ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:59
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป159
อนาหารของอุทธัจจะกุกกุจจะ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
เหตุที่จิตเป็นสมาธิได้ยาก ๒
กสิณ ๑๐ เครื่องจูงใจให้สงบ ๓
บริกรรมสมาธิ ๔
ขั้นที่จิตเริ่มเป็นสมาธิ ๕
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๐๒/๒ ครึ่งหลัง จบในหน้าเดียว ( File Tape 159 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
อนาหารของอุทธัจจะกุกกุจจะ
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงนิวรณ์ข้ออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจสืบต่อไป
นิวรณ์นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ อันเรียกว่ากิเลส ซึ่งมีประจำอยู่ในจิตใจของสามัญชนทั่วไป
ซึ่งยังมีจิตใจตกอยู่ในกามาวจรภูมิ คือภูมิจิตที่ยังท่องเที่ยวไปในกาม
จึงมีจิตที่ประกอบไปด้วยกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม
พยาบาท ความกระทบกระทั่งหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง จนถึงมุ่งร้าย
ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
กับวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย
เหตุที่จิตเป็นสมาธิได้ยาก
ฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติในสมาธิจึงยากที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิได้
เพราะจิตใจไม่ยอมที่จะตั้งอยู่ในกรรมฐาน อันเป็นที่ตั้งของสมาธิ
๒
แต่จะออกไปท่องเที่ยวอยู่ในกาม เป็นกามฉันท์เป็นต้น
ต่อเมื่อสามารถสงบรำงับนิวรณ์ได้ จิตจึงจะเป็นสมาธิได้
ฉะนั้น ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ข้อธรรมานุปัสสนา ตั้งสติพิจารณาธรรม
จึ่งได้แสดง นิวรณปัพพะ คือข้อนิวรณ์นี้ไว้เป็นข้อแรก
เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติสงบรำงับนิวรณ์ทั้งหลาย
และก็ได้แสดงมาโดยลำดับถึงอาหารของนิวรณ์เหล่านี้
และอนาหารคือข้อปฏิบัติที่ไม่เป็นอาหาร
หรือลักษณะอาการที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์เหล่านี้
เพราะนิวรณ์เหล่านี้เมื่อได้สิ่งที่เป็นอาหาร นิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น
นิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญมากขึ้น
แต่เมื่อมาได้ข้อปฏิบัติ หรือภาวะของจิตที่เป็นอนาหาร คือไม่ใช่อาหารของนิวรณ์เหล่านี้
นิวรณ์เหล่านี้ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็จะสงบระงับลงไป
และโดยเฉพาะในข้ออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ได้แสดงข้อที่เป็นอาหารมาแล้ว
ก็คือความไม่สงบของใจ และการกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการ
คือการกระทำโดยไม่แยบคาย ในการปฏิบัติเพื่อสงบรำงับ
ส่วนอนาหารคือข้อที่ไม่เป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจนั้น ก็ตรงกันข้าม
ได้แก่ความสงบของใจ และการกระทำให้มากในโยนิโสมนสิการ
คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ในการปฏิบัติละ ก็คือการใช้ปัญญาพิจารณา
จับเหตุจับผล และปฏิบัติไปในเหตุที่ทำให้ความฟุ้งซ่านรำคาญใจนี้ดับ
กสิณ ๑๐ เครื่องจูงใจให้สงบ
พระอาจารย์ได้แสดงกรรมฐานไว้ข้อหนึ่ง สำหรับปฏิบัติเพื่อละความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
คือกสิณที่แปลว่าวัตถุเป็นเครื่องจูงใจให้สงบ
๓
โดยใช้สิ่งต่างๆสำหรับกำหนดจิตใจให้เป็นหนึ่งอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เป็นกสิณ ๑๐ ประการ
อันได้แก่ดินที่เรียกว่าปฐวี น้ำที่เรียกว่าอาโป ไฟที่เรียกว่าเตโช ลมที่เรียกว่าวาโย
ก็คือธาตุทั้ง ๔ นั้นเองในโลก ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือว่าที่จัดไว้สำหรับ
ทั้ง ๔ นี้ เรียกว่า ภูตะกสิณ
กับอีก ๔ ก็คือ สีขาว สีเหลือง สีแดง สีเขียว หรือสีขาบ
อันเรียกว่า วรรณะกสิณ กสิณเกี่ยวกับสีที่จัดเตรียมไว้สำหรับ
และแสงสว่างเช่นแสงไฟ ที่ลอดเข้ามาตามช่องเป็นต้น อันเรียกว่า อาโลกะกสิณ
กับอากาศหรือแสงอากาศ อันหมายถึงว่าความสว่างของอากาศ อันเรียกว่า อากาสะกสิณ
รวมเป็นกสิณ ๑๐ ประการ
จะกำหนดข้อใดข้อหนึ่งก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น กสิณสีขาว ซึ่งมีการจัดเตรียมไว้สำหรับ
คือใช้ไม้มาขดเป็นวงกลม ศูนย์ไส้ขนาด ๑๖ นิ้ว และเอาผ้าขาวมาขึง
และตั้งไว้ให้ห่างจากตนประมาณสักสองศอกคืบ นั่งเพ่งดูผ้าขาวในวงกลม
อันเรียกว่ากสิณสีขาวนี้ บริกรรมว่า โอทาตัง โอทาตัง หรือ สีขาวๆ
บริกรรมสมาธิ
กิริยาที่ทำนี้เรียกว่าบริกรรม
กสิณสีขาวที่ทำขึ้นเรียกว่าบริกรรมนิมิต คือนิมิตสำหรับบริกรรม
และการที่นั่งลืมตาดูกำหนดให้ปรากฏในจิตใจ
พร้อมกับกำหนดใจว่าสีขาวๆดังที่กล่าวนั้น เรียกว่าบริกรรมภาวนา
และเมื่อนั่งเพ่งดูอยู่ดั่งนี้ ลืมตาดู กำหนดไว้ แล้วก็หลับตาลง
เพื่อให้สีขาวมาปรากฏในจิตใจ จนหลับตามมองเห็น ก็เรียกว่าอุคหนิมิต คือนิมิตติดตา
สมาธิในขณะที่ได้นิมิตติดตานี้ก็เป็นบริกรรมสมาธิ สมาธิในบริกรรม
๔
และเมื่อได้อุคหนิมิต นิมิตติดตาแล้ว ก็หลับตาเห็นนิมิตที่ติดตานั้น ตั้งใจให้ใหญ่ขึ้น ก็ใหญ่ได้
ตั้งใจให้เล็กลง ก็เล็กลงได้ โดยมีส่วนสัดตามเป็นจริงของภาพอุคหนิมิตนั้น
เหมือนอย่างภาพถ่ายของบุคคล ภาพเล็ก ทุกๆอย่างก็เล็กลง
เมื่อขยายภาพให้โตขึ้น ทุกๆอย่างก็โตขึ้นตามส่วนสัดของร่างกาย ตามความเป็นจริง
ขั้นที่จิตเริ่มเป็นสมาธิ
ดั่งนี้ เมื่อทำได้ก็เป็นปฏิภาคนิมิต คือนิมิตเทียบเคียง
และการภาวนาก็เป็นอุปจาระภาวนา คือเป็นภาวนาที่เริ่มได้สมาธิ
เฉียดใกล้อัปปนาสมาธิ สมาธิแนบแน่น จึงเป็นอุปจาระสมาธิ สมาธิที่ใกล้จะแนบแน่น
และเมื่อปฏิบัติต่อขึ้นไปก็ย่อมจะได้อัปปนาสมาธิ เมื่อเข้าลักษณะขององค์ปฐมฌาน
ก็จะได้ขั้นปฐมฌาน และจะได้ต่อขึ้นไปเป็นทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
กสิณดังที่กล่าวมานี้เป็นกรรมฐาน
สำหรับสงบรำงับอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
แม้กสิณข้ออื่นจากนี้ ข้อใดข้อหนึ่งก็ใช้ได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น หากปฏิบัติทางสมาธิโดยใช้กรรมฐานข้ออื่น
แต่ไม่สามารถจะสงบรำงับอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้
ก็ให้พักกรรมฐานนั้นไว้ มาใช้กสิณข้อใดข้อหนึ่ง เพ่งกสิณกำหนดใจให้รวมอยู่ที่กสิณ
จนให้กสิณติดตาติดใจ ตั้งต้นเป็นบริกรรมภาวนาเรื่อยขึ้นมา จนได้อุคหนิมิต
อันเริ่มแต่บริกรรมนิมิต แล้วมาอุคหนิมิต แล้วมาปฏิภาคนิมิต จนถึงยิ่งขึ้นไป
ก็จะสามารถสงบรำงับอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้
การปฏิบัติดั่งนี้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติทำจิตให้สงบระงับ ทำใจให้สงบระงับ
และทำให้มากในโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ในกสิณภาวนานี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจสวด และทำความสงบสืบต่อไป
*
นิวรณ์ข้อวิจิกิจฉา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
อาหารของวิจิกิจฉา ๒
อนาหารของวิจิกิจฉา ๓
กุศล อกุศล ๔
โยนิโสมนสิการ ๕
อกุศลวิตก ๓ ๕
กุศลวิตก ๓ ๖
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๒๐๓/๑ เริ่มต้น จบในหน้าเดียว ( File Tape 159 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
นิวรณ์ข้อวิจิกิจฉา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงเรื่องนิวรณ์มาโดยลำดับ
จนถึงข้อคำรบ ๕ ที่จะแสดงในวันนี้ คือวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย
แต่ในเบื้องต้นนี้ก็จะขอย้ำถึงเรื่องนิวรณ์อีกครั้งหนึ่งว่า ผู้ปฏิบัติทำสมาธิไม่ได้สำเร็จ
หรือสำเร็จได้ยาก ก็เพราะนิวรณ์เหล่านี้เอง ซึ่งบังเกิดขึ้นในจิตใจ
ตั้งต้นแต่ข้อกามฉันท์ ความคิดพอใจในกาม
พยาบาทความคิดกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายหมายทำลาย
ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
และข้อครบ ๕ คือวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย
อาหารของวิจิกิจฉา
อันความเคลือบแคลงสงสัยนี้ ย่อมบังเกิดขึ้นได้ในเรื่องต่างๆเป็นอันมาก
๒
ในข้อที่ตรัสสอนถึงเรื่องอาหารของวิจิกิจฉา ก็ตรัสไว้เป็นกลางๆ
ว่าคือธรรมะอันเป็นที่ตั้งของความเคลือบแคลงสงสัย
และการกระทำให้มาก ด้วยการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย
ในธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งความเคลือบแคลงสงสัยทั้งหลายนั้น
อันความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องต่างๆเป็นอันมากนั้น
ก็เป็นต้นว่าในเรื่องที่ใจรับเข้ามาคิด เกิดเป็นปัญหาขึ้นในใจ ก็สงสัยว่าอะไรเป็นอะไร
เกี่ยวแก่บุคคลบ้าง เกี่ยวแก่การงานบ้าง เกี่ยวแก่การศึกษาเล่าเรียนบ้าง
แม้ในการเล่าเรียนธรรมะหรือฟังธรรมะ เมื่อไม่เข้าใจก็ย่อมจะสงสัยในข้อที่ไม่เข้าใจนั้น
ว่ามีความหมายอย่างไร ตลอดจนถึงในการปฏิบัติธรรม ก็อาจมีความสงสัยในข้อปฏิบัติ
เช่นว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ผลแห่งการปฏิบัติโดยสะดวก
อนาหารของวิจิกิจฉา
ส่วนในข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงอนาหาร คือสิ่งที่ไม่เป็นอาหารของวิจิกิจฉา
อันหมายความว่า ข้อปฏิบัติที่เป็นเครื่องป้องกันมิให้วิจิกิจฉาบังเกิดขึ้น
หรือเป็นเครื่องละวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้ว ไว้ว่า คือธรรมะที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล
ธรรมะที่มีโทษและไม่มีโทษ ธรรมะที่หยาบ เลว และประณีตคือละเอียด ดี
ธรรมะที่มีส่วนเปรียบเทียบด้วยดำและขาว
และการกระทำให้มากด้วยการหมั่นพิจารณาจับเหตุจับผล ที่เรียกว่าโดยแยบคาย
ในธรรมะที่เป็นกุศล อกุศล เหล่านั้น
ตามที่ตรัสไว้นี้ก็นำให้เข้าใจว่า อันความเคลือบแคลงสงสัยที่เป็นข้อสำคัญๆนั้น
ก็คือความเคลือบแคลงสงสัย ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลเป็นต้น ดังที่กล่าวนั้น
เพราะฉะนั้น จึงต้องปฏิบัติจับพิจารณาให้เข้าใจ ว่าอะไรเป็นกุศล
อะไรเป็นอกุศล ตามเหตุตามผล
๓
เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจในหลักดังกล่าวนี้ ย่อมทำให้มีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ร่ำไป
และทำให้การปฏิบัติอาจไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงต้องพินิจพิจารณาให้เข้าใจ
ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ตามเหตุและผล
กุศล อกุศล
กุศลนั้นแปลว่ากิจของคนฉลาด อกุศลนั้นแปลว่ากิจของคนไม่ฉลาด
ตามความหมาย เมื่อยกเอาอกุศลขึ้นแสดงก่อน ก็แสดงได้ว่า
คือความชั่วร้ายต่างๆ ดั่งที่เรียกว่าบาป และก็เรียกกันว่าบาปอกุศล
ส่วนกุศลนั้นก็ตรงกันข้าม ได้แก่ความดีต่างๆ ดังเช่นที่เรียกว่าบุญ ดังพูดคู่กันว่าบุญกุศล
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงชี้ ว่าอะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นกุศล
ดั่งที่ตรัสถึง อกุศลกรรมบถ คือทางกรรมที่เป็นอกุศล
คู่กับ กุศลกรรมบถ คือทางกรรมที่เป็นกุศล
อกุศลกรรมบถนี้ก็ได้แก่ทางกรรมที่เป็นอกุศลคือที่เป็นบาป
อันพึงกระทำทางกาย ก็เป็นกายกรรมฝ่ายอกุศล
ทางวาจาก็เป็นวจีกรรมฝ่ายอกุศล ทางใจก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศล
และก็ตรัสจำแนกเอาไว้ว่าทางกายนั้นก็ได้แก่
การฆ่า ๑ การลักทรัพย์ ๑ การประพฤติในกาม ๑
ทางวาจานั้นก็ได้แก่พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ๑
ทางใจนั้นก็ได้แก่โลภเพ่งเล็งสมบัติของผู้อื่น น้อมมาเป็นของตน ๑
พยาบาทคิดปองร้ายหมายทำลายเขา ๑ และมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
นี้เป็นฝ่ายอกุศล หรือฝ่ายบาป
ส่วนฝ่ายกุศลนั้น ก็แบ่งออกเป็นทางกาย ทางวาจา ทางใจ
คือเป็น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เช่นเดียวกัน มีอธิบายตรงกันข้าม
๔
ทางกายก็คือว่า ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม
ทางวาจาก็คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
ทางใจก็คือไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่พยาบาทปองร้าย
และสัมมาทิฏฐิเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม นี้เป็นฝ่ายกุศล
โยนิโสมนสิการ
ให้ผู้ปฏิบัติธรรมพิจารณาให้มีความเข้าใจ
ว่ากระทำอย่างนี้ๆตามที่ตรัสแสดงไว้ เป็นอกุศลเป็นบาป
ความเว้นเสียไม่กระทำอย่างนี้ๆ หรือภาวะความเป็นอย่างนี้ๆ เป็นฝ่ายกุศล
ด้วยโยนิโสมนสิการ คือพิจารณาจับเหตุจับผลให้เข้าใจ โดยไม่เกิดความลังสงสัย
ว่าทำอย่างนั้นจะเป็นอกุศลจริงหรือ หรือทำอย่างนี้จะเป็นกุศลจริงหรือ
ให้หมั่นพิจารณาทำความเข้าใจ ว่าอะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นบาป
อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นบุญ ดั่งที่ตรัสสอนไว้ ดังที่ยกมาเป็นตัวอย่าง
อกุศลวิตก ๓
อนึ่ง พิจารณาดูความตรึกในจิตใจของตัวเอง
คือความคิดนึกในจิตใจของตัวเอง อันเรียกว่าวิตก
ซึ่งความตรึกนึกคิดบางอย่างก็เป็นอกุศลวิตก
คือความตรึกนึกคิดไปในกาม คือวัตถุที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
หรือด้วยกิเลสกาม กิเลสที่เป็นเหตุรักใคร่ปรารถนาพอใจ เรียกว่ากามวิตก
ความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนมุ่งร้าย
ความตรึกนึกคิดไปในทางมุ่งร้ายหมายทำลาย เป็นพยาบาทวิตก
ความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนใครๆ เป็นวิหิงสาวิตก
ก็ให้รู้ว่าความคิดเช่นนี้เป็นอกุศลวิตก ให้ละเสีย
๕
กุศลวิตก ๓
ส่วนความตรึกนึกคิดในทางตรงกันข้าม
คือความตรึกนึกคิดไปในทางออกจากกาม อันเรียกว่าเนกขัมมวิตก
ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่ปองร้ายหมายทำลาย เป็นอัพยาบาทวิตก
ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน เป็นอวิหิงสาวิตก
ความตรึกนึกคิดดั่งนี้ เป็นกุศลวิตก
ก็ให้ปฏิบัติตนเอง ละอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้น
แต่ตรึกนึกคิดไปในทางกุศล ให้เป็นกุศลวิตก
แต่ว่าแม้จะตรึกนึกคิดไปในทางกุศล ถ้ามากเกินไป หรือนานเกินไป
ก็ทำให้เกิดความลำบากทางกาย และทำให้จิตฟุ้งซ่านได้
เพราะฉะนั้น แม้เป็นกุศลวิตก ก็ต้องตรึกนึกคิดแต่พอประมาณ ตามสมควร
และก็ต้องสงบแม้กุศลวิตกนั้นด้วยสมาธิ คือตั้งจิตไว้ในอารมณ์เป็นอันเดียว
ทำจิตให้เป็นสมาธิ ดั่งนี้
ให้ทำโยนิโสมนสิการ คือความพิจารณาจับเหตุจับผลโดยแยบคายดั่งนี้ให้มากๆ
คอยละอกุศลวิตก ให้ตรึกนึกคิดไปในทางกุศลเป็นกุศลวิตก แต่ก็ให้พอสมควร
และก็ให้ทำสมาธิ ตั้งจิตมั่นอยู่ในอารมณ์เป็นอันเดียว
ความที่มาปฏิบัติทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ
ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ให้รู้จักโดยชัดเจนดั่งนี้
เป็นเครื่องแก้วิจิกิจฉานิวรณ์ได้ เป็นเครื่องป้องกันวิจิกิจฉานิวรณ์ไม่ให้เกิดขึ้น
และธรรมะที่เป็นอกุศลดังกล่าวมานี้เอง เรียกว่าเป็นธรรมะที่มีโทษ
คือให้เกิดความโศก ให้เกิดความเดือดร้อน ให้เกิดความทุกข์
เป็นข้อที่เลว เป็นข้อที่หยาบ และเป็นข้อที่ไม่บริสุทธิ์
เป็นข้อที่เศร้าหมอง อันเทียบด้วยสีดำ
๖
ส่วนธรรมะที่เป็นกุศลอันตรงกันข้ามนั้น ก็เป็นธรรมะที่ไม่มีโทษ
แต่มีคุณ นำให้เกิดความบันเทิงรื่นเริงเป็นสุข เป็นธรรมะที่ประณีต ละเอียด ดี
และเป็นธรรมะที่บริสุทธิ์ อันเทียบด้วยสีขาว
ก็ให้หมั่นพินิจพิจารณา ให้รู้จักว่าอกุศลเป็นอย่างนี้
มีโทษอย่างนี้ หยาบอย่างนี้ และเป็นสีดำอย่างนี้
ส่วนกุศลนั้นไม่มีโทษ คือมีคุณอย่างนี้ ละเอียด ประณีต ดี อย่างนี้
บริสุทธิ์เหมือนอย่างสีขาวอย่างนี้ ความที่มาปฏิบัติให้มากด้วยโยนิโสมนสิการ
คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จับเหตุจับผลใน กุศล อกุศล
คือให้รู้จัก กุศล อกุศล หรือ อกุศล กุศล ดังที่กล่าวมานี้ตามเป็นจริง และแจ่มแจ้ง
ก็จะทำให้ไม่สงสัยในกุศลในอกุศลดังกล่าว
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติดั่งนี้จึงเรียกว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นอาหารที่จะเลี้ยงนิวรณ์เอาไว้
ป้องกันไม่ให้นิวรณ์บังเกิดขึ้น ละนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ต่อจากนี้ก็ให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*