ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป160

พุทธานุสสติ ภควโต

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

ภควโต มีความหมายหลายอย่าง ๒

จิตปภัสสร ๔

บุถุชน อริยสาวก ๕

วิธีปฏิบัติสมาธิง่ายๆ ๖

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๒๐๓/๒ เริ่มต้น จบในหน้าเดียว ( File Tape 160 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พุทธานุสสติ ภควโต

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 บัดนี้ จะแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ในเบื้องต้นก็ขอให้เราทั้งหลายได้เจริญพุทธานุสสติ

ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า อันเป็นสมถกรรมฐานอย่างหนึ่ง

ตามบท นะโม ที่สวดกันว่า นโม ตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

ขอนอบน้อมนมัสการแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามที่แปลนี้ก็เป็นการแปลพระนามตามศัพท์บาลีทั้งหมด ผู้ที่ไม่เข้าใจก็ย่อมจะไม่เข้าใจความ

และบทบาลีที่เป็นพระนามในบทนะโม ๓ บทนี้ก็คือ ภควะโต ที่แปลว่าพระผู้มีพระภาคบทหนึ่ง

อรหะโต ที่แปลว่าพระอรหันต์บทหนึ่ง สัมมาสัมพุทธัสสะ ที่แปลว่าพระสัมมาสัมพุทธะบทหนึ่ง

 

ภควโต มีความหมายหลายอย่าง

 

จะได้อธิบายบทต้น คือบทว่า ภควะโต ที่มาจากคำว่า ภควา

ที่เราแปลทับคำบาลีว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า มีความหมายหลายอย่าง

ตามที่พระอาจารย์ได้แสดงไว้

ความหมายอย่างหนึ่งที่จะกล่าวในการเจริญพุทธานุสสติวันนี้

ก็คือแปลว่า พระผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชาชน

เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแจกธรรมะเป็นอันมาก เช่น โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

อริยสัจจ์ ๔ และอื่นๆ ดั่งที่กล่าวไว้ว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

อันมีความหมายว่ามีจำนวนมากมาย

 

ยกตัวอย่างในหนังสือ นวโกวาท

ซึ่งเป็นหลักการเรียนพระธรรมวินัยของพระภิกษุทั้งหลาย

พระวินัยบัญญัติทั้งหมดก็รวมอยู่ในพระธรรมวินัย หรือรวมอยู่ในหลักใหญ่เกี่ยวแก่ธรรม

และธรรมะวิภาค ตั้งแต่ทุกกะหมวด ๒ ตั้งต้นแต่ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง

คือสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว เป็นต้นไปทั้งหมด ตลอดจนถึงคิหิปฏิบัติ

ก็เป็นพระธรรมที่ทรงจำแนกแจกแจงไว้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงได้สามารถเรียนธรรม แสดงธรรม

ฟังธรรมเรียนธรรมกันตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

 

ทั้งนี้ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า พระนามอันแสดงพระคุณบทว่า ภควา

ในบทนะโมว่า ภควะโต พระผู้จำแนกแจกแจงแสดงธรรมะสั่งสอนประชุมชน

แสดงถึงพระกรุณาคุณ คุณคือพระกรุณา แก่โลก แก่ชาวโลก จึงทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

หรือแสดงธรรมวินัยสั่งสอน ประดิษฐานพระพุทธศาสนา และพุทธบริษัทขึ้นในโลก

ทำให้เราทั้งหลายได้มีโอกาสเข้ามาเป็นพุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา

เป็นอุบาสกอุบาสิกา พุทธมามกะพุทธมามิกา เป็นภิกษุเป็นสามเณร

ก็เพราะพระคุณข้อนี้ที่ทรงมีพระมหากรุณา จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชนดังกล่าว

จึงขอให้เราทั้งหลายได้น้อมจิต ระลึกพิจารณาพระพุทธคุณ

พระคุณของพระพุทธเจ้าบทนี้เป็นอารมณ์ เป็นเบื้องต้น

 

จิตปภัสสร

 

ต่อจากนี้ก็จะได้แสดงถึงธรรมะเป็นเครื่องอบรมจิต

อันเรียกว่าจิตตภาวนา แปลว่าการอบรมจิต

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แปลความว่า จิตนี้ปภัสสรคือขาวบริสุทธิ์ ผุดผ่อง

แต่ว่าจิตนั้นเข้าไปเศร้าหมองแล้วด้วยอุปกิเลส คือเครื่องที่เข้ามาเศร้าหมองที่จรมา

ปุถุชนผู้มิได้สดับ ก็ไม่รู้จิตนั้นตามเป็นจริง

เพราะฉะนั้น เราคือพระคตถาคตจึงตรัสว่า จิตตภาวนาไม่มีแก่บุถุชนผู้มิได้สดับ

และได้ตรัสต่อไปอีกว่า จิตนี้ปภัสสร คือขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง

ก็จิตนั้นแลพ้นแล้วจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง จากกิเลสเครื่องที่เข้ามาทำให้เศร้าหมองที่จรมา

อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมรู้จิตนั้นตามเป็นจริง

เพราะฉะนั้นเราคือพระตถาคตกล่าวว่า จิตตภาวนาย่อมมีแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ ดั่งนี้

 

จิตตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้นี้ ก็คือจิตใจที่เราแต่ละคนมีอยู่ด้วยกันนี้เอง

และจิตนี้ที่เป็นพื้นเดิมเป็นธรรมชาติผุดผ่อง คือขาวบริสุทธิ์สะอาดผุดผ่อง

ที่ท่านพระอาจารย์แสดงไว้ว่า เรียกว่าภวังคะจิต

แต่ว่าบุถุชนผู้มิได้สดับ อันหมายถึงว่าทุกๆคนผู้ที่ยังมีจิตใจหนาแน่นอยู่ด้วยกิเลส

เป็นผู้ที่หยั่งลงภายในของกิเลสที่หนาแน่น

มิได้สดับธรรมอันหมายความว่า ยังไม่ได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม

คือแม้จะได้ฟังแต่ก็ยังไม่เห็นธรรม สักแต่ว่าฟัง สักแต่ว่าจำ

 

อุปกิเลสคือเครื่องที่เข้ามาทำให้เศร้าหมอง คืออารมณ์และกิเลสต่างๆ

จึงได้เข้ามาเป็นอันมากโดยเป็นอารมณ์ คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง

เป็นเรื่องรูปที่เข้ามาทางตา เป็นเรื่องเสียงที่เข้ามาทางหู เป็นเรื่องกลิ่นที่เข้ามาทางจมูก

เป็นเรื่องรสที่เข้ามาทางลิ้น เป็นเรื่องโผฏฐัพพะที่เข้ามาทางกาย

เป็นเรื่องของธรรมะคือเรื่องราวที่เข้ามาทางมโนคือใจ

อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีบ้าง เป็นที่ตั้งแห่งความยินร้ายบ้าง

เป็นที่ตั้งแห่งความหลงงมงายบ้าง จึงได้ก่อให้เกิดความยึดถืออารมณ์คือเรื่องเหล่านั้นทั้งหมด

หรือว่ายึดถือบางส่วน เกิดความยินดีในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความยินดี

เกิดความยินร้ายในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความยินร้าย

เกิดความหลงงมงายในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความหลงงมงาย

ความยินดี ความยินร้าย ความหลงงมงาย หรือจะเรียกว่าราคะความติดใจยินดี

หรือโลภะความโลภอยากได้ โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะความหลง ก็ได้

จึงได้ไหลเข้าไปสู่จิต ทำให้จิตที่ขาวบริสุทธิ์ผุดผ่องนั้นเศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์

 

บุถุชน อริยสาวก

 

ทั้งนี้เพราะไม่มีจิตตภาวนาคือการอบรมจิต

คือไม่ได้ฟังธรรมจนเห็นธรรม ผู้ที่ไม่ได้ฟังธรรมจนเห็นธรรมนี้เรียกว่าบุถุชน

จึงไม่มีจิตตภาวนาการอบรมจิตดังกล่าว จิตจึงเศร้าหมอง

แต่ผู้ที่ฟังธรรมจนเห็นธรรม อันเรียกว่าอริยสาวก

ก่อนแต่ที่จะเป็นอริยสาวกก็เป็นบุถุชน จิตก็เศร้าหมอง

แต่เมื่อเป็นอริยสาวกคือฟังธรรมจนเห็นธรรม

จิตก็พ้นจากเครื่องที่เข้ามาทำให้เศร้าหมองที่จรมานั้นได้

ซึ่งตรัสว่าอริยสาวกผู้ได้สดับ คือผู้ที่ได้สดับธรรมได้เห็นธรรมนี้

เป็นผู้มีจิตตภาวนาคือการอบรมจิต

 

เราทั้งหลายก็กล่าวได้ว่าเป็นผู้ตั้งใจปฏิบัติอบรมจิต

จึงได้ตั้งใจฟังธรรม เรียนธรรม ศึกษาธรรม แม้จะยังไม่เห็นธรรมเป็นอริยสาวก

แต่ก็ชื่อว่าได้เริ่มปฏิบัติ หัดทำจิตตภาวนาการอบรมจิตอยู่ด้วยกัน

ก็จะทำให้อุปกิเลสคือเครื่องที่เข้ามาทำให้เศร้าหมองนั้นลดลงได้ ตามควรแก่ความปฏิบัติ

และในเทศกาลเข้าพรรษาปีหนึ่งๆ ก็จะได้มีการแสดงและการสวดมหาสติปัฏฐานสูตร

โดยนับถือพระสูตรนี้ ว่าเป็นพระสูตรสำคัญ เป็นหลักของการปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น ต่อจากธรรมบรรยายนี้ก็จะได้เริ่มสวดมหาสติปัฏฐานสูตร

และเมื่อสวดจบแล้วจะมีการนั่งสมาธิ

 

วิธีปฏิบัติสมาธิง่ายๆ

 

ท่านทั้งหลายที่ได้ทราบวิธีปฏิบัติสมาธิมาแล้ว ก็ปฏิบัติทำใจของตนได้

แต่ท่านที่ยังไม่ได้สดับ ก็ให้ปฏิบัติทำสมาธิง่ายๆ ด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ให้ทำความรู้กำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าหายใจออก

และเมื่อกำหนดดั่งนี้ หายใจเข้าก็รู้ว่าเราหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าเราหายใจออก

และจะใช้กำหนดพุทโธไปด้วยกันก็ได้ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ

ให้จิตอยู่กับพุทโธ กับลมหายใจเข้าออก ปฏิบัติดั่งนี้ก็ได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 พุทธานุสสติ อรหโต

แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

กิเลส ๒

ข้อปฏิบัติเพื่อละกิเลส ๔

การปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๕

อธิบายเริ่มสติปัฏฐาน ๔ ดีเยี่ยม 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๒๐๔/๑ เริ่มต้น จบในหน้าเดียว ( File Tape 160 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พุทธานุสสติ อรหโต

แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ขอให้เราทั้งหลายตั้งใจเจริญพุทธานุสสติระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า

จะแสดงพระคุณบทว่า อรหะโต จากบทนะโมที่เราทั้งหลายสวดกัน

ว่า นะโม ตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

อรหะโต เป็นบทที่ ๒ ถัดจาก ภควะโต ที่แสดงแล้ว

บทว่า อรหะโต นี้ก็มาจากว่าอรหันต์ หรืออรหัง ดั่งที่เราแปลว่าพระอรหันต์

พระอาจารย์ได้แสดงความหมายไว้หลายอย่าง ความหมายประการหนึ่ง

ก็แปลว่าเป็นผู้ไกลกิเลส อันหมายความว่าละกิเลสได้แล้ว สิ้นกิเลสแล้ว

 

กิเลส

 

คำว่ากิเลสนั้นเป็นภาษาบาลี มาใช้เป็นภาษาไทย

ซึ่งโดยมากก็เป็นที่เข้าใจกันในความหมายว่า

คือเครื่องเศร้าหมอง เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตใจ

เป็นอย่างละเอียดก็มี เป็นอย่างกลางก็มี เป็นอย่างหยาบก็มี

ที่เป็นอย่างละเอียดนั้นเรียกว่า อาสวะ ซึ่งแปลว่าเป็นเครื่องดอง

อันหมายความว่าเป็นเครื่องดองจิตใจ หรือเรียกว่า อนุสัย แปลว่านอนเนื่อง

คือนอนเนื่องอยู่ในจิตใจ อันเป็นอย่างละเอียด และอย่างละเอียดนี้เองเมื่อกำเริบขึ้นมา

ก็เป็นอย่างกลาง เป็น นิวรณ์ คือเครื่องกลุ้มรุมจิต กั้นจิตใจ

และหยาบออกมาอีกเป็นอย่างหยาบ ก็เป็นเครื่องก่อเจตนากรรม

กรรมคือความจงใจให้เกิดการกระทำออกไปทางกาย ทางวาจา ตลอดจนถึงทางใจเอง

 

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระธรรม หลุดพ้นจากกิเลสอย่างละเอียดทั้งหมด

จึงพ้นจากกิเลสอย่างกลาง และพ้นจากกิเลสอย่างหยาบทั้งหมด

ไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ซึ่งกล่าวอย่างง่ายๆว่า

จะเป็นกิเลสกองราคะความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้ก็ดี

เป็นกิเลสกองโกรธก็ดี กิเลสกองหลงก็ดี สิ้นไปหลุดพ้นไปทั้งหมด

จิตของพระองค์พ้นจากกิเลสทั้งสิ้น จึงเป็นผู้อยู่ไกลกิเลส

ไม่มีกิเลสตั้งอยู่ในจิตใจของพระองค์ สิ้นเชิง กิเลสไม่มีกลับเข้ามาใกล้

พระคุณบทนี้แสดงถึงพระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์

หมดจดสะอาด ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ ทั้งสิ้น

ไม่มีการกระทำที่เป็นตัวกรรมอันประกอบด้วยกิเลส ทางกายทางวาจาทางจิตใจทั้งหมด

ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเชิง ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนก็เพื่อให้ผู้ฟังได้ทราบ และได้ปฏิบัติ

เพื่อหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายเช่นเดียวกัน

 

เราทั้งหลายได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว

ก็ได้พากันปฏิบัติ ในศีลบ้าง ในสมาธิบ้าง ในปัญญาบ้าง

ก็เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นที่สุด

ข้อปฏิบัติเพื่อละกิเลส

 

แม้จะปฏิบัติในศีลซึ่งเป็นเครื่องละกิเลสอย่างหยาบได้

เช่นตั้งอยู่ในศีล ๕ ก็เว้นได้จากกิเลสอย่างหยาบ อันเป็นเหตุให้ฆ่าเขาบ้าง

ให้ลักของๆเขาบ้าง ให้ประพฤติในกามบ้าง ให้พูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง

ให้ดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งความประมาทบ้าง

ก็พ้นได้จากกิเลสอย่างหยาบเหล่านี้ในขณะที่รักษาศีล

 

และเมื่อทำสมาธิ หากได้สมาธิ

ก็ทำให้ระงับกิเลสที่บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจเป็นนิวรณ์ได้ ในขณะที่จิตได้สมาธิ

และเมื่อปฏิบัติในปัญญา ก็สามารถที่จะสงบรำงับกิเลสที่เป็นอย่างละเอียด ยิ่งๆขึ้นไป

ตามภูมิตามชั้นของการปฏิบัติ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์กายวาจาใจ

เพื่อให้เป็นผู้ไกลกิเลสเช่นเดียวกัน สมควรที่เราทั้งหลายจะพากันปฏิบัติ

ในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ให้ยิ่งๆขึ้นไป

 

และศีลนั้นก็เป็นเครื่องอบรมสมาธิได้

สมาธินั้นก็เป็นเครื่องอบรมปัญญาได้ ปัญญานั้นก็เป็นเครื่องอบรมจิตใจได้

เพื่อให้จิตใจหลุดพ้นได้ในที่สุด จากอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย

และสมาธินั้น กับปัญญานั้น ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติทางสมถะภาวนา

และวิปัสสนาภาวนา ภาวนาทั้งสองนี้เอง คือจิตตภาวนาการอบรมจิต

เพราะการอบรมจิตนั้น ก็คือเป็นการอบรมจิตด้วยสมถะภาวนา คืออบรมจิตให้สงบเป็นสมาธิ

และด้วยวิปัสสนาภาวนา อบรมจิตให้เห็นจริงรู้แจ้งในธรรม

 

สติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น

ก็ทางสมถะภาวนาซึ่งเป็นขั้นสมาธิ และสูงขึ้นไปก็เข้าขั้นวิปัสสนาภาวนา

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ ว่าเป็น เอกายนมรรค คือทางไปอันเอก

เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะความเศร้าโศก

ปริเทวะความคร่ำครวญรัญจวนใจทั้งหลาย เพื่อดับทุกข์ความไม่สบายกาย

โทมนัสไม่สบายใจทั้งหลาย เพื่อบรรลุญายธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุพึงรู้

ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ เพื่อกระทำให้แจ้งพระนิพพาน

ก็ได้แก่สติปัฏฐาน ๔ ข้อ

 

การปฏิบัติในสติปัฏฐาน

 

สติปัฏฐานนั้นแปลว่าที่ตั้งแห่งสติ หรือที่จอดแห่งสติ

การปฏิบัติในสติปัฏฐาน ก็เป็นการตั้งสตินั้นเองในที่ตั้งของสติทั้ง ๔

อันได้แก่พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่

พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมะในธรรมะทั้งหลายอยู่เนืองๆ

มีความเพียรทำกิเลสให้เร่าร้อน หรือมีความเพียรเผากิเลส

มีสัมปชัญญะความรู้พร้อม หรือความรู้ตัว มีสติความระลึกได้

กำจัดอภิชฌาความยินดี โทมนัสความยินร้ายในโลกเสียได้

 

นี้คือสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้

เป็นหลักปฏิบัติทางสมถะภาวนา อบรมสมถะความสงบ คือสมาธิให้บังเกิดขึ้น

และส่งไปถึงวิปัสสนาภาวนา อบรมวิปัสสนาคือความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมให้บังเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น จึงเป็นหลักปฏิบัติอันสำคัญที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้

และทั้ง ๔ ข้อนี้ก็รวมกันเป็นทางอันเดียว ที่เรียกว่าเป็นทางที่ไปอันเอกอันเดียว

เพื่อความหมดจดบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย ก็เพราะสงบรำงับโสกะปริเทวะทั้งหลาย

ก็เพราะดับทุกข์โทมนัสทั้งหลาย ก็เพราะเพื่อบรรลุญายธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุ

หรือรู้ คืออริยมรรค ก็เพราะเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

 

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นไปเพื่อกำจัดมลทินโทษ ๔ ประการ

อันได้แก่โสกะความเศร้าโศก ปริเทวะความคร่ำครวญรัญจวนใจ

ทุกขะความไม่สบายกาย โทมนัสสะความไม่สบายใจ

และเพื่อบรรลุคุณวิเศษ ๓ ประการ เพื่อความบริสุทธิ์

เพื่อบรรลุญายธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุถึงพึงรู้คืออริยมรรค เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats