว่าที่ต่อ หรือว่าต่อกัน แบ่งออกเป็นภายในก็คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ที่เป็นภายนอกก็ได้แก่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราว เมื่อจัดเป็นคู่กัน ตาก็คู่กับรูป คือตากับรูปนั้นต่อกัน หูก็คู่กับเสียง เพราะว่าหูกับเสียงนั้นก็ต่อกัน จมูกก็คู่กับกลิ่น เพราะจมูกกับกลิ่นนั้นก็ต่อกัน ลิ้นก็คู่กับรส เพราะลิ้นกับรสนั้นก็ต่อกัน กายก็คู่กับโผฏฐัพพะสิ่งที่ถูกต้อง เพราะกายกับโผฏฐัพพะนั้นก็ต่อกัน มนะคือใจก็คู่กับธรรมะคือเรื่องราว เพราะมโนหรือมนะคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวนั้นก็ต่อกัน ฉะนั้น เมื่อต่อกันดั่งนี้จึงเรียกว่าอายตนะ อารมณ์ ๖ ทวาร ๖ อีกอย่างหนึ่งเรียกว่าอารมณ์ คำว่า อารมณ์ นั้นได้แก่เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตใจหมกมุ่นถึง ครุ่นคิดถึง อันเป็นที่ตั้งของวิญญาณ ภาษาอภิธรรมนั้นเรียกว่า อาลัมพนะ ที่แปลว่าเป็นเครื่องหน่วงของจิต และคำว่าอารมณ์ทั้ง ๖ ก็เรียกคู่กับ ทวาร ที่แปลว่าประตู ก็คือว่าอายตนะภายใน อันได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจนั้น นอกจากเรียกว่าอายตนะภายในแล้ว ยังเรียกว่าทวารทั้ง ๖ คือประตูทั้ง ๖ เช่นว่า ตา ก็เรียกว่าจักขุทวารคือประตูตาเป็นต้น และเมื่อเรียกตาเป็นต้นว่าทวาร ก็เรียกอายตนะภายนอกทั้ง ๖ ที่ต่อกันว่าอารมณ์ คือเรียกว่ารูปารมณ์ อารมณ์คือรูป เป็นต้น ฉะนั้น คำว่าทวารกับอารมณ์จึงเป็นข้อที่เรียกคู่กัน แต่ก็หมายถึงสิ่งอันเดียวกัน หรือหมวดเดียวกันกับอายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกนั่นแหละ ๔ ที่เรียกว่าทวารกับอารมณ์นั้นก็อาจมีปัญหาว่า เป็นประตูของอะไร สำหรับอะไรที่จะเข้าไป ก็ตอบว่าเป็นประตูสำหรับที่อารมณ์ทั้ง ๖ นั้นจะเข้าไปนั้นเอง เข้าไปสู่อะไร คือเข้าไปสู่จิต หรือที่เรียกว่าวิญญาณ ตัณหาบังเกิดขึ้นดั่งนี้ ดังที่ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสแสดงไว้ว่า มีนครหนึ่ง เจ้านครเรียกว่า นคระสามี เจ้านครซึ่งได้ประทับอยู่กลางนคร และได้มีทูตเข้าไปสู่นครทางทวารคือทางประตูแห่งนคร และได้มีพระพุทธาธิบายว่า นคระสามีเจ้านครนั้นก็คือจิต และก็มีอธิบายสืบเนื่องกันว่า ประตูแห่งนครนั้นก็คือว่าทวารทั้ง ๖ ได้แก่ จักขุทวารประตูตาสำหรับอารมณ์คือรูปเข้าไป โสตะทวารประตูหูสำหรับอารมณ์คือเสียงเข้าไป ฆานะทวารประตูจมูกสำหรับอารมณ์คือกลิ่นเข้าไป กายทวารประตูกายสำหรับอารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งที่ ..( จบ ๕๖/๑ ) ถูกต้องเข้าไป และมโนทวารประตูใจ สำหรับอารมณ์คือธรรมะอันได้แก่เรื่องราวเข้าไป ก็เข้าไปสู่นคระสามี ( เริ่ม ๕๖/๒ ) เจ้านคร ก็คือจิตหรือวิญญาณนี้เอง จิตหรือวิญญาณก็รับอารมณ์ที่เข้าไปทางทวารทั้ง ๖ นี้ แต่ว่าสำหรับจิตหรือวิญญาณสามัญนั้นยังมีอาสวะกิเลส เพราะฉะนั้นเมื่ออารมณ์ทั้ง ๖ ผ่านทวารทั้ง ๖ เข้าสู่จิตใจหรือวิญญาณ จึงเกิดตัณหาคือความดิ้นรนความทะยานอยาก หรือความอยากในอารมณ์ที่เข้าไปนั้น เมื่ออารมณ์คือรูปเข้าไป ก็เกิดตัณหาในรูป เมื่ออารมณ์คือเสียงเข้าไป ก็เกิดตัณหาในเสียง อารมณ์คือกลิ่นคือรสคือโผฏฐัพพะคือธรรมะเรื่องราวเข้าไป ก็เกิดตัณหาในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะและในธรรมะคือเรื่องราวนั้นๆ ตัณหาจึงบังเกิดขึ้นดั่งนี้ ๕ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา และตัณหาที่บังเกิดขึ้นในอารมณ์ทั้ง ๖ ดังที่กล่าวมานั้น เมื่อเป็นอารมณ์ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็เกิดเป็นกามตัณหา และก็ย่อมเกิดภวตัณหา ต้องการที่จะเป็นเจ้าเข้าเจ้าของอารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจนั้น คือต้องการเป็นนั่นเป็นนี่ ในอันที่จะครอบครองกามคือสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย และถ้าหากว่าอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็เกิดวิภวตัณหา ความอยากที่จะให้อารมณ์เหล่านั้นสิ้นไปหมดไป ไม่ต้องการที่จะเป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งจะต้องมีอารมณ์ที่ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจนั้นๆ ลักษณะที่เรียกว่าจิตดิ้นรน เมื่อรวมความเข้ามาแล้วก็เป็นความอยาก ที่จะดึงเข้ามา ที่จะนำเข้ามา เป็นตัวเราเป็นของเรา นั้นอย่างหนึ่ง เป็นความอยากที่จะผลักออกไปให้พ้น ในสิ่งที่ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่เกลียดชังไม่ต้องการ นั้นอีกอย่างหนึ่ง จิตใจของสามัญชนจึงมีอาการที่เรียกว่าเป็นความอยากในอารมณ์ดังกล่าวมานี้ ที่จะดึงเข้ามา ที่จะเป็นตัวเราของเรา และที่จะผลักออกไปที่จะทำลายให้หมดสิ้นไป อาการของความอยากดังกล่าวนี้ จึงมีลักษณะที่ดิ้นรนกระสับกระส่ายกระวนกระวาย จิตใจเคลื่อนไหวขยับเขยื้อนไปในอารมณ์ทั้งหลาย ด้วยอาการต่างๆดังกล่าวนั้นอยู่เสมอ และเมื่อเป็นความอยากอย่างแรง ที่มีอาการดังกล่าว ที่จะดึงเข้ามา ที่จะได้มา ที่จะครอบครองเป็นตัวเราเป็นของเรา ที่มีอาการดังกล่าวมานี้ เมื่อแรงก็เรียกว่าเป็นความทะยานอยาก ความดิ้นรนก็มีมาก ความทุรนทุรายกระสับกระส่ายก็มีมาก แต่เมื่อไม่แรงก็มีน้อย คือดิ้นรนน้อย กระสับกระส่ายน้อย กระวนกระวายน้อย ๖ แต่รวมความว่าจิตใจนั้นก็ย่อมไม่อยู่สงบ ไม่อยู่กับที่ แต่ว่าเคลื่อนไหวกระสับกระส่าย ดิ้นรนไปด้วยอาการดังกล่าวนั้น ในอารมณ์ทั้งหลายอยู่เรื่อยไป