ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป083

พระธรรมคุณ ๙ โอปนยิโก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

จิต วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ๓

ธรรมชาติของจิต ๔

จิตตั้งอยู่ในกุศลทำสมาธิได้ง่าย ๖

ข้อที่เรียกว่ามีอารมณ์เดียว ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๐๗/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๐๗/๒ ( File Tape 83 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณ ๙ โอปนยิโก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะนั้นแสดงในพระธรรมคุณที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่

ว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก เป็นธรรมะอันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง

อกาลิโก เป็นธรรมะไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก เป็นธรรมะที่พึงเรียกให้มาดู

ซึ่งได้แสดงมาโดยลำดับ และโดยเฉพาะเป็นธรรมะที่พึงเรียกให้มาดูนั้น

โดยตรงก็คือพึงเรียกตนเองนี่แหละให้มาดู

 

เมื่อเรียกตนเองให้มาดู ด้วยอาศัยสติความระลึกกำหนด

ญาณปัญญา ความหยั่งรู้ ความรู้ทั่วถึง จึงจะรู้จะเห็นธรรมะทั้งที่เป็นส่วนปริยัติธรรม

ทั้งที่เป็นส่วนปฏิบัติธรรม และทั้งที่เป็นส่วนปฏิเวธธรรม ความรู้แจ้งแทงตลอด

อันหมายถึงผลของการปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงมรรคผลนิพพาน

เพราะธรรมะเป็นสภาพที่มีอยู่ และเป็นสภาพที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง

ฉะนั้น จึงควรเรียกให้มาดู เพราะมีอยู่จึงเห็นได้

และเพราะเป็นสภาพบริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงทำให้ผู้ดูได้รับความบริสุทธิ์ผุดผ่อง

แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยมีการน้อมเข้ามา ดังบทพระธรรมคุณต่อไปว่า โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

โดยตรงก็คือน้อมจิตนี้เองเข้ามา เข้ามาดู จึงจะรู้จึงจะเห็น

 

จิต วิญญาณธาตุ ธาตุรู้

 

จิตนี้เป็นวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ และเป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง

แต่ว่าเพราะจิตนี้มีกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามาตั้งอาศัยอยู่ในจิต

จึงเรียกกิเลสว่าอุปกิเลส แปลว่ากิเลสที่จรเข้ามา จึงทำจิตนี้ให้เศร้าหมองไป

และกิเลสนี้เองก็เป็นเครื่องปิดบังธาตุรู้ ไม่ให้รู้ไม่ให้เห็นตามเป็นจริง

แต่ว่าให้รู้ให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง

 

เพราะว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติรู้ ก็ต้องรู้ ไม่รู้ผิดก็ต้องรู้ถูก หรือไม่รู้ถูกก็ต้องรู้ผิด

เมื่อจิตเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรเข้ามา ทำให้ความปภัสสรคือผุดผ่อง

ความผุดผ่องของจิตมัวหมอง เหมือนอย่างแว่นส่องหรือกระจกเงา

หรือแม้แว่นตาที่มัวหมอง มีฝุ่นละอองจับ มีสิ่งสกปรกจับ

ย่อมทำให้ไม่อาจที่จะส่องดูได้ หรือว่าส่อง หรือว่าสวมแว่นดูอะไรให้เห็นได้

จิตก็เป็นเหมือนเช่นนั้น เมื่อมีเครื่องเศร้าหมองตั้งอยู่ในจิต

ทำให้ความปภัสสรคือผุดผ่องของจิตนั้นมัวหมองไปไม่ปรากฏ ก็ทำให้รู้ผิดเห็นผิด

 

ต่อเมื่อได้ชำระล้างเช็ดสิ่งที่เศร้าหมองนั้น ที่แว่นส่องหรือที่กระจก หรือที่แว่นตา

ให้แว่นส่องสะอาดบริสุทธิ์ ให้แว่นตาสะอาดบริสุทธิ์ จึงจะส่องดูอะไรได้

หรือส่อง หรือสวมแว่นอ่านหนังสือได้ ดูอะไรได้

จิตก็เช่นเดียวกันเมื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมอง

ความปภัสสรของจิตที่เป็นธรรมชาติปรากฏเต็มที่

จึงจะทำให้รู้ถูกเห็นถูกรู้ชอบเห็นชอบ ตามที่เป็นจริง

 

ธรรมชาติของจิต

 

