ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 12 ธันวาคม 2555 08:53
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป011 กรรมฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
จิตตภาวนา กรรมฐาน ๓
คันถธุระ วิปัสสนาธุระ ๓
สมาธิเป็นบาทของปัญญา ๔
ศีลเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลาย ๕
สิกขา ๕
สติ จิตตภาวนาข้อแรก ๗
อินทรียสังวร ๘
กัณฑ์เริ่มต้นดีเยี่ยม
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดไปเล็กน้อย
ม้วนที่ ๑๓/๑ ต่อ ๑๓/๒ ( file Tape 11 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
กรรมฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
วันนี้เป็นวันเริ่มต้นการปฏิบัติทำจิตตภาวนาในพรรษากาลนี้
และก็เป็นวันเริ่มต้นที่จะมีการสวดมหาสติปัฏฐานสูตรตั้งต้นขึ้นใหม่เป็นประจำทุกปี
และในเทศกาลเข้าพรรษานี้ทุกๆปีก็ได้มีผู้มีศรัทธาเข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุ
ศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนากันเป็นจำนวนมากในวัดทั้งหลายทั่วไป
และท่านสาธุชนทั้งหลายก็ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมะกันเป็นพิเศษ
เช่นตั้งใจสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ หรือตั้งใจงดเว้นอบายมุขข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ
ตลอดจนถึงตั้งใจปฏิบัติจิตตภาวนาเป็นพิเศษก็มีเป็นจำนวนมาก
ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าฤดูเข้าพรรษาเป็นเทศกาลปฏิบัติธรรมะกันเป็นพิเศษ
ความเจริญแห่งธรรมปฏิบัติงอกงาม เหมือนอย่างต้นไม้ทั้งหลายที่ได้รับน้ำฝนในฤดูฝน
คือฤดูเข้าพรรษานี้ แตกกิ่งใบเขียวสดกันทั่วไป
ฉะนั้น จึงขออนุโมทนาในกุศลเจตนา และในกุศลสมาทานของทุกๆท่าน
จิตตภาวนา ๒ กรรมฐาน ๒
ในที่นี้เป็นสถานที่อบรมจิตตภาวนา
หรืออบรมกรรมฐาน ทั้งสองคำนี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน
จิตตภาวนาแปลว่าการอบรมจิตให้ได้สมาธิ และได้ปัญญาในธรรม
ส่วนกรรมฐานนั้นก็แปลว่าตั้งการงาน คือตั้งการปฏิบัติให้ได้สมาธิ ให้ได้ปัญญาเช่นเดียวกัน
จึงแบ่งกรรมฐานเป็น ๒ ได้แก่สมถะกรรมฐาน ตั้งการงาน
คือปฏิบัติทำจิตให้สงบด้วยวิธีปฏิบัติทางสมาธิ
คำว่าสมถะแปลว่าสงบ คำว่าสมาธิแปลว่าตั้งมั่นในทางที่ชอบ
มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน สมาธิคือตั้งจิตในทางที่ชอบ
ก็คือตั้งจิตไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน เพื่อสงบระงับนิวรณ์ จิตจึงสงบจากนิวรณ์
วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานคือทำให้ได้ปัญญาเห็นแจ้งรู้จริง
ก็เป็นตัวปัญญาคือความรู้เข้าถึงธรรมนั้นเอง
กรรมฐานจึงมี ๒ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน
จิตตภาวนาก็มี ๒ เช่นเดียวกัน
ก็คืออบรมจิตให้สงบตั้งมั่น ก็เป็นสมถะเป็นสมาธินั้นเอง
อบรมจิตให้ได้ปัญญาเห็นแจ้งรู้จริงในธรรม ก็เป็นตัวปัญญานั้นเอง
ปฏิบัติทำจิตตภาวนา หรือปฏิบัติทำกรรมฐานจึงเป็นอย่างเดียวกัน
และบางทีก็มักจะชอบเรียกกันว่าทำวิปัสสนา บางทีก็ชอบเรียกกันว่าทำสมาธิ
ก็ต้องปฏิบัติกันทั้งสองอย่างนั้นแหละ คือทั้งทำสมาธิและทำวิปัสสนา
คันถธุระ วิปัสสนาธุระ
แต่ว่าบางทีมักจะเรียกกันว่าทำวิปัสสนานั้น ก็โดยที่ได้มีแสดงธุระ
คือข้อที่จะพึงปฏิบัติไว้ ๒ อย่าง คือ คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ
คันถธุระ ธุระคือการเรียนพระคัมภีร์ อันได้แก่การเล่าเรียนศึกษาพระพุทธศาสนา
ดังที่มีการเล่าเรียนตามหลักสูตรของนักธรรมบาลี หรือแม้ว่าการมาฟังธรรมบรรยายนี้
ก็ชื่อว่าเป็นคันถธุระคือการเล่าเรียนพระคัมภีร์เช่นเดียวกัน
เพราะว่าการแสดงธรรมบรรยายก็แสดงไปตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่เดิมผู้ฟังจำกันมา และต่อมาก็จารึกลงเป็นตัวอักษรในใบลานเป็นต้น
ตลอดจนถึงมาพิมพ์เป็นเล่มหนังสือดังที่ได้ใช้อ่านเล่าเรียนกันอยู่
แต่แม้เช่นนั้นก็จะต้องมีอาจารย์เป็นผู้บรรยายแสดงอธิบายประกอบอีกด้วย
การเล่าเรียนจึงใช้ตาใช้หู เดิมก็ใช้หูเป็นส่วนใหญ่
ในบัดนี้ก็ใช้ทั้งหูทั้งตา หูฟังตาอ่าน ก็เป็นคันถธุระ ธุระคือการเรียนพระคัมภีร์
สมาธิเป็นบาทของปัญญา
วิปัสสนาธุระนั้นก็คือการปฏิบัติทำจิตตภาวนา
หรือทำกรรมฐานนั้นเอง ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายสมถะทั้งฝ่ายวิปัสสนา
ทั้งฝ่ายสมาธิทั้งฝ่ายปัญญา แต่ว่ายกเอาวิปัสสนาเป็นประธาน
เพราะว่า วิปัสสนาปัญญาเท่านั้นจึงจะกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด เป็นเหตุละกิเลสได้เป็นอย่างดี
ลำพังสมาธิหรือสมถะนั้น ถ้าไม่มีปัญญาก็ยังละกิเลสไม่ได้เด็ดขาด
แต่แม้เช่นนั้นจะได้ปัญญาก็จะต้องมีสมาธิเป็นบาท คือเป็นเท้าให้บรรลุถึงความสำเร็จ
เหมือนอย่างที่คนจะไปไหนก็ต้องมีเท้าสำหรับที่จะเดินไปให้ถึง
สมาธิก็เป็นบาทอันจะนำให้เกิดปัญญา และเมื่อเกิดปัญญาจึงจะเห็นธรรม
ปัญญาที่เห็นธรรมนี้เองเป็นตัวปัญญาที่เป็นส่วนผล หรือเป็นตัวญาณคือความหยั่งรู้
อันเกิดมาจากการปฏิบัติทางวิปัสสนา โดยที่จะต้องมีสมาธิเป็นบาท
ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยย่อจึงยกเอาแต่วิปัสสนาเพียงอย่างเดียว เรียกว่า วิปัสสนาธุระ
ซึ่งก็จะต้องประกอบด้วย สมถะธุระ รวมอยู่ด้วย
ศีลเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลาย
อนึ่ง ตามที่กล่าวมานี้มิได้กล่าวถึงศีล
อาจจะทำให้มีความเข้าใจว่าศีลเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ศีลไม่สำคัญ
แต่ว่าอันที่จริงนั้นจะต้องมีศีลประกอบอยู่ด้วย ศีลได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเปรียบไว้ว่า
เหมือนอย่างพื้นดินสำหรับเป็นที่ยืน เดิน นั่ง นอน หรือเป็นที่สถิตย์เป็นที่ตั้งของทุกๆอย่าง
ตามข้อเปรียบเทียบนี้จะเห็นได้ว่าศีลสำคัญ ถ้าไม่มีศีลก็ไม่มีพื้นสำหรับที่จะตั้งขึ้นยืนขึ้น
ของกุศลธรรมทั้งหลาย รวมทั้งสมาธิและปัญญา หรือสมถะวิปัสสนา
อันรวมเรียกว่าจิตตภาวนาหรือกรรมฐานดังที่กล่าวนั้น
ต่อเมื่อมีศีล กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงจึงจะเกิดขึ้นต่อไปได้
เพราะฉะนั้นในไตรสิกขาจึงได้แสดงศีลไว้เป็นอันดับที่หนึ่ง คือ สีลสิกขา
ต่อขึ้นไปก็เป็น จิตตสิกขา อันหมายถึงสมาธิ และต่อขึ้นไปก็เป็น ปัญญาสิกขา
ฉะนั้นหลักปฏิบัติในพุทธศาสนาจึงรวมเข้าในสิกขา ๓ นี้
หรือว่าเรียกอย่างสามัญว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
สิกขา
อันคำว่า สิกขา นั้นเป็นภาษาบาลี
ตรงกับคำว่าศึกษาที่ไทยเรานำมาใช้จากคำสันสกฤตว่า ศิกษา มาเป็น ศึกษา
ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาจารึกพระพุทธวัจนะใช้คำว่าสิกขาซึ่งเป็นคำเดียวกัน
ซึ่งมีความหมายตั้งแต่การเรียนให้รู้ อันเป็นการเล่าเรียนหรือเรียกว่าปริยัติ
ตลอดจนถึงปฏิบัติ ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น คือความที่ตั้งใจสำเหนียกฟังอ่านทรงจำ
พิจารณาให้เข้าใจ อันเป็นการเล่าเรียน แล้วก็นำมาปฏิบัติทางกายทางวาจาทางใจ
ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น รวมทั้งเรียนทั้งปฏิบัติเป็นศึกษาหรือสิกขา
ฉะนั้นกิจที่จะพึงทำในพุทธศาสนานั้น จึงต้องศึกษาในศีล เรียนให้รู้จักศีล
และปฏิบัติศีลให้มีขึ้น ดังที่ได้สมาทานศีล ๕ ศีล ๘
หรือได้เข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุ หรือเพียงบรรพชาเป็นสามเณร
ก็มีวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้จะพึงปฏิบัติ ถ้าเป็นศีลห้าศีลแปด ก็ ๕ ข้อ ๘ ข้อ
ถ้าเป็นภิกษุสามเณรก็มากขึ้นตามที่ทรงบัญญัติไว้ เป็น ๑๐ ข้อ เป็น ๒๒๗ ข้อ เป็นต้น
การที่มาตั้งใจปฏิบัติวินัยทั้งคฤหัสถ์ทั้งบรรพชิตดังนี้ เรียกว่าเป็นศีล
เพราะทำให้กายวาจาใจสงบเป็นปกติ
ศีลในขั้นต้นนั้นก็ปรากฏทางกายทางวาจา ซึ่งเว้นได้จากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม
และกระทำตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ปรากฏทางกายทางวาจา
แต่ว่าศีลที่บริสุทธิ์จะต้องถึงจิตใจ คือจิตใจต้องเป็นศีล จิตใจต้องมีความปรกติ มีความสงบ
อันเริ่มมาจากการตั้งใจงดเว้นตามพระวินัยบัญญัติ ตั้งใจปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ
แต่ว่าความตั้งใจนี้มีเปลี่ยนแปลงได้
ในขณะที่มีกำลังของศรัทธาปัญญาเป็นต้น แรง ความตั้งใจก็แน่วแน่
ทำให้การปฏิบัติทางกายทางวาจาก็ถูกต้อง
แต่ว่าเมื่อกำลังของศรัทธาปัญญาอ่อน ความตั้งใจก็รวนเร
เมื่อความตั้งใจรวนเร ก็ทำให้การปฏิบัติทางกายทางวาจารวนเร
ทำให้เกิดการปฏิบัติผิดพลาดต่างๆ เป็นการละเมิดศีลมากหรือน้อย
เพราะฉะนั้น จิตใจนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และจิตใจนี้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า
ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย รักษายากห้ามยาก
ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายนั้น ก็คือดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในอารมณ์
คือเรื่องทั้งหลาย ที่ประสบพบผ่านทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
และทางมนะคือใจเองอยู่ตลอดเวลา อารมณ์คือเรื่องทั้งหลายที่ประสบพบผ่านเข้ามาสู่จิตใจนี้
บางอย่างก็เป็นที่ตั้งของราคะ คือความติดใจยินดี บางอย่างก็เป็นที่ตั้งของโทสะ
ความโกรธแค้นขัดเคือง บางอย่างก็เป็นที่ตั้งของโมหะ คือความหลง
เพราะฉะนั้นเมื่อมีสติซึ่งเป็นเครื่องรักษาใจ อ่อน
อารมณ์เหล่านี้มีกำลังแรง ก็เข้ามาครอบงำจิตใจ ทำให้เกิดราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง
เมื่อเป็นดั่งนี้หากระงับใจไว้ไม่อยู่ ก็ทำให้ละเมิดออกไปทางกายทางวาจา
เป็นการผิดศีลน้อยบ้างมากบ้าง ศีลก็ไม่บริสุทธิ์
สติ จิตตภาวนาข้อแรก
ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติอบรมจิต อันเรียกว่าจิตตภาวนาข้อแรก
เป็นการปลูกสติให้บังเกิดขึ้นแก่จิตใจ ตั้งต้นแต่การที่หัดทำสติ
สำหรับรับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
คือเมื่อได้รับอารมณ์อะไร ก็ทำสติความระลึกได้ รักษาใจอยู่เสมอ
ว่าอารมณ์ที่กำลังรับนี้ จะยั่วให้เกิดราคะบ้าง ยั่วให้เกิดโทสะบ้าง ยั่วให้เกิดโมหะบ้าง
ระวังใจมิให้รับอารมณ์เหล่านั้นเข้ามาปรุงใจ มีสติคอย ...
(เริ่ม ๑๓/๒) ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่ามีนายทวารบาญคือนายประตู
รักษาประตูทั้ง ๖ ในบ้านนี้ คือในร่างกายของตน
มีสติรักษาตาในขณะที่เห็นอะไรทางตา รักษาหูในขณะที่ได้ยินอะไรทางหู
รักษาจมูก รักษาลิ้น รักษากาย ในขณะที่ทราบอะไรทางจมูกทางลิ้นทางกาย
และรักษามโนคือใจเองในขณะที่คิดเรื่องอะไร รับเรื่องอะไร
มีสติคอยเตือนใจอยู่ รักษาใจอยู่ ไม่ให้อารมณ์กับจิตมาต่อเชื่อมกัน
อันนำให้บังเกิดราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นตัวกิเลส
ด้วยสติที่ระลึกรู้อยู่ว่านี่เป็นอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของกิเลส
นี่อารมณ์กำลังจะมาเชื่อมกับจิต ทำจิตให้เป็นกิเลสขึ้นแล้ว
และห้ามมิให้จิตรับเอาอารมณ์เหล่านั้นเข้ามาปรุงจิต
มีสติคอยรักษาอยู่ ก็เป็นโอกาสของปัญญาคือตัวความรู้ ที่จะมาช่วยตักเตือนใจร่วมกับสติ
ว่านี่ดี นี่ไม่ดี นี่ควรรับ นี่ไม่ควรรับ อะไรที่ไม่ดีไม่ควรรับก็ไม่รับเข้ามา
ให้ทิ้งอยู่แค่ตาแค่หูแค่จมูกแค่ลิ้นแค่กายและแค่ใจ ที่รู้เรื่องทีแรกนั้น
แต่ไม่รับเข้ามาปรุงใจ ดั่งนี้เป็นตัวสติ
อินทรียสังวร
หัดทำสติให้มีประจำใจรักษาใจ คอยระลึกรู้คอยเตือนใจอยู่เสมอดั่งนี้
นี่แหละเรียกตัว อินทรียสังวร คือความสำรวมอินทรีย์
อินทรีย์แปลว่าสิ่งที่เป็นใหญ่ ในที่นี้หมายถึงตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ
เพราะว่าตาเป็นใหญ่ในการเห็นรูป หูเป็นใหญ่ในการฟังเสียง
ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส จมูกเป็นใหญ่ในการดมกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส
กายเป็นใหญ่ในการถูกต้อง และมโนเป็นใหญ่ในการรู้เรื่องคิดเรื่อง
และนอกจากนี้หากไม่มีสติคอยรักษาอยู่ดังกล่าว
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ ยังมาเป็นใหญ่ครอบงำจิตใจอีกด้วย
ทำให้จิตใจนี้ต้องปฏิบัติไปตามอำนาจของกิเลส เช่นว่าอยากดูอะไรทางตา ก็ต้องไปดู
อยากได้ยินอะไรทางหูก็ต้องไปให้ได้ยินได้ฟังเหล่านี้เป็นต้น ก็ยิ่งเป็นใหญ่ครอบงำจิต
คนเราจึงต้องปฏิบัติเอาอกเอาใจตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจอยู่ตลอดเวลา
ก็ล้วนแต่หาเรื่องต่างๆมาป้อนให้ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจทั้งนั้น
และเมื่อดูลึกซึ้งเข้าไปอีกแล้ว ก็คือป้อนให้แก่ตัวกิเลสนี้เอง ซึ่งตั้งอยู่ในจิตใจ
เพราะเหตุที่รับอารมณ์ทั้งหลายทางตาหูเป็นต้นนั้นเข้ามาปรุงจิตใจให้เป็นกิเลส
แล้วก็ต้องไปปฏิบัติเอาอกเอาใจกิเลส มาป้อนกิเลส ตามที่กิเลสต้องการ
ให้มีสติพร้อมทั้งปัญญารับรู้ดั่งนี้อยู่เสมอ
ในเวลาที่เห็นอะไรได้ยินอะไรทุกอย่างก็เป็นอินทรียสังวร
ซึ่งเป็นศีลที่อยู่ในระหว่างของตัวศีลภายนอกเองกับศีลที่เป็นตัวศีลภายใน ตลอดจนถึงสมาธิ
และนอกจากนี้ก็ต้องตั้งสติไว้ในทางที่ดีที่ชอบ อันเรียกว่าสัมมาสติ
ในมหาสติปัฏฐานสูตร หรือในสติปัฏฐานที่ตรัสสอนให้ตั้งสติทำสติให้ปรากฏ
ตรัสสอนให้หัดทำสติตั้งอยู่ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ๔ ประการเป็นหัวข้อใหญ่
และได้ตรัสสอนจำแนกออกไป ในข้อกายนั้นก็ตั้งต้นแต่ให้กำหนดลมหายใจเข้าออก
จิตที่เคยคิดไปในเรื่องต่างๆภายนอกต่างๆนั้น
ก็ให้นำกลับเข้ามาหัดคิดกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกของตนเอง
กล่าวสั้นๆในวันนี้ว่า หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้
ตั้งต้นแต่ตรัสสอนให้เข้าไปสู่ป่า เข้าไปสู่โคนไม้ เข้าไปสู่เรือนว่าง คือเข้าไปสู่ที่สงบ
ดั่งในที่นี้แม้จะอยู่ด้วยกันมาก ก็กล่าวได้ว่าเป็นเรือนว่างได้
เพราะว่าต่างคนต่างตั้งอยู่ในความสงบ ไม่แสดงความไม่สงบทางกายทางวาจา
เพราะฉะนั้นก็ชื่อว่าเรือนว่างได้ คือเข้าไปสู่ที่สงบนั้นเอง
และตรัสสอนให้นั่งขัดบัลลังก์คือขัดสมาธิหรือขัดสะหมาด
ที่นิยมปฏิบัติกันก็ใช้ขัดสะหมาด เท้าขวาทับเท้าซ้าย และตั้งกายตรง
มือทั้งสองวางให้นิ้วหัวแม่มือชนกัน มือขวาทับ มือซ้าย
หรือจะวางให้นิ้ว เพียงให้นิ้วชนกันก็ได้ หรือจะวางให้ห่างกันก็ได้ ไม่ได้มีกำหนดไว้
ดำรงสติจำเพาะหน้า กำหนดเข้ามาที่ลมหายใจเข้าออก
ที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบนอันเป็นจุดที่ลมกระทบ หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้
และหากว่าจะใช้วิธีนับ หายใจเข้านับหนึ่ง หายใจออกนับหนึ่ง
เรื่อยไปจนถึงสิบแล้วก็ตั้งต้นใหม่ดั่งนี้ก็ได้
หรือจะไม่ใช้วิธีนับ ใช้วิธีพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ก็ได้
เป็นการช่วยทำให้จิตรวมเข้ามาตั้งอยู่ได้
เพราะฉะนั้นในวันแรกนี้จะหัดทำสติเพียงเท่านี้ก่อนก็ได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
ข้อที่ควรปฏิบัติเป็นขั้นที่หนึ่ง
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
สรณะ ๒
ศีลอันสืบเนื่องมาจากสรณะ ๓
กรรมฐานอันเป็นบุพพภาค ๔
ข้อปฏิบัติประจำ ๖
วิธีปฏิบัติในอานาปานสติ ๖
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อย
ม้วนที่ ๑๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔/๑ ( File Tape 11 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ข้อที่ควรปฏิบัติเป็นขั้นที่หนึ่ง
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จิตตภาวนาการอบรมจิต หรือกรรมฐาน
ทั้งที่เป็นฝ่ายสมาธิหรือสมถะ ทั้งที่เป็นฝ่ายปัญญาหรือวิปัสสนา
เป็นข้อที่ทุกๆคนควรฝึกปฏิบัติโดยมีศีลเป็นภาคพื้น
และหลักปฏิบัติที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป ก็คือหลักปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔
ที่ได้เริ่มสวดและเริ่มแสดงสำหรับในพรรษากาลนี้ตั้งแต่เมื่อวานนี้
สรณะ
แต่ในเบื้องต้นก็มีวิธีปฏิบัติซึ่งได้นิยมใช้กันอยู่
แต่เมื่อรวมเข้ามาแล้วก็คือความตั้งใจถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
เป็นสรณะคือที่พึ่งอันเอกอุดม แม้ว่าทุกคนผู้เป็นพุทธศาสนิกนับถือพุทธศาสนา
ต่างก็ได้ถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะกันอยู่
แม้เช่นนั้นในเวลาที่จะปฏิบัติทุกคราวก็ให้ตั้งใจถึงอีก
ด้วยวิธีน้อมใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่งอันเอกอุดม
จะใช้ภาวนาในใจว่า พุทธังสรณังคัจฉามิ ธัมมังสรณังคัจฉามิ สังฆังสรณังคัจฉามิ
ทุติยัมปิ... ตติยัมปิ... ก็เช่นเดียวกัน ดั่งนี้ก็ได้
หรือจะใช้บทว่า
นัทถิ เม สรณัง อัญญัง ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี
พุทโธ เม สรณัง วรัง พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า
ธัมโม เม สรณัง วรัง พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า
สังโฆ เม สรณัง วรัง พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า
เอเตนะ สัจจะวัจเจนะ ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้
โสตถิ เม โหตุ สัพพทา ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ ดั่งนี้ก็ได้
และบท นัทถิ เม ฯ นี้เป็นอันได้ตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ
คือที่พึ่งอันเอกอุดม อันเอกก็คือเพียงอย่างเดียว อันหมายความว่าสรณะคือที่พึ่งอันประเสริฐ
หรืออันอุดมคือสูงสุดนี้มีแต่พระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เพียงอย่างเดียว
ไม่มีที่พึ่งอึ่นที่ประเสริฐสูงสุด เป็นอันทำจิตให้เข้าถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์
รวมจิตเข้าหาพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ นี้เป็นข้อที่ควรปฏิบัติเป็นขั้นที่หนึ่ง
ศีลอันสืบเนื่องมาจากสรณะ
ขั้นที่สองต่อไปก็ตั้งใจตรวจดูจิตพร้อมทั้งกายวาจา
ที่ได้ตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะดั่งนี้
ย่อมจะพบว่าจิตใจพร้อมทั้งกายและวาจามีความสงบเป็นปกติ
เพราะว่าเมื่อเข้าไปสู่วัตถุคือที่ตั้งอันสงบอันเป็นปรกติ อันประเสริฐอันสูงสุด
ก็ย่อมจะทำให้กายวาจาใจสงบเป็นปรกติ
และยังอาจประกอบด้วยปีติโสมนัสในพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์
ก็ให้มีความสำนึกว่าอันนี้แหละเป็นตัวศีลที่บังเกิดสืบเนื่องมาจากสรณะ
ก็ให้ตั้งใจรักษาศีลคือความสงบเป็นปรกติกายวาจาใจนี้ไว้
ทุกคนแม้ว่าจะได้สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ก็ตาม
หรือเข้าบวชเป็นภิกษุสามเณรก็เป็นอันว่าได้สมาทานศีล ๒๒๗ หรือศีล ๑๐ ก็ตาม
แต่ว่าเมื่อปฏิบัติก็ให้ทำศีลทั้งปวงที่สมาทานนั้นมาประมวลเข้าในศีลที่ได้จากสรณะนี้
คือความเป็นปรกติ สงบ หรือสงบเป็นปรกติกายวาจาใจ
อันสืบเนื่องมาจากถึงสรณะ เป็นศีลที่ได้จากสรณะนี้ด้วย
และรักษาศีลอันเป็นตัวศีลดังกล่าวนี้ไว้
ตัวศีลดังกล่าวนี้ไม่มีว่าห้าข้อสิบข้อ หรือกี่ข้อก็ตาม
แต่ว่าเป็นความปรกติสงบ หรือสงบเป็นปรกติกายวาจาใจ
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติเตรียมกายวาจาใจพร้อมที่จะทำสมาธิต่อไป
โดยที่ได้ตั้งจิตว่าจะปฏิบัติในสมาธิในกรรมฐานข้อไหน
และก็ให้น้อมใจไปถึงกรรมฐานข้อที่จะปฏิบัตินั้น
และจะอธิษฐานจิตขออำนาจสรณะที่ถึงคือพระรัตนตรัยได้คุ้มครองรักษาจิตของตน
และการปฏิบัติของตนให้ดำเนินไปด้วยดี แล้วก็จับปฏิบัติ
กรรมฐานอันเป็นบุพพภาค
ในการจับปฏิบัตินี้ มีวิธีจับปฏิบัติกรรมฐาน
ที่ควรถือเป็นบุพพภาคคือเบื้องต้น เพื่อที่จะอบรมจิตให้สงบกิเลสนิวรณ์
และให้น้อมเข้ามาสู่ตัวความสงบจิต อันเป็นฐานที่ตั้งของสมาธิ ก็ย่อมจะทำได้
กรรมฐานอันเป็นบุพพภาค ก็คือพรหมวิหารธรรม
ตั้งจิตแผ่เมตตา แผ่กรุณา แผ่มุฑิตา แผ่อุเบกขา ไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า
ในทิศเบื้องหน้า ในทิศเบื้องขวา ในทิศเบื้องหลัง ในทิศเบื้องซ้าย
ในทิศเบื้องบน ในทิศเบื้องล่าง ในทิศเบื้องขวางโดยรอบ ให้เป็น อัปปมัญญาภาวนา
คืออบรมแผ่จิตไปด้วยพรหมวิหารธรรมทั้งสี่นี้ในสรรพสัตว์ ไม่มีประมาณ
เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะสงบจาก โทสะ พยาบาท จาก สิเนหา ด้วยอำนาจของเมตตา
จากสงบจาก วิเหสา หรือ วิหิงสา คือความคิดเบียดเบียน
และ โทมนัส คือความเศร้าโศกเสียใจ ด้วยอำนาจของกรุณา
จะสงบจากความ ริษยา และ โสมนัส ความพลอยยินดีตื่นเต้นอยากได้ ด้วยอำนาจของมุฑิตา
จะสงบจาก ราคะ ความติดใจยินดี และ ปฏิฆะ ความหงุดหงิดกระทบกระทั่ง
กับทั้ง อัญญานุเบกขา ความวางเฉยด้วยความไม่รู้ ด้วยอำนาจของอุเบกขา
ฉะนั้น จึงเป็นจิตที่อ่อนควรแก่การงาน คือควรที่จะปฏิบัติอบรมกรรมฐานสืบต่อไป
การปฏิบัติทำพรหมวิหารธรรมให้มีขึ้นนี้เป็นกรรมฐานที่ควรปฏิบัติเป็นประจำ
ในเบื้องต้นเรียกว่าเป็นกรรมฐานที่เป็นบุพพภาคคือเป็นส่วนเป็นภาคเบื้องต้น
และอีกข้อหนึ่ง ..(กายคตาสติ) (เริ่ม ๑๔/๑ ) หรืออสุภกรรมฐาน
พิจารณากายนี้ว่าไม่งดงาม คือกำหนดพิจารณาอาการ ๓๑ หรือ ๓๒
หรือเพียง ๕ ข้อ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด ไม่งดงาม
เมื่อปฏิบัติในกรรมฐานข้อนี้จิตจะสงบจากกิเลสกองราคะ
คือความติดใจยินดีต่างๆในกายตน ในกายผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
ก็เป็นบุพพภาคอีกเหมือนกัน คือเป็นข้อที่ควรปฏิบัติเป็นเบื้องต้นทุกวัน
จะปฏิบัติในอสุภกรรมฐานหรือกายคตาสตินี้ก่อนก็ได้
หรือจะปฏิบัติในพรหมวิหารนั้นก่อนก็ได้ สุดแต่ความสะดวกแก่จิตใจของแต่ละบุคคล
และก็ให้ใช้เวลาไม่ต้องนานนัก เพราะว่ามีกำหนดกรรมฐานที่จะพึงปฏิบัติ
เป็นการปฏิบัติประจำของตนต่อไป
ข้อปฏิบัติประจำ
สำหรับกรรมฐานที่จะปฏิบัติเป็นประจำของตนต่อไปนั้น
ก็หมายความว่าข้อที่จะปฏิบัติให้เกิดความชำนิชำนาญ
เพื่อจะได้สมาธิจิตที่เป็น อุปจาร เป็น อัปปนา ยิ่งๆขึ้นไป อันนี้ก็สุดแต่ผู้ปฏิบัติจะเลือก
จะเลือกเอากรรมฐานที่เป็นบุพพภาคนั้น เช่นพรหมวิหารทั้ง ๔ หรือข้อใดข้อหนึ่ง
หรือจะเลือกเอาอสุภกรรมฐาน หรือกายคตาสติคือใช้เป็นบุพพภาคนั้นก็ได้ถ้าชอบใจ
หรือหากว่าจะเลือกเอาข้ออื่น เช่น อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
ที่ตรัสยกขึ้นแสดงไว้เป็นข้อแรกในหมวดกายคตาสติ สติที่ไปในกายในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นก็ได้
วิธีปฏิบัติในอานาปานสติ
และก็ควรจะทราบวิธีปฏิบัติในอานาปานสติ หากจะเลือกเอาอานาปานสติ
เป็นกรรมฐานประจำ และก็ควรจะทราบอธิบายถึงวิธีปฏิบัติในกรรมฐานข้อนี้
และโดยที่อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ ได้มีผู้ปฏิบัติกันเป็นจำนวนมาก
เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระอาจารย์แสดงอธิบายวิธีปฏิบัติไว้มาก ตรงกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง
ฉะนั้น ผู้มุ่งปฏิบัติจึงควรจะทราบพระพุทธาธิบาย คืออธิบายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้เอง
ที่ปรากฏในพระสูตรเป็นหลักสำคัญ และต่อจากนั้นก็ควรจะทราบถึงอธิบายของพระอาจารย์
ที่ท่านได้อธิบายไว้ เพื่อช่วยปฏิบัติให้สะดวกขึ้น
แต่ก็ควรจะถือว่า อธิบายของพระอาจารย์ที่อธิบายไว้นั้นเป็นข้อประกอบ
ซึ่งผู้ปฏิบัติรู้สึกว่า วิธีไหนของพระอาจารย์ถูกแก่จริตอัธยาศัยของตน ก็ถือเอาได้
แต่ข้อสำคัญนั้นต้องให้ถูกต้องกับหลักที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายไว้
ก็ในหลักที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายไว้นั้น
เป็นหลักที่สอนให้ตั้งสติกำหนดในลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เป็นอานาปานสติอันบริสุทธิ์ และตรง ดังที่ได้ตรัสอธิบายไว้ในพระสูตรทั้งหลาย
ที่เราทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังกันอยู่เป็นอันมาก ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า
เข้าไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์คือนั่งขัดสะหมาด
ตั้งกายตรง ทำสติให้ตั้ง ให้รู้รอบด้าน มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
หายใจเข้าหายใจออกยาวก็รู้ หายใจเข้าหายใจออกสั้นก็รู้
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักระงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย หายใจเข้าหายใจออก ดั่งนี้
นี้เป็นพระพุทธาธิบายโดยตรง และก็ได้มีพระอาจารย์ได้แสดงอธิบาย
ในพระพุทธาธิบายนี้ออกไปอีกเพื่อให้มีความเข้าใจ
สำหรับในทางปฏิบัติในเบื้องต้นนั้น
แม้ว่าจะยังไม่ต้องไปทำความเข้าใจพระพุทธาธิบายนั้นให้ตลอด
แต่ว่าถือเอาที่ได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ ว่ามีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
หายใจเข้าออกยาวก็ให้รู้ หายใจเข้าออกสั้นก็ให้รู้ เอาเท่านี้ก่อน
โดยที่ได้ตั้งสติคือความระลึกรู้เข้ามา ว่าเราหายใจเข้า เราหายใจออก เท่านั้นก่อน
สติที่ระลึกรู้ดั่งนี้ ก็ระลึกรู้เข้ามาที่ตัวเอง
ดังในบัดนี้ทุกคนก็นั่งกันอยู่ในที่นี้ และก็อยู่ในอิริยาบถนั่ง
เมื่อยังมิได้มาปฏิบัตินั้น ก็มิได้ระลึกรู้ว่าเรากำลังหายใจเข้า เรากำลังหายใจออก
ก็ไปนึกถึงเรื่องอื่น กับทั้งบางทีก็โลภ บางทีก็โกรธ บางทีก็หลง อยู่ในเรื่องนั้นๆ ที่นึกถึงนั้น
ก็เลยมิได้นึกถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออกของตัว หายใจอยู่ก็เหมือนอย่างไม่หายใจ
เพราะมิได้ระลึกรู้ เมื่อมิได้ระลึกรู้ก็ไม่รู้ แม้ว่าจะหายใจเข้าหายใจออกอยู่ก็ตาม
เพราะฉะนั้น จึงต้องวางเรื่องอื่นๆทั้งหมด วางโลภ วางโกรธ วางหลงไว้ก่อน
รวมจิตเข้ามาระลึกรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกของตน รวมจิตเข้ามาระลึกรู้ตน
ดูตนว่าหายใจเข้าหายใจออกอยู่ อันนี้คือ อนุปัสสนา ดูตาม
เพราะว่าตนเองนั้นก็หายใจเข้าหายใจออกอยู่เป็นปรกติแล้ว
ตนเองจะมาดูหรือไม่ดูว่าตัวเองหายใจ แต่ว่าตนเองนั้นก็หายใจอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้น จึงนำจิตกลับเข้ามาดูตัว ดูตนเองที่หายใจอยู่ ให้รู้ว่าหายใจเข้า ให้รู้ว่าหายใจออก
รวมจิตเข้ามาดั่งนี้ ยังไม่ต้องไปกำหนดที่ไหนก็ได้ กำหนดรวมๆเข้ามาที่ตัวเอง
ก็จะรู้ได้เองว่าหายใจเข้าหายใจออก และเมื่อจิตรวมเข้ามาดู
เพราะฉะนั้น เอาง่ายๆแค่นี้ก่อน
และเมื่อจิตออกไปก็นำกลับเข้ามาดูอีก
เพราะว่าจิตนี้จะออกไปอยู่เสมอ สิ่งที่นำจิตออกไปนั้นก็คือนิวรณ์
เมื่อจิตมีนิวรณ์มากนำกลับเข้ามาก็ไม่ค่อยจะยอมอยู่ จะต้องออกไป ก็นำกลับเข้ามาอีก
เพราะฉะนั้นเอาเท่านี้ก่อน คอยนำจิตกลับเข้ามาดู
คอยตามดูหายใจเข้าหายใจออกของตัวเองให้รู้ ก็จะได้สมาธิในเบื้องต้นได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป