ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์, 19 พฤศจิกายน 2555 12:23
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป002
พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา (๓)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
สุญญตา ความว่าง ๓
ความหมายของเนวสัญญานาสัญญายตนะ ๔
อนิมิตเจโตสมาธิ ๕
อนิมิตเจโตสมาธิในภาวะปรกติธรรมดา ๖
นิมิต อนิมิต ๗
ความปล่อยวาง ๘
นิพพาน ตัณหา นันทิ ๙
วิธีที่จะถอนตัณหาเสียบจิต ๑๐
ความว่างที่เป็นปรมุตระ ๑๑
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อยระหว่างหน้าเทป
ม้วนที่ ๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒/๒ - ๓/๑
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา (๓)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสุญญตาคือความว่าง ที่พระบรมศาสดาได้ตรัสถึงพระองค์เอง
ว่าทรงอยู่โดยมากด้วยสุญญตาวิหาร ธรรมะเครื่องอยู่คือสุญญตาความว่าง
ทั้งเมื่อก่อนแต่นี้ และทั้งในเวลานี้คือเวลาที่ตรัสเล่าเรื่องนี้
และพระองค์ก็ได้ทรงแสดงถึงวิธีปฏิบัติสุญญตาคือความว่าง ตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นไปโดยลำดับ
ก็โดยที่บุคคลสามัญทั่วไปนั้น
ในขณะที่อยู่เฉยๆมิได้ทำอะไรในบางคราว ก็รู้สึกว่าว่างอันเป็นที่รำคาญ ไม่ผาสุข
แต่หากให้ทำอะไรต่างๆรู้สึกว่าไม่ว่าง ก็ทำให้เพลินไปในการงานต่างๆที่ทำนั้น
แต่อันที่จริงในขณะที่ต้องมาอยู่ว่าง เช่นในขณะที่เจ็บป่วยก็ดี
หรือในขณะที่ลาเข้ามาบวช พักการพักงานชั่วระยะหนึ่งก็ดี ที่รู้สึกว่าว่างไม่มีอะไรจะทำ
น่ารำคาญ และมีความทุกข์ไม่สบายอยู่กับความว่าง ไม่มีอะไรจะทำดังกล่าวนั้น
แต่อันที่จริงความว่างที่เข้าใจว่าว่างอันทำให้รำคาญนี้
หาได้ชื่อว่าสุญญตาคือความว่าง อันเป็นธรรมปฏิบัติในพุทธศาสนาไม่
เพราะว่า จิตใจไม่ว่าง เต็มไปด้วยนิวรณ์ต่างๆ
ว่าถึงนิวรณ์ ๕ ก็เป็นกามฉันท์ความยินดีรักใคร่อยู่ในกามบ้าง
เป็นพยาบาทความหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคืองต่างๆบ้าง
เป็นถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบ้าง เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญบ้าง
เป็นวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆบ้าง
ใจจึงไม่สงบเพราะมีอาลัยความผูกพัน ติดอยู่ในสิ่งนั้นบ้าง ในสิ่งนี้บ้าง
ในบุคคลนั้นบ้าง ในบุคคลนี้บ้าง ซึ่งโดยปรกตินั้นเมื่อมีความอาลัยผูกพันอยู่ดั่งนี้
ก็มักจะไปหาสิ่งที่มีอาลัยผูกพัน หรือบุคคลที่มีอาลัยผูกพันอยู่ได้ (จบ ๒/๑)
(ข้อความน่าจะไม่ต่อเนื่อง)
( เริ่ม ๒/๒ ) แล้วก็มีอารมณ์ ที่ไม่ดีก็เป็นโกรธ เป็นไม่พอใจ เหล่านี้เป็นต้น ใจไม่ว่าง ใจไม่สงบ
เพราะฉะนั้นความว่างก็คือตัวความสงบ และคือตัวอุเบกขาความที่รู้วางไม่วุ่นวาย ไม่ยุ่ง
ใจสงบ ใจวาง แม้รู้อยู่ก็สงบได้ วางได้ ดั่งนี้ จึงจะเป็นสุญญตาคือความว่าง
สุญญตา ความว่าง
และสุญญตาคือความว่างที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น
หากหัดปฏิบัติไปตามที่ทรงสั่งสอนตั้งแต่ในเบื้องต้น ก็ย่อมจะทำได้สะดวก
จะทำให้จิตใจนี้ว่างจากอารมณ์ที่ปรุงใจ ว่างจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ ไปโดยลำดับ
เพราะฉะนั้นจะอยู่ที่ไหน จะป่วยหรือไม่ป่วย จะบวชหรือไม่บวช
ก็สามารถที่จะพบกับสุญญตาคือความว่างตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ได้
หากไม่ปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน ก็จะไม่ได้พบสุญญตาคือความว่าง
เจ็บป่วยก็ไม่ได้พบสุญญตาคือความว่าง บวชก็ไม่ได้พบสุญญตาคือความว่าง
เป็นคฤหัสถ์ก็ไม่ได้พบสุญญตาคือความว่าง เป็นบรรพชิตก็ไม่ได้พบสุญญตาคือความว่าง
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะ จึงต้องฝึกหัดปฏิบัติทำสุญญตาคือความว่างตามที่ทรงสั่งสอน
ดั่งที่ได้แสดงมาแล้วโดยลำดับ แต่ว่าจะได้แสดงทบทวนในตอนท้าย
ซึ่งจะเป็นทางนำการปฏิบัติไปด้วย
ความหมายของเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ก็ได้แสดงมาถึงที่ตรัสสอนให้ มนสิการ
คือทำใจกำหนดในจิตอย่างละเอียด จนถึงปล่อยอารมณ์ทั้งหมด
ทั้งที่เป็น รูปารมณ์ อารมณ์ที่เป็นรูป หรือดังที่เรียกว่ารูปฌาน รูปสมาบัติ
กับทั้ง อรูปารมณ์ อารมณ์ที่ไม่มีรูป ดังที่เรียกว่าอรูปฌาน หรืออรูปสมาบัติ
แต่ก็ไม่หมดทีเดียว ถึงไม่หมดก็ละเอียดที่สุด เกือบจะหมด
คือในข้อที่ว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ คือมีสัญญาอยู่เหมือนกัน แต่ว่าละเอียดมาก
แม้เป็นสัญญาคือความกำหนดหมายที่ละเอียดมาก จิตนี้ก็สว่างโพลงตั้งมั่น
มีความรู้อยู่เต็มที่ มีความเข้าไปเพ่งอยู่เต็มที่ คือเข้าไปเพ่งอยู่กับสิ่งที่ไม่มีนั้น
แต่ว่าอันที่จริงนั้นก็ยังมีอยู่อีกหน่อยหนึ่ง ไม่ใช่ไม่มีไปทั้งหมด
คล้ายๆกับว่า รู้สึกว่าจะมีคนหลบอยู่ในห้องๆหนึ่ง
ก็เข้าไปในห้องนั้นแล้วก็ค้นหาว่ามีใครอยู่ในห้องนั้น ซ่อนอยู่ที่ไหนบ้าง
ก็ไม่พบใครสักคนหนึ่ง จึงมีความเข้าใจว่าไม่มีใครอยู่ในห้องนั้น
แต่อันที่จริงนั้นลืมนึกไปถึงว่า มีตัวเองอยู่ในห้องนั้นอีกหนึ่งคน คือตัวเองซึ่งเป็นผู้ค้นหานั้น
เพราะฉะนั้นไม่มีใครอื่น เรียกว่าไม่มีอารมณ์ทั้งที่เป็นรูป ทั้งที่เป็นอรูป อื่นๆทั้งหมด
แต่ว่าก็ยังมีตัวเราอยู่ อันป็นที่ยึดถืออยู่ และในการค้นหานั้นก็ยังเป็นการค้น
ซึ่งแสดงว่ายังไม่เสร็จกิจ ยังต้องค้น ยังต้องปรุงแต่งการค้น
เพราะฉะนั้นที่ว่า มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่นั้น ก็หมายความว่ามีสัญญาอยู่เหมือนกัน
แต่ว่าละเอียดมาก ไม่ถึงจะกล่าวว่าเป็น รูปสัญญา กำหนดหมายในรูป
สัทสัญญา กำหนดหมายในเสียง หรือในอากาศ ช่องว่าง ในวิญญาณที่เป็นตัวรู้
หรือในอะไรๆที่แม้น้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี ในสิ่งที่เป็นช่องว่างนั้น
แต่ก็ยังมีตัวสัญญาที่กำหนดอยู่นั่นแหละ คือกำหนดว่าไม่มี
ความกำหนดว่าไม่มีนั้นเองก็เป็นสัญญา
ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงว่า แม้หัดปฏิบัติมาถึงขั้นนี้
ก็ยังมีเหลืออยู่อย่างหนึ่งคือกายนี้ที่มีอายตนะทั้ง ๖ และมีชีวิตเป็นปัจจัย
กับทั้งยังมีตัวสัญญาที่แม้ว่าจะไม่ชัดเจน เพราะเป็นความกำหนดอยู่ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี
ตัวความกำหนดนั้นก็ยังเป็นตัวสัญญา แต่เป็นอย่างละเอียด
อนิมิตเจโตสมาธิ
ฉะนั้นในขั้นต่อไปจึงได้ตรัสสอนให้ไม่ใส่ใจ
ถึงความกำหนดหมายอันเป็นตัวสัญญาที่ละเอียดดังกล่าว
แต่ให้ใส่ใจถึงข้อที่เรียกว่า อนิมิตเจโตสมาธิ คือสมาธิแห่งใจที่ไม่มีนิมิตสำหรับกำหนดหมาย
อัน อนิมิตเจโตสมาธิ สมาธิแห่งใจที่ไม่มีนิมิตเป็นเครื่องกำหนดหมายนี้ เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก
และโดยปรกติก็แสดงในขั้นสูงสุดของการปฏิบัติ
และพระอาจารย์โดยมากก็แสดงอธิบายเป็นวิปัสสนากรรมฐานไปทีเดียว
ว่าคือปัญญาที่พิจารณานิมิตคือสิ่งที่กำหนดทั้งหมดของจิตใจ
หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า ขันธ์ ๕ ก็ดี นามรูปก็ดี
หรือว่ารูป หรือว่ากาย เวทนา จิต ธรรม ก็ดี หรือว่าอายตนะ หรือว่าธาตุก็ดี
ซึ่งทั้งหมดก็มีอยู่ในกายและใจอันนี้ทั้งหมด ไม่กำหนดยึดถือในสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด
ว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาคือเป็นตัวเราของเรา
แต่ทั้งหมดเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้
เป็นอนัตตาไม่ใช่อัตตาตัวตน
และเมื่อได้พิจารณาจนได้ปัญญาในไตรลักษณ์ดั่งนี้
จึงไม่มีนิมิต คือไม่มีความยึดถือของจิตที่กำหนดในอะไรๆทั้งสิ้น
ว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาตัวตน ดั่งนี้เป็นอนิมิตเจโตสมาธิ
อนึ่ง ก็อาจพิจารณาได้อีกว่า
อนิมิตเจโตสมาธินั้น สูงกว่าขั้นที่กำหนดในสัญญาอย่างละเอียด
เป็นสัญญาที่กำหนดในความไม่มี น้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี
ซึ่งเป็นตัวสัญญาเหมือนกัน ละเอียดจนถึงว่าไม่ถนัดที่จะเรียกว่ามีสัญญา
แต่ก็ไม่อาจจะเรียกได้ว่าไม่มีสัญญา เพราะมีเหมือนกัน
ซึ่งในขั้นอนิมิตนี้ก็เป็นอันว่าเลิกสัญญากันทั้งหมด จิตเข้าสู่ธรรมชาติของจิต
ธรรมชาติของจิตนั้นคือ เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ เป็นอภัสรธาตุคือธาตุที่ผ่องใส
ทั้งสองนี้เป็นธรรมชาติของจิต รู้และผ่องใส
ในขั้นอนิมิตเจโตสมาธินี้ จิตจึงตั้งสงบอยู่ภายใน ประกอบด้วยความรู้
ประกอบด้วยความผ่องใส ไม่ออกมากำหนดอะไรๆทั้งหมด หยุดสงบอยู่ในภายใน
จึงไม่มีสัญญาในอะไรๆทั้งหมด ตั้งสงบอยู่ในภายใน แต่ว่ารู้ รู้และผ่องใส
อนิมิตเจโตสมาธิในภาวะปรกติธรรมดา
อาจจะเป็นอนิมิตเจโตสมาธิในขณะที่ยังอยู่เป็นปรกติธรรมดานี้ก็ได้
เช่นว่าไม่ได้นั่งเข้าที่เข้าทางอะไร ตาก็ลืม หูก็ฟัง จมูก ลิ้น กาย ก็รับ กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
แต่ว่ามโนคือใจนั้นไม่ออก ตั้งสงบอยู่ด้วยความรู้และความปภัสรคือผุดผ่องเท่านั้น
อะไรผ่านเข้ามาทางตาก็รู้ก็เห็น เสียงอะไรดังขึ้นก็ได้ยิน เหล่านี้เป็นต้น
แต่ว่าจิตรู้แล้วก็แล้วไป เห็นก็แล้วไป ได้ยินก็แล้วไป ไม่ออกมายึด ไม่ออกมากำหนด
ไม่ออกมายึดไม่ออกมากำหนดทั้งในทางที่ก่อกิเลส ก่อโลภะ ก่อโทสะ ก่อโมหะ
ทั้งในทางที่เป็นกรรมฐาน เช่น กำหนดลมหายใจเข้าออก กำหนดผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
กำหนดธาตุ ๔ เป็นต้น ที่เรียกว่าออกมากำหนดเป็นกรรมฐาน
ไม่ออกมากำหนดทั้งหมด เห็นอะไรได้ยินอะไร ก็รู้รูป รู้เสียงเป็นต้น ก็แล้วไปเท่านั้น
จิตตั้งสงบอยู่ในภายในด้วยความรู้ และด้วยความผ่องใส
นิมิต อนิมิต
ดั่งนี้แหละคือเป็นตัวอุเบกขาอย่างแท้จริงในขั้นนี้
จิตตั้งสงบอยู่ดั่งนี้ จึงไม่มีนิมิตคือเครื่องกำหนดอะไร เพราะไม่ออกไปกำหนด
เมื่อจิตออกไปกำหนดในสิ่งใด สิ่งนั้นจึงเป็นนิมิตขึ้นมา
แต่เมื่อจิตไม่ออกไปกำหนดในสิ่งใดสิ่งนั้นก็ไม่เป็นนิมิต
เพราะฉะนั้นอาการที่จิตตั้งสงบอยู่ภายใน ดั่งนี้เรียกว่าเจโตสมาธิ สมาธิของใจ
และตั้งสงบอยู่ไม่ออกไปกำหนดอะไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ทางมนะคือใจทั้งหมด ตั้งสงบอยู่เฉยๆ อะไรมาก็เห็น อะไรมาก็ได้ยิน
เห็นหมดได้ยินหมดอย่างธรรมดานี่แหละ แต่ว่าตั้งสงบอยู่เฉยๆไม่ออกมากำหนด
อันนี้แหละเป็นเป็นตัวเป็นอนิมิต เป็นอนิมิตเจโตสมาธิ
ในความรู้นั้นอาจจะประกอบด้วยไตรลักษณญาณ รู้ในไตรลักษณ์ก็ได้
หรือว่าไม่ได้นึกถึงว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อะไร ก็ได้
รู้สงบอยู่ภายในเฉยๆ ดั่งนี้เป็นอนิมิตเจโตสมาธิ
และแม้ได้ในขั้นนี้ซึ่งเป็นสุญญตาในขั้นปฏิบัติอย่างสูงสุด
แต่ก็ยังมีเหลืออยู่ที่กายนี้ อันมีอายตนะทั้ง ๖ และมีชีวิตเป็นปัจจัย
อันที่จริงนั้นไม่ใช่เหลืออยู่เพียงกายนี้เท่านั้น ยังมีอวิชชาตัณหาอุปาทานเหลืออยู่ด้วย
เหมือนอย่างตัวอย่างที่กล่าวแล้วเมื่อกี้นี้ ใช้เป็นตัวอย่างอันเดียวกันได้
ว่าเข้าไปค้นหาใครอะไรในห้องๆหนึ่ง ก็ไม่เห็นอะไร ไม่เห็นใคร ว่างไปทั้งหมด
ก็รู้สึกว่าว่าง ไม่มีใคร ไม่มีอะไร แต่อันที่จริงนั้นยังมีตัวเราอยู่ซึ่งเป็นผู้เข้าไปค้นนั้น
และการค้นนั้นก็เป็นการปฏิบัติ ซึ่งเรียกว่าเป็นสังขารคือความปรุงแต่ง
และเมื่อน้อมเข้ามาว่าจิตก็เป็นความปรุงแต่งจิตใจ ปรุงแต่งให้เป็นอนิมิตเจโตสมาธิขึ้น
เช่นเดียวกับปรุงแต่งในขั้นที่แสดงมาโดยลำดับ เป็นขั้นๆขึ้นมา
เหมือนอย่างการขึ้นบันใดขึ้นมาทีละขั้น ก็ต้องปรุงแต่งการขึ้นๆมา คือเดินขึ้นมา
ไม่ปรุงแต่งคือไม่เดิน ก็ขึ้นบันใดมาไม่ได้
การจะขึ้นได้ก็ต้องเดิน การเดินนั้นก็เป็นการปรุงแต่ง คือปรุงแต่งการเดิน
ฉันใดก็ดี ในข้อนี้ก็ต้องเป็นการปรุงแต่ง คือการปรุงแต่งการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น เมื่อยังเป็นการปรุงแต่ง สิ่งใดที่เป็นการปรุงแต่ง สิ่งนั้นก็เป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง
มีความดับไปเป็นธรรมดา คือเป็นสิ่งเกิดดับ
ความปล่อยวาง
เพราะฉะนั้น ในขั้นต่อไปจึงตรัสสอนให้หยุดปรุงแต่ง
ดูเข้ามาในภายในเท่านั้น ไม่ปรุงแต่ง หยุดปรุงแต่ง
เพราะว่าปรุงแต่งขึ้นมาจนถึงขั้นที่สุดแล้ว เหมือนอย่างก้าวขึ้นบันใดมาถึงขั้นที่สุดแล้ว
ก็เป็นอันว่าไม่ต้องก้าวขึ้นต่อไป หยุดก้าว เพราะว่าถึงขั้นที่สุดแล้ว
เมื่อหยุดปรุงแต่งดั่งนี้ ก็คือความปล่อยวาง
พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงว่า ผู้ที่ไม่ปรุงแต่งจิตจึงพ้นจากกามาสวะ อาสวะคือกาม
ภวาสวะ อาสวะคือภพ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา อาสวะนั้นเป็นกิเลสที่ดองสันดาน
ซึ่งตรัสจำแนกออกเป็นกามคือความรักความใคร่ ความปรารถนา
เป็นภพคือความเป็น ตั้งต้นแต่เป็นเรา เป็นของเรา และเป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ
เป็นอวิชชาคือความไม่รู้ คือไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
โดยตรงก็ในอริยสัจจ์ตามที่ตรัสสั่งสอน
เหล่านี้เป็นกิเลสที่ดองสันดานทุกๆสัตว์บุคคล หรือเรียกว่าสัตว์โลก
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติทางพุทธศาสนา
ที่จะเสร็จกิจนั้นจึงต้องปฏิบัติให้สิ้นอาสวะดังกล่าว
จึงเรียกท่านผู้ที่สิ้นอาสวะว่าพระขีณาสวะ หรือพระขีณาสพ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว
หรือว่าสิ้นอาสวะกิเลสที่ดองสันดาน และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงบรรลุถึงนิพพาน
ธรรมะหรือธรรมชาติที่ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดทั้งหมด
นิพพาน
อันนิพพานนั้นมาจากคำว่า นิ ที่แปลว่าไม่มี หรือแปลว่าออก
กับ วานะ ที่แปลว่ากิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดกันโดยมาก แต่บางทีก็แปลกันว่าลูกศร
วานะคือกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด หรือลูกศรนี้ เป็นลูกศรที่เสียบจิตใจ
ก็คือตัวความรักความใคร่ความปรารถนาบ้าง ความเป็นเราเป็นของเราบ้าง
ตัวความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง อันทำให้หลงยึดถือต่างๆต่อไปบ้าง
เหล่านี้เป็นกิเลสที่เหมือนลูกศรเสียบจิต
บางทีก็ยกเอามาอันเดียวว่าลูกศรที่เสียบจิตนี้คือตัณหาความทะยานอยาก
หรือความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะว่าเป็นอาการที่กำหนดได้ง่าย
จะเป็นกิเลสตัวไหนก็ตามเมื่อมีอยู่แล้ว เสียบจิตใจอยู่แล้ว ก็ทำให้จิตดิ้นรนทั้งนั้น
ไม่สงบ น้อยหรือมาก ตัณหาจึงเป็นตัวลูกศรที่เสียบจิต
หากยังถอนลูกศรที่เสียบจิตนี้ไม่ได้ ก็พ้นทุกข์ไม่ได้
ตัณหา นันทิ
แต่บุคคลเรานั้นมักจะไม่ชอบถอนลูกศรที่เสียบจิตตัวนี้ออก ยังเพลิน ยังยินดี
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงว่าตัณหานี้ไปด้วยกันกับนันทิคือความเพลิน
มีความยินดียิ่งๆ เพราะฉะนั้นจึงมักชอบที่จะหาตัณหามาเสียบจิตกันอยู่เสมอ
มีตัณหาเสียบจิตอยู่แล้ว ก็ไปหามาเสียบจิตเข้าอีก เป็นบุคคลบ้าง เป็นสิ่งของบ้าง
เป็นอะไรบ้าง ไม่หยุด เมื่อเป็นดั่งนี้จึงพ้นทุกข์ไม่ได้
แต่เพิ่มทุกข์ให้มากขึ้น
ฉะนั้นในทางปฏิบัติที่จะให้ถึงนิพพานนั้นก็คือว่า
ปฏิบัติถอนตัณหาที่เสียบจิตนี้ออกนั้นเอง ที่มีอยู่ยังถอนไม่ได้ ก็ไม่หามาเพิ่มเข้าอีก
และพยายามถอนที่เสียบอยู่แล้วให้หลุดไปโดยลำดับ ดั่งนี้
ถอนตัณหาที่เสียบจิตออกได้หมดเมื่อไรก็เป็นนิพพานเมื่อนั้น
เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่นิพพานอยู่ที่ไหน
นิพพานก็อยู่ที่จิตนี่แหละ ไม่ใช่นิพพานก็อยู่ที่จิตนี่แหละ ไม่ใช่ที่ไหน
มีตัณหาเสียบจิตอยู่ก็ไม่ใช่นิพพาน ถอนตัณหาที่เสียบจิตออกได้แล้วก็เป็นนิพพาน
วิธีที่จะถอนตัณหาเสียบจิต
พระพุทธเจ้าได้มีพระมหากรุณา ทรงแสดงสั่งสอนวิธีที่จะถอนตัณหาที่เสียบจิตนี้
ไว้ด้วยคำสั่งสอนทุกข้อทุกบทที่ทรงสั่งสอน และโดยเฉพาะในข้อสุญญตานี้
ได้ทรงสั่งสอนไว้ตั้งแต่ในขั้นต้น ผู้ต้องการปฏิบัติก็ปฏิบัติตามแนวสติ...(จบ ๒/๒ )
(ข้อความขาดนิดหน่อย)
(เริ่ม ๓/๑ ) เพราะฉะนั้นก็ต้องหัดกำหนดที่กายเวทนาจิตธรรมนี่แหละ
ว่าเป็นป่า ไม่ใช่บ้านไม่ใช่ผู้คน ก็เป็นการกำหนดที่เรียกว่า อรัญสัญญา กำหนดป่าขึ้นมา
แต่เมื่อยังมีกายมีเวทนาจิตธรรมอยู่ก็ง่ายที่จะน้อมน้าวจิตไปเป็นบ้านเป็นผู้เป็นคน
กำหนดอีกทีหนึ่งก็ ปฐวีสัญญา กำหนดให้เป็นแผ่นดินขึ้นมา เรียบราบเป็นหน้ากลอง
ไม่มีภูเขา ต้นไม้ ห้วยหนองคลองบึง ไม่มีกาย ไม่มีเวทนา ไม่มีจิต ไม่มีธรรม
เป็นธรรมชาติธรรมดา หรือเป็นธาตุไปทั้งหมด ขั้นนี้ก็สูงขึ้นมาไกลกิเลสอีก
และต่อจากนี้ก็ตรัสสอนให้กำหนดเพิกแผ่นดินออกเสียทั้งหมด
เป็นอากาศคือเป็นช่องว่างไปทั้งหมด ขึ้นไป
สูงขึ้นไปก็น้อมเข้ามาว่าเป็นวิญญาณคือตัวรู้ไปทั้งหมด
สูงขึ้นไปอีกก็กำหนดว่าในช่องว่างและในตัวรู้ที่แผ่ไปในช่องว่างนั้นน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี
สูงขึ้นไปอีกก็กำหนดดูว่าความที่กำหนดดั่งนั้น เป็นสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่เป็นสัญญาก็ไม่ใช่ ละเอียดมาก
อีกทีหนึ่งก็ อนิมิตเจโตสมาธิ จิตรวมเข้ามาสงบตั้งอยู่ภายใน
ประกอบด้วยธาตุของจิต ๒ อย่างคือธาตุรู้ และธาตุที่ปภัสรคือผุดผ่อง
รู้อะไรได้ยินอะไรเป็นต้นก็ไม่กำหนด จึงเป็น อนิมิตะ
อีกขั้นหนึ่งก็คือว่าทั้งหมดนั้นก็ยังเป็นสังขารคือความปรุงแต่ง ยังต้องปรุงจิตปรุงใจ
เพราะฉะนั้น ก็ไม่ยึดถือ วางความปรุงแต่ง
ความว่างที่เป็นปรมุตระ
ตอนนี้เองที่จิตพ้นได้จากอาสวะกิเลสที่ดองสันดานทั้งหลาย
ถอนตัณหาออกจากจิตใจได้ ถอนได้เมื่อไรก็เป็นนิพพานสิ้นทุกข์กันเมื่อนั้น
จึงได้ตรัสว่าในข้อท้ายนี้เป็นสุญญตาคือความว่างที่เป็น ปรมุตระ
ปรมะ ก็คือบรมอย่างยิ่ง อนุตระ ก็คือว่าไม่มีสุญญตาอื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า
เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ยังมีกายนี้ซึ่งมีอายตนะ ๖ อยู่เท่านั้น แต่ไม่มีกิเลสดองสันดาน
ก็ทะนุบำรุงร่างกายนี้ไปจนกว่าจะนิพพาน คือดับขันธ์ในที่สุด
นี้เป็นความที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ในพระสูตรที่ว่าสุญญตานี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา (๔)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
ความรู้เห็นที่เป็นกายสักขี ๓
ความสุขในการปฏิบัติธรรม ๔ ประการ ๔
เนกขัมมะสุข ๔
นิยานิกธรรม ปวิเวกกะสุข ๕
กายวิเวก จิตตวิเวก อุปาทิวิเวก ๖
อุปสมะสุข ๖
สัมโพธิสุข ๗
วิมุติสุข ๘
สุญญตา ๙
เริ่มปฏิบัติด้วยเว้นการคลุกคลี ๑๐
ข้อปฏิบัติให้มีอารมณ์อันเอก ๑๑
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
ม้วนที่ ๓/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๓/๒ ( File Tape 02 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา (๔)
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สติปัฏฐานการปฏิบัติตั้งสติ เพื่อให้สติตั้ง
และเพื่อให้ได้ปัญญาหรือญาณความหยั่งรู้ใน กาย เวทนา จิต ธรรม
เป็นสติปัฏฐานในกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นโพชฌงค์ในกาย เวทนา จิต ธรรม
และเป็นญาณความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็ในกาย เวทนา จิต ธรรม
ทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ที่จิตนี้เอง มิใช่ที่อื่น
สติก็ตั้งขึ้นที่จิต โพชฌงค์ที่เป็นตัวความรู้ก็ตั้งขึ้นที่จิต
ญาณคือความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็ตั้งขึ้นที่จิต
แม้ว่าจะมีศัพท์แสงธรรมะอยู่มากดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว
แต่ผู้ปฏิบัติเมื่อได้ปฏิบัติตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ให้ได้สติในลมหายใจ ให้เป็นสติปัฏฐานในลมหายใจ
เมื่อได้สติขึ้นมาใจรวมเป็นสมาธิ ก็จะได้ปัญญาขึ้นมาเป็นโพชฌงค์
และจะได้ญาณคือความหยั่งรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์
รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ขึ้นด้วยตนเอง
ความรู้เห็นที่เป็นกายสักขี
และหากได้อาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแสงสว่างนำทาง
ก็ยิ่งจะทำให้ได้สติปัฏฐาน ได้โพชฌงค์ ได้ญาณในอริยสัจจ์ ง่ายสะดวกขึ้นไปอีก
และแม้ว่าจะได้ขั้นของธรรมดังกล่าว ถึงจะไม่ต้องรู้จักชื่อเสียง แต่ก็เป็นอันว่าได้ว่าถึง
เหมือนอย่างเมื่อมีแสงสว่างส่องทาง และคนเดินทางก็มีตาลืมดูทาง
ก็เดินไปตามทางที่แสงสว่างส่อง เห็นต้นไม้นานาชนิด มีดอกนานาชนิด ที่อยู่สองข้างทาง
แม้จะไม่รู้จักว่าต้นไม้นี้ชื่อนั่น ต้นไม้นี้ชื่อโน่น แต่ก็รู้ก็เห็น เห็นต้น เห็นดอก เห็นใบ เป็นต้น
โดยไม่ต้องรู้จักชื่อ ก็รู้ก็เห็น ดั่งนี้ เรียกว่าเป็น กายสักขี คือเป็นเหมือนอย่างเป็นสักขี
พยานทางกาย มองเห็น ดั่งนี้แหละคือความรู้ความเห็นธรรมะ
แม้ว่าจะได้เล่าเรียนให้รู้จักชื่อเสียงของธรรมะ แต่ไม่ได้เดินไปในสวนของธรรมะเอง
ถึงจะรู้จักว่ามีต้นไม้ชื่อนั้นชื่อนี้ ลักษณะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ก็สักแต่ว่ารู้ตามตำราเท่านั้น หรือตามที่ฟังมาเท่านั้น ไม่ได้เห็นด้วยตนเอง
บางทีเมื่อไปเห็นเข้าด้วยตนเองแล้ว ก็ไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำว่าชื่อต้นอะไร
ตามที่ฟังมา ตามที่เรียนมา
ดั่งนั้น การปฏิบัติให้ได้สติ ได้โพชฌงค์ ได้ญาณในอริยสัจจ์ขึ้นมาด้วยตนเอง
โดยตั้งต้นปฏิบัติ กำหนดจิตเข้ามากำหนดดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้แหละ
ให้ได้สมาธิ และเมื่อได้สมาธิขึ้นแล้ว ความรู้ความเห็นจะเป็นไปเอง
และก็เป็นดังกล่าวเมื่อได้มีความรู้ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าช่วย
ก็ยังจะทำให้ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติยิ่งขึ้น
ความสุขในการปฏิบัติธรรม ๔ ประการ
พระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้รู้จักความสุข ซึ่งประสงค์ในการปฏิบัติธรรม
และทรงสั่งสอนให้รู้จักวิมุติคือความหลุดพ้น ดังที่ได้ตรัสเรียกว่า เนกขัมมะสุข
ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมะคือการออก ปวิเวกกะสุข ความสุขที่เกิดจากความสงัดสงบ
อุปสมะสุข ความสุขที่เกิดจากความสงบรำงับ สัมโพธิสุข ความสุขที่เกิดจากความรู้พร้อม ดั่งนี้
อันความสุขที่ได้ตรัสชี้ไว้เหล่านี้ เพื่อความเข้าใจง่าย
จึงได้ยกเอาคุณลักษณะแห่งความสุขนั้นกำกับไว้ด้วย เช่นที่ตรัสเรียกว่า เนกขัมมะสุข เป็นต้น
ผู้ปฏิบัติธรรมะหากได้ตั้งใจฟัง และได้ทราบพระพุทธาธิบายตามสมควร
ก็ย่อมจะมีความรู้สึกว่า แม้ว่ายังไม่สามารถจะได้พบกับ เนกขัมมะสุข อย่างสมบูรณ์ได้
แต่ว่าก็จำที่จะต้องให้ได้ความสุขเช่นนี้ แม้น้อย เพราะว่าหากไม่ได้เสียเลยแล้ว
จะไม่ได้รับความสุขอันแท้จริง ซึ่งเป็นผลอันประเสริฐสำหรับตนเองเลย
เนกขัมมะสุข
เนกขัมมะสุข ความสุขที่เกิดจากการออก ก็หมายถึงว่าออกจากเรื่องวุ่นวายทั้งหลาย
อันเนื่องมาจากความกังวลพัวพัน เป็นต้น ซึ่งเรียกรวมว่ากิเลส
แม้ว่าทุกคนผู้ที่ยังละกิเลสไม่ได้ ยังมีกิเลสอยู่ และไม่สามารถจะโยนทิ้งได้
เพราะอย่างไรๆก็ยังมีกิเลส แต่แม้เช่นนั้นถ้าหากว่าให้กิเลสครอบงำโดยไม่มีความว่างเว้นแล้ว
ก็จะมีความกังวลห่วงใยยุ่งเหยิงสับสน หาความว่างมิได้
เมื่อเป็นดั่งนี้ แม้จะมีความบริบูรณ์สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินภายนอกต่างๆ
แต่ว่าจิตใจของบุคคลเองนั้นไม่ได้รับความสุขอันแท้จริงเลย
เพราะฉะนั้นจึงต้องหัดปฏิบัติทำจิตใจ ให้ออกได้จากเครื่องกังวลผูกพันทั้งหลาย
น้อยหรือมาก ไม่ยอมให้เรื่องทั้งหลายเข้ามาผูกพัน รึงรัด ครอบงำ เสียจนหาความว่าง
ความสบาย ความสงบ ใดๆมิได้
นิยานิกธรรม
เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติ
นำตนออกจากเครื่องผูกพันห่วงใยเป็นต้นเหล่านี้ไปโดยลำดับ
ธรรมะที่ทรงสั่งสอนจะเป็นขั้นทานก็ตาม ขั้นศีลก็ตาม ขั้นภาวนาคือสมถะวิปัสสนา
หรือสมาธิปัญญาก็ตาม ทุกข้อทั้งหมดทุกบทย่อมเป็นการสั่งสอนที่นำออกทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้าทุกข้อทุกบท
จึงเป็นการปฏิบัตินำออกไปจากเครื่องผูกพันอาลัยห่วงใย
รวมเข้าก็คือว่าออกจากกิเลสและกองทุกข์เป็นเปลาะๆ เป็นเรื่องๆไปโดยลำดับ
และเมื่อเป็นดั่งนี้ ปฏิบัติตนออกไปได้เท่าใด ก็จะทำให้ได้ความสุขเท่านั้น
ออกได้มากก็ได้ความสุขมาก ออกได้น้อยก็ได้ความสุขน้อย
เพราะฉะนั้น ความสุขที่เกิดจากการออกดั่งนี้คือ เนกขัมมะสุข
และเมื่อมีความเข้าใจว่าเป็นสุขสำหรับทุกๆคน ไม่ว่าจะเป็นพระไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์
ไม่ว่าจะเป็นชายไม่ว่าจะเป็นหญิง ก็จะต้องมีการปฏิบัติออกไปได้
จึงจะได้ความสุขอันแท้จริง ดั่งนี้คือ เนกขัมมะสุข
เพราะฉะนั้น ธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงได้เรียกว่า นิยานิกธรรม
ธรรมะที่เป็นเครื่องนำออกไป คือนำออกไปจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งนั้น
ไม่มีที่จะนำเข้ามาสู่กิเลสและกองทุกข์เลยสักข้อเดียว
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะที่เป็นนิยานิกธรรมนี้ จึงได้การออกไปจากกิเลสและกองทุกข์
เป็นเรื่องๆ เป็นข้อๆ เป็นเปลาะๆไปโดยลำดับดั่งนี้คือ เนกขัมมะสุข
ปวิเวกกะสุข
และแม้สุขอื่น อันที่จริงก็มีอรรถคือเนื้อความเป็นอันเดียวกันนี่แหละ
แต่ว่าแยกเรียกว่า ปวิเวกกะสุข ความสุขที่เกิดจากความสงัด
ก็คือหมายความว่าทำตนให้สงัดสงบจากเครื่องพัวพันทั้งหลาย จากการคลุกคลีทั้งหลาย
เพราะว่าการที่จะออกไปได้นั้นก็จะต้อง ทำตนให้สงบสงัดจากการคลุกคลีทั้งหลายด้วย
ถ้าหากว่ายังมีการคลุกคลีอยู่ด้วยเรื่องนั้นๆ ด้วยสิ่งนั้นๆ ก็ยังออกไม่ได้
เพราะฉะนั้นจึงต้องไม่คลุกคลีอยู่ด้วยสิ่งนั้นๆ ด้วยเรื่องนั้นๆ ตลอดจนถึงด้วยบุคคลนั้นๆ
ในทางที่ก่อให้เกิดความกังวลห่วงใย ให้เกิดกิเลสให้เกิดความทุกข์ต่างๆ
กายวิเวก จิตตวิเวก อุปาทิวิเวก
เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้มีแสดงถึง กายวิเวก ความสงัดทางกาย
จิตตวิเวก ความสงัดทางจิตใจ อุปาทิวิเวก ความสงัดกิเลส ไปโดยลำดับ
เพราะฉะนั้น เมื่อสามารถปฏิบัติตนไม่ให้คลุกคลี แต่ให้ได้พบกับความสงัดสงบดังกล่าว
ก็เป็นอันว่าออกได้ และก็ได้ความสุขที่แยกชื่อเรียกได้อีกว่า ปวิเวกกะสุข
ความสุขที่เกิดจากความวิเวก คือความสงัดสงบ
อุปสมะสุข
อนึ่ง ยังเรียกชื่ออย่างอื่นได้อีก
แต่ก็มีอรรถคือความก็เป็นทางเดียวกัน เป็นอันเดียวกัน คือ ความสงบรำงับ
เพราะว่า เมื่อมีความสงบรำงับ หรือปฏิบัติให้จิตใจสงบระงับได้
คือให้โลภโกรธหลงสงบระงับลงได้ หรือว่าราคะโทสะโมหะสงบระงับลงได้ น้อยหรือมาก
ก็จะทำให้ความคลุกคลีลดลง จะทำให้การผูกพันลดลง
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการปฏิบัติกายวาจาใจนี่แหละ ให้สงบกาย สงบวาจา สงบใจ
โดยตรงก็คือว่าต้องคอยสงบรำงับ ราคะ โทสะ โมหะ หรือว่า โลภ โกรธ หลง
สงบระงับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะโทสะโมหะ หรือว่าโลภโกรธหลง เหล่านี้ด้วย
เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะได้ความสงบระงับทางกาย ทางวาจา และทางใจ
ซึ่งทำให้เกิดความสุข อันเรียกว่า อุปสมะสุข สุขที่เกิดจากความสงบรำงับ
ซึ่งความสงบนี้เองพระบรมศาสดาได้ตรัสสอนว่าเป็นเหตุให้เกิดความสุข
ที่ไม่มีสุขอื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า ในพุทธภาษิตที่เราทั้งหลายก็ทราบกันอยู่โดยมาก
ว่าความสุขที่ยิ่งไปกว่าความสงบไม่มี หรือว่าความสงบเป็นสุขอย่างยิ่ง ดั่งนี้
สัมโพธิสุข
และในบรรดาการปฏิบัติเหล่านี้
การปฏิบัติให้ได้ปัญญาที่เป็นตัว สัมโพธิ คือความรู้พร้อม ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ
พระพุทธเจ้าทรงละกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้นได้ก็เพราะพระสัมโพธิปัญญา
ปัญญาคือความตรัสรู้พร้อม เพราะฉะนั้นจึงละกิเลสและกองทุกข์ได้ทั้งหมด
สัมโพธิคือความรู้พร้อมนี้เป็นตัววิชชาความรู้แจ่มแจ้งตามความเป็นจริง
และโดยตรงก็คือความรู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
สัจจะที่เป็นตัวความจริงนี้ ซึ่งเป็นอย่างยิ่งก็คืออริยสัจจ์
เพราะทำให้ผู้รู้ละกิเลสและกองทุกข์ เป็นอริยบุคคล บุคคลผู้ประเสริฐได้
ก็คืออริยสัจจญาณ ความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นเอง อันเป็นหลักสำคัญที่สุดในพุทธศาสนา
และเมื่อได้ปัญญาละกิเลสได้ ก็ได้ความสุข ( เริ่ม ๓/๒) อันเป็นความสุขอย่างยิ่ง
เพราะเมื่อได้ปัญญาละกิเลสได้ก็จะทำให้ได้ความสงบระงับ ซึ่งเรียกว่า อุปสมะ
ได้ความสงัดกาย สงัดจิต สงัดกิเลส ทั้งหมด อันเรียกว่า ปวิเวกะ
ได้ เนกขัมมะ คือการออกทั้งหมด ออกจากกิเลสและกองทุกข์ได้ทั้งหมด
เพราะฉะนั้นสัมโพธิสุข ความสุขที่เกิดจากความรู้พร้อมนี้จึงเป็นข้อสำคัญ
เหล่านี้เป็นความสุขอันแท้จริง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้เอง
และทุกๆคนที่จะได้ความสุขอันแท้จริงนั้น ก็จะต้องมีส่วนได้ความสุขเหล่านี้ แม้น้อยก็ตาม
คือว่าจะต้องได้ความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติให้ออกได้ ไม่ให้ติดขัดอยู่ในเครื่องผูกพันทั้งหลาย
ปฏิบัติให้สงัดกายสงัดจิตสงัดกิเลสได้ ปฏิบัติให้สงบรำงับ
โดยตรงก็คือสงบระงับโลภโกรธหลง หรือว่าราคะโทสะโมหะได้
ปฏิบัติให้ได้ปัญญาที่เป็นตัวรู้หยั่งลงถึงในสัจจะที่เป็นความจริง
อันขจัดกิเลสและกองทุกข์ได้ น้อยหรือมาก และเมื่อได้น้อยก็ได้ความสุขอันแท้จริงน้อย
ได้มากก็ได้ความสุขอันแท้จริงมาก
วิมุติสุข
และบรรดาสุขเหล่านี้ อีกคำหนึ่งก็คือ วิมุติสุข ความสุขที่เกิดจากความหลุดพ้น
เพราะว่าเมื่อออกได้ก็เป็นอันว่าพ้นได้ เมื่อสงัดได้ก็เป็นอันว่าพ้นได้เช่นเดียวกัน
เมื่อสงบระงับได้ก็เป็นอันว่าพ้นได้เช่นเดียวกัน เมื่อมีปัญญาที่รู้เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง
ก็ทำให้พ้นได้เช่นเดียวกัน คือทำให้พ้นได้จากเครื่องติดขัดทั้งหลาย
จากเครื่องผูกพันทั้งหลาย จากพันธนาการทั้งหลาย ให้พ้นได้จากความคลุกคลีทั้งหลาย
ให้พ้นได้จากโลภโกรธหลง หรือราคะโทสะโมหะ ให้พ้นได้จากกิเลสและกองทุกข์ น้อยหรือมาก
ความพ้นเหล่านี้ก็คือวิมุติ และเมื่อพ้นได้เท่าใดก็เป็นสุขเท่านั้น ดั่งนี้ก็เป็นวิมุติสุข
พระพุทธเจ้าได้มีพระพุทธภาษิตตรัสแสดงไว้เองว่า ทรงอยู่ด้วยวิชชาวิมุติ
วิชชาก็คือรู้ วิมุติก็คือพ้น รวมกันเข้าก็คือรู้พ้น ทรงอยู่ด้วยความรู้พ้น ทรงรู้ทุกๆอย่าง
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ ซึ่งรูปทั้งหลาย ซึ่งเสียงทั้งหลาย
ซึ่งกลิ่นทั้งหลาย ซึ่งรสทั้งหลาย ซึ่งโผฏฐัพพะทั้งหลาย ซึ่งเรื่องราวทั้งหลาย
และทรงรู้ได้มากยิ่งกว่าสามัญชนทั่วไป เพราะทรงรู้อดีตรู้อนาคตรู้ปัจจุบันยืดยาวกว้างขวาง
แต่ว่ารู้เท่าใดก็พ้นเท่านั้น ไม่เก็บเอามาเป็นพันธนาการผูกพัน
ไม่คลุกคลี และไม่วุ่นว่าย และไม่หลง
เพราะฉะนั้น จึงทรงมีความรู้พ้นอยู่ตลอดเวลาทั้งปวง
เมื่อเรียกเป็นศัพท์แสงก็เรียกว่า วิชชาวิมุติ วิชชาคือรู้ วิมุติคือพ้น
พูดอย่างธรรมดาก็คือว่ารู้พ้น ไม่ใช่รู้ติด ไม่ใช่รู้ผูกพันเป็นต้น แต่เป็นรู้พ้น
รู้มากที่สุด รู้อดีตไกลที่สุด รู้อนาคตไกลที่สุด รู้ปัจจุบันทั่วหมด
แต่ว่าพ้นหมด ไม่มีติดข้อง ไม่มีกังวล ไม่มีที่จะพันธนาการในเรื่องใดๆทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงพบกับความสุขที่สมบูรณ์ไม่มีบกพร่องเป็นวิมุติสุข
สุญญตา
อาการของความสุขดังกล่าวมานี้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือสุญญตาความว่างนั้นเอง
คือว่าว่างจากกิเลส ว่างจากกองทุกข์ เพราะว่าออกได้ เพราะว่าสงัดได้ไม่คลุกคลี
เพราะว่าสงบระงับได้ เพราะว่ารู้พ้น คือไม่รู้หลงไม่รู้ยึดทุกๆอย่าง
จึงเป็นความว่าง ว่างกิเลส ว่างทุกข์ทั้งหมด ยกเอากายขึ้นมาว่าก็คือว่ากายว่าง
ยกเอาวาจาขึ้นมาว่าก็คือวาจาว่าง ยกเอาใจจิตขึ้นมาว่า ก็ว่าใจว่างจิตว่าง
กายวาจาจิตใจว่าง ว่างกิเลสและกองทุกข์ทั้งหมด ว่างด้วยความรู้พ้น
ไม่ใช่ว่างด้วยความไม่รู้ หรือความรู้หลง แต่ว่าว่างด้วยความรู้พ้น
ดั่งนี้ คือว่าใจว่าง หรือจิตว่าง หรือว่าความว่าง อันเป็นตัวสุญญตา
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงทางให้บรรลุถึงความว่างดังกล่าวนี้
ตั้งต้นแต่การปฏิบัติตนไม่ให้คลุกคลีอยู่ด้วยบุคคล หรือว่าอยู่ด้วยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
เรื่องราวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือว่าที่ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย
อันความคลุกคลีอยู่ด้วยเรื่องราว หรือด้วยบุคคลดังกล่าวมานี้
ไม่ใช่หมายความว่าอยู่กับใครๆไม่ได้ อยู่ในบ้านในเมืองไม่ได้
แต่หมายความว่าความรู้จักที่จะปฏิบัติทำจิตใจให้รู้จักออก ให้รู้จักสงัด
ให้รู้จักสงบรำงับ ให้รู้จักรู้ปล่อย รู้วาง รู้พ้นนั้นเอง
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว แม้จะอยู่ในบ้าน อยู่ในเมือง อยู่ในป่า อยู่ในที่ไหนก็ตาม
ตลอดจนถึงมาประชุมกันฟังธรรมปฏิบัติธรรมในที่นี้ ก็มาอยู่ด้วยกันจำนวนมาก
ดั่งนี้ไม่เรียกว่าคลุกคลี เพราะว่าไม่ใช่เป็นการมาก่อกิเลส และก่อกองทุกข์อย่างใดๆทั้งสิ้น
มาร่วมกันฟังมาร่วมกันปฏิบัติธรรมะ เพื่อที่จะออก เพื่อที่จะสงัด เพื่อที่จะสงบระงับ
เพื่อที่จะรู้พ้นตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดั่งนี้ไม่ใช่คลุกคลี
แต่ที่เรียกว่าคลุกคลีด้วยบุคคล ด้วยหมู่คณะ ด้วยสิ่งทั้งหลายนั้น
หมายความว่าคลุกคลีในทางสร้างกิเลสและกองทุกข์ให้บังเกิดขึ้นในทางต่างๆ ดั่งนี้
เริ่มปฏิบัติด้วยเว้นการคลุกคลี
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติเว้นการคลุกคลีดังกล่าว
โดยที่ได้ทรงแสดงชี้ให้เห็นว่าบรรดาสิ่งทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่นรูป
อันหมายรวมถึงเสียง ถึงกลิ่น ถึงรส ถึงโผฏฐัพพะ ถึงธรรมะคือเรื่องราวทั้งปวง
ซึ่งประสบพบพานทางตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ
ยกเอารูปขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งมีความยินดีติดอยู่
รูปที่ยินดีติดอยู่เหล่านี้ ซึ่งจะไม่เป็นเหตุให้เกิดความโศก ความปริเทวะ
ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ นั้นหามีไม่
เพราะเหตุว่ารูปทั้งปวงนั้นจะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น
ฉะนั้นเมื่อมีความผูกพันยินดีติดอยู่ ครั้นสิ่งที่ผูกพันนั้นแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
จึงต้องมีความทุกข์ต่างๆ จึงไม่พ้นทุกข์ไปได้ ดั่งนั้น จึงไม่ควรที่จะคลุกคลี ผูกพัน
หัดปฏิบัติที่จะนำจิตใจออกไปได้ สงัดได้ สงบระงับได้
และข้อสำคัญนั้นให้รู้จักทำใจให้รู้พ้น ให้รู้ปล่อย ให้รู้วางได้ตามสมควร
และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงจะได้พบกับสุญญตาคือความว่างดังที่กล่าวมานั้น
อันเป็นเหตุให้บังเกิดความสุขที่แท้จริง สุดแต่ที่จะปฏิบัติได้เพียงไ
พระบรมศาสดาเองก็ได้ทรงเข้าถึงสุญญตาคือความว่างนี
เพราะไม่ทรงใส่พระทัยถึงนิมิตอะไรๆ อันหมายความว่าถึงจะทรงเห็นอะไร
ทรงได้ยินอะไรเป็นต้น ซึ่งรูปซึ่งเสียงทั้งหลายเป็นต้น
แต่ก็ไม่ผูกพันยึดถือทั้งหมด หรือว่ายึดถือบางส่วน ว่าเป็นอย่างนั้น ว่าเป็นอย่างนี้
เมื่อเป็นดั่งนี้ สิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินนั้นก็พ้นไปๆ พระองค์จึงอยู่กับสุญญตาคือความว่าง
และเมื่อว่างกิเลส ว่างยินดี ว่างยินร้าย ว่างความยึดถือ ก็เป็นอันว่าว่างทุกข์ด้วย
เพราะฉะนั้นจะมีใครมาเฝ้าก็ตาม
จะเป็นบริษัท ขัตติยะบริษัท พราหมณ์บริษัท แพศบริษัท ศูทรบริษัท
ใครๆก็ตามทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ธรรมะที่ทรงสั่งสอนทั้งปวงนั้น
จะเป็นข้อไหนบทไหนก็ตาม จึงเป็นนิยานิกธรรม ธรรมะที่นำออกทั้งหมด
ออกจากกิเลส ออกจากกองทุกข์ทั้งหมด ไม่มีที่จะสั่งสอนนำเข้ามาสู่กิเลสสู่กองทุกข์
เพราะว่าพระองค์ทรงอยู่ด้วยสุญญตาคือความว่าง เพราะไม่ใส่ใจในนิมิตทั้งหมด
ตลอดเวลาก็ทรงอยู่ด้วยความรู้พ้นดังที่ตรัสแสดงนั้น
ข้อปฏิบัติให้มีอารมณ์อันเอก
เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงสั่งสอนต่อไปว่า
เมื่อต้องการจะเข้าถึงสุญญตาคือความว่างดั่งนี้
ก็ให้ปฏิบัติทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ให้นั่งสงบอยู่ในภายใน
และในการปฏิบัติดั่งนี้ จะปฏิบัติทางสติปัฏฐานข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ทั้งนั้น
เพราะเมื่อมาตั้งสติกำหนดในสติปัฏฐาน ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม
ทุกข้อทุกบท ย่อมเป็นการปฏิบัติที่ทำจิตให้ตั้งสงบอยู่ในภายในทั้งนั้น
ให้นั่งสงบอยู่ในภายในทั้งนั้น ให้มีอารมณ์อันเอกคืออันเดียวผุดขึ้นทั้งนั้น
คือให้ใจเป็นหนึ่งทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อได้ดั่งนี้แล้ว ก็จะได้สุญญตาคือความว่างขึ้นไปโดยลำดับ
และเมื่อได้สมาธิที่ดีขึ้นๆ ก็จะได้ขึ้นไปจนถึงขั้นฌานโดยลำดับ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป