ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 18 ธันวาคม 2555 12:45
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป141
สชาติปัญญา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
สุตามยปัญญา ๓
จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ๓
การถึงสรณะ ๔
การศึกษาในพุทธศาสนา ๕
ศีลในเบื้องต้น ๖
สมาธิในเบื้องต้น ๗
ปัญญาในเบื้องต้น ๘
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๘๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๘๒/๑ ( File Tape 141 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
สชาติปัญญา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ปัญญานั้นคือความรู้ทั่วถึงตามสัจจะคือความจริง ตามเหตุตามผล
ทุกคนผู้เกิดมาย่อมมีปัญญาที่เป็น สชาติปัญญา
คือปัญญาที่เกิดมาพร้อมกับชาติคือความเกิดอยู่ด้วยกันทุกคน
ดังที่ในปัจจุบันเรียกว่ามีมันสมอง และมันสมองของมนุษย์นั้นย่อมดีเป็นพิเศษ
ยิ่งกว่ามันสมองของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ทางพระพุทธศาสนานั้นเรียกว่า สชาติปัญญา
ปัญญาที่ได้มาพร้อมกับชาติคือความเกิด
เพราะฉะนั้น มนุษย์เรานี้จึงสามารถพัฒนาความรู้ที่เป็นตัวปัญญา
เป็นวิชชาต่างๆ ยิ่งๆขึ้นได้เป็นอันมาก อันรวมเรียกว่าปัญญาเหมือนกัน
และก็สามารถใช้ปัญญานี้พัฒนาทุกๆอย่างให้เจริญมากยิ่งขึ้น
เป็นความเจริญทั้งทางด้านความรู้ และทั้งในด้านวัตถุทั้งหลายที่สร้างขึ้นมาดังที่ปรากฏ
และการพัฒนาดังที่กล่าวมานี้ก็ต้องอาศัยการศึกษานั้นเอง
๒
สุตามยปัญญา
การศึกษานั้นก็ใช้ สุตะ คือการสดับฟัง การอ่าน หรือจะกล่าวโดยสรุป
ก็คือการใช้ตาหูจมูกลิ้นและกายของตนนี้เอง เป็นเครื่องมือในการศึกษา
ให้เจริญปัญญายิ่งขึ้น เราทุกคนย่อมมีตาหูจมูกลิ้นและกาย อยู่ด้วยกันทุกๆคนแล้ว
อันเป็นอายตนะภายใน คือที่ต่อภายใน ๕ ข้อข้างต้น
ในบรรดาทั้ง ๕ ข้อนี้ ( เริ่ม ๑๘๒/๑ ) แต่เก่าก่อนมาที่จะมีตัวอักษรหรือหนังสือ
ก็ใช้ทางหู คือสดับฟังคำสั่งสอน คำบรรยายต่างๆ เป็นส่วนใหญ่
เพราะฉะนั้น จึงได้ยกเอาหูขึ้นเป็นที่หนึ่ง อันเป็นทางให้เกิดปัญญา
อันเรียกว่า สุตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการสดับตรับฟัง
แต่ต่อมาเมื่อมีตัวอักษรมีหนังสือ ก็ใช้หนังสือสำหรับอ่านด้วยตาแทนหูอีกส่วนหนึ่ง
จึงใช้ตาอ่านหนังสือเป็นการศึกษาให้เกิดปัญญา
จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา
และใช้มโนคือใจอันเป็นอายตนะภายในข้อที่ ๖ สำหรับตรึกนึกคิดพิจารณาให้เกิดความรู้
อันเรียกว่า จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดนึกพิจารณา
และนอกจากนี้ก็ศึกษาด้วยการปฏิบัติทดสอบประกอบกระทำทางทวารทั้ง ๓
คือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นทางให้เกิดความรู้ อันเรียกว่า ภาวนามยปัญญา
ปัญญาที่เกิดจากการประกอบกระทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น
เพราะฉะนั้น การศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญาจึงทำได้ด้วยการฟังหรือการอ่าน
หรือกล่าวโดยสรุปก็ด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย และด้วยจินตาคือความคิดนึกพิจารณา
และด้วยภาวนาคือการอบรมทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น
ฉะนั้น การศึกษานี้จึงเป็นข้อสำคัญ ทุกคนจะต้องศึกษาด้วยการฟัง ด้วยการอ่าน
ด้วยการคิดนึกพิจารณา และด้วยการปฏิบัติกระทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น
๓
ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาในฝ่ายคฤหัสถ์ ก็เป็นอุบาสกเป็นอุบาสิกา
หรือพุทธมามกะ พุมธมามิกา ในฝ่ายบรรพชิตก็เป็นภิกษุเป็นสามเณร
ก็ต้องประกอบด้วยการศึกษา ด้วยการฟังธรรม การอ่านธรรม ที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ต้องศึกษาด้วยการคิดนึกพิจารณาให้มีความเข้าใจในธรรม หรือธรรมะที่ได้ฟังหรืออ่านนั้น
การถึงสรณะ
และต้องศึกษาด้วยการปฏิบัติ
ดังที่ได้ปฏิบัติเริ่มด้วยการรับสรณาคมณ์คือการถึงสรณะ
ได้แก่ถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะว่า
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่ง
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะคือที่พึ่ง
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่ง
แม้วาระที่ ๒ ก็เช่นเดียวกัน แม้วาระที่ ๓ ก็เช่นเดียวกัน
ให้เป็นผู้มีสรณะขึ้นในตน ก็เรียกว่าเป็นภาวนา
คือปฏิบัติทำสรณะคือที่พึ่งทั้ง ๓ นี้ให้มีขึ้นในตน ให้เป็นสรณะคือที่พึ่งขึ้นในตน
ยิ่งขึ้นไปก็ปฏิบัติในศีล ในศีล ๕ ในศีล ๘ ในศีล ๑๐ สำหรับสามเณร
ในศีล ๒๒๗ และยิ่งขึ้นไปกว่าสำหรับภิกษุ ก็เป็นการภาวนา
คือการปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น คือให้เป็นศีลขึ้นในตน
และนอกจากนี้ก็ปฏิบัติทำสมาธิ
คือความตั้งใจหรือทำใจให้ตั้งมั่นในกรรมฐานที่เป็นฝ่ายสมถะกรรมฐาน
คือกรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ ให้จิตใจเป็นสมาธิขึ้น ดั่งนี้ก็เป็นภาวนา
คือการทำสมาธิให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ให้จิตใจนี้เป็นสมาธิขึ้นมา ได้สมาธิขึ้นมา
และก็ศึกษาด้วยการปฏิบัติอบรมทางวิปัสสนากรรมฐาน ให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงขึ้น
ก็เป็นการภาวนา คือการทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น คือให้เป็นปัญญา
๔
หรือให้จิตใจนี้เป็นปัญญาขึ้นมา ให้รู้แจ้งเห็นจริง ดั่งนี้ก็เป็นการศึกษาทั้งหมด
ก็การศึกษาดังกล่าวมานี้เองที่เรียกว่าสิกขา
การศึกษาในพุทธศาสนา
คำว่า สิกขา นั้นเป็นบาลี เป็นภาษาบาลี
ส่วนคำว่าศึกษานั้นเป็นภาษาสันสกฤตว่า ศิกฺษา มาใช้เป็นภาษาไทยว่า ศึกษา
เพราะฉะนั้น คำว่าสิกขาหรือศึกษาจึงเป็นคำเดียวกัน
ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว การพัฒนาด้วยการศึกษาในพระพุทธศาสนานั้น
จึงจัดไว้ ๓ เรียกว่า ไตรสิกขา คือสีลสิกขาศึกษาศีล จิตสิกขาศึกษาจิตใจ
และปัญญาสิกขาศึกษาปัญญา
อันศีลจิตและปัญญานี้
ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนมีติดมาจากกำเนิดน้อยบ้างมากบ้าง
อันกล่าวได้ว่าเป็น สชาติศีล ศีลที่มีมาตั้งแต่ชาติคือความเกิด
สชาติจิต หรือ สชาติสมาธิ จิตใจหรือสมาธิที่ได้มาแต่ชาติคือความเกิด
และ สชาติปัญญา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือไม่ใช่แต่เฉพาะสชาติปัญญาเท่านั้น
แม้แต่ศีลก็เป็นสชาติศีล จิตหรือสมาธิก็เป็นสชาติจิตหรือสมาธิ
ทั้งหมดนี้แหละเป็นกุศลที่แปลว่ากิจของคนฉลาด หรือภาวะความเป็นของคนฉลาด
เพราะว่าผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทุกคน ท่านแสดงว่าเกิดมาด้วยอำนาจของกุศล
กุศลนำให้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงมีสชาติปัญญา
พร้อมทั้งสชาติศีล และสชาติจิตหรือสมาธิ ติดตัวมาเช่นเดียวกัน
นี่แหละคือตัวกุศลที่ติดมากับมนุษย์ทุกคน
ดังจะพึงเห็นได้ว่า ปรกติของทุกคนที่เกิดมานั้นก็คือปรกติกาย ปรกติวาจา ปรกติใจ
ดังจะพึงเห็นได้ว่าทุกคนที่เกิดมาก็ไม่ได้ฆ่าอะไรใคร ไม่ได้ลักทรัพย์ของใคร
๕
ไม่ได้ประพฤติในกามอะไร ไม่ได้พูดเท็จอะไร ไม่ได้ดื่มน้ำเมาอะไร
และก็ทำบาปอกุศลกรรมทั้งหลายเหล่านี้ไม่เป็นทั้งนั้น
นี้คือความปรกติที่เป็นตัวศีลที่มีอยู่
และแม้ว่าเมื่อเติบใหญ่ขึ้นแล้ว กิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยในจิตใจ
ซึ่งมีมาพร้อมกับเกิดเหมือนกัน เป็นต้นว่ากิเลสกองราคะโทสะโมหะ
ราคะความติดใจยินดี โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะความหลง
หรือว่าโลภะโทสะโมหะ โลภโทสะหรือโกรธและหลง
หรือว่าตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆ เจริญขึ้นมากขึ้น
พร้อมกับความเจริญของชีวิตของร่างกาย จากเด็กเล็กเป็นเด็กใหญ่
จากเด็กใหญ่ก็เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้ใหญ่ แก่ จนถึงตาย
เมื่อเติบโตขึ้นอาสวะอนุสัยซึ่งมีติดมากับจิตใจ ก็ก่อให้เกิดเป็นกิเลสตัณหาเหล่านี้ขึ้นมา
จึงบันดาลใจให้เกิดอกุศลเจตนา เจตนาเป็นอกุศลต่างๆ
จึงทำการฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้างเป็นต้น
ศีลในเบื้องต้น
แต่ว่าจะทำเช่นนั้นก็ในเวลาที่ลุอำนาจของกิเลสเท่านั้น
แต่เวลาปรกติที่ไม่ลุอำนาจของกิเลสก็ไม่ทำอะไร คือไม่ได้ฆ่าใคร ลักของใคร
เพราะฉะนั้น โดยปรกติของทุกคนแล้วจึงไม่ได้ทำบาปอะไร ไม่ได้ผิดศีลอะไร
แต่เวลาที่จิตใจวิกฤตด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา จึงได้ประกอบกระทำ
บาปอกุศลกรรมผิดศีลต่างๆ
จึงกล่าวได้ว่าศีลนั้นนอกจากจะมีความหมายว่า
หมายถึงความปรกติกายวาจาใจแล้ว ยังมีความหมายว่าเป็นปรกติของคนอีกด้วย
แต่ว่าคนเรานั้นไม่ใช่มีจำเพาะอาสวะอนุสัย
๖
คือกิเลสที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดานเท่านั้น ยังมีส่วนดีอันเป็นบารมี
คือความดีที่เก็บเอาไว้อยู่ในจิตใจส่วนลึกด้วยเช่นเดียวกัน อันเป็นฝ่ายกุศลดังที่กล่าวมาแล้ว
กล่าวคือสชาติศีล สชาติจิตหรือสมาธิ สชาติปัญญา ก็เป็นส่วนบารมีคือส่วนดีที่มีอยู่
เพราะฉะนั้น จึงได้มีความสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี ด้วยอาศัยอาจารย์คนแรกของตน
คือพ่อแม่สั่งสอนอบรมมาในเบื้องต้น และเมื่อมาศึกษากับครูบาอาจารย์ต่อมา
จนถึงได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึ่งได้เพิ่มศีล เพิ่มสมาธิ
และเพิ่มปัญญาให้มากขึ้นโดยลำดับ เพราะมีพื้นดีอยู่แล้ว ก็รับดีได้สะดวก
สมาธิในเบื้องต้น
แม้จิตหรือสมาธิก็เช่นเดียวกัน คนเราก็รู้จักมีสมาธิมาตั้งแต่ต้นแล้ว
คือมีความตั้งใจนั้นเอง เด็กเล็กๆก็รู้จักตั้งใจฟังคำสอนอบรมของพ่อแม่เป็นต้น
ถ้าหากว่าไม่รู้จักตั้งใจฟังแล้ว จะได้ปัญญาเพิ่มพูนขึ้นมาไม่ได้
จะได้ปัญญาขึ้นมาก็ต้องมีความตั้งใจ ถ้าไม่ตั้งใจแล้วจะไม่ได้อะไรเลย
และเมื่อโตขึ้นก็ได้ที่ความตั้งใจฟังครูบาอาจารย์สั่งสอน
ถ้าหากว่าไม่มีความตั้งใจเลยแล้ว จะไม่รู้ จะไม่ได้ความรู้จากครูบาอาจารย์เลย
แม้เมื่อมาพบพระพุทธศาสนา ก็รู้จักตั้งใจฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
รู้จักตั้งใจฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์
ถ้าหากว่าไม่รู้จักตั้งใจฟังแล้ว ก็จะไม่ได้ความรู้อะไรเลย
เพราะว่าปัญญาคือความรู้นี้ย่อมได้จากความตั้งใจฟังตั้งใจอ่านเป็นต้น
ดังเช่นที่กำลังฟังธรรมบรรยายอยู่นี้ ถ้าหากว่าไม่มีความตั้งใจฟัง
คือหลับเสียก็ดี ส่งใจไปในที่อื่นก็ดี หูก็จะดับฟังไม่ได้ยิน ไม่รู้เรื่องว่าพูดอะไร
ต่อเมื่อมีความตั้งใจฟัง หูจึงจะไม่ดับฟังได้ยิน และรู้เรื่องว่าพูดอะไร
เพราะฉะนั้น ความตั้งใจจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ต้องมีจึงจะเกิดปัญญา
และทุกคนก็ได้ความตั้งใจมาตั้งแต่กำเนิดแล้ว คือรู้จักมีความตั้งใจ
เป็นแต่เพียงว่ายังตั้งใจไม่มั่นเท่านั้น
๗
ปัญญาในเบื้องต้น
และแม้ปัญญาเองก็ได้กล่าวแล้วว่ามีมาแต่กำเนิด
เพราะฉะนั้นจึงรับรู้ได้ รับรู้ความเป็นไปของโลกได้
ตั้งต้นแต่รับรู้ธรรมชาติธรรมดาของโลกทั่วๆไป เหมือนอย่างสัตว์โลกทั้งหลาย
และรู้จักยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือสามารถที่จะมีความตั้งใจ แล้วก็รับรู้ในศิลปวิทยาต่างๆ
ในสัจจะคือความจริงต่างๆ ยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ
ต่างจากสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่รับรู้ได้จำเพาะที่เป็นธรรมชาติธรรมดาทั่วไป
แต่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีที่ยิ่งๆขึ้นไปอย่างมนุษย์ อาจจะรู้จักผิดชอบชั่วดีชั้นธรรมดาสามัญ
แต่ไม่ยิ่งๆขึ้นไปเหมือนอย่างมนุษย์ เข้าถึงสัจจะที่เป็นความจริงเหมือนมนุษย์ไม่ได้
และจะพัฒนาความรู้และการกระทำต่างๆด้วยปัญญาเหมือนอย่างมนุษย์ไม่ได้
มนุษย์เรามีพื้นปัญญามาดี และก็สามารถรับเพิ่มพูนปัญญาให้ทวีขึ้นไปได้
จนถึงที่สุดดั่งยอดมนุษย์คือพระพุทธเจ้า ก็ได้ทรงพัฒนาคือความรู้ให้ยิ่งๆขึ้นไป
ทั้งที่เป็นส่วนโลกิยะ และที่เป็นส่วนโลกุตระคือพ้นโลก
( เริ่ม ๑๘๒/๒ ) ด้วยมีพระปัญญาตรัสรู้พระธรรมอันสูงสุดเป็นพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น ศีลสมาธิปัญญาดังที่กล่าวมานี้ จึงเป็นธรรมชาติธรรมดาของบุคคลทุกคน
แต่ว่าพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมสั่งสอน
ธรรมะที่ทรงสั่งสอนนั้น จึงเป็นธรรมชาติธรรมดาของบุคคลนี้เอง ที่มีมูลฐานอยู่ในบุคคลนี้เอง
ตรัสสอนให้พัฒนาคุณสมบัติที่เป็นมูลฐานนี้ของตนเองทุกๆคนนี้ ให้เป็นศีล ให้เป็นสมาธิ
และให้เป็นปัญญาที่ยิ่งขึ้น จนถึงให้ได้ประสบประโยชน์ที่เป็นปัจจุบันบ้าง
ประสบประโยชน์ที่เป็นภายหน้าบ้าง ประสบประโยชน์ที่เป็นอย่างยิ่งยอดบ้าง
เป็นอันว่าเพื่อสุขประโยชน์ของทุกๆคนนี้เอง ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด
เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนให้ทุกคน ตั้งใจสมาทานศีล
ตั้งจิตวิรัติงดเว้นจากเวรภัยทั้งหลาย จากอกุศลกรรมบาปทุจริตทั้งหลาย
๘
ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ดังศีลที่ทุกคนได้รับได้สมาทานได้ปฏิบัติกันอยู่นี้
และให้ปฏิบัติทำสมาธิ คือทำจิตใจนี้เองที่มีความตั้งอยู่แล้ว ให้ตั้งมั่นอย่างมาก
และเพียงพอที่จะนำไปเพ่งพินิจให้เกิดปัญญาที่ละเอียดสุขุม และลุ่มลึกยิ่งขึ้น
และให้พัฒนาปัญญาที่เป็นตัวความรู้ที่มีมาแต่กำเนิดนี้ให้เจริญยิ่งขึ้น
ให้รู้จักประโยชน์ปัจจุบัน ให้รู้จักประโยชน์ภายหน้า ให้รู้จักประโยชน์อย่างยอด
เพราะฉะนั้น การที่มาพัฒนาสิ่งที่เป็น สชาติ
ที่มีอยู่ได้มาตั้งแต่กำเนิดนี้ ให้เจริญยิ่งขึ้นนี้ จึงเป็นการศึกษานั้นเอง
อันได้แก่การฟังหรือการอ่าน หรือการใช้อายตนะภายนอก ๕ เบื้องต้น
อันยกขึ้นมาข้อหนึ่งเป็นหัวหน้า คือ สุตะ การสดับตรับฟัง
และ จินตา คือการคิดนึกพิจารณาให้มีความเข้าใจ
และ ภาวนา คือการปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ให้เป็นศีลที่ยิ่งๆขึ้นไป
ให้เป็นจิตที่ยิ่งๆขึ้นไป หรือสมาธิยิ่งๆขึ้นไป ให้เป็นปัญญาที่ยิ่งๆขึ้นไป
ก็จะทำให้เป็นผู้รู้จักประโยชน์ปัจจุบัน รู้จักประโยชน์ภายหน้า รู้จักประโยชน์อย่างยอด
และสามารถบรรลุถึงประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า
และประโยชน์อย่างยิ่งยอดได้ไปโดยลำดับ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
ปัญญาเห็นธรรม
ความเวียนเกิดเวียนตาย
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี ๓
วิชชา ๓ ๔
ความเวียนว่ายตายเกิด ๕
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๘๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๘๓/๑ ( File Tape 141 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
ปัญญาเห็นธรรม ความเวียนเกิดเวียนตาย
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การได้ปัญญาในธรรมนั้นก็เป็นการได้ปัญญาในธรรมตามพระพุทธเจ้า
เพราะพระพุทธเจ้าแสดงตามพุทธประวัติ พระองค์ทรงได้ปัญญาในธรรมด้วยพระองค์เอง
ดั่งที่เรียกว่าได้ตรัสรู้พระธรรม จึงได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ดังที่มีแสดงไว้ในพุทธประวัติว่า
ในราตรีที่พระโพธิสัตว์ คือพระสิทธัตถะราชกุมาร ซึ่งได้เสด็จออกทรงผนวช
และจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้น ได้ทรงชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร
ตั้งแต่ในเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกหรืออัสดง
ดังที่เราทั้งหลายคงจะได้เคยเห็นภาพพระพุทธเจ้าผจญมาร
ที่เขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้า ประทับอยู่บนที่ประทับตรงกลาง
และเป็นภาพมารบนช้าง ตรีเมฆละ พร้อมทั้งเสนามาร ยกเข้ามาผจญพระพุทธเจ้า
ด้วยศัตราวุธเป็นอันมากด้านหนึ่ง และเป็นภาพแม่ธรณีบิดมวยผมน้ำท่วมพระยามารและเสนา
ต้องจมน้ำพ่ายแพ้ไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพแสดงพระพุทธเจ้าผจญมารเป็นรูปธรรม
๒
บารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี
พระอาจารย์ได้แสดงโดยเป็นธรรมาธิษฐาน คือยกธรรมะขึ้นเป็นที่ตั้ง
ว่าพระองค์ทรงผจญกิเลสมาร มารคือกิเลสในพระทัยของพระองค์เอง
ด้วยพระบารมีทั้ง ๑๐ ที่ทรงได้บำเพ็ญมาแล้ว คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ
ขันติ สัจจะ อฐิษฐานะ เมตตา อุเบกขา พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีเหล่านี้มา
เป็นพระบารมีธรรมดา เป็นพระอุปบารมี คือบารมีที่มากยิ่งขึ้นจนใกล้จะสมบูรณ์
และปรมัตถบารมี พระบารมีที่สมบูรณ์ ทรงเสี่ยงพระบารมีทั้ง ๑๐
ที่ทรงบำเพ็ญมาอย่างสมบูรณ์นี้สู้กับกิเลสมารในพระทัย
ส่วนที่แสดงเป็นแม่ธรณีบิดมวยผมนั้น ก็แสดงโดยปุคลาธิษฐาน
ยกบุคคลเป็นที่ตั้งเป็นรูปธรรมดังกล่าว แต่ก็มีนัยยะที่ท่านชี้แจงว่า
พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้ง ๑๐ นี้มานานนักหนา
โดยเฉพาะข้อหนึ่งคือทานบารมีนั้น น้ำที่หลั่งลงจากพระเต้าทักษิโณทก ในขณะที่บริจาคทาน
อันแสดงถึงการให้ เช่น เมื่อทรงเป็นพระเวสสันดรได้ประทานช้างแก่พราหมณ์ที่มาขอ
ด้วยทรงหลั่งน้ำลงบนแผ่นดินแสดงว่าประทานให้ เพราะว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่โต
จะยกให้ด้วยมือไม่ได้ ก็ต้องเทน้ำให้ คือแสดงว่าให้ด้วยการเทน้ำลงบนแผ่นดิน
หรือแม้การให้ส่วนกุศลที่ไม่ใช่เป็นวัตถุ ก็มีธรรมเนียมเทน้ำลงเหมือนกัน
ดังที่เราทั้งหลายเมื่อบำเพ็ญกุศลแล้ว ก็กรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลดังที่ปฏิบัติกันอยู่
น้ำที่พระโพธิสัตว์เทลงบนแผ่นดินในการให้ทานนั้นมากมาย
เพราะได้ทรงให้ทานมากับนับครั้งไม่ถ้วน ก็ตั้งเป็นข้อแสดงขึ้นว่า
น้ำเหล่านั้นเองที่ตกลงบนแผ่นดิน ก็เหมือนตกลงบนมวยผมของแม่ธรณี ซึ่งหมายถึงแผ่นดิน
เมื่อทรงเสี่ยงบารมี น้ำที่หลั่งลงบนแผ่นดิน เหมือนอย่างหลั่งลงบนมวยผมของแม่ธรณีนี้เอง
จึงไหลมาท่วมมาร พร้อมทั้งเสนาให้พ่ายแพ้ไป ก็พึงอาศัยพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา
ตั้งอยู่ในพระทัย จึงทรงชนะกิเลสมารทั้งหมด ตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ตกคืออัสดง
๓
วิชชา ๓
จึ่งได้ทรงปฏิบัติทางสมถะภาวนา
ทำพระทัยให้สงบ สงบจากกาม สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
ทรงได้ฌานความเพ่งคือสมาธิอย่างสูง ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไปโดยลำดับ
แล้วทรงน้อมจิตที่เป็นสมาธิ จิตที่สงบ พิจารณาธรรม ก็ทรงเห็นธรรม
ด้วยปัญญาที่เรียกว่าญาณคือความหยั่งรู้ ในปฐมยามของราตรีนั้น
ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณที่ระลึกถึงขันธ์เป็นที่อยู่อาศัยในกาลก่อนได้
ที่เรียกว่าระลึกชาติได้ ถอยหลังไป ๑ ชาติ ๒ ชาติ ๓ ชาติ โดยลำดับ มากมาย
ได้ทรงระลึกชาติได้ว่า จากชาตินั้นก็มาสู่ชาติโน้น จากชาติโน้นก็มาสู่ชาตินั้นโดยลำดับ
หรือว่าถอยหลังไปเป็นชาติที่หนึ่งที่สอง ทรงระลึกได้ดั่งนี้ในปฐมยามของราตรีนั้น
ทรงเห็นธรรมะด้วยพระปัญญา คือด้วยพระญาณระลึกชาติหนหลังได้ดั่งนี้
และในมัชฌิมยามทรงได้จุตูปปาตญาณ
พระญาณที่หยั่งรู้จุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงชาตินั้นๆของสัตว์ทั้งหลาย
ว่าดีที่เรียกว่าประณีต หรือว่าเลวต่างๆกัน เป็นไปตามกรรม
จึงทรงเห็นธรรมด้วยปัญญา คือความเคลื่อน ความเข้าถึงชาตินั้นๆ
ซึ่งดีหรือเลว เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ว่าเป็นไปตามกรรม
ครั้นถึงยามที่ ๓ ของราตรี ก็ทรงได้อาสวักขยญาณ
ญาณเป็นเหตุสิ้นอาสวะทั้งหลาย ได้ทรงได้ญาณหรือปัญญาตรัสรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔
คือ ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ในอาสวะ ในเหตุเกิดอาสวะ ในความดับอาสวะ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ
จึงตรัสเป็นพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ก็ทรงได้ปัญญาในธรรม
๔
คือได้ทรงระลึก ทรงรู้ระลึกชาติหนหลังได้
ทรงรู้ว่าการเคลื่อนและการเข้าถึงชาตินั้นๆ เป็นไปตามกรรม
และได้ปัญญาหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นที่สุด
เหล่านี้ก็คือว่าเป็นปัญญาเห็นธรรมของพระองค์
ความเวียนว่ายตายเกิด
ฉะนั้น คำว่าปัญญาเห็นธรรม จึงมีความหมายถึงสัจจธรรมะ
ธรรมะเป็นสัจจะคือเป็นตัวความจริง ได้ทรงรู้สัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง
ในความเกิดตาย ในชาติทั้งหลายเป็นอันมาก ทำให้พระองค์ทรงจับได้ว่า
ได้ทรงมีอยู่สองส่วน คือส่วนที่เกิดตายอยู่เรื่อยไปนั้นส่วนหนึ่ง
และส่วนที่ต้องเป็นผู้เกิดตายในชาตินั้นๆอีกส่วนหนึ่ง ...
( ข้อความน่าจะขาดไปเล็กน้อย )
( เริ่ม ๑๘๓/๑ ) ...ต้องเกิดตายในชาตินั้นๆ ก็เรียกตามสมมติบัญญัติว่าเราเอง
ดั่งที่ทรงใช้เรียกพระองค์เองว่าเราเอง คือพระองค์เอง ซึ่งมีขันธ์อันเป็นส่วนที่ต้องเกิดตาย
เราเองหรือพระองค์เองนั้นเหมือนอย่างมีผู้เดียว หรือมีคนเดียวไม่ใช่หลายคน
ซึ่งต้องท่องเที่ยวเกิดตายไปในชาตินั้นๆ แล้วสิ่งที่เกิดตายนั้นก็คือขันธ์
พระองค์จึงจับได้ว่าในตัวบุคคลทุกๆคนนี้ มีส่วนที่เรียกว่าขันธ์ซึ่งต้องเกิดตาย
แต่ว่าเรียกสมมติบัญญัติว่า ตัวเรา ของเรา ของทุกๆคนนั้นไม่เกิดตายไปตามขันธ์
แต่เป็นตัวที่ต้องท่องเที่ยวไปจากขันธ์หนึ่งไปสู่ขันธ์หนึ่ง
จากขันธ์หนึ่งไปสู่ขันธ์หนึ่ง มากมาย และทุกๆคนก็ต้องเป็นเช่นนั้น
เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าได้ทรงจับรู้ว่าขันธ์ทั้งหลายต้องเกิดต้องตาย
หรือว่าต้องเกิดต้องดับคือแตกสลาย
และขันธ์นั้นก็ได้ตรัสแสดงต่อมาว่าคือขันธ์ ๕
๕
รูปขันธ์ กองรูปก็คือว่ารูปกายอันนี้ของทุกๆคน อันประกอบขึ้นด้วยธาตุดินน้ำไฟลม
เวทนาขันธ์ กองเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข
สัญญาขันธ์ กองสัญญาคือความจำได้หมายรู้ จำนั่นจำนี่ได้
สังขารขันธ์ กองสังขารคือความคิดต่างๆ คิดไปในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง
ในสิ่งนั้น ในสิ่งนี้ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นกลางๆบ้าง
และความรู้ทางอายตนะคือรู้ที่เรียกว่าเห็นเมื่อตากับรูปประจวบกัน
ที่เรียกว่าได้ยินเมื่อหูกับเสียงประจวบกัน
ที่เรียกว่าได้ทราบเมื่อจมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและโผฏฐัพพะ ได้ประจวบกัน
ตลอดจนถึงรู้หรือคิดเรื่องราวในเมื่อมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวได้มาประจวบกัน
ความรู้ดังกล่าวมานี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ
รูปก็เป็นรูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นนาม
จึงทรงแสดงในเวลาต่อมาว่าย่อลงเป็นนามรูป แต่แยกออกไปก็เป็นขันธ์ ๕
ก็คือขันธ์ดังที่แสดงว่า ญาณคือความหยั่งรู้ขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้คือรู้ระลึกชาติได้
เพราะฉนั้น ความเวียนเกิดเวียนตายอยู่เป็นอันมาก
พระองค์จึงได้ทรงรู้ และทรงรู้ว่าขันธ์เป็นตัวที่ต้องเกิดต้องแตกดับหรือตาย
แต่ว่าพระองค์เอง หรือตัวเราของทุกๆคน ดังที่เรียกกันตามสมมติบัญญัติ
ต้องท่องเที่ยวไปจากขันธ์นี้ไปสู่ขันธ์โน้นมากมายนับไม่ถ้วน
จึงทรงสัจจะคือความจริงได้ด้วยพระญาณนี้
และก็ได้ทรงแสดงสั่งสอนให้ทุกคนรู้จักพิจารณาจับให้รู้จักขันธ์ทั้ง ๕
และให้รู้จักว่าตัวเราของเราตามที่เรียกกันตามสมมติบัญญัติ
ต้องท่องเที่ยวไปเกิดตายดังกล่าวมากมาย
เมื่อรู้สัจจะคือความจริงหรือสัจจะธรรม
ธรรมะคือความจริงอันเป็นขั้นพื้นฐานดั่งนี้ชั้นหนึ่งแล้ว
พระองค์ก็ได้ตรัสรู้ว่า ความเคลื่อนคือความออกไปจากชาติขันธ์อันหนึ่ง
๖
ไปอุปบัติคือเข้าถึงชาติขันธ์อีกอันหนึ่งนั้นเป็นไปตามกรรม
คือการงานที่บุคคลทุกๆคนได้กระทำเอาไว้
กระทำกรรมชั่วก็ต้องไปสู่ภพชาติที่ชั่วมีความทุกข์ กระทำดีก็ไปสู่ชาติภพที่ดีมีความสุข
ก็เป็นอันว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เรื่องกรรมและเรื่องผลของกรรม และได้ทรงแสดงสั่งสอน
ดังที่ได้ทรงสั่งสอนให้เราทั้งหลายพิจารณาเนืองๆว่า
เรามีกรรมเป็นของๆตน เราเป็นทายาทรับผลของกรรม
เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
เราจักกระทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่ว เราก็จักต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น หลักของกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้
พระองค์เองได้ตรัสรู้ด้วยพระญาณที่ ๒ นี้
แต่ว่าแม้จะกระทำกรรมดีสักเท่าไร ก็จะต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่นั่นเอง
ตามที่ทรงได้พระญาณในปฐมยามของราตรี และก็ต้องเป็นไปตามกรรมที่กระทำ
เพราะว่ายังมีคติที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ว่าจะทำดีแต่เพียงอย่างเดียว
อาจจะทำชั่วในบางครั้งบางคราวก็ได้ จึงจะต้องพบชาติที่เป็นทุกข์บ้าง ชาติที่เป็นสุขบ้าง
แม้ในชาติเดียวกันก็ต้องมีสุขบ้างมีทุกข์บ้าง จึงเป็นของไม่แน่นอน
ต้องเป็นไปดั่งนี้เรื่อยไป ในเมื่อยังมีเวียนเกิดเวียนตาย
ฉะนั้น เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาธรรมะเรื่อยขึ้นไปก็ทรงจับได้ ว่าทั้งหมดนั้น
เพราะเหตุที่ต้องเวียนเกิดเวียนตาย จะมีสุขหรือมีทุกข์ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตาย
จะเป็นภพชาติที่ดีหรือที่เลวอย่างไรก็ต้องเวียนเกิดเวียนตาย จึงเป็นทุกข์ทั้งนั้น
ทำไมจะต้องเป็นทุกข์ ก็เพราะยังมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอันเป็นตัวกิเลส
เพราะยังมีอนุสัยคือกิเลสที่นอนจมอยู่ในจิตสันดาน ทรงพิจารณาจับเหตุจับผลละเอียดยิ่งขึ้น
ตามนัยยะที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น
จึงทรงได้พระญาณที่ ๓ คือได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดังที่กล่าวแล้ว
๗
จึงทรงพ้นจากกิเลส พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตาย
ไม่ต้องเสวยผลของกรรม ที่เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ที่ดีบ้างที่เลวบ้าง
เพราะไม่มีตัวเราของเราอันเป็นตัณหาอุปาทาน
ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเหลืออยู่เป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
และก็ได้ทรงแสดงอริยสัจจ์สั่งสอนเพื่อให้ทุกคนได้รู้ตาม
พระพุทธเจ้าทรงเห็นธรรมด้วยพระองค์เอง
ทรงบริสุทธิ์ผุดผ่องจากกิเลสและกองทุกข์ด้วยประการทั้งปวง
จึงเรียกว่า อรหัง พระองค์ได้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
เห็นธรรมด้วยพระองค์เองโดยไม่มีครูอาจารย์ จึงได้พระนามว่า สัมมาสัมพุทโธ
คำว่า อรหัง สัมมาสัมพุทโธ นี้จึงเป็นพระพุทธคุณบทสำคัญ
ฉะนั้น เราทั้งหลายจึงควรศึกษาให้รู้ธรรมะที่ทรงสั่งสอน
เพื่อจะได้ปัญญาเห็นธรรมตามพระองค์ตามที่ทรงสั่งสอน
แม้ด้วยศรัทธาคือความเชื่อตามที่ทรงสั่งสอน และด้วยปัญญาคือความรู้ความเข้าใจ
ด้วยการหมั่นปฏิบัติสดับตรับฟัง หมั่นเพ่งพินิจพิจารณาไปโดยลำดับ
ให้รู้จักสัจจะธรรมตามที่ทรงสั่งสอน น้อมเข้ามาที่ตนเองดังที่ทรงปฏิบัติมา
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ย่อมจะได้ปัญญาเห็นธรรมโดยลำดับ ตามควรแก่การศึกษาปฏิบัติ
ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*