ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 13:01
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป162
จิตตภาวนา
การปฏิบัติในสติปัฏฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
สรณะ ศีล นำการปฏิบัติ ๓
ธรรมชาติของจิต ภวังคจิต ๔
วิธีปฏิบัติอบรมจิต ๕
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๐๕/๒ เริ่มต้น จบในหน้าเดียว ( File Tape 162 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
จิตตภาวนา
การปฏิบัติในสติปัฏฐาน
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์
พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ คือที่พึ่งอันเอกอุดมในโลก
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การปฏิบัติพระพุทธศาสนานั้น
ตามที่ได้ทราบกันอยู่แล้ว ว่าเมื่อกล่าวโดยย่อก็ปฏิบัติในไตรสิกขา
อันได้แก่ สีลสิกขา จิตตสิกขาคือสมาธิ และปัญญาสิกขา เพื่อผลคือวิมุติความหลุดพ้น
ฉะนั้น การปฏิบัติอบรมจิต ซึ่งเรียกตามภาษาบาลีว่าจิตตภาวนา
ก็หมายถึงการอบรมในจิตตสิกขา และปัญญาสิกขา หรือสมาธิคือปัญญานั้นเอง
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสมถะวิปัสสนา
สมถะคือการปฏิบัติทำจิตให้สงบ อันได้แก่จิตตสิกขาหรือสมาธิ
วิปัสสนาปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง ก็หมายถึงปัญญาสิกขานั้นเอง
ในการปฏิบัตินั้นในจิตตภาวนาดังกล่าว ก็จะต้องมีศีล พร้อมทั้งสรณะ
คือจะต้องมีสรณะคือศีล หรือจะต้องมีสรณะและศีล
๒
ฉะนั้น ในเวลาที่เราทั้งหลายจะปฏิบัติทำจิตตภาวนา คือสมถะและวิปัสสนา
หรือสมาธิและปัญญา ก็พึงตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่ง
เป็นเครื่องนำทางปฏิบัติในจิตตภาวนา และก็พึงตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล
สรณะ ศีล นำการปฏิบัติ
ศีลเพื่อสมาธิและปัญญานี้ จะเป็นศีลที่ได้สมาทานมาแล้ว
หรือเป็นศีลที่ปฏิบัติมาแล้วตามภาวะของตน เช่นเป็นภิกษุ เมื่ออุปสมบทเสร็จเป็นภิกษุ
ก็มีศีลมาพร้อมกับการอุปสมบทเสร็จ ตามพระพุทธบัญญัติ
และแม้เช่นนั้นก็พึงมีศีลในการปฏิบัติทำจิตภาวนา คือความสำรวมกายวาจาใจในปัจจุบัน
ความสำรวมกายวาจาใจดั่งนี้ มิได้สมาทานจากใคร
แต่เป็นการสมาทานปฏิบัติด้วยตนเองในขณะที่จะปฏิบัติ ด้วยมีการถึงสรณะนำดังกล่าว
และเมื่อมีสรณะและศีลดั่งนี้แล้ว ก็ชื่อว่าได้มีมูลฐานหรือที่ตั้งของจิตตภาวนา
ของสมาธิ ของปัญญา
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า จิตนี้ปภัสสรคือผุดผ่อง
จิตนี้เศร้าหมองไปด้วยอุปกิเลสคือเครื่องที่เข้ามาทำให้เศร้าหมอง ซึ่งจรเข้ามา
บุถุชนคือผู้ที่มีกิเลสหนาแน่น ผู้มิได้สดับตรับฟัง ย่อมไม่รู้จิตนั้นตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น เราคือพระตถาคตพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า จิตตภาวนาไม่มีแก่บุถุชนผู้มิได้สดับตรับฟัง
และได้ตรัสไว้อีกว่า จิตนี้ปภัสสรคือผุดผ่อง
จิตนั้นหลุดพ้นแล้วจากอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา
อริยสาวก สาวกคือผู้ฟังคือศิษย์ของพระพุทธเจ้าผู้พระอริยะ
หรือสาวกผู้เป็นพระอริยะ ผู้ได้สดับตรับฟัง ย่อมรู้จิตนั้นตามเป็นจริง
เพราะฉะนั้น เราคือพระตถาคตพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า
จิตตภาวนาย่อมมีแก่อริยสาวกผู้ได้สดับตรับฟัง ดั่งนี้
๓
ธรรมชาติของจิต ภวังคจิต
ตามพระพุทธภาษิตนี้ได้ตรัสถึงธรรมชาติของจิต
หรือที่พระอาจารย์เรียกว่าภวังคะจิต เป็นจิตที่ปภัสสรคือผุดผ่อง
จิตหรือภวังคจิตของทุกบุคคล ย่อมเป็นธรรมชาติผุดผ่องด้วยกันทุกคน
แต่ว่าเศร้าหมองไปแล้ว ด้วยอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ที่เข้ามาทำให้เศร้าหมอง ซึ่งจรเข้ามา
อันหมายถึงว่า โดยปรกติทั่วไปทุกคนย่อมมีกายมีจิตประกอบกันอยู่
จึงเป็นบุคคลที่ดำรงชีวิตอยู่
และกายนี้ ประกอบกับจิต ก็มีอายตนะคือที่ต่อ ที่เป็นอายตนะภายใน
ก็ได้แก่ จักขุคือตา โสตะคือหู ฆานะคือจมูก ชิวหาคือลิ้น กายะคือกาย และมโนคือใจ
กับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราว
อายตนะภายในภายนอกดังกล่าวนี้ เมื่อยังตื่นอยู่ไม่หลับ หรือสลบไป ย่อมต่อกันอยู่เสมอ
คือตาก็ต่อกับรูป ตาเห็นรูป หูก็ต่อกับเสียง ได้ยินเสียง จมูกก็ต่อกับกลิ่น ได้ทราบกลิ่น
ลิ้นก็ต่อกับรส ได้ทราบรส กายก็ต่อกับโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง
มโนคือใจก็ต่อกับธรรมะคือเรื่องราวคือคิดรู้
และถ้ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราวนั้น
เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีพอใจ ก็บังเกิดราคะคือความติดใจยินดี
ถ้ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวนั้น เป็นที่ตั้งแห่งความยินร้าย
ไม่เป็นที่ชอบใจพอใจ ก็เกิดปฏิฆะความกระทบกระทั่ง โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง
ถ้ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราวเหล่านั้นเป็นที่ตั้งแห่งโมหะคือความหลง
ก็เกิดโมหะคือความหลง
ราคะโทสะโมหะนี้เป็นกิเลส ที่กล่าวได้ว่าบังเกิดขึ้นโดยไหลเข้ามาสู่จิตใจ
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ
๔
มานอนเนื่องอยู่ในจิต ผูกพันอยู่ในจิต จึงทำจิตให้เศร้าหมอง
เพราะฉะนั้น บรรดากิเลสที่แปลว่าเครื่องเศร้าหมอง มีราคะโทสะโมหะเป็นต้น
จึงมิใช่เป็นธาตุแท้ของจิต แต่เป็นสิ่งที่จรเข้ามา
ฉะนั้น จึงเรียกว่า อุปกิเลส ที่แปลว่ากิเลสที่จรเข้ามา
แต่ว่าในการเรียกโดยทั่วๆไปนั้นก็เรียกว่ากิเลสเท่านั้น
แต่ถ้าเรียกเต็มที่แล้วกิเลสทั้งหมดเป็นอุปกิเลสทั้งนั้น เป็นกิเลสที่จรเข้ามา
และการที่กิเลสจรเข้ามาได้ ก็เพราะไม่ปฏิบัติในจิตตภาวนา ไม่มีจิตตภาวนาการอบรมจิต
และการที่ยังพ้นกิเลสไม่ได้ ก็เพราะไม่มีจิตตภาวนา คือการปฏิบัติอบรมจิต
วิธีปฏิบัติอบรมจิต
สติปัฏฐานเป็นวิธีปฏิบัติอบรมจิต อันเรียกว่าจิตตภาวนานี้
ทั้งทางสมาธิ ทั้งทางปัญญา หรือทั้งทางสมถะ ทั้งทางวิปัสสนา
สติปัฏฐานนั้นแปลว่า ตั้งสติ หรือแปลว่า สติตั้ง
ในขณะที่ปฏิบัติเพื่อตั้งสติ คือสติยังไม่ได้ตั้ง แต่ปฏิบัติเพื่อตั้งสติ ก็แปลว่าตั้งสติ
เมื่อปฏิบัติให้สติตั้งขึ้นได้ ก็แปลว่าสติตั้ง
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานโดยที่ตรัสไว้ว่า
เป็นไปเพื่อวิสุทธิคือความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไปเพื่อก้าวล่วงโสกะความโศก
ปริเทวะความรัญจวนคร่ำครวญใจ เป็นไปเพื่อดับทุกข์โทมนัส ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
เป็นไปเพื่อบรรลุญายธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุ ตั้งแต่เบื้องต้นเบื้องต่ำจนถึงมรรคผลนิพพาน
เป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งนิพพาน ดั่งนี้
และในข้อแรกที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติ
ก็คืออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
๕
จะกำหนดจิตไว้ที่ปลายจมูกก็ได้ อันเป็นจุดที่ลมกระทบเมื่อหายใจเข้าเมื่อหายใจออก
แต่ในชั้นแรกจะส่งจิตตามลมหายใจเข้าไป ปลายจมูก อุระคือทรวงอก และนาภีคือท้อง
ในเมื่อหายใจเข้าท้องก็พองขึ้น และเมื่อหายใจออกก็จากนาภีท้องที่ยุบลง อุระ และปลายจมูก ดั่งนี้ก็ได้ และเมื่อชำนาญแล้วก็กำหนดเพียงจุดเดียว คือที่ปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน
สุดแต่ว่าลมจะกระทบที่ไหน
และท่านอาจารย์ทางปฏิบัติก็มีสอน
ให้ใช้หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ เป็นเครื่องช่วย
และก็ได้ตรัสสอนต่อไป ถึงการทำสติในอิริยาบถทั้ง ๔
ทำสัมปชัญญะในอิริยาบถโดยละเอียดทั้งหลาย
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สติปัฏฐาน ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๐๖/๑ เริ่มต้น จบในหน้าเดียว ( File Tape 162 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สติปัฏฐาน ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรสำคัญพระสูตรหนึ่ง ที่ปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำ โดยมาก
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสติปัฏฐาน วิธีปฏิบัติตั้งสติ จำแนกเป็น ๔ คือ
ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็น กาย ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็น เวทนา
ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็น จิต ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็น ธรรม
เป็น ๔ ประการ
และได้ทรงแสดงสติปัฏฐานข้อแรก
คือข้อตั้งสติตามดูกาย แบ่งเป็นหลายปัพพะคือหลายข้อ
ทรงเริ่มตั้งแต่ข้ออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
และตรัสนำการแสวงหาที่ปฏิบัติ และอิริยาบถในการปฏิบัติ ตั้งสติในการปฏิบัติ
โดยตรัสว่า ภิกษุคือทรงยกภิกษุขึ้นเป็นที่ตั้ง เข้าไปสู่ป่า เข้าไปสู่โคนไม้ เข้าไปสู่เรือนว่าง
ซึ่งเมื่อรวมความเข้าแล้วก็หมายถึงสถานที่ๆเป็นกายวิเวก สงัดกาย
๒
แม้ว่าการมาปฏิบัติในที่นี้ซึ่งจัดไว้สำหรับเป็นที่ปฏิบัติ แม้จะมากด้วยกัน
แต่ก็ชื่อว่าเป็นที่ๆเรียกว่าเรือนว่างได้ เพราะสงบจากเสียงต่างๆ
จากบุคคลผู้ไม่ประสงค์ปฏิบัติ ซึ่งมาทำเสียงเป็นต้น รบกวน อย่างใดอย่างหนึ่ง
ผู้ที่มาอยู่ในที่นี้ ก็ล้วนเป็นผู้ที่ต้องการปฏิบัติ อยู่ในอาการอันสงบด้วยกันทั้งนั้น
และตรัสว่านั่งขัดบัลลังก์ ที่เรียกว่านั่งขัดตะหมาด หรือขัดสมาธิขัดสมาธ
หรือว่าจะนั่งในอิริยาบถอย่างที่เรียกว่านั่งพับเพียบ ก็ไม่ขัดข้อง
ตั้งกายตรง ดำรงสติรอบคอบ หรือจำเพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว
หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าเราหายใจออกสั้น
ศึกษาว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้า ศึกษาว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจออก
ศึกษาว่าเราจักสงบระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจเข้า
เราจักสงบระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจออก
เหมือนอย่างช่างกลึง หรือศิษย์ของช่างกลึง
กลึงยาวก็รู้ว่าเรากลึงยาว กลึงสั้นก็รู้ว่าเรากลึงสั้น
นี้เรียกว่าอานาปานปัพพะข้อที่ว่าด้วยลมหายใจเข้าออก
ข้อที่ว่าด้วยสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
และต่อจากนั้นก็ตรัสให้ ทำสติพร้อมทั้งสัมปชัญญะความรู้ตัวในอิริยาบถ
เมื่อเดินก็รู้ว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ว่าเรานอน
น้อมกายไปด้วยประการใดก็รู้ประการนั้น เรียกว่าอริยาปถปัพพะ รู้อิริยาบถทั้ง ๔
ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ตั้งสติพร้อมทั้งสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ในอิริยาบถที่จำแนกออกไป
ว่ามีความรู้ตัว กระทำความรู้ตัว ในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยไปข้างหลัง
ทำความรู้ตัวในการแล ในการเหลียว ทำความรู้ตัวในการเหยียดกายเข้ามา
หรือเหยียดกายออกไป หรือในการคู้ในการเหยียด ทำความรู้ตัวในการทรงสังฆาฏิบาตรจีวร
๓
ทำความรู้ตัวในการบริโภค ในการกินในการเคี้ยวในการลิ้มในการดื่ม
ทำความรู้ตัวในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ
ทำความรู้ตัวในการเดิน ในการยืน ในการนั่ง ในการนอน ในการตื่น ในการพูด ในการนิ่ง
อันเรียกว่าสัมปชัญญะปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยสัมปชัญญะความรู้ตัว
และต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้พิจารณากายนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา
เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ
คือ เกสาผม โลมาขน นขาเล็บ ทันตาฟัน ตะโจหนัง มังสังเนื้อ นหารูเอ็น
อัฏฐิกระดูก อัฏฐิมิญชังเยื่อในกระดูก วักกังไต หทยังหัวใจ ยกนังตับ
กิโลมกังพังผืด ปิหกังม้าม ปับผาสังปอด อันตังไส้ใหญ่ อันตคุณังสายรัดไส้
อุทริยังอาหารใหม่ กรีสังอาหารเก่า ปิตตังน้ำดี เสมหังน้ำเสลด ปุพโพน้ำหนองน้ำเหลือง
โลหิตังน้ำเลือด เสโทน้ำเหงื่อ เมโทมันข้น อัสสุน้ำตา วสามันเหลว
สิงฆานิกาน้ำมูก ละสิกาไขข้อ มุตตังมูตร
มีอุปมาเหมือนอย่างไถ้ ถุงไถ้ซึ่งมีปากสองข้าง เต็มไปด้วยธัญญชาติต่างๆ
คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร
บุรุษผู้มีจักษุเปิดปากไถ้ พิจารณาดูธัญญชาติในไถ้นั้น ว่าเหล่านี้เป็นข้าวเปลือก
เหล่านี้เป็นข้าวสาลี เหล่านี้เป็นข้าวเปลือก เหล่านี้เป็นถั่วเขียว
เหล่านี้เป็นถั่วเหลือง เหล่านี้เป็นงา เหล่านี้เป็นข้าวสาร
อันเรียกว่าปฏิกูลปัพพะข้อที่ว่าด้วยสิ่งปฏิกูลคือไม่สะอาด
ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้พิจารณาโดยความเป็นธาตุ คือพิจารณากายโดยความเป็นธาตุ
ว่ากายนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ก็ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔
คือ ปฐวีธาตุธาตุดิน อาโปธาตุธาตุน้ำ เตโชธาตุธาตุไฟ วาโยธาตุธาตุลม
ซึ่งมีอุปมาเหมือนอย่าง คนฆ่าแม่โค และนั่งชำแหละแม่โคขายในถนนสี่แพร่ง
อันเรียกว่าธาตุปัพพะข้อที่ว่าด้วยธาตุ
๔
และต่อไป พระอาจารย์ได้แสดงว่า
การที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกสติปัฏฐานเป็น ๔
ไม่ต่ำกว่านี้ ไม่มากกว่านี้ ก็เพื่อให้เหมาะแก่บุคคลที่มีจริต ๔ อย่างในโลก
คือ บุคคลที่เป็นตัณหาจริตอย่างอ่อนพวกหนึ่ง บุคคลที่เป็นตัณหาจริตอย่างแก่กล้าพวกหนึ่ง
บุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างอ่อนพวกหนึ่ง บุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างแก่กล้าอีกพวกหนึ่ง
ในข้อกายนั้นเหมาะสำหรับคนที่เป็นตัณหาจริตอย่างอ่อน
ในข้อเวทนาเหมาะแก่คนที่เป็นตัณหาจริตอย่างแก่กล้า
ในข้อจิตเหมาะแก่คนที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างอ่อน
ในข้อธรรมเหมาะแก่คนที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างแก่กล้า
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
หลักปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๐๖/๒ เริ่มต้น จบในหน้าเดียว ( File Tape 162 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
หลักปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
กรรมฐานที่เราทั้งหลายได้ถือเป็นหลักปฏิบัติในที่นี้ ก็คือสติปัฏฐานทั้ง ๔
อันได้แก่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้เห็นกาย
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นเวทนา
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นจิต
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นธรรม
สติปัฏฐานจึงมี ๔ ข้อดั่งกล่าว
พระอาจารย์ได้แสดงว่าตามที่มี ๔ ข้อนี้
ก็เพื่อให้เหมาะแก่บุคคล ที่เมื่อรวมเข้าแล้ว ก็มีจริต ๔ ประการ
คำว่าจริตในที่นี้ตามศัพท์แปลว่าความเที่ยวไปของใจ
หรือความเที่ยวไปของจิต คือจิตมีความน้อมไปในทางใด ก็เที่ยวไปในทางนั้น
ความน้อมไปของจิตนี้เป็นลักษณะของจิตอย่างหนึ่ง
๒
ที่เมื่อจิตเสพคุ้น คือคิดไปบ่อยๆในทางใด ก็จะทำให้บังเกิดความน้อมไปในทางนั้น
และความน้อมไปของจิตดังกล่าวนี้ หรือความท่องเที่ยวไปของจิตดังกล่าวนี้
เป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจ อันเรียกว่าเป็นอัธยาศัย นิสสัย สันดาน ก็มี
อัธยาศัยนั้นก็คือภาวะที่อาศัยติดอยู่ในจิตใจ นิสสัยก็หมายถึงที่อาศัยของจิตใจ
สันดานนั้นก็หมายถึงความสืบต่อ หรือความต่อเนื่องอันฝังอยู่ในจิตใจ
ซึ่งเริ่มมาจากการที่จิตใจเสพคุ้น คือคิดถึงอยู่บ่อยๆ มาเป็นเบื้องต้น
ตั้งในอดีต เมื่อไรก็ไม่รู้ คืออาจจะติดชาติภพมา
หรือว่าที่จิตคิดอยู่บ่อยๆ นึกถึงอยู่บ่อยๆ ที่จิตติดอยู่ยึดอยู่ แม้ในปัจุบันนี้เอง
ก็ก่อให้เกิดนิสสัยอัธยาศัยสันดานดังกล่าวนี้ได้
และลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อติดอยู่ชนิดที่อยู่ตัวในจิตใจ
ก็เรียกว่าเป็นวาสนาที่แปลว่าอยู่ตัว อยู่ตัวในจิตใจ
อันที่จริงนั้น คำว่าวาสนาเป็นคำกลางๆ
ทำดีอยู่บ่อยๆก็อยู่ตัวในความดี เป็นวาสนาในทางดีได้
ทำชั่วอยู่บ่อยๆ ก็อยู่ตัวเป็นวาสนาในทางชั่วได้
วาสนานั้นจึงเป็นคำกลางๆ แต่เรามักจะใช้กันหมายถึงส่วนดี
ความอยู่ตัวในทางดีเรียกว่าวาสนา คู่กันกับคำว่าบารมี
ก็เป็นความอยู่ตัวในทางดี สั่งสมขึ้นในทางดีเช่นเดียวกัน
ส่วนในทางชั่วนั้น เมื่อทำชั่วบ่อยๆ ก็เกิดความติดอยู่ในความชั่ว หรืออยู่ๆตัวในทางชั่ว
ก็เรียกว่าอาสวะ หรืออนุสัย อาสวะก็คือสิ่งที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน
อาสวะก็คือสิ่งที่ดองจิตสันดาน อันเรียกว่าเป็นกิเลสอย่างละเอียด
ตรงกับความดีซึ่งอยู่ตัวเป็นบารมี ซึ่งเป็นความดีอย่างละเอียด
และที่เราเรียกกันว่าวาสนาก็ได้ เช่นคนที่มีวาสนาดี ก็ได้ดีโดยง่าย
แต่อันที่จริงนั้นคำว่าวาสนาก็เป็นคำกลางๆเหมือนกัน แต่มักใช้ในทางดีดังกล่าว
๓
จริตคือความเที่ยวไปของจิตใจ พร้อมทั้งอาการของจิตใจ
ก็เป็นไปตามนิสสัย อัธยาศัยสันดานดังที่กล่าวมา ซึ่งท่านได้แสดงไว้ ๔ อย่าง
ว่าทุกคนเรานี้มีตัณหาจริต คือมีจริตของจิตใจ
ประกอบด้วยตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอย่างเบา จำพวกหนึ่ง
คนตัณหาจริตอย่างมาก จำพวกหนึ่ง
คนทิฏฐิจริตคือมีจิตใจเที่ยวไปด้วยอำนาจของทิฏฐิคือความเห็น
อันมักจะเป็นไปทางปัญญา ที่ผิดบ้างถูกบ้าง
แต่ว่ามักจะใช้หมายถึงในทางที่ผิดเป็นส่วนมาก อย่างเบา
จำพวกที่ ๔ คนที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างมาก หรืออย่างแรง
สำหรับสติปัฏฐานข้อกายนั้น เหมาะสำหรับคนที่เป็นตัณหาจริตอย่างเบา
สติปัฏฐานข้อเวทนานั้น เหมาะแก่คนที่เป็นตัณหาจริตอย่างแรง หรืออย่างมาก
สติปัฏฐานข้อจิตนั้น เหมาะสำหรับคนที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างเบา
สติปัฏฐานข้อธรรมะนั้น เหมาะสำหรับคนที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างแรง
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ ข้อ
และสำหรับในข้อกายนั้น ก็เริ่มต้นแต่ตรัสสอน ให้มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว
หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าเราหายใจออกสั้น
ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้า ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจออก
ศึกษาว่าเราจักสงบระงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า
ศึกษาว่าเราจักสงบระงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือลมหายใจเข้าออก หายใจออก ดั่งนี้
สำหรับในข้อแรกนั้นหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว
หายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว
ยาวหรือสั้นนั้นก็หมายถึงการหายใจที่เป็นไปตามปรกติ
๔
หรือลมหายใจที่เป็นไปตามที่ตั้งใจทำให้ยาวหรือสั้น
หรือเป็นไปตามการปฏิบัติ ที่ได้สติตั้งขึ้นละเอียดเข้าไปโดยลำดับ
เมื่อกายใจสงบ ลมหายใจก็สงบไปโดยลำดับ
ท่านพระอาจารย์ได้สอนให้ใช้วิธีช่วยในการกำหนดลมหายใจไว้หลายอย่าง เช่น
ในวิสุทธิมรรค ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งเป็นผู้รจนาวิสุทธิมรรค ได้สอนให้นับ
คือรวมจิตเข้ามากำหนดลมหายใจที่เข้าออก หายใจเข้ายาว หรือสั้นก็ตาม
หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๑ และนับต่อไปจนถึง ๕-๕
แล้วกลับมา ๑-๑ ใหม่ ถึง ๖-๖ แล้วกลับมา ๑-๑ ใหม่ ถึง ๗-๗
กลับมา ๑-๑ ใหม่ ถึง ๘-๘ กลับมา ๑-๑ ใหม่ ถึง ๙-๙ กลับมา ๑-๑ ใหม่ ถึง ๑๐-๑๐
แล้วก็กลับย้อนไป ๑-๑ ถึง ๕-๕ ไปใหม่ เรียกว่านับช้า
แล้วก็นับเร็วในเมื่อสติตั้งกำหนดได้อยู่ตัวดีขึ้น
คือหายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๒ แล้วก็ ๓-๓, ๔-๔, ๕-๕ ดังกล่าว
จนเมื่อสติกำหนดได้แม่นยำดีแล้ว อยู่ตัวดีแล้ว ก็หยุดนับ
และสอนให้กำหนดจุดสำหรับลมหายใจเข้าออกไว้
ลมหายใจเข้าก็ ๓ จุด จุดแรกก็คือปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน
จุดสองก็คืออุระ จุดสามคือนาภีที่พองขึ้น
หายใจออกนั้นก็ ๓ จุดเช่นเดียวกัน แต่นับจากนาภีที่ยุบลงเป็นจุดที่หนึ่ง
อุระเป็นจุดที่สอง ปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนเป็นจุดที่สาม
กำหนดจิตตามลมหายใจเข้าไป และออกมา ตาม ๓ จุดนี้
จนเมื่อจิตรวมเข้ามาอยู่ตัวดีขึ้นแล้ว ก็เว้นเสีย ๒ จุด
เอาไว้แต่จุดเดียว คือที่ริมฝีปากเบื้องบน หรือปลายจมูก กำหนดจิตอยู่ที่จุดนั้น
หายใจเข้าไปกระทบปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน ก็รู้ หายใจออกออกมากระทบ ก็รู้
และก็จะรู้สึกว่าหายใจเข้านั้นลมเย็นเป็นปรกติ หายใจออกนั้นลมออกจะอบอุ่นขึ้น
๕
อีกวิธีหนึ่งที่พระอาจารย์กรรมฐานท่านสอนกันในปัจจุบัน
ท่านสอนให้กำหนดพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
หรือจะธรรมโมสังโฆด้วยก็ได้ หายใจเข้าธรรม หายใจออกโม หายใจเข้าสัง หายใจออกโฆ
หรือเพียงแต่พุทโธเท่านั้น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
และเมื่อจิตสงบดีแล้ว ก็จะหยุดไปเอง
บางอาจารย์ก็สอนให้กำหนดที่นาถีที่พองหรือยุบ
ที่เรียกว่า ยุบหนอ พองหนอ ซึ่งมีวิธีปฏิบัติที่สอนกันหลายวิธี
และที่ท่านสอนให้กำหนดไม่ต้องนับเป็นต้น ที่ปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน
เข้าก็ให้รู้ซึ่งลมที่มากระทบนั้น ออกก็ให้รู้ซึ่งลมที่มากระทบนั้น
และเมื่อจิตรวมก็จะบังเกิดเป็นแสงขึ้น เป็นแสงที่เกิดขึ้นในจิตใจ
ก็กำหนดแสงนั้นช่วย
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติของแต่ละท่าน แต่ละบุคคล จึงอยู่ที่ความพอใจ
และผลที่ได้ เมื่อได้ผลคือรวมจิตได้ดีด้วยวิธีใด ก็ใช้วิธีนั้น
และเมื่อปฏิบัติดั่งนี้ ก็จะเกิดฉันทะคือความพอใจ เมื่อได้ฉันทะคือความพอใจขึ้นมา
ลมหายใจเข้าออกก็จะละเอียดขึ้น ด้วยอำนาจของฉันทะ
เมื่อปฏิบัติต่อไปก็จะได้ปราโมทย์คือความบันเทิงใจขึ้นมา
ลมหายใจเข้าออกด้วยอำนาจของปราโมทย์ ก็จะละเอียดยิ่งขึ้น
จนถึงละเอียดมาก จนถึงจิตออกจากลมหายใจเข้าออก
อุเบกขาคือความวางเฉย เพ่งดูอยู่อย่างสงบ
วางลมหายใจเข้าออก เฉยคือสงบด้วยความเพ่งดูอยู่
และลมหายใจเข้าออกที่หยาบก็จะไม่ปรากฏ จะปรากฏนิมิต คือเครื่องกำหนดจิต
คือแม้ลมจะสงบ แต่ว่าลมนั้นเองก็ยังเป็นเครื่องกำหนดของจิตใจ
จิตใจยังกำหนดอยู่ที่นิมิตของลมหายใจ
ดั่งนี้ เป็นการปฏิบัติในอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกโดยย่อ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและทำความสงบสืบต่อไป
*