ถอดเทปพระธรรมเทศนา
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 10:41
- เขียนโดย Astro Neemo
เทป089
หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗
พรหมวิหารธรรมข้อมุทิตา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
คัดจากเทปธรรมอบรมจิตข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๑๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๑๕/๒ ( File Tape 89 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗
พรหมวิหารธรรมข้อมุทิตา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
สวากขาโต ภควตา ธัมโม เป็นธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน
ได้แสดงอธิบายมาถึงบทที่ ๖ นี้
โดยสาธกสติปัฏฐานมาถึงธรรมานุปัสสนาในข้อโพชฌงค์
และก็ได้ยกอธิบายการปฏิบัติโพชฌงค์ในพรหมวิหารธรรม
และก็ได้แสดงอธิบายมาถึงข้อมุทิตาพรหมวิหารอันเป็นข้อที่ ๓
๒
โดยปฏิบัติตามหลักโพชฌงค์ ตามหลักที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้
คือการปฏิบัติโพชฌงค์ในกรรมฐานทั้งหลาย
และก็ได้ทรงยกเอากรรมฐาน อันเป็นฝ่ายสมถะเป็นอันมากมาสาธกแสดง
ด้วยการปฏิบัติตามหลักโพชฌงค์ และหมวดพรหมวิหารทั้ง ๔ นี้
ก็เป็นหมวดหนึ่งที่ตรัสเอาไว้ในพรหมวิหารข้อที่ ๓ มุทิตา
ที่ท่านแปลกันไว้ในภาษาไทยว่า ความพลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข มีความเจริญ
ปราศจากความไม่ยินดีในความสุขความเจริญของผู้อื่น อันเรียกกันว่า ริษยา
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ทำจิตให้ยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ความสุขความเจริญ
ปราศจากความริษยา ไม่พอใจในความสุขความเจริญของผู้อื่น
อันความริษยานี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นกิเลสข้อหนึ่ง
ในจิตใจของสามัญชนทั้งปวง เช่นเดียวกับโทสะพยาบาท และวิหิงสา
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนถึงธรรมะ
สำหรับที่จะเป็นเครื่องดับกิเลสที่บังเกิดขึ้นเหล่านี้แต่ละข้อ
และในการอบรมจิตให้มีมุทิตานี้ ก็อบรมจิตให้แผ่ไปได้ทั้งโดยเจาะจง ทั้งโดยไม่เจาะจง
โดยเจาะจงนั้นก็ดังเช่นที่ได้ยกมาแสดงในข้อเมตตากรุณา โดยไม่เจาะจงก็เช่นเดียวกัน
และก็ต้องระมัดระวังไม่ให้บังเกิดโสมนัส
คือความยินดีอีกอย่างหนึ่ง บังเกิดขึ้นในความสุขความเจริญของผู้อื่น
โสมนัสคำนี้ก็แปลกันว่าความยินดีบ้าง ความดีใจบ้าง ความชอบใจบ้าง
อันประกอบด้วยความกระหยิ่มใจใคร่จะได้เช่นนั้นบ้าง อันนับว่าเป็นกิเลส
คือทำให้เกิดโลภะตัณหาอยากที่จะได้จะถึงความสุขความเจริญเช่นนั้นบ้าง
อาการดั่งนี้รวมเข้าในคำว่าโสมนัสในที่นี้ จึงตรงกันข้ามกับคำว่ามุทิตา ความพลอยยินดี
อันผู้ที่ได้รับความสุขความเจริญนั้น ก็ย่อมมีความยินดีในความสุขความเจริญของเขา
ส่วนผู้ที่เจริญมุทิตานี้เป็นคนอื่น ซึ่งเมื่อได้เห็นเมื่อได้ยินว่าเขามีความสุขความเจริญ
ก็พลอยยินดีกับเขาด้วย คือมีใจแช่มชื่นปราศจากความริษยา
๓
และก็ไม่เป็นโสมนัสคือความพลอยดีใจ อันเป็นฝ่ายกิเลส
ซึ่งประกอบด้วยความกระหยิ่มใคร่จะได้ อันเป็นโลภะตัณหาในความสุขความเจริญนั้นเพื่อตน
คือไม่ยินดีเพื่อตนนั้นเอง แต่ยินดีเพื่อผู้ที่เขาได้เขาถึงโดยไม่ริษยา
แต่ถ้ามายินดีเพื่อตนขึ้นเมื่อใดก็เป็นโสมนัสเมื่อนั้น และก็เป็นกิเลส
อันโสมนัสนี้มีที่ตั้งใกล้กัน คล้ายกันหรือเป็นอันเดียวกันกับมุทิตา
คือมุทิตานั้นก็เป็นข้อที่พึงปฏิบัติในเมื่อผู้อื่นได้ประสบสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
เมื่อเขาได้ประสบก็เรียกว่าเขาได้ความสุขความเจริญ เป็นไปในทางง่าย
หากว่าจะยกตัวอย่างในโลกธรรมทั้ง ๘ ก็คือได้ลาภได้ยศได้สรรเสริญได้สุขต่างๆ
เหล่านี้ก็เป็นที่ตั้งของมุทิตา และก็เป็นที่ตั้งของโสมนัสด้วย
เพราะฉะนั้น โดยปรกติจิตของสามัญชนที่ยังไม่ได้อบรม
เมื่อเขาได้ประสบความสุขความเจริญดังกล่าว ก็มักจะเกิดความริษยา
และมักจะเกิดโสมนัสได้ด้วยในเมื่อคิดกระหยิ่มมาเพื่อตน
คิดฝันว่าตนก็จะได้อย่างงั้นอย่างงี้ อย่างเขา
เมื่อคิดฝันไปว่าได้สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจดั่งนั้น คิดไปก็โสมนัสยินดีไป
แต่ว่าเมื่อเขาได้..ริษยา จิตสามัญชนมักจะเป็นดั่งนี้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้แก้ด้วยปฏิบัติทางมุทิตา อบรมจิตให้มีมุทิตา
ให้เป็นความยินดีในความสุขความเจริญของเขา เพื่อเขา
ไม่ให้เป็นยินดีเพื่อตนซึ่งเป็นโสมนัส เพราะว่าเขาได้ ไม่ใช่ตนได้ ก็ยินดีเพื่อเขา
เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะเป็นการปฏิบัติที่ดับได้ทั้งริษยา และทั้งโสมนัสดังกล่าว
เป็นมุทิตาที่เรียกว่าความพลอยยินดี อันเป็นพรหมวิหารธรรม
ในการปฏิบัติอบรมจิตให้ประกอบด้วยมุทิตาดังกล่าวมานี้ ก็ต้องอาศัยหลักโพชฌงค์ทั้ง ๗
ตั้งต้นแต่หลักสติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือสติความระลึกได้
คือต้องตั้งสติกำหนดถึงสัตว์บุคคลนั้นๆโดยเจาะจง หรือโดยไม่เจาะจง
ก็คือสัตว์ทั้งปวง ซึ่งเป็นผู้ได้ประสบความสุขความเจริญ
๔
ที่ตั้งจิตว่าขออย่าให้เขาพลัดพรากหมดสิ้นไปจากสมบัติที่ได้แล้ว
ให้เขาดำรงอยู่ในสมบัติที่ได้แล้ว อันเป็นความปรารถนาดีต่อเขา
เมื่อทำสติให้กำหนดอยู่ในบุคคลผู้ที่ได้สมบัติแห่งความสุขความเจริญต่างๆ
และตั้งจิตเจตนาคือความคิดจงใจให้เขาไม่พลัดพรากไปจากสมบัติที่ได้แล้ว ดั่งนี้
ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติเจริญอบรมมุทิตาด้วยสติสัมโพชฌงค์
และในการที่ทำสติสัมโพชฌงค์ดั่งนี้ ก็จะต้องมีธัมวิจยสัมโพชฌงค์ข้อที่ ๒ ประกอบกันไป
เพราะว่าอกุศลจิตต่างๆย่อมบังเกิดแทรกแซงขึ้นได้ในการตั้งสติแผ่มุทิตาจิตดังกล่าวนี้
อันเป็นความริษยาบ้าง เป็นโสมนัสบ้าง
ความริษยานั้นก็คือความไม่ยินดี ที่จะให้เขามีความสุขความเจริญ
ให้บรรลุถึงสมบัติดังกล่าว และก็หมายถึงว่าทำให้เกิดความคิดที่จะทำลาย
ให้เขาพลัดพรากไปจากสมบัติที่ได้แล้วนั้นด้วย อันเนื่องมาจากความริษยา
เพราะความริษยานี้ย่อมมีความหมายไปถึงความคิดทำลาย
ความดีความสุขของคนอื่นดังกล่าวนั้นด้วย
เพราะฉะนั้นท่านจึงได้แสดงว่าความริษยานี้มีโทษมาก
เป็นเครื่องทำลายความดีความสุขของคนอื่น
และก็ชื่อว่าเป็นเครื่องทำลายความดีความสุขของส่วนรวม ของหมู่ชนด้วย
อันหมู่ชนที่ดำรงอยู่ได้โดยเป็นครอบครัว เป็นหมู่เล็กขึ้นไป ใหญ่ขึ้นไป จนถึงเป็นประเทศชาติ
ก็เพราะมีบุคคลในครอบครัวในหมู่ในประเทศชาติเป็นคนดี ประกอบคุณงามความดี
ซึ่งเป็นเครื่องเกื้อกูลต่างๆโดยลำดับมา
เพราะฉะนั้นทุกๆคนจึงต่างได้มีท่านผู้เป็นบุพการีของตน
คือผู้ที่ทำอุปการะก่อนตั้งแต่ในครอบครัวขึ้นไปจนถึงในประเทศชาติ หรือเป็นโลก
ซึ่งได้ทำคุณงามความดีต่างๆไว้ทำให้หมู่ชนดำรงอยู่ได้ มีความสุขความเจริญ
เพราะฉะนั้นความสุขความเจริญของครอบครัวตลอดจนถึงของประเทศชาติของโลก
๕
ย่อมบังเกิดขึ้นจากคุณงามความดีของผู้ทรงคุณงามความดีทั้งนั้น
ฉะนั้น ถ้าหากว่า ถ้าใครดีขึ้นมาก็ต้องริษยากัน ต้องทำลายกันลงไปดั่งนี้แล้ว
ก็เป็นการที่ตัดความสุขความเจริญของหมู่ อันรวมมาถึงแก่ของตัวเองด้วย
ถ้าคนดีทั้งหลายได้ถูกริษยา ถูกทำลายไปเสียโดยมากแล้ว
หมู่ชนเรานี้ หรือว่าโลกนี้ก็จะเต็มไปด้วยความเดือดร้อนต่างๆ ความชั่วต่างๆ
ความทุกข์ทรมาณต่างๆ ความเบียดเบียนกันต่างๆ
แต่การที่ได้พากันมีความสุขความเจริญอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่ายังมีคนดีอยู่ในหมู่ในโลก
ที่ประกอบคุณงามความดีเกื้อกูลต่างๆ เพราะฉะนั้นริษยาจึงเป็นสิ่งที่มีโทษมาก
และแม้ความโสมนัสคือความยินดีเพื่อตัวเท่านั้น ก็เป็นสิ่งที่มีโทษมาก
เพราะทำให้เป็นผู้ที่มีความเห็นแก่ตัว มุ่งจะให้ตัวได้ลาภได้ยศได้สรรเสริญได้สุขแต่เพียงผู้เดียว
หรือแต่เพียงที่เป็นพวกพ้องของตัว ญาติของตัว อันเป็นความคิดที่คับแคบ
และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ขวนขวายมาเฉพาะเพื่อตัว
เพื่อพวกของตัว ญาติมิตรของตัว ตัดรอนผู้อื่นที่เขาจะได้ดีมีสุขบ้าง
เพราะฉะนั้นทั้งริษยาและความที่มีโสมนัสเพื่อตัว และพูดง่ายๆก็คือว่าริษยาผู้อื่น
แต่ไม่ริษยาตัว ผู้อื่นได้ดีมีสุขริษยาแต่ว่าตัวได้ดีมีสุขโสมนัสยินดี ดั่งนี้
จึงเป็นเครื่องตัดทอนความเจริญทั้งของตัวเองและทั้งของผู้อื่น
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนให้มีมุทิตา เป็นการที่รู้จักทำใจให้กว้างขวาง
เมื่อเขาได้ดีมีสุขก็ยินดีเพื่อเขา และเมื่อตัวได้ดีมีสุขจะยินดีเพื่อตัวเป็นโสมนัสก็ไม่ว่ากระไร
ก็เป็นสิ่งที่ควรจะมีได้ แต่ว่าไม่ใช่ว่ามีความคิดคับแคบ
เมื่อเขาได้ดีมีสุขก็ไปเพ้อฝันว่าทำไมตัวจะได้ ก็ยินดีไปว่าตัวจะได้
ต่อเมื่อไปริษยาคือตัดรอนเขาลงไป เพื่อตัวจะได้ดั่งนี้
( เริ่ม ๑๑๕/๒ ) เพราะฉะนั้น มุทิตาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
หากพิจารณาดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่ามีความสำคัญจริงๆ ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วโดยสังเขป
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีธรรมวิจัย ความเลือกเฟ้นธรรมในใจของตัวเอง
๖
ในเมื่อความริษยาในความดีความสุขของผู้อื่น
และโสมนัสคือพอใจแต่เฉพาะให้ตัวได้ดีมีสุขเท่านั้น อันเป็นความคับแคบ
ดั่งนี้บังเกิดขึ้น ก็ให้รู้จักว่า นี่เป็นอกุศล นี่มีโทษ นี่เป็นของเลว
นี่เป็นธรรมะที่เรียกว่าสีดำ เทียบกันกับสีขาว
เมื่อพิจารณาให้รู้จักโทษดั่งนี้ก็เป็นธรรมวิจัยขึ้นในส่วนหนึ่ง
และเมื่อปฏิบัติอบรมมุทิตาให้บังเกิดขึ้น ก็ให้รู้จักว่ามุทิตาคือความยินดี
คือความคิดว่าขอให้เขาอย่าได้เสื่อมจากความสุขที่เขาได้
อันแสดงถึงความเป็นผู้ที่มีใจกว้าง และทำให้จิตบริสุทธิ์จากริษยาจากโสมนัสเพื่อตัวดังกล่าว
มุทิตาดังที่กล่าวมานี้เป็นกุศล ไม่มีโทษ เป็นธรรมะที่ประณีต เป็นธรรมะที่เป็นส่วนขาว
รู้จักแยกสิ่งที่ผุดขึ้นในใจตัวเองดั่งนี้ให้รู้จัก หากเป็นมุทิตาขึ้นมาก็ให้รู้ว่านี่ดี
ถ้าเป็นริษยาเป็นโสมนัสเพื่อตัวก็ให้รู้ว่านี่ไม่ดี และก็ให้รู้ว่าส่วนที่ไม่ดีนั้นก็ต้องละเสีย
แต่ว่าส่วนที่ดีนั้นควรจะอบรมให้บังเกิดขึ้น
กล่าวเฉพาะในข้อนี้ ริษยากับโสมนัสเพื่อตัวเป็นข้อที่ควรละเสีย
ส่วนมุทิตาเป็นข้อที่ควรอบรมให้มีขึ้น ดั่งนี้เป็นธรรมวิจัยจำแนกธรรม
จำแนกธรรมในใจของตัวเองนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญมาก อะไรผุดขึ้นในใจตัวเองก็ให้รู้
ชั่วก็ให้รู้ว่าชั่ว ดีก็ให้รู้ว่าดี ดั่งนี้แล้วก็เป็นธัมวิจยสัมโพชฌงค์
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงมาถึงข้อ ๓ วิริยสัมโพชฌค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือความเพียร
ก็คือต้องเพียรละฝ่ายอกุศล ต้องเพียรอบรมฝ่ายกุศลให้บังเกิดขึ้น
ประกอบด้วยความริเริ่ม คือให้เริ่มที่จะละฝ่ายอกุศล เริ่มที่จะอบรมฝ่ายกุศลให้บังเกิดขึ้น
ให้เป็นความริเริ่มขึ้นมา คือคอยละริษยาละโสมนัสเพื่อตัว และอบรมมุทิตาให้บังเกิดขึ้น
คือทำใจให้พลอยยินดี โดยทำใจให้คิดตั้งเจตนาของใจให้แรงออกไป
ว่าขอให้เขาอย่าได้เสื่อมจากสุขสมบัติต่างๆที่เขาได้
มุ่งใจออกไปให้แรงให้เขาไม่เสื่อมจากสุขสมบัติที่เขาได้
ให้เป็นความเริ่ม เริ่มที่จะละ เริ่มที่จะอบรมดั่งนี้ขึ้นมาในใจ
๗
และตรวจดูใจของตัวเองก็รู้ว่าเริ่มได้ไหม ถ้าใจยังขุ่นมัวอยู่ เอาแต่ริษยาเขา
เอาแต่มุ่งเพื่อใจตัวเองเท่านั้น ก็แปลว่ามุทิตาไม่เกิด
มุทิตานั้นไม่ใช่เกิดด้วยคิดว่าเกิด แต่ว่าเกิดด้วยความตั้งเจตนาอบรมใจตัวเองให้คิดไป
คิดฝ่าแรงของริษยา ของความยินดีเพื่อตัว ออกไปแรงๆ แม้ว่ายังดับริษยาไม่ได้
ยังดับความยินดีเพื่อตัวไม่ได้ ก็ฝ่ากิเลสเหล่านี้ออกไปแรงๆในด้านตรงกันข้าม
คือในด้านว่าขอให้เขาอย่าได้พลาด อย่าได้เสื่อมเสียไปจากสุขสมบัติที่เขาได้
และเมื่อมุ่งใจออกไปแรงๆดั่งนี้บ่อยๆ กำลังใจที่มุ่งแรงออกไปดั่งนี้
ก็จะมีพลังยิ่งกว่ากำลังของริษยาของความยินดีเพื่อตัว
ก็จะทำให้ความริษยาและความยินดีเพื่อตัวนั้น ค่อยๆเสื่อมกำลังลงไป
มุทิตาก็มีกำลังมากขึ้น แล้วก็ต้องดำเนินความเพียรดั่งนี้ต่อไป
ให้ก้าวหน้าไปจนกว่าจะดับริษยาได้ ดับความพอใจเพื่อตัวเท่านั้นได้
และก็ส่งจิตออกไปด้วยมุทิตาได้สะดวกขึ้นเป็นมุทิตาที่บริสุทธิ์ขึ้น ผุดผ่องขึ้น
จากริษยาจากโสมนัสเพื่อตัวดังที่กล่าวนั้น
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้มุทิตาพรหมวิหารนี้บังเกิดขึ้นในจิตได้
ปรากฏอยู่ในจิตได้ ผ่องแผ้วอยู่ในจิต
และความที่ผ่องแผ้วอยู่ในจิตนี้ ก็ทำให้จิตนี้เองได้ปีติคือความอิ่มใจ
อันเกิดจากจิตผ่องแผ้วจิตที่บริสุทธ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง แม้ที่กล่าวมา
จึงทำให้ได้ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือปีติ
และเมื่อได้ปีติดั่งนี้แล้วก็จะได้ได้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือปัสสัทธิ
ความสงบกายความสงบใจ มีสุข
และเมื่อได้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ได้สมาธิสัมโพชฌงค์
องค์แห่งความรู้พร้อมคือสมาธิความตั้งใจมั่น มีจิตที่สงบสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
มีอารมณ์เป็นอันเดียว คือว่ามีมุทิตาความที่จิตมุ่งดีปรารถนาดีออกไป
เป็นความเบิกบานยินดีในความได้ดีมีสุขของผู้อื่น ปราศจากริษยา
ปราศจากความยินดีเพื่อตัว แต่เป็นความยินดีเพื่อเขาในความสุขความสำเร็จของเขา
๘
จิตก็มีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ
และเมื่อเป็นสมาธิก็จะได้อุเบกขาสัมโพชฌงค์อันเป็นข้อที่ ๗ องค์แห่งความรู้พร้อมคืออุเบกขา
คือความที่จิตเพ่งสงบเฉยอยู่ด้วยมุทิตาในภายใน เป็นจิตที่บริสุทธิ์และกำกับอยู่กับสมาธิ
เพราะฉะนั้นเมื่อการปฏิบัติอบรมมุทิตาพรหมวิหาร ตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ ดังกล่าวมานี้
จึงจะได้มุทิตาพรหมวิหารตั้งขึ้นในจิต อันเป็นสมถกรรมฐานข้อหนึ่ง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗
พรหมวิหารธรรมข้ออุเบกขา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๑๕/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๑๖/๑ ( File Tape 89 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ
๑
หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗
พรหมวิหารธรรมข้ออุเบกขา
*
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วดังบทที่สวดว่า สวากขาโต ภควตาธัมโม
เป็น สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา
และ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้จำเพาะตน
ได้แสดงอธิบายมาโดยลำดับ ยกหมวดธรรมต่างๆเข้ามาสาธกอธิบาย
และก็ได้กล่าวแล้วว่าธรรมะทุกข้อทุกบทนั้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
ย่อมประกอบด้วยพระธรรมคุณทั้งหมดนี้ด้วยกัน
ข้อที่ยกมาสาธกแสดงก็เพียงเพื่อมาอธิบายในแต่ละบทของพระธรรมคุณเท่านั้น
และก็ได้ยกสติปัฏฐานทั้ง ๔ มาสาธกแสดงอธิบาย จนถึงข้อที่ว่าด้วยโพชฌงค์ ๗
และก็อธิบายโพชฌงค์นี้โดยพรหมวิหารทั้ง ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา ซึ่งได้อธิบายมาแล้ว
๒
ในวันนี้ก็จะแสดงในข้ออุเบกขาอันเป็นข้อที่ ๔
และแสดงทางปฏิบัติเจริญอุเบกขาพรหมวิหารข้อนี้ตามทางแห่งโพชฌงค์ ๗
ดังที่ได้อธิบายแสดงแล้วในข้อเมตตา กรุณา และมุทิตา
มาถึงอุเบกขาข้อนี้อันเป็นข้อที่ ๔ ท่านอธิบายโดยทั่วไปว่าคือความที่วางจิตเป็นกลาง
ไม่เสียใจในเมื่อผู้อื่นประสบวิบัติ หรือไม่ดีใจในเมื่อผู้อื่นซึ่งไม่เป็นที่รักประสบวิบัติ
แต่มีใจเป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้าย โดยที่พิจารณาปลงใจลงในกรรม และผลของกรรม
ว่าผู้นั้นผู้นี้ หรือแสดงรวมว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เป็นทายาทรับผลของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่นพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย
จักกระทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่วก็จักต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น
อุเบกขาข้อนี้ มักแปลกันอีกคำหนึ่งว่าความวางเฉย
แต่ว่าความวางเฉยนี้ก็จะต้องอธิบายว่าวางเฉยอย่างไร
ถ้าหากว่ามีความเข้าใจผิดก็จะทำให้การปฏิบัติในข้ออุเบกขานี้ผิดไปได้
แต่ที่ได้อธิบายมาข้างต้นนั้นเป็นการอธิบายตามหลักใหญ่ของอุเบกขาข้อนี้
โดยที่เมตตานั้นเป็นความตั้งใจปรารถนาให้เป็นสุข
ดั่งที่แปลกันว่าคือความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข
มุทิตานั้น กรุณานั้น คือความที่ตั้งใจช่วยให้พ้นทุกข์
ดังที่แปลกันว่าความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์
มุทิตานั้นเป็นความที่พลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข มีเจริญ
ก็มักจะแปลกันอย่างนั้นว่ายินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดี
ส่วนอุเบกข้อนี้แปลให้เข้าใจกันถูกต้องยิ่งขึ้นเฉพาะในข้อนี้
ก็มักแปลว่าความที่มีใจเป็นกลาง ไม่ยินดีไม่ยินร้ายในเมื่อผู้อื่นประสบวิบัติ
สำหรับผู้อื่นที่ประสบวิบัตินั้น โดยปรกติถ้าเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่รักก็มักจะเกิดความเสียใจ
ถ้าเป็นบุคคลที่เป็นศัตรูก็มักจะบังเกิดความดีใจ ตามวิสัยของจิตที่ยังไม่ได้รับการอบรม
และมักจะยกเอาวิบัติขึ้นมาเป็นที่ตั้ง
๓
แต่ว่าตามความหมายนั้น แม้ประสบสมบัติ
เมื่อเขาประสบสมบัติเต็มที่แล้วไม่ต้องช่วยเขาอีก ดั่งนี้ก็ใช้อุเบกขาได้
ดั่งเช่นบิดามารดาที่เลี้ยงดูบุตรธิดามา ช่วยมาโดยตลอดจนบุตรธิดามีความเจริญ
และเติบใหญ่พึ่งตัวเองได้แล้ว บิดามารดาก็วางอุเบกขาได้
ที่ว่าวางอุเบกขานั้นก็คือหมายความว่าวางใจเป็นกลางได้ ไม่ต้องไปขวนขวายที่จะช่วยต่อไป
และแม้ว่าเมื่อเขายังประกอบด้วยความสุข ความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ดีอยู่
มารดาบิดาไม่ต้องไปช่วยให้เขาพ้นทุกข์อะไร เมื่อเป็นดั่งนี้ก็วางอุเบกขาได้
หรือว่าเขาได้ดีมีสุขเป็นพื้นอยู่ เป็นปรกติแล้ว ก็ไม่ต้องไปพลอยยินดีอีก
ดั่งนี้ก็วางอุเบกขาได้
แต่เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ก็เหมือนอย่างว่า ไม่ต้องเมตตา ไม่ต้องกรุณา ไม่ต้องมุทิตา
ก็เป็นอย่างนั้นจริงในเมื่อไม่ต้องคิดช่วยให้เขาเจริญยิ่งขึ้น หรือไม่ต้องช่วยให้เขาพ้นทุกข์
หรือว่าไม่ต้องพลอยยินดีอะไรอีกเพราะเขาได้ดีมีสุขอยู่แล้ว ในขณะเช่นนี้ก็วางอุเบกขาได้
ต่อเมื่อมีอะไรที่ควรจะให้เขามีความสุขยิ่งขึ้น ดั่งนี้ก็มาใช้เมตตา
เมื่อเขาเป็นทุกข์ก็มาใช้กรุณา เมื่อเขาได้รับความสุขความเริญอะไรใหม่ๆขึ้นมา ก็มาใช้มุทิตา
ครั้นแล้วก็มาพักอยู่ในอุเบกขา
โดยที่มาพิจารณาปลงใจลงไปในกรรม และผลของกรรม
เมื่อเขามีความสุขความเจริญ ยังไม่มีความทุกข์เดือดร้อน ได้ดีมีสุขอยู่ตามสมควร
ก็เป็นอันว่าเขาได้ประกอบกรรมที่ดี และได้รับผลที่ดี
และเมื่อเขามีความบกพร่องมีความทุกข์ก็จะต้องช่วยเหลือกันต่อไป
ต้องมีเมตตามีกรุณากันต่อไป เมื่อเขาได้ดีอะไรขึ้นอีก ก็มีมุทิตากันต่อไป
แต่ว่าในเมื่อถึงคราวที่ช่วยไม่ได้ ดั่งนี้ก็ต้องวางใจให้เป็นอุเบกขา
ปลงลงในกรรม และผลของกรรมเหมือนกัน
เช่นว่าเขาเจ็บป่วยรักษาไม่หาย ก็ต้องปลงใจลงไปในกรรม ในผลของกรรม
๔
เขาต้องล้มตายลงไปช่วยไม่ได้ ก็ต้องปลงใจลงไปในกรรมในผลของกรรม
ว่าเป็นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว อันเป็นส่วนที่บาปเป็นอกุศล
เมื่อกรรมนั้นมาปรากฏผลขึ้นก็ต้องทำให้เป็นทุกข์เดือดร้อนจนถึงช่วยไม่ได้
หรือว่าต้องล้มตาย และก็เป็นไปตามคติธรรมดาของชีวิตสังขารทั้งหลายจะต้องเป็นเช่นนั้น
ก็ต้องมาปฏิบัติในข้ออุเบกขาวางใจเป็นกลาง
เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงไว้ว่าอุเบกขาคือความที่มีใจเป็นกลางนี้
เป็นเครื่องกำจัดราคะความติดใจ ชอบใจ และปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งใจ
ราคะนั้นก็เป็นฝ่ายกองราคะ ปฏิฆะนั้นก็เป็นฝ่ายกองโทสะ
และนอกจากนี้ท่านยังมุ่งหมายถึงอุเบกขาชนิดที่ประกอบด้วยความรู้
ไม่ใช่อุเบกขาที่ไม่ประกอบด้วยความรู้
เพราะว่าอันอุเบกขาคือความวางใจเป็นกลาง หรือที่แปลกันว่าความวางเฉยนั้น
ย่อมมีอยู่แก่ทุกๆคนในอารมณ์ทั้งหลาย คือเมื่อทุกๆคนประสบอารมณ์
อารมณ์บางอย่างที่เป็นที่ตั้งของโสมนัส ก็ย่อมเกิดโสมนัสความสุขใจความดีใจ
( เริ่ม ๑๑๖/๑ ) อารมณ์บางอย่างเป็นที่ตั้งของโทมนัส ก็เกิดโทมนัสความทุกข์ใจไม่สบายใจ
แต่อารมณ์บางอย่างไม่พอที่จะให้เป็นที่ตั้งของโสมนัสโทมนัสดังกล่าว ก็บังเกิดอุเบกขา
คือความวางเฉยอันหมายความว่าความรู้สึกเฉยๆ แต่ว่าไม่ประกอบด้วยความรู้
เพราะมิได้พิจารณาให้เห็นโทษของความไม่รู้ เห็นคุณของความรู้ จึงวางเฉยไปเท่านั้น
และความวางเฉยดังที่กล่าวมานี้ ก็ไม่เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอะไรในใจลงได้
เพราะว่า หากว่าอารมณ์นั้น ที่เฉยๆนั้น
มามีอะไรที่ทำให้น่าชอบใจขึ้นก็เกิดโสมนัสขึ้นมา เกิดราคะขึ้นมา
ถ้ามีอะไรที่ทำให้ไม่ชอบใจขึ้นก็เกิดโทมนัสขึ้นมา เกิดโทสะขึ้นมา เกิดปฏิฆะขึ้นมา
เพราะฉะนั้น จึงเป็นความเฉยๆที่ไม่มีคุณค่าอะไรทางธรรมปฏิบัติดังกล่าว
และความวางเฉยดังที่กล่าวมานี้เรียกว่า อัญญาณุเบกขา ความวางเฉยด้วยความไม่รู้
ซึ่งคนหนึ่งๆนั้น ในวันหนึ่งๆก็มีอุเบกขาเช่นนี้อยู่เป็นอันมาก
๕
เพราะว่าอารมณ์ที่มาประสบนั้นมีอยู่มากมายทุกเวลานาที
ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดยินดีบ้างยินร้ายบ้าง โสมนัสบ้าง โทมนัสบ้าง ไปทุกๆอย่าง
ที่เฉยๆอยู่ก็มีเป็นอันมาก แต่ก็เป็นเฉยด้วยความไม่รู้
ดั่งนี้ไม่ใช่เป็นอุเบกขาในพรหมวิหาร อุเบกขาในพรหมวิหารนั้นต้องเป็นวางเฉยด้วยความรู้
คือรู้ด้วยการพิจารณา ปลงใจลงไปในกรรมและผลของกรรม จนใจเป็นกลางได้
แม้ว่าในบุคคลซึ่งเป็นที่รัก และทั้งในบุคคลที่ไม่เป็นที่รัก วางใจลงเป็นกลางได้เหมือนกัน
และอุเบกขาดังที่กล่าวมานี้ย่อมทำให้จิตใจนี้ปราศจากอคติคือความลำเอียง
ทำให้ไม่ลำเอียงด้วยความรักชอบที่เรียกว่า ฉันทาคติ
ไม่ให้ลำเอียงด้วยความชัง อันเรียกว่า โทสาคติ
ไม่ให้ลำเอียงด้วยความหลง อันเรียกว่า โมหาคติ
ไม่ให้ลำเอียงด้วยความกลัว อันเรียกว่า พยาคติ
ใจที่ไม่ลำเอียงดั่งนี้เป็นใจที่ประกอบด้วยความเป็นธรรมถูกต้อง
ซึ่งบัญญัติคำกันขึ้นว่ายุติธรรม ซึ่งถือว่าเป็นหลักสำคัญในพรหมวิหารทุกข้อ
เพราะว่าเมื่อทำจิตใจให้มีความยุติธรรม เพราะปลงลงไปในกรรมและผลของกรรมได้ดั่งนี้แล้ว
ก็จะทำให้การปฏิบัติในข้อเมตตาเป็นต้นนั้น เป็นไปโดยถูกต้องด้วย
เป็นต้นว่ามารดาบิดาย่อมมีเมตตาในบุตรธิดาอยู่โดยธรรมชาติ
แม้ว่าจะยังไม่เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ทีเดียว เพราะยังประกอบด้วยความสิเนหาในบุตรธิดา
คือความรักที่เป็นตัวความผูกพันในบุตรธิดา ที่ได้แสดงมาแล้วว่าเป็นศัตรูที่ใกล้ของเมตตา
มารดานั้นมีทั้งเมตตามีทั้งสิเนหา ยังแยกกันไม่ออก จึงยังไม่เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ในเบื้องต้น
ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติในข้ออุเบกขานี้ด้วย
ก็จะทำให้เมตตาของมารดาบิดานั้น เป็นไปโดยถูกต้องยิ่งขึ้น
เป็นต้นว่าเมื่อบุตรธิดาไปทำผิด เช่นไปรังแกผู้อื่นในทางใดทางหนึ่ง
เมื่อมีผู้มาฟ้องหากมารดาบิดาไม่มีอุเบกขาดังกล่าว ย่อมจะเข้ากับลูก
๖
ไม่ยอมที่จะรับฟังว่าลูกผิด เพราะว่ามีความรักความสิเนหา มีกำลังแรง
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงไม่มีการที่จะตักเตือนว่ากล่าวลูก เข้ากับลูกอยู่เสมอ
ว่าเป็นลูกของเราแล้วต้องถูกเสมอ ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าเป็นการที่เมตตาในทางที่ผิด
ไม่ใช่เมตตาในทางที่ถูก
แต่ถ้าหากว่ามารดาบิดามีใจยุติธรรม พิจารณาหยั่งลงในกรรมในผลของกรรม
ก็คือว่ารู้จักผิดรู้จักถูก อะไรถูกก็ถูก อะไรผิดก็ผิด
นี่คือที่ปลงลงไปในกรรมมีความหมายอย่างนี้ รู้จักผิดรู้จักถูก
จึงพิจารณาลูกของตัว รับฟังคำฟ้องของผู้อื่น สอบสวนดูว่าผิดหรือถูก
ถ้าลูกของตนผิดก็ต้องว่ากล่าวตักเตือน หรือลงโทษตามสมควร
เพื่อให้ไม่ประพฤติผิดอีกต่อไป แต่เมื่อลูกถูก ก็ยอมรับว่าถูก
การปฏิบัติดั่งนี้ต้องมีอุเบกขาข้อที่ ๔ นี้เป็นหลัก
คือรู้จักที่จะมีใจเป็นกลาง โดยไม่ถือว่าลูกเขาลูกเรา
แต่ถือเอาถูกผิดเป็นที่ตั้ง ลูกของใครก็ตาม เมื่อผิดก็ว่าผิด เมื่อถูกก็ว่าถูก
และเมื่อผิดก็ตักเตือนว่ากล่าวกัน อบรมกัน
และเมื่อถูกก็ว่าถูก ควรชมก็ชม ควรส่งเสริมก็ส่งเสริม ดั่งนี้
แม้ในข้อกรุณาก็เหมือนกัน
ต้องมีอุเบกขาเป็นหลัก รู้จักผิดรู้จักถูก ไม่ใช่ว่าจะต้องช่วยกันไปทุกเรื่องทุกราว
แม้ว่าคนที่รักของตนไปทำผิดต้องโทษทางบ้านเมือง ก็เป็นอันว่าต้องวางอุเบกขา ช่วยไม่ได้
เขาต้องไปตามความผิดของเขา ตามโทษานุโทษ ตามกฏหมายบ้านเมือง
ถ้าหากว่าไม่มีอุเบกขา..จะต้องช่วยละ ก็เป็นอันว่าช่วยให้นักโทษแหกคุก
ช่วยให้คนที่รักแหกคุก อะไรเหล่านี้เป็นต้น ดั่งนี้เป็นการช่วยในทางที่ผิด ก็ไม่ได้
แต่ถ้ามีใจเป็นอุเบกขาวางใจเป็นกลางได้ รู้จักผิดรู้จักถูกอยู่แล้วก็จะทำให้ช่วยในสิ่งที่ควรช่วย
แต่สิ่งที่ช่วยไม่ได้ ก็ต้องวางอุเบกขา ช่วยไม่ได้
แม้ในข้อมุทิตาก็เหมือนกัน ก็ต้องมีความพลอยยินดีในทางที่ถูก
ถ้าพลอยยินดีในทางที่ผิดแล้ว ก็ทำให้เสีย
เหมือนอย่างที่มีนิทานสุภาษิตสอนเอาไว้ถึงพ่อแม่ที่ส่งเสริมให้ลูกเป็นโจร
เมื่อลูกไปขะโมยทรัพย์ของผู้อื่นมา พ่อแม่ก็ดีใจสรรเสริญ เออ ..ว่าเก่ง
ไปเอานั้นเอานี่มาได้ ก็ทำให้ลูกนั้นฮึกเหิม ลักขโมยเขายิ่งๆขึ้นไป
จนถึงเมื่อเติบใหญ่แล้วก็ถูกจับต้องโทษในฐานะเป็นโจร
อย่างนี้ก็เพราะมุทิตาของพ่อแม่ ลูกไปทำผิดได้อะไรมาให้ก็ดีใจส่งเสริม เป็นมุทิตาในทางที่ผิด
ดั่งนี้ก็เพราะขาดอุเบกขา คือความที่มีใจเป็นกลาง คือมีใจยุติธรรมดังที่กล่าวมา
เพราะฉะนั้น อุเบกขาข้อนี้จึงเป็นหลัก
ทำให้การปฏิบัติในเมตตากรุณามุทิตานั้นเป็นไปโดยถูกต้องด้วย
ทั้งทำให้ปฏิบัติทำเมตตากรุณามุทิตายิ่งๆขึ้นด้วย
ไม่ใช่หมายความว่า มีอุเบกขาคือวางเฉยไม่ต้องช่วยอะไร
ดั่งที่มีผู้เข้าใจผิดไปเขียนแสดงถึงพุทธศาสนาสอนให้มีอุเบกขา
เล่าถึงเรื่องที่ลงเรือเที่ยวไปในแม่น้ำ และก็มีผู้ที่ตกน้ำ
และก็มีผู้พูดขึ้นว่าพระพุทธเจ้าสอนให้อุเบกขา ให้วางเฉยไม่ต้องช่วย
เขาเขียนแสดงถึงความแปลการแปลความหมายในธรรมะไปในทางที่ผิด
เพื่อทำลายพุทธศาสนาดั่งนี้
เพราะอันที่จริงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอุเบกขาอย่างนี้
เมื่อควรจะต้องช่วยก็ต้องช่วย เช่นคนตกน้ำก็ต้องพยายามช่วย
แม้ว่าตนเองจะกระโดดลงไปช่วยอุ้มเอาขึ้นมาไม่ได้ ก็หาทางช่วยด้วยวิธีอื่น
เช่นเรือหาแพอะไรไปช่วย หรือว่าถ้าเป็นคนสามารถว่ายน้ำเก่ง ลงไปช่วยได้
ก็กระโดดลงไปช่วย แต่หากว่าถ้ากระโดดลงไปช่วยไม่ได้เพราะจะทำให้เป็นอันตรายไปด้วยกัน
ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าจนใจต้องหาวิธีอื่น ไม่ใช่ว่าดูดาย อันแสดงถึงความที่มีใจที่เรียกว่าใจดำ
ไม่ใช่สอนอย่างนั้น สอนให้ช่วย
๘
แต่ว่าเมื่อไม่เข้าใจ ก็ไปสอน ก็ไปแสดงว่าพุทธศาสนาสอนให้อุเบกขา
ไม่ต้องช่วยกันละ ไอ้ที่มันตกน้ำไปก็เพราะกรรมของเขาทำให้ตกน้ำ
แล้วไปแปลความหมายของกรรมไปว่าอย่างนั้น
คือแปลความหมายของการที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ปลงใจลงในกรรม
ก็ไปแสดงอย่างนั้นว่าเป็นกรรม กรรมของคนตกน้ำไม่ต้องไปช่วย ให้วางอุเบกขา
ดั่งนี้เป็นการที่แสดงธรรมะผิด แกล้งแสดงบิดเบือนให้ผิดไปจากความเป็นจริง
หรือว่าเข้าใจผิดอย่างนั้น
การเข้าใจธรรมะผิดดั่งนี้ย่อมมีโทษมาก
เมื่อไปปฏิบัติเข้า ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม
เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความเข้าใจธรรมะให้ถูกต้อง การปฏิบัติจึงจะถูกต้อง
อุเบกขาย่อมมีหลักในการปฏิบัติสำคัญดังที่กล่าวมา
เพราะฉะนั้น ในการเจริญพรหมวิหารจึงต้องเจริญปฏิบัติให้ถึงข้อที่ ๔
จึงจะเป็นพรหมที่ครบสี่หน้าโดยสมมติ คือเป็นพรหมวิหารที่สมบูรณ์
และแม้ในข้อนี้ก็ต้องปฏิบัติไปตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗
คือจะต้องมีสติกำหนดดูถึงสัตว์บุคคลที่จะปฏิบัติในอุเบกขา
และก็ต้องตั้งจิตพิจารณาลงไปในกรรมในผลของกรรมโดยถูกต้อง
และจะต้องมีธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรม เมื่ออะไรบังเกิดขึ้นในใจ ในการปฏิบัตินี้
ถ้าเป็นความยินดีความยินร้ายความโสมนัสโทมนัส ก็เรียกว่าผิด
ถ้าหากว่าเป็นความสงบโสมนัสโทมนัสได้ สงบราคะปฏิฆะได้
และทำไปด้วยความรู้ที่พิจารณาลงไปในกรรมในผลของกรรมโดยถูกต้อง
ใจก็เกิดเป็นกลางขึ้นได้โดยถูกต้อง ดั่งนี้เป็นเรื่องของธัมวิจยะ
และเมื่อจำแนกได้ดั่งนี้แล้วก็ต้องทำความเพียรที่จะละฝ่ายผิด ปฏิบัติในฝ่ายถูก
คืออุเบกขาที่บริสุทธิ์นี้ให้บังเกิดขึ้น ก็เป็นวิริยะ
และก็จะได้ปีติ ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิ ได้อุเบกขาในโพชฌงค์
คือในธรรมะ คือความที่มีใจเพ่งเข้ามาไม่เพ่งออกไป
มีลักษณะเป็นความที่วางคือไม่ยึดถือ เป็นลักษณะที่เฉยคือไม่วุ่นวาย
สงบอยู่ในภายในได้ เป็นใจที่ยุติธรรม ดั่งนี้ก็เป็นอุเบกขาในโพชฌงค์
และอุเบกขาในโพชฌงค์นี้เองก็ไปทำให้การปฏิบัติอุเบกขาในสัตว์บุคคลเป็นไปโดยถูกต้อง
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งในทำความสงบสืบต่อไป
*