และจิตนี้มีธรรมชาติเป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้

เมื่อน้อมไปทางไหนมากก็เอนเอียงๆไปทางนั้น

เป็นไปทางนั้นมาก ไม่เอนเอียงไปทางอื่น ไม่เป็นไปในทางอื่น

ความน้อมไปของจิตดังกล่าวนี้ ก็น้อมไปด้วยวิตกความตรึกนึกคิด วิจารความตรอง

เมื่อจิตนี้วิตกวิจารนึกคิดตริตรองไปในทางใดมากก็น้อมไปในทางนั้นมาก ไม่น้อมไปในทางอื่น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ดั่งนี้ในพระสูตรที่เรียกว่า เทวธาวิตักกสูตร

พระสูตรที่ตรัสสอนให้ทำวิตกคือความตรึกนึกคิดให้เป็น ๒ ส่วน

คือให้เป็นฝ่ายอกุศลวิตกความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลส่วนหนึ่ง

ให้เป็นกุศลวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลอีกส่วนหนึ่ง

ด้วยปัญญาคือความรู้นี้เอง

 

เมื่อจิตคิดไปด้วยอกุศลวิตก ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศล

คือกามวิตกความตรึกนึกคิดไปในกาม คืออารมณ์ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

พยาบาทวิตกตรึกนึกคิดไปในทางประทุษร้ายปองร้าย

วิหิงสาวิตกตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียน

 

ก็ให้รู้ ว่าบัดนี้เราตรึกนึกคิดไปอย่างนี้ๆ และความตรึกนึกคิดไปอย่างนี้ๆ

เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งตนเองทั้งผู้อื่นบ้าง

เป็นเหตุดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นเพื่อนิพพานคือความดับกิเลส

เมื่อทำปัญญาคือความรู้ให้เกิดขึ้นดั่งนี้ ให้จิตนี้รับรู้ในโทษของความตรึกนึกคิด

ที่เป็นอกุศลดังกล่าว อกุศลวิตกความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลดังกล่าวก็จะดับไป

ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติทำอกุศลวิตกความตรึกนึกคิด ที่เป็นอกุศลไว้กองหนึ่ง

ไว้ส่วนหนึ่ง ด้วยปัญญาคือความรู้

 

เมื่อตรึกนึกคิดไปในทางกุศลอันตรงกันข้าม

คือในการออกจากกาม ในไม่พยาบาทมุ่งร้ายปองร้าย ในความไม่เบียดเบียน

ก็ให้รู้ว่าบัดนี้เราตรึกนึกคิดอย่างนี้ๆ ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น

เพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ไม่เป็นไปเพื่อดับปัญญา ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น

เป็นไปเพื่อนิพพานคือความดับกิเลส เมื่อทำความรู้ให้จิตรับรู้อยู่ดั่งนี้

ก็เป็นอันว่าได้ทำกุศลวิตกความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลไว้อีกกองหนึ่งอีกส่วนหนึ่ง

 

และได้ตรัสเอาไว้ว่า ( เริ่ม ๑๐๗/๒ ) เมื่อวิตกคือตรึกนึกคิดวิจารคือตรอง

ไปในฝ่ายอกุศลมาก ก็ย่อมละฝ่ายกุศล ย่อมตั้งอยู่ในฝ่ายอกุศลมาก

ความน้อมไปของจิตใจก็ย่อมน้อมไปในฝ่ายอกุศลมาก

แต่ถ้าตรึกนึกคิดตริตรองไปมากในฝ่ายกุศล ก็จะละฝ่ายอกุศล

จะตั้งอยู่ในฝ่ายกุศลมาก ความน้อมไปของจิตก็จะน้อมไปฝ่ายกุศลมาก

 

จิตย่อมมีธรรมชาติที่น้อมไปทางใดทางหนึ่งมากดั่งนี้

แต่ว่าเมื่อน้อมไปในฝ่ายอกุศล ผู้ปฏิบัติก็พึงห้ามจิต หยุดจิต เตือนจิต

ให้หยุดจากความน้อมไปในทางอกุศลนั้น ซึ่งตรัสอุปมาไว้เหมือนอย่างคนเลี้ยงโค

ที่ต้อนโคไปเลี้ยงในเดือนสุดท้ายแห่งฤดูฝน นาเต็มไปด้วยข้าวกล้า

ฝูงโคก็จะเแวะเวียนกินข้าวกล้าของชาวนา คนเลี้ยงโคก็ต้องใช้ปฏักตีบ้างแทงบ้าง

ต้อนขับไล่ห้ามมิให้ฝูงวัวแวะเวียนกินข้าวของชาวนา ฉันใด

 

บุคคลก็ต้องคอยห้ามจิต เตือนจิต ดุจิต

แนะนำจิตให้หยุดจากความตรึกนึกคิดตริตรองไปในอกุศลทั้งหลายฉันนั้น

เพราะว่าจิตนี้เป็นธาตุรู้ เมื่อให้คำแนะนำตักเตือนห้ามปรามดุว่าจิตของตนเอง

จิตก็จะสามารถรับรู้ได้ และก็จะหยุดได้จากความตรึกนึกคิดตริตรองไปในฝ่ายอกุศลนั้นๆ

และก็เตือนได้แนะนำได้ให้ตรึกนึกคิดไปแต่ในฝ่ายกุศล

เมื่อตรึกนึกคิดไปในฝ่ายกุศลอยู่แล้ว ก็ต้องรักษาไว้ให้ตรึกนึกคิดอยู่แต่ในฝ่ายกุศลแต่ส่วนเดียว

และก็ได้ตรัสสอนอีกว่า แม้ว่าจะตรึกนึกคิดตริตรองอยู่แต่ในฝ่ายกุศลอย่างเดียว

ถ้ามากเกินไปคือตรึกนึกคิดไปในทางกุศลนั้น ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ไม่ต้องพักกัน

ก็จะทำให้กายนี้ลำบาก จะทำให้จิตนี้ฟุ้งขึ้น

 

เพราะฉะนั้นแม้จะตรึกนึกคิดตริตรองไปในทางกุศล ก็ให้เป็นไปพอสมควร

และก็ต้องปฏิบัติหยุดแม้ความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลนั้น ตั้งจิตให้สงบอยู่ในภายใน

รู้ธรรมะในภายในจิตว่ามีอยู่ คือรู้ความสงบนี้เองที่เป็นภายใน อยู่กับความสงบในภายใน

เมื่อเป็นดั่งนี้กายก็จะไม่ลำบาก จิตก็จะไม่เดือดร้อน จะไม่ฟุ้งขึ้น

จะเป็นไปเพื่อสมาธิ จนถึงสมาธิที่แนบแน่น จนถึงฌาน

เป็นไปเพื่อวิชชาคือความรู้ หรือญาณคือความหยั่งรู้ที่สูงขึ้นจนถึงที่สุด

 

จิตตั้งอยู่ในกุศลทำสมาธิได้ง่าย

 

และเมื่อปฏิบัติหัดจิตให้น้อมมาในทางกุศลมาก

คือตรึกนึกคิดตริตรองมาในฝ่ายกุศลมาก

จิตก็จะตั้งอยู่ในฝ่ายกุศลมาก และก็จะทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ง่าย

ซึ่งตรัสเปรียบไว้ว่าเหมือนอย่างคนเลี้ยงโคที่ต้อนโคเลี้ยงในปลายฤดูร้อน

ท้องนาก็ไม่มีข้าวกล้า ก็ปล่อยโคให้เที่ยวหากินไปตามสบาย

ไม่ต้องกลัวว่าโคจะไปแวะเวียนกินข้าวกล้าของชาวนา ผู้เลี้ยงโคเองก็นั่งพักได้ที่ใต้ร่มไม้

เพียงแต่คอยดูว่าโคอยู่ที่นั่นๆเท่านั้น ไม่ต้องไปคอยไล่คอยต้อน

เพราะกลัวว่าโคจะกินข้าวของชาวนา เพราะว่านาในเวลานั้นไม่มีข้าวกล้าอยู่แล้ว

มีแต่หญ้าสำหรับที่จะให้โคกิน

 

จิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้ฝึกหัดปฏิบัติให้น้อมมาในทางกุศลมาก ก็จะตั้งอยู่ในกุศลมาก

อยู่ตัวอยู่ในทางกุศลมาก เพราะฉะนั้น อาการที่จะต้องคอยกวดขันจิตก็น้อยลงได้

อาการที่จะห้ามปรามจิตที่จะดุว่าจิตก็น้อยลงได้

เพราะว่าจิตน้อมมาในทางกุศลอยู่ตัวขึ้นมากแล้ว ผู้ปฏิบัติก็นั่งสงบอยู่ในภายในได้

คือตั้งอยู่ในสมาธิ ทำจิตให้มีอารมณ์เป็นอันเดียว

คนเลี้ยงโคนั้นนั่งสงบอยู่ใต้โคนไม้ ทำความรู้อยู่ว่าโคอยู่ที่นั่น

ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมะนั้นก็ตั้งจิตสงบอยู่ในภายใน รู้ว่าจิตมีอยู่

อารมณ์ที่จิตกำหนดมีอยู่ ในภายใน

 

ข้อที่เรียกว่ามีอารมณ์เดียว

 

อันอารมณ์ที่จิตกำหนดที่มีอยู่ในภายในนั้น

ก็คือว่ากรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติ ดังเช่นสติปัฏฐาน

ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติตั้งสติกำหนดกายเวทนาจิตธรรม

ก็ทำความกำหนดอยู่ในภายใน ว่ากายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมะมีอยู่

ตามที่กำหนดตั้งไว้ และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะมีอารมณ์เป็นอันเดียวตั้งอยู่ในภายใน

เป็นสติปัฏฐานตั้งสติอยู่ในภายใน

 

การปฏิบัติดั่งนี้ก็ต้องอาศัยโอปนยิโกน้อมเข้ามา คือน้อมจิตนี้เองเข้ามา

ในกุศลธรรมทั้งหลาย ในกุศลวิตกทั้งหลาย และน้อมเข้ามาในสมาธิ น้อมเข้ามาในปัญญา

เมื่อเป็นดั่งนี้จิตจึงจะได้ธรรมะที่ปฏิบัติ จึงจะถึงธรรมที่ปฏิบัติ จึงจะรู้จึงจะเห็นธรรมะ

เพราะฉะนั้น พระธรรมคุณบทนี้ จึงเป็นหลักปฏิบัติอันสำคัญอีกข้อหนึ่ง

สืบเนื่องมาจากข้อต้นๆ เรียกตนให้มาดู ก็จะต้องน้อมจิตนี้เองเข้ามาดู

ถ้าไม่น้อมจิตนี้เข้ามาดูแล้วก็จะเห็นธรรมะไม่ได้

 

แต่ว่าการที่จะน้อมจิตเข้ามาดูนั้น ก็ต้องปฏิบัติหัดน้อมเข้ามา

ตั้งต้นแต่หัดทำความรู้จักวิตกวิจารในจิตใจของตนเอง

คือรู้จักความนึกคิดตริตรองในจิตใจของตนเอง เป็นอกุศลก็ให้รู้ เป็นกุศลก็ให้รู้

เท่ากับแยกไว้เป็น ๒ กอง และให้รู้ถึงโทษของวิตกวิจารที่เป็นฝ่ายอกุศล

ให้รู้ถึงคุณของวิตกวิจารที่เป็นฝ่ายกุศล ปฏิบัติห้ามจิตของตนไม่ให้มีวิตกวิจารไปในฝ่ายอกุศล

แต่แนะนำตักเตือนให้วิตกวิจารไปในฝ่ายกุศล และในเบื้องต้นก็จะเป็นการปฏิบัติลำบาก

เพราะจิตนี้เคยน้อมไปในฝ่ายอกุศลอยู่เป็นอาจิณ เมื่อกลับมาน้อมไปในฝ่ายกุศลก็เป็นการยาก

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงมักจะบ่นกันว่าทำสมาธิไม่ได้ ปฏิบัติในศีลก็ไม่ได้

คือห้ามจิตไม่ได้ ทำสมาธิไม่ได้

 

เพราะฉะนั้น ตนเองก็ต้องเป็นนายโคบาล

ที่คอยถือปฏัก ที่จะป้องกันจิตของตัวเอง ที่เปรียบเหมือนโค

ที่ชอบแวะกินข้าวกล้าในนาของชาวนา เช่นเดียวกับจิตที่ชอบวิตกวิจาร

ไปในกามทั้งหลาย ไปในทางพยาบาท ไปในทางเบียดเบียน

ก็ต้องคอยลงปฏักจิตนี้แหละ ห้ามจิต หัดให้น้อมมาในทางกุศล

เช่นในการปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ที่ปฏิบัติกันอยู่

แปลว่าที่แรกก็ต้องลงปฏักกัน ลงปฏักจิตของตัวเอง หัดให้น้อมเข้ามาในทางกุศล

และเมื่อหัดบ่อยๆดั่งนี้แล้ว ความน้อมของจิตก็จะน้อมมาเองโดยสะดวก

การที่จะต้องลงปฏักจิตก็ไม่ต้องกัน เลิกได้

 

เหมือนอย่างนายโคบาลที่ปล่อยโคให้เที่ยวกินหญ้าอยู่ในปลายฤดดูร้อน

นาไม่มีข้าวกล้า คนเลี้ยงโคก็นั่งสบายอยู่ใต้ต้นไม้ คอยดูว่าโคอยู่ที่นั่นที่นี่เท่านั้น

เหมือนดั่งจิตตั้งสงบอยู่ในภายใน รู้ว่ากายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมมีอยู่

การปฏิบัติก็เป็นไปได้ง่ายในเมื่อจิตน้อมเข้ามาในทางกุศลได้มาก และอยู่ตัวขึ้นแล้ว

นี่แหละคือโอปนยิโก พึงน้อมเข้ามา ก็คือพึงน้อมจิตนี้เองเข้ามาสู่ธรรมะ

จึงจะได้เห็นธรรมะ จึงจะได้บรรลุธรรมะ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

พระธรรมคุณ ๑๐ โอปนยิโก

การปฏิบัติตั้งสติกำหนดเวทนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ข้อว่าน้อมจิตดูเวทนา ๓

การกำหนดเวทนา ๕

อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของเวทนา ๖

นิรามิสสุข นิรามิสทุกข์ ๗

เนกขัมมะสิตะ ๘

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๐๗/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๐๘/๑ ( File Tape 83 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณ ๑๐ โอปนยิโก

การปฏิบัติตั้งสติกำหนดเวทนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

เป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง เป็นธรรมไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เป็นธรรมควรเรียกให้มาดู เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามา ได้ในบทว่าโอปนยิโก

ก็คือน้อมจิตนี้เองเข้ามา น้อมเข้ามาทำไม ก็น้อมเข้ามาดู ก็จะรู้จะเห็น

และจะได้ความสำนึกว่าธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

 

เพราะว่าเมื่อได้รู้ได้เห็น ก็ได้รู้ได้เห็นจริงเหมือนดั่งที่ตรัสไว้นั้นทุกประการ

โดยที่ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา และเรียกตนเองให้มาดูได้ แนะนำผู้อื่นให้มาดูได้

เพราะเป็นสภาพที่มีอยู่จริง บริสุทธิ์จริง แต่จะต้องน้อมจิตเข้ามา

คือน้อมจิตเข้ามาดู

การดูนั้นเรียกว่า อนุปัสสนา ดูตาม อันเป็นลักษณะของสติประการหนึ่ง

เรียกว่า วิปัสสนา ดูเห็นแจ้ง อันเป็นลักษณะแห่งวิปัสสนาประการหนึ่ง

หรือเป็นลักษณะของปัญญา ดูที่เป็นดูตามเป็นลักษณะของสติ

ดูที่เห็นแจ้งเป็นลักษณะของวิปัสสนาหรือปัญญา และโดยปริยายคือทางอันหนึ่ง

ก็น้อมจิตเข้ามาดูกายเวทนาจิตธรรม อันรวมเข้าเป็นอัตภาพหรือตัวตน

อันเป็นสมมติบัญญัติที่ยึดถือกันอยู่ ว่าเป็นตัวเราของเรานี้เอง

 

ข้อว่าน้อมจิตดูเวทนา

 

จะแสดงในข้อดูเวทนาคือน้อมเข้ามา น้อมจิตเข้ามาดูเวทนา

อันได้แก่ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายทางใจที่มีอยู่

ที่เป็นไปอยู่เป็นประจำ และเวทนาดังกล่าวนี้ก็สืบเนื่องมาจากกายนั้นเอง

เมื่อกายประชุมกันอยู่ทุกสิ่งที่เป็นกายปฏิบัติหน้าที่อยู่เช่น

หายใจเข้าหายใจออกอยู่ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถน้อยอยู่

อาการ ๓๑ หรือ ๓๒ มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น ก็ปฏิบัติหน้าที่อยู่

ธาตุทั้ง ๔ ประชุมกันอยู่ ก็ปรุงให้เกิดเวทนา ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

ในเมื่อกายดังกล่าวประชุมกันอยู่ ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วยดีไม่บกพร่อง

ก็ปรุงให้เกิด สุขเวทนา เวทนาที่เป็นสุข

 

( เริ่ม ๑๐๘/๑ ) หากมีความบกพร่องบังเกิดขึ้น หรือว่ากระทบกับเหตุ

เป็นเครื่องเบียดเบียนภายนอกที่เกินไป เช่นหนาวมากร้อนมากก็ให้เกิด ทุกขเวทนา

แต่เมื่อประชุมกันอยู่เป็นไปอยู่อย่างปรกติธรรมดา ไม่พอที่จะให้เกิดสุขเวทนา

หรือว่าไม่บกพร่องไม่ถูกเบียดเบียนมากไปให้เกิดทุกขเวทนา

ก็ให้เกิดเวทนาที่เป็นกลางๆ อันเรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุข

เวทนาดังกล่าวนี้ย่อมบังเกิดขึ้น ผลัดเปลี่ยนกันไปอยู่ตลอดเวลา บางคราวก็เป็นสุข

บางคราวก็เป็นทุกข์ บางคราวก็เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งทางกายทั้งทางใจ

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูเวทนาทางกายทางใจที่บังเกิดขึ้น

เมื่อเสวยสุขเวทนาก็ให้รู้ว่าเราเสวยสุขเวทนา เมื่อเสวยทุกขเวทนาก็ให้รู้ว่าเราเสวยทุกขเวทนา

เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาก็ให้รู้ว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา

 

สำหรับในข้อเวทนานี้ภาษาธรรมะนิยมใช้คำว่าเสวย ที่หมายความว่ารู้สึก หรือรู้เป็น

เช่นรู้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือเรียกอย่างคำแปลของเสวยตรงๆว่ากินหรือบริโภค

ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มาจากคำว่าอัตตา หรืออาตมาอาตมัน ที่มีคำแปลอย่างหนึ่งว่าสภาพผู้กิน

ก็หมายถึงว่ากินสุขกินทุกข์ หรือกินกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข คือกินเวทนานี้เอง

ดังชีวิตร่างกายของผู้ที่ยังดำรงชีวิตอยู่ ก็ย่อมมีความรู้รับสุขรับทุกข์รับเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

เพราะฉะนั้นจึงใช้ลักษณะดังกล่าวนี้มาตั้งชื่อว่าอัตตาหรืออาตมัน ที่แปลกันว่าตน

จะเรียกว่ากินสุขกินทุกข์หรือกินกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็อาจจะไม่ไพเราะ จึงใช้คำว่าเสวย

และก็ใช้จำเพาะสำหรับคำนี้ที่เป็นคำใช้ทั่วไป เป็นภาษาสำหรับจิตใจ และร่างกายประกอบกัน

เมื่อน้อมจิตเข้าดูกายก็ย่อมพบเวทนาด้วย แต่เมื่อกำหนดกาย มุ่งที่กายเป็นที่ตั้ง

ครั้นมากำหนดเวทนา มุ่งเวทนาเป็นที่ตั้ง ก็ย่อมพบกายด้วย พร้อมทั้งจิตใจ

เพราะอาการที่เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขนี้

มีอยู่แก่ทั้งกายและทั้งใจ

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูเวทนาดั่งนี้

ก็เป็นการเลื่อนสติปัฏฐานขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งเป็นขั้นกำหนดเวทนา อันเป็นขั้นที่ละเอียดขึ้น

แต่ว่าก็เป็นละเอียดปนหยาบ เพราะเวทนานี้เป็นไปทั้งทางกาย เป็นไปทั้งทางจิตใจ

เมื่อตรัสสอนให้กำหนดกายอันนับว่าเป็นอารมณ์ที่หยาบ กำหนดได้ง่ายก่อน

ครั้นกำหนดกายได้ดีแล้ว เวทนาก็ย่อมปรากฏแจ่มชัดขึ้น

จึงได้ตรัสสอนขั้นต่อไปให้กำหนดเวทนา ซึ่งนับว่ายังอยู่ในระหว่างทั้งหยาบทั้งละเอียด

ซึ่งกำหนดได้ง่าย ไม่ใช่เป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ เวทนาทางกายก็เป็นเรื่องของกายด้วย

เวทนาทางจิตใจก็เป็นเรื่องของจิตใจ แต่ว่าทั้งกายทั้งจิตใจนี้ก็ต้องประกอบกันอยู่

ที่ว่าเป็นเรื่องของกายก็เรียกว่ากายนำหน้า แต่จิตใจก็ต้องรับ

ที่เรียกว่าเป็นเรื่องของจิตใจนั้นก็คือจิตใจนำหน้า แต่กายก็ต้องรับด้วย

ก็เป็นอันว่าทั้งกายทั้งใจ หรือทั้งใจทั้งกาย ก็ต้องเป็นสุขเป็นทุกข์

หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขร่วมกัน

 

การกำหนดเวทนา

 

การกำหนดเวทนานี้ก็คือทำสติกำหนดที่ความเป็นสุข หรือความเป็นทุกข์

หรือความเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ของกายใจที่บังเกิดขึ้น

และก็พึงเข้าใจว่าทั้ง ๓ นี้ มิใช่บังเกิดขึ้นพร้อมกัน

เมื่อเกิดเป็นสุข ก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

เมื่อเกิดเป็นทุกข์ ก็ไม่เป็นสุข ไม่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

เมื่อเกิดเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ก็ไม่เป็นสุข ไม่เป็นทุกข์

เวทนาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นในคราวหนึ่งแก่กายและใจนี้

และเรียกกันว่ากลับไปกลับมากันอยู่ทั้ง ๓ นี้เป็นประจำ

 

แต่อันที่จริงนั้นเรียกทางปฏิบัติว่าเกิดดับอยู่เป็นประจำ

คือสุขเกิดขึ้น ดับไป จึงเกิดเวทนาอื่นขึ้นมา

เช่นเกิดเป็นทุกข์ และเมื่อทุกข์ดับไปจึงเกิดเวทนาอื่นขึ้นมาเช่นเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว เวทนานี้ย่อมเกิดดับอยู่ทุกอารมณ์ที่จิตรับเข้ามา

อาจจะเป็นสุขเกิดดับๆซ้ำซ้อนกัน หรือเป็นทุกข์เกิดดับๆซับซ้อนกัน

หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขเกิดดับๆซ้อนๆกันไปก็ได้

ในเมื่ออารมณ์ที่จิตรับเข้ามาเป็นที่ตั้งของเวทนาอันใด เวทนาอันนั้นก็ย่อมเกิดขึ้น

 

แต่พูดกันอย่างธรรมดาเพื่อให้เห็นว่า

เดี๋ยวเป็นสุข เดี๋ยวเป็นทุกข์ เดี๋ยวเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ก็พูดเหมือนอย่างว่าสุขแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ ทุกข์แล้วก็ต้องเป็นสุข

หรือว่าเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่เกิดซ้ำกันเช่นว่าสุขๆๆต่อกันไป

แต่อันที่จริงนั้นเกิดซ้ำๆกันได้ แต่หมายความว่าต้องดับจึงเกิดใหม่ คือเกิดดับๆๆ

อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของสุขเมื่อบังเกิดขึ้นแก่จิตใจติดต่อกัน สุขก็เกิดดับๆติดต่อกันไป

อารมณ์เป็นที่ตั้งของทุกข์เกิดดับๆติดต่อกันไป ทุกข์ก็เกิดดับติดต่อกันไป ดั่งนี้เป็นต้น

เมื่อน้อมจิตเข้ากำหนดดูเวทนา เมื่อจิตสงบตั้งมั่นดูอยู่ จึงจะเห็นเวทนาที่เกิดดับๆ

ดังกล่าวนี้ละเอียดเข้าๆ จะรู้ว่านี่กำลังเป็นสุขเสวยสุข นี่กำลังเป็นทุกข์เสวยทุกข์

นี่กำลังเป็นอทุกขมสุข หรือเสวยอทุกขมสุข

 

อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของเวทนา

 

พระพุทธเจ้าครั้นได้ตรัสสอนให้ตั้งสติน้อมจิตเข้ามา

ตั้งสติกำหนดดูเวทนาที่เกิดขึ้นดับไป สุขบ้างทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

ดั่งนี้แล้วก็ตรัสสอนให้รู้จักจำแนกประเภทเวทนาดังกล่าวนี้ออกเป็น ๒ ส่วน

คือที่เป็นสามิสมีอามิสอันเป็นเครื่องล่อใจชักนำใจ ประกอบด้วยกิเลสให้เกิดเวทนาอย่างหนึ่ง

เป็นนิรามิสคือไม่มีอามิสเครื่องล่อใจชักนำใจ อันประกอบด้วยกิเลสให้เกิดเวทนาอีกอย่างหนึ่ง

 

เพราะว่าอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของเวทนานั้นประกอบด้วยอามิสคือเครื่องล่อใจชักนำใจ

อันประกอบด้วยกิเลสซึ่งเรียกว่าอามิสเฉยๆ หรือเรียกว่าโลกามิสเครื่องล่อของโลก

หรือเรียกว่า เคหะสิตะ ที่แปลว่าอาศัยเรือน อันหมายว่ากามคุณารมณ์ทั้งปวง

เพราะว่าบ้านเรือนนั้นย่อมต้องประกอบด้วยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย จึงเรียกว่าเคหะสิตะอาศัยเรือน

 

เมื่อจิตได้รับอารมณ์ที่เป็นเคหะสิตะอาศัยเรือน หรือเป็นโลกามิสเครื่องล่อของโลก

โดยเป็นรูปบ้าง เป็นเสียง เป็นกลิ่นบ้าง เป็นรสบ้าง เป็นโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องบ้าง

ตลอดจนถึงเป็นธรรมะคือเรื่องราวทางใจที่คิดนึกบ้าง อันเป็นที่ตั้งของกิเลสทั้งหลาย

กองราคะหรือโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง

หรือเป็นที่ตั้งของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆ ก็ให้เกิดเวทนา

ที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ที่เรียกว่าสามิส

มีอามิสคือเครื่องล่อเครื่องชักจูงใจของโลก ซึ่งเรียกว่าโลกามิส

หรือเรียกว่าเคหะสิตะอาศัยเรือน

 

เป็นต้นว่านึกคิดตรึกตรองไป

ถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราว ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ

ซึ่งเคยได้รับมาแล้วในอดีตก็ตาม กำลังรับอยู่ก็ตาม

ก็ให้เกิด สุขเวทนา เวทนาที่เป็นสุข เสวยสุข

เมื่อนึกคิดตรึกตรองไปถึงอารมณ์ทั้งหลายดังกล่าวนั้น

คือที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจที่ต้องการจะได้แต่ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน

หรือนึกถึงในอดีตที่ไม่ได้ ก็เกิด ทุกขเวทนา เสวยเวทนาที่เป็นทุกข์

หรือเมื่อระลึกนึกคิดไปถึงอารมณ์ทั้งหลายดังกล่าวนั้นที่เป็นกลางๆ ไม่พอจะให้เกิดสุข

ไม่พอจะให้เกิดทุกข์ ก็เกิด อุเบกขาเวทนา หรือที่เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา

เวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข คือเวทนาที่เป็นกลางๆ ที่คนทั่วไปมีกันอยู่

ดั่งนี้ก็เรียกว่าเป็นสามิส มีอามิสคือเครื่องล่อของโลก

คือเครื่องชักจูงอันประกอบด้วยกิเลส

 

นิรามิสสุข นิรามิสทุกข์

 

แต่เมื่อเป็นไปในทางตรงกันข้ามคือ เช่นได้ระลึกตรึกตรอง

ถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราว ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ

หรือไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจก็ตาม ที่กำลังรับอยู่ หรือเคยได้รับมาแล้ว

แต่พิจารณาเห็นว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ปลงใจลงได้ในคติธรรมดาของสังขารทั้งหลายดังกล่าวนี้ ก็ได้สุขเวทนา เวทนาที่เป็นสุข

ดั่งนี้ก็เรียกเป็นสุขที่เป็นนิรามิส ไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่อ

และในบางคราวก็พิจารณาดังกล่าวนั้น ว่าอารมณ์ทั้งปวงดังกล่าวนั้น

เป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา

ก็มานึกถึงว่าไฉนหนอเราจึงจักครอบงำเวทนาเหล่านี้ได้

ไม่ต้องเป็นสุขเป็นทุกข์ไปตามอารมณ์โลกทั้งหลาย

ซึ่งเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ทำไมเราจึงไม่สิ้นทุกข์เหมือนอย่างพระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านสิ้นทุกข์แล้ว

มานึกถึงตัวเองขึ้นมาว่าทำไม่จึงไม่สิ้นทุกข์กันสักทีนึง

ต้องเป็นทุกข์อยู่กับเรื่องของโลกทั้งหลาย ซึ่งต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ดั่งนี้อยู่เรื่อย

ก็เกิดเป็นทุกขเวทนาขึ้นมา ดั่งนี้ก็เป็น นิรามิสทุกข์ ทุกข์ที่ไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่อ

เป็นเครื่องชักจูงใจอันประกอบด้วยกิเลส เป็นทุกข์อันเกิดจากการที่ไม่ได้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์

เหมือนอย่างท่านผู้สิ้นทุกข์ทั้งหลาย

 

เนกขัมมะสิตะ

 

หรือในบางคราวเมื่อนึกถึงอารมณ์ทั้งหลาย

และก็พิจารณาเป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ก็ได้อุเบกขาคือความวางเฉยในอารมณ์นั้น ไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นสุข

ดั่งนี้ก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาที่เป็นนิรามิส ไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่อ

นิรามิสนี้เรียกว่า เนกขัมมะสิตะ อาศัยเนกขัมมะก็ได้ คืออาศัยการออก ออกจากกามทางใจ

ใจปลงเห็นอนิจจะไม่เที่ยงเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ใจก็ไม่ใคร่ ใจไม่ติด จึงเรียกว่าเนกขัมมะสิตะ อาศัยเนกขัมมะ

ตรงกันข้ามกับ เคหะสิตะ อาศัยเรือน เมื่อเป็นเคหะสิตะอาศัยเรือนก็เป็นสามิส

ประกอบด้วยอามิส คือเครื่องล่อเครื่องชักจูงอันประกอบด้วยกิเลส

เมื่อเป็น เนกขัมมะสิตะ อาศัยเนกขัมมะก็เป็นนิรามิส

ไม่ประกอบด้วยอามิสเครื่องล่อ เครื่องชักจูงอันประกอบด้วยกิเลส

 

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอน

ให้ทำความรู้ด้วยน้อมจิตให้เป็นโอปนยิโก ดูเวทนาให้รู้ว่าเป็นประเภทไหน

เมื่อเสวยสุขเวทนาที่มีอามิสก็ให้รู้ ไม่มีอามิสก็ให้รู้

เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิสก็ให้รู้ ไม่มีอามิสก็ให้รู้

เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาที่มีอามิสก็ให้รู้ ที่ไม่มีอามิสก็ให้รู้

ตามที่เป็นจริง ดั่งนี้เป็นการปฏิบัติตั้งสติกำหนดเวทนา

อันเรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติกำหนดคือตามดูเวทนา

ต้องอาศัยธรรมะที่เป็นโอปนยิโกคือน้อมจิตเข้ามาดู จึงจะเห็นเวทนาตามที่ตรัสสอนไว้นี้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats