ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป140

สังขารทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สังขารในขันธ์ ๕ ๔

สังขตลักษณะ ๖

วิปรินามทุกข์ ๖

ทุกข์คือเกิดดับ ๗

ทุกขสัจจะ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๘๐/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๘๑/๑ ( File Tape 140 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สังขารทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงวิธีพิจารณากำหนดรู้จักทุกข์โดยความเป็นทุกข์ มีประการต่างๆมาแล้ว

จักได้แสดงต่อไปถึงวิธีพิจารณากำหนดรู้จักทุกข์โดยเป็นสังขาร

อันเรียกว่าสังขารทุกข์ ทุกข์โดยเป็นสังขาร หรือสังขารเป็นทุกข์

สังขารนั้นแปลว่าผสมปรุงแต่ง หมายถึงทุกๆสิ่งทุกๆอย่างที่ธาตุทั้งหลายมาผสมปรุงแต่ง

หรือเหตุปัจจัยทั้งหลายมาผสมปรุงแต่ง ให้เป็นนั่น ให้เป็นนี่

ท่านแสดงจำแนกไว้กว้างๆเป็น ๒ คือ อุปาทินนกะสังขาร และ อนุปาทินนกะสังขาร

สังขารที่มีผู้ครอง หรือมีอะไรครอง เรียกว่า อุปาทินนกะสังขาร

สังขารที่ไม่มีผู้ครอง หรือไม่มีอะไรครอง เรียกว่า อนุปาทินนกะสังขาร

 

อธิบายโดยมากนั้น ชี้เอาตัวผู้ครองหรือสิ่งที่ครองว่าจิตใจ

อุปาทินนกะสังขาร นั้นคือสังขารที่มีจิตใจครอง

เช่น ร่างกายของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ที่ยังดำรงชีวิตอยู่

อนุปาทินนกะสังขาร นั้นคือสังขารที่ไม่มีจิตใจครอง เช่น ต้นไม้ ภูเขา

ทุกๆอย่างที่บังเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และทุกๆอย่างที่มนุษย์สัตว์ปรุงแต่งขึ้น

เช่น บ้านเรือน รวงรัง และทุกๆอย่างเป็นอนุปาทินนกะสังขาร

แม้ร่างกายของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่ไม่มีใจครอง เป็นศพไปแล้ว

ก็เรียกว่าอนุปาทินนกะสังขารเหมือนกัน

 

อีกอย่างหนึ่งพระอาจารย์ทางปฏิบัติบางท่านได้อธิบายว่า

ผู้ครองหรือสิ่งอะไรที่ครองนี้ได้แก่ อุปาทาน คือความยึดถือ

สังขารที่อุปาทานยึดถืออยู่เป็น อุปาทินนกะสังขาร

สังขารที่ไม่มีอุปาทานยึดถืออยู่เรียกว่า อนุปาทินนกะสังขาร

 

แม้สังขารร่างกายนี้ จิตใจที่เป็นส่วนสังขารนี้ คือขันธ์ ๕

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ยังมีอุปาทานคือความยึดถือ

ว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา ดังที่ตรัสเรียกว่า อุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ

ปัญจุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ ๕ ก็เป็นอุปาทินนกะสังขาร

ขันธ์ ๕ นี้เอง ของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีอุปาทานยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา

แม้ยังดำรงชีวิตอยู่ ก็เรียกว่าอนุปาทินนกะสังขาร

 

แม้ว่าสิ่งที่ไม่มีใจครอง เช่น บ้านเรือน ทรัพย์สมบัติต่างๆ

ที่เจ้าของยังมีอุปาทานคือยึดถืออยู่ว่าเป็นของเรา ก็เรียกว่าอุปาทินนกะสังขาร

แต่สำหรับพระอรหันต์ ไม่มีอุปาทานยึดถืออะไรๆในโลก

แม้แต่ปัจจัยบริขารของท่านเอง เช่น บาตร จีวร เป็นต้น ก็ไม่ยึดถือด้วยอุปาทานว่าของเรา

ก็เรียกว่าอนุปาทินนกะสังขาร สังขารที่ไม่มีอุปาทานครอง

 

แต่ว่าจะอธิบายอย่างไรก็ตาม ทุกๆสิ่งทุกๆอย่างที่มีปัจจัยปรุงแต่ง

ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งหลาย ที่เป็นภายในก็ได้แก่ขันธ์ ๕ ของตนเอง

ที่เป็นภายนอกก็ได้แก่ทรัพย์สมบัติ กับทุกๆสิ่งทุกๆอย่าง

ที่เป็นวัตถุก็ตาม ที่ไม่เป็นวัตถุก็ตาม ก็เรียกว่าสังขารทั้งนั้น

ที่เป็นวัตถุนั้นก็ได้แก่เป็นสิ่งต่างๆที่ เห็นได้ ได้ยินได้ ทราบกลิ่นได้ ทราบรสได้ ถูกต้องได้

เป็นต้นว่า ร่างกายของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย บ้านเรือน ต้นไม้ ภูเขา

จะมีใจครอง หรือไม่มีใจครองก็ตาม ก็เป็นวัตถุทั้งหมด

 

สังขารในขันธ์ ๕

 

ส่วนที่ไม่ใช่วัตถุนั้นคืออาการของใจที่เป็นภายใน ก็ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

และสังขารในขันธ์ ๕ ดังกล่าวมานี้ ก็ได้แก่ความคิดปรุงหรือความปรุงคิด

ซึ่งเป็นความปรุงแต่งเหมือนกัน คือว่า เมื่อเห็นอะไร ได้ยินอะไร ซึ่งเป็นวิญญาณ

เป็นสัมผัสถึงใจ ก็เกิดเวทนาเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ในสิ่งนั้นๆ

แล้วก็เกิดสัญญาคือจำได้หมายรู้

 

สังขารในขันธ์ ๕ ก็นำเอาสิ่งที่จำได้นี่เอง มาคิดปรุงหรือปรุงคิดไปต่างๆ

คิดดีก็เป็นกุศล คิดไม่ดีก็เป็นอกุศล คิดเป็นกลางๆก็เป็นอัพยากฤตคือเป็นกลางๆ

ดั่งนี้จึงเรียกว่าสังขาร ไม่ใช่เป็นวัตถุ แต่เป็นนามธรรม

ส่วนที่เป็นวัตถุนั้นเรียกว่าเป็นรูปธรรม

 

และแม้ วิญญาณ เวทนา สัญญา ในขันธ์ ๕ นั้น ก็เป็นสังขารเหมือนกัน

เพราะเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง ดังเช่น วิญญาณ ที่หมายถึงว่ารู้คือเห็นหรือได้ยินเป็นต้น

ก็เกิดมาจากอายตนะภายใน อายตนะภายนอกประจวบกัน

เช่น ตากับรูปมาประจวบกันจึงเห็น เสียงกับหูมาประจวบกันจึงได้ยิน

แต่อันที่จริงนั้น เมื่ออธิบายอย่างละเอียดแล้ว ไม่ใช่ตากับรูป หูกับเสียง อย่างเดียว

ต้องมีมโนคือใจเข้าประกอบด้วย คือตากับรูป และมโนคือใจมาประจวบกัน จึงเห็น

หูกับเสียง และมโนคือใจมาประจวบกัน จึงได้ยิน

จมูกกับกลิ่น และมโนคือใจมาประจวบกัน จึงได้ทราบกลิ่น

ลิ้นกับรส กับมโนคือใจมาประจวบกัน จึงได้ทราบรส

กายและโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และมโนคือใจมาประจวบกัน

จึงได้ทราบถึงสิ่งถูกต้องทางกาย การเห็นรูปก็ดี การได้ยินเสียงก็ดี

การได้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องก็ดี เรียกว่าวิญญาณ

ดั่งที่เราพูดว่า ได้เห็น ได้ยิน และได้ทราบต่างๆดังกล่าว

 

เพราะฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

ถ้าหากว่าไม่มีการผสมปรุงแต่งดังกล่าว เช่นตากับรูปและมโนคือใจไม่มารวมกัน

จักขุวิญญาณ ความรู้รูปทางตา คือการเห็นรูปก็มีไม่ได้

เพราะฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

และเมื่อเป็นวิญญาณที่สัมผัสเข้าถึงจิตใจ จึงได้เกิดเวทนา

คือความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นกลางๆไม่ทุกข์

 

เพราะฉะนั้น แม้เวทนาก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

และเมื่อเป็นเวทนาขึ้นแล้ว เวทนากับรูปเสียงเป็นต้น

ก็มาผสมปรุงแต่งขึ้นในความคิดของคน คือคนก็คิดปรุงขึ้นมา

หรือปรุงคิดขึ้นมา อาศัยเวทนา อาศัยตา อาศัยรูป อาศัยวิญญาณ ที่ผ่านมานั้น

สัญญาก็จำได้ สัญญาความจำนั้นก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

คือว่า จำสุข จำทุกข์ จำกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ในรูปที่ตาเห็น ในเสียงที่หูได้ยิน เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้น สัญญาความจำก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

และเมื่อมาคิดปรุงหรือปรุงคิดไปตามสัญญาที่จำได้หมายรู้นั้น ก็เป็นสังขารในขันธ์ ๕

เรียกว่าสังขารตรงตัว คือเป็นความคิดปรุง หรือเป็นความปรุงแต่ง

( เริ่ม ๑๘๑/๑ ) เพราะฉะนั้น จึงเป็นสังขารทั้งหมด ที่เป็นสังขารส่วนที่เป็นนามธรรม

หรือไม่ใช่เป็นวัตถุ ไม่ใช่เป็นรูป เหล่านี้เป็นสังขารทั้งนั้น คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง

สังขตลักษณะ

 

และสังขารนี้ได้ตรัสแสดงเอาไว้ว่าประกอบด้วย สังขตลักษณะ

ลักษณะคือเครื่องกำหนดหมายแห่งสิ่งผสมปรุงแต่งคือสังขารทั้งหลาย ว่ามี ๓ ประการ

ที่แปลความว่า ความเกิดขึ้นปรากฏ ๑ ความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ ๑

เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ ๑

สังขารย่อมมีลักษณะ ๓ ประการดั่งนี้

เพราะฉะนั้น สังขารนี้จึงเป็นตัวทุกข์โดยตรง เป็นที่ตั้งของทุกข์ทั้งหลาย

ที่แสดงไว้เป็นข้อๆไป ถ้าไม่มีสังขาร ทุกข์ทั้งหลายที่แสดงเป็นข้อๆไปก็มีไม่ได้

แต่เมื่อมีสังขาร ทุกข์ที่แสดงไว้เป็นข้อๆไปก็มีได้ เพราะฉะนั้นตัวทุกข์จึงอยู่ที่สังขาร

 

ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ในที่อื่นอีกว่า

แปลความว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงหนอ

มีความเกิดขึ้น และดับไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

ความเข้าไปสงบแห่งสังขารเป็นสุข ดั่งนี้

และได้มีภิกษุณีภาษิตที่แสดงว่านางวชิราภิกษุณีกล่าวไว้ว่า

ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป

นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น จึงแสดงว่าสังขารเป็นตัวทุกข์ เพราะว่าสังขารเกิดก็ชื่อว่าทุกข์เกิด

สังขารดับก็ชื่อว่าทุกข์ดับ สังขารตั้งอยู่ก็ชื่อว่าทุกข์ตั้งอยู่

ดั่งนี้ คือ สังขารทุกข์ ทุกข์โดยเป็นสังขาร หรือสังขารเป็นทุกข์

 

วิปรินามทุกข์

 

อนึ่ง อาการที่สังขารต้องเกิดต้องดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวนั้น

ก็แสดงว่า ความสำคัญของทุกข์อยู่ที่ตัวความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

เพราะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงจึงต้องเป็นทุกข์

เข้าในลักษณะของทุกข์ประการที่ ๓ ว่า วิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

หรือว่าทุกข์โดยเป็นความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเป็นตัวทุกข์

ในข้อนี้ก็ตรงกับคำว่าทุกข์ ซึ่งแปลตามศัพท์ว่าทนอยู่ได้ยาก

อันหมายความว่าทนอยู่ไม่ได้ เพราะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงชื่อว่าเป็นทุกข์ทั้งหมด

 

ทุกข์คือเกิดดับ

 

แม้เป็นสุขเวทนาคือความที่เสวยอารมณ์เป็นสุข

คือรู้สึกว่าเป็นสุขทางกายทางใจ เป็นสุขเวทนาทางกายทางใจ

สุขนั้นตามศัพท์ว่าทนง่าย ทนสบาย คือมีความสุขสบายกายสบายใจ

แต่แม้สุขเองที่เป็นสุขเวทนาก็ต้องเป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้เหมือนกัน

ต้องดับคือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

 

และแม้ตัวทุกข์เองที่เป็นทุกข์เวทนา คือความเสวยอารมณ์เป็นทุกข์ทางกายทางใจ

เป็นความไม่สบายกายไม่สบายใจ ก็ทนอยู่ไม่ได้เหมือนกัน ต้องดับเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เวทนาทั้งสุขทั้งทุกข์นี้จึงเป็นสิ่งที่เกิดๆดับๆ

เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุข ดังที่ทุกๆคนประสบกันอยู่

เพราะฉะนั้น จึงรวมเข้าในคำว่า ทุกขสัจจะ สัจจะคือทุกข์นี้ทั้งหมด

เพราะเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้

 

ฉะนั้น นางวชิราภิกษุณีจึงได้กล่าวว่า ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป

นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ ดั่งนี้ คือเป็นทุกข์ไปทั้งหมด

อันหมายถึงทุกข์คือสังขารดั่งที่กล่าวแล้ว และแม้สุขทุกขเวทนาเองก็เป็นสังขารดังกล่าว

จึงตกอยู่เข้าในลักษณะนี้ทั้งหมด

ทุกขสัจจะ

 

แต่ข้อนี้นั้นเป็นสัจจะคือความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ต้องมาพิจารณาจึงจะมีความเข้าใจ

เพราะ ทุกขสัจจะ นี้เป็นทุกข์อย่างละเอียดที่มีอยู่ตามความเป็นจริง ส่วนสุขทุกข์ธรรมดา

ที่ทุกคนประสบกันอยู่นั้นเป็นสุขทุกขเวทนา เป็นอารมณ์ของใจที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

สุดแต่ความประจวบทางอายตนะ คือตาประจวบกับรูป หูประจวบกับเสียง ดั่งที่กล่าวมาแล้ว

จึงเกิดเป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา หรือเป็นอุเบกขาเวทนา

และทั้งหมดนี้ก็ตกอยู่ใน ทุกขอริยสัจจ์ ทั้งหมด คือเป็นสิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้

ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

 

ฉะนั้น การแสดงทุกขสัจจะดังที่กล่าวมานี้

ที่แสดงจัดเข้าในทุกข์ ๓ ข้อ คือ ทุกขทุกข์ ทุกข์คือทุกข์ หรือทุกข์โดยเป็นทุกข์

สังขารทุกข์ ทุกข์คือสังขาร หรือว่าทุกข์โดยเป็นสังขาร

กับ วิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง โดยความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

จึงเป็นสัจจะที่ลุ่มลึก เมื่อพิจารณาไป พิจารณาไปจึงจะมองเห็น

และจะเห็นว่าไม่ขัดกันกับสุขทุกข์ที่เป็นเวทนา ซึ่งอยู่ในอารมณ์ของใจ

ซึ่งทุกคนประจวบอยู่ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องทุกข์ พบกับทุกข์

สุขเวทนาบ้าง ต้องพบกับทุกข์เวทนาบ้าง เป็นธรรมดา

แต่เวทนาดังกล่าวนี้ก็เป็นสิ่งที่แสดงความไม่เที่ยง แสดงความเกิดดับให้ทุกคนเห็นอยู่

ดั่งที่ได้กล่าวแล้วว่า เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุข

คือสุขเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ก็เกิดทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นก็ดับไป แล้วก็เกิดสุข

ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้จึงตกเข้าในทุกขสัจจะนี้ทั้งหมด และเมื่อหัดพิจารณา

ให้มองเห็นสัจจะคือความจริงข้อนี้ ก็จะทำให้จิตใจสบาย พ้นจากทุกข์ได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

วิปรินามทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

สภาวทุกข์ ๓

เกิดดับ สันตติ ๔

ความเกิดดับของขันธ์ ๕ ๕

ความแก่ขึ้นแก่ลง ๖

หัดพิจารณาให้เห็นปัจจุบันธรรม ๗

อาการของตัณหาอุปาทาน ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๘๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๘๑/๒ ( File Tape 140 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

วิปรินามทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

อันปัญญาในธรรมนั้นโดยตรงก็คือญาณความหยั่งรู้ในสัจจะธรรม

ธรรมะที่เป็นสัจจะคือเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็คือในทุกขสัจจะ จริงคือทุกข์

สมุทัยสัจจะ จริงคือเหตุเกิดทุกข์ นิโรธสัจจะ จริงคือความดับทุกข์

มรรคสัจจะ จริงคือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

 

และปัญญาในธรรมนี้เมื่อแสดงโดยลำดับ

ก็คือปัญญาในทุกขสัจจะจริงคือทุกข์ที่ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้

และนำมาแสดงจำแนกไปโดยลำดับแล้ว จนถึงปัญญาที่พิจารณาสรุปทุกข์เข้าเป็น ๓

คือ ทุกขทุกข์ ทุกข์คือทุกข์ หรือทุกข์โดยเป็นทุกข์

สังขารทุกข์ ทุกข์คือสังขาร หรือโดยเป็นสังขาร

วิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง หรือโดยความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

อันลักษณะของความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงนั้น ก็รวมเข้าใน สังขตลักษณะ

ลักษณะเครื่องกำหนดหมายแห่งสังขารคือสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลาย

อันได้แก่ อุปาโท ปัญญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ วโย ปัญญายติ ความเสื่อมดับไปปรากฏ

ฐิตัสสะ อัญญะถัตตัง ปัญญายติ เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ

 

สภาวทุกข์

 

ความปรากฏเกิดเสื่อมดับ และเมื่อตั้งอยู่ก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงเรื่อยไปนั้น

ตามที่ตรัสแสดงไว้ตั้งต้นแต่ สภาวทุกข์ คือชาติความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์

มรณะความตายเป็นทุกข์ อันรวมอยู่ในลักษณะทั้ง ๓ ที่กล่าวมานั้น

จึงมีชาติ มีชรา และมีมรณะ

 

วิธีพิจารณานั้นที่มีสอนไว้ก็คือ

พิจารณาชาติชรามรณะที่ปรากฏ อย่างหนึ่งคือไม่ปกปิด

กับชาติชรามรณะที่ปรากฏเหมือนไม่ปรากฏ คือที่ปกปิดไว้หนึ่ง

สำหรับชาติที่ปรากฏนั้นก็คือความเกิดมาทีแรก

ตั้งต้นแต่เข้าถึงในครรภ์ของมารดา จนถึงคลอดออกมาเป็นความเกิดที่ปรากฏ

ความแก่ที่ปรากฏนั้นคือความที่ร่างกายร่วงโรย เช่น ผมหงอก ฟันหัก หนังย่น

และความเสื่อมของอินทรีย์ทั้งหลาย หรืออายตนะภายในทั้งหลายมีตาหูเป็นต้น

ที่ทุกคนทราบได้ทันทีว่าเป็นความแก่

มรณะคือความตายที่ปรากฏนั้น คือความที่ขันธ์ทั้ง ๕ แตกดับ

กายแตกทำลายกลายเป็นศพทอดทิ้งร่างไว้ นี้เป็นความตายที่ปรากฏ

 

อีกอย่างหนึ่งที่ท่านสอนให้พิจารณา คือเกิดแก่ตายที่ไม่ปรากฏชัดเจน

อันที่จริงก็ปรากฏ แต่ว่าไม่ชัดเจน เหมือนอย่างปกปิดเอาไว้

คือว่าเกิดแก่ตายที่มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เกิดนั้น ความเกิดก่อขันธ์ ๕ เกิดคู่อยู่กับดับเสมอ

ทุกขณะจิต หรือว่าทุกลมหายใจเข้าออก

ดังเช่น รูปขันธ์กองรูปก็เป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

จึงต้องบริโภคอาหารเข้าไปทดแทน ที่เป็นอาหารหยาบ วันหนึ่งก็หนึ่งมื้อบ้าง

สองมื้อบ้าง สามมื้อบ้าง หรือว่ายังบริโภคของจุกจิกมากกว่านั้นบ้าง

เพราะรูปขันธ์กองรูปถูกเผาไหม้ดับไปหมดสิ้นไป เป็นหนักเป็นเบาเป็นเหงื่อเป็นไคล

อยู่ตลอดเวลา จึงต้องบริโภคของใหม่เข้าไปทดแทน

 

จนกระทั่งอาหารอย่างละเอียดก็คือลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้านำธาตุลมที่ประกอบด้วยธาตุดินน้ำไฟอย่างละเอียด

เข้าไปบำรุงเลี้ยงร่างกาย และหายใจออกก็นำเอาส่วนที่เสียออกมา

ต้องหายใจกันอยู่ทุกขณะอันจะหยุดเสียมิได้ ถ้าหยุดไม่นานชีวิตนี้ก็จะเป็นอันตราย

ลมหายใจเข้านั้นก็คือนำเอาธาตุทั้งหลายเข้าไปเลี้ยงอย่างละเอียด ก็เป็นเกิด

เป็นรูปขันธ์ขึ้นมาทดแทน ออกก็นำออกมา เป็นดับ

 

เกิดดับ สันตติ

 

เพราะฉะนั้น เกิดดับ จึงคู่กันอยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจเข้าออก

ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ อาการทั้งหลายในร่างกายนี้ เช่นอาการ ๓๑ หรืออาการ ๓๒

มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้นต่างเกิดดับไปแล้วมากครั้ง แต่อาศัยมี สันตติ คือความสืบต่อ

ดับแล้วก็มีเกิดขึ้นมาใหม่ แล้วก็ดับ แล้วก็มีเกิดขึ้นมาใหม่ทดแทนกันไป จึงไม่รู้สึก