และความดิ้นรนกระสับกระส่ายดังกล่าวมานี้ก็ไม่มีหยุด เช่นว่าเมื่อได้สิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ได้เป็นเจ้าเข้าเจ้าของได้ครอบครองสิ่งนี้ ก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น สิ่งนี้ที่ได้นั้น ครั้นได้มาแล้วความอยากในสิ่งนั้นก็สงบเพราะว่าได้แล้ว แต่ก็ไม่สงบเพียงเท่านั้น ยังอยากได้ในสิ่งอื่น เป็นสิ่งที่ ๒ เป็นสิ่งที่ ๓ เป็นสิ่งที่ ๔ เป็นสิ่งที่ ๕ ต่อๆไปอีก ต้องการที่จะได้ ต้องการที่จะเป็นเราของเรา ต้องการให้สิ่งที่ไม่ชอบหมดไป อยู่เรื่อยไป อาการที่เรียกว่าตัณหา เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูกระแสของจิตอย่างละเอียดของตนแล้ว ก็จะเห็นว่า อันกามก็ดี อันตัวเราของเราก็ดี ย่อมบังเกิดขึ้นและดับไป อยู่ในอารมณ์ต่างๆ ติดต่อกันตลอดไป กาม ตัวเราของเรา บังเกิดขึ้นในสิ่งที่ ๑ แล้วก็ดับไป กามและตัวเราของเราก็บังเกิดขึ้นในสิ่งที่ ๒ แล้วก็ดับไป บังเกิดขึ้นในสิ่งที่ ๓ แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจึงตรัสแสดงว่า เป็นไปเพื่อภพใหม่ ภพก็คือความเป็น ความเป็นเราของเรา หรือเป็นตัวเรานี่แหละ ใหม่อยู่เสมอ คือตัวเราของเราบังเกิดขึ้นใหม่ในสิ่งนั้นๆ อยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด ตัวเราของเราบังเกิดขึ้นในๆสิ่งนี้ สงบแล้วก็บังเกิดขึ้นในสิ่งนั้น สงบแล้วก็บังเกิดขึ้นในสิ่งโน้น ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ ทั้งมีความติดใจ มีความเพลิดเพลิน ทั้งมีความอภินันท์บังเทิงยินดี ยิ่งๆขึ้นไปในอารมณ์นั้นๆ อยู่เรื่อยไป อาการดั่งนี้เป็นอาการที่เรียกว่าตัณหา มีอยู่ในจิตใจของสามัญชนทั่วไป และตัณหานี้ก็บังเกิดขึ้นเพราะเวทนา ดับเวทนาก็ดับตัณหาได้ แต่ว่าจะดับได้ก็เพราะปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สัมมาทิฏฐิ ๑๕ ความรู้จักตัณหา (ต่อ)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ลักษณะของตัณหา ๓
ตัณหาในมรรคผลนิพพาน ๕
ความอิ่มด้วยตัณหาไม่มี ๖
ตัณหาในทุกข์ ๖
ขันธโลกเป็นทุกข์ ๗
ตัณหาในทุกข์ ๘
ภพใหม่ ทุกข์ใหม่ ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ม้วนที่ ๕๖/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๕๗/๑ ( File Tape 45 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สัมมาทิฏฐิ ๑๕ ความรู้จักตัณหา (ต่อ)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงพระเถราธิบายของพระสารีบุตรในเรื่องสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ถึงตอนที่ความเห็นชอบก็คือความรู้จักตัณหา รู้จักเหตุเกิดตัณหา รู้จักความดับตัณหา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับตัณหา และกำลังอธิบายถึงตัณหาที่มีพระเถราธิบายยกเอาตัณหา ๖ ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และในธรรมะคือเรื่องราว และก็ได้อธิบายถึงตัณหา ๓ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสอธิบายไว้ตั้งแต่ในปฐมเทศนา คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา และแสดงลักษณะของตัณหา อันกล่าวถึงผลของตัณหา และสิ่งที่ไปด้วยกันกับตัณหา กับความเจริญของตัณหา ผลของตัณหานั้น ก็คือเป็นไปเพื่อภพใหม่ ๒ สิ่งที่ไปด้วยกันกับตัณหานั้น ก็ได้แก่นันทิความเพลินราคะความติดใจยินดี ความเจริญของตัณหานั้น ก็คือความที่มีความอภินันท์ยินดียิ่งๆขึ้นไปในอารมณ์นั้นๆ ตัณหาย่อมให้ผลเป็นไปเพื่อภพใหม่ทั้งในปัจจุบันทั้งในภายหน้า และก็มีนันทิความเพลิน มีราคะความติดใจยินดี ไปด้วยกันเหมือนอย่างเป็นสหายกัน กับมีความเจริญงอกงามยิ่งๆขึ้น ด้วยความยินดีเพลิดเพลินไปในอารมณ์นั้นๆ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ย่อมมีลักษณะดังกล่าวมานี้ ลักษณะของตัณหา และก็พึงทราบต่อไปอีกว่า อันตัณหานั้นเป็นข้อที่คู่กับโลก และย่อมมีอยู่ในสัตว์โลกทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก ต้องเป็นไปอยู่ในโลก โลกจึงมีตัณหา และสัตว์โลกจึงมีตัณหา สิ้นตัณหาเสียเมื่อใดก็เป็นโลกุตรพ้นโลก เหนือโลก สัตว์โลกก็ยุติความเป็นสัตว์โลก มาเป็นโลกุตระเหนือโลก เพราะฉะนั้น โลกกับตัณหาจึงเป็นสิ่งที่ต้องประกอบกันอยู่ อันลักษณะที่แท้จริงของตัณหานั้น ก็คือความที่กระเสือกกระสน ไม่หยุดอยู่กับที่ เคลื่อนที่ ฉะนั้น จึงได้มีแสดงถึงลักษณะดังกล่าว ของทางร่างกายก็มี ของทางจิตใจก็มี ของทางร่างกายนั้นก็มีแสดงถึงสัตว์ ๒ จำพวก คือสัตว์ที่เรียกว่า ตสา เคลื่อนที่ได้จำพวกหนึ่ง สัตว์ที่เรียกว่า ถาวรา อยู่กับที่คือถาวร เคลื่อนที่ไม่ได้อีกจำพวกหนึ่ง สัตวที่เรียกว่า ตสา จำพวกเคลื่อนที่ได้นั้น ก็เช่นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ทั้งบนบกและในน้ำที่เคลื่อนที่ได้ เช่นมนุษย์และสัตว์บกทั้งหลายก็เคลื่อนที่ได้ เดินวิ่งไปโน่นไปนี่ได้ ส่วนสัตว์จำพวกเคลื่อนที่ไม่ได้ อันเรียก ถาวรา หรือถาวรอยู่กับที่นั้น ก็เช่นสัตว์น้ำบางชนิดที่เกิดติดอยู่กับที่ เช่นหอยบางชนิด เช่นหอยนางรมเกิดติดอยู่กับที่ ติดอยู่กับก้อนหินในทะเลในน้ำ เคลื่อนที่ไปไหนไม่ได้ นี่เรียกว่าถาวระหรือถาวรา ๓ ได้มีแสดงไว้ในเมตตสูตร ตสา วา ถาวรา วา สัตว์ที่เคลื่อนที่ได้ และสัตว์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ที่ให้แผ่เมตตาจิตออกไปในสัตวทั้งหมดเหล่านี้ สัตว์จำพวกที่เรียกว่า ตสา เคลื่อนที่ได้นั้น ก็เป็นคำเดียวกับคำว่าตัณหา แต่นั่นหมายถึงทางร่างกาย ส่วนทางจิตใจนั้น จิตใจของบุถุชนสามัญชน ก็เป็นจิตใจที่เรียกว่า ตสา คือเคลื่อนที่ เพราะมีตัณหาที่ทำให้เคลื่อนที่ ที่มีอาการอันเรียกกันว่าดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย แต่ว่าคำเหล่านี้แสดงอาการที่เคลื่อนที่อย่างรุนแรง แม้ว่าจะเคลื่อนที่อย่างไม่รุนแรง ก็เป็นตัณหาเหมือนกัน คือมีอาการที่เคลื่อนออกไปรับอารมณ์จับอารมณ์นั้นๆ โดยเฉพาะก็คือออกไปรับอารมณ์จับอารมณ์ ๖ มีรูปารมณ์อารมณ์คือรูปเป็นต้น ที่มาประสบทางตาเป็นต้น แต่ว่าก็จำเป็นที่จะต้องใช้ศัพท์ใดศัพท์หนึ่ง เพื่อให้เป็นที่เข้าใจในลักษณะของตัณหาดังที่กล่าวมานี้ จึงแปลกันว่าความอยาก และเมื่อมุ่งถึงลักษณะที่แรงก็เรียกว่าทะยานอยาก หรือแปลว่าดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย แต่อันที่จริงนั้นแปลว่าความอยากเท่านั้นก็เพียงพอ คือเป็นความประสงค์ความต้องการ ยื่นออกไปจับหรือรับอารมณ์ดังกล่าว และอารมณ์ที่ออกไปรับไปจับนั้น เมื่อกล่าวเป็นกลางๆก็คืออารมณ์ ๖ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะคือเรื่องราว ดังที่กล่าวมานั้น และเพื่อให้ชัดขึ้นว่าอารมณ์ที่ตัณหาประสงค์ต้องการ หรือที่อยาก ก็คืออารมณ์ที่เป็นกาม ที่แปลว่าน่ารักใคร่ หรือเป็นที่รักใคร่ ( จบ ๕๖/๒ ) เพราะฉะนั้น เพื่อให้ชัดจึงได้เรียกว่ากามตัณหา ( เริ่ม ๕๗/๑ ) ตัณหาในกาม คืออารมณ์ที่รักใคร่ ที่น่ารักใคร่ และยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ก็ยังประสงค์ต้องการเป็นนั่นเป็นนี่ จึงได้มีแสดงภวตัณหา ตัณหาในภพเป็นนั่นเป็นนี่ และที่เป็นนั่นเป็นนี่นั้น ก่อนที่จะเป็นนั่นเป็นนี่อะไรก็ต้องเป็นเราขึ้นก่อน ๔ ตัณหาในภพนั้นจึงตั้งต้นด้วยตัณหาในความเป็นเรา คือตัณหาในความที่เป็นตัวเรา แล้วเมื่อมีตัวเราขึ้น ก็ต้องมีความอยากที่จะให้ตัวเรานี้เป็นนั่นเป็นนี่ต่อไปอีก และก็มิใช่แต่เท่านั้น เมื่อไม่ได้ตามต้องการ ตามอยาก ไม่เป็นตามต้องการตามอยาก ก็ต้องการที่จะให้สิ่งที่ขัดขวางทั้งหลาย ต้องการที่จะให้สิ่งที่ไม่ชอบทั้งหลายสิ้นไปหมดไป ต้องการที่จะไม่เป็นตามที่ไม่ชอบจะเป็น ไม่อยากจะเป็น ก็เป็นวิภวตัณหาขึ้นมา พระพุทธเจ้าทรงจำแนกแจกธรรม ก็ทรงจำแนกให้เห็นชัด ว่าอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอยากเหล่านี้ ก็เป็นตัณหาทั้งนั้น จนกระทั่งอยากดำรงชีวิตอยู่นานก็เป็นตัณหา อยากตายก็เป็นตัณหา อยากดำรงชีวิตอยู่นานก็เป็นภวตัณหา เป็นกามตัณหา อยากตายก็เป็นวิภวตัณหา เมื่อยังเป็นสัตว์โลกอยู่ก็จะต้องมีตัณหา ดังที่กล่าวมานี้ ตัณหาในมรรคผลนิพพาน แม้ว่าต้องการมรรคผลนิพพาน ความต้องการนั้นบังเกิดขึ้นว่า เมื่อไรจะได้มรรคได้ผลได้นิพพาน ก็เป็นตัณหาเหมือนกัน และแม้ว่าจะได้อริยมรรคอริยผล เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี ก็ละตัณหาหยาบๆได้ไปโดยลำดับ แต่ก็ยังมีตัณหาในมรรคผลนิพพานที่ยังไม่ได้ เมื่อมีความอยากว่าเมื่อไรจะได้ ก็เป็นตัณหาเหมือนกัน เป็นอย่างละเอียด ก็แปลว่ายังมีตัณหาอยู่ เพราะว่ายังไม่เสร็จกิจ ท่านจึงแสดงว่าให้อาศัยตัณหาละตัณหา เพราะฉะนั้น ตัณหานั้นจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับโลก คู่กับสัตว์โลกดั่งนี้ ใครจะอยากมี หรือไม่อยากมี ก็ต้องมี ในเมื่อยังเป็นสัตว์โลก หรือว่าเป็นอริยบุคคลแล้วก็ตาม แต่ว่ายังไม่ถึงมรรคผลนิพพานที่เป็นขั้นพระอรหันต์ ก็ยังจะต้องมีกันอยู่ตามชั้น เพราะฉะนั้นในขั้นปฏิบัตินั้น ท่านจึงสอนให้อาศัยตัณหาละตัณหา ๕ ความอิ่มด้วยตัณหาไม่มี และก็ได้มีสอนไว้ว่า สัตว์โลกทั่วไปนั้นมีจิตใจที่พร่อง ตัณหาทาสะ เป็นทาสของตัณหา มีจิตใจที่พร่องนั้นก็คือมีความอยากมีความต้องการ ไม่เต็มไม่อิ่มไม่เพียงพอ เมื่อเป็นดั่งนี้ จิตใจจึงมีความกระหาย มีความอยากใคร่จะได้ ใคร่จะเป็นต่างๆ ใคร่ที่จะทำลายล้างสิ่งที่ขัดขวางต่างๆ เพราะว่าพร่อง ไม่เต็ม ไม่อิ่ม ไม่พอ และก็ยังมีตรัสเอาไว้อีกว่า ความอิ่มด้วยตัณหาไม่มี เหมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ เอาเชื้อสุมเข้ามากเท่าไร ไฟก็ลุกโตขึ้น ก็กินเชื้อมากขึ้น ไม่มีที่จะอิ่ม ไม่มีที่จะพอ ยิ่งสุมไฟใส่เชื้อมากขึ้น ไฟก็กองโตขึ้น ฉะนั้นเมื่อเป็นทาสของตัณหา ตัณหาสั่งให้แสวงหาต่างๆตามที่อยากตามที่ต้องการ ได้มาเท่าไรก็ไม่พอ ต้องการเพิ่มเติมขึ้นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น โลกทั่วไปจึงเรียกว่าเป็นโลกที่พร่อง และเป็นทาสของตัณหา ตัณหาในทุกข์ สิ่งทั้งปวงที่ตัณหาต้องการจะได้ ต้องการจะเป็น ก็รวมเรียกอยู่ในคำเดียวว่าทุกข์ คือทุกข์อริยสัจจ์ อริยสัจจ์ข้อทุกข์ รวมอยู่ในคำนี้ คือเป็นตัณหาในทุกข์ แต่ว่าเพราะยังมองไม่เห็นว่า สิ่งที่อยากจะได้อยากจะเป็นนั้นเป็นตัวทุกข์ จึงต้องการ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอน ชี้ให้รู้จักทุกข์ไว้เป็นข้อสำคัญ ดังที่ตรัสแสดงชี้ให้รู้จักทุกข์ไว้ในอริยสัจจะข้อที่ ๑ คือทุกขสัจจะ ตั้งต้นแต่สภาวทุกข์ ชาติคือความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะความตายเป็นทุกข์ โสกะความแห้งใจ ปริเทวะความรัญจวนคร่ำครวญใจ ทุกขะความความไม่สบายกาย โทมนัสสะความไม่สบายใจ อุปายาสะความคับแค้นใจเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักทั้งหลายเป็นทุกข์ ๖ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักทั้งหลายเป็นทุกข์ ปรารถนามิได้สมหวังเป็นทุกข์ โดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ก็ได้แก่รูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ ขันธโลกเป็นทุกข์ และนอกจากนี้ยังได้ตรัสชี้แจงให้รู้จักทุกข์ ยกเอาอายตนะธาตุเป็นต้นขึ้นมาชี้ ตลอดจนถึงยกเอาโลกขึ้นมาชี้ว่าเป็นทุกข์ เพราะว่าที่ชื่อว่าโลกนั้นก็เป็นทั้งหมดเหล่านี้ และตัวคำว่าโลกเองนั้นก็แปลว่าสิ่งที่ชำรุด สิ่งใดชำรุดสิ่งนั้นชื่อว่าโลก รุชฺชตีติ โลโก ยกเอาโลกคือขันธ์อันเรียกว่าขันธโลก คืออัตภาพ ร่างกาย นามกาย คือขันธ์ ๕ ของทุกๆคนนี้เป็นตัวอย่าง เป็นขันธโลก ต้องเป็นทุกข์โดยสภาพเกิดแก่ตาย และจิตใจเองนั้นก็มีโสกะปริเทวะเป็นต้น ต้องพลัดพรากกับสิ่งที่เป็นที่รัก ต้องประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ปรารถนาไม่ได้สมหวัง เพราะฉะนั้น จึงต้องประสบสิ่งที่ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ที่ไม่สบายใจ และสิ่งที่ไม่สบายกายอยู่เสมอ ปัญหาต่างๆ อุปสรรคต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นในทางต่างๆของชีวิต ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นตัวทุกข์นี้ทั้งสิ้น คือเป็นสิ่งที่ไม่สบายกายไม่สบายใจ ที่ไม่ชอบใจ ที่เบียดเบียน ทุกคนจึงต้องพบปัญหาต่างๆ ต้องแก้กันอยู่ทั้งภายในทั้งภายนอก ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านั้นก็คือตัวทุกข์นี้เอง แก้อย่างนี้ตกแล้วก็ต้องเกิดปัญหาอย่างนั้น แก้อย่างนั้น แล้วก็ต้องเกิดปัญหาอย่างนี้ แก้อย่างนี้ อยู่ตลอดทุกวี่ทุกวัน ตั้งต้นแต่ตื่นขึ้นมา ก็ต้องแก้ปัญหาเกี่ยวแก่ปากท้องของทุกๆคน เมื่อแก้ปัญหาเกี่ยวแก่ปากท้องมื้อเช้าเสร็จไปแล้ว ก็ต้องมาแก้ปัญหาเกี่ยวแก่ปากท้องมื้อกลางวันมื้อเย็น ในวันนี้ต่อไปอีก ตลอดวัน แล้วจะต้องแก้ปัญหาเกี่ยวแก่ปากท้อง พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ดังกล่าวมานี้ต่อไปอีก ๗ ไม่ใช่ว่าแก้ปัญหาเกี่ยวแก่ปากท้องมื้อเช้ามื้อหนึ่งได้แล้ว ก็เสร็จกันเท่านั้น ก็เกิดปัญหาขึ้นมาอีก หิวระหายขึ้นมาอีก ก็ต้องแก้ ให้ดื่มให้บริโภค ให้อิ่ม อิ่มแล้วอีกไม่นานเท่าไหร่ก็หิวระหายใหม่ ก็เกิดเป็นปัญหา ก็ต้องแก้กันอีก นอกจากนี้ก็ต้องมีพักผ่อนหลับนอน และต้องมีเครื่องแก้ปัญหาเกี่ยวแก่หนาวร้อนต่างๆ มีเสื้อผ้า ต้องแก้ปัญหาเกี่ยวแก่โรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนี้เมื่อทำการงาน ก็จะต้องแก้ปัญหาเกี่ยวแก่การงานต่างๆ ตัณหาในทุกข์ และต้องแก้ปัญหาเกี่ยวแก่ตัณหาเองที่ก่อขึ้น เช่น ตัณหานั้นเองต้องการอยากให้ทำนั่นทำนี่ เพื่อที่จะได้นั่นได้นี่ เพื่อจะเป็นนั่นเป็นนี่ ครั้นได้นั่นได้นี่มา ได้เป็นนั่นเป็นนี่มาก็เกิดปัญหา เกี่ยวแก่สิ่งที่ได้สิ่งที่เป็นนั้น ซึ่งจะต้องแก้กันไปอีก ก็เรียกว่าตัณหาก่อปัญหา แก้แล้วก็ตัณหาก็ก่อปัญหาขึ้นอีก เพราะฉะนั้นทุกคนจึงต้องพบกับตัวทุกข์ อย่างละเอียดบ้าง อย่างหยาบบ้าง แล้วก็ต้องแก้ทุกข์กันไปคราวหนึ่งๆ แล้วก็ต้องแก้กันใหม่อีก เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงชี้ให้รู้จักทุกข์ อันนี้แหละเป็นข้อสำคัญ ว่าเป็นสิ่งที่มีครอบคลุมกันอยู่ทั่วไปทั้งหมด แล้วก็เนื่องมาจากตัณหานี้ เพราะฉะนั้น ตัณหานี้แม้ว่าจะจำแนกออกไปเป็นตัณหาในอารมณ์ ๖ มีรูปเป็นต้น หรือเป็นตัณหา ๓ อันมีลักษณะที่ให้เกิดผลเป็นภพใหม่ เป็นใหม่ ที่มีเพื่อนมิตรสหายไปด้วยกันอยู่ตลอดเวลาก็คือ นันทิความเพลิน ราคะความติดใจยินดี แล้วก็เติบโตยิ่งขึ้นๆ ทั้งมีลักษณะที่ทำให้พร่อง ไม่เต็ม ทำให้บุคคลหรือจิตใจนี้เป็นทาส คอยรับใช้ตัณหาอยู่ตลอดเวลา และสิ่งทั้งปวงที่ตัณหาต้องการจะได้ ต้องการจะเป็นทั้งปวงนั้น ก็คือทุกข์ทั้งนั้น ก็เรียกว่าเป็นตัณหาในทุกข์ ๘ ภพใหม่ ทุกข์ใหม่ และที่เกิดใหม่ ที่เป็นไปเพื่อความเกิดใหม่ คือภพใหม่ เป็นใหม่นั้น ก็เป็นทุกข์ใหม่ เป็นทุกข์ใหม่ สืบๆกันขึ้นไปนั้นเอง แต่เพราะเหตุที่ยังมีตัวสหายที่ไปด้วยกัน คือนันทิความเพลิน ราคะความติดใจยินดี จึงยังทิ้งตัวทุกข์ที่ๆหยาบที่ต้องการนั้นไม่ได้ ก็เรียกว่ายังเพลินยังติดใจยินดีอยู่ในตัวทุกข์ โลกก็เป็นไปกันอยู่ดั่งนี้ และก็เป็นไปเพื่อภพใหม่ ภพก็คือความเป็นๆใหม่ ก็คือเป็นทุกข์ใหม่ เป็นทุกข์ใหม่ กันอยู่เรื่อยๆไป ไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น ความที่มามีสติระลึกได้ เอาว่าระลึกได้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ดังที่นำมาแสดงนี้ส่วนหนึ่ง และก็หัดวิจัยธรรม เลือกเฟ้นธรรม ก็ย่อมจะได้ปัญญา รู้จักทุกข์ รู้จักตัณหายิ่งขึ้น ทำให้ได้ความเพียรในอันที่จะปฏิบัติละตัณหา ละทุกข์ ยิ่งขึ้น จะทำให้ได้ปีติความดูดดื่มในธรรม ความอิ่มกายอิ่มใจ ได้ความสงบกายสงบใจ ได้สมาธิ และได้ตัวอุเบกขา ความที่มีจิตใจสงบอยู่ในภายในได้มากขึ้น วางได้มากขึ้น เฉยได้มากขึ้น แปลว่าลดความวุ่นวาย ลดความที่ยึดถือต่างๆลงไปได้ นี่แหละเป็นตัวอุเบกขา ก็เป็นโพชฌงค์ แล้วก็ส่งให้เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบยิ่งๆขึ้น ตั้งต้นแต่ความเห็นชอบในบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ จนถึงในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ตลอดจนถึงในเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรได้ชัดเจนขึ้น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป