ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 13:01
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป163
ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
สมาธิในการฟัง ๓
ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม ๓
ปัญญาที่เห็นเกิดดับ ๔
ธรรมดาของโลกคือเกิดดับ ๕
ปัญญาเห็นธรรมนำศรัทธาตั้งมั่น ๖
ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๐๗/๑ เริ่มต้น จบในหน้าเดียว ( File Tape 163 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การปฏิบัติกรรมฐาน ก็คือการปฏิบัติอบรมสมาธิ และอบรมปัญญา
อันสูงขึ้นมาจากศีล ซึ่งพึงปฏิบัติให้เป็นภาคพื้น
เพราะศีลนั้นจะต้องปฏิบัติให้เป็นภาคพื้น ของการปฏิบัติทางสมาธิและปัญญา
เป็นศีลที่สมาทาน จะเป็นศีล ๕ ก็ตามศีล ๘ ก็ตาม
หรือเป็นศีลที่ได้จากการบรรพชาอุปสมบท คือศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗
ของสามเณร ของภิกษุ
ทั้งในขณะที่จะปฏิบัติกรรมฐาน ก็ให้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ
อันเป็นศีลสำหรับการปฏิบัติทางสมาธิและทางปัญญา
แม้ว่าก่อนแต่มาปฏิบัติจะมิได้สมาทานศีล เช่นศีล ๕ ศีล ๘ เป็นต้น มาก่อน
ก็ให้ทำความสำรวมกายวาจาใจในขณะที่จะปฏิบัตินี้
ความสำรวมดังกล่าวนี้ก็ชื่อว่าเป็นศีล เป็นพื้นฐานของสมาธิ และปัญญาได้
๒
สมาธิในการฟัง
อนึ่ง การปฏิบัติสมาธินั้น แม้ในการฟังคำบรรยายอบรมกรรมฐานนี้
ก็ให้ตั้งใจฟัง คือฟังด้วยหูตามหน้าที่ของการฟัง และใจก็ต้องตั้งใจฟัง
ความตั้งใจฟังนี้ เป็นสมาธิในการฟัง หูฟังใจฟังไปพร้อมกัน จึงจะฟังได้ยินและรู้เรื่อง
ความรู้เรื่องนั้นก็กล่าวได้ว่าเป็นตัวปัญญา ตามภูมิตามชั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อมีสมาธิในการฟัง ก็ได้ปัญญาจากการฟังนั้นไปพร้อมกัน
ตั้งต้นแต่ฟังรู้เรื่อง เข้าใจ เป็นตัวปัญญา
เพราะฉะนั้น แม้ในการฟังในขณะที่กล่าวอบรม
ก็ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาไปพร้อมกัน
คือความสำรวมกายวาจาใจเป็นศีล ความตั้งใจฟังไปพร้อมกับหูที่ฟังเป็นสมาธิ
ฟังรู้เรื่องเข้าใจตามควรแก่สติปัญญาที่เป็นพื้นอยู่ เป็นตัวปัญญา
จึงเป็นการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาไปพร้อมกัน
ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม
เพราะฉะนั้น จึ่งได้มีแสดงไว้ในตำนานทางพระพุทธศาสนา
ว่าผู้ที่ได้เข้าฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเมื่อเสด็จประกาศพระพุทธศาสนา
มีเป็นอันมากที่ผู้ฟังนั้นๆ ฟังแล้วก็ได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม
สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เป็นอันมาก
ท่านทั้งปวงเหล่านั้นก็ยังมิได้เคยฟังพระพุทธเจ้าเทศน์มาก่อน
และก็ยังมิได้นับถือพระพุทธศาสนามาก่อน
แต่ว่ามาประสบความสำเร็จในขณะที่ฟังธรรมครั้งแรกก็มีเป็นอันมากได้ เพราะอะไร
๓
หากจะดูอย่างผิวเผิน ท่านก็ยังมิได้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘
ซึ่งย่อเข้าเป็นศีลสมาธิปัญญามาก่อน เพราะพึ่งเคยเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก
ท่านปฏิบัติที่ไหนอย่างไรจึงสำเร็จได้
เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นได้ว่า
ท่านปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา
ในขณะที่ท่านฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้นเอง
ความที่ท่านสำรวมกายวาจาใจในขณะฟัง ก็ชื่อว่าท่านปฏิบัติในศีล
ความตั้งใจฟังของท่าน ก็ชื่อว่าท่านปฏิบัติในสมาธิ
ท่านจึงได้ปัญญา คือความฟังรู้เรื่อง และความเข้าใจ ดังที่กล่าวแล้ว
ปัญญาที่เห็นเกิดดับ
และเมื่อความเข้าใจนั้นเป็นความเข้าใจที่เข้าถึงสัจจะคือความจริง
อันรวมเข้าในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อันเป็นหลักธรรมที่ประมวลคำสั่งสอนทั้งหมด
ท่านจึงได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลเป็นต้น
ดังท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นหัวหน้าของเหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์คือพระภิกษุที่มี ๕ รูป
ได้ฟังปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า คือพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร
ที่ตรัสแสดงปฏิปทาที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมา จนกระทั่งตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔
ท่านมีความตั้งใจฟัง และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้
ท่านจึงได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม คือปัญญาที่เห็นธรรมนั้นเอง
เห็นธรรมก็คือเห็นสัจจะคือความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
โดยปัญญาของท่านนี้สรุปเข้ามาว่า
ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สัพพันตัง นิโรธธัมมัง สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา
๔
ท่านเห็นความเกิดดับในสิ่งทั้งหลาย ที่มีเกิดขึ้น และมีดับไปเป็นธรรมดา
อันเป็นความรู้ความเห็นครอบโลก
ธรรมดาของโลกคือเกิดดับ
เพราะว่าโลกทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ต้องชำรุดทรุดโทรม
เพราะคำว่าโลกเองก็แปลว่าชำรุด ทุกๆสิ่งที่ชื่อว่าโลกนั้น จึงเป็นสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมทั้งนั้น
เป็นสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดาทั้งนั้น
คือท่านเห็นธรรมดานั้นเองที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ความเห็นธรรมดาดั่งนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรม
ที่ให้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นขั้นแรก
ท่านพระโกณฑัญญะ ก็ชื่อว่าท่านได้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘
ย่นเข้าเป็นศีลสมาธิปัญญา ในขณะที่นั่งฟังธรรมนั้นเอง
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ฉะนั้น การทำสมาธิในการฟัง ซึ่งมีความสำรวมกายวาจาใจ
อันเป็นศีลเป็นพื้นฐาน จึงเป็นข้อสำคัญ นำให้ได้ปัญญาเห็นธรรม
แม้จะไม่ถึงขั้นพระอริยบุคคล ขั้นบุถุชนก็ชื่อว่าเห็นธรรมได้ตามภูมิตามชั้น
และปัญญาที่เห็นธรรมนี้ ไม่ใช่เป็นสัญญาความจำ แต่เป็นความเข้าใจที่สรุปเข้ามา
ท่านพระโกณฑัญญะ ท่านฟังปฐมเทศนาก็ย่อมได้สัญญาคือความจำในปฐมเทศนานั้นด้วย
คือท่านก็ย่อมจำได้ ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมจักรนั้น แสดงไว้อย่างไรบ้าง
ข้างต้นทรงแสดงอย่างไร ท่ามกลางเป็นอย่างไร และที่สุดเป็นอย่างไร สืบต่อกันมาโดยลำดับ
ท่านก็ย่อมจำได้เหมือนกัน เรียกว่าเป็นสัญญา
แต่สัญญาดังกล่าวนี้ยังไม่ใช่เป็นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม ที่เป็นปัญญาเห็นธรรม
ปัญญาเห็นธรรมนั้นจะต้องสรุปเข้ามา สรุปเข้ามาสู่จุดอันเดียว
๕
ดังที่ท่านฟังธรรมจักรพระธรรมเทศนาครั้งแรกนี้แล้ว ท่านได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม
คือปัญญาที่สรุปเข้ามาสู่จุดสัจจะคือความจริงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อันเป็นยอดของความรู้ในธรรมจักรปฐมเทศนา
ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา
สรุปเข้ามาเป็นยอดความรู้ ดั่งนี้
ปัญญาเห็นธรรมนำศรัทธาตั้งมั่น
ความรู้ ความหยั่งรู้ ที่สรุปเข้ามาได้เป็นยอดดั่งนี้
คือดวงตาเห็นธรรม หรือปัญญาที่เห็นธรรม
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราผู้ตถาคต
ผู้ใดเห็นเราผู้ตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เห็นธรรมนี้จึงสำคัญมาก นำให้บรรลุมรรคผล
นำให้เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระธรรม เห็นพระสงฆ์ ซึ่งเป็นพระรัตนตรัย
อันประเสริฐสุด อันบริสุทธิ์ สูงสุด นำให้เกิดศรัทธาความเชื่อตั้งมั่นด้วยปัญญา
ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระสงฆ์มีจริง
ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น จึงเป็นสิ่งที่นำผู้ปฏิบัติ
ให้ได้พบพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ ในเมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมโดยลำดับ
แม้ว่าดวงตาหรือปัญญาที่เห็นธรรมนั้นจะยังเป็นขั้นบุถุชน ยังไม่เป็นขั้นพระอริยชนก็ตาม
ก็จะย่อมได้ความรู้ที่จริงแท้ นำให้ได้พบพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์
แม้ไม่ชัดนัก และแม้จะเป็นเหมือนอย่างว่าได้มองเห็นอยู่ไกลๆก็ตาม
ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมได้ทราบซึ้ง ได้ประจักษ์ หรือได้เห็นพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์
แม้จะเห็นไกลๆไม่ชัดนัก แต่ก็ดียิ่งกว่าผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม
อันนำใจให้เกิดปสาทะศรัทธา ศรัทธาด้วยความเลื่อมใส
ซาบซึ้งยิ่งกว่าผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม
๖
และเมื่อยิ่งได้ปฏิบัติธรรมจนเข้าเขตที่สูงยิ่งขึ้น
ก็ย่อมจะประจักษ์ชัดในพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ยิ่งขึ้นไปตามลำดับ
นำให้เกิดศรัทธาปสาทะ หรือปสาทะศรัทธายิ่งๆขึ้น
ฉะนั้น การมาปฏิบัติตนอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ อันสรุปเข้าเป็นศีลสมาธิปัญญาอยู่เสมอแล้ว
จึงให้ผลมาก ทำให้จิตใจได้เข้าใกล้พระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์
สมกับที่เป็นภิกษุเป็นสามเณร เป็นอุบาสกเป็นอุบาสิกา
เป็นพุทธมามกะพุทธมามิกา เป็นพุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา
และท่านที่ได้ดวงตาเห็นธรรมในขั้นอริยภูมิแล้ว
ท่านก็แสดงว่าได้เห็นพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์
แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานมานานแล้ว
แต่ว่าผู้ปฏิบัติธรรมจนได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นพระพุทธเจ้าพระธรรมสงฆ์อยู่
พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์อยู่ในฐานะเป็นอมตะ คือผู้ไม่ตาย
เพราะว่าท่านได้พบอมตะธรรม ธรรมะที่ไม่ตาย หรือธรรมะของผู้ไม่ตายแล้ว
พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ซึ่งเป็นอมตะธรรมนี้ จึงดำรงอยู่ทุกกาลสมัย
เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ฉะนั้น แม้เราทั้งหลายจะได้เกิดมาภายหลังพระพุทธเจ้า
ทรงดำรงพระชนม์อยู่นานปี ก็ไม่ควรท้อใจ ไม่ควรเข้าใจว่าเป็นคนอาภัพ
คือเป็นคนที่ไม่สมควรที่จะปฏิบัติธรรม ให้บรรลุถึงมรรคผลได้
ดั่งที่มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ว่า มรรคมีองค์ ๘ ยังมีอยู่ตราบใด
โลกก็ยังไม่ว่างจากพระอริยบุคคลทั้งหลายตราบนั้นล
และมรรคมีองค์ ๘ นี้ ก็หมายถึงว่าผู้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่มีอยู่เพียงในตำราเท่านั้น
๗
แต่ผู้ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เมื่อมีผู้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ อยู่ตราบใด
โลกก็ยังไม่ว่างจากพระอริยบุคคลทุกชั้นอยู่ตราบนั้น
เพราะธรรมะเป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงสมควรที่จะพากันปฏิบัติธรรม
สรุปเข้าในมรรคมีองค์ ๘ ศีล สมาธิ ปัญญา
อันเป็นมรรคอริยสัจจ์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนเอาไว้ ก็จะดับทุกข์ได้ตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
ข้อปฏิบัติข้อแรกในสติปัฏฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
การปฏิบัติเบื้องต้น ๓
ความเพียรเผากิเลส ๔
สติ สัมปชัญญะ ๔
ความยินดียินร้ายในการปฏิบัติ ๕
หลักปฏิบัติในข้อแรก ๖
รู้ที่เป็นสติ รู้ที่เป็นปัญญา ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๐๗/๒ เริ่มต้น จบในหน้าเดียว ( File Tape 163 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ข้อปฏิบัติข้อแรกในสติปัฏฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สติปัฏฐานสูตร หรือมหาสติปัฏฐานสูตร
เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงข้อปฏิบัติทางกรรมฐานไว้อย่างสมบูรณ์
จึงเป็นพระสูตรที่คณะปฏิบัติกรรมฐานได้ถือปฏิบัติเป็นหลักกันอยู่โดยทั่วไป
ทั้งในประเทศไทย ทั้งในต่างประเทศ
เพราะฉะนั้น ในสำนักนี้จึ่งได้สวดพระสูตรนี้ในวันปฏิบัติกรรมฐาน
ถัดจากได้กล่าวอบรมแล้ว วันละตอนสั้นๆ ไม่ยาวนักติดต่อกันไปทุกครั้งไป
และในพระสูตรนี้ข้อปฏิบัติข้อแรกที่ตรัสแสดงไว้ ก็คืออานาปานสติ
สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่ตรัสสอนเริ่มตั้งแต่ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ สู่เรือนว่าง
ซึ่งหมายคลุมถึงที่ทั้งปวงที่มีความสงบว่าง คือว่างจากบุคคล
และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ที่จะทำให้ไม่สงบ
และเมื่อได้ถึงสถานที่นั้นแล้ว เช่นมาประชุมกันในที่นี้ ซึ่งนับว่าเป็นเรือนว่าง
๒
ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ว่างจากผู้คน เพราะในที่นี้มีทั้งภิกษุสามเณร
มีทั้งคฤหัสถ์ท่านผู้มุ่งมาทำสมาธิ หรือทำกรรมฐานกันมากท่านหลายท่าน
แต่ก็หมายถึงว่าเป็นสถานที่อันสงบสงัด เพราะผู้ที่มาสู่ที่นี้ก็มุ่งมาปฏิบัติกรรมฐานด้วยกัน
จึงอยู่ในอาการอันสงบ จึงเรียกว่าเป็นเรือนว่างได้ คือว่างจากเสียง
หรือการกระทำต่างๆที่เอ็ดอึง ที่ไม่สงบ
การปฏิบัติเบื้องต้น
และก็นั่งขัดบัลลังก์ดังที่เรียกกันในภาษาไทยว่าขัดสะหมาด คือขัดสมาธิ
หรือว่าจะนั่งพับเพียบก็ไม่ขัดข้อง ตามความผาสุขสะดวกของตน
ตั้งกายตรง ดำรงสติจำเพาะหน้า นี้เป็นบุพภาคคือเป็นการปฏิบัติเบื้องต้น
และเมื่อได้ปฏิบัติดั่งนี้แล้ว ก็เริ่มปฏิบัติกรรมฐาน
ในข้อนี้ ก็คือมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
หายใจเข้าหรือออกยาว ก็รู้ว่ายาว หายใจเข้าหรือออกสั้น ก็รู้ว่าสั้น
ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้กายทั้งหมด ที่หมายถึงลมหายใจเข้าออกนี้
หรือกายใจทั้งหมดในขณะที่หายใจอยู่ก็ได้ หายใจเข้าหรือหายใจออก
สงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้เองเรียกว่าเครื่องปรุงกาย
สงบระงับ หายใจเข้า หรือหายใจออก
และได้ตรัสอุปมาไว้ว่าเหมือนอย่างช่างกลึง หรือศิษย์ของช่างกลึงผู้ฉลาด
เมื่อกลึงยาวก็รู้ว่ายาว เมื่อกลึงสั้นก็รู้ว่าสั้น ดั่งนี้
และได้ตรัสข้อปฏิบัติเป็นเครื่องประกอบในการปฏิบัติทำอานาปานสตินี้ และในทุกๆข้อไว้ว่า
อาตาปีมีความเพียร คือต้องกำจัดความรู้สึกเกียจคร้าน
ตลอดถึงความเบื่อหน่าย ความไม่พอใจ ไม่ชอบใจ
ทำความเพียรในการปฏิบัติด้วยฉันทะคือความพอใจ ด้วยจิตใจที่เอาใจใส่
๓
ทั้งมีปัญญารู้ผิดรู้ถูกในการปฏิบัติ รู้ควรไม่ควรในการปฏิบัติ
ความเพียรเผากิเลส
รวมอยู่ในข้อว่าอาตาปีมีความเพียร
ซึ่งตามศัพท์ของอาตาปีก็แปลว่า เพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน
เพราะว่ากิเลสนี้ ถ้าไม่เพียรเผาเสีย กิเลสก็จะเผาใจตัวเอง
ทำให้เสียการเสียงาน ทำให้ปฏิบัติกรรมฐานไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงต้องเผากิเลสคือเครื่องเศร้าหมองใจที่เกิดขึ้น
เป็นต้นว่าโลภะความโลภอยากได้ ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ราคะความติดใจยินดี
หรือนิวรณ์ที่แสดงว่ากามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกามเป็นต้น
หากบังเกิดขึ้นในขณะที่ต้องการจะปฏิบัติ ก็ต้องเพียรเผาเสียให้ดับไป
ถ้าไม่เผาให้ดับไป กิเลสเหล่านี้ก็จะเผาใจตัวเอง ทำให้เลิกการปฏิบัติกรรมฐาน
หรือทำให้ไม่เริ่มปฏิบัติขึ้น แม้หากจะลงมือปฏิบัติไปแล้วก็จะต้องเลิก
จึงต้องมีความเพียรเผากิเลสนี้เป็นข้อแรก เป็นอุปการะในการปฏิบัติ
สติ สัมปชัญญะ
ข้อ ๒ ก็มีสัมปชาโน สัมปชานะคือความรู้ตัว สติมามีสติคือความระลึกกำหนด
สัมปชัญญะคือความรู้ตัว และสติคือความรู้กำหนด ความระลึกกำหนด
เป็นอุปการะธรรมสำคัญ คือรู้ตัวอยู่ว่าเรากำลังจะปฏิบัติ เมื่อเริ่มจับปฏิบัติ
และเมื่อเริ่มปฏิบัติแล้ว ก็รู้ตัวว่าเรากำลังปฏิบัติ
และก็รู้ตัวเรากำลังหายใจเข้า เรากำลังหายใจออก ซึ่งเป็นการปฏิบัติ
พร้อมทั้งมีสติกำหนด ระลึกกำหนลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนั้น
สัมปชัญญะกับสติ หรือสติกับสัมปชัญญะนี้ ต้องมีคู่กันอยู่เสมอ
และก็ใช้เป็นอุปการะธรรมในการปฏิบัติ
๔
และได้ชื่อว่าการปฏิบัตินั้น ก็คือการทำสติสัมปชัญญะนี้เอง
และสัมปชัญญะนี้ก็เชื่อมไปถึงตัวปัญญาที่เป็นตัวความรู้
ถึงเหตุผล ถึงสัจจะคือความจริง ในข้อที่ปฏิบัตินั้น
สติสัมปชัญญะ หรือสัมปชัญญะกับสติ ทั้ง ๒ นี้ จึงเป็นตัวปฏิบัติกรรมฐานนั้นเอง
ความยินดียินร้ายในการปฏิบัติ
และอีกข้อหนึ่งเป็นข้อที่ ๔ ก็คือว่า คอยกำจัดความยินดีความยินร้ายในโลกเสีย
คือระวังใจไม่ให้ล่องลอยไปในอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีและความยินร้ายทั้งหลาย
ในภายนอก จากข้อกรรมฐานที่กำหนดปฏิบัติอยู่ คือสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกเท่านั้น กำกับระวังใจด้วยสติสัมปชัญญะนั้นเอง
ไม่ให้ใจทิ้งกรรมฐานที่กำลังทำ ออกไปคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ที่ชอบใจและไม่ชอบใจต่างๆ
ซึ่งยังผูกติดอยู่ในใจส่วนลึก หรือแม้ในอารมณ์ปัจจุบัน
เช่น ในขณะที่ปฏิบัติ อาจจะมีเสียงพูดหรือเสียงอื่นเกิดขึ้น
จะเป็นเสียงของบุคคลก็ตาม แม้แต่เสียงสุนัขเห่าก็ตาม และแม้สิ่งอื่นที่แว่บขึ้นมาในใจ
ถ้าหากว่าเผลอสติสัมปชัญญะ ใจก็จะวิ่งออกไปกับสิ่งนั้นๆ หรือสิ่งที่น่ายินดียินร้ายนั้นๆ
ใจมักจะวิ่งออกไปง่าย เพราะสติสัมปชัญญะยังไม่ตั้งมั่น
จึงต้องคอยนำจิตกลับมาสู่กรรมฐานที่กำหนดนี้ คือลมหายใจเข้าออก ต่อไปอีก
ในการปฏิบัติทีแรกจะต้องอาศัยอุปการธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้อยู่เป็นประจำ
อันหมายความว่ารู้สึกว่าต้องพยายามก่อสร้างอุปการธรรมทั้ง ๔ ประการนี้
คือความเพียรปฏิบัติ หรือความเพียรเผากิเลสข้อ ๑ สัมปชัญญะความรู้ตัวข้อ ๑
สติความระลึกกำหนดข้อ ๑ กำจัดความยินดียินร้ายในโลกข้อ ๑
รู้สึกว่าต้องคอยสร้างอุปการะธรรม คือปฏิบัติทำอุปการธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ
แต่เมื่อได้ปฏิบัติอยู่เนืองๆ ก็จะมีพื้นฐานแห่งอุปการธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้มากขึ้น อยู่ตัวขึ้น
๕
จนรู้สึกว่ามีอุปการธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้ประจำอยู่เสมอ
การปฏิบัติกรรมฐานทุกข้อทุกอย่างจึงจะบังเกิด และเจริญขึ้น
หลักปฏิบัติในข้อแรก
เพราะฉะนั้น จึงให้ผู้ปฏิบัติกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ รักษาความเพียร
รักษาสติสัมปชัญญะ รักษาความกำจัดยินดียินร้ายในโลก ให้มีอยู่ในขณะปฏิบัติ
และก็อาศัยทั้ง ๔ ข้อนี้นั้นเอง เริ่มปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน
ว่ามีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก ทรงยกเอาสติขึ้นมาข้อเดียว
แต่อันที่จริงนั้นเมื่อจะกล่าวทั้งหมดก็คือว่า มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ มีการกำจัดความยินดียินร้ายในโลก หายใจเข้าหายใจออกนั้นเอง
ต้องปฏิบัติในขั้นนี้ให้ได้ และเมื่อปฏิบัติในขั้นนี้ได้แล้ว
ก็จะได้ในข้อต่อไปตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้
คือหายใจเข้าออกยาวก็รู้ว่ายาว หายใจเข้าออกสั้นก็รู้ว่าสั้น
ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้กายทั้งหมด คือทั้งรูปกายนามกาย ทั้งกายคือลมหายใจ
เพราะกายนี้แปลว่ากอง แปลว่าประชุม ลมหายใจคือกายก็หมายถึงกองลมหรือประชุมของลม
รู้กายทั้งหมดก็คือว่ารู้กองลม รู้รูปกาย รู้นามกาย ซึ่งรูปกายก็เป็นสิ่งที่หายใจ
นามกายก็คือว่าความรู้ของจิตใจ เป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ
ก็คือรู้อาการของจิตใจนั้นเองที่เป็นไปอยู่ พร้อมกับกองลม พร้อมทั้งกองแห่งธาตุขันธ์
และรู้ที่จะสงบรำงับกายสังขาร ก็คือกองลมหายใจนี้เอง
ลมหายใจเข้าหายใจออกเรียกว่ากายสังขาร เพราะเป็นเครื่องปรุงกาย
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
ในขั้นต่อๆไปนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นต้น
คือมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออกดั่งที่กล่าวแล้ว
๖
และพระอาจารย์ต่างๆก็ได้สอนวิธีปฏิบัติในเบื้องต้น
เช่นว่าให้ใช้วิธีนับ หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๑ แล้วก็ ๒-๒ ไปถึง ๕-๕
แล้วกลับมา ๑-๑ ถึง ๖-๖ กลับมา ๑-๑ ถึง ๗-๗ กลับมา ๑-๑ ถึง ๘-๘
กลับมา ๑-๑ ถึง ๙-๙ กลับมา ๑-๑ ถึง ๑๐-๑๐
แล้วก็กลับมา ๑-๑ ถึง ๕-๕ ไปใหม่ แล้วเพิ่มไปทีละขั้นๆ จนถึง ๑๐
แล้วกลับใหม่ เรียกว่านับช้า
และเมื่อนับช้าชำนาญแล้วก็นับเร็ว หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๒ ดั่งนี้เป็นต้น
แต่อย่างมากก็ท่านไม่ให้เกิน ๑๐ เพราะเกิน ๑๐ ไปก็จะทำให้เป็นกังวล สำหรับในเบื้องต้น
และบางอาจารย์ก็ให้กำหนดที่ที่ริมฝีปากเบื้องบน หรือปลายกระพุ้งจมูกในขณะที่นับ
เพราะว่าลมเข้าลมออกจะมากระทบที่ปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน
บางสำนักก็สอนให้กำหนดที่นาภีคือท้องว่า ยุบหนอ พองหนอ
เพราะหายใจเข้าท้องก็จะพอง หายใจออกท้องก็จะยุบ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อาจจะกำหนดง่าย
รู้ที่เป็นสติ รู้ที่เป็นปัญญา
ดั่งนี้ก็แล้วแต่สำนักของอาจารย์ไหนจะสอนอย่างไร
แล้วก็ยังมีสอนแบบอื่น เช่น ให้ใช้หายใจเข้ากำหนดพุท หายใจออกโธ
พุทโธๆอยู่ดั่งนี้เท่านั้น และพุทโธนี้ก็แปลว่าผู้รู้ หรือผู้ตรัสรู้แล้ว หรือเรียกสั้นๆว่ารู้
เมื่อกำหนดว่าพุทโธ ก็เข้าใจว่ารู้ไปด้วย ตั้งต้นก็รู้ลมหายใจ หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้
เริ่มแต่รู้ที่เป็นตัวสติ แล้วก็เป็นรู้ที่ปัญญายิ่งขึ้นต่อไป คือเห็นอนิจจะไม่เที่ยงเกิดดับ
ทุกขะเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป อนัตตามิใช่อัตตาตัวตน
ก็เป็นรู้ที่เป็นปัญญา
หรือว่าให้กำหนดนิมิตที่บังเกิดขึ้นเช่นความสว่าง
ในเมื่อกำหนดลมหายใจเข้าออกซึ่งเป็นตัวสมาธิ ก็จะปรากฏเป็นความสว่างขึ้น
๗
ก็ให้กำหนดความสว่างนั้นไปพร้อมกับหายใจเข้าหายใจออก
ซึ่งจะต้องมีสติที่กำหนดรู้ เป็นตัวรู้อยู่ด้วย
ทั้งนี้ก็สุดแต่ว่าผู้ใดใช้วิธีการที่เป็นเครื่องช่วยดั่งนี้
แบบไหนจะทำให้ได้สมาธิเร็วก็ใช้แบบนั้น อย่างนี้ก็ได้
หรือจะไม่ใช้ ใช้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้เท่านั้น
คือว่ามีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก ดังที่กล่าวแล้วเท่านั้นก็ได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*