( เริ่ม ๑๘๑/๒ ) รูปกายของทุกคนในบัดนี้ไม่ใช่รูปกายในอดีต

รูปกายในอดีตนั้นก็ดับไปสิ้นไปหมดแล้ว รูปกายในปัจจุบันนี้เป็นรูปกายใหม่

ที่ได้จากอาหารเกิดขึ้นมาใหม่ แต่ว่าเป็นไปอย่างละเอียด

 

แม้เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เช่นเดียวกัน เกิดดับไปในอารมณ์อันหนึ่งๆ

จึงชื่อว่าอารมณ์อันหนึ่งๆนั้นก็คือ รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปที่ผ่านเข้ามาทางตา

สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียงที่ผ่านเข้ามาทางหู

คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่นที่ผ่านเข้ามาทางจมูก รสารมณ์ อารมณ์คือรสที่ผ่านเข้ามาทางลิ้น

โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะที่ผ่านเข้ามาทางกาย

ธรรมารมณ์ อารมณ์คือเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาทางมโนคือใจ

 

ความเกิดดับของขันธ์ ๕

 

อารมณ์ที่ผ่านเข้ามานี้ เมื่อผ่านเข้ามาก็เกิดเป็น วิญญาณ

คือ เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้รู้ เป็นต้น แล้วก็เป็น สัมผัส ถึงจิตใจ

แล้วก็เป็น เวทนา รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข แล้วก็เป็น สัญญา จำได้หมายรู้

แล้วก็เป็น สังขาร ความคิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆในอารมณ์นั้นๆ

แล้วก็เป็น วิญญาณ ขึ้นมาใหม่ เพราะว่าเมื่อปรุงคิดไปหรือคิดปรุงไปก็รู้

เป็นวิญญาณ แล้วก็เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา สังขาร

อารมณ์อันหนึ่งนั้นก็เป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณไปคราวหนึ่ง ก็ชื่อว่าเกิดดับ

อารมณ์ที่สองก็เกิดดับ อารมณ์ที่สามก็เกิดดับ

 

แต่จิตใจอันนี้รับอารมณ์ทางอายตนะภายในภายนอกดังกล่าวรวดเร็วมาก

ยกตัวอย่างเช่นว่า ตา เห็นนั่นเห็นนี่มากมาย

สิ่งที่เห็นอันหนึ่งๆก็ผ่านเข้ามาเป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

หรือว่าเป็นวิญญาณ เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร กันทีหนึ่ง เกิดดับไป

แล้วจึงมาถึงอารมณ์ที่สอง เช่นว่าเห็นแก้วน้ำ ก็คิดถึงแก้วน้ำ

ก็เป็นวิญญาณ เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร

หรือว่ากล่าวตามลำดับของขันธ์ ๕ ว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในแก้วน้ำที่เห็น

เกิดดับไปทีหนึ่ง เห็นกาน้ำ ทั้งหมดนี้ก็เกิดดับไปทีหนึ่ง

เห็นบ้านเห็นคนเห็นอะไรก็ตามแต่ละอย่าง สิ่งทั้งปวงเหล่านี้ก็เกิดดับไปทีละอย่าง

 

เพราะว่าจิตนี้รับอารมณ์ได้ทีละอย่างเท่านั้น แต่ว่ารวดเร็วมาก

เพราะฉะนั้น ในเวลาครู่เดียว ถ้านับเอาสิ่งที่ตาเห็น

แล้วก็คิดถึงสิ่งที่ตาเห็นนั้นของจิตใจแล้ว จะมีตั้งหลายสิบหลายร้อยอย่าง

สิ่งทั้งปวงเหล่านี้คือ วิญญาณ เวทนา สัญญา สังขาร

หรือว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เกิดดับไปหลายสิบหลายร้อยหน

นี่เป็นความเกิดดับของขันธ์ ๕ ที่มีอยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจเข้าออก

ทุกขณะจิต ทุกอารมณ์

 

นี้เป็นความเกิดและความตายที่ปกปิด ต้องพิจารณาจึงรู้

แต่ยังไม่ตายจริงๆสักทีหนึ่งดังที่เข้าใจกัน ก็เพราะว่ามีสันตติคือความสืบต่อ

อย่างเช่นลมหายใจ มีเข้ามีออก มีเข้ามีออก ติดต่อกันไป

ถ้าเข้าไม่ออก ออกไม่เข้า หยุดสันตติคือความสืบต่อเมื่อใด ก็เป็นความตายที่ไม่ปกปิด

เพราะฉะนั้น ความเกิดความดับ หรือความเกิดความตายนี้

อันที่จริงจึงมีอยู่ทุกขณะดั่งที่กล่าวแล้ว แต่ว่ายังปกปิด

 

ความแก่ขึ้นแก่ลง

 

แม้ความแก่ก็เช่นเดียวกัน ร่างกายนั้นย่อมมีความแก่

คือแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป อยู่ทุกขณะไม่มีหยุด เหมือนอย่างผลไม้แก่

ความแก่ของผลไม้นั้นไม่ใช่แก่ขึ้นทันที แต่ค่อยๆเติบโตไปโดยลำดับ

แม้ความแก่ของบุคคลก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่แก่ขึ้นทันที แต่ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงไปโดยลำดับ

เพราะฉะนั้น จึงมีเรียกกันว่าแก่ขึ้นและแก่ลง แก่ขึ้นนั้นก็คือว่าตั้งแต่เกิดมา

ก็เติบโตขึ้นในครรภ์ของมารดา จนถึงคลอดออกมา แล้วก็ค่อยๆเติบโตขึ้นเรื่อย

นี่เป็นความแก่ขึ้น เมื่อแก่ขึ้นเต็มที่แล้วก็แก่ลง คือมีอาการที่ทรุดโทรม

เป็นความแก่ที่ปรากฏดังกล่าวมาข้างต้น

 

อันความแก่เช่นนี้คนเราก็เรียกผลไม้อยู่แล้ว อย่างที่เรียกว่าผลไม้แก่

ก็หมายความถึงผลไม้ที่เจริญขึ้นเต็มที่ คือเป็นความแก่ขึ้นนั้นเอง เราก็เรียกผลไม้ว่าแก่อยู่แล้ว

แต่ว่าครั้นมาถึงคนเมื่ออยู่ในวัยที่เจริญเต็มที่ เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ ไม่เรียกว่าแก่

แต่อันที่จริงนั้นเป็นความแก่เช่นเดียวกับผลไม้ เป็นความแก่ขึ้น ไม่ใช่เป็นความแก่ลง

 

แต่อันที่จริงนั้นความแก่เป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด

คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีอยู่ทุกขณะ

แต่เมื่อยังเป็นเบื้องต้น หรือเป็นความแก่ขึ้น ก็ยังไม่ปรากฏ

ปรากฏเหมือนกันแต่ว่าไม่ๆชัดเจน เรียกว่ายังๆปกปิด มาแก่ลงจึงเปิดเผย

และก็ทราบกันพูดกัน แต่อันที่จริงนั้นแก่ปกปิดนั้นมีมาตั้งแต่ในเบื้องต้น

ตั้งแต่ในท้องแม่ก็แก่เรื่อยมาแล้ว เราจึงยังเรียกว่าครรภ์แก่

แต่ความจริงนั้นเด็กก็แก่จนได้ที่ คลอดออกมาก็แก่ต่อไป

แต่เป็นความแก่ขึ้น หรือเป็นแก่เจริญดังที่กล่าวนั้น

 

หัดพิจารณาให้เห็นปัจจุบันธรรม

 

เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว แก่เจ็บตายจึงมีอยู่ทุกขณะดังกล่าว

แต่ว่าเป็นปกปิดและไม่ปกปิด และทั้งปกปิดทั้งไม่ปกปิดก็เป็นความปรากฏด้วยกัน

แต่เป็นความปรากฏอย่างปกปิด ปรากฏอย่างไม่ปกปิด

ผู้ปฏิบัติธรรมพึงหัดพิจารณาให้รู้จักเกิดแก่ตายทั้งที่ปกปิดและทั้งที่ไม่ปกปิด

เมื่อเป็นดั่งนี้ ทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ จึงจะปรากฏเป็นปัจจุบันธรรม

ถ้าหากว่ายังไม่พิจารณาให้รู้จักแก่ที่ปกปิดแล้ว

ทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ก็ยังไม่ปรากฏเป็นปัจจุบันธรรม

จึงต้องหัดพิจารณาให้รู้จักเกิดแก่ตายที่ปกปิดไว้ด้วย

 

และนอกจากนี้แม้พยาธิความป่วยไข้ ก็มีปกปิดและไม่ปกปิดอีกเช่นเดียวกัน

มักจะพูดกันว่าพยาธิป่วยไข้ และเมื่อป่วยที่ไม่ปกปิด

เช่น เป็นความป่วยไข้อย่างใดอย่างหนึ่ง ปรากฏเป็นทุกขเวทนา เวทนาที่เป็นทุกข์

ต้องพักผ่อนก็ดี ต้องหาหยูกยามาบริโภคก็ดี ต้องหาหมอก็ดี เป็นความป่วยที่ไม่ปกปิด

แต่ความป่วยที่ปกปิดนั้นมีอยู่ตลอดเวลา ดังที่ปรากฏเป็นความเมื่อยขบ

แต่อาศัยเปลี่ยนอิริยาบถ เช่นว่านั่งนาน ก็เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนขึ้น เป็นเดิน

ยืนนานก็เปลี่ยนอิริยาบถเป็นนั่ง เดินนานก็เปลี่ยนอิริยาบถเป็นหยุดพัก ยืน หรือนั่งลง

จนถึงเมื่อเดินยืนและนั่งนาน เดินยืนนั่งนานก็ต้องนอน เมื่อนอนนานก็ต้องลุกขึ้น

เปลี่ยนมาเป็นเดินเป็นยืนเป็นนั่ง อาศัยผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอยู่ดั่งนี้ ความเมื่อยขบจึงไม่ปรากฏ

แต่ความจริงนั้นความเมื่อยขบย่อมมีอยู่ตลอดเวลา แต่อาศัยการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถดังกล่าว

 

และต้องมีความหิว ต้องการอาหาร ต้องการน้ำมาบริโภค

แต่อาศัยบริโภคอาหารบริโภคน้ำแก้หิวแก้กระหาย ความหิวความกระหายก็ดับ

และเหมือนไม่มีความหิวความกระหาย แต่ความจริงนั้นเมื่อบริโภคข้าวบริโภคน้ำเข้าไปแล้ว

รู้สึกว่าหายหิวหายกระหาย แต่อันที่จริงนั้นเป็นความเริ่มหิวเริ่มกระหายใหม่

เพราะว่าข้าวน้ำที่บริโภคเข้าไปนั้นก็ไปย่อย ไปบำรุงเลี้ยงร่างกาย

แล้วก็ถูกเผาไหม้หมดไปสิ้นไป แล้วต้องบริโภคกันใหม่

เพราะฉะนั้น เมื่อเสร็จไปคราวหนึ่งแล้วก็เริ่มหิวเริ่มกระหายที่จะบริโภคใหม่ต่อไป

แต่ว่ามีน้อยจึงไม่ปรากฏชัดเจน แต่อันที่จริงก็ปรากฏมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี

นี้เป็นเรียกว่าเป็นพยาธิที่ๆปกปิด

 

เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า ร่างกายอันนี้มีอยู่หรือที่จะเว้นว่าง

จากพยาธิความป่วยไข้แม้สักขณะเดียว สำหรับผู้มีปัญญาพิจารณา ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ก็พึงพิจารณาให้รู้จักพยาธิคือความป่วยไข้ที่ปกปิดและไม่ปกปิดอีกเช่นเดียวกัน

จึงจะเห็นสัจจะคือความจริงของทุกข์เป็นปัจจุบัน

 

และในหมวดทุกขสัจจะนี้เองที่พระพุทธเจ้าตรัสอธิบาย ก็ได้มีแสดงถึง

ความประจวบกับสัตว์สังขารที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสัตว์สังขารที่เป็นที่รัก

อันคำว่าที่รักหรือไม่เป็นที่รักนี้

ก็เป็นการแสดงที่พาดพิงหรือล่วงล้ำเข้าไปถึงทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์

คือความรักหรือความไม่รัก และในกล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์

ความยึดถือหรือไม่ยึดถือ ก็เป็นอันแสดงถึงตัณหาหรือไม่มีตัณหานั้นเอง

แสดงถึงมีอุปาทานหรือไม่มีอุปาทานนั้นเอง ในเมื่อยังมีตัณหาอุปาทาน

ก็ยังเป็นขันธ์เป็นที่ยึดถือ และเช่นเดียวกันเมื่อมีตัณหามีอุปาทาน

ก็มีสิ่งที่เป็นที่รัก และสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก เป็นคู่กันไป

 

อาการของตัณหาอุปาทาน

 

เพราะฉะนั้น จึงแสดงว่าเป็นอันได้ตรัสก้าวเข้ามาถึงสมุทัยสัจจะ

สภาพจริงคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ อันได้แก่ความรักหรือความยึดถือ

อันสืบมาจากตัณหา และความรักนั้นเองก็เป็นอาการของตัณหาอย่างหนึ่ง

อุปาทานนั้นเองก็สืบมาจากตัณหา ซึ่งเรียกคู่กันว่าตัณหาอุปาทาน

 

เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาถึงทุกขสัจจะ

ในหมวดของ ประจวบกันสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก

และขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ เป็นทุกข์โดยสรุปดั่งนี้แล้ว

ก็เป็นอันได้เริ่มจับพิจารณาถึงสมุทัยสัจจะ สภาพที่จริงคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

อันเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๒

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats