ถอดเทปพระธรรมเทศนา

 

 

 

เทป030

เบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย

หลักปฏิบัติในสติปัฏฐาน


สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร


การปฏิบัติทำศีลให้บริสุทธิ์ ๓

ทิฏฐิความเห็นที่ตรง ๔

สติ สัมปชัญญะ ๔

ที่ตั้งของสติทั้ง ๔ ๕

จิต อารมณ์ ๖

นิวรณ์ อาการของกิเลส ๗

กุศลราศรี อกุศลราศรี ๗

เขตของพระพุทธบิดา ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๓๕/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๓๖/๑ ( File Tape 30

 อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ 
 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ในพรรษกาลนี้ก็จะอธิบายโดยยึดหลักปฏิบัติในสติปัฏฐาน

และก็เริ่มต้นตามหลักปฏิบัติในสติปัฏฐานตามเคย และก็จะได้แทรกอธิบายกรรมฐาน

ที่พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาได้ทรงสอนไว้เองจากพระสูตรต่างๆ ตามสมควร

และในวันเริ่มต้นแห่งเทศกาลเข้าพรรษานี้ก็จะได้เริ่มด้วย

หลักเบื้องต้นที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเอาไว้ให้ปฏิบัติทำหลักเบื้องต้นสองข้อให้บริสุทธิ์

 ข้อที่ ๑ ก็คือศีลที่บริสุทธิ์ดี ข้อที่ ๒ ก็คือทิฏฐิความเห็นที่ตรง

ความเป็นผู้มีศีลที่บริสุทธิ์ดี และความเป็นผู้มีความเห็นที่ตรง

 ๒ ข้อนี้เป็นหลักที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติให้บริสุทธิ์ เป็นเบื้องต้นในกุศลธรรมทั้งหลาย

 เพราะว่า ๒ ข้อนี้ได้ตรัสว่าเป็น เบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย

 เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

จะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม

ก็พึงตั้งใจปฏิบัติทำศีลของตนให้บริสุทธิ์ให้ดี

และปฏิบัติทำความเห็นของตนให้ตรงต่อธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน

การปฏิบัติทำศีลให้บริสุทธิ์ การปฏิบัติทำศีลให้บริสุทธิ์ให้ดี ข้อที่ ๑ นั้น

ในเบื้องต้นก็ให้ตั้งใจสมาทานศีลขึ้นก่อน

ผู้ที่บวชเป็นภิกษุสามเณรศีลก็มาด้วยการบวช

ฝ่ายคฤหัสถ์ศีลก็มาด้วยการตั้งใจสมาทาน จากภิกษุสามเณร

หรือว่าตั้งใจสมาทานศีลขึ้นด้วยตนเอง

และศีลที่ตั้งใจปฏิบัติด้วยการบวช หรือด้วยการสมาทานดังกล่าว

ก็มีข้อของศีล ดังที่เรียกกันว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

หรือว่าเรียกอย่างอื่นตามข้อของศีล หรือตามอาการของศีล

และศีลที่มีข้อหรือมีอาการดังกล่าวก็เป็นไปตามพระบัญญัติของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงบัญญัติไว้

ศีล ๕ ก็ทรงบัญญัติไว้ เป็นสิกขาบท ๕ ข้อ ศีล ๘ ก็เป็นพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้ ๘ ข้อ ดั่งนี้เป็นต้น

และเมื่อประมวลเข้ามาให้มีลักษณะเพียงอันเดียว ก็คือความปรกติ คือความปรกติกาย ปรกติวาจา ปรกติใจ

อันบังเกิดขึ้นจากความตั้งใจสำรวม อันเรียกตามศัพท์แสงว่าสังวรกายวาจาใจให้เป็นปรกติ

คือไม่ถูกกิเลสกองโลภ กองโกรธ กองหลงต่างๆดึงจิตใจไปให้วิปริตผิดปรกติ จนถึงละเมิดออกไปทางไตรทวารคือกายวาจาใจ

ดังที่ปรากฏเป็นความประพฤติทางกายทางวาจาทางใจต่างๆ ตามอำนาจของโลภโกรธหลง

ฉะนั้นความที่จะปฏิบัติทำศีลให้บริสุทธิ์ดีได้ ก็จะต้องมีความสังวรสำรวมกายวาจาใจ

ให้เป็นปรกติเป็นอันดี สงบ รำงับ กิเลสกองโลภ กองโกรธ กองหลง ต่างๆ ดั่งนี้

จึงเป็นศีลที่บริสุทธิ์ดี ซึ่งมีลักษณะเป็นอันเดียว คือความเป็นปรกติ หรือความปรกติกายวาจาใจ ความสงบกายวาจาใจ

เป็นลักษณะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของศีล ศีลจึงบริสุทธิ์ดี ทิฏฐิความเห็นที่ตรง และก็จะต้องมีความเห็นที่ตรง

ตรงต่อธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และตรงต่อศีล ตรงต่อธรรมที่เป็นตัวความจริง อันมีอยู่ในตน

อันจะทำให้เป็นผู้มีกายวาจาใจที่ตรง

ตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ตรงต่อความถูกต้องอันเป็นตัวความจริง ก็คือถูกต้องจริง

ความเห็นนี้สำคัญมาก หากมีความเห็นไม่ตรงก็จะเป็นความเห็นผิด ทำให้ปฏิบัติผิด

ต่อเมื่อมีความเห็นตรง ตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตรงต่อความถูกต้องจริง

 จึงจะทำให้ปฏิบัติถูก และความเห็นที่ตรงนี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ทำให้ปฏิบัติชอบ

ฉะนั้นทั้ง ๒ ข้อนี้จึงเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้

ให้ปฏิบัติธรรมข้อเบื้องต้นทั้งสองนี้ให้บริสุทธิ์ คือให้เป็นผู้มีศีลที่บริสุทธิ์ดี และให้เป็นผู้มีความเห็นตรง สติ สัมปชัญญะ

และก็ได้ตรัสสอนให้เป็นผู้มีสติคือความระลึกได้ และมีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว

สติคือความระลึกได้ที่ตรัสสอนไว้ก็คือให้ปฏิบัติทำสติความระลึกไป

ในสติปัฏฐานที่ตั้งของสติทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

ส่วนสัมปชัญญะคือความรู้ตัวก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติทำความรู้ตัวในอิริยาบถของร่างกายทั้งหลาย

คือให้มีความรู้ตัวในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยมาข้างหลัง ในการแลในการเหลียว

ในการที่คู้อวัยวะร่างกายเข้ามา ในการที่เหยียดอวัยวะร่างกายออกไป

ในการนุ่งในการห่มต่างๆ ในการกินการดื่มการเคี้ยวการลิ้มต่างๆ ในการขับถ่ายต่างๆ

ในการเดินในการยืนในการนั่งในการนอนในการหลับในการตื่นในการพูดในการนิ่ง

ให้มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวอยู่ ที่ตั้งของสติทั้ง ๔

และพระพุทธองค์ได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติตั้งสติ ในที่ตั้งของสติทั้ง ๔ คือกายเวทนาจิตธรรมไว้เป็นอันมาก

และก็ได้ตรัสเอาไว้ว่า บรรดาผู้เข้ามาใหม่คือนวกภิกษุทั้งหลาย

ก็หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติใหม่ฝ่ายฆราวาสทุกท่านด้วย ให้ปฏิบัติตั้งสติในสติปัฏฐานทั้ง ๔

เพื่อให้มีความหยั่งรู้ในกายเวทนาจิตธรรมทั้ง ๔ นี้ และทั้งได้ตรัสเอาไว้ว่า

แม้พระอรหันต์ขีณาสพผู้สิ้นอาสวะกิเลสแล้ว ก็พึงปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ด้วย

เพื่อที่จะได้พรากจิตออกได้จากกายเวทนาจิตธรรม ซึ่งอันที่จริงท่านก็พรากจิตออกได้แล้ว

แต่เมื่อปฏิบัติพรากจิตจากกายเวทนาจิตธรรมอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย ก็ย่อมจะทำให้ได้ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันยิ่งขึ้น

เป็นการพักจิต อยู่ด้วยสติที่กำหนดในกายเวทนาจิตธรรม

และก็ได้ตรัสสอนเอาไว้ว่า เมื่อปฏิบัติธรรมข้อเบื้องต้นทั้งสอง คือให้มีศีลที่บริสุทธิ์ดี

และให้มีความเห็นตรง ก็ตั้งอยู่ในศีล อาศัยศีลปฏิบัติทำสติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ดังกล่าวนั้น

( เริ่ม ๓๖/๑ ) ในข้อนี้ ที่ตรัสสอนระบุถึงภิกษุใหม่ให้ปฏิบัติในสติปัฏฐาน

และที่ตรัสไว้ว่าแม้พระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลาย ก็ให้ปฏิบัติในสติปัฏฐาน

ก็เป็นอันสรุปว่าทั้งผู้ปฏิบัติเก่ามาแล้ว ทั้งผู้ที่เข้ามาปฏิบัติใหม่ ก็พึงปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ได้ด้วยกัน

และในข้อนี้ก็พึงทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีกว่า การปฏิบัติทำสตินี้เป็นสิ่งสำคัญ

เพราะสติคือความระลึก หากระลึกไปถูกต้องก็เป็นสัมมาสติคือความระลึกชอบ หากระลึกไปผิดก็เป็นมิจฉาสติคือระลึกผิด

ฉะนั้น คำว่าสติคือความระลึกได้นี้จึงเป็นคำกลางๆ เป็นสัมมาสติระลึกชอบก็ได้ เป็นมิจฉาสติระลึกผิดก็ได้

แต่ว่าโดยมากเมื่อกล่าวว่าสติก็มักจะหมายถึงสัมมาสติคือระลึกชอบ จนเป็นที่เข้าใจกันว่าเมื่อพูดว่าสติก็เป็นความระลึกชอบ

แต่อันที่จริงนั้นเป็นคำกลางๆ หากระลึกผิดก็เป็นมิจฉาสติ ระลึกชอบระลึกถูกจึงจะเป็นสัมมาสติ จิต อารมณ์ ก็จิตนี้เองเป็นผู้ระลึก

และความระลึกก็ระลึกด้วยจิตนี้เอง

ฉะนั้น สติจึงเนื่องด้วยจิต

และเมื่อพูดถึงจิต อันหมายถึงจิตใจตามที่เข้าใจกันนี้ ก็ควรจะพูดถึงอารมณ์

คำว่าอารมณ์นั้นได้แก่เรื่องที่จิตคิด ดำริ หรือว่าหมกมุ่นครุ่นคิดถึง ในภาษาไทยบางทีเข้าใจกันว่าหมายถึงตัวจิตเอง

ถ้าจิตดีก็มักจะว่ามีอารมณ์ดี จิตไม่ดีก็มักจะว่ามีอารมณ์ร้ายหรือมีอารมณ์ไม่ดี

จนเป็นที่เข้าใจกันโดยมากว่าอารมณ์เป็นอาการของจิตที่ดีหรือไม่ดีดังกล่าวนั้น

แต่อันที่จริงนั้นคำว่าอารมณ์มิได้หมายถึงตัวอาการของจิตโดยตรง

แต่หมายถึงตัวเรื่อง เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง

เพราะฉะนั้น สติคือความระลึกได้นี้ก็คือระลึกไปในเรื่องอันเรียกว่าอารมณ์ดังกล่าวนั้นเอง

หากว่าระลึกไปในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสกองโลภ กองโกรธ กองหลง หรือของราคะโทสะโมหะ

กิเลสก็บังเกิดขึ้นเป็นราคะความติดใจยินดี โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะความหลง

อันกิเลสคือราคะโทสะโมหะเหล่านี้เองเป็นอาการของจิต คือจิตที่มีอาการเป็นความติดใจยินดี เป็นความชอบใจก็เป็นราคะ

เมื่ออยากได้ก็เป็นโลภะ จิตมีอาการขุ่นมัวขึ้งเคียดขัดเคืองโกรธแค้น ก็เป็นโทสะ

จิตมีอาการง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ฟุ้งซ่านรำคาญ เคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ก็เป็นโมหะ

เพราะฉะนั้น เมื่อสติระลึกไปในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสเหล่านี้ จึงบังเกิดกิเลสเหล่านี้ขึ้นในจิต นิวรณ์ อาการของกิเลส

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงอาการที่เป็นกิเลสเหล่านี้อันบังเกิดขึ้นในจิต เรียกว่า นิวรณ์ อันแปลว่าเป็นเครื่องกั้นจิตเอาไว้มิให้สงบ

และทำให้ตัวปัญญาคือความรู้อ่อนกำลัง กำบังปัญญามิให้บังเกิดขึ้น

และก็แสดงนิวรณ์เอาไว้เป็น ๕ ข้อ

คือกามฉันท์ความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม คือสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ

อันได้แก่รูปหรือเสียงหรือกลิ่นหรือรสหรือโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจต่างๆ

หรือว่าโดยอำนาจของกามคือตัวความใคร่ความปรารถนา

พยาบาทความกระทบกระทั่งขัดเคืองโกรธแค้นมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ

ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

และวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย กุศลราศรี อกุศลราศรี

ตรัสว่าเหล่านี้เป็น อกุศลราศรี อันแปลว่ากองแห่งอกุศลอันบังเกิดขึ้นในจิต

คำว่าราศรีนี้ภาษาไทยเรามักเข้าใจกันอีกอย่างหนึ่ง ดังที่กล่าวกันว่ามีสง่าราศรี อันหมายในทางดี หรือมีราศรีผ่องใส มีราศรีเศร้าหมอง

แต่คำว่าราศรีนี้อันที่จริงแปลว่ากอง ถ้าเป็นกองของอกุศลก็เรียกว่าอกุศลราศรี

แล้วก็ได้ตรัสชี้เอาว่าเมื่อนิวรณ์เหล่านี้บังเกิดขึ้นในจิต ก็ชื่อว่ามีอกุศลราศรีอยู่ในจิต เมื่ออกุศลราศรีมีอยู่ในจิตก็ย่อมแสดงออกมาทางกายได้

ปรากฏเป็นความเศร้าหมองไม่ผ่องใส ก็เป็นอันว่าราศรีไม่ดี

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติทำสติคือความระลึกไปในอารมณ์คือเรื่องอันเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลาย คือใน กาย เวทนา จิต ธรรม

ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ สติคือความระลึกได้ก็เป็นสัมมาสติ และอารมณ์คือกายเวทนาจิตธรรม

อันเป็นที่ตั้งของสติคือความระลึกได้นี้

ก็รวมกันเป็นกุศล ก็เป็นอันว่ามีกุศลราศรี กองแห่งกุศลตั้งขึ้นในจิต จิตก็ผ่องใส เมื่อจิตผ่องใส

ความผ่องใสก็ปรากฏออกมาทางกาย หน้าตาก็ผ่องใสเป็นต้น ก็เป็นอันว่าราศรีดี

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนมิให้ส่งจิตระลึกไปในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของนิวรณ์ทั้งหลาย

เป็นต้นว่าในกามคุณารมณ์ต่างๆ คืออารมณ์ที่เป็นฝ่ายกามคุณ

อันได้แก่เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งปวง เขตของพระพุทธบิดา

และก็ได้ตรัสสอนไว้ด้วยว่า เมื่อส่งจิตให้ระลึกไปในกามคุณารมณ์ดังกล่าว

ก็ชื่อว่าระลึกไปนอกวิสัยนอกเขตของพระพุทธบิดา

มารผู้มุ่งร้ายคือกิเลสก็ย่อมจะจับจิตใจที่ส่งออกไปนี้ไว้ได้ และเข้ามาสู่จิตได้

เพราะฉะนั้นจึงควรส่งจิตให้ระลึกไปในกายเวทนาจิตธรรม อันชื่อว่าเป็นวิสัยเป็นเขตของพระพุทธบิดาที่ทรงสั่งสอนไว้

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะพ้นจากอำนาจของกิเลสมาร มารก็จับจิตวิ่งเข้าสู่จิตมิได้

และในตอนนี้พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเป็นเรื่องนิทานสาธกธรรมะเปรียบเทียบไว้ว่า

นกเหนี่ยวได้โฉบจับนกชนิดหนึ่งที่เรียกว่านกงอนไถ ก็เป็นนกเล็กๆที่ชอบจับอาศัยอยู่ในก้อนดินที่ชาวนาเขาได้ไถนา

แต่ว่าเมื่อนกมูลไถหรืองอนไถนั้นบินไกลออกไปจากก้อนดินไถนาของชาวนา

จึงได้ถูกนกเหยี่ยวจับได้เพื่อที่จะนำไปเป็นอาหาร นกมูลไถก็ร้องคร่ำครวญขึ้นว่า

ที่ถูกนกเหยี่ยวจับได้นี้ก็เพราะว่าบินออกนอกเขตของตน ถ้าหากว่าอยู่ในเขตของตนคือก้อนดินไถนาของชาวนานั้นแล้ว

นกเหยี่ยวก็ไม่สามารถที่จะจับได้ ฝ่ายนกเหยี่ยวมีความคำแหงในกำลังของตน

จึงได้กล่าวว่าเจ้าจะอยู่ที่ไหนเราก็จับได้ทั้งนั้น จึงได้ปล่อยนกมูลไถไป

นกมูลไถก็กลับไปจับอยู่บนก้อนดินไถนาของชาวนา แล้วก็ร้องบอกแก่นกเหยี่ยวว่าพร้อมแล้ว

ฝ่ายนกเหยี่ยวซึ่งมีความคำแหงเหิมในกำลังของตน จึงได้โฉบลงไปโดยแรง

ยังนกมูลไถที่จับอยู่ที่ก้อนดินนั้น นกมูลไถก็หลบเข้าไปในระหว่างก้อนดินทันที

ฝ่ายนกเหยี่ยวที่โฉบลงมาโดยแรงก็มากระทบกับก้อนดินโดยแรงต้องเป็นอันตรายไปเอง

ดั่งนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงนิทานสาธกธรรมดั่งนี้ จึงได้ตรัสสั่งสอนว่า

เธอทั้งหลายอย่าได้ส่งจิตท่องเที่ยวออกไปนอกเขตของพระพุทธบิดา

คืออย่าส่งจิตให้ท่องเที่ยวไปในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย

เพราะถ้าส่งจิตให้ท่องเที่ยวไปในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย

ก็จะเป็นอย่างนกมูลไถ ที่ถูกนกเหยี่ยวจับได้ ก็คือมารนั้นเองก็จะจับจิตที่ท่องเที่ยวออกไปนั้นได้ และวิ่งเข้าสู่จิต

ก่อให้เกิดอกุศลราศรีต่างๆขึ้นในจิต

เพราะฉะนั้นให้เธอทั้งหลายส่งจิตให้ระลึกไป คือท่องเที่ยวไป ในอารมณ์ที่เป็นวิสัยเป็นเขตของพระพุทธบิดา

คือสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ดั่งนี้ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว มารก็จับจิตนี้ไม่ได้

จิตนี้ก็จะประกอบไปด้วยกุศลราศรีทั้งหลาย จะเจริญด้วยธรรมปฏิบัติทั้งปวง

ดั่งนี้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป 
 


เทวธาวิตักกสูตร

วิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐาน 


สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 


อกุศลวิตก กุศลวิตก ๓

ธรรมดาของจิตใจ ๔

เนกขัมมะ ๕

วิธีที่ทรงสอนการปฏิบัติทำสมาธิ ๘

การปฏิบัติในเบื้องต้น ๙ 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๓๖/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๓๖/๒ ( File Tape 30 ) 

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ในเบื้องต้นนี้จะได้แสดงพระสูตรหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เอง

จะเรียกว่ากรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เองก็ได้

พระสูตรนี้พระอาจารย์ผู้สังคายนาพระธรรมวินัยได้ให้ชื่อว่า

เทวธาวิตักกสูตร ที่แปลว่าพระสูตรแสดงการแบ่งวิตกให้เป็นสองส่วน

วิตก หรือ วิตักกะ แปลกันว่าความตรึก ก็คือความคิดนี้เอง

ทุกคนมีความคิดอยู่เป็นประจำ คิดถึงเรื่องโน้นบ้าง คิดถึงเรื่องนี้บ้าง

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงพระองค์เอง ว่าเมื่อพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก่อนจะตรัสรู้

ได้ทรงปฏิบัติแบ่งวิตกคือความคิดของพระองค์ให้เป็น ๒ ส่วน

คือถ้าความคิดเป็นอกุศล อันเรียกว่าอกุศลวิตก

ความคิดความตรึก หรือเรียกรวมๆกันว่าความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศล

ก็ทรงแยกไว้ส่วนหนึ่ง

ถ้าเป็นกุศลวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศล

ก็ทรงแยกไว้อีกส่วนหนึ่ง

อกุศลวิตก อันความคิดที่เป็นอกุศลอันเรียกว่าอกุศลวิตกนั้นได้ทรงแสดงไว้ว่า

ได้แก่กามวิตกความตรึกนึกคิดไปในทางกาม

คือในเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

พยาบาทวิตกความตรึกนึกคิดไปในทางพยาบาทมุ่งร้ายปองร้ายขึ้งเคียดโกรธแค้นขัดเคือง

วิหิงสาวิตกความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียน

เมื่อความคิดทั้ง ๓ นี้บังเกิดขึ้นก็เรียกว่า อกุศลวิตก

ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศล

กุศลวิตก ส่วนกุศลวิตกนั้นก็ได้แก่ เนกขัมมวิตก

ความตรึกนึกคิดไปในทางออกจากกาม

ตั้งต้นแต่ออกทางใจ จนถึงออกบวชทางกาย

อัพพยาบาทวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่พยาบาท มุ่งร้ายปองร้ายโกรธแค้นขึ้งเคียดขัดเคือง

แต่ว่าเป็นความคิดไปในทางเมตตากรุณารักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข มุ่งจะช่วยให้พ้นทุกข์

อวิหิงสาวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน คือในทางช่วยเหลือเกื้อกูลต่างๆ

เมื่อความคิดเหล่านี้บังเกิดขึ้นก็เรียกว่า กุศลวิตก

( เริ่ม ๓๖/๒ )

เมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์แสวงหาพระโพธิญาณ

ก็ได้ทรงมีวิตกทั้งอย่างนี้บังเกิดขึ้นในจิตใจ

วิธีที่ทรงแบ่งให้เป็น ๒ ส่วนนั้น

ก็คือ เมื่ออกุศลวิตก ความตรึกนึกคิดอันเป็นอกุศลข้อใดข้อหนึ่งบังเกิดขึ้น

ก็ทรงกำหนดรู้ ว่าความตรึกนึกคิดข้อนี้บังเกิดขึ้น

เป็นความตรึกนึกคิดที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งตนเองทั้งผู้อื่นบ้าง

เป็นฝ่ายที่ทำให้คับแค้น ดับปัญญา ไม่เป็นไปเพื่อความดับกิเลสและกองทุกข์ ธรรมดาของจิตใจ

เมื่อได้ทรงกำหนดรู้ดั่งนี้ อกุศลวิตกความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลอันบังเกิดขึ้นก็ดับหายไป

จึงได้ทรงทราบถึงธรรมชาติของจิตใจว่า

อันจิตใจนี้หากว่าวิตกคือตรึก วิจารคือตรองไปในทางกามมาก

ก็ย่อมจะละเนกขัมมะวิตก คือความตรึกไปในทางออกจากกามที่ตรงกันข้าม

แต่จะตรึกนึกคิดตริตรองไปในทางกามมาก หรือว่าตรึกตรองไปในทางพยาบาทมาก

ก็จะละความตรึกตรองที่ตรงกันข้าม ที่เป็นไปในทางเมตตากรุณา

แต่จะตรึกตรองไปในทางพยาบาทมุ่งร้ายปองร้ายมาก

หรือว่าเมื่อตรึกตรองไปในทางเบียดเบียนมาก

ก็จะละความตรึกตรองที่เป็นไปในทางตรงกันข้าม

ในทางไม่เบียดเบียน ในทางเกื้อกูล

แต่ว่าตรึกตรองไปในทางเบียดเบียนมาก

เพราะว่าความน้อมไปของจิตใจคือความนึกคิดตรึกตรองนี้

ย่อมเป็นไปตามทางที่จิตคิดนึกตรึกตรองมากนั้นเอง

เมื่อคิดนึกตรึกตรองไปในทางใดมาก ก็น้อมไปในทางนั้นมาก

เป็นธรรมดาของจิตใจ แต่ว่าพระพุทธองค์เมื่อก่อนตรัสรู้ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ดังกล่าวนั้น

ได้ทรงพิจารณาเห็นโทษของอกุศลวิตกทั้งหลายดังกล่าว

จึงทรงคอยปฏิบัติห้ามปรามจิตใจ

มิให้คิดนึกตรึกตรองไปในทางอกุศลวิตกทั้งหลาย

ทรงให้อุปมาไว้เหมือนอย่างว่า

นายโคบาลคือคนเลี้ยงโค ที่ต้อนฝูงโคไปเลี้ยงในฤดูที่ชาวนาเขาทำนา ข้าวกล้ากำลังขึ้นอยู่เต็มนา เมื่อฝูงวัวผ่านนานั้นไป

ฝูงวัวก็ย่อมจะต้องหันซ้ายหันขวา กินข้าวกล้าของชาวนาที่กำลังออกรวงอยู่

นายโคบาลจึงต้องใช้ไม้คอยตีคอยต้อนวัวทั้งหลาย มิให้กินข้าวของชาวนาในนา

แต่ให้เดินผ่านไป เพราะเกรงต่อภัยว่าจะถูกชาวนาทำโทษต่างๆ

เนกขัมมะ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงเป็นเหมือนอย่างนายโคบาล ผู้เลี้ยงรักษาโคคือจิตของพระองค์

เมื่อจิตของพระองค์เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ไปในทางอกุศลวิตกต่างๆ ที่เป็นกามบ้าง เป็นพยาบาทบ้าง เป็นเบียดเบียนบ้าง

จึงได้ทรงคอยห้ามปรามจิตของพระองค์ด้วยวิธีอย่างเบาบ้างอย่างแรงบ้าง

เหมือนอย่างชาวนาที่ต้อนโคให้เดินผ่านไป ไม่กินข้าวของชาวนา

ด้วยวิธีเพียงแต่ร้องใช้เสียง เมื่อไม่ฟังก็ต้องใช้ไม้หวด ตี ขับไล่ต้อน ไม่ให้โคกินข้าวของชาวนาให้เกิดความเสียหาย

พระองค์ก็ใช้วิธีควบคุมจิตของพระองค์เช่นนั้น อย่างเบาบ้างอย่างแรงบ้าง

อย่างเบาก็เป็นการห้ามด้วยสติเฉยๆ อย่างแรงก็ต้องมีการขนาบจิตของตัวเอง ปราบปรามจิตของตัวเอง มิให้คิดไปในอกุศลวิตกทั้งหลาย

แต่ว่าส่งจิตของพระองค์ให้คิดไปในทางกุศลวิตกทั้งหลายอันตรงกันข้าม

คือเนกขัมมะวิตกความตรึกนึกคิดไปในทางออก ออกจากกาม ออกด้วยใจ ออกด้วยกาย

เพราะพระองค์ก็ได้ทรงออกแล้ว ด้วยทรงสละปราสาทราชวัง และทรงสละบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพ เป็นที่รักพร้อมทั้งทรัพย์สินทั้งสิ้นออกบวช

ที่เรียกว่าเสด็จออก มหาพิเนศกรม

เพราะฉะนั้น เมื่อกายออกมาแล้วจิตยังไม่ออก ยังกลับไปพัวพันอยู่ในทางกามบ้าง ทางพยาบาทบ้าง ทางเบียดเบียนบ้าง

จึงทรงปรามจิตของพระองค์ ทรงห้ามจิตของพระองค์ ด้วยวิธีที่เบาบ้าง ด้วยวิธีที่แรงบ้าง

เพื่อให้จิตละเสียซึ่งความนึกคิดตรึกตรองไปในทางอกุศลทั้งหลาย ให้จิตออก อันเนกขัมมะคือความออกนี้

ท่านแสดงว่าแม้ ศีล ก็เป็นเนกขัมมะอย่างหนึ่ง เป็นการออกจากกามอย่างหยาบ

สมาธิ ก็เป็นเนกขัมมะอย่างหนึ่ง เป็นการออกจากกามทางจิตใจ

เพราะว่าจิตที่จะเป็นสมาธินั้น ต้องเป็นจิตที่สงบจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงจะเป็นสมาธิได้

ปัญญา ก็เป็นการออกจากกามที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก จากความยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา ละเสียได้

เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อที่ทุกคนปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นบรรชิต ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์

ตามควรแก่ฐานะภาวะของตน

เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์เมื่อก่อนจะตรัสรู้ ก็ทรงส่งจิตของพระองค์ให้เป็นเนกขัมมะ คือให้ออก

แม้เมื่อพระกายออกแล้วหากจิตยังไม่ออก ก็ต้องคอยปรามให้จิตออก

ไม่ให้กลับพัวพันไปในทางกาม ในทางพยาบาท ในทางเบียดเบียนทั้งหลาย

ดั่งนี้

เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงได้ทรงมีวิตกวิจารความตรึกนึกคิด

ความตรองคิดไปในทางกุศลทั้งหลายคือในทางที่เรียกว่า เนกขัมมะ คือออก

ในทางที่ไม่พยาบาทคือมีเมตตากรุณา

ในทางที่ไม่เบียดเบียน แต่เกื้อกูล

ก็เป็นธรรมดาของจิตใจอีกเหมือนกัน เมื่อน้อมไปในทางใดมาก

จิตก็ย่อมจะตรึกตรองไปในทางนั้นได้มาก และความตรึกตรองไปในทางใดมาก ก็คือน้อมไปในทางนั้นมาก นั้นเอง

เพราะฉะนั้น เมื่อตรึกตรองไปในทางเนกขัมมะคือออก

ในทางไม่พยาบาทคือประกอบด้วยเมตตากรุณา

ในทางไม่เบียดเบียนคือประกอบด้วยความเกื้อกูลอนุเคราะห์ต่างๆ

จิตจึงละความตรึกตรองที่ตรงกันข้ามได้ไปโดยสะดวกเอง

คือละกามวิตกได้ ละพยาบาทวิตกได้ ละวิหิงสาวิตกได้

แต่ว่าตรึกตรองไปในทางที่เป็นกุศลอันตรงกันข้ามได้มาก

จิตน้อมไปได้มาก แล้วก็น้อมไปเองได้โดยลำดับ

ความน้อมของจิตไปในทางใด ย่อมเป็นไปตามความตรึกตรองของจิตนี้เองไปในทางนั้นมาก

และความตรึกตรองของจิตนี้เองไปในทางใดมาก ก็ทำจิตนี้เองให้น้อมไปในทางนั้นได้มาก

และทำให้น้อมไปได้เองโดยลำดับ โดยไม่ลำบาก

เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงตรึกตรองไปในทางกุศลมาก จิตน้อมไปในทางกุศลมาก

จึงได้ทรงรู้ขึ้นด้วยพระองค์เองว่า

แม้ว่าพระองค์จะตรึกตรองในทางกุศลอยู่ตลอดวันตลอดคืน ก็ไม่มีภัยไม่มีอันตราย

ทรงตรึกตรองไปได้ และจิตก็น้อมไปเพื่อจะตรึกตรองไปในทางกุศลดังกล่าวนั้นได้เองด้วย

แต่ว่าก็ทรงรู้ขึ้นว่าเมื่อมีวิตกคือความตรึกวิจารคือความตรองนานเกินไป จิตก็ย่อมฟุ้งซ่าน ไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงละความตรึกความตรองแม้ที่เป็นกุศลนั้น

แต่ทรงนำจิตมาตั้งสงบอยู่ในภายใน ตั้งจิตให้สงบอยู่ในภายใน ไม่ตรึกไม่ตรองถึงอะไร เหมือนอย่างนั่งสงบ นั่งสงบอยู่ในภายใน

ทรงกำหนดจิตอยู่เพียงให้รู้อยู่อย่างเดียว โดยที่ไม่กังวลเพราะวิตกวิจารไปอย่างไรทั้งสิ้น ให้รู้อยู่

และทรงกำหนดอยู่ที่ตัวความรู้อยู่ ที่เป็นภายในนี้อยู่เพียงอันเดียว

ซึ่งได้ทรงให้อุปมาไว้ว่า

เหมือนอย่างว่านายโคบาลนั่นแหละ ที่ต้อนโคไปเลี้ยงในฤดูที่หลังจากชาวนาได้เก็บเกี่ยวแล้ว

ไม่ต้องคอยระแวดระวังฝูงโค ว่าจะไปกินข้าวในนาของชาวนา เพราะเขาเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว

ไม่ต้องกังวล จึงได้ปล่อยโคให้ยืนกินหญ้าอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งตามสบาย

ส่วนตัวของนายโคบาลนั้นเองก็นั่งพักอยู่ที่โคนไม้อันร่มเย็น

ทำความรู้อยู่เพียงว่าโคอยู่ที่นั่น เท่านั้น แต่ไม่ต้องไปคอยกังวลที่จะต้องขับไล่ห้ามปรามฝูงโค ว่าจะไปกินข้าวของเขาดังกล่าวมานั้น

ฉันใดก็ดี พระองค์ทรงหยุดวิตกวิจารแม้ที่เป็นกุศล สงบอยู่ในภายใน

คือตั้งจิตสงบอยู่ในภายใน ทำความรู้อยู่เพียงว่าธรรมะเหล่านี้มีอยู่ มีอยู่ในภายใน

ธรรมะเหล่านี้ก็คือตัวความรู้นี้เอง รู้อยู่ในภายใน

ดั่งนี้ วิธีที่ทรงสอนการปฏิบัติทำสมาธิ นี้เป็นวิธีที่ทรงสอนการปฏิบัติทำสมาธิ หรือเรียกว่าสอนกรรมฐานด้วยพระองค์เอง

ด้วยทรงยกเอาการปฏิบัติของพระองค์เอง ที่ได้ทรงปฏิบัติมาแล้วตั้งแต่เมื่อก่อนตรัสรู้

และทรงได้อาศัยวิธีปฏิบัติดั่งกล่าวนี้เอง

จึงทรงได้สมาธิได้ปัญญายิ่งๆขึ้นไป จนถึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น การปฏิบัติดั่งนี้จึงเป็นวิธีปฏิบัติที่ผู้ปฏิบัติธรรมะจะพึงถือเป็นหลักปฏิบัติ

แม้ในสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ในเบื้องต้นนั้น ก็ปฏิบัติไปตามปัพพะที่ทรงสอน อานาปานปัพพะ

ข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออก ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ปัพพะต่อมาก็ทรงสอนให้กำหนดอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน

ปัพพะต่อมาอีกก็ตรัสสอนให้กำหนดทำความรู้ตัวในอิริยาบถน้อย ที่ย่อยจากอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ นั้น

ละเอียดไปอีก ซึ่งในการปฏิบัตินั้นก็ต้องอาศัยวิตกตรึกวิจารตรองนั้นเอง ตรึกก็คือว่านึกอันได้แก่กำหนด

กำหนดให้รู้ลมหายใจเข้าให้รู้ลมหายใจออก กำหนดให้รู้อิริยาบถยืนเดินนั่งนอน กำหนดให้รู้อิริยาบถที่ปลีกย่อยออกไปจากอิริยาบถทั้ง ๔ นี้

ก็คือตัวสตินั้นเอง แต่ว่าในที่นี้เรียกแยกออกไปว่าวิตกวิจารตรึกตรอง ก็คือสตินั้นเอง

เป็นการปฏิบัติที่หัดน้อมจิตเข้ามา กำหนดตรึกตรองอยู่ในลมหายใจเข้าออก ในอิริยาบถ

เพื่อมิให้จิตน้อมไปในเรื่องอื่นอันเป็นฝ่ายอกุศลที่เรียกว่าอกุศลวิตก

เพราะว่าถ้าปล่อยจิตไว้ไม่มายึดในกรรมฐานดังกล่าว

จิตก็ย่อมจะเหมือนอย่างฝูงโคที่เดินไปในนาที่สะพรั่งไปด้วยข้าวกล้า

ก็ย่อมจะเหลียวซ้ายเหลียวขวา เดินซ้ายเดินขวา กินข้าวกล้าของชาวนา

ฉันใดก็ดีจิตนี้ก็จะคิดไปในทางอกุศลวิตกต่างๆ เป็นกามวิตกบ้าง พยาบาทบ้าง วิหิงสาบ้าง ดังกล่าวมาแล้ว การปฏิบัติในเบื้องต้น

เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติเบื้องต้น

จึงต้องหัดน้อมจิตมาในทางกุศลวิตก ก็คือกำหนดลมหายใจเข้าออก กำหนดอิริยาบถ อันนับว่าเป็นกุศลวิตก

เป็นการหัดจิตให้น้อมมาในทางกุศลวิตก

แต่ว่าในทีแรกนั้นยากที่จิตจะน้อมมาได้

ก็เหมือนอย่างที่โคเดินไปในระหว่างข้าวกล้าสองข้างในนา

ที่จะห้ามมิให้โคเหลียวซ้ายเหลียวขวา กินข้าวของชาวนานั้นยาก

โคบาลคือผู้ปฏิบัติจึงต้องปรามจิตของตัวเอง

ซึ่งเหมือนอย่างโคดังกล่าวนั้น ไม่ให้เหลียวซ้ายเหลียวขวา เดินซ้ายเดินขวา กินข้าวของชาวนา

คือไม่ให้จิตน้อมคือซัดส่ายไปในทางอกุศลวิตกทั้งหลาย

ในการปรามจิตนั้นก็จะต้องใช้วิธีที่เบาบ้าง วิธีที่แรงบ้าง จะต้องใช้ไม้ จะต้องใช้ไม้ตีจิต

อันหมายความว่าจะต้องดุ จะต้องว่า จะต้องปรามจิตของตัวเองให้แรงขึ้น

จิตก็เหมือนโคเมื่อปรามให้ถึงที่แล้วจิตก็จะละได้ซึ่งอกุศลวิตกทั้งหลาย

เหมือนอย่างฝูงโคที่ถูกนายโคบาลหวดเอาแรงๆเข้า

ก็จะต้องวิ่งเตลิดไปไม่กล้าที่จะกินข้าวของชาวนาเขาได้ จิตก็เช่นเดียวกัน

ต้องหวดเข้าไปให้แรงๆที่จิตใจของตัวเอง คือว่าแนะนำตักเตือน

อบรมจิตของตัวเองให้มาก

แล้วจิตนี้เองก็จะหยุดได้จากความคิดที่เป็นอกุศลวิตกทั้งหลาย

หัดให้น้อมมาคือให้ตรึกตรองในกุศลวิตก ก็คือในลมหายใจ ในอิริยาบถเป็นต้น

ดังที่ตรัสแสดงไว้ในสติปัฏฐานนี้ทุกข้อทุกบท ข้อใดบทหนึ่งบทใดก็ได้

และเมื่อหัดให้น้อมจิตมาอยู่เสมอดั่งนี้แล้ว

ความน้อมของจิตก็จะเป็นมา ก็จะเป็นไปเอง คือจะน้อมเข้ามาเองได้ง่ายขึ้น จนถึงน้อมมาอยู่ตัว

และเมื่อน้อมมาอยู่ตัวแล้ว การปฏิบัติทำสมาธิก็ง่ายขึ้น แปลว่าจิตจะไม่น้อมไปในทางอกุศล แต่จะน้อมมาทางกุศลได้ง่ายขึ้น ได้ถนัดขึ้น

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วภาระในการที่จะต้องวิตกวิจาร ในลมหายใจเข้าออก ในอิริยาบถ เป็นต้น

ก็ลดลง ไม่จำเป็นต้องใช้วิตกวิจาร ทำจิตให้นั่งสงบอยู่ในภายใน

ทำความรู้อยู่แต่เพียงว่าธรรมเหล่านี้มีอยู่ ลมหายใจมีอยู่ มีอยู่ที่ใจ ใจที่รู้ อิริยาบถมีอยู่ มีอยู่ที่ใจ ใจที่รู้

ไม่ต้องไปตรึกตรองกำหนดในลมหายใจ ในอิริยาบถที่เป็นภายนอก กำหนดดูที่ใจ ใจที่เป็นตัวรู้ รู้อยู่

ดั่งนี้ เมื่อเป็นดั่งนี้ลมหายใจก็ดี อิริยาบถก็ดี ข้ออื่นก็ดี ก็มารวมเป็นตัวธรรมะ คือธรรมารมณ์นั้นเอง

ตั้งอยู่ในจิตเพียงอันเดียว จิตก็อยู่ที่นี่ เวทนาก็อยู่ที่นี่ กายทั้งหมดก็อยู่ที่นี่

สติปัฏฐานทั้ง ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็รวมอยู่ที่ในจิต ที่เป็นตัวรู้

รู้ที่อยู่กับธรรมะคือธรรมารมณ์ในจิตนี้เองเท่านั้น ดั่งนี้ก็จะได้สมาธิ ได้สติปัฏฐาน

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป *

 

 

 

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats