ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป090

สติสัมโพชฌงค์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อย แต่ไม่เสียความ

ม้วนที่ ๑๑๖/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๑๖/๒ ( File Tape 90 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สติสัมโพชฌงค์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน

 

จะได้แสดงในข้อโพชฌงค์

ซึ่งได้แสดงมาแล้วในส่วนที่ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔

ในวันนี้จะได้นำกลับเข้ามาสู่แนวมหาสติปัฏฐาน

โดยยกโพชฌงค์ขึ้นเป็นหลักปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔

ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร

 

และก็พึงทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่าในพระสูตรใหญ่นี้

ได้ทรงแสดงโพชฌงค์ไว้ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติตามดูธรรม

อันเริ่มแต่ข้อนิวรณ์ ต่อมาข้อขันธ์ ๕ ข้ออายตนะ ๖ จึงถึงข้อโพชฌงค์

และต่อจากโพชฌงค์ก็เข้าอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นที่สุด

 

สติสัมโพชฌงค์องค์แห่งความรู้พร้อมคือสติ

สติในข้อนี้พึงทำความสำคัญว่าคือสติเพื่อความรู้พร้อม

อันเรียกว่าสัมโพชฌงค์ หรือโพชฌงค์ และเมื่อให้ประกอบด้วยสติปัฏฐานทั้ง ๔

ก็คือสติที่กำหนดดูกายเวทนาจิตและธรรมะในจิตนั้นเอง

เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ นี้จึงเป็นที่ตั้งของสติ

 

สติที่ตั้งกำหนดดูกายตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้

ก็ตั้งต้นแต่กำหนดดูลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่ตนเอง กำหนดดูอิริยาบถยืนเดินนั่งนอน

กำหนดดูทำความรู้ตัวในอิริยาบถย่อยๆออกไป ก้าวไปข้างหน้าถอยข้างหลัง แล เหลียว

เหยียดกายที่คู้ออกไป คู้กายที่เหยียดเข้ามา ทรงผ้านุ่งห่มถ้าเป็นภิกษุก็ทรงบาตร

และกินดื่มเคี้ยวลิ้ม ถ่ายหนักเบา เดินยืนนั่งนอนตื่นพูดนิ่ง

 

กำหนดดูอาการทั้งหลายที่มีในกายนี้คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด และปอด

ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก หรือสายรัดไส้ อาหารใหม่ อาหารเก่า และน้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง

น้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร

 

กำหนดดูธาตุทั้ง ๔ ในกายนี้

ส่วนที่แข้นแข็งก็เป็นปฐวีธาตุ ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลก็เป็นอาโปธาตุ

ส่วนที่อบอุ่นร้อนก็เป็นเตโชธาตุ ส่วนที่พัดไหวก็เป็นวาโยธาตุ

 

และกำหนดดูป่าช้าทั้ง ๙ แม้ไม่เห็นก็นึกดูด้วยใจ

ถึงกายของมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย เมื่อสิ้นชีวิตก็เป็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้าในครั้งโบราณ

ก็ตายวันหนึ่งสองวันสามวัน ขึ้นพองมีสีเขียวน่าเกลียด ถูกสัตว์ทั้งหลายกัดกิน

เป็นโครงกระดูกที่ยังมีเนื้อมีเลือดมีเส้นเอ็นรึงรัด ที่ไม่มีเนื้อแต่ยังเปื้อนเลือดมีเส้นเอ็นรึงรัด

ไม่มีเนื่อไม่มีเลือดแต่ยังมีเส้นเอ็นรึงรัดเป็นโครงร่างกระดูกอยู่

และที่ไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด กระดูกจึงกระจัดกระจายไป กระดูกมือก็ไปทางหนึ่ง

กระดูกเท้าก็ไปทางหนึ่ง กระดูกขาก็ไปทางหนึ่ง กระดูกเอวก็ไปทางหนึ่ง

กระดูกสันหลังก็ไปทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงก็ไปทางหนึ่ง กระดูกอกก็ไปทางหนึ่ง

แขนก็ไปทางหนึ่ง บ่าก็ไปทางหนึ่ง คอก็ไปทางหนึ่ง

ลูกคางก็ไปทางหนึ่ง ฟันก็ไปทางหนึ่ง ( จบ ๑๑๖/๑ )

( ข้อความขาดนิดหน่อย )

( เริ่ม ๑๑๖/๒ ) ที่มีสีขาวดังสังข์ เป็นกระดูกที่ล่วงเลยเวลากว่าปีหนึ่ง

ก็กระจัดกระจายเป็นกองเล็กกองน้อย และในที่สุดก็เป็นกระดูกผุป่นไปหมด

 

กำหนดดูกายนี้ตั้งแต่หายใจเข้าหายใจออกมาจนสิ้นหายใจเป็นศพดังกล่าว

และก็เบื้องต้นก็ไม่มี เมื่อธาตุทั้งหลายมาประชุมกันเข้าก็เป็นกายนี้ขึ้น

ครั้นธาตุทั้งหลายที่มาประชุมกันเข้าแตกทำลาย กายนี้ก็เริ่มเปื่อยเน่าผุป่นไป

จนเป็นผงธุลีกลับเป็นไม่มีเหมือนอย่างเก่า

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้พิจารณากายนี้ให้ตลอด ดั่งนี้

เป็นตัวสติที่กำหนดดู ดูด้วยตาเนื้อที่เห็นได้ในส่วนที่เห็นได้

ในส่วนที่ไม่เห็นเช่นว่าศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้าก็คิดด้วยใจ

โดยดูถึงกายนี้เมื่อสิ้นชีวิตถ้าหากถูกทิ้งไว้ในป่าช้าก็จะต้องเป็นเช่นนั้น

และเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ธาตุทั้งหลายยังประกอบกันอยู่

ก็เป็นกายที่มีอาการทั้งหลายปฏิบัติหน้าที่ ที่เรียกว่าอาการก็แปลว่ากระทำ ทำงาน

เช่นผมก็มียาวขึ้นได้ ขนก็ยังอยู่เป็นปรกติ เล็บก็ยาวได้ ฟันก็ดำรงอยู่

หนังก็ยังดำรงอยู่ทำหน้าที่เป็นหนัง อวัยวะภายในเช่นหัวใจก็เต้นอยู่ตลอดเวลา

คือต่างก็ทำงานตามหน้าที่ของอาการทั้งปวง และเมื่อรวมกันเข้าเป็นกาย

ก็มีอิริยาบถยืนเดินนั่งนอน และอิริยาบถที่จำแนกย่อยออกไป

และข้อสำคัญก็คือว่า หายใจเข้าหายใจออกอยู่

 

อาการหายใจเข้าหายใจออกนี้เรียกว่าปาณะ หรือปราณ

เป็นสัญลักษณ์ของความมีชีวิตที่ปรากฏ

เพราะฉะนั้นจึงเอาลมหายใจนี้มาเป็นชื่อของสัตว์มีชีวิตว่าปาโณ

คือปราณหมายถึงสัตว์มีชีวิต ก็หมายถึงว่าที่ยังหายใจเข้าหายใจออกอยู่นี้เอง

ในคำว่าปาณาติบาต ทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ก็คือทำสัตว์ที่หายใจนี่ให้ตกล่วงไป

ลมปราณจึงเป็นที่กำหนดหมายอย่างสำคัญของชีวิตมาตั้งแต่โบราณกาล

จนถึงเป็นคำแปลของคำว่าอัตตาหรืออาตมันในสันสกฤต

บาลีว่าอัตตา ที่เรามาใช้ว่าอาตมัน หรือที่พระเรียกตนเองว่าอาตมา หรืออาตมาภาพ

 

อัตตานี้ก็มีคำแปลว่าหายใจอย่างหนึ่ง

เพราะว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาที่ดำรงชีวิตอยู่

ก็กำหนดกันง่ายๆด้วยยังหายใจเข้าหายใจออกอยู่

และยังหายใจอยู่ก็แปลว่ายังเป็นสัตว์มีชีวิตอยู่ ยังเป็นอัตตาตัวตนอยู่ ยังไม่ตาย

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดู

ให้รู้จักกายที่แยกออกเป็นส่วนต่างๆเหล่านี้ ให้รู้จักว่านี่ลมหายใจเข้าลมหายในออก

นี่อิริยาบถยืนเดินนั่งนอน นี่อิริยาบถปลีกย่อย

ก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง แลเหลียวเป็นต้น นี่ผม นี่ขน นี่เล็บ นี่ฟัน นี่หนัง เป็นต้น

นี่เป็นปฐวีธาตุ ธาตุดิน นี่เป็นอาโปธาตุ ธาตุน้ำ นี่เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ นี่เป็นวาโยธาตุ ธาตุลม

 

และก็เมื่อแสดงโดยความสัมพันธ์กันต่อไป

เมื่อกายนี้เองยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นกายที่ปรุงแต่งอยู่ทุกส่วน

ปรุงแต่งนี้มาจากคำว่าสังขาร ที่แปลว่าปรุงแต่ง เช่นว่าหัวใจก็ยังเต้น

ตับปอดเป็นต้นก็ปฏิบัติหน้าที่ เลือดก็ยังฉีดเลี้ยงร่างกาย แปลว่าทำงาน

การทำงานของร่างกายซึ่งมีชีวิตอยู่นี้คือสังขารที่ปรุงแต่ง ยังปรุงแต่ง

และเมื่อกายยังเป็นสังขารคือยังปรุงแต่งอยู่ ตั้งต้นแต่ยังหายใจเข้าหายใจออกอยู่ดั่งนี้

ก็ทำให้เกิดเวทนา เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

 

แต่ถ้าหากว่ากายนี้หยุดปรุงแต่งคือเป็นศพ

ส่วนทั้งหลายของร่างกายก็หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือหยุดปรุงแต่ง

หัวใจปอดเป็นต้นก็หยุดทำงาน หายใจเข้าหายใจออกก็ดับหยุด หยุดปรุงแต่ง

เมื่อหยุดปรุงแต่งดั่งนี้เวทนาก็หมดไป สุข ทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็หมดไป

เหมือนดั่งศพ เขาเอาเผาก็ไม่เจ็บ ไม่รู้สึกหนาวไม่รู้สึกร้อนเป็นต้น ไม่มีเวทนา

แต่เมื่อร่างกายยังเป็นสังขารคือยังปรุงแต่งอยู่เป็นร่างกายที่มีชีวิต

ก็มีเวทนาเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

และเมื่อมีกายมีเวทนาดั่งนี้ ก็ยังเป็นกายที่ยังมีจิตใจพร้อมอยู่ ยังไม่ดับจิต

ถ้าดับจิตก็แปลว่าก็ดับเวทนา แล้วก็ดับความปรุงแต่งของกาย เป็นศพดังที่กล่าวมา

 

และจิตนี้เองก็เป็นสิ่งที่คู่กันอยู่กับกาย ดังที่เรียกว่ากายจิต

ทุกคนต้องมีกายมีจิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสแยกออกไปอีกในที่อื่นเป็นธาตุ ๖

ว่าบุรุษบุคคลนี้มีธาตุ ๖ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

ธาตุอากาศคือช่องว่าง กับวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ เป็นที่ ๖

ธาตุรู้นี้เองคือจิต หรือเราแปลเป็นภาษาไทยว่าใจ หรือเรียกควบกันว่าจิตใจ

และเมื่อมีจิต จิตสามัญทั่วไปก็เป็นจิตที่ยังมีกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ

บางคราวก็สงบ ไม่ปรากฏราคะ โทสะ โมหะ

และเมื่อมาปฏิบัติธรรมะเข้าก็ทำจิตให้เป็นจิตมีสมาธิได้ ให้วิมุติได้ในที่สุด

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนต่อไปให้กำหนดดูธรรมะในจิต

เมื่อจิตมีราคะโทสะโมหะ ตัวราคะโทสะโมหะนั่นแหละเป็นอกุศลธรรมในจิต

แต่สมาธิก็ดี สติก็ดี วิมุติก็ดี ก็เป็นกุศลธรรมในจิต

เพราะฉะนั้นจึงมาถึงธรรมะคือสิ่งที่บังเกิดขึ้นมีอยู่ในจิต

ก็ได้แก่ เจตสิก ในอภิธรรมที่แสดงไว้ ธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต

จึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูอกุศลธรรมก่อน

ซึ่งมาจำแนกเป็นนิวรณ์ ๕ ซึ่งบังเกิดขึ้นอยู่ในจิตสามัญทั่วๆไป เป็นฝ่ายอกุศล

และเมื่อตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูนิวรณ์ ๕ ดั่งนี้แล้ว

จึงได้ตรัสสอนต่อไปให้กำหนดดูขันธ์ ๕ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕

ก็เพราะว่าอกุศลเป็นส่วนนิวรณ์นี้ก็อาศัยขันธ์ ๕ นี่แหละบังเกิดขึ้น

หรือว่าอาศัยกายเวทนาจิตนี่แหละบังเกิดขึ้น ที่ตรัสมาแล้วคือ กาย เวทนา จิต

 

แต่มาถึงตอนนี้ได้ทรงจำแนกใหม่จาก ๓ ข้อ กายเวทนาจิตนี้เป็น ๕ ข้อ

โดยเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ

โดยที่ทรงเรียกกายในข้อหนึ่งของสติปัฏฐานมาเป็นรูป

เวทนาก็คงเรียกชื่อเป็นเวทนาเหมือนอย่างเดิม

มาถึงจิตก็ตรัสจำแนกอาการของจิต เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ

เป็นวิธีสำหรับที่จะให้กำหนดดู กาย เวทนา จิต ธรรม ให้ละเอียดยิ่งขึ้น

และโดยเฉพาะในข้อจิต ข้อที่ ๓ ของสติปัฏฐาน

การดูจิตก็คือ ดูสัญญา ดูสังขาร ดูวิญญาณ จำแนกอาการของจิตออกไปเป็น ๓

ในขันธ์ ๕ ก็รวมเป็นขันธ์ ๕ ซึ่งขันธ์ ๕ นี้แหละที่เป็นวิบาก

ซึ่งทุกคนเกิดมาก็มีขันธ์ ๕ มา เริ่มตั้งแต่ถือกำเนิดมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นแต่เพียงว่าได้มีความเติบใหญ่สมบูรณ์ขึ้นจากทีแรกที่เริ่มก่อตัว เป็นขันธ์ ๕ ที่บริบูรณ์

เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ อย่างเต็มที่

ดั่งที่ทุกคนมีอยู่ เป็นตัววิบาก

 

และตัววิบากนี้เองที่ตรัสว่าเป็นอัพยากตาธรรมา คือธรรมะที่เป็นอัพยากฤต

ไม่ยืนยันว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล คือเป็นกลางๆ

กิเลสทั้งหลายก็อาศัยขันธ์ ๕ นี้แหละบังเกิดขึ้น คือเกิดขึ้นที่ขันธ์ ๕ ดับไปก็ดับไปที่ขันธ์ ๕

กุศลธรรมทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นที่ขันธ์ ๕ ดับไปที่ขันธ์ ๕ เป็นคราวไปๆ

เป็นต้นว่าเมื่อกามฉันท์บังเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นที่ขันธ์ ๕

ที่รูป ที่เวทนา ที่สัญญา ที่สังขาร ที่วิญญาณ

และเมื่อดับไปก็ดับไปที่ขันธ์ ๕

 

ฝ่ายกุศลธรรมก็เหมือนกัน

การที่จะปฏิบัติธรรมะ เช่นว่าทำสติ ทำสมาธิ ก็อาศัยขันธ์ ๕ นี่แหละทำขึ้น

สติก็เกิดขึ้นดับไปที่ขันธ์ ๕ ฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่า ทั้งกุศล ทั้งอกุศล เกิดดับทั้งนั้น

ยกตัวอย่างเช่นว่ากามฉันท์เกิดขึ้นดังกล่าว ก็มาทำสติปัฏฐาน เจริญสติที่ไปในกาย

พิจารณาให้เห็นว่า ที่ตั้งของกามฉันท์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สวยงาม

เมื่ออสุภสัญญาปรากฏขึ้น กามฉันท์ก็ดับ และเมื่อกามฉันท์ดับ สติกับอสุภสัญญานั้นก็ดับ

เพราะว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ในการที่จะทำลายกามฉันท์ได้แล้ว

กามฉันท์หมดไปแล้วก็หมดหน้าที่ ก็ดับ

 

เพราะฉะนั้นทุกๆคนจึงต้องปฏิบัติกันอยู่เสมอ

เช่นว่าคราวนี้บังเกิดกิเลสขึ้น เจริญกรรมฐานดับกิเลสได้

กรรมฐานที่เกิดขึ้นดับกิเลสนั้นก็ดับไปด้วยเหมือนกันกับกิเลส

เพราะฉะนั้นจึงต้องทำกันใหม่ ต้องทำกันใหม่อยู่เรื่อยไป ทุกคราวที่กิเลสบังเกิดขึ้น

ถ้าหากว่ากรรมฐานที่ทำได้นั้นตั้งอยู่ไม่ดับไป ก็ไม่ต้องปฏิบัติกันใหม่

การปฏิบัติธรรมะก็เป็นดั่งนี้ ในเบื้องต้นต้องเป็นดั่งนี้

จนกว่าจะเป็นมรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นอริยมรรคอริยผลนิพพาน

ดับกิเลสเด็ดขาดมรรคผลนั้นก็ดับ นิพพานตั้งอยู่

มรรคผลนั้นมีหน้าที่ดับกิเลส กิเลสดับมรรผลก็ดับ แต่นิพพานตั้งอยู่เป็นอมตธรรม

เหล่านี้ก็อาศัยขันธ์ ๕ ทั้งนั้น กิเลสเกิดก็อาศัยขันธ์ ๕ ดับก็อาศัยขันธ์ ๕ ดับที่ขันธ์ ๕

ฝ่ายธรรมปฏิบัติก็เหมือนกัน ก็เกิดดับที่ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ จึงเป็นแหล่งสำคัญอันเป็นที่เกิดดับของทั้งกิเลส และทั้งของกุศลธรรมทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงวางขันธ์ ๕ ไว้ตรงนี้

อันเป็นต้นทางที่จะปฏิบัติเพื่อสัมโพชฌงค์คือความรู้พร้อมต่อไป

จึงได้ตรัสแสดงอายตนะกับสัญโญชน์ ซึ่งจะสืบต่อไปจนถึงอริยสัจจ์

 

เพราะฉะนั้นในวันนี้ก็เป็นการแสดงสติปัฏฐาน โดยอาศัยหลักสติสัมโพชฌงค์

คือว่าเมื่อปฏิบัติมาถึงสัมโพชฌงค์นี้ก็เป็นการทำสติเพื่อความรู้พร้อม

และการปฏิบัติทำสตินั้นก็ทำสติคือความกำหนดดูในสติปัฏฐานนั้นแหละ

มาโดยลำดับตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน มาจนถึงขันธ์ ๕ ดังที่กล่าว

และก็จะก้าวขึ้นไปสู่ อายตนะ สัญโญชน์

อันเป็นข้อที่พระพุทธเจ้าจะตรัสชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงกันของกิเลสทั้งหลาย

และต่อไปอริยสัจจ์ซึ่งเป็นความดับกิเลส จึงต้องใช้สติที่เป็นตัวตามดู ซึ่งเป็นอนุปัสสนา

เพื่อวิปัสสนาคือความดูให้เห็นแจ้ง อันเป็นสัมโพชฌงค์ความรู้พร้อม

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สติสัมโพชฌงค์

ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๑๖/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๑๗/๑ - ๑๑๗/๒ ( File Tape 90 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สติสัมโพชฌงค์

ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะเป็น สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน

ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสั่งสอน ย่อมประกอบด้วยพระธรรมคุณทั้ง ๖ บทนี้

 

แต่การแสดงอธิบายได้จำแนกไปแต่ละข้อ

เพื่อเห็นชัดตามพยัญชนะคือถ้อยคำ และอรรถคือเนื้อความของข้อนั้นๆ

และก็ได้แสดงมาจนถึงข้อสุดท้าย และตั้งข้อสุดท้ายเป็นหลักอธิบายมาหลายครั้ง

จนถึงมาจับอธิบายธรรมะในมหาสติปัฏฐานสูตร

และเมื่อมาถึงข้อโพชฌงค์ ๗ ก็ได้แสดงอธิบายว่า

ข้อโพชฌงค์ ๗ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ทั้งในธรรมะที่เป็นลำดับหมวดกันไป

และได้ตรัสไว้โดยเอกเทศอีกด้วย ( ๑๑๗/๑ ) ซึ่งทรงแสดงเป็นหลักในการปฏิบัติธรรม

ทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานทุกข้อทุกบท

ดังที่ได้ยกเอาพรหมวิหาร ๔ มาเป็นนิทัศนะ คือเป็นเครื่องแสดงให้เห็นตามหลักดังกล่าว

เพราะฉะนั้น หมวดโพชฌงค์นี้จึงเป็นหมวดสำคัญ

 

จะได้แสดงต่อไปตามแนวปฏิบัติ สติสัมโพชฌงค์

ธรรมะที่เป็นองค์พระคุณของความรู้พร้อมคือสติ ความระลึกได้ หรือความกำหนดรู้

และธัมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือธัมวิจยะ ความเลือกเฟ้นธรรม วิจัยธรรม

และวิริยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือวิริยะความเพียรละส่วนที่เป็นบาปเป็นอกุศล เป็นโทษ

เพียรธรรมบำเพ็ญส่วนที่เป็นบุญเป็นกุศลเป็นคุณ

ทั้งสามข้อนี้เป็นหลักในการปฏิบัติทั่วไป

 

และก็พึงเข้าใจด้วยว่าในการปฏิบัติทำสติก็ดี ธัมวิจยะก็ดี ทำความเพียรก็ดี

ต้องให้เป็นสัมโพชฌงค์ หรือโพชฌงค์ คือให้ประกอบด้วยความรู้ด้วย

ดังที่ได้มีแสดงองค์ประกอบในการปฏิบัติทุกอย่างว่าให้มีโยนิโสมนสิการ

คือการทำไว้ในใจโดยแยบคาย ได้แก่การใช้ความใคร่ครวญในข้อที่ปฏิบัติของตน

จับเหตุจับผลให้ถูกต้อง ตั้งแต่เบื้องต้นไปโดยตลอด

 

กับอีกข้อหนึ่งให้มีกัลยาณมิตรคือมิตรที่งาม

ก็คือผู้ปฏิบัตินั้นจะต้องมีครูอาจารย์ หรือผู้ปฏิบัติร่วมกันที่สามารถให้คำแนะนำได้

ครูอาจารย์นั้นก็มีพระพุทธเจ้าเป็นยอด เป็นสูงสุด

และครูอาจารย์ที่รับฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ

จนถึงสามารถที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้อื่นได้โดยถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ในศรัทธาคือความเชื่อ จึงได้แสดงตถาคตโพธิสัทธา

ความเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า

ไว้เป็นหลักในหมวดธรรมทั้งปวง โดยทรงเป็นกัลยาณมิตรที่หนึ่ง

ครูอาจารย์ต่อๆมาก็เป็นกัลยาณมิตรต่อๆมา แต่ต้องถือพระพุทธเจ้าเป็นที่หนึ่ง

ทุกๆครูบาอาจารย์ก็ต้องรวมอยู่ในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ถ้าสั่งสอนออกไปนอกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็รับปฏิบัติไม่ได้ หรือรับนับถือไม่ได้

ต้องมีพระพุทธเจ้าและคำสั่งสอนของพระองค์เป็นที่รวม

เป็นที่ตัดสินของการสอน และการปฏิบัติทุกอย่าง

 

พระพุทธเจ้าจึงเป็นยอดกัลยาณมิตร

ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมได้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์ และนำมาปฏิบัติ

โดยตนเองก็มีโยนิโสมนสิการ การใส่ใจไว้โดยแยบคายคือจับเหตุจับผลให้ถูกต้องให้ตลอด

ดั่งนี้ สติ ธัมวิจยะ และวิริยะ ก็เป็นสัมโพชฌงค์ขึ้นมา ด้วยอำนาจของโยนิโสมนสิการ

อาศัยกัลยาณมิตรซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นที่หนึ่ง เป็นยอด

 

และในการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็ได้แสดงมาแล้ว

ก็ต้องอาศัยสัมโพชฌงค์ทั้ง ๓ ข้อนี้ในการปฏิบัติ ตั้งแต่หมวดกายานุปัสสนา

ทุกปัพพะ คือทุกข้อ เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และในข้อธรรมานุปัสสนา

ที่จับแสดงนิวรณ์ ต่อมาก็แสดงขันธ์ แสดงอายตนะ และจึงมาถึงหมวดโพชฌงค์

อันเป็นตัวหลักที่จะต่อเชื่อม ระหว่างธรรมปฏิบัติในเบื้องต้น

กับมรรคมีองค์ ๘ หรืออริยสัจจ์ ๔ เป็นการเข้าถึงสัจจธรรม

อันเป็นหลักสำคัญในพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ดังที่ได้ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนา

และเมื่อพิจารณาจับความสำคัญของสติปัฏฐานมาโดยลำดับแล้ว

เมื่อมาถึงขั้นโพชฌงค์ดั่งนี้ก็ย่อมจะจับความสำคัญได้ว่า

จิตอันเป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๓ และธรรมอันเป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๔ เป็นหลักในการปฏิบัติ

ซึ่งจิตและธรรมนี้ก็ต้องประกอบมาตั้งแต่ในข้อกายและเวทนา

แต่ว่าเป็นข้อที่ละเอียดจึงได้ตรัสสอนให้จับพิจารณากาย พิจารณาเวทนา มาเป็นเบื้องต้น

เพราะกายกับเวทนานั้นเป็นของหยาบ

กายเองก็เป็นวัตถุประกอบขึ้นด้วยธาตุที่เป็นวัตถุทั้งหลาย

มาถึงเวทนา แม้ว่าเวทนาจะจัดเข้าในนามธรรม แต่ว่าก็เป็นนามธรรมที่หยาบ

เพราะว่าเวทนาที่เป็นไปทางกายนั้น ย่อมประกอบอยู่กับกาย หรือประกอบอยู่กับรูปกาย

 

เวทนาทางจิตจึงเป็นสิ่งที่ละเอียดขึ้น

เพราะฉะนั้นกายเองก็มีเวทนาประจำอยู่ตลอดเวลาที่มีชีวิต แต่ว่าเป็นนามธรรม

การจับพิจารณารูปกายซึ่งเป็นวัตถุขึ้นก่อน จึงกำหนดได้ง่าย

และเมื่อจิตรวมก็กำหนดเวทนาที่ปรากฏขึ้น เวทนาทางกายก็ปรากฏชัด

เวทนาทางจิตก็จะปรากฏชัดขึ้น และเมื่อเป็นดั่งนี้ ภาวะจิตก็จะปรากฏขึ้น

เพราะว่าจิตนี้ก็จะต้องประกอบอยู่กับกายและเวทนา ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่คือยังไม่ดับจิต

กายเวทนาก็ประกอบอยู่กับจิต จิตก็ประกอบอยู่กับกายและเวทนา

และเมื่อจิตปรากฏขึ้นธรรมะในจิตก็จะปรากฏขึ้น

เพราะว่าธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในจิต จิตประกอบด้วยธรรมะ

ส่วนดีก็เป็นกุศลธรรม ส่วนชั่วก็เป็นอกุศลธรรม

ส่วนที่เป็นกลางๆก็เป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่กล่าวว่าดี ไม่กล่าวว่าชั่ว

 

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสข้อที่ว่าด้วย นิวรณ์ อันเป็นอกุศลธรรมที่ปรากฏอยู่ในจิต

โดยที่จิตของสามัญชนทั่วไปย่อมเป็น กามาวจรจิต จิตที่เที่ยวไปในกาม หรือหยั่งลงในกาม

คือประกอบด้วย กิเลสกาม ประกอบด้วยวัตถุกาม กิเลสกามก็คือกิเลสที่เป็นเหตุให้ใคร่

เป็นต้นว่าราคะความติดใจยินดี นันทิความเพลิดเพลิน

 

วัตถุกาม ก็คือพัสดุหรือสิ่งอันเป็นที่ใคร่ที่ปรารถนาที่พอใจ

คือเป็นที่เกิดขึ้นของ กิเลสกาม ก็ได้แก่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง

ที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจทั้งหลาย

จิตสามัญชนจึงท่องเที่ยวไปในกามดังกล่าวอยู่โดยปรกติ เป็นกามาวจรจิต

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้ตรัสสอนให้กำหนดดู กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่

ซึ่งมีอยู่ในจิตที่เป็นกามาพจรนี้ และให้ตั้งสติกำหนดดูพยาบาท

เพราะเมื่อมีกามฉันท์ กามฉันท์ต้องการอารมณ์ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ

ครั้นไปพบอารมณ์ที่ไม่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็เกิดความกระทบกระทั่ง โกรธแค้นขัดเคือง

จนถึงเป็นความมุ่งร้าย ก็รวมอยู่ในข้อพยาบาท

 

และให้ตั้งสติกำหนดดูความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ

อันสืบเนื่องกันมาจากสองข้อข้างต้นนั้นด้วย

เหล่านี้เป็นนิวรณ์ซึ่งเป็นกั้นจิตไว้ไม่ให้เป็นสมาธิ และทำปัญญาคือความรู้ให้ทรามกำลัง

ด้วยต้องการที่จะให้ปฏิบัติทำสติกำหนดให้รู้จักนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้น พร้อมทั้งเหตุ

และทำความดับนิวรณ์เสีย เมื่อดับนิวรณ์เสียได้จึงจะได้สมาธิ และได้ปัญญา

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมคือทำสมาธิไม่ได้สมาธิ ก็เพราะว่าละนิวรณ์ไม่ได้

และไม่ได้ปัญญาก็เพราะละนิวรณ์ไม่ได้เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจว่าการละนิวรณ์นี้เองเป็นผลที่มุ่งหมายของการทำสมาธิ

ทำสมาธิก็เพื่อละนิวรณ์

 

พระพุทธเจ้าตรัสกรรมฐานไว้เป็นอันมาก ในหมวดสมถกรรมฐานทั้งหลายก็เพื่อละนิวรณ์

และกรรมฐานที่ตรัสสอนไว้นั้นก็เหมือนอย่างยาที่รักษาโรค

เพราะนิวรณ์มีหลายข้อ จึงตรัสกรรมฐานไว้หลายข้อเพื่อที่จะแก้นิวรณ์ข้อนั้นๆ

เหมือนอย่างว่าเป็นโรคกามฉันท์ ก็ต้องใช้ยาคือกรรมฐานสำหรับแก้กามฉันท์

เป็นโรคพยาบาทก็ต้องใช้ยาคือกรรมฐานสำหรับที่จะแก้พยาบาท ดั่งนี้เป็นต้น

 

อันนี้แหละจึงต้องใช้โยนิโสมนสิการ

จึงจะจับกรรมฐานมาปฏิบัติ เพื่อละนิวรณ์ของตนให้สำเร็จได้

ถ้าหากว่าจับกรรมฐานมาปฏิบัติไม่ถูก ก็ยากที่จะละนิวรณ์ได้ ก็ได้สมาธิยาก

และในการตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดนิวรณ์ทุกข้อนั้น

ก็ตรัสสอนให้รู้ถึงเหตุให้เกิดนิวรณ์ ให้รู้ถึงวิธีที่จะดับนิวรณ์

ให้รู้ถึงวิธีที่นิวรณ์ที่ดับแล้วละแล้วจะไม่บังเกิดขึ้นอีกด้วย

ในข้อนี้เองซึ่งแสดงว่าการปฏิบัติก็ต้องใช้โพชฌงค์ทั้ง ๓ ข้อนี้

คือสติ ธัมวิจยะ และวิริยะ ประกอบกันไป

ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ก็แยกแยะไม่ถูกว่าอะไรเป็นเหตุของนิวรณ์ และอะไรเป็นวิธีที่จะดับนิวรณ์

และอะไรเป็นวิธีที่จะทำนิวรณ์ที่ดับละแล้วไม่บังเกิดขึ้นอีกได้

ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ก็ประกอบกันอยู่ในสติปัฏฐานทั้งหมดนี่แหละ ไม่ต้องไปหาเหตุผลที่ไหน

แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะมิได้ทรงเฉลยเอาไว้ในข้อนิวรณ์โดยตรง

แต่ว่าลำดับธรรมะที่ทรงแสดงต่อมา ก็เป็นเครื่องเฉลยให้จับเหตุจับผลกันได้ในตัว

 

ดังที่จะได้แสดงต่อไปว่าเมื่อได้ตรัสในข้อนิวรณ์แล้ว

ก็มาตรัสให้กำหนดขันธ์ ๕ และอายตนะ เป็นอันว่าให้มาทำความรู้จักขันธ์ รู้จักอายตนะ

อันเป็นหลักสำคัญในการที่จะปฏิบัติเชื่อมต่อระหว่างสมาธิกับปัญญา

หรือระหว่างสมถะและวิปัสสนา

 

ขันธ์ ๕ และอายตนะนี้เป็นวิปัสสนาภูมิ คือเป็นภูมิของวิปัสสนา

จะต้องกำหนดให้รู้จักขันธ์ ๕ ให้รู้จักอายตะ จึงจะเห็นไตรลักษณ์

คือลักษณะเครื่องกำหนดหมายที่ไม่เที่ยง ที่เป็นทุกข์ และที่เป็นอนัตตา

อันมีอยู่ที่ขันธ์ ๕ และที่อายตนะ

 

และแม้ใน ๒ ข้อนี้ ก็ได้ตรัสให้ทำสติกำหนดอีกเหมือนกัน

ให้รู้จักว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอย่างนี้ เกิดอย่างนี้ ดับอย่างนี้

และมาในข้ออายตนะก็ตรัสสอนให้รู้จักตา รู้จักรูป

และให้รู้จักสัญโญชน์คือความผูกใจที่อาศัยตากับรูปบังเกิดขึ้น

ให้รู้จักหูรู้จักเสียง ให้รู้จักจมูกรู้จักกลิ่น ให้รู้จักลิ้นให้รู้จักรส

ให้รู้จักกายให้รู้จักโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง

ให้รู้จักมโนคือใจ ให้รู้จักธรรมะคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในใจ

และให้รู้จักสัญโญชน์คือความผูกใจความประกอบใจไว้

ซึ่งอาศัยหูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง

มโนคือใจ และธรรมะคือเรื่องราว บังเกิดขึ้นแต่ละข้อ

( เริ่ม ๑๑๗/๒ ) ทั้งให้รู้จักว่าสัญโญชน์บังเกิดขึ้นอย่างนี้ ดับไปได้อย่างนี้

และจะพึงไม่เกิดขึ้นอีกได้อย่างนี้ ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้นจึงมาถึงข้อสำคัญที่จะพึงเข้าใจในทางปฏิบัติเกี่ยวกับสัญโญชน์ต่อไป

ซึ่งจะผูกพันอยู่กับกรรมฐานทุกข้อ และกับขันธ์ อายตนะ

ซึ่งเป็นฝ่ายอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ กับทั้งกิเลสทุกๆข้อที่บังเกิดขึ้น

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats