ถอดเทปพระธรรมเทศนา

 

พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา ๑

 

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สุขในทุกข์ ๓

อโรคยา ปรมาลาภา ๔

สุญญตาคือความว่าง ๔

สุญญตาข้อแรก ๕

สุญญตาข้อ ๒ ๗

กำหนดให้เห็นธรรมชาติธรรมดา ๙

ธาตุข้อเดียว ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อยระหว่างหน้าเทป

ม้วนที่ ๑/๑ ต่อ ๑/๒ ครึ่งแรก ( File Tape 01 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา ๑

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ปัญญาในธรรม นั้นเป็นความรู้ในสัจจะคือความจริง ซึ่งมีอยู่เป็นไปอยู่ในตน

รวมเข้าก็ในสัจจะทั้ง ๔ คือ ในทุกข์ ในสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

ในนิโรธความดับทุกข์ และในมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ล้วนเป็นสัจจะคือความจริงที่มีอยู่ในตน ทุกข์ก็มีอยู่ในตน สมุทัยก็มีอยู่

นิโรธและมรรคก็มีอยู่ เมื่อปฏิบัติให้มีขึ้นก็มีอยู่ในตน

แต่ในขณะที่ยังมิได้ปฏิบัติใน มรรค คือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ยังไม่พบนิโรธความดับทุกข์ ทุกข์และสมุทัยก็ย่อมปรากฏอยู่ เป็นไปอยู่ในตน

ดังจะพึงเห็นได้ในเมื่อพินิจพิจารณาดู ก็จะพบสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

เอาจำเพาะที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นไว้ คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆ

ก็มีอยู่เป็นไปอยู่ปรากฏให้เห็นได้

และทุกข์อันเป็นผล เป็นความทุรนทุรายเดือดร้อนต่างๆ

เป็นความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ ก็ปรากฏให้เห็นได้

สุขในทุกข์

แต่ว่าอาศัยที่สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ยกเอาตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากนั้น

ก็เป็นสิ่งที่มีเกิดมีดับ ถึงจะไม่ได้ปฏิบัติธรรมะก็มีเกิดมีดับ

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้พบความดับซึ่งเป็นคติธรรมดา ดั่งนี้ สลับกันไปอยู่เสมอ

ความไม่สบายกายไม่สบายใจอันเป็นผลที่เกิดขึ้นก็ดับไปอยู่เสมอ แต่แล้วก็เกิดขึ้นอีก

กับทั้งบุคคลได้รับความสุขโสมนัสอันเป็นผลของการได้ในสิ่งที่ปรารถนาต้องการ

จึงทำให้รู้สึกสบายกายสบายใจในคราวหนึ่งๆ ความสบายกายสบายใจนั้นก็หายไป

ก็ได้ความไม่สบายกายไม่สบายใจมาเกิดสลับ เพราะต้องพบกับความปรารถนาไม่สมหวัง

ก็เป็นอันว่าได้สุขได้ทุกข์สลับกันไป ทำให้ไม่มองเห็นในสัจจะซึ่งความจริง

ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงชี้ในทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ยังมองเห็นเป็นความสุข

และก็ติดอยู่ในสุขที่ได้นั้นเป็นครั้งเป็นคราว

ความยากในการที่จะเห็นสัจจะคือความจริงว่าเป็นทุกข์จึงอยู่ตรงนี้

อยู่ตรงที่เพลิดเพลินยินดีติดอยู่ในสุขโสมนัส หรือความสุขที่ได้เพราะสมหวัง

เพราะสมปรารถนาในบางครั้งบางคราว สลับกันไปกับที่ไม่สมหวังอันเป็นทุกข์เดือดร้อน

แต่เพราะตัวตัณหานี้เองที่ทำให้มีความหวัง แม้จะอยู่ในทุกข์เดือดร้อนแต่ก็มีความหวัง

หวังในความสุขที่จะได้ต่อไป หวังว่าความทุกข์เดือดร้อนจะหายไป

ซึ่งทุกข์เดือดร้อนนั้นก็หายไป คือดับไปตามคติของธรรมดาบ้าง

กับได้รับความสุขขึ้นมาใหม่ อันเป็นผลที่ได้จากการได้มาทดแทนบ้าง

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงมองไม่เห็นทุกข์

เหมือนอย่างร่างกายอันนี้เมื่อเกิดหิวขึ้นมาจึงรู้สึกเป็นทุกข์

เมื่อบริโภคอาหารเข้าไปก็อิ่มหนำสำราญก็รู้สึกเป็นสุข

และเพราะเหตุที่ได้มีอาหารบริโภคอิ่มหนำสำราญ

กับทั้งได้รับกายบริหาร ทั้งที่เป็นไปโดยธรรมชาติ และทั้งที่การบำรุงให้มีขึ้น

ร่างกายมีอนามัยมีผาสุข ก็รู้สึกว่าเป็นสุข

อโรคยา ปรมาลาภา

เพราะฉะนั้นในสมัยพุทธกาลนั้น

จึงได้มีแสดงถึงพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เอามือลูบกายของตน

ซึ่งเป็นกายที่มีอนามัยจึงมีความแข็งแรง ไม่รู้สึกว่าเป็นโรคอะไร ว่านี่แหละคือนิพพาน

ก็คือหมายเอาความที่ไม่มีโรคทางกายปรากฏ กายจึงแข็งแรง

พราหมณ์ก็ถือว่านี่แหละคือนิพพาน

ฝ่ายพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเป็นพระพุทธภาษิตไว้ว่า อโรคยะ ปรมาลาภา

ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง หรือลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง

แต่ว่าทรงมุ่งหมายเอาถึงโรคคือกิเลส เป็นต้นว่าความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจ

สิ้นกิเลสจึงจะเป็น อโรคยะ คือความไม่มีโรค

ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่งทางพุทธศาสนาจึงมุ่งถึงความไม่มีโรคคือกิเลส

ก็คือจิตว่างกิเลส ที่เรียกว่าจิตว่าง อันความว่างกิเลสนี้ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้เช่น

นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง ก็หมายถึงความว่างกิเลส

สุญญตาคือความว่าง

และได้มีศัพท์ธรรมะอีกคำหนึ่งเรียกว่า สุญญตา คือความว่าง

อันสุญญตาคือความว่างนี้พระบรมศาสดาก็ได้ทรงแสดงไว้

นับตั้งแต่สุญญตาคือความว่างตั้งแต่เบื้องต้น อันเป็นขั้นสมาธิขึ้นไปโดยลำดับจนถึงที่สุด

ดังที่มีเรื่องที่แสดงไว้ในพระสูตรที่แสดงถึงสุญญตาคือความว่าง

รวมความเข้ามาตั้งแต่เบื้องต้นว่า

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ในบุพพาราม

ของนางวิสาขามิคารมารดาในกรุงสาวัตถี ท่านพระอานนท์ได้เข้าเฝ้าในเย็นวันหนึ่ง

และได้กราบทูลว่า เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ในสักกะชนบท

ในนิคมแห่งศากยะทั้งหลายอันชื่อว่านครกะ ท่านพระอานนท์ได้ฟังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ว่าเราก็คือพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าได้ประทับอยู่โดยมากในบัดนี้ด้วยสุญญตาวิหาร

อันแปลว่าธรรมะเป็นเครื่องอยู่คือสุญญตาความว่าง

พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสรับรองว่า

เมื่อก่อนนี้ก็ดี ในบัดนี้ก็ดี พระองค์คือพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า

ได้ทรงอยู่โดยมากด้วยสุญญตาวิหาร ธรรมะเป็นเครื่องอยู่คือสุญญตาความว่าง

ต่อจากนั้นก็ได้ตรัสแสดงถึงการปฏิบัติธรรมสุญญตาคือความว่างไปโดยลำดับ

ตั้งแต่ในเบื้องต้นเป็นข้อๆไปโดยลำดับ

สุญญตาข้อแรก

ข้อแรกได้ทรงแสดงว่า ในปราสาทคือในสิ่งก่อสร้างที่เป็นชั้นๆในบุพพาราม

ของนางวิสาขามิคารมารดานี้ เป็นที่ว่างจากช้างม้าโคกระบือ จากเงินทอง

จากสันนิบาตคือความประชุมของชายหญิงทั้งหลาย

ก็คือว่าว่างจากบ้าน ว่างจากมนุษย์ทั้งหลาย เพราะเป็นอารามฉันใด

ก็ให้ปฏิบัติมนสิการทำไว้ในใจกำหนดไว้ในใจเหมือนอย่างนั้น

กล่าวคือไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นบ้าน

ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นป่า ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นมนุษย์

ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นบ้าน ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นมนุษย์คือผู้คน

แต่ว่ามนสิการใส่ใจกำหนดเสียว่าเป็นป่าปราศจากบ้าน ปราศจากมนุษย์ผู้คน

เมื่อกล่าวโดยอุปมาข้างต้น บุพพารามนั้นว่างจากบ้าน ว่างจากมนุษย์คือผู้คนดังกล่าว

แต่ว่าไม่ว่างอยู่สิ่งหนึ่งก็คือภิกษุสงฆ์ เพราะภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่ในบุพพารามนั้น

แม้ความที่ไม่ใส่ใจว่าเป็นบ้านว่าเป็นมนุษย์ผู้คน แต่ว่าใส่ใจว่าเป็นป่าดังกล่าวนั้น

ก็เป็นสุญญตาคือความว่าง เป็นความที่หยั่งจิตลงสู่สุญญตาคือความว่าง

แต่ว่าก็ยังไม่ว่างอยู่อีกสิ่งหนึ่งเช่นเดียวกัน ก็คือว่ายังมีแผ่นดินที่ประกอบไปด้วยที่ลุ่มที่ดอน

ต้นไม้ภูเขา ห้วยหนอง เป็นต้น อันรวมเรียกว่าเป็นป่านั้นนั่นเอง

นี้เป็นข้อแรกของการปฏิบัติหัดทำจิตที่ทรงสั่งสอน

และเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมะทางสมาธิพึงถือเป็นหลักปฏิบัติได้

กล่าวคือแม้จะอยู่ในบ้าน อยู่ในหมู่มนุษย์ที่เป็นชาวบ้านด้วยกันก็สามารถทำสมาธิได้

กล่าวคือไม่ใส่ใจกำหนดหมายว่าเป็นบ้าน ไม่ใส่กำหนดหมายว่าเป็นหมู่คน

แต่ว่าใส่ใจกำหนดหมายว่าเป็นป่า เหมือนอย่างไม่มีบ้าน เหมือนอย่างไม่มีผู้คน

ป่านั้นก็เป็นสถานที่ประกอบด้วยต้นไม้ภูเขาห้วยหนองคลองบึงที่ลุ่มที่ดอน

ตลอดจนถึงสัตว์ป่าทั้งหลาย ไม่มีบ้านไม่มีผู้คน ใส่ใจกำหนดลงว่าเป็นป่าดั่งนี้

ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติหยั่งจิตลงไปสู่สุญญตาคือความว่างขั้นแรก

และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็สามารถทำจิตให้สงบได้เหมือนอยู่ในป่า ก็เป็นสุญญตาคือความว่าง

เพราะว่างจากความกำหนดหมายว่าเป็นบ้าน ว่าเป็นหมู่คนนั้นเอง เป็นสุญญตาในข้อนี้

ฉะนั้น จึงแสดงว่าความสำคัญนั้นอยู่ที่จิตใจ

เมื่อจิตใจไม่กำหนดไม่ใส่ใจถึงสิ่งอันใด สิ่งอันนั้นก็ว่างไปเหมือนไม่มี

แม้จะมีก็เหมือนไม่มี แม้ว่าจะเข้าไปอยู่ในป่าจริงๆ ไม่มีบ้านไม่มีผู้คน

ถ้าจิตใจยังคำนึงถึงบ้านคำนึงถึงผู้คน บ้านและผู้คนก็มาตั้งอยู่ในจิตใจ

แม้กายจะอยู่ในป่าก็ตาม ก็เป็นอันว่าจิตใจก็คงไม่สงบอยู่นั่นเอง

กลับตรงกันข้ามกายอยู่ในบ้านอยู่กับผู้คนทั้งหลาย แต่ว่าจิตใจไม่ใส่ใจถึง

กำหนดว่าเป็นป่า ป่าก็ตั้งขึ้นในจิตใจ จิตใจก็มีความสงบได้

เพราะฉะนั้นข้อที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติเป็นข้อแรกนี้ ... (จบ ๑/๑ )

( ข้อความขาดนิดหน่อย )

( เริ่ม ๑/๒ ) ...ก็ย่อมมาเป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งอยู่ในจิตใจ จิตใจก็ไม่ว่างจากสิ่งเหล่านั้น

หากจิตใจวางได้ ไม่ใส่ใจถึง ไม่หมกมุ่นถึง ไม่คิดถึง ไม่ดำริถึง สิ่งนั้นๆก็ไม่มาตั้งอยู่ในจิตใจ

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติรักษาจิตใจนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ อยู่ที่ไหนๆ เมื่อปฏิบัติรักษาจิตใจได้

ก็ปฏิบัติในศีลได้ ในสมาธิได้ ในปัญญาได้

สุญญตาข้อ ๒

ต่อจากข้อนั้นพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสอนต่อไป

ให้ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นป่า ซึ่งประกอบไปด้วยต้นไม้ภูเขาห้วยหนองคลองบึง

ที่ลุ่มที่ดอนเป็นต้น ซึ่งรวมเรียกว่าป่านั้น แต่ให้ใส่ใจกำหนดว่าเป็นแผ่นดินล้วนๆ

ปราศจากต้นไม้ภูเขาห้วยหนองคลองบึงที่ลุ่มที่ดอน เป็นแผ่นดินที่ราบเรียบไปทั้งหมด

เหมือนอย่างแผ่นหนังสัตว์ที่ได้มาจัดการทำให้ราบเรียบดีแล้ว

เหมือนอย่างหนังหน้ากลองผืนใหญ่ราบเรียบไปตลอดทั้งหมด

ดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าได้หยั่งลงสู่สุญญตาคือความว่างขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

แต่ว่าก็ยังไม่ว่างอยู่อีกสิ่งหนึ่งก็คือตัวแผ่นดินนั้นเอง ยังมีอยู่

ในข้อนี้เป็นอันได้ตรัสสอนให้กำหนดทำสุญญตาคือความว่างที่สูงขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง

สูงขึ้นมาจากป่ามาเป็นกำหนดว่าเป็นแผ่นดินที่เรียบราบไปตลอดทั้งหมด

เหมือนอย่างหนังหน้ากลองดังกล่าวนั้น

เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ย่อมจะได้ความสงบเป็นสมาธิขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

แม้ในข้อนี้ก็ย่อมเป็นข้อที่ผู้ต้องการปฏิบัติสมาธิพึงเห็นว่าปฏิบัติได้ในที่ทุกสถานเช่นเดียวกัน

และเมื่อได้หัดปฏิบัติใส่ใจกำหนดให้ได้ว่าเป็นป่าซึ่งเป็นข้อที่ ๑ นั้นแล้ว

ก็ให้มาใส่ใจกำหนดให้เห็นว่าเป็นแผ่นดินที่ราบเรียบไปตลอดทั้งหมดต่อไป

และในสองข้อนี้ก็ควรที่จะทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีกว่า

ข้อแรกความตั้งใจกำหนดว่าเป็นป่า ไม่มีบ้านไม่มีผู้คนนั้น

ย่อมรวมถึงไม่มีรูป ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีโผฏฐัพพะ

อันเป็นกามคือกามคุณ หรือวัตถุกาม คือเป็นสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

เพราะว่ากามหรือกามคุณ หรือวัตถุกามทั้งปวงนี้ ย่อมรวมอยู่ในคำว่าบ้าน

รวมอยู่ในคำว่าผู้คน

ฉะนั้นเมื่อจิตใจไม่กำหนดถึงว่าเป็นบ้าน ไม่กำหนดถึงว่าเป็นผู้คน

ก็คือไม่กำหนดว่าเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ

ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย อันรวมทั้งที่ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลายด้วย

คือไม่มีอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินร้ายทั้งปวง

อันอารมณ์ทั้งปวงดังกล่าวนี้ย่อมรวมอยู่ในคำว่าบ้าน รวมอยู่ในคำว่าผู้คน

รวมอยู่ในคำว่าเงินทองทรัพย์สินเป็นต้น ซึ่งเป็นบ้านนั้นเอง

เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นบ้าน

ก็คือไม่ใส่ใจกำหนดไปในอารมณ์ทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีความยินร้ายทั้งสิ้น

มากำหนดหมายว่าเป็นป่า คือว่าเห็นต้นไม้เห็นภูเขาเห็นบึงคลองหนองที่ลุ่มที่ดอนต่างๆ

อันรวมความว่าเป็นป่า ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเป็นต้น

ทั้งที่น่ารักใคร่ ทั้งที่ไม่น่ารักใคร่ อันเป็นเรื่องของบ้าน อันเป็นเรื่องของผู้คน

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเรียกว่าใส่ใจกำหนดหมายว่าเป็นป่า

จิตจึงสงบจากกามฉันท์ จากพยาบาทเป็นต้น อันเป็นนิวรณ์ ดั่งนี้ จึงเป็นสมาธิ

และกรรมฐานที่เป็นอารมณ์ของสมาธินั้นก็คือว่าป่านั้นเอง

ฉะนั้นจะต้องทำจิตกำหนดในบ้านในผู้คนเป็นต้นนี่ว่าเป็นป่าให้ได้ จึงจะได้สมาธิตั้งแต่ในขั้นต้น

ถ้าหากว่ายังสงบกำหนดลงไปว่าเป็นป่าไม่ได้ ใจยังฟุ้งซ่านไปในนิวรณ์ทั้งหลาย

เรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้างดั่งนี้แล้ว

ก็แปลว่ายังกำหนดอยู่ในบ้านในผู้คน ทรัพย์สินทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งของยินดียินร้าย

ตลอดถึงหลงซึ่งเป็นตัวนิวรณ์ ก็เป็นสมาธิไม่ได้

จะต้องกำหนดลงไปว่าเป็นป่าให้ได้ เห็นแต่ต้นไม้ภูเขาห้วยหนองคลองบึงที่ลุ่มที่ดอน

ล้วนเป็นป่าทั้งนั้น ไม่มีอารมณ์อันเกี่ยวกับบ้านเกี่ยวกับผู้คน ที่น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง

นี่คือป่าที่ให้กำหนดให้ตั้งอยู่ในจิตใจ ก็สงบนิวรณ์ได้ จิตก็รวมเข้ามาเป็นสมาธิได้

กำหนดให้เห็นธรรมชาติธรรมดา

เพราะฉะนั้นแม้การปฏิบัติในสติปัฏฐาน

กาย เวทนา จิต ธรรม ว่าเป็นกายเป็นเวทนาเป็นจิตเป็นธรรมนั้น

คือกำหนดให้เห็นว่าเป็นธรรมชาติธรรมดา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

ถ้ายังเห็นว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอยู่ ก็ไม่เป็นกาย ไม่เป็นเวทนา ไม่เป็นจิต ไม่เป็นธรรม

ยังไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน เพราะว่ายังเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

ยังเป็นตัวเราเป็นของเรา เป็นตัวเขาเป็นของเขา

เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าการพิจารณากายเวทนาจิตธรรมข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม

มองเห็นเป็นตัวเราเป็นของเรา เป็นตัวเขาเป็นของเขา เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

ก็เท่ากับว่าเป็นบ้านเป็นหมู่คน ยังเป็นกาม เป็นกามคุณ เป็นวัตถุกาม

ต่อเมื่อมามองเห็นว่าเป็นสักแต่ว่ากาย เป็นสักแต่ว่าเป็นเวทนา เป็นสักแต่ว่าเป็นจิต

เป็นสักแต่ว่าเป็นธรรม เป็นธรรมชาติธรรมดาที่ปรากฏที่ประกอบกัน ดั่งนี้

ก็คือว่า เท่ากับว่ากำหนดใส่ใจเห็นว่าเป็นป่า ป่ากาย ป่าเวทนา ป่าจิต ป่าธรรม

เหมือนอย่างเป็นป่าต้นไม้ชนิดนั้น ชนิดนี้ ชนิดโน้น เป็นภูเขาเป็นห้วยหนองคลองบึง

ที่ลุ่มที่ดอนเป็นต้น ไม่มาเป็นที่ตั้งของสัตว์บุคคล หรือตัวเราของเรา

อันที่จริงนั้นบ้านก็มาจากป่านั้นเอง คนก็ไปตัดเอาไม้มาจากป่า

เอามาสร้างเป็นบ้าน เป็นวัตถุเครื่องใช้ต่างๆสำหรับอยู่อาศัย

ต้นไม้นั้นเองเมื่อเอามาสร้างเป็นบ้านก็กลายเป็นบ้านขึ้น แต่อันที่จริงก็มาจากต้นไม้

ยกเป็นตัวอย่าง คือป่านั่นเองแล้วมาเป็นบ้านขึ้นตามที่บุคคลมาปรุงแต่งขึ้น

ฉันใดก็ดีป่ากายป่าเวทนาป่าจิตป่าธรรมนี้ ก็เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดา

เหมือนอย่างต้นไม้ภูเขาในป่านี้แหละ แต่ว่าบุคคลนี้เองเอากายเวทนาจิตธรรมนี้

มาแต่งตั้งขึ้นว่าเป็น นาย ก. นาย ข. นาง ก. นาง ข. เป็นเราเป็นของเรา

คนเราทั้งนั้นมาแต่งตั้งขึ้น แต่งตั้งให้ป่านี้มาเป็นบ้านขึ้น ก็มาเป็นบ้าน เป็นตัวเราเป็นของเรา

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติสติปัฏฐานนั้น ข้อแรกจึงต้องให้เป็นป่าเสียก่อน

ให้เป็นป่ากาย กับป่าเวทนา ป่าจิต ป่าธรรม แล้วจะได้สติปัฏฐานเป็นความสงบ

สงบกาม สงบอกุศลธรรมธรรมทั้งหลาย สงบนิวรณ์

ธาตุข้อเดียว

คราวนี้เมื่อต้องการให้ความสงบยิ่งขึ้นไปกว่านั้น

ก็กำหนดป่านั่นแหละ ว่าเป็นแผ่นดินที่ราบเรียบไปทั้งหมด ต้นไม้ก็ไม่มี ภูเขาก็ไม่มี

เป็นแผ่นดินที่ราบเรียบไปทั้งหมด ดั่งนี้ก็คือว่าเมื่อยังมีการจำแนก

เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรมอยู่ ก็ง่ายที่จะยึดถือไปเป็นบ้าน

เหมือนอย่างเมื่อยังมีต้นไม้อยู่ ก็ยังง่ายที่จะตัดต้นไม้ไปสร้างเป็นบ้าน

เมื่อยังมีกายมีเวทนามีจิตมีธรรมอยู่ ก็เป็นการง่ายที่จะยึดถือเอาไปเป็นตัวเราเป็นของเรา

ฉะนั้นในขั้นต่อไปที่ตรัสสอนให้ใส่ใจกำหนดว่าเป็นแผ่นดินผืนเดียว

ที่ราบเรียบไปทั้งหมด ต้นไม้ก็ไม่มี ภูเขาก็ไม่มี ห้วยหนองคลองบึงก็ไม่มี

ดั่งนี้ ก็เท่ากับว่าไม่ต้องคำนึงว่าเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม แต่สักแต่ว่าเป็นธาตุ

เป็นธาตุข้อเดียว และยกเอามาเป็นประธานก็คือว่าเป็นธาตุดินไปทั้งหมด

หากว่าจะรวมเข้าก็เป็นธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดั่งนี้ ก็ทำให้จิตสงบยิ่งขึ้น

และก็ไกลจากที่จะน้อมน้าวไปเป็นบ้าน เป็นกาม ดังกล่าวนั้นด้วย

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา ๒

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

กายเวทนาจิตธรรมสักแต่ว่าเป็นธาตุ ๒

สุญญตาข้อที่ ๓ ๓

สุญญตาข้อที่ ๔ ๔

สุญญตาข้อที่ ๕ ๖

สุญญตาข้อที่ ๖ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อยระหว่างหน้าเทป

ม้วนที่ ๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๒/๑ ( file Tape 01 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา ๒

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม

ก็กายเวทนาจิตธรรมนี้เองเมื่อยังมีความยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ก็เท่ากับว่าเป็นบ้าน

เป็นหมู่คนชายหญิง เป็นกามคุณ หรือวัตถุกามที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

แต่เมื่อได้ใส่ใจกำหนดว่าเป็นสักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าเป็นเวทนา สักแต่ว่าเป็นจิต

สักแต่ว่าเป็นธรรม ระงับความใส่ใจกำหนดยึดถือต่างๆดังกล่าว

กายเวทนาจิตธรรมนี้ก็เท่ากับว่าเป็นป่า ป่ากาย ป่าเวทนา ป่าจิต ป่าธรรม

กายเวทนาจิตธรรมสักแต่ว่าเป็นธาตุ

และเมื่อได้กำหนดละลายกายเวทนาจิตธรรมลงไปว่าสักแต่ว่าเป็นธาตุ

ยกเอาปฐวีธาตุ ธาตุดิน เป็นที่ตั้ง แต่อันที่จริงก็รวมทั้ง ดิน น้ำ ไฟ ลม

แต่ยกเอาธาตุดินขึ้นเป็นที่ตั้ง สักแต่ว่าเป็นธาตุดิน

ที่เป็นแผ่นดินราบรื่นเป็นหน้ากลอง ไม่มีต้นไม้ ไม่มีภูเขาเป็นต้น อันเรียกว่าป่า

เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ได้สมาธิกับทั้งปัญญาที่สงบยิ่งขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ดังที่ได้แสดงแล้ว

พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้ใส่ใจกำหนดว่าเป็นป่าก็ย่อมได้สุญญตาคือความว่าง

ว่างจากความกำหนดหมายว่าเป็นบ้าน ว่าเป็นผู้คน ว่าเป็นวิญญาณกทรัพย์ทั้งหลายเป็นต้น

และเมื่อได้ใส่ใจกำหนดว่าเป็นแผ่นดินที่ราบรื่นเป็นหน้ากลอง ไม่กำหนดว่าเป็นป่า

ก็ย่อมได้สุญญตาคือความว่างที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก

แต่ว่าในชั้นแรกเมื่อตั้งใจกำหนดว่าเป็นป่า แม้จะได้สุญญตาคือความว่าง

ว่างจากความกำหนดหมายว่าเป็นบ้าน ว่าเป็นผู้คน แต่ก็ยังมีไม่ว่างอยู่คือยังมีป่า

และเมื่อไม่กำหนดหมายว่าเป็นป่า กำหนดหมายว่า ปฐวี ปฐวี

เป็นแผ่นดินที่ราบเรียบไปเป็นหน้ากลอง

ก็ได้สุญญตาคือความว่างจากความกำหนดหมายว่าเป็นป่า ว่างจากป่า

แต่ก็มาเหลือไม่ว่างอยู่ คือเหลือเป็นแผ่นดินที่ราบเรียบเป็นหน้ากลองนั้น

สุญญตาข้อที่ ๓

เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนให้ไม่กำหนดหมายว่าเป็นแผ่นดิน

แต่ใส่ใจกำหนดหมายว่าเป็นอากาศคือช่องว่างไม่มีที่สิ้นสุด

ไม่กำหนดหมายว่าเป็นป่า ไม่กำหนดหมายว่าเป็นแผ่นดิน

ความใส่ใจกำหนดหมายว่าเป็นอากาศไม่มีที่สุดนี้ ก็คือเป็นช่องว่างไม่มีที่สุด

คือเป็นช่องว่างไปทั้งหมด ว่างจากแผ่นดิน หรือจะกล่าวว่าว่างจากปฐวีคือแผ่นดิน

อาโปคือแผ่นน้ำ เตโชคือไฟ วาโยคือลม ว่างจากดิน จากน้ำ จากไฟ จากลม ทั้งหมด

มาเป็นอากาศคือเป็นช่องว่าง ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม ทั้งหมด

ความใส่ใจกำหนดลงไปว่าอากาศคือช่องว่างดั่งนี้ ย่อมจะทำให้จิตสงบตั้งมั่น

ละเอียดขึ้นอีกชั้นหนึ่งคือว่างไปทั้งหมด

จิตที่กำหนดว่าอากาศไม่มีที่สุดคือเป็นช่องว่างไปทั้งหมดดั่งนี้

ย่อมห่างไกลจากวัตถุอันจะดึงจิตใจให้ยึดถือยิ่งขึ้น ... ( จบ ๑/๒ )

(ข้อความขาดไปนิดหน่อย)

( เริ่ม ๒/๑ ) ...ก็ย่อมมีต้นไม้มีภูเขา มีห้วยหนองคลองบึงเป็นต้น อันรวมเรียกว่าเป็นป่านั้น

ใจก็จะน้อมไปสู่ป่า และเมื่อใจน้อมไปสู่ป่าอีกขั้นหนึ่งก็น้อมไปสู่บ้าน เป็นบ้านเป็นหมู่คน

เมื่อใจเข้าบ้านใจเข้าหมู่คน กามและอกุศลธรรมทั้งหลายก็บังเกิดขึ้นได้ง่าย

ฉะนั้น เมื่อได้หัดกำหนดให้ละเอียดขึ้นโดยลำดับ

มากำหนดว่าเป็นป่า มากำหนดว่าเป็นแผ่นดิน

จึงเพื่อที่จะให้ความกำหนดของจิตนี้ ห่างไกลจากวัตถุซึ่งเป็นเครื่องดึงไปสู่นิวรณ์

คือกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ให้ห่างไกลยิ่งขึ้น

จึงได้ตรัสสอนให้ไม่กำหนดว่าเป็นแผ่นดิน มากำหนดว่าเป็นอากาศคือเป็นช่องว่าง

ว่างไปทั้งหมดไม่มีที่สุด ไม่มีแผ่นดิน ไม่มีป่า เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้สุญญตาคือความว่าง

ว่างจากป่า ว่างจากแผ่นดิน แต่ว่าก็ยังมีความไม่ว่างคือยังมีอากาศนั้นเอง

ช่องว่างไม่มีที่สุดนั้นเองยังเป็น อสุญญตา คือเป็นความไม่ว่างอยู่

สุญญตาข้อที่ ๔

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนยิ่งขึ้นไปอีก

ให้ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นป่า ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นแผ่นดิน

ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นอากาศคือเป็นช่องว่าง ว่างไม่มีที่สุด ว่างไปหมด

มาใส่ใจกำหนดว่าวิญญาณไม่มีที่สุด

อันวิญญาณนั้นกล่าวเข้าใจง่ายๆ ก็คือตัวรู้ หรือความรู้

วิญญาณที่ตรัสแสดงไว้ในที่ต่างๆ เช่นวิญญาณในธาตุ ๖ ได้แก่ธาตุรู้ วิญญาณธาตุ ธาตุรู้

วิญญาณในขันธ์ ๕ ได้แก่รู้เห็น รู้ได้ยิน เป็นต้น ในเมื่ออายตนะภายใน อายตนะภายนอก

มีตากับรูป หูกับเสียง เป็นต้นมาประจวบกัน ก็เห็น ก็ได้ยิน

อันการเห็นการได้ยินนั้นก็คือตัวความรู้อย่างหนึ่งนั้นเอง

เห็นก็คือรู้เห็น ได้ยินก็คือรู้ได้ยิน เป็นความรู้ของวิญญาณธาตุ คือธาตุรู้ ที่รู้ทางอายตนะ

เพราะฉะนั้นในที่นี้วิญญาณจึงหมายถึงตัววิญาณธาตุ คือธาตุรู้ นั้นเองก็ได้

หมายถึงความรู้ของวิญญาณธาตุคือธาตุรู้นั้น ซึ่งรู้ทางอายตนะ

อันมีลักษณะเป็นเห็นเป็นได้ยิน ดังกล่าวเป็นต้นนั้นก็ได้

แต่เพื่อให้รวบรัดก็แสดงว่า ความรู้ หรือตัวรู้ ความรู้หรือตัวรู้ไม่มีที่สุด

อันอากาศคือช่องว่างไม่มีที่สุด

คือว่างไปทั้งหมดนั้น ก็จะพึงกล่าวได้ว่าเป็นความว่างในภายนอก

คราวนี้จึงไม่ใส่ใจกำหนดถึงตัวความว่างซึ่งเป็นภายนอกนั้น

มากำหนดตัวความรู้ในภายในว่าไม่มีที่สุด

เพราะว่าอันความว่างหรือช่องว่างไม่มีที่สุดอันเป็นภายนอกนั้น

ก็เพราะมีตัวรู้หรือมีความรู้ อันกำหนดอยู่ในช่องว่างอันไม่มีที่สุดนั้นเอง

ถ้าไม่มีตัวรู้ หรือไม่มีความรู้ซึ่งเป็นภายในแล้ว ก็เป็นอันว่าไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น

แม้ว่าจะมีทุกๆสิ่งทุกๆอย่างในภายนอก จะมีป่าจะมีแผ่นดิน

ตลอดจนถึงมีอากาศคือช่องว่าง แต่ว่าถ้าไม่มีวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นตัวรู้

เป็นความรู้ ของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว ก็รู้อะไรไม่ได้ทั้งนั้น

แต่ว่าที่รู้อะไรได้นั้นก็เพราะมีธาตุรู้ มีตัวรู้ มีความรู้อยู่ จึงรู้อะไรๆได้

และเมื่อธาตุรู้ หรือตัวรู้ หรือความรู้มากำหนดอากาศคือช่องว่าง ว่าไม่มีที่สุด

คือเป็นช่องว่างไปทั้งหมด จึงรู้ รู้ว่าเป็นช่องว่างไปทั้งหมดไม่มีที่สุด

ฉะนั้นจึงไม่กำหนดสิ่งที่รู้ คืออากาศนั้น มากำหนดตัวความรู้ข้างใน

คือนำสติมากำหนดตัวรู้ความรู้ซึ่งเป็นภายในนี้ ไม่กำหนดสิ่งที่รู้คืออากาศ

มากำหนดตัวความรู้ หรือตัวรู้ ซึ่งตั้งอยู่ในภายใน

และแม้ตัวรู้ หรือความรู้นี้ก็ไม่มีที่สุดเช่นเดียวกันกับอากาศที่ไม่มีที่สุด

เพราะมีตัวรู้ หรือมีความรู้ที่ไม่มีที่สุด จึงกำหนดอากาศคือช่องว่างว่าไม่มีที่สุดได้

อากาศคือช่องว่างที่ไม่มีที่สุดนั้น จะรู้ได้ก็เพราะมีตัวรู้

หรือมีธาตุรู้ มีความรู้ ที่ครอบคลุมอากาศคือช่องว่างไม่มีที่สุดนั้น

เพราะฉะนั้น แม้ตัวความรู้ก็เป็นสิ่งไม่มีที่สุดเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับอากาศที่ไม่มีที่สุด

เมื่อเป็นดั่งนี้ ความใส่ใจกำหนดจึงน้อมเข้ามาถึงตัวรู้ หรือธาตุรู้ ความรู้ที่เป็นภายใน

ว่าไม่มีที่สุด ดั่งนี้ก็เป็นสมาธิจิตอันประกอบด้วยญาณคือความหยั่งรู้

หรือปัญญาซึ่งเป็นตัวรอบรู้ที่สูงขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง

สุญญตาข้อที่ ๕

เมื่อกำหนดได้ดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าได้สุญญตาคือความว่าง

ว่างจากบ้าน ผู้คน ว่างจากป่า ว่างจากแผ่นดิน ว่างจากอากาศไม่มีที่สุด

แต่ว่าก็ยังมีความไม่ว่าง คือตัววิญญาณ คือตัวรู้หรือธาตุรู้นั้นเอง

เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนให้ไม่ใส่ใจกำหนด

แม้ว่าวิญญาณ ธาตุรู้ ตัวรู้ หรือความรู้ไม่มีที่สุด มากำหนดว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี

ความกำหนดดั่งนี้ เป็นความกำหนดที่ทำให้ไม่มีกังวลห่วงใย

เพราะว่าเมื่อเพ่งดูเข้าไปในอากาศที่ไม่มีที่สุดก็ดี

ในตัวรู้ ธาตุรู้ หรือความรู้ที่ไม่มีที่สุดก็ดี ย่อมไม่พบว่ามีอะไรแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง

ไม่มีแผ่นดิน แผ่นน้ำ ลม ไฟ อันเป็นวัตถุแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง ไม่มีป่าแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง

ไม่มีบ้านไม่มีผู้คนแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง เพราะว่าเป็นอากาศคือช่องว่าง ว่างไปทั้งหมด

และแม้อากาศคือช่องว่างนั้นก็ไม่มีอีกเหมือนกัน เพราะว่ามีแต่ตัวธาตุรู้ หรือตัวรู้

หรือความรู้ อันไม่มีที่สุด และแม้ตัวธาตุรู้ ความรู้ ตัวรู้ นั้นก็ไม่มีอีกเหมือนกัน

เพราะเป็นความว่าง อะไรสักน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี

เมื่อกำหนดเข้ามาถึงขั้นนี้ ก็เป็นอันว่าได้ความว่างอันเรียกว่าสุญญตา

คือความว่าง ว่างจากบ้าน ว่างจากผู้คน ว่างจากป่า ว่างจากแผ่นดิน

ว่างจากอากาศที่ไม่มีที่สุด ว่างจากวิญญาณที่ไม่มีที่สุด

แต่ว่าก็ยังมีไม่ว่างอยู่ที่ว่าอารมณ์ที่ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีนั้น

เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอน ให้ไม่กำหนดอารมณ์ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีนั้น

มาตั้งทำความสงบอยู่ในภายใน ไม่ต้องกำหนดว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี

เพราะความกำหนดว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีนั้น ก็ยังเป็นตัวอารมณ์ อารมณ์ที่กำหนด

สุญญตาข้อที่ ๖

เพราะฉะนั้นจึงไม่กำหนดอารมณ์ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีนั้น

มากำหนดตั้งสงบอยู่ในภายใน ความสงบที่ตั้งอยู่ในภายในนี้ก็ละเอียดประณีต

ไม่มีอารมณ์ว่ารูป ไม่มีอารมณ์ว่าเสียง ไม่มีอารมณ์ว่ากลิ่น ไม่มีอารมณ์ว่ารส

ไม่มีอารมณ์ว่าโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง

และยังมีธรรมารมณ์ อารมณ์คือธรรมะเป็นที่ตั้งอยู่เป็นอย่างละเอียด

ไม่ใช่รูป ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่โผฏฐัพพะ

เพราะฉะนั้นอาการของจิตที่เป็นสัญญาคือความกำหนดหมาย จึงสงบลงไปเป็นส่วนมาก

ไม่มี รูปสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นรูป สัทสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นเสียง

ฆานสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นกลิ่น รสสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นรส

โผฏฐัพพะสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง

และตลอดจนถึง ธรรมสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นธรรมารมณ์ อย่างหยาบก็ไม่มี

เป็นอย่างละเอียด สำหรับเป็นที่หมายอยู่ ตั้งอยู่ในจิตใจ

และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเรียกว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็คือว่า ไม่มีรูปสัญญา สัทสัญญาเป็นต้น

ไม่มีก็ไม่ใช่คือว่ายังมีอยู่แต่ว่าน้อย ละเอียดมากเป็นธรรมสัญญาอย่างละเอียดที่กำหนดอยู่

เมื่อกำหนดถึงขั้นที่ตรัสสอนไว้นี้ ก็เป็นอันว่าได้สุญญตาคือความว่างมาโดยลำดับ

ว่างจากบ้าน ว่างจากผู้คน ว่างจากป่า ว่างจากปฐวีแผ่นดิน ว่างจากอากาศ ว่างจากวิญญาณ ว่างจากอารมณ์ที่ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่ง มาตั้งสงบอยู่ในภายใน เหมือนอย่างไม่มีสัญญาอะไร

แต่ว่าก็มีสัญญา คือความที่กำหนดหมายอยู่ดั่งนี้ อันเป็นตัวสัญญาความกำหนดหมาย

กำหนดหมายอยู่ว่าไม่มีอะไร ตั้งสงบอยู่ในภายใน ก็เป็นความว่างที่ตรัสสอนอีกชั้นหนึ่ง

เพราะฉะนั้นตามที่ตรัสสอนไว้นี้

เป็นการตรัสสอนให้ฝึกหัดปฏิบัติทำสมาธิ พร้อมทั้งได้ปัญญาคือความรู้ไปด้วยกัน

จิตก็ได้สมาธิที่เป็นตัวความสงบตั้งมั่น และได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้

และเมื่อละเอียดยิ่งขึ้นสติก็ตื่นสว่างโพลงยิ่งขึ้น ปัญญาก็รู้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น

จิตก็ตั้งมั่นสงบ และผ่องใสแจ่มใสยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ ปราศจากนิวรณ์ทั้งหลาย

เป็นความสว่างโพลง เป็นความตื่น เป็นความผ่องใสใจอยู่ภายใน

เป็นความตั้งมั่นสงบอยู่ในภายใน ยิ่งๆขึ้นไป

ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติทางสติปัฏฐาน กายเวทนาจิตธรรมมาโดยลำดับนั้นเอง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

จบเทป001

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats