ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป012

มรรค ๘ อินทรีย์ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

วัตรปฏิบัติก่อนตรัสรู้ ๓

มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ ๔

สมาธิในพุทธศาสนา ๕

ข้อปฏิบัติตั้งจิตให้เป็นสมาธิ ๖

อำนาจของกิเลส ๗

กำลังของศรัทธาความเพียร ๘

อินทรีย์ ๕ ๙

วิธีปฏิบัติเพิ่มอินทรีย์พละ ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔/๒ ( File Tape 12 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

มรรค ๘ อินทรีย์ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

สติปัฏฐานเป็นหลักปฏิบัติทั้งเพื่อสมาธิ และทั้งเพื่อปัญญา

แต่ว่าก็ต้องเป็นสติปัฏฐานที่ปฏิบัติให้ตั้งขึ้นในจิต

ให้จิตเป็นสติปัฏฐาน จึงจะเป็นสมาธิและเป็นปัญญาได้

ทางปฏิบัตินั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้ และก็ปรากฏในพุทธประวัติ

ว่าพระองค์ได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว ดังที่มีเล่าว่าตั้งแต่เป็น ..ตั้งแต่ทรงเป็นพระราชกุมาร

ได้ตามเสด็จพระพุทธบิดาไปในพระราชพิธีแรกนาขวัญ

ขณะที่พระพุทธบิดาทรงประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญอยู่

พระราชกุมารน้อยได้ประทับรออยู่ภายใต้ร่มหว้า

ในขณะนั้นพระหทัยของพระองค์ก็รวมเข้ามา กำหนดลมหายใจเข้าออกของพระองค์เอง

ก็ทรงได้สมาธิที่ท่านแสดงว่า ปฐมฌาน อันแปลว่าฌานที่ ๑

ซึ่งก็เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น แต่ว่าสมาธิที่ทรงได้นั้นก็เสื่อมไป

วัตรปฏิบัติก่อนตรัสรู้

ครั้นเมื่อพระองค์ได้เสด็จออกทรงพระผนวช

และได้เสด็จจาริกไปทรงศึกษาในสำนักของสองคณาจารย์เจ้าลัทธิ

ก็มีแสดงว่าได้ทรงศึกษาจบ และทรงปฏิบัติได้เท่าเทียมพระอาจารย์ทั้งสองนั้น

คือทรงทรงได้สมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ อันเป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นอย่างละเอียด

แต่ก็ทรงพิจารณาเห็นว่ามิใช่ทางแห่งโมกขธรรม คือธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น

จึงได้เสด็จออกจากสองสำนักพระอาจารย์นั้น

และก็ได้ทรงปฏิบัติในทุกรกิริยา ทรมาณพระกายให้ลำบากต่างๆ

ก็ทรงเห็นว่ามิใช่ทางอีก ก็ทรงหยุดทุกรกิริยา

ก็ทรงระลึกได้ถึงสมาธิจิตที่ทรงได้ในขณะเมื่อเป็นพระราชกุมารน้อยครั้งนั้น

จึงได้ทรงเริ่มจับทำสมาธิตามวิธีที่ทรงเคยได้ครั้งนั้น

ก็เป็นอันว่าได้ทรงพบทางอันถูกต้อง เพื่อพระปัญญาตรัสรู้

ก็ได้ทรงปฏิบัติไปในทางอันถูกต้องนั้น ซึ่งพระองค์ได้ทรงประกาศไว้ในปฐมเทศนา

โดยเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง

อันได้แก่มรรคคือทางมีองค์ ๘ ประการ คือ

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ

สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ

สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบ

สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ

จึงได้ตรัสรู้พระธรรม อันได้แก่อริยสัจจ์ทั้ง ๔

เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่า มัชฌิมาปฏิปทาที่ทรงพบนั้น

อันที่จริงได้ทรงเริ่มพบแล้วตั้งแต่เป็นพระราชกุมารน้อยนั้น

และก็ได้ทรงแสวงหาไปในสำนักของคณาจารย์ต่างๆ ในวิธีต่างๆ

ที่ได้นับถือและปฏิบัติกัน ก็ได้ทรงพิจารณาเห็นได้ไปโดยลำดับว่าไม่ใช่ทาง

เพราะไม่ทำให้ได้ปัญญาที่ตรัสรู้พระธรรม อันเป็นเหตุให้ละกิเลสและกองทุกข์ได้

กิเลสก็ยังมีอยู่ กองทุกข์ก็ยังมีอยู่

แม้ว่าจะได้สมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ ในสำนักของท่านสองคณาจารย์นั้น

ในที่สุดก็ทรงกลับไปหาวิธีที่ได้ทรงพบเองเมื่อเป็นพระราชกุมารนั้น

จึงอาจจะกล่าวเหมือนอย่างว่า พระองค์เองก็ได้เป็นครูของพระองค์เองนั้นเอง

ก็คือพระราชกุมารน้อยนั้นก็คือพระองค์เอง และเมื่อทรงพระเจริญ

และทรงหาทางแห่งความตรัสรู้ ก็ทรงแสวงหาไปๆ ในที่สุดก็กลับไปหาพระองค์เอง

คือหาวิธีแห่งสมาธิที่ทรงได้ในขณะที่เป็นพระราชกุมารดังกล่าว

มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ

ดั่งนี้ ก็จะพึงเห็นได้ว่า แม้ว่าจะเรียกว่าสมาธิอย่างเดียวกัน เรียกว่าฌานอย่างเดียวกัน

แต่ว่าย่อมมีความแตกต่างกัน สมาธิหรือฌานบางอย่างไม่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้

แต่สมาธิหรือฌานบางอย่างเป็นไปเพื่อความตรัสรู้

อันฌานหรือสมาธิที่ไม่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้นั้น อันจะพึงเรียกตรงกันข้ามกับสัมมาสมาธิ

ว่ามิจฉาสมาธิคือสมาธิที่ผิด (เริ่ม ๑๔/๒ ) แต่ก็เป็นสมาธิเป็นฌานเหมือนกัน

จิตก็แน่วแน่ แนบแน่นเหมือนกัน และก็เป็นจิตที่บรรลุถึงญาณคือความหยั่งรู้

อันเป็นอุตริมนุษธรรม ธรรมที่ยิ่งของมนุษย์ หรือธรรมของมนุษย์ที่ยิ่งได้ทำนองเดียวกัน

แต่ว่าไม่เป็นไปเพื่อปัญญาที่ตรัสรู้ อันเป็นเหตุให้สิ้นกิเลสและกองทุกข์

แต่ว่าสมาธิที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง

ประกอบอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็เป็นสมาธิเป็นฌานนั่นแหละ

แต่ว่าเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ได้ จึงเรียกว่าสัมมาสมาธิ สมาธิชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ

ก็คือว่าให้ตรัสรู้พระธรรมได้

สมาธิในพุทธศาสนา

จึงควรที่จะพิจารณาว่า สมาธิในพุทธศาสนานั้นเป็นสมาธิอีกลักษณะหนึ่ง

และลักษณะอันใด อันเป็นลักษณะพิเศษแห่งสัมมาสมาธิในพุทธศาสนา

โดยปริยายคือทางอันหนึ่งที่จะพึงเห็นได้ก็คือว่า

จะต้องเป็นสมาธิที่ประกอบด้วยองค์มรรคอื่นๆในมรรคมีองค์ ๘

อันองค์มรรคอื่นๆในมรรคมีองค์ ๘ สนับสนุนสัมมาสมาธินี้

และสัมมาสมาธินี้ก็สนับสนุนองค์มรรคอื่นๆในมรรคมีองค์ ๘ นั้น

กล่าวคือจะต้องประกอบด้วยความเห็นชอบความดำริชอบอันเป็นทางปัญญา

จะต้องมีปัญญานำสมาธิและสมาธิก็จะต้องนำปัญญา สนับสนุนปัญญา

จะต้องประกอบด้วยวาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ อันเป็นส่วนศีล

จะต้องมีศีลหนุน และก็จะต้องหนุนศีล ต้องประกอบด้วยความเพียรชอบและสติชอบ

จะต้องมีความเพียรชอบสติชอบสนับสนุน ทั้งก็สนับสนุนเพียรชอบสติชอบด้วย

จึงเป็นอันว่าจะต้องประกอบกันเป็นมรรคมีองค์ ๘

แต่ว่าในขณะปฏิบัติที่ยังไม่สมบูรณ์นั้น

ก็จะต้องเข้าทางอันถูกต้องที่เรียกว่าชอบนั้น คือว่าเป็นไปเพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์

ไม่เป็นไปเพื่อความสั่งสมกิเลสและกองทุกข์ด้วยกัน และต่างก็สนับสนุนซึ่งกันและกัน

ขึ้นไปโดยลำดับ ก็จะมียิ่งบ้างหย่อนบ้างกว่ากันไปตามเรื่องในขณะที่กำลังปฏิบัติ

แต่ว่าในที่สุดก็จะต้องบรรลุถึงความสมบูรณ์ด้วยกัน ร่วมกันเป็นอันเดียวกัน

ที่เรียกว่าเป็น มรรคสมังคี ความพร้อมเพรียงกันขององค์มรรค

ฉะนั้น สมาธิในพุทธศาสนาที่เป็นสัมมาสมาธิ

ตลอดจนถึงปัญญาที่เป็นความรู้แจ้งเห็นจริงนั้น จึงต้องเป็นส่วนที่ชอบด้วยกัน

ประกอบกันดังกล่าว พร้อมกับศีล ก็เป็นอันว่าทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา แยกกันไม่ได้

ต่างก็อบรมสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นไป และก็เป็นไปเพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์

อันความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ก็อยู่ที่จิตนี้เอง

ฉะนั้น การปฏิบัติศีลก็ต้องปฏิบัติจิตนี่แหละให้เป็นศีล

การปฏิบัติสมาธิก็ต้องปฏิบัติจิตนี่แหละให้เป็นสมาธิ

การปฏิบัติปัญญาก็ต้องปฏิบัติจิตนี่แหละให้เป็นปัญญาขึ้นมา เพื่อวิมุติคือความหลุดพ้น

บรรลุนิพพาน คือความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ด้วยประการทั้งปวงในที่สุด

เพราะฉะนั้นจึงต้องรวมเข้ามาในภายใน ศีลก็ต้องดูเข้ามาที่ภายใน

ดูจิตพร้อมทั้งกายวาจาใจของตนเองว่าเป็นศีลหรือไม่

สมาธิก็ต้องรวมเข้ามาที่จิต ดูที่จิตนี้เอง ให้จิตนี้สงบตั้งมั่นอยู่ในทางที่ดีที่ชอบ

ข้อปฏิบัติตั้งจิตให้เป็นสมาธิ

และข้อปฏิบัติที่ตรัสสอนสำหรับที่จะตั้งจิตให้เป็นสมาธิ

เมื่อยกเอาสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เป็นที่ตั้ง

จะเป็นกายก็ตาม เป็นเวทนาก็ตาม เป็นจิตก็ตาม เป็นธรรมะก็ตาม

ก็ตั้งดูอยู่ที่กายเวทนาจิตธรรมนี้ ให้เห็นกายเวทนาจิตธรรมนี้ที่ตนเอง

กายตนเอง เวทนาตนเอง จิตตนเอง ธรรมะในจิตของตนเอง

ให้มองเห็น ให้มองเห็นภายใน ให้มองเห็นภายนอก คือทั้งหมด

ทั้งหมดที่รวมกันเป็นกายเป็นเวทนาเป็นจิตเป็นธรรม และให้มองเห็นเกิด ให้มองเห็นดับ

ก็เป็นอันว่าดูเข้ามาที่ภายใน และก็สงบอยู่ในภายใน ดั่งนี้เป็นสมาธิ

จะเป็นปัญญาก็เช่นเดียวกัน ก็ดูเข้ามาที่นามรูปอันนี้ ก็กายเวทนาจิตธรรมนี่แหละ

รวมกันเข้าเป็นนามรูป แยกออกไปก็เป็นกายเวทนาจิตธรรมก็ได้ เป็นขันธ์ ๕ ก็ได้

ก็ก้อนนี้อันนี้นั่นแหละ ไม่ใช่ที่ไหน ให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

อันเป็นสัจจะ คือทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ที่ก้อนกายก้อนใจอันนี้ ไม่ใช่ที่อื่น

ดั่งนี้จึงจะเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ที่เป็นมรรคมีองค์ ๘

ซึ่งจะเป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพานต่อไปได้

ดั่งนี้จึงจะเป็นสัมมาสมาธิ สมาธิชอบ และก็เป็นปัญญาชอบเป็นศีลชอบประกอบกันอยู่ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น จึงไม่มุ่งที่จะดูออกไปในภายนอก ถ้าจะปฏิบัติเพื่อให้สิ้นกิเลสและกองทุกข์

อันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ก็ต้องดูเข้ามาที่ในภายในดังกล่าว

และภายในดังกล่าวนี้ทุกคนก็มีอยู่พร้อมแล้ว

กายเวทนาจิตธรรมก็มีอยู่พร้อมแล้ว นามรูปก็มีอยู่พร้อมแล้ว

ขันธ์ ๕ ก็มีอยู่พร้อมแล้ว ตัวทุกข์ก็มีอยู่พร้อม ตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ก็มีอยู่พร้อม

และถ้าหากว่าปฏิบัติอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ ตัวมรรคก็เริ่มมีขึ้น

ถ้ายังไม่เป็นมรรคเป็นผลที่สมบูรณ์

ตัวความดับทุกข์ก็เริ่มมีขึ้น แม้จะยังไม่เป็นความดับทุกข์ที่สมบูรณ์

แต่ว่าทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์

สมุทัยสัจจะสภาพที่จริงคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์นั้น มีอยู่พร้อม

มรรคก็มีอยู่ตามที่ปฏิบัติได้ นิโรธคือความดับทุกข์ก็มีอยู่ตามที่ปฏิบัติได้ น้อยหรือมาก

ก็แปลว่ามีอยู่ในภายในนี้พร้อมทุกอย่างแล้ว

และในการที่จะปฏิบัตินั้นเล่า ที่ตรัสสอน ..ดังที่ตรัสสอนให้กำหนดลมหายใจเข้าออก

ลมหายใจเข้าออกก็มีอยู่พร้อมแล้วเช่นเดียวกัน เมื่อตั้งสติกำหนดเมื่อใดก็ย่อมจะกำหนดได้

แล้วสตินั้นเล่าทุกคนก็สามารถตั้งขึ้นได้ มิใช่ตั้งขึ้นไม่ได้

ความเพียรนั้นเล่าทุกคนก็สามารถที่จะทำได้ประกอบขึ้นได้ จะประกอบขึ้นเมื่อไรก็ได้

อำนาจของกิเลส

แต่ว่ามีเหตุที่ทำให้เกิดความล่าช้า ก็คือกิเลสนี้เอง

เป็นต้นว่าตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ราคะโทสะโมหะที่ตั้งขึ้นในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย

ที่เข้ามาสู่จิตนี้ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจของทุกๆคน อยู่ทุกขณะ

ก็มาเป็นอารมณ์ จิตก็จับอารมณ์เหล่านี้ก่อกิเลสตัณหาต่างๆขึ้นมา ก็เป็นนิวรณ์ที่ปล้นจิตใจ

กลุ้มรุมจิตใจ อันทำจิตใจให้กลัดกลุ้ม ทำจิตใจให้ไม่สงบ ทำจิตใจให้ฟุ้งซ่าน

ถ้าหากว่าบรรดาอารมณ์และกิเลสเหล่านี้แรง การที่จะปฏิบัตินำจิตสู่มรรคมีองค์ ๘

จะเป็นหมวดศีลก็ตาม หมวดสมาธิก็ตาม หมวดปัญญาก็ตาม ก็ทำได้ยาก

แต่ถ้าหากว่ามีกำลังแห่งศรัทธา แห่งความเพียร แห่งสติ แห่งสมาธิ แห่งปัญญา

ที่ตนได้ปฏิบัติอบรมสั่งสมมา มีกำลังแรงก็สามารถที่จะควบคุมจิตได้

นำจิตให้สละอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส พร้อมทั้งกิเลสเหล่านั้น

ให้มาตั้งอยู่ศีลในสมาธิในปัญญาได้

เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่าทุกๆคนนั้นก็บ่นกันว่า ทำสมาธิไม่ค่อยได้

ปฏิบัติในศีลไม่ค่อยได้ หรือปฏิบัติทางปัญญาก็ไม่ค่อยจะเห็นจริงอะไร

ทั้งนี้ก็เพราะว่ากำลังของอารมณ์และกิเลสต่างๆนั้นยังแรง

แต่ว่ากำลังของศรัทธาความเพียรเป็นต้นยังอ่อนอยู่

ฉะนั้นจึงต้องอาศัยที่มีขันติความอดทน อดทนใจของตัวเองนี่แหละสำคัญ

อดทนปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาไป

หากว่าจะเกิดมีความเบื่อหน่าย มีความอิดหนาระอาใจต่างๆ

ก็ให้ทำความรู้สึกว่านั่นเป็นด้วยอำนาจของกิเลส กิเลสย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมปฏิบัติ

เพราะธรรมปฏิบัตินั้นเป็นไปเพื่อข่มกิเลสเพื่อละกิเลส

ในขณะที่กิเลสครองจิตอยู่ ก็ดึงเอาจิตไปเป็นฝ่ายกิเลส

เมื่อดึงเอาจิตไปเป็นฝ่ายกิเลส จึงทำให้ไม่มองเห็นประโยชน์ในธรรมปฏิบัติ

ให้เบื่อหน่ายในธรรมปฏิบัติ

กำลังของศรัทธาความเพียร

ฉะนั้นจึงต้องมีความอดทน ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยความเพียรเป็นต้น

เอาจริงเอาจัง ไม่ยอมที่จะตามใจกิเลส หรือว่าตามใจใจของตัวเอง ก็คือตามใจกิเลสนั้นเอง

ฝืนที่จะปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาไปตามที่กำหนดไว้ หรือตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้

และเมื่อหัดปฏิบัติอยู่ดั่งนี้บ่อยๆแล้ว กำลังของศรัทธาของความเพียรเป็นต้นก็จะแรงขึ้น

กำลังของศรัทธาของความเพียรเป็นต้นนี้ก็คือว่าพละ ๕ นั่นแหละ

ศรัทธาพละกำลังศรัทธา วิริยะพละกำลังความเพียร

สติพละกำลังของสติ สมาธิพละกำลังของสมาธิ ปัญญาพละกำลังของปัญญา

ก็คือที่อดทนปฏิบัติไปนั่นแหละ และเมื่อปฏิบัติอยู่บ่อยๆแล้ว

ก็จะได้ศรัทธาได้ความเพียรได้สติได้สมาธิได้ปัญญา มาเป็นพื้นฐานในจิต

ก็เริ่มเป็นพลัง ก่อพลังขึ้นในจิตไปโดยลำดับ

อินทรีย์ ๕

และเมื่อก่อพลังขึ้นในจิตได้แล้ว ก็จะปรากฏเป็นอินทรีย์คือเป็นใหญ่

ศรัทธาก็จะเป็นใหญ่ เป็นใหญ่เหนือความไม่เชื่อ ความดื้อถือรั้นไปในทางที่ผิดต่างๆ

วิริยะคือความเพียรก็จะเป็นใหญ่เหนือความเกียจคร้าน เอาชนะความเกียจคร้านได้

สติก็จะเป็นใหญ่เหนือความหลงลืมสติ คือสติเองก็จะตั้งมั่นยิ่งขึ้น

สมาธิก็จะเป็นใหญ่เหนือความฟุ้งซ่าน จิตจะได้ความสงบ จะข่มจิตให้สงบได้

ปัญญาก็จะเป็นใหญ่เหนือทุปัญญาคือความรู้ชั่วรู้ผิด เหนือความหลงเข้าใจผิด

อันนี้แหละเรียกว่าอินทรีย์

อินทรีย์นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ก็หมายความว่าธรรมปฏิบัติที่ทุกคนได้ปฏิบัติมาแล้วนั่นแหละ

ปฏิบัติขึ้นปลูกขึ้นในจิต มีขึ้นในจิต และก็สั่งสมเพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ ก็ปรากฏเป็นพละคือกำลัง

เป็นกำลังฝ่ายดี จนถึงเป็นอินทรีย์คือเป็นใหญ่ เป็นใหญ่เหนือความชั่วได้

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วกำลังของกิเลสต่างๆอันเป็นฝ่ายมารผู้ฆ่าผู้มุ่งร้ายก็ลดน้อยลงไป

เมื่อฝ่ายกิเลสฝ่ายมารถอยกำลังลง กำลังฝ่ายดี คือพละอินทรีย์นี้ก็ทวียิ่งขึ้น

นี่แหละการปฏิบัติก็จะสะดวกขึ้น จะดีขึ้น และบุคคลก็จะน้อมไปในฝ่ายดี

คือในฝ่ายศีล ในฝ่ายสมาธิ ในฝ่ายปัญญายิ่งขึ้น

คือจิตก็จะน้อมไปในฝ่ายดีดังกล่าวนี้ดียิ่งขึ้นไปโดยลำดับ

เพราะฉะนั้นจึงปรากฏในพุทธประวัติมากแห่งว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

ย่อมทรงกำหนดทราบถึงพละอินทรีย์ดังกล่าวของ เวไนยะ คือผู้ที่พึงอบรม

เมื่อมีอินทรีย์ยังอ่อนก็ทรงอบรมไปในเบื้องต้น ให้ปฏิบัติเพิ่มอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้น

และเมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าขึ้นในระดับใด ก็ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนให้เหมาะแก่ระดับนั้น

และให้ยิ่งขึ้นไป จนถึงเมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าถึงที่สุด จึงจะทรงแสดงธรรมะสั่งสอนให้ความสว่าง

เกิดปัญญาเห็นธรรรมะขึ้นในที่สุด

วิธีปฏิบัติเพิ่มอินทรีย์พละ

เพราะฉะนั้นอินทรีย์พละนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมก็ไม่ควรที่จะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจตัวเอง ว่ายังมีอินทรีย์มีพละน้อยปฏิบัติไม่ได้
เพราะว่าวิธีที่จะเพิ่มอินทรีย์พละให้แก่กล้าขึ้นนั้น ก็ต้องฝืนปฏิบัติอาศัยขันติ

คือความอดทนนี่แหละ ทำให้ยิ่งๆขึ้นไปโดยลำดับ แล้วจะเป็นพละอินทรีย์มาปลูกขึ้น

เติบโตเจริญขึ้นในจิตใจเอง แก่กล้าขึ้นเอง แล้วการปฏิบัติก็จะดียิ่งขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น

และจะเข้าทางยิ่งขึ้น แต่ข้อสำคัญนั้น ไม่มุ่งออกไปในภายนอก

แต่มุ่งเข้ามาที่ภายในคือที่จิต พร้อมทั้งกายวาจาใจนี้เอง

ปฏิบัติที่จิตที่กายที่วาจาที่ใจนี้แหละ

การปฏิบัติทำสติกำหนดลมหายใจเข้าออกอันเป็นอานาปานสตินั้น ก็กำหนดที่ลมหายใจ

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ และพระอาจารย์ก็ได้สอนอธิบายไปในทางต่างๆ

ก็สุดแต่ใครจะเลือกปฏิบัติตามวิธีไหน ซึ่งจะได้อธิบายในโอกาสต่อไป

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

อานาปานสติ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ข้อปฏิบัติที่ตรัสสอน ๓

กำหนด ๓ จุด ๔

การหายใจอย่างละเอียด ๖

อุปการธรรมในการปฏิบัติ ๗

ความยินดียินร้ายในการปฏิบัติ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดไปเล็กน้อยไม่เสียความ

ม้วนที่ ๑๔/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕/๑ ( File Tape 12 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อานาปานสติ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ ..บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ลมหายใจเข้าออกของทุกๆคนนี้เป็นแหล่งบังเกิดขึ้นแห่งสมาธิและปัญญา

ซึ่งพระพุทธเจ้าเองตามที่ปรากฏในพระสูตรก็ได้ทรงจับปฏิบัติกำหนด

ตั้งแต่เป็นพระราชกุมารดังได้กล่าวแล้ว และเมื่อจะทรงพบทางอันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

ก็ได้ทรงหวนระลึกถึงสมาธิที่ทรงได้จากการกำหนดลมหายใจเข้าออก

ที่เคยทรงได้สมาธิ ด้วยทรงกำหนดในขณะเป็นพระราชกุมารนั้น

จึงมาทรงจับกำหนดลมหายใจเข้าออก และก็เป็นอันว่าได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา

ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง เป็นการเริ่มแรก

จึงได้กล่าวว่า เหมือนกับทรงได้พระองค์เองขณะเมื่อเป็นพระราชกุมารน้อยนั้น

มาเป็นพระอาจารย์บอกทางปฏิบัติแก่พระองค์ ในขณะที่เสด็จออกทรงผนวชแล้วนั้น

เพราะฉะนั้น ในสติปัฏฐานสูตร จึงได้ตรัสแสดงอานาปานสติ

สติกำหนดลมหายใจเข้าออกไว้เป็นข้อแรก

และก็ได้กล่าวแล้วว่าผู้ปฏิบัติควรจะได้ถือเอาหลักที่ทรงสั่งสอนไว้ด้วยพระองค์เอง

ในการทำอานาปานสติเป็นหลักสำคัญ พิจารณาให้เข้าใจในแนวปฏิบัติที่ได้ตรัสสอนไว้

ส่วนแนวปฏิบัติของพระอาจารย์ทั้งหลาย เลือกปฏิบัติมาประกอบเข้า

ตามที่เหมาะสมแก่อัธยาศัยของตน

ข้อปฏิบัติที่ตรัสสอน

และแนวที่ได้ตรัสอธิบายไว้เองนั้นก็ได้กล่าวแล้ว

แต่ก็ให้ทำความเข้าใจว่า ให้ปฏิบัติตามที่ทรงแนะนำไว้ตั้งแต่ในขั้นต้น

ที่ตรัสสอนให้ไปสู่ที่อันสงบสงัด เป็นป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง

ซึ่งรวมความเข้ามาก็คือที่อันสงบสงัด

และได้กล่าวแล้วว่า แม้ในที่นี้ซึ่งมีผู้มาประชุมกันเป็นจำนวนมาก ...

(ข้อความขาดไปเล็กน้อย)

(เริ่ม ๑๕/๑ ) เช่นในบ้านเรือนของตน แต่แม้เช่นนั้นก็พยายามที่จะทำจิตให้สงบ

ไม่ส่งจิตออกไปรับเสียงเป็นต้นในภายนอก แต่รวมจิตเข้ามาในภายใน

ไม่สนใจต่อสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่สงบทั้งหลาย ซึ่งมีเป็นประจำอยู่ในบ้านเรือนเป็นปรกติ

หัดเข้าบ่อยๆดั่งนี้ก็จะพอทำได้ขึ้นบ้าง แม้ไม่ดีนักก็ยังดีกว่าที่จะทอดทิ้งเสีย ไม่ทำเสียเลย

และที่ตรัสสอนให้นั่งขัดบัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น

รวมจิตเข้ามากำหนดหายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้

แม้ว่าจะนั่งขัดบัลลังก์หรือขัดสะหมาดไม่สะดวก จะนั่งเก้าอี้ก็ใช้ได้

และการตั้งกายตรงไม่พิงนั้น ถ้าทำได้ก็เป็นการดี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็พิงได้

แต่ว่าการตั้งสติไว้จำเพาะหน้า คือไม่ส่งสติไปข้างไหนเป็นสิ่งที่ต้องทำ รวมใจเข้ามานั้นเอง

เมื่อรวมใจเข้ามาดั่งนี้ ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็จะปรากฏแก่ความรู้

เพราะว่าจิตนี้เป็นธาตุรู้ จิตอยู่ที่ไหนก็รู้ที่นั่น

เมื่อจิตเกาะอยู่กับอารมณ์ภายนอก ก็รู้อารมณ์ภายนอกนั้น

เมื่อจิตปล่อยอารมณ์ภายนอก เข้ามาตั้งอยู่ในลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ก็ย่อมรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกได้ นี้เป็นความรู้ขั้นแรก

แล้วก็หัดทำความรู้เพิ่มเติมว่า หายใจเข้าออกยาว หายใจเข้าออกสั้น

อันที่จริงยาวหรือสั้นนั้นอยู่ที่ระยะทางของลมหายใจ และระยะทางของลมหายใจนั้น

สำหรับในทางปฏิบัติกรรมฐาน ย่อมกำหนดได้ที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน

เมื่อลมเข้าก็กระทบที่นี่เมื่อขาเข้า ลมออกก็กระทบที่นี่เมื่อขาออก

คราวนี้เมื่อหายใจเข้าลมหายใจเข้านั้นเดินทางไปถึงไหน ตามหลักสรีรวิทยาปัจจุบันนั้น

ย่อมไม่อาจกำหนดได้ แต่ว่าอาจกำหนดได้ในอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย

ที่ปรากฏอยู่ในขณะที่ทุกคนหายใจ ดังหายใจเข้านาภีก็พอง หายใจออกก็ยุบ

กำหนด ๓ จุด

เพราะฉะนั้น จึงมาถึงท่านพระอาจารย์ที่สอนวิธีกำหนด ที่ท่านสอนว่าในขาเข้านั้น

ลมหายใจกระทบปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน นับว่าเป็นต้นทาง

และนาภีที่พองก็เป็นปลายทางของลมหายใจ

ส่วนในขาออกนั้น นาภีที่ยุบก็เป็นต้นทาง ปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนก็เป็นปลายทาง

เพราะฉะนั้น พระอาจารย์ท่านจึงสอนให้กำหนดปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนจุดหนึ่ง

กับนาภีอีกจุดหนึ่ง เป็น ๒ จุด เป็นต้นทาง เป็นปลายทางของลมหายใจ

และก็สอนให้กำหนดที่อุระอีกจุดหนึ่ง สมมติว่าให้เป็นกลางทาง

หรือเป็นกึ่งกลางทั้งขาเข้าทั้งขาออก เพื่อให้ตั้งสติกำหนด นี้เป็นข้อที่ท่านอาจารย์สอนไว้

แต่ที่เป็นพระพุทธภาษิตเองไม่ได้ตรัสอธิบายออกไปดั่งนี้ ตรัสไว้แต่เพียงว่า

มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ว่ายาว หายใจออกยาวก็ให้รู้ว่ายาว

หายใจเข้าสั้นก็ให้รู้ว่าสั้น หายใจออกสั้นก็ให้รู้ว่าสั้น ตรัสสอนไว้เพียงเท่านี้

แต่ว่ากำหนดลมหายใจที่ไหน และยาวหรือสั้นนั้นมีระยะทางอย่างไรไม่ได้ตรัสสอนไว้

แต่พระอาจารย์ท่านมาอธิบายสอนให้กำหนดดั่งนี้

แต่ก็พึงเข้าใจว่า เป็นแหล่งสำหรับกำหนดตั้งสติเท่านั้น ส่วนความจริงที่ลมหายใจเข้าไปไหน

และออกจากไหน ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดกำหนดในการปฏิบัติทำสมาธิ

เพราะว่ามุ่งผลเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ คือเพื่อให้เป็นที่ตั้งของจิต ก็เอาเป็นจุดสมมติเอาบ้าง

แต่ว่าจุดจริงนั้นก็คือปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน ที่เมื่อลมเข้าก็ไปกระทบที่นั่นจริง

ลมออกก็ไปกระทบที่นั่นจริง และที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ แม้ว่าจะมิได้ทรงอธิบาย

ผู้ปฏิบัติเมื่อกำหนดจิตเข้ามา กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

ให้รู้ตั้งแต่เบื้องต้นรวมๆว่าหายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้

และเมื่อจิตรวมอยู่ดั่งนี้ หายใจเข้าออกยาวก็รู้เอง หายใจเข้าออกสั้นก็รู้เอง

และในการที่จะรู้เองได้นี้ทุกคนก็ย่อมทราบได้ว่า

โดยปรกตินั้นก็จะต้องว่า หายใจเข้าหายใจออกยาวก่อน

ในเมื่อการหายใจนั้นเป็นการหายใจสะดวก เราจึงเรียกกันว่าหายใจทั่วท้อง

ซึ่งมีอาการท้องที่พองหรือยุบไปตามธรรมดา ก็เป็นหายใจสะดวก หายใจเป็นปรกติ

ก็เป็นอันว่ายาวก่อน แต่ว่าแม้การหายใจปรกติ หรือหายใจสะดวกดั่งนี้

จะถือว่ายาวก็ตามก็อาจจะมีบางคนที่มีการหายใจยาวไม่เท่ากัน

ความที่ยาวไม่เท่ากันนั้นเมื่อมาเทียบกันเข้า ก็จะต้องว่าสั้นไปกว่าบ้าง หรือยาวไปกว่าบ้าง

แต่ว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดเทียบกัน เอาของตนเองนี่แหละ

เมื่อหายใจอยู่เป็นปรกติเหมือนอย่างที่มิได้ปฏิบัติ ก็เป็นอันถือว่ายาวเป็นปรกติ

หรือใครจะสั้นกว่านั้นก็สั้นกว่าเป็นปรกติ ก็เป็นอันว่ายาว แต่เรียกว่ายาวไม่เท่ากันก็แล้วกัน

ดั่งนี้ ก็เมื่อตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ให้รู้หนึ่งเข้า หรือออกสอง

เข้าหรือออกยาวเป็นปรกติ คือให้รู้การหายใจที่เป็นปรกติของตนเองนี่เอง

คราวนี้เมื่อตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ดั่งนี้

จิตก็จะสงบเข้า กายก็จะสงบเข้า เมื่อจิตและกายสงบลง

การหายใจเข้าหายใจออกก็จะสงบเข้า เมื่อสงบเข้าดั่งนี้ ก็ดูเหมือนจะสั้นเข้า

ที่ว่าดูเหมือนนั้นก็คืออาการที่หายใจเมื่อตนเองสังเกตุที่ตนเอง

ก็จะรู้สึกว่าความเคลื่อนไหวของร่างกาย ของอวัยวะที่กระทำการหายใจ

ที่ปรากฏแก่ความกำหนด เช่นนาภีที่พองหรือยุบนั้นก็จะน้อยลง

เมื่อกายและจิตสงบยิ่งขึ้น อาการของร่างกายที่หายใจก็จะยิ่งน้อยเข้า

ผู้ปฏิบัติย่อมจะรู้ได้เองในเมื่อจับปฏิบัติไป

การหายใจอย่างละเอียด

จนถึงอาการที่หายใจของนาภีที่พองหรือยุบนั้นสงบเหมือนอย่างไม่พองไม่ยุบ

ลมหายใจคล้ายกับหายใจอยู่ในระหว่างจมูกกับอุระเท่านั้น

หายใจเข้าก็ลงไปคล้ายๆแค่ถึงอุระ ออกก็ออกจากอุระ

และเมื่อละเอียดยิ่งขึ้น ก็ยิ่งสงบยิ่งขึ้น เหมือนกับหายใจอยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้น

และเมื่อสงบยิ่งขึ้น อาการที่รู้สึกเหมือนอย่างหายใจอยู่แค่ปลายจมูกก็จะสงบหายไปอีก

เหมือนกับคล้ายไม่หายใจ แต่อันที่จริงนั้นหายใจ แต่ว่าเป็นการหายใจอย่างละเอียด

เมื่อร่างกายและจิตละเอียดที่สุด คือสงบมากที่สุด การหายใจก็จะสงบมากที่สุด

เหมือนอย่างไม่หายใจ

แต่อันที่จริงนั้นลมหายใจนั้นก็ยังเข้าออกอยู่

แต่อวัยวะที่ทำการหายใจนั้นสงบละเอียด จึงเหมือนอย่างไม่หายใจ

เพราะว่า ที่เข้าใจว่าหายใจนั้น เราไม่เห็นลมที่เข้าออก รู้ได้จากการกระทบเท่านั้น

คือสิ่งที่มากระทบปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนเมื่อหายใจเข้าเมื่อหายใจออก

และอวัยวะของร่างกายที่ทำการหายใจที่เคลื่อนไหวอยู่ ก็กำหนดรู้ได้ดั่งนี้ แต่ลมนั้นมองไม่เห็น

และเมื่อร่างกายสงบ สงบที่สุด จิตสงบที่สุด อวัยวะต่างๆที่เคลื่อนไหวก็จะสงบ

เมื่อเป็นดั่งนี้ลมหายใจที่เข้าออกอยู่ก็ไม่ปรากฏ จึงเข้าใจว่าไม่หายใจ

ความจริงนั้นหายใจ การหายใจนั้นไม่ได้อยู่ที่อวัยวะที่ทำการหายใจ

แต่อยู่ที่ลมซึ่งเข้าออกได้ ไปเลี้ยงร่างกายได้ เพราะฉะนั้นจึงรู้สึกเหมือนอย่างว่าไม่หายใจ

ในเมื่อจิตสงบ ผู้ทำอานาปานสติย่อมจะรู้สึกดั่งนี้

แต่ว่าการที่จะปฏิบัติถึงขั้นนี้ได้นั้น ก็จะต้องอาศัยความตั้งใจปฏิบัติติดต่อกันไป ให้ทุกวันๆ

และเมื่อได้ความสงบมากขึ้นเพียงใด ความสามารถในการที่ปฏิบัติสมาธิ

ก็จะทำได้นานยิ่งขึ้นเพียงนั้น โดยที่จะไม่รู้สึกขบเมื่อยที่ร่างกาย ไม่รู้สึกเป็นเหน็บอะไรทั้งหมด

จะมีความสบายทั้งกาย มีความสบายทั้งใจ อันเป็นตัวความสุข

อุปการธรรมในการปฏิบัติ

ในการปฏิบัติดั่งนี้พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้

อาตาปี มีความเพียร คือมีความเพียรปฏิบัติ ไม่ทอดทิ้งความเพียร

สัมปชาโน มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ๓ สติมา มีสติคือความระลึกได้

และ ๔ วินยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดความยินดีความยินร้ายต่างๆในโลกที่เข้ามา

ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นหลักที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมี

ขาดความเพียรเสีย ก็ไม่บังเกิดการกระทำการปฏิบัติขึ้นมา

ขาดความรู้ตัวเสีย ขาดสติเสีย ก็ปฏิบัติให้เป็นสติให้เป็นสมาธิขึ้นไม่ได้

และถ้ายังมีความยินดีความยินร้ายอยู่

ก็ทำให้ทำสติ ทำสัมปชัญญะในลมหายใจเข้าออกนี้มิได้

ความยินดียินร้ายในการปฏิบัติ

ความยินดีความยินร้ายนั้น

ก็เป็นต้นว่าความยินดีในอารมณ์ภายนอกที่เข้ามา และดึงใจออกไปไม่ให้ตั้งกำหนดอยู่

ความยินร้ายในอารมณ์ภายนอกที่เข้ามา แล้วดึงใจให้ออกไปยินร้ายอยู่

อันนับว่าเป็นพวกนิวรณ์ ทั้งที่เป็นฝ่ายยินดี ทั้งที่เป็นฝ่ายยินร้าย และทั้งที่เป็นฝ่ายหลงต่างๆ

หรือว่าแม้ในการปฏิบัติเอง เช่นเมื่อเริ่มปฏิบัติทีแรก ย่อมไม่ได้ความสุขในการปฏิบัติ

จิตก็รวมไม่ได้ ร่างกายเริ่มจะเมื่อยขบ ปวดนั่นปวดนี่ ก็เป็นความยินร้าย

เมื่อยินร้ายขึ้นดั่งนี้แล้ว ก็ทำให้ต้องเลิกการปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความยินร้ายขึ้นในการปฏิบัติเพราะเหตุต่างๆดั่งนี้

ก็ต้องพยายามระงับเสีย ในเมื่อตั้งใจว่าปฏิบัตินานเท่านั้นเท่านี้ก็ตั้งใจ ก็ทำไป ทนเอาไป

โดยมีขันติความอดทนเข้าช่วย เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้การปฏิบัติคืบหน้า คือจิตจะเริ่มสงบ

เมื่อจิตเริ่มสงบ กายก็สงบตาม ความทุกข์ต่างๆที่เกิดจากการปฏิบัติก็ลดลงไป

กลับเป็นความสุข

บางทีเมื่อได้ความสุขในการปฏิบัติก็เลยติดสุข ทำกันเรื่อยจนไม่ยอมที่จะหยุด

จะพักจะเลิกในเวลาที่ควรหยุดควรพักควรเลิก ดั่งนี้ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน

ต้องระงับความยินดีที่จะเป็นเหตุให้เกิดการปฏิบัติเกินไปดั่งนี้เสีย

เพราะว่าบุคคลผู้ปฏิบัตินั้นย่อมมีขอบเขตของการปฏิบัติ

ถ้าเป็นบรรพชิตก็ย่อมสามารถปฏิบัติได้มาก แต่ถ้าเป็นฆราวาสคฤหัสถ์จะต้องมีขอบเขต

ของการปฏิบัติให้พอเหมาะพอสมอีกด้วย เพราะมีกิจการที่จะต้องประกอบกระทำ

หรือแม้บรรพชิตเองที่มีกิจการที่ต้องประกอบกระทำ ต้องเล่าเรียนศึกษา

ก็จะต้องไม่ให้เสียกิจการที่พึงประกอบกระทำนั้นๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความรู้ประมาณ

ยินร้ายในการปฏิบัติก็เลิกเสียเลย

ยินดีในการปฏิบัติก็ทำกันเรื่อย เกินขอบเขตไปดั่งนี้ก็ใช้ไม่ได้

เพราะฉะนั้นก็ต้องละความยินดีความยินร้าย มาปฏิบัติให้พอเหมาะพอดี

หลักปฏิบัติ ๔ ประการนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมี

และเมื่อมีแล้ว ก็จะเจริญในการปฏิบัติยิ่งๆขึ้นไป และไม่มีโทษ มีแต่คุณโดยส่วนเดียว

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats