ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 12 ธันวาคม 2555 09:17
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป029
ปัญญาที่รู้ที่เห็นในสัจจะทั้ง ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บุถชนคนหนา ๒
กัลยาณบุถุชน ๓
เสขะ อเสขะ เนวเสขานาเสขะ ๔
โสตาปันนะ ๔
อาสวะ ๓ ๕
โทษของอาสวะกิเลส ๖
อะไรควรมนสิการ ๗
ปัญญาที่เห็นทุกข์ ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๓๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๓๔/๒ - ๓๕/๑ ( File Tape 29 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ปัญญาที่รู้ที่เห็นในสัจจะทั้ง ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระพุทธศาสนาสอนให้สังวร คือป้องกันอาสวะทั้งปวง
พระพุทธเจ้าทรงได้พระนามว่าผู้สิ้นอาสวะ
และพระอรหันต์สาวกทั้งหลายก็ได้นามว่าผู้สิ้นอาสวะ
จากคำภาษาบาลีว่า ขีณาสวะ ที่แปลว่าผู้สิ้นอาสวะแล้ว
คำว่าอาสวะนี้ก็เป็นกิเลสชนิดที่ละเอียดซึ่งดองจิตสันดานของสัตว์บุคคลทั้งหลายอยู่ทั่วหน้า
เมื่อยังละไม่ได้ก็เรียกว่าเป็นบุถุชนอันแปลว่าคนหนา
ซึ่งมีความหมายว่ามีกิเลสหนาแน่นอยู่ก็ได้ หมายความว่าจำนวนมากก็ได้
บุถชนคนหนา
และบุถุชนนั้นเมื่อยังเป็นผู้มีกิเลสหนาแน่นมาก
๒
จนถึงไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์
ประกอบกรรมที่ชั่วช้าลามกอยู่เป็นอาจิณ ก็เรียกว่า อันธพาลบุถุชน
คือบุถุชนคนมีกิเลสหนาแน่นที่เป็นผู้โง่เขลาเหมือนอย่างคนตาบอด
ก็คือขาดปัญญาเอาเสียจริงๆ ไม่มองเห็นบาปบุญคุณโทษประโยชน์ไม่ใช่ประโยชน์อะไร
คนที่เขลาปัญญาจริงๆ ไม่มองเห็นบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ดังกล่าวนี้
จึงประกอบอกุศลกรรมต่างๆอยู่เป็นอาจิณ ก็เรียกว่า อันธพาละ หรืออันธพาล
คำว่าพาลนั้นภาษาไทยมักจะเข้าใจกันว่าคนที่เกเร ประพฤติไม่ดี
หาเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ประทุษร้ายบุคคลอื่นอยู่เนืองๆ ก็มักจะเรียกกันว่าพาล
ตามศัพท์นั้นพาลแปลว่าเขลา แปลว่าอ่อน แม้เด็กอ่อนที่ยังไม่รู้เดียงสาอะไร
บางทีก็เรียกว่า พาละกะ หรือพาลเหมือนกัน แต่ก็ไม่ค่อยใช้เรียกกัน
มักจะเรียกมุ่งเอาถึงผู้ที่ควรจะรู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ได้บ้าง
แต่ก็ไม่รู้ มีจิตใจที่เขลา มืดมิด น้อยหรือมาก ถ้ามากก็เรียกว่าอันธพาล
คือมีอันธะที่แปลว่าคนบอด คือคนตาบอด เทียบเหมือนอย่างว่าตาบอดมองไม่เห็นอะไร
แต่ในที่นี้หมายถึงใจบอด ใจที่มืดมิดไม่มีปัญญาเป็นแสงสว่างที่จะให้มองเห็นอะไร
ก็เป็นอันธพาลบุถุชน
คราวนี้เมื่อรู้จักบาปบุญคุณโทษขึ้นบ้าง แต่ว่าก็ยังมืดมิดอยู่เป็นส่วนมาก
แม้จะสว่างขึ้นบ้าง เรียกว่ายังมัวๆ ยังมัวมาก พอจะรู้จักบาปบุญคุณโทษอะไรบ้าง
แต่ก็ยังละบาปบำเพ็ญบุญ หรือละความชั่วบำเพ็ญความดีไม่ได้ตามสมควร
ก็เป็นบุถุชนทั่วๆไป ไม่ถึงเป็นอันธพาลดังกล่าว
กัลยาณบุถุชน
ส่วนบุถุชนนั้นเองซึ่งได้สดับตรับฟังธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ได้รับคำแนะนำอบรม ก็เป็นกัลยาณบุถุชน คือเป็นบุถุชนที่เป็นคนดีคนงาม
๓
สามารถละอกุศล ละบาปละความชั่วกระทำความดีได้
ตั้งอยู่ในศีลธรรม หรือปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาได้มากขึ้นๆ
ก็เป็นกัลยาณบุถุชนที่ดีขึ้นๆไปโดยลำดับ จนถึงปัญญานี้เองแจ่มแจ้งขึ้น
ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสมาธิ ทำให้ได้ธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรม
จนถึงกำจัดสัญโญชน์คือกิเลสที่ประกอบอยู่กับจิตใจ ผูกจิตใจอยู่ได้บางส่วนเด็ดขาด
ก็เลื่อนขึ้นเป็นอริยบุคคล ละภาวะเป็นบุถุชน และเมื่อละสัญโญชน์ได้หมดสิ้น
ก็เป็นอริยบุคคลชั้นสุดยอด ดังที่เรียกว่าพระอรหันต์ หรืออรหันตบุคคล
หรือเรียกว่าขีณาสวะผู้สิ้นอาสสวะ เป็นผู้หมดกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ในพุทธศาสนา
เสขะ อเสขะ เนวเสขานาเสขะ
และได้มีคำเรียกอีกว่า สำหรับท่านผู้ที่ละสัญโญชน์ได้บางส่วนเด็ดขาด
แต่ยังไม่หมดก็เรียกว่า เสขะ ที่แปลว่าผู้ศึกษา หรือแปลว่านักศึกษา
เมื่อละสัญโยชน์ได้หมดสิ้นก็เรียกว่า อเสขะ ที่แปลว่าผู้ไม่ต้องศึกษา
หรือว่าศึกษาจบแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป
ส่วนบุถุชนทั้งหมด จะเป็นอันธพาลบุถุชนก็ดี บุถุชนธรรมดาก็ดี กัลยาณบุถุชนก็ดี
ซึ่งยังละสัญโยชน์อะไรไม่ได้ เรียกว่า เนวเสขานาเสขะ
ที่แปลว่าเป็น เสขะ ก็ไม่ใช่ คือเป็นนักศึกษาก็ไม่ใช่
เป็น อเสขะ คือเป็นผู้จบการศึกษาแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไปก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้นในทางพระพุทศาสนานั้นจึงยังไม่ยอมเรียกบุถุชนว่าเป็นนักศึกษา
ต่อเมื่อได้ละสัญโญชน์ได้บางส่วนเด็ดขาดแล้วแต่ยังไม่หมด จึงยอมเรียกว่านักศึกษา
จนถึงละได้หมดก็เรียกว่าศึกษาจบ ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป
โสตาปันนะ
และตามที่กล่าวเรียกนี้จึงจับความได้ว่า จะถือว่าเป็นนักศึกษานั้นจะต้องเข้าทางแล้ว
๔
การเข้าทางแล้วก็คือว่าต้องเข้ากระแสธรรมแล้ว
ผู้ที่เข้ากระแสธรรมแล้วเรียกว่า โสตาปันนะ อันแปลว่าผู้ถึงกระแสธรรมแล้ว
เข้ากระแสธรรมแล้วคือว่าเข้าทางแล้ว ไม่ออกจากทางที่ถูกต้องนั้นอีกต่อไป
มีแต่จะเดินก้าวหน้าไปสู่ทางอันถูกต้องนั้นยิ่งๆขึ้นไป จนถึงที่สุด
และที่ว่าศึกษานั้นโดยตรงก็คือศึกษาปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘
ย่อลงก็เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญานั้นเอง
ที่ท่านยังไม่ยอมเรียกบุถุชนว่าเป็นนักศึกษานั้น
ก็เพราะว่าบางคราวก็ปฏิบัติอยู่ในศีลในสมาธิในปัญญา คือว่าเข้าทาง
แต่บางคราวก็ออกจากทางคือไม่ปฏิบัติอยู่ในศีลในสมาธิในปัญญา
หรือปฏิบัติอยู่ในทางแห่งอกุศลทั้งหลาย ดั่งที่เรียกว่าอกุศลกรรมบถ ทางแห่งอกุศล
เพราะฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าเป็นนักศึกษาที่แท้จริง เพราะยังเข้าทางบ้าง ออกนอกทางบ้าง
ทุกๆคนเมื่อพิจารณาดูที่ตนก็จะพึงเห็นได้ดั่งนั้น
บางคราวก็ปฏิบัติเข้าทางของศีลของสมาธิของปัญญา
บางคราวก็ปฏิบัตินอกทางของศีลของสมาธิของปัญญา เป็น อนิยต คือไม่แน่นอนอยู่ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นจึงไม่นับว่าเป็นนักศึกษาที่ปฏิบัติอยู่ในศีลในสมาธิในปัญญา
อยู่ในทางจริงๆโดยไม่ออกไปนอกทาง
อาสวะ ๓
ทั้งนี้ก็เพราะว่ายังมีกิเลสหนาแน่น ยังละไม่ได้แม้บางส่วน
บรรดากิเลสที่หนาแน่นนั้น ที่ดองจิตสันดานอยู่ก็เรียกว่าอาสวะ
ที่แปลว่าดองสันดานก็ได้ เหมือนอย่างของหมักดองทั้งหลาย อันเป็นกิเลสอย่างละเอียด
พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงชี้แจงเอาไว้ให้ทุกๆคนได้ทราบว่ามีอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดานนี้อยู่
แม้ว่าตัวเองจะไม่มองเห็นอาสวะของตัวเองก็ตาม แต่ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกเอาไว้ว่ามี
๕
และก็ทรงชี้ไว้ว่ากิเลสที่ดองสันดานอยู่อันเป็นอย่างละเอียดนี้ แบ่งได้เป็น ๓
คือ ๑ กามาสวะ กิเลสดองสันดานคือกามอันได้แก่ความใคร่ความปรารถนา
๒ ภวาสวะ กิเลสดองสันดานคือภพ อันได้แก่ความเป็นตั้งต้นแต่ความเป็นเราเป็นของเรา
อันเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น
๓ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา อันได้แก่ความไม่รู้
คือไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวจริง ที่เป็นของจริงเป็นของแท้ ที่เป็นความจริงที่เป็นความแท้
อาสวะจึงมี ๓ ที่ดองสันดานของบุถุชนทุกคนอยู่
หรือจะเรียกว่าดองสันดานของสัตว์โลกทั้งปวงอยู่ จะเป็นเทวดามารพรหม จะเป็นมนุษย์
จะเป็นสัตว์เดรัจฉาน จะเป็นสัตว์นรกจกเปรตอสุรกาย เป็นพวกอบายภูมิต่างๆก็ตามที
ย่อมมีอาสวะทั้ง ๓ นี้ดองจิตสันดานอยู่ด้วยกันทั้งนั้น และก็เรียกว่าเป็นสัตว์โลกทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นจึงเป็นบุถุชน บุถุสัตว์โลกทั้งหมด
โทษของอาสวะกิเลส
พระพุทธเจ้าผู้รู้ผู้เห็น ผู้กำจัดอาสวะกิเลสที่ดองสันดานนี้ได้สิ้นเชิงทั้งหมด
จึงได้ตรัสบอกเอาไว้แก่เวไนยนิกร คือหมู่ชนที่จะพึงฝึกได้ แนะนำได้ทั้งปวง
ไม่ว่าจะเป็นบุถุชน ไม่ว่าจะเป็นอริยชนที่ยังละกิเลสไม่ได้หมด
สำหรับที่จะได้สดับตรับฟัง นำมาตรวจตราพิจารณาดู
ให้รู้ว่าตนเองของแต่ละบุคคล ยังมีอาสวะทั้ง ๓ นี้ดองจิตสันดานอยู่
ยังมีกามคือความใคร่ความปรารถนา ยังมีภพความเป็นคือเป็นเราเป็นของเรา
ยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นของจริงของแท้อยู่
และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงต้องอยู่ในกองทุกข์ ตั้งต้นแต่ชาติทุกข์ ทุกข์คือความเกิดเป็นต้น
ยังต้องประกอบกรรมที่ดีบ้างที่ชั่วบ้าง อันนำให้เกิดสุขบ้างเกิดทุกข์บ้าง
เมื่อมีความมัวเมาประมาทมากก็ประกอบกรรมชั่วมาก
เมื่อมีความมัวเมาประมาทน้อยก็ประกอบกรรมชั่วน้อย ไม่แน่นอน
๖
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้ตรัสสอนให้มองเห็นโทษของอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานอยู่นี้
และตั้งใจปฏิบัติสังวร คือระมัดระวังป้องกันอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดานเหล่านี้
ที่ยังมิเกิดก็ไม่ให้เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องละเสีย
โดยที่ด้วยทรงสั่งสอนไว้เป็นหลักขั้นต้นว่า
ไม่ทรงตรัสความสิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานแก่ผู้ที่ไม่รู้ไม่เห็น
แต่ว่าทรงตรัสความสิ้นอาสวะแก่ผู้รู้ผู้เห็น
ตามที่ตรัสเตือนไว้เป็นหลักนี้เป็นข้อที่ให้ผู้ฟังมีความสำนึกว่า
เมื่อรู้เมื่อเห็นจึงจะปฏิบัติให้สิ้นอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานได้
เมื่อไม่รู้ไม่เห็นก็ปฏิบัติให้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้รู้เป็นผู้เห็น
อะไรควรมนสิการ
ต่อจากนี้ก็ได้ตรัสขยายความออกไปว่ารู้เห็นอะไร
ก็ทรงเฉลยไว้ว่าคือรู้เห็นว่าอะไรควรจะมนสิการ คือทำไว้ในใจหรือใส่ใจถึง
อะไรไม่ควรมนสิการ คือไม่ควรทำไว้ในใจไม่ควรใส่ใจถึง
และก็ได้ตรัสชี้แจงให้แจ่มแจ้งต่อไปอีกว่าทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า
อะไรควรจะมนสิการคือใส่ใจถึง อะไรไม่ควรมนสิการคือไม่ควรจะใส่ใจถึง
ก็ได้ทรงวางหลักเอาไว้ว่า
เมื่อมนสิการคือใส่ใจถึงเรื่องอะไรสิ่งอะไร อาสวะคือกามความใคร่ความปรารถนา
อาสวะคือภพความเป็นนั่นเป็นนี่ คือความเป็นเราเป็นของเรา
อาสวะคืออวิชชาความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญงอกงามยิ่งขึ้น คือว่าเพิ่มกามความใคร่ความปรารถนา
เพิ่มภพความเป็นเราเป็นของเรา เพิ่มอวิชชาคือความเขลาความไม่รู้
๗
เรื่องนั้นแหละ สิ่งนั้นแหละ ไม่ควรจะมนสิการคือใส่ใจถึง
แต่ว่าเรื่องอันใดสิ่งอันใดที่เมื่อมนสิการคือใส่ใจถึงแล้ว
อาสวะกิเลสที่ดองสันดานดังกล่าว ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วก็ละไปได้
เรื่องนั้นแหละ สิ่งนั้นแหละ ควรมนสิการคือใส่ใจถึง
ทรงวางหลักสำคัญไว้ดั่งนี้
ซึ่งหลักที่ทรงวางไว้นี้ทุกคนอาจจะมากำหนดดูได้ที่ใจของตัวเอง
เพราะว่าใจของตัวเองนี้มีมนสิการคือใส่ใจอยู่ซึ่งเรื่องต่างๆ
คือรับเอาเรื่องต่างมาใส่ไว้ในใจ มาสุมไว้ในใจ มากองไว้ในใจอยู่มากมาย
และเรื่องที่มาใส่ไว้ในใจ มากองไว้ในใจ มาสั่งสมไว้ในใจเหล่านี้
บางทีก็ทำให้เกิดกามคือความใคร่ความปรารถนา
บางทีก็ทำให้เกิดภพคือความเป็นเราเป็นของเรา
บางทีก็ทำให้เกิดอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
ปกปิดสัจจะที่เป็นตัวความจริงเสีย
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ให้รู้ว่า สิ่งที่มากองไว้ในใจ มาใส่ไว้ในใจ ทั้งปวงนั้นไม่ดีมีโทษ
ไม่ควรจะนำมาใส่ไว้ในใจ ทุกคนก็รู้หากนำมาพิจารณาดู คือนำใจมาพิจารณาดูใจของตัวเอง
คราวนี้หากเรื่องอะไรที่นำมามาใส่ไว้ในใจ แล้วทำให้ไม่เกิดกามคือความใคร่ความปรารถนา
ไม่เกิดภพคือความเป็นเราเป็นของเรา ไม่เกิดอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
และทำให้อาสวะเหล่านี้ที่มีอยู่นั้นลดน้อยลงไป
เรื่องนั้นสิ่งเหล่านั้นแหละควรมนสิการ คือทำไว้ในใจ ใส่ใจถึง
ทุกคนพิจารณาดูใจของตัวเองก็ย่อมจะเห็นได้ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเมื่อได้ทรงแสดงธรรมะที่เป็นตัวหลักไว้ดั่งนี้แล้ว
จึงได้ตรัสชี้ทางปฏิบัติสำหรับที่จะสังวร คือป้องกันอาสวะกิเลสดองสันดาน
ทั้งปวงที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้ดับไปได้ ไว้เป็นข้อๆ
๘
ปัญญาที่เห็นทุกข์
ข้อหนึ่งที่จะนำมาแสดงในวันนี้ก็คือว่า ให้สังวรคือป้องกันดังกล่าว
ด้วยทัศนะคือปัญญาที่รู้ที่เห็น โดยตรงก็คือปัญญาที่รู้ที่เห็นในสัจจะทั้ง ๔
คือในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ตามที่ได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ โดยย่อในทุกข์ก็คือให้พิจารณาให้เห็นทุกข์
ตั้งต้นแต่สภาวะทุกข์ ทุกข์ตามสภาพ คือเกิดแก่ตายเป็นทุกข์
และให้รู้จักทุกข์ที่บังเกิดขึ้นทางจิตใจทั่วๆไปคือความโศกความแห้งใจ
ความปริเทวะคร่ำครวญรัญจวนใจ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจ เป็นทุกข์
รวมเข้าก็ในความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ รวมเข้าก็ปรารถนาไม่ได้สมหวังเป็นทุกข์
ย่อเข้าก็ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ
หัดพิจารณาให้รู้จักทุกข์ตามที่ทรงสั่งสอนเอาไว้นี้นี่แหละ
และให้รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ก็คือให้รู้จักตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของใจ
เป็นกามตัณหาบ้าง ภวตัณหาบ้าง วิภวตัณหาบ้าง คือดิ้นรนไปเพื่อจะได้ก็เป็นกาม
ดิ้นรนไปเพื่อจะเป็น เป็นนั่นเป็นนี่ก็เป็นภพ ดิ้นรนไปเพื่อจะทำลายสิ่งที่ขัดขวางกาม
ขัดขวางภพของตนก็เป็นวิภวะ เป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
ก็หัดพิจารณาให้รู้จักตัณหาที่ใจของตัวเองนี่แหละ ว่านี่เป็นตัวสมุทัย จนดับตัณหาเสียได้
ทุกข์ก็จะดับไป ก็เป็นนิโรธความดับทุกข์ และให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ย่อเข้าก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา
( เริ่ม ๓๕/๑ ) หัดปฏิบัติให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นที่กายที่วาจาที่ใจ ดั่งนี้
และการปฏิบัติดั่งนี้เองก็เรียกว่าเป็นการมนสิการคือใส่ใจในสิ่งที่ควรใส่ไว้ในใจ
คือนำเอาปัญญาที่รู้เห็นในสัจจะทั้ง ๔ นี้มาใส่ไว้ในใจ ใจจึงประกอบด้วยปัญญาที่รู้ที่เห็น
และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็เป็นอันว่า ใจนี้เองก็พ้นจากเรื่องหรือสิ่งที่ไม่ควรจะนำมาใส่ไว้ในใจ
๙
อันเรื่องที่ไม่ควรจะนำมาใส่ไว้ในใจนั้น
ก็คือเรื่องที่ยึดถืออยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์เหล่านี้ว่าเป็นสุข ติดอยู่ในตัณหา
จึงเป็นอันว่าติดอยู่ในทุกข์ และปฏิบัตินอกทางของศีลสมาธิปัญญา ของมรรคมีองค์ ๘
เป็นทางอกุศลกรรมบถต่างๆ เป็นทางของกิเลสต่างๆ นั่นไม่ควรจะใส่ไว้ในใจ
แต่ว่านำเอาทัศนะคือปัญญาที่รู้ที่เห็นในสัจจะทั้ง ๔ นี้มาใส่ไว้ในใจ
ก็เป็นอันว่าได้นำเอาศีลสมาธิปัญญา หรือมรรคมีองค์ ๘ มาใส่ไว้ในใจ
นำเอาความดับทุกข์มาใส่ไว้ในใจ ใจก็พ้นทุกข์ได้แม้ในขณะที่ปฏิบัติ
แม้ว่าจะยังเป็นการทำได้ชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม ก็ยังเป็นอันว่าได้หัดให้พบกับความดับทุกข์ได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
อินทรีย์ ๖ ๓
โมหะเป็นพื้นของความยินดียินร้าย ๔
สติพิจารณาโดยแยบคาย ๕
ความสำรวมอินทรีย์ ๖
นิวรณ์เพราะขาดอินทรียสังวร ๖
อำนาจของอินทรีย์ ๖ ๗
จิตเหมือนสัตว์ ๖ จำพวก ๙
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๓๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อหน้า ๓๕/๒ ( File Tape 29 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระบรมศาสดาได้ทรงสอนวิธีที่จะละอาสวะ
คือกิเลสที่ดองสันดานไว้หลายประการ ได้แสดงไปแล้วข้อหนึ่ง
คือละด้วยปัญญาที่รู้ที่เห็น หรือว่าสังวรป้องกันอาสวะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
ละอาสวะที่เกิดขึ้นแล้วด้วยปัญญาที่รู้ที่เห็น
จึงมาถึงข้อที่ ๒ ได้ตรัสสอนให้ละหรือให้สังวร
คือระมัดระวังป้องกันอาสวะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
ละอาสวะที่เกิดขึ้นแล้วด้วยสังวรคือความสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ
ซึ่งเรียกด้วยภาษาธรรมะว่า อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์
จึงจะอธิบายข้อนี้โดยจะเริ่มด้วยอธิบายคำว่าอินทรีย์ในที่นี้
ที่อาจารย์ท่านสอนกันมาให้แปลว่าเป็นใหญ่
๒
อินทรีย์ ๖
โดยอธิบายว่าจักขุคือตาชื่อว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการดูการเห็นรูป
โสตะคือหูชื่อว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการฟังในการได้ยินเสียง
ฆานะคือจมูกได้ชื่อว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการสูดดมหรือทราบกลิ่น
ชิวหาคือลิ้นชื่อว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการได้ลิ้มหรือได้ทราบรส
กายได้ชื่อว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการถูกต้องหรือได้ทราบโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง
มโนหรือมนะคือใจได้ชื่อว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการได้รู้ธรรมะคือเรื่องราว ดั่งนี้
อินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ก็คือสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้
สำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมมนะคือใจ
สำรวมอย่างไรก็คือว่ามีความสำรวมคือความป้องกัน ความระมัดระวังด้วยสติ
ในทุกเวลาที่ตากับรูปได้ประจวบกัน หูกับเสียงได้ประจวบกัน
จมูกกับกลิ่นได้ประจวบกัน ลิ้นกับรสได้ประจวบกัน
กายและสิ่งที่กายถูกต้องได้ประจวบกัน มโนคือใจและธรรมะคือเรื่องราวได้ประจวบกัน
พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้ทุกข้อว่าให้พิจารณาโดยแยบคาย
สำรวมอินทรีย์คือตา ก็คือในขณะที่ตากับรูปประจวบกัน หรือที่เรียกกันง่ายๆว่าตาเห็นรูป
ก็มีสติคอยสำรวมระวังเอาไว้ มิให้ยึดถือสิ่งที่ตาเห็นนั้นเกิดความยินดีเกิดความยินร้าย
อันเรียกว่านำกิเลสให้ไหลเข้ามาท่วมจิตใจสู่จิตใจ คือระมัดระวังมิให้เป็นอารมณ์
ที่นำความยินดีความยินร้ายไหลเข้ามาสู่จิตใจ ท่วมจิตใจ
อันความยินดีความยินร้ายที่ไหลเข้ามาท่วมจิตใจทางตานี้แหละ
ได้ชื่อว่าเป็นอาสวะอย่างหนึ่ง ตามที่ได้กล่าวแล้วว่าอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตใจ
หรือดองจิตสันดาน ก็ไหลเข้ามาทางตานี้นั้นเอง โดยที่ยึดถือเป็นอารมณ์
เกิดความยินดีเกิดความยินร้ายขึ้นในจิต ท่วมจิตใจ
๓
ซึ่งเรียกว่าดองก็เพราะเหตุว่าทำให้จิตใจนี้แปรปรวน เหมือนอย่างน้ำดองของเมา
เดิมก็เป็นน้ำธรรมดา และเมื่อมามีเชื้อแห่งความเมาผสมในน้ำนั้น อันเรียกว่าดอง
ก็คือว่าผสมอยู่นานๆก็ทำให้น้ำที่เป็นน้ำธรรมดานั้นกลายเป็นน้ำเมาขึ้นมา
ดังที่เราเรียกกันว่าน้ำดองของเมา ซึ่งเป็นลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าเมรัย
แต่เมื่อมีการกลั่นให้เป็นของเมาขึ้นมาด้วยความร้อน ก็เรียกว่าน้ำกลั่นก็คือสุรา
น้ำเมาที่เป็นน้ำกลั่นเรียกว่าสุรา น้ำเมาที่เป็นน้ำดองเรียกว่าเมรัย
สุรานั้นคือน้ำกลั่นที่เป็นน้ำเมาก็เป็นสุราทั่วๆไป น้ำดองที่เป็นน้ำเมานั้นก็เช่นน้ำกระแช่
โมหะเป็นพื้นของความยินดียินร้าย
ส่วนที่เป็นกิเลสนี้เราใช้โวหารเรียกกันว่าดองจิตสันดาน
ก็คืออารมณ์ที่นำกิเลสเป็นความยินดียินร้ายเข้ามาสู่จิตใจทางตา
ก็มาดองจิตใจอยู่ ก็เรียกว่าดองจิตใจ ทำให้จิตใจที่เป็นจิตใจเคยเป็นจิตใจปรกติ
ก็เป็นจิตใจที่แปรปรวนขึ้นมา เรียกว่าเป็นจิตใจที่มึนเมา หรือมัวเมาขึ้นมา
หรือหากว่าจะใช้โวหารของคำว่าน้ำกลั่นคือสุรา ว่ามากลั่นจิตใจให้แปรปรวน
คือมัวเมาขึ้นมาก็ได้ แต่มักจะเรียกกันว่าดองจิตใจ จะเรียกว่ากลั่นจิตใจก็ได้เหมือนกัน
แต่หมายกลั่นให้แปรปรวนมัวเมาขึ้นมา อันเป็นลักษณะของโมหะคือความหลง
ซึ่งเป็นพื้นของความยินดีความยินร้ายต่างๆ
แต่ว่าสำหรับที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในข้อนี้
ท่านใช้ว่า อภิชฌา คือยินดี โทมนัส คือยินร้าย อันเป็นอาการที่ปรากฏพิจารณาเห็นง่าย
ส่วนอาการที่เป็นความเมาซึ่งเป็นตัวโมหะคือความหลงอันเป็นพื้นนั้นอาจจะเห็นยาก
จึงได้ทรงชี้เอาความยินดีความยินร้ายซึ่งเห็นได้ง่าย สำหรับผู้ปฏิบัติพิจารณาได้ง่าย
ก็เป็นอาสวะคือไหลเข้ามาทางตา มาดองจิตใจให้เมา ให้ยินดีให้ยินร้าย หรือกลั่นจิตใจให้เมา
ให้ยินดีให้ยินร้าย ก็เท่ากับว่าเหมือนอย่างว่าดื่มสุราเมรัยเข้าไปทางคอ ดื่มเข้าไป สุราก็เป็นน้ำเมาที่เป็นน้ำกลั่น เมรัยก็เป็นน้ำเมาที่เป็นน้ำดอง ก็ทำให้จิตใจแปรปรวน มัวเมา
๔
สติพิจารณาโดยแยบคาย
ฉันใดก็ดี เมื่อรับอารมณ์คือรูปทางตาเข้ามาโดยไม่มีสติ จึงยึดถือ ก็เกิดยินดียินร้าย
ไหลเข้ามากลั่นหรือมาดองจิตใจ ให้แปรปรวนให้มัวเมา ให้ยินดีให้ยินร้าย ดั่งนี้
เรียกว่าไม่พิจารณาโดยแยบคาย คือไม่มีสติไม่มีปัญญาที่จะสังวรคือสะกัดกั้นเอาไว้
จึงได้ยึดถือรูปที่ตาเห็นเป็นอารมณ์ให้เกิดความยินดีความยินร้ายดองจิตใจ นี่เป็นอาสวะ
แต่ถ้าหากว่าได้มีสติพร้อมทั้งปัญญาพิจารณาโดยแยบคาย ว่าบัดนี้เรากำลังเห็นรูปดูรูป
และรูปที่ดูที่เห็นนี้ก็สักแต่ว่าเป็นรูป ไม่ควรที่จะมีความยินดีความยินร้าย
คือไม่ควรที่จะยึดถือให้เกิดความยินดีเกิดความยินร้าย ให้ไหลเข้ามาเป็นอาสวะดองจิตใจ
คอยมีสติสำรวมระวังพร้อมทั้งปัญญาที่รู้ รู้เท่าทันอยู่ดั่งนี้
ก็จะทำให้รูปที่เห็นนั้นก็สักแต่ว่าเป็นรูป ไม่ยึดถือเป็นอารมณ์เข้ามาเป็นอาสวะดองจิตใจ
ความที่มามีสติมีปัญญาคอยควบคุมในทุกขณะที่เห็นอะไรๆทางตาดั่งนี้
ก็เรียกว่าพิจารณาโดยแยบคาย สำรวมอินทรีย์คือตา
ทางหูก็เหมือนกัน ได้ยินเสียงอะไรๆทางหู ก็มีสติพร้อมทั้งปัญญาพิจารณาโดยแยบคาย
ไม่ยึดถือให้เกิดความยินดีความยินร้ายไหลเข้ามาเป็นอาสวะดองจิตใจ
ได้ทราบกลิ่นอะไรทางจมูกก็เช่นเดียวกัน มีสติพร้อมทั้งปัญญาพิจารณาโดยแยบคาย
ไม่ยึดถือให้เกิดความยินดีความยินร้ายไหลเข้ามาเป็นอาสวะดองจิตใจ
ได้ทราบรสอะไรทางลิ้นก็เช่นเดียวกัน มีสติพร้อมทั้งปัญญาพิจารณาโดยแยบคาย
ไม่ยึดถือให้เกิดความยินดีความยินร้ายไหลเข้ามาเป็นอาสวะดองจิตใจ
ได้ทราบอะไรทางกายก็เช่นเดียวกัน
คือได้ถูกต้องโผฏฐัพพะสิ่งที่ถูกต้องอะไรทางกาย ก็มีสติปัญญาพิจารณาโดยแยบคาย
ไม่ยึดถือให้เกิดความยินดีความยินร้ายไหลเข้ามาเป็นอาสวะดองจิตใจ
ได้รู้ได้คิดธรรมะคือเรื่องราวอะไรทางมโนคือใจก็เช่นเดียวกัน
มีสติปัญญาพิจารณาโดยแยบคาย ไม่ยึดถือให้เกิดความยินดีความยินร้าย
ไหลเข้ามาเป็นอาสวะดองจิตใจ
๕
ความสำรวมอินทรีย์
ความที่อบรมสติพร้อมทั้งปัญญาคอยพิจารณาระลึกรู้
ให้ทราบอยู่ ให้รู้อยู่ ให้เห็นอยู่ ดั่งนี้ ได้ชื่อว่าสำรวมอินทรีย์
คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ นี้คือ อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์
อาสวะย่อมป้องกันได้ ย่อมละได้ ด้วยอินทรียสังวรนี้ข้อหนึ่ง
อินทรียสังวรนี้เป็นธรรมปฏิบัติอันสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมะทั้งปวง
จะปฏิบัติในศีล จะเป็นปฏิบัติในศีล ๕ ศีล ๘ ปฏิบัติในศีล ๑๐ ของสามเณร
หรือปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์สำหรับภิกษุ
ซึ่งปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติของพระพุทธเจ้า
ก็จะต้องมีอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ดังกล่าวนี้ประกอบอยู่ด้วย
การปฏิบัติในศีลทั้งปวงจึงจะบริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
ถ้าขาดอินทรียสังวรแล้วก็ไม่สามารถจะปฏิบัติในศีลทั้งปวงให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
และอินทรียสังวรนี้ก็จัดเป็นศีลข้อหนึ่งในปาริสุทธิศีลทั้ง ๔
นิวรณ์เพราะขาดอินทรียสังวร
อนึ่ง แม้ในการที่จะปฏิบัติในสมาธิ ก็จะต้องมีอินทรียสังวรช่วยด้วย จึงจะทำสมาธิได้
ถ้าหากว่าไม่มีอินทรียสังวร ก็ไม่สามารถจะทำสมาธิได้ เพราะว่าจะระงับนิวรณ์ไม่ได้
นิวรณ์ที่เป็นอันตรายของสมาธินั้น ก็เพราะขาดอินทรียสังวรนั้นเอง
ก็คือว่าเห็นรูปอะไรทางตา ได้ยินเสียงอะไรทางหู ได้ทราบกลิ่นอะไรทางจมูก
ได้ทราบรสอะไรทางลิ้น ได้ทราบสิ่งถูกต้องอะไรทางกาย ได้รู้เรื่องอะไรที่คิดทางใจ
ก็ยึดถือเป็นอารมณ์ เกิดความยินดีเกิดความยินร้ายไหลเข้ามาท่วมจิตใจ เป็นอาสวะดองจิตใจ
จึงได้เกิดเป็นนิวรณ์ต่างๆขึ้น เป็นกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกามบ้าง
เป็นพยาบาทความโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายหมายล้างผลาญบ้าง
๖
เป็นถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบ้าง
เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจบ้าง เป็นวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงต่างๆบ้าง
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ยากที่จะระงับจิตลงให้เป็นสมาธิได้ จิตก็จะเป็นไปตามอำนาจของนิวรณ์
ฟุ้งซ่านไปต่างๆ หรือว่าถ้าไม่ฟุ้งซ่านก็ง่วงเหงาหาวนอนไป
หรือไม่เช่นนั้น ก็เคลือบแคลงสงสัยอะไรไปต่างๆ ไม่ปักใจแน่นอนลงไป ใจลังเลไม่แน่นอน
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ทำสมาธิไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีอินทรียสังวรช่วย
ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นจึงเว้นอินทรียสังวรเสียไม่ได้
ต้องปฏิบัติอินทรียสังวร มากหรือน้อยตามควรแก่ศีลที่ปฏิบัติ
และตามควรแก่สมาธิที่ต้องการ เมื่อต้องการศีลที่ละเอียด ที่สูง ต้องการสมาธิที่แน่วแน่
ก็จะต้องมีอินทรียสังวรอย่างนี้ เป็นการป้องกันมิให้ยึดถือสิ่งทั้งหลายที่ผ่านเข้ามา
ทางประตูตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ เข้ามาเป็นอาสวะดองจิตสันดานได้
โดยมีสติพร้อมทั้งปัญญาพิจารณาโดยแยบคายอยู่เสมอ
กำหนดระลึกให้รู้เท่าทันอยู่เสมอ ดั่งนี้
อีกประการหนึ่งแม้ว่าในการปฏิบัติที่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้องทั่วๆไปนั้น
แม้ว่าจะไม่คิดว่าจะรักษาศีล จะทำสมาธิ จะอบรมปัญญา ก็ตาม
ก็จำเป็นที่จะต้องมีอินทรียสังวร น้อยหรือมาก
จึงจะสามารถประคับประคองตนให้ดำรงอยู่ในภาวะ ในฐานะอันสมควรได้
และความวุ่นวายทั้งหลายซึ่งบังเกิดขึ้นจากกรรม คือการกระทำ หรือการที่กระทำ ...
อำนาจของอินทรีย์ ๖
( เริ่ม ๓๕/๒ ) ดังจะพึงเห็นได้ว่าคนเป็นอันมากที่วุ่นวายกันอยู่ก็เพราะว่า
ปฏิบัติตกอยู่ใต้อำนาจของอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้
คือใต้อำนาจของตา ของหู ของจมูก ของลิ้น ของกาย ของมนะคือใจ
๗
ไม่เป็นนายของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ
ยกตัวอย่างเช่นว่าปฏิบัติตามอำนาจของตา ก็คือต้องไปดูนั่นไปดูนี่ ที่ตาอยากจะดู
และก็ต้องตบแต่งนั่นตบแต่งนี่ที่ตาเห็นว่าสวยงามต่างๆ
การตบแต่งต่างๆที่สิ้นเปลืองไปเป็นอันมาก ก็เพราะต้องการที่จะสนองความปรารถนาของตา
ที่จะได้ดูได้เห็นสิ่งที่สวยงามเท่านั้น สมมติว่าถ้าตาบอดเสียอย่างเดียวแล้ว
การตบแต่งต่างๆที่ต้องการให้ตาดูตาเห็น ว่าสวยงามนั้นก็จะไม่ต้องมีเลย
แต่ที่ต้องมีนั้นก็เพราะว่าตาต้องการจะดู จึงต้องมีการตบแต่งกันต่างๆสำหรับตา
ทางอื่นก็เหมือนกัน ต้องการตบแต่งกันต่างๆสำหรับหูจะฟัง
ต้องเป็นเสียงที่ไพเราะต่างๆอะไรเป็นต้น ต้องมีการตบแต่งต่างๆสำหรับกลิ่นที่สูดดม
สำหรับลิ้นที่จะลิ้มก็เป็นรสต่างๆ และต้องตบแต่งต่างๆสำหรับกายที่จะถูกต้อง
ตลอดจนถึงต้องตบแต่งต่างๆสำหรับเรื่องที่จะให้ใจคิด เพื่อให้ใจมีความสบาย
ให้ใจมีความสุข มีความเพลิดเพลิน
เหล่านี้ ทุกคนจึงต้องเอาใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจนี้อยู่เป็นอันมาก
และเมื่อสรุปเข้ามาแล้วก็คือว่าต้องเอาใจตัวจิตคือใจนี้เอง นั้นเอง
ที่ต้องการที่จะได้อารมณ์อันเป็นที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางมนะคือใจบ้าง
อันทำให้จิตใจนี้เองต้องดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไป
เพื่อรูป เพื่อเสียง เพื่อกลิ่น เพื่อรส เพื่อโผฏฐัพพะ และเพื่อเรื่องราว
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ
เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตได้ตรัสเปรียบเทียบเอาไว้ถึงสัตว์ ๖ จำพวก
คือว่างูจำพวกหนึ่งที่จะต้องวิ่งไปหาจอมปลวกอันเป็นที่อยู่อาศัย
จรเข้จำพวกหนึ่งที่จะต้องวิ่งไปลงน้ำ นกจำพวกหนึ่งที่จะต้องบินหวือไปในอากาศ
ไก่จำพวกหนึ่งที่จะต้องบินไปสู่บ้านอันเป็นที่อาศัย หรือที่อาศัยของตน
สุนัขจิ้งจอกจำพวกหนึ่งที่จะต้องวิ่งไปสู่ป่าช้า เพื่อที่จะกินทรากศพต่างๆ
ลิงจำพวกหนึ่งที่จะต้องวิ่งหลุกหลิกอยู่บนต้นไม้
๘
จิตเหมือนสัตว์ ๖ จำพวก
ตรัสเปรียบเหมือนอย่างว่า จิตนี้จะต้องวิ่งไปหารูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทางตา
ก็เหมือนอย่างงูที่เลื้อยไปหาจอมปลวก
จิตนี้เองก็ต้องดิ้นรนที่จะไปที่จะได้อารมณ์คือเสียงที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
ก็เหมือนอย่างจรเข้ที่จะวิ่งไปหาน้ำ
จมูกคือจิตนี้เองดิ้นรนไปเพื่อจะได้อารมณ์คือกลิ่นที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
ที่เหมือนอย่างนกบินหวือไปในอากาศ
จิตนี้เองดิ้นรนไปเพื่อจะได้รสที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทางลิ้น
เหมือนอย่างไก่ที่บินไปสู่บ้านหรือที่อาศัยของตน
จิตนี้เองดิ้นรนไปเพื่อจะได้โผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทางกาย
เหมือนอย่างสุนัขจิ้งจอกวิ่งไปสู่ป่าช้าเพื่อจะกินทรากศพ
จิตนี้เองที่ดิ้นรนไปเพื่อจะได้อารมณ์คือธรรมะคือเรื่องราวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
เหมือนอย่างวานรคือลิงที่วิ่งหลุกหลิกไปอยู่บนต้นไม้ ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น จิตนี้เองจึงเป็นเหมือนอย่างสัตว์ ๖ จำพวกดังกล่าวมานี้
ที่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปต่างๆ เพื่ออารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ นี้ ดังกล่าวแล้ว
เพราะฉะนั้น จึงเป็นศีลก็ไม่ได้ เป็นสมาธิก็ไม่ได้ เป็นปัญญาก็ไม่ได้
ฉะนั้นจึงต้องมีอินทรียสังวรอยู่ด้วยกันทุกคน มากหรือน้อย
จะไม่มีเลยนั้นไม่ได้ จึงจะดำรงอยู่ได้ด้วยดี
และเมื่อจะปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ก็จะต้องมีอินทรียสังวรนี้ให้มากขึ้น
และอินทรียสังวรนี้เองก็เป็นเครื่องละอาสวะอีกข้อหนึ่ง อันเป็นข้อที่ ๒
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*