ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป155

ศีล สมาธิ ปัญญา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

การงานทางปัญญา ๓

การปฏิบัติทำสมาธิ ๔

ปีติ ๕ ๕

สุขเป็นที่ตั้งของสมาธิ ๖

อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธิ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๙๘/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙๘/๒ ( File Tape 155 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ศีล สมาธิ ปัญญา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ศีลสมาธิปัญญานี้เป็นหลักปฏิบัติของผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา

จะต้องมีศีลเป็นภาคพื้น และต้องมีสมาธิเพื่อทำจิตให้สงบตั้งมั่น

และปฏิบัติพิจารณาสืบต่อทางปัญญาต่อไป

 

ในการปฏิบัติศีลนั้นอาศัย วิรัติเจตนา

ความตั้งใจงดเว้นจากความประพฤติที่เป็นภัยเป็นเวรนั้นๆ

ดังเช่นศีล ๕ เป็นต้น ย่อมทำกายวาจาใจให้เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม

พร้อมที่จะทำสมาธิ อันเป็นเครื่องอบรมจิตให้สงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย

และสมาธินี้ก็ย่อมอุปการะศีลให้บริสุทธิ์ ตลอดถึงจิตใจ

ทั้งเป็นบาทคือเป็นเท้าของปัญญา ด้วยน้อมจิตที่เป็นสมาธิคือที่สงบ

พิจารณาขันธ์ ๕ ย่นลงเป็นนามรูป โดยความเป็นไตรลักษณ์

 

การงานทางปัญญา

 

การพิจารณาค้นคว้าทางปัญญานี้เป็นข้อสำคัญ

ผู้ปฏิบัติธรรมไม่พึงหยุดอยู่แค่ศีล ให้ปฏิบัติสมาธิต่อ และก็ไม่พึงหยุดอยู่แค่สมาธิ

แต่ว่าถ้าไม่มีสมาธิ ก็ยากที่จะปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ได้ และยากที่จะปฏิบัติทางปัญญาได้

จึงต้องทำจิตให้เป็นสมาธิ คือให้ตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐานทั้งหลาย

อันเป็นฝ่ายสมถกรรมฐาน เพื่อให้จิตสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย

จิตที่สงบนี้แรง เป็นจิตที่ควรแก่การงานทางปัญญา คือที่พิจารณาทางปัญญา

ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจจะคือความจริงของขันธ์ ๕ ย่อลงเป็นนามรูปกายใจนี้

 

เพื่อให้เห็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์

และก็พิจารณาค้นคว้าสืบต่อถึงตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

จับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก หรือ อวิชา ตัณหา อุปาทาน

อันเป็นฝ่ายกิเลสทั้งหลาย อันมีอวิชชาเป็นหัวหน้า ล้วนเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

และให้พิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ก่อน

ว่าจะดับทุกข์ก็ต้องดับตัณหาเป็นต้นเสียได้

หรือจะดับตัณหาเป็นต้นเสียได้ ก็จะต้องปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘

มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น ย่นย่อลงเป็นศีลสมาธิปัญญานั้นเอง

 

จิตที่เป็นสมาธิคือที่สงบตั้งมั่น ย่อมเป็นจิตควรแก่ปัญญา

ที่จะมองเห็นสัจจะคือความจริง รวมเข้าก็ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ในเบื้องต้นก็ต้องอาศัยการปฏิบัติตามสัญญา

คือความกำหนดจดจำ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ก่อน

และน้อมมาพิจารณาตรวจตราดูที่กายใจอันนี้เอง อันเป็นที่ตั้งของอริยสัจจ์ทั้งหลาย

ค่อยๆทำสัญญาให้เป็นตัวปัญญาขึ้นด้วยตนเองโดยลำดับ

ดั่งนี้ จึงจะดับกิเลสดับกองทุกข์ได้

การปฏิบัติทำสมาธิ

 

ในการปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธินี้ ทางปฏิบัติก็อาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา

อันเป็นองค์ของปฐมฌาน แต่ว่าปฐมฌานนั้นเป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น

ในชั้นต้นก็เป็นปฐมฌานอันประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติสุข เอกัคคตา

แต่ว่าในการปฏิบัติสมาธิตั้งแต่ในขั้นต้น ที่กล่าวได้ว่าเป็น บริกัมมสมาธิ สมาธิในบริกรรม

คือการเริ่มปฏิบัติ และเริ่มได้สมาธิ เกือบจะแนบแน่นอันเรียก อุปจาระสมาธิ

จนถึง อัปปนาสมาธิ อันเป็นปฐมฌาน

 

ตั้งแต่เบื้องต้นมาดังกล่าวนี้ก็ต้องอาศัยวิตกวิจารเป็นต้นเป็นแนวปฏิบัติ

กล่าวคือวิตกอันเป็นข้อที่ ๑ นั้น ก็ได้แก่การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิคือกรรมฐาน

เช่นว่า เมื่อตั้งสติกำหนดพิจารณาในสติปัฏฐานทั้ง ๔

คือพิจารณากายก็ยกจิตขึ้นสู่กาย พิจารณาเวทนาก็ยกจิตขึ้นสู่เวทนา

เมื่อพิจารณาจิตก็ยกจิตขึ้นสู่จิต เมื่อพิจารณาธรรมะก็ยกจิตขึ้นสู่ธรรมะ

นี้คือวิตก ได้แก่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิคือกรรมฐาน

หรือว่ายกจิตขึ้นกำหนดสมาธิกรรมฐาน หรือสมถกรรมฐาน

 

ดังเช่นในการยกจิตขึ้นสู่กาย ในหมวดกายก็มีหลายข้อ

ในข้อแรกก็คืออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ยกจิตขึ้นสู่ลมหายใจเข้าออก

คือกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้ลมเข้าออกเป็นที่ตั้งของจิต เป็นอารมณ์ของจิต

หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ให้จิตอยู่ที่ลมหายใจ หรือให้ลมหายใจอยู่ที่จิต

ดั่งนี้เรียกว่าวิตก

 

มาถึงข้อ ๒ วิจาร ก็ได้แก่คอยประคองจิตไว้ ในอารมณ์ของสมาธิคือในกรรมฐาน

เช่นประคองจิตให้ตั้งอยู่ ในลมหายใจเข้า ในลมหายใจออก ติดต่อกันไป

ดั่งนี้คือวิจาร คอยประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ดังกล่าว

แต่ในการปฏิบัติเบื้องต้น จิตยังดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายอยู่มาก

จิตจึงมักจะตกจากกรรมฐาน ดิ้นรนไปในอารมณ์ตามใคร่ตามปรารถนา

ก็ต้องอาศัยสติคือความระลึกได้ พร้อมทั้งสัมปชัญญะคือความรู้ตัว

นำจิตมาจับตั้งไว้ในลมหายใจเข้าลมหายใจออกอีก

 

ในเบื้องต้นก็ต้องทำอยู่ดั่งนี้บ่อยๆ ( เริ่ม ๑๙๘/๒ ) คือต้องมี วิตก

นำจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน เช่นในลมหายใจเข้าออก

ต้องมี วิจาร คอยประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ ไม่ให้หลบหลุดไป

ต้องอาศัย อาตาปะ คือความเพียร เรียกว่าต้องมีความเพียรกันเต็มที่

ไม่ยอมหยุดเลิกพ่ายแพ้ต่อความดิ้นรนของจิตอันเป็นตัวกิเลส

โดยที่มี สัมปชานะ ความรู้พร้อมคือตัวสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติ

ดังที่ตรัสสอนไว้ว่า อาตาปี มีความเพียร สัมปชาโน มีความรู้พร้อมรู้ตัว สติมา มีสติดั่งนี้

โดยต้องคอยกำจัดคือสงบความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย

หรือที่เรียกว่าความยินดีความยินร้ายต่างๆในโลก ไม่ให้ฉุดลากดึงจิตไปได้

ต้องมีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ คอยกำจัดความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย

ยินดียินร้ายดังกล่าวอยู่เนืองๆ ดั่งนี้ จิตก็จะค่อยสงบขึ้น ก็จะได้ปีติคือความอิ่มใจ

 

ปีติ ๕

 

อันปีตินั้นมี ๕ คือ ขุททกาปีติ ปีติเป็นส่วนน้อยอันทำให้ขนชันน้ำตาไหล

ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ อันมีอาการให้รู้สึกเสียวแปลบปลาบเหมือนอย่างฟ้าแลบ

โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ อันมีอาการซู่ซ่า

เหมือนอย่างคลื่นกระทบฝั่ง แรงกว่าที่เสียวแปลบปลาบ

อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน อันมีอาการให้ใจฟูขึ้น และให้กระทำ หรือเปล่งอุทาน

เว้นจากเจตนาคือความจงใจ ท่านแสดงว่าอย่างแรงทำให้กายลอยขึ้นได้

และ ผรณาปีติ คือปีติซาบซ่าน อันปีติอย่างละเอียด

ปีติที่ได้ในเมื่อจิตเริ่มสงบโดยอาศัยวิตกวิจารดังแสดงมาแล้ว

ก็ย่อมจะเป็นปีติส่วนน้อยที่ให้ขนชันน้ำตาไหล

หรือขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ อันทำให้เสียวแปลบปลาบเหมือนอย่างกับฟ้าแลบ

หรือว่าถึงโอกกันติกา ปีติเป็นพักๆ ที่ทำให้รู้สึกซู่ซ่าเหมือนอย่างคลื่นกระทบฝั่ง

อันแรงกว่าเสียวแปลบปลาบ

ปีติที่ได้ในชั้นแรกจึงมักจะเป็นปีติชนิดที่เป็นอย่างน้อยเป็นต้นดังที่กล่าวมา

แล้วก็ได้สุข คือความสบายกาย ความสบายใจ

 

สุขเป็นที่ตั้งของสมาธิ

 

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ย่อมจะทำให้ได้สมาธิคือความที่จิตตั้งมั่นมีอารมณ์เป็นอันเดียว

แม้ในขั้นอุปจาระสมาธิ สมาธิที่เฉียดๆจะแน่วแน่ ก็เพราะว่าสมาธินี้ย่อมมีสุขเป็นที่ตั้ง

การปฏิบัติในการเริ่มต้นในขั้นวิตกวิจาร ยังไม่ได้สุข ยังไม่ได้ปีติ

ก็ต้องใช้ความเพียรอย่างเต็มที่ ใช้สติ ใช้สัมปชัญญะอย่างเต็มที่

คอยกำจัดความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายยินดียินร้ายต่างๆ

จนเมื่อได้ปีติขึ้นใจก็เริ่มเชื่องเข้าสงบเข้า และเมื่อได้ปีติก็ย่อมได้สุขสืบต่อกันไป ก็ทำให้ได้สมาธิ

คือเอกัคคตาความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว กำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกได้ติดต่อกันไป

แนบแน่นเข้ามา เรียกว่า จิตลง คือลงสู่ความสงบ ลงสู่สมาธิ

 

เพราะว่ามีความสุขอยู่ในความสงบ มีความสุขอยู่ในสมาธิ

มีความสุขอยู่ในการกำหนดลมหายใจเข้าออก จึงสงบความดิ้นรน

กวัดแกว่งกระสับกระส่าย ที่มีอยู่ในขั้นแรกเสียได้ ซึ่งในแรกนั้นยังไม่ได้สุข

จิตจึงดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปหาสุข คือหาอารมณ์อื่นๆ ที่ดึงใจไป

อันมีอาลัยคือความผูกพันใจอยู่ หรือมีสัญโญชน์คือเกาะเกี่ยวใจอยู่

ใจยังติดอยู่ในความสุขของสังโญชน์หรือของอารมณ์เหล่านั้น

ตัวสังโญชน์หรืออารมณ์เหล่านั้นก็คอยดึงใจออกไป ใจยังไม่ได้สุขในสมาธิ

อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธิ

 

ต่อเมื่อได้ปีติได้สุขในสมาธิ ใจก็อยู่ตัว

เพราะไม่ต้องไปหาความสุขที่อื่น ได้ความสุขจากความสงบ ได้ความสุขจากสมาธิแล้ว

ดั่งนี้จิตก็เป็นเอกัคคตา กล่าวได้ว่าเข้าขั้นอุปจาระสมาธิ

และเมื่อไม่หยุดความเพียรเพียงแค่นั้น ประกอบความเพียรต่อไป พร้อมทั้งมีสัมปชัญญะมีสติ

คอยกำจัดความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายของใจ แม้อย่างละเอียดสืบต่อไป

ก็จะนำไปสู่อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น ทำให้ปรากฏองค์

คือวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิ วิจารประคองจิตอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ

ปีติ สุข และเอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวกันอย่างเต็มที่

จึงเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นขั้นปฐมฌาน

 

การปฏิบัติในเบื้องต้นก็ต้องอาศัยองค์ของปฐมฌานนี้มาโดยลำดับ

และเมื่อจิตได้สมาธิ แม้ในขั้นอุปจาระสมาธิ ก็เป็นจิตที่สงบ เป็นจิตที่ตั้งมั่น

ควรแก่การงานทางปัญญา สามารถน้อมจิตที่สงบตั้งมั่นนี้ไปพิจารณาขันธ์ ๕ นามรูป

โดยไตรลักษณ์ คือ อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา ตลอดจนถึงพิจารณาอริยสัจจ์ทั้ง ๔

ที่กายใจอันนี้ต่อไปได้สะดวก เป็นการปฏิบัติทางปัญญาสืบต่อไป

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งในทำความสงบสืบต่อไป

 

*

กามฉันท์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

อารมณ์เป็นที่ตั้งของกิเลส ๖ ๒

กิเลสกาม วัตถุกาม ๓

เบญจพิธกามคุณ ๕ สุภนิมิต ๔

อโยนิโสมนสิการ อาหารของกามฉันท์ ๕

อสุภะ ๕

อสุภนิมิต โยนิโสมนสิการ ๖

เพราะอะไรจึงไม่ได้สมาธิ ๗

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๙๘/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙๙/๑ ( File Tape 155 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

กามฉันท์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

การปฏิบัติทางจิตตภาวนา คืออบรมจิต เพื่อสมาธิ และเพื่อปัญญา

ในเบื้องต้นก็อบรมจิตเพื่อสมาธิ คือเพื่อให้ใจตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐาน

หรือเรียกจำเพาะว่าสมถกรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นเครื่องสงบใจ

และเมื่อใจสงบตั้งมั่น จึงจะเป็นสมาธิ สงบจากอะไร ก็คือสงบจากอกุศลวิตก

ความตรึกนึกคิดอันเป็นอกุศลทั้งหลาย หรือเรียกว่าสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย

หรือเรียกว่าสงบจากนิวรณ์ทั้งหลาย

 

อารมณ์เป็นที่ตั้งของกิเลส ๖

 

เพราะจิตนี้ผูกพันอยู่กับกิเลส และอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส

กิเลสนั้น ก็มีกามทั้งหลาย และอกุศลธรรมทั้งหลาย

อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสนั้น ก็ได้แก่อารมณ์ทั้ง ๖ คือ

รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปที่ตาได้เห็น สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียงที่หูได้ยิน

คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสารมณ์ อารมณ์คือรสที่ลิ้นได้ทราบ

โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง ที่กายนี้ถูกต้องได้ทราบ

และ ธรรมารมณ์ อารมณ์คือเรื่อง มีเรื่องของรูป เรื่องของเสียงเป็นต้น

ที่มโนคือใจได้คิดได้รู้ นี้คืออารมณ์

 

กิเลสกาม วัตถุกาม

 

เมื่อเป็นอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกาม คือความใคร่ความปรารถนา

กามคือความใคร่ความปรารถนาก็บังเกิดขึ้น ผูกอยู่กับจิตใจ

หรือเรียกว่าเป็นที่ตั้งของราคะคือความติดใจยินดี ราคะก็บังเกิดขึ้นผูกอยู่กับจิตใจ

ทำให้จิตใจวิตกคือตรึกนึกคิดไปในกาม หรือในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกาม

หรืออารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะความติดใจยินดีดังกล่าวนั้น

 

อันกามนั้นมี ๒ คือ กิเลสกาม กามที่เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง

วัตถุกาม กามที่เป็นวัตถุ คือเป็นที่ตั้งของกิเลสกามนั้นอย่างหนึ่ง

กามที่เป็นตัวกิเลสนั้น ก็ได้แก่กามที่เป็นความใคร่ ความปรารถนา

ความอยากได้ ความต้องการ หรือ ราคะ ความติดใจยินดี

นันทิ ความเพลิดเพลินติดอยู่ นั้นเองเป็นตัวกิเลสกาม

 

และเมื่อกิเลสกามนี้ตั้งอยู่ในรูปที่ตาเห็นก็ตาม

ในเสียงที่หูได้ยินก็ตาม ในกลิ่นที่จมูกได้ทราบก็ตาม ในรสที่ลิ้นได้ทราบก็ตาม

ในโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่กายได้ถูกต้องได้ทราบก็ตาม

ในธรรมะคือเรื่องราวของรูปเสียงเป็นต้น ที่ใจได้คิดได้รู้ก็ตาม

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวนั้น ก็ชื่อว่าเป็นวัตถุกาม

คือเป็นวัตถุที่ใคร่ หรือวัตถุคือสิ่งอันเป็นที่ตั้งของความใคร่

เบญจพิธกามคุณ ๕

 

แต่โดยมากวัตถุกามนั้น มักจะพูดหมายเอา ๕ ข้อ

คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ

แต่อันที่จริงธรรมะคือเรื่องราวที่รักใคร่ปรารถนาพอใจก็ชื่อว่ากามด้วย

แต่เมื่อเรียกเอาข้างต้น ๕ ข้อ ที่เป็นวัตถุคือเป็นรูปเท่านั้นก็เป็น ๕ ข้อ

ซึ่งมีคำเรียกว่า เบญจพิธกามคุณ กามคุณมีอย่าง ๕

ส่วนข้อ ๖ คือธรรมะคือเรื่องราวนั้น ก็รวมอยู่ใน ๕ ข้อนี่ นั้นเอง

เพราะว่าก็เป็นเรื่องของรูปเสียงเป็นต้นเหล่านั้น นั่นแหละ

จิตใจเมื่อถูกกามดังกล่าวผูกไว้ จึงมีปรกติวิตกคือตรึกนึกคิดไปในกามทั้งหลาย

เป็นกามาวจรจิต คือจิตที่เป็นกามาวจรเที่ยวไปในกาม อันเป็นจิตของสามัญชนทั่วไป

และกิเลสกามดั่งที่กล่าวมานี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นตัวกามฉันท์ คือความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม

คือจิตนี้เองมีฉันทะคือความพอใจรักใคร่ติดอยู่ในกาม

จึงวิตกตรึกนึกคิดไปในกามอยู่เป็นอาจินต์

 

สุภนิมิต

 

ความที่เป็นดั่งนี้ ก็เพราะจิตนี้เองไปยึดถือ

และกำหนดไปในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อันเป็นเบญจพิธกามคุณนั้นว่าเป็นสุภะ

คืองดงาม น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ เรียกว่า สุภนิมิต คือเครื่องกำหนดว่างาม

ดั่งเมื่อได้เห็นรูป จิตก็กำหนดเป็นสุภะนิมิตในรูป ว่ารูปที่เห็นนั้นงามอย่างนั้นงามอย่างนี้

เมื่อได้ยินเสียง จิตก็กำหนดลงไปในเสียงนั้น ว่าไพเราะอย่างนั้นไพเราะอย่างนี้

ในกลิ่นก็กำหนดลงไปว่ากลิ่นดีอย่างนั้นดีอย่างนี้

ในรสก็กำหนดลงไปว่าอร่อยอย่างนั้นอร่อยอย่างนี้

ในสิ่งถูกต้องทางกายที่เรียกว่าโผฏฐัพพะ จิตก็กำหนดลงไปว่า ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้

ดั่งนี้คือสุภะนิมิต กำหนดลงไปว่างาม

อโยนิโสมนสิการ

 

เมื่อกำหนดลงไปว่างาม ก็ใส่ใจว่างาม

ความใส่ใจว่างามนี้ก็ดึงใจให้วิตกคือตรึกนึกคิดลงไปว่างาม

เพราะว่าได้นำมาใส่เข้าในใจแล้ว ใจจึงติด และวิตกตรึกนึกคิดไปดั่งนั้น

เพราะฉะนั้น ความใส่ใจอันเรียกว่า มนสิการ จึงสำคัญมาก

( เริ่ม ๑๙๙/๑ ) ก็มาจากจิตนี้เองที่นำเอาสุภะนิมิตนั้นมาใส่ไว้ในใจ

ซึ่งเป็นไปในรูปเป็นต้นดังกล่าว และก็ใส่ใจไว้เสมอ

อันความใส่ใจไว้เสมอดั่งนี้ สำหรับนักปฏิบัติธรรมะ หรือผู้ปฏิบัติธรรมะ

หรือว่าทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้ปฏิบัติทำจิตตภาวนา กล่าวว่าเป็น อโยนิโสมนสิการ

คือเป็นการพิจารณาไปโดยไม่แยบคาย จึงเห็นว่างาม และนำมาใส่ใจ

 

อาหารของกามฉันท์

 

เพราะฉะนั้น อาการที่จิตกำหนดว่างามอันเรียกว่า สุภนิมิต

และการที่มาใส่ใจว่างาม ซึ่งเรียกตามภาษาธรรมะว่า โดยไม่แยบคาย

และก็นำมาใส่ใจไว้โดยมากดั่งนั้น นี้เองเป็นตัวอาหารของกามฉันท์

ความพอใจรักใคร่ในกาม หรือว่าของราคะ หรือของกิเลสกาม

กามฉันท์ได้สุภนิมิต และการที่ใส่ใจไว้โดยมากว่างาม เพราะมิได้พิจารณาโดยแยบคายดั่งนี้

จึงเป็นอาหารของกามฉันท์ หรือของราคะ เป็นเหตุให้กามฉันท์บังเกิดขึ้น

บังเกิดเป็นเหตุให้กามบังเกิดขึ้น หรือกิเลสกามบังเกิดขึ้นในจิตใจ

 

อสุภะ

 

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนผู้ปฏิบัติธรรมะ ให้มาใส่ใจโดยแยบคาย

อันหมายความว่า ให้ใส่ใจพิจารณาตามสัจจะคือความจริง

ว่าอันที่จริงนั้น รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเป็น อสุภะ คือเป็นสิ่งที่ไม่งดงาม

ดังที่ตรัสสอนไว้ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ข้อให้พิจารณากาย

ว่ากายนี้เป็นไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีอยู่ในกายนี้ คือ

เกสาผม โลมาขน นขาเล็บ ทันตาฟัน ตะโจหนัง มังสังเนื้อ นหารูเอ็น อัฏฐิกระดูก

อัฏฐิมิญชังเยื่อในกระดูก วักกังไต หทยังหัวใจ ยกนังตับ กิโลมกังพังผืด

ปิหกังม้าม ปับผาสังปอด อันตังไส้ใหญ่ อันตคุณังสายรัดไส้ อุทริยังอาการใหม่

กรีสังอาหารเก่า ปิตตังนำดี เสมหังน้ำเสลด ปุพโพน้ำหนอง โลหิตังน้ำเลือด

เสโทน้ำเหงื่อ เมโทมันข้น อัสสุน้ำตา วสามันเหลว เขโฬน้ำลาย

สิงฆาณิกาน้ำมูก ลสิกาไขข้อ มุตตังมูตร ดั่งนี้

 

อสุภนิมิต โยนิโสมนสิการ

 

ให้พิจารณาค้นคว้าตรวจสอบดูในกายอันนี้ ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆดั่งนี้

และสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่งดงาม คือเป็นอสุภะไม่งดงาม เป็นของไม่สะอาดด้วย

เป็นของไม่งดงามด้วย จำเพาะที่ตามองเห็นก็ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

ซึ่งก็ต้องมีการชำระคืออาบน้ำกันอยู่ทุกวัน และต้องตบแต่งกันอยู่ทุกวัน

เพราะว่าเป็นที่ไหลออกจากสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย ไปทั่วกายทุกขุมขน

ต้องพิจารณาตรวจค้นลงไปดั่งนี้ ให้เห็นว่าไม่งาม ให้เห็นว่าไม่สะอาด

เรียกว่าเป็น อสุภนิมิต กำหนดหมายว่าไม่งาม

 

ว่าการพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอสุภะนิมิตนี้ เรียกว่าเป็นโยนิโสมนสิการ

ความใส่ใจโดยแยบคาย คือพิจารณาให้เห็นว่าเป็นของที่ไม่สะอาด ไม่งดงาม ให้ทำให้มาก

เมื่อ อสุภสัญญา ความสำคัญหมายว่าไม่งดงาม ความไม่สะอาดปรากฏขึ้น

จิตก็ได้อสุภนิมิตคือเครื่องกำหนดหมายว่าไม่งดงาม

และการที่ใส่ใจพิจารณานั้นก็เป็นโยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย

เมื่อเป็นดั่งนี้ กามฉันท์ก็สงบ

กามฉันท์นั้นย่อมเกิดขึ้นเพราะสุภนิมิต

และการที่มาใส่ใจถึงโดยไม่แยบคายโดยมาก อันเรียกว่ากระทำให้มากในอโยนิโสมนสิการ

ส่วนกามฉันท์นี้ย่อมละเสียได้ด้วย อสุภนิมิต อสุภสัญญา

กำหนดหมายว่าไม่งดงาม สำคัญหมายว่าไม่งดงาม และใส่ใจถึงให้มาก ดั่งนี้

ก็ชื่อว่าทำให้มากด้วยโยนิโสมนสิการ กามฉันท์ก็จะละไปได้ นี้เป็นทางปฏิบัติ

 

เพราะอะไรจึงไม่ได้สมาธิ

 

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ทำจิตตภาวนา จึงให้ตรวจดูจิตของตน

ถ้ามีกามฉันท์อยู่ก็ให้รู้ว่ามี ถ้าไม่มีกามฉันท์อยู่ก็ให้รู้ว่าไม่มี

แล้วก็ต้องให้รู้ว่ากามฉันท์นั้นบังเกิดขึ้นอย่างไร คือบังเกิดขึ้นเพราะ สุภนิมิต สุภสัญญา

และด้วยใส่ใจถึงโดยมาก โดยไม่แยบคาย คือไปเห็นว่างดงามน่ารักน่าชม

และก็ให้รู้ว่ากามฉันท์นั้นจะละได้อย่างไร ก็ต้องละได้ด้วยอสุภนิมิตสำคัญหมายว่าไม่งดงาม

อสุภสัญญากำหนดหมายว่าไม่งดงาม สำคัญหมายว่าไม่งดงาม

และด้วยการทำความใส่ใจถึงให้มากโดยแยบคายอย่างนั้น ก็จะละได้ ก็จะละกามฉันท์ได้

เมื่อเป็นดั่งนี้ การทำจิตตภาวนาก็เป็นไปได้ จะสงบจากกามทั้งหลาย

 

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมะทำจิตตภาวนา จะยกเอากรรมฐานข้อไหนขึ้นปฏิบัติก็ตาม

เช่น ยกข้ออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกขึ้นมาพิจารณา

ถ้าหากว่าจิตยังไม่ได้สมาธิ ก็ให้ตรวจดูจิตว่าเพราะอะไรจึงไม่ได้สมาธิ

การทำอานาปานสติจึงไม่บังเกิดผล ก็ย่อมจะพบนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งในจิต

เช่นว่าพบข้อกามฉันท์ ผู้ปฏิบัติก็ต้องมาจัดการกับกามฉันท์ในจิตเสียก่อน

เพราะถ้ากามฉันท์มีอยู่ในจิต จิตก็จะถูกกามฉันท์ดึงไป

แม้จะนำมาตั้งไว้ในอานาปานะลมหายใจเข้าออก

จิตก็จะต้องดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปหากามฉันท์ คือไปหากามทั้งหลาย

จึงต้องจัดการกับจิตในเรื่องนี้เสียก่อน

ด้วยการค้นหาเหตุว่าทำไมจิตจึงมาพัวพันอยู่กับกามฉันท์ข้อนี้ๆ

ก็ย่อมจะพบว่าเพราะ สุภนิมิต สุภสัญญา และเพราะความมาใส่ใจถึงโดยไม่แยบคาย

เพราะไปใส่ใจถึงว่างดงามน่ารักน่าชมนั้นเอง

 

จึงต้องปฏิบัติใส่ใจถึงคือพิจารณาให้เห็น อสุภนิมิต อสุภสัญญา

ให้ได้อสุภสัญญา โดยใส่ใจถึงโดยแยบคาย

ด้วยพิจารณาดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาในข้อกาย ดั่งที่กล่าวแล้ว

ว่ากายนี้เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น

พิจารณาใส่ใจค้นคว้าลงไปว่า ไม่สะอาดอย่างนี้ๆ ไม่งดงามอย่างนี้ๆ

ความจริงย่อมจะปรากฏแก่จิต ในเมื่อใส่ใจถึงโดยแยบคายอยู่บ่อยๆ

เมื่อเป็นดั่งนี้กามทั้งหลายก็สงบลงได้

จึงกลับมาทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

ก็ย่อมจะทำได้สะดวกขึ้น และสำเร็จเป็นอานาปานสติได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats